|
มองไปข้างหน้า : อนาคตของสื่อนาฏยศิลป์ไทย
ธรรมจักร พรหมพ้วย
วิวาทะระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยมและนักสร้างสรรค์พัฒนายังคงมีปรากฏให้เห็นในการสัมมนาหรือบรรยายทางวิชาการที่ว่าด้วยนาฏยศิลป์หรือโขนละครรำของไทย เป็นปัญหาสืบเนื่องที่มีมายาวนานพอๆ กับเวลาที่เรามีโขนละครคู่บ้านคู่เมืองก็ว่าได้ หากยังมีการร้องเล่นเต้นรำกันในดินแดนที่เรียกว่าสยามประเทศนี้ก็คงจะต้องถกเถียงกันเรื่องนี้สืบต่อไปนี้ จนกว่าศิลปะแขนงนี้จะปลาสนาการจากแผ่นดิน เมื่อนั้นก็คงจะเป็นเวลายุติของวิวาทะนี้ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ (นาฏกรรมกับการสื่อความและอนาคต ใน โขน คาราบาว น้ำเน่าและหนังไทย, 2534, น.97) ได้เสนอข้อเปรียบเทียบระหว่างทัศนะที่ว่า นาฏกรรมเป็นผลผลิตของสังคม และนาฏกรรมเป็นมาตรฐานสำเร็จรูปที่ลงตัวแล้ว ว่าทั้งสองแนวคิดนี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดในแง่ทีว่าแนวคิดหนึ่งจะเป็นกระจกส่องไปในอดีตและอีกแนวคิดหนึ่งจะเป็นเครื่องมือในการชี้ทางแห่งอนาคต ดังที่กล่าวไว้ว่า
ฝ่ายที่เห็นนาฏกรรมเป็นผลผลิตของสังคมจะย้ำถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารที่เกิดขึ้นกับการแสดงของราชสำนักในต้นรัตนโกสินทร์ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งจะยกเอาเพลง, การประกอบของวงดนตรี, ท่ารำ, หรือแม้แต่เครื่องโขนละครให้เก่าไปถึงสมัยอยุธยา (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2534, น.99)
ไมเคิล ไรท์ นักวิชาการวัฒนธรรมไทยชาวต่างประเทศผู้มีมุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงของนาฏยศิลป์ของไทยไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
ชาวสยามปัจจุบันมักเรียกศิลปะดังกล่าวว่า ไทยเดิม คำว่า เดิม ในที่นี้หมายความว่าอะไร หมายความว่า เก่า? ผมหมายความว่า เลิกไปแล้ว? มันเป็นไปได้ไหมว่าความเปลี่ยนแปลงในสังคมสยามในระยะเวลาประมาณ 200 ปีที่ผ่านมาได้โน้มน้าวจิตใจคนสมัยใหม่ให้รังเกียจคติอินเดียและพื้นเมือง และทุบตีศิลปะการแสดงของสยามจนอยู่ในสภาพปางจะตาย? ขอชวนให้พิจารณาประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมสยามในอดีตที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้
ละครแบบหนึ่งๆ มีอายุสั้น เกิดขึ้นได้ง่ายและเปลี่ยนแปลงรูปได้รวดเร็ว ในทุกยุคทุกสมัย ทุกถิ่นฐานบ้านเมืองย่อมมีแบบแผนการละครของตนไว้ทุกที่ ในถิ่นที่เจริญแล้วนั้นการละครได้มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับอย่างสม่ำเสมอ โดยที่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางอื่นๆ ในสังคม เช่น ทางทัศนศิลป หรือการเปลี่ยนแปลงในสังคมและการเมือง ละครก็เปลี่ยนความคิดตามไปด้วย ละครจึงเหมือนกระจกธรรมชาติที่ฉายความเป็นไปในโลกทุกๆ กรณี ไม่ว่าความเป็นไปใดๆ ในสังคมมนุษย์จะมีมาใหม่เท่าใดก็มักจะไปลงในละครทุกอย่าง ไม่ลงในบทละครก็ลงในแบบการแสดง ไม่ลงในฉากก็ลงไปในแบบแสงสีหรือเครื่องแต่งตัว เป็นต้น เป็นอย่างนี้อยู่เป็นประจำ
สองแนวคิดหลัก อนุรักษ์และพัฒนา ทั้งสองแนวคิดนี้อาจอนุมานเทียบได้กับสองแนวคิดของศาสตราจารย์นิธิ กล่าวคือแนวคิดอนุรักษ์นิยม (Conservative) สอดคล้องกับแนวคิดที่เห็นว่านาฏกรรมเป็นมาตรฐาน (หรือแบบแผน) ที่ลงตัวแล้ว และเหตุที่เสื่อมลงไปเพราะการขาดการเอาใจใส่ของศิลปินและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทำนุบำรุงด้านศิลปวัฒนธรรมในปัจจุบัน ส่วนแนวคิดด้านการพัฒนา (Development) ที่เน้นการสร้างสรรค์และเลือกสรรสิ่งเก่าให้อยู่ได้ในโลกใหม่ เทียบเคียงได้กับแนวคิดนาฏกรรมเป็นผลผลิตของสังคม ที่ยอมรับในความเปลี่นยแปลงตามสภาพสังคมที่เป็นพลวัต ดังจะอธิบายโดยละเอียดดังนี้
นาฏยศิลป์ไทย เสื่อมอย่าง (นักอนุรักษ์) เขาว่าจริงหรือ เหตุที่การละครฟ้อนรำในสยามประเทศไม่เป็นที่เฟื่องฟูดังเช่นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชอันมีพระมหากษัตริย์พระบรมราชูปถัมภกแก่โขนละครทั้งปวง ในอดีตบทบาทหน้าที่ของนาฏยศิลป์ก็ได้รับการยกย่องให้มีศักดิ์ศรีสูงถึงเป็นราชูโภค เหล่านาฏศิลปินก็ได้รับการยกย่องเป็นถึง โขนหลวง ละครหลวง ขึ้นชื่อว่าสิ่งใดได้เป็นถึงของในหลวงก็ดี สิ่งนั้นย่อมมีความเป็นที่สุด หากเป็นศิลปะการแสดงก็จะต้องเป็นอย่างที่ประณีตที่สุด ดีที่สุด เรียกได้ว่ามี ค่าควรเมือง นาฏกรรมตะวันออกมักเป็นศิลปะสูงสุดที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์ ฉะนั้นกำเนิดของนาฏกรรมจึงอยู่นอกสังคม นาฏกรรมได้ถือกำเนิดอยู่คู่เคียงอารยธรรมมานานจนได้พัฒนาไปถึงจุดที่เป็นศิลปะชั้นสูง สังคมประชาธิปไตยได้รับการตราหน้าว่าเป็นบ่อนทำลายวัฒนธรรมหลวง เห็นได้จากการสร้างบาปที่หลอกลวงคนดูว่าดนตรีและนาฏศิลป์ ตามแบบแผน ด้วยนโยบายทางวัธนธัมนำไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจคนในชาติให้หันกลับมาสนใจวัฒนธรรมตนเองมากขึ้น ในด้านนาฏยศิลป์ก็มีการจัดตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ก็มีแนวคิดที่จะนำการฟ้อนรำมาผนวกกับเรื่องมารยาทอันดีงามทางสังคม จึงดำริให้มี การรำโทน แล้วแปรรูปให้มีแบบฉบับเดียวกันทั้งชาติแล้วเรียกใหม่เสียว่า รำวงมาตรฐาน (เห็นได้จากการลีลาศเพื่อการสโมสรในประเทศตะวันตก) ด้วยการกำหนดวิธีการเช่นนี้จึงทำให้การฟ้อนรำผันแปรบทบาทไปตามความต้องการแห่ง รัฐ ก่อให้เกิดรูปแบบ รัฐนิยม และยังผลสืบเนื่องแนวทางปฏิบัติมาจนถึงนาฏยศิลป์ในสังกัดกรมศิลปากรซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดรัฐ ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าแบบแผนการแสดงจากกรมศิลปากรเท่านั้นจึงจะได้รับการยอมรับ ยกย่องว่าถูกต้องงดงาม ซึ่งล้วนเป็นการบ่งบอกถึงการช่วงชิงพื้นที่ทางความคิดโดยอ้อมที่ยังผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของนาฏยศิลป์ในปัจจุบัน ความเสื่อมของโขนละครในสมัยประชาธิปไตยน่าจะเกิดจากการที่คนส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจในจารีตที่กำกับอยู่อย่างเพียงพอ ความงาม ความหมายและความรู้สึกจึงกลายเป็นสิ่งที่ผู้ชมคิดว่าจับต้องไม่ได้ ขนบหรือจารีตเหล่านี้ไม่เป็นที่รู้จักหรือเข้าใจกันอีกต่อไป อาจมาจากการที่ขนบนั้นไม่แพ่รหลายอย่างเพียงพอที่จะเป็นฐานของการรองรับการถ่ายทอดของสังคมได้ดีพอ นิมิตร พิพิธกุล กล่าวไว้ว่าศิลปะการแสดงของไทยเปรียบเหมือนชีวิตที่อยู่คู่เคียงกับสายน้ำ ที่พร้อมจะไหลไปตามกระแส เป็นการเดินทางที่เป็นไปอย่าง เรื่อยๆ ผันแปรไปตามแต่ชีวิตจะพบสิ่งใดบ้างจนกว่าจะถึงอวสานแห่งชีวิต ดังนั้นคนไทยจึงสามารถดูโขน ละคร ลิเกได้ตลอดวันหรือตลอดคืนโดยไม่รู้จักเบื่อหน่าย เพราะในเนื้อหาของเรื่องเราจะพบสิ่งใหม่เข้ามาอยู่เสมอ กรมศิลปากรฐานะที่ตกเป็นเป้าสายตาและความคาดหวังของคนทั้งชาติในการที่จะทำหน้าที่อนุรักษ์งานนาฏยศิลป์ให้ยังคงอยู่ต่อเนื่องไปได้นั้น กลับถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสังคม ว่ากลับกลายเป็นตัวการสำคัญในการทำลายศิลปะประจำชาติ แม้ในทุกวันนี้ กรมศิลปากรก็เริ่มยอมรับความผิดพลาดอันเคยได้ก่อไว้ และพยายามก็แก้ไขแล้วก็ตาม ละครสมัยใหม่ที่เรียกกันว่าละครกรมศิลปากร จึงเป็นการอนุรักษ์ไปตามภาวะยุคสมัย บนรากฐานของหลักการเก่า นักวิชาการการละครบางท่านกล่าวว่า กรมศิลปากรน่าจะมีการแสดงตำนานหรือนำความวิจิตรแบบดั้งเดิมมาแสดงบ้างมิใช่ปล่อยให้ ความแปลกใหม่ เข้าครอบครองการนำเสนอจนลืมแบบประเพณีดั้งเดิมไปหมด ทำให้คนรุ่นหลังเข้าใจว่าการแสดงที่เขาเห็นอยู่นั้น คือ ของดั้งเดิม ทำให้แยกไม่ออกระหว่าสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ เด่นดวง พุ่มศิริได้ให้ความเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของโขนละครไว้ว่า
การที่เขาทำอยู่เช่นนั้นมิใช่ว่าจะทำอย่างอื่นไม่ได้ แต่เขาพอใจที่จะแสดงอย่างนั้น และพอใจจะดูละครแบบนั้นอยู่ต่างหาก เหมือนอย่างเราดุละครใน ที่มีการแสดงเป็นแบบแผนตายตัวอยู่โดยเฉพาะคนดูบางคนไม่คุ้นเคยก็ว่าอืดอาดไม่ทันใจ ควรปรับปรุงให้ว่องไวทันสมัย ก็ต้องบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าเปลี่ยนแปลงไปเสียจากแบบนี้ก็ไม่ใช่ละครใน แบบนี้เป็นแบบการแสดงที่ละเอียดประณีต แพรวพราวไปด้วยศิลปะการร้องรำและดนตรี ถ้าไม่พอใจดูละครอย่างนี้ก็ต้องไปดูละครอย่างอื่น ที่ศิลปทางนี้จางลงๆ เป็นลำดับ คือ ละครนอก ละครชาตรี ละครพันทาง ลิเก ละครร้อง ถ้าไม่พอใจดูละครที่ร้องๆ รำๆ ก็ไปดูละครพูด ซึ่งเป็นละครอีกแบบหนึ่ง แต่การจะมาติละครที่เป็นแบบแผนอยู่แล้วว่าไม่ดีอย่างนั้น ให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นตามในตนนั้นไม่ควร บทบาทของเจ้ากับการอนุรักษ์ของเก่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นอีกท่านหนึ่งที่มีแนวคิดขัดแย้งต่อกระแสการปรับปรุงโขนและละครที่แสดงในโรงละครแห่งชาติ ดังปรากฏในข้อวิจารณ์ของท่านหลายครั้ง เช่น
...กรมศิลปากรนี่ละเป็นไอ้ตัวทำลายการละเล่นพื้นเมืองของไทยจนหมดไปแล้ว...ถูกกลืนหมดด้วยทางราชการอันไพศาลใหญ่โตมีอำนาจวาสนาของไทย...กรมศิลปากรมีของดีที่จะรักษา เป็นของดีที่ต้องแสดงเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นดนตรี นาฏศิลป์ โขน ละครนอก ละครใน กรมศิลปากรจะไปคิดว่าแสดงแล้วขาดทุนไม่ได้ กรมศิลปากรเป็นหน่วยราชการมีหน้าที่ต้องทำความรู้เหล่านี้ให้แจ้งแก่ประชาชนชาวไทย แกจะมาดูหรือไม่ดูไม่เป็นปัญหา เราต้องแสดง ดูไม่รู้เรื่องช่างแก เราต้องแสดง เป็นหน้าที่ของเราเพื่อให้การต่อเนื่องเกิด อย่าไปคิดเอาง่ายๆ ลวกๆ ว่าเล่นเมื่อไรจะต้องได้กำไรเท่านั้นเท่านี้ กรมศิลปากรไม่ใช่ยี่เกครับ...
จากแนวคิดข้อนี้ คนในยุคสยามประชาธิปไตยอาจไม่เข้าใจถึงความรู้สึกของเชื้อพระวงศ์ที่มีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังคง รับใช้เจ้าจนตัวตาย รับใช้นายจนพอแรง แม้ว่าประเทศไทยจะได้ลดบทบาทของพระมหากษัตริย์ลงแล้วก็ตาม เชื้อพระวงศ์เหล่านี้ก็ยังคงตระหนักอยู่เสมอว่าโขนละครยังคงเป็นของเนื่องในหลวง จำต้องปฏิบัติและรู้ดีถึงประเพณีหลวงที่เคยปฏิบัติกันมา ดังจะเห็นได้ว่าเชื้อพระวงศ์ เช่น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรมีโขนสมัคร ราชสกุลจิตรพงศ์ในเสด็จในกรมพระนริศรานุวัดติวงศ์มีละครที่วังปลายเนิน ราชสกุลกุญชรในเจ้าพระยาเทเวศร์มีโรงเรียนนาฏศิลป์ขาบมงคล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชรับโขนธรรมศาสตร์ไว้ในอุปถัมภ์ทั้งยังให้มีการฝักหัดโขนที่บ้านท่าน ปรากฏการณ์นี้ยังคงสืบเนื่องในสังคมเจ้าที่ถูกเบียดให้ตกกระป๋องในเมืองประชาธิปไตย แต่อย่างน้อยก็เป็นช่องทางเล็กๆ ทางหนึ่งที่ยังจะพอเป็นที่ว่างในศิลปะของหลวงยังคงอยู่ได้ทานกระแสสื่อการแสดงอื่นในสังคม ปรากฏการณ์ที่เป็นที่น่ายินดีที่สุดในรัชกาลปัจจุบัน คือ การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ซึ่งเป็นเสมือนพรหมผู้อวตารปกปักรักษานาฏศิลป์ แม้ว่าพระองค์จะมิได้เป็นกษัตริย์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจดังแต่ก่อน การมีโขนละครหลวงในพระองค์ก็ถูกยุบเลิกไปตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 7 แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันก็ยังทรงรับหน้าที่เป็นพระบรมราชูปถัมภกแก่นาฏยศิลป์โขนละคร ดังเห็นได้จากการที่ทรงประกอบพิธีพระราชทานและต่อท่ารำองค์พระพิราพถึง 2 ครั้ง ในรัชกาลนี้ เพราะจารีตโขนละครกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าพิธีนี้จะต้องกระทำโดยกษัตริย์เท่านั้น จะอาจเป็นแสงสว่างให้ศิลปินโขนละครยังพอจะมีกำลังใจในการอนุรักษ์งานด้านนี้ต่อไปได้บ้าง นอกจากนี้เชื้อพระวงศ์ชั้นพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ก็ทรงมีความสนพระทัยในการดนตรีนาฏศิลป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จเจ้าฟ้าผู้ทรงรอบรู้ในเชิงการศิลปะทั้งปวง ก็ทรงเหมือนหลักชัยที่ลงรากปักลึกให้นาฏดุริยางคศิลป์ยังคงแน่นหนาสืบต่อไปภายหน้าได้
แนวคิดพัฒนา : บ้าหรือสร้างสรรค์ ความขัดแย้งของแนวความคิดในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงนาฏยศิลป์เพื่อโน้มน้าวให้เยาวชนกลับมาสนใจและเห็นความสำคัญของนาฏยศิลป์ซึ่งสวนทางกับกระแสธารแห่งการอนุรักษ์ เพราะผู้ที่ยึดมั่นอยู่ในประเพณีอย่างเดิมนั้น กลับเห็นว่า การพัฒนานาฏยศิลป์ให้กลายรูปแบบเพื่อสนองความสนใจของผู้ดูนั้นเป็นการทำลายศิลปะที่ยอมรับนับถือกันมาเป็นเวลานาน อีกทั้งครูอาจารย์หัวโบราณก็มักจะบริภาษว่าร้ายผู้คิดการอุตริเปลี่ยนแปลงศิลปะเหล่านี้ บ้างก็ถูกสาปแช่งหรือคอยสมน้ำหน้าเมื่อเกิดความเสียหายจากการแสดงที่ถือว่า ผิดครู หรือ แรงครู บ้าง ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และขนบจารีตของโขนละครที่เคยปฏิบัติกันมาทำให้นักสร้างสรรค์ถูกตำหนิอย่างใหญ่หลวง ว่า อัปรีย์จะกินโรง ทั้งนี้เพราะธรรมเนียมการฝึกหัดโขนละครต้องมีวินัยเคร่งครัดจึงจะเกิดเป็นความงาม ความมีฝีมือ ดังนั้นศิษย์จะต้องพยายามรักษาแบบแผนที่บุรพาจารย์ได้สั่งสอนถ่ายทอดต่อๆ กันมาโดยเคร่งครัด วิธีการเรียนการสอนนาฏยศิลป์ไทยจึงเน้นที่การเลียนแบบ (Imitation) มากกว่าการสร้างสรรค์ (Initiation) ยิ่งทำได้เหมือนครูเท่าใดยิ่งถือว่าดี ใครที่คิดรำแผลงๆ ก็มักถูกเรียกว่าพวกบ้าดังคำที่เสถียรโกเศศ ได้กล่าวไว้ว่า
คนเล่นการร้องรำทำเพลงนั้น เห็นว่ามีอยู่สามพวก จะตั้งชื่อเล่นว่านักเรียนพวกหนึ่ง ครูพวกหนึ่ง กับบ้าอีกพวกหนึ่ง อันพวกนักเรียนนั้นเรียนได้มาอย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น การหวงวิชาเกิดแต่พวกนี้ เพราะถ้าวิชาที่เรียนได้มาแก่ใครไปหากินตนก็อด พวกครูนั้นรักวิชามาก แน่ไปอีกหลายสถาน และมีปัญญาที่จะเลือกฟั้นใช้แต่วิชาที่ดีตามแบบขึ้น ส่วนพวกบ้านั้นแม้จะรู้วิชาก็ละทิ้ง ทำเอาแต่ตามชอบใจตัว
ปัจจุบัน กรมศิลปากรได้มีการตัดทอนความยืดเยื้อของเนื้อเรื่องการแสดงให้กระชับ การเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายบางอย่าง การสอดแทรกบทตลกในการแสดงโขน การจัดสร้างระบำแทรกในโขนละคร ล้วนเกิดผู้ที่มีแนวคิดว่าการที่นาฏยศิลป์ไทยไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรนั้นก็ด้วยเหตุที่ไม่เข้าใจในรูปแบบลักษณะ และวิธีการของนาฏยศิลป์ไทย ทำให้ดูละครไม่สนุก เกิดความเบื่อหน่าย ถ้าไม่พยายามปรับปรุงแก้ไขแล้วจะทำให้นาฏยศิลป์ไทยไม่ได้รับความนิยมและอาจสูญสิ้นไปในที่สุด แนวคิดในการพัฒนาปรับปรุงมิให้การแสดงของไทยเกิดความซ้ำซากจำเจหรือยึดติดกับวิธีการเดิมๆ ทางหนึ่ง คือ การพัฒนาเรื่องฉาก เวที และเทคนิคสมัยใหม่ รวมทั้งในเรื่องแสงและเสียง ซึ่งมีผลต่อการรับรู้ของผู้ดู การพัฒนาที่มากจนเกินไปทำให้อลังการเหล่านี้โดดเด่นมากกว่าการดำเนินเรื่องและการแสดง ซึ่งขัดกับขนบเดิมของไทยที่ใช้เตียงเพียงตัวเดียวก็สามารถใช้แสดงได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา นาฏยศิลป์ไทยในอดีตไม่ใช้ฉากหรือใช้น้อยที่สุด ส่งเสริมให้ผู้ดูได้ใช้จินตนาการได้อย่างเต็มที่ นักวิจารณ์จากสายละครตะวันตกกลับเห็นว่าเป็นเรื่องของการไม่ยอมพัฒนา บ้างก็ว่าการจัดฉากมากนั้นก็เพื่อปิดบังความบกพร่องของการแสดง การเปลี่ยนแปลงมากเกินไปอาจจะนำไปสู่ความเสียหาย หากเปิดใจรับวิทยาการใหม่ๆ ก็เป็นการปรับปรุงมรดกเก่าให้อยู่รอดได้ รักษาความเป็นตัวเองมิให้สูญสลายหากไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็จะนำไปสู่ความเสื่อมโทรม อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญในการสร้างและพัฒนานาฏศิลป์ คือ การประสานกันในทุกฝ่ายเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของงานชิ้นนั้นให้ปรากฏขึ้นมา เป็นการเรียกร้องและท้าทายสติปัญญา ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และความมีรสนิยมจากผู้รู้ทุกสาขา
ร่วมสมัย ทางออกของความอยู่รอด แนวคิดแบบประนีประนอมเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้เป็นสากลหรือเป็นโลกาภิวัตน์นั้น ควรจะต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมต้นกำเนิดของเราเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องผูกติดหรือไม่เปลี่ยนแปลงเลย ควรที่จะต้องมีสำนึกทั้งสองขั้ว ขั้นหนึ่ง คือรู้ว่าเราเป็นอย่างไร และขั้วที่สอง คือรู้ว่าสิ่งใดที่มีอยู่โลกนี้แล้วเป็นสิ่งดีก็ควรรับเอาไว้ โดยธรรมชาติศิลปะย่อมมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง การปรับปรุงให้เป็นแบบร่วมสมัยนี้ควรทำด้วยความเข้าใจ มิฉะนั้นอาจเป็นการเปลี่ยนจากความวิจิตรไปสู่ความกระด้างของศิลปะ ในเรื่องการพัฒนาไปสู่ความร่วมสมัยนี้มีภัทราวดี มีชูธน แห่งภัทราวดีเธียเตอร์เป็นผู้นำในช่วงแรก และมีทัศนะต่อการสร้างสรรค์งานแสดงไทยในรูปแบบเฉพาะตัวเองว่า
งานที่ทำอยู่นี้เรียกว่าละครสมัยใหม่สไตล์ดิฉัน จุดประสงค์ก็คือ พยายามกลับไปสู่สไตล์ที่เป็นไทยแท้ แต่ว่าการกลับไปสู่สไตล์แท้ๆ ได้ถึงขนาดนั้น ต้องทดสอบลองผิดลองถูก เทคนิคของใครดีก็เอามาลองดู เพื่อจะได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่เพื่อตามก้นใคร...ทำอย่างไรน้ำพริกปลาทูถึงจะอร่อยได้อีกต่อๆ ไป ต้องหาวิธีการ เพราะว่าถ้ามันอร่อยแล้วกินอยู่แค่นี้ เด็กรุ่นใหม่ก็จะเหมือนเรา คือ เบื่อหน่าย ไม่สนใจ กว่าจะรู้ว่าอร่อยก็สายไปแล้ว หรือว่าศิลปะที่เป็นรากเหง้ามันตายเสียแล้ว การไปสู่ความเป็นร่วมสมัย (Contemporary) ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ดูในปัจจุบันที่นิยมความแปลกตา และการผสานผสานรูปแบบทางศิลปะ ผู้ดูจะมองว่านี่เป็นความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งคิดได้แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ก็จะเป็นที่ถูกใจคนมากขึ้นเท่านั้น จนในปัจจุบันแนวคิดร่วมสมัยนี้ไดกำหนดขึ้นเป็นหลักสูตรที่นักศึกษาด้านนาฏยศิลป์จะต้องออกแบบการแสดงร่วมสมัยได้ แต่บางครั้งผลงานที่ออกมาก็ถือได้ว่ายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนแน่นอน กลายเป็นถังขยะที่รองรับส่วนเกินของความเป็นจารีตและความเป็นสมัยใหม่ ผู้ดูเองก็รู้สึกการแสดงบางชุดดูไม่รู้เรื่องหรือยากแก่การตีความ ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นวิธีการคิดและวิธีการแสดงแบบตะวันตกที่นำมาปรับปรนให้เข้ากับบริบทแบบไทยๆ ในอนาคตข้างหน้านี้ศิลปะแบบร่วมสมัยน่าจะมีจุดยืนเป็นที่แน่นอนมากขึ้น เพราะหน่วยงานภาครัฐก็หันมาให้ความสำคัญต่อกระบวนการทำให้วัฒนธรรมเป็นแบบร่วมสมัย ดังเห็นได้จากการเกิดขึ้นของสำนักศิลปกรรมร่วมสมัยที่จะคอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และแสดงจุดยืนของนาฏยศิลป์ร่วมสมัยต่อไป
นาฏยพาณิชย์ : ทางออกหรือทางตัน งานศิลปะจำเป็นต้องขายได้ หรือไม่ เป็นคำถามที่ชวนให้นึกถึงการมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งระบบทุนนิยมที่สังคมไทย ได้นำเอากรอบนี้มาเป็นตัวกำหนดสภาพชีวิตของชาวสยามในยุคปัจจุบันที่ต้องดิ้นรนอยู่รอดก็เพื่อ เงิน ไม่เว้นแม้แต่ศิลปิน ก็ผันผ่านจากระบบอุปถัมภ์ของกษัตริย์และเจ้านายมาสู่เงื้อมมือของนายทุนผู้ซื้อศิลปะไปเสพย์ และแสดงอำนาจความโก้หรู ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ได้เป็นผู้เปิดประเด็นเรื่องนาฏยพาณิชย์ไว้ว่า นาฏยศิลป์ในโลกปัจจุบันต้องพึ่งพา การโฆษณา ประชาสัมพันธ์และการตลาด ทำให้กลายเป็น Show Business มิเช่นนั้นก็คงอยู่ไม่ได้ สอดคล้องกับแนวคิดของการทำให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม (Cultural product) เป็นการเปลี่ยนมุมมองให้สัมพันธ์กับสภาพสังคมที่ต้องพึ่งพาวิชาการเศรษฐศาสตร์เข้ามาทำให้ศิลปะแปรรูปเป็นเงินทอง เพื่อใช้ในสังคมนิยม จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่จะทำให้นาฏศิลป์ซึ่งเป็นสินค้าจำกัดประโยชน์ใช้สอย มีกลุ่มผู้ซื้อที่จำกัด มาเป็นสินค้าที่ขายได้ จำเป้นที่จะต้องพึ่งพาความรู้ด้านการตลาดนี้เข้ามาปรับใช้ต่อนาฏยศิลป์เพื่อจะทำให้ขายได้อย่างสำเร็จและตรงเป้าหมาย จากแนวคิดบางครั้งก็ดูเหมือนเป็นการลดคุณค่าของตัวศิลปะ ดังที่การท่องเที่ยวได้ตกเป็นอาชญากรมาแล้ว
คนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ พวกฝ่ายจัดการธุรกิจศิลป์นั้น เราไม่ค่อยได้พัฒนาหรือสร้างขึ้นมา มีแต่คนอยากอยู่บนเวที ปัญหาเรื่องหาเงินไม่คล่อง หาโรงไม่คล่อง จัดการขายตั๋วไม่คล่อง โฆษณาไม่ค่อยเป็น หาเวลาทีวีไม่ได้ การจัดการหลังโรงไม่ค่อยเป็นเพราะเราจะเล่นกันท่าเดียว หลักสูตรควรต้องมีการขยายขีดความสามารถทางด้านนี้ไว้สำหรับคนที่ไม่สวยแต่มีหัวทางด้านธุรกิจ หลักสูตรจะต้องเป็นหลักสูตรที่เบ็ดเสร็จแล้วเอาไปใช้ทำธุรกิจด้านอื่นได้ และในขณะเดียวกันหลักสูตรปรีชาญาณที่เน้นเฉพาะรำกันสุดชีวิตด้วยคนที่สวยที่สุด มีความสามารถที่สุดนั้นไม่มี รำเป็นโหลอยู่ที่ลานพระแก้ววังหน้านั่นเอง ไม่มีหลักสูตรที่จะคัดเอาหมาย 1 คัดหาศิลปินกันจริงๆ เสียเลย
ศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้แนะนำว่าหลักสูตรที่จะส่งเสริมเรื่องนาฏยพาณิชย์นี้ได้เห็นจะทำได้ในแขนงวิชาทางด้านนิเทศศาสตร์ ซึ่งก็ได้นำมาปรับใช้แล้ว นอกจากนี้การเกิดขึ้นของหลักสูตรการบริหารวัฒนธรรม ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เข้ามารองรับแนวคิดนี้ได้อย่างพอเหมาะ
กระบวนการถ่ายทอดท่ารำผ่านทางสำนักนาฏศิลป์เอกชน นอกเหนือไปจากสถาบันการศึกษาของรัฐทั้งในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา ที่มีหน้าที่ผลิตบัณฑิตด้านนาฏยศิลป์อย่างแพร่หลายมากในปัจจุบัน เห็นได้จากการยอมรับในวิชาชีพนาฏยศิลป์ที่บรรจุเข้าในหลักสูตรศิลปกรรมศาสตร์ของหลายสถาบันการศึกษา เป็นแนวโน้มที่จะสร้างผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขานี้ให้เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันสำนักนาฏศิลป์เอกชนที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของเชื้อพระวงศ์ก็ดี หรือสถาบันที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการสอนนาฏยศิลป์รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Studio ก็ดี บ่งชี้ให้เห็นถึงช่องทางอาชีพที่จะทำให้นาฏยศิลป์ยังพอมีที่ทางในสังคมได้บ้าง แต่กระนั้นก็ดีก็ได้ทำให้บทบาทนาฏยศิลป์เปลี่ยนแปลงไปบ้าง บทบาทของการเรียนรำได้เปลี่ยนแปลงจากการมุ่งไปสู่ความเป็นมืออาชีพ มาสู่การแสวงหาสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชนชั้นกลางในสังคมเมือง ส่วนผู้เรียนนั้นก็เปลี่ยนเป้าหมายที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางชั้นเชิงศิลป์ มาเป็นเครื่องบ่งบอกสถานภาพทางสังคม เช่น ความเป็นกุลสตรี ความเป็นผู้มีฐานะ และความเป็นผู้มีการศึกษา ความเป็นโพสต์โมเดิร์นที่เน้นที่การยอมรับในความแตกต่างทางวัฒนธรรม ก็ทำให้ผู้ที่สวนกระแสสังคมเป็นที่โดดเด่นในสายตาผู้อื่น ในขณะที่เด็กจำนวนมากหันไปเอาดีทางด้านการเต้นแร็พหรือใช้ชีวิตอินดี้อยู่ตามสถานีรถไฟฟ้า กลุ่มเด็กที่หันมาเรียนที่ถือได้ว่าเป็นความเก๋ไก๋ไม่น้อย พอที่ผู้ปกครองจะนำไปอวดและเปรียบเทียบกับลูกชาวบ้านได้ ยังไม่นับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ไหลผ่านวงธุรกิจการเรียนการสอนนาฏยศิลป์ เช่นนี้ ก่อเกิดเป็นวงจรที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น การรับตัดชุดการแสดง การจัดแสดง เพื่อส่งเสริมความมีหน้ามีตา ดังจะต้องเฝ้าดูธุรกิจนี้ต่อไป
นาฏศิลป์เพื่อการท่องเที่ยวเริ่มเสื่อมและเปลี่ยนแปลงทิศทาง ถึงแม้ว่าทางเลือกของนาฏศิลป์ไทยสายนี้ จะเป็นทางสายที่ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไปบ้าง แต่แท้ที่จริงแล้วก็เป็นการเปลี่ยนในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อย เพื่อที่จะรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติส่วนใหญ่เอาไว้ อีกทั้งยังเป็นการเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะกับรสนิยมของคนในยุคปัจจุบันที่มีต่อคำว่า เวลา เป็นตัวกำหนดทุกอย่างก้าว ส่วนกระแสของการเปลี่ยนแปลงในอนาคตจะเป็นไปอย่างไรนั้นก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องติดตามดูกันต่อไป เช่น นาฏศิลป์ที่แสดงตามร้านอาหาร มักถูกประเมินว่ามีคุณภาพต่ำ ไม่ได้มาตรฐานทางศิลปะ ทั้งนี้เกิดจากปัจจัยด้านเวลา ความต้องการจะสื่อสารกับนักท่องเที่ยวผู้มาจากจากต่างวัฒนธรรม แต่ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าเป็นสำคัญ แต่จะเห็นได้ว่าการนำนาฏยศิลป์มาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ถูกลดบทบาทลงเนื่องจากในช่วงที่ประเทศไทยสนับสนุนการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันมากนั้น ทำให้เกิดการแข่งขันในเชิงธุรกิจของคนในวงการนาฏยศิลป์กันเอง ทั้งที่เกิดกับการท่องเที่ยวแห่งประเทไทยโดยตรงและเกิดกับธุรกิจการท่องเที่ยวภายนอก อีกทั้งการโจมตีจากสังคมว่าการท่องเที่ยวเป็นบ่อนทำลายศิลปะก็ทำให้การพยายามนำนาฏยศิลป์ไปเป็นตราสินค้าทางการท่องเที่ยวลดบทบาทลงอย่างเห็นได้ชัด แนวคิดเรื่องการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม (Intercultural communication) จะเป็นทางออกในการพัฒนาการแสดงนาฏยศิลป์ เพราะแม้ชาวไทยด้วยกันเองยังมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ทำให้การรับรู้ต่อศิลปะการแสดงของแต่ละกลุ่มย่อมมีความแตกต่างกัน การเผยแพร่นาฏยศิลป์สู่ชาวต่างชาติก็เป็นวิธีแสดงที่จะแสดงความเป็นปึกแผ่นของวัฒนธรรมไทย ดังจะเช่นได้การจัดประชุมผู้นำทางเศรษฐกิจหรือเอเปคนั้น นาฏยศิลป์ได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการแสดงความเป็นชาติ แต่ทั้งนี้ต้องกลับมาพิจารณากระบวนการถ่ายทอดตัวศิลปะว่ามีการเปลี่ยนแปลงในด้านรูปแบบเพื่อความสะดวกแก่ผู้ดูต่างวัฒนธรรมอย่างไร และวัฒนธรรมที่เผยแพร่ต่อมวลชนระดับโลกเช่นนี้ จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ของประเทศได้ดีจริงหรือไม่ เพียงไร
การกลายรูปจากศิลปะมาเป็นสื่อ จากมุมมองที่ว่านาฏยศิลป์เป็นทั้งศิลปะและเป็นทั้งสื่อนั้น เป็นความคิดที่มาจากกระแสตะวันตกที่เล็งเห็นว่าศิลปะการแสดงนั้นเป็นสื่ออย่างหนึ่ง เพราะเกิดเป็นกระบวนการสื่อสารทั้งระหว่างผู้แสดงกับผู้ดู ผู้แสดงด้วยกันเอง และภายในตัวแสดง และในภูมิปัญญาการแสดงของไทยเรานั้น เราไม่เคยมองว่าโขนละครเป็นสื่อมาก่อนเลย การฟ้อนรำถูกกำหนดด้วยบทบาทหน้าที่ทางสังคม เช่น พิธีกรรม บำเรอพระเจ้าแผ่นดิน แก้สินบน เป็นต้น เมื่อนักวิชาการสื่อเข้ามามีบทบาทในสังคมและเป็นที่นิยมมากนาฏศิลปินหรือครูละคร ก็มักจะเหมาและประเมินค่าให้ศิลปะการแสดงของไทยเป็นดั่งการละครตะวันตกที่มุ่งเน้นว่า การแสดงต้องสื่ออะไรแก่ผู้ชม ซึ่งบางครั้งจุดเน้นของโขนละครก็มิได้อยากจะสื่ออะไรแก่ผู้ชม หากแต่เป็นการอวดความสามารถที่รำได้งดงาม อวดทักษะความเชี่ยวชาญในเชิงละคร เนื้อเรื่องโดยมากก็เป็นเรื่องที่คนดูรู้อยู่แล้ว คนดูจึงมาดูความสามารถและหน้าตาของนักแสดง เป็นต้น การสวนทางกันเช่นนี้จึงมีนักวิชาการสื่อยัดเยียดบทบาทศิลปะการแสดงไทยให้กลายเป็นเพียงสื่อพื้นบ้านซึ่งกำลังปะทะคารมกับสื่อใหญ่สมัยใหม่อย่างสื่อมวลชน ด้วยเหตุนี้คนในปัจจุบันจึงมองแค่เพียงว่าจะเอาสื่อพื้นบ้านนี้ไปใช้อย่างไร เสมือนเป็นอิฐเก่าก้อนหนึ่งที่จะไปจัดวางไว้ตรงไหนแล้วดูดีขึ้นมาเท่านั้น หาได้มีบทบาทเป็นศิลปะประจำชาติดังเช่นแต่ก่อนไม่ เมื่อถูกลดบทบาทลงอย่างกะทันหันเช่นนี้ การพยายามที่จะยืนหยัดด้วยตัวเองจึงกลับต้องพึ่งกำลังของวิชาการสมัยใหม่เช่น นิเทศศาสตร์ ที่จะพยุงให้นาฏยศิลป์อยู่รอดได้ ออร์กาไนเซอร์ : คนขายสื่อศิลปะ ละครประสมโรงในอดีตของไทยที่มีตั้วโผเป็นผู้เลือกและหยิบเอาผู้มีฝีมือจากที่ต่างๆ มาเล่นรวมกัน ได้กลายรูปมาเป็นการทำงานระบบบริษัทที่มี Creative เป็นผู้กำหนดความคิดรวบยอดของการแสดง และมีหน้าที่เลือกเอาคณะนาฏยศิลป์ที่เห็นว่ามีรูปแบบสอดคล้องกับการนำเสนอมาทำงานร่วมกัน ลักษณะเช่นนี้ท้าทายต่อความอยู่รอดของนาฏยศิลปินในโลกปัจจุบันเป็นอย่างมาก แม้จะมองว่าการแข่งขันเช่นนี้ก่อให่เกิดพัฒนาการในเชิงคุณภาพของตัวางนศิลปะ แต่สภาพการณ์เช่นนี้จะทำให้เกิดข้อบาดหมางเช่นละครในอดีตมี เช่น การรับงานตัดหน้า การดึงตัวชูโรงของแต่ละคณะไปผสม ทำให้เกิดช่องทางแก่นักแสดงอิสระมากมายที่ไม่ได้มุ่งเน้นในเชิงคุณภาพของการแสดงแต่กลับเห็นว่านาฏยศิลป์เป็นช่องทางที่จะทำมาหากินได้โดยสะดวก การแสดงแสงเสียงที่มีการนำนาฏยศิลป์เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในแทบจะทุกที่ที่มีโบราณสถาน เบื้องหลังของการแสดงนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริษัทออร์กาไนเซอร์เหล่านี้ จะไปแข่งประมูลกันได้ในที่ใดบ้าง ในเทศกาลใหญ่ เช่น ลอยกระทงหรือสงกรานต์ ที่เรียกกัน หน้างาน ของชาวนาฏยศิลป์ในปัจจุบัน มีการแสดงแสงเสียงเกือบจะทุกจังหวัด ภายในคืนเดียวอาจมีการแสดงแสงเสียงเป็นร้อยที่ ทำให้เห็นภาพการเจริญเติบโตของธุรกิจออร์กาไนเซอร์ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหวังใจได้เพียงว่าความพึ่งพาระหว่างบริษัทออร์กาไนเซอร์และผู้ผลิตนาฏยศิลป์จะสามารถดำเนินไปด้วยกันอย่างสวยงาม
คนดู : ผู้ขีดเส้นทางนาฏศิลป์ในโลกใบใหม่ การพัฒนาคนดู (Audience Development) เป็นหัวข้อหนึ่งที่วงวิชาการละครในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นำมาพูดถึงอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพราะแต่ละประเทศต่างก็มีวัฒนธรรมประจำชาติที่เป็นเอกลักษณ์ฉพาะ รวมถึงมีความหมากหลายทางวัฒนธรรมในตัวอยู่ทั่วทุกประเทศ หากแต่การสร้างจิตสำนึกให้คนดูนั้นสามารถอยู่ได้กับทั้งสิ่งเก่าและเข้าใจในสิ่งใหม่ ย่อมเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่าการแสดงของไทยทั้งที่เป็นของดั้งเดิมและปัจจุบันนั้นต้องคำนึงถึงผู้ดูเป็นสำคัญ เมื่อลิเกแสดงไม่มีก็มีการตะโกนว่าหรือขว้างปาของใส่ หากละครโทรทัศน์เรื่องใดกล้าขัดใจคนดูโดยการให้พระเอกหรือนางเอกตา ผู้จัดก็มักได้รับการต่อว่าต่อขานเสมอ การที่จะทำให้คนดูเป็นทั้งผู้รับสารและที่ดีและส่งเสริมให้การแสดงยังคงอยู่และพัฒนาแบบต่อไปได้นั้น รากฐานที่สำคัญก็คือ การศึกษา โดยเฉพาะความรู้และความเข้าใจที่มีต่อสื่อบันเทิงและศิลปะการแสดงทุกประเภท การผลิตงานให้ดีก็จะมีผลต่อคนดู คือเป็นการเปิดโอกาสให้ได้สัมผัสกับสิ่งที่ดีแล้วนำสิ่งนี้ไปไตร่ตรอง ครุ่นคิดพินิจนึกต่อไป ถือเป็นปฏิบัติการในเชิงรับที่สัมพันธ์กับเชิงรุกอันได้แก่ การจัดตั้งสำนักฝึกหัดละคร การเรียนการสอนเทคนิคการแสดง วิธีวิเคราะห์ ซึ่งจะเจาะจงไปยังผู้ผลิตมากกว่าผู้ดู คนดูที่มีความใส่ใจจะปรับตัวและให้การศึกษากับตัวเองได้ และจะเติบโตไปพร้อมๆ กับคณะละคร คณะละครก็จะต้องเรียนรู้บางอย่างจากคนดู ซึ่งต้องไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย การละครเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication) ซึ่งมีกระบวนการที่สัมฤทธิผลได้ก็ต่อเมื่อทั้งผู้ส่งสาร (ผู้แสดง) และผู้รับสาร (ผู้ชม) สามารถเข้าใจในตัวสารได้ต้องตรงกัน บางครั้งผู้แสดงและคนดูมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันก็ยากแก่การจะสื่อสารให้เข้าใจกันได้ ปัจจัยในความแตกต่างทางด้านวุฒิภาวะ อารมณ์ ภาษา และประสบการณ์ชีวิตจะเป็นเกณฑ์ในการกำหนดสิ่งที่ผู้ผลิตต้องคำนึงเป็นอย่างมากเพื่อวงการละครในอนาคต
จากจารีตสู่การทำให้ดูง่าย ฐานความคิดใหม่ของการแสดง ข้อความที่ว่า สวยแต่ไม่สื่อ กับ สื่อแต่ไม่สวย ได้รับการถกเถียงในหมู่นักนิเทศศาสตร์กับนักศิลปะ ซึ่งโลกปัจจุบันศิลปินได้กลายร่างไปอยู่ในรูปของนักสร้างสรรค์ที่เรียกตนเองอย่างโก้หรูว่า ครีเอทีฟ ดังนั้นการกำหนดความคิดหรือเนื้อหาของงานจึงอยู่ที่บุคคลนี้เป็นสำคัญ มีการแบ่งสายงานอย่างอุตสาหกรรมอื่นๆ คือต้องมีการแบ่งหน้าที่เป็นฝ่าย เป็นรายบุคคล การทำการแสดงให้สำเร็จสักชุดหนึ่งต้องใช้คนเป็นจำนวนมาก ผิดกับคณะโขนละครของไทย ที่นายโรงหรือหัวหน้าคณะอาจทำหน้าที่แทบทุกอย่างตั้งแต่อำนวยท่ารำยันซื้อข้าวเลี้ยงนักแสดง ด้วยเหตุนี้การแสดงในปัจจุบันจึงจะต้อง มีคอนเซ็ปต์ (Concept) หรือมีความคิดรวบยอด จึงไม่ค่อยพบเห็นการนำการแสดงที่ต่างขั้วกันมาไว้ด้วยกัน ทั้งนี้การกำหนดว่าจะใช้การแสดงใดจึงอยู่ที่ครีเอทีฟเป็นสำคัญ อย่างดีครูละครก็ได้รับเกียรติให้เป็นผู้ออกแบบนาฏยศิลป์ (Choreographer) ในสายการผลิตนั้น ส่วนนาฏยศิลปินนั้นมิพักต้องถูกกำหนดให้เป็น (Dancers) ของการแสดง ในตัวศิลปะการร่ายรำนั้นเป็นที่แน่นอนว่าเวลาจะกลายมาเป็นตัวจำกัดในการแสดงสด การฟ้อนรำแบบเต็มรูปแบบที่เนิบนาบจำจะต้องถูกตัดออกเพื่อให้สมดุลกับการแสดงส่วนอื่นๆ กลายเป็นเพียงระบำเล็กๆ ประกอบการแสดงหรือละคร มิได้ตั้งอกตั้งใจรำกันอย่างยืดยาวดังเช่นในอดีต นาฏยศิลป์ไทยถูกตราว่าเป็นสิ่งใดที่ดูยาก ดูไม่รู้เรื่อง (หากไม่มีความรู้มาก่อน) ก็ต้องทำให้ดูง่ายเข้า เช่น มีบรรยายก่อนการแสดง หรือตัดเพลง ตัดท่ารำที่คิดเยิ่นเย้อออกไป มุ่งเน้นให้ขายการสื่อความเป็นไทยเพียงเท่านั้น หาได้มุ่งจะดูความประณีตละเอียดอ่อนของศิลปะเลย จึงไม่น่าแปลกใจที่นาฏยศิลป์ไทยจะใช้เป็นเพียงสื่อในการรณรงค์ให้อนุรักษ์วัฒนธรรมเพียงเท่านั้น
กระทรวงวัฒนธรรม อัศวินม้าขาว หน่วยงานใหม่ที่เข้ามาตอบคำถามที่ว่า รัฐ ส่งเสริมนาฏยศิลป์เพียงใด คือ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงน้องใหม่ล่าสุดได้รวมเอาหน่วยงานระดับกรม ได้แก่ กรมศิลปากร กรมการศาสนา สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และสำนักศิลปกรรมร่วมสมัย เข้าไว้ด้วยเพื่อกำหนดนโยบายเชิงกลยุทธ์ ทั้งที่ต้องรักษาและพัฒนา แต่ด้วยความกระท้อนกระแท่นของวิชาการด้านวัฒนธรรม อีกทั้งแนวคิดประหลาดที่ยังติดอยู่ในสมองของเจ้ากระทรวง จึงอดขำไม่ได้เมื่อเห็นการถกเถียงประเด็นทางศีลธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม ปรากฏอยู่เนืองๆ ตามสื่อต่างๆ ความอยู่ของนาฏยศิลป์ซึ่งก็เป็นหน้าที่ดูแลของกระทรวงน้องใหม่ จึงอาจยังไม่เห็นลู่ทางอันแจ่มชัด หรือจะต้องรอจนกว่าเจ้ากระทรวงจะต้องเป็นคนที่มีจากสายโขนละคร หรือเป็นผู้ที่เล็งเห็นความสำคัญของนาฏยศิลป์อย่างจริงจัง การเกิดขึ้นของการศึกษาหลักสูตรการบริหารงานวัฒนธรรม เป็นช่องทางที่จะนำผู้บริหารมาเรียนรู้และเข้าใจในเนื้อหาของงานวัฒนธรรมอย่างจริงจัง คงไม่เป็นเพียงแค่ธุรกิจการศึกษาที่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐมุ่งเน้นในการแสวงกำไรด้วยค่าบำรุงการศึกษาที่สูงลิบลิ่ว
มองไปข้างหน้า อนาคตนาฏยศิลป์ไทยจะเป็นแบบใดแน่ คำทำนายอันน่าสะพรึงกลัวที่บอกกว่าไว้ว่านาฏยศิลป์กำลังจะหลุดลอยไปจากมือเราเป็นแน่แท้ ในแง่นี้มีนักวิชาการ เช่น ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้พยากรณ์ความอยู่รอดไว้ว่า 1. หากเห็นความนิยมของประชาชนเป็นสำคัญ นาฏกรรมทั้งปวงจะตกอยู่ในภาวะมืดมน เพราะบริบทสังคมอย่างเช่นโบราณได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ส่วนหนึ่งก็มาจากการกระทำของรัฐและความเคยชินกับวัฒนธรรมประชาธิปไตย แต่การที่หน่วยงานผู้ทำหน้าที่รักษาสัญลักษณ์แห่งชาติและประจำถิ่นทำได้ในขณะนี้ ก็เป็นเพียงแค่การรักษารูปแบบของการแสดงไว้เพียงเท่านั้น ในข้อนี้ศาสตราจารย์นิธิถึงกับกล่าวไว้ว่า ในการฆ่าศิลปะนั้นก็ไม่มีทางใดที่ได้ผลดีไปกว่าการสถาปนาอาญาสิทธิ์แห่งความถูกต้องของบุคคลหรือสถาบันขึ้นเหนือศิลปะ 2. นาฏยศิลป์ไทยไม่สามารถถูการสื่อความอื่นๆ ดูดกลืนไปได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้นาฏยศิลป์ปรับเปลี่ยนตามสภาพสังคมอย่างคล่องตัว 3. นาฏยศิลป์ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้อย่างลงตัว เมื่อได้รับอิทธิพลทางการแสดงแบบตะวันตก ก็เกิดมีความพยายามที่ปรับประสานด้วยเทคนิคและวิธีคิดแบบตะวันตก และมีเรื่องบริหารจัดการความเสี่ยงในเชิงธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องกับนาฏยศิลป์มากขึ้น 4. การเปลี่ยนบทบาทของการอุปถัมภ์จากราชสำนักและวัด นาฏยศิลป์อาจถึงกาลอวสานหากไม่มีตลาดมาอุปถัมภ์ ศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แสดงทัศนะถึงอนาคตของนาฏยศิลป์ไทยว่า มิได้ขึ้นอยู่แค่เพียงการพัฒนาเยาวชนเพื่อที่จะสืบทอด แต่กลับเป็นหน้าที่ที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งครูบาอาจารย์ ศิลปิน ผู้ปฏิบัติ ผู้บริหาร และผู้ทำธุรกิจซึ่งล้วนแต่มีบทบาทต่อความเป็นอยู่ของนาฏยศิลป์ไทยโดยตรง การเรียกร้องต่อการอนุรักษ์มาตรฐานเก่าของนาฏยศิลป์ แม้ว่าจะเป็นคำร้องจากเจ้าในฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่ท่านก็ได้ตอกย้ำเสมอว่านี่เป็นหน้าที่และบทบาทของหน่วยงานในระดับชาติ เช่น กรมศิลปากร และปล่อยให้บทบาทในการพัฒนาตกเป็นหน้าที่ของหน่วยงานนาฏศิลป์ในฝ่ายเอกชน แนวทางความอยู่รอดของนาฏยศิลป์ไทยนั้นจะเพียงอย่างไร ไม่อาจคาดเดาได้ เราอาจรู้สึกได้ว่าของนั้นมีคุณค่า ก็ต่อเมื่อเราได้สูญเสียมันไปแล้วก็เป็นได้ หรือจะปล่อยให้เหมือนอิฐเก่าก้อนเดียวที่อาจเป็นฐานรากของแผ่นดินทั้งชาติ แล้วถูกนำไปวางไว้ให้ดูสวยๆ ในพิพิธภัณฑ์ รายการอ้างอิง
กุสุมา รักษมณี, บรรณาธิการ. วารสารภาษาและหนังสือฉบับพิเศษว่าด้วยวรรณกรรมละครไทย. ปีที่ 33, 2545. ธรรมจักร พรหมพ้วย. รำไทยสมัยราชนิยม รัฐนิยม และประชานิยม ใน Thai Dance Magazine. ปีที่ 1 ฉบับที่ 6, 2546. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, บรรณาธิการ. เบิกโรง : ข้อพิจารณานาฏกรรมในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2534. วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์, ม.ล., บรรณาธิการ. นาฏศิลป์ไทยเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2534. สุจิตต์ วงษ์เทศ. ร้อง รำ ทำเพลง : ดนตรีและนาฏศิลป์ชาวสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2542. สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์, บรรณาธิการ. พลังการวิจารณ์ : รวมบทวิจารณ์ร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : คมบาง, 2545. สุวรรณี อุดมผล. วิธีนำเสนอวรรณคดีไทยในรูปแบบการแสดงแบบผสมผสานของ ภัทราวดีเธียเตอร์. งานวิจัยโครงการวิจัยเสริมหลักสูตร งานวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544. เสฐียรโกเศศ. ร้อง รำ ทำเพลง. หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงวัยวุฒิปรีชา (ม.ล.ไวยวัฒน์ กุญชร) ณ เมรุวัดโสมนัสวิหาร, 21 พฤษภาคม 2500.
Create Date : 23 เมษายน 2550 |
Last Update : 23 เมษายน 2550 0:08:38 น. |
|
1 comments
|
Counter : 9942 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: ป.ว.ค IP: 180.180.246.42 วันที่: 11 ตุลาคม 2553 เวลา:15:21:12 น. |
|
|
|
| |
|
|
ว้า