นาน นาน ที บล๊อก - ยินดีที่ผ่านมาพบนะ ปล.ช่วงนี้ หนี้เยอะ งดเที่ยว พักหนังสือ มารับจ้างทำงานก่อนนนนน
space
space
space
space

ความรู้คู่คุณธรรม:ความรู้กับความดีเรามีสิ่งไหนมากกว่ากัน
ชื่อหนังสือ : ความรู้คู่คุณธรรม
RAM1000
รศ.ดร.โฆษิต อินทวงศ์

เนื้อหาส่วนใหญ่อธิบายถึงความสำคัญของการศึกษา และการศึกษาที่ดีนั้นควรมุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้เพื่อให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งความรู้ และ คุณธรรม เกิดประโยชน์ต่อตนเอง สังคม ประเทศชาติโดยส่วนรวม หลายหัวข้อที่เป็นหลักการดั้งเดิมที่เราหลงลืมไป ไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยี หรือการพัฒนาที่ไร้ทิศทาง จนเกิดการหลง ลื่นไหลไปกับกระแสทุนนิยมที่มากเกินไป การศึกษาที่มุ่นเน้นความรู้ ความเก่งเพียงอย่างเดียว คุณธรรมประจำใจที่ไม่ใช่เอาไว้ท่องจำ แต่ยังใช้เพื่อให้เกิดความสงบสุขที่แท้จริง เริ่มจากจุดเล็กๆ คือ ความสงบสุขในใจของเราเอง คล้ายกับว่าเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จะช่วยเรากำหนดทิศทางในการเรียน และทิศทางหลังการเรียนจบ ในหัวข้อแรกๆ จะอธิบายความสำคัญของคุณธรรม และแนวโน้มการดำรงชีวิตของคนในสังคมไทย ซึ่งถ้าเราไม่คิดเอะใจ อาจไม่คิดว่าสังคมเรากำลังเกิดปัญหามากมาย และการศึกษาไม่ได้ช่วยชะลอความเสื่อมทรามได้เลย แม้ว่าโลกาจะภิวัฒน์ เทคโนโลยีจะล้ำสมัย แต่มันใช่หรือไม่ ว่านี่คือเส้นทางการพัฒนาประเทศ...และเราทุกคนก็กำลังอยู่บนเส้นทางนั้นด้วย เส้นทางที่ยังวงวน เดินหน้าหนึ่งก้าว ถอยหลังสองก้าว วิ่งไปข้างๆ แล้วกลับมาจุดเริ่มต้นใหม่ แต่คิดว่าเราไปได้ไกลแล้ว เราอาจคิดว่าการเรียนหนังสือได้วุฒิสูง จบจากสถาบันที่มีชื่อเสียง เป็นเครื่องยืนยันว่าเราวิ่งไปข้างหน้า เราแน่ใจหรือ...

ตัวอย่างประโยคจุกๆ ที่ต้องหยุดถามตัวเอง
“เพราะสังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่ไม่ค่อยให้เกียรติกัน ถามว่าทำไมไม่ให้เกียรติกัน เพราะคิดว่าตนเองวิเศษ คิดว่าตนเองดีแล้ว เก่งแล้ว ไม่ฟังใคร ไม่รู้เรื่องอะไรทั้งนั้น มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง” หน้า 39 รองศาสตราจารย์รังสรรค์ แสงสุข
(ไม่รู้ว่าเพราะยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง เราส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กกล้าแสดงออกมากเกินไปหรือเปล่า ให้เด็กๆ ของเราเชื่อมั่นในตนเอง แต่การกลับเป็นว่า เชื่อมั่นมันล้นเหลือ)

“เพราะฉะนั้นแล้วคำว่าครูคนละอย่างสอนอะไรพวกเธอรู้ไหม ก็สอนให้พวกเธอไม่ดูถูกคน แม้ว่าเขาจะเป็นคนบ้านนอก ไม่มีการศึกษา เป็นคนที่อายุน้อยกว่าเรา เป็นคนเก็บขยะ ก็สามารถเป็นครูคนละอย่างได้” หน้า 52 รองศาสตราจารย์รังสรรค์ แสงสุข
(อยากให้คำว่า ครูคนละอย่าง เป็นคำขวัญวันเด็ก เพื่อให้เด็กๆ ในรุ่นถัดไป เลิกยี้เมื่อเจอคนกวาดขยะ เลิกยี้เมื่อเจอนักการเมือง เลิกยี้เมื่อเจอผู้ร่วมงานที่อยู่คนละสี เพราะถ้ารุ่นนี้....ไม่น่าจะทันการณ์เสียแล้ว)

“พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธตอบ ชนะความเลว ด้วยความดี ชนะความตระหนี่ ด้วยการให้ ชนะคนพูดพล่อยๆ ด้วยคำพูดจริง”
หน้า 95,พุทธภาษิตเตือนตนเอง
(เราจะชนะคนที่เราคิดว่าเขาเลว โดยการเลวกว่า หรือ ทำอะไรๆ ก็ได้ เพราะมีข้อยกเว้น เช่น ใช้กำลัง หรือพวกมาก หรือ ตำแหน่งสูงกว่า หรือ เงินเดือนมากกว่า นั้นไม่มีวันชนะ ภายนอกอาจชนะ แต่ความรู้สึกไม่ยอมแพ้มันจะคุอยู่ข้างไหน ซึ่งน่ากลัวกว่าเมื่อความโกรธที่ถูกเก็บกดมันปะทุออกมา หากเราคิดจะพูดเพื่อให้ชนะ แล้วไม่ทำอะไรดีๆ จริงๆ เราจะไม่มีวันชนะ....)

“พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า รู้ไหม บ้านเมืองเราอยู่รอดทุกวันนี้ เพราะอะไร เพราะคนไทยเรายังให้กันอยู่” หน้า 101,หลัก 10 ประการตามรอยพระยุคลบาท
(อยากให้สังคมไทยกลับมาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ให้ร้อยยิ้ม ให้ข้าวให้น้ำ ให้สิ่งดีๆ กันเหมือนเดิม อย่าให้เลย นกหวีด หรือ 30%บนโต๊ะ)

“เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา จงเลือกเอาส่วนที่ดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
จะหาคนมีดีโดยส่วนเดียว อย่ามัวเที่ยวค้นหาสหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเปล่าเลย ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง”
หน้า 107,พุทธทาสภิกขุ

“เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ
หาความสำราญโดยไม่ยั้งคิด
ร่ำรวยเป็นอกนิษฐ์โดยไม่ต้องทำงาน
มีความรู้มหาศาลแต่ความประพฤติไม่ดี
ค้าขายโดยไม่มีหลักศีลหลักธรรม
วิทยาศาสตร์เลิศล้ำแต่ไมมีธรรมแห่งมนุษย์
บูชาสูงสุดแต่ไม่มีความเสียสละ”
หน้า 114,บาป 7 อย่างต่อสังคม,อ.เรืองอุไร กุศุลาศัย แปลไว้ในหนังสือ โลกทั้งผองพี่น้องกัน (2523)
(อย่างนี้แล้ว สังคมไทยคงเข้าสู่ยุค บาป 7 อย่างครองเมืองเป็นแน่)

“สมบัติผู้ดี 10 ภาค”
“กายจริยา :
ย่อมไม่ส่งของให้ผู้อื่นด้วยกิริยาอันเสือกไสผลักโยน ( เจอบ่อยๆ)
ย่อมไม่หาวเรอให้ปรากฏในที่ชุมชน (เคยทำบ้าง เกือบจะบ่อย)
แม้ผู้ใดเคารพก่อน ย่อมต้องตอบเขาทุกคน ไม่เฉยเสีย (ทักตอบเกือบทุกครั้ง จนถูกคนมองว่าแปลก)
ย่อมไม่รวบสามตะกลามสี่กวาดฉวยเอาของที่เขาตั้งไว้เป็นกลาง จนเกินส่วนที่ตนจะได้” (เจอบ่อยๆ)
หน้า 129-139
(ผู้ดี = ผู้ + ดี ไม่ได้สงวนสิทธ์ไว้ที่คนรวย ดร. หรือ มีปริญญา บางข้อก็โดนใจ เพราะไม่อยากให้ผู้คนนั้นกระทำต่อกัน เช่น พ่นควันใส่คนอื่น เดินตัดหน้า แย่งที่นั่ง พูดสอดเสียดยุยง ไม่ซอกแซกเรื่องส่วนตัว ง่ายๆ ว่า อย่าเยอะ...)

ฯลฯ
(ในวงเล็บเป็นความเห็นของ จขบ. หาอ่านเพิ่มเติมได้ มีให้โหลดฟรีของ มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

เคยไหม บางครั้งที่เราใช้ชีวิตโดยแวดล้อมไปด้วยแสงสี เทคโนโลยี สิ่งของราคาแพง สิ่งของสวยงาม แต่ความเหนื่อย ความสับสน และ โดดเดี่ยว กลับเพิ่มมากขึ้น คุณค่าของเราขณะที่เราเดินอยู่บนถนน มีชีวิตบนอินเตอร์เน็ต เป็นกลุ่มคนแถวหน้าในที่ทำงาน กลับความรู้สึกต่อคุณค่าของตัวเราเอง ขณะที่นั่งนิ่งๆ เงียบๆ คนเดียวในห้อง ลองถามตัวเอง ว่าเส้นทางที่เราเดิน ชีวิตที่เราใช้ นั้นสมบูรณ์พูนสุขเข้าไปในจิตใจจริงๆ หรือ




 

Create Date : 27 ธันวาคม 2556   
Last Update : 8 มกราคม 2557 12:45:47 น.   
Counter : 2062 Pageviews.  
space
space
การเดินทางของพาย พาเทล Life of PI “เรื่องเล่าของพายทำไมถึงดัง”3จบจร้า

หมายเหตุ : ในเครื่องหมาย “...” เป็นข้อความจากหนังสือ, ใน เครื่องหมาย (...) เป็นความคิดเห็นของ จขบ.

โดยส่วนตัวมันไม่ใช่หนังสือศาสนา ไม่ใช่การผจญภัยสุดลิ่ม แต่เป็นเรื่องของจิตใจมนุษย์ที่มีความคิดสับสนปนเปท่วมท้น มีความรักในตัวเอง มีความโกรธความเกลียดตัวเองและความกลัวต่อมนุษย์ต่อสรรพสิ่ง หนังสือที่ฉันค้นพบคือเรื่องราวความซับซ้อนของจิตใจ ความยุ่งเหยิงของอารมณ์แต่พยายามที่จะมีชีวิตรอดทั้งในอดีตและปัจจุบัน....ไม่แน่ว่าเขายังคงเดินทางค้นหาเส้นทางรอดจากทะเลเวิ้งว้างนั้นอยู่

 

ภาคสาม บทสนทนาในโรงพยาบาลเบนีโต เม็กซิโก

 

การสอบสวนหาสาเหตุการจมของเรือขนส่งสินค้าซิมซัมของเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นโดยการสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียว “พาย พาเทล” ภาคนี้มีเนื้อหาหนักหน่วงเข้มข้นกว่าในภาพยนตร์มาก เรื่องเล่าเกี่ยวกับคนบนเรือ การฆ่ากะลาสีที่ขาหักแล้วใช้ร่างกายของเขาเป็นเหยื่อในการหาอาหาร การฆ่าแม่ของพาย และการฆ่าพ่อครัว
ความเจ็บปวด ผิดบาป ทุกข์ตรมหมองไหม้

 

หน้า 308-309 บทสนทนาความขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ

 

(พายเล่าเรื่องต้นไม้กินเนื้อสัตว์บนเกาะกลางทะเลสาหร่ายกินปลาที่กรองน้ำจืดเป็นน้ำเค็ม)
“ของแบบนี้ไม่มีในโลกหรอกครับ” (จนท.ญี่ปุ่น), “คุณไม่เชื่อเพราะคุณไม่เคยเห็น”(พาย),
“ถูกต้อง เราเชื่อแต่สิ่งที่เห็นเท่านั้น” (จนท.ญี่ปุ่น)

 

(จนท.ญี่ปุ่นอธิบายเรื่อง บอนไซ ต้นไม้ที่อายุเป็นร้อยปีแต่ความสูงไม่ถึงสองฟุต) 
 “ใครจะไปเชื่อเรื่องต้นไม้แบบนั้น มันผิดหลักพฤกษศาสตร์” (พาย),
“มีจริงๆ นะ คุณพาเทล” (จนท.ญี่ปุ่น),
“ผมเชื่อแต่สิ่งที่เห็นเท่านั้น” (พาย)

 

(ต่างคนต่างเชื่อในสิ่งที่เห็นและต้องการที่จะเชื่อ อีกทั้งยังต้องการให้อีกฝ่ายเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเชื่ออีกด้วย เป็นเรื่องยากจริงๆ ที่คนเราจะพยายามให้คนอื่นเปลี่ยนความเชื่อ ไม่ว่าความเชื่อนั้นจะเป็นความจริงที่พิสูจน์ได้หรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความจริงจากวิทยาศาสตร์ หรือความเชื่อความศรัทธาในสิ่งที่มองไม่เห็น เท่าที่ทราบเพียงน้อยนิด ความเชื่อเป็นอีกหนึ่งอย่างอุปาทาน คนไทยจึงมีคำพูดที่ชอบพูดแต่ไม่ชอบทำว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องผีสาง
แต่รวมไปถึง ความเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ เพราะลบลู่ ดูถูก ค่อนแคะไป ก็หาประโยชน์อันใดไม่)

 

หน้า 312 (คำพูดเกี่ยวกับความเชื่อที่ฉันคิดว่าพายทะลักจุดเดือด สิ่งซึ่งอาจเป็นสิ่งเดียวที่พายมี) “ไม่ต้องมาพูด “ครับ” ไม่ต้องมาสุภาพอย่างโน้นอย่างนี้ ความรักเป็นสิ่งยากที่จะเชื่อ ถามคู่รักคนไหนดูก็ได้ ชีวิตยากที่จะเชื่อ ถามนักวิทยาศาสตร์คนไหนดูก็ได้ พระเจ้ายากที่จะเชื่อ ถามผู้มีศรัทธาคนไหนดูก็ได้ ทำไมคุณต้องมีปัญหากับเรื่องยากที่จะเชื่อด้วย”

 

หน้า 318 (คำพูดธรรมดาของพาย แต่ฉันรู้สึกร้าวลึกในตอนท้าย ขัดแย้งในตอนต้น) “ผมรู้แล้วว่าคุณอยากได้อะไร คุณอยากได้เรื่องที่ไม่อยู่เหนือความคาดหมาย เรื่องที่ฟังแล้วสายตาเราไม่มองไกลกว่าเดิม สูงกว่าเดิม หรือแตกต่างจากเดิม คุณอยากได้เรื่องเล่าพื้นๆ ไม่ต้องลีลามาก
คุณอยากได้ข้อเท็จจริงอันแห้งแล้งและไม่ช่วยเปิดทางสู่สวรรค์”
(ข้อเท็จจริงที่ไม่ช่วยเปิดทางสู่สวรรค์-เจ็บจริงในคำนี้, เรื่องที่ฟังแล้วไม่มองไกล ไม่สูงกว่า ไม่แตกต่าง-บางเรื่องเราก็ควรมองแค่ความเป็นจริงนะมันอาจเจ็บปวดและผิดหวังน้อยกว่าเดิม)

 

 

หน้า 321-325 (เรื่องเล่าเริ่มสุดทนหลังจากพายแอบกินขนมปังกรอบที่คนครัวยื่นให้จนเหลือแต่เศษขนมปัง ใช้เนื้อของกะลาสีเป็นอาหาร พ่อครัวที่อาหารเก่งแต่จิตใจแตกละเอียด ย่อยยับ และการยอมจำนนต่อชีวิตของแม่ คนครัวและพาย) “ผมอยากให้แม่โกรธ อยากให้แม่ทำโทษ อะไรก็ได้ แต่อย่ามึนตึงแบบนี้ ผมคอยจัดเสื้อชูชีพปูให้กะลาสี หาโอกาสอยู่ใกล้ๆ แม่แล้วกระซิบ “ผมขอโทษครับแม่ ผมขอโทษ”...”
(ในเวลาเช่นนี้กลางทะเลเวิ้งว้าง บรรยากาศทุกข์ทนจริงๆ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่พายเล่าในภาคแรกว่าจำหน้าแม่ไม่ได้รวมกับสาเหตุอื่น)
“มันไม่ยอมล้ม คงเงยหน้าเล็กน้อย มองตาผม เหมือนจะบอกใบ้ ผมรับคิวจากมัน
เชือดคอมันใกล้ลูกกระเดือก
มันทรุดฮวบ แล้วขาดใจตาย มันไม่พูด ไม่สั่งลาก่อนตาย ...
เลือดฉาบเคลือบรอยแตกแห้งที่มือผม หัวใจมันช่างควักยากเย็น...
รสชาติอร่อย อร่อยกว่าเนื้อเต่ามาก...”
“มันเป็นคนชั่วช้าสารเลว ที่แย่คือมันไปปลุกปีศาจในตัวผม
ความเห็นแก่ตัว ไร้ปรานี เป็นบาปที่ผมต้องทนอยู่กับมัน”
“ชีวิตเดียวดายเริ่มต้น ผมหาพระเจ้า และรอดตาย”

 

 

 

 

หน้า 332 “ในทั้งสองเรื่อง เรือจม ครอบครัวผมตายหมด และผมต้องเผชิญวิบากกรรม”
“ในเมื่อคุณว่าทั้งสองเรื่องไม่แตกต่างกันในแง่ของข้อเท็จจริง จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงก็ไม่ได้ บอกผมสิว่า ชอบเรื่องไหนมากกว่ากัน เรื่องเล่าไหนดีกว่ากัน เรื่องเล่าที่มีสัตว์ หรือเรื่องเล่าที่ไม่มีสัตว์”
(พายถามจนท.ญี่ปุ่น)

“เรื่องเล่าที่มีสัตว์” (จนท.ญี่ปุ่นตอบ)
“ขอบคุณ พระเจ้าก็คงว่าเช่นนั้น”
“ดูสิ...เขากำลังร้องไห้” (จนท.ญี่ปุ่นพูด)

 

(ชีวิตมันยากและง่าย คำว่าข้อเท็จจริงและเรื่องเล่า สองคำนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง เราจะอยู่กับเรื่องอะไร และเพราะอะไร นั่นก็เป็นสิทธิอันชอบทำ...คือชอบที่จะทำของคนแต่ละคน ชีวิต...มันยาก...และมันง่าย
เพราะชีวิตมันซับซ้อน ไอ้เพื่อนบ้าๆ คนหนึ่งมันชอบพูดไว้)

(แล้วคุณล่ะ ชอบเรื่องไหน เชื่อเรื่องไหน......

 

จบเสียที...หนังสือฉุกคิด

 




 

Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2556   
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2556 12:01:38 น.   
Counter : 1224 Pageviews.  
space
space
การเดินทางของพาย พาเทล Life of PI “เรื่องเล่าของพายทำไมถึงดัง”2

หนังสือที่อ่านจริงจังแล้วมันส์ดี แต่ตอนอ่านเพลินๆมีเครียด

หมายเหตุ : ในเครื่องหมาย “...” เป็นข้อความจากหนังสือ, ใน เครื่องหมาย (...) เป็นความคิดเห็นของ จขบ.

 

ภาคแรก เรื่องก่อนเรือขนส่งสินค้าแตกและอับปาง พาย พาเทล บรรยายความคิดหลังจากรอดชีวิตแล้วมาเรียนต่อที่โทรอนโต เลือกเรียนวิชาศาสนาและสัตววิทยา ซึ่งบ่งบอกภูมิหลังและความคิดของเขา เขาเริ่มเล่าเรื่องวัยเด็ก(บทที่16) การนับถือ การหาความรู้ในศาสนา 3 ศาสนา คริสต์ อิสลาม ฮินดู (น่าเสียดายไม่มีศาสนาพุทธรวมอยู่ด้วย เรื่องเล่าอาจเปลี่ยนไป) พายรักศาสนา รักสวนสัตว์ ขณะเดียวกันเขาแสดงอารมณ์รุนแรงเกี่ยวกับคนที่เข้าใจศาสนาไม่เหมือนเขา และคนที่ไม่ชอบสวนสัตว์ (มันดูสับสนและน่าเศร้าใจในความคิดของฉัน)

 

หน้า 21 “บางครั้งบางคราวความรู้จากสองวิชาเอกก็มาพานพบกัน เห็นเพื่อนเอกวิชาศาสนาบางคนแล้วอดนึกถึงตัวสลอทสามนิ้วไม่ได้ (สัตว์เชื่องช้า ตอบสนองสิ่งรอบข้างน้อยมาก) พวกไร้ศรัทธาไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่รู้ดีรู้ชั่ว สำคัญผิดคิดว่าเหตุผลคือปัญญา
ชีวิตมหัศจรรย์ของตัวสลอทสามนิ้วชวนให้ถวิลถึงพระเจ้า”

(ฉันขีดเส้นใต้ คำที่ทำให้คิดไปว่า พาย ค่อนข้างขุ่นเคืองในชีวิต)

 

หน้า 22 (พายเล่าเรื่องการไม่ได้รางวัลทุนเรียนออกซฟอร์ด และ ฝรั่งได้รางวัลไปแทน) “พูดถึงเรื่องนี้ไรผมมักจะเสียวแปลบนิดๆ ในหัวใจ เมื่อเราพานพบความทุกข์ใหญ่หลวงมาครั้งหนึ่ง ทุกข์อื่นในภายหลังแม้จะขี้ปะติ๋วจึงกลับเจ็บสุดทน”
(เอ ทุกข์ใหญ่หลวงของเขา คือการสูญเสีย ริชาร์ด หรือการสูญเสียครอบครัวไปกับเรือ
หรือการฆ่าพ่อครัวไฮอีนา กันแน่นะ...ชวนสงสัยจริงๆ)

 

 

หน้า 32-36 (พายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้คนที่วิจารณ์สวนสัตว์) “ผู้หวังดีจำนวนมากหลงผิดคิดว่าสัตว์ในป่ามี ความสุข เพราะมันมี เสรี...พวกเขามักคิดเอาว่าชีวิตสัตว์ป่าช่างเรียบง่าย สง่างาม...แต่ความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย สัตว์ในป่ามีชีวิตซ้ำซาก ต้องเอาตัวรอด ต้องทนอยู่ในสังคมที่มากด้วยการกดขี่ข่มเหง ขณะเดียวกันอาหารกลับมีน้อย พวกมันต้องต่อสู้เพื่อรักษาอาณาเขต แต่ต้องทนให้ตัวปรสิตกัดเจาะเบียดเบียนทุกเมื่อเชื่อวัน ชีวิตแบบนี้ยังจะหาเสรีได้หรือ...ถ้าเลือกได้คุณอยากอยู่ห้องพักหรูในโรงแรมริตช์พร้อมรูมเซอร์วิชฟรี ค่ารักษาพยาบาลฟรี หรืออยากจะเป็นคนไร้ที่อยู่ ไม่มีใครแลเหลียว ทว่าเดรัจฉานผู้ด้อยปัญญาย่อมขาดวิจารณญาณ จึงจำใจต้องอยู่ในป่าตามปัจจัยธรรมชาติเอื้อมาให้” (พายจะรู้ได้ยังไงว่าสัตว์สุข หรือ ทุกข์ มีเสรีหรือไม่มีกันแน่ หรือว่ามันจำใจหรือไม่จำใจ อย่างไรเสีย มนุษย์ที่เรียนด้านศาสนาและสัตววิทยาก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะคิดทุกอย่างถูกต้องเสมอไป แต่ก็อีกนั่นแหละความคิดเหล่านี้มันอาจเป็นผลมาจาก การต่อสู้ดิ้นรนบนเรือน้อยท่ามกลางมหาสมุทรใหญ่ โดดเดี่ยว จมอยู่กับความทุกข์ และรู้สึกเหมือน ไม่มีใครแลเหลียว) หน้า 109 “เรื่องแย่ที่สุดคือ ผมนึกหน้าตาแม่ผมไม่ออกแล้ว ใจผมยังพอเห็นหน้าแม่ แต่แค่ประเดี๋ยวประด๋าว พอจะดูหน้าให้ชัดๆ แม่ก็เลือนหายไป เสียงแม่ก็เหมือนกัน”
(ในหนังสือภาคสุดท้ายพายเล่าเรื่องที่ไม่มีสัตว์บนเรือให้เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นฟัง เกี่ยวการตายของแม่ที่ถูกพ่อครัวตัดหัวแล้วโยนมาให้พายบนแพเล็กที่ต่อขึ้น เลือดไหลไปตามเส้นผมของแม่ลงสู่มหาสมุทร เป็นเรื่องที่น่ากลัวและน่าเศร้าจริงๆ)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาคสอง เรื่องเล่าในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีสัตว์ ในภาคนี้โดยส่วนใหญ่คล้ายกับในหนัง คือ เรือสินค้าแตก พายและสัตว์บางตัวขึ้นมาอยู่บนเรือชูชีพ และลอยเท้งเต้งกลางมหาสมุทรแปซิฟิก มีเพิ่มเติมรายละเอียดกรรมวิธีการจับสัตว์น้ำ การกินสัตว์สดๆ แต่ละชนิด เช่น ปลา เต่า กุ้ง ปู และฉลามเด็ก ซึ่งให้ภาพที่สะเทือนใจกว่าในหนังจากการที่พายนั้นเป็นมังสวิรัติ ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์แต่ต้องฆ่าและกินสัตว์ด้วยมือของเขาเอง บนเรือ เขาสวดต่อพระคริสต์ ทำละมาด และขอบคุณทวยเทพ ทนทุกข์ในห้วงผิดบาปที่ได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ที่บาดลึกคือการกินเนื้อชายตาบอดผู้รอดชีวิตที่บังเอิญพบกัน เรือชูชีพอีกลำที่มาพร้อมกับคนในเรือตาบอด เหมือนกับพาย ที่อยู่ในช่วงที่ตาบอดจากภาวะขาดแคลนต่างๆ พวกเขาคุยกันด้วยบทสนทนาที่ไม่อาจมองข้าม และในหนังไม่มีรายละเอียดในส่วนนี้ สุดท้าย ริชาร์ด ปากเกอร์ (เสือ สัตว์ที่อยู่รอดเพียงตัวเดียวหลังจาก ลิงอุรังอุตัง ม้าลาย และไฮอีนาตายไปหมดแล้ว) ฆ่าชายตาบอดผู้นั้น และที่น่าสังเกต หน้า 264 – 269 (บทสนทนาของพายกับชายตาบอดอีกคน ทำไมถึงต้องตาบอด...น่าคิดนะ) “กาลครั้งหนึ่ง ยังมีกล้วยต้นหนึ่ง ต้นโตใหญ่ ออกลูกอวบๆ เหลืองอ่อย กล้วยหล่นลงดิน มีคนผ่านมาเก็บไปกิน”
“แล้วนายมีกล้วยหรือเปล่า” ชายตาบอดอีกคนถาม “เปล่า ตอนนั้นมัวแต่สนใจอุรังอุตัง” พายตอบ
“กาลครั้งหนึ่ง ยังมีกล้วยต้นหนึ่ง ต้นโตใหญ่ ออกลูกอวบๆ เหลืองอ่อย กล้วยหล่นลงดิน มีคนผ่านมาเก็บไปกิน จากนั้นเขาสบายขึ้นมาก”

“ฉันขอโทษ ขอโทษที่ทำไม่ดีพูดไม่ดีกับนาย ฉันมันแย่จริงๆ” เขาละล่ำละลัก (ไม่เห็นมีตอนไหนในบทสนทนาที่ชายคนนั้นพูดไม่ดีกับพาย มันจึงอาจเกี่ยวกับเรื่องไม่มีเสือ)
“นี่แหละข้อเสียของริชาร์ด พาร์เกอร์ มันไม่ยอมต่อรอง มันให้ชีวิตผม แลกด้วยการเอาชีวิตคนอื่น มันฉีกเนื้อชายคนนั้น ขบกระดูก กลิ่นคาวเลือดเหม็นคลุ้ง
บางสิ่งในตัวผมตายโดยไม่มีทางกลับฟื้นคืนมา”

(เป็นประโยคที่เจ็บร้าวสำหรับฉันทีเดียวเมื่ออ่านไปจนถึงภาคสามในเรื่องเล่าที่ไม่มีเสือ...
เมื่อมันไม่มีเสือ..)

 

 

 

 

ความคิดของพาย ส่วนที่ฉันฉงน หน้า 132 “ผมคิดหาเหตุผลว่าเจ้าไฮอีนามาอยู่ในเรือชูชีพนี้ได้อย่างไร...นอกจากนั้นผมยังรู้ว่าเป็นเพราะไฮอีนานี่เอง กะลาสีจึงโยนผมลงมาบนเรือ กะลาสีไม่ได้คิดจะช่วยผมเลย พวกเขาใช้ผมเป็นเหยื่อ... พวกเขาเอาชีวิตผมมาแลก ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าทำไมกะลาสีจึงโวยวายนัก
เมื่อเห็นม้าลายโดดลงเรือมา”
(ทำไมพายจึงคิดว่า กะลาสีไม่ได้คิดช่วยเหลือเขา....) หน้า 194 “แต่คืนนั้นเป็นคืนแรกที่เห็นความจริงข้อนี้ ผมรู้แจ้งถึงความทุกข์ รู้ว่าทุกข์นั้นมีเกิดก็มีดับ ความรู้นี้ทำให้ใจสงบ ผมตระหนักว่าความทุกข์เกิดที่นี่ดับที่นี่ ไม่มีที่อื่นอีก เป็นความจริงซึ่งผมยอมรับ...  (หากกลางวันผมเฝ้าแต่โวยว่ายว่า “ไม่เอา ! ไม่เอา ! ไม่เอา ! ความทุกข์แบบนี้ไม่เอา ฉันไม่อยากตาย ยังอยากรวมเป็นหนึ่งกับจักรวาล ชีวิตเป็นแค่รูเล็กๆ ที่เราใช้ส่องดูจักรวาลอันไพศาล ถึงรูจะเล็กเท่ากระผีกริ้น แต่ถ้าไม่มีชีวิต แล้วข้าน้อยจะยลจักรวาลได้อย่างไร....)”
(ฉันคิดว่าพายแค่รู้สิ่งที่เขาบอกว่าเป็นความจริงนั้นแค่คืนเดียว แล้วเขาก็ไม่เคยหวนกลับไปคิดถึงความจริงที่เขารู้ในคืนนั้นอีกเลย....น่าเสียดาย)

 

หน้า 297-298 เมื่อพายรอดชีวิตมาถึงชายฝั่งเม็กซิโก เสือริชาร์ดจากไป
“ตอนนี้ถ้าแกต้องไปก็จงไปเถิด แกรู้จักแต่ที่กักขังมาตลอดชีวิต ต่อไปแกจะพบเสรีในป่าใหญ่”
 (ตอนแรกๆ พายบอกว่าสัตว์ไม่ได้เป็นสุขเพราะมีเสรีในป่า....ฉันไม่ได้บอกว่าพายงง แต่ฉันคิดว่าพายคงสับสนมากกับการดำรงชีวิตหลังเรื่องแย่ๆ ผ่านไป เรื่องแย่ๆ ที่ทำให้เขาสูญเสียสิ่งที่ยึดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมา เรื่องแย่ๆ เขาไม่อาจลืม...)

 

 

 

 

ภาค 3 >>>

 

 

 




 

Create Date : 14 กุมภาพันธ์ 2556   
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2556 11:16:27 น.   
Counter : 1521 Pageviews.  
space
space
การเดินทางของพาย พาเทล Life of PI “เรื่องเล่าของพายทำไมถึงดัง”1

เนื้อเรื่องในภาพยนตร์ อย่างที่ปกหลังหนังสือกล่าวไว้ว่า

“เป็นเรื่องราวการผจญภัยอันเหลือเชื่อและน่าทึ่งของพาย พาเทล เด็กหนุ่มชาวอินเดียวัย 16 ปี ที่รอดชีวิตจากเรือขนส่งสินค้าอับปาง เรือชูชีพลำน้อยลอยเท้งเต้งโดดเดี่ยวกลางมหาสมุทรแปซิฟิก พร้อมกับลูกเรือผู้รอดชีวิตอย่าง ไฮอีนา ลิงอุรังอุตัง ม้าลาย
และเสือเบงกอลหนัก
450 กิโลกรัม”

 

หนังสือที่เขียนโดยชาวแคนาดา และได้รับจดหมายแสดงความชื่นชมจากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

นักเขียนที่ได้รับรางวับ Man Booker Prize, 2002

หนังสือดัดแปลงไปเป็นภาพยนตร์ กำกับโดย อั้ง ลี่ ชาวไต้หวัน

มีคำกล่าวยกย่องและพูดถึงหนังสือและภาพยนตร์เรื่องนี้มากมาย ในทำนองว่า “ศรัทธาในพระเจ้าจะคืนมาหลังจากได้ฟังเรื่องนี้” .... (หมายเหตุผู้เขียน หน้า 14) ฉันยังไม่ค่อยเข้าใจนักหลังจากดูภาพยนตร์และอ่านหนังสือจบ

ชื่อผู้เขียน Yann Martel 
ชื่อผู้แปล ตะวัน พงศ์บุรุษ 
สำนักพิมพ์ เอิร์นเนส พับลิชชิ่ง
หนังสือหนา 335 หน้า

ในอารมณ์และความรู้สึกของฉัน คนไทยธรรมดาๆ ผู้ที่เพิ่งจะเริ่มอ่านหนังสือมาไม่นาน ผู้นับถือศาสนาพุทธและรู้แบบงูๆ ปลาๆ ในเรื่องของศรัทธา หลังอ่านหนังสือจบในราวหนึ่งอาทิตย์เป็นการอ่านแบบไม่ต่อเนื่องในครั้งเดียวและดูภาพยนตร์ความยาวราว 2 ชั่วโมงโดยไม่ได้ลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำ è หลังจากออกจากโรงภาพยนตร์เมื่อเดือนธันวาคม 2555 คำถามที่เบียดเสียดอยู่ที่กระพุ้งแก้มแต่ไม่อาจผ่านซอกฟันเกๆ ออกมาได้ในขณะที่อยู่ในโรงภาพยนตร์ ก็พุ่งปรี๊ดออกมาพร้อมขาที่ก้าวผ่านประตูโรงภาพยนตร์ è ระหว่างเรื่องเหลือเชื่อมหัศจรรย์ของเสือ กับความดำมืดหม่นของคน แกเชื่อสิ่งไหนเรื่องที่มีเสือหรือเรื่องที่มีคน

เพื่อนคนแรกตอบอย่างไม่ลังเล /เชื่อเรื่องเสือ

คนที่สองตอบพร้อมคนแรก / เชื่อเรื่องคน

ฉันตอบ / เป็นไปได้ทั้ง 2 เรื่อง หรือ กรูก็ไม่รู้ว่ะ

...ตึง...ตึง...ตึง...

ความแตกต่างของ 3 ความคิดความเชื่อทำให้ฉันดั้นด้นค้นหาหนังสือสีฟ้า หน้าปกครึ่งเสือครึ่งคนมาอ่านเพิ่มเติม ใคร่รู้ว่าแท้จริงแล้วผู้เขียนเชื่อในสิ่งใด

และได้พบว่า ฉันชอบการตัดต่อดัดแปลงของหนังมากว่า มันเปิดกว้าง ไม่ชักจูง ไม่หลอกล้อ ส่วนหนังสือมีหลายสิ่งที่หงุดหงิดใจ แต่ตัวหนังก็ไม่ได้ทำให้ฉันตื่นเต้น ตื่นตามากเท่าใด ก็ดูได้เรื่อยๆ หรือเป็นเพราะเราคาดหวังมากเกินไป เกินจริง
(หนังสือแปลภาษาไทย ไม่ได้อ่านจากฉบับต่างประเทศ)

 

 สำหรับฉัน ในภาพยนตร์ทำให้ฉันนึกถึงเรื่องราวเหล่านี้
คนเรานับถือและเชื่อหลายสิ่งได้ ทั้งความรู้และความเชื่อทำให้รอดชีวิต ต้องเลือกเอามาใช้ในเวลาที่เหมาะสม คนกับสัตว์ หรือ คนที่มีวิถีแตกต่างอยู่ร่วมกันได้ และภาพยนตร์ไม่ได้ชี้นำเราเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องสิ่งมหัศจรรย์ที่เสือจะอยู่กันคนได้บนเรือลำเดียวกันกลางทะเลกว้าง หรือ ชักนำให้เราเชื่อว่ามนุษย์นั้นเลวร้าย แต่ถามเราว่า เราเชื่อเรื่องดีๆ ที่แปลกประหลาด หรือเชื่อเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่สุดท้าย ไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไรขึ้นระหว่างทางของชีวิต ปลายทางก็เหมือนกัน คือ พาย สูญเสียครอบครัว นี่คือเรื่องจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์ หรือค้นหาด้วยศรัทธาของศาสนา “

สำหรับหนังสือ ทำให้ฉันคิดมากไปกว่านั้น แตกต่าง ฉงน ขัดแย้ง และชี้นำให้ฉันเลือก สิ่งที่ฉันเลือกจะไม่เปิดเผยต่อสาธารณะและเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของผู้อ่านทุกท่านที่จะเลือกเชื่อเรื่องที่มีเสือ หรือเรื่องที่ไม่มีเสือ (บางครั้งความเชื่อ ของงดใช้คำว่าศรัทธาก็อาจเป็นสิ่งเดียวที่เรามี)


โดยส่วนตัวมันไม่ใช่หนังสือศาสนา ไม่ใช่การผจญภัยสุดลิ่ม แต่เป็นเรื่องของจิตใจมนุษย์ที่มีความคิดสับสนปนเปท่วมท้น มีความรักในตัวเอง มีความโกรธความเกลียดตัวเองและความกลัวต่อมนุษย์ต่อสรรพสิ่ง หนังสือที่ฉันค้นพบคือเรื่องราวความซับซ้อนของจิตใจ ความยุ่งเหยิงของอารมณ์แต่พยายามที่จะมีชีวิตรอดทั้งในอดีตและปัจจุบัน....ไม่แน่ว่าเขายังคงเดินทางค้นหาเส้นทางรอดจากทะเลเวิ้งว้างนั้นอยู่

เรื่องเล่าในหนังสือส่วนใหญ่คล้ายกับหนัง(เฉยๆ) คือผู้เขียนเดินทาง แล้วได้พบผู้ชักนำให้ค้นหา พาย ต้นเรื่องการเดินทางบนเรือ ผู้มีเรื่องเล่าเหลือเชื่อ แต่หนังสือมีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับชีวิตของพายก่อนขึ้นเรือ และในโรงพยาบาลหลังรอดชีวิต ในหนังจะเน้นเรื่องราวบนเรือมากกว่า ส่วนที่มีบรรยายเพิ่มเข้ามาเหล่านี้หลายอย่างที่ทำให้ฉันคิ้วขมวด ขัดใจ และเข้าไม่ถึงในหลายๆ ประโยค

 

เกริ่นนำในส่วนหมายเหตุผู้เขียน

 หน้า 15 “หากพวกเราผู้เป็นพลเมืองไม่ส่งเสริมศิลปินของประเทศชาติ เอาจินตนาการไปแลกสังเวยกับความเป็นจริงอันหยาบช้าแล้วไซร้ เราทั้งผองคงสิ้นศรัทธา เหลือแต่ความฝันลมๆ แล้วๆ อันไร้ค้า” 
(ความเป็นจริงบางอย่างมันไม่หยาบช้านา อีกอย่างเราจะมีศรัทธาโดยละเลยความจริงอันหยาบช้าหรือ ไฉน)

และในความคิดเห็นของพายที่บรรยายให้ฟังทั้งใน 3 ภาคถึงแม้ว่าเขาจะเล่าถึงเรื่องราวก่อนเรือจม ในภาค 1, ในมหาสมุทร ภาค 2 และระหว่างการสัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นเจ้าของเรือขนส่งสินค้าที่จม

ในความคิดเห็นจขบ. เห็นว่าความคิดเห็นของเขาเกิดขึ้นหลังจากชีวิตได้ผ่านพบเรื่องเลวร้ายในทะเลหลังเรือจมมาแล้ว ระยะเวลาที่พายรอดชีวิตหลังจากเรือซิมซัมจมคือ 227 วัน (นานถึง 7 เดือนช่างเป็นคืนวันที่หนักหนาสาหัส)

 หมายเหตุ : ในเครื่องหมาย “...” เป็นข้อความจากหนังสือ, ใน เครื่องหมาย (...) เป็นความคิดเห็นของ จขบ.

 หนังสือเริ่มต้นด้วย

“เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้ผมกลายเป็นคนเศร้าอมทุกข์”
(
โดยส่วนตัวฉันคิดว่ามีความเกลียดชัง ขมขื่นอยู่ในนั้นด้วย ฉันเห็นมันชัดเจนในภาค 1 ส่วนในภาค 2เป็นเรื่องราวชวนท้าท้ายความคิด และในภาค 3 นั้นแสนระทมทุกข์)




 

Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2556   
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2556 11:19:36 น.   
Counter : 2202 Pageviews.  
space
space
เด็กชายขี้เหงากับตูบตุ๊กตา-โดยเก็นกวี-หนังสือเด็กที่ผู้ปกครองควรอ่าน

สำนักพิมพ์ตะวันส่อง (ขอขอบคุณรูปปกหนังสือจากสำนักพิมพ์se-ed)



เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ เรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งที่อยู่ในโลกอย่างโดดเดี่ยว ความเหงา ความว้าเหว่ ที่ขาดพ่อ
และแม่ก็ไม่มีเวลาพอในโลกยุคเศรษฐกิจโหมกระหน่ำ
ตูบตุ๊กตา สิ่งยึดเหนี่ยวหนึ่งเดียวในโลกเวิ้งว้าง


พบกับความรักของตุ๊กตาหมา กับเด็กชายที่ไคว่าคว้าความรัก เราจะได้กับคำพูดของเด็กที่จริงใจ และเป็นสิ่งที่เด็กควรจะมี สิ่งมีค่าที่เด็กเท่านั้นจะครอบครองได้


ความรักของเด็กชายที่บริสุทธิ์จะทำให้เจ้าหมาผ้า กลายเป็นหมาจริงได้อย่างไร


และความรักของตุ๊กตาผ้าต่อเด็กชายจะมีส่วนทำให้ครอบครัวที่โดดเดี่ยวในสังคม และเป็นครอบครัวที่มีอยู่มากมาย หลอมรวมกลับมาเป็นครอบครัวที่อบอุ่นได้อย่างไร


ผู้เขียนค่อย ๆ บรรยายการเปลี่ยนแปลงของหมาผ้า ได้อย่างน่ารัก สนุกสนานขณะเดียวกันก็มีภาพของวัยเด็กที่สดใส และค่อย ๆ หมองหม่นจากผู้ใหญ่ และสังคมที่เปลี่ยนไป มันจึงเป็นหนังสือที่มีทั้งความสุข มิตรภาพ รอยยิ้มในวัยเยาว์ และความโดดเดี่ยว หมองเศร้า จากความผันแปรของสังคมที่กำลังย่ำแย่อยู่ในขณะนี้


พ่อกับแม่ที่มัวแต่ทำงาน และไม่เคยให้ความสำคัญกับเวลา หมกมุ่นอยู่กับเงิน และความมั่งคงของชีวิต อาจลืมนึกความมั่นคงของจิตใจ ลืมนึกถึงดวงตาเล็ก ๆ คู่หนึ่งที่กำลังหลงทางอยู่ในความมืดของห้องกว้าง


หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เราคงได้เข้าใจความสำคัญของสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ความสำคัญของจิตใจดวงเล็กที่ไม่อาจมองเห็นและตีค่าได้ด้วยตัวเลข ละทิ้งความสำคัญของเงินทอง และความทุกข์ของตนเอง ขอเพียงเราจับมือกันไว้ มองเข้าไปในใจของเด็ก ๆ เราจะได้พบความเหงาและความเศร้าที่เราเป็นผู้สร้างไว้...และเป็นหน้าที่ของเรา..ผู้ใหญ่ที่เคยเป็นเด็กทั้งหลาย...โอบอุ้มและคุ้มครองไม่ว่าจะเป็นจิตใจ จิตนาการของพวกเขา รวมทั้งสัตว์เลี้ยงที่เราได้เกื้อกูลมันมา....เพราะในวันหนึ่งข้างเด็กเล็ก ๆ ในความดูแลและคุ้มครองของคุณ จะกลายเป็นผู้ใหญ่และให้ความคุ้มครองแก่คุณ อาจจะรวมไปถึงให้ความคุ้มครองกับประเทศนี้ด้วยซ้ำไป..ใครจะรู้


(ร่วมสนับสนุน วรรณกรรมเยาวชนของไทย เรื่องราวแบบไทย ๆ ที่ไม่ควรจะหายไปจากแผงหนังสือ)




 

Create Date : 08 ตุลาคม 2554   
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2556 12:36:09 น.   
Counter : 1446 Pageviews.  
space
space

normalization
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




"ขอทุกท่านจง ปกติสุข ในทุกวัน"
วันแรกสร้าง : 25 กุมภา.54

เป็นเพียงการบอกกล่าว เล่าเรื่อง ตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจ
หากว่ามีประโยชน์บ้างแม้เพียงเล็กน้อย ข้าพเจ้าก็ยินดียิ่ง
หากว่าส่วนใดผิดพลาด ฝากข้อความไว้ได้เสมอ
@comeback 18/1/18

free counters สำหรับธงขอขอบคุณ blog paradijs
space
space
space
space
[Add normalization's blog to your web]
space
space
space
space
space