นาน นาน ที บล๊อก - ยินดีที่ผ่านมาพบนะ ปล.ช่วงนี้ หนี้เยอะ งดเที่ยว พักหนังสือ มารับจ้างทำงานก่อนนนนน
space
space
space
space

วีรชนบนเส้นทางปฏิวัติHowTheSteelWasTempered(เคยเป็นหนังสือต้องห้าม2518)-ผลพวงหลังปฏิวัติ2549

เขียนโดย Nikolai Ostrovsky นิโคไล ออสตร๊อฟสกี้
แปลโดย ทวีป วรดิลก ฉบับพิมพ์ครั้งที่4/2541
(พิมพ์ครั้งแรกปี 2518 ปีอันร้อนแรงของการเมืองไทย และเป็นปีเดียวกับที่ข้าพเจ้าได้ถูกแนะนำให้รู้จักกับโลกใบนี้)
สำนักพิมพ์เจได จัดจำหน่ายโดย อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์


นวนิยายที่มีเค้าโครงร่างจากชีวประวัติของผู้แต่ง ในนามของ พาเวล คาร์ชายิน เด็กหนุ่มกรรมาชีพที่ได้กลายเป็นคอมโซโมล และ สมาชิก บอสเชวิค ในประเทศโซเวียตช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากพระเจ้าซาร์สู่ระบบสังคมนิยม นึกถึงเรื่องนี้ยามที่ประเทศเรากำลังสับสนกับระบอบการปกครอง หลังมีการปฏิวัติโดย...ในปี2549 จนปัจจุบันนี้2554บ้านเรากลับสู่นิยามการตั้งคำถาม "การเลือกระบอบที่เหมาะสม" อีกครั้ง...และคงมีมาอีกหลายๆ ครั้งตามมา


“สิ่งที่มนุษย์เราหวงแหนที่สุดคือชีวิต และก็เป็นสิ่งที่ให้แก่เขาเพื่อดำรงอยู่ได้แต่เพียงครั้งเดียว เขาจักต้องดำรงชีวิตอยู่เพื่อที่ว่าจะไม่ต้องทรมานใจด้วยความโทมนัสว่าวันเดือนปีที่ผ่านไปนั้นปราศจากจุดหมาย จัดต้องไม่มีวันรู้สึกอับอายว่าตนมีอดีตอันต่ำต้อยด้วยคุณค่า


เรื่องราวของพาเวล ที่ถูกเหตุการณ์แวดล้อมให้ก้าวเข้าสู่เส้นทาง “สังคมนิยม”สนามรบ การปลุกระดม และ การร่วมแรงร่วมใจของสหายมากมายที่พร้อมพลีชีพเพื่อบ้านเกิด เพื่อชนชั้นกรรมาชีพของพวกเขา


เป็นปีที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านการปกครองจากพระเจ้าซาร์ สู่ระบบสังคมนิยม โดยผู้นำ “เลนิน” หนังสือเล่มนี้จะชี้ชวนให้เราเห็นจิตใจสังคมนิยม ที่เข้มแข็ง มูลสายปลายเหตุของผู้คน ความอดยาก ความเป็นทาสและการถูกกดขี่ ที่ทำให้เกิดการลุกฮือของคนหนุ่มสาว แน่นอนว่ากว่าที่พรรคคอมมิวนิสต์จะเป็นปึกแผ่น เยาวชนอย่างพาเวลอีกหลายชีวิตที่ต้องสูญไป เลือดน้ำตาและร่างกายที่ดับดิ้น แม้แต่ข้าสึกเอง ที่ครั้งหนึ่งอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกัน แต่ต่างกันที่ความคิดก็ต้องดับสูญ เรื่องราวของชาวเยอรมันที่อยู่อาศัยในแผ่นดินกว้างใหญ่นี้ เชื้อชาติชาวโปแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย ดินแดนที่แต่เดิมนั้นได้เดินมาถึงจุดที่ไม่อาจร่วมทาง


ในหนังสือเล่มนี้จะมีเรื่องราวที่ชาวรัสเซีย (บอสเชวิค)ต่อสู้ขับดับ ชาวโปแลนด์ที่โหดร้าย ซึ่งเป็นเรื่องราวที่อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการเข้ายึดโปแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวียในอนาคตช่วงสงครามโลกครั้งที่ สอง


แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้จะเปิดหน้าประวัติศาสตร์ และเปิดหัวใจประชาธิปไตยให้ได้มองเห็น จิตใจของสังคมนิยม ที่น่ายกย่อง และไม่ได้น่ารังเกียจอย่างที่เคยถูกสอนมา สิ่งที่พาเวลทำ และคิด รวมทั้งเยาวชนคอมมิวนิสต์ที่ต่างอดทน หิวโซ และทนความหนาวเย็นของหิมะและสายฝน ในการก่อสร้างทางรถไฟ เพื่อนำฟืนกลับมาให้ชาวเมืองได้ใช้ เพื่อชีวิตของผู้อื่น แต่เป็นสังคมและชีวิตของพวกเขาด้วย การต่อสู้กับกลุ่มโจร กลุ่มพ่อค้าขายของหนีภาษี การฝึกทหารเดินยามตั้งแต่อายุยังไม่ถึงยี่สิบขอบปี ความทุกข์ทรมานที่ต้องจากบ้านเกิด และครอบครัว ร่างกายที่บาดเจ็บจากการสู้รบ โรคร้ายที่คร่าชีวิตที่กำลังเติบโต ความเสียสละอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ที่มีอยู่ในเยาวชนคอมมิวนิสต์ นี่คือด้านหนึ่งของลัทธิสังคมนิยม...


บางส่วนของหนังสือยังบอกให้เราทราบถึงกลุ่มคนที่ต่อต่านการปฏิวัติ และไม่ยอมรับลัทธิสังคมนิยม ที่ก่อตั้งขึ้นเป็นกลุ่มคนที่เคยมีอำนาจอยู่ในระบอบการปกครองเก่า ซึ่งมีความคล้ายคลึงการคลื่นความคิดถาโถมในบ้านเมืองเรา ข้าพเจ้าก็ได้แต่หนักแน่นในจิตใจว่า เราไทยเราคงไม่นองเลือด หลั่งน้ำตา เช่นที่โซเวียตประสบมา จากกลุ่มคนที่ใช้ประโยชน์จากความเป็นชาติให้ชาตินั้นย่อยยับจะด้วยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม “ลัทธิคลั่งชาติ Chauvinism หรือลัทธิชาตินิยม Nationalism คือยกย่องชาติตนว่าวิเศษสูงสุดดูหมิ่นเหยียดหยามชาติอื่นว่าต่ำต้อยกว่าชาติตน” ซึ่งในทางกลับกันแนวในอนาคต จากหนังสืออิงประวัติศาสตร์ลิทัวเนีย ทหารรัสเซียก็ได้เรียกประชาชนลิทัวเนียว่า “ไอ้พวกคลั่งชาติ” เช่นเดียวกัน สุดท้ายความคลั่งชาติของผู้คนก็จบลงด้วยสงคราม และความตายไม่ต่างกัน อย่าให้ชาติซึ่งเป็นนามธรรม และไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ต้องมาทำให้คนในชาติต้องหลบซ่อน ต้องสูญหาย ต้องถูกตีตราว่าชั่วช้า หรือต่ำต้อย ความเป็นชาติน่าจะเป็นความหลากหลายของชนในชาติ แม้เราแตกต่างแต่ก็อยู่ร่วมชาติกันได้ ด้วยคนในชาติที่ยอมรับซึ่งกันและกัน อย่างน้อย ๆ ก็ยอมรับในความเป็นคน...ที่ทุกคนมีมาแต่กำเนิด


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


ถึงแม้ว่าเนื้อเรื่องบางตอนอาจจะไม่เรียบลื่น และชื่อตัวละครรัสเซียก็ทำให้จดจำยาก บางส่วนก็ไม่ต่อเนื่องกัน อาจจะเป็นด้วยร่างกายที่เจ็บป่วย หรือสมองที่ผ่านการต่อสู้มามาก หรือว่าประสบการณ์การเขียนหนังสือของเขาก็ตามแต่ นั้นก็ไม่ได้ทำให้เป็นอุปสรรคหรือข้อขัดขวางในการอ่านหนังสือเล่มนี้ ด้วยเนื้อหาสาระ และแก่นของเรื่อง คือ วีรกรรม ความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เสียสละ และการเรียนรู้อุปสรรคที่ย่อมเกิดขึ้นเสมอยามสร้างชาติก็ทำให้หนังสือเล่มนี่ควรได้รับการบอกล่าวและเล่าเรียนในหมู่เยาวชนคนไทย และเยาวชนรุ่นใหม่ของโลกที่กำลังสับสนและตักตวงผลประโยชน์ส่วนตน ยึดมั่นในความเป็นปัจเจกชนที่กำลังครอบงำไปทุกหัวระแหง ไม่ใช่ว่าข้าน้อยต้องการเป็นสังคมนิยม หรือบ่อนทำลายประชาธิปไตยขอกล่าวที่ตรงนี้เลย ให้คอมพิวเตอร์ตกรุ่นเครื่องนี้เป็นพยาน(กลัวถูกจับ จำคุกยี่สิบปี...) เพียงแค่อยากให้คนไทยมีประชาธิปไตยด้วยหัวใจเพื่อสังคมเท่านั้นเอง..หรือว่าจะฝันมากไป..หรือว่าจะโง่เกินไปที่นำสองระบบมาผูกติดกัน


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


ถ้าคุณไม่มีอะไรเด่นดัง และยังไม่รู้แน่ว่าระบอบการปกครองไหนที่ดีกับปชช.คนไทย หรือคิดว่าว่ารู้แน่แล้วก็ไม่เป็นไร ขอให้คุณทำความดีต่อผู้คน ต่อสังคม เพื่อที่จะได้มีความดีนั่นแหละ แสดงความเป็นตัวตน สู้ต่อไปวัยรุ่นไทย และวัยกลางคนผู้หลงทางกับยุคสมัย เช่นตัวข้าพเจ้าเอง


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


ประวัติผู้เขียน


นิโคไล ออสตร๊อฟสกี้ /ยูเครน 1904-1936(32ปีบนเส้นทางสายปฏิวัติและทำงานเพื่อสังคม...)


ครอบครัวยากจน ชนชั้นกรรมาชีพ อายุสิบห้า เข้าร่วมสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์


1920ตาขวาบอดจากการทำสงครามที่เมืองลิวอฟ


1921เป็นโรคไข้ข้ออักเสบ และไข้รากสาดจากการทำงานที่หนักท่ามกลางสายน้ำเย็น


1929 ตาบอดทั้งสองข้าง จากโรคที่เรื้อรัง


1930 เป็นอัมพาตยกเว้นมือและข้อศอก


1930-1933 เขียน “วีรชนบนเส้นทางปฏิบัติ”


1935 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลนิน (สุงสุดของโซเวียตที่มอบให้แก่วีรชนผู้มีเกียรติคุณสูงสุด


1936 จบชีวิตลงด้วยความสุขและแจ่มใส ท่ามกลางสังคมโซเวียต พรรคคอมมิวนิสต์และ ประชาชนคอมโซโมลที่มาเยี่ยมเยือน ถึงแม้จะตายจากไปด้วยอายุยังน้อยนิด


บล็อกที่เกี่ยวเนื่อง เบ้าหลอมวีรชนและประเทศรัสเซีย : รุสสกี้






richtext/ target=_blank>Free TextEditor




 

Create Date : 01 ธันวาคม 2554   
Last Update : 1 ธันวาคม 2554 14:01:40 น.   
Counter : 1663 Pageviews.  
space
space
อันนา คาเรนินา Anna Kareninaลีโอ ตอลสอย:ชีวิตผู้สูงศักดิ์ที่สับสนและจมดิ่งในห้วงเหวแห่งอารมณ์
"ครอบครัวที่มีความสุข ล้วนสุขเหมือน ๆ กัน แต่ครอบครัวที่มีทุกข์ ย่อมทุกข์ตามวิถีของตน" ประโยคแรกในหนังสือที่จะนำเราไปสู่วิถีของชาวรัสเซีย...ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่ชวนให้หลงใหลและใคร่รู้ ทั้งเศร้า สงสาร เอาใจช่วย และอีกหลากหลายความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับชีวิตของตัวละคร โดยเฉพาะ "อันนา คาเรนนินา" ที่สุดท้ายแล้ว เราไม่อาจที่หยุดยั้งชะตากรรมของเธอ ไม่อาจพาเธอออกจากเส้นทางที่เลือกเดินไปสู่ความมืดมนหม่นไหม้ที่เธอเต็มใจจะก้าวไปสู่...


อันนา คาเรนินา งานยุคแรกที่โด่งดังของลีโอ ตอลสตอย หรือ เลียฟ ตอลสตอย เป็นแนวนวนิยาย กึ่งชีวประวัติ ซึ่งมีความต่างกับ “ไม้หลา, มนต์ปีศาจ” เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวที่เป็นงานช่วงหลังที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดการค้นหาสัจจะ หรือสัจจะนิยม


อันนา คาเรนินา เป็นหนังสือที่หนามาก (902หน้า) ซึ่งหนามากกว่า 1984 (การเมือง) มากกว่า จินตนาการไม่รู้จบ (เยาวชน) และมากกว่าทุกเล่มที่เคยอ่าน เว้นไว้ก็เพียงแต่ the load of the rings ที่ยังครองแชมป์


อันนา คาเรนินา (1873-77) มันก็เป็นเรื่องของผู้คนในสังคมชั้นสูงของรัสเซียในสมัย พระเจ้าซาร์ ที่มีศาสนา มีการเมือง มีระบอบการปกครอง แต่ชีวิตของผู้คน อย่างอันนา สามี พี่ชาย พี่สะใภ้ ชาวนา ชาวเมือง เพื่อน ๆ ของอันนา ก็ยังวนเวียนในกิเลส ความทุกข์ การเกิด การตาย ไม่มีอะไรให้เป็นแนวทางการดำรงชีวิตที่ดี แม้แต่ศาสนา(คริสต์) ก็ไม่สามารถจะช่วยแก้ไขปัญหาอะไรได้


ข้าพเจ้าคิดว่า หนังสือเล่มนี้ ไม่เพียงเป็นแค่ชีวิตของอันนา คาเรนินา ที่แสนเศร้า ทุกข์ทน ไร้ศีลธรรม(ตามที่ชาวรัสเซียกล่าวอ้าง) แต่น่าจะเป็น อันนา และการค้นหาเส้นทางชีวิตของเลวิน (หรือของผู้เขียนเอง ในเชิงอัตชีวประวัติ)


แต่ละภาค มีการเดินเรื่องผ่าน ตัวละคร หลัก (คาเรนนินเป็นชื่อสกุลสามี และสกุลของอันนาที่แสดงสถานะผู้หญิง)

อันนาและสามี คาเรนนิน นักการเมืองเคร่งขรึม

อันนากับวรอนสกี้ คนรัก หนุ่มสังคมนำสมัย

ดอลลี่และสามี โอบลอนสกี้(พี่ชายของอันนา) ข้าราชการที่ชอบสังคมหรูหรา

คิตตี้ ผู้เคร่งในศาสนา น้องสาวของดอลลี่ เคยหลงใหลวรอนสกี้จนล้มเจ็บ

นิโคเล (พี่ชายของเลวิน) นักปฏิวัติสังคมและไม่เชื่อในกฎเดิม ๆ กับเมียที่เป็นหญิงขายบริการ

คอซนิเชฟ (พี่ชายของเลวิน) นักวิชาการผู้โด่งดังและเชื่อมั่นในหลักการสุดท้ายก็เลือกงานและไม่แต่งงาน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในงานวิชาการที่เขาเชื่อมั่น

เลวิน ชนชั้นสูงที่ปลีกตัวออกจากสังคมไปอยู่ชนบท ผู้ที่ไม่คดโกงใคร ช่วยเหลือชาวนาแต่ไม่เชื่อในศาสนา และได้แต่งงานกับคิตตี้


ในภาคแรก ๆ เป็นการกล่าวถึงเรื่องราว ชีวิตแต่งงานของ อันนากับคาเรนนิน,ชีวิตแต่งงานของ ดอลลี่กับโอบลอนสกี้ การเลือกคู่ของคิตตี้ และการเปลี่ยนใจของวรอนสกี้หลังจากพบอันนา ผู้งดงามและน่าหลงใหล แต่มีสามีและลูกชายเล็กๆ ที่น่ารัก


หลังจากนั้นเรื่องราว ค่อย ๆ ผูกพันกันเข้าด้วยความหลงใหลต่อเพศตรงข้าม ต่อลาภยศ ต่อภาพลวง กิเลสต่าง ๆ การยึดถือในตัวตนและขนบธรรมเนียม และความสำคัญของศาสนา ต่อหลักการ


อันนาตัดสินใจออกจากบ้าน ไปอยู่กับคนรัก
โอบลอนสกี้และดอลลี่ตัดสินใจอยู่กันต่อไปด้วยความรับผิดชอบทางสังคมและต่อเด็ก ๆ 
คิตตี้หลังจากอกหักและทำใจได้ค้นพบชีวิตในด้านอื่น ก็แต่งงานกับเลวิน


ช่วงท้าย ๆ แต่ละคน แต่ละครอบครัวก็พยายามใช้ชีวิตเพื่อประคับประคองกันไป ท่ามกลางสังคมเมืองที่ฉาบฉวย ใช้เงิน สร้างภาพ และใช้ศรัทธาสร้างที่ยืน
อันนาจมอยู่ในห้วงทุกข์ การไม่ยอมรับของสังคม และหวั่นเกรงสถานะภาพของตัวเอง ความคิดถึงลูก และความรู้สึกผิดที่ติดอยู่ในใจในส่วนลึก

คาเรนิน เลี้ยงลูกชายอย่างห่างเหินและไม่ยอมหย่า

วรอนสกี้ เริ่มกลับเข้าสู่สังคมฟุ้งเฟ้อและการเมือง ทั้งที่ความเข้าใจต่ออันนา เริ่มน้อยลงทุกที

โอบลอนสกี้ ใช้ชีวิตในสังคมเหมือนเดิมและใช้จ่ายเงินมากขึ้น

ดอลลี่ เริ่มตระหนักในชีวิตครอบครัวที่แตกต่าง ของเธอเอง และของอันนา (เพื่อนรัก)

นิโคเล
เสียชีวิตจากการเจ็บป่วย

คอซนิเชฟ ทำงานวิชาการแล้วเสร็จแต่ไม่ได้รับความสนใจ และต้องอยู่กับความผิดหวังในแบบที่เขาเลือก


ภาค ที่ 7 เป็นภาคที่อะไรหลายสิ่งมาถึงจุดสิ้นสุด….และไม่อาจหวนคืน


สำหรับข้าพเจ้าเอง นอกเหนือไปจากการผูกเรื่องที่ซับซ้อน ชวนติดตาม การล้อมกรอบเราให้จนมุมอยู่กับความรู้สึกอับจนหนทางของตัวละครหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นอันนา, คาเรนนิน, วรอนสกี้ หรือ โอบลอนสกี้ เป็นการบีบรัดให้เราเห็นถึง การตัดสินใจในการใช้ชีวิตของแต่ละคน ที่ไม่อาจจะขัดขืนหรือต่อสู้กับชะตากรรมได้เลย รวมไม่อาจมีสิ่งใดที่จะแก้ไข หรือชี้นำหนทางที่ถูกต้องได้ กฎหมาย ศาสนา เพื่อน หรือสังคม ไม่มีสิ่งใดแน่ชัดในสิ่งที่ถูกต้อง ทุกอย่างปนเป สับสน กลับกลอก เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ


บางครั้งเราอาจเผลอคิดไป ขณะที่อ่านหนังสือ “จะมีทางไหนช่วยให้อันนาพ้นจากความทุกข์ได้มั่ง” “จะมีทางไหนให้คาเรนนินหลุดจากความรัก ความศรัทธาในตัวเองลงบ้าง” “จะทำยังไงให้วรอนสกี้เห็นชีวิตในแบบอื่นๆ อีก” .....


ข้าพเจ้าได้เห็นมุมมองที่เยาะหยันชนชั้นสูงของรัสเซีย ต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา การเข้าสโมสร การเข้าสมาคม การดูอุปรากร และการประชุมวิชาการ หรือประชุมกรรมาธิการ ที่ดูภายนอกว่าสง่างาม เคร่งขรึม ขณะเดียวกันมันก็ดูว่า “หลอกลวง ปลิ้นปล้อน” กันทั้งนั้น (ในข้อนี้ เมืองไทยก็เป็นนะ)


ที่มีกล่าวถึงเพียงเล็กน้อยแต่จะลืมเสียมิได้ ก็คือ ความรู้สึกนึกคิดของ เซร์ยอชา ลูกชายของอันนา และคาเรนิน ต่อผลของการแยกทางกันแต่ไม่ได้เลิกราหรือหย่าขาด และผลต่อลูกสาวคนเล็กจากอันนาและวรอนสกี้


ในภาคที่ 8 หลังจากการสิ้นสุดสถานะภาพภาวะอันจมหนทางของ อันนา วรอนสกี้ และคาเรนนิน สังคมรัสเซียก็หันเหความสนใจไปสู่เรื่องอื่น ๆ ต่อไป ขณะที่เลวินผู้ใช้ชีวิตในชนบทกับครอบครัว ได้ผ่านเหตุการณ์ ทุกข์ สุข เกิด และ ตาย ของผู้คนที่เข้ารู้จัก ได้รับรู้ถึงจิตใจอันยากหยั่งลึกของอันนา เส้นทางที่ยากยิ่งและสุดท้ายก็ต้องตายจากไป ชีวิตทุก ๆ ชีวิตทำให้เลวินได้เรียนรู้และครุ่นคิดต่อไป


“มีความรู้เรื่องศาสนาอื่น เช่น พุทธ อิสลาม แต่เพียงเลา ๆ” ดังที่เขาได้กล่าวไว้ ดังนั้นแล้วผู้คนที่ได้นับถือศาสนาอื่นก็ไม่มีวันได้ล้างบาป ก็จะไม่มีวันได้พบพระเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เลวินไม่เข้าใจ


แต่ในสุดท้ายแล้วหลังจากได้ฟังชาวนาคนหนึ่งพูดคุยถึงชาวนาอีกคนหนึ่งที่เป็นคนดี ช่วยเหลือคนอื่น เพราะเขามีพระเจ้าในใจ อยู่เพื่อพระเจ้า แต่ไม่ได้อยู่เพื่อตัวเอง ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ช่วยให้เขาศรัทธาได้อย่างแท้จริง แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เขาได้ค้นพบบางสิ่งที่จะช่วยให้เขาอยู่อย่างมีความสุขมากขึ้น


“เราจะมีชีวิตต่อไปเหมือนเดิม อารมณ์เสียกับอีวานคนขับรถ จะยังโต้เถียงเผ็ดร้อน
แสดงความเห็นโพล่ง ๆ ต่อไป จะยังมีกำแพงขวางกั้นระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธ์
ในจิตวิญญาณเรากับจิตวิญญาณของคนอื่น แม้แต่ภรรยาเราเอง ...เราจะยังไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมเราจึงสวดมนต์ แต่เราก็จะสวดมนต์ต่อไป แต่ชีวิตเราตอนนี้ ชีวิตทั้งชีวิตของเรา
นอกเหนือจากสิ่งนอกกาย ที่อาจเกิดกับเรา จะไม่เหมือนเมื่อก่อน จะไม่มีนาทีใดไร้ความหมาย
แต่จะเป็นชีวิตที่มีความหมายเพื่อสิ่งดีงาม ซึ่งเรามีพลังที่จะทำให้เกิดขึ้นได้
”


อ่านจาก
“อันนา คาเรนินา”
เลียฟ ตอลสตอย เขียน
สดใส แปล
โคทม อารียา บทนำ
เทพศิริ สุขโสภา ภาพประกอบ
พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน
2536
สำนักพิมพ์ มูลนิธิเด็ก


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


ปล. การพูดคุยของคอซนิเชฟ กับแม่ของวรอนสกี้หลังจากการจบชีวิตของอันนา

แม่ของวรอนสกี้
"ตายอย่างนั้นก็สาสมแล้วสำหรับผู้หญิงอย่างหล่อน แม้จะตายก็ยังเลือกวิธีต่ำ ๆ หยาบช้า"
คอซนิเชฟ
"เราไม่ใช่คนที่จะตัดสินครับเคาน์เตส"


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


นั่นสินะ "เราไม่ใช่คนที่จะตัดสิน..."


 








ฝากชื่อ ทักทายกันคะ







Free TextEditor




 

Create Date : 31 สิงหาคม 2554   
Last Update : 17 มกราคม 2555 15:53:51 น.   
Counter : 8666 Pageviews.  
space
space
มนต์ปีศาจ~เรื่องราวแห่งการต่อสู้ภายในของมนุษย์(กับราคะที่ครอบงำชายคนหนึ่ง)/ตอลสตอย

ลีโอ ตอลสตอย เขียน ,คันธา ศรีวิมล แปล, สำนักพิมพ์แสงดาว


เรื่องราวสู่หนทางการค้นหา สัจจะ ในชีวิต ของลีโอ ตอลสตอย


“เมื่อภาพในอดีตที่เสกสม กลับมาอีกครั้ง หนุ่มฉกรรจ์ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เท้าเปล่าเปลือยของอดีตชู้รัก กับภรรยาที่กำลังจะคลอดบุตร เขาจะหักห้ามใจอย่างไร ต่อมนต์แห่งราคะที่ครอบงำ”


ทางเลือกของคนเรานั้นมีหลายทาง ต่อปัญหาความสัมพันธ์ทางเพศ ที่ผิดเพี้ยน
แต่ละคนจะเลือกและแก้ไขปัญหาอย่างไร
จะออกจากความคิดและการกระทำที่ทุกข์ทนได้อย่างไร
ดั่งเหมือนเวลาที่ถูกครอบงำด้วย “ความคิด” ที่ชักจูงเราไปสู่ความชั่วร้าย ให้เรามุ่งไป
ใจหนึ่ง ก็พาเท้าก้าวตาม ไปสู่ความเย้ายวน หอมหวาน อันสุขสม และแสนเศร้า
ใจหนึ่ง ก็ยื้อยุด ฉุดเราไว้ อย่าไปเลยทางนั้น ที่มืดมน
ความทุกข์เกิดขึ้นทุกขณะที่ เท้า ใจ และความคิดขัดแย้งกัน
และไม่อาจตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปได้
ความทุกข์เหล่านั้น จะมีที่สิ้นสุดเมื่อไหร่ โดยวิธีใด
แล้วเรายัดเยียด สิ่งนั้นว่า “ด้านมืด” ในจิตใจ
มันยากเหลือเกินที่จะเหนี่ยวรั้ง เท้า หรือ ใจของเราไว้
ให้ยึดมั่นอยู่ในทางที่ถูกที่ควร
ในทางที่สว่างสดใส
มันยากจริง ๆ ตามที่ “ยูยีน” หนุ่มอนาคตไกลชาวรัสเซียผู้นี้พบเจอ
ดั่งเช่น ที่เราท่านก็เคยพบเจอมานั่นแหละ


ภาพภายนอกไม่อาจบอกได้ว่า “ด้านมืด” กำลังจู่โจมใคร ถ้าเขาผู้นั้นไม่ปรารถนาจะเปิดเผยมัน
และถ้าใครสักคน จะไม่เข้าใจ ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะเขาผู้นั้นอาจไม่เคยได้ทำความรู้จัก กับ “ด้านมืด” ที่มืดมิดของจิตใจคน
และก็เป็นโชคดีของเขาผู้นั้น..จริง ๆ


ผู้แต่งได้พยายามชี้ให้เห็นถึงความทุกข์ที่เกิดกับมนุษย์ และไม่อาจหาทางออกได้โดยปรัชญาดั่งเดิมในขณะนั้น


ทางเลือกของยูยีน


“เป็นไปไม่ได้ มีทางออกเพียงสองทางเท่านั้น ฆ่าเมียของฉัน หรือไม่ ก็ฆ่าหล่อน แล้วอะไรอีกละ โอ ใช่สิ ยังมีทางที่สาม............”.....................นี่เป็นสิ่งที่ฉันไม่เคยคิดถึงมาก่อนเลย จะเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดเพียงไหนนะ”


การเล่าเรื่องของผู้แต่ง แสดงให้เราเห็นวิถีชีวิต ก้าวย่างที่ชัดเจน และระทึกใจในแต่ละความคิด แต่ละก้าวย่างของยูยีน เป็นการเล่าเรื่องที่ถึงด้วยวิธีการและคุณค่าในความหมายของมัน ทำให้เราได้เห็นภาพชายหนุ่ม ที่ตั้งใจดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง แต่งงาน ทำงาน และประสบความสำเร็จ เห็นว่าการผิดศีลธรรมเป็นเรื่องที่ผิด ในขณะที่เขากำลังเสพสมกับสาวชาวนา ผู้มีสามีแล้วและเป็นคนงานของเขาเอง ความสัมพันธ์เร่าร้อนในป่ารก ในแผ่นดินของปู่ยาของเขา ในช่วงเวลาที่สามีไม่อยู่ และเขา...คอยเฝ้าบอกตัวเองว่า “หวังว่ามันจะเป็นครั้งสุดท้าย” กับเรือนร่างอันยั่วยวนนี้....
แต่เขาก็ยังปฏิบัติต่อไป เพราะว่า
“ทำไปเพื่อสุขภาพของฉัน”หรือไม่ก็ เมื่อสามีเธอกลับมา ฉันจะเลิกยุ่งกับเธอ แต่เมื่อสามีกลับมา ความสัมพันธ์ก็ดำรงอู่ต่อไป


“เมื่อถึงเวลาที่จำเป็น ฉันก็จะยุติความสัมพันธ์กับหล่อนเสีย และจะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่อีกเลย”


(ช่างน่าเศร้าจริง ๆ ที่มนต์ปีศาจกำลังทำงานของมัน และเราผู้อ่านก็ไม่อาจช่วยเหลือยูยีนได้ ร่วมทั้งไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้เช่นกัน แน่นอนว่าจิตใจชั่วร้าย แรงกล้จะชนะได้ในสักวัน เราก็พยายามหลอกตัวเองว่า ย่อมมีวันที่เราอ่อนแอ เช่นเดียวกับที่ยูยีนก็หลอกตัวเองว่า  มันจะเป็นครั้งสุดท้าย)


“เขาเข้าไปในบ้านเพื่อที่จะไม่ต้องเห็นหล่อน แต่เมื่อขึ้นไปถึงชั้นบนเขาก็เดินไปที่หน้าต่าง โดยไม่รู้ว่าเป็นไปได้อย่างไรและทำไม ...เขายืนอยู่ที่นั้น จ้องมองหล่อน ใช้สายตาพิศดูหลอน”... “แล้วทันทีทันใดความปรารถนาอันน่าพรั่นพรึงก็แผดเผาเขาราวกับว่ามีมือมือหนึ่งเข้ามาบีบคั้นหัวใจของเขา และเหมือนกับด้วยความประสงค์ของใครบางคน เขาเหลียวไปมองดูรอบ ๆ แล้วก็ตรงไปหาหล่อน”


หลายครั้งที่เขาเฝ้าวนเวียนเข้าไปในป่า เพื่อไปตรวจดูพืชไร่ ไปดูการใส่ปุ๋ย ตามที่เขากล่าวอ้าง “ยีนแฝงตัวอยู่ในพุ่มไม้พร้อมด้วยหัวใจที่กำลังขับร้องบทเพลง...มองดูว่าหล่อนอยู่แถวนั้นหรือเปล่า” และจินตนาการถึงหล่อน (ใช่แล้ว...อาการหนักขึ้นมาก)


 “เข้าไปในเพิงพักสิ” เขาเอ่ยขึ้นโดยไม่รู้ตัว เหมือนกับว่าใครอีกคนหนึ่งเป็นคนเอ่ยถ้อยคำเหล่านั้น
“นายขอรับ นายหญิงให้มาตามท่าน และให้ท่านกลับไปเดี๋ยวนี้ขอรับ” (คนงานและภรรยาของเขา ช่วยเขาไว้อีกครั้งแล้ว) “พระเจ้าช่วย นี่เป็นครั้งที่สองที่พระองค์ทรงปกป้องคุ้มครองลูก”


“จะเป็นที่น่ายินดีสักเพียงไหน หากหล่อนมา และอยู่กันตามลำพังในสายฝนเช่นนี้ เพียงแต่ฉันได้สวมกอดหล่อนอีกครั้งหนึ่ง แล้วอะไรจะเกิดขึ้นก็ช่างเถอะ……………”


การต่อสู้ดิ้นรนครั้งแล้วครั้งเล่า....
ของยูยีน ชายหนุ่มอายุ
26 ปี ร่างการแข็งแรง มีพละกำลังในการทำงานมากมายที่จะสะสางปัญหาปัญหาหนี้สินที่บิดาทิ้งไว้ให้ เป็นที่รัก นับถือของคนทั่วไป มีบุคลิก จริงใจ และอ่อนโยนกับคนทั่วไป ลักษณะเหล่านี้ หล่อหลอมรวมกันให้เขาฟันฝ่า ปัญหาเกี่ยวกับที่ดิน การเกษตร ในชนบทไปได้...และกำลังจะได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้นในสังคมรัสเซีย.เวลา...การทำงานหนัก....ครอบครัวที่สมบูรณ์...ภรรยาและลูกสาวที่น่ารัก...ฐานะการยอมรับทางสังคม...ศาสนาและศีลธรรมที่เขาพยายามยึดถือ ก็ไม่อาจเอาชนะความมืดมนอันเย้ายวนที่สมสู่ในจิตใจ......ของชายคนนี้ได้


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


หลังจากจบหน้าสุดท้ายของหนังสือ


ความรู้สึกอันสลดหดหู่ก็เข้ามา
การตัดสินใจของชายที่สมบูรณ์พูนสุขคนหนึ่ง
อาจมีคนไม่เข้าใจ อาจมีคนไม่คาดคิด ไม่อาจสาเหตุได้ เพราะสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเขา


ภรรยาและครอบครัว หรือผู้คนส่วนใหญ่ไม่มีใครรับทราบ มีเพียงแต่ยูยีน กับความคิดผิดบาปในใจเท่านั้น
อย่างน้อยที่สุด...ข้าพเจ้าก็ยังนับถือยูยีน..ที่ได้เพียรพยายามต่อสู้ครั้งแล้วครั้งเล่า..
ซึ่งในทางปฎิบัติแล้วหลังจากแต่งงานเขายังไม่ได้ประพฤติผิดศีลธรรมด้วยซ้ำไป....

ในย่อหน้าสุดท้าย...ท่านเคาน์ตอลสตอยกล่าวไว้ว่า
“และหากว่ายูยีน เออร์เตเนฟเป็นคนที่จิตว้าวุ่นสับสน ทุกคนก็อยู่ในกรณีเดียวกัน
คนที่มีสภาพจิตว้าวุ่นสับสนมากที่สุดก็คือ คนที่มองเห็นสิ่งบ่งชี้ถึงความผิดปกติในคนอื่น
โดยไม่ได้สังเกตเห็นในตัวเอง
”

ข้าพเจากลับนึกไปถึง คำสอนในศาสนาพุทธ เรื่องการดับทุกข์ที่สาเหตุแห่งทุกข์
และการเพียรพยายามฝึกฝนด้วยศีล สมาธิ รวมทั้งการผ่อนปรนด้วยทางสายกลาง
หรือศิลปะในการใช้ชีวิตตามหลักพุทธศาสนา
หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต ทำให้เราเลือกทางเดินต่างกันไป


ข้าพเจ้าไม่อาจกล่าวโทษ ยูยีน หรือหญิงสาวผู้นั้นได้
ด้วยข้าพเจ้าก็เคยพบเจอกับ “มนต์ปีศาจ” เช่นเดียวกัน
ทุกข์ยาก และเจ็บปวด เช่นเดียวกัน
แต่อย่างไรเสีย...ความทุกข์...ก็เป็นสิ่งสามัญ...ธรรมดา..ที่เราต้องพบเจอ
เสียดาย...ศาสนาพุทธ..ไม่ได้รุ่งเรืองในรัสเซีย...ในปีที่ท่านเคาน์เขียนหนังสือเล่มนี้
อย่างน้อย ทางเลือกของยูยีน อาจมีมากกว่านี้....
โศกนาฏกรรมอันมืดมนอาจไม่เกิดขึ้น...


แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้แน่ชัดว่า เขาจะเลือกทางที่ต่างไป...
ได้แต่หวังว่า จะมีผู้คนหลายคนที่ได้รู้จักกับ
“มนต์ปีศาจ” จะเลือก....ในทางที่ต่างไป


 


 





ฝากชื่อ ทักทายกันคะ







Free TextEditor




 

Create Date : 25 กรกฎาคม 2554   
Last Update : 16 ตุลาคม 2555 15:20:48 น.   
Counter : 1456 Pageviews.  
space
space
ไม้หลาปริศนาแห่งม้าตัวหนึ่ง(ตอลสตอย):คนจะรู้สึกเช่นไรหากถูกจัดประเภทว่าบกพร่องและถูกกำจัดในที่สุด

ลีโอ ตอลสตอย เขียน
พยับแดด แปล
สำนักพิมพ์ คำหอม
พิมพ์ครั้งแรก
2537


เรื่องราวชีวิตของม้าสีด่างตัวหนึ่ง เป็นม้าสายพันธุ์ดีที่มีเพียงสายพันธุ์เดียวเท่านั้น มีลักษณะดีครบตามหลักของม้างาม แต่ไร้ซึ่งศักดิ์และสิทธ์ที่ควรมี เพราะสีด่างที่มีมาแต่กำเนิด จุดบกพร่องเพียงที่มนุษย์ ได้กำหนดให้กับมัน และเชื่อไปเสียแล้วว่า มันเป็นม้าไร้ค่า...ไม่อาจเป็นม้าแข่งได้..แต่ต้องกลายเป็นม้าแก่ที่ถูกตอนและถูกฆ่า...ในที่สุด


ถ้าได้เห็นชีวิตที่แสนเศร้า แต่ก็สูงค่าของมัน  แล้วจะรักและไม่อาจลืมมันไปตลอดกาล
ชีวิตของม้าด่างตัวหนึ่ง ได้ให้อะไรแก่ผู้อ่านหรือมนุษย์ได้บ้าง

ตั้งแต่ลืมตาดูโลก เรียนรู้ความอยุติธรรม การสูญเสียความรักจากแม่ เผชิญกับความรักแบบใหม่ของม้าสาว ได้รับความรักและยกย่องจากม้าหนุ่ม ถูกทารุณจากคนเลี้ยงม้าที่เมามาย ถูกขายและเปลี่ยนเจ้าของไปเรื่อย ๆ ผ่านพบมนุษย์หลายรูป ซึ่งส่วนใหญ่ มีสำนึกผิดพลาดกันทั้งนั้น ผ่านความสุขดั่งม้า และคนทั่วไป ผ่านการทำงานอย่างแข็งขัน จวบจนวัยชราอันร่วงโรย
สิ่งที่ตอลสตอยคิด และบอกเล่าผ่านไม้หลา จะถูกส่งไปถึงประชาชานชาวรัสเซียในขณะมากน้อยเพียงไร เราไม่อาจชี้วัดลงไปได้
แต่เมื่อเวลาผ่านมาเนิ่นนานหลายสิบปี มนุษย์ยังคงกำหนด สิ่งนั้นสิ่งนี้ ต่อไป และกำหนดมันไปเรื่อย
ทั้งกับสัตว์ สิ่งของ และมนุษย์ด้วยกันเอง


สิ่งที่เขาแทรกไว้ในตอนกลางของเรื่อง เกี่ยวกับ การแสดงความเป็นเจ้าของ ที่ไม้หลาพยายามทำความเข้าใจ เช่น มันเป็นม้าของฉัน นั่นเป็นสมบัติของเขา หรือ ภรรยาของเขา เป็นต้น ตามตัวอย่างตอนหนึ่ง “ฉันมีเคราะห์อยู่สามประการ คือหนึ่งฉันเป็นม้าด่าง สองฉันเป็นม้าที่ถูกต้อน และในข้อสุดท้าย แทนที่ฉันจะเป็นของพระผู้เป็นเจ้าหรือเป็นชีวิตของตัวเองเช่นเดียวกับสัตว์ทุกตัวในโลก มนุษย์กลับคิดว่าฉันเป็นของคนดูแลคอกม้า”


 ในเรื่องของพุทธศาสนาอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องของการกำหนดที่ผิดพลาดของมนุษย์ ในการยึดมั่นถือมั่น (อำนาจของความยึดติด อุปทา,ซึ่งน่าเสียดาย ที่ศาสนาพุทธไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในรัสเซีย อย่างที่เคยกล่าวไว้ (หมายเหตุผู้อ่านท่านอื่นอาจหาข้อสรุปในหัวข้ออื่นของพุทธศาสนาได้ เช่นกัน)


เรื่องเล่าโดยม้าด่างตัวหนึ่ง ในคอกม้า
คนเลี้ยงม้า เนสเตอร์ ผู้ชอบทารุณสัตว์ และมีแส้อยู่ในมือ
   
- ประโยครำพึงของม้าด่างขณะที่เนสเตอร์นั่งบนอานของมัน “...ยามเช้าตรู่ขณะที่หยาดน้ำค้างยังเกาะพราวอยู่บนใบหญ้า กลิ่นยาสูบเตือนให้ฉันระลึกถึงอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นความสุข.... เมื่อใดก็ตามที่ตาแก่คนนี้คาบกล้องยาสูบไว้ในปาก เขาจะวางท่า ฝันเฟื่องว่าตัวเองเป็นบุคคลสำคัญขึ้นมา แล้วนั่งเฉียงไปด้านข้าง ซึ่งเป็นซีกที่ฉันเจ็บมากเสียด้วย แต่เจ้าปีศาจช่างอยู่กับตาเฒ่าคนนี้ ! นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกหรอกที่ฉันอุทิศตัวให้เพื่อความสุขของผู้อื่น ม้า-นี่คือสิ่งที่ฉันเป็นและก็เคยได้รบความพอใจในความเป็นเช่นนี้ด้วย ให้เขาวางท่าไปเถอะเกลอผู้น่าสงสาร เขาทำอย่างนี้ก็เพราะเหงาและไม่มีใครเห็น ให้เขานั่งด้านข้างอย่างนั้นแหละ หากว่านั่นจะทำให้เขามีความสุข” ม้าด่างรำพึงกับตัวเองขณะที่เดินอยู่บนถนน มันก้าวออกไปอย่างระมัดระวังด้วยขาที่สั่นระริก     


เรื่องเล่าจากไม้หลา ยามชรา
ให้กับม้าหนุ่มสาวในคอกเดียวกัน
“ฉันเป็นบุตรของกเรเชียสที่หนึ่งกับบาบา ตามสายพันธุ์นั้นชื่อของฉันคือมูซลิกที่หนึ่ง...ซึ่งก้าววิ่งขนาดนี้ย่อมหาไม่พบอีกแล้วในประเทศรัสเซีย ไม่มีม้าตัวใดในโลกอีกแล้วที่จะมีมีสายเลือดพันธุ์แท้ยิ่งกว่าฉัน...ฉันถือกำเนิดมาโดยไม่รู้ว่า ม้าด่าง มีความหมายอย่างไร...”
ผู้ดูแลคอกม้าของท่านนายพล แสดงทัศนะคติต่อมันเมื่อได้เห็นมันในคืนแรก ที่ได้ลืมตาดูโลกที่จะเป็นปรปักษ์ต่อมันไปตลอดจนสิ้นอายุของมัน
“เจ้าสัตว์ประหลาดน้อยตัวนี้ไปเอาเชื้อสายมาจากไหนกันนะ” หันไปพูดกับบาบาแม่ของไม้หลา “แกน่าจะออกลูกเป็นม้าโล้นยังจะดีเสียกว่าม้าด่างตัวตลกตัวนี้” แม่ไม่พูดอะไรออกมา ได้แต่ถอนหายใจลึกดังที่ทำเป็นประจำในสถานการณ์เช่นนี้
“ปล่อยให้มันอยู่ในคอกนี้ไม่ได้หรอก จะทำให้เราขายหน้า แต่ถึงอย่างไรมันก็เป็นม้าที่สวยมาก สวยจริง ๆ”

ณ เช้าวันหนึ่งที่เงียบ และสดใส หลังจากท่านเจ้าของคองม้าล้มละลายและทรัพย์สินถูกขาย
ชั่วขณะที่มันจะถูกเชือด มันยืนสงบนิ่ง เคี้ยวหญ้า ในใจกลับคิดว่า
“พวกเขาคงทำการรักษาฉันแน่ๆเลย ให้พวกเขาทำไปก็แล้วกัน”
...พวกเขาทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่คอหอยของมัน ความเจ็บแปล๊บเข้ามา..คอยดูว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นอีก
เมือกอุ่น ๆเริ่มไหลลมมาตามคอและอก..........................ไม้หลาหลับตา....................ทันใดมันรู้สึกสบายขึ้น...............................
“มันเป็นม้าดีในยุคของมัน”
วาสกาบอก
“และหนังก็ดี หากว่าจะมีเนื้อติดอยู่มากกว่านี้บ้างสักเล็กน้อย” คนฆ่าสัตว์พูด


ตอบจบของเรื่องไม้หลา คือชะตาของมนุษย์ ผู้หลงมัวเมา และไม่อาจหาสัจจะ ความจริง ใดๆ ได้เลย
“ร่างอันหาชีวิตไม่แล้วของท่านชายเซอร์ปุคอฟสกอยผู้หมกมุ่นอยู่แต่กับกินกามและเกียรติก็ถูกส่งมอบคืนให้กับแผ่นดินในเวลาไม่นานหลังจากนั้น สิ่งที่ไม่มีประโยชน์สำหรับผู้อื่นเลย คือเนื้อ หนังและกระดูกของเขา....พวกคนตายที่ฝังคนตายยังพิจารณาเห็นว่า ต้องห่อหุ้มร่างที่ขึ้นอืดกำลังจะเน่าเปื่อยลงไปของเขาด้วยเครื่องแบบอันสวยงานสวมบู๊ทคู่ใหม่ วางเขาลงไปในโลกศพอันหรูหรา มีพู่ห้อยไว้ทั้งสี่ทิศ....นำไปยังกรุงมอสโคว์ ซึ่ง ณ ที่นั้นกระดูกเก่า ๆ ของใครสักคนหนึ่ง จะถูกขุดขึ้นมา หลุมนี้เองที่ร่างเน่าเปื่อยแม้หนอนก็ไม่อยากกินในเครื่องแบบชุดใหม่และบู๊ทที่ขัดไว้เป็นเงางามถูกนำมาฝังคืนให้กับแผ่นดิน”


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


หลายครั้งที่ถูกตีค่า เช่นเดียวกับม้าด่าง บางครั้งก็อาจถึงขั้น หมาด่าง ในสังคมชั้นสูง ก็มี
ถึงแม้ข้าก็ไม่ใช่ม้าพันธุ์ดี หรือหมาราคาแพง อย่างไรเสียข้าก็จะพยายาม ที่จะยังคุณค่าแก่เพื่อนมนุษย์ แม้ไม่ถึงเศษเสี้ยวของม้าด่าง ก็ยังดี...
(หมายเหตุ: บางทีที่ความพยายามไม่สำเร็จ...ก็เอากีบ..ถีบมันไปเหมือนกัน)


Free TextEditor

ฝากชื่อ ทักทายกันคะ







Free TextEditor




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2554   
Last Update : 27 ธันวาคม 2554 11:30:14 น.   
Counter : 1296 Pageviews.  
space
space
ลีโอ ตอลสตอย ผู้ทรงอิทธิผลแห่งรัสเซีย 1828-1910

เคานท์ ลีโอ นิโคเลเยวิช ตอลสตอย
เกิดปี
1828 ในตระกูลขุนนาง
แห่งยาสนายา โพลียานา เมืองตูลา ประเทศรัสเซีย อยู่ทางใต้ของมอสโคว์


การเป็นผู้มีชื่อเสียง และความเพียบพร้อมบริบูรณ์


นักประพันธ์ ผู้ที่มีพื้นฐานชีวิต ฐานะในสังคมที่ดี จากการอยู่ในตระกูลขุนนาง ที่มั่งคั่ง แต่กลับเรียนไม่จบในระดับมหาวิทยาลัย และออกไปใช้ชีวิต โดยการเป็นทหาร และท่องเที่ยวในยุโรป หลังจากนั้นได้ก่อตั้งโรงเรียนให้กับลูกชาวนาที่บ้านเกิด ชีวิตครอบครัว แต่งงานกับ โซพี อันเดรเยฟนา เบอร์ส ในปี 1862 (มีลูก 13 คน เยอะมาก) ภายหลังแหล่งพำนักของเขา กลายเป็นศูนย์กลางของนักแสวงบุญจากทุกมุมโลก งานเขียนช่วงนั้นมีเนื้อหาเกี่ยวพันกับเรื่องของจิตใจ ศาสนา การดำรงชีวิต ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของเขาขยายไปทั่วยุโรป ศาสนจักรเริ่มหวั่นเกรงต่อลัทธิแนวความเชื่อของตอลสตอย ทำให้มีคำสั่งห้ามตีพิมพ์ข้อเขียนของเขา และจับกุมผู้ที่มีข้อเขียนของเขาในครอบครอง แต่ก็ไม่อาจยับยั้งแนวคิดการค้นหา “สัจจะ” ของตอลสตอยได้ จนกระทั่งปี 1901 ศาสนจักรได้ประกาศขับไล่เขาออกจากศาสนา แต่ก็ดูเหมือนว่ามันจะไม่ได้มีความสำคัญกับเขาเลย (ถามเขามั้ย ว่าเขาอยากอยู่ด้วยรึเปล่า อันนี้นอกเรื่อง และก็ในอีก 3 ปีต่อมา อันตัน เชคอฟ นักประพันธ์เลื่องชื่อของรัสเซีย ก็เสียชีวิตลงด้วยอาการวรรณโรค ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่อยากเขียนไว้ เป็นว่าปีมันใกล้กัน)


แนวคิดค้นหาคำตอบในการใช้ชีวิต “สัจจะ”


ตลอดชีวิตของเขามีช่วงเวลาที่เป็นที่สุดของทั้งความสุข และความทุกข์ ได้พบเจอความ เป็นไปของโลกที่ร่ำรวย ฟุ้งเฟ้อ และยากจน เคียดแค้น การแก่งแย่ง กดขี่ การเป็นนักคิดของเขาเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายแห่งการมีชีวิตอยู่ รวมทั้งแนวทางในการศึกษาค้นคว้าทางด้านอภิปรัชญาชาและศาสนา และอีกหลายสิ่งที่เราไม่อาจจะหยั่งได้ถึงในจิตใจของเขา ทำให้เขาประกาศสละยศบรรดาศักดิ์เป็นสามัญชน และอุทิศงานเขียนช่วงหลังปี 1880 ให้เป็นสมบัติกับประชาชน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นภายในครอบครัว


สูงสุดสู่สามัญ


ในท้ายที่สุดแล้ว นักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง และทรงอิทธิผลต่อชาวรัสเซียและยุโรปผู้นี้ได้จบชีวิตลงอย่างโดดเดี่ยว หลังจากละทิ้งครอบครัว และชีวิตเยี่ยงขุนนาง ได้เพียง 2 เดือน ที่ระเหเร่ร่อนอย่างคนจร ด้วยโรคหวัดท่ามกลางความหนาวเหน็บ ณ สถานีรถไฟเล็ก ๆ เยี่ยงสามัญชนคนหนึ่ง ในปี 1910 โดยทิ้งวรรณกรรมที่ตีแผ่จิตวิญญาณของมนุษย์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ครุ่นคิด และค้นหา “สัจจะ” ที่แท้จริงต่อไป


               


               


ตัวอย่างผลงาน


ปี 1853 มีผลงานเรื่องแรก คือ วัยดรุณ นวนิยายกึ่งอัตประวัติ
          ปี 1854 รวมเรื่องสั้นชุด เซวัสโตโปล


ผลงานที่เป็นที่ยอมรับในวงการวรรณกรรมโลกอย่างกว้างขวาง


          ปี 1865-1869 สงครามและสันติภาพ
         
ปี 1875 – 1877 แอนนา คาเรนินา


         ผลงานหลังปี 1870 ส่วนใหญ่เกี่ยวกับข้อขัดแย้งภายในจิตใจ สัจจะแห่งชีวิต
          
ศาสนาและศีลธรรม, ศาสนาคืออะไร มีสาระสำคัญอย่างไร, กฎแห่งความรัก กฎแห่งความรุนแรง, คำสารภาพ, อาณาจักรแห่งพระเจ้าอยู่ภายในตัวท่าน ซึ่งเป็นงานเขียนในช่วงแรกของการค้นหาสัจจะ


ภายหลังงานเขียนของเขาได้อธิบายและมุ่งให้คำตอบในการใช้ชีวิต การค้นหาพระเจ้า สัจจะ ซึ่งในความหมายของเขา คือ ความจริงแท้ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่ไม่เข้าใจในสิ่งต่าง ๆ หรือสภาวะของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง เป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งปัญหาสังคม การใช้ชีวิตที่ผิดพลาด และก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ตัวเองและผู้อื่นในสังคม


         ผลงานช่วงบั้นปลายชีวิต : งานเขียนเล่มเล็ก ที่บรรจุ แนวคิด ปรัชญา ในการดำรงชีวิตที่แท้จริง


  มนต์ปีศาจ           (เรื่องราว ความขัดแย้งภายในใจ ระหว่างความดี ความชั่ว การถลำลึก หรือการถอนตัว )


  บาปของนักบุญ     (เรื่องสั้นขนาดยาว ที่ดีที่สุด ในช่วงท้ายของชีวิต  การตั้งคำถาม ถึงแนวทางการแสวงหาสัจจะ ความจริง ตามแนวทางของศาสนา ซึ่งนำไปสู่การเป็นปรปักษ์ต่อคริสตจักรอย่างรุนแรงและถูกขับออกจากศาสนาในที่สุด)


 ไม้หลา ปริศนาแห่งม้าตัวหนึ่ง (เรื่องสั้น เชิงเปรียบเทียบ ของม้าด่างตัวหนึ่ง ชะตากรรมที่ถูกมนุษย์กำหนดจนตกทนทุกข์อย่างไม่น่าให้อภัย (พวกมนุษย์นะไม่เกี่ยวกับม้า) )


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
หมายเหตุ(ของข้าพเจ้า) : ถ้าท่านเคานท์ ได้ศึกษาหลักพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ในช่วงนั้น ศาสนาพุทธอาจกลายเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากมายในรัสเซีย และยุโรปในปัจจุบันนี้


โดยส่วนมากแล้วเราจะรู้จักลีโอ ตอลสตอย จากงานเขียนยิ่งใหญ่ สงครามและสันติภาพ, แอนนา คาเรนินา  หรือ ความตายของอิวาน อิลิช แต่โดยส่วนตัวข้าพเจ้าแล้ว กลับชอบงานเขียนเล่มเล็กในช่วงท้ายของท่านมากกว่า โดยเฉพาะบาปของนักบุญ ซึ่งแสดงการค้นหาสัจจะธรรมจากชายคนหนึ่ง ซึ่งสำหรับข้าพเจ้าแล้วช่างน่าสงสาร ในการมืดมนในหนทางของเขา (แต่ในอีกทางหนึ่งคือ งานเขียนเล่มยาวที่มีชื่อเสียงนั้น ราคาแพงมาก อันตัวข้าพเจ้าเองก็เบี้ยน้อย จึงเลือกซี้อหาได้เพียง เรื่องสั้น แสนสั้นเท่านั้น 555)  
        +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++






ฝากชื่อ ทักทายกันคะ







Free TextEditor




 

Create Date : 05 มีนาคม 2554   
Last Update : 27 ธันวาคม 2554 11:30:45 น.   
Counter : 2804 Pageviews.  
space
space
1  2  

normalization
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




"ขอทุกท่านจง ปกติสุข ในทุกวัน"
วันแรกสร้าง : 25 กุมภา.54

เป็นเพียงการบอกกล่าว เล่าเรื่อง ตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจ
หากว่ามีประโยชน์บ้างแม้เพียงเล็กน้อย ข้าพเจ้าก็ยินดียิ่ง
หากว่าส่วนใดผิดพลาด ฝากข้อความไว้ได้เสมอ
@comeback 18/1/18

free counters สำหรับธงขอขอบคุณ blog paradijs
space
space
space
space
[Add normalization's blog to your web]
space
space
space
space
space