Group Blog
All Blog
|
หน้าบันวัดใหญ่บางปลากด
วัดใหญ่บางปลากด เป็นวัดเก่าแก่มาก ตามประวัติว่าสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ราวพ.ศ. 2304 ใน ต.ในคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ จ. สมุทรปราการ แต่เดิมมีอาคารโบราณสถานหลายแห่ง แต่ก็ได้ทรุดโทรมผุพังไปตามกาลเวลา พระอุโบสถใหม่เป็นคอนกรีตไปเสียแล้ว เรามีภาพถ่ายเก่าอุโบสถวัดใหญ่บางปลากดเหลืออยู่ชิ้นหนึ่ง เป็นของอ.พิทยา บุนนาค ต้องขอบพระคุณอาจารย์มา ณ โอกาสนี้ ภาพนี้โบสถ์ก็ใกล้พังแล้ว เหลือแต่โครงสร้างหลังคา ผนังหายไป เข้าใจว่าแต่เดิมเป็นโบสถ์ไม้สไตล์เมืองน้ำเค็ม ที่มักสร้างในดินเลนอ่อน ทำให้รับน้ำหนักผนังอิฐถือปูนไม่ได้ จึงใช้ไม้สร้างทั้งหลัง โบสถ์ยังมีหน้าบันที่แกะไม้เป็นลายก้านขดม้วน ตรงกลางเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณงดงามมาก ตามสไตล์ช่างต้นกรุง ลวดลายเข้ากันได้ดีกับหน้าบันอุดปีกนกอีก 2 ข้าง และคงปิดทองประดับกระจกด้วย แต่โบสถ์หลังนี้ก็ไม่เหลือซากแล้ว ![]() หน้าบันวัดใหญ่ท่าเสา อุตรดิตถ์
![]() หน้าบันวัดบางยี่ขัน กรุงเทพ
เทวดากราบก้มพนมกร บนหน้าบันศาลาสวดศพวัดบางยี่ แผงหน้าบันเก่าของวัดมุขราช จริงๆวัดหลวงแต่ละวัดในกรุงเทพนี่คือพระคลังมหาสมบัติทั้งสิ้น แต่วัดไม่ค่อยสนใจสร้างพิพิธภัณฑ์หรอก เก็บๆไว้ตามอาคารเอนกประสงค์ ดีหน่อยก็ทำทะเบียนไว้ แล้วก็ปิดตายฝุ่นจับ เพราะเอามาจัดแสดงก็ไม่ได้กำรี้กำไร เสียทั้งเงินดูแลรักษา แถมของหายไปก็ลำบากอีก น่าเห็นใจ แต่ไม่เอาธุระเลยนี่ก็ไม่ไหวนะ ![]() ชิ้นนี้หางโตหรือเทพนมตรงกลางหายไปแล้ว ทำสีปิดทองใหม่ ![]() เทพนมครึ่งตัวชะโงกออกมาตรงกลาง หน้าบัน เอกลักษณ์ของงานต้นกรุง ![]() ลายคล้ายหน้าบันศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม งานสมัยพระเจ้าเสือ ช่างสืบธรรมเนียมกันมา หน้าบันวัดเทียนถวาย
วัดเทียนถวาย ปทุมธานี เลยดอนเมืองไปหน่อยเป็นวัดเก่า ตามประวัติวัดกล่าวว่าสร้างโดยพระเจ้าอู่ทองโน้นแน่ะก่อนสร้างกรุงศรีอีกในปีพ.ศ. 1880 เขาว่ากันว่า ทรงมาแถวนี้แล้วจุดเทียนกันมาก เลยเรียกว่าเทียนไสว แต่จริงๆแล้วมาจากคำว่า เกรียนสวาย ในภาษาเขมรที่แปลว่า "ป่ามะม่วง" อันเป็นคำที่ใช้ในกำสรวลศรีปราชญ์ วัดนี้แปลกประหลาดมหัศจรรย์อย่างหนึ่งตรงที่วิหารเก่ามีหน้าบันปูนปั้นแบบอยุธยาตอนปลาย ลักษณะพิเศษคือสกุลที่ผมชอบเรียกว่าวิลันดา เป็นหน้าบันก่ออิฐถือปูนยันอกไก่ ไม่ใช่หน้าบันไม้แกะสลักแบบวัดไทยทั่วๆไป แล้วตกแต่งหน้าบันขนาดใหญ่นั้นด้วยลายปูนปั้นแบบฝรั่งผสมไทย ผสมจีน แล้วแต่อารมณ์ ข้อดีคือ ผนังหนา รับน้ำหนักเครื่องบนได้ดี ไม่ต้องมีเสาข้างใน และถูก เพราะไม่ต้องแกะไม้ปิดทองประดับกระจก เหมาะกับวัดบ้านนอก วัดแบบนี้แต่เดิม มีต้นตำรับที่วัดเตว็ด คลองคูจามอยุธยา และวัดยางสามแยกไฟฉาย ที่ถูกซ่อมจนชิบหายไปแล้ว เหลือวัดเทียนถวายที่ยังงานดีอยู่ ลายแบบนี้ได้อิทธิพลมาจากบาโร้คครับ เป็นลายม้วนๆกลมๆ ไม่แหลมแบบลายไทย ดูนุ่มนวล เทวดาก็มักจะแต่งแบบฝรั่ง เป็นตัวอรหันครึ่งคนครึงนกกระปูด เป็นเทวดาคิวปิดบ้าง เทวดาจีนบ้าง อะไรก็ได้ที่ไม่มีชฏาแหลมขัดกับลาย นับว่าช่างก็หาทางยักเยื้องได้เก่ง ไม่ทำอะไรโดดเด่นกวนตาออกมา ![]() ![]() หน้าบันวัดท่าบางสีทอง
วัดท่าบางสีทอง อยู่ที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี งานเก่า ดูรูปแบบลายใหญ่ๆมีเทพนมตรงกลางแล้วนึกถึงหน้าบันต้นกรุง หลังอยุธยาตอนปลายจนถึงรัชกาลที่ 1 จำพวกวัดศาลาสี่หน้า วัดกลางเกร็ด วัดสังขจาย วัดใหม่เทพนิมิตร วัดดุสิดาราม คือลายมันจะใหญ่ เทวดาแทบจะลอยออกมา และเป็นลายก้านขดประกอบกนก มีกรอบหน้าบันอีกชั้น เป็นเอกลักษณ์ของงานร.1 ที่ต้องตามบ่อยๆ จะเข้าใจ มันมีเสกลของมันอยู่นะ แต่วัดนี้ไม่มีประวัติจ้ะ ไม่รู้สร้างเมื่อไร วัดอยู่ใกล้ๆบ้านผม เผอิญมีงานวัดเลยแวะเข้าไป บานประตูก็เก่านะ มีลายเทวดาถือศร งานใกล้ๆกับงานสมัยอยุธยาเลย ![]() วัดนี้ของดีเยอะมากแต่เนื่องจากอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม โดนซ่อมเสียเยอะ จนไม่รู้ไหนเก่าไหนใหม่ เลยเอามาให้ชมกันครับ เผื่อท่านใดสามารถวิเคราะห์ได้จะเป็นวิทยาทานสำหรับผมด้วย ![]() อุโบสถวัดท่าบางสีทอง นนทบุรีครับ ที่แปลกคือ เสากลมรับหน้าจั่วนี้ไม่นิยมแล้วในสมัยต้นกรุง ![]() มีการสร้างซุ้มเสมาเลียนแบบซุ้มเสมาวัดพระแก้วด้วย ![]() ![]() ลายเทวดาถืออาวุธ ดูๆแล้วก็กระบวนลายเก่านะครับ แต่ไม่รู้ว่าซ่อมหรือเขียนเลียนของเก่า ![]() ประตูลายก้านขด แบบต้นกรุง แต่ออกลายแข็งไปนิด จนคิดว่าเลียนแบบงานเก่าหรือไม่ ![]() ลายขนมปังขิงประดับกุฏิ ![]() ภายในพระอุโบสถจากเฟซบุ๊คของทางวัดครับ https://www.facebook.com/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87-469405333118232/ |
ปลาทองสยองเมือง
![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
Friends Blog
Link |