|
สื่อศิลปะการแสดงกับการส่งเสริมสุขภาพ
ธรรมจักร พรหมพ้วย
ในโลกยุคปัจจุบัน การหันกลับดูแลเอาใจใส่สุขภาพชนิดที่เรียกว่าทุกกระเบียดของการดำเนินชีวิต ไม่ว่าการกลับมารับประทานอาหารพืชพักแบบชีวจิต การให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต การนวดแผนไทย สุคนธบำบัด (Aromatherapy) สปา เป็นต้น การกลับมาให้ความสนใจกับสิ่งเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการได้รับ กระแส ผ่าน สื่อ ประเภทต่างๆ โดยเริ่มมาจากแนวคิดที่ว่า เราได้มองข้ามการบำบัดรักษาด้วยวิธีการธรรมชาติและสุนทรียวิธี มาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งจุดเริ่มต้นของการกลับมานี้ในเบื้องต้นมีสถานะเป็นเพียงการบำบัดทางเลือก เพราะยังเชื่อว่าการบำบัดที่เป็นที่ยอมรับนั้นจะต้องได้รับการรับรองจากสถาบันทางการสาธาณสุขเสียก่อน ทั้งที่การแพทย์แบบนี้เกิดมีขึ้นในภูมิภาคตะวันออกนี้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยที่การแพทย์แผนตะวันตกมุ่งเน้นแต่การเอาใจใส่และศึกษาในเชิงชีวเคมีมากกว่าจะสนใจการสร้างสุขภาวะด้านความรู้สึกและอารมณ์ แนวคิดเรื่องสุนทรียศาสตร์ที่ดูจะห่างไกลจากสังคมสาธารณสุขถูกนำมารื้อฟื้นและแปรรูปให้เข้ากันได้ดีกับการบำบัดรักษา ดังที่จะเห็นจากแนวคิดเรื่อง ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะยัดเยียดให้มีการนำศิลปะมาปนกับวิทยาศาสตร์ให้ได้ หากเปลี่ยนมุมมองที่ตรงข้ามกับแพทย์ที่นำศิลปะมาบำบัดรักษามาเป็นมุมมองจากนักผลิตงานศิลปะตัวจริง จะเห็นว่าศิลปะมีหน้าที่ที่จะช่วยกล่อมเกลาจิตใจอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้การจะเข้าถึงและซาบซึ้งในสุนทรียรสได้ มิใช่การยัดเยียดอย่างไม่ลืมหูลืมตา ดังจะขอยกตัวอย่างการสร้างกระแสเรื่องการออกกำลังกายด้วยแอโรบิค ที่เป็นที่นิยมเป็นอย่างสูงจนเกิดเป็นกระแสนิยมในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เริ่มต้นก็มาจากแนวคิดง่ายๆ ว่า อยากให้ประชาชนทำอะไรก็สร้างกระแสผ่านสื่อต่างๆ เข้าไปสิ เดี๋ยวมันก็ทำตามๆ กันเองน่ะแหละ ซึ่งก็ได้ผลงานอย่างที่หวัง ไล่กันมาตั้งแต่ระกับรัฐมนตรีว่าการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ออกมาเต้นแร้งเต้นกานำประชาชนอย่างน่าอเนจอนาถ แต่กระแสก็ย่อมเป็นกระแส ความนิยมมีอยู่เพียงชั่ววูบแล้วก็เลือนไปตามกาลเวลาพร้อมกับการ ได้หน้า และ คะแนนเสียง ของนักการเมืองและผู้บริหาร หรือว่านโยบายการสร้างสุขภาพได้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างฐานคะแนนและภาพผลงานของคนบางกลุ่มไปเสียแล้ว การเต้น การรำ การฟังดนตรีนั้น รวมอยู่ในกระบวนการซาบซึ้งทางศิลปะทั้งสิ้น มันแฝงอยู่ในส่วนลึกของระดับจิตใจที่สูงส่งของมนุษย์ทุกผู้ทุกคนอยู่แล้ว เพียงคุณเปิดดนตรีแล้วเกิดความรู้สึกอยากเคลื่อนไหวไปตามจังหวะและท่วงทำนองแล้ว สิ่งที่บังเกิดขึ้นอันดับแรกก็คือ ความสบายทางจิต เมื่อออกแรงเต้นจนได้กำลัง ก็เกิดกำลังทางกาย ได้เหงื่อ ได้กล้ามเนื้อที่สมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งนักศิลป์ทางเต้นและรำต่างก็ประจักษ์ในคุณประโยชน์ข้อนี้อยู่แล้ว ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ต้องเกิดจากความตั้งใจภายในของแต่ละบุคคลเอง และต้องทำจนซึมซับเข้าไปวิถีชีวิต มิใช่ทำตามกันเป็นครั้งเป็นคราวตามกระแสนิยม ยิ่งทราบว่ามีการนำรำไทยไปเป็นท่ากายบริหารเพื่อกระชับหน้าอก ก็ไม่ทราบว่าแพทย์ผู้คิดได้ใช้สมองอันตื้นเขินส่วนใดในการคิด สันนิษฐานว่าก็คงเริ่มต้นจากการคิดว่า การเต้นออกกำลังกายสามารถจะช่วยกระชับหน้าอกได้ ทีนี้จะทำอย่างไรให้มันดูกิ๊บเก๋และเป็นไทยดีล่ะ อ่อ ก็เอาศิลปะไทยใส่เข้าไปสิ จีบซ้าย จีบขวา และก็ตีนมหนึ่ง สอง สาม หากแพทย์คิดได้เป็นเพียงลอกเลียนโดยไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ของภูมิปัญญาไทยแล้ว ก็อย่าพึงทำให้เสียเกียรติคุณของความเป็นแพทย์เลย ปล่อยในนักศิลป์คงทำหน้าที่ตามเดิมแล้วเกิดประโยชน์จะแพทย์จะดีกว่า อย่าให้เหมือนกับที่การนวดแผนไทยที่ปฏิบัติกันมานานอยู่แล้ว ถูกฝรั่งนำไปพัฒนา แล้วกลับมาเป็นธุรกิจหลอกขายคนไทยกันเองเลย ศิลปะการแสดงกับการแพทย์มีความห่างไกลและข้ามขั้วกันพอสมควร การนำมาประยุกต์ ปรับประสานให้เกิดประโยชน์ทำได้ไม่ยากแต่ต้องใช้แนวคิดที่ลึกซึ้งและถ่องแท้จากศาสตร์ทั้งสองสาขา และพึงคิดว่าต้องเอื้อประโยชน์ต่อแต่ละสาขาวิชาด้วย มิใช่เป็นการทำลายและลดทอนคุณค่าของกันและกัน หวังใจว่าการพัฒนาในด้านนี้จะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มิใช่หยุดและเสื่อมซาลงไป เพราะเป็นเพียงแค่ กระแสนิยม
Create Date : 23 เมษายน 2550 |
Last Update : 23 เมษายน 2550 0:12:33 น. |
|
2 comments
|
Counter : 1718 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: นัตจ้ IP: 203.113.71.108 วันที่: 29 กรกฎาคม 2550 เวลา:22:58:27 น. |
|
|
|
โดย: ด.ญ.ภณิดา ลาภกระโทก IP: 58.10.12.216 วันที่: 23 มกราคม 2551 เวลา:12:25:10 น. |
|
|
|
| |
|
|