หนัง เพลงที่ฟัง หนังสือที่อ่าน และการเมืองด้วยครับ
Group Blog
 
All Blogs
 

Hotel California - โลก Dystopia ของพญาอินทรี

ผมมองว่าอนาคตของสังคมโลกคงจะออกมาในแบบ Dystopia มากกว่า Utopia

Hotel California เป็นเพลงมือวางอันดับหนึ่งที่แฟนเพลงสากลทุกคนรู้จักดี สำหรับผมเพลงนี้มันมีความอมตะอยู่ในตัวตรงที่ท่วงทำนองอันเวิ้งว้างและเนื้อหาที่ตีความไปได้มากมายหลายแบบ - ผมทั้งอ่านหนังสือ พูดคุย และดูในอินเตอร์เนต มีคำอธิบายต่อเพลงนี้ตั้งแต่ เป็นเรื่องสยองขวัญ / เป็นความฝันของพวกเมากัญชา / ผู้หญิงหากิน / การค้นหาแดนศิวิไลย์ ไปจนถึง กับดักศิลปินและการล่มสลายของวงการดนตรี



ผมฟังเพลงนี้ครั้งแรกอยู่ ม.ปลาย ฟังอย่างไม่ทราบความหมายอะไรชัดเจน พอโตมาเรื่อยๆ จึงพอเข้าใจอะไรหลายๆอย่างมากขึ้น จนถึงปัจจุบันนี้ผมคงตีความเพลงนี้ได้นับสิบแบบแต่รูปแบบที่ผมออกจะเชื่อถือที่สุดในขณะนี้ คงเป็นเรื่องการพูดถึงสังคม Dystopia ของนักแสวงหาที่อ่อนล้ากันเต็มทน

อนาคตจะถูกมองกัน 2 แบบสำหรับฮิปปี้ยุคแสวงหา utopia คืออนาคตแห่งความหวัง มีแต่ความสุข ไม่มีความอดอยาก ไม่มีอาชญากรรม ไม่มีการกดขี่ ไม่มีสงคราม มีเสรีภาพทุกหนแห่ง ส่วนดินแดน Dystopia คือทุกอย่างที่ตรงกันข้าม

คณะ ดิ อีเกิ้ล ก็ไม่เคยบอกถึงความหมายแน่นอนของเพลงนี้แต่มีระบุความหมายบางประโยคให้ตีความกันไปเอง - ซึ่งเมื่อมองถึงสังคมอันวังเวงในปัจจุบัน ผมคิดว่า.......

On a dark desert highway, cool wind in my hair
Warm smell of colitas, rising up through the air
Up ahead in the distance, I saw a shimmering light
My head grew heavy and my sight grew dim
I had to stop for the night

ท่อนแรกพูดถึงบุปผาชนหรือคนที่หวังจะปฎิวัติโลกเก่าไปสู่ยุคใหม่ ( colitas - หมายถึงยอดกัญชา ของโปรดพวกบุฟผาชน) ความเหน็ดเหนื่อยและอยากพักผ่อนเต็มทน โรงแรมหมายถึงจุดพัก - ในที่นี้คือระบบทุน ธุรกิจที่ชาวแสวงหาต้องยอมรับ - ส่วนท่อนที่ 2 น่าจะหมายถึงโลกทุนนิยมในตัวแทนของ"หญิงสาว" ที่เชิญชาวแสวงหาให้มาลองทางธุรกิจเงินทุนดู - There she stood in the doorway

เมื่อแรกพวกเขาคงจะลังเลใจอยู่ จึงไม่แน่ใจว่าเป็นสวรรค์หรือนรก - And I was thinking to myself, this could be heaven or this could be hell

แต่เสียงเชิญชวนก็ยั่วใจเหลือเกิน ว่ามันยังมีพื้นที่พอให้มากอบโกยกันนะ - Welcome to the hotel california - Such a lovely face - Plenty of room at the hotel california - Any time of year, you can find it here

ระบบนี้ทำให้จิตใจบิดเบี้ยว (tiffany twisted - ดอกไม้ที่บิดเบี้ยว) แต่มันมีทั้งรถเบนซ์ ฯลฯ ตอบแทน โอเค คุณต้องเหน็ดเหนื่อยหน่อย และบางทีก็น่าจดจำ บางทีก็ลืมๆมันไป ยอมขายวิญญาณไปเถอะน่า

Her mind is tiffany-twisted, she got the mercedes bends
She got a lot of pretty, pretty boys, that she calls friends
How they dance in the courtyard, sweet summer sweat.
Some dance to remember, some dance to forget

อันนี้สืบต่อในท่อนสุดเด็ดท้ายตรงประโยคที่ว่า -So I called up the captain please bring me my wine He said, we havent had that spirit here since nineteen sixty nine - ผมคิดเหมือนกับหลายๆคนว่าหมายถึงเหตุการณ์ วู๊ดสต๊อก แต่ในแง่มุมที่ว่า หลังจากนั้น( ปี 1969 ) ก็ไม่มีใครทำอะไรเพื่อ "จิตวิญญาณ"อีกต่อไป หลังจากนั้นอะไรๆมันคือธุรกิจ ระบบทุนนิยมล้วนๆ !!!

They livin it up at the hotel california What a nice surprise, bring your alibis
Mirrors on the ceiling, The pink champagne on ice
โลกระบบทุนที่ฉาบด้วยความสวยงาม แต่ให้คนกินคนด้วยกัน และยอมรับว่าพอเข้ามาในระบบนี้ เราก็คือนักโทษดีๆนี่เอง - we are all just prisoners here, of our own device

ก่อนจะปิดท้ายเพลงด้วยการบอกว่า เมื่อคุณยอมรับทุนนิยมมันแล้ว การดิ้นรนจะหนี เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยแม้แต่น้อย เพราะมันมีอะไรยั่วใจให้คุณทำอยุ่ตลอดเวลา
Last thing I remember, I was Running for the door
I had to find the passage back To the place I was before
relax, said the night man, We are programmed to receive.
You can checkout any time you like, But you can never leave!

อัลบั่มนี้ออกปี 1977 แสดงความสิ้นหวังของการเปลี่ยนสังคมของบุฟผาชนอย่างชัดเจน ระบบทุนนิยมสยายปีกชนะอย่างเด็ดขาดในต้นยุค 80 จนถึงปัจจุบัน - ทั้งในตัวเพลงและอัลบั่มเหมือนจะบอกว่า ภารดรภาพ ไม่มีทางเป็นไปได้ถ้าเราจะไปมั่วกับทุนนิยมสามานต์

มองไปทุกวันนี้ก็ไม่น่าแปลกใจ ผู้บริหารองค์กรใหญ่ๆทั้งไทยและทั่วโลก ใช่หรือไม่ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นผู้ที่แสวงหาโลกแห่งเสรีแต่พอเดินตามระบบทุนแล้ว เขาก็กลายเป็นคนที่เราจำแทบไม่ได้ - พวกคนเดือนตุลาในพรรคไทยรักไทย เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด

เมื่อผมหยิบแผ่นชุดนี้มาฟังจึงเข้าใจว่าทำไมหลังจากเพลงนี้แล้ว พวกเขาจึงวางเพลงที่พูดถึงสังคมที่เห่อคนใหม่ (หรือสินค้าใหม่) จนละเลยอะไรเก่าๆไปง่ายๆอย่าง new kid in town เป็นเพลงที่ 2 เพลงที่พูดถึงชีวิตยุคใหม่ที่รีบร้อนราวกับจะแข่งกันไปตายอย่าง life in the fast lane ในเพลงที่ 3

ก่อนจะปิดท้ายอัลบั่มด้วยเพลง The Last Resort ที่ย้ำถึงสังคม Utopia ที่เป็นได้แค่ความฝันของชาวฮิปปี้ เนื้อเพลงบอกถึงความหวังและสังคมที่พังทลาย เพราะระบบทุนนิยมที่เข้าทำลายทุกชุมชน

Where the pretty people play, Hungry for power
To light their neon way And give them things to do

Some rich men came and raped the land,
Nobody caught em
Put up a bunch of ugly boxes, and jesus,
People bought em
And they called it paradise
The place to be...........They watched the hazy sun, sinking in the sea

And you can see them there, On sunday morning
They stand up and sing about What its like up there
They call it paradise I dont know why
You call someplace paradise, Kiss it goodbye...............

ว่ากันว่าอนาคตจะถูกมองกัน 2 แบบ utopia คืออนาคตแห่งความหวัง มีแต่ความสุข ไม่มีความอดอยาก ไม่มีอาชญากรรม ไม่มีการกดขี่ ไม่มีสงคราม มีเสรีภาพทุกหนแห่ง ส่วนดินแดน Dystopia คือทุกอย่างที่ตรงกันข้าม

ตอนนี้ผมว่าเรามุ่งหน้าไปสู่ยุค Dystopia




 

Create Date : 20 สิงหาคม 2550    
Last Update : 20 สิงหาคม 2550 12:39:14 น.
Counter : 1060 Pageviews.  

ดีแตก - หนังวัยรุ่นไทยสมัย 20 ปีก่อน

ปัญหาเรื่องความรุนแรงในสังคม ถูกนำมากล่าวถึงแทบทุกยุคสมัย

ดูเผินๆภาพยนตร์เรื่อง "ดีแตก" อาจจะเป็นหนังเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างวัยของวัยรุ่นที่มีปัญหากับผู้ปกครองที่อยากให้ลูกหลานน้องนุ่งเรียนหนังสือหนังหาให้เรียบร้อย เมื่อตอนผมดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกสมัย ม.ต้นก็คิดแบบนี้ แต่พอมาดูอีกครั้งเมื่อ 20 กว่าปีให้หลังผมกลับรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้พยายามจะสื่ออีกแบบหนึ่ง



วิทย์เด็กวัยรุ่นที่มีแค่พี่ชายดูแลส่งเสียหวังอยากจะเป็นนักดนตรี พี่เปิดอู่เล็กๆทำงานหามรุ่งหามค่ำส่งให้เรียนกรุงเทพฯก็เอ็นฯไม่ติด กลับมาหาพี่ที่พัทยาก็คุยกันไม่รู้เรื่อง วันๆจึงหมกตัวอยู่แถวโต๊ะสนุก ซ้ำยังไปชอบจ๋า สาวร้านขายข้าวแกงแฟนพี่ตัวเอง แถวร้านข้าวแกงนั้นอาเสี่ยใหญ่ก็จ้องจะซื้ออยู่ติดแต่ป้าของจ๋าที่ไม่ยอมขายให้สักที โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เดินเรื่องคู่กับพฤติกรรมของแก็งค์นักเลงที่หัวหน้ารับงานทุกประเภท ตั้งแต่ค้ายาเสพติดไปจนข่มขู่กรรโชกชาวบ้าน

หนังทำออกมาได้สมจริงไม่น้อย ไม่ว่าบทพูดที่หยาบๆ แสงและเงายามค่ำคืนที่ดูทั้งน่ากลัวและน่าตื่นเต้น ฉากตีรันฟันแทงก็ดิบๆ เถื่อนๆ นักแสดงก็ทำหน้าที่ได้ดี นอกจากบรรดาตัวร้ายที่เล่นได้ราวกับจับอันธพาลจริงๆมาแสดง ยังมี พี่หนุ่ย อำพล ลำพูน เล่นบทวิทย์จนภาพเด็กมีปัญหากลายเป็นภาพลักษณ์ประจำตัว พี่อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ และ นางเอก นาตถยา แดงบุหงา ที่ทุกวันนี้หายไปไหนแล้วก็ไม่รู้

หนังพยายามจะสื่อถึงความรุนแรงของสังคมที่มันใกล้ตัว ชนิดที่นอนดูหนังอยู่ดีๆพูดผิดหูหน่อยก็ยิงกันทิ้ง ไม่ว่าจะยุ่งกับก่อนหรือไม่ อย่างวิทย์ที่คิดหาเงินง่ายๆด้วยการไปเล่นสนุกฯกินตังค์กับพวกนักเลง หรือเสี่ยใหญ่ที่แทนที่จะยอมรับว่าเขาไม่ขายที่ให้ กลับไปจ้างพวกนักเลงไปขู่บังคับจนตัวเองต้องใช้กรรมด้วยชีวิต

ผู้กำกับ อังเคิล - อดิเรก วัฎลีลา หลังจากประสบความสำเร็จอย่างมากกับ "ฉลุย" กำกับคู่กับ ปึ๊ด ธนิตย์ จิตนุกุล มากำกับเดี่ยวเรื่องนี้เรื่องแรกรวมทั้งเขียนบทเองด้วย หนังฉีกแนวยุคสมัยนั้นพอสมควร มีการใช้เพลงร๊อคมาประกอบทั้งเรื่องทั้งเพลงไทยและเพลงสากลตัวเอกคนหนึ่งตายตอนค่อนๆเรื่อง และนางเอกก็ถูกผู้ร้ายข่มขืน ไม่นับฉากจบที่ไม่ happy ending และถ้าดูแววตาตัวละครที่เหลือรอดก็รู้ว่ามันดูยังสับสนในอนาคตข้างหน้า

อย่างที่บอก พี่น้องผิดใจกัน ยังพอทำใจพูดจาปรับความเข้าใจกันได้ พี่ซื้อกีต้าร์ให้น้อง น้องคิดจะไปเรียนตามใจพี่ แต่ความรุนแรงที่แฝงอยู่ในสังคมน่ะบางทีมันคุยกันไม่ได้ พอคิดจะทำตัวดีๆ ดีมันก็แตกเอาจนได้

หนังไม่ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารญ์ - หนังคงมาก่อนเวลาไปหน่อย เพราะหลังจากนั้นหนังที่แสดงความรุนแรงเด็ดขาดแบบนี้ก็ตามมาเป็นแถว ไม่รู้นี้เป็นอีกเหตุหรือเปล่าที่หลังจากนั้นพี่อังเคิลก็ไม่เคยกำกับหนังแอ๊คชั่น - ดราม่า อีกเลย

ถ้าเจอตามกะบะวีซีดีก็น่าซื้อมาดูนะครับ เป็นอีกบันทึกหนังไทยเลยล่ะ




 

Create Date : 18 สิงหาคม 2550    
Last Update : 18 สิงหาคม 2550 14:30:11 น.
Counter : 2598 Pageviews.  

Where is the friend's home - เพื่อนกัน ไม่ช่วยได้ไง.....

ว่ากันว่า โลกที่งดงามน่าอยู่ที่สุดคือโลกของเด็กๆ

เหตุการณ์บ้านเมืองเราในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้ผมหยิบหนังเรื่องหนึ่งซึ่งไม่ได้ดูมานานแล้ว มาดูซ้ำอีกรอบเพราะเบื่อหน่ายในการกระทำของ"ผู้ใหญ่"หลายๆคนในบ้านเมืองนี้จริงๆ



ภาพปกดีวีดีหนังเรื่องนี้ เป็นรูปอาห์เหม็ดกำลังแอบๆดูผ่านประตูรั้วว่าใช่บ้านเพื่อนเขาหรือเปล่า?

Where is the friend's home? - เป็นหนังอิหร่าน เนื้อหาง่ายดายมาก ในชนบทแห่งหนึ่ง เด็กนักเรียน 2 คนนั่งติดกัน อาห์เหม็ด - Ahmed กับ โมฮัมเหม็ด - Mohammed คนหลังออกจะเหลวไหลชอบลืมทำการบ้าน จนวันหนึ่งครูจึงคาดโทษไว้ว่าถ้าไม่ทำมาจะถูกจับโยนออกจากห้อง ตกเย็นพอถึงบ้าน อาห์เหม็ดพบว่าตนเองหยิบสมุดของเพื่อนมาโดยไม่รู้ตัว ด้วยกลัวว่าเพื่อนจะถุกลงโทษจึงตัดสินใจเดินทางเอาไปคืนเพื่อนที่หมู่บ้านใกล้ๆกัน

หนังแสดงให้เห็นว่าโลกของเด็กช่างเรียบง่ายมาก การวิ่งหาบ้านเพื่อนผ่านทุ่ง ผ่านเขา ไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่อุปสรรคทั้งหลายกลับเป็นพวกผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมเข้าใจอะไรง่ายๆบางครั้งอาห์เหม็ดต้องพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกถึงเจตนาที่แค่จะเอาสมุดคืนให้เพื่อน แต่กลับตามด้วยคำถามมากมายจนเขาก็ตอบไม่ถูก บางคนก็มัวแต่โต้เถียงกันเรื่องการเมือง บางคนถึงกับแย่งเอาสมุดไปเพื่อฉีกมาเขียนเรื่องงานการค้าเสียดื้อๆ จนเวลาเลยไปค่ำเขาก็ยังหาบ้านเพื่อนไม่เจอ!!!

เหมือนจะไม่มีอะไร แต่นัยยะก็คงหมายถึง ถ้าเราคิดถึงตนเองให้น้อยลง คิดถึงคนอื่นให้มากขึ้นโลกจะน่าอยู่ไม่น้อย

หนังกำกับโดย อับบาส เอรอสตาร์มี่ - Abbas Kiarostami ผกก.หนังอิหร่านชั้นครู นอกเนื้อหาจะทำให้ผมลุ้นเอาใจช่วยไอ้หนูทั้งเรื่องแล้ว ยังได้เห็นวิถีชีวิตของชาวชนบทมุสลิม ทั้งการแต่งตัว อาหาร บ้านช่อง ห้องเรียน ได้ยินไก่ขันทั้งเรื่องก็คิดไม่ได้ว่าชาวชนบทที่ไหนๆก็เหมือนกัน คือสงบ มีชีวิตง่ายๆ

ความคิดเล็กน้อยๆที่สอดแทรกเข้ามาก็เห็นจะได้แก่ ไอ้ข้อขัดแย้งทั้งหลายแหล่ที่มีในโลกนี้น่ะ ถ้าเลิกแค่คิดว่าตัวเองน่ะถูกที่สุด แล้วก็ฟังคนอื่นบ้าง ละทิฐิลงได้ ปัญหาต่างๆก็ไม่น่าลุกลามปานปลาย อันนี้ไม่มีใครยอมใคร จนตอนนี้บทสรุปก็ออกมาแล้ว ถ้ายังไม่ยอมรับกันอีกผมก็ไม่รู้จะร้องเพลงอะไรดี - น่าจะเอาอย่างเด็กสักหน่อย ผิดก็รู้จักผิด เพื่อนพลาดก็พยายามช่วยเพื่อน

ไม่อยากบอกว่าตกลงไอ้หนูอาห์เหม็ดเจอบ้านเพื่อนไหม ถ้าไม่เจอจะทำไง? แต่ก็ยิ้มทุกทีที่ดูฉากจบหนังเรื่องนี้




 

Create Date : 16 สิงหาคม 2550    
Last Update : 16 สิงหาคม 2550 12:37:31 น.
Counter : 976 Pageviews.  

ทำไมพวกเขาถึงเกลียดเรา ?

ผมเคยไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไม พวกเราจึงถูกชนชาติต่างๆรอบข้างไม่ชอบหน้านัก แม้แต่เพื่อนร่วมชาติแต่ต่างชาติพันธ์ก็เช่นกัน

ผมมีประสบการณ์หนึ่งที่จำได้ไม่เคยลืม และคิดถึงเป็นระยะแม้จะนานเป็น 10 ปีมาแล้ว

ตอนนั้นผมเรียนมหาลัย ผมกับพรรคพวกชมรมอาสาพัฒนาตกลงใจจะไปบริจากหนังสือ และสร้างศาลาให้โรงเรียนเด็กชาวเขาแห่งหนึ่งที่ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ ตอนนั้นมันส์มากกว่าจะขึ้นดอยไปถึง มีสล่า(ช่างภาษาเหนือ)มาช่วยกำกับพวกผมสร้าง (ยังจำสูตรได้นะ ถ้าจะเทพื้น ปูน 1 ทราย 1.5 หินครึ่งถัง ถ้าจะก่ออิฐ ปูนหนึ่ง ทราย 2 ถัง) อยู่ที่นั้น 7 วัน มีเย็นวันหนึ่งครูเขาบอกจะพานั่งรถไปดูแถวชายแดนผมกับเพื่อนอีก 2-3 คนก็โดนขึ้นรถไปทันที

ตรงชายแดนเป็นเนินสูงอยู่ฝั่งค่ายไทย มองไปข้างล่างสัก 200 เมตรเป็นที่ราบคือที่ตั้งค่ายพม่าไม่มีอะไรกั้น มีแต่หลักแดน ผู้กองที่รักษาการก็ใจดีมาก สั่งเปิดเหล้าขาวเชือดไก่มาย่างเลี้ยงดูพวกผม กินไปสักพัก ผมก็เห็นเงาตะคุ่มๆเดินมาทางฝั่งพม่า พี่ผู้กองบอกว่าไม่เป็นไร เขาคือ ผบ.พม่าฝั่งโน้นว่างๆก็จะมานั่งคุยกัน - นายทหารพม่าพูดไทยใช้ได้ แต่พูดภาษาอังกฤษอย่างดีเลิศ นั่งชนแก้วพอคุ้นกันแล้ว มีประโยคหนึ่งยังติดใจผมอยู่ทุกวันนี้ - เขาบอกเขารู้ว่าคนไทยส่วนใหญ่เกลียดพม่าเข้าใส้ ผมถามว่าพี่รู้ได้ไง เขาบอกว่าดูละครไทยเอาก็รู้...........ผมฟังก็อึ้งไป

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์เคยบอกว่าแค่ละครน่ะเด็กๆ พี่มาอ่านหนังสือเรียนที่รัฐไทยสอนเด็กแล้วจะหนาว

พวกคุณรู้ไหมว่าความเป็น"ชาติ" น่ะ เป็นมายาคติที่เกิดขึ้นแค่ร้อยกว่าปีมานี่เอง -

ผมถูกสอนให้เชื่อว่า"รัฐไทยนี้ดี" เราไม่มีปัญหาการรวมชาติ เราสงบสุข เราไม่รุกรานใคร ผมเรียนประวัติศาตร์เหมือนอ่านนิยาย มีผู้ร้าย ผู้ดี เสร็จสรรพ ผมเคยไม่เข้าใจและโกรธคนบางกลุ่มที่เรียกโน่น ร้องนี่ ทำไมพวกมันไม่อยู่อย่างสงบนะ รัฐไทยดีจะตาย

ผมไม่เคยได้เรียนเรื่อง"ขบถแขกเจ็ดหัวเมือง"นี่นา ไม่เคยเรียนเรื่อง"การหลอกทำสัญญาของพระยาสุขุมนัยวินิต"ในสมัยรวมชาตินี่นา และไม่เคยได้ยินชื่อท่าน"ฮัจญีสุหลง"ผู้นำมุสลิมที่ชาวบ้านนับถือที่สุดในตำราเรียนเล่มใดๆทั้งสิ้น - ที่สำคัญคือผมไม่รู้เลยว่าไม่มีการเรียกพวกเขาว่าขบถแบ่งแยกดินแดนมาจนกระทั้งแค่ 50 กว่าปีมานี่เอง

หลังเปลี่ยนการปกครองในยุคจอมพลป. ได้ออกกฎในเรื่องชาตินิยม ควบคุมทั้งการแต่งกาย การตั้งชื่อ อาหารการกิน ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อ 4 จ.ภาคใต้อย่างสูงเพราะขัดหลักศาสนามีขบวนการต่อต้านลุกฮือทั่วไป แต่ก็ยังไม่มีเรื่อง"ขบถแบ่งแยกดินแดน"- จวบจนพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เผด็จการหมดอำนาจ ท่านปรีดี พนมยงค์ เข้าปกครองประเทศและได้จัดการเรื่องราวทางใต้อย่างคนมีสติปัญญา

ท่านได้ติดต่อกับท่าน ฮัจญีสุหลง ให้เข้ากรุงเทพฯเพื่อเข้าเฝ้าในหลวง รับข้อเสนอต่างๆ เช่นการจัดศาลอิสลาม / ให้สอนศาสนาได้ในโรงเรียน / เรื่องภาษี / ยังได้ตั้งให้มีกรรมการลงไปรับเรื่องจากท่าน ฮัจญีสุหลง และประชาชนจนได้ข้อเสนอ 7 ข้อในการจัดการ 4 จ.ภาคใต้


เอกลักษณ์แต่ละชาติพันธิ์เป็นเรื่องต้องห้าม !!!???

แต่ก่อนที่จะได้ทำอะไร จอมพล ป. ได้ยึดอำนาจคืนจากการร่วมมือของนักการเมืองบางส่วน มีการกวาดล้างฝ่ายตรงกันข้ามอย่างรุนแรงเหี้ยมโหด 4 อดีตรัฐมนตรีถูกยิงทิ้งก็ยุคนี้ ด้านทางใต้ท่าน ฮัจญีสุหลงถูกใช้ข้อเสนอ 7 ข้อนั้นกล่าวหาว่าเป็น "ขบถแบ่งแยกดินแดน" ถูกจับจำคุกพร้อมพรรคพวก เมื่อได้ปล่อยตัวออกมาไม่กี่เดือนก็หายสาบสูญไป

ผมไม่เห็นหนังสือเรียนเล่มไหนบอกเลย ว่าเขาเชื่อกันว่าท่านถูกเจ้าหน้าที่รัฐไทยจับถ่วงน้ำที่ทะเลสาปสงขลา

และหลังจากนั้นคำว่า "ขบถแบ่งแยกดินแดน" ก็ถูกใช้ในการกวาดล้างฝ่ายการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับอำนาจรัฐมาตลอด รุนแรงที่สุดยุคจอมพล ป. และนายทักษิณ ชินวัตร

ผมบันทึกไว้เพื่อเตือนตัวเองว่าบางส่วนของเขา"เกลียด"รัฐไทยก็จากการกระทำของรัฐเองที่สะสมความรุนแรงนี้มาตลอด - และมายาคติที่ถูกสอนมาในหนังสือเรียนโดยตลอดทำให้ผมเสียใจมากที่เห็นชนชั้นกลางส่วนใหญ่เฉยเมยเมื่อคราว กรือแซะ ( 70 กว่าศพ ) ตากใบ ( 100 กว่าศพ ) ผมไม่เชื่อหรอกว่าทั้งหมดนั้นคือผู้ก่อการร้าย แต่คนส่วนใหญ่เฉยเพราะถูกสอนให้แบ่ง"พวกเขา" - "พวกเรา" อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เด็ก - พวกเขาคือพวกที่ไม่เห็นว่า "เมืองไทยนี้ดี" - ก็ควรที่จะตายได้ !!!!

คำพูดของนายกฯทักษิณตอนนั้นยิ่งทำให้ผมใจแป้วไปอีก เขาพูดอย่างรุนแรงว่า"ผมจะไม่ยอมเสียแผ่นดินไทยแม้ตารางนิ้วเดียว" !!! - มันเกี่ยวอะไรวะกับเรื่องที่เจ้าหน้าที่ฆ่าประชาชนไป 200 กว่าศพ แล้วคุณชือพรรคไทยรักไทยนะ รักแบบไหนถึงมาพูดเชิงปลุกระดมคนอีก 70 กว่าจังหวัดให้อยากไปรุมกระทืบคนอีก 3 จังหวัดที่เหลือ



ท่าน ฮัจญีสุหลง

เรื่องท่าน ฮัจญีสุหลง เป็นเงื่อนไขสำคัญของผู้ไม่หวังดีมาตลอด ปัญหาคือผมและเพื่อนๆไม่เคยรู้จากหนังสือเรียน แต่ประชาชนมลายูรู้กันทั้งหมด -

ผมไม่ได้คิดว่าใครถูก ใครผิด เพราะเรื่องมันก็นานมาแล้ว แต่ผมคิดว่ามันไม่มีรัฐชาติไหนในโลกนี้หรอกครับ ที่ไม่มีความขัดแย้งกันเลยในการสร้างชาติ ที่อเมริกาก็มีสงครามกลางเมือง ที่อังกฤษมีกรณีศาสนา ฆ่ากันตายไปไม่รู้ต่อเท่าไร - ข้อแตกต่างคือเขาให้รู้กันอย่างเปิดเผย แต่ในขณะที่ของเรากลับปิดๆปังๆ ภายใต้คำแค่ว่า เมืองไทยนี้ดีรวมกันได้อย่างสันติสุข

ผลก็คือคนส่วนใหญ่ของเรายังติดกับมายาคตินั้น จนไม่เข้าใจเพื่อนร่วมชาติต่างชาติพันธิ์อีกจำนวนหนึ่งซึ่งเจ็บปวดจากการกระทำของรัฐมาตลอด

"ผมจะไม่ยอมเสียแผ่นดินไทยแม้ตารางนิ้วเดียว" เป็นคำพูดปลุกระดมที่ไม่ถูก เพราะผมเชื่อเรายังไม่เสียพื้นที่ ที่เราเสียไปคือประชาชน - ผมจะให้พวกเขากลับมาเป็นเพื่อนร่วมชาติที่ดีก่อกันกับผมก็ต้องให้เข้าใจเขา และเขาต้องมีความสุขที่จะอยู่ - เอาปืนไปจ่อหัวคนมาอยู่ร่วมกันนะ ไม่ยั่งยืนหรอกผมว่า - ยุคสมัยป๋าเปรมไปจนถึงท่านชวน หลีกภัยที่ใช้นโยบายสันติวิธีจำได้ไหมว่าสถานการณ์ดีขึ้นแค่ไหน

ใช่แล้วล่ะว่าผมคงต้องอดทนให้มากขึ้นเพราะสันติไม่มีทางเกิดได้ในปีสองปี

ผมไม่ได้บันทึกเพื่ออะไร นอกจากเอาไว้เตือนตัวเอง ทุกๆครั้งที่ผมได้ยินข่าวครูอย่างคุณจูหลิงถูก ฆ่า ชาวบ้านถูกยิง พี่น้องทหารตำรวจถูกระเบิด ผมโกรธและคิดว่าคนพวกนี้ควรได้รับการลงโทษอย่างสาสมกับความผิด ตายไปขอให้พระเจ้าลงโทษ แต่ก็ไม่เคยคิดเหมารวมไปถึงเพื่อนร่วมชาติชาวมลายูคนอื่นๆ

เพราะผมรู้ว่าเรื่องจริงกับในหนังสือเรียนน่ะ........มันต่างกันแค่ไหน




 

Create Date : 14 สิงหาคม 2550    
Last Update : 14 สิงหาคม 2550 10:21:02 น.
Counter : 2918 Pageviews.  

All the President's Men - ก็คนของผู้นำประเทศทั้งนั้น

ในหนังเรื่อง ฟอร์เรสส์ กัมป์ - มีอยู่มุขหนึ่งคือ คืนที่เขาไปนอนโรงแรมตอนไปรับรางวัลเล่นปิงปองเขานอนไม่หลับเพราะตึกใกล้ๆมีคนคอยส่องไฟฉายหาอะไรก็ไม่รู้ เลยต้องโทรไปแจ้ง รปภ. ก่อนที่ภาพจะซูมลงไปที่สบู่ว่า เขาพักที่ตึก วอร์เตอร์เกต - Watergate



All the President's Men - เป็นหนังเรื่องของสองนักข่าวหนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ ที่เข้าสืบสวนคดีการบุกรุกที่ทำการสาขาของพรรคเดโมแทร๊กในตึกวอร์เตอร์เกต การจับกุมคนทั้ง 5 คนที่ทำท่าจะเป็นคดีงัดแงะธรรมดา แต่ บ๊อบ วู๊ดเวิร์ท - Bob Woodward ( Robert Redford ) นักข่าวหนุ่มที่เพิ่งจบจากมหาลัยเยล กับ คาร์ล เบรินสตีน - Carl Bernstein ( Dustin Hoffman ) ร่วมกันขุดคุ้ยอย่างถึงลูกถึงคนก่อนจะพบว่าพวกนั้นคือเจ้าหน้าที่รัฐมีเจตนาจะเข้าไปติดเครื่องดักฟังคู่แข่งทางการเมือง

หนังกำกับโดย อลัน เจ พาคูลา - Alan J. Pakula ดำเนินเรื่องได้ดี ให้คนดูได้เห็นขั้นตอนการค้นหาข่าว อุปสรรคต่างๆทั้งจากอำนาจรัฐ หรือจากบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง จนแทบจะล้มเลิกความตั้งใจ

ภาพที่ผมชอบมามี 2 ครั้งที่ใช้ภาพมุมสูง - bird's eyes view ครั้งแรกเมื่อพวกเขาไปห้องสมุดรัฐสภาเพื่อขอรายงานเอกสารผลก็คือได้บัตรค้นเป็นพันใบกล้องซูมจากกองบัตร สู่โต๊ะ สู่ห้อง สู่อาคารที่กว้างใหญ่ ครั้งที่ 2 ภาพของสองนักข่าวเดินตระเวณสอบถามข้อมูลผู้เกี่ยวข้อง - แน่ล่ะ คำตอบส่วนใหญ่คือปฎิเสธ - กล้องซูมพวกเขาที่ยืนอยู่ สู่ถนน เขตตึก จนเห็นเมืองใหญ่ทั้งเมือง

ภาพของหนังกำลังสื่อว่าพวกเขากำลังทำอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าใครจะคาดคิด

จนถึงจุดที่ความหวังริบหรี่เต็มทน บ๊อบ ได้รับการติดต่อกับใครคนหนึ่งว่าพร้อมจะให้ข้อมูลที่ประติดประต่อเรื่องราวทั้งหมดได้ โดยห้ามไม่ให้เปิดเผยตัวเขา ให้เรียกเขาว่า ดีฟ โธร์ท - Deep Throat

หลังจากนั้น ดีฟ โธร์ท ก็กลายเป็นศัพท์ใหม่ในแวดวงการข่าวสารประเทศอเมริกา ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากผู้ไม่ประสงค์แสดงตัวก็เรียกว่าดีฟ โธร์ท กันไปหมด

ผลจากข้อมูลทำให้พวกเขาคุ้ยไปได้ว่าการดักฟังและหาข้อมูลคู่แข่งนี้เกี่ยวโยงไปถึง ผู้นำระดับสูงของพรรครีพับรีกัลของประธานาธิบดี นิกสันที่ปกครองประเทศในขณะนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่เอฟ บี ไอ และซี ไอ เอบางคน ไปจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเองด้วย

ผลก็เหมือนชื่อหนังนั่นแหละ "คนของประธานาธิบดีทั้งนั้น" - All the President's Men !!!

หนังครอบคลุมประมาณครึ่งปีแรกของการสืบข่าว จบลงที่ภาพนักข่าวทั้ง 2 ก้มหน้าก้มตาพิมพ์ดีด เขียนข่าว โดยละไว้ให้รู้เองว่าสิ่งตามมาก็คือประวัติศาตร์หน้าหนึ่งของการเมืองอเมริกา - ประธานาธิบดี ริชาร์ต นิกสัน ต้องลาออกเมื่อ วันที่ 8 สิงหาคม 1974 หลังจากถูกยื่นถอดถอนเพราะละเมิดกฎหมายการเลือกตั้ง เขารอดคุกเพราะรัฐบาลต่อมาออกนิรโทษกรรมให้ แต่พวกลุกน้องทั้งหลายถูกลงโทษหนัก-เบากันทั่วหน้า

ผมขอจบบทบันทึกไว้ที่บทสัมภาษณ์ บ๊อบ วู๊ดเวิร์ท (ถ้าเป็น dvd แบบ 2 แผ่นจะมีแผ่นเบื้องหลังเป็นสารคดีของ 2 นักข่าวในคดีนี้ยาวกว่า 45 นาทีด้วย ) เขาตอบคำถามที่ว่า - คุณคิดยังไง ไม่กลัวหรือในตอนแรกๆที่เอาตัวเข้าชนอำนาจรัฐแบบนั้น - เขาตอบว่า " ผมทำในสิ่งที่ผมต้องทำ ถ้ายอมให้ผู้นำประเทศทำผิดกฎหมาย แทรกแซงการเลือกตั้งแล้ว ต่อไปประเทศอเมริกาก็จะเป็นประชาธิปไตยเพียงแค่ชื่อเท่านั้น"

ผมว่าก็เหมือนประเทศไทยยุคทักษิณ.....เป็นประชาธิปไตยเพียงแค่ชื่อเท่านั้น



ปล. กว่า 30 ปีให้หลัง ในปี 2005 นาย มาร์ค เฟล์ท - Mark Felt อดีตรองผู้อำนวยการ FBI. ก็เปิดเผยตัวว่าเขาเองคือ ดีฟ โธร์ท สาเหตุที่เอาข้อมูลไปให้นักข่าวเพราะเขาก็ทนไม่ได้ที่ผู้นำประเทศแทรกแซงกฎหมายโดยเอาองค์กรของรัฐไปรับใช้พรรคตนเอง.

หนังดีที่น่าหามาดู ในบรรยากาศการเมืองแบบนี้ครับ...




 

Create Date : 10 สิงหาคม 2550    
Last Update : 10 สิงหาคม 2550 17:01:28 น.
Counter : 1817 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

mr.cozy
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Is everybody in? Is everybody in?
The ceremony is about to begin
Friends' blogs
[Add mr.cozy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.