รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 

โหมกูณฑ์


(ภาพ) พิธีโหมกูณฑ์ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษ
กสมโภช พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พิธีโหมกูณฑ์ ทำในการพระราชพิธีจองเปรียง พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินทร์ และในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช (ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ งดการปฏิบัติในพระราชจองเปรียงไป) ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ลงมาจึงทำแต่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช หรือในปัจจุบันนี้ เมื่อมีสมโภชในในการเฉลิมพระชนมพรรษาที่สำคัญ และมีการถวายใบสมิทธิทรงปัดพระองค์ ก็ต้องมีโหมกูณฑ์เผาใบสมิทธนี้ด้วย

ในต้นกรุงปลูกโรงพิธีที่ลานหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในรัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างโรงพิธีเป็นฝาก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้องเคลือบขาวมีช่อฟ้าใบระกา พระราชทานชื่อ "หอเวทวิทยาคม" ในรัชกาลที่ ๕ ย้ายมาจากหน้าพระที่นั่งดุสิตฯ มาปลูกอยู่ที่มุมโรงกษาปณ์เก่า (ต่อมาเป็นพิพิธภัณฑ์วัดพระศรีฯ ในปัจจุบันนี้)

โรงพระราชพิธีมีคร่าวไม้ติดเสาถึงกันทุกเสา ตามตำราพราหมณ์เรียกว่า "พรหมโองการ" แล้วจึงพาดผ้าโตรทวาร ในโรงพระราชพิธีตั้งเตียง ๓ เตียง ลดเป็นลำดับลงมาอย่างตั้งเทวรูปของพราหมณ์ ๑.ชั้นบนสุด ตั้งพระอิศวร พระนารายณ์ พระมหาพิฆเณศวร พระอิศวรทรงโค และพระอุมา ๒.ชั้นกลาง ตั้งเทวรูปนพเคราะห์ ๓.ชั้นล่าง ตั้งเบญจคัพย์ กลศ สังข์

เตาสำหรับโหมกูณฑ์นี้ เป็นเตาทองแดง เป็นของอยู่ในพระคลังในซ้าย (ในรูปคือที่เป็นสี่เหลี่ยมซ้อนชั้นทางขวามือ)

ธรรมเนียมการโหมกูณฑ์ คือ การทำน้ำมนต์ในหม้อข้าว ได้แบบอย่างมาจากอินเดีย (ขอพราหมณ์อินเดีย คือ หม้อทองเหลืองที่ใช้หุงข้าวและตักน้ำในเดือนสาม / ของพระสงฆ์ คือ บาตร)

หม้อกุมภ์ (ด้านซ้ายภาพ) คือหม้อดินสำหรับหุงข้าวธรรมดา ๙ ใบ ตั้งกลางใบหนึ่ง ล้อมรอบด้วยอีก ๘ ใบ ในหม้อกุมภ์มีเงินเฟื้องทุกหม้อ หม้อกุมภ์ทั้ง ๙ นี้ เมื่อเสร็จพิธี จะเก็บน้ำมนต์ในหม้อกลางไว้ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันทรงเครื่องใหญ่และใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ อีก ๘ หม้อจะแจกกันไปตามเจ้ากรม/ปลัดกรม ไว้สำหรับถวายสรงเจ้านายหรือรดน้ำในพิธีต่างๆ

สิ่งสำคัญคือ "ใบสมิทธิ" หรือ "ใบสมมิทธิ" เป็นช่อใบไม้มัดรวม (ในพานทางขวาของเทวรูป) เดิมประกอบด้วย ใบรัก ใบมะม่วง ใบตะขบ ใบยอ ใบขนุน ใบมะเดื่อ ใบเงิน ใบทอง ใบเฉียงพร้านางแอ ใบมะผู้ ใบระงับ ใบพันงู อย่างละ ๕๐ ใบ พร้อมด้วยมะกรูด ๑๕ ผล ส้มป่อย ๑๕ ฝัก
ในรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ใช้เพียงสามอย่างคือ ๑.ใบตะขบ ๙๖ ใบ แทน ฉันวุติโรค ๙๖ ๒.ใบทอง ๓๒ ใบ แทน ทวดึงสกรรมกรณ ๓๒ ๓.ใบมะม่วง ๒๕ ใบ แทน ปัญจสมหาภัย ๒๕ ประการ

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พราหมณ์จะถวายใบสมิทธิเพื่อทรงปัดพระองค์ในเวลาหลังพระสงฆ์สวดมนต์เย็น แล้วจึงนำกลับมาทำพิธีโหมกูณฑ์ในโรงพิธี

การเผาใบสมิทธิหรือการโหมกูณฑ์นี้ จะใช้ฟืนที่ทำจากไม้พุทรายาวดุ้นละ ๙ นิ้ว มัดละ ๙ ดุ้น วันละ ๒๐ มัด ซึ่งในเตากูณฑ์นั้นจะมีดินและมูลโครองอยู่ข้างใน เมื่อพราหมณ์อ่านเวทติดเพลิง จะเอาใบสมิทธินั้นชุบน้ำผึ้งรวงและน้ำมันดิบเผาลงในเตากูณฑ์ เมื่อเผาเสร็จแล้วจะยังไม่ดับไฟในเตากูณฑ์

ในเตากูณฑ์นอกจากดินและมูลโคแล้วยังมีเต่าทอง ทำด้วยทองคำหนักสองสลึงเฟื้อง ซึ่งจะตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่พราหมณ์ผู้ทำพิธี (พร้อมของหลวงที่พระราชทานมาเพื่อประกอบพิธี เช่น ผ้าขาว หม้อข้าว หม้อน้ำมนต์ ข้าวสาร ข้าวเปลือก มะพร้าว นม เนย รวมทั้งเงินพระราชทาน)

จนเมื่อการพระราชพิธีทั้งหมดเสร็จสิ้นลง พราหมณ์จึงจะดับกองกูณฑ์ด้วยการอ่านเวทดับกูณฑ์ด้วยน้ำสังข์




 

Create Date : 28 มีนาคม 2555    
Last Update : 28 มีนาคม 2555 9:44:59 น.
Counter : 3096 Pageviews.  

ประวัติสวนขวา

เรียบเรียงจาก “พระอภิเนาว์นิเวศน์ : พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
โดย ม.ร.ว.แน่งน้อย ศักดิ์ศรี

อ่านพระราชพงศาวดารประกอบ
เรื่องสวนขวา


สวนขวาในรัชกาลที่ ๑
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกรุงเทพมหานคร แล้วสร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งขึ้น ๒ หมู่ คือ หมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานหรือเรียกกันโดยทั่วไปว่าหมู่พระมหามณเฑียร ระหว่างพระที่นั่งทั้ง ๒ หมู่มีเขื่อนเพชรกั้นถึงกันโดยตลอด ด้านนอกของเขื่อนเพชรเป็นฝ่ายหน้า ด้านในของเขื่อนเพชรเป็นฝ่ายใน พื้นที่ด้านตะวันออกของหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทำเป็นพระราชอุทยานสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จประพาส มีนามว่า “สวนขวา” ส่วนพื้นที่ด้านทิศตะวันตกเป็นสวนสำหรับฝ่ายในเรียกว่า “สวนซ้าย”
สวนขวาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้นเป็นส่วนที่มีแต่พระตำหนักทองที่ประทับในสระน้ำหลังหนึ่ง และพลับพลาที่เสวยริมปากอ่าง แก้วหน้าเขาฟองน้ำหลังหนึ่ง สวนนั้นมีกำแพงแก้ว ล้อมรอบเป็นบริเวณ

สวนขวาในรัชกาลที่ ๒
ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ขยายเขตพระบรมมหาราชวังไปทางทิศใต้จรดวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) โดยมีถนนท้ายวังคั่นกลางแล้ว สมควรที่จะมีสวนในพระบรมมหาราชวังให้งดงามบริบูรณ์ได้เช่นเดียวกับพระราชอุทยานในพระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา จึงได้ทรงหารือกับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการต่างก็เห็นชอบในพระราชดำริ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นแม่กองปรับปรุงสวนขวาขึ้น และให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้าช่วยกันรับหน้าที่ในกรก่อสร้างบ้าง การตกแต่งบ้าง วัตถุประสงค์ในการสร้างดังกล่าวนี้ก็เพื่อจะให้ปรากฏเป็นพระเกียรติยศสืบไปในแผ่นดินประการหนึ่งและเพื่อทำนุบำรุงข้าราชการที่เป็นช่างให้ทำการไว้ฝีมืออีกประการหนึ่ง
การที่จะให้ปรากฏเป็นพระเกียรติยศสืบไปในแผ่นดินนั้น คงจะมีวัตถุประสงค์จะแสดงให้นานาประเทศโดยเฉพาะประเทศใกล้เคียงได้ตระหนักว่าเมืองไทยนั้นได้มีราชธานีที่มั่นคงแล้ว เช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยาที่เคยถูกพม่าเผาทำลายไปจนหมดสิ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร สร้างพระบรมมหาราชวังโดยการจำลองความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยามาให้ปรากฏอีกครั้งหนึ่งในกรุงเทพฯ แล้ว ส่วนพระองค์จะได้สร้าง “สวนขวา” ส่งเสริมความรุ่งเรืองและความงดงามของสวนดังเช่นสวนในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์เป็นศูนย์กลาง
ส่วนการดูสติปัญญาช่างที่มีฝีมือนั้น ก็เนื่องด้วยเมื่อพม่าได้ตีกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังได้กวาดต้อนช่างไทยฝีมือดีไปจนเกือบจะหมดสิ้น ช่างสาขาต่างๆ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ส่วนใหญ่จึงต้องฝึกหัดกันขึ้นมาใหม่ การทำนุบำรุงช่างเหล่านี้จะมีได้ก็ต่อเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระราชธุระ จึงจะรวบรวมแนะนำ แล้วให้ทุนรอนให้ทำงานศิลปะสาขาต่างๆ ขึ้นใหม่ได้ การทำนุบำรุงช่างเหล่านี้ได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ส่วนในรัชกาลนี้ เหตุการณ์บ้านเมืองค่อนข้างจะสงบเรียบร้อยกว่ารัชกาลก่อน จึงมีเวลาที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองและงานศิลปะสาขาต่างๆ ได้มากขึ้น พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริที่จะส่งเสริมให้ช่างฝีมือสาขาต่างๆ เหล่านี้ได้ประกวดประขันฝีมือในเชิงช่างให้มากขึ้นด้วย
เหตุผลอีกประการหนึ่งในการสร้างสวนขวาในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นที่ทรงพระสำราญพระราชอิริยาบถ และให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายในเป็นที่ประพาสเล่น ด้วยมิได้เคยเห็นภูเขาและธารน้ำแห่งใด

ขอบเขตของสวนขวาและสิ่งก่อสร้างภายในสวน
สวนขวาที่พัฒนาขึ้นในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเขตสวนและสระให้กว้างขวางกว่าเดิม พร้อมทั้งก่อกำแพงล้อมรอบเป็นบริเวณกว้าง โดยขุดเป็นสระใหญ่ขนาดยาว ๓ เส้น ๔ วา (ประมาณ ๑๒๘ เมตร) กว้าง ๒ เส้น ๘ วา (ประมาณ ๙๖ เมตร) ขอบสระนั้นลงเขื่อนแล้วก่ออิฐบังหน้าเขื่อน พื้นสระปูอิฐถือปูน ทำเหมือนอ่างแก้วให้ขุดท่อน้ำเป็น ๓ สาย ปิดเปิดถ่ายน้ำได้เพื่อให้น้ำสะอาดไม่มีเลนตม ในสระมีเกาะน้อยใหญ่เรียงรายกันไปหลายเกาะ ชัดตะพานถึงกัน ทำเก๋งและก่อเขาไว้ริมเกาะ เกาะละ ๒ เก๋งบ้าง ๓ เก๋งบ้าง ขอบสระใหญ่ให้ก่อภูเขาทำเก๋งลงที่ลาดๆ ท่วงทีเหมือนอย่างแพไว้รอบสระ หลังเก๋งให้ปลูกต้นไม้ใหญ่มีผลต่างๆ โดยเฉพาะพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพเป็นแม่กองก่อเขาและปลูกต้นไม้
ส่วนขอบเขตของภูเขาที่สร้างขึ้นนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชาธิบายไว้ว่า “...มีเขตกำหนดตั้งแต่ถนนตรงประตูราชสำราญขึ้นมาทางเหนือถึงเขื่อนเพชรโรงแสง ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นพระที่นั่งภานุมาศ (พระที่นั่งบรมพิมานองค์ปัจจุบัน) ด้านตะวันออกแนวประตูแถลงราชกิจไปหาพระที่นั่งศิวาลัย ด้านตะวันตกแนวประตูกลมซึ่งยังเป็นขอบเขตอยู่จนบัดนี้ ตอนข้างตะวันออกเป็นสระ มีเกาะกลางสระ เห็นหอพระจะอยู่ตรงนั้น คงจะตั้งอยู่ในราวที่ตั้งพระพุทธรัตนสถานเดี๋ยวนี้...”

การตกแต่งสวนขวา
เก๋งและแพที่อยู่รอบสระนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ตลอดจนท้าวนางผู้ใหญ่ในพระราชวังที่สมควรจะแต่งเก๋งแต่งแพได้ให้เป็นเจ้าของตกแต่งทั้งสิ้น โดยแพฝ่ายพระราชวงศ์ฝ่ายหน้านั้นมี ๕ แพ ได้แก่ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ กรมหมื่นศักดิพลเสพ กรหมื่นเจษฎาบดินทร์ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ
แพพระราชวงศ์ฝ่ายในมีจำนวนถึง ๒๗ หลัง เป็นแพของทั้งสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ พระเจ้าลูกเธอ และพระราชธิดาในกรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ส่วนแพข้าราชการฝ่ายในซึ่งเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๒ รวมทั้งสิ้น ๑๘ หลัง ซึ่งทั้งเก๋งทั้งแพเหล่านี้ต่างก็ตกแต่งประกวดประขันกันยิ่งนัก
เก๋งแถวหน้า เจ้าของต่างตกแต่งด้วยเครื่องแก้ว แขวนโคม ตั้งโต๊ะบูชา ตั้งตุ๊กตาปั้นขนาดเท่าคนจริง นั่งบ้าง ยืนบ้าง มีชื่อต่างๆ กัน นุ่งห่มด้วยเครื่องทองจริงๆ นอกจากนั้นยังโปรดให้หาสัตว์จตุบาท ทวิบาทต่างๆ มีทั้งที่ปล่อยและขังกรง มีนกชนิดต่างๆ เช่น นกแก้ว นกขุนทอง นกโนรี นกสัตวา เป็นต้น บ้างก็จับคอนห้อยแขวนไว้ ณ ที่ต่างๆ ส่วนในท้องสระให้ปลูกบัวหลวง บัวเผื่อนและเลี้ยงปลาชนิดต่างๆ เสียงนกเหล่านี้ร้องระเบ็งเซ็งแซ่ไปทั่วทั้งพระราชอุทยาน
ส่วนที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประกอบไปด้วยพระมหามณเฑียร ๓ หลังองค์หนึ่ง พระที่นั่งอย่างฝรั่งพื้น ๒ ชั้น หลังหนึ่ง เป็นที่ทรงฟังมโหรี มีป้อมริมน้ำเป็นที่จอดเรือพระที่นั่งสำปั้น เก๋งใหญ่มีเรือเท้งเป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่ง มีป้อมสูงสำหรับทอดพระเนตรการแข่งเรือและทอดพระเนตรไปรอบๆ พระราชอุทยาน เก๋งใหญ่ที่เสวย ๓ เก๋ง และเก๋งโรงละครอีกหลังหนึ่ง

กิจกรรมในสวนขวา
ถึงแม้ว่าการก่อสร้างสวนขวายังไม่แล้วเสร็จ แต่เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ก็โปรดเกล้าฯ ให้ไขน้ำเข้ามาเต็มสระ และโปรดให้มีการฉลองสมโภชพระที่นั่ง โดยให้นิมนต์สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระวันรัต และพระราชาคณะอื่นๆ สวดพระปริตรพุทธมนต์ ณ พระที่นั่งเก๋งใหญ่ รุ่งขึ้นเช้าโปรดให้พระสงฆ์แยกย้ายไปรับพระราชทานเลี้ยงตามเก๋งตามแพทุกแห่ง เก๋งละ ๒ รูปบ้าง แพละ ๒ รูปบ้าง มีละครข้างใน ๒ โรงเล่นประชันกัน
ต่อเมื่อเก๋งที่ประทับสร้างเสร็จแล้ว จึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปสมโภชบนเก๋งสูงที่ประทับของรัชกาลที่ ๑ เลี้ยงพระแล้วมีงานสมโภชเวียนเทียน การทำครั้งนั้นรวม ๓ วัน ภายหลังโปรดให้ข้าราชการนิมนต์พระมาเลี้ยงทุกปี
ในระหว่างการก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จอดพระเนตรผลงานของช่างสาขาต่างๆ ในเวลากลางวัน ครั้นพอพลบค่ำสิ้นราชการแล้ว พระองค์ก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งสำปั้นน้อย พร้อมเรือเจ้าจอมมารดาอีกหลายลำ โดยมีเรือเจ้าคุณวังหลวง เรือเจ้าคุณวังหน้าเป็นเรือนำ ติดตามด้วยเรือปี่พาทย์ ๒ ลำ เรือดั้ง ๔ ลำ เรือพระที่นั่งรอง เรือมหาดเล็ก เจ้าจอมและคนรำพร้อมคนพายลำละ ๖ คน รวม ๑๒ ลำ มีเรือข้าราชการฝ่ายในที่มีญาติและพวกพ้องเป็นคนพายเรียกว่า เรือต่างกรม ๒๐ ลำ เรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีก ๘ ลำ พายตามเสด็จเที่ยวทอดพระเนตรเก๋งและแพที่เจ้านายและข้าราชการแต่งไว้ทุกแห่ง ลดเลี้ยวไปตามเกาะแก่งน้อยใหญ่นั้นๆ
ครั้นเสด็จขึ้นที่ประทับที่เก๋งแพใหญ่ที่มีน้ำลึกกว่าทุกแห่งแล้ว ปี่พาทย์มโหรีทำเพลงเสียงเสนาะ แล้วมีพระราชดำรัสสั่งให้ข้าราชการฝ่ายในในกระบวนเรือที่ตามเสด็จพายเรือแข่งกัน แล่นไปในระหว่างเกาะต่างๆ โดยมีกติกาการเล่นอย่างสนุกสนาน
ส่วนท้าวนางผู้ใหญ่ เช่น เจ้าคุณวังหลวง เจ้าคุณวังหน้า เจ้าคุณปราสาท เป็นต้น ก็โปรดพระราชทานเงินให้ทำของขายพวกเรือที่เล่นกัน เช่น หมี่ หมูแนม ไส้กรอก ลูกบัว ถั่วลิสง ขนมต่างๆ วางขายที่หน้าถังบ้าง ที่แพบ้าง ส่วนพระองค์เจ้า ท้าวนาง เจ้าจอมมารดาที่เป็นเจ้าของเรือ แต่ไม่สนใจซื้อก็จะจัดของกินมาเลี้ยงคนพายเรือของตน พวกที่เล่นเรือแข่งกันนั้น ถ้าเรือล่มก็ให้ผ้าผลัดแล้วกลับลงพายเรือเล่นใหม่ ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่บนที่นั่งเก๋ง ทอดพระเนตรละครบ้าง ทรงฟังมโหรีบ้าง สักวาดอกสร้อยบ้าง เสียงร้องและเสียงขับไพเราะเป็นที่เพลิดเพลินพระราชหฤทัยอยู่เนืองๆ
ครั้นถึงเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ หลังจากเสด็จลอยพระประทีปที่ตำหนักแพ (ท่าราชวรดิษฐ)แล้ว เสด็จกลับขึ้นมามีการแห่ผ้าป่าในสระ เกณฑ์พระองค์เจ้าที่มีแพแต่งเรือผ้าป่าองค์ละลำ และมีการเล่นจำอวด เล่นสักวา เล่นเรือเพลง และเรือพระองค์เจ้ากุ (เฉลิมพระนามในรัชกาลที่ ๔ ว่า กรมหลวงนรินทรเทวี) ขายขนม ครั้นเวลาเช้าก็ให้ส่งกระจาดผ้าป่าไปถวายสงฆ์
ที่ในสวนขวาแห่งนี้ บางครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชศรัทธาให้นิมนต์พระราชาคณะหลายรูป เข้าไปลงเรือสำปั้นลำละ ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง ให้ฝีพายหน้าหลัง พายรับบิณฑบาต เจ้าของแพออกมานั่งถวายบิณฑบาตทุกแพ เสร็จแล้วพระสงฆ์นั่งฉันภัตตาหารไปในเรือ ส่วนฝีพายก็พายลดเลี้ยวไปตามเกาะ ตามเก๋ง ตามแพทุกเกาะ เพื่อให้พระสงฆ์เจริญอาหาร
ครั้นการก่อสร้างทุกอย่างสำเร็จลง ก็โปรดให้มีการรื่นเริงที่สวนขวานี้ในเวลาบ่ายของทุกวัน พร้อมกันนั้นก็โปรดให้เจ้านายฝ่ายหน้าของพระองค์ กับขุนนางที่คุ้นเคยในพระองค์เข้าไปเฝ้าในเก๋งอยู่เนืองๆ ส่วนในเวลานักขัตฤกษ์ ก็พระราชทานให้ราษฎรผู้หญิงเข้าไปดูได้ตามสบายไม่หวงห้าม การแต่งเก๋งนั้นปีหนึ่งๆ ก็แต่งครั้งหนึ่งหรือ ๒ ครั้ง แล้วเสด็จประพาสไปหลายวัน ชาวต่างประเทศและหัวเมืองใหญ่น้อยที่เข้ามาเฝ้า ก็โปรดให้เจ้าพนักงานพาเข้าไปชมความงดงามของสวนขวาที่สร้างขึ้นในรัชกาลนี้ จนเป็นที่สรรเสริญพระเกียรติยศเลื่องลือไปในนานาประเทศ ดังปรากฏใน “ร่างตราเมืองเวียงจันทน์” เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๓ ดังนี้

ร่างตราเมืองเวียงจันทน์
“ให้พระราชทานอย่างสระอย่างเก๋ง สิ่งของขึ้นไปให้เจ้าเวียงจันทน์ ณ ปีเถาะ เอกศก ศักราช ๑๑๘๑
หนังสือเจ้าพระยาจักรีมาเถิงเจ้าเวียงจันทน์ ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ให้ขุดสระและปลูกพระที่นั่งทำเก๋งในพระราชวัง เป็นที่ทรงประพาสสบายพระทัย และซึ่งเจ้าเวียงจันทน์ได้ลงไปช่วยทำการขุดสระครั้งก่อนนั้น เห็นยังคับแคบอยู่ บัดนี้ให้ขยายกำแพงพระราชวังด้านใต้ออกไปอีก จึงให้ขุดสระประจบสระเก่าต่อลงไป โดยยาวและกว้างรังวัดได้ ๓ เส้น ๔ วา กว้าง ๒ เส้น ๘ วา ทรงพระราชดำริเทียบที่เป็นเกาะใหญ่เกาะเล็ก ลงเขื่อนกรุอิฐ ทำพระที่นั่งเก๋งจีนอละตึกอย่างฝรั่งขึ้นอีกเป็นอันมาก หว่างเก๋งหว่างตึกนั้นให้ปลูกต้นไม้มีดอกมีผล เอนชายออกไปตามขอบสระร่มแสงแดด ให้เอาศิลาแท่งใหญ่เล็กมาทำเป็นมอเป็นแหลมและหาดปิดบังรื้อเขื่อนเสียสิ้น ในท้องสระนั้นปูด้วยอิฐใหญ่ให้น้ำใสสะอาด ปลูกบัวหลวงบัวเผื่อนที่ชายแหลมชายหาดทุกแห่งแล้วเลี้ยงปลาสารพัน เวลาเช้าเวลาเย็นเสด็จอก ณ พระที่นั่งเก๋ง โปรยข้าวตอกบ้าง เสด็จ ณ พระแท่นศิลาใต้ร่มต้นไม้บ้าง ทรงโปรยข้าวตอกพระราชทานปลาทั้งปวง ทอดพระเนตรนกโนรี สัตวา แขกเต้ากระตั้ว ซึ่งแขวนไว้ที่กิ่งไม้ นกเป็ดน้ำ นกคับแค ลอยเล่นล่องอยู่ อันนกนอกว่านี้ก็เลี้ยงปล่อย เลี้ยงแขวนไว้ในพระราชวัง ทั้งนี้เพื่อจะให้พระวงศานุวงศ์ฝ่ายในเป็นที่ประพาสเล่น ด้วยมิได้ไปเห็นภูเขาและธารน้ำแห่งใด แล้วจะได้ดูสติปัญญาข้าราชการซึ่งเป็นช่างไม้ข้างจะไว้ฝีมือ ช่างจำหลัก ช่างเขียน ช่างปั้น ช่างปูน ช่างปากไม้ ช่างต้นไม้ไทยจีน ให้เป็นพระเกียรติยศปรากฏไปในแผ่นดิน แล้วก็เป็นพระราชกุศลอยู่อย่างหนึ่ง ครั้งเถิงเทศกาลผลไม้ชุกชุม ก็ทรงพระราชศรัทธา ให้อาราธนาพระราชาคณะเข้าไปรับพระราชทานฉันในพระที่นั่งเก๋งตามขอบสระ พระราชาคณะก็รับพระราชทานฉันปิยจังหันได้มากกว่าฉันที่อื่น เพราะได้ดูฝีมือช่างซึ่งทำไว้นั้น และโปรดให้พระเจ้าลูกเธอหลานเธอและข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยที่สนิทๆ เข้าไปพายเรือเล่นเที่ยวชมเล่น พระราชทานเลี้ยงดูดังนี้เนืองๆ ถ้าเทศกาลตรุษสงกรานต์ เข้าพระวษาสารท ออกพระวษา วันวิสาขบูชา เพ็ญเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ ก็ทรงพระราชศรัทธา ให้เชิญพระพุทธรูปแก้วผลึก และพระบรมสาริกธาตุไปสถิตไว้ในพระที่นั่งเก๋งคงคาสวรรค์ กระทำการสมโภชพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ภรรยาข้าทูลละอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อยเข้าไปร้องสักระวาดอกสร้อย มโหรีเพลงครึ่งท่อนมอญทะแย สรรพการมหรสพต่างๆ ให้แต่งเก๋งตั้งเครื่องแล้วแขวนโคมแก้วโคมแพรหลายอย่าง ตามสักการบูชาพระบรมธาตุครั้งละสามคืนบ้างสี่คืนบ้าง และเมื่อเพ็ญเดือน ๑๒ ปีเถาะเอกศกนี้ พระยานครลำปาง พระยาน่าน ลงไปเฝ้าทูลละอองฯ ณ กรุงเทพฯ ก็โปรดให้พาบุตรภรรยาเข้าไปเที่ยวชมพระที่นั่งเก๋ง ซึ่งตกแต่งและการมหรสพสมโภชสิ้นทุกคืน ถ้าเทศกาลแต่งเก๋งและเลี้ยงดูข้าทูลละอองฯ ครั้งใด ก็มีพระราชหฤทัยคิดถึงเจ้าเวียงจันทน์ทุกครั้ง ด้วยมิได้ลงไปเห็น จึงโปรดให้ถ่ายอย่างเป็นแผนที่สระที่เก๋งเก่าใหม่พระราชทานขึ้นมาให้เจ้าเวียงจันทน์ดูพอเป็นสำเนาพลาง ถ้าเจ้าเวียงจันทน์ว่างราชการเมืองเมื่อใด จะลงไปเฝ้าทูลละอองฯ ณ กรุงเทพฯ ก็ให้พาบุตรภรรยา มโหรีละคร กับให้หาพายและนกเขาครมลงไปด้วย จะได้เล่นตามสบายใจ อันเป็นเรือสำหรับพายเล่นและกิ่งไม้ที่น่าแขวนนกนั้นมีอยู่เป็นอันมาก
หนังสือมา ณ วันศุกร์ เดือน ๒ ขึ้นค่ำ ๒ จุลศักราช ๑๑๘๑ ปีเถาะ เอกศก
วันศุกร์ เดือน ๒ ขึ้นค่ำ ๑ ได้ส่งตรานี้ให้เจ้าราชบุตร แต่งให้ท้าวเพี้ยถือขึ้นไปส่งให้เพี้ยเมืองกลางแล้ว”

สวนขวาในรัชกาลที่ ๓
พระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวด้านศิลปะนั้น ทรงสนพระทัยไปในด้านสถาปัตยกรรมและการตกแต่งองค์ประกอบในงานสถาปัตยกรรมมากกว่าศิลปะสาขาอื่นๆ เห็นได้จากทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามในกรุงเทพฯ ธนบุรี เป็นจำนวนมากถึงกว่า ๖๐ วัด นอกจากนั้นก็ยังทรงสนพระทัยในสาขาประติมากรรม เช่น การหล่อพระพุทธรูปเพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในวัดต่างๆ หรือพระพุทธรูปที่ทรงอุทิศถวายสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในรัชกาลก่อน เป็นต้น แต่ในด้านศิลปะแขนงอื่นๆ โดยเฉพาะการละครและการละเล่นอื่นๆ นั้น ดูจะไม่เป็นที่โปรดปรานเสียเลย ถึงกับไม่ทรงสนับสนุนให้มีการแสดงละครภายในพระบรมมหาราชวัง ด้วยเหตุนี้การรื่นเริงที่เคยมีใน “สวนขวา” ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้ยุติลง แต่กลับทรงพระราศรัทธาที่จะรื้อเก๋ง รื้อแพ รื้อพระที่นั่ง รื้อเขาก่อที่พระองค์เองโปรดให้ขนศิลาเข้ามาจากตำบลปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อก่อเขาดังกล่าว และอาคารอื่นๆ อีกเป็นอันมากในสวนขวา แล้วนำไปสร้างถวายในพระอารามเสียจนหมดสิ้น ส่วนศิลาที่นำมาก่อเขาในสวนขวานั้น ก็โปรดให้ลากขนไปประดับในพระอารามหลวงจนหมดสิ้น ทั้งนี้เพื่อ-ถวายเป็นพระราชกุศลในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งถ้าจะเปรียบกับสามัญชนก็เหมือนรื้อบ้านของผู้ตายไปถวายวัดเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตายนั้นเอง
อย่างไรก็ตามการรื้อถอนดังกล่าวนั้นตราบจนสิ้นรัชกาลก็ยังไม่แล้วเสร็จ ยังเหลือพระที่นั่งที่ประทับ กับพระที่นั่งเย็น อ่างแก้ว และโรงมหาสภาหรือโรงละคร กับซุ้มประตูทางเข้า ๓ แห่งทางด้านที่ต่อกับหมู่พระมหามณเฑียรตรงถนนทรงบาตร ซึ่งซุ้มประตูทั้ง ๓ แห่งนี้ ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

สวนขวาในรัชกาลที่ ๔
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ พระองค์ทรงเห็นความจำเป็นในการที่จะต้องติดต่อกับประเทศทางตะวันตก ทั้งในด้านความสัมพันธ์ที่มีต่อกันทั้งในการค้าขาย การรับศิลปวิทยาการสมัยใหม่ การหัดทหารและการซื้อหาอาวุธแบบตะวันตกเพื่อป้องกันประเทศ รวมทั้งการสื่อสารทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน และการเอาตัวรอดจากการแสวงหาอาณานิคมของประเทศตะวันตก ดังนั้นพระองค์จึงมีพระราชประสงค์จะสร้างพระที่นั่งที่ประทับขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่จะทรงเผชิญต่อไปดังที่กล่าวแล้ว

สถานที่ตั้งของพระราชมณเฑียรองค์ใหม่
เมื่อวิเคราะห์จากแผนที่ของพระบรมมหาราชวังแล้วจะพบว่า สถานที่ตั้งของพระราชมณเฑียรองค์ใหม่ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น “สวนขวา” ที่ถูกทิ้งร้างไปในรัชกาลที่ ๓ นั้นเป็นสถานที่ที่เหมาะที่สุด ทั้งนี้เนื่องด้วยบริเวณนี้เคยเป็นพระราชอุทยานที่ประพาสของสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระที่นั่ง ๓ หลังในสมัยรัชกาลที่ ๒ ที่เคยมีในพระราชอุทยานก็เป็นเพียงที่ประทับชั่วคราวเมื่อเสด็จประพาส ไม่ใช่พระที่นั่งสำคัญเช่นหมู่พระมหามณเฑียร ประกอบกับอุทยานนี้ถูกทิ้งร้างและรื้อถอนไปเป็นส่วนใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่เคยเป็นสระใหญ่น้อย เคยก่อเขา แต่งเก๋ง แต่งแพ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของสวนขวา เกิดเป็นที่ว่างที่จะสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้นได้ นอกจากนั้นพระราชอุทยานนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระราชวัง มีกำแพงและประตูพระราชวังติดกับถนนสนามไชย ถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่จะมีทางเสด็จพระราชดำเนินสู่ภายนอกได้โดยไม่ต้องผ่านหมู่พระมหามณเฑียรที่สร้างขึ้นแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ด้วยเหตุนี้จึงวิเคราะห์ได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกสถานที่สร้างพระราชมณเฑียรในสวนขวา ด้วยเหตุผลที่กล่าวแล้ว
อย่างไรก็ดีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงติดขัดในพื้นที่สวนขวาด้วยสาเหตุหลายประการ ประการแรก เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชศรัทธาดำรัสว่าจะรื้อทั้งอาคารและสิ่งก่อสร้างในสวนขวาไปถวายพระอารามบ้าง หรือไปสร้างพระอารามใหม่บ้าง แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ครั้นมาถึงรัชกาลของพระองค์จะรื้อถอนต่อไปตามพระราชดำริของรัชกาลที่ ๓ ก็เกรงว่าจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่ทรงสร้างสวนขวาแห่งนี้ เพราะจะไม่มีอาคารใดๆ ในพระราชวังที่สร้างขึ้นในรัชกาลของพระองค์เหลืออยู่เลย ประการต่อมาทรงเห็นว่า การรื้อแล้วไปสร้างใหม่ถวายวัดนั้น เทพยดาที่สิงสถิตอยู่ในพระที่นั่งนั้นๆ อาจจะไม่เห็นชอบด้วย จึงบันดาลให้รั้งรอเรื่อยมา ครั้นจะลงมือรื้อต่อไปก็จะเกิดเหตุเป็นไปต่างๆ จึงน่าที่จะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่มากกว่า แต่เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกพระโอษฐ์ที่จะถวายอาคารและสิ่งก่อสร้างดังกล่าวแด่พระพุทธศาสนา เป็นพระราชอุทิศฉลองพระคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาและแก้ไขปฏิสังขรณ์อาคารที่เหลือขึ้นใหม่ แล้วขนานนามว่า “พระพุทธมหามณเฑียร” พร้อมกับสร้างอาคารอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อประดิษฐานพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปฉลองพระองค์ และพระพุทธรูปที่สำคัญอื่นๆ ในรัชกาลที่ ๒ ไว้เป็นที่นมัสการในพระราชวัง แล้วกั้นกำแพงกึ่งหนึ่งของสวนขวาให้เป็นสัดส่วน คล้ายกับเป็น “วัดในวัง” เช่นเดียวกันกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ขนานนามว่า “พระพุทธนิเวศน์” อุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถ ส่วนพื้นที่ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธนิเวศน์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่หมู่หนึ่ง พระราชทานนามเรียกบริเวณรวมทั้งหมดว่า “พระอภิเนาว์นิเวศน์”

สิ่งก่อสร้างในพระพุทธนิเวศน์
สิ่งก่อสร้างในพระพุทธนิเวศน์มีทั้งส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่มาถึงรัชกาลนี้ ได้แก่ พระราชมณเฑียรที่ประทับของรัชกาลที่ ๒ เพียงหมู่เดียวซึ่งประกอบด้วยพระที่นั่ง ๓ องค์ ส่วนพระที่นั่งอย่างฝรั่ง ป้อมริมน้ำ ป้อมสูงสำหรับทอดพระเนตรการแข่งเรือและทอดพระเนตรไปรอบๆ พระราชอุทยาน เก๋งใหญ่ ที่เสวย ๓ เก๋ง ล้วนถูกรื้อถอนไปหมดสิ้น ด้วยเหตุที่มีพระราชประสงค์ให้เป็น “วัดในวัง” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สร้างอาคารขึ้นใหม่หลายหลัง ประกอบด้วยพระพุทธรัตนสถาน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน์จักพรรดิพิมลมณีมัย (พระแก้วขาว) ที่สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงได้รับมาจากนครจำปาศักดิ์ พระที่นั่วมหิศรปราสาท เป็นปราสาทประกอบเครื่องยอด เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกนาถที่ไม่เคยทรงสร้างปราสาทขึ้นเลยในรัชกาลของพระองค์ และเก๋งจีนแฝดลักษณะเป็นแบบจีนแท้ เพื่อให้สัมพันธ์กับประตูทางเข้าสวนขวาซึ่งเป็นประตูแบบจีนแท้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้คงจะเป็นการชี้ให้เห็นว่าในรัชกาลของสมเด็จพระบรมชนกนาถได้มีความสัมพันธ์ด้านการค้ากับจีน จนเป็นที่มาของสวนที่ได้รับอิทธิพลจีนและรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนในสวนขวาแห่งนี้ รายละเอียดของการบูรณปฏิสังขรณ์และการสร้างใหม่มีดังนี้
พระราชมณเฑียรที่ประทับของรัชกาลที่ ๒ หรือพระพุทธมณเฑียร ๓ หลัง พระองค์โปรดให้เขียนฝาผนังเป็นลายรดน้ำเรื่องปฐมสมโพธิ์ กลางพระที่นั่งประดิษฐานพระเจดีย์กะไหล่ทองสูง ๗ ศอก มุขเหนือเป็นที่ประกอบพิธีสงฆ์ มุขใต้ตั้งพระพุทธสิหิงค์น้อยที่ทรงสร้างใหม่
แต่เนื่องด้วยพระที่นั่งองค์นี้ได้ถูกทิ้งร้างมาตลอดรัชกาลที่ ๓ เมื่อมาบูรณะในรัชกาลที่ ๔ งานตกแต่งในรายละเอียดทำได้ช้ามาก มาเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ ๕ ก่อนทรงผนวชประมาณปี พ.ศ.๒๔๑๖ ต่อมาเนื่องด้วยโครงสร้างพระที่นั่งเป็นโครงไม้ จึงชำรุดผุพังไปตามกาลเวลา เสาขาดที่คอดิน ภายในเสาเป็นโพรง จึงต้องรื้อลงในที่สุด

พระพุทธรัตนสถาน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระวิหารขึ้นหลังหนึ่ง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้มาจากนครจำปาศักดิ์ แล้วทรงตกแต่งองค์พระพุทธรูปด้วยเครื่ององอันวิจิตร ประดิษฐานไว้ในหอพระสุราลัยพิมานในหมู่พระมหามณเฑียรของรัชกาลที่ ๑ เมื่อการก่อสร้างพระวิหารหลังใหม่สำเร็จลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานที่พระวิหารหลังนี้ พระราชทานนามว่า “พระพุทธรัตนสถาน” พร้อมกับให้ช่างทำเครื่องประดับองค์พระพุทธรูปเสียใหม่ให้งดงามยิ่งขึ้นด้วยเพชรพลอยอันมีค่าทั้งที่องค์พระพุทธรูปและที่ฐาน ให้มีฉัตรกลางและซ้ายขวาเป็นเครื่องตกแต่งเพิ่มขึ้นด้วย หลังจากนั้นโปรดให้มีการฉลองที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถวายพระนามว่า “พระพุทธบุษยรัตน์จักพรรดิพิมลมณีมัย” พร้อมทั้งเวียนเทียนสมโภช วันรุ่งขึ้นมีการฉลองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วทรงอุทิศถวายสิริราชสมบัติแด่พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย ๓ วัน และการพระศาสนาอื่นๆ อีกมาก รวมทั้งมีการรื่นเริงและดอกไม้ไฟครบถ้วนถึง ๔ วัน ๔ คืน
นอกจากพระพุทธรัตนสถานแล้ว ยังมีอาคารประกอบอีก ๓ หลัง คือ หอระฆังและศาลาที่พัก ๒ หลัง โดยหอระฆังมีหลังคาเป็นทรงมณฑป ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสลับสี และตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกันกับพระพุทธรัตนสถาน ส่วนศาลาที่พัก ๒ หลังมีรูปแบบไทยประเพณี ตั้งอยู่คู่กันเป็นการเน้นทางเข้าพร้อมทั้งตั้งเสาศิลาแบบจีนไว้คู่กันข้างละคู่ ซึ่งอาคารทั้ง ๓ หลังนี้ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ส่วนด้านข้างซ้ายและขวาของพระพุทธรัตนสถาน โปรดให้ทำเป็นอ่างแก้วความยาวเสมอพระวิหาร ความกว้างเสมอทิศเหนือและทิศใต้ของพระพุทธมหามณเฑียร อ่างแก้วนี้มีความสูงประมาณ ๓ ศอก ก่อด้วยอิฐ ข้างเหนือเป็นสระกรุด้วยดีบุก นั่งร้านหุ้มด้วยดีบุก ก่อเขาบนนั่งร้านเป็นเกาะเล็กเกาะน้อย ขังน้ำเสมอเชิงเขาข้างหนึ่งเป็นเขา บนบกมีพื้นแผ่นดินและซอกห้วยชายเขา ข้างใต้เป็นทะเลทำนองแผนที่ในพระราชอาณาจักรสยาม เป็นที่น่าเสียดายว่าอ่างแก้วที่กล่าวถึงนี้ไม่ปรากฏหลักฐานเหลืออยู่ในปัจจุบัน

พระที่นั่งมหิศรปราสาท
ตั้งอยู่ด้านหลังของพระมหามณเฑียร ๓ หลังในแนวแกนเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระที่นั่งประกอบเครื่องยอดขึ้นองค์หนึ่งบนกำแพงที่กั้นระหว่างหมู่พระมหามณเฑียรในรัชกาลที่ ๑ กับสวนขวา เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทั้งนี้เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมิได้ทรงสร้างปราสาทขึ้นเลยในรัชกาลของพระองค์ พระราชทานนามพระที่นั่งองค์นี่ว่า “พระที่นั่งมหิศรปราสาท” เป็นที่ประดิษฐานพระปฏิมากรรูปต่างๆ และหอพระไตรปิฎกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสถาปนาไว้

เก๋งจีนแฝด
นอกจากพระมหามณเฑียร ๓ องค์ พระพุทธรัตนสถาน และพระที่นั่งมหิศรปราสาทแล้ว ยังโปรดให้สร้างเก๋งจีนแผดขึ้นที่ด้านสกัดของพระพุทธรัตนสถานข้างละ ๑ หลัง หลังด้านใต้เป็นที่อยู่ของพนักงานเฝ้าพระพุทธมณเฑียร หลังด้านเหนือว่างไม่ได้ใช้สอย
ส่วนที่นอกกำแพงแก้วของพระพุทธมณเฑียรด้านทิศตะวันออก โปรดให้ทำสวน ปลูกไม้ดอกที่ได้พันธุ์มาจากต่างประเทศ ที่ในสวนขวานั้นโปรดให้สร้างปราสาทหลังเล็กๆ ขึ้นองค์หนึ่ง ประดิษฐานเทวรูปแก้วผลึกสูง ๑๕ นิ้ว ทรงอุทิศเป็นเทพารักษ์สำหรับพระราชวังชั้นใน นอกจากนั้นยังมีโรงช้างอีก ๔ โรง ตั้งอยู่นอกเขตพระพุทธนิเวศน์ ริมกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันออก ให้เป็นที่อยู่ของช้างสำคัญที่มาสู่พระบารมีในรัชกาลที่ ๒ ในฐานะที่รัชกาลของพระองค์มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีมากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศอีกประการหนึ่งด้วย
จะเห็นได้ว่า สิ่งก่อสร้างในพระพุทธนิเวศน์ทั้งหมดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ก็ดี สร้างขึ้นใหม่ก็ดี ล้วนอุทิศและถวายเป็นพระราชกุศลและเป็นการเฉลิมพระเกียรติในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถทั้งสิ้น

พระราชกิจที่สำคัญในพระพุทธมณเฑียร
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับที่พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชมณเฑียรที่สร้างใหม่แล้ว พระองค์โปรดให้มีกิจกรรมที่สำคัญในพระพุทธมณเฑียรทุกวันอุโบสถศีล ตามที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์ ความว่า โปรดให้เจ้านายและข้าราชการฝ่ายในมาประชุมสวดมนต์แล้วฟังพระธรรมเทศนาทุกวันพระที่พระพุทธมณเฑียร โดยพระองค์เองเสด็จประทับพระเก้าอี้ ทรงนำสวดมนต์และพระราชทานและพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ในวันดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระภูษาสีแสดแดงย้อมด้วยฝาง เพื่อให้ต้องตามพระวินัย และทรงฉลองพระองค์อย่างครุย เย็บด้วยผ้าขาวเนื้อนุ่ม ทรงสะพักพระกรข้างขวาของฉลองพระองค์ขึ้นพระพาหาซ้าย ดังเราเห็นกันอยู่ในพระบรมฉายาลักษณ์ที่เรียกว่า “ทรงศีล” ในเวลาต่อมา
เจ้านายทุกพระองค์ที่เสด็จไปในงานวันธรรมสวนะนี้ต้องทรงภูษาย้อมฝางตามเสด็จด้วย แต่บางพระองค์ไม่ทรงภูษาย้อมฝาง ก็ทรงภูษาสีแดงคล้ายย้อมด้วยฝางแทน จึงเป็นประเพณีสืบมาอย่างหนึ่งตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ที่เจ้านายจะทรงพระภูษาสีแดงเมื่อเข้าไปฟังธรรมในวันอุโบสถศีล การทรงศีลและการพระราชทานพระธรรมเทศนาดังกล่าวต้องเลิกไป เมื่อมีพระราชกิจด้านต่างประเทศมากขึ้น
สาเหตุที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในวันธรรมสวนะดังกล่าวนี้ เนื่องด้วยเมื่อทรงผนวชและอยู่ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ทุกวันอุโบสถศีลพระองค์จะเสด็จลงโบสถ์และประทานพระธรรมเทศนาเป็นกิจวัตรเสมอมา ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ พระองค์จะทรงรู้สึกขาดกิจวัตรที่ทรงเคยปฏิบัติมาขณะทรงผนวช และคงจะต้องการให้เจ้านายและข้าราชการฝ่ายในได้เข้าถึงพระพุทธศาสนาดังที่พระองค์ได้เคยปฏิบัติมา จึงโปรดให้มีพระธรรมเทศนาดังกล่าวโดยพระองค์พระราชทานด้วยพระองค์เอง

พระสยามเทวาธิราช
ณ พระอภิเนาว์นิเวศน์แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภว่า ประเทศไทยได้เคยผ่านความยุ่งยากจากการล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตกมาหลายครั้ง แต่ก็สามารถแก้ปัญหาจนสามารถเอาตัวรอดมาได้ทุกครั้ง ชะรอยจะมีเทพยดาองค์ใดองค์หนึ่งคอยพิทักษ์รักษาอยู่ พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะได้รูปของเทพยดาองค์นั้นไว้บูชา จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า รับราชการในกรมช่างสิบหมู่ ปั้นหล่อองค์สมมติของเทพยดาองค์นั้นขึ้น ทำด้วยทองคำทั้งองค์
ลักษณะเป็นเทวรูปยืนทรงเครื่องต้น พระหัตถ์ขวานั้นทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายอกเสมอพระอุระในท่าประทานพร ขนาดสูงประมาณ ๘ นิ้ว เมื่อเสร็จแล้วถวายนามว่า “พระสยามเทวาธิราช” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสักการบูชาทุกเช้าค่ำ
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า สมควรให้มีพระราชพิธีสังเวยเทวดาในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ อันเป็นวันปีใหม่ทางจันทรคติของไทย ซึ่งเป็นงานใหญ่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสยามเทวาธิราชพร้อมด้วยเทวรูปและเจว็ดมุกในหอแก้วที่ถือว่าเป็นศาลเจว็ดพระภูมิในวังออกไปตั้งที่บุษบกมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แล้วจัดโต๊ะจีน ๓ โต๊ะเป็นเครื่องสังเวย เมื่อเสด็จแล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีละครสมโภช (ซึ่งประเพณีสังเวยและสมโภชในเวลาดังกล่าวก็ยังปฏิบัติกันมาจนทุกวันนี้ เป็นแต่เพียงเปลี่ยนแปลงสถานที่เป็นเขตพระราชฐานชั้นใน)
ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระพุทธนิเวศน์และพระอภิเนาว์นิเวศน์ทั้งหมด คงเหลือไว้แต่พระที่นั่งบางหลังที่กล่าวแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ โดยทำเป็นลับแลกั้นบังพระทวารเทวราชมเหศวรอันเป็นทางเสด็จออกไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ
บนลับแลดังกล่าว ตั้งพระวิมานขึ้น ๓องค์ องค์กลางประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช องค์ตะวันตกประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ องค์ตะวันออกประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรและพรอุมา เบื้องหน้าพระวิมานตั้งเครื่องบูชาแบบจีนบนโต๊ะที่คลุมผ้าปักแบบจีนด้วย ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อครั้งสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ.๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลขาธิการพระราชวังอัญเชิญพระสยามเทวาธิราชออกมาตั้งบนมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชาด้วย

***************************************


































 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 28 ธันวาคม 2552 22:34:47 น.
Counter : 5759 Pageviews.  

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการดนตรี



ความสุขของปวงประชา คือความสุขของพระมหากษัตริย์ นี่คือลักษณะพิเศษของกำเนิดและพระราชประวัติด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผลแห่งพระปรีชาสามารถด้านดนตรี หาใช่ความไพเราะของทำนองเพลงและคำร้องของบทเพลงพระราชนิพนธ์เท่านั้นไม่ แต่เป็นศิลปะแห่งการผสานความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างพระมหากษัตริย์พระองค์นี้กับประชาชนชาวไทยด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระมหากรุณารับสั่งเบื้องหลังการพระราชนิพนธ์เพลงเป็นครั้งแรกแก่สมาคมดนตรี เนื่องในโอกาสที่พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ “Echo” บรรเลง เป็นปฐมฤกษ์ ว่า
“(เพลงแรกคือแสงเทียน) … จากนั้นฉันก็แต่งขึ้นอีกเรื่อยๆ จนบัดนี้รวมทั้งหมด 40 เพลง ในระยะเวลา 20 ปี คิดเฉลี่ยปีละ 2 เพลง ที่ทำได้ก็เพราะได้รับความสนับสนุนจากนักดนตรี นักเพลงและนักร้อง รวมทั้งประชาชนผู้ฟังต่างได้แสดงความพอใจและความนิยมพอสมควร จึงเป็นกำลังใจแก่ฉันเรื่อยมา ขอถือโอกาสขอบใจมาในที่นี้ด้วย”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง "Echo" ในปี พ.ศ.2509 ยับเป็นบทแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงพร้อมคำร้องภาษาอังกฤษขณะนั้นพระชนมพรรษา 40 พรรษา
ย้อนหลังไป 4 ปีก่อน ทรงพระราชนิพนธ์ "Echo" พระราชอัจฉริยภาพด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ปรากฏก้องในนานาประเทศ ขณะที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสาธารณรัฐออสเตรียอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ.2507 สถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา (Die Akademie fur Musik und Darstellende Kunst in Wien) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งอันทรงเกียรติสูงส่งยิ่งนั้นคือ สมาชิกกิตติมศักดิ์ของสถาบันอันเก่าแก่แห่งนี้ เนื่องจากพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์ดนตรีเป็นที่ปรากฏและนิยมชื่นชมอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนชาวออสเตรีย จนกระทั่งวงดุริยางค์ นีเดอร์ เออสเตอร์ไรซ์ โทนคุนสท์เลอร์ (Nieder Osterreich Tonkunstler) ได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ชุด "มโนราห์", "สายฝน", "ยามเย็น", "มาร์ชราชนาวิกโยธิน" และ"มาร์ชราชวัลลภ" ออกกระจายเสียงทางสถานีวิทยุของรัฐบาลถ่ายทอดไปทั่วดินแดนแห่งดนตรีคลาสสิกอันเลื่องชื่อของทวีปยุโรป
และหากจะย้อนหลังไปอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.2503 เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา พระปรีชาสามารถด้านดนตรีแจ๊สในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ปรากฏเลื่องลือไปทั่วประเทศอันเป็นศูนย์กลางดนตรีร่วมสมัยประเภทนี้อ้วย ทรงเข้าร่วมบรรเลงดนตรีโดยมิได้เตรียมพระองค์มาก่อน ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงขึ้นอย่างฉับพลัน และยังทรงบรรเลงโต้ตอบกับนักดนตรีแจ๊สชาวอเมริกันลือนามอีกด้วย บรรยากาศอันเป็นกันเองที่มิได้เตรียมการล่วงหน้าเช่นนี้เป็นที่นิยมยกย่องของชาวอเมริกันเป็นอย่างยิ่ง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งอเมริกา ได้เชิญบทที่พระราชทานสัมภาษณ์พิเศษเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งดนตรีที่ทรงร่วมบรรเลงออกกระจายเสียงทางสถานีวิทยุไปทั่วโลกด้วย นับเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการกระชับมิตรภาพครั้งสำคัญครั้งแรกระหว่างไทยกับสหรัฐในยุคนั้น
40 ปีได้ผ่านไปหลังจากที่ทรงพระราชนิพนธ์ "แสงเทียน" เป็นเพลงแรกในปี พ.ศ.2489 ปัจจุบันมีเพลงพระราชนิพนธ์รวมทั้งสิ้น 43 เพลง อาจกล่าวได้ว่าบทเพลงพระราชนิพนธ์ต่างๆ ได้กลายเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย อาทิเช่น ในวงการบันเทิง บทเพลงพระราชนิพนธ์ คือ ทำนองเพลงอันไพเราะที่ทุกคนรู้จักดีและสามารถร้องได้ขึ้นใจ ปัจจุบันนี้ "พรปีใหม่" ได้กลายเป็น เพลงประเพณีในวันส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ของคนไทย ในสถาบันการศึกษาระดับสูงของประเทศ "มหาจุฬาลงกรณ์", "ธรรมศาสตร์" และ "เกษตรศาสตร์" ได้กลายเป็นเพลงอันทรงเกียรติประจำมหาวิทยาลัยอันเก่าแก่ทั้งสามแห่งนี้ และในวงราชการทหาร "มาร์ชราชวัลลภ" และ"มาร์ชธงชัยเฉลิมพล" ได้กลายเป็นแบบฉบับของดนตรีมาร์ชที่ใช้บรรเลงประจำปีในพิธีอันสำคัญยิ่งของชาติคือ พิธีปฏิญาณตนและตรวจพลสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
จากลักษณะพิเศษต่างๆ ของเพลงพระราชนิพนธ์นี้ อาจกล่าวได้ว่าบทพระราชนิพนธ์ 43 เพลงนั้น ต่างสะท้อนถึงพระราชประวัติตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ตลอดจนพระราชกรณียกิจนานัปการที่ได้ทรงปฏิบัติตั้งแต่เสด็จเสวยราชสมบัติ เป็นพยานแห่งความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและประชาชนชาวไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นเครื่องยืนยันว่า ความสุขปวงชนคือความสุขของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้
ความสนพระราชหฤทัยด้านดนตรี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมพระราชหฤทัยดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ทรงอ่านหนังสือเกี่ยวกับการดนตรีตั้งแต่ยังทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงได้รับการฝึกฝนตามแบบฉบับการศึกษาวิชาดนตรีอย่างแท้จริง คือการเขียนโน้ตและบรรเลงแบบคลาสสิค มีพระอาจารย์ถวายคำแนะนำอย่างเข้มงวดนานกว่า 2 ปี หลังจากทรงฝักหัดดนตรีขั้นพื้นฐานได้นานพอสมควรแล้ว จึงเริ่มสนพระราชหฤทัยทรงดนตรีไปในแนวแจ๊ส (Jazz) ทรงศึกษาประวัตินักดนตรีที่มีชื่อเสียง ทรงเปรียบเทียบฝีมือการเล่นดนตรีต่างๆ จากแผ่นเสียงที่บรรเลงโดยนักดนตรีเหล่านั้น แล้วจึงทรงบรรเลงสอดแทรกพร้อมกับแผ่นเสียงของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงตามสไตล์ที่โปรด เช่น สไตล์การเป่าโซปราโน แซกโซโฟน ของซิดนี่ เบเซ่ (Sydney Bechet) ออโตแซ็กโซโฟน ของจอห์นนี่ ฮอดเจส (Johnny Hodges) เปียโนและวงดนตรีของดยุค เอลลิงตัน (Duke Ellington) เป็นต้น
ยามที่ทรงว่างจากการศึกษาก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรดานักเรียนไทยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไปร่วมสโมสรสังสรรค์ ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา และร่วมทรงดนตรีด้วยอย่างสำราญพระราชหฤทัย เมื่อเสด็จฯ ประทับที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงปารีสเป็นการส่วนพระองค์ ก็ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณทรงดนตรีร่วมกับนักเรียนไทย ที่กำลังศึกษาอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส
การที่ทรงใช้ดนตรีวงสมัครเล่นเป็นสื่อสร้างบรรยากาศและความสัมพันธ์ที่สนุกสนาน และเป็นกันเองเช่นนี้ ได้กลายเป็นผลประโยชน์เอนกอนันต์ในเวลาต่อมา คือการประสานความร่วมมือระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กับบุคคลในวงการต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์งานสาธารณประโยชน์นานาประการแก่ประเทศชาติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรีเป็นพิเศษเครื่องดนตรีที่โปรด คือ เครื่องเป่าแทบทุกชนิด เช่น แซกโซโฟน คลาริเน็ต และทรัมเปต ทั้งยังทรงกีตาร์และเปียโนได้อีกด้วย นอกจากทรงเล่นดนตรีร่วมกับวงดนตรีได้ทุกวงทั้งไทยและเทศ ทรงเข้าบรรเลงร่วมกับวงดนตรีนั้นๆ ได้ ไม่ว่าวงดนตรีนั้นจะมีแนวการเล่นแบบใด สำหรับวงดนตรีแจ๊สนั้น ยังทรงได้ทั้งชนิดที่มีโน้ตและไม่ต้องมีโน้ต เมื่อถึงต้องเดี่ยว (Solo) ทรงสามารถใช้ปฏิภาณเล่นเดี่ยวได้อย่างยอดเยี่ยม ศัพท์ทางดนตรีเรียกว่าการเดี่ยวแบบ “Solo adlib” ซึ่งถือว่ายาก เพราะนักดนตรีจะต้องแต่งเนื้อหาขึ้นใหม่โดยฉับพลัน แต่ให้อยู่ในกรอบจังหวะและแนวเพลงนั้น พระราชอัจฉริยภาพทางดนตรีนันถึงขั้นทรงคลาริเน็ตและแซกโซโฟนบรรเลงได้อย่างคล่องแคล่ว และสามารถบรรเลงโต้ตอบได้อย่างครื้นเครงกับนักดนตรีต่างๆ ที่มีชื่อเสียงของโลก เช่น เบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) แจ็ก ทีการ์เด้น (Jack Teagarden) นักตีระนาดเหล็ก ไลออเนล แฮมพ์ตัน (Lionel Hampton) นักเป่าทรอมโบนและสแตน เก็ตส์ (Stan Getz) นักเป่าเทนเนอร์แซ็กโซโฟน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนนครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2503 นักดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลกเหล่านั้นล้วนถวายการยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สผู้มีอัจฉริยภาพสูงส่ง
ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทและผู้ที่เคยได้ร่วมเล่นดนตรีกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่าถึงพระอัจฉริยภาพในการพระราชนิพนธ์เพลงว่า ทรงแต่งเพลงได้ทุกแห่ง บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีช่วย ครั้งหนึ่งทรงเกิดแรงบันดาลพระทัยหยิบฉวยซองจดหมายได้ก็ทรงตีเส้น 5 เส้น แล้วทรงเขียนโน้ตทำนองเพลงขึ้น โดยฉับพลัน เช่น “เราสู้” เป็นต้น
กำเนิดวงดนตรีกิตติมศักดิ์ : ลายคราม อ.ส.วันศุกร์ และสหายพัฒนา
ชีวิงลายคราม ต้องไม่แสดงรุ่มร่าม
ชีวิงลายคราม ต้องไม่แสดงรุ่มร่าม
หนึ่งสองสามสี่ อ้าวไม่สี หนึ่งสองสามสี่
อ้าวไม่เป่า ชีวิงลายคราม
ชู่ ชู่ ชู่ ชู่ ชู่ …………………….
“ศุกร์สัญลักษณ์”
ดนตรีประเภทที่โปรดนั้น คือ ดนตรีแจ๊ส ดิ๊กซี่แลนด์ (Dixieland Jazz) ซึ่งเป็นสไตล์ชาวอเมริกันแห่งเมืองนิวออร์ลีน หลัง พ.ศ.2459 (ค.ศ.1916) เป็นแจ๊สที่มีจังหวะตื่นเต้นครึกครื้น และสนุกสนานเร้าใจ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นระบายอารมณ์และความรู้สึกออกมาเป็นทำนองเพลงได้เป็นอย่างเสรี นอกจากนี้ยังตั้งวงได้ง่าย เพราะใช้เครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้นก็สามารถเล่นได้ เหมาะสำหรับนักดนตรีสมัครเล่นที่จะจับกลุ่มตั้งงวขึ้นในหมู่มิตรสหายที่คุ้นเคยได้เป็นอย่างดี วงดนตรีในยุคเริ่มแรกที่ตั้งขึ้นในพระที่นั่งอัมพรสถาน คือ “วงลายคราม” นักดนตรีล้วนเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ ผู้ที่ทรงคุ้นเคยตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ อาทิเช่น หม่อมเจ้าวิมวาทิตย์ รพีพัฒน์ หม่อมเจ้าแววจักร จักรพันธุ์ หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ หม่อมเจ้ากมลสาน ชุมพล หม่อมเจ้าชุมปกบุตร ชุมพล หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ หม่อมราชวงศ์พงศ์อมร กฤดากร หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายสุรเทิน บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ นักร้องก็มีหม่อมเจ้ามูรธาภิเศก โสณกุล และหม่อมเจ้าขจรจบกิติคุณ กิติยากร เป็นต้น การบรรเลง “วงลายคราม” จึงเป็นโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสังสรรค์ในหมู่ผู้ที่ทรงคุ้นเคยอย่างสนุกสนาน สมาชิกท่านหนึ่งเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีน้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ เพราะสมาชิกของวงมิใช่นักดนตรีอาชีพ จึงไม่ชำนาญและมักเล่นดนตรีผิดๆ ถูกๆ เป็นที่ขบขันยิ่งนัก แต่ไม่ทรงเห็นเป็นเรื่องสำคัญ กลับพอพระราชหฤทัยที่จะแนะนำ ทรงทำหน้าที่ “เอาใจ” นักดนตรีสมัครเล่นรุ่น “ลายคราม” เหล่านั้นเป็นที่ครื้นเครงอยู่เสมอ บ่อยครั้งที่ “วงลายคราม” บรรเลงอย่างไม่ยอมหยุด ครั้งหนึ่งที่ประทับอยู่ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน “วงลายคราม” ก็ได้แสดงฝีมือบรรเลงดนตรีตลอดคืน และเมื่อรุ่งอรุณของวันใหม่นักดนตรีก็ลุกขึ้นตั้งแถวบรรเลงเพลงเดินลงชายหาดเพื่อรับลมทะเลและแสงอาทิตย์ ยามเช้าอย่างครึกครื้นเป็นที่สนุกสนานยิ่ง
ระหว่างที่ประทับอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. (อัมพรสถาน) ขึ้นในปี พ.ศ.2495 เพื่อให้เป็นสื่อกลางที่ให้ความบันเทิงและสาระประโยชน์ด้านต่างๆ สำหรับรายการเพลงสากล “วงลายคราม” ได้มีโอกาสไปส่งวิทยุกระจายเสียงร่วมกับวงดนตรีต่างๆ เช่น วงดนตรีเกษตร ซึ่งมีหม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์วง มีนักดนตรีต่างๆ เข้าไปกระจายเสียงเป็นที่สนุกสนาน ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนักดนตรีรุ่นหนุ่มๆ มาเล่นปนกับรุ่นลายคราม ซึ่งเล่นดนตรีไม่ค่อยไหวตามอายุ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดวงดนตรี “อ.ส.วันศุกร์” ขึ้น ปัจจุบันสถานีวิทยุ อ.ส. ได้ย้ายมาตั้งอยู่ในบริเวณสวนจิตรลดา
ลักษณะพิเศษของ “วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์” นี้คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงร่วมบรรเลงกับสมาชิกของวง ออกอากาศกระจายเสียงทรงสถานีวิทยุเป็นประจำทุกวันศุกร์ เป็นการเปิดโอกาสให้พสกนิกรได้ติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ง่ายขึ้น ทรงจัดรายการเพลงและทรงเลือกแผ่นเสียงในระยะแรก บางครั้งก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการขอเพลงด้วยและจะทรงรับโทรศัพท์ด้วยพระองค์เอง ในช่วงเวลาเมื่อ 20 ปีก่อน ขณะที่สถานีโทรทัศน์ยังไม่มีบทบาททางการบันเทิงมากเช่นในปัจจุบันนี้ “วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์” จึงมีส่วนสร้างความรื่นเริงในหมู่ประชาชนผู้สนใจในยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์มหาวาตภัยแหลมตะลุมพุก ได้อาศัยวงดนตรี อ.ส. ประกาศชักชวนประชาชนบริจาคทรัพย์ สิ่งของ ฯลฯ ช่วยผู้ประสบภัย ท้ายสุดจึงกำเนิด “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมถ์”
สมาชิกของวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ได้แก่ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ นายอุทิศ ทินกร หม่อมหลวงเสรี ปราโมช หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช นายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ นายไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ นายเสนอ ศุขบุตร นายเดช ทิวทอง นายถาวร เยาวขันธ์ นายสุวิทย์ อังสวานนท์ นายนนท์ บูรณสมภพ นายกวี อังสวานนท์ นาวาอากาศเอกอภิจิตร สุขกระจันทร์ นายอวบ เหมะรัชตะ ส่วนนักร้อง ได้แก่ คุณหญิงสาวิตรี ศรีวิสารวาจา คุณหญิงจามรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คุณกัญดา ธรรมมงคล ท่านผู้หญิงสุวรี เทพาคำ คุณจีรนันท์ ลัดพลี และคุณพัลลภ สุวรรณมาลิก เป็นต้น
บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ คือ บรรเลงในงาน “วันทรงดนตรี” ตามที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ เพื่อทรงสังสรรค์ร่วมกับนิสิตนักศึกษาเป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งได้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานกว่าสิบปี ในปัจจุบันเมื่อทรงมีพระราชกรณียกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ประเพณีวันทรงดนตรีจึงได้ยกเลิกไป อย่างไรก็ตามได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วงดนตรีจากสถาบันต่างๆ ทั้งราชการและเอกชน รวมทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา หมุนเวียนกันมาบรรเลงดนตรีเป็นประจำ ณ สถานีวิทยุ อ.ส.สวนจิตรลดา ความสนพระราชหฤทัยและพระมหากรุณาธิคุณสนับสนุนทางด้านดนตรีดังกล่าวนี้ มีส่วนสำคัญทำให้หน่วยงานทั้งราชการและเอกชนมีการพัฒนาวงดนตรีของตนให้ดีขึ้น และเป็นการให้กำลังใจแก่นักดนตรีทั้งหลายให้ขยายผลงานแพร่หลายต่อไปด้วย อาทิเช่น ชมรมดนตรี โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งได้เข้ามาบรรเลงเพลงออกอากาศกระจายเสียงเป็นประจำนานกว่า 20 ปีแล้ว บางครั้งก็เสด็จฯ ลงมาทอดพระเนตร และแนะการเล่นดนตรีแก่นักเรียนนายร้อยที่เล่น “เพี้ยน” ด้วยความประหม่าด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่านักดนตรีหนุ่มชาว จ.ป.ร.เหล่านั้นแทบจะไม่ยอมหลับยอมนอน เพื่อซ้อมเพลงพระราชนิพนธ์ที่ง่ายที่สุดให้ดีที่สุด ก่อนที่จะเข้าวังเป็นครั้งแรกในชีวิต ภายหลังปรากฏว่านักดนตรี จ.ป.ร. หลายคนมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ อีก เช่น อดีตหัวหน้าวงผู้หนึ่งได้มาถวายงานในฐานะราชองครักษ์ และสมาชิกอีกหลายท่าน ได้รับพระราชทานยศถึงขั้นพลเอกแห่งกองทัพบก
พระปรีชาสามารถในด้านการเป็น “ครู” นั้นจะเห็นได้จากการที่ทรงตั้งแตรวง “สหายพัฒนา” ในปี พ.ศ.2529 โดยรวบรวมจากผู้ที่ปฏิบัติราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และโดยเสด็จฯ ในการพัฒนาภูมิภาคต่างๆ เป็นประจำ เช่น นักเกษตรหลวง คณะแพทย์ อาสาสมัคร ข้าราชบริพารในพระองค์ ราชองครักษ์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อน แต่หลังจากที่ทรงใช้กลวิธีพิเศษส่วนพระองค์ โดยพระราชทานเวลาฝึกสอนเพียงเล็กน้อย ในช่วงเวลาทรงออกพระกำลังในตอนค่ำของทุกๆ วัน ก็ทรงตั้งแตรวงนี้ขึ้นสำเร็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นสมาชิกสมัครเล่นพระองค์แรก ของวงนี้ แตรวง “สหายพัฒนา” สามารถบรรเลงดนตรีได้ในโอกาสพิเศษต่างๆ นับว่าเป็นประโยชน์ในการช่วยกระชับความสัมพันธ์ในหมู่นักพัฒนาอาสาสมัครของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ดีอีกรูปแบบหนึ่ง
ความสนพระราชหฤทัยที่จะศึกษาและค้นคว้าวิจัยอย่างลึกซึ้งด้านดนตรีจะเห็นได้จากการที่ทรงนำวิธีการบันทึกเสียงสมัยใหม่ที่สามารถบันทึกเสียงได้เป็นช่อง (Sound Track) มาใช้ในการปรับปรุงวิธีการเล่นดนตรี และคุณภาพในการบันทึกเสียงด้วยวิธีการนี้ จึงสามารถทรงเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชิ้นในเพลงเดียวกัน เมื่อบันทึกเสียงเรียบร้อยแล้ว ก็จะทรงเปิดเทปฟังทบทวนอย่างละเอียดเพื่อวิจารณ์การบรรเลงในแต่ละครั้ง พร้อมทั้งแก้ไขและบันทึกเสียงใหม่ให้ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทรงมีความเชี่ยวชาญในเทคนิคการบันทึกเสียง ตลอดจนใช้เครื่องมือกลไกอิเล็คทรอนิคส์อันทันสมัยเกี่ยวกับการดนตรีด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใฝ่พระราชหฤทัยในการทรงดนตรีเป็นกิจวัตร ทรงซ้อมดนตรีเป็นประจำทุกค่ำวันศุกร์และวันอาทิตย์ ร่วมกับนักดนตรีวง อ.ส.วันศุกร์ ณ สถานีวิทยุ อ.ส. และเกือบทุกเย็นกับวงสหายพัฒนา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เครื่องดนตรีทุกชิ้นทรงเก็บรักษาอย่างดี ทรงทำความสะอาดด้วยพระองค์เอง และเมื่อเสียก็มักจะทรงแก้ไขด้วยพระองค์เอง หรือพระราชทานคำแนะนำ และวิธีการแก้แก่นายช่างทหารอากาศที่โปรดเกล้าฯ ให้ปรับแก้ไข
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช รวมเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 43 เพลง ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองแล้วจึงใส่คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง มี 5 เพลง คือ “Echo”, “Still on My Mind”, “Old Fashioned Melody”, “No Moon” และ “Dream Island” นอกจากนี้มี 2 เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นภายหลังใส่ในคำร้อง คือ “ความฝันอันสูงสุด” และ “เราสู้” ผู้ที่โปรดเกล้าฯ ให้แต่งคำร้องประกอบเพลงพระราชนิพนธ์ มีหลายท่านได้แก่ หม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา นายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยะรัตพันธ์) หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค
ในยุคแรก หลังจากที่เพลงพระราชนิพนธ์มีทำนองและคำร้องสมบูรณ์แล้วจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน นำไปบรรเลงในวงดนตรีกรมโฆษณาการ หรือวงสุนทราภรณ์ อันเป็นวงดนตรีที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นตามกาละเทศะอันควร เพื่อให้แพร่หลายทั่วไป ปรากฏว่าหลายเพลงกลายเป็นเพลงยอดนิยมทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ
เพลงพระราชนิพนธ์แต่ละเพลงนั้นล้วนแสดงออกถึงพระมหากรณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังเช่น “ยามเย็น” พระราชทานแก่สมาคมปราบวัณโรค เพื่อนำออกแสดงเก็บเงินบำรุงการกุศล “ใกล้รุ่ง” บรรเลงเป็นปฐมฤกษ์ในงานของสมาคมเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย “ยิ้มสู้” พระราชทานแก่โรงเรียนสอนคนตาบอด “ลมหนาว” พระราชทานในงานประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ “Kinari Suite” พระราชทานเพื่อใช้ประกอบการแสดงระบำบัลเล่ต์ชุดมโนราห์ เพื่อหารายได้สมทบทุนสภากาชาดไทย “พรปีใหม่” พระราชทาน แก่พสกนิกรเนื่องในวันปีใหม่ “เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย”, “ความฝันอันสูงสุด” และ “เราสู้” พระราชทานเก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ นอกจากนี้มีเพลงพระราชทานเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย คือ “มหาจุฬาลงกรณ์”, “ธรรมศาสตร์” และ “เกษตรศาสตร์” และพระราชทานแก่หน่วยงานทหารต่างๆ คือ “ธงชัยเฉลิมพล”, “มาร์ชราชวัลลภ” และ “มาร์ชราชนาวิกโยธิน”
ทำนองเพลงพระราชนิพนธ์
“จุดเทียนบวงสรวงปวงเทพเจ้า
สวดมนต์ค่ำเช้าถึงคราวระทมทน
โอ้ชีวิตหนอล้วนรอความตายทุกคน
หลีกไปไม่พ้นทุกข์ทนอาทรร้อนใจ”
“แสงเทียน”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลง “แสงเทียน” เป็นเพลงแรกในแนวของเพลงบลูส์ ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของดนตรีแจ๊ส นักข่าวชาวอเมริกันได้กราบบังคมทูลว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สจริงหรือไม่ และโปรดดนตรีประเภทใดมากที่สุด มีพระราชดำรัสตอบว่า
“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวคนทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า ดนตรีคือ สิ่งประณีตงดงามและทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาส และอารมณ์ที่ต่างๆ กันไป
เมื่อพูดถึงการเล่นดนตรี ก็ต่างกันอีก ถ้าข้าพเจ้าเล่นเพลงคลาสสิก และมีใครทำเสียงดังอย่างงี้ก็เป็นการรบกวนเพราะว่าดนตรีคลาสสิกต้องเล่นตั้งใจจริงจัง ข้าพเจ้าไม่ได้พักผ่อนเท่าไรนักต้องคอยระวังไม่ให้ผิดโน้ต และไม่ให้มีใครมารบกวนข้าพเจ้า ถ้าหากว่าข้าพเจ้าต้องเล่นเพลงแจ๊ส ก็ดีกว่า เพราะว่าข้าพเจ้าเล่นทำนองได้ตามใจชอบตามที่รู้สึกขณะนั้น ตามแต่อารมณ์และความนึกคิดของข้าพเจ้าจะพาไป ถ้าใครจะมาทำเสียงดังเวลานั้น ข้าพเจ้าก็ถือว่าเป็นเสียงประกอบ และข้าพเจ้าเล่นผิดโน้ตก็เท่ากับว่า ข้าพเจ้าแต่งทำนองนั้นขึ้นเองในปัจจุบัน”
เพลงที่พระราชนิพนธ์ส่วนใหญ่ขณะที่ประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอน์แลนด์ และเมื่อเสด็จฯ นิวัติพระนครใหม่ๆ นั้นเป็นเพลงแนว “บลูส์” (Blues) ซึ่งเป็นสไตล์หนึ่งของดนตรีแจ๊สที่เริ่มเป็นที่นิยมในสหรัฐตั้งแต่ราวปี พ.ศ.2443 (ค.ศ.1900) เสียงโน้ตที่แปร่งหูในแนวบลูส์ และช่วงจังหวะที่ขัดธรรมชาติของเพลงในบางครั้ง ได้สร้างมิติใหม่ ให้แก่วงการเพลงในยุคนั้น ความรู้สึกของการขัดแย้งของเสียงและจังหวะนี่เองที่ทำให้ดนตรีแจ๊สมีรสชาติตื่นเต้นต่างออกไปจากแนวทางดนตรีดั้งเดิมของโลกตะวันตกอาจจะเป็นธรรมชาติที่แท้จริงขิงมนุษย์ที่ต้องการใฝ่หาประสบการณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของชีวิต จึงทำให้เพลงแจ๊สได้รับความนิยมและพัฒนาอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา และสำหรับนักดนตรีบางคนนั้น คุณค่าของดนตรีมิได้อยู่ที่ความไพเราะรื่นหูของจังหวะหรือความอ่อนหวานของท่วงทำนองอย่างเดียว แต่ที่แท้จริงแล้วคือความรู้สึกท้าทายที่เกิดจากเสียง “บลูส์” ที่แปลกใหม่ และจังหวะแจ๊สที่ขัดแย้งเร้าใจ ความขัดแย้ง ในบางครั้งก็อาจเตือนมนุษย์ให้เข้าถึงความจริงของชีวิตได้ เปรียบได้กับความทุกข์ของมนุษย์ที่บางครั้งทำให้ชีวิตมีความหมายอย่างประหลาด เพราะควาทุกข์ชุบชีวิตจิตใจเข้มแข็งและชุบวิญญาณให้แข็งแกร่งมากกว่าความสุขอันผิวเผินและไม่จีรัง เพลงบลูส์ที่รำพันถึงความโศกเศร้าและคับแค้นใจจึงแฝงด้วยคติธรรมของชีวิตจริงอยู่ด้วยเสมอ ดังเช่น บทพระราชนิพนธ์ “ชะตาชีวิต” ทรงพระราชนิพนธ์ขณะที่เสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากที่เสด็จขึ้นครองเสวยราชสมบัติแล้ว ในปี พ.ศ.2489 ทำนองเพลงอันเรียบง่ายที่อาศัยการดำเนินเสียงประสานของคอร์ดบลูส์ จำนวน 12 ห้อง ซึ่งเรียกว่า “Blues Progressions” เป็นหลักสำคัญในการพระราชนิพนธ์เพลงประเภทนี้
นอกจากนี้ยังมีเพลงพระราชนิพนธ์ในช่วงนี้อีก คือ “ดวงใจกับความรัก” และ “อาทิตย์อับแสง” ซึ่งมีลักษณะท่วงทำนองที่ต่างไปจากบลูส์รุ่นแรกๆ คือ ทรงเปลี่ยนทำนองให้ระดับเสียงมีช่วงกว้างขึ้น และทรงพระราชนิพนธ์ให้มีทำนองลีลาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยใส่คำร้องได้อย่าง “น่ารัก” ทำให้เพลงทั้งสองมี “ชีวิตชีวา” เพิ่มขึ้น และแตกต่างจากเพลงไทยสากลยุคเดียวกัน
บทเพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่ทรงมีจินตนาการสร้างทำนองให้แตกต่างกันหลายประเภทได้อย่างไพเราะไม่ซ้ำแบบผู้ใด และการที่เลือกใช้ลีลาที่สง่างามแต่อ่อนโยนของจังหวะวอลทซ์ ทำให้ “สายฝน” ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ลีลาวอลทซ์เพลงแรกติดอันดับเพลงลีลาศยอดนิยมของเมืองไทยในยุคนั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าถึง “ความลับ” ของเพลงสายฝน ดังนี้
“…เมื่อแต่งเป็นเวลา 6 เดือน หม่อมเจ้าจักรพันธุ์ฯ ได้เขียนจดหมายมาถึง บอกว่ามีความปลาบปลื้มอย่างหนึ่ง เพราะท่านไปเชียงใหม่เดินไปตามถนนได้ยินเสียงคนผิวปากเพลงสายฝน ก็เดินตามเสียงไป เข้าไปในตรอกซอยแห่งหนึ่ง ก็เห็นคนกำลังซักผ้าและก็มีความร่าเริงใจ ผิวปากเพลงสายฝนและก็ซักผ้าไปด้วย ก็นับว่าสายฝนนี้มีประสิทธิภาพสูงซักผ้าได้สะอาด… ที่จริงความลับของเพลงมีอย่างหนึ่งคือ เขียนไป 4 ช่วง แล้วก็ช่วงที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เสร็จแล้วเอาช่วงที่ 3 มาแลกช่วงที่ 2 กลับไป ทำให้เพลงนี้มีลีลาต่างกันไป …เป็น 1 3 2 4”
เพลงพระราชนิพนธ์ลีลาวอลทซ์อื่นๆ คือ “เทวาพาคู่ฝัน”, “แก้วตาขวัญใจ”, “เมื่อโสมส่อง”, “ลมหนาว” ,”ค่ำแล้ว” และ “ความฝันอันสูงสุด”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความรู้อย่างแตกฉานในทฤษฎีการประพันธ์ทรงเป็นผู้นำในด้านการประพันธ์ทำนองเพลงสากลของเมืองไทย โดยใส่คอร์ดดนตรีที่แปลกใหม่และซับซ้อน ทำให้เกิดเสียงประสานเข้มข้นในดนตรี เมื่อประกอบกับลีลาจังหวะเต้นรำที่หลากหลาย ทำให้บทพระราชนิพนธ์บรรเลงได้อย่างไพเราะ หลายบทกลายเป็นเพลงอมตะของไทยในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังทรงมีจินตนาการการสร้างสรรค์ไม่ซ้ำแบบผู้ใด และแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา พระราชนิพนธ์ “มหาจุฬาลงกรณ์” ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์บทแรกที่พระราชทานเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยนั้น แสดงถึงพระปรีชาสามารถในจินตนาการการสร้างสรรค์นี้
ก่อนเสด็จฯ นิวัติพระนคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ระบบการประพันธ์แบบสิบสองเสียง (Chromatic Scale) ซึ่งเป็นประเพณีที่นิยมกันทางตะวันตกเพราะถือว่าสามารถสร้างสีสันของเสียงดนตรีได้มากมาย โดยการใส่คอร์ดต่างๆ อย่างสลับซับซ้อน ทำให้เกิดเสียงประสานได้อย่างไพเราะ เมื่อมีผู้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าบทพระราชนิพนธ์แนวสิบสองเสียงซับซ้อนและสามารถจำได้ยาก และมักจะพบในทำนองเพลงพื้นบ้านเป็นการพิสูจน์ว่าแม้ระบบบันไดเสียงที่เรียบง่ายก็อาจประพันธ์ทำนองเพลงให้ไพเราะได้ ทรงเรียบเรียงทำนองเพลงที่จำได้ง่ายแต่มีระเบียบและมีความสมดุลย์กันเป็นอย่างดี ด้วยระบบบันไดเสียงที่เรียบง่ายและด้วยระบบลีลาจังหวะมาร์ชที่หนักแน่น ดังนั้นเมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกราบบังคมทูลขอพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลลัย จึงได้พระราชทานทำนองเพลงนี้ และให้ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ประพันธ์คำร้อง “มหาจุฬาลงกรณ์” จึงเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของชาติ ซึ่งกำเนิดจากพระราชดำริของสมเด็จพระปิยมหาราชองค์สมเด็จพระบรมอัยยิกาธิราช ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
หลังจากที่พระราชทานเพลงประจำมหาวิทยาลัยให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงเพื่อพระราชทานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อมาตามลำดับ ดังปรากฏในพระราชดำรัสดังต่อไปนี้
“…เรื่องเพลงที่แต่งขึ้นใหม่นั้นต้องขอชี้แจงไว้นิด ฟังแล้วอาจตกใจเพราะว่าเพลงที่ประจำมหาวิทยาลัยในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ก็มีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็ของธรรมศาสตร์ ที่ได้ให้ทั้งสองเพลงนั้นกับเพลงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นี้ต้องบอกว่ายาวเท่ากัน ไม่ต้องอิจฉาว่าของเขายาวกว่าหรือสั้นกว่า ยาวเท่ากัน แล้วก็การสร้างเพลงนั้น ก็สร้างในแบบเดียวกัน ไม่ต้องอิจฉาอะไร แล้วก็ถ้าบอกว่าชอบ ถ้าไม่ชอบ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อาจจะแก้ไข อย่างไรก็ตาม แต่ก็มีอย่างหนึ่งคือ เพลงของจุฬาฯ เขาก็บอกว่าเพลงของเขาเพราะที่สุด ถ้าไปถามชาวธรรมศาสตร์ว่าเพลงไหนเพราะที่สุด เขาก็บอกว่าเพลงธรรมศาสตร์ แล้วก็ถ้าถามพวกเกษตรน่ากลัวบอกว่าเพลงเกษตรเพราะกว่า ก็เลยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรนะ แต่ว่าเพลงของจุฬาฯ เขาโอ้อวดว่าสง่าผ่าเผยมาก แล้วก็เพราะมาก ถ้าพูดถึงว่าเพลงธรรมศาสตร์เขาก็บอกว่าองอาจดี เดินก็ได้ จุฬาฯ เขาก็ตอบว่าของเขาก็เดินได้เหมือนกัน เป็นเพลงสำหรับนำแถวได้ เพลงของเกษตรนี้ที่จริงก็ควรจะตัดสินเอาเองว่าเป็นอย่างไร แต่ความคิดส่วนตัวของผู้แต่ง รู้สึกว่าเป็นเพลงที่อ่อนหวาน อ่อนหวานกว่า 2 เพลงโน้น แต่อ่อนหวานนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เข้มแข็ง แต่อ่อนหวานนี่อาจจะมีความหมายได้ว่า ผลิตผลของทางการเกษตรนี่ รวมทั้งผลไม้หรือสิ่งที่บริโภค ถ้ารสหวาน รู้สึกว่าดี เพราะว่าเขานิยมกันอย่างนั้น ข้าวโพดหวานเขาก็ชอบ ก็เลยคิดว่าเพลงหวานไม่เป็นไร แต่ถ้านำไปเดินสำหรับนำแถวก็อาจจะได้เปลี่ยนแปลงไปหน่อย ก็อาจจะเป็นเพลงสำหรับแตรวงก็อาจจะพอได้ แต่ขออย่างเดียว อย่าเดินขบวน…”
“ความฝันอันสูงสุด” อาจกล่าวได้ว่าเป็นบทพระราชนิพนธ์ที่ไพเราะยิ่งบทหนึ่ง มีลักษณะพิเศษคือเป็นเพลงพระราชนิพนธ์บทแรกที่ทรงแต่งทำนองเพลงภายหลังเพื่อใส่บทประพันธ์กลอนแปด ทำนองเพลงพระราชนิพนธ์นี้เสริมให้บทกลอนมีคุณค่า และงดงามประทับใจมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ถึงห้าระดับเสียง การแต่งเพลงไทยจึงเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะจะต้องแต่งให้ได้ท่วงทำนองที่ไพเราะและยังรักษาเนื้อหาที่สำคัญของคำร้องในขณะเดียวกัน ถ้าทำนองและเสียงวรรณยุกต์ไม่ตรงกันจะทำให้เสียงเพี้ยนผิดความหมาย ร้องยากและฟังไม่ชัดเจนอีกด้วย การที่ทรงพระราชนิพนธ์ ทำนองนี้ในระยะหลังขณะที่ทรงมีพระราชกิจมากมายนั้นแสดงถึงพระวิริยะอุตสาหะยิ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกพระราชนิพนธ์เพลงในกุญแจเสียงธรรมชาติ ซึ่งเป็นระดับเสียงพื้นฐาน ทำให้เพลงมีความหนักแน่น ทรงละที่จะใช้เสียงครึ่งตามแนวดนตรีตะวันตก ตามที่ทรงเคยนิยมปฏิบัติ “ความฝันอันสูงสุด” จึงเป็นเพลงพระราชนิพนธ์บทแรกที่มีทำนอง มีเสียงเป็นธรรมชาติแบบไทยๆ ที่กินใจผู้ฟังอีกแบบหนึ่งด้วย นอกจากนี้ทุกช่วงทำนองที่ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับแต่ละวรรคมีทำนองที่แตกต่างและไม่ซ้ำกัน แม้แต่วรรคเดียว การที่ทรงจินตนาการสร้างทำนองเพลงใหม่ขึ้นโดยมิได้ต้องแก้ไขบทประพันธ์เดิมนั้น เป็นเครื่องแสดงถึงพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์
“ความฝันอันสูงสุด” เปิดเสียงดนตรีด้วยโน้ตเสียงซีสูง เป็นความหวังอันสดใสของเพลงนี้
“ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ
ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว
ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ
ขอฝ่าฝันผองภัยด้วยใจทะนง”
ในด้านความสัมพันธ์ของภาษาและเสียงดนรี พระบาทสมเด็จพระเจาอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญต่อลักษณะพิเศษของเสียงวรรณยุกต์ที่มีในภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงเลือกใช้ตัวโน้ตที่มีเวลาตรงกับพยางค์ของคำร้อง ทั้งยังทรงเน้นโน้ตเสียงเพลงให้เหมาะกับเสียงของคำ เช่น คำตายทำให้เสียงดนตรีมีความหมายหนักแน่นขึ้นเป็นพิเศษหรือทรงเลือกตัวโน้ตให้ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ เช่น เสียงจัตวา ที่มีในภาษาไทยอีกด้วย ดังนั้นจึงทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกถึงเอกภาพของคำร้องและทำนองได้อย่างไม่รู้ตัว เอกภาพนี้คือศิลปะสำคัญที่เกิดจากจินตนาการและพรสวรรค์ส่วนพระองค์ อันยากที่จะหาผู้ใดเทียมได้
เป็นที่น่าสังเกตว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกใช้ลีลาจังหวะวอลทซ์สำหรับเพลงที่มีเนื้อหาปลุกใจรักชาติประเภทนี้ แต่ผลปรากฏว่าทำให้เกิดบรรยากาศที่สงบน่ารื่นรมย์ สำหรับผู้ที่มีอุดมคติที่จะบำเพ็ญตน เพื่อสาธารณประโยชน์… เป็นความฝันอันสูงสุด เสียงเพลงพระราชนิพนธ์บทนี้ย่อมเตือนสติแก่ผู้ร้องได้เป็นอย่างดี ในการใช้ปัญญาเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ ด้วยเนื้อหาและทำนองดังกล่าว เพลงพระราชนิพนธ์บทนี้จึงเป็นที่แพร่หลายและกลายเป็นเพลงที่เรียกว่า “เพลงเพื่อชีวิต” ที่สมบูรณ์ยิ่งเพลงหนึ่ง ในยุคที่มีการตื่นตัวในทางสังคมและการเมืองของประเทศ สำหรับนิสิตนักศึกษาที่ทำงานพัฒนาออกค่ายอาสาสมัครของมหาววิทยาลัย และข้าราชการทหาร ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ตามชายแดนนั้น เสียงร้องของเพลงพระราชนิพนธ์ที่ดังกังวานท่ามกลางความมืดที่เงียบสงบ “ความฝันอันสูงสุด” ย่อมมีความหมายลึกซึ้งและซาบซึ้งใจ
องค์บรมราชูปถัมภกด้านดนตรี
นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเป็นศิลปินผู้เพียบพร้อมด้วยพระปรีชาสามารถในการสร้างสรรค์ศิลปะด้านดนตรีแล้ว ยังทรงเป็นองค์บรมราชูปถัมภกทางดนตรีอีกด้วย ทรงส่งเสริมทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล และมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ศิลปินดนตรีอย่างถ้วนหน้า
ทางด้านดนตรีไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าวิชาดนตรีไทยเป็นศิลปะที่สำคัญของชาติ สมควรที่จะรวบรวมเพลงไทยเดิมต่างๆ ไว้มิให้เสื่อมสูญและผันแปรไปจากหลักเดิม โดยมีการบันทึกโน้ตเพลงให้ถูกต้องและจัดพิมพ์ขึ้นไว้เป็นหลักฐาน เพราะในการบันทึกแนวเพลงเป็นโน้ตสากลแต่เดิมนั้น ยังมิได้มีการบันทึกไว้อย่างครบถ้วนและจัดพิมพ์ให้เป็นการสมบูรณ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรนำเรื่องนี้ไปดำเนินการ ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดพิมพ์โน้ตเพลงไทยชุดนี้ เป็นการรักษาศิลปะดนตรีอังสำคัญของไทยไว้มิให้เสื่อมสูญ และยังเป็นการเผยแพร่วิชาการดนตรีของไทยออกไปในหมู่ประชาชนผู้สนใจให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้นอีกด้วย นอกจากนั้นยังทรงริเริ่มให้มีการวิจัยเกี่ยวกับดนตรีไทยในด้านบันไดเสียงของเครื่องดนตรีไทยประเภทต่างๆ เช่น ความแตกต่างระหว่างบันไดเสียงของเครื่องสาย และบันไดเสียงของระนาด ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
นอกจากนี้ทรงริเริ่มให้มีการบรรเลงเพลงไทยเดิมที่เรียบเรียงขึ้นจากเพลงไทยสากลโดยโปรดเกล้าฯ ให้นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นำทำนอง “มหาจุฬาลงกรณ์” มาแต่งให้เป็นแนวไทย นายเทวาประสิทธิ์ได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์นี้มาดัดแปลงเพื่อใช้บรรเลงด้วยปี่พาทย์ถึง 2 ครั้ง ภายหลังจึงปรับปรุงเป็นเพลงโหมโรงในการบรรเลงดนตรีของชมรมดนตรีไทย สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับว่าเป็นเพลงไทยเพลงแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นจากเพลงไทยสากล ตามพระราชดำริในการสร้างสรรค์และส่งเสริมดนตรีไทยและเป็นการแสดงว่าดนตรีไทยสามารถมีวิวัฒนาการไปตามกาลเวลาอย่างไม่หยุดยั้ง
ภาษาดนตรี : สัมพันธไมตรีระหว่างชาติ
“Alexandra
Welcome to thee
Here in this land of sunshine and of flowers.
May ye be blessed by the blessing
That has made our country happy”
“Alexandra”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภว่า ดนตรีเป็นภาษาสากลที่สามารถขจัดอุปสรรคทางภาษา วัย ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมที่ต่างกัน เพราะภาษาดนตรีสามารถสื่อความหมายให้ทุกคนเข้าใจอย่างเดียวกันได้ ดนตรีจึงเป็นสื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกันแม้ว่าเป็นคนละชาติ คนละภาษา หรือต่างศาสนา ด้วยเหตุนี้จึงทรงใช้ดนตรีเป็นสื่อในการเชื่อมความเข้าใจและความสัมพันธ์ทางความรู้สึกที่แน่นแฟ้นลึกซึ้งระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และนักศึกษา โดยที่เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ไปทรงดนตรี ณ มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเป็นโอกาสที่จะทรงมีพระราชปฏิสันถารกับบรรดานิสิตนักศึกษาอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง ในระดับชาตินั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประสบความสำเร็จในการใช้ดนตรีเป็นภาษาสากลช่วยเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างประเทศได้อย่างงดงาม ดังเห็นได้จากการที่เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ใน ปี พ.ศ.2503 ได้เสด็จฯ ไปเสวยพระกระยาหารค่ำ ณ วอชิงตันเพลส ซึ่งรัฐบาลจัดถวาย ทางฝ่ายเจ้าภาพเมื่อได้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปรีชาสามารถพิเศษด้านดนตรี จึงได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ให้ทรงร่วมบรรเลงดนตรีที่จัดมาแสดงถวายหน้าพระที่นั่งโดยเตรียมเครื่องดนตรีคลาริเน็ตไว้ถวายให้ทรงเล่นด้วย หลังจากที่ทรงได้รับการ “คะยั้นคะยอหนักขึ้น” จากทั้งเจ้าภาพ นักดนตรี และผู้ร่วมงาน พร้อมกับเสียงตบมือไม่หยุด จึงทรงรับเชิญขึ้นไปทรงเล่นดนตรีพระราชทาน 2 เพลง แม้ว่าจะไม่ได้เตรียมพระองค์มาก่อน เหตุการณ์นี้เป็นที่ประทับใจแก่ผู้ร่วมงานในวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะชาวอเมริกันชอบ “ความเป็นกันเอง” เช่นนี้มาก และเมื่อเสด็จฯ ต่อไปยังนครนิวยอร์ค ก็ได้เสด็จฯ ไปทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีของนายเบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) นักดนตรีฝีมือเยี่ยมระดับโลกด้วย
เมื่อคราวเสด็จฯ เยือนประเทศฟิลิปปินส์ ในปี พ.ศ.2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ร่วมทรงดนตรีกับสมาชิกวุฒิสภาของฟิลิปปินส์ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงมะนิลา พระปรีชาสามารถในครั้งนั้นสร้างความประทับใจแก่ชาวฟิลิปปินส์เป็นการช่วยกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งกำเนิดของนักดนตรีที่สำคัญและคีตกวีเอกของโลก ได้ยกย่องพระปรีชาสามารถด้านการดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะ คือ เมื่อครั้งที่เสด็จฯ เยือนประเทศสาธารณรัฐออสเตรีย อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม พ.ศ.2507 วงดุริยางค์ซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งกรุงเวียนนาได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ชุด “มโนราห์”, “สายฝน”, “ยามเย็น”, “มาร์ชราชนาวิกโยธิน” และ “มาร์ชราชวัลลภ” ไปบรรเลง ณ คอนเสิร์ตฮอลล์ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2507 พร้อมกันนี้สถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลออสเตรียได้ส่งกระจายเสียงเพลงและเสนอข่าวนี้ไปทั่วประเทศ หลังจากนั้นอีก 2 วัน คือ วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2507 สถาบันดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนาได้ถวายพระเกียรติให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติศักดิ์หมายเลขที่ 21 ดังปรากฏพระปรมาภิไธยจารึกบนแผ่นหินอ่อน ของสถาบันอันเก่าแก่ของยุโรปแห่งนี้ ประธานสถาบันดังกล่าวได้สดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็นผู้สร้างสัมพันธ์อันดียิ่งระหว่างดนตรีตะวันออกและดนตรีตะวันตก และทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยพระปรีชาสามารถนับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์แห่งทวีปเอเชีย ทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ณ ศูนย์กลางแห่งการดนตรีในทวีปยุโรป ทรงเป็นชาวเอเชียพระองค์แรกที่ทรงได้รับการถวายพระเกียรติให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ขณะที่ทรงมีชนมพรรษาเพียง 37 พรรษา พสกนิกรชาวไทยทุกคนไม่เพียงแต่ชื่นชมในพระเกียรติยศ ทางดนตรีที่ทรงได้รับจากนานาประเทศนั้น แต่ยังความภาคภูมิใจในความสำเร็จของการเสด็จพระราชดำเนินกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศด้วย
อัครศิลปิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราโชวาทว่า “การดนตรีเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่สามารถก่อให้เกิดความปีติ ความสุข ความยินดี ความพอใจได้มากที่สุด หน้าที่ของนักดนตรีนั้นคือ ทำให้ผู้ฟังเกิดความพอใจ ความครึกครื้น ความอดทน ความขยัน มีความเข้มแข็งและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ นอกจากจะสร้างความบันเทิงแล้ว ควรแสดงในสิ่งที่จะเป็นทางสร้างสรรค์ เช่น ชักนำให้คนเป็นคนดีด้วย” และมีพระราชกระแสย้ำว่า
“ฉะนั้น การดนตรีจึงมีความสำคัญสำหรับประเทศชาติสำหรับสังคม ถ้าทำดีๆ ก็ทำให้คนเขามีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานก็เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ให้ความบันเทิง ทำให้คนที่กำลังท้อใจมีกำลังใจขึ้นมา คือเร้าใจได้ คนกำลังไปทางหนึ่ง ทางที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจดึงให้กลับมาในทางที่ถูกต้องได้ ฉะนั้นดนตรีนี้ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งจึงพูดได้กับท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการดนตรีในรูปการณ์ต่างๆ ว่ามีความสำคัญและต้องทำให้ถูกต้อง ต้องทำให้ดี ทั้งถูกต้องในทางหลักวิชาการดนตรีอย่างหนึ่งและก็ถูกต้องตามหลักวิชาการของผู้ที่มีศีลมีธรรมมีความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะทำให้เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวมทั้งส่วนตัว เพราะก็อย่างที่กล่าวว่าเพลงนั้นมันเกิดความปีติในของตัวเองได้ ความปีติในผู้อื่นได้ ก็เกิดความดีได้เกิดความเสียก็ได้ ฉะนั้นก็ต้องมีความระมัดระวังให้ดี”
พระบรมราโชวาทดังกล่าวเป็นการส่งเสริมนักดนตรีให้ช่วยกันจรรโลงสังคมด้วยผลงานในเสียงดนตรี สร้างสรรค์งานศิลปะให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย
พระราชอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนับว่าเป็นเอนกอนันต์ ทั้งในด้านวิชาการ การดนตรี การพระราชนิพนธ์ การส่งเสริมและการอุปถัมภ์ด้านดนตรี ทั้งนี้ด้วยทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ้งและถ่องแท้ในศาสตร์แห่งศิลปะการดนตรีที่สร้างความดีงามและความคิดสร้างสรรค์ อันเป็นประโยชน์นานัปการ แก่สังคมและประชาชนชาวไทยโดยส่วนรวมอย่างเต็มเปี่ยม สมดังที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” โดยแท้

ธรรมจักร พรหมพ้วย / เรียบเรียงจาก
หนังสือการประกวดการบรรเลงดนตรีแจ๊สเฉลิมพระเกียรติ ครั้งที่ 1
เนื่องในมหามงคลวโรกาสปีกาญจนาภาเษก
จัดทำโดย ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ




 

Create Date : 12 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 29 พฤษภาคม 2550 17:46:18 น.
Counter : 1882 Pageviews.  

พระนางเธอลักษมีลาวัณ


เรียบเรียงจากหนังสือ “พระประวัติพระนางเธอลักษมีลาวัณ มเหสีสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” โดย ชัยมงคล อุดมทรัพย์ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙

พระราชสวามีเสด็จสวรรคต
ในปี พ.ศ.๒๔๖๘ พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงมีพระชนม์มายุได้ ๒๖ พรรษา ในปีนั้นเอง ถัดจากคล้ายวันประสูติของพระนางเธอฯ เพียง ๔ เดือน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต
พระนางเธอลักษมีลาวัณ มิได้ทรงมีพระราชบุตรและพระราชธิดา (พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่งคือ พระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี (ประไพ สุจริตกุล) ปัจจุบันนี้ทรงประทับอยู่วังคลองบางกอกใหญ่ ธนบุรี ทรงประธานกรรมการบริษัท อินทรสถาปัตย์ จำกัด ซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาเป็นพระราชินี มีพระราชบุตร และพระราชธิดาแต่สิ้นพระชนม์ (แท้ง) รวม ๓ พระองค์)
เมื่อพ้นชีวิต “นางใน” แล้ว พระนางเธอลักษมีลาวัณก็ทรงอยู่ในฐานะพระราชวงศ์ ทรงดำรงพระชนม์ชีพด้วยเงินจากพระราชมรดก และเงินปีในฐานะพระราชวงศ์ ทรงมีการประพันธ์เป็นงานอดิเรก และทรงใช้พระนามว่า “ปัทมะ” “วรรณพิมล” พระนางเธอฯ ทรงพระนิพนธ์นวนิยายหลายเรื่อง เช่น “ชีวิตหนาม” “รักที่ถูกรังแก” “ยั่วรัก” “โชคเชื่อมชีวิต” “เรือนใจที่ไร้ค่า” “ภัยรักของจันจลา” “เสื่อมเสียงสาป” นามปากกา “ปัทมะ” นั้น ใช้เฉพาะเรื่องแปล
พระนางเธอลักษมีลาวัณ มีพระนิสัยถือพระองค์ ทรงมีความมานะและเชื่อในความสามารถของพระองค์ ทรงมั่นในพระปัญญา ทรงกล้าในสิ่งทั้งปวง ดังนั้น เฉพาะในด้านทางนาฏกรรม ได้ทรงตั้งคณะละครขึ้นคณะหนึ่ง ชื่อว่า “ปรีดาลัย” เป็นการสืบสนองพระบิดา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้ทรงปฏิวัติการแสดงละครสมัยนั้น ให้ผู้แสดงเป็นชายจริงหญิงแท้ มีเพลงร้องทำนองไทยและสากล ใช้ดนตรีเครื่องฝรั่งวงใหญ่มีผู้เล่น ๔๐ คน ประกอบ มีเบิกโรงการแสดงด้วยฉากระบำฟากฟ้า เป็นฉากนำและต่อด้วยเรื่อง “พระอาลัสะนัม” อันเป็นพระนิพนธ์ของพระบิดา (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) เริ่มแสดงครั้งแรกที่ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๗ และในปีต่อมา พ.ศ.๒๔๗๘ แล้วมาแสดงโรงมหรสพนครเขษม เรื่องละครต่างๆ ที่แสดงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ทรงเองบ้าง และพระนิพนธ์ของ น.ม.ส. หลายเรื่อง อาทิเช่น “ศรีธนญชัย” และพระนิพนธ์เรื่องสั้นของหม่อมเจ้าต่อ ทองแถม ทรงใช้นามปากกาว่า “คันธาลีมาส” และของหม่อมเจ้าศิวากร วรวรรณ กับอีกบางท่าน ต่อมาภายหลังเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ ได้ร่วมกับ บริษัท สหศินิมา จำกัด แสดงที่ศาลาเฉลิมกรุง ครั้งสุดท้ายแสดงที่ศาลาเฉลิมนคร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘-๒๔๘๙ นอกจากที่โรงมหรสพดังกล่าวแล้ว ยังทรงช่วยราชการเก็บเงินให้แก่กองทัพเรือ และในงานฉลองรัฐธรรมนูญอีกหลายคราว ในระยะหลังนี้ ได้รงพักผ่อนพระอิริยาบถโดยเสด็จฯ ประพาสยุโรป ละครปรีดาลัยจึงเป็นอันสิ้นสุดแต่เพียงนี้
การแสดงละครของคณะปรีดาลัย ได้ทรงฝึกซ้อมด้วยพระองค์ในทุกบทบาท การฝึกซ้อมมิใช่รับสั่งแต่พระโอษฐ์เท่านั้น ถ้ายังแสดงมิถูกตามพระประสงค์ในบทบาทใดก็ทรงแสดงให้ดูเป็นตัวอย่าง จนตัวละครเข้าใจ แสดงได้ถูกต้องโดยเฉพาะการแสดงระบำ ก็ทรงประดิษฐ์ท่าระบำบางชุดให้กลมกลืนกับเพลงสากลได้อย่างดงาม ในระยะตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๗ ถึง พ.ศ.๒๔๘๙ นั้น นับได้ว่าทรงสร้างศิลปินเป็นจำนวนร้อย และศิลปินบางคนก็ยังมีชื่อเสียงอยู่จนทุกวันนี้ แม้ต่อมาในเวลาหลังนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานละครได้มาเฝ้าหรือขอประทานข้อแนะนำในการละครเพื่อแสดงตามสมาคมและโรงเรียน ตลอดจนขอประทานบทละครมาดัดแปลงแสดงทางโทรทัศน์หลายเรื่อง
ศิลปินในคณะละคร “ปรีดาลัย” ครั้งนั้นมี “มารุต” ประวัติ ผิวเผือก หรือทัต เอกทัต, จอก ดอกจันทน์, จุไร เกษมสุวรรณ ฯลฯ โดยพระนางเธอฯ ได้ทรงควบคุมละครอยู่หลายเรื่องในระยะนั้น ส่วนเวลาว่างต่อมาพระนางเธอฯ ก็ทรงฝักใฝ่อยู่ในกิจวัตรทางพุทธศาสนา และทรงพระนิพนธ์นวนิยายลงนิตยสารต่างๆ ตลอดมา ในระหว่างนั้นพระนางเธอฯ ได้เสด็จฯ ไปยุโรป เพื่อทอดพระเนตรพิธีราชาภิเษกพระเจ้ายอร์ชที่ ๖ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อเสด็จกลับจากยุโรปแล้ว ก็เสด็จประทับ ณ วังที่ซอยพระนางจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น จึงทรงย้ายไปประทับที่ตำหนักริมคลองแสนแสบ ตำหนักใหม่นี้เป็นบังกะโลชั้นเดียว ทาสีต่างๆ ที่ริม หมายถึงคำว่า “วรวรรณ” และมีรูปลูกเต๋าสามลูก หมายถึง ๓ รัชกาล มีต้นไม้ดอกอันมีความหมายปลูก เช่น ฟอร์เก็ตมีน๊อต พุทธรักษา บานไม่รู้โรย

ฉลองพระชนมายุ
ในระยะหลังไม่เกิน ๑๐ ปีมานี้ พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงมีพระอารมณ์หงุดหงิดง่าย อาจเนื่องด้วยทรงพระชราเข้าเขตเปลี่ยนวัย แต่ยังทรงช่างตรัสเล่าเรื่องต่างๆ ประทานผู้ที่ไปเฝ้าเสมอ ในบางครั้งทรงเล่าถึง “เคราะห์ร้ายต่างๆ” ที่ย่างกรายเข้ามาสู่วิถีพระชนม์ชีพ และสิ่งเหล่านี้ได้ทรงบรรยายไว้เป็นคำกลอน ซึ่งพิมพ์แจก ในวันฉลองพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ มีความว่า
ตัวคนเดียวโดดเดี่ยวอยู่เปล่าเปลี่ยว
ไม่มีบ่าวโจษจันฉันกริ้วแหว
ขืนมีบ่าวเข้ามามันตอแย
ยั่วยุแหย่ยุ่งขโมยโอยรำคาญ
บ้างเข้ามาทำท่าเป็นบ้างั่ง
เรียกจะสั่งทำใดไม่ขอขาน
สั่งอย่างโง้นอย่างงี้เลี่ยงลี้งาน
ใช่ฉันพาลเป็นดังนี้ทุกวี่วัน
พอไล่มาใหม่อยู่ไม่ช้า
แรกทำดีเด่นเป็นขยัน
พอใช้เพลินไม่เกินสิบห้าวัน
คนขยันโกงยับเห็นกับตา
เบื่อเต็มทนเบื่อคนสุดทนสู้
เลยยอมอยู่ผู้เดียวเลิกเที่ยวหา
มีคนใช้ประสาทเสียเพลียอุรา
เราว่าข่มเหงเพลงทารุณ...

พระนางเธอฯ ยังทรงพระนิพนธ์ เป็นคำกลอนบรรยายถึงความระทมขมขื่นพระทัยไว้ว่า

ฉันไม่บ้าแม้ใครมาว่าฉัน
ก็ผู้นั้นแหละบ้าจึงว่าเขา
เราไม่บ้าใครมาว่าเรา
มันก็เข้าคนที่ว่าเป็นบ้าเอย

และยังทรงบรรยายถึงความรุ่งโรจน์และมีความอับเฉาของพระชนม์ชีพในอดีตและปัจจุบันไว้ว่า

อนาถหนอโลกนี้ชีวิตมนุษย์
ยามสาวสุดสูงเด่นเป็นดวงแข
ยามชราเอือมระอาคนรังแก
ช่างไม่แน่เหมือนดังคาดเดา...

ในยามสนุกสนานนั่นแหละมี
คนพวกผียังผอมตอมล้นหลาม
พออิ่มอ้วนล้วนหลีกปลีกตัวตาม
ยิ่งในยามยากเย็นไม่เห็นคน...

ที่ตำหนักสุดซอยพร้อมพงศ์ พระนางเธอฯ ทรงดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวปราศจากผู้รับใช้หรือแม้แต่ข้าหลวง พระนางเธอฯ ทรงมีรายได้ปีละหมื่นสองพันบาท คือเงินในฐานะพระราชวงศ์ปีละสี่พันบาท และเงินปีจากพินัยกรรมรัชกาลที่ ๖ อีกปีละแปดพันบาท พระนางเธอฯ ทรงทำทุกอย่างด้วยพระองค์เอง ทรงใช้เวลาว่างให้หมดไปในการประพันธ์นิยายต่างๆ บางครั้งก็ทรงนิพนธ์โคลงสี่สุภาพ ดังได้ทรงบรรยายไว้ว่า

แสนเพลินเพียรฝึกเฝ้า ประพันธ์
ลืมโลกโศกสุขสันต์ ส่างเศร้า
เพลินใดไปเทียมมัน เทียมที่
พจน์ผูกถูกลักษณ์เค้า ปลาบปลื้มยินดี

รับพระราชทานมรดก
โชคชะตาชีวิตของพระนางเธอฯ ค่อยแจ่มใสขึ้นเมื่อทรงได้รับพระราชทานมรดกจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปลายปี พ.ศ.๒๕๐๓ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงให้จับสลากจัดแบ่งพระราชทรัพย์อันเกี่ยวแก่ “เครื่องเพชร” ทั้งหมด (ยังไม่เกี่ยวแก่ที่ดิน) เป็นพระราชทานมรดกตกทอดรวม ๕ ฝ่าย คือ
๑. สมเด็จฯ เจ้าฟ้าเพ็ชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี
๒. พระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี
๓. พระนางเธอลักษมีลาวัณ
๔. พระนางเจ้าสุวัทนา
๕. คุณพระสุจริตสุดา
ซึ่ง “เครื่องเพชร” พระราชมรดกมีมูลค่าหลายสิบล้านบาท พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงได้รับเครื่องเพชรจำนวนหนึ่ง ตามส่วนที่ทรงจับสลากได้ จากนั้นจึงได้ทรงปรับปรุงพื้นที่หัวมุมถนนสี่แยกพญาไท ตรงข้ามสถานทูตอินเดีย ให้เป็นที่ประทับ ชื่อ “พระตำหลักลักษมีวิลาศ” และได้ทรงประทับอยู่จนวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๔ อันเป็นวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ

อวสานแห่งพระชนม์ชีพ
พระจริยวัตรของพระนางเธอลักษมีลาวัณอาจมีส่วนที่ก่อให้เกิดเหตุฆาตกรรมในครั้งนั้น เนื่องจากไม่มีพระประยูรญาติมาดูแล และอาจจะเป็นเพราะด้วยพระนางเธอฯ ในวาระแห่งวัยชรานี้ ทรงมีพระอารมณ์หงุดหงิดง่าย ใครเข้าพระพักตร์ไม่ใคร่จะได้ พระประยูรญาติจึงมีใครสามารถทนอยู่ถวายปรนนิบัติได้ ประกอบกับพระนางเธอฯ ปรารถนาจะประทับโดยสันโดษ ทรงโปรดความวิเวก เพื่อประโยชน์ในการทรงงานประพันธ์
ในการพอพระทัยแบบสันโดษนี้เอง ได้เคยมีพระประยูรญาติที่หวังดี เตือนพระสติว่าไม่เป็นการปลอดภัยและเสี่ยงต่อภยันตรายยิ่งนัก แต่ทุกองค์ที่หวังดีกลับได้รับสั่งจากพระนางเธอฯ ว่า “ก็ให้มันรู้ไป ใครจะมาทำพระนางเธอลักษมีลาวัณ บ้านก็อยู่ใกล้กรมทหาร ติดถนนใกล้โรงพักอย่างนี้” พระนางเธอฯ ทรงกล้าหาญเด็ดเดี่ยวไม่ทรงกลัว จึงยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คนร้ายวางแผนชิงพระราชมรดกนับล้านได้
สำหรับพระราชทรัพย์อันมีค่านั้น พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงได้รับการแบ่งสรรจากพระราชมรดกในรัชกาลที่ ๖ มีมูลค่ากว่า ๓ ล้านกว่าบาทมีพระสังวาลเพชร และเพชรน้ำหนึ่งขนาดหัวแม่มือนับร้อย พระประยูรญาติที่เคยใกล้ชิดได้ยืนยันชัดเจนว่า ทรงนำมาดัดแปลงเป็นพระมงกุฎครอบพระเศียรเพชร ๒ แถวโดยรอบและยังเหลือทำสร้อยพระศออีกส่วนหนึ่ง
พระนางเธอลักษมีลาวัณ มีพระชนม์มายุได้ ๖๒ พรรษา สิ้นพระชนม์เนื่องจากถูกคนร้ายลอบปลงพระชนม์เพื่อชิงพระราชทรัพย์อันล้ำค่าไป เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๔ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ พระตำหนักลักษมีวิลาศ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระขนิษฐาในวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๔ เวลา ๑๕.๓๐ น. หลังสิ้นพระชนม์แล้ว ๔ วัน ยังความเศร้าสลดพระทัยยิ่งนัก และได้ทรงแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพญาไท เพื่อติดตามหาคนร้ายต่อไป

พิธีพระราชทานเพลิงพระศพพระนางเธอลักษมีลาวัณ
เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ ในการที่พระบาทสมเด็จพระเต้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ในการบำเพ็ญพระราชกุศลและเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงพระศพพระนางเธอลักษมีลาวัณ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ดังหมายกำหนดการต่อไปนี้

วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๔ เวลา ๑๖ นาฬิกา๓๐ นาที ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคลเสด็จฯ แทนพระองค์ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศล พระราชทานพระศพพระนางเธอลักษมีลาวัณ ณ ศาลามรุพงศ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม พระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง พระสงฆ์ ๔ รูป สวดธรรมคาถา แล้วทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ ทรงทอดผ้า พระสงฆ์ทั้งนั้นสดัปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ทรงทอดผ้า พระสงฆ์อีก ๒๐ รูปสดัปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก แล้วทรงจุดธูปเทียนที่เตียงพระอภิธรรม วันนี้แต่งเครื่องแบบครึ่งยศไว้ทุกข์
วันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๔ เวลา ๑๓ นาฬิกา เจ้าพนักงานเชิญพระโกศพระศพพระนางเธอลักษมีลาวัณ จากศาลามรุพงศ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม ไปยังสุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส โดยเข้าทางประตูด้านใต้ ตั้งกระบวนพระอิศริยยศแห่พระศพเวียนพระเมรุ แล้วเชิญพระโกศพระศพประดิษฐานเหนือพระจิตกาธาน
เวลา ๑๗ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ ๒๐ รูปสดัปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพพระนางเธอลักษมีลาวัณ เจ้าพนักงานประโคมสังข์ แตร กลองชนะ พระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ คณะรัฐมนตรี คณะทูตและข้าราชการ ถวายพระเพลิงต่อไป แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ วันนี้แต่งเครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายจุลจอมเกล้า ไว้ทุกข์
วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๔ เวลา ๗ นาฬิกา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เป็นองค์ประธาน ในการเก็บพระอัฐิ และถวายภัตตาหารสามหาบ แล้วอัญเชิญพระอัฐิไปประดิษฐานที่หอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง วันนี้แต่งเครื่องแบบปกติขาวไว้ทุกข์

การสิ้นพระชนม์ของพระนางเธอลักษมีลาวัณ
เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๔ เวลา ๑๕.๓๐ น. พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี ทรงได้รับโทรศัพท์แจ้งจากนางสาวแน่งน้อย แย้มศิริ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แผนกบัญชีปีที่ ๓ ซึ่งมีบ้านพักในจังหวัดธนบุรี และได้เคยถวายงานเป็นข้าในพระนางเธอลักษมีลาวัณ ในพระตำหนักลักษมีวิลาศ ว่าน่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในพระตำหนัก เนื่องจากได้ไปกดออดเรียก และโทรศัพท์เข้าไปแต่ไม่มีผู้รับสาย
เมื่อเสด็จในกรมฯ ทรงทราบจึงเสด็จโดยรถยนต์ส่วนพระองค์มายังพระตำหนักลักษมีวิลาศ สี่แยกพญาไทโดยรีบด่วน มีนายสุขะ ศิริสัง เป็นผู้ขับรถ ปรากฏว่าบนพระตำหนักเงียบวังเวงดูปราศจากผู้คนอาศัยอยู่ ด้วยความร้อนพระทัยจึงได้เสด็จขึ้นไปชั้นบนพระตำหนักเพื่อตามหาพระนางเธอฯ พระขนิษฐาต่างพระมารดา เสด็จในกรมฯ ทรงพระวิตกว่าพระนางเธอฯ จะได้รับอันตราย จึงทรงตรวจค้นห้องพระบรรทม พบเครื่องฉลองพระองค์และพระราชทรัพย์ถูกรื้อกระจาย แล้วจึงเสด็จลงมาตรวจบริเวณพระตำหนักอย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมเปล่งพระสุรเสียงเรียกพระนางเธอฯ ตลอดเวลา แต่ก็ไม่มีเสียงขานรับอย่างใด
เสด็จในกรมฯ ไม่ทรงพบใครอยู่ภายในพระตำหนักทั้งสิ้นทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ทรงได้กลิ่นเน่าเหม็น จึงเสด็จดำเนินไปถึงโรงรถบริเวณหลังพระตำหนัก เมื่อเสด็จถึงถึงกับทรงตะลึง เพราะปรากฏว่าบริเวณข้างโรงรถถัดจากสวนดอกไม้และกำแพง ที่อีกด้านหนึ่งเป็นเรือนพักคนรับใช้นั้น ทรงพบพระศพของพระนางเธอ ในสภาพเน่าอืด แล้วจึงทรงเร่งมาแจ้ง ร.ต.อ.สนั่น นาประดิษฐ์ นายร้อยเวรสถานีตำรวจพญาไท เพื่อให้ชันสูตรพลอกพระศพโดยด่วน จากนั้น พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ รองอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.ท.ประจวบ กีรติบุตร ผู้บัญชาการตำรวจนรคบาล และคณะ จึงรุดไปยังที่เกิดเหตุ ป็นเวลาเดียวกับที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤติยากรและชายา เสด็จพร้อมด้วยพระประยูรญาติมาเคารพพระศพด้วยความเสียพระทัย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เริ่มลงมือชันสูตรพระศพซึ่งเริ่มส่งกลิ่น พบว่าที่พระวรกายบริเวณพระอุระพบบาดแผลฉกรรจ์คล้ายถูกแทงอย่างโหดเหี้ยม ๔ แผล ที่พระศออีกแผลหนึ่ง ที่พระเศียรด้านหลังนั้นถูกตีจนน่วมมีพระโลหิตไหล สิ้นพระชนม์บนพื้นคอนกรีต เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าสิ้นพระชนม์มาแล้วไม่ต่ำกว่า ๓ วัน แล้วจึงส่งพระศพไปยังแผนกนิติเวช เพื่อชันสูตรอักชั้นหนึ่ง
จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ตรวจหาร่องรอย ภายในพระตำหนักอย่างละเอียด พบกรรไกรเปื้อนครอบโลหิตตกอยู่กลางห้องพระบรรทม เงินส่วนพระราชสมบัติหายไปโดยไม่ทิ้งไว้แม้จนบาทเดียว ที่ตู้เซฟเก็บเครื่องฉลองพระองค์ ที่เก็บเครื่องประดับต้นตระกูลแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ มูลค่านับล้านบาท ยังคงอยู่ในสภาพปกติ สันนิษฐานว่าคนร้ายไม่อาจหากุญแจไขได้สำเร็จเพราะต้องรีบเตลิดหนีก่อนที่จะมีคนมารู้เห็นเข้า และพบว่าที่พระทวารด้านหลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจพบกระเป๋าหนังสีดำตกอยู่ ภายในนั้นไม่พบสิ่งของ แต่จากการยืนยันของเสด็จในกรมฯ คาดว่าเป็นกระเป๋าใบเดียวกับที่พระนางเธอทรงถือเป็นประจำไม่ว่าจะเสด็จไปในสวนหรือแม้แต่เวลาเสวยพระกระยาหาร เพราะในนั้นมีพวงกุญแจเงินสด และมีปืนพกขนาดจิ๋วซึ่งติดพระองค์ตลอดเวลาด้วย
ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ได้ทูลถามเสด็จในกรมฯ พลตรีกรมหมื่นนราธิปฯ ได้ความพอสังเขปว่า ปกติพระนางเธอลักษมีลาวัณจะประทับอยู่ที่พระตำหนักนี้เป็นประจำทุกเวลา เว้นเสียแต่วันพระ พระนางเธอฯ จะเสด็จไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบวรนิเวศ ส่วนที่พระตำหนักก็จะให้บรรดาคนรับใช้ เช่น นายแสง นายทวี นายบุญมา นางสาวสุนีหรือแป๋วและนางเพลินอยู่ที่พระตำหนัก ส่วนพระนางเธอฯ จะเสด็จกลับในเวลาพลบค่ำเป็นกิจวัตร
เกี่ยวกับพระศพของพระนางเธอที่พบนั้น เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าการที่พบพระศพอยู่บริเวณโรงรถติดกับห้องคนรับใช้นั้นเป็นการพรางตา คาดว่ากลุ่มฆาตกรน่าจะสังหารตั้งแต่บนห้องบรรทมชั้นบน เพราะพบคราบพระโลหิตติดอยู่ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วจึงช่วยกันลากพระศพมาทิ้งไว้ที่โรงรถก่อนที่จะหลบหนีไป

ศาลทหารพิพากษาให้ประหาร
ศาลทหารระบุในคำพิพากษาว่า “ศาลได้พิเคราะห์เห็นแล้วว่า คดีนี้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน คงมีแต่พยานแวดล้อมกรณี ซึ่งถ้าไม่ได้อาศัยการสารภาพของจำเลยมาก่อนแล้ว จะทำให้คดีนี้ยุ่งยากมาก จำเลยได้กระทำการลอบปลงพระชนม์พระนางเธอฯ โดยไตรตรองไว้ก่อนนั้น โจทก์ไม่สามารถนำสืบไม่ได้ แต่การที่สองจำเลยใช้ชะแลงเหล็กและสันขวานทุบตีพระนางเธอฯ โดยพระนางเธอฯ ทรงเป็นหญิง ไม่มีโอกาสต่อสู้ป้องกันตัวได้ ทั้งทรงกำลังเผลออยู่ ข้อนี้ศาลเห็นว่า เป็นการกระทำที่ทารุณโหดร้ายเป็นอันมาก และการฆ่าก็จะเป็นความสะดวกในการที่ลักทรัพย์ของพระนางเธอฯ เป็นการกระทำของผู้ร้าย “อำมหิตหินชาติ” และการกระทำต่อพระนางเธอฯ ซึ่งเป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ชั้นพระองค์เจ้า สมควรที่สองจำเลยต้องได้รับโทษอุกฤษฏ์ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป จึงพร้อมกันพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙ (๕) (๖) (๗) แต่โดยที่คำสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์ในการพิจารณาตลอดมาเป็นอย่างมาก จึงลดโทษให้หนึ่งในสามคงให้จำคุกสองจำเลยไว้ตลอดชีวิต”





 

Create Date : 22 เมษายน 2550    
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2555 14:02:00 น.
Counter : 4887 Pageviews.  

การแต่งกายในการเข้าเฝ้าฯ



เม.ย. ๔๘
ประเทศไทย เป็นอีกประเทศหนึ่งในโลกที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้น จึงมีระเบียบแบบแผนที่เป็นธรรมเนียมในการเข้าเฝ้าต่างๆไม่ว่าจะเป็นคำกราบบังคมทูล การแสดงความเคารพ การนั่งการยืน และการแต่งกาย ฯลฯ ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติให้ถูกต้องเรียบร้อย งดงาม เพราะถือเป็นวัฒนธรรมของชาติอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกายเข้าเฝ้าฯที่ประชาชน เยาวชน หรือแม้แต่ข้าราชการรุ่นใหม่หลายคนก็อาจจะยังไม่ทราบว่าแต่ละโอกาสจะต้องแต่งกันอย่างไร บางคนก็อาจสงสัยว่าชุดที่คล้ายเครื่องแบบปกติขาว ที่มีเอกชนสวมใส่อยู่ในบางงานจะใช่ชุดข้าราชการหรือไม่ คนทั่วไปจะแต่งได้อย่างไร ซึ่งกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมจะได้บอกกล่าวกันต่อไป ก่อนอื่นควรทราบความหมายของคำว่า พระราชพิธี รัฐพิธี และพิธี เสียก่อน
พระราชพิธี หมายถึง งานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดไว้เป็นประจำตามราชประเพณี ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธี โดยก่อนวันพระราชพิธีจะมีหมายกำหนดการ (เป็นเอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานพระราชพิธีโดยเฉพาะ)ในการเสด็จฯไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ซึ่งโดยปกติแล้วคณะรัฐมนตรี และผู้มีตำแหน่งตามที่กำหนดให้เฝ้าฯต้องมีหน้าที่ไปเข้าเฝ้าฯในพระราชพิธีด้วย ยกเว้นเป็นพระราชพิธีส่วนพระองค์หรือเป็นการภายใน พระราชพิธีที่บุคคลสำคัญหรือมีตำแหน่งต้องไปเข้าเฝ้าฯ ได้แก่ วันฉัตรมงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา การบำเพ็ญกุศลถวายผ้าพระกฐิน เป็นต้น
รัฐพิธี หมายถึง งานที่รัฐบาลกราบบังคมทูลขอพระมหากรุณาให้ทรงรับไว้เป็นงานรัฐพิธี มีหมายกำหนดการที่กำหนดไว้เป็นประจำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯไปทรงเป็นประธานในพิธีหรืออาจจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีผู้แทนพระองค์ไปแทนก็ได้ พูดง่ายๆคือถ้าเป็นพระราชพิธี จะเป็นงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดเอง ส่วนรัฐพิธี รัฐบาลจะเป็นฝ่ายกำหนด แล้วขอพระราชทานอัญเชิญเสด็จฯ ซึ่งรัฐพิธีในปัจจุบันที่คณะรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญต้องไปเฝ้าฯ ได้แก่ วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (วันกองทัพไทย) วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันปิยมหาราช และวันรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
พิธี หมายถึง งานทั่วๆไปที่บุคคลจัดขึ้นตามลัทธิ หรือตามแบบอย่างธรรมเนียมประเพณีของสังคมหรือท้องถิ่นนั้นๆ เช่น พิธีแต่งงาน พิธีบวช พิธีศพ เป็นต้น
โดยปกติทั่วไป เมื่อเราจะไปไหนมาไหน ย่อมจะแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะหรืองานที่จะไปอยู่แล้ว แต่สำหรับบุคคลที่มีหน้าที่เข้าเฝ้าฯ ในงานพระราชพิธี หรือรัฐพิธี เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือผู้เกี่ยวข้อง เมื่อจะเข้าเฝ้าฯยิ่งจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดของการแต่งกายให้ถี่ถ้วนตามที่กำหนดในหมายกำหนดการ หรือหมายรับสั่งของสำนักพระราชวัง(เป็นหมายสั่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพระราชพิธีเป็นการภายใน ซึ่งผู้สั่งคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) หรือกำหนดนัดหมายในส่วนของราชการนั้นๆเองให้ถูกต้องด้วย เพื่อมิให้ผิดแบบแผนหรือธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งโดยทั่วไป การแต่งกายเข้าเฝ้าฯ จะกำหนดเป็นเครื่องแบบพิธีการ อยู่ ๓ แบบคือ ดังนี้
เครื่องแบบปกติขาว ซึ่งจะเป็นเครื่องแบบที่ประชาชนและข้าราชการเองคุ้นชินที่สุด เพราะเห็นและสวมใส่บ่อยในงานพระราชพิธี และรัฐพิธีต่างๆ มีรูปแบบคือ
บุรุษ จะเป็นเสื้อคอปิด แขนยาวสีขาว มีกระเป๋าที่อกเสื้อสองข้างและมีใบปกกระเป๋า สวมกางเกงขายาวแบบราชการสีขาว ใช้กระดุมโลหะสีทองตราครุฑพ่าห์ขนาดใหญ่ ๕ เม็ด รองเท้าหนังหุ้มส้น หรือจะเป็นวัตถุเทียมหนังสีดำก็ได้ ชนิดผูก และสวมถุงเท้าสีดำ
สตรี สวมเสื้อนอกคอแบะสีขาว แบบคอแหลม กระดุม ๕ เม็ด หรือคอป้าน กระดุม ๓ เม็ด กระดุมแบบเดียวกับบุรุษแต่ขนาดเล็กกว่า มีกระเป๋าเจาะด้านล่าง ๒ ข้าง สวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาวภายใน ผูกผ้าพันคอสีดำเงื่อนกลาสี (ผูกเนคไทดำ) กระโปรงขาวยาวคลุมเข่า ใช้รองเท้าหนังหุ้มส้นสีดำ หรือวัตถุเทียมหนังสีดำแบบปิดปลายเท้า ไม่มีลวดลาย และสวมถุงเท้ายาวสีเนื้อ
ทั้งนี้ การประดับแพรแถบย่อของเครื่องราชอิสริยาภรณ์จะอยู่ที่อกเสื้อเบื้องซ้าย ถ้าหากหมายกำหนดการกำหนดให้แต่งปกติขาวประดับเหรียญ ก็ให้ประดับเหรียญอิสริยาภรณ์ เช่น เหรียญรัชดาภิเษก เหรียญรัตนาภรณ์ เป็นต้น และไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่น สำหรับเครื่องหมายสังกัดของแต่ละหน่วยงาน ให้ติดที่ปกคอเสื้อ เช่น กระทรวงวัฒนธรรมเป็นรูปบุษบก ส่วนอินทรธนูติดที่บ่า
เครื่องแบบเต็มยศ ลักษณะและส่วนประกอบเหมือนเครื่องแบบปกติขาว ยกเว้นกางเกงและกระโปรงให้ใช้สีดำ และประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (สวมสายสะพาย ถ้ามี)
เครื่องแบบครึ่งยศ ลักษณะและส่วนประกอบเหมือนเครื่องแบบเต็มยศ แต่ไม่ต้องสวมสายสะพาย
หากเป็นข้าราชการนอกประจำการ ให้แต่งกายตามหมายกำหนดการหรือหมายรับสั่งของสำนักพระราชวัง โดยมีลักษณะและส่วนประกอบเช่นเดียวกับขณะประจำการ เพียงแต่ให้ติดเครื่องหมาย นก (นอ –กอ อันหมายถึงนอกประจำการ ทำด้วยโลหะโปร่งสีทอง สูง ๒ ซม.)ที่ปกคอเสื้อด้านหน้าข้างขวา
อนึ่ง ผู้ที่มิใช่ข้าราชการ และไม่อยู่ในกฎหมายหรือข้อบังคับของทางราชการให้มีเครื่องแบบเฉพาะการแต่งกายเข้าเฝ้าฯในโอกาสต่างๆ สามารถแต่งกายด้วยเครื่องแบบพิธีการ คือ
บุรุษ ให้แต่งกายด้วยชุดขอเฝ้าเต็มยศ ชุดขอเฝ้าครึ่งยศ ชุดขอเฝ้าปกติขาวแล้วแต่กรณี ลักษณะคือ เสื้อนอกเป็นเสื้อคอปิดสีขาวแบบราชการ แนวเสื้อมีกระดุมสีทองขนาดใหญ่ ๕ เม็ด กางเกงขายาวแบบสากลไม่พับปลายขา โดยมีเครื่องประกอบชุดคือ ดุมเสื้อ (เป็นดุมเกลี้ยงทำด้วยโลหะสีทอง) แผ่นทาบคอ (พื้นกำมะหยี่สีดำ มีกิ่งชัยพฤกษ์ประกอบด้วยใบข้างละ ๕ ใบ ปักด้วยดิ้นสีทอง และที่กึ่งกลางมุมแหลมติดดุมโลหะสีทองขนาดเล็กข้างละ ๑ เม็ด) ไม่มีอินทรธนูติดบ่า ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามที่ได้รับพระราชทานหรือตามที่กำหนดในหมายฯ ซึ่งชุดนี้เองที่เรามักเห็นบุคคลอื่น ที่มิได้เป็นข้าราชการแต่งกันในงานพิธีการต่างๆ เช่น ชุดที่นายพานทองแท้ ชินวัตร สวมในวันที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ มีนาคมที่ผ่านมา เป็นต้น
ส่วน สตรีให้แต่งชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ และชุดไทยบรมพิมานประดับด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือแต่งชุดไทยเรือนต้น ไทยจิตรลดา ไทยอมรินทร์ และไทยบรมพิมานประดับดุมเสื้อเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้วแต่กรณี
โดยทั่วไป การแต่งกายสำหรับงานพระราชพิธี และรัฐพิธีนั้น จะมีเขียนไว้ในหมายกำหนดการว่าให้แต่งกายแบบไหนและประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แบบใดไว้ด้วย เช่น พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน จะมีกำหนดว่า เครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายมหาจักรี หรือมงกุฎไทย เป็นต้น ก็แต่งตามที่กำหนด หรือสูงสุดเท่าที่มี
ในการแต่งกายเต็มยศเข้าเฝ้าฯนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าบางท่านทำไมสวมสายสะพายสีเหลือง บางท่านก็สีชมพูหรือบางท่านก็สีอื่นๆ แล้วยังสะพายเฉียงไปทางขวาบ้าง ซ้ายบ้าง ที่เป็นเช่นนี้เพราะสายสะพายและแพรแถบแต่ละตระกูลก็มีสีและมีความหมายเฉพาะไม่เหมือนกัน เช่น สายสะพายจักรี จะเป็นสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำพระบรมราชวงศ์ เป็นต้น ส่วนการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ก็มีระเบียบที่ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องประดับอย่างไร เช่น ผู้ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ม.ป.ช.(มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก)และ ม.ว.ม.(มหาวชิรมงกุฏ) หากในหมายฯกำหนดให้แต่ง เต็มยศช้างเผือก ก็ต้องแต่งชุดเต็มยศ โดยสวมสายสะพายมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกตามที่กำหนด โดยสะพายจากบ่าซ้ายเฉียงไปขวา แล้วประดับดาราม.ป.ช.และม.ว.ม.ที่ได้รับตรงอกเสื้อเบื้องซ้าย เป็นต้น แต่ถ้าในกรณีบอกให้แต่งเต็มยศแล้วไม่ระบุสายสะพายตระกูลใด ให้สวมสายสะพายชั้นสูงสุดที่ได้รับ ยกเว้นกำหนดไว้ว่า ให้แต่งเต็มยศ และระบุสายสะพายตระกูลอื่นๆ เช่น เต็มยศจักรี ก็ให้สวมสายสะพายมหาจักรี ตามที่กำหนด หากไม่มีสายสะพายตามที่ว่า ให้สวมสายสะพายที่ได้รับพระราชทานชั้นสูงสุดแทน
ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างที่ยกมาเพียงสังเขป ซึ่งหวังว่าคงจะทำให้ท่านได้เข้าใจการแต่งกายเข้าเฝ้าฯมากขึ้นพอสมควร หรือหาอ่านรายละเอียดได้ในหนังสือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรี
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม




 

Create Date : 22 เมษายน 2550    
Last Update : 29 พฤษภาคม 2550 17:47:36 น.
Counter : 1516 Pageviews.  

1  2  

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.