นาน นาน ที บล๊อก - ยินดีที่ผ่านมาพบนะ ปล.ช่วงนี้ หนี้เยอะ งดเที่ยว พักหนังสือ มารับจ้างทำงานก่อนนนนน
space
space
space
space

อันนา คาเรนินา Anna Kareninaลีโอ ตอลสอย:ชีวิตผู้สูงศักดิ์ที่สับสนและจมดิ่งในห้วงเหวแห่งอารมณ์
"ครอบครัวที่มีความสุข ล้วนสุขเหมือน ๆ กัน แต่ครอบครัวที่มีทุกข์ ย่อมทุกข์ตามวิถีของตน" ประโยคแรกในหนังสือที่จะนำเราไปสู่วิถีของชาวรัสเซีย...ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่ชวนให้หลงใหลและใคร่รู้ ทั้งเศร้า สงสาร เอาใจช่วย และอีกหลากหลายความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับชีวิตของตัวละคร โดยเฉพาะ "อันนา คาเรนนินา" ที่สุดท้ายแล้ว เราไม่อาจที่หยุดยั้งชะตากรรมของเธอ ไม่อาจพาเธอออกจากเส้นทางที่เลือกเดินไปสู่ความมืดมนหม่นไหม้ที่เธอเต็มใจจะก้าวไปสู่...


อันนา คาเรนินา งานยุคแรกที่โด่งดังของลีโอ ตอลสตอย หรือ เลียฟ ตอลสตอย เป็นแนวนวนิยาย กึ่งชีวประวัติ ซึ่งมีความต่างกับ “ไม้หลา, มนต์ปีศาจ” เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวที่เป็นงานช่วงหลังที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดการค้นหาสัจจะ หรือสัจจะนิยม


อันนา คาเรนินา เป็นหนังสือที่หนามาก (902หน้า) ซึ่งหนามากกว่า 1984 (การเมือง) มากกว่า จินตนาการไม่รู้จบ (เยาวชน) และมากกว่าทุกเล่มที่เคยอ่าน เว้นไว้ก็เพียงแต่ the load of the rings ที่ยังครองแชมป์


อันนา คาเรนินา (1873-77) มันก็เป็นเรื่องของผู้คนในสังคมชั้นสูงของรัสเซียในสมัย พระเจ้าซาร์ ที่มีศาสนา มีการเมือง มีระบอบการปกครอง แต่ชีวิตของผู้คน อย่างอันนา สามี พี่ชาย พี่สะใภ้ ชาวนา ชาวเมือง เพื่อน ๆ ของอันนา ก็ยังวนเวียนในกิเลส ความทุกข์ การเกิด การตาย ไม่มีอะไรให้เป็นแนวทางการดำรงชีวิตที่ดี แม้แต่ศาสนา(คริสต์) ก็ไม่สามารถจะช่วยแก้ไขปัญหาอะไรได้


ข้าพเจ้าคิดว่า หนังสือเล่มนี้ ไม่เพียงเป็นแค่ชีวิตของอันนา คาเรนินา ที่แสนเศร้า ทุกข์ทน ไร้ศีลธรรม(ตามที่ชาวรัสเซียกล่าวอ้าง) แต่น่าจะเป็น อันนา และการค้นหาเส้นทางชีวิตของเลวิน (หรือของผู้เขียนเอง ในเชิงอัตชีวประวัติ)


แต่ละภาค มีการเดินเรื่องผ่าน ตัวละคร หลัก (คาเรนนินเป็นชื่อสกุลสามี และสกุลของอันนาที่แสดงสถานะผู้หญิง)

อันนาและสามี คาเรนนิน นักการเมืองเคร่งขรึม

อันนากับวรอนสกี้ คนรัก หนุ่มสังคมนำสมัย

ดอลลี่และสามี โอบลอนสกี้(พี่ชายของอันนา) ข้าราชการที่ชอบสังคมหรูหรา

คิตตี้ ผู้เคร่งในศาสนา น้องสาวของดอลลี่ เคยหลงใหลวรอนสกี้จนล้มเจ็บ

นิโคเล (พี่ชายของเลวิน) นักปฏิวัติสังคมและไม่เชื่อในกฎเดิม ๆ กับเมียที่เป็นหญิงขายบริการ

คอซนิเชฟ (พี่ชายของเลวิน) นักวิชาการผู้โด่งดังและเชื่อมั่นในหลักการสุดท้ายก็เลือกงานและไม่แต่งงาน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในงานวิชาการที่เขาเชื่อมั่น

เลวิน ชนชั้นสูงที่ปลีกตัวออกจากสังคมไปอยู่ชนบท ผู้ที่ไม่คดโกงใคร ช่วยเหลือชาวนาแต่ไม่เชื่อในศาสนา และได้แต่งงานกับคิตตี้


ในภาคแรก ๆ เป็นการกล่าวถึงเรื่องราว ชีวิตแต่งงานของ อันนากับคาเรนนิน,ชีวิตแต่งงานของ ดอลลี่กับโอบลอนสกี้ การเลือกคู่ของคิตตี้ และการเปลี่ยนใจของวรอนสกี้หลังจากพบอันนา ผู้งดงามและน่าหลงใหล แต่มีสามีและลูกชายเล็กๆ ที่น่ารัก


หลังจากนั้นเรื่องราว ค่อย ๆ ผูกพันกันเข้าด้วยความหลงใหลต่อเพศตรงข้าม ต่อลาภยศ ต่อภาพลวง กิเลสต่าง ๆ การยึดถือในตัวตนและขนบธรรมเนียม และความสำคัญของศาสนา ต่อหลักการ


อันนาตัดสินใจออกจากบ้าน ไปอยู่กับคนรัก
โอบลอนสกี้และดอลลี่ตัดสินใจอยู่กันต่อไปด้วยความรับผิดชอบทางสังคมและต่อเด็ก ๆ 
คิตตี้หลังจากอกหักและทำใจได้ค้นพบชีวิตในด้านอื่น ก็แต่งงานกับเลวิน


ช่วงท้าย ๆ แต่ละคน แต่ละครอบครัวก็พยายามใช้ชีวิตเพื่อประคับประคองกันไป ท่ามกลางสังคมเมืองที่ฉาบฉวย ใช้เงิน สร้างภาพ และใช้ศรัทธาสร้างที่ยืน
อันนาจมอยู่ในห้วงทุกข์ การไม่ยอมรับของสังคม และหวั่นเกรงสถานะภาพของตัวเอง ความคิดถึงลูก และความรู้สึกผิดที่ติดอยู่ในใจในส่วนลึก

คาเรนิน เลี้ยงลูกชายอย่างห่างเหินและไม่ยอมหย่า

วรอนสกี้ เริ่มกลับเข้าสู่สังคมฟุ้งเฟ้อและการเมือง ทั้งที่ความเข้าใจต่ออันนา เริ่มน้อยลงทุกที

โอบลอนสกี้ ใช้ชีวิตในสังคมเหมือนเดิมและใช้จ่ายเงินมากขึ้น

ดอลลี่ เริ่มตระหนักในชีวิตครอบครัวที่แตกต่าง ของเธอเอง และของอันนา (เพื่อนรัก)

นิโคเล
เสียชีวิตจากการเจ็บป่วย

คอซนิเชฟ ทำงานวิชาการแล้วเสร็จแต่ไม่ได้รับความสนใจ และต้องอยู่กับความผิดหวังในแบบที่เขาเลือก


ภาค ที่ 7 เป็นภาคที่อะไรหลายสิ่งมาถึงจุดสิ้นสุด….และไม่อาจหวนคืน


สำหรับข้าพเจ้าเอง นอกเหนือไปจากการผูกเรื่องที่ซับซ้อน ชวนติดตาม การล้อมกรอบเราให้จนมุมอยู่กับความรู้สึกอับจนหนทางของตัวละครหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นอันนา, คาเรนนิน, วรอนสกี้ หรือ โอบลอนสกี้ เป็นการบีบรัดให้เราเห็นถึง การตัดสินใจในการใช้ชีวิตของแต่ละคน ที่ไม่อาจจะขัดขืนหรือต่อสู้กับชะตากรรมได้เลย รวมไม่อาจมีสิ่งใดที่จะแก้ไข หรือชี้นำหนทางที่ถูกต้องได้ กฎหมาย ศาสนา เพื่อน หรือสังคม ไม่มีสิ่งใดแน่ชัดในสิ่งที่ถูกต้อง ทุกอย่างปนเป สับสน กลับกลอก เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ


บางครั้งเราอาจเผลอคิดไป ขณะที่อ่านหนังสือ “จะมีทางไหนช่วยให้อันนาพ้นจากความทุกข์ได้มั่ง” “จะมีทางไหนให้คาเรนนินหลุดจากความรัก ความศรัทธาในตัวเองลงบ้าง” “จะทำยังไงให้วรอนสกี้เห็นชีวิตในแบบอื่นๆ อีก” .....


ข้าพเจ้าได้เห็นมุมมองที่เยาะหยันชนชั้นสูงของรัสเซีย ต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา การเข้าสโมสร การเข้าสมาคม การดูอุปรากร และการประชุมวิชาการ หรือประชุมกรรมาธิการ ที่ดูภายนอกว่าสง่างาม เคร่งขรึม ขณะเดียวกันมันก็ดูว่า “หลอกลวง ปลิ้นปล้อน” กันทั้งนั้น (ในข้อนี้ เมืองไทยก็เป็นนะ)


ที่มีกล่าวถึงเพียงเล็กน้อยแต่จะลืมเสียมิได้ ก็คือ ความรู้สึกนึกคิดของ เซร์ยอชา ลูกชายของอันนา และคาเรนิน ต่อผลของการแยกทางกันแต่ไม่ได้เลิกราหรือหย่าขาด และผลต่อลูกสาวคนเล็กจากอันนาและวรอนสกี้


ในภาคที่ 8 หลังจากการสิ้นสุดสถานะภาพภาวะอันจมหนทางของ อันนา วรอนสกี้ และคาเรนนิน สังคมรัสเซียก็หันเหความสนใจไปสู่เรื่องอื่น ๆ ต่อไป ขณะที่เลวินผู้ใช้ชีวิตในชนบทกับครอบครัว ได้ผ่านเหตุการณ์ ทุกข์ สุข เกิด และ ตาย ของผู้คนที่เข้ารู้จัก ได้รับรู้ถึงจิตใจอันยากหยั่งลึกของอันนา เส้นทางที่ยากยิ่งและสุดท้ายก็ต้องตายจากไป ชีวิตทุก ๆ ชีวิตทำให้เลวินได้เรียนรู้และครุ่นคิดต่อไป


“มีความรู้เรื่องศาสนาอื่น เช่น พุทธ อิสลาม แต่เพียงเลา ๆ” ดังที่เขาได้กล่าวไว้ ดังนั้นแล้วผู้คนที่ได้นับถือศาสนาอื่นก็ไม่มีวันได้ล้างบาป ก็จะไม่มีวันได้พบพระเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เลวินไม่เข้าใจ


แต่ในสุดท้ายแล้วหลังจากได้ฟังชาวนาคนหนึ่งพูดคุยถึงชาวนาอีกคนหนึ่งที่เป็นคนดี ช่วยเหลือคนอื่น เพราะเขามีพระเจ้าในใจ อยู่เพื่อพระเจ้า แต่ไม่ได้อยู่เพื่อตัวเอง ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ช่วยให้เขาศรัทธาได้อย่างแท้จริง แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เขาได้ค้นพบบางสิ่งที่จะช่วยให้เขาอยู่อย่างมีความสุขมากขึ้น


“เราจะมีชีวิตต่อไปเหมือนเดิม อารมณ์เสียกับอีวานคนขับรถ จะยังโต้เถียงเผ็ดร้อน
แสดงความเห็นโพล่ง ๆ ต่อไป จะยังมีกำแพงขวางกั้นระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธ์
ในจิตวิญญาณเรากับจิตวิญญาณของคนอื่น แม้แต่ภรรยาเราเอง ...เราจะยังไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมเราจึงสวดมนต์ แต่เราก็จะสวดมนต์ต่อไป แต่ชีวิตเราตอนนี้ ชีวิตทั้งชีวิตของเรา
นอกเหนือจากสิ่งนอกกาย ที่อาจเกิดกับเรา จะไม่เหมือนเมื่อก่อน จะไม่มีนาทีใดไร้ความหมาย
แต่จะเป็นชีวิตที่มีความหมายเพื่อสิ่งดีงาม ซึ่งเรามีพลังที่จะทำให้เกิดขึ้นได้
”


อ่านจาก
“อันนา คาเรนินา”
เลียฟ ตอลสตอย เขียน
สดใส แปล
โคทม อารียา บทนำ
เทพศิริ สุขโสภา ภาพประกอบ
พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน
2536
สำนักพิมพ์ มูลนิธิเด็ก


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


ปล. การพูดคุยของคอซนิเชฟ กับแม่ของวรอนสกี้หลังจากการจบชีวิตของอันนา

แม่ของวรอนสกี้
"ตายอย่างนั้นก็สาสมแล้วสำหรับผู้หญิงอย่างหล่อน แม้จะตายก็ยังเลือกวิธีต่ำ ๆ หยาบช้า"
คอซนิเชฟ
"เราไม่ใช่คนที่จะตัดสินครับเคาน์เตส"


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


นั่นสินะ "เราไม่ใช่คนที่จะตัดสิน..."


 








ฝากชื่อ ทักทายกันคะ







Free TextEditor


Create Date : 31 สิงหาคม 2554
Last Update : 17 มกราคม 2555 15:53:51 น. 3 comments
Counter : 8691 Pageviews.

 
พบปรากฏการณ์การค้นหา ลีโอ, เลโอ ตอลสตอยกันมากมายเหลือเกินในช่วงสองสามวันมานี้ จขบ.จึงได้เพิ่ม ประโยคแรกในหนังสือ ไว้ในบทความฉบับนี้ คาดว่าหลายคนคงจะได้ยินมา หรือเปล่าก็ไม่รู้นะ...อยากรู้เหมือนกันว่าจริงๆแล้ว ท่านเคาน์ทำไมมาฮิตมากช่วงนี้ได้..แต่ก็ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการค้นหาครั้งนี้ ขอบคุณทุกท่านที่แวะมานะคะ ถ้าได้อ่านฉบับเต็มของหนังสือที่ลีโอ ตอลสตอยเขียนไว้จะได้รายละเอียด ความรู้ อารมณ์ที่ครบถ้วนคะ ยังไงก็ลองหามาอ่านดูนะคะ แนวรัสเซีย ขม คมแต่น่าหลงใหลเหมือนกาแฟคะ/ขอให้มีความสุขกับการอ่านนะ


โดย: normalization วันที่: 19 มกราคม 2555 เวลา:13:55:56 น.  

 
ขอบคุณสำหรับบทความนะคะ :)


โดย: ปราง IP: 157.7.52.183 วันที่: 29 พฤษภาคม 2561 เวลา:20:53:49 น.  

 
คุณปราง...
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านนะคะ....
ขอให้สนุกกับการอ่านหนังสือนะคะ


โดย: normalization วันที่: 15 ตุลาคม 2561 เวลา:21:29:19 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
space

normalization
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




"ขอทุกท่านจง ปกติสุข ในทุกวัน"
วันแรกสร้าง : 25 กุมภา.54

เป็นเพียงการบอกกล่าว เล่าเรื่อง ตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจ
หากว่ามีประโยชน์บ้างแม้เพียงเล็กน้อย ข้าพเจ้าก็ยินดียิ่ง
หากว่าส่วนใดผิดพลาด ฝากข้อความไว้ได้เสมอ
@comeback 18/1/18

free counters สำหรับธงขอขอบคุณ blog paradijs
space
space
space
space
[Add normalization's blog to your web]
space
space
space
space
space