รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 
รามเกียรติ์และนาฏยศิลป์ไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ (ต่อ)

รามเกียรติ์และรัชกาลที่ ๖

 วรรณกรรมการละครในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีความรุ่งเรืองอันมีสาเหตุมาจากปัจจัย ๒ ประการ คือ ๑) การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทละครเพื่อแสดงละครในแบบต่างๆ ไว้มากถึงร้อยกว่าเรื่อง เพื่อใช้จัดแสดงโอกาสและวัตถุประสงตค์ที่แตกต่างกัน ๒) ธุรกิจการละครในระยะต้นและระยะกลางของรัชกาลนี้มีความเฟื่องฟูมาก ทำให้มีการจัดแต่งบทสำหรับแสดงละครมากขึ้นเพื่อให้ทันกับความต้องการของคนดู นอกจากนี้ลิเกซึ่งเคยยืมบทจากละครนอก ละครในเรื่องอิเหนา และละครพันทางไปใช้แสดงในระยะหนึ่งนั้น ก็ได้มีการเริ่มคิดเรื่องใหม่ๆ ขึ้นเพื่อหนีความจำเจ

 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมต่างๆ ไว้มากกว่า ๑,๒๐๐ รายการ ในจำนวนนี้มีบทละครประมาณ ๑๕๐ เรื่อง บางเรื่องมีหลายสำนวนเพื่อใช้แสดงในรูปแบบที่แตกต่างกัน สำหรับบทโขนทรงไว้ เพียง ๑ เรื่อง คือ ธรรมาธรรมะสงคราม ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ใหม่ สำหรับการแสดงโขน สำหรับเรื่องรามเกียรติ์นั้น ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครในรูปแบบหลากหลาย ดังนี้

 บทละครดึกดำบรรพ์ เรื่อง รามเกียรติ์ 

 ตอน อรชุนกับทศกรรฐ์

 ตอน พิเภษณ์ถูกขับ

 ตอน จองถนน

 ตอน ศุกะ สารัณปลอมพล

 ตอน สุครีพหักฉัตร

 ตอน องคตสื่อสาร

 ตอน นาคบาศ

 ตอน กลสุขาจาร

 ตอน พิธีกุมภนิยา  

 บทเบิกโรง รวม ๕ เรื่อง คือ

 พระภรต

 พระคเณศร์เสียงา

 พระนรสิงหาวตาร

 มหาพาลี

 ฤษีเสี่ยงลูก



นาฏยศิลป์ในรัชกาลที่ ๖ ที่แสดงโขนและละครเรื่องรามเกียรติ์

 ในรัชกาลนี้ แม้ว่าจะทรงสนพระราชหฤทัยในละครตามแบบอย่างตะวันตก แต่ก็ทรงให้การสนับสนุนศิลปะทางโขนละครอย่างเข้มแข็ง ดังมีรูปแบบการแสดงทางนาฏยศิลป์ ดังนี้

๑. ละครผู้หญิงของหลวง

 หรือละครหลวงฝ่ายหญิง หัดขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๕๗ โดยที่เจ้าพระยารามราฆพ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายคณะละครผู้หญิงของท่าน ซึ่งมีมารดาของท่าน คือ พระนมทัด พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นผู้จัดการคณะละคร ละครผู้หญิงของหลวงนี้ จัดแสดงในงานพระราชพิธีต่างๆ ตามอย่างโบราณราชประเพณี

๒. ละครผู้ชายของหลวง

 หรือละครหลวงฝ่ายชาย มีขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๕๘ เนื่องจากบรรดามหาดเล็ก เมื่อหัดโขนออกแสดงได้ดีแล้ว ยังทรงโปรดให้พระยานัฏกานุรักษ์ครูพระ-นาง และพระยาพรหมภิบาล ครูยักษ์ หัดละครในขึ้นโรงหนึ่งแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอิเหนาในพระราชพิธีต่างๆ เช่นกัน

๓. โขนหลวง

 เมื่อพิจารณาหลักฐานต่างๆ ในรัชกาลที่ ๖ จะพบว่าพระองค์ทรงสนพระทัยโขนมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๔ พรรษา ทรงจัดตั้งคณะ “โขนสมัครเล่น” หรือเรียกอย่างลำลองว่า “โขนสมัคร” มีเจ้านายและขุนนางที่เป็นมหาดเล็กและข้าราชบริพารในพระองค์ร่วมหัดเป็นอันมาก ดังมีเรื่องเล่าว่า

 “อีกเรื่องหนึ่ง ประวัติโขนหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็นพระบรมโอรสาธิราช ประทับอยู่ที่วังสราญรมย์ ท่านเสด็จออกไปข้างนอกวัง พวกเราอยู่ข้างในก็เล่นโขนกัน มีพระยานเรนทร์, หลวงวิสูตร (คลาย), ผ่อง, ชับ แบ็คต่อ ฯลฯ หลายคนเล่นโขนกัน ตามธรรมดาเวลาท่านจะเสด็จเข้าวังสราญรมย์จะต้องเป่าแตร แต้ตี้แต วันนั้นแปลกไม่เป่าแตร พวกเราก็เล่นกันเพลินไป ดูเหมือนจะเล่นโขนตอนถวายลิง ในหลวงท่านเสด็จมาเงียบๆ ท่านทรงแอบดู อ้อ มันเล่นโขนกัน นั่นแหละถึงได้มีโขนหลวงขึ้น”



 หรืออีกสำนวนหนึ่ง

 “ครั้งหนึ่ง ม.ล.ฟื้น  พึ่งบุญ พสมหาดเล็กรุ่นเยาว์ไปเที่ยวงานประจำปีที่ภูเขาทอง พบร้านจำหน่ายหัวโขน เครื่องเล่นละคร จึงพากันซื้อมาเพื่อใส่เล่นโขน ซึ่งแต่เดิมเล่นกันโดยไม่มีหัวใส่ เมื่อกลับจากงาน พวกมหาดเล็กพากันเล่นโขน ตอน ศึกอินทรชิต อย่างสนุกสนาน จนไม่ได้ยินเสียงสัญญาณแตรรถพระที่นั่งของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกๆฎราชกุมาร ซึ่งทรงเสร็จสิ้นพระราชภารกิจแล้วเสด็จฯ กลับเข้าวัง พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กๆ เล่นโขนก็พอพระราชหฤทัย นับจากวันนั้นไม่นาน ก็โปรดให้ขอครูโขนจากเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์เพื่อฝึกซ้อมให้ โดยซ้อมโขน หลังจากที่เสวยพระกระยาหารค่ำแล้ว โขนตอนแรกที่นำออกแสดง คือ ศึกกุมภกรรณ”

 พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงจัดตั้งคณะโขนสมัครเล่นขึ้นเป็นเบื้องต้นก่อนที่จะขยายผลต่อไปในอนาคตนั้น ทรงอธิบายไว้ในสูจิบัตรแสดงโขนตอนรามสูรชิงแก้วและพิธีกุมภนิยาในงานเปิดโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๒ แสดงให้เห็นถึงพระราชประสงค์ในการทำนุบำรุงนาฏยศิลป์โขนในท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมตะวันตก ดังนี้

 “โขนโรงนี้เรียกนามว่า โขนสมัครเล่น เพราะผู้เล่นเล่นโดยความสมัครใจไม่ใช่ถูกกะเกณฑ์หรือเห็นแก่สินจ้าง มีความประสงค์แต่จะให้ผู้ที่คุ้นเคยชอบพอกัน และที่เป็นคนชั้นเดียวกัน มีความรื่นเริง และเพื่อที่จะได้ไม่หลงลืมว่า ศิลปะวิทยา การเล่นเต้นรำ ไม่จำเป็นต้องเป็นของฝรั่ง จึงจะได้ดูของโบราณของไทยเรามีอยู่ไม่ควรจะให้เสื่อมสูญไปเสีย โขนโรงนี้เคยไดด้เล่นแต่ที่พระราชวังสราญรมย์ เป็นพื้น แต่ครั้งนี้เห็นว่าผู้ที่เป็นนักเรียนนายร้อยก็เป็นคนชั้นเดียวกัน และเป็นที่หวังอยู่ว่าจะเป็นกำลังของชาติเราต่อไป พวกโขนจึงมีความเต็มใจมาช่วยงานเพื่อให้เป็นการครึกครื้น ถ้าแม้ว่าผู้ที่ดูรู้สึกว่าสนุก แลเห็นอยู่ว่าการเล่นอย่างไทยแท้ก็ยังเป็นสิ่งที่ควรดูอยู่แล้ว ผู้ที่ออกน้ำพักน้ำแรงเล่นให้ดูก็จะรู้สึกว่าได้รับความพอใจยิ่งกว่าสินจ้างอย่างใดๆ ทั้งสิ้น...”

 ครั้นเสวยราชสมบัติก็โปรดให้โอนมาอยู่กรมมหรสพที่โปรดให้ตั้งขึ้น และแม้จะมีเจ้ากรมกำกับดูแล แต่พระองค์ยังคงทรงดูลอยู่อย่างใกล้ชิด และโปรดให้ศิลปินตามเสด็จไปในกระบวนหลวงเวลาเมื่อเสด็จประพาสหัวเมืองอยู่เสมอ อีกทั้งโปรดให้เด็กนักเรียนโรงเรียนพรานหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่ำเรียนโขนอย่างถูกแบบแผน เหล่านี้ทำให้โขนแพร่หลายเป็นอันมาก

 นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทโขนเรื่องใหม่ คือ ธรรมาธรรมะสงคราม และทรงมีส่วนในการไหว้ครูโขน อีกทั้งทรงเจิมหน้าครูและศิลปินด้วยพระหัตถ์ทุกคราวที่แสดง และทรงเป็นผู้บอกบทพากย์เจรจา และทรงอำนวยการด้วยพระองค์เองโดยตลอด โขนในพระองค์คณะนี้ ต่อเมื่อเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว จึงเรียก “โขนบรรดาศักดิ์” ทรงตั้งค่าแสดงไว้สูงถึงครั้งละ ๑๐๐ ชั่ง และเงินรางวัลต่างหาก ตัวดี ๑๐๐ ตำลึง ตัวกลาง ๒๐ ตำลึง ตัวเลว ๔-๑๐ ตำลึง เมื่อเทียบกับโขนเอกชนคิดค่าแสดงครั้งละ ๕-๑๐ ชั่ง เท่านั้น









ธรรมจักร  พรหมพ้วย / เรียบเรียง



รายการอ้างอิง

สุรพล  วิรุฬห์รักษ์, นาฏยศิลป์กรุงรัตนโกสินทร์.  (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ธนิต  อยู่โพธิ์, โขน.  (กรุงเทพ. : กรมศิลปากร, ๒๕๑๑)

วรชาติ  มีชูบท, พระบาทสมเด็จพระรามาธบดีศรีสุนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม.  (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุคส์, ๒๕๕๒)




ดาวโหลดเอกสาร PDF





Create Date : 24 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2552 14:13:15 น. 0 comments
Counter : 1965 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.