|
หงษ์ทองคะนองศึก - รำลึก ชอว์ บาร์เดอร์
ในฐานะลูกจีนผมเป็นแฟนหนังชอว์ บาร์เดอร์ ตอนเด็กๆดูกับพ่อแยะมาก

Come drink with me - เป็นหนังที่ผมซื้อให้พ่อผมเร็วๆนี้ หนังใช้ชื่อไทยว่า "หงษ์ทองคะนองศึก" ผมเปิดดูอีกรอบพร้อมกับอีก 2 - 3 เรื่องก็รู้สึกพอเข้าใจว่า ทำไมพอถึงจุดหนึ่ง หนังจีนกังฟูตามขนบของชอว์ บาร์เดอร์จึงได้หมดยุคไปจากโลกภาพยนตร์
เนื้อหาของหนังกล่าวโดยรวบรัดคือ - มีเจ้าเมืองตงฉินคนหนึ่งถูกลักพาตัวลูกชายไป แก๊งค์โจรเจ้าพยัคฆ์เสนอให้แลกตัวกับหัวหน้าโจร หงษ์ทองน้องสาวผู้เยี่ยมยุทธออกมาช่วยพี่ชาย ไปเจรจากันที่โรงเตี้ยม หงษ์ทองเกือบถุกลอบทำร้ายจากเสือหน้าหยก โดยมีขอทานขี้เมามาช่วยไว้และพาไปรักษา ก่อนที่จะแสดงฝีมือสังหารเสือหน้าหยกและลูกน้องที่ตามมาจนหมดสิ้น
หนังของชอว์ บาร์เดอร์ มีขนบบางอย่างของสังคมจีนอย่างแท้จริง - บุญคุณ ความแค้น แยกกันชัดเจน ความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ ความวีรบุรุษ - วีรสตรี ที่ต่อสู้อธรรมอย่างมีจริยธรรม รวมทั้งการเสียสละตัวเองเพื่อผู้อื่น - ขนบเหล่านี้ยังพอมีให้ปฎิบัติตามกัน พอจะเห็นในสังคมไทยหรือจีนในยุค 60 - 70 แต่อ่อนแอลงมากในยุค 80
ผมเคยสังเกตในหนังยุคนั้น ของชอว์ บาร์เดอร์ จะมีซีนบังคับอยู่แทบทุกเรื่อง คือ ขณะที่ตัวร้ายกำลังคับขันมันจะจับใครสักคนที่ยืนเก้ๆกังๆอยู่แถวนั้นเอากระบี่มาพาดคอ แล้วบอกว่า "ทิ้งอาวุธซะ มิเช่นนั้น ข้าฯจะสังหารมัน" - และทั้งๆที่ญาติพี่น้องก็ไม่ใช่ แต่พระเอกจะรีบทิ้งอาวุธไปทันที
หนังเรื่อง"หงษ์ทองคะนองศึก"กำกับโดย คิง ฮู ปรมมาจารย์หนังกังฟู - นำแสดงโดย เจิน เพ่ย เพ่ย และ เยี่ยะ หัว หนังออกฉายปี 1966 ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังแนวกังฟูที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง - แม้เนื้อหาผมกล้าพูดได้ว่าพ้นยุคไปเรียบร้อย แต่เทคนิคการถ่ายภาพ การเดินเรื่อง เรียกว่าดีมากถึงนับจนถึงสมัยนี้ก็ตาม
ฉากที่หงษ์ทองย่องออกจากโรงเตี้ยมรังโจรโดยที่ภาพตัดฉับไปมานั้น 1 เสียงคือ 1 ชีวิตนั้นเข้าขั้นฉากแคลสลิกไปเรียบร้อย
แต่หนังยังเชยอยู่บ้างตรงที่ฉากร้องเพลงจีบกันกระท่อมริมน้ำ - ผมน่ะ หัวเราะออกมาดื้อๆเลยล่ะ
ทัศนคติยุคนั้น ตัวเอกต้องสัตย์ซื่อ คุ้มครองทุกคนแม้ไม่รู้จัก ตรงไปตรงมา ชัดเจนทั้งในใจและรูปกาย ถ้าไปดูตัวละครจะมีบุคลิกชัดเจนมาก ผู้ร้ายนี้เดินออกมาหน้าตาท่าทางบอกชัดๆไม่ต้องลุ้น ตัวเอกก็เช่นกัน แยกขาวจัด - ดำจัด ชัดเจน ( ตรงนี้หนังและละครไทยยุค 2500 - 2525 ก็ได้อิทธพลมาไม่น้อย ) แต่ต่อมาทุกอย่างจบลงเมื่อระบบทุนนิยมเข้าครองโลกเมื่อต้นยุค 80

หลังยุค 80 หนังชอว์ บาร์เดอร์ ทั้งเนื้อหาและรูปลักษณ์คือความล้าสมัย - ยุคมือใครยาวสาวได้สาวเอา การเสียสละแก่ผู้อื่นถือเป็นเรื่องโง่เขลา หนังจีนยุคกลาง 80 เป็นต้นมาเป็นกลายหนังมาเฟียที่มีเนื้อหาคดโกง ล่อลวงกันตลอดเรื่อง พระเอกก็กลายเป็นคนนอกสังคม ขนบประเภทยิงก่อนได้เปรียบมาแทนที่
หงษ์ทองคะนองศึก - มีฉากบู๊ตอนจบที่สวยงาม และน่าตื่นเต้นแม้ดูในยุคนี้ ตอนนี้จบอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งมีพระทุศีล ไต้ซือ เหลียง คุง ควบคุมตัวไว้ หงษ์ทองกับขอทานขี้เมาซึ่งจริงๆแล้วคือศิษย์น้องของไต้ซือ เหลียง คุง ที่รอคอยจะแก้แค้นแก่อาจารย์ บุกเข้าไปช่วยชีวิตพี่ชายของเธอไว้ได้
หนังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในยุคนั้น เรียกว่าทำให้หนังแทบทุกเรื่องของชอว์ บาร์เดอร์ติดลมบนเป็นเวลาเกือบ 20 ปี คิง ฮู คือ ตำนาน เจิน เพ่ย เพ่ย กลายเป็นดาราดังสุดๆในปลายยุค 60 ต่อต้นยุค 70 - ก่อนจะทิ้งวงการไปมีครอบครัว

20 ปีให้หลัง เธอกลับมาในบท จิ้งจอกหยก เรื่อง Crouching Tiger Hidden Dragon ของอั้ง ลีและไว้ลายจอมยุทธสาวเช่นเคย
ครับ - หนังกำลังภายใน ดูจะเป็นเรื่อง ร้อยเนื้อทำนองเดียว แต่ผมพอจับถึงทัศนคติของความซื่อสัตย์ เสียสละทางโลกเพื่อความสงบ บุญคุณต้องทดแทน ความแค้นต้องสะสาง คุณธรรมน้ำมิตร ซึ่งทั้งหมดนี้ มันกลายเป็นเรื่องล้าสมัยในยุค 80 เป็นต้นมา
หนังของชอว์ บาร์เดอร์ก็หมดยุคไปพร้อมกับฉากที่ตัวเอกยอมถูกคนร้ายทรมานต่างๆ เพียงเพื่อช่วยชีวิตใครซักคนที่ตัวเองก็เพิ่งเคยเห็นหน้า - และว่ากันจริงๆแล้ว ผมก็ไม่เคยเห็นฉากแบบนี้ในภาพยนตร์ใดใดอีกเลย
หนังที่ดีจะสะท้อนสังคมในแต่ละยุค - หลังยุค 90 สะท้อนสังคมแบบไหน จึงไม่มีใครเชื่อว่าจะมีใครซักคน เสียสละผู้อื่นได้ถึงขนาดนี้
Create Date : 22 กันยายน 2550 | | |
Last Update : 22 กันยายน 2550 10:37:36 น. |
Counter : 1498 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
บทกวีของ - สมเด็จพระสันตปาปา จอห์น พอล ที่ 2
สมเด็จพระสันตปาปา จอห์น พอล ที่ 2 ทรงเป็นกวี
ไม่ค่อยมีใครทราบเพราะพระองคทรงใช้พระนามเดิม คือ Karol Wojtyla
ผมลองแปลเล่นๆบทหนึ่ง โดยเลือกเอาบทที่ชอบมาก

The Negro
My dear brother - it's you an immense land i feel where the river dry up suddenly - and the sun burns the body as the foundry burns ore i feel your thought like mine if you diverge the balance is the same in the scales truth and error there is joy in weighing thoughts on the same scales thoughts that differently flicker in your eyes and mine though their substance is the same
ถึงน้องชาย หลากหลาย ในโลกนี้ น้องคือดิน ที่พี่ สัมพัศไว้ เมือสายน้ำ ยังระเหย หมดเรื่อยไป ดวงตะวัน เผาไหม้ไป ทั้งกายา
ความรู้สึก ของพี่ มีเช่นน้อง ความเที่ยงธรรม ทั้งผอง ดุจตาชั่ง ความจริงแท้ นั่นหรือ คือพลัง มีความหวัง ยังรู้ สู้ชื่นชม
ใช้ระดับ เดียวกัน นั้นฉันคิด สีตาต่าง กันสักนิด ผิดไฉน ผิวกายต่าง ข้างใน ใช่อื่นไกล มวลมนุษย์ นั้นไซร่ พี่น้องกัน
ปล. - มีเพื่อนคริสต์ท่านหนึ่งยุให้ลองนะนี่.....
Create Date : 19 กันยายน 2550 | | |
Last Update : 19 กันยายน 2550 13:30:50 น. |
Counter : 810 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
เชียงใหม่ในแผ่นฟิลม์
ช่วงปีหลังๆมานี้จะเห็นกันว่าจังหวัดเชียงใหม่ถูกเลือกให้เป็นสถานที่หลักในการถ่ายทำภาพยนตร์ไทยหลายๆเรื่อง ทั้งเนื้อหาและฉากสำคัญ เช่น เพื่อนสนิท / วัยอลวน 4 / จดหมายรัก หากมองกลับไปก่อนหน้านั้นที่พอจะจำกันได้ก็คงจะมี "อนึ่งคิดถึงพอสังเขป" อีกเรื่องที่ใช้เชียงใหม่ยุคร่วมสมัยเป็นโลเคชั่นหลัก
หนังทั้งหมดนี้ทำให้ผมคิดถึงหนังเรื่องที่อยู่ในความทรงจำผมเรื่องแรกที่พูดถึงจังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นหนังไทยอีกเรื่องที่อยู่ในใจผมตลอดมา ชื่อหนังเรื่องนั้นคือ "เพื่อน"
เนื้อหาพูดถึง ศักดา (พี่เต๋อ-เรวัติ พุทธินันท์) พนักงานธนาคาร ผู้ซึ่งมีปัญหาครอบครัวเพราะภรรยามีอาการติดเหล้าตัวเขามีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะไปไหว้-บูชา พระธาตุดอยสุเทพซักครั้งในชีวิตด้วยเชื่อว่าจะทำให้ทุกๆอย่างดีขึ้น จนวันหนึ่งเมื่อได้รับอนุญาติจากผู้จัดการ การเดินทางไปสู่จังหวัดเชียงใหม่ก็เริ่มขึ้น

พี่เต๋อ รับบทศักดาผู้ที่หวังจะไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพให้ได้ซักครั้ง
ความวุ่นวายเริ่มขึ้นเมื่อเขาเผลอหยิบซองใส่เงินจำนวนหนึ่งที่เป็นของลุกค้าที่วางไว้รวมๆกับหนังสือพระของเขาบนโต๊ะทำงานมาด้วย ยุ่งอีกเมื่อมีเด็กสาววัยรุ่น 3 คน(หนึ่งในนั้นคือ เพ็ญ พิสุทธิ์) ที่กำลังจะเดินไปเชียงใหม่เหมือนกันแต่เกิดปัญหาที่สถานนีรถจนต้องวิ่งหนีเจ้าหน้าที่ขึ้นรถของเขา
ในขณะที่ตำรวจก็ตามจับศักดา ทั้งหมดจึงร่วมมือกัน เด็กสาวทั้ง 3 ยอมให้ศักดาทำทีว่าจับเป็นตัวประกันโดยใช้ปืนเด็กเล่นของลูกเขา โดยมีเงื่อนไขว่าจะเดินทางด้วยกันไปถึงเชียงใหม่ให้ได้ พร้อมกับคณะตำรวจที่กะใช้ความรุนแรงอย่างเดียวและนักข่าว( หนุ่มเสกรับบทนำ) ที่ออกจะเชื่อมั่นว่าทั้งหมดคือความเข้าใจผิด
หนังออกแนว road movie มิตรภาพของความเป็นเพื่อนในความแตกต่างระหว่าง ชายวัยราวๆ 40 กับ เด็กสาววัย 18 ทั้งหมดก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างร่วมกันในการเดินทาง 2 วันกับ 1 คืน หลังจากทะเลาะกัน ช่วยเหลือแก้ไขสถานการณ์ให้กัน จนมาถึงการพลัดกันเล่าเรื่องชีวิต เด็กทั้ง 3 เติบโตขึ้นเท่าๆกับศักดาที่ได้ข้อคิดในชีวิตครอบครัวบางอย่างจากเด็กเหล่านั้น
บทสรุปของหนังเรื่องนี้อยู่ตรงที่เชิงบันไดทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพและทำให้ผมน้ำตาซึมได้เลยล่ะ
ผมดูหนังเรื่องนี้สัก 2 รอบได้ตอนนั้นอยู่ประถมปลายหนังฉายตอนปิดเทอมพอดี และเขียนบันทึกหลังได้แผ่นหนังเรื่องนี้มา แต่ยังไม่ได้ดูเพราะอยากจะเขียนจากความทรงจำที่พร่าๆเลือนๆมากกว่า รายละเอียดบางอย่างจึงระบุไม่ได้นัก รายละเอียดคือ ภาพยนตร์กำกับโดย อภิชาติ โพธิ์ไพโรจน์ ออกฉายในปี 2529
กว่าพวกเขาจะมาถึงเชียงใหม่ก็จนท้ายๆเรื่อง แต่จำได้ว่าเชียงใหม่ในแผ่นฟิลม์เรื่องเพื่อนนั้นสวยงามกว่าสมัยนี้มากนัก ถนนหนทางที่ขับรถกันมาก็ดูร่มรื่นสดใสกว่า ไม่นับฉากบริเวณเชิงพระธาตุดอยสุเทพที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน แต่นั้นก็เป็นเรื่องของกาลเวลาที่ได้ทำหน้าที่ของมัน
เหลือเพียงคนที่ผูกพันกับความทรงจำเก่าๆเท่านั้นที่อยากให้มันทำงานช้าๆลงไปหน่อย
Create Date : 16 กันยายน 2550 | | |
Last Update : 16 กันยายน 2550 0:18:50 น. |
Counter : 1293 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
born on the fourth of july พ่อ - แม่ รังแกฉัน
ยังจำข่าวเด็กคนหนึ่งฆ่าตัวตายเพราะสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการไม่ได้ไหมครับ

born on the fourth of july เป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องเหตุการณ์ช่วงหนึ่งของชาติอเมริกาผ่านชะตากรรมของคน หนังพูดถึงบาดแผลที่เกือบจะไม่มีวันหาย ของ รอน โควิก - Ron kovic อดีตทหารผ่านสงครามเวียดนามที่ต่อมาเป็นผู้นำการประท้วงสงครามที่มีชื่อเสียง
ไม่มีใครเกลียดสงครามเท่าผู้ผ่านสมรภูมิ - คำพูดนี้ใช้กับเขาได้เต็มปากเต็มคำ
ผู้กำกับ โอลิเวอร์ สโตน - Oviler stone ดัดแปลงจากหนังสือชื่อเดียวกัน เดินเรื่องได้ดีเยี่ยมในสังคมอเมริกาที่เน้นถึงการแข่งขัน การเลี้ยงดูเด็กในทำนองว่า"ผู้ชนะ" เท่านั้นคือผู้ที่จะยืนในสังคมได้ และสร้างค่านิยมผิดๆให้กับพวกเขาโดยเอาคำว่า รักชาติ-ป้องกันชาติ มาเป็นข้ออ้าง รอนเองรับทัศนคติแบบนั้นเข้ามาเต็มๆ เขาร้องไห้เสียใจแค่แข่งกีฬาแพ้ และรีบร้อนสมัครเป็นทหารไปรบเวียดนาม เพราะกลัวจะพลาดโอกาสจะเป็นวีรบุรุษ
แต่ราคาที่เขาต้องจ่ายนั้นสูงเกินกว่าจะคิด เขากลับบ้านในสภาพคนพิการเพราะถูกยิงจนเป็นอัมพาตตั้งแต่เอวลงไปแต่นั้นคือแค่บาดแผลทางกาย บาดแผลทางใจที่เขายิงเพื่อนคนหนึ่งตายไปเพราะเข้าใจผิดมันเจ็บปวดยิ่งกว่านั้น
จากความคลั่งชาติ รอนได้เปลี่ยนเป็นนักประท้วงรัฐที่เอาชาติมาเป็นข้ออ้างปลุกระดมคน
ใช่หรือไม่ว่า ทุกวันนี้สังคมบ้านเราสอนให้เด็กๆแข่งขันกันอย่างบ้าคลั่ง เรียนพิเศษกันตั้งแต่อนุบาล คนที่ชนะก็เหนื่อยต่อ ที่แพ้ออกไปก็หาทางออกโดยการประท้วงสังคมในรูปแบบต่างๆนาๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กช่างกลตีกัน ยาเสพติดไม่นับว่าความสัมพันธ์ทางสังคมที่เลวร้ายไปเรื่อยๆ - เด็กที่ฆ่าตัวตายหรือฆ่าคนอื่นเพราะผิดหวังในกรณีต่างๆกันมีมากจนน่าเป็นห่วง

ในหนังทำได้ยอดเยี่ยมมาก พอรอน โควิก เริ่มรู้สภาพว่าเขาคือผู้แพ้ของสังคม เขาเริ่มต้นด้วยการด่าทอทุกคนที่ขวางหน้า พ่อแม่ พี่น้อง ตามด้วยการกินเหล้าเมายา ดั้นด้นไปไกลสุดขอบฟ้าเพื่อหาวิญญาณที่สูญหาย - ก่อนจะรู้ตัวว่าเขาควรต้องมาเพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐ และทัศนคติที่ผิดๆของคนรุ่นเก่า - เขาเริ่มต้นด้วยการไถ่บาปในใจไปขอโทษแม่คนที่เขาพลั้งมือยิงตาย ก่อนจะมาเป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามที่โด่งดัง
เด็กบ้านเราตอนนี้อาจไม่ถึงขั้นลุกมาด่าพ่อแม่ว่าทำไมสอนเขาให้เป็นอย่างนี้ แต่ใช่ว่าโอกาสนี้ไม่มีจะเกิดขึ้น
ทอม ครุซ Tom Cruise - เล่นเป็น รอน โควิก ได้ดีในช่วงแรกแต่หลังจากกลางเรื่องไปแล้วทำได้ไม่ดีนัก ปัญหาเขาตอนนั้นคือ แววตาที่ไม่กร้านโลก และเสียงที่พอตะโกนแล้วจะออกแหลมๆ ซึ่งสมควรที่จะชวดออสก้าร์ทั้งที่บทส่งเต็มที่ ส่วนรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมนั้นไม่พลาดอยู่แล้ว
รอน โควิก เกิดวันชาติอเมริกาตามชื่อเรื่อง ปีนี้เขาจะอายุครบ 61 ปี (แซยิดพอดี) และประเทศอเมริกาที่ยังเป็นสังคมการแข่งขันกันอย่างรุนแรงไม่เสื่อมคลาย
สมัยก่อนเรื่องเด็กเอ็นไม่ติดแล้วฆ่าตัวตายผมก็ว่าน่าเศร้าอยู่แล้ว แต่เด็กคนนั้นเขาสอบเอ็นติด แถมติดในมหาลัยรัฐที่โด่งดังเสียด้วย แต่เขาก็ยังถือว่าเขาคือผู้แพ้ อันนี้ทำให้ผมเศร้าหนักไปอีก - เพราะทางเลือกของเขาไม่มีโอกาสได้แก้ตัวเหมือน รอน โควิก
แต่ปัญหานี้คงไม่มีทางแก้ เพราะจะแก้ ต้องแก้ที่ผู้ใหญ่ที่สอนไม่ใช่ที่เด็ก
Create Date : 08 กันยายน 2550 | | |
Last Update : 8 กันยายน 2550 13:22:18 น. |
Counter : 1790 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
|