กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
เที่ยวเมืองพระร่วง ภาคที่ ๔ ระยะทางเสด็จกลับ อุตรดิตถ์ ลับแล ทุ่งยั้ง พิชัย พิษณุโลก สระหลวง


วัดพระแท่นศิลาอาสน์



....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๑ อุตรดิตถ์-ลับแล-ทุ่งยั้ง


การดูสถานที่ต่างๆที่เมืองสวรรคโลกเป็นอันแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ครั้นวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๔ โมงเศษออกจากที่พักริมวัดน้อยข้ามลำน้ำยมไปฝั่งเหนือ แล้วจึงขึ้นม้าเดินทางไปตามทางที่ราษฎรเดินขึ้นไปไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ เดินไปจากฝั่งน้ำได้ ๔๐ เส้นเศษมีศาลาเล็กๆหลังหนึ่งปลูกไว้เป็นที่พักคนเดินขึ้นพระแท่น ที่ระยะ ๑๐๐ เส้นมีศาลาอีกหลังหนึ่งค่อนข้างจะเขื่อง ที่ระยะ ๒๐๐ เส้นมีศาลาแฝดกับสระน้ำเป็นทุ่งโถง ต่อไปนั้นอีก ๙๐ เส้นเศษถึงหนองไก่ฟุบ มีศาลหลังหนึ่งกับสระน้ำ ได้พักร้อนและกินกลางวันที่หนองไก่ฟุบ ทางที่เดินแต่ลำน้ำยมไปถึงที่นี้นับว่าอยู่ข้างจะสะดวก เพราะผ่านไปในป่าโดยมากแดดไม่ค่อยจะร้อน ม้าขี่วิ่งบ้างเดินบ้างชั่วโมงเศษเท่านั้นกินกลางวันแล้วขี่ช้าง เดินตามทางขึ้นพระแท่นต่อไปทาง ๒๕๐ เส้นถึงด่านแม่คำมัน พรมแดนเมืองสวรรคโลกกับเมืองพิชัยต่อกัน พักแรมที่นี้ซึ่งมีศาลาที่พักคนเดินขึ้นพระแท่นอยู่หลังหนึ่ง ในคลองแม่คำมันมีปลาชุม เพราะน้ำมีอยู่ตลอดปีไม่แห้งเลย ลำน้ำนี้ได้น้ำจากห้วยช้าง ซึ่งไหลมาจากเขาทางเมืองลับแล

รุ่งขึ้นวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๔ โมงเศษออกจากด่านแม่คำมัน ขี่ม้าไปตามถนนไปพระแท่นอีก ทางไปในทุ่งโดยมาก การเดินทางอยู่ข้างจะร้อนกว่าวันก่อนนี้ ผ่านศาลาที่พักกลางทางหลังหนึ่ง เมื่อจวนถึงพระแท่นเดินไปบนถนนซึ่งถมเป็นคันสูงข้างทุ่ง เพราะตรงนี้เป็นที่ลุ่ม ไปหมดถนนเพียงบ่อหัวดุม ที่ใกล้บ่อมีศาลาที่พัก แต่ไม่พอกับคนที่มาไหว้พระแท่น เพราะฉะนั้นได้เห็นซุ้มปักเป็นที่พักชั่วคราวอยู่มาก

เวลาเช้า ๔ โมงเศษถึงวัดพระแท่นศิลาอาสน์ เป็นเคราะห์ดีที่ได้ไปพอเวลาเทศกาลราษฎรขึ้นไหว้พระแท่น กำหนดวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือนสาม วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์นี้ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ จึงได้เห็นคนอยู่มาก ที่ถนนตรงหน้าพระแท่นออกไปมีร้านตั้งขายของต่างๆ คนเดินไปมาเบียดกันแน่นคล้ายที่พระพุทธบาทในเวลาเทศกาล อยู่ข้างจะครึกครื้นมาก ได้ฉายรูปหมู่คนไว้ดูเล่น แล้วจึงไปนมัสการพระแท่น พระแท่นศิลาอาสน์นี้ผู้ที่ไม่เคยไปมักอยากไปมาก แต่ครั้นเมื่อไปถึงแล้วคงรู้สึกเสียใจ ตัวพระแท่นเองก็ไม่เห็นเพราะมีเป็นพระแท่นทำด้วยไม้ครอบศิลานั้นอยู่ มีของดีอยู่แต่บานประตูซึ่งคล้ายบานประตูวิหารพระพุทธชินราชที่เมืองพิษณุโลกนั้นมาก(๑)

กินกลางวันที่ศาลาใกล้วัดพระแท่นนั้นแล้ว ขึ้นม้าขี่เข้าไปเมืองอุตรดิตถ์ทางถนนพระแท่น ที่พักตั้งอยู่ริมลำน้ำแควใหญ่ทางแถบที่ว่าการเมืองพิชัย

เมืองอุตรดิตถ์หรือที่เรียกตามที่ตั้งใหม่ว่าเมืองพิชัยนี้ เป็นเมืองใหม่แท้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องป่วยการเที่ยวหาของโบราณอะไร ดูแต่ของใหม่ๆมีดูหลายอย่าง ที่นี่เป็นเมืองสำคัญในมณฑลนี้แห่งหนึ่ง เพราะเป็นเมืองด่านที่พักสินค้าขึ้นล่องมาก เพราะฉะนั้นคนพ่อค้าพาณิชอยู่ข้างจะมีมาก ตลาดท่าอิฐมีร้านรวงอยู่มากครึกครื้น มีข้อเสียใหญ่อยู่อย่างหนึ่ง คือตลาดท่าอิฐนี้ต้องน้ำท่วมทุกปีจึงไม่น่าจะเป็นที่ถาวรอยู่ได้ น่าจะขยับขยายตลาดเข้าไปเสียให้ห่างจากฝั่งแม่น้ำอีกสักหน่อย

ถ้าจะเล่าถึงเมืองอุตรดิตถ์ต่อไปอีกก็ได้อีกบ้าง แต่ความตั้งใจของข้าพเจ้ามีอยู่ว่า จะเล่าเรื่องของโบราณในเมืองเหนือ ซึ่งเป็นของที่มีคนได้เห็นน้อย ยิ่งกว่าที่จะเล่าถึงของที่มีและเป็นอยู่ในปัตยุบันนี้ จึงต้องของดไว้ไม่กล่าวถึงอุตรดิตถ์อีกต่อไปมากกว่านี้

แต่ถึงได้มาพ้นแดนเมืองสวรรคโลกแล้วก็ดี ยังมีที่พึงดูซึ่งเกี่ยวข้องในทางโบราณคดีอยู่บ้าง ในที่ใกล้ๆอุตรดิตถ์ขึ้น กล่าวคือตามแถบลับแลกับทุ่งยั้ง

เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวที่ลับแล ออกจากที่พักที่อุตรดิตถ์ขี่ม้าไปทางบ้านท่าอิฐ เดินตามถนนอินทใจมีไปเมืองลับแล พระศรีพนมมาศได้จัดแต่งที่พักไว้ที่ตำบลม่อมชิงช้า ที่ริมที่พักนี้พระศรีพนมมาศกับข้าราชการและราษฎรได้เรี่ยไรกันสร้างโรงเรียนขึ้นโรงหนึ่ง ซึ่งขอให้ข้าพเจ้าเปิด ข้าพเจ้าได้เปิดให้ในเวลาบ่าย วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์นั้น และให้นามว่า "โรงเรียนพนมมาศพิทยากร" แล้วได้เลยออกไปที่เขาม่อมจำศีล บนยอดเขานี้แลดูเห็นที่แผ่นดินโดยรอบได้ไกล มีทุ่งนาไปจนสุดสายตา แลเห็นเขาเป็นทิวเทือก ซ้อนสลับกันเป็นชั้นๆราวกับกำแพงน่าดูหนักหนา

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ข้าพเจ้ากับพวกที่ไปด้วยกัน ได้ช่วยกันเริ่มถมทำนบปิดลำน้ำอยู่ริมม่อนชิงช้า เป็นความคิดของพระศรีพนมมาศจับทำฝายต่อไป เหมืองฝายในเขตลับแลนี้พระศรีพนมมาศได้จัดทำขึ้นไว้มากแล้ว เป็นประโยชน์ในการเพาะปลูกมากเพราะมีน้ำใช้ได้ตลอดปี ที่ลับแลบริบูรณ์มากทั้งไร่นาและสวนผลไม้ต่างๆหากินได้เสมอ นับว่าพระศรีพนมมาศเป็นนายอำเภอดีอย่างยิ่งคนหนึ่ง

เวลาบ่ายออกจากที่พักตำบลม่อนชิงช้า ขี่ม้าไปตามถนนพระแม่นเข้าเขตทุ่งยั้ง ซึ่งบัดนี้รวมอยู่ในอำเภอลับแลแล้ว ลัดเข้าไปในป่าไปดูที่ซึ่งเรียกว่าเวียงเจ้าเงาะ ที่นี้เป็นที่ชอบกล ตอนนอกที่สุดมีเป็นเนินดินมีคูเล็กๆ หลังเนินแล้วถึงกำแพงเตี้ยๆก่อด้วยดินกับแลง หลังกำแพงนี้มีคูใหญ่กว้าง ๘ วา ๒ ศอกคืบ ลึกประมาณ ๒ วา ขุดลงไปในแลง เพราะฉะนั้นข้างคูแลเห็นและเรียบประดุจคลองซึ่งก่อเขื่อนแลงอย่างเรียบร้อย กลางคูมีเป็นคันซึ่งเข้าใจว่าคงจะใช้เป็นถนนสำหรับเดินตรวจรักษาหน้าที่เชิงเทินชั้นนอก บนสันคันนั้นกว้าง ๓ วา คันสูงพ้นพื้นคูขึ้นมา ๕ ศอก ๖ นิ้ว คันนี้ก็เป็นแลงทึบทั้งอัน ถนนนี้ปันเป็นคูเป็น ๒ ร่อง ร่องนอกกว้าง ๔ วา ร่องในกว้าง ๖ ศอกคืบ ในคูเข้าไปมีกำแพงก่อด้วยแลงตัดเป็นแผ่นอิฐ ซึ่งเข้าใจว่าคงจะขุดขึ้นมาจากในคูนั้นเอง

ถามดูในวันนั้นว่าเมืองนี้กว้างยาวเท่าใด รูปร่างเป็นอย่างไร ก็ไม่ได้ความ เพราะไม่มีใครได้ตรวจมานานแล้ว มีกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านผู้หนึ่งบอกว่าเป็นรูปไข่ และถนนพระแท่นได้ทำข้ามไปตอนหนึ่ง ข้าพเจ้าได้วานหลวงภูวสถานพินิจ พนักงานนายทะเบียนที่ดิน ให้ช่วยจัดการส่งพนักงานแผนที่ไปตรวจดู ภายหลังได้แผนที่มาดูก็เห็นว่ารูปนั้นไม่เชิงเป็นรูปไข่ แต่ได้ทำไปตามรูปของที่ และไม่เป็นเมืองใหญ่นัก ข้างในกำแพงมีเป็นเจดีย์อยู่แห่งหนึ่ง นอกจากนั้นก็ไม่เห็นมีอะไร

ตามความสันนิษฐานของข้าพเจ้าว่าเวียงเจ้าเงาะนี้เป็นเทือกป้อมหรือค่าย ซึ่งสร้างขึ้นเป็นที่รวบรวมครัวเข้าไว้เป็นที่มั่นในคราวมีศึก บางทีจะได้สร้างขึ้นครั้งที่ทราบข่าวศึกพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเมืองเชียงแสนจะมาติด ตามพงศาวดารเหนือมีข้อความปรากฏอยู่ว่า พระเจ้าพสุจราชเมืองศรีสัชนาลัยครั้นได้ทราบข่าวศึกพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ก็ให้ตกแต่งพระนครไว้ท่า กับทั้งหัวเมืองทั้งปวงก็ให้เตรียมการที่จะออกสู้ข้าศึก "แล้วให้กำหนดกฎหมายไปถึงเมืองเมืองกัมโพชนครให้กำหนดกฎหมายสืบๆกันไปถึงเมืองคีรี เมืองสวางคบุรี เมืองยางคีรี เมืองนครคีรี เมืองขอยคีรี และเมืองเหล็ก เมืองสิงทา เมืองทั้งนี้ขึ้นแก่เมืองกัมโพชนคร ท้าวพระตกแต่งบ้านเมืองไว้ทุกแห่ง" ดังนี้

กัทโพชนครนี้ตามพงศาวดารเหนือว่าอยู่ที่ตำบลทุ่งยั้ง แต่ถ้าจะดูตามภูมิพื้นที่ น่าจะตั้งที่ลับแลมากกว่า เพราะที่ดินบริบูรณ์และมีเขาล้อมเกือบรอบเป็นชัยภูมิดี สมควรจะตั้งเมืองหน้าด่านได้ ข้าพเจ้าจะขอเดาต่อไปว่า เดิมเมืองที่ตั้งอยู่ตำบลทุ่งยั้งหรือลับแลนั้น คงจะไม่ได้เป็นเมืองที่มีกำแพงมั่นคง ต่อเมื่อตกใจเตรียมรับศึกเชียงแสน จึงได้คิดทำกำแพงและคูขึ้น การที่จะทำกำแพงต้องอาศัยศิลาแลงมาก จึงได้มาเลือกที่ซึ่งเรียกว่าเวียงเจ้าเงาะทำเป็นเมืองมีกำแพงขึ้น คือมาอยู่กับบ่อแลงทีเดียว (ในเวลาเดี๋ยวนี้ที่เมืองแห่งหนึ่งตามริมที่นั้นยังมีแลงอ่อนๆขุดขึ้นมาได้) ครั้นศึกมาจวนตัว ก็อพยพเทครัวเข้าไปไว้กำแพง ข้อที่ว่าเมืองทุ่งยั้งเป็นนคร คือเป็นเมืองลูกหลวงนั้น ข้าพเจ้าไม่สู้เชื่อนัก เข้าใจว่าจะเป็นเรื่องที่แต่งประกอบขึ้นภายหลัง คือมีผู้ได้ไปเห็นที่ซึ่งเรียกว่าเวียงเจ้าเงาะเดี๋ยวนี้ เห็นมีกำแพงและคูดูเป็นที่มั่นคง ก็เอาเอาว่าเป็นเมืองใหญ่ จึงเลยแต่งเรื่องราวผสมขึ้น ให้เป็นนครลูกหลวงของศรีสัชนาลัย ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าได้เคยเป็นอะไร นอกจากเมืองด่าน

ส่วนเมืองอีก ๗ เมืองที่กล่าวว่าเป็นเมืองขึ้นกัมโพชนครนั้น ข้าพเจ้าก็ไม่สู้เชื่อนักว่าจะมี ถ้าแม้จะมีก็เป็นด่านอยู่ตามเขาลับแล แต่ที่ว่ามีถึง ๗ แห่งนั้นเห็นจะมากเกินไป จะเป็นด้วยเอานามไปปนกันยุ่งก็ได้ เช่นเมืองคีรีกับนครคีรีนั้น น่าจะว่าเป็นเมืองเดียวกัน และยังสงสัยต่อไปอีกว่าเมืองขอนคีรีนั้น จะเป็นอันเดียวกับนครคีรีอีก คืออาจจัเรียกนครคีรีนั้นสั้นห้วนลงไปเป็น "คอนคีรี" แล้วต่อไปนี้อีกก้าวเดียวก็คลายเป็นขอนคีรีไปได้แล้ว จึงเข้าใจว่าสามชื่อนั้นคงจะเป็นเมืองๆเดียว แต่นี่ก็เป็นการเดาเล่นเปล่าๆหาหลักฐานมิได้ รวบรวมใจความว่าทางที่จะสันนิษฐานหมดเพียงเท่านี้

และมาภายหลังได้ทราบจากพระยาอุทัยมนตรี ว่าได้ไปตรวจค้นพบกำแพงเมืองมีต่อลงไปอีกจนถึงลำน้ำ แค่ก็เป็นคำบอกเล่า ข้าพเจ้าสันนิษฐานอย่างอื่นต่อไปอีกยังไม่ได้ จนกว่าจะได้ขึ้นไปเห็นด้วยตนเอง(๒)


..........................................................................



อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๑


(๑) บานประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์นั้น ต่อไปไฟไหม้เสียกับวิหาร น่าเสียดายยิ่งนัก ฝีมือจำหลักเป็นตัวกระหนกและรูปภาพเด่นออกมา ทำนองบานประตูวิหารพระศรีศากยมุนีที่วัดสุทัศน์ สันนิษฐานว่าเป็นบานเดิมของวิหารพระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลก ครั้นเมื่อพระเจ้าบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์วัดสำคัญทางเมืองเหนือ โปรดให้ถ่ายลายลงมาทำเป็นบานประดับมุขพระราชทานไปเปลี่ยน ส่วนบานเดิมโปรดฯให้ย้ายเอาไปเป็นบานวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งทรงปฏิสังขรณ์ด้วยในคราวนั้น

(๒) เรื่องพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก จะอธิบายในที่อื่นต่อไปข้างหน้า ตรงนี้จะกล่าวอธิบายแต่เรื่องเมืองเจ้าเงาะกับเมืองทุ่งยั้งซึ่งได้ตรวจในชั้นหลังต่อมา เมื่อที่เรียกกันว่าเมืองเจ้าเงาะนั้นเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ตั้งแต่ก่อนชนชาติไทยลงมาเป็นใหญ่ในประเทศสยาม ขุดพบของโบราณในสมัยที่กล่าวนั้น ในบริเวณเมืองเจ้าเงาะหลายอย่าง ส่วนเมืองทุ่งยั้งนั้น สร้างขึ้นเมื่อในสมัยสุโขทัยเป็นเมืองด่านแทนเมืองเจ้าเงาะ ปรากฏชื่อในบานแผนกกฎหมายลักษณะลักพาตั้งในรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง เรียกว่าเมืองทุ่งยั้งเมืองบางยม (ซึ่งอยู่ริมลำน้ำยมเก่า) เป็นคู่กันดังนี้


....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๒ ล่องลงแควใหญ่ - แวะดูพิชัยเก่า


เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๒ โมงเศษ ออกเรือล่องจากอุตรดิตถ์ และนับว่าออกจากตอนที่มีของดูสนุก ตั้งหน้ากลับบ้านเท่านั้น ที่จะกล่าวต่อไปก็มีแต่บอกระยะทางเป็นพื้น ที่ข้าพเจ้านำมาลงไว้ก็เพราะหวังจะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่จะเดินทางต่อไปในกาลเบื้องหน้า ในวันแรกที่ล่องนั้นเวลาเที่ยงเศษถึงบ้านท่ายวน พักคนแจวเรือหน่อยหนึ่ง แล้วล่องต่อมา จนเวลาจวนบ่าย ๔ โมงถึงที่ว่าการอำเภอตรอน หยุดนอนคืนหนึ่ง

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๒ โมงเศษออกเรือ ต้องแจวบ้างเข็นบ้าง พักร้อนที่ตำบลบ้านเกาะ แล้วล่องตจ่อมาจนบ่าย ๔ โมงเศษ ถึงที่ว่าการอำเภอพิชัย(เมืองเก่า)

วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ เวลาเช้าขึ้นดูเมืองพิชัยเก่า ขึ้นจากเรือแล้วต้องเดินไปตามสะพานสิบวา จึงถึงที่เป็นหาดน้ำแห้ง เดินไปบนหาดอีกไกลจึงถึงที่เป็นตลิ่งแท้ ขึ้นตรงที่ว่าการอำเภอแล้วเลี้ยวไปทางเหนือ เดินไปตามถนนที่เลียบไปตามริมฝั่งแม่น้ำฝั่งตะวันออก ผ่านบ้านเรือนไร่สวนและวัดติดๆกันไปจนถึงกำแพงเมืองด้านใต้ เลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออก เดินเลียบกำแพงเมืองด้านใต้ไป เพื่อดูสถานต่างๆในเมืองพิชัยเก่า พระสวัสดิ์ภักดีกรมการพิเศษเป็นผู้นำทาง

กำแพงเมืองนี้เป็นอิฐกับดินเป็นต้น ตามพงศาวดารกรุงเก่าฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิต มีข้อความอยู่ว่า เมื่อจุลศักราช ๘๓๔ ปีมะโรงจัตวาศก แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแรกให้ก่อกำแพงเมืองพิชัย ในฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติว่าก่อกำแพงเมื่อศักราช ๘๕๒ ปีจอโทศก ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะใกล้ข้างถูกมากกว่าในฉบับโน้น จึงเข้าใจได้ว่าก่อนสมัยนี้เมืองพิชัยไม่มีกำแพงอิฐ แต่คงมีกำแพงค่ายระเนียด แต่เมืองพิชัยไม่ใช่เป็นเป็นเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพราะในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดี(อู่ทอง) เมืองพิชัยเป็นเมืองประเทศราชอยู่แล้ว จึงต้องเข้าใจว่าไม่ใช่แต่เป็นเมืองเก่า ทั้งเป็นเมืองใหญ่อยู่ด้วย

ข้าพเจ้าได้ขอแรงพนักงานแผนที่ กองข้าหลวงเกษตรที่อุตรดิตถ์ให้ล่วงหน้าลงมาทำแผนที่ไว้ตรวจ ได้ความตามแผนที่นี้ว่า รูปเมืองเดิมเป็นสี่เหลี่ยรี กว้าง ๑๕ เส้น ยาว ๒๔ เส้น แต่ถูกสายน้ำแทงกำแพงพังไปเสียทางด้านตะวันตกเกือบหมด เหลืออยู่ยาวสัก ๒ เส้นเท่านั้น และด้านใต้ทางมุมตะวันตกเฉียงใต้พังเสียราว ๑๐ วา แต่ด้านตะวันออกกับด้านเหนือยังบริบูรณ์ จึงเห็นได้ว่าเมืองพิชัยไม่ใช่เมืองเล็กน้อย แต่ไม่มีตำนานปรากฏว่าสร้างขึ้นแต่เมื่อใด ในพงศาวดารเหนือไม่มีกล่าวถึงเมืองพิชัย แต่ถ้าจะลองเดาเล่นก็น่าจับให้เป็นบริบูรณ์นคร เมืองบริบูรณ์นครนั้น

ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่าได้สร้างขึ้นเมื่อครั้งบาธรรมราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ต่อจากตอนสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ไปแล้ว มีข้อความกล่าวไว้ว่า ได้ส่งลูกหลวงออกไปเที่ยวตั้งเมืองขึ้น ๓ แห่ง ตือตำบลบ้านปัญจมัชฌคามขึ้นเป็นเมืองหริภุญชัยให้เจ้าอโลกกุมารไปครองแห่งหนึ่ง ตั้งตำบลบ้านอุตรคามขึ้นเป็นเมืองกัมโพชนคร (คือทุ่งยั้ง) ให้เจ้าธรรมกุมารไปครองแห่งหนึ่ง ตั้งบ้านบุรคามขึ้นเป็นเมืองบริบูรณ์นครให้เจ้าสีหกุมารไปครองอีกแห่งหนึ่ง เมืองหริภุญชัยกับเมืองกัมโพชนครก็ได้ความแล้วอยู่ที่ไหน แต่บริบูรณ์นครนี้ไม่มีวี่แววอะไรเลยในหนังสือ แต่ตามความนิยมของชาวเหนือว่าตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่หรือแม่น้ำน่านใกล้ๆเมืองตรอน แต่จะสืบเอาหลักฐานอะไรก็ไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงอยากเดาว่าจะเป็นเมืองพิชัยนี้เอง ที่ตั้งของเมืองนี้ดูก็ดี ชัยภูมิควรเป็นเมืองด่านของศรีสัชนาลัยได้อีกแห่งหนึ่ง ทำนองเดียวกับเมืองทุ่งยั้งฉะนั้น

ภายในเมืองพิชัยเก่าในกาลบัดนี้รกเป็นพงเสียมาก แต่นายอำเภอได้จัดถางทางไว้ให้ไปดูสถานที่ต่างๆได้บ้าง ที่ได้ไปดูแรกคือที่ราษฎรเรียกว่าคูปราสาท คูนี้ขุดยาวยื่นเข้าไปกลางเมืองจากกำแพงเมืองด้านใต้ มีเป็นคันดินอยู่ทั้งสองฟากคู คูนั้นตรงข้ามไปจนเกือบกลางเมือง จึงไปเลี้ยววงกองดินสูงอันหนึ่ง ซึ่งนิยมกันว่าเป็นตัวปราสาท บนเนินนี้ตรวจดูเห็นก้อนศิลาแลงตัดเป็นรูปแปดเหลี่ยมกองอยู่เกลื่อนกลาด แต่พอเข้าใจได้ว่าเป็นก้อนแลงที่ใช้ก่อเสา บนนั้นมีกองดินย่อมๆซึ่งคุ้ยดูได้อิฐ จึงเดาว่าคงเป็นฐานตั้งพระ และบนเนินเนินนี้คงจะเป็นวิหารอยู่ ในคูที่ริมเนินนี้ยังมีน้ำขังอยู่ ถามได้ความว่าต่อเดือน ๕ น้ำจึงจะแห้งหมด จึงสันนิษฐานว่าเดิมคลองนี้คงจะไปต่อกับลำธารอะไรสักอันหนึ่ง ส่วนเนินที่เรียกว่าปราสาทนั้น ข้าพเจ้าสงสัยว่าไม่ใช่ปราสาท คงเป็นวัด แต่วังหรือที่อยู่ของเจ้าเมืองอาจจะอยู่ที่ริมๆนั้น และคลองนั้นอาจจะขุดเข้ามาสำหรับให้มีน้ำใช้เล่นในสวน เหมือนอย่างวังในเมืองสวรรคโลกนั้นก็เป็นได้

ต่อจากที่คูปราสาทไป ได้ไปดูที่ปรางค์อันหนึ่ง ซึ่งไม่มีผู้ใดบอกได้ว่าเป็นวัดอะไร ทำให้รู้สึกว่าขาดคนช่างรู้เช่นอย่างนายเทียนเมืองสวรรคโลก จึงจำเป็นต้องนึกเดาเอาเองตามชอบใจโดยมาก ปรางค์นั้นก่อด้วยอิฐ มีเหลี่ยมไม้สิบสองบริบูรณ์ดีอยู่มุมหนึ่ง ตัวปรางค์ฐานสี่เหลี่ยม ๖ ศอก ๗ นิ้วกึ่ง ด้านตะวันตกด้านเหนือด้านใต้มีซุ้มมีรูปอะไรรัวๆอยู่ทางด้านเหนือแลเห็นไม่สู้ถนัด เพราะเป็นรูปปั้นด้วยปูนพังเสียแล้ว ยังเห็นเป็นแต่รอยๆมีเค้ารูปคน ทางด้านตะวันออกมีบันไดขึ้นไป ๒ หรือ ๓ ขั้นแล้วถึงแท่น ตัวปรางค์นั้นถูกขุดค้นหาตรุทรัพย์เสียจนป่นแทบจะไม่เป็นรูป ทางด้านตะวันออกต่อปรางค์ออกมามีฐานสี่เหลี่ยมสูงพ้นดินหลายศอก ก่อด้วยอิฐเหมือนเช่นตัวปรางค์ ทางด้านตะวันตกของฐานนั้น มีผู้ขุดลงไปไว้ลึก จึงเห็นได้ว่าก่อรากด้วยอิฐแข็งแรง ซึ่งทำให้เจ้าใจว่าคงจะเป็นที่ตั้งของอะไรหนักๆบนฐานนั้น กับทางหน้าตะวันตกของฐานนั้นพบท่ออยู่อันหนึ่งก่อด้วยอิฐกับปูน เมื่อแรกเห็นเข้าใจว่าจะเป็นบัวปลายเสาเพราะเห็นเป็นรูปกลมปลายกลวง แต่ครั้นลองขุดคุ้ยดูจึงปรากฏว่าเป็นท่อซึ่งติดอยู่กับฐาน ท่อนี้กับรูปปรางค์ประกอบกันเข้าสองอย่างทำให้ข้าพเจ้าเดาไปว่า ที่แห่งนี้จะเป็นเทวสถานหรือโบสถ์พราหมณ์ ฐานนั้นเดาว่าเป็นที่ตั้งเทวรป พอสรงน้ำเทวรูปน้ำก็จะได้ไหลลงทางท่อรองน้ำนั้นไปใช้เป็นน้ำมนต์ต่อไปดูก็เข้าทีดี ที่นี้ดูท่าทางไม่เป็นวัดพุทธศาสนา จะว่าฐานนั้นเป็นวิหารก็ย่อมไปและฐานชุกชีตั้งพระก็ไม่มี ทั้งทีภายในวงกำแพงแก้วที่มีล้อมอยู่นั้นก็ย่อม คือกว้าง ๑๕ วา ยาว ๒๑ วาเท่านั้น การที่จะมีโบสถ์พราหมณ์ในเมืองพิชัยนี้ไม่เป็นการเหลือเกิน เพราะรู้อยู่ว่าในเมืองเหนือมีพราหมณ์อยู่เป็นอันมาก พึ่งมาสูญวงศ์หายไปในไม่ช้านัก

นอกจากนี้ก็ไม่มีชิ้นอะไรที่ดี ภายในกำแพงเมืองที่ได้เห็นแต่นอกกำแพงเมืองออกไปทางทิศเหนือ และไม่ห่างจากกำแพงนักมีวัดที่ชาวเมืองพิชัยนับถือ เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งเรียกว่าวัดเสมา การก่อสร้างในที่นี้ดูอยู่ข้างจะมั่นคง ใช้ศิลาแลงเป็นพื้น แต่มีอิฐปนอยู่บ้าง มีวิหารแคบๆสูงๆอยู่หลังหนึ่ง ฐาน ๕ วา ๒ ศอกสี่หลี่ยม มีวิหารยาวต่อออกมาข้างหน้าทางทิศตะวันออก เข้าใจว่าคงจะวางแบบอย่างวัดศรีชุมหรือวัดสระปทุมนั้นเอง วัดนี้ที่นับถือกันว่าเป็นวัดสำคัญ เพราะขุดตรุได้พระพิมพ์ตะกั่ว เป็นรูปพระยืนและพระลีลา ซึ่งเรียกตามศัพท์สามัญว่า "พระกำแพงยืน" หรือ "พระกำแพงเขย่ง" นั้นอย่างหนึ่ง กับรูปพระมารวิชัยแบบพระพุทธชินราชอีกอย่างหนึ่ง พระชนิดยืนนับถือกันว่าเป็นเครื่องรางคุ้มกันภยันตรายได้ต่างๆ และผู้ที่ถือไว้เป็นผู้คงกะพัน

ออกจากวัดเสมากลับเข้าในเมือง เดินเลียบกำแพงด้านเหนือต่อไป จนถึงด้านที่กำแพงพัง ในเวลานี้มุมเมืองทิศตะวันตกเฉียงเหนืออยู่ห่างลำน้ำอยู่มาก ด้านที่กำแพงนั้นก็อยู่ที่ดอน จึงเห็นได้ว่าภายใน ๔๐๐ ปีเศษ ตั้งแต่ทำกำแพงเมืองพิชัยขึ้นใหม่นี้ แม่น้ำได้เปลี่ยนทางหลายครั้ง เมื่อแรกก่อกำแพงเมือง แม่น้ำคงอยู่ไม่ห่างกำแพงนัก แล้วสายน้ำเปลี่ยนแทงมาทางตะวันออก จนตลิ่งพังพาเอากำแพงเมืองด้านตะวันออกลงน้ำไปด้วย แล้วสายน้ำกลับเปลี่ยนไปทางทิศตะวันตกอีก ตลิ่งทางฝั่งตะวันออกก็งอกตามออกไป จนมุมเมืองด้านตะวันตกเฉียงเหนือมาอยู่บนดอนเช่นเดี๋ยวนี้

ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์นั้น ดูเมืองพิชัยแล้ว กินกลางวันที่วัดหน้าพระธาตุแล้วกลับไปลงเรือ นอนค้างที่นั้นอีกคืนหนึ่ง

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ล่องจากพิชัยเก่า ผ่านเข้าแดนเมืองพิษณุโลก หยุดนอนที่ตำบลท่างาม ระยะนี้อยู่ข้างใกล้ แต่ครั้นจะกะให้ยาวกว่านี้ก็เห็นว่าเรือไปด้วยกันมาก ถ้าไปติดเสียบ้างจะลำบาก วันที่ ๒๖ นอนที่หน้าที่ว่าการอำเภอพรหมพิราม วันที่ ๒๗ นอนที่ตำบลไผ่ขอ วันที่ ๒๘ ออกเรือจากไผ่ขอเวลาเช้า ๒ โมง พอเวลา ๕ โมงก็ถึงเมืองพิษณุโลก พักอยู่แพหน้าที่ว่าการมณฑล


....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๓ พิษณุโลก


เป็นธรรมเนียมเจ้านายไปถึงเมืองพิษณุโลกแล้วก็ต้องกระทำการสมโภชพระพุทธชินราช เพราะฉะนั้น ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ นั้นเอง ตอนเย็นข้าพเจ้าได้ข้ามฟากไปวัดมหาธาตุ ตรงเข้าไปนมัสการพระพุทธชินราช จุดเทียนนมัสการแล้วนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้วจุดดอกไม้เพลิงและดูละคร ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ เวลาเช้าถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระสงฆ์แล้วเววียนเทียนสมโภชพระพุทธชินราชถูกต้องตามธรรมเนียม ตามธรรมดาที่ทำกันแต่เท่านี้

แต่ครั้งนี้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าควรจะทำอะไรเพิ่มเติมให้แปลกขึ้นอีกสักหน่อย เพราะการที่ได้ขึ้นมาเที่ยวในเมืองอยู่นานเรียบร้อยดี ปราศจากความไข้เจ็บต่างๆ ในเวลาบ่ายวันที่ ๒๙ นั้น จึ่งได้จัดการเล่นสรรพกีฬาที่สนามราชมาฬก มีรางวัลแจกให้แก่ผู้ที่แข่งขันประชันฝีเท้าและกำลังตามสมควร ครั้นเวลาค่ำมีการเลี้ยงข้าราชการที่ราชมาฬก รุ่งขึ้นวันที่ ๑ มีนาคม เวลาค่ำมีละครพูด พวกข้าราชการและข้าในกรมเล่นให้ข้าราชการดู

นอกจากสมโภชพระพุทธชินราช ยังมีสิ่งที่เป็นธรรมเนียมต้องกระทำอีกอย่างหนึ่ง คือไปบวงสรวงเทพารักษ์ที่วังจันทร์ เพราะฉะนั้นพอเสร็จการสมโภชแล้ว รุ่งขึ้นวันที่ ๒ มีนาคม เวลาเช้าได้ไปที่วังจันทร์ กระทำการบวงสรวงที่ศาลกลางวัน แล้วเที่ยวเดินดูวังต่อไป ในวังนี้มีสระอยู่แห่งหนึ่งเรียกว่าสระสองห้อง เพราะมีถนนเป็นคันคั่นอยู่ระหว่างกลาง เป็นสระเขื่องอยู่ และถ้าแม้มีน้ำขังอยู่เต็มก็ดูจะสบายดี วังนั้นมีกำแพงเป็นสองชั้น พื้นที่ไม่สู่ใหญ่นัก และเพราะเหตุที่ต้นไม้ขึ้นอยู่เป็นพงในนั้นจึงดูยาก แต่เห็นได้ว่าเป็นวังย่อมๆและปราสาทราชฐาน คงจะทำด้วยไม้จึงไม่มีร่องรอยเหลืออยู่เลย ทางด้านตะวันออกมีย่อกำแพงอยู่แห่งหนึ่ง เข้าใจว่าตรงนั้นจะมีพลับพลาสูง และต่อนั้นออกไปคงจะเป็นหน้าพระลาน การก่อสร้างใช้อิฐเหมือนเช่นที่กรุงเก่า

เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ข้าพเจ้าได้ไปดูวัดจุฬามณี ไปโดยทางเรือล่องลงไปจากมีเมืองไม่ไกลนักก็ถึงท่า ขึ้นเดินไปไม่กี่เส้นถึงวัด วัดจุฬามณีนี้ในชั้นแรกๆพากันหลงเที่ยวค้นหากันที่ทางกรุงเก่าก็หาไม่พบ ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตมีข้อความอยู่ว่า "ศักราช ๘๑๐ ปีมะโรงสัมฤทธิศก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าสร้างพระวิหารวัดจุฬามณี" ต่อลงมาอีกวรรคหนึ่งมีข้อความว่า "ศักราช ๘๑๑ ปีมะเส็งเอกศก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าทรงผนวช ณ วัดจุฬามณีไดเปดเดือนแล้วลาผนวช" ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าเป็นวัดสำคัญ แต่เพราะไม่มีข้อความกล่าวชี้ไว้เป็นแน่นอน ว่าวัดจุฬามณีนั้นอยู่ในเขตแดนเมืองไหน ก็พากันเข้าใจเสียว่าอยู่ที่กรุงเก่า

ครั้นกลางปีรัตนโกสินทรศก๔๐ ๑๒๖ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ เสด็จขึ้นไปตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้ทรงพบวัดจุฬามณีนี้อยู่ที่เมืองพิษณุโลก ทรงพบศิลาจารึกข้อความเป็นหลักฐานเป็นพยานตรงตามข้อความในพระราชพงซศาวดาร ได้ทรงคัดอักษรจารึกแผ่นศิลาส่งลงมาประทานแก่หอพระสมุดวชิรญาณ และสำเนาคำจารึกนั้นได้พิมพ์ไว้ต่อท้ายหนังสือพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติแล้ว

ตามข้อความที่จารึกไว้ในแผ่นศิลานั้น ศักราชผิดกับศักราชในพงศาวดารกรุงเก่าฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตอยู่หลายปี ตามคำจารึกว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถให้สร้างอารามวัดจุฬามณีเมื่อจุลศักราช ๘๒๖ ปีวอกฉอศก และได้เสด็จออกทรวงผนวชเมื่อศักราช ๘๒๗ ปีระกาสัปตศก เพราะฉะนั้นศักราชในพงศาวดารฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตผิดอยู่ ๑๖ ปี สอบดูพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ศักราชตรงกับในคำจารึก และเมื่อรู้ตำแหน่งแห่งหนแห่งวัดจุฬามณีแล้ว ไปพลิกดูพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอีก ก็แลเห็นว่าถ้าได้อ่านพงศาวดารฉบับนี้ก่อนแล้ว บางทีจะมีผู้สันนิษฐานที่ตั้งวัดจุฬามณีได้เสียก่อนแล้ว ข้อความในพงศาวดารฉบับนี้มีกล่าวอยู่ว่า "ศักราช ๘๐๐ มะเมียศก ครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าสร้างวัดมเหยงคณ์เสวยราชสมบัติ และสมเด็จพระราเมศวร(เจ้าผู้เป็น)พระราชกุมารท่านเสด็จไปเมืองพิษณุโลก ครั้งนั้นเห็นน้ำพระเนตรพระพุทธชินราชตกออกมาเป็นโลหิต" ต่อลงมาอีกมีข้อความว่า "ศักราช ๘๑๐ มะโรงศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน จึ่งพระราชกุมารท่าน สมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ" ดังนี้ เห็นได้ว่าพงศาวดารฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตคลาดเคลื่อนไปหลายปี ปีที่ว่าทรงสร้างพระวิหารวัดจุฬามณีนั้น พึ่งเสวยราชสมบัติเท่านั้น และสักราชในเรื่องอื่นในแผ่นดินนี้ก็คลาดเคลื่อนกันต่อๆไปเป็นชั้นๆคือสูงเกิน ๑๖ ปีตลอด

กับมีข้อความสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งในพงศาวดารฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตไม่ได้กล่าวถึงเลย คือ "ศักราช ๘๒๕ มะแมศก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าไปเสวยราชสมบัติเมืองพิษณุโลก แลตรัสให้พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยาทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชา" ในปีนี้เองเสด็จยกทัพไปช่วยเมืองสุโขทัยกับพระอินทราชา ตีทัพพระเกียรติ์แตกแล้วชนช้างกับหมื่นนคร และพระอินทราชาต้องปืนที่พระพักตร์ ครั้นมหาราชเลิกทัพไปจากสุโขทัยแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าได้เสด็จกลับคืนเข้ากรุงศรีอยุธยา พอต่อไปอีกวรรคหนึ่งก็กล่าวถึงทรงสร้างพระวิหารวัดจุฬามณีทีเดียวในปีรุ่งขึ้น เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงได้กล่าวว่า ถ้าได้อ่านพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ และได้ทราบข้อความนี้แล้ว ก็พอจะมีทางเดาได้บ้างว่าวัดจุฬามณีนั้นอยู่ที่เมืองพิษณุโลกไม่ใช่ที่กรุงเก่า เพราะเมื่อปรากฏอยู่ว่าเมื่อเสด็จขึ้นไปอยู่พิษณุโลก และให้พระโอรสครองราชสมบัติที่กรุงศรีอยุธยาแทนพระองค์ ฉะนั้นแล้วก็คงต้องสันนิษฐานได้ต่อไปว่าถ้าจะทรงสร้างวัดและทรงออกผนวชที่ไหนแล้ว ก็คงต้องเป็นที่ใกล้ๆที่ประทับอยู่ แต่การปรารภภายหลังเหตุเช่นนี้เป็นของง่าย เมื่อการแล้วไปแล้วก็พูดง่ายว่าเมื่อแรกนั้นพลาดพลั้งที่ตรงไหน เป็นแต่ข้าพเจ้าอดนึกเสียใจไม่ได้เท่านั้นว่าไม่มีผู้ใดได้แลเห็นหนทางที่จะสันนิษฐานที่ตั้งวัดจุฬามณี จนได้มีผู้บังเอิญไปพบเข้าเองโดยมิได้ตั้งใจจะหาฉะนี้

ในเวลานี้ในวัดจุฬามณียังมีที่ดูได้มาก ของควรดูล้วนอยู่ในลานอันหนึ่ง กว้าง ๑ เส้น ๔ วา ยาว ๒ เส้น ๑๗ วา มีกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐสูงประมาณ ๒ ศอก กลางลานมีพระปรางค์ใหญ่ก่อด้วยแลง ทางด้านตะวันตกมีอุโบสถก่อด้วยอิฐ ด้านตะวันออกมีวิหารใหญ่ผนังอิฐฐานอิฐแต่เสาเป็นแลง ต่อวิหารออกไปทางมุมลานผนังหลังมณฑปมีแผ่นศิลาจารึกที่กล่าวถึงแล้วข้างบนนี้ มีซุ้มและกรอบสำหรับศิลานั้นด้วย สังเกตดูสันนิษฐานว่าวัดนี้เป็นวัดโบราณมีอยู่แต่ก่อนสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้มาปฏิสังขรณ์ขึ้น และทำพระวิหารเพิ่มเติมขึ้น พระเจดีย์กลางนั้นคงเป็นของมีอยู่แต่เดิม

ทำเลที่ตั้งวัดนี้อยู่ข้างจะเหมาะ เพราะอยู่ใกล้ลำน้ำทางไปมาสะดวก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จมาอยู่ที่พิษณุโลกนานย่อมจะได้เสด็จประพาสตามที่ต่างที่ใกล้ๆเมืองนี้ คงจะมาโปรดทำเลที่ตั้งวัดจุฬามณีจึงได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้น แล้วเลยเกิดทรงพระราชศรัทธาขึ้นมาเสด็จออกทรงผนวช วัดนี้เป็นที่สำราญดีกว่าวัดในเมืองเป็นแน่ การที่มาเตรียมการออกทรงผนวชน่าจะทำเป็นการใหญ่ บ่อและสระที่ขุดไว้ในเวลานั้นยังอยู่จนกาลบัดนี้ แต่ส่วนเสนาสนะหรือพลับพลาที่จะประทับนั้นไม่ต้องหาให้ป่วยการ คงทำด้วยไม้ทั้งนั้น ในเวลาที่ทรงผนวชอยู่นั้นก็ต้องเข้าใจว่าทรงสบายมาก จึงทรงผนวชอยู่ถึง ๘ เดือนกับ ๑๕ วัน ครั้งนั้นมีผู้บวชโดยเสด็จมาก ตามคำจารึกในแผ่นศิลามีอยู่ว่า "แลพระสงฆ์บวชโดยเสด็จทั้งสี่คณะ ๒๓๔๘ พระองค์" ท่านพระ ๒๓๔๘ องค์นี้เห็นจะไม่ได้อยู่ที่วัดจุฬามณีทั้งนั้นกระมัง ถ้าไปรวมกันอยู่ที่นั่นหมด เห็นจะมากเกินต้องการ

นอกจากสถานที่กล่าวถึงมาแล้วนี้ ก็ไม่มีอะไรที่แปลกน่าดูอีกในเมืองพิษณุโลก เมืองก็ใหญ่แต่ช่างมีชิ้นดีๆเหลืออยู่น้อยจริงๆ แต่มีชิ้นสำคัญอยู่พอจะแก้หน้าของเมืองได้ดีอย่างยิ่ง กล่าวคือพระพุทธชินราช ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธรูปมากนักแล้ว ไม่ได้เคยรู้สึกว่าดูปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย ที่ตั้งอยู่ก็ดูเหมาะสมหนักหนา วิหารพอเหมาะกับพระมีที่ดูได้ถนัด และองค์พระก็ตั้งต่ำพอดูได้ตลอดทั้งองค์ ไม่ต้องเข้าไปดูจอนจ่อเกินไป และไม่ต้องแหงนคอตั้งบ่า แลดูแต่พระนาสิกพระ ยิ่งพิศไปยิ่งรู้สึกยินดีว่าไม่เชิญลงมาเสียจากที่นั้น ถ้าพระพุทธชินราชยังคงอยู่ที่พิษณุโลกตราบใด เมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น ถึงในเมืองพิษณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออยู่อีกเลย ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่เสมอว่ามีของควรดูควรชมอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในเมืองเหนือ หรือจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ได้(๑)


..........................................................................



อธิบายความเพิ่มเติมตอนที่ ๓

(๑) เมืองพิษณุโลกมีชื่อเดิมเรียกว่า "เมืองสองแคว" เพราะตั้งอยู่ในระหว่างลพน้ำแควใหญ่(น้ำน่าน) กับลำน้ำแควน้อย(คือลำน้ำที่ไหลมาแต่เมืองนครไทย) แต่เดิมผ่านมาทางหลังเมืองพิษณุโลก (ยังพอสังเกตเห็นแนวได้อยู่) ไปร่วมลำน้ำแควใหญ่ที่ท่าล่อ ครั้นขุดคลองจากลำน้ำแควน้อยมาออกข้างเหนือเมืองพิษณุโลก สายน้ำมาเดินทางใหม่ จึงทำให้ลำน้ำแควน้อยเดิมเขินไป

ในบรรดาศิลาจารึกสุโขทัยและหนังสือเก่าครั้งรัชกาลพระเจ้าอู่ทองเรียกว่าเมืองสองแควทั้งนั้น ชื่อที่เรียกว่าเมืองพิษณุโลกเห็นจะเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา คราวเดียวกับชื่อเมืองสวรรคโลกบางทีจะเป็นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ตัวเมืองสองแควครั้งพวกขอมปกครองตั้งอยู่ตรงวัดจุฬามณี จึงสร้างพระปรางค์วัดนั้นไว้เป็นสำคัญ เมืองพิษณุโลกเดี๋ยวนี้ย้ายขึ้นไปตั้งเมื่อสมัยสุโขทัย เรื่องตำนานการสร้างเมืองพิษณุโลกและสร้างพระพุทธชินราชพระพุทธชินสีห์นั้น สอบสวนหลักฐานเห็นว่ารูปเรื่องจะเป็นดังกล่าวในพงศาวดารเหนือ เป็นแต่พงศาวดารเหนือลงนามเมืองของพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกว่าเมืองเชียงแสนนั้นผิด ที่แท้พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกนั้นมิใช่ผู้อื่น คือพระมหาธรรมราชาพระยาลิไทย ราชนัดดาของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชนั้นเอง มีเรื่องในศิลาจารึกว่าเมื่อเป็นพระมหาราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ก่อนจะได้เสวยราชสมบัติมีศัตรูต้องยกกองทัพลงมาติดเมืองสุโขทัยในเวลาพระราชบิดาประชวรหนัก จึงได้ครองราชอาณาเขต ตรงกับที่ว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกยกกองทัพมาติดเมืองสวรรคโลก ได้ราชสมบัติเมืองนั้น และพระมหาธรรมราชาพระยาลิไทยทรงรอบรู้พระไตรปิฎก จึงทรงสามารถแต่งเรื่องไตรภูมิ ตรงกับที่เรียกว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมีแต่พระองค์เดียวเท่านั้น อีกประการหนึ่งโบราณวัตถุที่สร้างไว้ ณ เมืองพิษณุโลกเป็นแบบอย่างครั้งสมัยสุโขทัยเมื่อรับลัทธิพระพุทธศานาลังกาวงศ์มาแล้ว ยกตัวอย่างเช่นพระชินราช พระชินสีห์ ควรเชื่อได้ดังกล่าวในพงศาวดารเหนือว่าประชุมช่างอย่างวิเศษ ทั้งที่มณฑลพายัพและในอาณาเขตสุโขทัยมาให้ช่วยกันคิดแบบอย่าง แต่พึงสังเกตเห็นได้ที่ทำปลายนิ้วพระหัตถ์เท่ากันทั้ง ๔ นิ้ว เป็นความเกิดขึ้นด้วยวินิจฉัยคัมภีร์มหาปุริสลักขณะกันอย่างถี่ถ้วนในชั้นหลัง พระพุทธรูปชั้นก่อนหาทำนิ้วพระหัตถ์เช่นนี้ไม่ และที่สุดยังมีหลักฐานอีกอย่างหนึ่ง ด้วยในเรื่องพงศาวดารเมืองเชียงแสนมิได้ปรากฏว่ามีพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกหรือพระเจ้าเชียงแสนองค์ใด ได้ลงมาตีเมืองสวรรคโลกเหมือนอย่างกล่าวในพงศาวดารเหนือ ด้วยมีหลักฐานต่างๆดังกล่าวมา จึงสันนิษฐานว่าพระมหาธรรมราชาพระยาลิไทยเป็นผู้สร้างเมืองสองแควขึ้นเป็นเมืองลูกหลวง และหล่อพระพุทธชินราชพระพุทธชินสีห์ เมื่อราว พ.ศ. ๑๙๐๐


....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๔ กลับบ้าน


วันที่ ๖ มีนาคม เวลาเช้า ๔ โมง ออกจากที่พักริมที่ว่าการมณฑลพิษณุโลก ลงเรือข้ามฟากไปขึ้นที่วัดบรมธาตุ ขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราช แล้วไปที่พักรถไฟ ขึ้นรถไฟพิเศษออกจากเมืองพิษณุโลกเวลาเช้า ๔ โมง ๔๕ นาที ทางรถไฟผ่านไปทางสระแก้วซึ่งได้เคยเห็นเป็นบึงใหญ่มีน้ำเต็ม เห็นครั้งนี้น้ำแห้งหมด แต่ก่อนเคยเป็นที่งามแห่งหนึ่ง เดี๋ยวนี้กลายเป็นที่สกปรก นี่แหละผลได้ทางหนึ่งก็คงเสียทางหนึ่ง ความเจริญมักเป็นศัตรูกับความงามของพื้นประเทศ และบางทีก็เป็นศัตรูของโบราณวัตถุ แต่ข้อนี้เป็นธรรมดาไม่เป็นแต่เมืองเรา ที่เมืองอื่นก็เหมือนกัน เช่นที่ประเทศอิยิปต์เป็นต้น มีตัวอย่างคือ เทวสถานที่เกาะไฟลีเหนือแก่งตำบลอัสวัน เดิมเป็นที่งามน่าดูและนักเลงโบราณคดีนิยมกันว่าเป็นที่สำคัญ มีอักษรเขียนไว้บอกเรื่องราวตำนานของชาติอิยิปต์โบราณเป็นอันมาก บัดนี้ได้สร้างทำนบใหญ่ขึ้นที่แก่ง น้ำท่วมเกาะและเทวสถานไฟลีเสียแล้ว

เมื่อจะต้องเลือกกันว่าจะเอาข้างไหน ความเจริญหรือรักษาของโบราณ ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องคิดถึงความเจริญก่อน เพราะฉะนั้น ก็ต้องยอมเอาของโบราณแลกกับความเจริญ ถึงในเมืองเราก็เหมือนกัน รถไฟได้อิฐจากโบราณสถานกรุงเก่าไปถมทางเสียไม่รู้เท่าไร ยังหวังใจอยู่อย่างเดียวแต่ว่า ในเมืองไทยเรานี้จะไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องเอาโบราณวัตถุแลกกับความเจริญของเราบ่อยๆเท่านั้น

เวลาเที่ยง ๑๕ นาที รถไฟถึงสเตชั่นเมืองพิจิตร ลงจากรถไฟเดินไปไม่ไกลนักก็ถึงพิจิตรสโมสร ซึ่งเจ้าเมืองได้จัดไว้ให้เป็นที่พักอยู่ริมฝั่งตะวันออกของลำน้ำ ในเวลาบ่ายได้เที่ยวเดินดูสถานที่ต่างๆในเมืองพิจิตร

รุ่งขึ้นวันที่ ๗ มีนาคม ไปเที่ยวเมืองพิจิตรเก่า ออกจากที่พักข้ามไปฝั่งตะวันตก ขึ้นม้าขี่ไปทางเหนือเลียบตามริมฝั่งแม่น้ำ จนพ้นตลาดไปสักหน่อยหนึ่งถึงถนนแยก เลี้ยวถนนนี้ ทางใต้เลียบลำน้ำเก่าผ่านตำบลบ้านคลองคเชนทร์ มีบ้านช่องมาก เลี้ยว ตรงเรื่อยไปในป่าบางๆ ผ่านตำบลบ้านโรงช้าง มีบ้านผู้คนหนากว่าที่บ้านคลองคเชนทร์ตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งน้ำ แม่น้ำเก่าตอนนี้มีน้ำขังอยู่มาก ต่อบ้านโรงช้างไปหน่อยหนึ่ง ถึงกำแพงเมืองเก่า ทางเดินผ่านไปในเมือง แล้วจึงถึงบ้านเมืองเก่า ที่นี่บ้านช่องดูคับคั่งมาก มีเรือนดีๆฝากระแชงเป็นพื้น ดูบ้านช่องสะอาดดี มีผู้คนอยู่หนาแน่น สังเกตว่ามีผู้อันจะกินอยู่มากได้สนทนากับคนที่นี้บ้าง ก็สังเกตว่าทั้งกิริยามารยาทและวาจาเรียบร้อยดี เห็นได้ว่าเป็นคนชั้นที่ดีกว่าที่พบตามแถบเมืองใหม่(๑)

ส่วนในเมืองนั้นไม่สู้จะมีที่ดูมากนัก มีเกาะศรีมาลาแห่งหนึ่งกับวัดมหาธาตุแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน เกาะศรีมาลานั้นอยู่กลางสระ มีเป็นคันดินและคูล้อมสระนั้นอีกชั้นหนึ่ง ถ้าเวลามีน้ำเต็มๆเห็นจะงามดี นามเกาะนี้ไม่ต้องสงสัยว่าตั้งประกอบขึ้นภายหลังให้เข้ากับเรื่องขุมช้างขุนแผน

วัดมหาธาตุนั้นดูท่าทางจะเป็นวัดสำคัญในเมืองนี้เดิม มีเจดีย์องค์หนึ่งกับโบสถ์และวิหารก่อด้วยอิฐ ที่วัดนี้มีปล่องอันหนึ่งซึ่งเรียกว่าถ้ำชาลวัน ครั้นไปตรวจดูได้ความว่าเป็นปากท่อน้ำก่อด้วยอิฐช่องใหญ่พอคนคลานลอดเข้าไปได้ คงจะทำสำหรับน้ำเดินจากคูเข้าไปที่สระในวัด เดี๋ยวนี้ยังคงเหลือแต่ปากท่อที่อยู่ในคูเท่านั้น จึงแลดูคล้ายถ้ำ ดูในเมืองเสร็จแล้วไปกินข้าวกลางวันที่วัดนครชุม แล้วกลับเมืองใหม่ รวมทางทั้งไปทั้งกลับ ๖๐๐ เส้น

นึกดูก็น่าประหลาดใจที่ลำน้ำเก่าเขินเร็วจริงๆ เมื่อราว ๔๕ ปีมานี้เอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองพิจิตร เสด็จโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช ขึ้นทางลำน้ำเก่าไปถึงเมืองพิจิตร จอดเรือพระที่นั่งราวๆหน้าวัดนครชุม ในกาลบัดนี้แม้ในฤดูน้ำก็ใช้เรือเดินไม่ได้ตลอด ถ้าจะนึกไปก็น่าเสียดาย เพราะที่เมืองเก่านี้เป็นทำเลดีมาก และบ้านช่องผู้คนก็อยู่ที่นี้มาก ถ้าแก้ไขเรื่องน้ำให้สะดวกได้แล้วน่าจะย้ายที่ว่าการมาตั้งไว้ที่เมืองเก่านี้ตามเดิม เชื่อว่าจะเป็นการสะดวกแก่การปกครองมาก

วันที่ ๘ มีนาคม ยังพักที่พิจิตรอีกวันหนึ่ง ได้ไปเที่ยวบึงสีไฟ

วันที่ ๙ มีนาคม ออกจากเมืองพิจิตร รถไฟพิเศษออกเวลาเช้า ๓ โมง ถึงปากน้ำโพ ๕ โมง ๓๕ นาที หยุดพักราว ๒๐ นาที แล้วออกเดินทางต่อมา ถึงสเตชั่นสามเสนเวลาบ่าย ๕ โมง ๕๔ นาที รวมเวลาที่ไปเที่ยวทั้งสิ้น ๖๕ วัน

ท่านผู้ที่ได้อ่านหนังสือนี้มาจนตลอดถึงแค่นี้แล้ว คงจะต้องรู้สึกมาแล้ว ว่าตอนกลางๆสนุกกว่าตอนท้ายเป็นอันมาก ตอนท้ายๆนี้จืดเต็มที ถ้าท่านรู้สึกเช่นนี้เมื่ออ่านหนังสือ ก็แปลว่าท่านรู้สึกอย่างเดียวกับตัวข้าพเจ้าเมื่อเดินทางนั้นเอง การไปเที่ยวเมืองเหนือที่สนุกมากก็อยู่ที่ตอนกลาง มาตอนปลายๆจืด ข้าพเจ้าเล่าไปตามความที่เป็นจริงจึงเป็นเช่นนั้น การที่จะแต่งให้ตอนปลายสนุกนั้น ถ้าจะกระทำจริงๆก็ได้ แต่ก็จะไม่ตรงกับความจริงเพราะฉะนั้น ความจริงจืดอย่างไร จึงต้องปล่อยให้จืดอยู่อย่างนั้น

การไปเที่ยวเมืองเหนือครั้งนี้ นอกจากความลำบากในส่วนการเดินทาง ยังลำบากในการค้นสถานที่ต่างๆนั้นเป็นอันมาก ความรู้สึกเหมือนไปในป่าดงทึบ ซึ่งยังไม่มีทางเดิน และต้องตัดถางทางเดินไปทุกฝีก้าว แต่ความลำบากในส่วนหักร้างถางพงนี้รู้สึกว่าสูญหายหรือลืมเสียสิ้น ในเวลาปีติเมื่อแลเห็นแสงสว่างอยู่ข้างหน้าฉันใด ความรู้สึกของข้าพเจ้าก็เช่นกัน ถ้าผู้ที่ยังไม่เคยไปทางเหนือนั้นๆได้อ่านหนังสือนี้ รู้สึกออกรสสนุกบ้างแม้แต่เล็กน้อยแล้ว ข้าพเจ้าจะรู้สึกในใจว่าการที่ได้ไปลำบากมาไม่เสียเวลาเปล่า


..........................................................................



อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๔


(๑) เมืองพิจิตรเก่า ชื่อเดิมเรียกว่าเมืองสระหลวง คู่กับเมืองสองแคว ในศิลาจารึกสุโขทัย และกฎหมายครั้งพระเจ้าอู่ทองเรียกอย่างนั้นทั้งนั้น เห็นจะตั้งชื่อใหม่คราวเดียวกับเมืองพิษณุโลก ผู้แต่งพงศาวดารเหนือ เอาคำมคธมาเรียกว่า โอฆบุรี ก็เห็นได้ว่าแปลงมาจากคำสระหลวงนั้นเอง แต่มาเกิดเข้าใจกันผิด ว่าเมืองโอฆบุรีอยู่ตรงเมืองพิษณุโลกเพียงข้ามฟากลำแม่น้ำ ที่จริงเมืองสระหลวงเป็นเมืองด่านทางด้านใต้ของกรุงสุโขทัย อย่างเดียวกับเมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองด่านทางตะวันตก เมืองสวรรคโลกเป็นเมืองด่านทางเหนือ เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองด่านทางตะวันออกฉันใด เมื่อสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีก็ตั้งเมืองด่านสี่ทิศทำนองเดียวกัน คือเมืองลพบุรีทิศเหนือ เมืองนครนายกทิศตะวันออก เมืองพระประแดงทิศใต้ เมืองสุพรรณทิศตะวันตก ส่วนเมืองพิจิตรเก่านั้น พิจารณาดูการก่อสร้างในอิฐเป็นพื้น จึงสันนิษฐานว่าเห็นจะสร้างเมื่อภายหลังเมืองพิษณุโลกลงมา เมื่อกรุงสุโขทัยหย่อนกำลังลงแล้ว


....................................................................................................................................................


เที่ยวเมืองพระร่วง ภาคที่ ๔


Create Date : 26 มีนาคม 2550
Last Update : 26 มีนาคม 2550 14:30:29 น. 0 comments
Counter : 3707 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com