รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการดนตรี



ความสุขของปวงประชา คือความสุขของพระมหากษัตริย์ นี่คือลักษณะพิเศษของกำเนิดและพระราชประวัติด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผลแห่งพระปรีชาสามารถด้านดนตรี หาใช่ความไพเราะของทำนองเพลงและคำร้องของบทเพลงพระราชนิพนธ์เท่านั้นไม่ แต่เป็นศิลปะแห่งการผสานความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างพระมหากษัตริย์พระองค์นี้กับประชาชนชาวไทยด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระมหากรุณารับสั่งเบื้องหลังการพระราชนิพนธ์เพลงเป็นครั้งแรกแก่สมาคมดนตรี เนื่องในโอกาสที่พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ “Echo” บรรเลง เป็นปฐมฤกษ์ ว่า
“(เพลงแรกคือแสงเทียน) … จากนั้นฉันก็แต่งขึ้นอีกเรื่อยๆ จนบัดนี้รวมทั้งหมด 40 เพลง ในระยะเวลา 20 ปี คิดเฉลี่ยปีละ 2 เพลง ที่ทำได้ก็เพราะได้รับความสนับสนุนจากนักดนตรี นักเพลงและนักร้อง รวมทั้งประชาชนผู้ฟังต่างได้แสดงความพอใจและความนิยมพอสมควร จึงเป็นกำลังใจแก่ฉันเรื่อยมา ขอถือโอกาสขอบใจมาในที่นี้ด้วย”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง "Echo" ในปี พ.ศ.2509 ยับเป็นบทแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงพร้อมคำร้องภาษาอังกฤษขณะนั้นพระชนมพรรษา 40 พรรษา
ย้อนหลังไป 4 ปีก่อน ทรงพระราชนิพนธ์ "Echo" พระราชอัจฉริยภาพด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ปรากฏก้องในนานาประเทศ ขณะที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสาธารณรัฐออสเตรียอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ.2507 สถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา (Die Akademie fur Musik und Darstellende Kunst in Wien) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งอันทรงเกียรติสูงส่งยิ่งนั้นคือ สมาชิกกิตติมศักดิ์ของสถาบันอันเก่าแก่แห่งนี้ เนื่องจากพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์ดนตรีเป็นที่ปรากฏและนิยมชื่นชมอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนชาวออสเตรีย จนกระทั่งวงดุริยางค์ นีเดอร์ เออสเตอร์ไรซ์ โทนคุนสท์เลอร์ (Nieder Osterreich Tonkunstler) ได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ชุด "มโนราห์", "สายฝน", "ยามเย็น", "มาร์ชราชนาวิกโยธิน" และ"มาร์ชราชวัลลภ" ออกกระจายเสียงทางสถานีวิทยุของรัฐบาลถ่ายทอดไปทั่วดินแดนแห่งดนตรีคลาสสิกอันเลื่องชื่อของทวีปยุโรป
และหากจะย้อนหลังไปอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.2503 เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา พระปรีชาสามารถด้านดนตรีแจ๊สในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ปรากฏเลื่องลือไปทั่วประเทศอันเป็นศูนย์กลางดนตรีร่วมสมัยประเภทนี้อ้วย ทรงเข้าร่วมบรรเลงดนตรีโดยมิได้เตรียมพระองค์มาก่อน ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงขึ้นอย่างฉับพลัน และยังทรงบรรเลงโต้ตอบกับนักดนตรีแจ๊สชาวอเมริกันลือนามอีกด้วย บรรยากาศอันเป็นกันเองที่มิได้เตรียมการล่วงหน้าเช่นนี้เป็นที่นิยมยกย่องของชาวอเมริกันเป็นอย่างยิ่ง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งอเมริกา ได้เชิญบทที่พระราชทานสัมภาษณ์พิเศษเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งดนตรีที่ทรงร่วมบรรเลงออกกระจายเสียงทางสถานีวิทยุไปทั่วโลกด้วย นับเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการกระชับมิตรภาพครั้งสำคัญครั้งแรกระหว่างไทยกับสหรัฐในยุคนั้น
40 ปีได้ผ่านไปหลังจากที่ทรงพระราชนิพนธ์ "แสงเทียน" เป็นเพลงแรกในปี พ.ศ.2489 ปัจจุบันมีเพลงพระราชนิพนธ์รวมทั้งสิ้น 43 เพลง อาจกล่าวได้ว่าบทเพลงพระราชนิพนธ์ต่างๆ ได้กลายเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย อาทิเช่น ในวงการบันเทิง บทเพลงพระราชนิพนธ์ คือ ทำนองเพลงอันไพเราะที่ทุกคนรู้จักดีและสามารถร้องได้ขึ้นใจ ปัจจุบันนี้ "พรปีใหม่" ได้กลายเป็น เพลงประเพณีในวันส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ของคนไทย ในสถาบันการศึกษาระดับสูงของประเทศ "มหาจุฬาลงกรณ์", "ธรรมศาสตร์" และ "เกษตรศาสตร์" ได้กลายเป็นเพลงอันทรงเกียรติประจำมหาวิทยาลัยอันเก่าแก่ทั้งสามแห่งนี้ และในวงราชการทหาร "มาร์ชราชวัลลภ" และ"มาร์ชธงชัยเฉลิมพล" ได้กลายเป็นแบบฉบับของดนตรีมาร์ชที่ใช้บรรเลงประจำปีในพิธีอันสำคัญยิ่งของชาติคือ พิธีปฏิญาณตนและตรวจพลสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
จากลักษณะพิเศษต่างๆ ของเพลงพระราชนิพนธ์นี้ อาจกล่าวได้ว่าบทพระราชนิพนธ์ 43 เพลงนั้น ต่างสะท้อนถึงพระราชประวัติตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ตลอดจนพระราชกรณียกิจนานัปการที่ได้ทรงปฏิบัติตั้งแต่เสด็จเสวยราชสมบัติ เป็นพยานแห่งความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและประชาชนชาวไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นเครื่องยืนยันว่า ความสุขปวงชนคือความสุขของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้
ความสนพระราชหฤทัยด้านดนตรี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมพระราชหฤทัยดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ทรงอ่านหนังสือเกี่ยวกับการดนตรีตั้งแต่ยังทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงได้รับการฝึกฝนตามแบบฉบับการศึกษาวิชาดนตรีอย่างแท้จริง คือการเขียนโน้ตและบรรเลงแบบคลาสสิค มีพระอาจารย์ถวายคำแนะนำอย่างเข้มงวดนานกว่า 2 ปี หลังจากทรงฝักหัดดนตรีขั้นพื้นฐานได้นานพอสมควรแล้ว จึงเริ่มสนพระราชหฤทัยทรงดนตรีไปในแนวแจ๊ส (Jazz) ทรงศึกษาประวัตินักดนตรีที่มีชื่อเสียง ทรงเปรียบเทียบฝีมือการเล่นดนตรีต่างๆ จากแผ่นเสียงที่บรรเลงโดยนักดนตรีเหล่านั้น แล้วจึงทรงบรรเลงสอดแทรกพร้อมกับแผ่นเสียงของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงตามสไตล์ที่โปรด เช่น สไตล์การเป่าโซปราโน แซกโซโฟน ของซิดนี่ เบเซ่ (Sydney Bechet) ออโตแซ็กโซโฟน ของจอห์นนี่ ฮอดเจส (Johnny Hodges) เปียโนและวงดนตรีของดยุค เอลลิงตัน (Duke Ellington) เป็นต้น
ยามที่ทรงว่างจากการศึกษาก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรดานักเรียนไทยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไปร่วมสโมสรสังสรรค์ ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา และร่วมทรงดนตรีด้วยอย่างสำราญพระราชหฤทัย เมื่อเสด็จฯ ประทับที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงปารีสเป็นการส่วนพระองค์ ก็ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณทรงดนตรีร่วมกับนักเรียนไทย ที่กำลังศึกษาอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส
การที่ทรงใช้ดนตรีวงสมัครเล่นเป็นสื่อสร้างบรรยากาศและความสัมพันธ์ที่สนุกสนาน และเป็นกันเองเช่นนี้ ได้กลายเป็นผลประโยชน์เอนกอนันต์ในเวลาต่อมา คือการประสานความร่วมมือระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กับบุคคลในวงการต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์งานสาธารณประโยชน์นานาประการแก่ประเทศชาติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรีเป็นพิเศษเครื่องดนตรีที่โปรด คือ เครื่องเป่าแทบทุกชนิด เช่น แซกโซโฟน คลาริเน็ต และทรัมเปต ทั้งยังทรงกีตาร์และเปียโนได้อีกด้วย นอกจากทรงเล่นดนตรีร่วมกับวงดนตรีได้ทุกวงทั้งไทยและเทศ ทรงเข้าบรรเลงร่วมกับวงดนตรีนั้นๆ ได้ ไม่ว่าวงดนตรีนั้นจะมีแนวการเล่นแบบใด สำหรับวงดนตรีแจ๊สนั้น ยังทรงได้ทั้งชนิดที่มีโน้ตและไม่ต้องมีโน้ต เมื่อถึงต้องเดี่ยว (Solo) ทรงสามารถใช้ปฏิภาณเล่นเดี่ยวได้อย่างยอดเยี่ยม ศัพท์ทางดนตรีเรียกว่าการเดี่ยวแบบ “Solo adlib” ซึ่งถือว่ายาก เพราะนักดนตรีจะต้องแต่งเนื้อหาขึ้นใหม่โดยฉับพลัน แต่ให้อยู่ในกรอบจังหวะและแนวเพลงนั้น พระราชอัจฉริยภาพทางดนตรีนันถึงขั้นทรงคลาริเน็ตและแซกโซโฟนบรรเลงได้อย่างคล่องแคล่ว และสามารถบรรเลงโต้ตอบได้อย่างครื้นเครงกับนักดนตรีต่างๆ ที่มีชื่อเสียงของโลก เช่น เบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) แจ็ก ทีการ์เด้น (Jack Teagarden) นักตีระนาดเหล็ก ไลออเนล แฮมพ์ตัน (Lionel Hampton) นักเป่าทรอมโบนและสแตน เก็ตส์ (Stan Getz) นักเป่าเทนเนอร์แซ็กโซโฟน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนนครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2503 นักดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลกเหล่านั้นล้วนถวายการยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สผู้มีอัจฉริยภาพสูงส่ง
ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทและผู้ที่เคยได้ร่วมเล่นดนตรีกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่าถึงพระอัจฉริยภาพในการพระราชนิพนธ์เพลงว่า ทรงแต่งเพลงได้ทุกแห่ง บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีช่วย ครั้งหนึ่งทรงเกิดแรงบันดาลพระทัยหยิบฉวยซองจดหมายได้ก็ทรงตีเส้น 5 เส้น แล้วทรงเขียนโน้ตทำนองเพลงขึ้น โดยฉับพลัน เช่น “เราสู้” เป็นต้น
กำเนิดวงดนตรีกิตติมศักดิ์ : ลายคราม อ.ส.วันศุกร์ และสหายพัฒนา
ชีวิงลายคราม ต้องไม่แสดงรุ่มร่าม
ชีวิงลายคราม ต้องไม่แสดงรุ่มร่าม
หนึ่งสองสามสี่ อ้าวไม่สี หนึ่งสองสามสี่
อ้าวไม่เป่า ชีวิงลายคราม
ชู่ ชู่ ชู่ ชู่ ชู่ …………………….
“ศุกร์สัญลักษณ์”
ดนตรีประเภทที่โปรดนั้น คือ ดนตรีแจ๊ส ดิ๊กซี่แลนด์ (Dixieland Jazz) ซึ่งเป็นสไตล์ชาวอเมริกันแห่งเมืองนิวออร์ลีน หลัง พ.ศ.2459 (ค.ศ.1916) เป็นแจ๊สที่มีจังหวะตื่นเต้นครึกครื้น และสนุกสนานเร้าใจ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นระบายอารมณ์และความรู้สึกออกมาเป็นทำนองเพลงได้เป็นอย่างเสรี นอกจากนี้ยังตั้งวงได้ง่าย เพราะใช้เครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้นก็สามารถเล่นได้ เหมาะสำหรับนักดนตรีสมัครเล่นที่จะจับกลุ่มตั้งงวขึ้นในหมู่มิตรสหายที่คุ้นเคยได้เป็นอย่างดี วงดนตรีในยุคเริ่มแรกที่ตั้งขึ้นในพระที่นั่งอัมพรสถาน คือ “วงลายคราม” นักดนตรีล้วนเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ ผู้ที่ทรงคุ้นเคยตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ อาทิเช่น หม่อมเจ้าวิมวาทิตย์ รพีพัฒน์ หม่อมเจ้าแววจักร จักรพันธุ์ หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ หม่อมเจ้ากมลสาน ชุมพล หม่อมเจ้าชุมปกบุตร ชุมพล หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ หม่อมราชวงศ์พงศ์อมร กฤดากร หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายสุรเทิน บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ นักร้องก็มีหม่อมเจ้ามูรธาภิเศก โสณกุล และหม่อมเจ้าขจรจบกิติคุณ กิติยากร เป็นต้น การบรรเลง “วงลายคราม” จึงเป็นโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสังสรรค์ในหมู่ผู้ที่ทรงคุ้นเคยอย่างสนุกสนาน สมาชิกท่านหนึ่งเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีน้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ เพราะสมาชิกของวงมิใช่นักดนตรีอาชีพ จึงไม่ชำนาญและมักเล่นดนตรีผิดๆ ถูกๆ เป็นที่ขบขันยิ่งนัก แต่ไม่ทรงเห็นเป็นเรื่องสำคัญ กลับพอพระราชหฤทัยที่จะแนะนำ ทรงทำหน้าที่ “เอาใจ” นักดนตรีสมัครเล่นรุ่น “ลายคราม” เหล่านั้นเป็นที่ครื้นเครงอยู่เสมอ บ่อยครั้งที่ “วงลายคราม” บรรเลงอย่างไม่ยอมหยุด ครั้งหนึ่งที่ประทับอยู่ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน “วงลายคราม” ก็ได้แสดงฝีมือบรรเลงดนตรีตลอดคืน และเมื่อรุ่งอรุณของวันใหม่นักดนตรีก็ลุกขึ้นตั้งแถวบรรเลงเพลงเดินลงชายหาดเพื่อรับลมทะเลและแสงอาทิตย์ ยามเช้าอย่างครึกครื้นเป็นที่สนุกสนานยิ่ง
ระหว่างที่ประทับอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. (อัมพรสถาน) ขึ้นในปี พ.ศ.2495 เพื่อให้เป็นสื่อกลางที่ให้ความบันเทิงและสาระประโยชน์ด้านต่างๆ สำหรับรายการเพลงสากล “วงลายคราม” ได้มีโอกาสไปส่งวิทยุกระจายเสียงร่วมกับวงดนตรีต่างๆ เช่น วงดนตรีเกษตร ซึ่งมีหม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์วง มีนักดนตรีต่างๆ เข้าไปกระจายเสียงเป็นที่สนุกสนาน ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนักดนตรีรุ่นหนุ่มๆ มาเล่นปนกับรุ่นลายคราม ซึ่งเล่นดนตรีไม่ค่อยไหวตามอายุ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดวงดนตรี “อ.ส.วันศุกร์” ขึ้น ปัจจุบันสถานีวิทยุ อ.ส. ได้ย้ายมาตั้งอยู่ในบริเวณสวนจิตรลดา
ลักษณะพิเศษของ “วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์” นี้คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงร่วมบรรเลงกับสมาชิกของวง ออกอากาศกระจายเสียงทรงสถานีวิทยุเป็นประจำทุกวันศุกร์ เป็นการเปิดโอกาสให้พสกนิกรได้ติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ง่ายขึ้น ทรงจัดรายการเพลงและทรงเลือกแผ่นเสียงในระยะแรก บางครั้งก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการขอเพลงด้วยและจะทรงรับโทรศัพท์ด้วยพระองค์เอง ในช่วงเวลาเมื่อ 20 ปีก่อน ขณะที่สถานีโทรทัศน์ยังไม่มีบทบาททางการบันเทิงมากเช่นในปัจจุบันนี้ “วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์” จึงมีส่วนสร้างความรื่นเริงในหมู่ประชาชนผู้สนใจในยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์มหาวาตภัยแหลมตะลุมพุก ได้อาศัยวงดนตรี อ.ส. ประกาศชักชวนประชาชนบริจาคทรัพย์ สิ่งของ ฯลฯ ช่วยผู้ประสบภัย ท้ายสุดจึงกำเนิด “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมถ์”
สมาชิกของวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ได้แก่ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ นายอุทิศ ทินกร หม่อมหลวงเสรี ปราโมช หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช นายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ นายไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ นายเสนอ ศุขบุตร นายเดช ทิวทอง นายถาวร เยาวขันธ์ นายสุวิทย์ อังสวานนท์ นายนนท์ บูรณสมภพ นายกวี อังสวานนท์ นาวาอากาศเอกอภิจิตร สุขกระจันทร์ นายอวบ เหมะรัชตะ ส่วนนักร้อง ได้แก่ คุณหญิงสาวิตรี ศรีวิสารวาจา คุณหญิงจามรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คุณกัญดา ธรรมมงคล ท่านผู้หญิงสุวรี เทพาคำ คุณจีรนันท์ ลัดพลี และคุณพัลลภ สุวรรณมาลิก เป็นต้น
บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ คือ บรรเลงในงาน “วันทรงดนตรี” ตามที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ เพื่อทรงสังสรรค์ร่วมกับนิสิตนักศึกษาเป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งได้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานกว่าสิบปี ในปัจจุบันเมื่อทรงมีพระราชกรณียกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ประเพณีวันทรงดนตรีจึงได้ยกเลิกไป อย่างไรก็ตามได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วงดนตรีจากสถาบันต่างๆ ทั้งราชการและเอกชน รวมทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา หมุนเวียนกันมาบรรเลงดนตรีเป็นประจำ ณ สถานีวิทยุ อ.ส.สวนจิตรลดา ความสนพระราชหฤทัยและพระมหากรุณาธิคุณสนับสนุนทางด้านดนตรีดังกล่าวนี้ มีส่วนสำคัญทำให้หน่วยงานทั้งราชการและเอกชนมีการพัฒนาวงดนตรีของตนให้ดีขึ้น และเป็นการให้กำลังใจแก่นักดนตรีทั้งหลายให้ขยายผลงานแพร่หลายต่อไปด้วย อาทิเช่น ชมรมดนตรี โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งได้เข้ามาบรรเลงเพลงออกอากาศกระจายเสียงเป็นประจำนานกว่า 20 ปีแล้ว บางครั้งก็เสด็จฯ ลงมาทอดพระเนตร และแนะการเล่นดนตรีแก่นักเรียนนายร้อยที่เล่น “เพี้ยน” ด้วยความประหม่าด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่านักดนตรีหนุ่มชาว จ.ป.ร.เหล่านั้นแทบจะไม่ยอมหลับยอมนอน เพื่อซ้อมเพลงพระราชนิพนธ์ที่ง่ายที่สุดให้ดีที่สุด ก่อนที่จะเข้าวังเป็นครั้งแรกในชีวิต ภายหลังปรากฏว่านักดนตรี จ.ป.ร. หลายคนมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ อีก เช่น อดีตหัวหน้าวงผู้หนึ่งได้มาถวายงานในฐานะราชองครักษ์ และสมาชิกอีกหลายท่าน ได้รับพระราชทานยศถึงขั้นพลเอกแห่งกองทัพบก
พระปรีชาสามารถในด้านการเป็น “ครู” นั้นจะเห็นได้จากการที่ทรงตั้งแตรวง “สหายพัฒนา” ในปี พ.ศ.2529 โดยรวบรวมจากผู้ที่ปฏิบัติราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และโดยเสด็จฯ ในการพัฒนาภูมิภาคต่างๆ เป็นประจำ เช่น นักเกษตรหลวง คณะแพทย์ อาสาสมัคร ข้าราชบริพารในพระองค์ ราชองครักษ์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อน แต่หลังจากที่ทรงใช้กลวิธีพิเศษส่วนพระองค์ โดยพระราชทานเวลาฝึกสอนเพียงเล็กน้อย ในช่วงเวลาทรงออกพระกำลังในตอนค่ำของทุกๆ วัน ก็ทรงตั้งแตรวงนี้ขึ้นสำเร็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นสมาชิกสมัครเล่นพระองค์แรก ของวงนี้ แตรวง “สหายพัฒนา” สามารถบรรเลงดนตรีได้ในโอกาสพิเศษต่างๆ นับว่าเป็นประโยชน์ในการช่วยกระชับความสัมพันธ์ในหมู่นักพัฒนาอาสาสมัครของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ดีอีกรูปแบบหนึ่ง
ความสนพระราชหฤทัยที่จะศึกษาและค้นคว้าวิจัยอย่างลึกซึ้งด้านดนตรีจะเห็นได้จากการที่ทรงนำวิธีการบันทึกเสียงสมัยใหม่ที่สามารถบันทึกเสียงได้เป็นช่อง (Sound Track) มาใช้ในการปรับปรุงวิธีการเล่นดนตรี และคุณภาพในการบันทึกเสียงด้วยวิธีการนี้ จึงสามารถทรงเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชิ้นในเพลงเดียวกัน เมื่อบันทึกเสียงเรียบร้อยแล้ว ก็จะทรงเปิดเทปฟังทบทวนอย่างละเอียดเพื่อวิจารณ์การบรรเลงในแต่ละครั้ง พร้อมทั้งแก้ไขและบันทึกเสียงใหม่ให้ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทรงมีความเชี่ยวชาญในเทคนิคการบันทึกเสียง ตลอดจนใช้เครื่องมือกลไกอิเล็คทรอนิคส์อันทันสมัยเกี่ยวกับการดนตรีด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใฝ่พระราชหฤทัยในการทรงดนตรีเป็นกิจวัตร ทรงซ้อมดนตรีเป็นประจำทุกค่ำวันศุกร์และวันอาทิตย์ ร่วมกับนักดนตรีวง อ.ส.วันศุกร์ ณ สถานีวิทยุ อ.ส. และเกือบทุกเย็นกับวงสหายพัฒนา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เครื่องดนตรีทุกชิ้นทรงเก็บรักษาอย่างดี ทรงทำความสะอาดด้วยพระองค์เอง และเมื่อเสียก็มักจะทรงแก้ไขด้วยพระองค์เอง หรือพระราชทานคำแนะนำ และวิธีการแก้แก่นายช่างทหารอากาศที่โปรดเกล้าฯ ให้ปรับแก้ไข
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช รวมเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 43 เพลง ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองแล้วจึงใส่คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง มี 5 เพลง คือ “Echo”, “Still on My Mind”, “Old Fashioned Melody”, “No Moon” และ “Dream Island” นอกจากนี้มี 2 เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นภายหลังใส่ในคำร้อง คือ “ความฝันอันสูงสุด” และ “เราสู้” ผู้ที่โปรดเกล้าฯ ให้แต่งคำร้องประกอบเพลงพระราชนิพนธ์ มีหลายท่านได้แก่ หม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา นายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยะรัตพันธ์) หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค
ในยุคแรก หลังจากที่เพลงพระราชนิพนธ์มีทำนองและคำร้องสมบูรณ์แล้วจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน นำไปบรรเลงในวงดนตรีกรมโฆษณาการ หรือวงสุนทราภรณ์ อันเป็นวงดนตรีที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นตามกาละเทศะอันควร เพื่อให้แพร่หลายทั่วไป ปรากฏว่าหลายเพลงกลายเป็นเพลงยอดนิยมทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ
เพลงพระราชนิพนธ์แต่ละเพลงนั้นล้วนแสดงออกถึงพระมหากรณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังเช่น “ยามเย็น” พระราชทานแก่สมาคมปราบวัณโรค เพื่อนำออกแสดงเก็บเงินบำรุงการกุศล “ใกล้รุ่ง” บรรเลงเป็นปฐมฤกษ์ในงานของสมาคมเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย “ยิ้มสู้” พระราชทานแก่โรงเรียนสอนคนตาบอด “ลมหนาว” พระราชทานในงานประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ “Kinari Suite” พระราชทานเพื่อใช้ประกอบการแสดงระบำบัลเล่ต์ชุดมโนราห์ เพื่อหารายได้สมทบทุนสภากาชาดไทย “พรปีใหม่” พระราชทาน แก่พสกนิกรเนื่องในวันปีใหม่ “เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย”, “ความฝันอันสูงสุด” และ “เราสู้” พระราชทานเก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ นอกจากนี้มีเพลงพระราชทานเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย คือ “มหาจุฬาลงกรณ์”, “ธรรมศาสตร์” และ “เกษตรศาสตร์” และพระราชทานแก่หน่วยงานทหารต่างๆ คือ “ธงชัยเฉลิมพล”, “มาร์ชราชวัลลภ” และ “มาร์ชราชนาวิกโยธิน”
ทำนองเพลงพระราชนิพนธ์
“จุดเทียนบวงสรวงปวงเทพเจ้า
สวดมนต์ค่ำเช้าถึงคราวระทมทน
โอ้ชีวิตหนอล้วนรอความตายทุกคน
หลีกไปไม่พ้นทุกข์ทนอาทรร้อนใจ”
“แสงเทียน”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลง “แสงเทียน” เป็นเพลงแรกในแนวของเพลงบลูส์ ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของดนตรีแจ๊ส นักข่าวชาวอเมริกันได้กราบบังคมทูลว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สจริงหรือไม่ และโปรดดนตรีประเภทใดมากที่สุด มีพระราชดำรัสตอบว่า
“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวคนทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า ดนตรีคือ สิ่งประณีตงดงามและทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาส และอารมณ์ที่ต่างๆ กันไป
เมื่อพูดถึงการเล่นดนตรี ก็ต่างกันอีก ถ้าข้าพเจ้าเล่นเพลงคลาสสิก และมีใครทำเสียงดังอย่างงี้ก็เป็นการรบกวนเพราะว่าดนตรีคลาสสิกต้องเล่นตั้งใจจริงจัง ข้าพเจ้าไม่ได้พักผ่อนเท่าไรนักต้องคอยระวังไม่ให้ผิดโน้ต และไม่ให้มีใครมารบกวนข้าพเจ้า ถ้าหากว่าข้าพเจ้าต้องเล่นเพลงแจ๊ส ก็ดีกว่า เพราะว่าข้าพเจ้าเล่นทำนองได้ตามใจชอบตามที่รู้สึกขณะนั้น ตามแต่อารมณ์และความนึกคิดของข้าพเจ้าจะพาไป ถ้าใครจะมาทำเสียงดังเวลานั้น ข้าพเจ้าก็ถือว่าเป็นเสียงประกอบ และข้าพเจ้าเล่นผิดโน้ตก็เท่ากับว่า ข้าพเจ้าแต่งทำนองนั้นขึ้นเองในปัจจุบัน”
เพลงที่พระราชนิพนธ์ส่วนใหญ่ขณะที่ประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอน์แลนด์ และเมื่อเสด็จฯ นิวัติพระนครใหม่ๆ นั้นเป็นเพลงแนว “บลูส์” (Blues) ซึ่งเป็นสไตล์หนึ่งของดนตรีแจ๊สที่เริ่มเป็นที่นิยมในสหรัฐตั้งแต่ราวปี พ.ศ.2443 (ค.ศ.1900) เสียงโน้ตที่แปร่งหูในแนวบลูส์ และช่วงจังหวะที่ขัดธรรมชาติของเพลงในบางครั้ง ได้สร้างมิติใหม่ ให้แก่วงการเพลงในยุคนั้น ความรู้สึกของการขัดแย้งของเสียงและจังหวะนี่เองที่ทำให้ดนตรีแจ๊สมีรสชาติตื่นเต้นต่างออกไปจากแนวทางดนตรีดั้งเดิมของโลกตะวันตกอาจจะเป็นธรรมชาติที่แท้จริงขิงมนุษย์ที่ต้องการใฝ่หาประสบการณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของชีวิต จึงทำให้เพลงแจ๊สได้รับความนิยมและพัฒนาอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา และสำหรับนักดนตรีบางคนนั้น คุณค่าของดนตรีมิได้อยู่ที่ความไพเราะรื่นหูของจังหวะหรือความอ่อนหวานของท่วงทำนองอย่างเดียว แต่ที่แท้จริงแล้วคือความรู้สึกท้าทายที่เกิดจากเสียง “บลูส์” ที่แปลกใหม่ และจังหวะแจ๊สที่ขัดแย้งเร้าใจ ความขัดแย้ง ในบางครั้งก็อาจเตือนมนุษย์ให้เข้าถึงความจริงของชีวิตได้ เปรียบได้กับความทุกข์ของมนุษย์ที่บางครั้งทำให้ชีวิตมีความหมายอย่างประหลาด เพราะควาทุกข์ชุบชีวิตจิตใจเข้มแข็งและชุบวิญญาณให้แข็งแกร่งมากกว่าความสุขอันผิวเผินและไม่จีรัง เพลงบลูส์ที่รำพันถึงความโศกเศร้าและคับแค้นใจจึงแฝงด้วยคติธรรมของชีวิตจริงอยู่ด้วยเสมอ ดังเช่น บทพระราชนิพนธ์ “ชะตาชีวิต” ทรงพระราชนิพนธ์ขณะที่เสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากที่เสด็จขึ้นครองเสวยราชสมบัติแล้ว ในปี พ.ศ.2489 ทำนองเพลงอันเรียบง่ายที่อาศัยการดำเนินเสียงประสานของคอร์ดบลูส์ จำนวน 12 ห้อง ซึ่งเรียกว่า “Blues Progressions” เป็นหลักสำคัญในการพระราชนิพนธ์เพลงประเภทนี้
นอกจากนี้ยังมีเพลงพระราชนิพนธ์ในช่วงนี้อีก คือ “ดวงใจกับความรัก” และ “อาทิตย์อับแสง” ซึ่งมีลักษณะท่วงทำนองที่ต่างไปจากบลูส์รุ่นแรกๆ คือ ทรงเปลี่ยนทำนองให้ระดับเสียงมีช่วงกว้างขึ้น และทรงพระราชนิพนธ์ให้มีทำนองลีลาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยใส่คำร้องได้อย่าง “น่ารัก” ทำให้เพลงทั้งสองมี “ชีวิตชีวา” เพิ่มขึ้น และแตกต่างจากเพลงไทยสากลยุคเดียวกัน
บทเพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่ทรงมีจินตนาการสร้างทำนองให้แตกต่างกันหลายประเภทได้อย่างไพเราะไม่ซ้ำแบบผู้ใด และการที่เลือกใช้ลีลาที่สง่างามแต่อ่อนโยนของจังหวะวอลทซ์ ทำให้ “สายฝน” ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ลีลาวอลทซ์เพลงแรกติดอันดับเพลงลีลาศยอดนิยมของเมืองไทยในยุคนั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าถึง “ความลับ” ของเพลงสายฝน ดังนี้
“…เมื่อแต่งเป็นเวลา 6 เดือน หม่อมเจ้าจักรพันธุ์ฯ ได้เขียนจดหมายมาถึง บอกว่ามีความปลาบปลื้มอย่างหนึ่ง เพราะท่านไปเชียงใหม่เดินไปตามถนนได้ยินเสียงคนผิวปากเพลงสายฝน ก็เดินตามเสียงไป เข้าไปในตรอกซอยแห่งหนึ่ง ก็เห็นคนกำลังซักผ้าและก็มีความร่าเริงใจ ผิวปากเพลงสายฝนและก็ซักผ้าไปด้วย ก็นับว่าสายฝนนี้มีประสิทธิภาพสูงซักผ้าได้สะอาด… ที่จริงความลับของเพลงมีอย่างหนึ่งคือ เขียนไป 4 ช่วง แล้วก็ช่วงที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เสร็จแล้วเอาช่วงที่ 3 มาแลกช่วงที่ 2 กลับไป ทำให้เพลงนี้มีลีลาต่างกันไป …เป็น 1 3 2 4”
เพลงพระราชนิพนธ์ลีลาวอลทซ์อื่นๆ คือ “เทวาพาคู่ฝัน”, “แก้วตาขวัญใจ”, “เมื่อโสมส่อง”, “ลมหนาว” ,”ค่ำแล้ว” และ “ความฝันอันสูงสุด”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความรู้อย่างแตกฉานในทฤษฎีการประพันธ์ทรงเป็นผู้นำในด้านการประพันธ์ทำนองเพลงสากลของเมืองไทย โดยใส่คอร์ดดนตรีที่แปลกใหม่และซับซ้อน ทำให้เกิดเสียงประสานเข้มข้นในดนตรี เมื่อประกอบกับลีลาจังหวะเต้นรำที่หลากหลาย ทำให้บทพระราชนิพนธ์บรรเลงได้อย่างไพเราะ หลายบทกลายเป็นเพลงอมตะของไทยในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังทรงมีจินตนาการการสร้างสรรค์ไม่ซ้ำแบบผู้ใด และแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา พระราชนิพนธ์ “มหาจุฬาลงกรณ์” ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์บทแรกที่พระราชทานเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยนั้น แสดงถึงพระปรีชาสามารถในจินตนาการการสร้างสรรค์นี้
ก่อนเสด็จฯ นิวัติพระนคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ระบบการประพันธ์แบบสิบสองเสียง (Chromatic Scale) ซึ่งเป็นประเพณีที่นิยมกันทางตะวันตกเพราะถือว่าสามารถสร้างสีสันของเสียงดนตรีได้มากมาย โดยการใส่คอร์ดต่างๆ อย่างสลับซับซ้อน ทำให้เกิดเสียงประสานได้อย่างไพเราะ เมื่อมีผู้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าบทพระราชนิพนธ์แนวสิบสองเสียงซับซ้อนและสามารถจำได้ยาก และมักจะพบในทำนองเพลงพื้นบ้านเป็นการพิสูจน์ว่าแม้ระบบบันไดเสียงที่เรียบง่ายก็อาจประพันธ์ทำนองเพลงให้ไพเราะได้ ทรงเรียบเรียงทำนองเพลงที่จำได้ง่ายแต่มีระเบียบและมีความสมดุลย์กันเป็นอย่างดี ด้วยระบบบันไดเสียงที่เรียบง่ายและด้วยระบบลีลาจังหวะมาร์ชที่หนักแน่น ดังนั้นเมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกราบบังคมทูลขอพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลลัย จึงได้พระราชทานทำนองเพลงนี้ และให้ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ประพันธ์คำร้อง “มหาจุฬาลงกรณ์” จึงเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของชาติ ซึ่งกำเนิดจากพระราชดำริของสมเด็จพระปิยมหาราชองค์สมเด็จพระบรมอัยยิกาธิราช ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
หลังจากที่พระราชทานเพลงประจำมหาวิทยาลัยให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงเพื่อพระราชทานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อมาตามลำดับ ดังปรากฏในพระราชดำรัสดังต่อไปนี้
“…เรื่องเพลงที่แต่งขึ้นใหม่นั้นต้องขอชี้แจงไว้นิด ฟังแล้วอาจตกใจเพราะว่าเพลงที่ประจำมหาวิทยาลัยในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ก็มีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็ของธรรมศาสตร์ ที่ได้ให้ทั้งสองเพลงนั้นกับเพลงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นี้ต้องบอกว่ายาวเท่ากัน ไม่ต้องอิจฉาว่าของเขายาวกว่าหรือสั้นกว่า ยาวเท่ากัน แล้วก็การสร้างเพลงนั้น ก็สร้างในแบบเดียวกัน ไม่ต้องอิจฉาอะไร แล้วก็ถ้าบอกว่าชอบ ถ้าไม่ชอบ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อาจจะแก้ไข อย่างไรก็ตาม แต่ก็มีอย่างหนึ่งคือ เพลงของจุฬาฯ เขาก็บอกว่าเพลงของเขาเพราะที่สุด ถ้าไปถามชาวธรรมศาสตร์ว่าเพลงไหนเพราะที่สุด เขาก็บอกว่าเพลงธรรมศาสตร์ แล้วก็ถ้าถามพวกเกษตรน่ากลัวบอกว่าเพลงเกษตรเพราะกว่า ก็เลยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรนะ แต่ว่าเพลงของจุฬาฯ เขาโอ้อวดว่าสง่าผ่าเผยมาก แล้วก็เพราะมาก ถ้าพูดถึงว่าเพลงธรรมศาสตร์เขาก็บอกว่าองอาจดี เดินก็ได้ จุฬาฯ เขาก็ตอบว่าของเขาก็เดินได้เหมือนกัน เป็นเพลงสำหรับนำแถวได้ เพลงของเกษตรนี้ที่จริงก็ควรจะตัดสินเอาเองว่าเป็นอย่างไร แต่ความคิดส่วนตัวของผู้แต่ง รู้สึกว่าเป็นเพลงที่อ่อนหวาน อ่อนหวานกว่า 2 เพลงโน้น แต่อ่อนหวานนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เข้มแข็ง แต่อ่อนหวานนี่อาจจะมีความหมายได้ว่า ผลิตผลของทางการเกษตรนี่ รวมทั้งผลไม้หรือสิ่งที่บริโภค ถ้ารสหวาน รู้สึกว่าดี เพราะว่าเขานิยมกันอย่างนั้น ข้าวโพดหวานเขาก็ชอบ ก็เลยคิดว่าเพลงหวานไม่เป็นไร แต่ถ้านำไปเดินสำหรับนำแถวก็อาจจะได้เปลี่ยนแปลงไปหน่อย ก็อาจจะเป็นเพลงสำหรับแตรวงก็อาจจะพอได้ แต่ขออย่างเดียว อย่าเดินขบวน…”
“ความฝันอันสูงสุด” อาจกล่าวได้ว่าเป็นบทพระราชนิพนธ์ที่ไพเราะยิ่งบทหนึ่ง มีลักษณะพิเศษคือเป็นเพลงพระราชนิพนธ์บทแรกที่ทรงแต่งทำนองเพลงภายหลังเพื่อใส่บทประพันธ์กลอนแปด ทำนองเพลงพระราชนิพนธ์นี้เสริมให้บทกลอนมีคุณค่า และงดงามประทับใจมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ถึงห้าระดับเสียง การแต่งเพลงไทยจึงเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะจะต้องแต่งให้ได้ท่วงทำนองที่ไพเราะและยังรักษาเนื้อหาที่สำคัญของคำร้องในขณะเดียวกัน ถ้าทำนองและเสียงวรรณยุกต์ไม่ตรงกันจะทำให้เสียงเพี้ยนผิดความหมาย ร้องยากและฟังไม่ชัดเจนอีกด้วย การที่ทรงพระราชนิพนธ์ ทำนองนี้ในระยะหลังขณะที่ทรงมีพระราชกิจมากมายนั้นแสดงถึงพระวิริยะอุตสาหะยิ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกพระราชนิพนธ์เพลงในกุญแจเสียงธรรมชาติ ซึ่งเป็นระดับเสียงพื้นฐาน ทำให้เพลงมีความหนักแน่น ทรงละที่จะใช้เสียงครึ่งตามแนวดนตรีตะวันตก ตามที่ทรงเคยนิยมปฏิบัติ “ความฝันอันสูงสุด” จึงเป็นเพลงพระราชนิพนธ์บทแรกที่มีทำนอง มีเสียงเป็นธรรมชาติแบบไทยๆ ที่กินใจผู้ฟังอีกแบบหนึ่งด้วย นอกจากนี้ทุกช่วงทำนองที่ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับแต่ละวรรคมีทำนองที่แตกต่างและไม่ซ้ำกัน แม้แต่วรรคเดียว การที่ทรงจินตนาการสร้างทำนองเพลงใหม่ขึ้นโดยมิได้ต้องแก้ไขบทประพันธ์เดิมนั้น เป็นเครื่องแสดงถึงพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์
“ความฝันอันสูงสุด” เปิดเสียงดนตรีด้วยโน้ตเสียงซีสูง เป็นความหวังอันสดใสของเพลงนี้
“ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ
ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว
ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ
ขอฝ่าฝันผองภัยด้วยใจทะนง”
ในด้านความสัมพันธ์ของภาษาและเสียงดนรี พระบาทสมเด็จพระเจาอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญต่อลักษณะพิเศษของเสียงวรรณยุกต์ที่มีในภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงเลือกใช้ตัวโน้ตที่มีเวลาตรงกับพยางค์ของคำร้อง ทั้งยังทรงเน้นโน้ตเสียงเพลงให้เหมาะกับเสียงของคำ เช่น คำตายทำให้เสียงดนตรีมีความหมายหนักแน่นขึ้นเป็นพิเศษหรือทรงเลือกตัวโน้ตให้ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ เช่น เสียงจัตวา ที่มีในภาษาไทยอีกด้วย ดังนั้นจึงทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกถึงเอกภาพของคำร้องและทำนองได้อย่างไม่รู้ตัว เอกภาพนี้คือศิลปะสำคัญที่เกิดจากจินตนาการและพรสวรรค์ส่วนพระองค์ อันยากที่จะหาผู้ใดเทียมได้
เป็นที่น่าสังเกตว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกใช้ลีลาจังหวะวอลทซ์สำหรับเพลงที่มีเนื้อหาปลุกใจรักชาติประเภทนี้ แต่ผลปรากฏว่าทำให้เกิดบรรยากาศที่สงบน่ารื่นรมย์ สำหรับผู้ที่มีอุดมคติที่จะบำเพ็ญตน เพื่อสาธารณประโยชน์… เป็นความฝันอันสูงสุด เสียงเพลงพระราชนิพนธ์บทนี้ย่อมเตือนสติแก่ผู้ร้องได้เป็นอย่างดี ในการใช้ปัญญาเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ ด้วยเนื้อหาและทำนองดังกล่าว เพลงพระราชนิพนธ์บทนี้จึงเป็นที่แพร่หลายและกลายเป็นเพลงที่เรียกว่า “เพลงเพื่อชีวิต” ที่สมบูรณ์ยิ่งเพลงหนึ่ง ในยุคที่มีการตื่นตัวในทางสังคมและการเมืองของประเทศ สำหรับนิสิตนักศึกษาที่ทำงานพัฒนาออกค่ายอาสาสมัครของมหาววิทยาลัย และข้าราชการทหาร ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ตามชายแดนนั้น เสียงร้องของเพลงพระราชนิพนธ์ที่ดังกังวานท่ามกลางความมืดที่เงียบสงบ “ความฝันอันสูงสุด” ย่อมมีความหมายลึกซึ้งและซาบซึ้งใจ
องค์บรมราชูปถัมภกด้านดนตรี
นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเป็นศิลปินผู้เพียบพร้อมด้วยพระปรีชาสามารถในการสร้างสรรค์ศิลปะด้านดนตรีแล้ว ยังทรงเป็นองค์บรมราชูปถัมภกทางดนตรีอีกด้วย ทรงส่งเสริมทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล และมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ศิลปินดนตรีอย่างถ้วนหน้า
ทางด้านดนตรีไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าวิชาดนตรีไทยเป็นศิลปะที่สำคัญของชาติ สมควรที่จะรวบรวมเพลงไทยเดิมต่างๆ ไว้มิให้เสื่อมสูญและผันแปรไปจากหลักเดิม โดยมีการบันทึกโน้ตเพลงให้ถูกต้องและจัดพิมพ์ขึ้นไว้เป็นหลักฐาน เพราะในการบันทึกแนวเพลงเป็นโน้ตสากลแต่เดิมนั้น ยังมิได้มีการบันทึกไว้อย่างครบถ้วนและจัดพิมพ์ให้เป็นการสมบูรณ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรนำเรื่องนี้ไปดำเนินการ ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดพิมพ์โน้ตเพลงไทยชุดนี้ เป็นการรักษาศิลปะดนตรีอังสำคัญของไทยไว้มิให้เสื่อมสูญ และยังเป็นการเผยแพร่วิชาการดนตรีของไทยออกไปในหมู่ประชาชนผู้สนใจให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้นอีกด้วย นอกจากนั้นยังทรงริเริ่มให้มีการวิจัยเกี่ยวกับดนตรีไทยในด้านบันไดเสียงของเครื่องดนตรีไทยประเภทต่างๆ เช่น ความแตกต่างระหว่างบันไดเสียงของเครื่องสาย และบันไดเสียงของระนาด ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
นอกจากนี้ทรงริเริ่มให้มีการบรรเลงเพลงไทยเดิมที่เรียบเรียงขึ้นจากเพลงไทยสากลโดยโปรดเกล้าฯ ให้นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นำทำนอง “มหาจุฬาลงกรณ์” มาแต่งให้เป็นแนวไทย นายเทวาประสิทธิ์ได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์นี้มาดัดแปลงเพื่อใช้บรรเลงด้วยปี่พาทย์ถึง 2 ครั้ง ภายหลังจึงปรับปรุงเป็นเพลงโหมโรงในการบรรเลงดนตรีของชมรมดนตรีไทย สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับว่าเป็นเพลงไทยเพลงแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นจากเพลงไทยสากล ตามพระราชดำริในการสร้างสรรค์และส่งเสริมดนตรีไทยและเป็นการแสดงว่าดนตรีไทยสามารถมีวิวัฒนาการไปตามกาลเวลาอย่างไม่หยุดยั้ง
ภาษาดนตรี : สัมพันธไมตรีระหว่างชาติ
“Alexandra
Welcome to thee
Here in this land of sunshine and of flowers.
May ye be blessed by the blessing
That has made our country happy”
“Alexandra”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภว่า ดนตรีเป็นภาษาสากลที่สามารถขจัดอุปสรรคทางภาษา วัย ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมที่ต่างกัน เพราะภาษาดนตรีสามารถสื่อความหมายให้ทุกคนเข้าใจอย่างเดียวกันได้ ดนตรีจึงเป็นสื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกันแม้ว่าเป็นคนละชาติ คนละภาษา หรือต่างศาสนา ด้วยเหตุนี้จึงทรงใช้ดนตรีเป็นสื่อในการเชื่อมความเข้าใจและความสัมพันธ์ทางความรู้สึกที่แน่นแฟ้นลึกซึ้งระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และนักศึกษา โดยที่เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ไปทรงดนตรี ณ มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเป็นโอกาสที่จะทรงมีพระราชปฏิสันถารกับบรรดานิสิตนักศึกษาอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง ในระดับชาตินั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประสบความสำเร็จในการใช้ดนตรีเป็นภาษาสากลช่วยเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างประเทศได้อย่างงดงาม ดังเห็นได้จากการที่เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ใน ปี พ.ศ.2503 ได้เสด็จฯ ไปเสวยพระกระยาหารค่ำ ณ วอชิงตันเพลส ซึ่งรัฐบาลจัดถวาย ทางฝ่ายเจ้าภาพเมื่อได้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปรีชาสามารถพิเศษด้านดนตรี จึงได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ให้ทรงร่วมบรรเลงดนตรีที่จัดมาแสดงถวายหน้าพระที่นั่งโดยเตรียมเครื่องดนตรีคลาริเน็ตไว้ถวายให้ทรงเล่นด้วย หลังจากที่ทรงได้รับการ “คะยั้นคะยอหนักขึ้น” จากทั้งเจ้าภาพ นักดนตรี และผู้ร่วมงาน พร้อมกับเสียงตบมือไม่หยุด จึงทรงรับเชิญขึ้นไปทรงเล่นดนตรีพระราชทาน 2 เพลง แม้ว่าจะไม่ได้เตรียมพระองค์มาก่อน เหตุการณ์นี้เป็นที่ประทับใจแก่ผู้ร่วมงานในวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะชาวอเมริกันชอบ “ความเป็นกันเอง” เช่นนี้มาก และเมื่อเสด็จฯ ต่อไปยังนครนิวยอร์ค ก็ได้เสด็จฯ ไปทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีของนายเบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) นักดนตรีฝีมือเยี่ยมระดับโลกด้วย
เมื่อคราวเสด็จฯ เยือนประเทศฟิลิปปินส์ ในปี พ.ศ.2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ร่วมทรงดนตรีกับสมาชิกวุฒิสภาของฟิลิปปินส์ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงมะนิลา พระปรีชาสามารถในครั้งนั้นสร้างความประทับใจแก่ชาวฟิลิปปินส์เป็นการช่วยกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งกำเนิดของนักดนตรีที่สำคัญและคีตกวีเอกของโลก ได้ยกย่องพระปรีชาสามารถด้านการดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะ คือ เมื่อครั้งที่เสด็จฯ เยือนประเทศสาธารณรัฐออสเตรีย อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม พ.ศ.2507 วงดุริยางค์ซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งกรุงเวียนนาได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ชุด “มโนราห์”, “สายฝน”, “ยามเย็น”, “มาร์ชราชนาวิกโยธิน” และ “มาร์ชราชวัลลภ” ไปบรรเลง ณ คอนเสิร์ตฮอลล์ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2507 พร้อมกันนี้สถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลออสเตรียได้ส่งกระจายเสียงเพลงและเสนอข่าวนี้ไปทั่วประเทศ หลังจากนั้นอีก 2 วัน คือ วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2507 สถาบันดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนาได้ถวายพระเกียรติให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติศักดิ์หมายเลขที่ 21 ดังปรากฏพระปรมาภิไธยจารึกบนแผ่นหินอ่อน ของสถาบันอันเก่าแก่ของยุโรปแห่งนี้ ประธานสถาบันดังกล่าวได้สดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็นผู้สร้างสัมพันธ์อันดียิ่งระหว่างดนตรีตะวันออกและดนตรีตะวันตก และทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยพระปรีชาสามารถนับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์แห่งทวีปเอเชีย ทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ณ ศูนย์กลางแห่งการดนตรีในทวีปยุโรป ทรงเป็นชาวเอเชียพระองค์แรกที่ทรงได้รับการถวายพระเกียรติให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ขณะที่ทรงมีชนมพรรษาเพียง 37 พรรษา พสกนิกรชาวไทยทุกคนไม่เพียงแต่ชื่นชมในพระเกียรติยศ ทางดนตรีที่ทรงได้รับจากนานาประเทศนั้น แต่ยังความภาคภูมิใจในความสำเร็จของการเสด็จพระราชดำเนินกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศด้วย
อัครศิลปิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราโชวาทว่า “การดนตรีเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่สามารถก่อให้เกิดความปีติ ความสุข ความยินดี ความพอใจได้มากที่สุด หน้าที่ของนักดนตรีนั้นคือ ทำให้ผู้ฟังเกิดความพอใจ ความครึกครื้น ความอดทน ความขยัน มีความเข้มแข็งและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ นอกจากจะสร้างความบันเทิงแล้ว ควรแสดงในสิ่งที่จะเป็นทางสร้างสรรค์ เช่น ชักนำให้คนเป็นคนดีด้วย” และมีพระราชกระแสย้ำว่า
“ฉะนั้น การดนตรีจึงมีความสำคัญสำหรับประเทศชาติสำหรับสังคม ถ้าทำดีๆ ก็ทำให้คนเขามีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานก็เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ให้ความบันเทิง ทำให้คนที่กำลังท้อใจมีกำลังใจขึ้นมา คือเร้าใจได้ คนกำลังไปทางหนึ่ง ทางที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจดึงให้กลับมาในทางที่ถูกต้องได้ ฉะนั้นดนตรีนี้ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งจึงพูดได้กับท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการดนตรีในรูปการณ์ต่างๆ ว่ามีความสำคัญและต้องทำให้ถูกต้อง ต้องทำให้ดี ทั้งถูกต้องในทางหลักวิชาการดนตรีอย่างหนึ่งและก็ถูกต้องตามหลักวิชาการของผู้ที่มีศีลมีธรรมมีความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะทำให้เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวมทั้งส่วนตัว เพราะก็อย่างที่กล่าวว่าเพลงนั้นมันเกิดความปีติในของตัวเองได้ ความปีติในผู้อื่นได้ ก็เกิดความดีได้เกิดความเสียก็ได้ ฉะนั้นก็ต้องมีความระมัดระวังให้ดี”
พระบรมราโชวาทดังกล่าวเป็นการส่งเสริมนักดนตรีให้ช่วยกันจรรโลงสังคมด้วยผลงานในเสียงดนตรี สร้างสรรค์งานศิลปะให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย
พระราชอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนับว่าเป็นเอนกอนันต์ ทั้งในด้านวิชาการ การดนตรี การพระราชนิพนธ์ การส่งเสริมและการอุปถัมภ์ด้านดนตรี ทั้งนี้ด้วยทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ้งและถ่องแท้ในศาสตร์แห่งศิลปะการดนตรีที่สร้างความดีงามและความคิดสร้างสรรค์ อันเป็นประโยชน์นานัปการ แก่สังคมและประชาชนชาวไทยโดยส่วนรวมอย่างเต็มเปี่ยม สมดังที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” โดยแท้

ธรรมจักร พรหมพ้วย / เรียบเรียงจาก
หนังสือการประกวดการบรรเลงดนตรีแจ๊สเฉลิมพระเกียรติ ครั้งที่ 1
เนื่องในมหามงคลวโรกาสปีกาญจนาภาเษก
จัดทำโดย ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ



Create Date : 12 พฤษภาคม 2550
Last Update : 29 พฤษภาคม 2550 17:46:18 น. 11 comments
Counter : 1881 Pageviews.

 
พระองค์ ทรงเป็น “อัครศิลปิน” โดยแท้

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ


โดย: blue_raindrop วันที่: 12 พฤษภาคม 2550 เวลา:17:13:00 น.  

 


โดย: .. IP: 125.27.198.195 วันที่: 23 พฤษภาคม 2550 เวลา:18:00:22 น.  

 
ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน อยู่คู่สยามประเทศตลอดไป
ด้วยเกล้าฯด้วยกระหม่อม ขอเดชะ


โดย: ชินอิจิคุง IP: 61.19.114.74 วันที่: 19 มิถุนายน 2550 เวลา:15:09:53 น.  

 
สรงพระเจริญ






โดย: beam IP: 124.121.23.146 วันที่: 3 กันยายน 2550 เวลา:15:53:54 น.  

 
ทรงพระเจริญเหมื่อนปีๆ


โดย: ด.ญนิตา โทนชาติ IP: 61.19.44.131 วันที่: 10 กันยายน 2550 เวลา:14:00:27 น.  

 
ขอพระองค์ทรงอายุยืน


โดย: ฟาง พลอย IP: 58.10.12.78 วันที่: 17 กันยายน 2550 เวลา:13:35:31 น.  

 
ดีดีดี ดีสุดสุด


โดย: เเนน IP: 124.157.234.226 วันที่: 14 พฤษภาคม 2551 เวลา:16:33:49 น.  

 
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ


โดย: ฟ้าใส IP: 58.97.59.115 วันที่: 14 สิงหาคม 2551 เวลา:9:00:22 น.  

 
ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญและยืนนานตลอดไป


โดย: ด.ญ. วาสนา คงช่วย IP: 125.25.205.116 วันที่: 1 ธันวาคม 2551 เวลา:15:17:59 น.  

 
ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ


โดย: ธีระวิทย์ สาขามุละ IP: 125.27.98.255 วันที่: 2 ธันวาคม 2551 เวลา:21:04:36 น.  

 
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him


โดย: da IP: 124.120.15.123 วันที่: 19 เมษายน 2553 เวลา:2:05:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.