รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 

ในผับ กับใครก็ได้ หรือใครสักคน


จากหนังสือ เศษทรายในกระเป๋า
โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์

“จุดแบบนี้สิ” หญิงสาวคว้าไปแช็กไปจากผม
“นี่ ให้ไฟมันอยู่ใกล้ๆ ไม่ใช่ห่างเป็นวาแบบนั้น” เธอพ่นควันแลหัวเราะฝืดๆ
ไฟสลัว เพลงกระหึ่มเต็มหู ที่เคาน์เตอร์บาร์มีผมกับเธอนั่งกันอยู่สองคน
จันทร์ – หญิงสาวมักแทนตัวเองด้วยชื่อเล่น ผมเรียกเธออย่างนั้นเหมือนกัน ผมชอบถ้อยคำนี้ มันเป็นคำไทยที่ออกเสียงง่ายๆ และไพเราะ อีกเหตุผลหนึ่ง ผมไม่เคยรู้ชื่อจริงเธอเลย เอ่อ...อาจจะเคยครั้งหนึ่ง แต่จำได้ว่ามันไม่น่าสนใจเท่าชื่อเล่น
อะไรที่ไม่น่าสนใจ ลืมมันไปดีกว่า – ว่าไหม ?
เราเจอกันเสื่อสักสี่เดือนก่อน โดยผ่านการแนะนำจากหญิงสาวอีกคนหนึ่ง
ถ้านับเวลาที่เราใช้จ่ายไปด้วยกัน จันทร์กับผมน่าจะเคยสนทนาวิสาสะกันไม่มากไปกว่าความยาวของหนังสองเรื่อง
นั่นไม่ใช่ประเด็นเสียทีเดียว อย่างไรก็ต้องถือว่าเราก็คุ้นเคยกันพอสมควร อาจจะเพราะจันทร์เปิดเผยชีวิตในซอกหลืบลี้ลับกับผมตั้งแต่วันแรก ทั้งลี้ลับ มืดดำ และเหนอคำบรรยาย โดยเฉพาะเมื่อเทียบบัญญัติไตรยางศ์จากต้นทุนครอบครัว สังคมและการศึกษา แต่ชีวิตจริงบางครั้ง... ใครจะว่าแตกต่างหรือห่างไกลจากนิยายน้ำเน่า
“เราควรทำยังไงดีวะพี่” จันทร์จ้องตาผมนิ่ง และรอคอยคำตอบอย่างจริงจัง
จะให้ผมตอบอย่างไร
โอเค, ให้ช่วยคิดก็คิดแทนได้ ว่าแต่เธอจะพร้อมทำตามคำชี้แนะจริงหรือ ผมไม่อยากจะเชื่อ เป็นไปได้ไหมว่าเวลาเช่นนี้คนเราต้องการคำปลุกปลอบมากกว่า และถ้าวาจาท่าทีของใครสักคนจะมีความหมาย ใครคนนั้นคือเพื่อน ไม่ใช่ครู
“จันทร์คิดอะไรไม่ได้เลยเว้ย” เธอติดพยางค์หลังสุด พูดอะไรก็มักมีคำนี้ต่อท้ายเสมอ และผมว่าน้ำเสียงนั้นฟังเพลินดีเหมือนกัน
“อย่าคิดว่าจันทร์รู้นะพี่ ตอนนี้จันทร์โง่มากๆ แม่งเหมือนคนไม่มีสมอง” เธออัดบุหรี่เน้นๆ และพ่นควันยาว เว้นระยะสักครู่ก็ยกแก้วตรงหน้ากระดกรวดเดียว
เพลงดังเหมือนเดิม ความจริง – ไม่ต้องเรียกว่าเพลงก็ได้ เพราะมันไม่ได้มีไว้ฟัง เขาแค่เปิดดังๆ ไว้บิวต์... ซึ่งน่าจะได้ผล หญิงสาวรวบแก้วคว้าทั้งแก้วของผมและของตัวเองไปชงอีกครั้ง
ชั่วโมงเศษๆ ที่นั่งอยู่ที่นี่ เราดื่มกินทั้งควันและแอลกอฮอล์จนนับแก้วกันไม่ไหว ดูเหมือนเรื่องยิ่งเข้มข้นขึ้น อารมณ์ฟุ้งกระจาย ร่างกายก็ยิ่งต้องการของมึนเมาเข้าไปสังเคราะห์เผาผลาญ อาจจะไม่ใช่ร่างกายหรอกที่ต้องการ คงเป็นหัวใจนั่นแหละ หัวใจอ่อนแอที่เปราะเป็นซากปรักหักพัง
ใคร – ในที่นี้ก็อาจตกอยู่ในห้วงหุบอันบอบช้ำที่คล้ายๆ หรือใกล้เคียงกัน ไม่เช่นนั้นก็คงนอนอยู่บ้าน ปล่อยให้บทสวดในผับบาร์ซึ่งเป็นคล้ายโบสถ์วิหารของยุคสมัยก้องอึกทึกอยู่ในวิถีของมัน
“ขายตัว มั่วยา” จันทร์พบและผ่านมาแล้วทั้งนั้น มันตรงกันข้ามกับภาพนักศึกษาสาวเรียนดีอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังเท้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะอธิบายอย่างไร หรือคิดจะถอดถอนคำประกาศเกียรติคุณดีไหม ถ้าจันทร์เล่าให้ฟังอีกว่าเธอเคยได้รับรางวัลชนะเลิศการเขียนเรียงความต่อต้านยาเสพติด
มันอยู่นอกเหนือจินตนาการอย่างแท้จริง ใครจะนึกถึงว่าเธอเขียนได้ดีเพราะมีประสบการณ์โชกโชน
จันทร์ผละจากกลุ่มเพื่อน และถือแก้วกลับมานั่งใกล้ๆ ผม
“เราคิดว่าเราควรจะมีแฟนเว้ยพี่”
ประโยคนี้ของหญิงสาวทำให้ผมสับสน ก็สุดที่รักของเธอเพิ่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไปเมื่อไม่ถึงเดือน
หัวเข้ายังไม่ทันหมาดน้ำตา นี่เธอคิดจะหาคนใหม่อีกแล้วหรือ
จันทร์... เธอเป็นอะไร
“มันเหมือนแห้งแล้งไปหมด งงๆ ด้วย ไม่อยากทำอะไร ถ้ามีแฟนอย่างน้อยก็มีที่ยึดเหนี่ยวไว้บ้าง จันทร์อยากมีใครสักคน ใครก็ได้ จันทร์อยากมีใครก็ได้เว้ย จริงๆ นะพี่”
ผมยิ่งมึนเข้าไปใหญ่ ไม่สามารถเข้าใจหญิงสาว คาดเดาอารมณ์เธอไม่ทัน เพราะใครสักคนกับใครก็ได้ นอกจากจะไม่เหมือนกันแล้วมันยังแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในทุกนัยความหมาย เหมือนที่ใครคนหนึ่งตะแบงเอาผู้ชายไปเปรียบกับหมา
กับเรื่องความรัก คนมีสติปัญญาดีๆ เขาก็ไม่น่าเลือกคู่ด้วยวิธีคิด “ใครก็ได้”
ใครก็ไม่ได้หรอกจันทร์ ยิ่งถ้าเธอเพ้อฝันหรือหาทางออกให้ชีวิตด้วยความมักง่ายขนาดนี้ แทนที่จะคลายความโศกเศร้า มันเหมือนยิ่งเอาทั้งตัวและหัวใจเข้าไปกระแทกกำแพงเหล็ก แทนที่จะค่อยๆฟื้นฟูจิตใจขึ้นมาเข้มแข็งเหมือนเดิม มันมีแต่จะทับถมเพิ่มและทิ่มแทงบาดแผลเก่าๆ
ใบหน้าจันทร์ขาวใสอยู่ในม่านควันบุหรี่ ขาวเนียนเฉพาะใบหน้าแต่ดวงตาคู่นั้นแทบจะไร้ประกาย หากมันว่างโหวงเหมือนแววตาหญิงชราตามสถานสงเคราะห์ ผมมองเธอแล้วรู้สึกเศร้า และเผลอคิดถึงเรื่องราวที่เราเคยคุย ตอนพบกันครั้งแรกริมถนนพิชัย
จันทร์บอกว่าเธอเป็นครูเปียโน
วูบนั้น ผมเห็นภาพเธอนั่งอยู่ข้างเด็กผมเปีย ค่อยๆ เคาะแป้นเคาะคีย์ บอกสอนทีละโน้ต ทีละเพลง ลูกศิษย์ตัวน้อยน่าจะเรียนรู้ด้วยความสนุกสนานเพราะครูเป็นคนคล่อง พูดจาตรงไปตรงมา ไม่ถึงกับอารมณ์ดี แต่ก็ขี้เล่น และมีเทคนิคในการสร้างบรรยากาศให้อบอุ่นเป็นกันเอง
เปียโนเป็นเครื่องดนตรีแสนสง่า อลังการ มันดูเข้ากันได้ดีทีเดียวกับหญิงสาวมาดมั่นอย่างจันทร์
แต่วันนั้นกับวันนี้ก็ไม่เหมือนกันเลย
ยังคงเป็นจันทร์เหมือนกัน แต่เป็นจันทร์เพ็ญกับจันทร์แรม
“ใครก็ได้เว้ยพี่ จันทร์ต้องการใครก็ได้” เธอหยุดพูดไปนานแล้ว แต่ถ้อยคำนี้ยังกังวานซ้ำๆ ในใจ ระยะผมได้ยินคำว่า “ใครก็ได้” บ่อยเหลือเกิน ตั้งแต่เรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ คนจำนวนไม่น้อยให้ความเห็นแบบเซ็งๆ ว่าใครเป็นก็เหมือนกัน ไม่เห็นมีปัญญาแก้ไขอะไรได้สักอย่าง เรื่องมันกลายเป็นประเด็นร้อนก็ตอนที่มีข่าวเสี่ยอ่างเริ่มมาแรง ได้ยินแล้วผมใจหาย นี่เรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่โลกไม่มีประวัติศาสตร์แล้วจริงๆ หรือ ? ความจำของคนเราหดสั้นลง หรือว่าปรัชญา “ใครก็ได้” ขยายใหญ่จนครอบคลุมไปหมดทุกเรื่องไม่เว้นกระทั่งภาคการเมืองการปกครอง ?
เราเลือกผู้นำด้วยความคิดว่า “ใครก็ได้” เนี่ยะนะ ขอถามช้าๆ ชัดๆ อีกสักครั้งว่าเลือกด้วยความคิดหรือด้วยอารมณ์
มองโลกแง่ร้ายที่สุดว่าเลือกด้วยอารมณ์ แต่ชนชั้นกลางในเมืองหลวงซึ่งได้ชื่อว่ามีการศึกษาก็ไม่น่าเป็นคนอารมณ์ชั่ววูบและหยาบกร้านปานนั้น...
สองวันก่อน น้องสาวคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เธอใช้ค่ำคืนดึกดื่นเปลืองเปล่าไปกับการเขียนปลดปล่อยอารมณ์ในอินเตอร์เน็ต
เธอมีเรื่องไม่สบายใจ และอยากให้ใครก็ได้อ่าน หรือถ้าเป็นไปได้ อ่านแล้วก็ช่วยปลอบประโลม
“เคยไม่เข้าใจคนอื่นนะคะ แปลกใจว่าไม่รู้เขาเอาเรื่องราวของตัวเองไปบอกชาวบ้านทำไม แต่เดี๋ยวนี้เป็นซะเอง มันเหมือนเราต้องการใครก็ได้มาร่วมรับรู้”
ฟังแล้วผมตั้งคำถามกับตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าคนรอบๆ ข้างตัวเธอหายไปไหนหมด หรือแม้จริงแล้ว เธอไม่ไว้ใจใคร หรือว่าเธอไม่มีใครเลย... ซึ่งก็ไม่น่าใช่ ผมเห็นใครหลายคนแทบจกระโดดเข้าไปปวารณาขอเป็นคนใกล้ชิดหญิงสาวแสนดีผู้นี้ตราบชั่วฟ้าดินสลายเสียด้วยซ้ำ
ทำไมเธอยังเหงา
ทำไมเธอจึงสามารถระบายความในใจให้ใครก็ไม่รู้มาช่วยรับฟัง
เปลวไฟปลายบุหรี่ของจันทร์ดึงความสนใจผมกลับมายังภาพเบื้องหน้า คำว่า “ใครก็ได้” ของเธอทำให้ผมมองผู้คนเป็นเหมือนน็อต ตะปู หรือฟันเฟืองสักชิ้นหนึ่งที่ซึ่งพอนำไปประกอบก็ได้ผลิตภัณฑ์อะไรสักอย่างเหมือนกัน เพราะน็อตทุกตัวออกมาจากเบ้าหลอมเดียวกัน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า unique sหรือลักษณะเฉพาะ
ความหมายลึกๆ ของ “ใครก็ได้” จึงคล้ายเป็นผลพวงของจากวิธีคิดของระบบอุตสาหกรรมโดยตรงซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามนจะก้าวรุกล้ำและขยายตัวมามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้คนได้ถึงเพียงนี้
ลองนึกภาพว่าเมื่อผู้คนได้กลายเป็นเช่นน็อตตัวหนึ่งไปเสียแล้ว ในอนาคต... มีเหตุใดที่เรายังต้องพูดถึงคุณงามความดี ศักดิ์ศรี และจริยธรรม มีความหมายใดที่คนรุ่นพ่อจะบอกเล่าลูกหลานให้เรียนรู้ถึงปรัชญาลูกผู้ชาย มิตรภาพ ความงามและความรัก
ผมยังนึกไม่ออกว่าเราจะอยู่กันอย่างไร ถ้าสังคมของเราไม่มีความหลากหลาย หรือแต่ละชีวิตไม่มีมิติทางจิตใจแบบปัจเจก มองไปทางไหนก็มีแต่ภาพซ้ำๆ กินเหมือนกัน แต่งตัวเหมือนกัน และคดเหมือนกัน หากเป็นเช่นนั้นจริง การดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปก็ไม่มีค่าความหมายอันใด ไม่ว่าในเชิงสังคมวิทยา มานุษยวิทยา หรือพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณ
ในเมื่อเราเชื่ออย่างฝังลึกเสียแล้วว่าใครก็ได้ หรืออะไรก็ได้
อาจจะมีสักวน ทุกคนพร้อมใจกันแต่งตั้งขุนโจรขึ้นเป็นสังฆราช เชื้อเชิญเจ้ามือหวยมาเป็นผู้พิพากษา ชักพาแมงดาและพ่อเล้ามาเป็นครู และต่อไป, หากจะกราบไหว้พญางู หรือผีสางนางไม้มาเป็นนายกรัฐมนตรีคงไม่ใช่เรื่องแปลก กระทั่งวันดีคืนดี ใครบางคนอาจจะล้มรื้อองค์พระประธานลงมากองกับพื้น แล้วสถาปนาคางคกหรือนกกระจอกขึ้นไปแทนที่บนแท่นสักการบูชา...
คงไม่ต้องรบกวนถึงขั้นปัญญาชน สมองเล็กๆ ของเด็กอนุบาลก็สามารถตอบได้ว่านั่นไม่ใช่มรรคาวิถี หือเป็นเส้นทางที่โลกกำลังโคจรไปสู่อุดมคติที่แท้จริงหรือไม่ ?
ถ้าเรายอมรับว่าเขม่าควันและขยะอิเลคทรอนิกส์อันเป็นกากเดนจากความเจริญก้าวหน้าของอุตสาหกรรมคือบาดแผลของยุคสมัยที่อันตรายและหาทางจัดการได้ยาก ผมเห็นวิธีคิดแบบ “ใรก็ได้” อันตรายยิ่งกว่า และน่าจะช่วยกันหาทางรักษาเยียวยาอย่างเร่งด่วน
“ใครก็ได้” ไม่ได้
ตราบเท่าที่มนุษย์ยังมีหัวใจ มีความรู้สึกนึกคิด ตราบเท่าที่เรายังมีความเป็นมนุษย์...
เพลงกระแทกกระทั้น พระจันทร์นิ่ง ทิ้งสายตาไว้ที่แก้วและน้ำสีอำพัน เหมือนถอดวิญญาณออกไปล่องลอยอยู่บนฟ้าสลัว ผมบีบมือเธอเบาๆ และสบตาในความหมายว่า - อย่ายอมแพ้
จันทร์ยังเหม่อ เธออาจจะดื่มมากเกินไป เพราะเสียใจมาจากอุบัติเหตุของชายอันเป็นที่รัก
จะไม่ให้เสียใจอย่างไรไหว ในเมื่อทั้งคู่กำลังจะจูงมือกันเดินเข้าสู่ประตูวิวาห์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อย่าว่าแต่จะต้องรีบทำใจและใช้ชีวิตไปตามปกติเลย ลำพังเพียงจะลุกขึ้นยืนให้ตรงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ใครหลายคนเคยเสียความรักก็แทบจะอยู่เป็นผู้เป็นคน นี่เธอเสียทั้งความรักและคนรัดในคราวเดียว หากยังสามารถรับผิดชอบการงานอยู่ได้ ก็ต้องถือว่าใจแกร่งเป็นเพชร
นี่แหละจันทร์ตัวจริง
บัณฑิตเกียรตินิยม เล่นเปียโน ทำงานเก่ง และเป็นคนเข้มแข็งมาแต่ไหนแต่ไร จะว่าไป เธอก็ไม่น่าจะพูดอะไรด้วยทัศนคติตื้นๆ และโง่เอาอย่างนั้น คงเพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์มากกว่าที่ทำให้จันทร์เพ้อเจ้อเรื่องอยากมีใครก็ได้เมื่อสกครู่ รุ่งเช้าและวันถัดๆ ไป เธอคงไม่คิดฉาบฉวยเช่นนี้อีก
หญิงสาวลุกขึ้นเดินไปยังกลุ่มเพื่อนอีกครั้ง
ผมหยิบบุหรี่มวนใหม่มาคาบ ขยับจะเอื้อมมือไปหยิบไฟแช็กมาจุดอย่างที่ได้รับการบอกสอนเมื่อสักครู่ แต่จู่ๆ ก็เปลี่ยนใจ หันหน้ามองไปทางจันทร์ เพื่อนสาวคนหนึ่งเดินเข้ามาสวมกอดเธอแนบแน่น
ในผับคืนนั้นไม่ได้มืดนัก แต่ก็มืดเกินกว่าจะมองเห็นใบหน้ากันถนัด ผมได้แต่คิดเอาเองว่ามันคงเป็นวินาทีที่เธอมีความสุขและยิ้มปากกว้าง
เหมือนเสี้ยวจันทร์ข้างขึ้น





 

Create Date : 27 กันยายน 2550    
Last Update : 27 กันยายน 2550 12:49:39 น.
Counter : 810 Pageviews.  

ในร้านเหล้า

วรพจน์ พันธุ์พงศ์

แม่ของเพื่อนสาวคนหนึ่งพูดชัดเจนว่า – การเดินทางท่องเที่ยวเป็นเรื่องของคนไม่ดี
ผมคิดว่าผมพอจะเข้าใจความคิดนี้ นอกจากเป็นอุบายให้ลูกสาวอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ในแง่หนึ่ง ต้องยอมรับว่าวงล้อของการเดินทางสุ่มเสี่ยงต่อกับดักหลุมพรางความชั่วร้ายและอบายมุข ซึ่งทั่วทุกหัวระแหงในโลกมีอยู่เกลื่อน อ่อนแอเมื่อไหร่ก็หลุดเข้าไปในแรงดึงดูดที่มีกำลังมหาศาลนั้นทุกที
ใครหลายคนอาจเถียงว่าแท้จริงการเดินทางเป็นมรรคาแห่งแสงสว่าง เป็นการเปิดโลกทัศน์ เปิดโอกาสไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าเรามีทางเลือกมากขึ้นจากการรู้เห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย แต่ก็นั่นแหละ ห้องสมุดฤๅจะเย้ายวนเร้าใจเท่าเธค ผับ คลับ บาร์ ในสายตาคนเดินดิน แสงสีราตรีย่อมน่าสนใจกว่าแสงธรรมและจิตรกรรมข้างผนังโบสถ์เสมอ
ความชั่วร้ายคล้ายแชมป์โลกผู้ยิ่งยง ใครเห็นก็โค่นมันลงยาก
หลายร้อยหลายพันปี โลกจึงจะมีมหาบุรุษเช่นเจ้าชายสิทธัตถะอุบัติขึ้นมาสักครั้ง
เดินออกจากบ้านก้าวหนึ่งจึงเท่ากับขยับเข้าใกล้ปีศาจอสูรไปทีละน้อย ยิ่งเดินทางไกล ก็ยิ่งง่ายที่จะถลำลึกเช่นนี้แล้ว บ้าน – นอกจากจะทำหน้าที่กันแดดป้องฝน ยังมีบทบาทโดยตรงในการปิดกั้นสกัดเหล่ามือมาร อย่างน้อยที่สุด พ่อแม่ก็เป็นพรหมของลูก
ชีวิต... หากอยู่ใกล้ชิดกับพระพรหม ไยจึงไม่นับเป็นสิริมงคล
ผมชอบบ้าน ชอบทั้งความหมายรูปธรรมและนามธรรม ใครจะไม่ชอบบรรยากาศครอบครัวที่อบอุ่น กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งพ่อ แม่ ลูก และปู่ย่าตายาย แค่ผมก็คงเหมือนผู้ชายจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าบางสถานการณ์ คำตอบก็อยู่ข้างนอก ครูบาอาจารย์และสรรพวิชาเป็นเรื่องที่ต้องดั้นด้นแสวงหา นี่ยังไม่นับเรื่องธุรการงานของคนหาเช้ากินค่ำ
เอาเข้าจริง เวลาในบ้านก็ดูยิ่งจะน้อยลงๆ
อาจจะไม่เหลือคุณงามความดี หากแม่ของหญิงสาวคนสนิทมองชีวิต คนไกลบ้านเช่นนี้
ไม่เพียงเลือกเป็นคนเดินทาง ร้านเหล้า – อโคจรสถานตามหลักการศาสนายังเป็นจุดพักที่ผมพาตัวเองแวะเวียนไปเป็นปกติ
เสียงเพลงโฟล์กในบ้านไม้ แสงไปสีเพลิงอ่อนๆ ตอนฝนพรำ มีโอกาสผ่านเมื่อไรคล้ายใจมันเรียกร้องให้หยุดทุกครั้ง จะว่ารักสนุกก็ไม่เชิง เพราะเลือกที่รักมักไม่ “สนุก” อย่างที่ชาวบ้านเขารู้สึกสนุกกัน เพลงดังๆ ก็ไม่ชอบ คนเยอะๆ ก็อึดอัดรำคาญ ยิ่งที่ไหนควันบุหรี่คละคลุ้งยิ่งแสบหูแสบตา จะว่าไป ร้านเหล้ายาก็ใช่ว่าจะต้องหารหนักหนา คงเป็นเพราะความเกียจคร้านมากกว่า อยากนั่งอยู่เฉยๆ ทะเลาะเบาะแว้งกับตัวเองไปตามเรื่อง
ไม่ก็อาจเป็นความเหงา อยากเฝ้ามองและมีส่วนร่วมกับผู้คนในสังคมขนาดย่อม - สังคมที่มีคนชนิดเดียวกันมาขุดลอกระบายสนิมความเศร้า
เป็นไปได้...
หนักเบาแตกต่าง ทว่าทุกชีวิตมีห้วงยามแห่งความทุกข์ร้อนแน่ๆ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะมีวิธีจัดการอย่างไร อธิบาย และหาทางออกให้ตัวเองผ่านพ้นภาวะวิกฤตโดยสวัสดิภาพ
เท่าที่สังเกต คนหนุ่มสาว พ.ศ. นี้ นิยมใช้การท่องเที่ยวเยียวยาอารมณ์ส่วนตัวมากขึ้น สำเจบ้าง ล้มเหลวบ้าง ไม่ว่าอย่างไร ผมมองว่าเป็นข้อดี อย่างน้อยพวกเขาก็มีเวลาทดลองและครุ่นคิด ถึงผิดก็ถือเป็นครู เพื่อค้นหาหนทางใหม่ที่ดีกว่า เหมาะสมกว่า เรื่องเช่นนี้ลอกเลียนกันไม่ได้เพราะแต่ละคนมีจริตและธรรมชาติคนละอย่าง
เหนืออื่นใด เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป วัยเปลี่ยนแปลง ประตูที่เคยเป็นทางออกก็อาจปิดตาย ต้องขวนขวายหาหน้าต่างบานใหม่อยู่ตลอดเวลา
เหมือนเล่นฟุตบอล ถ้าบุกอยู่รูปแบบเดียว คู่ต่อสู้ย่อมรู้ทัน ป้องกันเกมรุกได้หมด สุดท้ายก็คงต้องถูกโต้กลับเอาคืน
กลเกมของโลก ถ้าใครมีทางออกหรือยุทธศาสตร์การรบไว้หลากหลายย่อมมีสิทธิ์คว้าชัยชนะมากที่สุด
ผู้ใดไร้จินตนาการก็ง่ายที่จะมีชีวิตอยู่กับความปวดร้าวซึมเศร้า
โศกเศร้ายาวนานเท่าไร หัวใจก็มีอายุสั้นลงเท่านั้น
ในนาทีที่คลึงแก้วเบียร์อยู่ในเมรัยสถานและหายใจอยู่ในหมอกควันแห่งความเศร้า เหม่อมองสายฝนข้างนอก ผมนึกถึง “ทางออก” ของใครต่อใครที่เคยร่วมสนทนาวิสาสะ ทบทวนว่าพวกเขาซ่อมแซมตัวเองกันอย่างไร
เป็นเอก รัตนเรือง (ผู้กำกับภาพยนตร์) ใช้การเผชิญหน้า เจ็บปวดแค่ไหน เหงาเพียงไร เขาเอาตัวเข้าแลกตัวคนเดียว ต่อสู้กันแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เศร้าก็อยู่อย่างเศร้าๆ สังเกต รับรู้ และเผชิญหน้าอยู่สู้กับมันไปจนกว่าภาวะนั้นจะหายไป ใช่, เขาบอกว่ามันเป็นเพียงภาวะ ความทุกข์ก็เหมือนความสุข พระท่านว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป เป็นเหรียญคนละด้านที่ปุถุชนไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ถ้าไม่คิดแก้ปัญหาด้วยการพึ่งพาตัวเอง ก็เท่ากับกำลังเพาะพันธุ์พรวนดินให้มันเจริญเติบโตในใจ และนั่นต่างหากที่เป็นเรื่องราวแสนเศร้า
ทุกครั้งที่ความเหงาเข้าคุกคาม ไม่ว่ารุนแรงหรือแผ่วเบา เป็นเอกใช้การเผชิญหน้า แน่นอนว่าไม่ได้เริงร่าในฐานะผู้ชนะทุกครั้ง หากด้วยประสบการณ์ การยอมรับและอยู่กับความจริง ก็จะทำให้เขาทุรนทุรายน้อยลง
มาโนช พุฒตาล (นักดนตรี/ดีเจ) ใช้การเข้าป่า เขาบอกว่าต้นไม้ สายนำยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์มากมายเหลือเกิน มองจากดวงดาว เราเป็นพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ไม่รู้จะเสียเวลามาคร่ำครวญฟูมฟายเรื่องส่วนตัวทำไม และยิ่งไม่ควรที่จะยกตนข่มท่าน อวดอ้างอีโก้ เพราะแท้จริงมนุษย์เท่าเทียมกัน แท้จริงมนุษย์แตกต่างกัน นักกีตาร์ไม่ได้วิเศษกว่าคนขายไข่ปิ้ง แท้จริงแต่ละคนมีจุดเด่นจุดด้อยคนละอย่าง
(เขาเจอเองมากับตัว ..ขับรถเข้าป่าแล้วหม้อน้ำรั่ว ไปไหนไม่รอด คนขายไข่ปิ้งเดินผ่านมาเจอ เขาแวะช่วยเป็นธุระโดยการเอากล้วยดิบมาอุดรูรั่ว เมื่อมวลสารของกล้วยเจอความร้อนในรถทำให้มันเป็นยาปะผุชั้นดีและด้วยภูมิปัญญานี้ ออฟโรดคันเก่ง - ของนักกีตาร์มือฉกาจก็สามารถวิ่งกลับเข้าเมืองได้ คล้ายกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น)
น่าสังเกตว่า ปองพล อดิเรกสาร (นักการเมือง) ก็ใช้วิธีนี้เช่นเดียวกัน เขาบอกว่ามันรู้สึกเหมือนผ่อนคลาย ไม่ต้องมีระเบียบแบบแผนมากเหมือนชีวิตในเมือง
นอกเหนือจากการฟังเพลงคลาสสิก จิบชาและเขียนพู่กันจีน ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา (นักเขียน/บรรณาธิการสำนักพิมพ์ openbooks) เคยขอร้องให้เพื่อนรักช่วยพูดอะไรบางอย่าง เขาเชื่อว่าการมีใครสักคนเคียงข้างช่วยขัดล้างบาดแผลเลวร้ายให้ทุเลาเร็วขึ้น
ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ (กวี/นักเขียน) ใช้การนอนเปลใต้ต้นยาง ริมแม่น้ำยม-แม่น้ำข้างบ้าน เช่นเดียวกับศักดิ์ชัย ลัคนาวิเชียร (นัดเขียน) ที่เพิ่งมีผลงานล่าสุดชื่อ “นอน” เขาเชื่อว่าโลกจะสงบร่มเย็นกว่านี้เยอะ ถ้าคนเราเรียนรู้ที่จะนอนมากขึ้น
เสถียร จันทิมาธร (บรรณาธิการ “มติชนสุดสัปดาห์”) ใช้การทำงานบริหารจิตใจ เขาเชื่อว่าโลกนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าการทำงาน นอกเหนือจากมีประโยชน์แน่ๆ ในแง่หนึ่ง เท่ากับกับเป็นการปิดประตูใส่หน้าความเศร้าโดยตรง เขาเคยพูดทีเล่นทีจริงว่า – อกหักครั้งหนึ่ง อย่างน้อยนักเขียนน่าจะเขียนหนังสือให้ได้เล่มหนึ่ง ก่อนจะหยอดท้ายว่าถ้าเป็นไปได้ ก็ไม่ควรอนุญาตให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะไม่ว่าจะอย่างไร มันก็ไม่คุ้มอยู่แล้ว
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บอกว่า ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว
เสถียร จินทิมาธร เห็นด้วยและเสริมว่า ชีวิตสั้น ทำงานดีกว่า ไม่พียงพูด เขาทำงานจริงๆ ทำทุกวัน และไม่ยอมบรรจุคำว่า “วันหยุด” ไว้ในพจนานุกรมชีวิต
ขณะที่ยุทธนา อัจฉริยวิญญู (ช่างภาพ National Geographic) มีคาถาส่วนตัวสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “แล้วทุกอย่างก็ผ่านไป – ทั้งดีและไม่ดี” เมื่อคิดเช่นนี้ เขารู้สึกได้ว่าใจสงบ ปลดปลง และปล่อยวางมากขึ้น ใจที่หม่นเศร้า เหนื่อยหน่าย ก็ค่อยคลี่คลาย...
ผมชื่นชมในทุกวิธีของทุกคนที่เอ่ยมา มันเป็นทางออกที่ดี ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าบางครั้งก็ยังใช้ไม่ได้ผล แม้จะงัดกลยุทธ์สุดยอดของหลายๆ คนมาปัดเป่าเขม่าควันในใจแล้วก็ตาม
อย่างที่รู้ ยาดีใช่ว่าจะรักษาคนไข้ได้ทุกคน รายละเอียดของโรคมีมากไม่น้อยกว่ารายละเอียดของคน ปราชญ์โบราณจึงกล่าวว่า – ลางเนื้อชอบลางยา
มันอาจเป็นเหตุผลให้ผมมานั่งดื่มโดยลำพัง
เปล่า, ผมไม่ได้เชื่อว่าสุราแก้สารพันปัญหาได้เด็ดขาด เหมือน “30 บาทรักษาทุกโรค” เพื่อสนิทของผมคนหนึ่งประกาศคว่ำแก้วมาแล้วหลายเดือน ถึงขั้นไปสาบานต่อหน้าพระสงฆ์องค์เจ้าด้วยซ้ำ ถ้าเป็นของดี เขาคงไม่จำเป็นต้องหย่าขาด หรือลงทุนทำอะไร “ท้าทาย” ขนาดนั้น
โดยส่วนตัว ผมก็ไม่คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นทางออกที่ดีในยามเหงา...
สุราน่าจะถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อการเฉลิมฉลองมากกว่า
คงเป็นความอ่อนแอนั่นแหละ เคยใช้มันแล้วเพลิดเพลิน แก้ความโศกซึมได้ พอใช้บ่อยๆ เข้าก็ติด
เสพติดอารมณ์ตัวเอง ณ ขณะดื่มกิน
คงคล้ายหลายคนที่เสพติดโทรศัพท์ ต้องมีมันข้างตัวตลอด ลืมประเป๋าสตางค์ยังไม่เดือดร้อนเท่าลืมหยิบโทรศัพท์มาจากบ้าน ดึกดื่นบางคืน ผมเคยได้ยินคำพูดเล่นๆ ในหมู่วัยรุ่นว่า “คลื่นไม่ผ่านหัว ล้มตัวนอนไม่ลง” แล้วก็ให้รู้สึกหดหู่ ผมไม่รู้ว่าระหว่างมือถือกับสุรา อาการเสพติดสิ่งไหนน่าละอายหรือให้โทษมากกว่ากัน ชีวิตจะเป็นเช่นไร สิ่งหนึ่งที่พอจะพูดได้ก็คือ ต่อให้โทรจนหัวหูเน่า ความเหงาเศร้าก็ยังจะมีอยู่ในโลก เช่นเดียวกัน, ดื่มให้ตับแข็งตาย ความเดียวดายก็จะไม่มีวันหมดไป
เพราะมันมากับโลก และจะยังอยู่คู่โลก
ความเหงาไม่ใช่สิ่งเลวร้าย มันแค่ไม่ควรคอบครองหัวใจคนเรายาวนานเกินไปเท่านั้น
โชคดี ผมยังไม่ติดโทรศัพท์เหมือนคนอีกจำนวนหลายล้านในโลกนี้
โชคร้าย ผมยังไม่คิดจะเลิกเดินเข้าร้านเหล้า หลายครั้งและหลายคืน ผมยืนยันได้ว่าไม่ใช่เพราะความเหงาเศร้าอะไรหรอก หากเพราะความทรงจำอาจยังทำหน้าที่ของมันดีเกินไป ทุกครั้งที่แวะนั่งและสั่งแอลกอฮอล์อ่อนๆ มาดื่ม คล้ายเรื่องราวความรักแต่หนหลังพรั่งพรูขึ้นมาเต้นเร่าอยู่รอบตัวเราอีกครั้ง
และอีกครั้ง
เธอเคยนั่งเคยข้างอยู่ตรงนี้ พูดคุย หัวเราะ หยอกล้อกัน เคยร่วมคิดฝันนั่นนี่ วันนี้ร้านเหล้าว่างเปล่า
เพลง Comes as you are ของ Nirvana ดังพอให้ตะกอนของวันเวลาก่อนเก่าฟุ้งขึ้นมา แกวแรกเพิ่งจิบไปบางๆ คืนนี้ยังไม่เมา เข้ามาทางประตูไหนก็จำได้ ...แค่ยังไม่อยากเดินออก
เพราะฝนข้างนอกและข้างในยังไม่หยุดตก




 

Create Date : 26 กันยายน 2550    
Last Update : 26 กันยายน 2550 15:44:13 น.
Counter : 499 Pageviews.  

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร


เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเยฯ
ข้าพเจ้าได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า ในสมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับยับยั้งอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสี ฯ
ตัตระ โข ภะคะวา ปัญจะวัคคิเย ภิกขู อามันเตสิ ฯ
ในกาลครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเตือนสติเหล่าภิกษุปัญจวัคคีย์ให้ตั้งใจฟัง และพิจารณาตามพระดำรัสของพระองค์อย่างนี้ว่า ฯ
เทวเม ภิกขะเว อันตา ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตไม่ควรปฏิบัติให้หนักไปในส่วนที่สุด ๒ อย่าง คือ
โย จายัง กาเมสุ กามะสุขัลลิกานุโยโค หีโน (ถ้ามีการตรวจคำหยาบ..ตรงนี้ให้ออกเสียงว่า ฮีโน..นะครับ) คัมโม โปถุชชะนิโก อะนะริโย อะนัตถะสัญหิโต
การประพฤติปฏิบัติตนเพื่อแสวงหาความสุขอยู่ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่น่ารักน่าปรารถนา ซึ่งเป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุให้ต้องมีบ้านเรือน เป็นธรรมของคนผุ้ครองเรือนผู้หนาไปด้วยกิเลส ไม่ใธรรมอันจะนำจิตใจออกจากกิเลส ไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลาย นี่อย่างหนึ่ง
โย จายัง อัตตะกิละมะถานุโยโค ทุกโข อะนะริโย อะนัตถะสัญหิโต ฯ
และอีกอย่างหนึ่ง คือ การประพฤติปฏิบัติด้วยการทรมานร่างกายให้ได้รับความลำบาก ซึ่งมีแต่ทำให้ใจเป็นทุกข์ทรมานอย่างเดียว ไม่เป็นทางนำจิตใจออกจากกิเลส และไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องรัดรึงใจท้งหลาย ฯ (หรืออีกนัยหนึ่งคือ เร่งหักโหมปฏิบัติธรรมจนเกินกำลัง เพื่อหวังจะได้บรรลุมรรคผลเร็ว ๆ )
เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนะปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตได้รู้ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง โดยไม่เข้าไปใกล้ส่วนที่สุด ๒ อย่างนั้นแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง
จักขุกะระณี ญาณะกะระณี อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติฯ
ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลางนั้น สามารถทำดวงตาคือ ปัญญา ทำญาณเครื่องรู้ ให้เป็นไปเพื่อใจสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี และเพื่อทำให้กิเลสดับไปจากจิตคือเข้าสู่พระนิพพาน ฯ
กะตะมา จะ สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา จักขุกะระณี ญาณะกะระณี อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง ซึ่งสามารถทำดวงตาคือ ปัญญา ทำญาณเครื่องรู้ ให้เป็นไปเพื่อใจสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี และเพื่อให้กิเลสดับไปจากจิตคือเข้าสู่พระนิพพาน ที่ตถาคตรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่งนั้น คือการปฏิบัติอย่างไร?
อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค ฯ
ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลางนี้ คือ ทางนำไปสู่ความไกลจากกิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลาย มี ๘ อย่าง ฯ
เสยยะถีทัง
ข้อปฏิบัติเหล่านี้คือ
- สัมมาทิฏฐิ
ปัญญาอันเห็นชอบ ( คือ เห็นอริยสัจ )
- สัมมาสังกัปโป
ความดำริชอบ ( คิดจะออกจากกาม ไม่คิดอาฆาตพยาบาท ไม่คิดเบียดเบียน )
- สัมมาวาจา
วาจาชอบ ( ไม่พูดโกหก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดคำส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล )
- สัมมากัมมันโต
การงานชอบ ( เว้นจากการทุจริต เช่น โกงแรงงานเขาเป็นต้น และทำการงานที่ไม่มีโทษ )
- สัมมาอาชีโว
การเลี้ยงชีวิตชอบ ( หากินโดยไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ไม่ผิดประเพณี )

- สัมมาวายาโม
ความเพียรชอบ ( เพียรละชั่ว ประพฤติดีเพื่อให้มีคุณธรรมประจำใจ และเพื่อให้ได้คุณธรรมสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป )
- สัมมาสะติ
การระลึกชอบ ( ระลึกนึกถึง อนุสสติ ๑๐ ประการ มีพระนิพพานเป็นที่สุด และระลึกในมหาสติปัฏฐาน ๔ )
- สัมมาสะมาธิ ฯ
การตั้งจิตไว้ชอบ ( การทำสมาธิให้อารมณ์ตั้งมั่นในอนุสสติ ๑๐ ประการนั้น ) ฯ
( หรือกล่าวโดยย่อ มรรค ๘ ประการนี้ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา )
อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา จักขุกะระณี ญาณะกะระณี อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางเหล่านี้แล คือ ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง ซึ่งสามารถทำดวงตาคือ ปัญญา ทำญาณเครื่องรู้ ให้เป็นไปเพื่อใจสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี และเพื่อทำให้กิเลสดับไปจากจิตคือเข้าสู่พระนิพพาน ที่ตถาคตรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯ
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขัง อะริยะสัจจัง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สภาวะเหล่านี้แลเป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริง คือ
- ชาติปิ ทุกขา
ความเกิดก็เป็นทุกข์
- ชะราปิ ทุกขา
เมื่อความแก่เข้ามาถึง ก็เป็นทุกข์
- มะระณัมปิ ทุกขัง
เมื่อความตายเข้ามาถึง ก็เป็นทุกข์
- โสกะปริเทวะทุกขะโทมะนัสสุกปายาสาปิ ทุกขา
เมื่อความเศร้าโศก ความร่ำไรรำพัน ความเสียใจ และความคับแค้นใจเกิดขึ้นมา ก็เป็นทุกข์
- อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข
เมื่อประสบพบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ ก็เป็นทุกข์
- ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข
เมื่อพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่ชอบใจก็เป็นทุกข์
- ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง
และแม้คิดปรารถนาอยากได้สิ่งใด แต่ไม่ได้สิ่งนั้นสมปรารถนา ก็เป็นทุกข์
- สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ฯ
กล่าวโดยย่อแล้วก็คือ การหลงคิดว่าร่างกายเป็นของเราของเขานั่นแล เป็นตัวทำให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริง ฯ
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ยายัง ตัณหา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดที่มีอยู่ในใจนี้แลเป็นต้นเหตุทำให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริง
โปโนพภะวิกา นันทิราคะสะหะคะตา ตัตระ ตัตราภินันทินี เสยยะถีทัง กามะตัณหา
คือ มีความอยากเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป และมีความกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่น่าปรารถนา ก็เป็นเหตุให้ใจเกิดทุกข์
ภะวะตัณหา
สิ่งใดที่ยังไม่มี ก็คิดอยากจะให้มีขึ้นมา อย่างนี้ก็ทำให้ใจเกิดทุกข์
วิภะวะตัณหา
และเมื่อมีทุกอย่างสมปรารถนาแล้ว ก็อยากจะให้ทุกอย่างคงทนอยู่ตลอดไป เมื่อมันจะต้องสลายหายไป ก็ร้อนใจไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น อย่างนี้ก็ยิ่งทำให้ใจเกิดทุกข์หนักขึ้นอีก ฯ
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง โย ตัสสาเยวะ ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ จาโค ปะฏินิสสัคโค มุตติ อะนาละโย ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การดับตัณหาความอยากให้หมดไปจากใจด้วยการ ละ วาง ปล่อย และไม่คิดยินดีพัวพันอยู่กับตัณหาความอยากนั้นอีกเด็ดขาด คือ การดับทุกข์ให้หมดไปจากใจได้อย่างแท้จริง ฯ
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค เสยยะถีทัง สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสะติ สัมมาสะมาธิ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติเพื่อนำกิเลสให้หมดไปจากใจนี้ มี ๘ อย่าง คือ ปัญญาเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ การระลึกชอบ และการตั้งจิตไว้ชอบ คือ ข้อปฏิบัติเพื่อนำใจให้หมดจากกิเลสและดับความทุกข์ได้อย่งแท้จริง ฯ
อิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ดวงตาคือ ปัญญาเห็นธรรม และการกำหนดรู้ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราอย่างนี้ว่า "ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเศร้าโศก ความร่ำไรรำพัน ความเสียใจ และความคับแค้นใจ เป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริง" ฯ
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรมและการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า "ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหล่านี้เป็นต้น อันเป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริงนั้นแล เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ตลอดเวลา" ฯ
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญญาตันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือ ปัญญาเห็นธรรม และการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้งและความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า "ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหล่านี้เป็นต้น อันเป็นตัวทุกข์อย่งแท้จริงนี้นั้นแล เราได้หยั่งรู้ด้วยปัญญาโดยตลอดแล้ว" ฯ
อิทัง ทุกขะสุมุทะโย อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกำหนดรู้ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่างในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วอย่างนี้ว่า "ตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดที่มีอยู่ในใจนี้ เป็นเหตุทำให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริง" ฯ
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหาตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรมและการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า "ตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดที่มีอยู่ในใจ อันเป็นเหตุทำให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เป็นสิ่งที่ต้องละให้ขาด" ฯ
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะ*นันติ (ให้อ่านว่า ปะฮีนันติ..Amine) เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรมและการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า "ตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดที่มีอยู่ในใจ อันเป็นเหตุทำให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เราได้ละขาดไปจากใจแล้ว" ฯ
อิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรมและการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วอย่างนี้ว่า "การดับตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดนี้ให้หมดไปจากใจ คือ การดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง" ฯ
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกาตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรมและการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า "การดับตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดนี้ให้หมดไปจากใจ คือ การดับทุกข์ได้อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เป็นสิ่งที่ต้องทำให้แจ้งในใจตลอดเวลา" ฯ
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกะตันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรมและการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า "การดับตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดนี้ให้หมดไปจากใจ คือ การดับทุกข์ได้อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เราได้ทำให้แจ้งในใจอยู่ตลอดเวลาแล้ว" ฯ
อิทัง ทุกขะนิโรธคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรมและการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วอย่างนี้ว่า "มรรคคือทาง ๘ ประการ เป็นข้อปฏิบัติให้ทุกข์ดับไปจากใจได้อย่างแท้จริง" ฯ
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาเวตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรมและการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วอย่างนี้ว่า "มรรคคือทาง ๘ ประการ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ทุกข์ดับไปจากใจได้อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เป็นธรรมที่ต้องทำให้มีในใจไว้ตลอดเวลา" ฯ
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาวิตันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรมและการกำหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วอย่างนี้ว่า "มรรคคือทาง ๘ ประการ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ทุกข์ดับไปจากใจได้อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เราได้ทำให้มีในใจไว้ตลอดเวลาแล้ว" ฯ
ยาวะกีวัญจะ เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ เอวันติปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง นะ สุวิสุทธัง อะโหสิ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจริง ๔ อย่าง อันทำให้ใจ*งไกลจากกิเลสนี้ ถ้าหากเรายังไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง โดยอาการหมุนเวียนแห่งปัญญาญาณ ครบ ๓ รอบทั้ง ๔ อย่าง รวมเป็นอาการ ๑๒ รอบ
( อาการ ๑๒ รอบนี้ เรียกว่า ญาณ ๓ คือ

1. สัจจญาณ : การหยั่งรู้ให้ทราบชัดในความจริงแต่ละอย่างในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ว่าเป็นทุกข์แท้จริง , ตัณหาคือเหตุเกิดทุกข์แท้จริง , การดับตัณหาคือการดับทุกข์ได้แท้จริง , มรรคคือ ทาง ๘ ประการเป็นข้อปฏิบัติให้ทุกข์ดับไปจากใจได้อย่างแท้จริง

2. กิจจญาณ : การหยั่งรู้ให้ทราบชัดว่า จะต้องทำอย่งไรกับความจริงแต่ละอย่างนั้น ว่า ตัวทุกข์ควรต้องกำหนดรู้ตลอดเวลา , ตัณหาต้องละให้ขาด , การดับตัณหาเป็นสิ่งที่ต้องทำให้แจ้งในใจตลอดเวลา , มรรค ๘ เป็นธรรมที่ต้องทำให้มีในใจไว้ตลอดเวลา และ

3. กตญาณ : การหยั่งรู้ว่าได้ทำหน้าที่ทุกอย่างในความจริงแต่ละอย่างนั้นได้โดยบริบูรณ์แล้ว คือ ทุกข์รู้ด้วยปัญญาโดยตลอดแล้ว , ตัณหาได้ละขาดไปจากใจแล้ว , การดับตัณหาได้ทำให้แจ้งในใจตลอดเวลาแล้ว , มรรค ๘ ได้ทำให้มีในใจไว้ตลอดเวลาแล้ว )
เนวะ ตาวาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิง ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล้าประกาศยืนยันแก่มนุษยโลก ตลอดถึงเทวโลก มารโลก พรหมโลก รวมทั้งหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ให้ได้รู้เพียงนั้น ว่าเราได้ตรัสรู้พร้อมยิ่งซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรู้โดยชอบอันยอดเยี่ยม ซึ่งไม่มีความตรัสรู้อื่นในโลกใด ๆ หรือ ของใคร ๆ จะเทียบได้ ฯ
ยะโต จะ โข เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ เอวันติปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง สุวิสุทธัง อะโหสิ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ความจริง ๔ อย่ง อันทำให้ใจ*งไกลจากกิเลสนี้ เราได้รู้เห็นตามความเป็นจริง โดยอาการหมุนเวียนแห่งปัญญาญาณ ครบ ๓ รอบทั้ง ๔ อย่าง รวมเป็นอาการ ๑๒ รอบ ด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์หมดจดแล้ว ฯ
อะถาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิง ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงกล้าประกาศยืนยันแก่มนุษยโลก ตลอดถึงเทวโลก มารโลก พรหมโลก รวมทั้งหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ให้ได้รู้เฉพาะว่า เราได้ตรัสรู้พร้อมยิ่งซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรู้โดยชอบอันยอดเยี่ยม ซึ่งไม่มีความตรัสรู้อื่นในโลกใด ๆ หรือของใคร ๆ จะเทียบได้ ฯ
ญาณัญจะ ปะนะ เม ทัสสะนัง อุทะปาทิ อะกุปปา เม วิมุตติ อะยะมันติมา ชาติ นัตถิทานิ ปุนัพภะโวติ ฯ
ก็แล ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแก่เราแล้วว่า "กิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลายไม่สามารถจะกำเริบขึ้นมาได้อีกแล้ว จิตของเราได้หลุดพ้นจากกิเลสโดยวิเศษแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเราแล้ว บัดนี้ไม่มีภพเป็นที่เกิดสำหรับเราอีกแล้ว" ฯ
อิทะมะโวจะ ภะคะวา ฯ
ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงความจริง ๔ อย่างอันประเสริฐ อันทำให้ใจ*งไกลจากกิเลสอย่างนี้แล้ว ฯ
อัตตะมะนา ปัญจะวัคคิยา ภิกขู ภะคะวะโต ภาสิตัง อะภินันทุง ฯ
พระภิกษุปัจจวัคคีย์เหล่านั้น ก็มีความเพลิดเพลินยินดีในธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแล้วนั้น ฯ
อิมัสมิญจะ ปะนะ เวยยากะระณัสมิง ภัญญะมาเน
ก็ในเมื่อขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกล่าวแสดงความละเอียดพิศดารแห่งความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการอยู่นั่นแล
อายัสมะโต โกณทัญญัสสะ วิระชัง วีตะมะลัง ธัมมะจักขุง อุทะปาทิ "ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ" ฯ
ดวงตาคือ ปัญญาอันเห็นธรรม ซึ่งปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดแล้วแก่ท่านโกณทัญญะ ผู้มีอายุอย่างนี้ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาแล้ว สิ่งนั้น ๆ ทั้งปวง ก็ต้องดับสลายไปเป็นธรรมดา" ฯ
ปะวัตติเต จะ ภะคะวะตา ธัมมะจักเก
ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงประกาศวงล้อแห่งธรรมให้เป็นไปแล้วนั่นแล
ภุมมา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง
ภูมิเทวดาทั้งหลาย ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นว่า
"เอตัมภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปะฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พราหมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พรัหมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสมินติ" ฯ
"นั่นคือ วงล้อแห่งธรรมอันยอดเยี่ยม ไม่มีอะไรเทียบได้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ซึ่งวงล้อแห่งธรรมอย่างนี้ อันสมณพราหมณ์ ตลอดถึงเทวดา มาร พรหม และใคร ๆ ในโลก ไม่สามารถให้เป็นไปได้"
ภุมมานัง เทวานัง สัททัง สุตวา จาตุมมะหาราชิกา เทวดา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
เทพเจ้าเหล่าชั้นจาตุมหาราช ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าภูมิเทวดาแล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้น ฯ
จาตุมมะหาราชิกานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ตาวะติงสา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
เทพเจ้าเหล่าชั้นดาวดึงส์ ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้น ฯ
ตาวะติงสานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ยามา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
เทพเจ้าเหล่าชั้นยามา ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้น ฯ
ยามานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ตุสิตา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
เทพเจ้าเหล่าชั้นดุสิตได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นยามาแล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้น ฯ
ตุสิตานัง เทวานัง สัททัง สุตวา นิมมานะระตี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
เทพเจ้าเหล่าชั้นนิมมานรดี ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นดุสิตแล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้น ฯ
นิมมานะระ*ง เทวานัง สัททัง สุตวา ปะระนิมมิตะวะสะวัตตี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
เทพเจ้าเหล่าชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นนิมมานรดีแล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้น ฯ
ปะระนิมมิตะวะสะวัต*ง เทวานัง สังททัง สุตวา พรัหมะกายิกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง
เทพเจ้าเหล่าที่เกิดในหมู่พรหม ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นว่า
"เอตัมภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปะฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พราหมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พรัหมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสมินติ" ฯ
"นั่นคือ วงล้อแห่งธรรมอันยอดเยี่ยม ไม่มีอะไรเทียบได้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ซึ่งวงล้อแห่งธรรมอย่างนี้ อันสมณพราหมณ์ ตลอดถึง เทวดา มาร พรหม และใคร ๆ ในโลก ไม่สามารถให้เป็นไปได้" ฯ
อิติหะ เตนะ ขะเณนะ เตนะ มุหุตเตนะ ยาวะ พรัหมะโลกา สัทโท อัพภุคคัจฉิ ฯ
และโดยขณะเดียวเท่านั้น เสียงก็ดังขึ้นไปถึงพรหมโลกด้วยอาการอย่างนี้ ฯ
อะยัญจะ ทะสะสะหัสสี โลกะธาตุ สังกัมปิ สัมปะกัมปิ สัมปะเวธิ ฯ
และเสียงนี้ได้สะท้านสะเทือนหวั่นไหว ดังสนั่นไปตลอดทิศทั้ง ๔ ทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุ ฯ
อัปปะมาโณ จะ โอฬาโร โอภาโส โลเก ปาตุระโหสิ อะติกกัมเมวะ เทวานัง เทวานุภาวัง ฯ
อีกทั้งแสงสว่างอันใหญ่ยิ่งไม่มีประมาณ ได้ปรากฏแล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลายเสียหมด ฯ
อะถะ โข ภะคะวา อุทานัง อุทาเนสิ "อัญญาสิ วะตะ โภ โกณทัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณทัญโญติ" ฯ
ในลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า "โกณทัญญะผู้เจริญได้รู้แล้วหนอ โกณทัญญะผู้เจริญได้รู้แล้วหนอ" ฯ (อัญญาสิ : ได้รู้แล้ว)
อิติหิทัง อายัสมะโต โกณทัญญัสสะ "อัญญาโกณทัญโญ" เตววะ นามัง อะโหสีติ ฯ
เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานขึ้นมาอย่างนี้แล นามว่า "อัญญาโกณทัญญะ" นี้นั่นแหละ ได้มีแล้วแก่พระโกณทัญญะผู้มีอายุ ด้วยประการฉะนี้ แลฯ




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 3:45:15 น.
Counter : 450 Pageviews.  

มหาภารตะ

เมื่อสุขแล้วก็ทุกข์ เมื่อทุกข์แล้วก็สุข ไม่มีใครทุกข์เสมอ และไม่มีใครสุขเสมอ ความสุขมักจะสิ้นสุดเมื่อความเศร้ามาถึง และบางครั้งก็เกิดขึ้นจากความเศร้านั่นเอง ดังนั้นผู้ซึ่งต้องการความสุขที่นิรันดร จึงต้องละทิ้งทั้งสอง...ผู้ฉลาดจะพยายามช่วยเหลือตัวของเขาเองจากความทุกข์ ความสุขของสรรพชีวิตนั้น ไม่ยั่งยืนทั้งโลกนี้และโลกหน้า
มหาภารตะ ศานติบรรพ – CLXXXXX.6.7

ไม่ใช่ทั้งความสุขซึ่งเกิดจากความชื่นชมยินดีในประสาทสัมผัสทั้งหลาย และความสุขยิ่งใหญ่ซึ่งอาจได้จากการได้ขึ้นสวรรค์ ที่จะเข้าใกล้แม่แต่เพียง 16 ส่วนของความสุขซึ่งได้จากการทำลายล้างความปรารถนาจนหมดสิ้น
มหาภารตะ ศานติบรรพ – XLVII.8

เมื่อเราไม่คำนึงถึงตัวตนของเราเองว่าเป็นของเรา แต่กลับคำนึงถึงโลกทั้งโลก และสิ่งต่างๆ ทั้งหมด ที่เราเห็นว่าเป็นของเราเท่าๆ กับที่มันเป็นของผู้อื่น เมื่อคิดได้เช่นนี้ ความเศร้าโศกจะไม่สามารถเข้าใกล้เราได้ ...เราจะไม่ยอมจำนนต่อสุขหรือทุกข์
มหาภารตะ ศานติบรรพ – CLXXIV.19-21

…เมื่อเราได้ครุ่นคิดอย่างถ้วนทั่ว ใจของเราได้ถูกชำระล้างให้บริสุทธิ์ด้วยการครุ่นคิดได้เช่นนี้ เราจะรู้ว่าสิ่งต่างๆ บนโลกนี้ล้วนไร้ค่าดังกองฟางโดยปราศจากความสงสัย เราก็จะเป็นอิสระจากการหลงติดที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ เหล่านั้น...
มหาภารตะ ศานติบรรพ – CLXXIV.4-5

ความทุกข์เกิดขึ้นจากโรคที่มีสาเหตุมาจากความปรารถนา ความเป็นสุขเป็นผลจากการที่โรคร้ายนั้นถูกรักษาให้หาย ...ความสุขและความทุกข์ของมนุษย์นั้นเกี่ยวเนื่องกันดั่งวงล้อ
มหาภารตะ ศานติบรรพ – CLXXIV.19-21

ทั้งสุขและทุกข์ ความรุ่งเรืองและตกต่ำ ได้และเสีย ชีวิตและความตาย รอคอยที่จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนทุกสรรพชีวิต ...หลังจากความสุข ความเศร้าก็มา และจากนั้นก็เกิดความสุขอีกครั้ง... ไม่มีใครที่ระทมทุกข์ตลอดไป และไม่มีใครที่สุขสมตลอดกาล... ดังนั้น บุคคลแห่งพระเจ้าจึงไม่ควรยินดีกับความสุข หรือหดหู่กับความเศร้า
มหาภารตะ ศานติบรรพ – XXV.26-27, CLXXIV.19-21

ขอพระพุทธคุณ พระเทวคุณ พระบารมีปกเกล้าแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จงคุ้มครองปกปักชาติไทยและท่านให้จุ่งประสบความความปรารถนาดังจงทุกประการเทอญ

ธรรมจักร พรหมพ้วย
Bobbibrown19@hotmail.com
02-5172229, 06-3759910




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 3:43:35 น.
Counter : 486 Pageviews.  

Last Life in the Universe

เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล

เราเกิดมาตัวคนเดียว ตายไปก็ตัวคนเดียว
ช่วงเวลาที่เราได้ใช้ชีวิตกับใครสักคนจึงพิเศษที่สุด

เคนจินั่งอยู่บนรถเมล์ปรับอากาศ เขากำลังอ่าน The Last Lizard in the world

จิ้งจกตัวหนึ่งตื่นขึ้นมาพบว่ามันเป็นจิ้งจกตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่ในโลก ไม่มีครอบครัว ไม่มีเพื่อนพ้อง จิ้งจกทุกตัวหายไปหมดเกลี้ยงแม้กระทั่งตัวที่มันไม่ชอบ พวกที่เคยล้อและทำร้ายมันตอนอยู่โรงเรียนต่างก็หายไร้ร่องรอย จิ้งจกตัวสุดท้ายในโลกรู้สึกเปลี่ยวเหงายิ่งนัก มันคิดถึงครอบครัว คิดถึงเพื่อนฝูง กระทั่งศัตรูมันยังคิดถึงเลย มีจิ้งจกที่ฉันไม่ชอบอยู่ในโลก ก็ยังจะดีเสียกว่าไม่มีจิ้งจกเลยสักตัว เจ้าจิ้งจกคิดกับตัวเอง ตอนนี้มันทำได้เพียงคิดกับตัวเองเท่านั้น จะมีจิ้งจกที่ไหนให้มันแบ่งปันความคิดด้วยได้อีกเล่า

จากบทภาพยนตร์เรื่อง เรื่อง Last Life in the Universe โดย ปราบดา หยุ่น ภาพยนตร์โดย เป็นเอก รัตนเรือง




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 3:42:31 น.
Counter : 754 Pageviews.  

1  2  

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.