นาน นาน ที บล๊อก - ยินดีที่ผ่านมาพบนะ ปล.ช่วงนี้ หนี้เยอะ งดเที่ยว พักหนังสือ มารับจ้างทำงานก่อนนนนน
space
space
space
space

หาดเจ้าหลาว-อ่าวคุ้งกระเบนพักใจไปจัน(ทบุรี):1ป่าไม้ชายเลนของพ่อหลวง

เดินเล่นยามเช้า: ที่อ่าวคุ้งกระเบน


แม้เส้นทางเพียงสองเลนส์รถวิ่งสวนกันแต่ถนนกว้างขวางมีเลนส์จักรยานเป็นสัดส่วน ทำให้ถนนเส้นนี้ดูเป็นอิสระ ไม่แน่นขนัดเบียดเสียดด้วยร้านค้าที่ตั้งบนถนนหรือทางเท้า ระยะทางขับรถเพลิน ๆ ไม่เกินสิบนาที ค่อย ๆ ทิ้งหาดเจ้าหลาวไว้ที่เดิม ขณะที่เรามุ่งไกลออกไป ของที่อยู่ใกล้ คงง่ายเกินไปที่จะเชยชม ข้าพเจ้ากับอีกหลายคนก็ดั้นด้นค้นหาสิ่งที่อยู่ห่างไกล


เมื่อมาถึงป้ายอ่าวคุ้งกระเบน ยังมองไม่เห็นอ่าว เห็นเพียงท้องทะเลสงบไกลที่มีจุดสิ้นสุดที่ขอบฟ้า ทางซ้ายของถนนเป็นรั้วลวดหนามเล็ก ๆ คล้ายจะมีเป้าหมายแค่บอกขอบเขตแต่ไม่ได้กางกั้นการลุกล้ำจากภายนอก ภายในมีอาคารส่วนใหญ่เป็นชั้นเดียว เป็นสัดส่วนไม่หนาทึบ ส่วนด้านขวาเห็นป้ายว่า ศูนย์ศึกษาธรรมชาติอ่าวคุ้งกระเบน เรายังไม่แน่ใจยังคงขับรถต่อไปด้วยมุ่งหวังว่ามันจะถึงอ่าวคุ้งกระเบนที่เป็นอ่าวจริง ๆ แต่สุดท้าย...ถนนสิ้นสุดลงและวกลับเลียบชายหาด..ที่นี่ห่างเพียงราวห้าร้อยเมตร เส้นทางกลับกลายเป็น...หาดเสด็จ



เราจึงวกกลับไป เข้าสู่สถานศึกษาธรรมชาติอ่าวคุ้งกระเบน อากาศยามเช้ากำลังดี ลมเย็น ๆ ของทะเลไม่ถึงกับเย็นมาก มีเหล่าหมู่ไม้ปะทะความแรงไว้ ดูจากจำนวนรถที่จอดอยู่ราวสิบคัน กำลังดีไม่คันมาก ไม่ต้องเกาเยอะ ส่วนในความคิดของข้าพเจ้ายังคงมีภาพตามเส้นทางที่ผ่านมาก่อนจะถึงหาดเจ้าหลาว วงเวียนปลาพะยูนปูนที่ว่ายไปมา กับวงเวียนปลาโลมาจูบกัน หรือว่าที่นี่มันจะมี...ทั้งที่เรียกกันว่าปลาแต่ไม่ใช่ปลา และปลาที่หน้าตาเหมือนหมูกับนางเงือก


ทางเดินทำจากไม้ลากเรื่อยเข้าไปในไม้ป่าชายเลนระยะทาง ๑,๖๐๐ เมตร พอเดินได้เพลินดี ให้เราได้เริ่มเรียนรู้ และเรียนรู้ได้ตลอดทาง ทั้งจากธรรมชาติและจากพระเจ้าอยู่หัวของพวกเรา ผู้ทรงพระปรีชาและมีพระเมตตาต่อลูกหลานของท่าน ที่แห่งนี้คือตัวอย่างที่พระองค์ได้ทรงงานให้ประชาชนได้เห็นจริง เรียนรู้ได้ง่าย ใช้ประโยชน์ได้จริง กับแผ่นดินที่เคยเสื่อมโทรม และวิถีชีวิตที่อิงเศรษฐกิจกับธรรมชาติเกิดขึ้นได้จริง ดั่งแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน ที่นี่ “ศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”





แผ่นดินที่เรายืนอยู่ใช้เวลาสร้างหลายร้อยล้านปี ผ่านกระบวนการทางธรรมชาติเร็วบ้างช้าบ้าง
จนบัดนี้ แผ่นหิน กระแสน้ำ สัตว์ทะเล และพืชพันธุ์ที่ปรับตัวก็กลายเป็นป่าชายเลนที่ให้ประโยชน์คณานับกับมนุษย์และสัตว์ที่ยังเด็ก อ่อนวัย


ทางเดินปูด้วยไม้ทอดยาวออกไป เป็นแบบเดินทางเดียวไม่มีสวนกัน แล้วกลับมาบรรจบตรงทางออกที่อยู่ใกล้ ๆ กับทางเข้ามีแดดบ้าง มีร่มเงาบ้างคละกันไป บางครั้งเส้นทางอาจดูตรงและมั่นคงดี บางครั้งมันก็วก วน และ มีทางแยกให้เลือกเดิน แต่เราก็ยังเดินกันต่อไปตราบใดที่ยังมีหนทาง ทางเลือกทางแยกและอุปสรรคกว้างกั้นมีไว้เพียงชะลอเท้าที่รุดหน้าเกินกว่าใจและสายตา ให้เราเดิน...ช้าลงเพื่อเชยชมสิ่งรอบตัว มิใช่เพียงเพื่อฉุดรั้งไม่ให้ถึงที่หมาย



บางครั้งเส้นทางอาจมีอุปสรรค จนต้องก้าวข้ามไป สะพานที่ใช้อาจมีทั้งที่อ่อน และ ไหว มีทั้งตั้งตรงแข็งแกร่ง
การก้าวย่างก็ต่างกัน


บางเวลาอุปสรรคอาจคอยอยู่ข้างหน้า และไม่มีสะพานใดให้ก้าวข้าม
เราก็เพียงแต่เดินผ่านอย่างระวัง โดยไม่ต้องห้ำหั่นอุปสรรคนั้นออกจากทางเดิน
บางทีแล้วอุปสรรคในการเดินทางอาจมีประโยชน์มากในหนทางอื่น...



พืชพันธุ์ที่นี่ถูกน้ำท่วมบ้าง น้ำแห้งบ้าง ชั่วนาตาปี แต่พวกมันก็ยืนหยัดและหยัดยืน แต่กว่าที่พวกมันจะเรียนรู้และปรับตัว ปรับใบ ปรับระบบรากก็ใช้เวลานานโข กระแสน้ำก็ช่วยพวกมันเช่นกัน กระแสน้ำที่พัดมา จากไป ในระยะเวลายาวนานและสม่ำเสมอ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ต้นไม้น้อยใหญ่จึงปรับตัว ไม่เหมือนต้นไม้ที่หน้าบ้านเรายามถูกน้ำท่วมใหญ่ที่เพิ่งจะเคยหลากมาเป็นครั้งแรก แต่เราก็ภาวนาอย่าได้หลากมาจนเป็นนิสัยจนทำให้ต้นไม้ที่หน้าบ้านกางรากออก กลายเป็นโกงกางกันไปหมด...



เวลาที่เราผ่านไปจังหวัดชายทะเลต่าง ๆ ทิวไม้ไกล ๆ ที่เราเห็น เดิมทีเราเคยเรียกเหมารวมว่าต้นไม้ป่าชายเลน ด้วยความคล้ายความเหมือนไม่แตกต่าง ด้วยว่าเราไม่เคยเพ่งมองในระยะใกล้ หรือใส่ใจกับมันนัก บางเวลาเราก็ดูมันทีละต้นแต่ใกล้เกินไป จึงไม่แลเห็นข้อต่าง ที่บางทีต้องมองจากที่ไกลในหมู่มากความต่างจึงจะแตกแยกออกมา แต่ที่นี่ เขาติดป้ายให้เห็นชัดว่า ต้นไหนเป็นต้นไหน ดูผ่านๆ อาจไม่เห็นความงามและความต่าง แต่ธรรมชาติก็ให้แตกต่างที่งดงามแม้เผ่าพันธุ์เดียวกันก็ยังต่างกัน...ฉะนั้นแล้วความต่างไม่ใช่สิ่งน่าอับอาย ตราบเท่าที่ยังทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น




แสมทะเล ใบมันจะเล็ก มันจะคล้ายลำพูทะเลมาก




โกงกางใบใหญ่ ใบมันจะใหญ่กว่าแสม มีขาโก่งออกมาค้ำจุ้น
มีความเหมือนมากกับโกงกางใบเล็ก
ที่ใบมันจะเล็กกว่า


ตามทางเดินในครึ่งทางแรก เราจะได้พบกับ ทางเดินอ้อมเป็นวงกลมล้อมต้นไม้ยักษ์ไว้ต้นหนึ่ง มีอายุมายาวนาน เป็นปู่ของปู่ของปู่ ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่มาก่อน แต่จากไปทีหลัง ทำหน้าที่ให้...มาเนิ่นนาน จนลูกหลานมนุษย์ต่างหลงลืม เพราะว่ามันนานเกินไปจนไม่น่าจดใจ และความดีเหล่านั้นก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา ดาษดื่น แต่ศูนย์การเรียนรู้นี้ไม่หลงลืม พิทักษ์ไว้ให้เราได้ตระหนักและระลึกถึงคุณงามความดีที่ยังทำอยู่...แม้ไม่มีใครชื่นชม



ที่ปลายแผ่นดินของป่าไม้ เราจะได้พบพะยูนหินตัวหนึ่ง.....โดดเดี่ยว และเฝ้าหวังว่าจะไม่เดียวดาย ตามป้ายประวัติบอกให้ทราบความเป็นมาที่เมื่อกาลก่อนมันถูกเรียกว่า “หมูดุด” หมูดุดฉุกชุมในสมัยก่อนที่หญ้าทะเลมีมาก แต่เมื่อมีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำกันอย่างแพร่หลายได้ราคาดี ปริมาณการเลี้ยงก็เพิ่มขึ้น การตัดไม้ ลุกล้ำป่าก็ตามมา น้ำทิ้งจากบ่อกุ้งปริมาณมาก เหมือนน้ำจากบ่อเกรอะที่ถูกน้ำท่วมไหลเข้าบ้านเรา หญ้าทะเลตายจาก หมูดุดไม่มีหญ้าจะกินและถูกล่า...อันเป็นวิถี และวิบากกรรม หมูดุดตัวสุดท้ายจากไปในปี ๒๕๓๓ เหลือไว้เพียงเจ้าตัวนี้



แล้วศูนย์การศึกษาพัฒนาการเรียนรู้อ่าวคุ้งกระเบนก็เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวในปี ๒๕๒๕ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๖ ของศูนย์การเรียนรู้จาก ๔ ภาคทั่วประเทศ สำหรับที่นี่เพื่อแก้ปัญหาด้านป่าชายเลน และทรัพยากรอื่นที่เกี่ยวข้อง พวกกุ้งหอยปูปลา หญ้าทะเล และเจ้าหมูดุด ในท้ายที่สุดแล้วจากแนวพระราชดำริที่ทรงประทาน การคิดค้นและความเหนื่อยยากของพระองค์ ก่อให้เกิดผลงานการทดลอง การวิจัยและร่วมแรงร่วมใจกันของเจ้าหน้าที่ ประชาชน และอาสาสมัคร ก็ทำให้ได้พื้นที่ป่าชายเลน หญ้าทะเลกลับคืนมา หลังจากนั้นความอุดมสมบูรณ์จะค่อยๆ หวนกลับสู่แผ่นดินแผ่นน้ำนี้ตามครรลองของธรรมชาติ ได้พบเจ้าหมูดุดอีกครั้งในปี ๒๕๔๙ ประชาชนได้พื้นที่เสื่อมโทรมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงกุลาดำ มีการเลี้ยงกุ้งแบบปิด เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ชายฝั่งและประหยัดน้ำ จากเดิมที่เป็นแบบระบบเปิด หมุนเวียนน้ำออกสู่ทะเลกัน ให้เกษตรกรได้เลี้ยงหอยนางรมแบบแขวนจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดี เป็นต้น และที่นี่ ที่เรายืนอ่านป้าย ดูรูป ดูต้นไม้อยู่นี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งวิถีชีวิตของธรรมชาติ และชีวิตของเราเอง...


แม้แผ่นดินและท้องน้ำแห่งนี้จะเคยทรุดโทรม ถูกทำลายด้วยน้ำเสียปริมาณมากและต่อเนื่อง ต้นไม้เสียหาย ชีวิตสูญสิ้นแต่ด้วยแรงใจ แรงกาย ของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายที่มีประทีปส่องนำทางอันเป็นธงชัยที่จะถวายงานตามพระราชดำริ เวลาเพียงไม่กี่สิบปีเมื่อเทียบกับเวลาแห่งการทำลาย แผ่นดินและท้องน้ำก็กลับสู่ความอุดมดังเดิม



การปลูกป่าชายเลนนั้นไม่ควรจะปลูกให้ชิดกันเกินไปเพราะแสงอาทิตย์จะไม่ลงมาถึงพื้น... พระองค์บอกไว้เช่นนั้น


ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่ถูกน้ำท่วมทั้งกายและใจ ปัญหาความวุ่นวายทางความคิดของสังคมและการเมือง ทั้งน้ำจริงและน้ำลาย ที่ได้ผ่านพบ การได้เข้ามาพักผ่อนอิงแอบกระไอทะเลที่นี่ ไม่ได้แค่เพียงสบายกาย หรือความสุขใจ จากสถานที่เงียบสงบ ที่มีลมโกรกเบา ๆ ลำแสงอ่อน ๆ เพียงเท่านั้น ขณะที่เราเหนื่อยยาก และลำบากจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา อาจทำให้เราหลงลืม...ว่ายังมีอีกพระองค์หนึ่งที่จะทรงเป็นห่วงประชาชนของพระองค์ และยังคงทรงงานเพื่อประชาชนของพระองค์ต่อไปแม้ว่าจะทรงพระประชวร การได้มาที่นี่ ได้ทำให้ข้าพเจ้าได้สำนึกและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่หัวให้ใส่เกล้าใส่กระหม่อม และไม่มีสิ่งใดจะมาลบล้างพระเจ้าอยู่หัวทรงเหนื่อยและลำบากกว่าเรา และทรงงานมากกว่าเราหลายล้านคนรวมกันเสียอีก พระองค์ทรงงานเพื่อประชาชนไม่ว่าประชาชนของพระองค์จะอยู่ที่ไหนในโลกนี้ก็ตาม...เราจะรักพระเจ้าอยู่หัวตลอดไป....


***************************************************************************************************************************ตอน:เย็นก่อนพระอาทิตย์ตกที่หาดเจ้าหลาว://www.bloggang.com/viewblog.php?id=inthetime&date=26-12-2011&group=17&gblog=14
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก :


ศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ศูนย์ศึกษาพัฒนาเนื่องมาจากพระราชดำริ
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ



Free TextEditor




 

Create Date : 26 ธันวาคม 2554   
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2559 16:22:26 น.   
Counter : 617 Pageviews.  
space
space
ฝูงบินแรกเชียงใหม่แม่ฮ่องสอน(สองสถาน): เส้นทางสู่แม่ฮ่องสอน-เมืองในหมอก-เปิดเผยตัวและเติบโต

ทางเข้าน้ำตกแม่สุรินทร์ยังเป็นถนนลูกรัง ทำให้รถสี่ล้อเล็กต้องใช้แรงขับเคลื่อนหนักหน่วง แต่ก็ไม่มีอะไรเกินความสามารถและความชำนาญของน้าวัติ แกขับอยู่คันเดียวบนถนนลูกรังกว้างสองเลนส์ วกไปมาบนถนน ขาไปนั้นไม่กระไร แต่ขากลับออกมาเจ้าหม้อต้มมาม่า (ของน้าวัติ) ก็มีอันกลิ้งลงจากรถด้วยความคดโค้งของถนน โชคดีที่ของที่หล่นไม่ใช่...คน...บนรถ และของที่ถือก็เป็นหม้อไม่ใช่อย่างอื่น แค่จะยืนตัวตรงยังทำไม่ได้บนถนนลูกรังที่เอียงกระเท่เร่



จนมาถึงปลายทาง มีพี่ทหารยืนยามราวหกโมงเย็น หลังจากผ่านทางเข้าไป โอ๊ะโย๋ ช่างเงียบเสียจริง ๆ จะคุยกันก็ต้องกระซิบแผ่ว ๆ เกรงว่าจะไปรบกวนนักท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่จอดรถกางเต็นท์กันรายล้อมลานวงกลมแห่งหนึ่ง ตรงกลางปล่อยวางไว้ให้เป็นที่อิสระ ขนาดเท่าสนามตระกร้อวง ด้านข้างคือต้นสักหุ่นกลมเพรียวชะลูดสูงขึ้นไป เหมือนจะก้มลงมามองมนุษย์น้อยว่าใครหน้าไหนอย่าแหยมเข้าไปในพื้นที่วงกลมศักดิ์สิทธ์ ปล่อยให้ต้นหญ้าต่ำราคาปกคลุมและจับจอง ต่างเงยหน้าขึ้นไปมองที่ห่วงตระกร้อคือดวงจันทร์ที่เหมือนอยู่ใกล้ นักท่องเที่ยวที่อยู่ก่อนประกอบด้วยรถขับเคลื่อนสี่ล้อราคาแพงจากยุโรปเป็นส่วนใหญ่มีอยู่ราวสิบคัน มีรถแดงคันเล็กของกลุ่มเราเพียงคันเดียวที่จอดเทียบอย่างสง่าผ่าเผย หลังจากกางเต็นท์ ด้วยความช่วยเหลือเล็กน้อยของน้าวัติเพราะเพื่อนในกลุ่มเริ่มจะคุ้นเคยและเริ่มมีมือวางอันดับหนึ่งในการกางเต็นท์ และจุดเตาไฟ แน่นอนว่าเราก่อไฟไม่เป็น ก็ไม่พ้นน้าวัติมาช่วยสอน ต้องมีถ่าน (ซึ่งแกมีมาให้) ใช้เกี๊ยะ(ไม้ยาง)วางไปด้วยให้ติดไฟง่ายขึ้น สุดท้ายเราก็ได้กินมาม่าหอมกรุ่น กับมันอบในเตาฟืน เอาไปแลกกับหมูปิ้ง ผลไม้เมืองหนาวจากคาราวานรถหรูน้ำใจงาม ที่นี่ เป็นตัวแทนของสังคมนักท่องไพร (ดูจากอุปกรณ์ยังชีพ พวกเขาจะเดินเท้าเข้าไปน้ำตกแม่สุรินทร์ที่มันอยู่ไกลมาก...) ทักทายกันเล็กน้อย คุณปู่พาหลานชายเดินรอบ ๆ เสียงพูดคุยแผ่วๆ ดังไม่เท่าเสียงจิ้งหรีดที่ประกาศศักดาครองเวทีนี้ อย่างไรเสียด้วยวัยรุ่นอย่างเราดื่มด่ำกับแสงเดือนแสงดาวกระจ่างฟ้าได้ไม่นาน เราก็ตั้งวงเล่นไพ่กัน ความสนุกไม่ได้อยู่ที่การเล่นไพ่...ได้เสีย...แต่สนุกที่ได้สอนเพื่อนนักบัญชีจากธรรมศาสตร์ผู้รักดีและไม่เคยเล่นการพนัน ชื่อเกมส์ที่เล่นก็ไม่ได้เอาแพ้ชนะเหมือนในหนังจีนลบเหลี่ยมเฉือนคม แต่เป็นเกมส์ สล๊าฟ หาคนเป็นทาสนั่นเอง อีกเช่นกันว่าการเล่นสล๊าฟนั้นจะให้เงียบเสียงมันก็ยากเกินทน ขณะที่กำลังเก็งไพ่ของคนอื่นอยู่ก็ปรากฏขากางเกงมืด ๆ อยู่ข้าง ๆ วง พวกเราสี่คนเก็บการ์ดในมืออย่างรวดเร็ว มีแต่เพียงนักบัญชีสาวผู้ตกอยู่ในภวังค์การคำนวณต้นทุนกำไรตามอาชีพเดิม นายทหารท่านหนึ่งปรากฏกายข้างหลังนักบัญชี เสียงขรึม ๆ ดังขึ้นมาว่า “อย่าทิ้งตัวนั้น เก็บไว้ท้าย ๆ ก่อน” นักบัญชีเงยหน้าขาวหวานขึ้นไปมอง ทำตาปริบ ๆ “จริงเหรอพี่ ตัวนี้เก็บไว้ใช่ปะ” ซะอย่างงั้นเลย นายทหารยิ้มที่มุมปากแล้วมองมาในวง “กินส้มกันหมดแล้วก็รีบนอนนะ อย่าให้เกินสี่ทุ่ม สอนเพื่อนเบา ๆ หน่อยที่นี่มันเงียบ เสียงเคี้ยวส้มของเราจะดังไปไกลหลายกิโล” ว่าแล้วก็เดินจากไปพร้อมไหล่ที่สั่นขึ้นลง




หลังจากได้ไปถ่ายรูปกับป้ายน้ำตกแม่สุรินทร์ในตอนเช้าสุดจะตรู่ และยื่นเพ่งดูจากระยะไกล เห็นเป็นสายน้ำยาวสายเล็ก ๆ ที่ไหลลู่ลงสู่เบื้องล่างท่ามกลางสีเขียวขรึ้มของภูเขากว้างใหญ่ที่รายล้อม แต่สิ่งที่เห็นว่าเป็นของเล็กๆ ไม่ยิ่งใหญ่โต อาจไม่ได้มี ไม่ได้เป็นเท่าที่เราแลเห็น ถ้าเราอยู่...และมองจากที่ไกล...เกินไป



ออกจากน้ำตกแม่สุรินทร์ก่อนใคร น้าวัติแกว่ารถเราเปิดประทุนด้านข้างตลอดเวลา อยู่คันหลังจะกินฝุ่นรถยุโรปเสียเปล่ารถแดงวิ่งผ่านถนนลูกรังสีแดง แต่อากาศยามเช้า กับอายุยังน้อย ก็ไม่ได้ทำให้เป็นเรื่องยากลำบากอะไร ปีปัจจุบันนี้ถนนเส้นนี้ได้ลาดยางมะตอยเรียบร้อยแล้ว ลานตระกร้อวงหายไป กลับกลายเป็นลานขนาดสนามฟุตบอล ดอกบัวตองถูกจัดวางในอุทยานทั้งที่แต่ก่อนมันมีน้อยมาก นอกจากบนภูเขาไกล ๆ และข้างถนนที่เคยเห็นเลื้อยไปมา อยู่บนต้นไม้อื่นบ้าง บนบ้านชาวบ้านบ้าง บางครั้งก็มีชาวบ้านมาตัดกิ่งที่มันเริ่มจะเข้าไปในบ้านของเขา น้าวัติแกว่ามันเป็นวัชพืชที่ต้องตัดทิ้ง แต่ตอนนี้กลายเป็นหน้าตาของแม่ฮ่องสอน และมีการจัดทิวทัศน์ให้มีมากขึ้นก็สวยงามดี แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ปลื้มมากนัก ในใจก็คิดว่า ป่ามันควรมีพืชพันธุ์หลายอย่างเพื่อความหลากหลายถ้ามีเพียงอย่างเดียวมันก็ดูดาษดื่น แต่ก็ไม่ได้ขัดขวางเทศกาลดูดอกบัวตองแต่อย่างใดไม่ แล้วแต่ใจใครใจมัน ชอบแบบนไหนก็ไปแบบนั้น เดิมนั้นถนนเส้นนี้จะมีดงดอกเสี้ยนที่มีเด็กชาวเขามาขายดอกไม้ ครั้งนั้นดงดอกเสี้ยนดูสวยงามและมีมากมาย ตอนนี้มันกลายเป็นดอกเสี้ยนที่ปลูกบนแปลงปลูก ข้างถนนก็มีร้านค้าเล็ก ๆ เกือบสามสิบร้านที่ดูเป็น “การตลาด” สุดโต่งและไร้ทิศทาง อันว่าอดีตไม่อาจหวนคืน บัดนี้นักบัญชีของเราได้แต่งงานมีเย้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมาร้องหาดงดอกเสี้ยนขึ้นเองบนลาดเขาไปไยเล่า



ออกจากน้ำตกก็ไปไหว้พระธาตุอูคอ ท้องฟ้างามกระจ่างใจอีกแล้ว สายลมอ่อน ๆ ผู้คนประมาณหนึ่งเดินไม่เบียดเสียด อีกเช่นเดิม ปีล่าสุดที่ไปมา ผู้คนมากมาย เกิดการจราจรจลาจลติดขัดข้างวัดที่มีที่ดินเพียงหยิบมือในการจอดรถ และยังเสียพื้นที่ให้กับร้านค้าที่ตกแต่งพยามยามให้เป็นศิลปะ เหมือนในภาพยนตร์ประดับข้างฝาร้านกาแฟด้วยภาพวาดติสต์ๆที่นักท่องเที่ยวมาเข้าคิวถ่ายรูป อันเป็นที่เดียวกับที่กลับรถเพื่อเข้าจอด หลังจากเฝ้ารอจนได้ที่จอดรถ ก็ต่างเร่งรีบไปสักการะพระธาตุ ซึ่งเราไม่อาจดื่มด่ำ ใส่ใจ มีสมาธิกับการเดินวนรอบพระเจดีย์เช่นที่เคยทำมา


ระหว่างทางเราแวะไปดูโรงศพไม้กันที่ถ้ำน้ำลอด ด้วยวัยและจิตใจที่ยังไม่ฝักใฝ่ในเรื่องโบร่ำโบราณหรืออดีตกาลของมวลมนุษย์ชาติทำให้ข้าพเจ้าไม่อาจถ่ายทอดเรื่องราวที่พบเห็นในถ้ำ หรือที่ตั้งของโรงไม้ครั้นบรรพกาลได้ สิ่งที่ยังติดตรึงกลับกลายเป็นน่องสีเข้มที่มีหยดน้ำเกาะพราวเดินลุยไปในสายน้ำเย็น ระดับตื้นพอที่จะเดินเองได้ แต่เหตุไฉนเราจึงต้องนั่งแพ แม้มันเป็นการดีต่อการท่องเที่ยว ต่อชีวิตของผู้คนลากแพ หรือลูกหลานของเขา พวกเราก็คงจะต้องนั่งแพกันต่อไป ในครั้งหน้าถ้าได้มีโอกาสไปอีกข้าพเจ้าจะไม่มัวแต่นั่งซึมมองดูสายน้ำใส ที่ตื้นจนเห็นกรวดทราย เหม่อมองออกไปไม่เห็นแม้แต่ภูเขาเบื้องหน้าที่มีแสงอาทิตย์ทอดลงมา ข้าพเจ้าคงต้องลองเดินดูเองสักนิด (นิดนึงพอ) และพูดคุยทักทายกับคนลากแพให้มากกว่านี้ ไม่ใช่เอาแต่นั่งคิดและจมอยู่ในความเอื้ออาทรที่ถูกบิดเกลียวด้วยเศร้า


คืนสุดท้ายที่เราต้องไปให้ถึงก่อนค่ำมืด อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง เหลือระยะทางอีกหลายสิบกิโลเมตร น้าวัติบอกว่าขับอีกไกลต้องรีบขึ้นเขาก่อนมืด สุดท้ายเราก็มาถึงห้วยน้ำดังจนได้ตอนหกโมงครึ่งไม่สายและไม่เร็วเกินไปนักตราบเท่าที่ใจเรากำหนดไว้เช่นนั้น สถานที่ท่องเที่ยวที่ยังเงียบสงัด ผู้คนไม่น่าจะเกินสองร้อยคน มีลานกางเต็นท์เพียงสองลาน ซึ่งลานที่พวกเรานอนกันนั้น มาบัดนี้ได้มีหญ้าขึ้นรกและถูกปล่อยล้าง โดยข้าพเจ้ามิได้ต้องการจะสืบหาสาเหตุการทิ้งล้าง ลานกางเต็นท์ใหม่มีอยู่สามหรือสี่ลานเท่าที่เห็น (อาจมากกว่านั้น) ผู้คนในวันนี้น่าจะเกินหนึ่งพันคน คืนสุดท้ายของปี2001 คืนสุดท้ายบนห้วยน้ำดัง ลานกางเต็นท์ขนาดราวสนามฟุตซอส เป็นรูปครึ่งวงกลม ที่นี้เราได้นอนดูดาว บนลานสูงครึ่งวงกลมมีธงชาติไทยโบกสะบัด กินมันอบในเตาฝืน แลกส้มหวานฉ่ำกับบทเพลงเบา ๆ ของสองชายหนุ่ม ที่อยู่เต็นท์ข้าง ๆ เราไม่ได้เห็นรูปร่างหน้าตาของเขา หรือว่าจะเห็นแต่ไม่อยู่ในความทรงจำ ...ที่ผุดขึ้นมาคืออารมณ์เบาสบาย ใต้ฟ้ากว้าง เสียงดนตรีประสานกับเสียงพงไพร เต็นท์สองเต็นท์หันหน้าชนกันมีสมุดเพลงอยู่ตรงกลาง กีตาร์หนึ่งตัว เสียงเพลงเพื่อชีวิต เพลงจากภาษาเหนือเบาๆ ผู้คนบนลานแห่งนี้ ซึ่งหมายรวมถึงพวกเราลิงทโมนห้าตัว ต่างนิ่งฟังไป กินไป คละหมู่ดาวเดือน บรรยากาศแสนอัศจรรย์ใจ น่าเสียดาย...ที่อดีตไม่อาจหวนคืน



ราวเที่ยงคืนที่นี่ก็มีเสียงเฮ...รับปีใหม่ แต่ไม่มีเสียงพลุ..แล้วทุกคนก็เข้านอนหลังเที่ยงคืน ซึ่งโดยปกติจากที่รอนแรมมาตามอุทยานต้องเข้านอนกันตอนสี่ทุ่ม...ส่วนในกาลปัจจุบันนี้ เคาท์ดาวที่ห้วยน้ำดัง ผู้คนนับพัน ทั้งไทยและเทศน์ ลูกเด็กเล็กแดง วัยหนุ่มสาว แก่เฒ่าต่างมุ่งมั่นมาห้วยน้ำดังแห่งนี้ เสียงพลุ ประทัด เสียงเมาเหล้าเคล้านารี ที่นี่อีกเช่นกันที่ไม่อาจบรรยาย...ความเสื่อมทรามของสังคม...ที่อยู่ในเต็นท์ยักษ์ที่แออัดด้วยหนุ่มสาวเกือบสิบคน พวกเขาคงนั่งเล่นนับนิ้วโป้งกัน ใต้เต็นท์สูง ที่มีดวงไฟตรงกลางอยู่ภายในเอาไว้ให้เราดูผ่านผ้าเต็นท์ การเดินทางออกจากเชียงใหม่ปีนี้จึง เต็มไปด้วยความเหนื่อยล้า และโหยหา ด้วยสังขารรถรา และผู้คนที่มากมาย ต่างแนวทางและวิถีชีวิต ข้าพเจ้าคงผิดเองที่มาเชียงใหม่ ตอนปีใหม่ เพราะเชียงใหม่ ใหม่เสมอสำหรับผู้คน คนที่ชอบความเก่า หลงใหลธรรมชาติธรรมดา คนอื่นๆ ก็คงหลีกเลี่ยงช่วงหฤหรรษ์ของปัจจุบันนี้ อย่างไรเสีย เชียงใหม่ ก็ยังมีมนต์ด้วยตัวของมันเอง แต่อาจถูกแต่งเติมสีสันด้วยผู้คน และกราฟการการเจริญเติบโตด้านการท่องเที่ยวในบางช่วงเวลา หาใช่ผืนแผ่นดินและต้นไม้ที่โอบอุ้มจุนเจือ และอัตราการดำเนินชีวิตของผู้คนที่เรียบง่ายที่เป็นอยู่ตามปกตินั่นเอง


ส่วนเช้าวันใหม่ของปีใหม่ที่เชียงใหม่ปีโน้น....ตระการตาด้วยแสงสีฟ้าที่ขอบฟ้าไกล ผู้คนราวห้าสิบคนต่างยืนนิ่งพิงกันด้วยความหนาวรอดูพระอาทิตย์ที่กำลังผลัดผ้าเตรียมออกมาให้โลกได้ยล หลังจากสีฟ้า สีเหลืองระเรื่อก็ตามมา สีม่วงมีบ้างบ่างแห่ง แล้วสีส้มก็เริ่มมีมากขึ้น น้าวัติว่าโชคดีที่ฟ้าเปิด นั่นสินะ พวกเรามากับโชคที่ดีจริง ๆ การได้เห็นพระอาทิตย์ในวันที่ฟ้าเปิดมันไม่ได้มีทุกครั้งไป สุดท้ายการได้เห็นเม็ดกลมของดวงอาทิตย์โผล่พ้นเส้นทิวเขาออกมาไกล ๆ ในวันแรกของปี 2001 ส่วนในปี 2009 ฟ้าไม่เข้าข้างเราซะเลย...



การออกบินกับกองพลน้อยของข้าพเจ้าในครั้งนี้ ออกเดินทางจากโรงงานด้วยจิตใจที่ร้อนเร่า แต่เดินทางกลับจากเมืองเหนือด้วยหัวใจที่ฉ่ำเย็น...เต็มล้น...ด้วยแสงระยับระยับของหมู่ดาว น้ำค้างพราวพราวบนยอดหญ้า ไอหมอกหนา ๆ ที่ลอยผ่านตัวไป ผู้คนพื้นถิ่น รอยยิ้มและความงดงามของภาษา วัฒนธรรม กลิ่นหอมของมันอบ ความหวานของส้มในไร่สูง การทำงานในเมืองใต้ ดูเป็นสิ่งห่างไกลและไม่คุ้นเคย แม้ขึ้นนั่งบนรถทัวร์รอบดึก เมื่อเม็ดถั่วหล่นบนรถ เพื่อนคนหนึ่งยังเผลอเก็บขึ้นมากิน ด้วยคิดว่ายังอยู่บนแผ่นดินป่าเขาเมืองเชียงใหม่


ปล.ปีก่อนโน้น ข้าพเจ้าและเพื่อน ๆ ยังไม่ได้รับการแนะนำให้รู้จักกับปาย ซึ่งตอนนี้ใครๆ ก็ได้รู้จักมักจี่กันเป็นอย่างดีตามแบบของแต่ละคน


เวลาผ่าน ย่อมเปลี่ยนไป
อาจจะเล็กน้อยจนไม่ทันเห็นด้วยตา หรือ รวดเร็วจนไม่ทันตั้งตัว
แต่ทุกสิ่ง...มันก็เปลี่ยนไปเสมอ
ไม่มีสิ่งใดอยู่ “ชั่วนิรันดร์”


ที่เราทำได้เพียงจดจำสิ่งดีๆและปรับตัวให้พอดีกับสิ่งที่เป็น แต่อย่าให้มากเกินความจำเป็นจนกลายเป็นสิ่งไม่ธรรมดาในหมู่ธรรมชาติที่ยังธรรมดาอยู่ ซึ่งธรรมชาติอาจเหน็ดเหนื่อยเกินไปในการปรับตัวตามเรา


เรื่องก่อนหน้า : ฝูงบินแรกเชียงใหม่แม่ฮ่องสอน(สองสถาน): เชียงใหม่..ใครๆก็ไปกัน

เที่ยวปายในอีกมุมตามไปดูรูปสวยๆที่บล๊อกคุณนัทธ์






Free TextEditor

ด้วยขณะนี้คณะวงแหวนพันธมิตรแห่งเส้นทาง 108-1095 ก็มีต่างแยกย้ายกันไปทำภาระของตน ถึงแม้แหวนแห่งอำนาจได้ถูกทำลาย แต่สายสัมพันธ์ระหว่างกันไม่ได้ถูกตัดขาดหรือหลอมละลายไปกับลาวาร้อนใต้เทือกเขาแห่งมอร์ดอร์

Free TextEditor




 

Create Date : 21 ธันวาคม 2554   
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2559 16:22:44 น.   
Counter : 501 Pageviews.  
space
space
ฝูงบินแรกเชียงใหม่แม่ฮ่องสอน(สองสถาน): เชียงใหม่..ใครๆก็ไปกัน

เส้นทาง108-1095เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน...กี่พันโค้งก็ไม่หวั่น (เล่าจากความทรงจำ..ครั้งยังอยู่ในวัยฉะกัน)


คำว่า “ชั่วนิรันดร์” นั้นจะมีก็แต่เพียงในหนังสือ เป็นเรื่องที่เหนือธรรมชาติ เกิดจากจินตนาการ และไม่มีจริง
เพราะธรรมชาติสร้างมาให้สรรพสิ่งต้องดับสูญ และเปลี่ยนแปลง แม้ขุนเขาแข็งแกร่งก็ยังถูกกัดกร่อน สายน้ำเชี่ยวย่อมมีวันเหือดหาย ข้าพเจ้ายังนึกถึงเด็กหญิงตัวน้อยที่ได้อ่านหนังสือเรื่องนี้
“ชั่วนิรันดร์” บางเวลาเราก็หลงยึดติดว่าชั่วนิรันดร์นั้นมันมีจริง ด้วยวัยที่ยังเขลาจึงได้เฝ้ายึดติด และหลงลืมว่า “ธรรมชาติ” อันเป็น “สิ่งสามัญธรรมดา” นั้นสร้างมาให้มีแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่มีชั่วนิรันดร์ที่ครอบครอง และหากแม้นว่ามีผู้ใด ที่ต้องอยู่จนชั่วนิรันดร์จริงๆ คงจะพบแต่ความขมขื่น


นานมาแล้วที่เชียงใหม่ ข้าพเจ้ากับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ต่อต้านการกดขี่ทางวาจาและการใช้อำนาจกดดันลูกน้องในโรงงานได้รวมตัวกันลงขันอย่างขมีขมัน คนละไม่กี่พันบาทจัดทริปท่องเชียงใหม่เป็นครั้งแรกในรอบยี่สิบห้าปีของการมีชีวิตบนโลกมหัศจรรย์ไปใบนี้ ไปตามเส้นทาง 108-1095 เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน



กลุ่มของข้าพเจ้ามีชายร่างโตใหญ่แต่การเคลื่อนไหวแสนจะนุ่มนวลอยู่เป็นนิจ คือผู้ถือแผนที่ (แต่ไม่ได้ถือแหวน...นิ้วหาไซร์ไม่ได้) กำหนดจุดปล่อยตัว จอดเครื่อง(นอน)และติดต่อหาพาหนะรถแดง ซึ่งเป็นรถสี่ล้อเล็กวิ่งวนไปมาในเมืองเชียงใหม่ มันว่าเที่ยวเชียงใหม่ต้องไปรถแดง...เราก็เชื่อมัน...ก่อนออกเดินทางคือวันสุดท้ายของการทำงานปี2001 พวกเรายังคง..จับกลุ่มนินทาหัวหน้างานจนนาทีสุดท้ายที่ก้าวขาขึ้นจากพสุธาธานีเมืองหลวงของเรา เมื่อได้วางขาเล็กบ้าง อ้วนบ้าง ยาวบ้าง สั้นบ้างของพวกเรา 5 คนลงบนพื้นรถทัวร์ เราก็ได้วางเรื่องยุ่งเหยิงทั้งปวง (ที่เราสุ่มหัวกันแบกรับความทุกข์ร้อนในการทำงาน ทั้งของเราเองและของผู้ร่วมงานโดยไม่นำพาว่าเขาอยากจะให้เราร่วมแบ่งเบาด้วยหรือไม่ ทั้งที่สิบกว่าปีผ่านมาทำให้ได้รู้ว่า ที่พบเจอนั้นยังน้อยนิดต่อชีวิตข้างหน้าที่จะได้ผ่านพบต่อไป) เราละทิ้งไว้ในนครที่ไม่เคยหยุดนิ่ง


สิบกว่าชั่วโมงไปไวเหมือนโกหก ข้าพเจ้ากล่าวสั้นๆเกี่ยวกับอุปสรรคน้อยนิด เช่น รถเสียกลางทางแถวนครสวรรค์ ยืนรอรถราวหนึ่งชั่วโมงตอนดึก รถที่มารับเป็นรถหกล้อเล็ก เปิดหน้าต่างให้ลมหนาวเหนือโหมเข้ามา ผู้คนไม่กล้าหลับแม้เวลาจะล่วงไปราวตีสาม แต่ไม่นานหลายๆคนก็นิ่งเงียบไปด้วยความเหนื่อยล้า ยกเว้น ฝูงบินเล็กของพวกเรา ด้วยวัยอันเยาว์ (ซึ่งคราวนั้นเราคงไม่ทันคิดว่ายี่สิบห้าปีนั้นยังอ่อน...เหลือหลาย เรากลับคิดกันว่า ต่างเติบโตเต็มที่ พลังความรู้เต็มเปี่ยม ช่างโง่งมและอ่อนหัดเสียจริง ๆ ) เรายังคงนั่งแหกขี้ตามองออกไปตามถนนหนทาง บ้านเรือนผู้คน และแม้กระทั่งคนขับที่นั่งคับเบาะรถกางขากางเขนปลดกระดุมเสื้อเหมือนว่าอากาศร้อนสิ้นดี แต่ไม่เลย พวกเราหาได้หวาดกลัวการขับรถของคนขับที่ออกอาการเหมือนไม่ช่วงใกล้หลับตอนนั่งในศาลาฟังพระเทศน์ เราไม่ได้นึกถึงสาเหตุที่เราจ่ายเงินค่ารถทัวร์ราคาแพงแต่ต้องมานั่งรถหกล้อลมโกรก เรายังอายุน้อยเกินไปที่จะมาคิดเรื่องหยุมหยิมเหล่านี้ หกล้อเล็กพาเรามาส่งแค่ปากทางเข้าเมือง น้าขี้ร้อนบอกเราว่า รถเข้ามาได้แค่นี้ เพราะไม่ได้วิ่งประจำทางเข้าเมือง ฝูงบินน้อยก็หาได้ใส่ใจไม่ เรามุ่งมั่นค้นหารถแดงที่โชคดีได้ร่วมทางวนรอบจังหวัดเชียงใหม่และเป็นผู้พาเราขึ้นบินในทันที พร้อมกับปอดตับไต้และหัวใจที่เปิดรับอากาศสดชื่นยามเช้าที่เชียงใหม่เป็นครั้งแรกในชีวิต



น้าวัติชายผิวขาวร่างเล็ก หน้าตาใจดี คือชายโชคดีคนนั้น ซึ่งพวกเรายังไม่เคยลืมเลือนความเอื้ออาทรของแกในครั้งเก่า ด้วยว่ากลุ่มการบินเที่ยวแรกของพวกเรานี้ ยังไม่เคยแม้แต่จะกางเต็นท์กันเอง ของทุกอย่างอยู่ในสภาพใหม่กิ๊ก และยังไม่ได้ปลดป้ายราคา อันแสดงความเก๋า...โพด ๆ ในการเที่ยวป่ากินมันของพวกเรา


น้าวัติแกว่าเรายังเป็นละอ่อนเพิ่งเริ่มทำงานกันได้ปีเดียว(ที่แกรู้เพราะพวกเราเล่าให้ฟังประหนึ่งว่าแกเป็นญาติที่อยู่คนละจังหวัดกัน) เห็นควรว่าน่าจะไปกินข้าวเช้าในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อันว่าราคามันเป็นเหตุเป็นผลกับพวกเราซึ่งข้าพเจ้ากับเพื่อนก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง...เกี่ยวกับความเหมาะสมด้านราคา...) แกจะแวะไปบ้านแกเอาเตาถ่าน และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่แกคงจะพิเคราะห์แล้วหลังจากได้ประเมินความพร้อมของพวกเรา พวกเราก็นะ..อยู่ในวัยฉะกันเต็มที่ไปไหนไปกันเลยน้าวัติ..จัดไป ในวันนั้นแม้ว่าแกจะพาเราไปซื้อจากภาคกลางที่นำมาขายที่ภาคเหนือ ของราคาแพง ที่ต้นทุนต่ำเพื่อเอากำไรตามที่พบเห็นได้ในปัจจุบันนี้เราก็คงไม่มีสมอง ไม่มีประสบการณ์และไม่มีความคิดพอที่จะไม่ถูกหลอก...แต่น้าวัติคนเชียงใหม่คนนี้...ทำให้เราต้องกลับมาเยือนถิ่นอู้คำเมืองนี้อีกหลายๆครั้ง


สถานที่แรกที่น้าวัติกับเพื่อนชายเดี่ยวในกลุ่มได้ปรึกษากันแล้วว่าเราควรไปก็คือการไปไหว้สักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันก่อน ที่เหมาะเจาะกับเส้นทางสาย 108 ก็คือ พระธาตุจอมทอง ซึงอยู่ก่อนแยกเข้าไปที่อุทยานแห่งชาติดอยอินนนท์ (ขอบคุณรูปภาพจากวิกิพีเดีย)



แปดปีที่แล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงคริสมาสตร์ต่อกับปีใหม่ ผู้คนก็ยังไม่หนาแน่นเท่าวันนี้ หลังจากที่ข้าพเจ้าได้ไปเยือนพระธาตุจอมทองอีกครั้ง ในปี 2009 รถราติดกันวุ่นวายยิ่งกว่าฝูง....อืมฝูงอะไรสักอย่าง...ฝูกรถราในบางกอกเสียอีก..เพราะว่าวัวควายหาดูได้อยากเหลือเกิน ถนนติดหนึบ เต็มเหยียดไปด้วยขบวนรถท่องเที่ยว...อันว่านี่และหนา...ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นธรรมดาโลก


หลังจากเดินวนรอบองค์พระธาตุในตอนเช้าราวแปดถึงเก้าโมง อากาศกำลังเย็นสบายในปีนั้น ต่างกันไกลลิบกับแปดปีหลังที่ได้แต่ก้มกราบอย่างเร่งรีบ สำลักควันธูปเทียน และอากาศร้อนเหลือแสนในเวลาราวบ่ายสองโมง ผู้คนอุ่นหน้าฝาครั่ง เบียดเสียดกันเดินเท้าเปล่าบนพื้นรอบแล้วรอบเล่า ข้าพเจ้าได้แต่เฝ้ามอง..เท้าขาวบ้าง เหลืองบ้างดำบ้าง...น่าเวทนาผิวหนังบริเวณนั้น แต่อีกใจหนึ่ง...ก็อดคิดไปไม่ได้ว่า ผู้คนในเมืองไทยเรานี้ ยังมีพระพุทธเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและไม่ละทิ้งความตั้งใจที่จะได้สักการะองค์พระตัวแทนแห่งพระพุทธศาสดา แม้ว่าเท้าจะร้อนรุ่ม จมูกและดวงตาจะแสบร้อน แต่แววตาและทาทียังคงพยายามนิ่งสงบขณะเพ่งสายตาไปที่แผ่นป้ายบอกคำบูชาเบื้องหน้า


ในปีนั้น หลังจากไหว้พระธาตุในสภาพแวดล้อมสงบเย็น เพื่อเป็นการบอกกล่าวการมาถึงของพวกเรา การขอขมา(ล่วงหน้า) และขอความคุ้มครองจากผองภัยต่าง ๆ เรา ก็มุ่งหน้าขึ้นดอยอินทนนท์ ซึ่งน้าวัติจะเป็นผู้จัดหาสถานที่กางเต็นท์ ตอนนั้นเราก็นั่งรถชมวิวทิวทัศน์กันไป รถสวนมาบ้างเล็กน้อย แซงไปบ้างก็ไม่มากนัก บนรถ....ขบวนของเราต่างลืมเลือนความเป็นหัวหน้างาน เจ้าหน้าที่จัดทำมาตรฐานการผลิตสิ้นค้า หรือเจ้าหน้าที่บัญชีอะไรกันไป แม้แต่ข้อถกเถียงกับผู้บังคับบัญชา ความที่เล่าใจ การเร่งจัดทำเอกสารสินค้าประหนึ่งว่าถ้าทำไม่เสร็จในห้านาทีโลกของผู้อุปโภคจะมลาย เหล่านี้มันหายวับไปกับสายหมอกไกล ๆ หัวใจที่ขับไล่สิ่งเหล่านั้นออกไปยังมีที่ว่างมากพอที่จะเปิดรับเหวสูง ป่าไม้เขียวครึ้ม แซมด้วยสีเหลืองสีส้ม ท้องฟ้าปลอดโปร่ง อากาศเย็นสบาย และไม่เคยหยุดปากด้วยส้มแท้ๆ จากเชียงใหม่ กับเสียงโหวกเหวกชี้ชวนให้ดูโน่นดูนี่เหมือนอย่างที่คนกรุงเขาว่าว่าเป็นบ้านนอกเข้ากรุง...คนที่นี้หรือคนต่างจังหวัดก็คงมองเราไม่ต่างกัน แต่อาจจะ...ด้วยความยิ้มแย้มประกอบคำพูดที่จริงใจมากกว่า


ยังไม่ถึงป้าย “สูงสุดในสยาม” อันว่าวัยละอ่อนหัดเที่ยวอย่างพวกเราใฝ่ฝันถึง น้าวัติก็จอดรถที่ลานกว้างแห่งหนึ่ง ชื่อคล้าย ๆ ว่าจะเป็น “แม่กลาง” หรือไงนะ น้าวัติแกว่าหาที่กางเต็นท์ที่นี่แหละ เอาที่วิวดี แล้วไปเที่ยวน้ำตกที่อยู่แถวนี้ ส่วนยอดดอยอินทนนท์ เขาไปกันตอนเช้ามืด หลังจากกางเต็นท์ (ด้วยความช่วยเหลือของน้าวัติ) กินข้าวในร้านของอุทยาน อะไรกันเรียบร้อย น้าวัติก็ปรึกษากับคุณชายในทีมเราแล้วสรุปออกมาว่า “ไปเดินป่าศึกษาธรรมชาติกันก่อน”


เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้ซึมซับความงามของธรรมชาติอันพิสุทธิ์ เห็นควรที่จะใช้คำนี้อย่างแท้จริง “เส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าจริงๆ” เป็นป่าแรกที่ให้ได้เรียนรู้และได้สำนึกอย่างแท้จริง ว่ามนุษย์เรานั้นเพิ่งจะมาถึง และจะจากไปในช่วงเวลาอันสั้นเมื่อเทียบกับผืนป่า ต้นไม้ ดินหิน ที่อยู่มาก่อนจนนับรุ่นไม่ได้เหล่านี้ เราช่างเล็กน้อยกระจ้อยร้อยน้อยนิดธรรมชาติยิ่งใหญ่และเก่าแก่



เวลาไปกลับ 3 ชั่วโมงของเรานั้นผู้นำทางพื้นเมืองของพื้นที่บอกว่าเป็นเวลามาตรฐาน แต่เมื่อหลายปีให้หลัง ข้าพเจ้าใช้เวลาเดินไปกลับเพิ่มเป็นสี่ชั่วโมง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดกับการเพ่งพินิจความงามของธรรมชาติ แต่กลับใช้เวลาส่วนใหญ่ในการหอบ ขอพัก กินน้ำ ล้างหน้า...นั่งเฉย ๆ เพราะขานั้นอ่อนล้าเกินใจที่ยังไหวอยู่


เวลา 3 ชั่วโมง ของโลกอีกโลกหนึ่ง ความเงียบที่ไม่เงียบฉี่ เหมือนเวลาประชุมงานการผลิตในโรงงาน อากาศที่หนาวเย็น แต่ไม่เย็นยะเยือกเหมือนโดนเรียกเข้าห้องเย็นต่อหน้าผู้จัดการโรงงาน หรือ ไดเร็กเตอร์ (เจ้าของโรงงาน) เดินขึ้นสูงสุดเหมือนจะไม่มีที่สุดของจุดหมาย ก่อนที่ขาดใจเพราะอากาศที่เบาบางเส้นทางก็วกลง ลง ลง และลง จนเหมือนว่าจะไม่มีที่ต่ำสุดให้เห็น ได้ยินเสียงผู้นำทางแว่ว ๆ “จุดวัดใจ” คือเส้นทางที่เราเผชิญ ถ้าจะกลับก็กลับเสียเลย หรือจะไปต่อ ก็อย่าได้ย่อท้อ....หลังจากได้ศึกษาจิตใจของตัวเองแล้ว ได้เรียนรู้ความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ และความสัมพันธ์อันกลมเกลียวของพืชเล็กกับพืชใหญ่ที่ต่างอิงอาศัยกันและกันโดยไม่เคยแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งค่ายแบ่งขั้ว ต่างช่วยกันรักษาชีวิตของอีกฝ่ายหนึ่งไว้เพื่อว่าทั้งคู่จะได้มีชีวิตอยู่ต่อไป พืชขนาดเล็กชุ่มฉ่ำน้ำปกคลุมไม้ยืนต้นสูงลิ่ว ต่างก็ต้องอาศัยกัน และไม่มีใครได้ฝ่ายเดียวหรือเสียแต่ฝ่ายเดียว ในป่าดึกดำบรรพ์แห่งนี้ ป่าดิบชื้นที่ชื้นไปด้วยน้ำจากธรรมชาติไม่มากพอและไม่น้อยเกิน ความงามจากหยดน้ำ และทางน้ำใส ชีวิตสัตว์และพืช เราได้เรียนรู้อะไรมากมาย ปากห่างหายจากการพูดคุยและเคี้ยวส้ม เราต่างเงี่ยหูฟังผู้นำทางอธิบาย ต้นไม้ใบหญ้าสัตว์ป่า ทางน้ำไหล ทางไอแดดที่ส่องระยิบระยับลงมาท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ที่อายุยืนยาวกว่าพ่อของพ่อของเราเสียอีก..



ไม่นานนักป่ารกทึบด้วยไม้ใหญ่ เถาวัลย์ ดงเฟิร์นปกคลุมก็เปิดสว่าง เริ่มเห็นลำแสงจุดเล็ก ๆ ที่ปลายทางเดิน ที่ค่อย ขยายตัวใหญ่ขึ้น ๆ ที่ปลายทางไกลๆ อันถูกปิดล้อมด้วยกิ่งและใบไม้ สายตาเราได้กวาดออกไปกว้างไกล ราว 180 องศาในแนบราบ จากป่าทึบได้กลายเป็นทุ่งหญ้าเตี้ย ๆ ประดับด้วยดอกไม้สีขาวเล็ก ๆ ประหนึ่งภาพฝันอันงดงาม เสียงอุทานด้วยความประทับใจดังอยู่ไม่ขาดสายจากคนแรกที่อยู่หัวแถวจนคนสุดท้ายที่หลุดออกจากความมืดมิดของพฤกษา ที่ราบแห่งนี้ในอดีต ครั้งนั้น ยังไม่เป็นที่รู้จัก เสียงนกมากินปลีของกุหลายพันปลีอันมีให้เห็นดาษดื่น ผลไม้ลูกเล็ก ๆ ที่อยู่เรี่ยผิวดิน หมอกบางๆ ที่ลอยตัวผ่านเราไป ความงามที่ไม่อาจบรรยายได้ให้เห็นจริง ที่ซึ่งครั้งนี้หลังจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ถูกแนะนำให้โลกและคนไทยผู้หิวโหยธรรมชาติได้รู้จักผ่านแผ่นฟิล์มภาพยนตร์รัก(หรือเปล่า)เรื่องหนึ่ง เส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ก็บาดเจ็บและบอบช้ำ เมื่อข้าพเจ้ากลับเยือนอีกครั้ง ต้นหญ้าลู่เป็นทางไปเป็นแทบๆ ราบไปสู่กลุ่มดอกไม้สีขาว กระดุมเงินถูกหัก และเด็ดทิ้ง ต้นหญ้าต่างผลิ...ดอกออกมาเป็นถุงขนมขบเคี้ยวหลากยี่ห้อ กุหลาบพันปลี (หรือพันปี) ยืนแห้งและเป็นสีดำด้วยถูกไฟแผดเผา ชาวเขาผู้นำทางเล่าว่าปีนี้แล้งจัดเกิดไฟป่ารุกรานขึ้นมาถึงสันกิ่ว...โอ้มนุษย์นี้หนา...เกินกว่าข้าพเจ้าจะเสกสรรคำเปรียบเปรย








กลับสู่เส้นทางในอดีต พวกเราต่างยืนนิ่งเป็นแนวบนทางเดินลาด เงียบนิ่งเฝ้ามองไปที่ทิวเขาไกล ๆ เฝ้ารอเวลาที่พระอาทิตย์จะลาลับ ผู้นำทางบอกว่าส่งตะวันกันที่สันกิ่ว....



ออกจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ราว หกโมงครึ่งก็กลับที่พัก และกินข้าวไข่เจียวในร้านค้าของอุทยานอีกเช่นเคย ก่อนอาบน้ำเป็นการท้าทายความหนาวเย็น ที่นี่..ในเต็นท์...คืนแรกที่เชียงใหม่ปี 2001 เงียบสงบและอบอวลด้วยความสุข


ยังไม่ทันไร ตีห้า น้าวัติก็มาเรียกให้เก็บเต็นท์ไปรับพระอาทิตย์ที่จุดชุมวิว เรามองดูผู้คนที่แม่กลางมีไม่น่าจะเกิน หนึ่งร้อยคน กำลังได้ไออุ่นกันพอดีไม่ร้อนมากนัก ต่างกับหมู่นักท่องเที่ยวราวหนึ่งพันคนเห็นจะได้ ในแปดปีให้หลัง



จุดชมวิวก่อนถึง จุดสูงสุดในสยาม หน้าตาแต่ละคน...ละอ่อนเพิ่งตื่นนอนก็ตื่นตาตื่นใจกับกลุ่มก้อนสายหมอกหนาเป็นครั้งแรก ปริมาณรถกับคนก็ไม่มากนัก ไม่ต้องหามุมถ่ายรูปตามแผ่นหลังของคนอื่น หมอกเย็น ๆ ทั้งใกล้และไกล เช้านี้ฟ้าปิดไม่เป็นใจ ให้ได้เห็นพระอาทิตย์ใหญ่ยักษ์ แต่ก้อนหมอกหนาปกคลุมทิวเขา เหมือนโผล่ขึ้นมาจากก้อนสำลีนั้นก็อิ่มใจเกินพอ และมีค่ากับการจดจำมากกว่าการไปต่อคิวท้ายรูปกับป้ายสูงสุดในสยาม แต่อย่างไรก็ตาม อันว่ามนุษย์ประเทศไทยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ป้ายจะยังคงเป็นเครื่องยืนยันการมาถึงและการมีอยู่ของบางสิ่ง....เกือบทุกสิ่งสินะ




หลังจากอิ่มเอมกับดวงอาทิตย์ทั้งลับลาขอบฟ้าและอยู่ดีๆก็โผล่มาที่กลางก้อนเมฆกันเรียบร้อยแล้ว น้าวัติคนพื้นที่ก็พาเราไปถ่ายรูปที่เจดีย์นภเมทนีดล ขาลงก็ถ่ายรูปบนคานไม้ที่อุทยานเตรียมไว้ในจุดชมวิวที่มีหมอกหนาทึบเป็นพื้นหลัง ตามด้วยการแวะถ่ายรูปที่น้ำตกแม่ยะ และน้ำตกวชิรธาร ที่จะขาดเสียไม่ได้คือเราได้แปรงฟันและทิ้งคราบไข่ ไว้ในน้ำตกแม่ยะให้เป็นอาหารคาวแก่ปลาเล็กปลาน้อย..ส่วนยาสีฟันเราไม่ทันคิดว่าสารเคมีในยาสีฟันนั้นอาจจะไปกระทบกับระบบนิเวศน์ที่ไม่เคยรู้จักส่วนประกอบที่สังเคราะห์ขึ้นมาใหม่นี้ แต่อย่างไรก็ดี ตามความเห็นของข้าพเจ้าแล้วการทิ้งเศษยาสีฟันกับการทิ้งเศษพันธุกรรมสารเคมีตามธรรมชาติลงในน้ำตกซึ่งมีความหนาวเย็นและฝูงปลา อาจทำให้ส่วนหนึ่งของผู้ปล่อยอาจได้รับบาดเจ็บจนตายเพราะถูกปลากัดกินจนหางขาด หัวหลุดโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อันใดตามที่ควรจะเป็น ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์กับผลกระทบต่อผู้พบเห็นนั้นช่างต่างกันลิบลับ (ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นจริงตามที่เล่า แต่หนุ่มสาวบางคู่ในน้ำตกแห่งอื่นอาจทำให้คิดไปได้ว่า...)



ออกจากกลุ่มที่เที่ยวย่านดอยอินทนนท์เราก็มุ่งเลาะถนนอันวกวนเส้น 108 ที่เล่าขานกันว่าถนนพันโค้ง ระหว่างทางพบเห็นรถตู้นำเที่ยววิ่งเฟี้ยวฟ้าวแซงขึ้นไป ไม่นานเราก็ได้พบนักท่องเที่ยวกรูเกลียวกันลงมาข้างทาง....มองเห็นของเหลวเป็นสายพุ่งแรงออกจากปากเหมือนฉีดน้ำออกจากสายยาง...ลงบนต้นหญ้าข้างทาง


หลังจากแวะไปถ่ายรูปกันอย่างเร่งรีบที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง ใช้เวลาเหมือนการทัวร์ยุโรป 7 วัน 10 ประเทศเร็วเช่นไรพวกเราเร็วยิ่งกว่า...ประกอบกับการเงยหน้ามองสะพานที่แกว่งไกวขามตรอกเขาที่ออบหลวงเราลงความเห็นเป็นมติเอกฉันท์โดยไม่มีเสียงข้างน้อยให้ต้องดูแล คือให้ถ่ายรูปที่ทางเดินขึ้นโดยให้ติดตรอกที่สะพานข้ามเขาสองลูกก็เพียงพอให้โจษจันท์ว่า ได้มาแล้วนะ”ออบหลวง” ขับไปอีกสักระยะเราก็แวะพักรถและพักกิน ปูเสื่อกินข้าวเหนียวไก่ย่างที่ซื้อมาข้างทางกันที่ใต้ต้นสน หลังจากน้าวัติดูเวลาแล้วก็พาเราขึ้นรถแดงแรงฤทธิ์เพื่อไปให้ถึงอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ แกว่าเป็นน้ำตกที่ยาวที่สุดในแถบนี้ถนนยังไม่ดีนัก ไม่ค่อยมีคนไป เราจึงต้องรีบเข้าไปทักทายเสียก่อนในช่วงที่สถานที่แห่งนี้ยังมีเวลามากพอที่จะเป็นตัวของตัวเอง เราไม่รู้หรอกว่าโอกาสที่จะได้รู้จักกันนั้นมันจะมีมาอีกหรือไม่ และเมื่อวันเวลาพาเรามาพบกันอีกครั้ง เส้นทางอาจเปลี่ยนไป ต้นไม้และน้ำตก หรือบางคน ต่างก็มีหน้าที่ที่ต้องทำจนไม่อาจจะสนิทชิดเชื้อหรือปล่อยตัวตามสบายได้เหมือนก่อน อันนี้ข้าพเจ้ามาได้คิดก็เกือบสิบปีผ่าน


พบเส้นทางต่อไป แม่ฮ่องสอน เริ่มต้นด้วย น้ำตกแม่สุรินทร์ และวกกลับเข้าเชียงใหม่อักครั้งที่ห้วยน้ำดัง.......กับรถแดงแรงฤทธิ์




ตอนจบของฝูงบินแรกเชียงใหม่แม่ฮ่องสอน(สองสถาน): เส้นทางสู่แม่ฮ่องสอน-เมืองในหมอก-เปิดเผยตัวและเติบโต





Free TextEditor


Free TextEditor




 

Create Date : 20 ธันวาคม 2554   
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2559 16:23:02 น.   
Counter : 697 Pageviews.  
space
space
บินเดี่ยวเที่ยวแรก(จบ):เช้านี้ที่อุบล-ที่นี่มีน้ำ....ใจ

เรื่องก่อนหน้า:บินเดี่ยวเที่ยวแรก



ตราสัญญาลักษณ์อุบลราชธานี




อุบลราชธานีมีตัวเมืองที่ไม่ใหญ่มากนัก เป็นเมืองสงบ แต่มีชีวิตชีวา ไม่เจริญรุ่งเรืองด้วยธุรกิจมึนเมายามค่ำคืน และไม่ได้เจริญด้วยบ้านเรือนที่ปลูกอยู่บนคลองระบายน้ำเหมือนเมืองใหญ่มากตรงปากแม่น้ำของไทย ข้าพเจ้าอาจกล่าวถึงเมืองใหญ่เมืองนั้นด้วยความรู้สึกรุนแรงและเดียดฉันท์มากไปสักหน่อย แต่จะเอาอะไรมากมายกับคนคนทุกข์ยากที่ถูกน้ำท่วมและเสพข่าวประตูระบายน้ำจนเจ็บช้ำ



กลับสู่ปัจจุบันที่ศาลหลักเมืองอันมีมนต์ขลัง ด้วยช้างปูนไซส์เอ็มยืนแน่วแน่อยู่ที่มุมหนึ่งของศาลหลักเมือง ใกล้ ๆ กันนั้นยังมีอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ผู้ส่งเสริมด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรมภาคอีสาน ถึงแม้เป็นวันธรรมดาแต่ก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาสักการะศาลหลักเมืองประปราย ซึ่งเป็นการดีที่ผู้สับสนทางจิตเช่นข้าพเจ้าได้เข้าสู่สถานที่อันเงียบขรึมเช่นนี้ สิบนิ้วที่ยกขึ้นแล้ววางลงราบลงบนพื้นด้วยจิตใจที่อ่อนน้อมสู่สิ่งศักดิ์สิทธ์ทั้งหล้า วอนขอบางสิ่งที่ตัวเองก็ยังไม่อาจรู้ได้ว่ามันคือสิ่งใดกันที่ใจปรารถนา


ที่น่าประทับใจอีกอย่างก็คือพื้นที่โดยรอบของศาลหลักเมืองแห่งนี้มีขยะให้เห็นน้อยมาก จะมีบ้างก็ที่ถูกพัดลงไปในซอกหลืบของขอบถนน ทางเท้า อันเป็นเรื่องที่แตกต่างจากที่ซึ่งจากมา


อีกอย่างสำหรับศาลหลักเมือง ที่นี่ก็มีนกพิราบ แต่มันดูน่ารัก และอ่อนโยนได้ไฉน คงต้องมาหาคำตอบกันเอง


ด้านข้างเป็นประตูเชื่อมออกไปยังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุบลราชธานี เป็นอีกที่ที่ร่มรื่น ตัวอาคารทาสีเหลือง แดง เขียว....ก้าวแรกที่ข้ามผ่านประตู ได้พบเสาธงชาติสูงใหญ่ แหงนมองขึ้นไป ความรู้สึกเล็กจ้อยโผล่มาจากไหนไม่อาจรู้ แต่เมื่อได้กลิ่นหอมของดินและความชอุ่มชุ่มช่ำของสายน้ำที่ฉีดออกมาจากคุณลุงท่านหนึ่ง ความสุขสมในอารมณ์ก็กลับมา อืม เมืองอุบลแห่งนี้ช่วยรักษาใจได้ดีแท้


ภายนอกอาคารดูสวยงามและไม่ด้อยคุณค่า ทั้งร่มรื่น สะอาดตา กึ่งร่วมสมัยกึ่งจะอนุรักษ์ แน่นอนว่าที่นี่ เขาห้ามถ่ายรูปด้านใน จึงได้ภาพสง่างามมาแต่ด้านนอก



ส่วนภายในประกอบด้วยห้องประวัติศาสตร์ โบราณคดี เรื่องหินดินไดโนเสาร์ ภาพเขียนสีประวัติศาสตร์ที่ยังไม่อาจระบุอายุได้ชัดแจ้งลงไป อาจเป็นไปได้ว่า พื้นแผ่นดินไทยนี้อาจมีประวัติยาวนานกว่าที่เคยเรียนกันมา ประหนึ่งว่า เมื่อความรู้ในอดีตเปลี่ยน ปัจจุบันก็อาจต้องเปลี่ยนตาม


อีกทั้งแหล่งรวบรวมศิลปวัฒนธรรม เครื่องมือทำกินสมัยกาลก่อน รูปปูนปั้นสมัยต่าง ๆ มีเสียงเพลงอีสานให้ฟังเพลิน ๆ บนพื้นทางเดินไม้ขัดมัน ที่นี่มีนักท่องเที่ยวที่อยู่ในวัยรุ่นให้เห็นได้อยู่บ่อย ๆ ภายในห้องพระพุทธรูปเก่าแก่ เราได้พบเห็นชายหนุ่มทรงผมยาวไม่เกินห้ามิล. โกนสลักเสลาไปมา ตามแขนขาก็มีรอยภาพพิมพ์สีดำประปราย ยืนนิ่งสงบอ่านประวัติพระพุทธรูปหักครึ่งอย่างมีสมาธิจดจ่อจนมองไม่เห็นหญิงกลางคนอย่างข้าพเจ้า หรือไม่เจ้าหนุ่มก็คงไม่อยากจะละสายตาจากพระพุทธรูปหักครึ่งมามองหญิงวัยครึ่งชีวิตเช่นข้าพเจ้า


แม้แต่นกน้อยตัวนี้ยังมาเพ่งดูความงามของศิลปะ


ในส่วนของห้องแสดงผ้า เราได้เห็นตัวอย่างผ้าพื้นเมืองเก่าแก่ เครื่องทอผ้า และได้เห็นเอกสารจดหมายโต้ตอบของบุคคลซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อชาวอุบลราชธานี และประโยคแสนประทับใจของข้าพเจ้าก็ยังติดตรึง


“แต่อย่าได้ตั้งใจคอย เพราะจะถ่ายภาพเมื่อใดบอกไม่ได้” ประโยคประมาณนี้ เป็นจดหมายที่ลงท้ายด้วย “จุฬาลงกรณ์ ปร.” ซึ่งผู้ผ่านทางเช่นข้าพเจ้าไม่อาจทราบได้ว่าท่านผู้นี้เป็นใคร ทำได้เพียงแต่คนหาผู้ที่ส่งจดหมายให้ในทำนองขอให้ช่วยถ่ายภาพผ้าให้ คือ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งชื่อนี้จะสามารถพบได้ทั่วไปในจังหวัดอุบล ทั้งถนน โรงเรียน โรงพยาบาล ค่ายทหาร เป็นต้น ประวัติของท่านกรมหมื่นผู้นี้จะขอกล่าวในภายหลัง ส่วนประโยคที่ว่า “แต่อย่าได้ตั้งใจคอย” ทำให้ข้าพเจ้าอึ่งด้วยความประทับใจ นั่นสินะ เราอย่าได้ตั้งใจคอยสิ่งใด ไม่อย่างงั้นแล้ว การรอคอยจะยาวนานกว่าที่เป็น


เมื่อหันไปถามรุ่นน้องลูกครึ่งอุบลนนท์ ก็ไม่สามารถให้ความกระจ่างได้ ส่วนที่ข้าพเจ้าหามาได้ในภายหลังที่เกี่ยวกับ “สรรพสิทธิประสงค์” ที่มีอยู่เต็มเมือง และคงจะเต็มในหัวใจของชาวอุบลและแผ่นดินอีสานทั่วทุกจังหวัดเนื่องด้วยคุณงามความดีของท่านนั้นเหลือคณา จริงแท้ที่ผู้คนในอดีตได้สร้างหลักสร้างเมืองสร้างถิ่นที่อยู่ไว้ใช้ลูกหลานรุ่นหลังด้วยความเหน็ดเหนื่อย ส่วนคนรุ่นเราทำอะไรกันมั่ง...ก็ทำอย่างที่ประเทศ กำลังเป็นนี่แหละท่านทั้งหลาย...


ซึ่งในที่นี่จะขอเล่าประวัติโดยไม่ใช้ราชาศัพท์ด้วยข้าพเจ้าเองไม่ค่อยจะเชี่ยวชาญส่วนประวัติอย่างเป็นทางการ และใช้ภาษาที่ถูกต้อง สามารถดูได้ใน “มณฑลทหารราบที่ ๒๒” และ ประวัติพระราชกรณีกิจ ท่านผู้นี้เป็นโอรสองค์ที่ ๑๑ ของในหลวงรัชกาลที่ ๔ (๒๔๐๐ ถึง ๒๔๖๖) ดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว (อีสาน) ท้องที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกศ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ทรงมีพระราชกรณีกิจที่สำคัญหลายด้านครอบคลุม การทหาร การปกครอง การศึกษา การศาสนา เช่น การปราบกบฎผีบ้าผีบุญการประกาศให้ราษฎรเลิกเล่นการพนัน เลิกสูบบุหรี่ การตัดถนนสายสำคัญ เช่น พรหมเทพ พรหมราช พโลรังฤทธิ์ พิชิตรังสรรค์ สรรพสิทธิ์ เป็นต้น ทรงได้รับการสถาปนาเป็น กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖และทรงเป็นต้นราชสกุล “ชุมพล” มีการสร้างพระรูปเป็นพระอนุสาวรีย์ที่ค่าย สรรพสิทธิประสงค์


สถานที่ท่องเที่ยวที่ข้าพเจ้าเดินเที่ยวในตัวเมือง : ศาลหลักเมือง, วัดศรีอุบลรัตนาราม, ห้องสมุด, ทุ่งศรีเมือง
แวะกินก๋วยเตี๋ยวอร่อยเว่อร์ ที่ร้านมิตรสัมพันธ์



จนค่ำมืด ข้าพเจ้าก็กลับเข้ารังนอน ก่อนออกไปเดินเล่นยามสนธยา ที่ทุ่งศรีเมือง อันเป็นศูนย์กลางสวนสาธารณะที่กว้างใหญ่ มีสนามฟุตบอลใหญ่ เล็ก สนามบาส ลู่วิ่ง พื้นที่ให้วัยรุ่นเล่นสเก็ตบอร์ด อาคารเต้นแอร์โรบิค เต้นลีลาส สนามหญ้าฝึกเชียร์กีฬา ผู้คนมากมายล้วนดูสุขภาพกายใจแข็งแรง ลมเย็น ๆ พัดมาเคล้าเสียงดนตรีลีลาสที่ฝากหนึ่ง เสียงขิมระนาดจากการแสดงรำพื้นเมืองอีกฝากหนึ่ง ช่างเป็นเมืองที่งดงามและยังตั้งอยู่ในความพอดีของตัวเอง ยังไม่มากไม่น้อย อย่างไรเสียเราก็เริ่มได้กลิ่นน้ำเน่าที่โชยมาเป็นระยะ เมื่อมองลงไปในคูน้ำที่โอบรอบทุ่งศรีเมืองก็เห็นลำน้ำสีดำคล้ำ อันแสดงถึงความเป็นเมืองที่เจริญรุดหน้าการจัดการน้ำเสียไปนิดหน่อยเสียแล้ว...กระแสความเจริญคงกำลังคลืบคลานเข้ามาสะสมตัวอยู่ใต้ดิน ในน้ำ ใต้ถุนบ้านของเมืองแห่งนี้ เช่นเดียวกับที่ยังได้เห็นภาพ สองสาวกำลังเคล้าเคลียพวงแก้มที่ยังอ่อนโลกกันอยู่อย่างท้าทายสายตาคนทั่วไป มีเพียงหนึ่งจากหลายร้อยคนในสนามแห่งนี้ ก็เพียงพอที่จะไม่ทำลายสิ่งดีๆ แห่งเมืองอุบล ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ที่อุบลจะเต็มไปด้วยความเจริญของขยะ น้ำเน่า ชีวิตเน่าๆ ของเด็กที่ยังไม่โต การพนัน ยาเสพติด วันนั้น ผู้ฝ่าฟันบากบั่นสร้างเมืองคงจะเสียใจ...



ริมถนนด้านนอกออกมา ผู้คนเริ่มบางตา แต่ก็ยังมีลานขายสินค้าทำมือ ไม่ใหญ่มากจนเป็นธุรกิจแข่งขัน คนขาย คนซื้อพูดคุยกันสนุกสนาน มีบางร้านที่ทำเป็นธุรกิจแต่สินค้าก็เป็นของชาวเมือง ติดตราเมือง ใช้ผ้าลายเดิม ไม่ลืมตัวลืมตน ผู้คนทั่วไปก็ยิ้มแย้มเมื่อเห็นหญิงวัยกลางคนเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวเช่นข้าพเจ้า คอยบอกทาง ชี้แนะสถานที่ท่องเที่ยว บ้างก็ชวนกินข้าวกันเหมือนตอนที่เรายังเป็นเด็ก แม้แต่พบชาวต่างชาติ เขายังยกมือไหว้เรา ให้เราได้อายว่าลืมวัฒนธรรมประจำชาติกันไปเสียแล้ว อย่าได้ไปขำเขาเชียวว่าผิดเวลาผิดธรรมเนียมหรืออะไร ก็เหมือนที่เขาทักทายกันตามถนนหนทาง ว่า How do u do ก็เหมือนกันนั่นแหละ เดี๋ยวนี้แม้พนักงานตามร้านต่าง ๆ ยกมือไว้ขอบคุณลูกค้าจะมีลูกค้าสักกี่คนที่ยกมือรับไหว้ ครั้นข้าพเจ้าไหว้ตอบกลายเป็น “ตัวตลก” หรือ “แปลกประหลาด” แต่ข้าพเจ้าก็จะทำต่อไป อย่าได้อายคนต่างชาติ ตาสีฟ้า หัวฟู ๆ ที่อุบลเขา


เมื่อได้เวลาที่ต้องจากลาเมืองอุบล ถิ่นดอกบัวที่จารมาจากอุดร ข้าพเจ้าก็ได้นั่งรถไฟฉึกฉักอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ด้วยใบหน้าผ่องใส หัวใจไม่เศร้าหมอง ผู้คนบนรถไฟส่วนใหญ่เป็นคนภาคนี้ถิ่นนี้ที่เดินทางสิบกว่าชั่วโมงกลับสู่กรุงเทพฯ มหานครอันยิ่งใหญ่ล้นฟ้า (ขอเหน็บอีกนิด) ตลอดทางก็จะมีคุณย่าคุณยาย ลุงน้าอา มาคุยกับข้าพเจ้าว่าเหตุอันใดจึงเดินทางคนเดียว หน้าตาก็แปลกถิ่น อันว่าเป็นคนภาคกลางแต่ตัวดำไปทางใต้ ผู้โดยสารส่วนใหญ่เมื่อรู้ว่าปลายทางของข้าพเจ้าคือศูนย์อพยพหนีน้ำ ก็แสดงความเสียใจตามแต่ที่เข้าจะนึกออก บ้างก็ให้ไก่ย่าง น้ำ ข้าวเหนียว บ้างก็ให้น้ำใจ กำลังใจให้สู้ต่อไป...นี่สินะที่เรียกว่า คนไทยไม่ทิ้งกัน


เสียงรถไฟยังดังอื้ออึงเหมือนเดิม สายลมพัดมาอ่อน ๆ ร้อนบ้าง เย็นบ้าง ทุ่งนาป่าเขา เขียวบ้าง เหลืองบ้าง ผู้คนไม่มีพิษภัย ไม่มีอาวุธที่ปลายถ้อยคำ ไม่มีวาจาแฝงยาพิษ ที่นี่ ข้าพเจ้าเป็นผู้รับน้ำใจทุกคนไทยเจ้าของถิ่น จนเต็มอิ่มและพร้อมจะแบ่งปัน



ก่อนเที่ยงเล็กน้อย เด็กน้อยนัยน์ตาใส แฝงความอ่อนล้า แบกตระกร้าข้าวเหนียวไก่ย่าง กลิ่นหอมเรียกน้ำลาย น้ำย่อยกันมาออที่ปลายลิ้น ข้าพเจ้าซื้อไก่ย่างและแถมหนังสือวรรณกรรมแปลเยาวชนจากอังกฤษ “ชั่วนิรันดร์” ให้ไปพร้อมกับเงินค่าไก่ ที่คงมีค่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับหนังสือปกสีส้มที่แกได้รับ ข้าพเจ้าได้ไก่ย่างข้าวเหนียว และร้อยยิ้มสดใส ในดวงตาที่เบิกบานของเด็กน้อยบนรถไฟ พร้อมด้วยหัวใจที่พองโตของข้าพเจ้าเองกลับมา เป็นรางวัลที่แสนจะคุ้มค่ากับการเดินทางในครั้งนี้


เด็กน้อยลงจากรถไฟไปที่สถานีห้วยแถลง ยืนโบกมือให้ข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็โบกตอบไป...จนลับสายตา





บินเดี่ยวเที่ยวแรก-เส้นทางสู่อุบล





Free TextEditor


ปล.ข้าพเจ้าจัดหน้าบล๊อกไม่ค่อยเป็นอะ ขออภัยด้วยที่มันไม่ได้สัดส่วน ไม่เป็นที่เป็นทางอันควรอยู่




 

Create Date : 02 ธันวาคม 2554   
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2559 16:23:20 น.   
Counter : 615 Pageviews.  
space
space
บินเดี่ยวเที่ยวแรก-หนีน้ำเหนือจากศูนย์อพยพในเมืองกรุงมุ่งสู่อีสานใต้อุบลราชธานี

“แต่แกจะไปทางไหนก็เถอะ มันมีแต่ความไม่ราบรื่นจนกว่าแกจะไปถึงฝั่ง” ประโยคจากหนังสือเรื่องชายเฒ่ากลางทะเลลึก หรือ เฒ่าผจญทะเลของ เฮ็มมิงเวย์ ผุดเข้ามาในกะโหลกเล็กๆ ของข้าพเจ้า เดิมทีข้าพเจ้าเป็นนักเดินทางอยู่เหมือนกัน แต่ไม่มีครั้งไหนเลยเป็นการเดินทางท่องเที่ยวแต่เพียงลำพัง จึงให้นึกหวาดหวั่นต่ออุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้า ดังเช่นที่ ชายเฒ่าคุยกับนกทะเลตัวหนึ่งที่คงจะบินมาแสนนานก่อนลงจอดที่เรือน้อยของแก


ในวันที่ข้าพเจ้าเดินทางมาตามเส้นทางของชีวิตด้วยวัยที่เลยช่วงฉกรรจ์มาแล้ว หลักกิโลใกล้ถึงสี่สิบเข้ามาทุกที ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งในช่วงวัยต้องวิ่งให้ทันกับโลกสมัยใหม่นี้ ท่ามกลางกระแสน้ำเชี่ยวของน้ำเหนือ และกระแสสังคมเชี่ยวกราก ณ ศูนย์อพยพแห่งหนึ่ง ใจกลางกรุงเทพ หนทางแต่เก่าก่อนเรื่อยมานั้นมีแต่อุปสรรค ความไม่ราบเรียบจริงแท้ดั่งเช่นเฮ็มมิงเวย์กล่าวไว้ ข้าพเจ้าไม่อาจจะปรับตัวปรับใจให้รับกับความตึงเครียดได้อีกต่อไป ความเครียดเนื่องจากน้ำท่วมบ้านนั้นน้อยนัก เมื่อเทียบกับความเครียดในการอยู่ร่วมอาศัยในสังคมเมืองของศูนย์อพยพแห่งนี้ ความเป็นเมืองที่กระท่อนกระแท่น และสังคมแห่งเปลือกของแมลง หรือผนังทาบ้านในความคิดของข้าพเจ้า สังคมโก้หรู ฉาบเรียบ มันวาว ได้เข้ามาจับจอง ณ พื้นที่เล็ก ๆ เพียงแค่ ห้องประชุมห้องหนึ่งของศูนย์ฯ แห่งนี้ด้วย ข้าพเจ้าไม่อาจกล่าวโทษผู้ใด ผู้ที่มีความเป็นเมือง และ เข้ากับสังคมเปลือกแข็งได้ดีกว่าข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้าทำได้ก็เพียงแต่ขอเวลา....ตั้งตัว



(หน้าต่างรถไฟ)


หลังจากตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวแต่ไม่ค่อยจะเด็ดขาดนัก ด้วยการออกเดินทางโดยไม่มีเป้าหมายที่ปลายทาง แต่มีเป้าหมายคือการออกเดินทาง ด้วยคาดหวังว่าการไม่คาดหวังความสุขที่ปลายทาง หรือจำนวนสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้ไปจะทำให้ข้าพเจ้าได้พบกับความสุขอย่างที่เคยอ่านจากงานของคุณเสกสรร ว่าชีวิตที่ไม่กดทับด้วยจุดหมายหรือเป้าหมายเป็นชีวิตที่มีความสุข ดังนั้นข้าพเจ้าก็จะลองเดินทางโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน เหมือนการท่องเที่ยวแต่เก่าก่อนมาของข้าพเจ้า



เมื่อข้าพเจ้าเดินทางมาถึงหัวลำโพงเมื่อเวลาล่วงไปราว ตีห้าครึ่ง เวลานี้ของกรุงเทพช่างเงียบเหงา และซึมเซาต่างกับเดือนก่อนหน้าที่น้ำเหนือยังไม่ไหลบ่าสู่ราชธานีมหานครแห่งนี้ ภาพผู้คนควักไขว่ ยื้อแย่งกันขึ้นรถ เรียกแท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง เสียงจอแจอึกทึกหายไป มองอีกแง่มุมหนึ่ง นี่เป็นกรุงเทพที่ข้าพเจ้าฝันถึง เงียบสงบ แสงไฟวิบวับ บนถนนลางเลือน


ที่ช่องขายตั๋วด้วยความเงอะงะของข้าพเจ้าที่ไม่เคยจองตั๋วรถไฟมาก่อน พนักงานขายตัวก็เลยเรียกข้าพเจ้าเข้าไปแล้วสอบถามที่หมายและความต้องการต่าง ๆ แล้วให้ข้าพเจ้ารอเรียกอยู่แถว ๆ นั้นก่อนเพื่อจ่ายเงินและรับตั๋ว อืม..ว่าแล้วทำไมมีคนยืนรอกันอยู่มากมายแถว ๆ ช่องขายตั๋ว ข้าพเจ้าเดาเอาว่า เขาคงจะเช็คที่นั่งก่อน แล้วรอเรียกรับตั๋วอีกทีหนึ่ง....


5:40 ข้าพเจ้าเดินเข้าไปในชานชาลาต่าง ๆ มันมีรถไฟอยู่เยอะแยะ พนักงานคนหนึ่งเดินมาหาและอีกเช่นเดิม หน้าตาสุนัขงงของข้าพเจ้าทำให้เขาขอดูตั๋วและอธิบายว่าเดินไปที่ตู้ที่ 2 ด้วยสีหน้าการุณ.....สำหรับการขึ้นบินของข้าพเจ้าถือว่าไม่เลวนัก ความงงงวยของข้าพเจ้าไม่ได้เป็นอุปสรรอย่างไรต่อการเดินทาง


5:45 รถด่วนพิเศษ เลขที่ 21 ก็พาข้าพเจ้าค่อย ๆ ไกลห่างออกจาก ปัญหาน้ำท่วมเมือง น้ำลายท่วมศูนย์อพยพ ปัญหาการแย่งและแยกสี ด้วยใจหวังว่า “การไป” ของข้าพเจ้าจะช่วยให้จิตใจสงบลง ด้วยข้าพเจ้ามีความหวังเพียงน้อยนิด “ขอความสงบ และความเป็นธรรมชาติของผู้คนให้รับข้าพเจ้าไว้ในอ้อมกอดด้วยสักคน” เป้าหมายในครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว กำหนดเวลาไปให้ถึงสถานที่มีชื่อต่าง ๆ ในเมืองอุบล ข้าพเจ้าขอเพียงแต่ การได้เดินทางไป นั่นก็คือเป้าหมายที่พอเพียงแล้ว ถ้าเราไม่ได้คาดหวังความสำเร็จที่จุดหมายปลายทาง เราจะได้รับความสำเร็จตั้งแต่เริ่มออกเดินทาง สิ่งนี้คือสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้อย่างแท้จริง ในการเดินทางครั้งนี้



เสียงรถไฟดังสม่ำเสมอบ้าง หยุดบ้าง เร็วบ้าง เวลาใกล้เช้า แต่ทำให้ข้าพเจ้าใกล้จะหลับเข้าไปทุกที ความดังของเสียงต่างๆ กลับทำให้ใจที่สับสับค่อยๆ สงบลง และดำดิ่งสู่ความพร่าเลือน....ไม่นาน..ข้าพเจ้าก็หลับไปอย่างเป็นสุข...


หลังจากที่ไม่ได้หลับสนิทมาหลายคืนในห้องประชุมพื้นปูพรมอุณหภูมิไม่ถึง20องศา


“รับชา กาแฟ โค้ก น้ำส้ม ..น้ำเปล่าดีคะ” เสียงพนักงานบนรถไฟปลุกอยู่ข้างๆ ข้าพเจ้าลืมตาขึ้นอย่างงัวเงีย ได้พบกับสายตาพนักงานหญิงที่บ่งบอกว่าเข้าใจดีว่าข้าพเจ้าหลับมานิ่งสนิท ข้าพเจ้าได้กาแฟขม ๆ แต่เปี่ยมน้ำใจของพนักงานหนึ่งแก้วกระดาษ เมื่อมองออกไปภายนอกหน้าต่าง ภาพทุ่งหน้าเขียวขจี ต้นไม้ขึ้นเป็นหย่อมๆ ทำให้กาแฟกลมกล่อมขึ้นอีกมากโข


7:20 ขบวนรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือก็เดินทางมาถึง จ.ฉะเชิงเทรา พนักงานขับรถเดินถือโทรโข่งแจ้งให้เราทราบว่าเนื่องจากเส้นทางที่อยุธยาน้ำท่วมทางรถไฟ จึงต้องอ้อมมาทางฉะเชิงเทรา และเข้าสู่สระบุรี ก่อนมุ่งเข้าสู่เส้นทางเดิมที่นครราชสีมา ซึ่งจะทำให้รถไฟมีเวลาช้าราวหนึ่งชั่วโมง และจะกำหนดเวลาช้า (Delay) ได้ใกล้เคียงขึ้นเมื่อถึงสถานีแก่งคอย ก่อนหน้านี้การล่าช้าของการเดินทางเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อหน้าที่การงานของข้าพเจ้า ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ภาคใต้ หรือ อีสานตอนบน เมื่อได้ยินการประกาศว่าเที่ยวบินดีเลย์ ความยุ่งเหยิงในการทำงานจะก่อตัวขึ้น การติดต่อลูกค้า และต่อรถ ปัญหาอุปสรรคจะตามมาเช่นทะเลที่ไม่ราบเรียบของนกทะเลตัวหนึ่ง แต่ไม่ใช่กับการเดินทางในครั้งนี้ และหวังว่าจะเป็นเช่นนั้นไปตลอดในทุกเส้นทาง....


แถวฉะเชิงเทรานี้เรายังได้เห็นภาพบาดตาของท้องน้ำที่ปกคลุมผืนนาได้เป็นบางแห่ง บ้านเรือนผู้คนตามริมคลองต่าง ๆ ยังอยู่ในน้ำ ข้าพเจ้ารีบละสายตาออกมา ด้วยต้องยอมรับว่า มันบีบคั้นหัวใจอ่อนล้าของข้าพเจ้า


เวลาราว 9 นาฬิกาเราก็มาถึงอุโมงค์แห่งหนึ่ง น่าจะเป็นแถวสระบุรีต่อกับโคราช คงเป็นคนละที่กับอุโมงค์ผาเมืองที่โด่งดัง เมื่อความมืดมิดเข้าครอบคลุมเส้นทางเดิน เราต่างมุ่งหวังแสงสว่างแม้เพียงน้อยนิด แต่ความมืดที่เงียบสงบและคาดการณ์ได้ก็ช่วยให้เราไม่หวั่นเกรงด้วยรู้แน่ว่าไม่นานแสงสว่างที่รออยู่ที่ปลายอุโมงค์จะมาถึง



เมื่อหลุดจากปากของความมืดที่ปลายอุโมงค์มาได้ รถไฟก็พาเราตัดเข้าป่าเขาลำเนาไพร มวลหมู่ต้นไม้ต่างแหวกทางให้เราเข้าไปในอาณาจักรลี้ลับของมัน ลำแสงก่อนสี่โมงเช้าตัดกับต้นไม้ ทิวเขา เป็นภาพธรรมดาที่ตรึงตราข้าพเจ้าให้หลุดออกจากภาพกระแสน้ำและการสาดโคลน สถานีแก่งคอย (แต่ไม่มีใครคอยข้าพเจ้าที่แก่งนี้) พนักงานเดินรถแจ้งว่าเราช้าไปแล้ว สอง ชั่วโมง นี้ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับข้าพเจ้าอีกเช่นกัน ในเมื่อความสงบท่ามกลางเสียงรถจักร และธรรมชาติได้โอบอุ้มคนหลงทางเช่นข้าพเจ้าเอาไว้แล้ว


เมื่อนานมาแล้วมีโฆษณาของเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่งที่มีฉากบนรถไฟและอุโมงค์ที่ค่อย ๆ ปล่อยรถไฟออกมา ข้าพเจ้าหวนนึกถึงในยามนี้ ภาพหนุ่มสาววัยรุ่นในสมัยนั้นรวมตัวกันเดินทางด้วยรถไฟ ไปสู่สถานที่กันดารพร้อมอุปกรณ์ซ่อมสร้าง ปรับปรุงอาคาร โรงเรียนตามหมู่บ้านต่าง ๆ เสียงเพลงของพี่แอ้ดคาราบาวที่กระตุ้นให้หนุ่มสาวออกเดินทางเพื่อแสวงหาการเติมเต็มของจิตใจ “หากคืนวันที่ผันผ่าน เป็นตำนานเรื่องราวสายลมแสงแดดขุนเขา ณ ลุ่มน้ำของความเป็นไทยไปอย่างที่เราไป เป็นอย่างที่เราเป็น ไม่เลยไม่เคยยกเว้น ถ้าไม่ลองย่อมไม่รู้สึก” ภาพเหล่านี้ค่อย ๆ เลื่อนหายไปในกระแสโลก


ต้นไม้น้อยใหญ่บนเขาเข้ามาอยู่ใกล้บ้าง ไกลบ้าง เกิดภาพงดงามดั่งรูปภาพที่เคลื่อนไหว ต้นไม้หลากสี เขียว แดง ส้ม เหลือง ม่วง ยืนเบียดแนบชิดกันอยู่บนแผ่นดินเดียว ไฉนหนอผู้คนในแผ่นดินไทยที่ต่างสี ต่างอุดมการณ์จึงไม่อาจยืนและอยู่ร่วมกันได้เฉกเช่นต้นไม้เหล่านี้ พวกมันเฝ้ายืนหยัดทำหน้าที่ขับปล่อย ออกซิเจน ให้กับมวลหมู่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายในพื้นพิภพ ต่างล่วงลงสู่ดินยามแก่ชราเป็นอาหาร และแหล่งพักพิงอาศัยแก่สัตว์บนพื้นดิน เหตุใดเลยผู้คนบนแผ่นเดียวกันที่ต่างความเชื่อ ต่างความคิดต่างสีเสื้อจะไม่ทำหน้าที่ยังประโยชน์แก่ผู้คนอื่น ลูกหลาน และเผ่าพันธุ์อื่นบ้าง


เมื่อรถไฟค่อย ๆ จอดนิ่งสนิท ณ สถานีแห่งหนึ่ง ดอกไม้ริมทางที่ชูกิ่งก้านขึ้นสูงเท่า ๆ กับ หน้าต่างรถ ค่อย ๆ เอนกลับสู่แนวทางปกติของภาพ ดอกหญ้า...ดอกไม้ริมทางที่มองเห็นได้ในต่างจังหวัด เราได้เห็นมันอีกครั้งขึ้นอยู่ตามแนวทางรถไฟ ล้อล่ม ปลิวอ่อนไหว ไปกับแรงลมจากรถไฟบ้าง ลมจากธรรมชาติบ้าง ดูงดงามและเอิบอิ่ม ต่างจากดอกไม้ริมทางรถไฟในเมืองกรุงที่เห็นได้เพียง ดอกเจ้าชู้ หรือดอกไม้พลาสติกปักเสียบไว้กับขวดเหล้าเก่า ๆ ที่ชุมชนริมทางรถไฟ....



11:00 ประมาณนี้ พนักงานคนเดิมก็นำข้าวกล่องมาบริการ ประกอบด้วยผัดหน่อไม้ไก่ กับ ไก่จ้อ ได้ยินแว่ว ๆ ว่าอิสลามอะไรเนี้ยแหละ น่าจะเป็นขบวนรถที่บริการอาหารอิสลามอะไรประมาณนี้ รสชาติออกเผ็ด และข้าวแข็ง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง ถึงแม้จะต่างกับอาหารกล่องบนสายการบินหนึ่ง แต่สุดท้ายอาหารกล่องบนเครื่องบินที่ไม่เคยกินได้และต้องถือมาฝากที่บ้านก็อร่อยสู่ผัดเผ็ดไก่ไม่ได้ เสียงรถไฟฉึกฉัก ไก่ผัดเผ็ด กับความสงบ ทำให้ข้าพเจ้าอดไม่ได้ที่กระดิกเท้าไปพร้อม ๆ กับการกินข้าวมื้อเที่ยง ยามที่รถไฟกระตุก น้ำในแก้วก็ขยับ แต่ด้วยฝีมือของใครก็ตาม ถึงแม้ว่าคนขับจะได้ขับรถแข่ง แต่รถก็นิ่มนิ่งพอจนทำให้น้ำไม่หกออกจากแก้ว...ถึงแม้จะล่าช้าไปสองชั่วโมง ด้วยน้ำท่วมทางและ การรอหลีกขบวนแบบรถไฟไทย ที่ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ก็ยังคงมีเสน่แบบของมันอยู่เช่นเดิม ถ้าใครต้องการความเร่งรีบ การหมุนเวียนของวันอย่างรวดเร็วและไม่มีเวลาพอให้คุยกับตัวเอง เฝ้ามองสองข้างทาง ก็อย่าขึ้นรถไฟเลย...เพราะหนทางมันไม่ราบเรียบจนกว่าจะถึงปลายทาง


หลังจากอิ่มหนำดีแล้ว ก็หันกลับไปสนใจภาพสองข้างทาง แถวนี้เริ่มมีทุ่งนามากขึ้น ป่าไม้เริ่มบางตา สีเหลืองของทุ่งนาเข้ามาแทนที่ นาแถบนี้แต่ละผืนมีขนาดเล็ก ท่ามกลางต้นข้าวในนามีต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาตาเมื่อเทียบทุ่งนาทางภาคกลางที่นาผืนใหญ่ มีต้นไม้เฉพาะที่ หรือบนคันนาเท่านั้น ภาพทุ่งนา ผืนแล้วผืนเล่า อาหารเริ่มย่อย รถไฟยังคงวิ่งเรียบ ข้าพเจ้าก็ค่อย ๆ ผล็อยหลับไป.....




ราวบ่ายสี่โมงโดยประมาณ ข้าพเจ้าก็ก้าวเท้าลงบนรถไฟ บนแผ่นดินอุบลราชธานี เมืองที่มีชื่อเป็นดอกบัวเช่นเดียวกับปทุมธานี ที่ตอนนี้เต็มไปด้วยน้ำเหนือ น้ำทุ่ง และน้ำตา ส่วนอุบลราชธานีนั้นกลับมีที่มาอันเกี่ยวข้องกับดอกบัวจากอุดรธานี ที่แต่เดิมได้รวมเอาผู้คนจากหนองบัวลำภูไว้เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดได้อพยพหนีภัยสงครามลงมาตั้งหลักแหล่ง ณ แผ่นดินอุบลราชธานี จึงได้ทำตราประจำจังหวัดเป็นรูปดอกบัวเพื่อระลึกถึงผู้คนจากหนองบัวลำภูนั่นเอง ถึงแม้ว่าอุบลราชธานีจะไม่เกี่ยวข้องกับปทุมธานีแต่อย่างใดในทางภูมิศาสตร์หรือการโยกย้ายถิ่นฐาน แต่ ณ เวลานี้ ทั้งอุบลและปทุมต่างก็ต้องผจญกับอุบัติภัยจากน้ำท่วมใหญ่จากลำน้ำมูลและน้ำเหนือมากบ้างน้อยบ้างตามกำลังศรัทธา



สถานที่อพยพและแหล่งพักพิงของอุบลราชธานีนี้อยู่ตามริมแม่น้ำมูล ตามที่สูงก่อนขึ้นสะพานคล้าย ๆ กับในภาคกลางแต่ทว่าบนที่สูงหรือสะพานในภาคกลางเต็มไปด้วยรถยนต์ที่นำมาจอดหนีน้ำไว้ก่อนที่พวกเขาจะอพยพตัวเอง รถยนต์อันเป็นเครื่องมือทำมาหากิน หรือสิ่งจำเป็นในการเดินทาง สำหรับบางคนรถก็เป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งที่สำคัญในชีวิตของเขาด้วยซ้ำไป ส่วนผู้คนจากที่ต่าง ๆ ก็ไปรวมตัวกัน ณ สถานพักพิงอันคิดว่าปลอดจากน้ำแล้ว ส่วนอุบลราชธานี แถววารินชำราบที่ข้าพเจ้าเห็นไม่ค่อยมีรถที่จอดทิ้งบนสะพาน แต่สถานพักพิงผู้อพยพก็คือที่สูงก่อนขึ้นสะพานนั่นเอง พวกเขาหนีขึ้นมาจากที่ต่ำใต้สะพานข้ามแม่น้ำแล้วขึ้นมาอยู่รวมกันบนถนน ถึงแม้สถานพักพิงของเขาจะทำขึ้นจากสังกะสี ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีเกมส์ กิจกรรมสันทนาการจากหน่วยงานต่าง ๆ แต่พวกเขาก็ได้อยู่ด้วยกัน...ในสังคมเดิม อย่างพี่อย่างน้อง เป็นเพื่อนบ้านที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา เมื่อใดที่เราต้องละทิ้งจากบ้านมาโดยไม่สมัครใจ เมื่อนั้นแหละเราจะรู้ซึ้งถึงความผูกพันที่เรามีต่อบ้าน...ของเรา...อย่างแท้จริง คำว่าไม่มีที่ใดสุขใจเท่าบ้านเรา ข้าพเจ้าเพิ่งจะรู้ซึ้งแก่ใจก็คราวนี้เอง



หลังจากเช็คอินเข้าพักในโรงแรมเล็ก ๆ เรียบง่ายแห่งหนึ่งก็เป็นเวลาเกือบห้าโมงเย็น ลมเย็น ๆ เริ่มพัดมา บ้านเมืองสงบและสะอาดตา ราบเรียบแต่มีชีวิตชีวา


เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งที่เคยทำงานด้วยกันมานานแล้ว มารับข้าพเจ้าที่โรงแรมเพื่อเดินทางต่อไปที่บ้านพ่อ เขากับแม่อพยพจากนนท์มาอยู่บ้านพ่อที่นี่ได้พักหนึ่งแล้วตั้งแต่ช่วงที่น้ำเริ่มเข้านนทบุรีใหม่ ๆ ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่ได้สนิทสนมกับน้องเขามากนัก แต่ข้าพเจ้ากลับได้รับการต้อนรับที่อบอุ่น และซาบซึ้งใจ คำชวนง่าย ๆ “ไปกินข้าวกันก่อน มาเหนื่อย ๆ” ที่ไม่เปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าปฎิเสธ หรือลังเล ซึ่งในครั้งแรกข้าพเจ้าก็อดที่จะรู้สึกเกรงใจไม่ได้ แต่อีกทางหนึ่งข้าพเจ้าก็รู้สึกอบอุ่นใจ และมักคุ้นกับคำพูดเก่า ๆ เมื่อครั้งยังเด็ก การชวนไปกินข้าว คำง่าย ๆ ที่เปล่งออกจากใจที่เปิดเผย ไม่ได้ถูกห่อหุ้มด้วยเปลือกหรือเครื่องประทินโฉมใด ๆ บ่งบอกสิ่งที่เราหลงลืม สิ่งซึ่งเป็นรากฐานอย่างหนึ่งของคนไทยเรา ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ ซึ่งก็คงจะใช้ได้กรณีเรือนจังหวัดนี้ด้วย รวมทั้งการหนีร้อนมาพึ่งเย็น ที่กลายเป็นหนีน้ำมากมาหาน้ำน้อยกว่า พ่อแกบอกกับข้าพเจ้าว่า “ไม่ต้องเกรงใจ ที่บ้านมีคนเยอะ กินข้าวด้วยกันหลาย ๆ คน สนุกดี”



เมื่อข้าพเจ้าไปถึงหน้าร้านซ่อมเบาะแห่งนี้ ซึ่งด้านในเป็นบ้านของเขานั่นเอง ข้าพเจ้าได้พบกับครอบครัวอันแสนกว้างใหญ่ด้วยมิตรไมตรี ข้าพเจ้าต้องไหว้พ่อถึง สองคน แม่ถึงสองคน และรับไหว้เด็ก ๆในบ้านอีกสองคน โดยที่ข้าพเจ้ายังงง จับต้นชนปลายไม่ถูกว่าใครเป็นพ่อใคร และใครเป็นแม่ใคร...


.....


ขอได้โปรดอย่าคิดไปในทางอื่น สองครอบครัวนี้อาศัยอยู่ร่วมกันยามชีวิตไม่ราบเรียบและยากลำบาก คลื่นน้ำซาดซัดพัดมาไกล พวกเขายังได้รับข้าพเจ้าไว้บนเรือนแพให้พักพิงก่อนที่ข้าพเจ้าจะบินต่อไป สองครอบครัวที่รวมเป็นหนึ่งด้วยเส้นใยที่แน่นหนาและแข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าสามีภรรยาจะแยกจากกันไปแต่ความเป็นพ่อและแม่ของลูกๆ ไม่อาจแยกให้ขาดออกจากกันได้ ไม่ว่าจะด้วยความพิศวาสอื่นใด หรือแรกกระชากจากสายน้ำ


พ่อและแม่กลับมาอยู่ร่วมบ้านรวมเรือนชานเดียวกันอีกครั้ง พร้อมกับนำภรรยา-สามีปัจจุบันพร้อมกับลูก ๆ เข้ามาพักพิงอาศัยบนแผ่นดิน อุบลราชธานี เมืองที่ครั้งหนึ่งคนจากหนองบัวลำภูได้เดินทางมาถึง เมืองที่ปัจจุบันนี้ ยังมีน้ำมูลเอ่อท้นตลิ่ง และน้ำใจ...ยังไม่สิ้นจากถิ่นอีสาน....แห่งนี้


เวลาเกือบจะสามทุ่ม ในโรงแรมเงียบ ๆ สุขกายสบายใจกับการเดินทางท่องเที่ยวโดยไม่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ปลายทาง ทำให้อุปสรรคที่เกรงกลัวไม่ได้ร้ายแรงจนอาจเรียกได้ว่ายังไม่พบอุปสรรคใด ๆ ที่ขัดขวางจุดหมายที่ปลายทางของข้าพเจ้า ด้วยเพราะข้าพเจ้ายังไม่มีจุดหมายที่ปลายทางนั่นเอง..


แต่ข้าพเจ้ากลับได้พบ...ความสุขที่แท้จริง...จากการเดินทางที่กายและใจ...ก้าวเดินไปพร้อม ๆ กัน....


สิ่งสำคัญอาจไม่ใช่ปลายทางเสมอไป.....


*************************************************************************************************************************



ร้านสินค้าที่ระลึก ชื่อร้านว่า "ระหว่างทาง"



ตอนจบ:พรุ่งนี้...เช้าที่อุบล

ปล.โรงแรมที่พักชื่อ : เดอะราชธานี (อุบล) เล็ก ๆ สะอาด น่ารัก เก๋ไก๋


Free TextEditor(-->)







Free TextEditor




 

Create Date : 14 พฤศจิกายน 2554   
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2559 16:20:40 น.   
Counter : 707 Pageviews.  
space
space
1  2  3  

normalization
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




"ขอทุกท่านจง ปกติสุข ในทุกวัน"
วันแรกสร้าง : 25 กุมภา.54

เป็นเพียงการบอกกล่าว เล่าเรื่อง ตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจ
หากว่ามีประโยชน์บ้างแม้เพียงเล็กน้อย ข้าพเจ้าก็ยินดียิ่ง
หากว่าส่วนใดผิดพลาด ฝากข้อความไว้ได้เสมอ
@comeback 18/1/18

free counters สำหรับธงขอขอบคุณ blog paradijs
space
space
space
space
[Add normalization's blog to your web]
space
space
space
space
space