|
คอมเทมป์เลือดไทย บอกอะไรความเป็นไปของนาฏยศิลป์
ธรรมจักร พรหมพ้วย
ได้มีโอกาสชมการแสดงนาฏยศิลป์ร่วมสมัย (Contemporary Dance) ชุด สีดาหาย ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ตีความมหากาพย์รามายณะ ให้เป็นศิลปะที่ใช้วิธีการรำไทยแบบดั้งเดิมมาสร้างสรรค์เป็นการแสดงที่ลงตัว ทั้งดนตรี เสื้อผ้า การจัดองค์ประกอบศิลป์ แม้ยังไม่ลึกซึ้งในแง่มุมเชิงปรัชญาเท่าใดนัก แต่ก็อดนึกชื่นชมไม่ได้ ที่อย่างน้อยเด็กไทยเราคิดงานได้ก้าวไกลถึงเพียงนี้แล้ว และเกิดความน่าประหลาดใจที่งานในครั้งเป็นผลิตผลจากบัณฑิตในสถาบันใหม่สังกัดกรมศิลปากร คือ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่งมีหน้าที่ผลิตครูและศิลปินสาขานาฏยศิลป์รับใช้สังคมไทย ซึ่งในอดีตครูอาจารย์ทางนาฏยศิลป์นั้นค่อนข้างจะเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัด เป็นไม้เบื่อไม้เบากับศิลปินผู้รักการสร้างสรรค์ศิลปะแขนงใหม่ เมื่อมีการแสดงประเภทร่วมสมัยนี้ขึ้นมาในครั้งแรกๆ นั้น ครูบาอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่มักต่อต้านจนถึงขนาดสาปแช่งไม่นับครูนับศิษย์กันเลยก็มี ทั้งนี้ด้วยขนบ ประเพณี ระเบียบแบบแผนที่เคร่งครัด และที่สำคัญคือ ระบบแนวคิดที่สั่งสอนสืบทอดกันมาอย่างเหนียวแน่นในอดีตว่า ศิลปะทางโขนละครนั้นเป็นของสูงไม่บังควรที่จะเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงหรือนำไปใช้ในทางที่เสื่อมเสีย ศิลปินผู้ที่สมควรรับการถ่ายทอดกระบวนรำจากครูได้ดีถึงขั้นจริงๆ จึงจะต้องอุทิศตนปฏิบัติรับใช้ครูอาจารย์ เป็นผู้มีสำนึกผิดชอบชั่วดี มีความขยันหมั่นเพียร และมีพรสวรรค์จึงจะสามารถรับการถ่ายทอดได้ วิชาเหล่านี้จึงถือเป็น ของหวง ของแต่ละทางแต่ละสำนัก
ลักษณะทางวัฒนธรรมข้อหนึ่งที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย คือ วัฒนธรรมมีลักษณะเป็นพลวัต ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงสภาพตามปริบทของสิ่งแวดล้อม ความนิยมตามยุคสมัย อิทธิพลจากต่างวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งอิทธิพลต่องานศิลปะทุกแขนง ทั้งที่เรารู้สึกตัวและไม่รู้สึกตัว เช่น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแสดงละครในอดีต ซึ่งแต่เดิมเรามีเพียงโขน ละคร (ในอดีตยังมิได้แบ่งเป็นละครชาตรี ละครนอก ละครใน) เมื่อเรายินดีรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาก็เกิดการผสมผสานกับวัฒนธรรมเก่าโดยที่เรารู้จักปรับปรนด้วยภูมิปัญญาให้เป็นศิลปะแบบของเราเอง อีกทั้งยังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เช่น การเกิดขึ้นของละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์ ละครพูด และละครร้อง ไม่ต่างกับรูปแบบและกระบวนการคิดสร้างสรรค์ ระบำ ซึ่งเป็นทางออกหนึ่งที่นาฏยศิลปินไทยปัจจุบันที่มีความสามารถในเชิงสร้างสรรค์ได้ใช้เป็นเวทีแสดงออกทางความคิด ดังจะเห็นการเกิดขึ้นของระบำจำนวนมากมายภายในตลอดช่วงเวลาแห่งรัชกาลปัจจุบันนี้
การถาโถมของกระแสศิลปะจากชาติตะวันตก คงยากนักที่เราจะปฏิเสธหรือปัดป้องให้พ้นไปจากสภาพสังคม กระแสนี้ค่อยๆ กลืนกินจนถึงขั้นที่เรียกว่าเป็น การครอบงำทางวัฒนธรรม เพราะเราสามารถย่อโลกทั้งใบให้ใกล้กันมากขึ้น รับเอาข้อมูลและวัฒนธรรมจากต่างแดนได้ง่ายขึ้น กระสวนแนวคิดด้านศิลปะจากตะวันตกเข้ามาบดบังศิลปะประเพณีของทุกชาติตะวันออกมิใช่เพียงชาติไทยชาติเดียว กลุ่มหนึ่งต่อต้านเพื่อคงอนุรักษ์สภาพงานเก่า กลุ่มหนึ่งยอมรับเพราะถือว่าความคิดและศิลปะตะวันตกเป็นอารยธรรมและศิลปะของชนชั้นสูง และกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มที่ประนีประนอมรับเอาไว้ทั้งสองฝ่าย เกิดเป็นกระแสความคิดแบบร่วมสมัยนี้ขึ้น
ความคิดนี้เริ่มปรากฏเกี่ยวข้องกับงานนาฏยศิลป์ไทยเมื่อใด ไม่อาจสืบค้นถึงจุดเวลาที่แน่นอนได้ ในงานเขียนของอาจารย์จักรพันธ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ ตอนหนึ่งกล่าวการแสดง โมเดิร์นดานซ์ ที่จัดขึ้นเป็นกิจกรรมรับน้องของคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อประมาณปี พ.ศ.2516 ดังนี้
...โมเดิร์นดานซ์ในงานนี้ ไม่ใช่จินตลีลาประเภทเยื้องกรายหรือบัลเล่ต์เขย่งเก็งกอย แต่เป็นดานซ์อย่างโมเดิร์นจริงๆ ชนิดฝรั่งมาดูแล้วต้องได้อาย มีการเล่นแสงสีและเทคนิคซึ่งคิดค้นโดยรุ่นพี่ เพลงประกอบก็แสนจะคอนเทมโพรารี่ คือไม่มีเมโลดี้อันเป็นของล้าสมัย แต่เป็นเสียงแกรกๆ กรากๆ เหมือนตัวอะไรเกาฝา บางครั้งก็มีเสียงดุ๊ก.. ดริ๊ก.. ก๊อก... แก๊ก เหมือนระบำจากห้วงอวกาศ...[1]
คงเป็นการอธิบายภาพนาฏยศิลป์ร่วมสมัยในระยะนั้นได้บ้างพอสมควร แต่ที่เป็นการนำเอาอัตลักษณ์ทางนาฏยศิลป์มานำเสนอด้วยรูปแบบและการตีความแบบสากลนั้น เห็นได้ชัดจากละครเวทีแนวร่วมสมัยเช่นที่ภัทราวดีเธียเตอร์ที่มีการนำเอาวรรณคดีดั้งเดิมของไทยมาจัดแสดงเป็นละครที่มีการผสานนาฏยศิลป์และเทคนิดการละครได้อย่างลงตัว หรือแม้กระทั่งผลงานละครเวทีเชิงเสียดสีและตีแผ่วรรณกรรมไทยของอาจารย์มัทนี โมชดารา รัตนิน นับจากนั้นกระแสการผสมผสานระหว่างกลิ่นนมเนยจากตะวันตกและกลิ่นธูปควันเทียนแบบไทยจึงเริ่มปรากฏทั่วไปในงานสร้างสรรค์ของกลุ่มละคร สถาบันการศึกษา กลุ่มนาฏยศิลปินสมัครเล่น กลายเป็นนาฏยศิลป์สกุลใหม่ของชาติสยาม ที่ยังไม่รู้ว่าจะจำกัดความด้วยคำใดได้ดี จึงขอเรียกอย่างง่ายๆ ว่า ไทยคอมเทมป์
โดยมากแล้วนักสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ร่วมสมัยหรือ Choreographer นั้นมักเป็นนักออกแบบที่มีทักษะและความสามารถทางนาฏยศิลป์ตะวันตก เช่น บัลเลต์ แจ้ส หรือแม้กระทั่งนักการละครเวที ซึ่งมีความเป็นต่อในความรู้เรื่องการใช้พื้นที่ พลัง ทิศทาง จังหวะ การเคลื่อนไหว แสงเงา สี การจัดวางองค์ประกอบศิลป์ และที่สำคัญคือ การตีความ แนวคิดหรือเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานในการออกแบบงานนาฏยศิลป์ นอกจากนั้นยังต้องรู้จักเทคนิคของการเต้นหรือรำที่จะนำไปผสมผสานหรือผลิตใหม่ (Reproduce) จึงไม่เป็นการง่ายเลยที่นักสร้างสรรค์จำเป็นที่มีความเชี่ยวชาญในองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้เป็นอย่างดี ซึ่งขัดกับรูปแบบอันแท้จริงของนาฏยศิลป์ไทยที่นิยมรูปแบบของความซ้ำ การใช้พลังจากภายใน (Inner power) การเก็บอารมณ์ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่มีพื้นฐานมาจากอุปนิสัยรักสงบไม่นิยมความผาดโผน ดังนั้นเมื่อจะนำเทคนิควิธีการทางนาฏยศิลป์ไทยไปสร้างใหม่ จึงเกิดสภาพขัดกัน (Paradox) เช่น การจะสื่อความหมายด้วยภาษาท่าทางที่เรียบง่ายและชัดเจนเช่นเดิม (เศร้า ก็เอามือประสานไขว้กันตรงกลางลำตัว เป็นต้น) ก็จำจักต้องเพิ่มพลังให้เห็นโดดเด่นเห็นชัด ท่าที่นุ่มนวลเนิบนาบก็สำแดงด้วยพลังที่มากกว่าปกติ ส่วนโค้งของระดับวงและแขนก็จำต้องเหยียดให้มีลักษณะพ้นเกินไปจากระดับมาตรฐาน แต่การที่จะนำเทคนิคเหล่าไปปรับใช้โดยยังคงกลิ่นอายไทย ได้ความงามเชิงสุนทรียะนั้นต้องทำด้วยความเข้าใจในหลักการ มีความประณีตตั้งใจ มิเช่นนั้นการแสดงนั้นก็จะเป็นเพียงการเต้นที่ทำมือเป็นจีบหรือตั้งวงเท่านั้น
การที่นักรำออกมามีบทบาทในการสร้างสรรค์งานประเภทนี้อย่างจริงจังจึงเป็นแนวทางที่น่าสนับสนุน เพราะผู้คุ้นเคยและรู้จักการรำไทยเป็นอย่างดีย่อมจะผลิตงานโดยทัศนะและวิธีการแบบนาฏยศิลป์ไทย งานที่ได้จึงสามารถบ่งชี้ความเป็นนาฏยศิลป์ร่วมสมัยสกุลไทยเลือดแท้ จึงควรจะได้มีการส่งเสริมกระบวนการคิดสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยนี้ให้แพร่หลายอย่างกว้างขวางมากขึ้น คือ ถ้าจะสนับสนุนให้มี ก็ต้องสอนให้เด็กคิดเป็นทำเป็นและทำให้ดี และเปิดช่องทางในการนำเสนออย่างที่ควรจะเป็น ทั้งยังจะต้องควบขนานไปกับงานอนุรักษ์ด้วย
เปรียบเสมือนการรับประทานอาหาร เราเคยกินข้าวกับน้ำพริกและแตงกวา มะเขือเปราะ หากจะลองนำแครอท แอปเปิ้ลมาจิ้มน้ำพริกดูบ้างก็คงจะได้รสชาติที่แปลกไปไม่น้อย สำคัญที่ว่าอาหารจานนี้จะมีคนรับประทานต่อไปได้นานแค่ไหน คนกินจะเลี่ยนเมื่อใด และเมื่อกินอิ่มแล้วจะถูกนำไปทิ้งไว้ตรงไหน รสชาติอาหารเช่นนี้จะเป็นต่อไปเช่นไร ผู้บริโภคเท่านั้นจึงจะตอบคำถามนี้ได้ ความอยู่รอดของศิลปะ ก็คือความอยู่รอดของศิลปินด้วย
--------------------------------------------------------------------------------
[1] ศศิวิมล, แต่งหน้ารับน้อง ใน ศศิวิลสับแหลก. (กรุงเทพฯ : ศรีสารา, 2541), หน้า 288.
Create Date : 24 พฤษภาคม 2550 |
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 2:48:12 น. |
|
3 comments
|
Counter : 1449 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: ศิริประภา IP: 203.113.38.12 วันที่: 15 มิถุนายน 2550 เวลา:21:49:51 น. |
|
|
|
โดย: เด็กนาฏศิลป์ IP: 203.172.159.17 วันที่: 5 สิงหาคม 2551 เวลา:10:15:24 น. |
|
|
|
โดย: พีรพงศ์ เสนไสย IP: 58.147.85.3 วันที่: 24 พฤศจิกายน 2551 เวลา:13:27:47 น. |
|
|
|
| |
|
|