นาน นาน ที บล๊อก - ยินดีที่ผ่านมาพบนะ ปล.ช่วงนี้ หนี้เยอะ งดเที่ยว พักหนังสือ มารับจ้างทำงานก่อนนนนน
space
space
space
space

ตื่นก่อนตาย-โดยพระไพศาล วิสาโล-ปลุกความคิดเปลี่ยนวิถี-เสียดายถ้าไม่ได้อ่าน

สำนักพิมพ์ บิสซี่เดย์



เหมาะสำหรับผู้ที่รู้ตัวว่า”ยังไงเสีย..ฉันก็ต้องตาย” และปรารถนา “จะตาย...อย่างสงบ” มีคุณภาพ ใช้ประโยชน์ได้ทั้งขณะที่ “กำลังจะตาย” และขณะที่ “ยังมีชีวิต” หนังสือเล่มนี้จะกระตุ้นให้ฉุกคิด ว่าชีวิตที่เป็นอยู่นี้ “เรากำลังใช้ชีวิตแบบลืมตาย” ลืมว่า สักวันจะต้องตาย อยู่หรือเปล่า


เป็นหนังสือธรรมะที่อ่านง่าย ปฏิบัติได้จริง เพราะใช้ภาษาพูด ที่ไม่เป็นทางการเกินไป แล้วก็มีคำพระหรือภาษาสันสกฤต น้อยมากๆ มีการยกตัวอย่างให้เห็นถึงสัจจะธรรมที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์ ที่เมื่อเกิดมาแล้วย่อมตาย....


แม้วิกฤตน้ำท่วมไหลลงทะเลไปแล้ว แต่ชีวิตภายใต้ผลพวงของสงครามน้ำ..นั้นเพิ่งจะเริ่มต้น ข้าพเจ้าดีใจที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้...ขณะที่จิตใจกำลังระทมตรอมตรม...หมองไหม้



ซึ่งผู้ที่ผ่านเคราะห์กรรมร้ายแรงมาไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตามย่อมเข้าใจดี กับสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ ไม่ง่ายที่จะใช้ชีวิตต่อไป


ถึงแม้หนังสือจะมีจุดมุ่งหมายถึงการอธิบายวิธีการปรับจิตใจ ให้เข้าใจและยอมรับความตายได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังมุ่งให้เราใช้ชีวิตขณะที่ยังไม่ตาย....ได้อย่างมีคุณภาพ เกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและต่อผู้อื่น และเป็นประโยชน์ขณะที่ยังมีลมหายใจ และในช่วงขณะที่ลมหายใจกำลังหยุดลง


สำหรับผู้ที่มีญาติมิตร คนรู้จักที่กำลังป่วยก็สามารถใช้แนวทางของหนังสือเล่มนี้ได้ ในการวางใจของตัวเอง และช่วยให้ผู้ป่วยมีสภาพจิตที่เข็มแข็ง...และไปสู่ภพภูมิที่ดีขึ้น ด้วยสภาพแวดล้อมที่ปราศจากเสียงคร่ำครวญจากลูกหลาน ลดห่วงกังวลของคนที่กำลังจะจากไป


ผู้ที่เคยอ่าน “ช่วงขณะสุดท้ายของชีวิต” ที่เป็นหนังสือจากทิเบต หลักธรรมจากอีกนิกายหนึ่งในพุทธศาสนา ซึ่งอธิบายขั้นตอนขณะที่หมดลมหายใจ ก็ทำให้เราเตรียมใจได้ในระดับหนึ่ง ส่วนหนังสือเล็กๆ เล่มนี้ (ขนาดพกพาได้สะดวก) ไม่ได้มุ่งเน้นสภาวการณ์ขณะที่แตกดับ แต่มุ่งเน้นการกระทำขณะที่ยังทำได้ในปัจจุบัน และการวางใจ ขณะที่ร่างกายอ่อนแอเกินจะยึดถือต่อไป


พระผู้เขียนมีการแสดงตัวอย่างจริงให้เข้าใจได้ง่าย ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับร่างกาย, ทรัพย์สิน, ความสัมพันธ์ และการทำงาน ทั้งการวางใจขณะที่พบปัญหาในชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือตัวเราเองป่วยหนัก ญาติสนิทหรือคนรัก...กำลังทุกข์ทรมาน วิธีการคิดที่จะทำให้เราปรับเปลี่ยนจิตใจของตัวเราเอง...ละวางการยึดติด การครอบครองในสิ่งของต่างๆ  ที่ในเมื่อไม่ช้านานทุกอย่างก็จากเราไป...


สำหรับข้าพเจ้าแล้ว หนังสือเล่มนี้ทำให้ข้าพเจ้าทำใจได้มากขึ้นจากการสูญเสียทรัพย์สินช่วงน้ำท่วม...ถือเสียว่าเป็นการซ้อม
ก่อนการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่กว่าจะมาถึงเรา...เมื่อเราสูญเสียแม้แต่ร่างกายและลมหายใจของตัวเอง


เนื้อหาบางส่วน


หนังสือประกอบด้วย 4 ภาค


ตัวต้นเหตุ     (สุขทุกข์อยู่ที่ใจ,ตีก็ยึด ไม่ดีก็ยึด,ของเราแน่หรือ,มีฉันก็มีทุกข์)


“เราจะเห็นทุกขเวทนา แต่ไม่เข้าไปยึดทุกขเวทนานั้น ใจจะไม่ทุกข์ มีแต่กายเท่านั้นที่ทุกข์”
“
ลูกโป่งใหญ่เท่าไร ก็กลายเป็นเป้าที่กระทบได้ง่าย แค่เศษฟางมาถูกก็อาจจะแตกได้
ลูกโป่งจึงกลัวแม้แต่เศษฟาง คนที่ยึดติดในอัตตา อัตตายิ่งพองโตมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นทุกข์ได้ง่าย
”


รู้จักชีวิตที่แท้    (ฝึกวางใจ, ลดละตัวตน, ถ่ายถอนสมมติ,พรอันประเสริฐ)


 “ปล่อยวางจากการจดจ่อยึดถือในเป้าหมาย และจากความยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา”
“ปล่อยวางจึงหมายถึงการปล่อยวางที่ใจ แต่ว่าก็ยังทำหน้าที่ หรือทำด้วยความรับผิดชอบ
”
“เมื่อใดก็ตามที่เรายึดถือสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ว่าเป็นของเรา เราจึงไม่ต่างจากขโมย”


 เผชิญหน้าความจริง        (ตายอย่างสงบเป็นสิทธิของทุกคน,ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ,มรณสติในชีวิตประจำวัน,
อยู่อย่างไม่ประมาท,ความพลัดพรากคือบททดสอบ,ตายก่อนตาย)


“ช่วงที่เราจะหมดลมนั้น เป็นช่วงสำคัญมาก ท่านพุทธทาสเรียกนาทีนั้นว่า นาทีทองของชีวิต
หากเราวางใจให้เป็น ก็สามารถบรรลุธรรมได้
”
“การระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ทำให้เราขวนขวายในสิ่งที่เราชอบผัดผ่อน
ทำให้เราจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น
”
(สิ่งที่สำคัญจริงๆ ต่อชีวิต...อันนี้เติมเอง)


สุดท้ายของชีวิต  (เตรียมใจตายดี,ต้อนรับความตายด้วยสติ,เตรียมใจยามป่วยหนัก,พาคนรักสู่ความสงบ,ทำใจพร้อมเสมอ)


“ตายด้วยเหตุใดก็ตาม ในสภาพแวดล้อมแบบใดก็ตาม ในขณะที่กำลังจะตาย
เราเผชิญหน้ากับความตายอย่างไร ถ้าตายอย่างมีสติและเกิดปัญญา นี้คือการตายดี
”


“ความสงบก่อนสิ้นลมนั้นมีค่ามหาศาลที่ซื้อไม่ได้ด้วยเงิน ไม่ว่าจะมีมากเพียงใดก็ตาม
หากแต่อาศัยใจที่เปี่ยมด้วยรักเท่านั้น
”
 “เมื่อผู้ป่วยใกล้จะสิ้นลม นี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่ญาติมิตรจะทำสิ่งดีๆให้แก่ผู้ป่วย
โดยเฉพาะสิ่งดีงามในทางจิตใจ
”


 และบททิ้งทาย    (คำสุดท้ายจากคนรัก)


 “เธอกำลังจะเดินทางไกลแล้วนะ ขอให้ไปอย่างเบาๆ อย่าแบกอะไรไปเลยสักอย่างวางให้หมด”


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


 


ปล. จขบ.ชอบสีปกของหนังสือที่เป็นสีเขียว-น้ำตาล ให้ความรู้สึกเย็นใจ ด้านในมีลวดลายต้นไม้ และนก เขียนเป็นลายเส้นตวัดไปมา เหมือนว่าอะไร ๆ ก็โยกคลอนได้ง่าย ๆ หรือไม่ ก็ง่ายที่ถูกปลิดปลิวไป...

หมายเหตุ จขบ. เปลี่ยนจากน้ำตาและเสียงสะอื้น เป็นคำพูดส่งท้ายให้ผู้ที่กำลังจะจากไป หมดเรื่องทุกข์กังวลใจและจากไปด้วยจิตใจอันเป็นกุศล (แม้มันจะยาก...กับการยอมรับความสูญเสียที่อยู่ตรงหน้า แต่เราก็ต้องทำใจ และยิ้มส่งคนที่เรารัก ด้วยจิตใจที่เข้มแข็งของเราเอง)

Free TextEditor
ติดตามอ่านรายละเอียดฉบับเต็มได้ในราคา 155 บาท ความหนา251 หน้าขนาดครึ่งa4




 

Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2555   
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2555 16:24:38 น.   
Counter : 2389 Pageviews.  
space
space
ในเมื่อเราทุกคนต้องตาย-อ่าน-ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต:ทะไลลามะ-ฝึกจิตเตรียมตนเผชิญช่วงเวลาดับสลาย

เจฟฟรี ฮ๊อปกินส์ บรรณาธการและถอดความเป็นภาษาอังกฤษ, ธารา รินศานต์ แปล, สำนักพิมพ์ มูลนิธิโกมลคีมทอง


ไม่มีสถานที่ใด ที่ความตายมิอาจย่างกรายไปถึง ไม่ว่าจะเป็นในห้วงนภากาศ
ในมหาสมุทร
หรือแม้แต่ในยามที่อยู่ท่ามกลางขุนเขา

ร่างกายมนุษย์เป็นสิ่งมีค่า แต่ก็ยังเปราะบาง ไม่ง่ายนักที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์


ผู้ที่ยอมรับว่า “ฉันจะต้องตาย” โดยไม่พรั่นพรึง ฤาจะหวาดหวั่นต่อนิมิตแห่งความดับสูญ!


สำหรับผู้ที่มองหาหนังสือ ในเรื่องกรรม และการเวียนว่ายตายเกิด
หนังสือเล่มนี้จะเปิดแนวทางอีกแง่หนึ่ง ที่มุ่งเน้นการเตรียมพร้อมกับการตาย 
ความสำคัญของการตาย และการนำไปสู่การเกิดใหม่


หรือแม้ว่าสำหรับผู้ที่ไม่เชื่อถือในเรื่องโลกหน้า ก็สามารถหยิบเอาคำสอน การปฏิบัติในการฝึกจิต
ให้ละทิ้งความเที่ยงแท้ อัตตา และกิเลสได้อีกทางหนึ่ง
คำสอนของเนื้อหา ใช้วิธีการเล่าเรื่อง บรรยาย ชักจูง จนทำให้เราเกิดภาพ คิดตาม
และเข้าใจด้วยคำพูดที่ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ไม่น่าเบื่อและได้ความรู้เกี่ยวกับทิเบตและจีนมากขึ้น


เป็นหนังสือธรรมะ จากคำสอนในพุทธศาสนานิกาย วัชรยาน จากทิเบต
ผนวกรวมไปกับ ประวัติศาสตร์เชื้อชาติ ทิเบิต และความขัดแย้งการเมืองการปกครองกับจีน


หนังสือแบ่งเป็น ๑๑ บท ที่กล่าวถึง บทโศลก ของทิเบต อันว่าด้วย “ความตาย” และ “การฝึกฝน”
เพื่อรับมือกับความตาย เพื่อเป้าหมายในระดับต่าง ๆ กัน ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน
เพื่อไม่ให้หวาดกลัวกับปรากฏการณ์ที่พบขณะ ที่เกิดการเสื่อมของสังขาร ธาตุทั้งสี่...จนถึงขั้นสูง
คือการหลุดพ้น ในชั่วขณะของการตาย 
ซึ่งในหนังสือเล่มนี้จะอธิบายภาวการณ์ตาย ให้เห็นอย่างชัดเจน
มีความเชื่อมั่นในการกลับชาติมาเกิด เช่นเดียวกับความเชื่อเรื่อง การเกิดใหม่ขององค์ ลามะ และ ปันเชนลามะ
อีกทั้งยังได้ยกคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวข้องมาอ้างอิงไว้ในแต่ละหัวข้ออีกด้วย


“ชีวิตของเราอิงแอบอยู่ระหว่างมูลเหตุแห่งความตาย ดุจดั่งตะเกียงท่ามกลางกระแสลมแรง” 
จากคัมภีร์รัตนมาลาของนาคารชุน
                
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงไม่อาจใช้น้ำชำระล้างกรรมชั่ว
            หรือขจัดความทุกข์ให้แก่สรรพสัตว์ที่เวียนว่ายด้วยหัตถ์ของตถาคต
          หรือมอบความรู้แจ้งของพระองค์แก่ใครได้
          สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมหลุดพ้นด้วยคำสอนแห่งความจริง อันเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง


สารบัญ
๑.      ใคร่ครวญความตาย   
๒.    เป็นอิสระจากความกลัว      
๓.     เตรียมตัวลาลับ    
๔.     ขจัดอุปสรรคที่ขวางกั้นการจากไปอย่างสงบ
๕.     เสริมสร้างสภาพที่เกื้อหนุนเมื่อยามสิ้นใจ     
๖.      เพิ่งพิจารณาชั่วขณะแห่งความตาย     
๗.     โครงสร้างของจิต     
๘.     แสงกระจ่างแห่งความตาย
๙.      ปฏิกิริยาในช่วงรอยต่อระหว่างชีวิต
๑๐.  ไปเกิดใหม่ในภพภูมิที่ดี
๑๑.  ทบทวนบทโศลกในชีวิตประจำวัน


 +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


ตัวอย่างบทที่ 6 : กระบวนการสี่ขั้นแรกที่ดำเนินไปข้างหน้า การแตกสลายของธาตุทั้งสี่
ขั้นที่
1 ธาตุดินจะเสื่อมสลายกลายเห็นธาตุน้ำ ร่างกายส่วนที่เป็นของแข็ง อย่างกระดูก
ไม่อาจเป็นโครงหรือฐานให้วิญญาณอาศัยได้อีกต่อไป...ร่างกายจะผ่ายผอมลงอย่างเห็นได้ชัด
และแขนขาก็อ่อนเปลี้ย เราจะสูญเสียกำลังวังชา พลังและสง่าราศีของชีวิตค่อย ๆ ดับสิ้นไป สายตาจะพร่ามัว....
ขั้นที่
2 คุณสมบัติของธาตุน้ำจะเสื่อมสลายกลายเป็นธาตุไฟ หรือไออุ่นที่ค้ำจุนรางกายเอาไว้
แล้วคุณสมบัติของธาตุไฟอันเป็นฐานของวิญญาณก็จะเพิ่มพูนขึ้น เราจะไม่รับรู้อะไรที่เกี่ยวพันกับประสาทสัมผัส
และจิตสำนึกอีกต่อไป...
ขั้นที่
3 คุณสมบัติของธาตุไฟจะเสื่อมสลายกลายเป็นธาตุลม ซึ่งก็คือกระแสของอากาศหรือพลังที่ควบคุมการทำงานต่าง ๆ
ของร่างกาย เช่น การหายใจเข้า
-ออก การเรอ การบ้วนน้ำลาย....ไออุ่นของร่างกายจะหมดไป ทำให้ไม่อาจย่อยอาหารได้
ถ้าเราก่อกรรมทำเข็ญไว้มาก ไออุ่นของร่างกายจะเริ่มก่อตัวลงสู่เบื้องล่าง ...ทำให้ร่างกายท่อนบนเย็นก่อน
แต่ถ้าเราทำกรรมดีไว้มาก ไออุ่นจะก่อตัวจากส้นเท้าเคลื่อนขึ้นมาที่ให้ใจ ทำให้ร่างกายท่อนล่างเย็นก่อน...
เราจะไม่สนใจไยดีกับเรื่องราวต่าง ๆ....
ขั้นที่
4 คุณสมบัติของธาตุลมที่หยาบกว่าจะเสื่อมสลายกลายเป็นวิญญาณธาตุ ลิ้นเริ่มแข็งและหดสั้น โคนลิ้นเริ่มคล้ำ
ไม่อาจรับรู้สัมผัสทางกาย ตลอดจนปฏิกิริยาทางกาย ไม่มีลมหายใจผ่านทางช่องจมูก
ทว่ายังมีลมหรือลมหายใจในระดับละเอียดอยู่ ...สิ่งที่เราเห็นในจิตดูคล้ายกับเปลวไฟตะเกียงเนยหรือเทียนไข...


ตัวอย่างบทที่ 4
จงเริ่มทำความคุ้นเคยกับจิตที่เป็นกุศลเสียแต่เนิ่น ๆ เมื่อเราพัฒนาศักยภาพนี้จนมั่นคงดีแล้ว
ก็จะสามารถควบคุมจิตให้หันเหเข้าสู่สิ่งที่เป็นบุญกุศลได้แม้ในยามสิ้นใจ


ยาพิษทั้งสาม คือความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้ เป็นอุปสรรคภายในที่ทรงพลังที่สุดซึ่งขัดขวางการบำเพ็ญบุญกุศล
โดยนัยอันลึกซึ้ง มันเป็นอาวุธที่จะเข่นฆ่าตัวเราเองในชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต
ถ้าเราไม่ต้องการให้ความคิดอกุศลเหล่านี้ผุดขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ต้องปลูกฝังความปรารถนา
ไม่อยากให้ความโลภ ความโกรธอันรุนแรง รวมทั้งภาพมายาปรากฏขึ้น


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
สนใจอ่านเพิ่มเติม เพื่อการฝึกจิตให้เตรียมพร้อมกับชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต ชั่วขณะที่ลมเฮือกสุดท้ายหลุดลอยไป






Free TextEditor




 

Create Date : 13 กันยายน 2554   
Last Update : 27 ธันวาคม 2554 11:44:13 น.   
Counter : 1199 Pageviews.  
space
space
คู่มือมนุษย์เรื่องอำนาจของความยึดติด(อุปาทาน)

กิเลสซึ่งเป็นความยึดถือในสิ่งทั้งปวงนั้น ในพุทธศาสนาเรียก “อุปาทาน” ความยึดติด จำแนกเป็น ๔ ประการด้วยกัน


อันความจริง : "ตัวกู" มิได้มี
แต่พอเผล มันเป็นผี โผล่มาได้
พอหายเผล "ตัวกู" ก็หายไป
หมด "ตัวกู" เสียได้เป็นเรื่องดี:
สหายเอ๋ย จงถอน ซึ่ง "ตัวกู"
และถอนทั้ง
“ตัวสู”
อย่างเต็มที่
มีกันแต่ ปัญญา และปรานี
หน้าที่ใคร ทำให้ดี เท่านี้เอยฯ


๑.กามุปาทาน  ยึดมั่นโดยความเป็นกามหรือของรักใคร่ทั่วไป (๑๐๙)
ความติดพันในสิ่งที่น่ารักที่น่าพอใจ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ...เอร็ดอร่อยในกามคุณ ๕
ตามหลักพุทธศาสนาขยายออกเป็น ๖ คือมี
“ธรรมารมณ์” หมายถึงสิ่งที่ผุดขึ้นในใจ
จะเป็นอดีตปัจจุบันหรืออนาคตก็ได้...ทำให้เกิดความเอร็ดอร่อยเพลิดเพลินทางจิตใจขณะที่รู้สึก
แม้แต่เรื่องทำบุญ อธิษฐานได้ให้ไปสวรรค์ ก็มีมูลมาจากความหวังในทางกามารมณ์ทั้งนั้น (๑๑๑)
ถ้าว่ากันทางคดีโลกแล้ว การติดกามกลับจะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง เพราะจะทำให้รักครอบครัว ทั้งยังทำให้ขยันขันแข็ง...
แต่ถ้ามองในแง่ทางธรรมะ จะรู้สึกว่า เป็นทางมาแห่งความทุกข์ทรมานอันเร้นลับ (๑๑๓)
เราควรพิจารณาว่าเรามีความติดในกามอย่างไร เหนียวแน่นเพียงไร จะเหลือวิสัยที่เราจะละได้จริง ๆ หรือไม่ (๑๑๒)


๒.ทิฏฐปาทาน ยึดติดในทิฏฐิหรือความคิดเห็นที่ตนมีอยู่เดิม ๆ
พอเราเกิดมาในโลก เราก็ได้รับการศึกษาอบรมให้เกิดมีความคิดเห็น ชนิดที่มีไว้สำหรับยึดมั่น ไม่ยอมใครง่าย ๆ นี้ เรียกว่า ทิฏฐิ
มีมูลมาจากหลายทาง...
มักจะเกิดกับขนบธรรมเนียมประเพณี หรือลัทธิศาสนาเป็นส่วนใหญ่
ทิฏฐิดื้อรั้นที่เป็นของส่วนตัวเองล้วน ๆ นั้นยังไม่เท่าไหร่ไม่มากมายเหมือนที่มาจาก
ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่คนเคยถือกันมา ที่ค่อย ๆ อบรมสะสมกันมากขึ้น ๆ



๓.สีลัพพตุปาทาน ยึดติดในวัตรปฏิบัติที่มุ่งหมายผิดทาง
หมายถึงยึดมั่นถือมั่นในการประพฤติกระทำที่ปรัมปรา สืบกันมาอย่างงมงายไร้เหตุผล หรือที่คนนิยมเรียกกันว่า “ขลัง ศักดิ์สิทธิ์”
คิดกันว่าเป็นที่สิ่งที่เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ และไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
...จะต้องมีเคล็ดมีพิธี เชื่อผีสางเทวดาต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์....ไม่เคยคำนึงถึงเหตุผล คงมีแต่ความยึดมั่นถือมันตามตำราบ้าง
เคยทำมาแล้วไม่ยอมเปลี่ยนแปลงบ้าง...
แม้ที่อ้างตนว่าเป็นพุทธบริษัท อุบาสกอุบาสิกา ก็ยังยึดมั่นถือมั่นกันคนละอย่างสองอย่าง...
แม้วิปัสสนากรรมฐาน.....ถ้าทำไปด้วยความไม่รู้เหตุผลต้นปลาย ไม่รู้ความหมายอันแท้จริง...
แม้ที่สุดจะรักษาศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ...จะมีอำนาจฤทธิ์เดชอะไรขึ้นมาแล้ว ก็กลายเป็นกิจวัตรที่มุ่งผิดทาง
การประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น จะต้องให้ถูกไปตั้งแต่เริ่มมีความคิด
ความเห็นความพอใจ ในผลของการทำลายกิเลสไปตั้งแต่ต้นทีเดียว



๔.อัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นโดยความเป็นตัวเป็นตน
ความยึดมั่น ว่าตัว ว่าตนนี้ เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นสิ่งเร้นลับอย่างยิ่ง สิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดย่อมจะรู้สึกว่า มันเป็นตัวตนของมันอยู่ดังนี้เสมอไปอย่างช่วยไม่ได้ เป็นสัญชาตญาณขั้นต้นที่สุดของสิ่งมีชีวิต เช่น สัญชาตญาณหาอาหารกิน ต่อสู้อันตราย หลบหนีอันตราย สืบพันธุ์และอื่นๆ ซึ่งมีประจำอยู่ในสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว มันจะมีชีวิตรอดมาไม่ได้
แต่อันนั้น มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ ในการแสวงหาอาหารในการต่อสู้ ในการสืบพันธุ์ หรือในการทำอะไร ๆ ทุก อย่าง ฉะนั้นมันเป็นรากฐานแห่งความทุกข์ทั้งปวง
อุปาทานข้อนี้เป็นต้นกำเนิดของชีวิต และเป็นต้นกำเนิดของความทุกข์ต่าง ๆคำที่ว่า
“ชีวิตคือความทุกข์-ความทุกข์คือชีวิต” (๑๒๙)
ถ้ายังเป็นคนธรรมดา คือเป็นปุถุชนอยู่แล้ว  ย่อมไม่มีทางที่เอาชนะสัญชาตญาณข้อนี้ได้เลย มีแต่พระอริยเจ้าอันดับสุดท้าย คือพระอรหันต์เท่านั้นที่จะเอาชนะสัญชาตญาณข้อนี้ได้ เราต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อยเลย เพราะเป็นปัญหาสำคัญของสิ่งมีชีวิตทั่ว ๆ ไปทั้งสิ้น


                ...(๑๓๔) เมื่อมันมาในลักษณะเช่นนี้ ย่อมเป็นการยากที่เราจะรู้สึกตัวหรือควบคุมมันได้ จึงต้องอาศัยสติปัญญา ความรู้ของพระพุทธ และจะต้องศึกษาปฏิบัติ ควบคุมความยึดมั่นที่ผิด ๆ เหล่านี้ให้อยู่ในอำนาจของปัญญา เราก็สามารถดำรงชีวิตนี้ไม่ให้มีความทุกข์ทรมาน หรือทุกข์แต่น้อยที่สุดจนสามารถปฏิบัติหน้าที่การงาน หรือมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ในลักษณะที่เยือกเย็น  มีความสะอาด สว่างสงบเย็นอยู่ได้


                “จิตหลุดพ้นจากอุปาทาน” .......เมื่อจิตหลุดพ้นจากความยึดมั่นแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะผูกพันคล้องจิตนั้น ให้ตกเป็นทาสของโลกหรือเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป...การหลุดพ้นจากความยึดมั่นที่ผิด ๆ จึงเป็นใจความสำคัญที่สุดของพุทธศาสนา


หมายเหตุ : ติดตามอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ในหนังสือ “คู่มือมนุษย์” ของท่านพุทธทาส ภิกขุ
ข้อมูลจาก หนังสืองานอนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ นายบุญเติม จันทร์บรรเจิด


ขอขอบคุณ ไว้ ณ ที่นี้






Free TextEditor




 

Create Date : 15 สิงหาคม 2554   
Last Update : 27 ธันวาคม 2554 11:44:28 น.   
Counter : 1011 Pageviews.  
space
space
ไตรลักษณ์: ลักษณะสามัญของสิ่งทั้งปวง(และความอยาก)จากหนังสือคู่มือมนุษย์ (ท่านพุทธทาสภิกขุ)

ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา









 

อนิจจัง แปลว่า ไม่เที่ยง
สิ่งทั่งหลายมีลักษณะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไป ไม่มีความคงที่ตายตัว


ทุกขัง แปลว่า เป็นทุกข์
สิ่งทั่งหลายทั้งปวงมีลักษณะที่เป็นทุกข์มองดูแล้วน่าสังเวชใจ ทำให้เกิดความทุกข์ใจ


อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน 
ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ไม่มีลักษณะอันใดที่จะทำให้เรายึดถือได้ว่า มันเป็นตัวเราของเรา











 

...แต่...ไม่ใช่วิสัยที่จะเห็นได้ด้วยการฟัง หรือด้วยการท่อง ...
การคำนึงคำนวณเอาตามหลักเหตุผลนั้นไม่ใช่
“การเห็นแจ้ง”
...เห็นธรรม...
ต้องเห็นด้วยความรู้สึกภายในที่แท้จริง ...เกิดความรู้สึกแก่จิตใจขึ้นมาจริง ๆ
แล้วเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความสลดสังเวชขึ้นมา
(หน้าที่ ๗๒ จากเล่มจริง)



การเห็นแจ้งทำนองนี้ อาจเลื่อนสูงขึ้นไปตามลำดับ จนกว่าจะถึงเรื่องสุดท้ายที่ทำให้ปล่อยวางสิ่งทั้งปวงได้


..ผู้ที่ท่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือพิจารณาอยู่ทั้งวันทั้งคืน แต่ถ้าไม่เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อสิ่งทั้งปวง คือไม่อยากเอาอะไร ไม่อยากเป็นอะไร ไม่อยากยึดถือในอะไรแล้ว ...จึงสรุปการเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน ลงไว้ที่คำว่า “เห็นจนเกิดความรู้สึกจนไม่มีอะไรที่น่าเอาหรือน่าเป็น” (หน้าที่ ๗๔ จากเล่มจริง)









 

ความทุกข์นั้นมาจากความอยาก สมดังที่พระพุทธเจ้าท่านจัดความอยากไว้ในเรื่องอริยสัจข้อที่สอง....
ความอยากมีอยู่ ๓ อย่าง


กามตัณหา à ความอยาก ในสิ่งที่น่ารักใคร่พอใจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อะไรก็ได้


ภวตัณหา à ความอยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้


วิภวตัณหา à ความอยาก ไม่ให้มีอย่างนั้น ไม่ให้เป็นอย่างนี้ (หน้าที่ ๗๕ จากเล่มจริง)




ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การกินอาหาร ถ้ากินด้วยตัณหา หรือด้วยความอยากในความเอร็ดอร่อย การกินอาหารของผู้นั้นต้องมีอาการต่างจากบุคคลที่ไม่กินอาหารด้วยตัณหา แต่กินด้วยสติสัมปชัญญะ หรือมีปัญญารู้ว่าอะไรเป็นอะไร ...........ความรู้สึกในขณะกิน ก็จะต้องผิดกัน ; ในที่สุด ผลอันเกิดจากการกินก็จะต้องผิดกัน (หน้าที่ ๙๒ จากเล่มจริง)


เราต้องทำความเข้าใจกันในข้อที่ว่า แม้จะไม่ต้องมีตัณหาหรือความอยากในรสอร่อย คนเราก็กินอาหารได้ ..............บุคคลที่ไม่มีกิเลสตัณหาเลย ก็ยังทำอะไร ๆ ได้ เป็นอะไร ๆ ได้ ยังทำงานมากกว่าพวกเรา ที่ทำด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา... (หน้าที่ ๙๓ จากเล่มจริง) ท่านทำด้วยอำนาจของปัญหา คือความรู้ที่แจ่มแจ้งถึงที่สุดว่า อะไรเป็นอะไร


.......ถ้าทำไปด้วยตัณหา มันจะร้อนใจเมื่อกำลังทำ และร้อนใจเมื่อทำเสร็จแล้ว แต่ถ้าทำด้วยอำนาจของปัญญาควบคุมอยู่ จะไม่ร้อนใจเลย ผลแตกต่างกันอย่างนี้ ฉะนั้นเราจำเป็นต้องรู้เสมอว่า สิ่งทั้งหลายโดยที่แท้แล้วเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น  จะเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็เข้าไปด้วยปัญญา การกระทำของเราก็จักไม่ตกหล่มของกิเลสตัณหา (หน้าที่ ๙๖ จากเล่มจริง)









 

...แม้ไม่เคยบวชไม่เคยรับศีล แต่ก็เป็นบุคคลที่เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างแท้จริง
 เขามีจิตใจอย่างเดียวกับ
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือมีความสะอาด สว่าง สงบในใจ
เพราะเหตุที่ไม่ยึดถือในสิ่งใด ว่าน่าเอา หรือน่าเป็นนั่นเอง
 เขาจึงเป็นพุทธบริษัทขึ้นมาได้โดยสมบูรณ์ อย่างง่ายดายและอย่างแท้จริง
ด้วยอาศัยอุบายถูกต้อง ที่พิจารณา มองเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่ใช่ตัวตน ของตัวของตน
 จนเกิดความรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่ น่าเอา น่าเป็นสักอย่างเดียว (หน้าที่ ๑๐๔ จากเล่มจริง)



หนังสือคู่มือมนุษย์ ฉบับงานหนังสืองานอนุสรณ์
งานพระราชทานเพลิงศพ นายบุญเติม จันทร์บรรเจิด


ขอขอบคุณ ไว้ ณ ที่นี้


(เป็นเรื่องที่ยากจริง ๆ เราอาจยึดถือพระพุทธศาสนาในแง่ของ ศิลปะการครองชีวิต ก็ยังยากแล้วเลย ต้องอาศัยการฝึกฝน และปฏิบัติ ข้าพเจ้าอาจจะพอล่อหลอกตัวเองว่า ยึดหลักทางสายกลางเอียงไปทางหย่อนเล็กน้อยไปพราง ๆก่อน)



 



Free TextEditor




 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2554   
Last Update : 27 ธันวาคม 2554 11:44:41 น.   
Counter : 1315 Pageviews.  
space
space
พระพุทธศาสนาในหลายเหลี่ยม: คู่มือมนุษย์ท่านพุทธทาส

ตอน: ท่านชอบพุทธศาสนาในเหลี่ยมไหน


งานหนังสืองานอนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ นายบุญเติม จันทร์บรรเจิด
ขอขอบคุณ ไว้ ณ ที่นี้
(หมายเหตุ เลขที่หน้าที่อ้างอิงจะตรงกับ หนังสือจากงานอนุสรณ์ แต่ไม่ตรงกับคู่มือมนุษย์ ฉบับเต็ม)


(หน้า ๓)                 ศาสนาเหมือนกับของหลายเหลี่ยม ดูเหลี่ยมหนึ่งมันก็เป็นไปอย่างหนึ่ง ดูอีกเหลี่ยมมันก็เป็นไปอีกอย่างหนึ่ง แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะถือหลักการคิดในแนวไหนก็จะเห็นศาสนาเดียวกันในลักษณะที่แตกต่างกันได้ : แม้พุทธสาสนาก็ตกอยู่ในลักษณะเช่นนี้


 (หน้าที่๔)              พุทธศาสนาคือวิธีปฏิบัติ เพื่อเอาตัวรอดจากความทุกข์ โดยการทำให้รู้ความจริงว่า อะไรเป็นอะไร ตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงทำได้ก่อนและได้ทรงสอนไว้, แต่คัมภีร์ทางศาสนานั้นย่อมมีอะไร ๆ เพิ่มขึ้นได้ ทุกโอกาสที่ชนชั้นหลังเขาจะเพิ่มเติมลงไป พระไตรปิฎกก็ตกอยู่ในฐานะอย่างเดียวกัน คนชั้นหลัง ๆ เพิ่มเติมข้อความเข้าไปตามที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับยุคนั้น ๆ  เพื่อจะช่วยให้คนมีศรัทธามากขึ้น ๆ หรือกลัวบาป รักบุญมากขึ้น ซึ่งอาจจะมากเกินขอบเขตจนกระทั่งเกิดการเมาบุญกันใหญ่...   


(หน้า๘)                  ...พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งศีลธรรม (Moral) เพราะมีกล่าวถึงบุญบาป ความซื่อตรง ดีชั่ว ความกตัญญูกตเวที ความสามัคคี...และอะไรต่าง ๆ อีกมากมาย


(หน้า๙)                   พุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง สูงขึ้นไปเป็นสัจธรรม (Truth) คือ กล่าวถึงความจริงที่ลึกซึ้ง เร้นลับ นอกเหนือไปกว่าที่คนธรรมดาสามัญจะเห็นได้ ส่วนนี้ก็ได้แก่ความรู้เรื่องความว่างเปล่าของสรรพสิ่งทั้งปวง(สุญญตา), เรื่องความไม่เที่ยง (อนิจจัง),ความเป็นทุกข์ (ทุกัง), ความไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) ; ...; ในฐานะเป็นความจริงอันเด็ดขาดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ (อริยสัจจ์)


                                พุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นศาสนา (Religion) คือส่วนที่เป็นตัวระเบียบปฏิบัติ ซึ่งได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา กระทั่งผลที่เกิดขึ้นคือความหลุดพ้น และปัญญาที่รู้เห็นความหลุดพ้น ว่าเมื่อใครปฏิบัติแล้วจะหลุดพ้นไปจากความทุกข์ได้จริง...


                                ..พุทธศาสนาในเหลี่ยมที่เป็นจิตวิทยา (Psychology) เช่นคัมภีร์พระไตรปิฎกภาคสุดท้าย กล่าวบรรยายถึงลักษณะของจิตไว้กว้างขวางอย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด เป็นที่งงงันและสนใจแก่นักศึกษาทางจิตแม้แห่งยุคปัจจุบัน เป็นความรู้ทางจิตวิทยาที่จะอวดได้ว่าแยบคายหรือลึกลับกว่าความรู้ทางจิตวิทยาของโลกปัจจุบันไปเสียอีก


(หน้าที่๑๐)             พุทธศาสนา...ปรัชญา(Philosophy) คือสิ่งที่ทดลองไม่ได้ ยังต้องอาศัยการคำนึงคำนวณไปตามหลักแก่งการใช้เหตุผลแห่งการคำนึงคำนวณระบอบหนึ่ง แต่ถ้าเห็นแจ้งประจักษ์ได้ด้วยตา หรือด้วยการพิสูจน์ทดลองตามทางวัตถุ หรือแม้เห็นชัดด้วย “ตาใน” คือญาณจักษุก็ตาม เรียกว่าเป็น วิทยาศาสตร์ (Science) ได้ ความรู้อันลึกซึ้ง เช่นเรื่องสุญญตาย่อมเป็นปรัชญาสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรมไปพลางก่อน แต่จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ทันที่สำหรับผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว...


                                หลักพระพุทธศาสนาบางประเภท ก็เป็นวิทยาศาสตร์...โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอริยสัจจ์เป็นต้น ถ้าผู้ใดมีสติปัญญาสนใจศึกษาค้นคว้าแล้วจะมีเหตุผลแสดงอยู่ในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มืดมัวเป็นปรัชญาเหมือนอย่างบางเรื่อง


                                ....คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาหลายข้อที่ตรงกับหลักวัฒนธรรมสากล...


                                ...พุทธศาสนาส่วนที่เป็นตรรกวิทยา (Logic) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่โยกโคลงที่สุด...โดยเฉพาะในพวกพระอภิธรรมปิฎกบางคัมภีร์ เช่นคัมภีร์กถาวัตถุ เป็นต้น


                แต่อย่างไรก็ตามอยากจะขอยืนยันว่า พุทธศาสนาซึ่งชาวพุทธจะต้องสนใจที่สุด นั่นคือ เหลี่ยมที่เป็นศาสนา ซึ่งหมายถึงวิธีปฏิบัติโดยรวบรัด เพื่อให้รู้ความจริงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร จนถอนความยึดถือหลงใหลต่าง ๆ ออกมาเสียจากสิ่งทั้งปวงได้ การกระทำเช่นนี้เรียกว่า เราเข้าถึงตัวพระพุทธศาสนา ในฐานะเป็นพุทธศาสนา


                อย่างน้อยที่เราสุด เราทั้งหลายควรถือ พุทธศาสนาในฐานะเป็นศิลปะ (Art)  ซึ่งในที่นี้หมายถึงศิลปะแห่งการครองชีวิต คือ
เป็นการกระทำที่แยบคายสุขุม ในการที่จะมีชีวิตอยู่เป็นมนุษย์ให้น่าดูน่าชมน่าเลื่อมใสน่าบูชาเป็นที่จับอกจับใจแก่คนทั้งหลาย จนคนอื่นพอใจทำตามเราด้วยความสมัครใจไม่ต้องแค่นเข็นกัน
เราจะมี ความงดงามในเบื้องต้น ด้วยศีลบริสุทธิ์ มีความงดงามในท่ามกลาง ด้วยจิตใจสงบเย็น เหมาะสมที่จะทำงานในด้านจิต
มีความงดงามในเบื้องปลาย ด้วยความสมบูรณ์แห่งปัญญา คือรู้แจ้งสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร จนไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะสิ่งทั้งปวงนั้น...






Free TextEditor




 

Create Date : 08 กรกฎาคม 2554   
Last Update : 8 กรกฎาคม 2554 15:10:09 น.   
Counter : 915 Pageviews.  
space
space
1  2  3  

normalization
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




"ขอทุกท่านจง ปกติสุข ในทุกวัน"
วันแรกสร้าง : 25 กุมภา.54

เป็นเพียงการบอกกล่าว เล่าเรื่อง ตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจ
หากว่ามีประโยชน์บ้างแม้เพียงเล็กน้อย ข้าพเจ้าก็ยินดียิ่ง
หากว่าส่วนใดผิดพลาด ฝากข้อความไว้ได้เสมอ
@comeback 18/1/18

free counters สำหรับธงขอขอบคุณ blog paradijs
space
space
space
space
[Add normalization's blog to your web]
space
space
space
space
space