รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 

มองกล้วยแขกอย่างเป็นศิลป์

คีตกานต์ เกียรติรัตนโกศล



รายงานประกอบการเรียนกระบวนวิชา FA101 ศิลปกรรมศาสตร์ปริทรรศน์
ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง


คำนำ

เชื่อไหมว่ารายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อส่งอาจารย์! (รายงานฉบับนี้ใช้ประกอบการศึกษาวิชาศิลปกรรมศาสตร์ปริทรรศน์ FA101 ประจำภาคการศึกษาที่ 1/2551 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

...

ท่านอาจจะไม่เชื่อ และผู้เขียนก็ไม่เชื่อตัวเองเช่นกัน อยากกล่าวให้ฟังว่า เมื่อเมื่อแรกเริ่มเดิมทีที่คิดหัวข้อนั้น โครงร่างที่วางไว้ให้กับรายงานฉบับนี้มีความหลากหลายมากกว่าที่เป็นอยู่มากนัก (แต่ก็ไม่ได้มีสาระมากกว่านี้)

วิชาศิลปกรรมศาสตร์ปริทรรศน์นี้เป็นวิชาที่กล่าวถึงศิลปะหลากหลายแขนง ซึ่งเป็นแขนงจากการแตกรากของหัวข้อใหญ่ 2 หัวข้อด้วยกัน ได้แก่ “วิจิตรศิลป์” กับ “ประยุกต์ศิลป์” (ซึ่งทั้ง 2 หัวข้อนี้มีชื่อเรียกอื่นด้วย โดยวิจิตรศิลป์อาจถูกเรียกว่า ประณีตศิลป์ หรือ บริสุทธิ์ศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ ก็เป็นสิ่งเดียวกันกับพาณิชย์ศิลป์) แล้วจึงแตกเป็นแขนงต่าง ๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณศิลป์ โสตศิลป์ มัณฑนศิลป์ และอีกมากมายเป็นต้น

รู้สึกว่าโชคดีที่ได้เรียนในกระบวนวิชานี้ โชคดีกว่านักศึกษาภาคปกติ ที่เลือกเรียนได้แค่ ศิลปวิจักษณ์ หรือดนตรีวิจักษณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่กว้างขวางเท่าศิลปกรรมศาสตร์ปริทรรศน์ ทั้งยังได้พบกับวิทยากรที่เป็น "ตัวจริง" ในหลากแขนงของศิลปะ ได้รับฟังประสบการณ์ ได้ทราบกระบวนการเบื้องลึกของศิลปะที่มากกว่าในระดับของสุนทรียศาสตร์ที่เปิดสอนในหลักสูตรทั่วไป

ต้องกล่าวว่าด้วยการเรียนศิลปกรรมศาสตร์ปริทรรศนี่ล่ะ ที่ทำให้กล้าเอาเรื่องกล้วยแขกนี้มาเป็นหัวข้อรายงาน แม้ว่าจะเป็นหัวข้อที่ดูไม่น่าจะมีเนื้อหาสาระมากมาย แต่ก็เป็นพื้นที่ให้แสดงความสามารถทางวรรณศิลป์ ซึ่งสามารถเกิดกระบวนการตัดสินเป็นคะแนนได้เหมือนกัน



คีตกานต์ เกียรติรัตนโกศล
4 ตุลาคม 2551



บทนำ
เมื่อเรียนศิลปะไปได้พักหนึ่งก็รู้สึกอยู่ในใจว่าชีวิตนี้มีความสุข และน่าสนใจขึ้นตั้งเยอะ

เคยสงสัยกันบ้างไหมว่ารอบตัวเรา มีระดับความเป็นศิลปะแอบแฝงอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างที่วิ่งเข้าประสาทสัมผัสเรามากมายขนาดไหน

...

ปากกา กรรไกร เก้าอี้ รองเท้า รถยนต์ ถนน เสาไฟ ฯลฯ

กว่ามันจะออกมาหน้าตาแบบนี้ มันมีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง

ไหนจะเกิดความสงสัยว่า ทำไมโมนาลิซ่าในรูปต้องหันหน้าไปทางซ้ายด้วย แล้วไหนจะไอ้ลัทธิคิวบิสม์ (Cubism) ที่ไม่รู้ตาคนวาดแกไปสรรหาสามเหลี่ยมสี่เหลี่ยมอะไรนั่นมาจากไหน จนประกอบกันเป็นรูปที่ดูแล้วสวยดี แถมยังเหมือนจะมีความหมาย

ที่ใช้คำว่า "เหมือนจะ" มีความหมาย คือ ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่าไอ้ความรู้สึกเมื่อตอนเห็นภาพเหล่านั้น มันตีความหมายอะไรออกมาได้หรือไม่

เมื่อก่อนเคยสงสัยว่าผู้หญิงบางคนทำไมแต่งหน้าด้วยสีสันที่รุนแรง และใช้ปริมาณของสีได้มากมายเหลือเกิน

แต่ตอนนี้ก็พอเข้าใจแล้วล่ะ เพราะพวกเธออยู่ในลัทธิเอ็กเพรสชันนิสม์ (Expressionism) นั่นเอง ดังนั้น เธอจึงแต่งหน้าด้วยสีสันฉูดฉาดแบบนั้น ทั้งหลายคนยังมีอารมณ์รุนแรง บาดแทงใจชาย

เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งเป็นผู้หญิงที่มีหน้าตาสวยพอดู เธอมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องสิวที่แพร่กระจายไปทั่วไปหน้าของเธอ (ไม่แน่ใจว่ามีที่ส่วนอื่นอีกหรือไม่ และไม่เคยลองถามดู) หากเป็นเมื่อก่อนคงแนะนำให้เธอไปคลีนิคเสริมความงาม (เรียกแบบเข้าใจกันว่า "หมอสิว") ให้เขาขูด โบก แงะ ปอก เจาะหน้าของเธอให้สิวเหล่านั้นหายไป

แต่ทว่า...

เนื่องจากช่วงหลังมานี้ได้อ่านตำราทางศิลปะมาสักประมาณหยิบมือหนึ่ง ก็เริ่มเข้าใจอะไรบางอย่างและเห็นมุมมองที่แตกต่างออกไป แม้ยังเลือนราง แต่ก็ยังรู้สึกได้

ดังนั้นผู้เขียนจึงปลอบใจเพื่อนสาวสวยหน้าสิวไปว่า...

“ก็ดีแล้วนี่ แบบนี้เค้าเรียกอิมเพรสชันนิสม์ไง” (ในขณะนั้นผู้เขียนกำลังนึกถึงภาพที่จัดในลัทธิดังกล่าว มีลักษณะที่ไม่เกลี่ยให้เรียบเนียน แต่แต้มเป็นจุด ๆ อยู่ทั่วรูปภาพ)

เธอผู้นั้นไม่ได้เรียนศิลปะกับผู้เขียน จึงต้องมีการอธิบายความหมายของประโยคที่พูดออกไป (หมายเหตุ: ในความเป็นจริงแล้ว ลัทธิอิมเพรสชันนิสม์มีรูปแบบและความหมายที่ลึกซึ้งมากกว่าสิ่งที่นำมาคุยเล่นในกรณีนี้อยู่มากนัก)

หลังจากเธอเข้าใจความหมายพอสังเขปแล้ว เธอก็ไม่พูดกับผมไปอีกประมาณสามวัน


ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้เขียนเองมีความคิดและความรู้สึกที่แปลก แตกต่างจากปกติเกิดขึ้นอยู่เป็นครั้งคราว บางครั้งก็คิดเหมือนกันว่า เป็นอะไรไปรึเปล่าเนี่ย...กู

แต่กระนั้น ความคิดแปลก ๆ สนุก ๆ ก็เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ จากเมื่อก่อนที่ดูเหมือนจะคิดออกได้แต่สิ่งที่ไปในทางวรรณศิลป์ ซึ่งค่อนข้างเป็นนามธรรมในหัวสมอง ก็มีสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากนั้น คือเมื่อมองสิ่งใดก็จะคล้ายหวนถึงอดีต ก่อนที่มันจะมามีลักษณะอย่างสิ่งที่อยู่ตรงหน้านี้ในปัจจุบัน


ท่านที่อ่านบทนำนี้ด้วยความขยันขันแข็งอาจจะเริ่มรู้สึกว่า แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรื่องกล้วยแขกที่จั่วหัวเอาไว้ล่ะ

อ้าว กำลังจะเล่าให้ฟังนี่ไง

เรื่องของเรื่องคือ ไอ้รายงานเนี่ย (ฉบับที่กำลังอ่านอยู่เนี้ย) เป็นตัวสุดท้ายของภาคแล้ว เป็นรายงานที่มีหัวข้อเป็นอิสระ อิสระทั้งในหัวข้อและในกระบวนการ กล่าวคือ ให้นำศิลปะอะไรก็ได้ มาทำอะไรก็ได้ แล้วเอามาส่งให้อาจารย์พิจารณา เพื่อเป็นคะแนนส่วนหนึ่งในกระบวนวิชา

อาจารย์เขาแจ้งมาตั้งแต่ต้นเทอม ไอ้เราก็ได้ยินมาหลายรอบ

...

เอ่อ แต่นึกอะไรไม่ออกเลย จนเยื้องย่างมาสัปดาห์สุดท้ายก่อนจะส่ง

ในใจน่ะคิดว่า ในเมื่อหัวข้อเป็นอิสระขนาดนี้แล้ว จะให้ทำอะไรที่มันซ้ำซาก เห็นได้ทั่วไป มีแต่ความรู้เก่า เรื่องเดิมซ้ำไปมา มันก็คงไม่ดีมั้ง

ไหน ๆ เป็นอิสระแล้ว ก็ให้อิสระจากสิ่งเดิม ๆ ด้วยสิ!

แต่ก็ยังนึกไม่ออกอยู่ดีว่าจะทำอะไร จนกระทั่งอยู่ ๆ ก็นึกถึงกล้วยแขก

หากเป็นตานักวิทยาศาสตร์คนนั้นที่กระโดดลงอ่างน้ำ น้ำล้นออกมา เขาเห็นแล้วนึกอะไรได้บางอย่าง เขาได้ร้องว่า "ยูเรก้า"

แต่กล้วยแขกมันสว่างวาบขึ้นมาในหัวผมน่ะ ผมแค่คิดกับตัวเองเบา ๆ ว่า "หรือกู(จะ)บ้า" ถ้าทำขึ้นมาจริง ๆ จะส่งอาจารย์ได้หรือเนี่ย

ทั้งนี้ทั้งนั้น สุดท้ายก็ยังกล้าเอาไปปรึกษาอาจารย์ เพราะในหัวนึกออกมาได้แต่กล้วยแขก (ก็อย่างอื่นมีแต่ของเก่า ๆ นี่ ยิ่งเป็นอะไรที่มีตำราเต็มไปหมดนี่ยิ่งเก่า ไอ้เราก็ยังรู้ไม่มากขนาดที่จะสังเกตได้ว่ายังขาดเหลือตรงไหนที่น่าจะเพิ่มเติมเข้าไป)

เมื่อคุยกับครูบ๊อบ (หรืออาจารย์ธรรมจักร พรหมพ้วย ผู้ดูแลการสอนกระบวนวิชานี้ และดูแลการฝึกโขนของรามคำแหงที่ผมเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่ด้วย) ซึ่งดูเหมือนจะร่ำเรียนมาทางศิลปะอย่างมากมาย และดูเป็นคนรุ่นใหม่ที่ค่อนข้างจะเปิดกว้างทางความคิด อาจารย์พูดแค่ว่า

"อืม ก็น่าสนใจดีนี่ ถ้าคุณทำให้มันเป็นเรื่องเป็นราวได้ เรารับ"

หลังจากจบประโยคนั้นก็มีความรู้สึกหนึ่งปรากฏขึ้นกับตัวผู้เขียนขึ้นมาว่า...

ในความเป็นจริงเรายังห่างจากความบ้า ความเพี้ยน ที่เคยเกิดขึ้นบนโลกนี้ตั้งเยอะ ไอ้ที่ทำน่ะ ไม่ได้แปลก ประสาท หรือไร้สาระเกินกว่าที่มนุษย์มนาคนอื่นเขาทำกันสักเท่าไรหรอก

เราแค่แหวกแนวจากตัวเราเองนิดหน่อย

หรือพูดให้ถูกคือ เรายอมปล่อยความคิดนอกรูปแบบปกติของตัวตนของเรา ให้ออกมาเพ่นพ่านอย่างอิสระต่างหาก

แค่นี้ยังจิ๊บจ๊อย หากเทียบกับคนอื่นเขา


จะทำอะไรให้สำเร็จ จะมีอะไรใหม่ ๆ นำเสนอก็ต้องกล้า

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไอ้เอกสารนี่จะดีเลิศประเสริฐศรีอะไรนะ แถมยังรีบทำอีกต่างหาก... จะรอดไหมเนี่ย

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เกิดแผนการที่จะเขียนหรือค้นคว้าอะไรพิลึกบ้าบอแบบนี้ให้เป็นเรื่องเป็นราว และอาจเผยแพร่ด้วย สะดวกที่สุดคงต้องผ่านเว็บไซต์

ตอนนี้รู้สึกว่าทำอะไรที่เกี่ยวกับศิลปะนี่จะสนุกไปหมด สังเกตเห็นความมุ่งมั่นของตัวเองที่มีมากกว่าปกติอีกด้วย จนคิดขึ้นมาเล่น ๆ ว่า เอ...ไอ้แบบนี้รึเปล่านะ อารมณ์ที่ทำอะไรก็ดูสนุก เห็นอะไรเป็นรายละเอียด มีภาพมีเสียงขึ้นมาเต็มหัวหูไปหมด แบบนี้รึเปล่าที่เขาเรียกว่า "สุนทรียะ"

ก็ไม่รู้เหมือนกันนะ รอดูกันต่อไป

รู้สึกว่าไม่ได้กล่าวถึงกล้วยแขกเลยล่ะ ไปอ่านกันข้างในก็แล้วกันว่าเขียนอะไรเอาไว้บ้าง



บทที่ 1

ก่อนจะมาเป็นกล้วยแขก

ข้อมูลเกี่ยวกับกล้วย

กล้วยเป็นผลไม้พื้นเมืองเขตร้อนของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดการณ์กันว่าเริ่มกำเนิดขึ้นที่ปาปัวนิวกินี ในปัจจุบันนี้ได้มีอยู่มากมายทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตร้อน แสดงให้เห็นว่ากล้วยนั้นชอบเดินทางไปต่างประเทศ

ชาวตะวันตกนิยมปอกเปลือกออกและทานเนื้อข้างในโดยไม่ผ่านกระบวนการใด ในขณะที่ชาวเอเชียบางประเทศนิยมทานกล้วยทั้งเปลือก แต่ผ่านกระบวนการทำให้สุกเสียก่อน

กล้วยบางสายพันธุ์เมื่อสุกก็มีสีไม่เหมือนกล้วยทั่วไปที่นิยมรับประทาน เช่น อาจมีสีม่วง หรือสีแดง

คุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญได้แก่ วิตามินบี 6 วิตามินซี และโพแทสเซียม ดังนั้น ทานกล้วยกันเสียบ้างนะ เดี๋ยวนี้เห็นมีแต่ดื่มสตาร์บัคส์กันทุกที

ในวัฒนธรรมปัจจุบัน กล้วยมักจะมีส่วนร่วมในอาหารหวานเสมอ ทั้งยังมีการแปรรูปได้หลายวิธี เช่น อบแห้ง ตาก เป็นต้น

ทั้งนี้ ส่วนอื่นของกล้วยก็ใช้ประโยชน์ได้ เช่น ส่วนดอก หรือปลีกล้วย ใช้ประกอบอาหาร ส่วนใบ คือ ใบตอง สามารถกันน้ำได้ จึงใช้บังฝน หรือใช้ห่ออาหารได้ เป็นต้น ทั้งยังสามารถนำมาประกอบงานศิลปะประเภทต่าง ๆ และที่สำคัญคือชาวไทยเรานำมาประดิษฐ์กระทงสำหรับเทศกาลวันลอยกระทง โดยเป็นการรักษาสภาวะแวดล้อม (แต่ไม่ได้รักษาต้นกล้วย) ดังนั้น ในช่วงลอยกระทง ป่ากล้วยข้างบ้านของท่านอาจโล่งเตียนได้

ประเทศที่ส่งออกกล้วยมากที่สุดเมื่อปี พ.ศ. 2548 คือประเทศอินเดีย มีปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 16.8 ล้านตัน ขณะที่ไทยมีผลผลิตส่งออกประมาณ 2 ล้านตัน อยู่ในอันดับที่ 8 ของโลกร่วมกับประเทศเม็กซิโก (อ้างอิงจาก Food and Agriculture Organization of the United Nations)

หากท่านสนใจรับประทานกล้วยก็เชิญได้ที่ตลาดใกล้บ้านท่าน แต่ผู้เขียนแนะนำว่าไม่ควรไปรบกวนต้นกล้วยตานี เนื่องจากผีนางตานีอาจโกรธท่านได้

กล้วย เป็นพืช?เขตร้อน

ทั้งนี้ สำหรับท่านที่อยากทานกล้วย หรือต้องการส่วนหนึ่งส่วนใดของต้นกล้วยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ท่านอาจใช้กล้วยสายพันธุ์ใดก็ได้ แต่ไม่แนะนำให้ท่านรบกวนต้นกล้วยตานีไม่ว่าในกรณีใด โดยเฉพาะต้นที่อยู่ตามป่าเขา เนื่องจากท่านอาจพบผีนางตานีสิงสถิตย์อยู่ ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อท่านได้


กล้วยแขก คืออะไร

กล้วยแขก หรือกล้วยทอด เป็นอาหารทานเล่นที่ทำมาจากกล้วย ซึ่งถือกำเนิดในประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านาน ในด้านความเป็นมานั้นไม่มีหลักฐานที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าเริ่มมีการทำกล้วยแขกในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใด ทั้งนี้ ท่านผู้อ่านคงทราบดีว่าขนมไทยแท้นั้นจะไม่มีการปรุงโดยวิธีทอด ดังนั้นจึงอาจเป็นอาหารที่เกิดจากการได้รับอิทธิพลจากทางต่างประเทศ โดยอาจจะเป็นประเทศที่ไปในทางแขกนั่นแล เนื่องจากหากมาจากที่อื่น เช่น จากทางตะวันตก อาหารชนิดนี้อาจถูกเรียกว่า กล้วยฝรั่ง แทนที่จะเป็นกล้วยแขก

กล้วยแขกนั้นหาได้ง่ายตามท้องถนนของประเทศไทย (ความหมายคือมีขายมากตามบาทวิถี มิได้หมายความว่าให้ท่านค้นหากล้วยแขกตามพื้นถนน) ทั้งนี้ กล้วยแขกยังมีขายมากที่บริเวณร้านค้าบาทวิถีของประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

ขอเสริมว่า แม้จะหาซื้อได้ง่าย แต่กล้วยแขกอร่อยนั้นหายาก สาเหตุหนึ่งอาจเพราะคนขายไม่ค่อยได้ชิม เนื่องจากปัจจุบันชิ้นหนึ่งขายได้หลายบาท

หากขายที่บาทวิถี อาจจะอยู่ที่ประมาณชิ้นละหนึ่งบาท หรือ 8 ชิ้น 10 บาท ตัวผู้เขียนเองมักจะต้องไปปฏิบัติงานที่สยามพารากอนซึ่งมีกล้วยแขกขายเช่นกัน ต้องนับว่าราคาแพงเหลือใจเลยทีเดียว แต่หากกล้วยแขกนี้จำหน่ายอยู่ในโรงแรม อาจมีราคาสูงถึงชิ้นละ 10 บาท หรือมากกว่านั้น

ในด้านความหมายของกล้วยแขกนั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ให้คำจำกัดความของกล้วยแขกเอาไว้ว่า: กล้วยแขก น. กล้วยน้ำว้าชุบแป้งทอด.

เมื่อสรุปตามความดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่า หากมีผู้ผลิตท่านใดเลือกใช้กล้วยสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่กล้วยน้ำว้า กล้วยแขกที่ผลิตออกมาอาจไม่ได้รับการยอมรับจากทางราชบัณฑิตยสถาน

อย่างไรก็ตาม เหล่าแม่ค้าคงไม่กังวลในเรื่องของทางราชบัณฑิตยสถาน เนื่องจากแม้แต่มาตรฐานของสำนักกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ยังดูไม่ได้รับความสนใจมากนัก สังเกตได้จากการใช้น้ำมันเดิมสำหรับการทอดแต่ทุกครั้งอยู่เสมอ โดยมักไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภค เนื่องจากคนทำไม่ได้กิน คนกินก็ไม่ได้ทำ คนทำก็ไม่เสียสุขภาพอยู่แล้ว แต่คนกินถึงจะเสียสุขภาพก็ไม่เป็นไร เพราะอยากกิน

คล้ายว่าทางฝั่งของผู้บริโภคนั้นก็สนใจเพียงด้านของ อย. ในแง่ที่ย่อจากคำว่า อาหย่อย เพียงเท่านั้น




บทที่ 2

การทำกล้วยแขก

สูตรการทำกล้วยแขก

เพื่อให้ท่านที่สนใจได้ลองทำและทดลองชิม ขอนำเสนอตัวอย่างของตำรับการปรุง

กล้วยแขกดังนี้

ส่วนผสม
- แป้งข้าวเจ้า 1/2 ถ้วย
- แป้งทอดกรอบ 1 ถ้วย
- น้ำปูนใส 6 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปูนแดง 5 ช้อนโต๊ะ
- เกลือละลายน้ำเข้มข้น 4 ช้อนโต๊ะ (จากเกลือป่น 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 2 ช้อนโต๊ะ)
- น้ำตาลทราย 8 ช้อนโต๊ะ
- มะพร้าวขูด 1/2 ถ้วย
- งาดำและงาขาว 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันพืช 6 ถ้วย
- กล้วยน้ำว้าห่าม 1 หวี
- ใบเตยหั่นชิ้นขนาด 1 ซม. 3-4 ใบ


วิธีทำ

1. ผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งทอดกรอบ น้ำปูนใส น้ำปูนแดง ในอ่าง ผสมให้เข้ากัน
2. ใส่น้ำเกลือ น้ำตาล ผสมให้เข้ากันจนน้ำตาลละลาย
3. ใส่มะพร้าวขูด งาดำและงาขาว ผสมให้เข้ากันอีกครั้ง พักไว้
4. ตั้งกระทะน้ำมันบนไฟกลาง ระหว่างที่รอน้ำมันร้อนให้ปอกเปลือกและหั่นกล้วยตามยาว ประมาณ 3-5 ชิ้นต่อ 1 ผล พักใส่จาน
5. เมื่อน้ำมันร้อนได้ที่กล้วยลงชุบแป้ง ใส่ลงทอดในกระทะน้ำมัน ใส่ใบเตยลงไปทอดด้วยไฟกลางจนกล้วยสุกเหลืองทั่ว ตักขึ้นพักในตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน
6. จัดใส่จาน เสิร์ฟ


คำแนะนำในการทำกล้วยแขก

สำหรับตำรับนี้มีการใช้ใบเตยด้วย ดังนั้นกรุณารับประทานด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากใบเตยอาจติดคอท่าน ก่อให้เกิดอาการสำลัก และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

ท่านอาจลองเปลี่ยนอัตราส่วน หรือประเภทส่วนผสมต่าง ๆ เพื่อความหลากหลาย และเพื่อให้ตรงกับรสนิยม แต่ผู้เขียนขอแนะนำว่าไม่ควรใช้น้ำมันหมูแทนน้ำมันพืช เนื่องจากจะทำให้กล้วยแขกของท่านมีรสชาติที่แปลกไป อาจจะคล้ายหมูทอด ซึ่งผิดจุดประสงค์ เว้นเสียแต่ว่าท่านต้องการสร้างกล้วยแขกรสชาติใหม่ หากเป็นเช่นนั้นผู้เขียนขอนำเสนอให้ท่านลองพลิกแพลง คิดค้นกล้วยแขกในรสชาติต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น เช่น รสช็อกโกแลต รสมินต์ หรือรสวาซาบิ เป็นต้น

ในข้อที่ 6. หากท่านหรือผู้ผลิตไม่มีความสะดวกในด้านพื้นที่ ก็อนุโลมให้ใช้ถุงร้อนสำหรับบรรจุอาหาร บางท่านอาจใช้ถุงพลาสติกแบบเดียวกับที่ใส่ของชำ หรืออาจใช้ถุงกระดาษที่ทำจากหนังสือพิมพ์ ในสองกรณีหลังนี้ไม่รับรองในความปลอดภัยต่อสุขภาพของท่าน โดยเฉพาะในกรณีการใช้ถุงกระดาษหนังสือพิมพ์ ซึ่งอาจมีหมึกพิมพ์ละลายปนเปื้อนไปบนกล้วยแขก แต่เพื่อความสบายใจก็ให้ท่านถือเสียว่าหมึกพิมพ์เป็นเครื่องจิ้มเพื่อเพิ่มรสชาติก็ได้

กรุณารับประทานกล้วยแขกแต่น้อย เนื่องจากกระบวนการการทอดนั้นทำให้อาหารมีไขมันและคอเรสเตอรอลสูง ทั้งในปัจจุบันมักใช้น้ำมันปาล์ม ซึ่งมีไขมันอิ่มตัวมาก โดยมากกว่าน้ำมันหมู แต่น้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันที่มีราคาถูก จึงเป็นที่นิยมของผู้ค้า

นายแพทย์ผู้ชำนาญด้านโภชนาการ สโรช รัตนากร (2550) กล่าวว่า น้ำมันปาล์มอาจจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในเรื่องไบโอดีเซล ไม่ใช่เรื่องอาหาร



บทที่ 3
มองกล้วยแขกอย่างศิลปะ


องค์ประกอบทางศิลปะของกล้วยแขก

กล้วยแขกที่วางขายตามท้องตลาดนั้นมักจะเป็นทรงอินทรียรูป (organic form) ที่ค่อนข้างแบน หรือหากเป็นส่วนนอกของผลก็จะมีความโค้งมนเล็กน้อย ตัววัตถุแสดงถึงเส้น (line) ที่มีลักษณะโค้งมากที่ส่วนหัวกับส่วนท้าย และมักจะมีเส้นโค้งเล็กน้อย เกือบเป็นเส้นตรงในช่วงกลาง

ในทางทฤษฎีแล้ว เส้นโค้งนั้นจะแสดงถึงความรู้สึกอ่อนโยนนุ่มนวล แต่ความนุ่มนวลดังกล่าวคือสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในของกล้วยแขก เนื่องจากกล้วยแขกนั้นมีลักษณะผิว (texture) ไปในทางค่อนข้างขรุขระและกรอบอร่อย (หากไม่ถูกอากาศนานเกินไป)

ในลักษณะการขายกล้วยแขกนั้นมักจะจัดวางด้วยลักษณะของการซ้ำ (repetition) แบบไม่เป็นจังหวะ เนื่องจากความเร่งรีบในการจำหน่าย และบางครั้งจะวางกล้วยแขกปะปนกับเผือกทอดและมันทอด ก่อให้เกิดความกลมกลืน เนื่องจากมีลักษณะคล้ายคลึงกัน

สีภายนอกของกล้วยแขกจะแตกต่างกันไป โดยมักจะมีตั้งแต่สีออกเหลือง ไปจนถึงน้ำตาลแก่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น น้ำมันที่ใช้ทอด รสนิยมของผู้ผลิต ความต้องการของผู้บริโภค หรือบางครั้งอาจเกิดจากความไม่ตั้งใจ เช่น แม่ค้าคุยโทรศัพท์เพลินจนลืมตักกล้วยแขกขึ้นจากกระทะ แต่ถ้ากล้วยแขกมีสีดำนั้นไม่แนะนำให้ซื้อหาไปบริโภค เนื่องจากเป็นกล้วยแขกที่ทอดจนไหม้แล้ว

ส่วนสีสันภายในนั้นอาจเป็นสีขาวออกเหลือง หรือบางครั้งออกไปในทางแดง ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของกล้วยที่ใช้ และกระบวนการผลิต ทั้งนี้ หากท่านพบว่าสีภายในของกล้วยแขกเป็นสีดำ แสดงว่ากล้วยแขกนั้นไหม้? ซึ่งได้เตือนไว้ตั้งแต่ส่วนของสีภายนอกของกล้วยแขกแล้ว ท่านยังจะกัดเข้าไปจนเห็นด้านในอีก ไม่ฟังคำแนะนำกันบ้างเลย

ทั้งนี้ ท่านอาจพบกล้วยแขกในลักษณะที่ต่างออกไปจากที่กล่าวมาข้างต้น อาจเกิดจากการขาดความชำนาญในการผลิต ซึ่งส่งผลโดยตรงกับลักษณะภายนอกและภายในของกล้วยแขก และอาจเกิดรูปทรงกลายเป็นรูปทรงแบบอิสระ (free form) เพราะใช้กล้วยที่สุกเกินไป รวมไปถึงถ้าทอดทิ้งไว้เป็นเวลานาน ตัวกล้วยแขกจะขาดความสมดุล (balance) ระหว่างความนุ่มและความกรอบ เกิดเป็นความแข็งกระด้างขึ้นในตัววัตถุได้
กล้วยแขกงาม งามอย่างไร

ผู้เขียนได้กล่าวถึงบางส่วนไปในหัวข้อองค์ประกอบทางศิลปะของกล้วยแขกแล้ว กล้วยแขกที่ดี ควรแสดงความงามด้วยการตอบสนองประสาทสัมผัสได้ทั้ง 5 ประการ คือ งามด้วยรูป งามด้วยรส งามด้วยกลิ่น งามด้วยเสียง และงามด้วยสัมผัส

งามด้วยรูป คือ มีรูปทรงและสีสันที่เหมาะสม เป็นอินทรียรูป โค้งมนตามลักษณะผลไปตามธรรมชาติ ไม่เละหรือแตกสลายเมื่อหยิบจับ และไม่มีสีเข้มเกินไปจากการไหม้ ทั้งนี้ กล้วยแขกไม่ควรถูกผลิตให้มีรูปทรงคล้ายมันทอดหรือเผือกทอด เนื่องจากจะก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้บริโภคได้

งามด้วยรสและกลิ่น คือ มีรสอร่อย กลมกล่อม ไม่มีรสหรือกลิ่นของหมึกพิมพ์ (ในกรณีที่ใช้ถุงกระดาษหนังสือพิมพ์) และสิ่งอื่นที่ไม่เหมาะสม

งามด้วยเสียง คือ เสียงที่เกิดขึ้นจากการกัด เป็นการแสดงถึงลักษณะผิวที่มีความกรอบ หากไม่มีเสียงแสดงว่านิ่มเกินไป หรือแข็งเกินไป

งามด้วยสัมผัส คือ อุณหภูมิพอเหมาะพอดี และมีความสมดุลระหว่างความกรอบด้านนอก กับความนุ่มนวลด้านใน

ควรใช้ความระมัดระวังในการรับประทานกล้วยแขกที่ทอดใหม่ ๆ เพราะอาจลวกปากได้ และไม่ควรทิ้งให้เย็นเกินไป เนื่องจากจะเกิดความเหนียวและแข็งกระด้าง จนอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพฟันของผู้รับประทาน



สรุป
เอกสารฉบับนี้ได้กล่าวถึงประวัติของกล้วยซึ่งคาดว่าเริ่มต้นที่ปาปัวนิวกินี แต่จะอย่างไรก็ตามทีได้ลุกลามมาถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะนั่งรถ ขี่เรือ หรือนกกาเหว่านกพิราบคาบมาก็ตามที กล้วยมีประโยชน์มากมายนานัปการ ใช้ได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า ดีกว่าเจอคนหน้าตาดีเสียอีก เพราะส่วนมากจะได้แต่มองอย่างเดียว จนกระทั่งกล้วยดังกล่าวนั้นกลายมาเป็นกล้วยแขก ที่เป็นหัวข้อและจุดประสงค์ของการทำรายงาน มีสูตรให้ทดลองทำดูด้วย แต่ทานมากก็อ้วนอีกแหละ ถ้าทานไม่ค่อยบ่อยก็ซื้อเอาแล้วกัน เอาสะดวกเข้าว่า ระวังทานหมึกในกระดาษหนังสือพิมพ์เข้าไปด้วยก็แล้วกัน

ในช่วงหลังได้กล่าวถึงองค์ประกอบทางศิลปะของกล้วยแขกเอาไว้ ว่าถ้ามองมันในรูปแบบและเกณฑ์ทางนี้แล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงอาจขัดกับหลักการที่แยกแยะระหว่างศิลปะกับสิ่งอื่นทั่วไปก็เป็นได้ ตอนก่อนหน้านี้ที่อาจารย์ถามเรื่องคุกกี้โอรีโอว่าเป็นศิลปะแบบใด เรายังมองมันเป็นของกินธรรมดาอยู่เลย แต่ตอนนี้เปลี่ยนใจแล้ว เพราะเกิดความรู้สึกว่า สุนทรียะที่ดีนั้นต้องไม่มีข้อจำกัด ถ้าเราเห็นไอ้ของที่กินไม่ได้นั้นสวยงาม ไอ้ของที่กินได้ทำไมจะเกิดความงามบ้างไม่ได้ล่ะ ไหนเอาเกณฑ์มาลองทาบดูซิ นี่มันก็มีขึ้นมาได้ เห็นไหม ไม่เชื่อก็เถียงเลยสิ

ความจริงแล้วก็ไม่ใช่จะหาสาระไม่ได้เลยเสียทีเดียว ข้อมูลที่เป็นวิชาการจริงก็มี เช่นในเรื่องของที่มา และสถิติของการส่งออกกล้วย รวมถึงเรื่องขององค์ประกอบศิลปะที่เอามาคิด มันก็เป็นเกณฑ์จริงนะ เพียงแต่อาจจะวัดด้วยสายตาของนักศึกษา ไม่ใช่นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางทฤษฎี ว่าแต่ถ้าศิลปะทุกอย่างนั้นถูกตีค่าได้ด้วยเกณฑ์ทางทฤษฎีวิชาการแล้ว มันจะเหลือความเป็นศิลปะอยู่ไหมเนี่ย บางครั้งก็สงสัยอยู่ในใจ แต่ก็มีคำตอบผุดขึ้นมาภายหลังว่า ไม่ต้องเป็นห่วงไปหรอก สิ่งใดที่เป็นศิลปะ มันมีอิสระในตัวมันเองอยู่แล้ว และผู้เสพศิลปะก็มีอิสระในการตัดสินด้วย มันไม่ได้เป็นคณิตศาสตร์สักหน่อยที่ 1+1 = 2 เป็นค่าตายตัว ตาของผมกับตาของคุณมันก็คนละคู่กัน ดังนั้นก็มาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเองดีกว่า

ทั้งนี้ แม้ว่ารายงานฉบับนี้อาจจะใช้ถ้อยคำที่ดูสบายจนความเป็นสาระคล้ายจะมีน้อย แต่อีกส่วนหนึ่งที่จะนำเสนอกันในรายงานฉบับนี้ก็คือ วรรณศิลป์ ซึ่งแน่นอนว่ามีทั่วบทความอยู่แล้ว เพราะมีส่วนที่อ้างอิง (Quote) มาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง ที่เหลือก็จัดทำด้วยสำนวนตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบอยู่แล้ว

ดังนั้น กล่าวได้ว่า เรื่องกล้วยแขกนี้ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ผู้เขียนใช้เพื่อแสดงถึงความสามารถที่พอมีในด้านวรรณศิลป์ออกมาให้ตัดสิน

ขอบคุณอาจารย์ที่เปิดกว้างและให้อิสระในการเลือกหัวข้อและวิธีการ ทำให้ผู้เรียนอย่างเราได้พบอิสระที่แฝงอยู่ในศิลปะ

ทั้งนี้ขอโทษราชบัณฑิตยสถานด้วยที่มีการแย้งเล็กน้อยเกี่ยวกับคำจำกัดความที่ท่านให้ไว้เกี่ยวกับกล้วยแขก ก็ดูสิ เขียนซะสั้นเชียว กล้วยชุบแป้งทอด อ่านแล้วนึกถึงกล้วยเทมปุระ ทีตอนเปิดหาคำว่า โทรศัพท์ ล่ะ ให้คำจำกัดไว้ยาวเหยียดเชียว

ว่าถึงเรื่องวรรณศิลป์ ถ้าคุณอ่านข้อความพวกนี้ของผมแล้วเพลินก็แสดงว่าผมประสบความสำเร็จแล้วล่ะ แต่ถ้าไม่ ก็ไม่เป็นไร เอาไว้มีโอกาสแล้วจะทำมาให้อ่านใหม่ แต่อาจไม่ใช่เอกสารเพื่อส่งงานแล้ว เนื่องจากคงหาโอกาสแบบนี้ได้ไม่ง่ายนัก

ขอเพิ่มเติมว่า หากท่านใดอยากอ่านสิ่งที่เป็นวิชาการก็แนะให้ท่านอ่านภาคผนวกได้เลยครับ เพราะใส่ข้อมูลที่มีสาระตรงตามรายวิชาเอาไว้ให้แล้ว เป็นส่วนที่เป็นสาระที่สุดในรายงานเลย แต่ไม่ใช่ของใหม่ตามที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอเท่านั้นเอง.



ภาคผนวก


เพื่อประกอบความรู้ความเข้าใจในด้านองค์ประกอบทางศิลปะ จึงขอยกคำอธิบายโดย

ฉัตร์ชัย อรรถปักษ์ (2548) เพื่อให้ทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นดังรายละเอียดต่อไปนี้:-

องค์ประกอบที่เป็นพื้นฐานในการสร้างงานศิลปะ
1. จุด เป็นองค์ประกอบที่เป็นพื้นฐานขององค์ประกอบอื่น
2. เส้น แบ่งเป็น 4 แบบ คือ เส้นที่เกิดขึ้นจริง เส้นเชิงนัย เส้นที่เกิดจากขอบ และเส้นสมมติ
3. รูปร่าง รูปทรง มวล รูปร่างมีลักษณะ 2 มิติ รูปทรงมีลักษณะ 3 มิติ และมวลคือการรวมกลุ่มกันของรูปร่างและรูปทรง
4. ลักษณะผิว แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ผิวที่เกิดจากเทคนิคการลวงตา และผิวที่เกิดจากความเป็นจริงเชิงกายภาพ
5. ส่วนสัด ศิลปินอาจถ่ายทอดผลงานให้มีส่วนสัดเหมือนจริงตามธรรมชาติ หรือถ่ายทอดตามความรู้สึกของตนเองโดยไม่คำนึงถึงความเหมือนจริงเลยก็ได้
6. สี มีสิทธิพลต่ออารมณ์และความรู้สึก แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ สีของปรากฏการณ์ธรรมชาติ สีของเนื้อวัสดุ และสีที่เกิดจากเนื้อสี สามารถแสดงความสัมพันธ์ของสีด้วยวงสี ซึ่งจะแสดงแม่สีและสีที่เกิดจากการผสมในขั้นต่าง ๆ
7. น้ำหนัก คือ ความอ่อนแก่ของสีที่สายตารับรู้จากการมองวัตถุ ใช้เพื่อสร้างมิติและทำให้รู้สึกถึงความเคลื่อนไหว
8. แสงและเงา ศิลปินมักใช้หลักธรรมชาติในการกำหนดแสงและเงาเพื่อให้เกิดมิติ แสงจากแหล่งกำเนิดที่ต่างกันจะทำให้เกิดเงาที่มีลักษณะต่างกัน
9. ที่ว่าง มี 2 ลักษณะ คือ ที่ว่างแบบ 2 มิติ และที่ว่างแบบ 3 มิติ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ที่ว่างจริงหรือที่ว่างกายภาพ และที่ว่างลวงตาหรือที่ว่างแบบรูปภาพ

องค์ประกอบพื้นฐานเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ทั้งในงานทัศนศิลป์และงานศิลปะประยุกต์ การใช้องค์ประกอบพื้นฐานอย่างเหมาะสมจะทำให้ผลงานมีความสวยงามกลมกลืน มีเอกภาพ สามารถสื่อความหมายและจินตนาการของศิลปิน รวมถึงมีประโยชน์ในการใช้สอยอีกด้วย




องค์ประกอบที่เป็นหลักในการสร้างสรรค์งานศิลปะ

1. การซ้ำ (repetition) เกิดจากองค์ประกอบที่มีลักษณะเหมือนกันตั้งแต่สองหน่วยขึ้นไปวางอยู่ในที่ว่าง โดยมีที่ว่างคั่นอยู่ระหว่างหน่วยองค์ประกอบที่จะนำมาวางซ้ำเหล่านี้ได้แก่ จุด เส้น น้ำหนัก รูปร่าง รูปทรง สี ลักษณะผิว ฯลฯ

2. จังหวะ (rhythm) เกิดจากการซ้ำกันอย่างต่อเนื่องและมีเอกภาพขององค์ประกอบพื้นฐานที่มีลักษณะเหมือนกันตั้งแต่ 2 หน่วยขึ้นไปบนที่ว่าง
3. ลวดลาย (pattern) คือลักษระการจัดวางองค์ประกอบซ้ำ ๆ กันอย่างเป็นจังหวะ ทำให้เกิดลักษณะเฉพาะตัวของงาน ทำให้งานมีเอกภาพและความกลมกลืน

4. การลดหลั่น (gradation) คือ การจัดลำดับขบององค์ประกอบต่าง ๆ เช่น เส้น รูปร่าง รูปทรง สี ลักษณะผิว ฯลฯ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ เช่น ระดับสีอ่อนไปสีแก่ ลักษณะผิวเรียบไปสู่ขรุขระ รูปทรงเล็กไปหาใหญ่ เป็นต้น

5. ทิศทาง (direction) หมายถึงความรู้สึกเคลื่นอไหวที่เกิดจากการพิจารณาองค์ประกอบในงานศิลปะ ซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้น รูปร่าง รูปทรง ฯลฯ สามารถชักนำสายตาให้เกิดความรู้สึกเคลื่อนไหวไปตามทิศทางที่ศิลปินได้สร้างสรรค์ขึ้น

6. ความกลมกลืน (harmony) หมายถึงการนำองค์ประกอบพื้นฐานที่มีความคล้ายกันหรือเหมือนกันมาจัดวางอย่างสัมพันธ์กัน เกิดการประสานกันอย่างเหมาะสมและลงตัวในผลงาน ดูแล้วไม่ขัดตา

7. การตัดกัน (contrast) หรือการขัดแย้งกัน หมายถึงการจัดองค์ประกอบพื้นฐานที่มีคุณสมบัติต่างกันมาไว้ด้วยกัน ความแตกต่างกันนั้นมีหลายระดับตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจนทำให้งานเกิดความขัดแย้งไม่เป็นระเบียบ การตัดกันถ้าหากใช้ด้วยความเหมาะสมจะทำให้เกิดความเด่นปรากฏชัดเจนขึ้นในผลงาน กลายเป็นจุดรวมของความสนใจ (focal point) นอกจากนี้ ยังช่วยลดความน่าเบื่อจากความกลมกลืนที่มีมากเกินไป แต่ถ้าใช้การตัดกันมากเกินไปจะทำให้เกิดความไม่เข้ากันหรือการขัดกัน

8. ความสมดุล (balance) หมายถึงความเท่ากันในน้ำหนักของสิ่งต่าง ๆ ระหว่าง 2 ส่วน ความหมายนี้ใช้กับความสมดุลของวัตถุจริงที่สามารถชั่งน้ำหนักด้วยเครื่องชั่งได้ เรียกว่า ความสมดุลของน้ำหนักจริงเชิงกายภาพ (physical weight) แต่ความสมดุลในทางศิลปะหมายถึงความเท่ากันตามความรู้สึก (sensible equilibrium) โดยการแบ่งภาพหรือผลงานออกเป็น 2 ส่วน โดยใช้เส้นแบ่งกึ่งกลางของผลงาน เรียกว่าเส้นแกน (axis) แล้วเปรียบเทียบน้ำหนักขององค์ประกอบพื้นฐานอื่น ๆ ที่อยู่ 2 ด้านของเส้นแกนว่าสมดุลหรือไม่ เป็นความสมดุลตามความรู้สึกทางการเห็น (visual weight)

9. เอกภาพ (unity) หมายถึง
* ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือความเป็นระเบียบของภาพ
* ความกลมกลืนขององค์ประกอบพื้นฐาน
* ความสมดุลของภาพ
* การรวมกันของรูปทรงในภาพเป็นจุดเด่น
เอกภาพนับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบและสร้างสรรค์งานศิลปะ เอกภาพประกอบด้วยสิ่งสำคัญ 3 ประการ คือ ดุลยภาพ การรวมตัว และความเป็นระเบียบ



บรรณานุกรม

หนังสือ
ฉัตรชัย อรรถปักษ์. (2548). องค์ประกอบศิลปะ. กรุงเทพฯ: วิทยพัฒน์
สโรช รัตนากร. (2550). สมองดีด้วยอาหาร. กรุงเทพฯ: ฐานบุ๊คส์.


สื่อออนไลน์
UN Food & Agriculture Organisation (2005). FAOSTAT: ProdSTAT: Crops. (Online). //faostat.fao.org/site/567/DesktopDefault.aspx?PageID=567.
Retrieved on 10-04-2008.
Wikipedia, the free Encyclopedia. Banana. (Online). //en.wikipedia.org/wiki/Banana. Retrieved on 10-04-2008.
โพระดก (นามแฝง). กล้วยแขก..ในวิถีไทย. (Online). //www.suanlukchan.com/discussion.php?suan_chanruean_id=68.
เข้าชมเมื่อ 3 ตุลาคม 2551.
โหระพา เว็บรวมเมนูอาหาร และทุกอย่างเกี่ยวกับอาหาร. กล้วยแขก. (Online). //www.horapa.com/content.php?Category=Appitizer&No=710.
เข้าชมเมื่อ 3 ตุลาคม 2551.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. (Online). //rirs3.royin.go.th/dictionary.asp. เข้าชมเมื่อ 3 ตุลาคม 2551.




 

Create Date : 07 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2551 14:39:11 น.
Counter : 1611 Pageviews.  

Postmodernism

Postmodernism

โดย...Dr. Mary Klages

(เรียบเรียงจาก...//www.colorado.edu/English/ENGL2012Klages/pomo.html)

Postmodernism เป็นถ้อยคำและกรอบความคิดที่ซับซ้อน เกิดขึ้นในแวดวงวิชาการตั้งแต่กลางปี ๑๙๘๐ Postmodernism มีคำจำกัดความที่ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะมันเป็นแนวคิดหนึ่งที่ปรากฏในความหลากหลายของกฏเกณฑ์หรือแขนงวิชาการต่างๆ รวมถึงศิลปะ สถาปัตยกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ วรรณคดี สังคมวิทยา สื่อสารมวลชน แฟชั่น และเท็คโนโลยี และยากที่จะระบุช่วงเวลาและประวัติศาสตร์ของมัน เพราะไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามันเกิดขึ้นมาเมื่อใด

อาจเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการการเริ่มคิดถึง -postmodernism ก็โดยการคิดถึงสิ่งที่เกี่ยวกับความทันสมัย-modernism ความเปลี่ยนแปลงเกิดจากการเริ่มและขยายความจากความทันสมัย -Modernism มีสองประเด็นหลัก หรือสองแนวทางในคำจำกัดความ ทั้งสองนี้เกี่ยวข้องกับความเข้าใจในแนวคิด -postmodernism.

ประเด็นแรกหรือคำจำกัดความแรกของ -modernism นั้นมาจากการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเรื่องสุนทรียศาสตร์ในตราประทับของ "modernism." การเคลื่อนไหวนี้นำไปสูจุดหมายปลายทางของแนวคิดศิลปะตะวันตกของศตวรรษที่ ๒๐ (แม้ว่าร่องรอยจะเริ่มปรากฏในช่วงของศตวรรษที่ ๑๙ ก็ตาม) Modernism นั้น อย่างที่ทราบกัน เป็นการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงของแขนงวิชา ทัศนศิลป์ ดนตรี วรรณคดี และการละคอน ซึ่งต่อต้านแนวคิดแบบ Victorian ศิลปะเดิมที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ในช่วง "high modernism," ระหว่างปี 1910 ถึง 1930 งานวรรณกรรมในแบบฉบับของ modernism ช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงและทบทวน การเขียนโคลงกลอนและนิยายกันใหม่ เช่นผลงานของ Woolf, Joyce, Eliot, Pound, Stevens, Proust, Mallarme, Kafka, และ Rilke ท่านเหล่านี้ถูกจัดเป็นผู้ริเริ่มของวรรณกรรม -modernism แห่งศตวรรษที่ ๒๐.

จากมุมมองทางด้านวรรณกรรม ลักษณะสำคัญของ modernism ประกอบด้วย:

1. เน้นเรื่องความรู้สึกล้วนๆ-impressionism และการเขียนในเชิงนามธรรม (เช่นเดียวกันงานทัศนศิลป์) การเน้นที่เห็น "อย่างไร" (หรือการอ่านหรือการรับรู้ด้วยตัวมันเอง) มากกว่า "อะไร" ที่มองเห็น ตัวอย่างนี้คือ งานเขียนที่เต็มไปด้วยกระแสของจิตที่มีสำนึก (stream-of-consciousness writing)

2. ความเปลี่ยนแปลงอันหนึ่ง คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากความรอบรู้ในการบรรยายของบุคคลที่สาม มุมมองที่เฉพาะเจาะจง และเงื่อนไขทางศีลธรรมที่ชัดเจน เช่น เรื่องราวการบรรยายของ Faulkner เป็นตัวอย่างหนึ่งของแนวเขียนแบบ modernism.

3. ความกำกวมของความแตกต่างระหว่างเรื่องราวที่เคยสามารถอ่านได้จากภาพ กับบทกลอน ที่เพิ่มความเป็นสารคดี (เช่นงานเขียนของ T.S. Eliot ) และบทรอยแก้ว ที่ค่อนไปทางโคลงกลอนมากขึ้น (เช่นงานเขียนของ Woolf หรือ Joyce)

4. เน้นรูปแบบที่แยกออกเป็นส่วนๆ การบรรยายเรื่องราวที่ไม่ต่อเนื่องและการสุมรวมปะติดปะต่อของสิ่งที่แตกต่างกัน

5. โอนเอียงในทำนองการสะท้อนกลับ หรือรู้สำนึกได้ด้วยตัวเอง ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ เพื่อที่งานแต่ละชิ้นจะได้เรียกร้องความสนใจเฉพาะตามสถานะของการรังสรรค์ในวิธีการที่เป็นพิเศษ

6. รูปแบบทางสุนทรีย์เน้นที่ความน้อยสุด (minimalist designs ..เช่นในงานประพันธ์ของ William Carlos Williams) ส่วนใหญ่ปฏิเสธทฤษฎีสุนทรีย์ศาสตร์ที่เคร่งครัดแบบเดิม สนับสนุนการสร้างสรรค์ที่เกิดจากการค้นพบด้วยตนเองตามธรรมชาติ

7. ปฏิเสธการแยกเป็นสองขั้ว เช่น สูง และ ต่ำ หรือวัฒนธรรมยอดนิยมเดิมๆ ในการเลือกใช้วัสดุในการผลิตงานศิลปะ และวิธีการนำเสนอ การเผยแพร่ และการบริโภคของงานศิลปะ

Postmodernism มีความคล้ายคลึงกันกับ modernism ตามความคิดที่เหมือนกันเหล่านี้คือ ปฏิเสธเส้นแบ่งระหว่างความสูง-ต่ำในรูปแบบของศิลปะ ปฏิเสธความแตกต่างในความเป็นศิลปวัตถุที่เคร่งครัด เน้นการหลอมรวมกับสิ่งที่คุ้นเคย กำมะลอ การแดกดัน และความขบขัน ในแง่ศิลปะ (และความคิด) ของ Postmodern มักไหลย้อนกลับและมีสำนึกของตนเอง เปราะบางและไม่ต่อเนื่อง (โดยเฉพาะโครงสร้างการบรรยายความ) ขัดแย้ง ในเวลาเดียวกัน และการเน้นรื้อเปลี่ยนโครงสร้าง ย้ายความเป็นศูนย์กลาง ตัดสิทธิ์ความเป็นประธาน

แต่..แม้ในความเป็น -postmodernism ดูเหมือนจะคล้ายกับ -modernism ในหลายเรื่อง ความแตกต่างกันอยู่ที่ทัศนะคติในเรื่องนั้นๆ ดังเช่น Modernism โน้มเอียงไปที่ความเปราะบางในแง่ที่เกี่ยวกับจิตใจของมนุษย์และประวัติศาสตร์ (เช่นความคิดในงานประพันธ์เรื่อง The Wasteland ของ Woolf's To the Lighthouse) โดยเสนอว่า ความเปราะบางนั้นเป็นบางสิ่งที่เลวร้าย บางสิ่งที่เป็นความโทมนัสและเศร้าโศรกในความสูญเสีย งานของนักทันสมัย พยายามหยิบยกความคิดของงานศิลปะที่สนองความเป็นเอกภาพ ยึดเหนี่ยว และให้ความหมายในสิ่งที่สูญหายไปในชีวิตสมัยใหม่ ศิลปะจะสนองตอบในสิ่งที่สูญหายในสถาบันของความเป็นมนุษย์ Postmodernism ในทางกลับกัน ไม่เน้นความเปราะบางของโทมนัส สร้างทดแทน หรือไม่เกาะยึดไว้ แต่ค่อนไปทางเฉลิมฉลอง กระทำดังเช่นราวกับว่าโลกไร้ความหมาย? ไม่แสร้งทำให้ดูเหมือนว่าศิลปะสามารถให้ความหมายได้ กลับปล่อยให้เป็นเรื่องเล่นๆที่ไร้สาระ

อีกแง่ในการมองความสัมพันธ์ระหว่าง modernism และ postmodernism คือการช่วยให้เกิดความกระจ่างในความแตกต่างบางอย่าง ในทัศนะของ Frederic Jameson, modernism และ postmodernism เป็นการก่อรูปทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับลัทธิความเป็นทุนนิยม Jameson อ้างสาระสำคัญของวลีสามอย่างของลัทธิทุนนิยม ที่กำหนดความประพฤติทางวัฒนธรรม (รวมศิลปะและวรรณกรรม) เป็นพิเศษคือ สาระแรก เกี่ยวกับตลาดทุนนิยม ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๘ จนถึงตลอดศตวรรษที่ ๑๙ ในยุโรปตะวันตก อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา (และปริมณฑลโดยรอบ) ในสาระแรกนี้รวมเอาการพัฒนาทางวิทยาการต่างๆ เช่น เครื่องจักร์ไอน้ำ และลักษณะของสุนทรีย์ศาสตร์พิเศษ ที่เรียกว่า ความจริงแท้ -realism. สาระที่สองเกิดต่อจากศตวรรษที่ ๑๙ จนถึงศตวรรษที่ ๒๐ (ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) ในสาระนี้ การถือเอกสิทธิ์ของระบบทุนนิยม ด้วยการรวมตัวกันของเครื่องไฟฟ้าและพลังงานและกับความทันสมัย -modernism ในสาระที่สาม วลีของเขาคือว่า เราเดี๋ยวนี้คือนักบริโภคนานาชาติของระบบทุนนิยม (ที่เน้น การตลาด การขาย การบริโภคแบบรวมซื้อเพื่อขายต่อ ไม่ใช่เพื่อการผลิตก่อนแล้วขาย) รวมกันกับวิทยาการด้านนิวเคลียร์และไฟฟ้า และบรรณสานสัมพันธ์กันเป็น postmodernism ในเวลาเดียวกัน

ดังที่ Jameson บ่งชี้ลักษณะของ postmodernism ในแง่กรรมวิธีของการผลิตและเท็คโนโลยี ปัญหาของคำจำกัดความที่สองของ postmodernism ที่มีมาจากประวัติศาสตร์และสังคม มากกว่าวรรณกรรมหรือประวัติศาสตร์ศิลปะ แนวคิดนี้กำหนด postmodernism ในนามของการเข้าไปก่อรูปของสังคมทั้งหมด กำหนดทัศนะคติของสังคม/ประวัติศาสตร์ ที่ชัดเจน คือแนวคิดนี้ขัดแย้งกันในเชิง ระหว่าง "postmodernity" กับ "modernity" แทนที่จะเป็นระหว่าง "postmodernism" กับ "modernism."

อะไรคือความแตกต่าง? "Modernism" โดยทั่วไปอ้างถึงความเปลี่ยนแปลงทางสุนทรีย์ศาสตร์กว้างๆในศตวรรษที่ ๒๐ ขณะที่ "modernity" อ้างถึงรากฐานทางปรัชญา การเมือง และความคิดด้านจิรยะธรรม ซึ่งถือเป็นรากฐานของความคิดทางสุนทรีย์พื้นฐานของ modernism. "Modernity" มีความเก่าแก่กว่า "modernism" ในการอ้างถึงชื่อ "modern" ประการแรกกำหนดในสังคมวิทยาสมัยศตวรรษที่ ๑๙ หมายถึงความแตกต่างของยุคสมัยปัจจุบันกับยุคสมัยก่อนที่ผ่านมา ซึ่งให้ชื่อว่า "โบราณ-antiquity" นักวิชาการทั้งหลายมักโต้แย้งเมื่อยุค "modern" ที่แน่นอนเริ่มต้น และทำอย่างให้เกิดความแตกต่างระหว่างอะไรที่ทันสมัย และไม่ทันสมัย มันเลยดูเหมือนว่ายุคทันสมัยเริ่มต้นก่อนหน้า ที่นักประวัติศาสตร์จะมองเห็น แต่โดยทั่วไปแล้วยุคของ "modern" จะหมายรวมกันกับยุคพุทธิปัญญาของยุโรป -the European Enlightenment ซึ่งเริ่มคร่าวๆในกลางศตวรรษที่ ๑๘ (นักประวัติศาสตร์บางคนย้อนรอยของพุทธิปัญญานี้กลับไปในสมัยเรเนอร์ซองค์ -Renaissance หรือก่อนหน้านั้นเสียอีก และบางคนอาจเถียงว่าความคิดของสมัยพุทธปัญญานี้เริ่มต้นในศตวรรษที่ ๑๘ แต่สำหรับข้าพเจ้า (ผู้เขียนบทความนี้) มักกำหนดวันที่ของ "modern" จากปีค.ศ.1750 เพียงเพราะข้าพเจ้าจบการศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต จากโปรแกรมของมหาวิทยาลัย Stanford ที่ชื่อว่า "Modern Thought and Literature," โปรแกรมนี้เน้นที่งานวรรณกรรมหลังปีค.ศ. 1750).

รากฐานความคิดของพุทธิปัญญา -the Enlightenment โดยคร่าวๆ เป็นเช่นเดียวกับรากฐานความคิดของมนุษย์นิยม -humanism บทความของ Jane Flax ให้ข้อสรุปรากฐานของความคิดเหล่านี้ ถือเป็นหลักฐาน (หน้า 41) โดยข้าพเจ้าจะเพิ่มเติมสองสามอย่างในรายการของเธอ

1. มีเสถียรภาพ ติดต่อกันเป็นเรื่องราว รู้ได้ด้วยตนเอง รู้ได้ในจิตสำนึกของตนเอง มีเหตุ-ผล เป็นอิสระ และครอบคลุมกว้างขวาง ไม่เพียงแค่เงื่อนไขทางกายภาพ หรือไม่มีผลกระทบความแตกต่างในเนื้อหาใจความ ที่ตนเองรับรู้ได้

2. การรู้โดยตนเอง และรู้โลกผ่านเหตุผล มีสติ ในสภาพของจิตใจที่ให้ประโยชน์สูงสุดตามภววิสัย

3. วิธีการรู้ เกิดจากวัตถุประสงค์ของความมีเหตุ-ผลแห่งตนที่เรียก "วิทยาศาสตร์" สามารถบ่งบอกความจริงสากลที่เกี่ยวข้องกับโลก โดยไม่ละเลยความเป็นปัจเจกภาพของผู้รู้

4. ความรู้เกิดจากวิทยาศาสตร์คือ "ความจริง" และไม่เป็นที่สิ้นสุด

5. ความรู้/ความจริง เกิดโดยวิทยาศาสตร์ (ด้วยการรู้วัตถุประสงค์อย่างมีเหตุ-ผลด้วยตนเอง) จะนำพาไปสู่ความก้าวหน้าและสมบูรณ์ ในทุกสถาบันและในการปฏิบัติของมนุษย์ สามารถวิเคราะห์ได้จากวิทยาศาสตร์ (ของวัตุประสงค์/เหตุผล) และปรับปรุงได้เสมอ

6. เหตุผลคือ ผู้ตัดสินสูงสุดว่าอะไรเป็นความจริง อะไรที่ถูกต้อง และอะไรที่ดี (อะไรที่ถูกกฏหมายและอะไรที่มีคุณธรรม) อิสระภาพประกอบด้วยความเชื่อฟังในกฏเกณฑ์ที่ตรงกันกับความรู้ที่ค้นพบด้วยเหตุผล

7. ในโลกที่ปกครองด้วยเหตุผล ความจริงจะเป็นเช่นเดียวกับความดีและความถูกต้อง (และความงาม) จะไม่ขัดแย้งกันระหว่างอะไรเป็นความจริงกับอะไรเป็นความถูกต้อง (ฯลฯ)

8. วิทยาศาสตร์ เช่นนี้..ถือเป็นกระบวนทัศน์ (paradigm) ที่เป็นประโยชน์สำหรับความรู้ต่างๆของสังคม วิทยาศาสตร์เป็นกลางและเป็นภววิสัย นักวิทยาศาสตร์ผู้ผลิตความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ด้วยความสามารถที่ไม่มีอคติ ต้องมีอิสระในการเจริญรอยตามหลักเกณฑ์ของเหตุผล ไม่ถูกชักจูงด้วยสิ่งอื่น (เช่น เงินหรืออำนาจ)

9. ภาษา หรือวิธีการแสดงออก ใช้ประโยชน์ในการนำเสนอและเผยแพร่ความรู้ ต้องมีเหตุ-ผลด้วย การมีสติในเหตุ-ผลนั้น ภาษาต้องโปร่งใส ใช้ประโยชน์เพื่อแทนโลกที่รับรู้จริงๆด้วยการสังเกตุของจิตใจที่มีสติสัมปชัญญะ ต้องมั่นคงและเป็นภววิสัยเชื่อมวัตถุที่รับรู้กับโลกเข้าด้วยกันด้วยบัญญัติ (ระหว่างสัญลักษณ์และผู้กำหนด)

มีบางหลักฐานที่เป็นบรรทัดฐานของความเป็นมนุษย์ หรือของความทันสมัย- modernism ซึ่งมันช่วยในการบอกกล่าว ตัดสินและอธิบายโครงสร้างสังคมและสถาบันได้อย่างแท้จริง รวมทั้งประชาธิปไตย กฏหมาย วิทยาศาสตร์ จริยศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์

Modernity คือมูลฐานหนึ่งของระเบียบ (order) เกี่ยวกับสติสัมปชัญญะและความมีเหตุ-ผล ระเบียบของการสร้างสรรค์ให้พ้นจากความหายนะ ข้อสันนิษฐานหนึ่งคือว่า การสร้างสรรค์ที่มีเหตุ-ผล จะนำไปสู่การสร้างสรรค์ที่มีระเบียบมากกว่า สร้างสังคมให้มีระเบียบมากกว่า ให้ประโยชน์มากกว่า (มีเหตุ-ผลมากก็จะเป็นประโยชน์มาก) เพราะว่า -modernity จะนำไปสู่การเพิ่มระดับของระเบียบ เป็นสังคมทันสมัย เป็นเกราะป้องกัน "ความไร้ระเบียบ" ที่จะทำลายความเป็นระเบียบ ด้วยเหตุนี้ สังคมทันสมัยจึงขึ้นอยู่กับการสร้างเสริมอย่างต่อเนื่องของสองขั้วระหว่าง "ระเบียบ" และ "ไร้ระเบียบ" เพื่อที่เขาจะรักษา "ระเบียบ" ให้เหนือกว่าอยู่เสมอ แต่การจะกระทำได้ดังนี้ เขาต้องมีสิ่งที่เป็นตัวแทนของความ "ไร้ระเบียบ" สังคมทันสมัยจึงต้องมีการสร้าง/เสริม ความ "ไร้ระเบียบ" ในสังคมตะวันตก ความไร้ระเบียบกลายเป็น "สิ่งอื่น" ที่กำหนดความสัมพันธ์กับสองขั้วตรงข้ามอื่นๆ ฉะนั้น บางสิ่งไม่ขาว ไม่ชาย ไม่แตกต่างทางเพศ ไม่สะอาดบริสุทธิ์ ไม่เป็นเหตุ-ผล (ฯลฯ) กลายเป็นส่วนของความ "ไร้ระเบียบ" และต้องกำจัดออกไปเสียจากสังคมที่มีระเบียบ สำหรับสังคมที่ทันสมัยและมีเหตุ-ผล

วิถีทางต่างๆที่สังคมทันสมัยดำเนินการจำแนกตราประทับ "ระเบียบ" และ "ไร้ระเบียบ" คือจะต้องพยายามรักษาความสมดุลป์ Francois Lyotard (นักทฤษฎีเช่นเดียวกับ Sarup ซึ่งพรรณาในบทความ-postmodernism ของเขา) จัดความสมดุลป์ด้วยความคิดของ "โมกขบริสุทธิ์-รวมยอด-totality" หรือระบบรวมยอด-totalized system (ตรงนี้ควรนึกถึงความคิดของ Derrida's idea of "totality" เช่นเดียวกับ องค์รวมหรือความสัมบูรณ์ของกระบวนระบบ) การรวมยอด และความสมดุลป์ และระเบียบ Lyotard แย้งถึงการคงไว้ในสังคมทันสมัยผ่านขบวนการของ "การบรรยายโวหารที่กว้างขวาง-grand narratives" หรือ "สร้างโวหารที่ครอบงำ-master narratives," ซึ่งเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่บอกเล่าตัวเองถึงการปฏิบัติและความเชื่อ "การบรรยายโวหารที่กว้างขวาง" ในวัฒนธรรมอเมริกัน อาจเป็นเรื่องราวของประชาธิปไตย คือพุทธิปัญญา (อย่างมีเหตุ-ผล) ถือเป็นรูปแบบของรัฐบาล และระบอบประชาธิปไตยจะนำพาความผาสุขให้กับมนุษย์ทั้งมวล ทุกกระบวนระบบของความเชื่อและความคิดฝันมีการบรรยายโวหารที่กว้างขวาง ในทัศนะของ Lyotard ดังตัวอย่างเช่น ลัทธิมาร์ก โวหารที่กว้างขวาง คือความคิดที่ว่าลัทธิทุนนิยมจะพินาศด้วยตัวของมันเอง และสังคมแบบยูโทเปียจะอุบัติขึ้นแทน ท่านอาจคิดถึงโวหารที่กว้างขวางนี้ เป็นดังเช่นทฤษฎียิ่งใหญ่-meta-theory หรือความคิดฝันที่ยิ่งใหญ่-meta-ideology นั่นคือความคิดฝันที่อธิบายสู่ความคิดฝันอีกอันหนึ่ง (ดังเช่นลัทธิมาร์ก) เป็นเรื่องราวที่ถูกบอกกล่าวเพื่ออธิบายกระบวนระบบของความเชื่อที่ยังคงอยู่

Lyotard แย้งว่ารูปการทั้งหมดของสังคมทันสมัย รวมถึงวิทยาศาสตร์อันเป็นรูปแบบสำคัญของความรู้ ขึ้นอยู่กับโวหารที่กว้างขวาง Postmodernism จึงเป็นบทวิจารณ์ของโวหารที่กว้างขวาง ความเอาใจใส่ต่อโวหารทั้งหลายที่ใช้เป็นเหมือนหน้ากากปิดบังความขัดแย้งและความไร้สมดุลป์ ซึ่งฝังติดอยู่ในการจัดการและการปฏิบัติทางสังคม ในอีกนัย คือทุกความพยายามเพื่อสร้างสรรค์ "ระเบียบ" ต้องการสร้างจำนวนที่เท่าๆกันกับความ "ไร้ระเบียบ" อยู่เสมอ แต่โวหารที่กว้างขวางปิดบังการสร้างของการจำแนกเหล่านี้ โดยอธิบายว่า ความ "ไร้ระเบียบ" แท้จริงแล้ว คือหายนะ และความเลว และความมี "ระเบียบ" แท้จริงหรือความมีเหตุ-ผลและความดี Postmodernism ปฏิเสธโวหารที่กว้างขวางนี้ กลับชื่นชม "การบรรยายโวหารเล็กๆ-mini-narratives," คือเป็นเรื่องราวที่อธิบายการปฏิบัติขนาดย่อม เหตุการณ์ระดับท้องถิ่น แทนที่เป็นแนวคิดขนาดใหญ่ชนิดครอบจักรวาลเดิมๆทั้งหลาย Postmodern ในลักษณะของ "การบรรยายโวหารเล็กๆ" เป็นเช่นสถานการณ์ เป็นเช่นการเตรียมการ เป็นเช่นความไม่แน่นอน และเป็นการชั่วคราว เท่านั้น ไม่เรียกร้องความเป็นสากล ความจริง เหตุผล ความมั่นคง หรือเสถียรภาพใดๆเลย

บางรูปการของความคิดทางพุทธิปัญญา-ในเก้าข้อของข้าพเจ้า-คือความคิดเห็นที่ว่าภาษาคือความโปร่งใส คำ ถูกใช้เพื่อแทนความคิดและสรรพสิ่งทางวัตถุทั้งหลายเพื่อประโยชน์เท่านั้น สังคมทันสมัยขึ้นอยู่กับความคิดเห็นที่ผู้กำหนดชี้ไปที่สิ่งที่บัญญัติ และความเป็นจริงอาศัยกันกับสิ่งที่กำหนด ใน (สังคม)- postmodernism มีเพียงผู้กำหนดเท่านั้น ความคิดของเรื่องเสถียรภาพ หรือความจริงถาวรไม่ปรากฏในสิ่งที่กำหนดซึ่งชี้โดยผู้กำหนด สังคมหลังทันสมัยมีเพียงผิวเปลือก ปราศจากความลึก แค่เพียงผู้กำหนด ไม่ใช่สิ่งที่กำหนด

กล่าวอีกนัย ตามทัศนะของ Jean Baudrillard คือ ในสังคมหลังทันสมัย ไม่มีต้นแบบ มีเพียงสำเนา-หรืออะไรที่เขาเรียกว่า "จินตภาพของบางสิ่ง-simulacra" ท่านอาจเปรียบกันได้เช่น ภาพวาด หรือปฏิมากรรม ที่มีงานต้นฉบับ (เช่นงานของ Van Gogh เป็นต้น) ซึ่งอาจมีสำเนาเป็นพันๆ แต่ต้นฉบับมีเพียงหนึ่งที่มีคุณค่าสูง (โดยเฉพาะค่าของเงิน) ซึ่งตรงข้ามสิ้นเชิงกับงานที่ถูกบันทึกด้วยซีดีหรือการบันทึกเพลง ซึ่งไม่มี "ต้นฉบับ" ของมันดังเช่นงานภาพเขียน-ไม่มีการบันทึกไว้แขวนบนผนัง หรือเก็บไว้ในกรุ มีแต่เพียงแค่สำเนาเป็นร้อยๆที่เหมือนกันทั้งหมด และขายในราคา (โดยประมาณ) เดียวๆกัน อีกความหมายของ "simulacrum" Baudrillard หมายถึงแนวคิดของความเหมือนความจริง ความจริงที่เกิดจากการจำลอง ซึ่งไม่มีต้นฉบับ เช่นตามหลักฐานเฉพาะของเกมจำลองทางคอมพิวเตอร์-ในความคิดของ Sim City, Sim Ant ฯลฯ

ท้ายสุด -postmodernism เกี่ยวข้องกับคำถามการจัดการความรู้ ในสังคมทันสมัยที่ว่า ความรู้เทียบเท่าวิทยาศาสตร์ และตรงข้ามกับการบรรยายโวหาร วิทยาศาตร์เป็นความรู้ที่ดี และการบรรยายโวหารเป็นความรู้ที่เลว โบราณ และไม่มีเหตุ-ผล (อันรวมถึง ผู้หญิง เด็กๆ คนพื้นเมือง และคนป่วยทางจิต) อย่างไรก็ตาม ความรู้เป็นสิ่งดีในตัวมันเอง คนได้รับความรู้ผ่านทางการศึกษา เพื่อการเรียนรู้โดยทั่วไป จึงจะกลายเป็นผู้มีความรู้ นี่คือความคิดฝันของการศึกษาศิลปศาสตร์แบบเสรีนิยม ในสังคมหลังทันสมัย ความรู้ถือเป็นประโยชน์-ท่านเรียนสิ่งต่าง โดยอาจไม่รู้ แต่ใช้ประโยชน์มันได้ ตามที่ Sarup ชี้ไว้ (หน้า138) ว่า นโยบายการศึกษาปัจจุบันเน้นทักษะและการฝึกฝน มากกว่าความนึกคิดในแง่การศึกษาความเป็นมนุษย์ทั่วไป จึงมีคำกล่าวถามเฉพาะและรุนแรงในวิชาภาษาอังกฤษที่ว่า " ท่านจะทำอะไรกับปริญญาของท่าน?"

ไม่เพียงแต่ความรู้ในสังคมหลังทันสมัย ที่บ่งคุณลักษณะในประโยชน์ของมันเท่านั้น แต่ความรู้ยังเผยแพร่ เก็บรวมไว้ และแยกแยะความแตกต่างในสังคมหลังทันสมัยมากกว่าในสังคมทันสมัย โดยเฉพาะ การเกิดขึ้นของเท็คโนโลยีคอมพิวเตอร์ ได้ปฏิวัติวิธีการผลิตความรู้ การเผยแพร่ และการบริโภคในสังคมของเรา (จริงทีเดียวที่บางคนแย้งว่า-postmodernism คือการพรรณาที่ดีที่สุด และมีปฏิสัมพันธ์ จากการอุบัติขึ้นของเท็คโนโลยีคอมพิวเตอร์ เริ่มขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1960s ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของชีวิตทุกรูปแบบในสังคม) ในสังคมหลังทันสมัย บางสิ่งไม่สามารถแปลความหมายไปสู่รูปแบบที่แสดงหรือเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์-ดังเช่น บางสิ่งไม่สามารถกำหนดเป็นตัวเลข-ที่กำหนดเป็นความรู้ได้ สำหรับกระบวนทัศน์นี้ สิ่งตรงข้ามของ "ความรู้" ไม่ใช่ "ความโง่เขลา" เหมือนเช่นในกระบวนทัศน์ของความเป็นมนุษย์/ความทันสมัย แต่เป็น "การประกาศโด่งดัง-noise" หรือ บางสิ่งซึ่งเทียบคุณภาพไม่ได้กับชนิดของความรู้ คือ "การประกาศโด่งดัง" เป็นบางอย่างซึ่งรับรองไม่ได้ เช่นเดียวกับบางสิ่งภายในระบบนี้

Lyotard กล่าว (ในสิ่งที่ Sarup ใช้เวลามากในการอธิบาย) ว่า คำถามที่สำคัญของสังคมหลังทันสมัย คือ ใคร?คือผู้ตัดสินว่าอะไรคือความรู้ (และอะไรคือ "การประกาศโด่งดัง-noise") และใคร?รู้ว่าอะไรคือความต้องการที่จะตัดสินว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับความรู้นี้จะไม่เกี่ยวข้องกับคุณวุฒิ ของความสัมพันธ์เก่า ของความทันสมัย/ความเป็นมนุษย์ ตัวอย่างเช่น การเข้าถึงความรู้คือความจริง (คุณภาพทางเทคนิคของมัน) หรือความดี หรือความยุติธรรม (คุณภาพทางจริยธรรมของมัน) หรือความงาม (คุณภาพทางสุนทรีย์ของมัน) ทดแทนการโต้แย้งของ Lyotard ในแง่ความรู้ที่ตามกระบวนทัศน์ของเกมทางภาษา ที่เริ่มไว้โดย Wittgenstein ซึ่งข้าพเจ้าจะไม่ลงในรายละเอียดในความคิดของเขาเกี่ยวกับเกมทางภาษา เพราะ Sarup เสนอการอธิบายที่ดีในแนวคิดนี้ไว้ในบทความของเขา ในสิ่งที่ท่านทั้งหลายอาจสนใจ

มีคำถามมากมายที่จะถามเกี่ยวกับ- postmodernism หนึ่งในความสำคัญคือ คำถามที่เกี่ยวกับความเกี่ยวข้องทางการเมือง-หรือง่ายๆ คือกระแสความคิดนำไปสู่ความเปราะบาง การเตรียมการ การปฏิบัติ และความไม่มั่นคงของบางอย่างที่ดี บางอย่างที่เลวของมัน ? ที่มีคำตอบที่หลากหลายเกี่ยวกับคำถามนี้ ในสังคมร่วมสมัยของเราทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาที่จะกลับไปสู่ยุคก่อน-หลังทันสมัย (ความทันสมัย/ความเป็นมนุษย์/ความคิดของยุคพุทธิปัญญา) เอนเอียงที่จะร่วมกันกับการเมือง การศาสนา และกับกลุ่มปรัชญาแบบอนุรักษ์นิยม อันที่จริง ข้อตกลงหนึ่งของ-postmodernism ดูเหมือนว่าเกิดจากศาสนาลัทธิต้นแบบ-religious fundamentalism ในรูปแบบการต่อต้าน การตั้งคำถามของ "การบรรยาโวหารกว้างขวาง" ของความจริงทางศาสนา สิ่งนี้บางที่เห็นได้ชัดแจ้ง (สำหรับพวกเราใน US, บางที) ในศาสนามุสลิมลัทธิต้นแบบในประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งประกาศห้ามหนังสือของยุคหลังทันสมัย-แบบของ Salman Rushdie's The Satanic Verses --เพราะเขาได้รื้อทิ้งโครงสร้างเช่นการบรรยายโวหารแบบกว้างขวางเดิม

การร่วมกันระหว่างการปฏิเสธ-postmodernism กับลัทธิอนุรักษ์นิยม-conservatism หรือลัทธิต้นแบบ-fundamentalism อาจอธิบายในส่วนที่ทำไม-postmodern ประกาศความเปราะบางและเพิ่มความเอนเอียงไปทางความเสรีและรุนแรงมากขึ้น นั่นคือ ทำไม นักทฤษฎีเพศหญิงสนใจ-postmodernism ดังเช่นที่ Sarup, Flax, และ Butler ทั้งหมดชี้ให้ปรากฏ

ในอีกความเห็น-postmodernism ดูเหมือนเสนอทางเลือกเพื่อเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมบริโภคนิยมของโลก ที่ซึ่งบรรษัทข้ามชาติ และรูปแบบของความรู้ ถูกเสนอให้เป็นพลังขับเคลื่อนที่ไกลกว่าพลังของปัจเจกชนที่จะควบคุมได้ ทางเลือกเหล่านี้ เน้นไปที่ความคิดของทุกการกระทำ (หรือการดิ้นรนทางสังคม) เน้นที่ความจำเป็นระดับท้องถิ่น ข้อจำกัด และการมีส่วนร่วม-แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยการล้มเลิกการบรรยายโวหารแบบกว้างขวาง (เหมือนความเสรีของชนชั้นแรงงานทุกชนชั้น) และกลับเน้นที่เป้าหมายในระดับท้องถิ่นโดยเฉพาะ (เช่น การปรับปรุงศูนย์ดูแลเด็กอ่อนของมารดาในชุมชนของเรา) การเมืองหลังทันสมัย เสนอวิถีทางทฤษฎีสถานการณ์ท้องถิ่นที่ลื่นไหลและคาดเดาไม่ได้ ผ่านการสนับสนุนแนวสากลทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ คำขวัญสำหรับนักการเมืองหลังทันสมัยอาจเป็นว่า "คิดแบบสากล แต่กระทำแบบท้องถิ่น-think globally, act locally"--และไม่ควรกังวลกับโครงการใหญ่หรือแผนแม่บทใดๆเลย

ข้อมูลทั้งหมดในเว็บนี้ เป็นข้อเขียนและสัมบัติของ Dr. Mary Klages, Associate Professor, English Department, University of Colorado, Boulder. ยินดีให้ทุกท่านอ้างคำกล่าวในบทความนี้ หรือเชื่อมโยงกับเว็บของท่าน กับด้วยสำนึกในการเผยแพร่ที่สมควรและเหมาะสม สำหรับข้อมูลที่อ้างไว้ในบทความนี้ สามารถค้นหาได้ที่ English 2010 Home Page

ปรับปรุงสุดท้ายเมื่อ: December 3, 1997
สำหรับข้อวิจารณ์หรือเสนอแนะ ติดต่อไปที่ Professor Mary Klages
Return to English 2010 Home Page

อ่านเพิ่มเติม....

แนวคิดของ Lyotard และคนดังหลังสมัยใหม่
( ลัทธิหลังสมัยใหม่และปรัชญา : Postmodernism and Philosophy : Stuart Sim)
แปลและเรียบเรียงโดย สมเกียรติ ตั้งนโม
สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปรัชญา

//www.geocities.com/miduniv888/newpage3.html




 

Create Date : 16 กันยายน 2551    
Last Update : 16 กันยายน 2551 9:50:33 น.
Counter : 549 Pageviews.  

ศิลปะพึ่งตัวเอง

Self-sufficient Art
ศิลปะพึ่งตนเอง
บทความโดย วณิศา อดัมส์
จากวารสารสยามร่วมสมัย ฉบับที่ 9

จากข้อเขียนหนึ่งของปรมาจารย์ด้านศิลปะ ศิลป์ พีระศรี ซึ่งแปลโดย เขียน ยิ้มศิริ ในหัวข้อ “วัฒนธรรมและศิลปะ” สูจิบัตรประกอบการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 10 พ.ศ.2502 ได้จารึกความเชื่อเกี่ยวกับคุณค่าของศิลปะลงไปในการรับรู้ของคนรุ่นหลังอย่างแนบแน่น
“ศิลปะก็คืออาหารของจิตใจและพุทธิปัญญาของมนุษย์เรา ไม่ว่าวรรณกรรม ดนตรี จิตรกรรม ประติมากรรม และมัณฑนศิลป เราได้ประสบความเพลิดเพลินเจริญใจ ความสงบเยือกเย็น และบ่อเกิดของความหวังอันสูงส่ง ศิลปะทำให้เราเป็นคนดี รักใคร่กันและกัน ทำให้เรามีภาวะเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ฉะนั้นศิลปะจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตที่มีวัฒนธรรมของชาติ...”
ทัศนะที่หยิบยกมาข้างต้น ได้รับการยอมรับในฐานะ “ความจริง” ที่นิยมยึดถือกันในแวดวงทัศนศิลป์มายาวนาน จากความเชื่อที่ว่า สังคมที่ดีจะเป็นต้นกำเนิดของศิลปะชั้นเลิศ จะหล่อหลอมสังคมให้ดีงาม
ณ ยุคสมัยที่วรรณกรรมแปล แฮรี่ พอตเตอร์ กวาดเม็ดเงินจากเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลก รวมถึงกระเป๋าคนไทย ภาพยนตร์ฮอลลีวูดจองคิวแน่นโรงภาพยนตร์ชั้นนำ ห้างสรรพสินค้ากลายเป็นวิหารศักดิ์สิทธิ์ที่ยกระดับจิคตวิญญาณผู้คนให้ลอยฟ่อง เคล้าเสียงดนตรีไทยในท่วงทำนองสากล สลับกับเสียงเท้าก้าวฉับๆ บนแคตวอล์กแฟชั่นไทย ใส่จริตแบรนด์เนมระดับโลก ปฏฟิเสธไม่ได้เลยว่า ชีวิตประจำวันของผู้คนใกล้ชิดกับศิลปะอย่างแยกไม่ออก ทว่าศิลปะเหล่านี้กำลังลากจูงศิลปะของตนให้ห่างไปแห่งหนไหน ในขณะที่ศิลปะบางสายพันธุ์เรียกร้องหาคนดุแล ภายใต้รัฐบาลที่เอาใจใส่หอศิลป์น้อยกว่ารถถังและตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คำถามอันโหดร้ายก็คือ ศิลปะที่อยู่คู่สังคมไทยหรือสังคมใดๆ ในโลกได้จริง ควรจะเป็นศิลปะที่พึ่งตัวเองได้ สามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเองย่างแข็งแนง บนความเป็นจริงที่ดูเหมือนจะโหดร้ายทารุณในยุคสมัยของตนใช่หรือไม่
เมื่อพิจารณาศิลปะร่วมสมัยในบริบทที่กำหนดกรอบโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้จำแนกหมวดหมู่ของศิลปะร่วมสมัยออกเป็น 9 สาขา ได้แก่ ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ศิลปะการแสดง สถาปัตยกรรม ภาพยนตร์ มัณนศิลป์ เรขศิลป์และแฟชั่น ผู้ที่ได้รับรู้รับทราบต่างมีท่าทีอันบ่งบอกถึงความไม่คุ้นเคยกับการรวมหมู่ขอ.ศิลปะหลากสาขาเข้าด้วยกันในนามของศิลปะร่วมสมัยมที่ภาครัฐพึงเอาใจใส่ดูแล เพราะคนส่วนมากยังยึดติดกับคำว่า ศิลปะ ที่หมายความถึง ทัศนศิลป์โดยเฉพาะทัศนศิลป์ที่เป็นวิจิตรศิลป์ (Fine Art) เสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่ควัมาจริงแล้ว ชีวิตของมนุษย์เราทุกคนต่างเกี่ยวข้องสัมผัสกับศิลปะทุกแขนงอยู่ทุกลมหายใจ ซึ่งอาจจะมากกว่าการได้สัมผัสกับทัศนศิลป์ที่เราเห็นว่าเป็นตัวแทนของศิลปะทั้งมวลเสียด้วยซ้ำ
เมื่อแรกที่มนุษย์ลืมตามาในสถานที่หนึ่ง แน่นอนว่า อาคารสถานที่เหล่านั้นคือผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรม ที่ตกแต่งภายในด้วยกลวิธีทางมัณฑนศิลป์ สัมผัสกับแฟชั้นการแต่งกายชุดแรกทันที่ที่ถูกหุ้มห่อ ถูกขานนามด้วยกระบวนการทางวรรณศิลป์ ก่อนที่จะถูกเห่กล่อมให้หลับใหลด้วยเสียงเพลง ตื่นตากับเส้นสายและสีสันของฉลากข้าวของเครื่องใช้รอบตัวไปเรื่อยจนไปถึงภาพการ์ตูนบนขวดนม รูปภาพสีสวยในหนังสือนิทานเด็ก จับจ้องภาพเคลื่อนไหวบนจอโทรทัศน์ หรืออาจจะลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้นแสดงลีลาท่าทางประกอบเมื่อได้ยินเสียงดนตรีครึ้มอกครึ้มใจ
ศิลปะแทรกซึมอยู่ในทุกปัจจัยการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งที่เป็นวิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์ เพราะศิลปะเป็นการปรุงแต่งเพื่อการบริโภคทางอารมณ์ที่อยู่เหนือสัญชาตญาณการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตเผ่าพันธุ์อื่น เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน ศิลปะเป็นผลผลิตอันเกิดจากธรรมชาติจิตใจของมนุษย์ในอันที่จะแสดงออกถึงตัวตน ทัศนคติ อารมณ์ ความรู้สึกต่อตนเองและสิ่งรอบข้าง ด้วยความคิดสร้างสรรค์และการนำเสนอผ่านสื่อที่หลากหลาย
แต่กระนั้น แม้ว่าใครจะยกย่องคุณค่าของศิลปะที่มีต่อมนุษยชาติให้สูงเลิศลอยสักเพียงใด ศิลปะก็เป็นเช่นเดียวกับทุกสรรพสิ่งในจักรวาล นั่นคือโดยเนื้อแท้แล้วมันก็มิได้เป็นคุณค่าอันใดในตัวเอง หากแต่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของมนุษย์ ระดับและประเภทของสุนทรียภาพก็ถูกกะเกณฑ์ขึ้นตามรสนิยมความเห็นของมนุษย์ ซึ่งเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขของยุคสมัย ตามบริบทของสังคมที่ศิลปะนั้นถูกสร้างขึ้นและรับรู้
การดำรงอยู่ข้ามยุคสมัยของศิลปะที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ตั้งอยู่บนเงื่อนไขความต้องการและความพึงพอใจ ทั้งในส่วนของผู้สร้างและผู้เสพ งานศิลปะที่มีความต้องการการสร้างมากกว่าความต้องการเสพไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ย่อมจะพ่ายแพ้ต่อกาลเวลาไปในที่สุด ศิลปะใดดำรงตนให้อยู่รอดได้ในยุคสมัยของตัวเอง จึงจัดว่าเป็นศิลปะร่วมสมัยโดยอัตโนมัติ แต่จะเป็นผลงานที่ได้รับการยกย่องว่ามีคุณค่าต่อสังคมหรือไม่อย่างไรนั้นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ประยุกต์ศิลป์และวิจิตรศิลป์
เมื่อพิจารณาศิลปะร่วมสมัยดดยแบ่งออกเป็นประยุกต์ศิลป์และวิจิตรศิลป์จะเห็นว่า การดำรงอยู่และการพัฒนาของประยุกต์ศิลป์หลายแขนงในยุคสมัยต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันมีลักษณะที่ต่อเนื่องเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุผลจากความต้องการใช้สอยเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก รวมถึงเหตุผลทางธุรกิจ กลไกตลสาด อุปสงค์และอุปทาน ในขณะที่งานวิจิตรศิลป์บางแขนงกำลังประสบปัญหาด้านความอยู่รอด ทั้งความอยู่รอดของศิลปินและความอยู่รอดของตัวศิลปะเอง
เงื่อนไขเชิงคุณค่า ทำให้กรอบวิวัฒนาการของประยุกต์ศิลป์กับวิจิตรศิลป์นั้นมีรูปร่างที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เพราะประยุกต์ศิลป์ เช่น สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ เรขศิลป์ แฟชั่น หรืองานศิลปะในสาขาอื่นใดที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการใช้สอย มีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเป็นตัวกำหนดรูปแบบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง ลัทธิความเชื่อ ค่านิยม ร่วมกับปัจจัยทางภายภาพและศาสตร์อื่นๆ เช่น หลัก สรีรศาสตร์ ประชากรศาสตร์ จิตวิทยา เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองการใช้งานให้ได้ประโยชน์สูงสุดควบคู่ไปกับการสร้างสุนทรียะให้กับผู้เสพ ในขณะที่การสร้างสรรค์งานวิจิตรศิลป์เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจของศิลปินเป็นหลัก และมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแรงสั่นสะเทือนทางอารมณ์ความคิดของผู้เสพเป็นสำคัญ
หากจะตั้งสมมุติฐานว่า เหตุผลที่ทำให้ศิลปะดำรงอยู่เพื่อจรรโลงสังคมในสถานะที่พึ่งพิงตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นวิจิตรศิลป์หรือประยุกต์ศิลป์ก็ตาม นั่นคือศิลปะนั้นจะต้องเป็นที่ต้องการหรือต้องรสนิยมของผู้เสพ ซึ่งอาจหมายถึงความต้องการทางด้านการใช้สอย หรือความต้องการทางด้านจิตใจ จึงเป็นหนน้าที่ของศิลปินที่จะต้องแสวงหาความอยู่รอดของตัวเอง ภายใต้เงื่อนไขความเป็นจริงต่างๆ ในสังคม ณ ยุคสมัยของตน ซึ่งจะเป็นการต่อสู้ทั้งในเรื่องภาวะเศรษฐกิจ สังคม หรือค่านิยมความเชื่อและความรู้ความเข้าใจของประชาชน การวางพื้นฐานการรับรู้ที่สังคมจะมีต่องานศิลปะ เพื่อให้การเปิดรับและหากมองในเชิงการตลาด ก็หมายถึงกระบวนการในการการสร้างความต้องการบริโภคให้เกิดขึ้นนั่นเอง แม้ว่าความต้องการบริโภคจะเป็นดาบสองคมที่นำไปสู่ระบบการผลิตซ้ำ เพื่อให้เกิดงานที่ขายได้ อันจะส่งผลให้ศิลปินขาดแคลนแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์อันบริสุทธิ์ในการสร้างสรรค์งานซึ่งเป็นตัวทำลายคุณค่าของศิลปะในเวลาเดียวกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่า หากศิลปินไม่สามารถดำรงชรีพอยู่ได้ งานศิลปะก็จะไม่เกิดขึ้น

จุดเปลี่ยน
ศิลปินในอดีตสร้างงานเพื่อรับใช้สถาบันและมีสถานะเปรียบเสมือนฐานันดรพิเศษที่ถูกอุ้มชูโดยชนชั้นสูง แต่เมื่อศิลปินหยุดสร้างงานศิลปะเพื่อปัจเจกบุคคล จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ศิลปะจะต้องอุ้มชูตัวเอง แต่ด้วยปัญหาจากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ของสังคมไทย ยังไม่มีพื้นฐานการบริโภคศิลปะในระดับวัฒนธรรม โดยเฉพาะการบริโภคศิลปะเพื่อเป็นอาหารของจิตใจ จึงทำให้ศิลปะบางแขนงอยู่นในสภาพที่ต้องต่อสู้อย่างหนัดเพื่อความอยู่รอด
และหากมองย้อนไปถึงจุดเปลี่ยนแบบก้าวกระโดดของการสร้างสรรค์ศิลปะในประเทศไทย อันเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดการแบ่งแยกศิลปะออกเป็นแบบประเพณีและแบบร่วมสมัย ก็จะพบว่า จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อัน้เป็นช่วงเวลาที่การล่าอาณานิคมกของชาติตะวันตกในเอเชียอาคเนย์กำลังเฟื่องฟู
เพื่อเป็นการลบล้างภาพลักษณ์ป่าเถื่อน อันเป็นข้ออ้างส่วมมากในการกลืนประเทศต่างๆ ของตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงดำเนินกุศโลบายอันแยบคาย ด้วยการสร้างอารยธรรมใหม่ขึ้นในสยาม ถือเป็นการเข้ามาอย่าง “เต็มตัว” ของศิลปกรรมตะวันตกและแบ่งตัวออกจากศิลปะดั้งเดิมอย่างชัดเจน
นอกจากสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกแล้ว รัชกาลที่ 4 ยังทรงแนะนำให้ศิลปินไทย สร้างงานตามแนวคิดทางจิตรกรรม ประติมากรรม แฟชั่น รวมถึงดนตรีตามแบบตะวันตกอีกด้วย ดังโปรดให้มีการสร้างพระที่นั่งแบบยุโรปขึ้นเป็นครั้งแรกในพระบรมมหาราชวัง และพระราชทานพระราชดำริให้ขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกแห่งยุควาดภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถสัดบวรนิเวศวิหารตามอย่างจิตรกรรมแนบตะวันตก โปรดให้หล่อพระบรมรูปเหมือนพระองค์เพื่อส่งไปตอบแทนพระราชไมตรีของพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการสร้างรูปเหมือนบุคคลครั้งแรกของสยาม ไปจนถึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้าจอมที่ตามเสด็จประพาสแต่งกายอย่างทหารสก็อตแลนด์ เป็นต้น
“ศิลปะใหม่” ในเวลานั้น จึงกลายเป็นสินค้าต้นเค้าของศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลต่อมา จนกระทั่งหยั่งรากลงเสมือนศิลปะเพื่อความเป็นอารยะของสยามประเทศในที่สุด ก่อนจะมีการวางรากฐานครั้งใหญ่าในด้านการศึกษาและเผยแพร่ศิลปะหลังจากการเข้ามาของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรในเวลาต่อมา
ศิลปะแทบทุกแขนงของไทยในยุคก่อนที่จะก้าวสู่ยุคใหม่ ถูกสร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลใจทางศาสนา แต่เมื่อมีศิลปะแนวใหม่ที่สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจและความคติดสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่เสมือนโครงสร้างใหม่ให้กับวงการศิลปะในประเทศไทย มุมมองและวิธีคิดในการสร้างสรรค์จึงเริ่มเปลี่ยนแปลงจากแนวศิลปะแบบประเพณีนิยมเพื่อศาสนามาเป็นศิลปะของบุคคลแต่ละคน ซึ่งก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจากการที่จุดหักเหดังกล่าวมีอิทธิพลของศิลปะตะวันตกเข้ามาครอบงำอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ศาสตร์และศิลป์ที่เยาวชนของชาติถูกโปรดแกรมรับรู้ผ่านการศึกษาในระบบนับตั้งแต่ปฐมวัยเรื่อยมาจนถึงระดับอุดมศึกษา ก็เป็นเพียงฐานที่ไร้รากอันเป็นภูมมิปัญญาของตนำเอง และถูกต่อยอดด้วยแนวคิดแบบสากลอย่างเบ็ดเสร็จในการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษาที่เป็นกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ภาพยนตร์ นฤมิตรศิลป์ ทัศนศิลป์ และนาฏศิลป์ จะยกเว้นอยู่ก็เพียงวรรณศิลป์ ที่ยังไม่อาจเดินตามตะวันตกเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นสากลได้อย่างคล่องแคล่วนัก เพราะคุณภาพการเรียนการสอนภาษาสากลในระดับการศึกษาไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ การศึกษาทั้งศาสตร์และศิลป์ สหวิทยาการต่างๆ จึงดำเนินควบคู่ไปกับการปลูกฝังให้เชื่อว่า การพัฒนาตนเองให้เท่าทันตะวันตกหรือเป็นสากลคือจุดมุ่งหมายไปสู่ความเจริญ

ศิลปะร่วมสมัยในกระแสโลกเดียว
การที่โลกทั้งใบหมุนไปตามแรงเหวี่ยงของเงินทุนจากมหาอำนาจในกระแสโลกาภิวัฒน์นั้น อาจมองได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นปัญหา การพิจารณาเห็นความเป็นไปได้ดังนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ต้องอาศัยความรู้เท่าทันในวิถีของทุกสรรพสิ่งที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีความไม่เที่ยง เช่นเดียนวกับสังขารของมนุษย์ การที่โลกจ้ะเปลี่ยนไปเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นความปกติ แต่ผู้ที่จะเสียประโยชน์ เดือนร้อนหรือไม่รู้สึกชอบใจก็จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่งเป็นปัญหา จำเป็นต้องหาทางแก้ไขเยียวยา
การเปลี่ยนแปลงทางศิลปวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ ไม่ว่าจะเป็นไปรูปแบบใดก็อยู่ภายใต้วิถีเดียวกัน สิ่งที่เป็นบ่อเกิดของอำนาจในยุคสมัยต่างๆ เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ผู้ที่มีอำนาจมากว่ามีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลในการครอบครองและครอบงำผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า รวมถึงการมีอิทธิพลเหนทือกว่าในทางวัฒนธรรม
การขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมอาจไม่จำเป็นต้องใช้การบังคับด้วยกำลัง แต่ใช้การชักจูงใจหรือการชี้ให้เห็นค่า เห็นดีเห็นงาม เมื่อมีผู้เห็นดีเห็นงาม การเปลี่ยนแปลงซึ่งหมายถึงการครอบครองพื้นที่ทางวัฒนธรรมก็เป็นไปโดยสมัครใจไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ ผู้ที่เห็นประโยชน์ในวัฒนธรรมแบบใหม่ก็จะชื่นชมยินดีกับการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ผู้เสียประโยชน์ก็จะต่อต้านและมองความเปลี่ยนแปลงว่าเป็นความสูญเสีย
ในสถานการณ์ที่ทัศนะส่วนใหญ่ของโลกศิลปะกำลังเปิดรับกระแสโลกเดียว และหันมาสร้างงานศิลปะเพื่อแสดงออกถึงความเป็นพลโลก (World Citizen) อันเป็นนิยามหนึ่งของศิลปะร่วมสมัย ก็มักจะเกิดคำถามแทรกขึ้นมาเป็นระยะๆ ถึงความจำเป็นที่จะต้องอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมเอาไว้ โดยเชื่อว่าศิลปะอาจจะเป็นเครื่องมือในการรักษาเอกราชความเป็นชาติของตนเอาไว้ได้ ทั้งที่ความจริงแล้ว ศิลปะดดยลำพังนั้นไม่อาจรักษาอะไรเอาไว้ได้เลยแม้แต่ตัวตนของมันเอง ไม่ต่างอะไรกับสมมติฐานตามทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วิน ที่เชื่อว่า ผู้ที่แข็งแรงกว่าคือผู้ที่จะอยู่รอด และหากการอยู่รอดของทุกสรรพสิ่งเป็นเงื่อนไขโดยทฤษฎีนี้จริง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หากศิลปวัฒนธรรมที่ไม่แข็งแรง จะต้องสูญสลายไปโดยธรรมชาติ
หรือมองในเชิงธุรกิจ สินค้าหรือบริการที่ไม่มีผู้ต้องการซื้อ ก็ย่อมจะสูญหายไปจากตลาด
แต่หากพิจารณาความบนความเชื่อว่า สสารไม่หายไปจากโลก ศิลปะที่ได้ชื่อว่าเสื่อม หรือสูญเสียรูปทรงกายภาพเดิมไปนั้น ก็มิเคยสูญหายตายไปอย่างสิ้นเชิงทีเดียว (Ars Longa Vita Brevis) หากแต่จะยังคงดำรงแฝงเร้นอย่างผสมกลมกลืนอยู่กับฐานข้อมูลเก่าเก็บในรอยหยักสมองของศิลปินตามแต่ชนชาติและวัฒนธรรม ซึ่งรายละเอียดที่ซุกซ่อนอยู่ในระบบฐานข้อมูลหรืออาจจะเป็นระดับจิตใต้สำนึกดังกล่าวนี้ จะถูกหล่อหลอมกลายเป็นส่วนประกอบพื้นฐานในการสร้างงานใหม่ๆ โดยอัตโนมัติ ไม่ว่าศิลปินจะตระหนักถึงการมีอยู่ของมันหรือไม่ก็ตาม

วิเคราะห์สถานการณ์ศิลปะร่วมสมัยในสังคมไทย
ต่อคำถามที่ว่า ศิลปะร่วมสมัยได้ทำการอันใดกับสังคมบ้าง นอกเหนือไปจากการสะท้อนภาพปัจจุบันของสังคมในแง่มุมต่างๆ และทำหน้าที่หล่อหลอมสังคมในเวลาเดียวกัน คำตอบที่ได้ย่อมหลากหลาย แตกต่างกันไปตามประเภทสาขาของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเสียงดนตรีจากโทรศัพท์มือถือ จากอุปกรณ์ดิจิตอล หรือจากวงซิมโฟนีออร์เคสตร้า ทุกสิ่งย่อมมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจผู้ฟังทั้งด้วยจังหวะ ทำนอง เนื้อหา อันนำไปสู่การตอบสนองและอารมณ์ที่คล้อยตามในรูปแบบที่คาดไม่ถึง เช่นเดียวกับภาพยนตร์ ละครหลังข่าว หนังโฆษณา ละครเวที ภาพกราฟฟิกที่ปรากฏอยู่ในทุกแห่งหนแม้ต่ในความฝัน อาคารสถานที่ บ้านพักอาศัย ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน หนังสือตำราเรียน วารสาร นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ข้อเขียนในเว็บไซต์ ที่ส่งผลทางด้านทัศนคติ ค่านิยมของผู้อ่าน เรื่อยไปถึงแฟชั่นการแต่งกาย อย่าวไรก็ดีความแตกต่างหลากหลายทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เมื่อวิเคราะห์ในภาพรวมก็จะได้ข้อสรุปของสถานการณ์ของศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยออกมาได้เป็นแนวทางเดียวกัน โดยปรากฏให้เห็นถึงความพยายามมที่จะขับเคลื่อนตัวเองไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ดังนี้
1. ความพยายามที่จะปรับตัวเองให้กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกระแสหลักที่เชื่อว่าเป้นภาพรวมของโลกไร้พรมแดน
2. ความพยายามที่จะแสวงหาหรือสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของตัวเอง จากรากเหง้าเดิม แต่มีความเป้นปัจจุบันในด้านวิธีคิดและกลวิธีในการนำเสนอ
3. ความพยายามที่จะสะท้อนความเป็นจริงของสภาพสังคมที่เป็นอยู่ในช่วงเวลาของตัวเองออกมาให้มากที่สุด โดยในบางครั้งอาจไม่นำพาต่อกลไกทางสุนทรียภาพ ด้วยความเชื่อว่า ความจริงคือความงาม
4. ความพยายามยัดเยียดความจริงอันอัปลักษณ์สู่การรับรู้ของสังคมในนามของศิลปะที่ขาดแคลนสุนทรียะ โดยเรียกว่าการยกระดับภูมิปัญญา
5. ความพยายามที่จะยกระดับตัวเองให้เทียบเท่าผู้ที่เชื่อว่าสูงกว่า เจริญกว่าในระดับนานาชาติ ทุกวิถีทางโดยตระหนักถึงความเป็นจริงหรือคุณค่าที่แท้จริงของตนเองและผู้อื่น
6. ความพยายามสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของตน ให้สอดรับกับรสนิยมการบริโภคกระแสหลักที่เป็นระดับนานาชาติ โดยพิจารณาศิลปะในฐานะที่เป็นต้นทุนหรือทรัพย์สินทางปัญญา บนพื้นบานความเชื่อว่า ศิลปะจะเป็นเครื่องสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐิจ
7. ความพยายามที่จะชำระตัวเองให้บริสุทธิ์และสูงส่งจนสามารถใช้เป็นเบ้าหลอมเพื่อสร้างสังคมในอุดมคติให้เกิดขึ้น บนพื้นฐานความเชื่อว่า ศิลปะคือผลผลิตของอารยชน มีพันธกิจต่อสังคม และในขณะเดียวกัน ศิลปะก้เป็นปัจจัยการผลิตอารยชนรุ่นใหม่สืบเนื่องกันต่อไป

สรุป
มนุษย์กับศิลปะเป็นของคู่กันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ความดีความเลวของมนุษย์หรือสังคมนั้นดำเนินคู่กันมากับความเจริญและความเสื่อมของทุกสรรพสิ่ง ไม่เพียงแค่ความเจริญและความเสื่อมของศิลปวัฒนธรรม แต่การเปลี่ยนแปลงของสังคม หรือของโลกไม่ว่าจะเกิดในทิศทางใดเป็นเรื่องของธรรมชาติ เช่นเดียวกับการดับของโลก เมื่อถึงเวลาต้องดับก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ และศิลปะก็เป็นเพียงสิ่งเล็กจ้อยในสังคมโลกที่ไม่อาจหนีกฎเกณฑ์นี้ไปได้ ความเจริญทางอารยธรรมของยุคกรีก โรมัน และยุตเรอเนสซองส์ ก็เป็นตัวอย่างพิสูจน์ให้เห็นว่า การเกิดและดับเป็นวงจรที่เกิดขึ้นอย่างถาวรและสม่ำเสมอ เสมือนเส้นกราฟที่มีการพุ่งขึ้นลงสลับกัน แต่หากลองหันมามองเส้นกราฟนั้นในแนวแกนอื่นดูบ้าง ก็จะพบว่าเป็นเพียงเส้นสายต่อเนื่องในแนวราบที่เลี้ยวลดสลับไปมา เพื่อดำเนินไปสู่จุดหมายหนึ่งที่ไม่มีใครล่วงรู้
ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในกระแสโลกาภิวัตน์ได้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันต่อวิถีชีวิต แนวคิด ค่านิยม ของผู้คนในสังคม เพราะศิลปะเกิดจากคน เมื่อคนเปลี่ยนศิลปะก็เปลี่ยนตาม โลกาภิวัตน์จึงมีผลโดยตรงต่อวิธีคิดและเทคนิค กระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะทุกแขนง และเมื่อศิลปะนั้นถูกสร้างขึ้นแล้ว ก็ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องหล่อหลอมผู้คนในสังคมต่อเนื่องกันไปอีก เป็นวงจรไม่มีที่สิ้นสุด
หากศิลปะจะเป็นเครื่องมือในการจรรโลงความดีงามของสังคมให้อยู่รอด กับศิลปะที่กำลังรอคอยให้สังคมยื่นมือเข้ามาดูแลความอยู่รอดของตัวเองนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ความพยายามที่จะพึ่งพาตัวเองให้ได้อย่างแท้จริง น่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับการดำรงอยู่เหนือกาลของศิลปะทุกแขนงและทุกสรรพสิ่ง




 

Create Date : 28 ธันวาคม 2550    
Last Update : 28 ธันวาคม 2550 14:42:49 น.
Counter : 881 Pageviews.  

ทฤษฎีศิลปะ


นักปรัชญามีทรรศนะเกี่ยวกับศิลปะแตกต่างกันมากมาย ตามแต่จะให้ความสำคัญจากมุมมองใดเป็นสำคัญ บ้างก็พยายามที่จะอธิบายศิลปะอย่างรวบรัดที่สุดแต่สามารถกินความได้ถึงศิลปะทุกแขนง เช่น นิยามที่ว่า ศิลปะคือการแสดงออกอันไม่มีจำนวนเป็นเขตสุด นับตั้งแต่สิ่งที่ง่ายที่สุด เช่น ถ้วยแก้ว เป็นต้น ไปจนถึงสิ่งที่ยากที่สุด เช่น ภาพเขียน ดนตรี วรรณคดี เป็นต้น และบ้างก็พยายามที่จะกล่าวให้กระชับขึ้นอีกว่า ศิลปะคือการจัดสิ่งที่รับรู้ได้ทางเพทนาการเสียใหม่ให้เป็นระเบียบ (เพทนาการ เช่น สี เสียง แสง เป็นต้น) ดังนั้น จึงสามารถจำแนกศิลปะออกเป็นหลายประเภทหลายชนิด เช่น
1. ประยุกตศิลป์ (Applied Arts)
2. พาณิชยศิลป์ (Commercial Arts)
3. มัณฑนศิลป์ (Decorative Arts)
4. ปริสุทธิศิลป์ (Pure Arts)

และบางท่านได้แบ่งศิลปะออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. ทัศนศิลป์ (Visual Arts) คือ ศิลปะที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา เช่น รูปปั้น ภาพเขียน เป็นต้น
2. โสตศิลป์ (Auditory Arts) คือ ศิลปะที่ฟังได้ด้วยหู คือ ดนตรี
3. สัญลักษณศิลป์ (Symbolic Arts) คือศิลปะที่เป็นสัญลักษณ์ คือ วรรณคดี บทกวี เป็นต้น
4. ศิลปะผสม (Mixed Arts) คือ ศิลปะที่เอาศิลปะอย่างน้อย 2 ชนิดขึ้นไปมาผสมผสานกัน เช่น การเต้นรำ การละคร ภาพยนตร์ เป็นต้น เต้นรำ ประกอบด้วยทัศนศิลป์และโสตศิลป์ การละครประกอบด้วยทัศนศิลป์ โสตศิลป์ และสัญลักษณ์ศิลป์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี นักศิลปะกับนักสุนทรียศาสตร์ต่างก็มีความพยายามที่จะทำความเข้าใจในเรื่องความมุ่งหมายของศิลปะ ดังเกิดคำถามที่ว่า ศิลปะนั้นทำขึ้นเพื่ออะไร บ้างก็ถือว่าความมุ่งหมายของศิลปะก็คือ เพื่อใช้เป็นสิ่งแทนหรือถ่ายแบบธรรมชาติ เหตุการณ์ และบุคคล บ้างก็ถือว่า เพื่อจัดวัตถุแห่งเพทนาการ (Sensous matter) เช่น สี แสง เสียง เป็นต้น ให้เป็นระเบียบอย่างน่าดูชม ชวนให้เพลิดเพลินเท่านั้น และบ้างก็อธิบายว่า เพื่อแสดงออกซึ่งอารมณ์หรือความรู้สึกของมนุษย์นั่นเอง จากทัศนะเหล่านี้ได้พัฒนากลายมาเป็นทฤษฎีทางศิลปะจำนวนมากมาย ดังจะได้กล่าวถึงสาระสำคัญของแต่ละแนวคิดทฤษฎีโดยสังเขป
1. ศิลปะคือการเลียนแบบธรรมชาติ (Art as representaion)
2. ศิลปะคือรูปทรง (Art as pure form)
3. ศิลปะคือการแสดงออกซึ่งอารมณ์ (Art as expression)

ในทฤษฎีที่ว่าศิลปะคือการเลียนแบบธรรมชาตินั้น เป็นทฤษฎีที่เก่าแก่กว่าทฤษฎีอื่น ถือว่า ศิลปะนั้นถ้าไม่เป็นประเภท Representational ก็เป็นประเภท Non-representation ประเภทแรกได้แก่ภาพเขียนสิ่งธรรมชาติ ประเภทหลังก็ได้แก่ภาพเขียนที่แสดงความวิจิตรพิสดารของสีสันต่างๆ โดยไม่เป็นภาพเหมือนของสิ่งใดโดยเฉพาะเป็นตัวอย่าง ชาวกรีกโบราณถือว่า การลอกแบบธรรมชาติได้เหมือนมากที่สุด จัดว่าเป็นสิ่งที่สวยที่สุด ดังคำกล่าวของรอริสโตเติล ที่ว่า “มนุษย์เป็นนักเลียนแบบโดยสัญชาตญาณ ละการเลียนแบบนั้นจะปรากฏออกมาในศิลปวัตถุ ที่ถือว่าการลอกแบบธรรมชาติเป็นศิลปะและสวยงาม ก็เพราะการลอกแบบธรรมชาติเป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุด ศิลปินในทฤษฎีนี้ มีความเห็นว่า ภารกิจสำคัญ 2 ประการของศิลปะ ก็คือ 1) การเลือกสรรสิ่งที่เหมาะสมที่สุดบรรดามีในโลกมารวมไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน และ 2) ใช้จินตนาการช่วยปลุกอารมณ์สุนทรียะให้เกิดแก่ผู้สนใจ นอกจกนี้ ศิลปะยังช่วยทำให้สิ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตามธรรมดา กลายเป็นสิ่งที่สามารถมองเห็นได้อีกด้วย
ทฤษฎีเรื่องศิลปะคือรูปทรงนั้น ตามทฤษฎีนี้ถือว่า รูปทรงเท่านั้นที่มีความสำคัญในเรื่องคุณค่าทางสุนทรียะ ส่วนการลอกแบบหรือความรู้สึก ไม่มีความสำคัญอะไรนัก คำว่ารูปทรง (Form) หมายถึงการจัดวัตถุแห่งเพทนาการ คือ แสง สี เสียง เป็นต้น ที่เกี่ยวข้องกันให้เป็นระเบียบเหมาะกับกาลเทศะที่มันควรจะอยู่ นักคิดกลุ่มฟอร์มัลลิสต์ (Formalist) ถือว่า ความสวยงามของศิลปะอยู่ที่รูปทรง รูปทรงทำให้เกิดความสนใจ รูปทรงเท่านั้นเป็นสิ่งสำคัญในคุณค่าของสุนทรียะ สิ่งอื่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย ความงามของศิลปะก็คือเอกภาพหรือความกลมกลืนของสิ่งที่ต่างกัน ส่วนประกอบของศิลปะจึงควรเป็นสิ่งที่ต่างๆ กัน แต่ถ้ามีสิ่งที่เหมือนๆ กันก็จะมีแต่ความซ้ำซาก ความรู้สึกทางสุนทรียะของศิลปินกลุ่มนี้ เป็นความรู้สึกที่มุ่งต่อรูปทางของงานศิลปะ มิใช่มุ่งแสวงหาอย่างอื่น ถ้าเป็นความรู้สึกหรือมุ่งแสวงหาอย่างอื่น อารมณ์ทางสุนทรียะก็จะหมดไปทันที งานศิลปะชิ้นเยี่ยมจะทำให้เกิดความรู้สึกแปลกใหม่ นำใจผู้ดูล่องลอยไปจากชีวิตจริงเข้าสู่โลกแห่งสุนทรียะ ศิลปะจึงเป็นเครื่องมือที่จะนำใจไปสู่ความตื่นเต้น คล้ายกับใช้กล้องยายช่วยอ่านหนังหนังสือที่ไม่ค่อยชัดเจนแจ่มกระจ่างขึ้นฉะนั้น รูปทรงที่จัดว่าเป็นศิลปะนั้น มิใช่เฉพาะภาพเขียน ภาพปั้นเท่านั้น ดนตรีก็เป็นศิลปะประเภทนี้ด้วย เพราะดนตรีก็ต้องมีการผสมผสานเสียงให้กลมกลืนกันอย่างมีระเบียบ จึงเกิดความไพเราะลึกซึ้งขึ้น ดังนั้น ความงามที่ได้จากรูปทรงจึงไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสิ่งแทนอะไร หรือว่าจำลองแบบอะไรเลย
และสำหรับทฤษฎีที่ว่าด้วย ศิลปะคือการแสดงออกทางอารมณ์นั้น ถือว่าศิลปะเป็นการแสดงออกของอารมณ์ภายในของมนุษย์ออกมา บ้างครั้งจะเห็นว่า ศิลปินได้แสดงอารมณ์บางอย่างที่เกินความเป็นจริงหรือนอกเหนือไปจากประสบการณ์ตามธรรมดาของเราออกมา ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เราเห็นว่า เขามีความความรู้สึกต่อสิ่งนั้นอย่างไร เมื่อศิลปะคือการแสดงอารมณ์ แต่การแสดงอารมณ์ทุกอย่างมิได้เป็นศิลปะไปเสียหมด ลักษณะของการแสดงอารมณ์ที่เป็นศิลปะ ได้แก่
- เป็นการแสดงออกที่เป็นไปด้วยเจตนา คือตั้งใจแสดงออกมา
- เป็นการอารมณ์ที่มุ่งให้เกิดความสวยงาม
- เป็นการแสดงอารมณ์ที่มีพลังจูงใจให้เกิดความรู้สึกว่างามหรือไม่งาม
- สื่ออารมณ์ที่ใช้ในการแสดงอารมณ์ออกมานั้น เป็นสิ่งที่มีความหมายในตัวเอง เช่น คำพูด สีสัน ทรวดทรง เป็นต้น
- เป็นการแสดงอารมณ์ที่มีเอกภาพทางอารมณ์
- อารมณ์ที่ศิลปินสดงออกมานั้นมิใช่เป็นความรู้สึกของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นอารมณ์ของมนุษย์ทั่วๆ ไป

ดังนั้นทฤษฎีนี้จึงถือว่า ทั้งรูปทรงและความหมาย มีความสำคัญต่อศิลปะด้วยกันทั่งคู่ คุณค่าทางสุนทรียะเกิดจากการสังเคราะห์ของรูปทรงกับความนั่นเอง ศิลปินจะแสดงอารมณ์ใดๆ ออกมาได้ ตนเองจะต้องได้สัมผัสกับอารมณ์ชนิดนั้นมาเสียก่อน แต่บ้างก็ว่าไม่จำเป็น และเห็นว่าสิ่งที่สำคัญต่อการแสดงอารมณ์นั้นก็คือ จิตนาการ จินตนาการจะมีความรุนแรงเพียงใด ก็สามารถแสดงอารมณ์ที่ตนต้องการแสดงออกมาได้ดีเพียงนั้น ฉะนั้น ตาทฤษฎีนี้จึงสรุปว่า คุณค่าทางสุนทรียะขึ้นอยู่กับองค์ระกอบ 2 ประการ คือ ศิลปินสามารถแสดงสิ่งที่ตนต้องการจะแสดงออกมานั้นได้มากน้อยเพียงไร ตามทฤษฎีนี้เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนอดที่จะแสดงความรู้สึกของตนเองให้ปรากฏออกมาทางพฤติกรรมทางกายไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เศร้าหมองหรืออารมณ์สุข
ศิลปะประเภท Expression จึงให้ประโยชน์แก่เรา คือ
- ทำให้เราได้รับความพอใจชนิดที่เราไม่อาจจะทำได้โดยอาศัยเครื่องมืออย่างอื่น
- ช่วยให้ชีวิตได้รับประสบการณ์ที่เบาสบาย ซึ่งไม่อาจหาได้ในชีวิตประจำวัน
- สนองความต้องการทางอารมณ์โดยให้อารมณ์สะเทือนใจบางอย่างแก่เรา
- ช่วยทำให้อารมณ์ที่สับสนคลุมเครือแจ่มแจ้ง โดยการดึงเอาอารมณ์ที่ฝังอยู่ในส่วนลึกของจิตใจออกมาให้ปรากฏและเข้าใจได้ด้วยความรู้สึกธรรมดาๆ

ศิลปะเป็นสะพานเชื่อต่อระหว่างโลกผัสสะและโลกเหนือผัสสะเข้าด้วยกัน




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 3:52:26 น.
Counter : 9183 Pageviews.  

แสงสีแห่งเทศกาล

ธรรมจักร พรหมพ้วย



ค่ำคืนแห่งงานเทศกาลที่กำลังแวะเวียนเข้ามาในช่วงสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่นี้มักถูกประดับประดาด้วยดวงไฟจำนวนนับล้านดวงตามถนนหนทาง ทำให้รู้สึกว่าความหนาวเย็นที่เข้ามาปกคลุมกลับอบอุ่นยิ่งขึ้นด้วยแสงไฟ ยิ่งไปกว่านั้นแสงสีที่แสดงถึงความรื่นเริงและการเฉลิมฉลองและเป็นที่เฝ้ารอคอยของทุกปีคือ แสงสีจากดวงไฟที่จะปรากฏอยู่บนฟากฟ้า แตกเป็นดอกไม้ขนาดใหญ่ แต้มสีสันให้ท้องฟ้าสีดำมีชีวิตชีวาราวกับมีคนนำสวนดอกไม้ไปปลูกให้บนท้องฟ้ามากมาย ใครจะรู้บ้างว่าดอกไม้ไฟและพลุสีเหล่านั้นอยู่ร่วมกับวิถีชีวิตชาวไทยมาแสนนาน ซึ่งจะขอเล่าขานตำนานแห่งดอกไม้เพลิงไทยให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้รู้จักมากยิ่งขึ้น
"ดอกไม้เพลิง" หรือ "ดอกไม้ไฟ" มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังมีบันทึกเป็นหลักฐานในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเมื่อ พ.ศ.๑๘๓๕ หรือไม่ต่ำกว่า ๗๐๐ ปีมาแล้ว ว่า "ท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดังจักแตก" จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าการจุดดอกไม้เพลิงของคนไทยน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งการจุดดอกไม้เพลิงนี้โดยมากก็เพื่อถวายเป็น "พุทธบูชา" ในงานเทศกาลต่างๆ ดังปรากฏมีชื่อเรียกดอกไม้เพลิงของไทยมากมาย เช่น พลุ ตะไล ไฟพะเนียง พะเยียมาศ ดอกไม้พุ่ม ดอกไม้กระถาง ไฟปลาช่อน ไฟปลาดุก ไฟช้างร้อง ไฟเสือ ไฟวัว ไฟควาย กรวด หรือจรวด
นอกเหนือจากการใช้ดอกไม้เพลิงจุดเล่นเพื่อความสนุกสนานตามเทศกาลต่างๆ แล้วยังมีการใช้ดอกไม้เพลิงในงานพระราชพิธีของหลวง เช่น ในงานออกพระเมรุของกษัตริย์และเจ้านายหรือในงานเฉลิมฉลองต่างๆ เรียกว่า “อัคนีกรีฑา” ซึ่งการจะจุดดอกไม้เพลิงในพิธีกรรมเหล่านี้จะต้องจุดในที่ที่สร้างขึ้นเฉพาะเรียกว่า “โรงระทา” หรือร้านดอกไม้ไฟ มีลักษณะเป็นหอคอยดอกไม้ไฟสูงประมาณ ๒๔ เมตร มีทั้งแบบที่เรียกว่า ระทาช่องและระทาโยง ดังที่พระยาอนุมานราชธนได้อธิบายไว้ว่า
“ระทาเป็นโครงไม้รูปสี่เหลี่ยมสูงเรียวยาว ๔-๕ เมตร สำหรับจุดดอกไม้ไฟ มีดอกไม้เทียนและดอก ไม้ประทัดเป็นต้น ระทาเป็นภาษาอะไรแปลว่าอะไรไม่ทราบ ทราบแต่ว่าทางภาคอีสานและทางเขมรเรียกระทา ว่า รันทา ก็เป็นคำเดียวกัน หากแต่ต้นเสียงกร่อนไปเท่านั้น ถามผู้รู้ภาษาเขมรก็รู้แต่ว่ารันทาเป็นชื่อดอกไม้ไฟอย่างหนึ่ง จะมีรูปลักษณะอย่างไรไม่ทราบ... อันที่จริงระทานั้น แม้แต่ก่อนๆ มาเมื่อมีงานพระเมรุ ก็เป็นได้เห็นระทาตั้งเรียงอยู่เป็นแถว ปากตลาดเรียกว่า ช่องสัทธา แต่งานพระเมรุอย่างที่ว่านั้นเลิกมานานแล้ว...”
จำนวน ความสูงและลักษณะยอดของระทานั้นจะแตกต่างกันไปตามศักดิ์ของเจ้าของงาน เช่น ยอดมณฑป ยอดเกี้ยว ยอดธรรมดา และในช่องว่างระหว่างระทาแต่ละต้น (ช่องระทา) มักมีการปลูกโรงมหรสพ เช่น โรงโขน โรงละคร โรงหนัง โรงหุ่น มอญรำ ทะแย หรือบางครั้งก็การโยงลวดระหว่างระทาสองต้น แล้วให้คนถือหางนกยูงเดินเลี้ยงตัวไปบนลวดนั้น เรียกว่า เล่นแพนไต่ลวด หรือมีการหกคะเมนบนยอดไม้ที่มีความสูงเท่าระทา หรือไต่บันไดดาบสร้างความระทึกใจแก่ผู้ที่มีเที่ยวงานเป็นอย่างมาก
จะเห็นได้ว่าการมีดอกไม้ไฟ มิได้มีไว้เพื่อความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังแสดงเกียรติยศและสถานะของเจ้าของงานที่จะสามารถหาดอกไม้ไฟมาเล่นในงานของตนได้ ดังในรัชสมัยพระเพทราชา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๕ พระองค์ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทตามพระราชประเพณีโดยจัดเป็นกระบวนพยุหยาตราอันยิ่งใหญ่ เสด็จฯ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในยามค่ำคืนตลอดการสมโภชพระพุทธบาทนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการมหรสพสมโภชหลายรูปแบบ และให้จุดดอกไม้เพลิงต่างๆ บนระทาใหญ่ ๘ ระทา ทำให้ชาวบ้านในย่านนั้นได้มีโอกาสชื่นชมความสวยงามและยิ่งใหญ่ของการสมโภชแบบหลวง ซึ่งไม่มีให้เห็นบ่อยนักสำหรับชาวบ้านในละแวกนั้น
นอกจากนั้นแล้ว การให้ความสำคัญแก่หน้าที่การจุดดอกไม้ไฟ ยังได้มีการตั้งตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่จุดดอกไม้ไฟในงานสมโภชต่างๆ ดังปรากฏบันทึกว่า “ดอกไม้เพลิงระทาและพลุจีนนั้น เป็นพนักงานขุนแก้วขุนทอง (เจ้ากรมช่างดอกไม้ซ้ายขวา) ขึ้นแก่ พันจันทมหาดไทย”
ความผูกพันของวิถีชีวิตไทยกับแสงไฟยามค่ำคืนของงานเทศกาลนั้น คงไม่อาจแยกออกจากกันได้จวบจนปัจจุบัน เมื่องานเทศกาลลอยกระทงมาถึง จึงมีเสียงตู้มต้ามจากพลุและประทัดแว่วเข้ามาให้ได้ยินเสมอ หากแต่วัตถุประสงค์ของการเล่นดอกไม้ไฟในสมัยนี้กลับไปเป็นเพื่อความสนุกสนานและคึกคะนอง บ่อยครั้งที่แปรเปลี่ยนไปเป็นอัคคีภัยและโศกนาฏกรรม รวมทั้งสร้างความรำคาญแก่ผู้ไม่พึงประสงค์จะเล่น หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและสุขภาพจิต
น้องๆ เยาวชนจึงควรระมัดระวังการเล่นดอกไม้ไฟให้อยู่ขอบเขตตามจารีตวัฒนธรรมอันดีงามแบบไทย พึงระลึกไว้ว่าต้องไม้สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น และต้องระมัดระวังความปลอดภัยเมื่อจะเล่นดอกไม้ไฟเสมอ เทศกาลต่างๆ ที่จะแวะเวียนมาเยือนจึงควรมีรอยยิ้มให้ประทับตรึงใจ จนเมื่อนึกถึงครั้งใดก็จะมีแสงจากพลุและดอกไม้ไฟประกอบเป็นฉากในใจเสมอ




 

Create Date : 23 เมษายน 2550    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 0:24:10 น.
Counter : 801 Pageviews.  


จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.