Ora-ito : Dream designer

Ora-ito : Dream designer


     จะเกิดอะไรขึ้น ถ้านักออกแบบโนเนมวัยยี่สิบเอ็ดปี ตั้งตนเองเป็นนักออกแบบของบริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดังระดับโลกอย่างไนกี้ หลุยส์ วิตตง แอปเปิล กุชชี ลงมือออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์เนมและคอนเสปท์ของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นโดยไม่ขออนุญาตบอกกล่าวบริษัทเหล่านั้นเลยสักคำ แถมยังนำผลงานของตนขึ้นแสดงบนเวบไซต์ให้คนที่ไปดูเข้าใจผิดคิดว่า ผลงานออกแบบเหล่านั้นเป็นสินค้ารุ่นใหม่ล่าสุดของบริษัทต่างๆ

     ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เรื่องตลกร้ายนี้บานปลายออกไปใหญ่ เมื่อเขาลงหน้าโฆษณาสินค้าที่ไม่มีตัวตนพวกนี้ลงในนิตยสาร ส่งผลให้แฟนๆผู้คลั่งใคล้ในสินค้าแบรนด์เนมดีไซน์เก๋ทั้งหลายหลั่งไหลกันเข้ามาสั่งซื้อกันยกใหญ่ โดยทำสถิติยอดสั่งซื้อกระเป๋าหลุยส์ วิตตงอย่างเดียวนับได้ถึง 2,000 ออเดอร์ ปรากฏการณ์นี้สร้างฮือฮาไปทั่วทั้งวงการออกแบบ จนเกิดเสียงเลื่องลือถกเกียงกันใน //www.productdesignforums.com ซึ่งเป็นเวบบอร์ดแหล่งรวมที่นักออกแบบมืออาชีพทั่วโลกเกี่ยวกับ “วิธีการโปรโมทตัวเอง” ของนักออกแบบที่ว่านี้กันอย่างคึกคัก

     หลังจากไปเยี่ยมชมผลงานของชายผู้นั้นแล้ว นักออกแบบทุกคนที่ออกความเห็นบนเวบบอร์ดดังกล่าวยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่างานออกแบบของนักออกแบบผู้นี้สวยงามเป็นเยี่ยม ทั้งยังมีสไตล์ล้ำสมัย หากยังมีความเห็นต่างกันไปเรื่องการนำชื่อและภาพลักษณ์ของสินค้าจากบริษัทใหญ่ๆมาใช้ บ้างประณามว่าการแอบอ้างชื่อของบริษัทเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ผิดจรรยาบรรณ บ้างก็ไม่สนใจ หากว่าผลงานที่ออกมานั้นไม่ได้ไปขโมยความคิดหรือก๊อปปี้ใครมา บ้างก็ว่านักออกแบบคนนี้ไปไม่ได้ไกลเพราะว่าลูกค้าในอนาคตที่ไหนจะมาจ้างเขามา เพราะสุดท้ายแล้วลูกค้าเหล่านั้นก็ต้องจับโกหกเรื่องที่เขาไม่เคยทำงานกับบริษัทใหญ่ๆเหล่านั้นได้

     แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ลูกค้าในอนาคตที่ว่า ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน พวกเขาคือบริษัทที่ถูกแอบอ้างว่าเป็น “ลูกค้า” อยู่ในเวบไซต์นั่นเอง พวกเขาออกตามล่าหาชายคนนี้ เพื่อให้เขามาเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบสินค้า และแผนการโฆษณาของตน ปัจจุบันนักออกแบบโนเนมผู้มีลูกบ้าและฝีมือเต็มกระเป๋า รู้จักสร้างโอกาส กล้าออกแบบชีวิตให้ตนเองผู้นี้ กลายเป็นนักออกแบบรุ่นใหม่ชั้นแนวหน้าระดับโลก ด้วยอายุเพียง 24 ปี และตอนนี้ผลงานออกแบบในพอร์ตโฟลิโอปลอมๆออนไลน์ของเขา มีการผลิตออกมาจำหน่ายเป็นที่เรียบร้อย และผลงานชิ้นต่อๆไปของเขาก็ไม่เป็นเพียงแค่เรื่องการสมมติตัวเองขึ้นมาอีกต่อไป

     เรารู้เพียงว่าชายคนนี้เป็นชายฝรั่งเศสชาวปารีเซียง ผู้ขนานนามตัวเองใหม่จากการสลับตัวอักษรของชื่อและนามสกุลของตนว่า Ito Morabito (อิโต โมราบิโต) เขาลาออกจากโรงเรียนสอนการออกแบบหลังจากเรียนไปได้สองปี เคยทำงานกับสถาปนิกและต่อมากับนักออกแบบรองเท้าโรเจร์ วิวิเอร์(Roger Vivier) ก่อนจะได้งานในนิตยสารที่ชื่อว่า แคลช (Crash) และที่นั่นเองเขาได้ออกแบบผลิตภัณฑ์โดยใช้คอนเสปท์ของสินค้าแบรนด์เนมต่างๆ โดยกล่าวว่า ไอเดียของการทำอย่างนี้คือการทำโฆษณาปลอมๆให้สินค้าปลอมๆ ที่ดูเหมือนจริง

     จากความสำเร็จในการดึงความสนใจจากบริษัทต่างๆให้เข้ามาติดต่อขอร่วมงานด้วย แทนที่จะถูกฟ้องร้องจากการแอบอ้างชื่อและภาพลักษณ์ชื่อเสียงของตนไปทำงาน อิโต กลายเป็นสัญลักษณ์ เป็นตำนานร่วมสมัย เป็นผู้นำในการออกแบบในสไตล์ที่เรียกกันว่า ฟิวเจอร์ริสต์ (Futurist) หรือที่หลายคนเรียกว่า นีโอ-โมเดิร์นนิสต์ (neo-modernist) ด้วยการผสมผสานความเรียบงานแบบมินิมอล (minimal) แบบญี่ปุ่นกับความสง่างามแบบฝรั่งเศส

     จากนำเสนอผลงานการออกแบบผ่านเวบไซต์ ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์แสดงภาพแบบสามมิติ (3D) อย่างโดดเด่นมีสไตล์ ผู้คนจึงจัดให้เขาเป็นหัวหอกแห่งการออกแบบประเภท อี-ดีไซน์ (e-design) และด้วยดีกรีความบ้าบิ่น เป็นของตัวเองสูง มีฝีมืออันที่ยอมรับ อิโต ยังได้ชื่อว่าเป็น “เด็กวายร้าย” คนล่าสุดของวงการออกแบบฝรั่งเศสไปอีกตำแหน่งด้วย

     ปัจจุบันอิโตไม่ได้ทำงานโดดเดี่ยวอีกต่อไป เขาสร้างทีมงานที่ชื่อว่า กลุ่ม โอรา-อิโต (Ora-ito) ที่ฟังผาดๆ แบบไม่รู้ที่มาที่ไป ก็อาจจะไพล่นึกไปว่าเป็นชื่อญี่ปุ่น กลุ่ม “เด็กๆ” สิบคนที่มีอายุเฉลี่ยยี่สิบสี่ปีกลุ่มนี้กำลังสนุกสนานกับการออกแบบวัตถุใหม่ๆ สำหรับอนาคต โดยรวมตัวสุมหัวทำงานกันอยู่ในโฮมออฟฟิสขนาด 35 ตารางเมตร ส่งผลงานสู่โลกแห่งการดีไซน์ระดับโลกพร้อมๆไปกับการสร้างสรรค์งานออกแบบบ้าๆบอๆของตัวเอง อย่างเช่น ไฟแช็คนิวเคลียร์บิก รับประกัน 99 ปี หรือ บัตรวีซ่าดิจิตอล ซึ่งฝังรหัสลายนิ้วมือลับ ต่อเชื่อมดาวเทียมกับธนาคารผู้ถือบัตรเพื่อความปลอดภัยสูงสุด

     บริษัทกางเกงยีนส์ ลีวายส์ ติดต่อให้พวกเขาดูแผนการโฆษณาชิ้นล่าสุดที่เรียกว่า Levi's Red Tester (เครื่องตรวจสอบสีแดง) ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเครื่องทดสอบที่มาของผ้ากางเกงยีนส์ น้ำแร่เอวิยง (Evian) นำดีไซน์ขวดรูปหยดน้ำของพวกเขาไปใช้ใส่น้ำแร่ขวดพิเศษ ราคาแพงลิบลิ่วเพราะจำกัดจำนวนผลิต แม้แต่ คาเปลลินี (Capellini) นักออกแบบชื่อดังชาวอิตาเลียน ยังมอบหมายให้พวกเขาออกแบบบ้านเดี่ยวเวอร์ชวล ซึ่งตบแต่งเฟอร์นิเจอร์ที่พวกเขาออกแบบ เพื่อใช้เป็นงานโฆษณาในปี 2001

     และที่น่าตื่นใจกว่านั้นคือโครงการ วิลลา กุชชี่ (Villa Gucci) เคหสถานมียี่ห้อของห้องเสื้อชั้นสูงอย่างกุชชี่ ซึ่งออกแบบให้เป็นบ้านขนาด 300 ตารางเมตร ในรูปแบบตัว G อันอ่อนช้อย แต่ละห้องประดับตกแต่งด้วยสิ่งของที่มีเครื่องหมายการค้ากุชชี่ทุกชิ้น ทั้งยังตรงตามหลักฮวงจุ้ย ส่วนผลงานที่แพร่หลายมากที่สุดคือชุดขวดสแตนเลสล้ำยุค ( high-tech bottle) ของเบียร์ไฮเนเก้น (Heineken) โดยไอเดียการออกแบบสามารถนำมาใช้ได้จริง สร้างความเก๋ไก๋ให้นักท่องราตรีที่ถือขวดดีไซน์ล้ำยุค ส่วนลูกค้าประเภทองค์กรก็มี สภากาชาดฝรั่งเศสและพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (le musée d’Art moderne) แห่งปารีส ซึ่งก็ติดต่อเรียกใช้บริการของพวกเขามาแล้ว

     ในเวบไซต์ //www.ora-oto.com นอกจากจะเป็นที่แสดงผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อรับใช้สินค้าแบรนด์เนมตามแนวทางของแฟชั่น ในขณะเดียวกันเป็นพื้นที่แสดงงานออกแบบที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ในตลาดโลก โดยนำเสนอภาพกรุงปารีสในอนาคต ในปี ค.ศ. 2010 ซึ่งแสดงภาพมหานครที่โรแมนติกและสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมสวยงามถูกบริษัทข้ามชาติเข้าครอบงำ ไนกี้ (Nike)ขึ้นป้ายยักษ์ใหญ่บนอาร์ค เดอ ทริออม(Arc de Triomphe) หรือประตูชัยที่ถนนชองป์ เซลิเซ (Champs élysée) บริษัทไมโครซอฟ (Microsoft) ของมิสเตอร์บิลล์ เกต เข้าครอบครองพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ รื้อปิรามิดแก้วออกเอาแผ่นดิสเก็ตซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวิทยาการคอมพิวเตอร์ใส่แทน ส่วนหอไอเฟลตกเป็นสมบัติของอีฟแซงต์ โลรอง (Yves Saint Laurent) โดยเมื่อดูจากแนวโน้มในความเป็นจริงทุกวันนี้แล้ว ภาพดังกล่าวอาจจะไม่ได้เป็นแค่เพียงจินตนาการเพ้อฝันเท่านั้น

     เมื่อชื่อเสียงและการยอมรับนับถือในฝีมือหลั่งไหลมาเสร็จสรรพแล้ว จุดมุ่งหมายต่อไปของโอรา-อิโต คือการสร้างพันธมิตรในทุกวงการค้า เพื่อพัฒนาโครงการออกแบบต่างในให้กระจายโดยทั่วถึงและจะมีวันหนึ่งซึ่งสินค้าของตัวเองในนาม โอรา-อิโต ขึ้นมา

     “ผมไม่ต้องการเพียงแค่การสร้าง “เครื่องประดับตกแต่ง” แต่อยากทำสินค้าดีไซน์อย่างแท้จริง ผมชื่นชอบสินค้าแบรนด์เนมมาตั้งนานแล้ว พอมี โอรา-อิโต ผมก็พยายามจินตนาการแบรนด์เนมในฝัน และตอนนี้ผู้คนมากมายต่างรอคอยให้สินค้าของผมออกสู่ตลาด ก็ น่าตื่นเต้นดี” อิโตกล่าว

     เรื่องราวของ อิโต เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าชีวิตคนเรานั้นออกแบบได้ และพิมพ์เขียวชีวิตของคนแต่ละคน มีเพียงคนๆ เดียวที่ต้องลงมือทำ และคุณก็รู้คงรู้ดีว่าคนๆ นั้นคือใคร



ที่มา รายการโทรทัศน์ SODA ทางช่อง TV5 (ฝรั่งเศส) ออกอากาศวันที่ 8 มกราคม 2005
ข้อมูลเพิ่มเติม //www.productdesignforums.com, //www.trhubnet.com, //www.bookofjoe.com, //www.chronicart.com , //www.lycees.regioncentre.fr, //www.aec.at , //www.worldstyle.com , //www.moda.it





 

Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2550 21:34:34 น.
Counter : 1149 Pageviews.  

Copyleft : some rights reserved

Copyleft : some rights reserved


     คงเคยได้ยินกันผ่านหูกันมาบ้างว่า ไม่มีกวีบทไหน ไม่ได้รับแรงบันดาลใจจากกวีบทเก่า เช่นเดียวกับงานสร้างสรรค์ต่างๆก็ล้วนก่อเกิดแตกยอดมาจากสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วก่อนหน้าทั้งสิ้น หากในยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างถูกขึ้นทะเบียนตีตรา จดสิทธิบัตร สงวนลิขสิทธิ์ไปเสียหมดอย่างในทุกวันนี้ ถ้าใครคิดขยับตัวทำอะไรก็ต้องคิดหน้าคิดหลัง ต้องตรวจสอบแล้วเล่าว่าไปละเมิดลิขสิทธิ์ของใครเข้าบ้างหรือเปล่า

     ข้อบังคับเรื่องลิขสิทธิ์อันเข้มงวดได้เพิ่มจำนวนผู้ไม่สบอารมณ์มากขึ้นทุกที และกฎหมายในหลายๆประเทศที่ออกมาขยายระยะเวลาการถือครองสิทธิของทายาท หลังผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตจากห้าสิบปีเป็นเจ็ดสิบปีก่อนที่จะตกเป็นสมบัติสาธารณะ ทำให้ถูกมองว่าความจริงแล้ว ลิขสิทธิ์นั้นไม่ได้ปกป้องผู้สร้างสรรค์สักเท่าไหร่ หากเป็นเครื่องมือเพิ่มความร่ำรวยให้กับคนบางกลุ่มเสียมากกว่า

     ตัวอย่างเห็นได้จากบรรดาบริษัทผู้ผลิตสินค้ายักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่เริ่มให้ความสนใจกับผลงานศิลปะมากกว่าแต่ก่อน ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพราะความรักในศิลปะแต่อย่างใด พวกเขาคอยตรวจสอบว่าพวกศิลปินนำโลโก้ ผลิตภัณฑ์หรือส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นสมบัติของตนไปใช้ในงานหรือเปล่าต่างหาก ส่งผลให้ศิลปินร่วมสมัยถูกบริษัทต่างๆ ฟ้องข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ไปเป็นแถวๆ ตัวอย่างเช่น บริษัทมัทเทล (Mattel)ผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ ร้องเรียน ทอม ฟอร์ซีท เจ้าของผลงานภาพถ่ายชุด ฟูด เชน บาร์บี้ (Food Chain Barbie) สำนักพิมพ์เจ้าแห่งนิยายโรมานซ์ ฮาร์ลกิน (Harlequin) สั่งให้ จิตรกรหญิง นาตาลกา ฮุซาร์ (Natalka Husar) เอาชื่อหนังสือนิยายเก่าๆ ของสำนักพิมพ์ที่เธอนำมาปะติดประกอบงานวาดชุด Library ของเธอออก หรือ การล้อเลียนโลโก้ร้านกาแฟสตาบัคส์ (Starbucks) ในผลงานชื่อ "Consumer Whore” ของนักเขียนภาพประกอบ เคียรอน ดิวเยอร์ (Kieron Dwyer) ก็ทำให้เกิดเรื่องราวถึงโรงถึงศาลกันมาแล้ว

     เมื่อวัฒนธรรมกลายเป็นสมบัติส่วนบุคคล ลิขสิทธิ์กลายเป็นกรอบกั้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ก็ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ “ทบทวน” บทบาทของกฎหมายลิขสิทธิ์ขึ้นในทุกวงการสร้างสรรค์ เพื่อปลดปล่อยวัฒนธรรมให้ดำเนินไปอย่างมีอิสระโดยเสรี

     การเริ่มต้นลงมือต้านพฤติกรรม “หวงลิขสิทธิ์” อย่างเป็นรูปธรรม กระทำกันในแวดวงคอมพิวเตอร์ นำโดย ฟรี ซอฟแวร์ เฟาน์เดชัน (Free Software Foundation (FSF) - กองทุนเพื่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์เสรี) เริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1984 ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักการสร้างระบบปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์สาธารณะเพื่อใช้ร่วมกันอย่างเสรี ด้วยมองเห็นว่า ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับความต้องการด้านเทคนิคหรือไม่ก็เพื่อการค้า

     และเมื่อกองทุนฯมาได้พันธมิตรอย่าง ลินุส โทร์วาลด์ (Linus Torvalds) ผู้สร้างโปรแกรมปฏิบัติการลีนุกซ์ (Linux) ขึ้นมาได้สำเร็จในปี ค.ศ 1992 ก็ทำให้การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบเสรีอย่างแท้จริงนั้นเป็นความจริงขึ้นมาได้ โดย ริชาร์ด แมทธิว สตอลแมน (Richard Matthew Stallman) ประธานกองทุนฯและเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งถึงกับกล่าวว่า “ ปัจจุบันนี้ ระบบร่วม GNU/Linux ที่เราสร้างขึ้น เป็นระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์เพียงระบบเดียวที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์ตามสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง” (รายละเอียดข้อสัญญาการใช้ในภาษาไทยสามารถหาอ่านได้ที่ //developer.thai.net/gpl/)

     แนวคิดของฟรี ซอฟแวร์ ฟาวน์เดชั่น ผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวสำหรับงานสร้างสรรค์อื่นๆ ทั้งงานศิลปะร่วมสมัย ดนตรี งานเขียน ภาพยนตร์ ภายใต้ชื่อหลักการที่เรียกว่า ก๊อปปี้เลฟท์ (Copyleft – เป็นการเล่นคำจากคำว่า Copyright – ลิขสิทธิ์) ขึ้น โดย ก๊อปปีเลฟท์มุ่งมั่นเปิดโอกาสให้ทุกผู้ทุกคนสามารถคัดลอก เผยแพร่ และดัดแปลงผลงานต่างๆ เพื่อให้สามารถเผยแพร่ผลงานในวงกว้างและเปิดโอกาสให้คนอื่นๆร่วมพัฒนาผลงานต่อไปได้อย่างเสรี ภายใต้เงื่อนไขคือ ต้องเป็นการใช้ส่วนตัว ไม่เป็นไปเพื่อการค้าขาย และต้องแสดงชื่อของผู้สร้างสรรค์เมื่อมีการนำงานที่ใช้สัญญาลิขสิทธิ์ที่ทางแกนนำแนวคิดนี้ร่างขึ้นไปใช้

     หลายคนอาจจะมองหลักการของก๊อปปีเลฟท์ว่าเป็นเรื่องของพวกเพ้อฝัน มองโลกมองมนุษย์ในแง่ดีเกินไป ไม่อยู่บนฐานแห่งความเป็นจริง ใครกันล่ะที่อยากจะแจกจ่ายงานของตัวเองออกไปฟรีๆเปล่าๆปลี้ๆ แต่นั่นไม่ใช่ความคิดของกลุ่มนักเขียนอิตาลีชาวเมืองบูโลญ ที่รวมตัวกันในชื่อซึ่งมาจากภาษาจีนว่า วู หมิง (Wu Ming – นิรนาม) อันประกอบด้วย จอวานนี กัตตาบริกา (Giovanni Cattabriga) โรแบร์โต บุย (Roberto Bui) ลูกา ดิ เมโอ (Luca Di Meo) เฟรเดริโก กูกลิเอลมิ (Federico Guglielmi) ซึ่งในอดีตเคยใช้ชื่อโปรเจคของตนว่า ลูเธอร์ บลิสเส็ต (Luther Blissett) ตามชื่อนักฟุตบอลชาวจาไมกาในสังกัดทีมเอซี มิลาน

     กลุ่มวู หมิง รับหลักการของก๊ออปี้เลฟท์มาใช้อย่างแข็งขัน ผลงานพวกเขาจึงมีวางจำหน่ายทั้งในร้านหนังสือ และเปิดให้ดาวน์โหลดอ่านทั้งเรื่องฟรีๆในเวบไซต์ของกลุ่ม เพราะพวกเขามองว่า ความคิดดาดๆของสำนักพิมพ์ต่างๆที่ว่า “หนังสือที่ถูกก๊อปปี้โดยผิดกฎหมายเล่มหนึ่งเท่ากับหนังสือที่ไม่ได้ขายหนึ่งเล่ม” นั้น ไม่เป็นไปตามหลักเหตุผล ด้วยจะมีหลักการใดมาอธิบายปรากฏการณ์ที่หนังสือเรื่อง Q ของพวกเขา ซึ่งเปิดให้ดาวน์โหลดอ่านฟรีๆมากว่าสามปีแล้วได้รับการพิมพ์ซ้ำถึงสิบสองรอบและขายไปได้กว่าสองแสนเล่ม ได้ดีกว่า “ในวงการหนังสือสิ่งพิมพ์ ยิ่งหนังสือแพร่หลายไปกว้างเท่าไหร่ ยอดขายก็จะยิ่งดีขึ้นเรื่อยๆตามไป”

     พวกเขาอธิบายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับหนังสือของพวกเขาก็คือ เมื่อมีนักอ่านเข้ามาดาวน์โหลดหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งจากเวบไซต์ของพวกเขาไปอ่าน นักอ่านคนนั้นอาจจะดาวน์โหลดจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทหรือของมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ต้องจ่ายเงินเลยสักแดงเดียว เมื่ออ่านจบและเกิดชอบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมา เขาก็อยากจะมอบให้คนอื่นเป็นของขวัญ แต่ก็แน่ล่ะว่าการให้หนังสือพิมพ์บนปึกกระดาษเอสี่นั้นมันไม่ค่อยจะน่าดูสักเท่าไหร่ เขาก็เลยไปร้านหนังสือซื้อหนังสือ

     ด้วยประการฉะนี้ หนังสือที่ถูกก๊อปปี้ฟรีๆเล่มหนึ่งก็เท่ากับหนังสือที่ขายได้หนึ่งเล่ม และมีนักอ่านหลายคนที่ให้หนังสือเป็นของขวัญญาติมิตรไม่น้อยกว่าหกเจ็ดเล่ม ดังนั้น หนังสือที่ถูกก๊อปปี้ฟรีเล่มหนึ่งก็เท่ากับหนังสือที่ขายได้หลายเล่มไปในทันที และถ้าหากนักอ่านคนนั้นไม่มีเงินซื้อหนังสือจริงๆ เขาก็จะพูดถึงหนังสือเล่มนี้กับคนรอบข้าง ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องมีคนที่ได้ฟังไปซื้อหนังสือมาอ่าน ส่วนคนที่ดาวน์โหลดหนังสือไปอ่านแล้วไม่ชอบ อย่างน้อยเขาก็ไม่ต้องจ่ายค่าหนังสือไปให้มานั่งเสียดายเงินในภายหลัง

     การเปิดให้ดาวน์โหลดหนังสือจากอินเตอร์เน็ตนั้นเพิ่มจำนวนขึ้นหลายเท่าๆตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นักเขียนหนังสือไซไฟ อีริก ฟลินต์ (Eric Flint) ได้เกลี้ยกล่อมให้สำนักพิมพ์ แบเอ็น บุกส์ (Baen Books )เปิดห้องสมุดเสมือนขึ้นพร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้อ่านดาวน์โหลดหนังสือนิยายกว่าหกสิบเล่มไปอ่านได้ฟรีๆ พร้อมๆไปกับการวางขายหนังสือเหล่านั้นตามร้านหนังสือ และสำนักพิมพ์ โอเรลลี (O’reilly) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านหนังสือคู่มือคอมพิวเตอร์ก็เปิดให้ผู้อ่านดาวน์โหลดหนังสือส่วนหนึ่งจากเวบไซต์ของตนเช่นกัน

     เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่าแนวคิด ก๊อปปี้เลฟท์ กำลังขยายไปสู่วงการเพลง และวงการศิลปะร่วมสมัยมากขึ้นทุกทีและไม่ว่าจะเป็นการกระทำตามอุดมการณ์ยิ่งใหญ่เพื่อมนุษยชาติ หรือเพื่อผลทางการตลาด กระจายงานและชื่อเสียงของตนออกไปให้กว้างขวาง แนวคิดนี้ก็สามารถนำมาลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ และดัดแปลงกับงานในเมืองไทยได้เสมอ จะตั้งชื่อเติมท้ายว่า ลิขสิทธิ์เอื้ออาทร ก็ยอม..เอ้า...



ที่มา Courrier Internationale “Culture libre” issue 689 (jan. 04)
ข้อมูลเพิ่มเติม //www.illegal-art.org, //www.neteconomie.com , //www.gnu.org, //www.courrierinternationale.com, //www.wumingfoundation.com , //www.artlibre.org, //www.developer.thai.net





 

Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2550 21:27:23 น.
Counter : 1422 Pageviews.  

Silly Cyber Indy

Silly Cyber Indy : ตลกใต้ดินบนเน็ต


     เมื่อเอ่ยถึง “เพลงใต้ดิน” หรือ “หนังสือนอกกระแส” หรือ “หนังอินดี้” หลายคนก็คงคุ้นเคยพอจะนึกออกว่าเป็นผลงานของศิลปินและบรรดาคนทำงานที่กำหนดตัวเองชัดแจ้งว่าตั้งตนอยู่นอกระบบการค้ากระแสหลักที่กำลังครอบงำคนในสังคมให้คิดและบริโภคสิ่งซึ่งผู้มีอำนาจและอิทธิพลในบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆเพียงไม่กี่คนกำหนดแนวทางให้

     กลุ่มคนที่สร้างผลงานนอกคอกเช่นนั้นมิได้มีแต่ในวงการศิลปะ หนังสือและภาพยนต์เท่านั้น แม้แต่ในสังคมอินเตอร์เน็ตและไอทีก็ยังมีผลงานในรูปแบบต่างๆในลักษณะนี้ให้เห็นเช่นกัน ผลงานที่เห็นได้ง่ายๆและกระทบตัวผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างเราๆก็พวกโปรแกรมไวรัสต่างๆที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งถึงหลายคนจะส่ายหน้ามองว่าเป็นการกระทำของพวกโรคจิตชอบก่อกวนไม่มีอะไรจะทำ หากบางคนกลับถือเป็นผลงานของคนที่ไม่ยอมสยบให้กับผู้กุมตลาดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นการท้าทายตบหน้าบริษัทใหญ่ๆกันเล่นๆให้เห็นกันชัดๆ

     พูดถึงงานอินดี้ๆ ก็น่าแปลก ถ้าใครลองสังเกตดีๆจะเห็นได้ว่างานใต้ดินที่ทวนกระแสหลักในทุกวงการจะเป็นงานที่เสพยากๆ หนักๆ อัดสาระเพียบๆ หรือไม่ก็แปลกประหลาด ไม่ชินตา บ้างก็ปล่อยหน้าที่ให้คนฟัง คนอ่าน หรือคนดูตีความกันจนไมเกรนถามหาแล้วก็ยังตีไม่ออกว่าจะสื่ออะไรกันแน่ ส่วนผลงานที่ดูตลกๆ เบาๆ มองดูเหมือนไร้คุณประโยชน์ไม่เสริมสร้างหยักสมองก็จะถูกดูและดูถูกว่าเป็นงานไร้สาระไม่เข้าพวกไปโดยอัตโนมัติ

     แต่กระนั้นก็ยังมีคนที่มองว่างานล้อเล่นตลกๆสนุกๆ คล้ายจะไร้คุณค่าและสาระก็มีที่ทางของตัวเอง สามารถร่วมขบวนการคนสวนกระแสต่อต้านนายทุนเงินหนากับเขาได้เหมือนกัน คนที่คิดอย่างนั้นและยังนำเสนอผลงานจากความคิดเช่นนี้ให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างอีกด้วยคือสองนักข่าวชาวบาเซโลนา ประเทศสเปน ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักเคลื่อนไหวบนโลกไซเบอร์ อันนา รามอส (Anna Ramos) และ ร๊อก จิเมเนซ์ (Roc Jiménez) คู่หูที่มักจะลงชื่อในอีเมล์ว่า a + r เจ้าของค่ายเพลงอัลกุ (Alku)

     ค่ายเพลงอัลกุของ a+r เริ่มต้นจากการออกคอลเล็คชั่นโปสการ์ดเล็กๆน้อยๆ แล้วต่อมาก็ออกซีดีเพลงอัลบั้มแรกขนาดเจ็ดเซ็นติเมตรใหญ่พอๆกับกล่องไม้ขีดไฟ ภายในเป็นชิ้นงานเพลงมิกซ์งานเพลงของวูบบลี (Woobly) ศิลปินชาวอเมริกันจำนวนสิบสี่เพลงในรูปแบบแนวดนตรีและฟอร์แมตไฟล์ที่หลากหลาย แต่ละแทรกให้เสียงพิลึกพิลั่นจากการถ่ายดัดแปลงรูปแบบไฟล์อย่างน้อยสามสิบแบบ ค่ายเพลงนี้มีคอนเสปท์ออกผลงานที่เป็นงานศิลปะที่สอดแทรกอารมณ์ขัน การต่อสู้ทางการเมืองและสารสัพเพเหระเล็กๆน้อยๆหาสาระมิได้เป็นหลัก

     ความสำเร็จอย่างงดงามเป็นที่กล่าวขวัญถึงของอัลกุคืออัลบั้ม เอล ฟอร์มาโต อิส เดอะ ชาเลนจ์ (El formato is the challenge) ซึ่งเป็นการรวบรวมงานเพลงจากการแปลงโปรแกรมแบบไม่สมบูรณ์ของไฟล์คอมพิวเตอร์ประเภทต่างๆ งานชิ้นนี้เป็นงานศิลปะแบบการจัดการเสียงดนตรีของคนอื่นใหม่หรือเรียกอีกอย่างก็ได้ว่าเป็นปฏิบัติการก่อการร้ายทางดนตรี โดยสองทหารเสือของพวกเขาคือ เอโวล และอ๊อบอ๊อบอ๊อบ ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากศิลปิน นักร้องนักดนตรีอิเลคโทรนิกอินดี้ทั้งมืออาชีพอย่างชิกส์ ออน สปีด อเลจันดรา&เอรอน หรือ วี/วีเอ็ม ส่งผลงานเข้าร่วมฟรี รวมไปถึงผลงานของมือสมัครเล่นมากมายส่งมาร่วมโครงการโดยไม่ได้คิดมูลค่า มิต้องรู้จักหน้าตาและบางครั้งหลุดหายไปจากระบบติดต่อไม่ได้อีกเลย อันเป็นธรรมดาวิสัยของโลกอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว

     ต่อมาก็เกิดโปรเจค “อิมเบซิล” (imbecil) ขึ้น โดยเริ่มต้นจากซีดีรวบรวมโปรแกรมคอมพิวเตอร์สนุกๆไร้สาระก่อน“มักจะมีสิ่งที่เหนือจริงและเสียดสีเสมอในการทำงานของอัลกุ จึงเป็นเรื่องปกติที่ไม่วันใดก็วันหนึ่งความคิดเช่นนี้จะปรากฏอยู่ในรูปแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์” โปรเจค อิมเบซิล กำเนิดขึ้นเมื่อสองปีที่แล้วเพื่อการแพร่กระจายงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนขึ้นมาเพราะความสนุก ตลกๆ เสียดสีๆ และเขียนขึ้นฟรีๆ อันสะท้อนถึงกฎแนวคิดหลักของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย คือ เรื่องประโยชน์หน้าที่การใช้สอย เพราะแต่ดั้งแต่เดิมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ถูกสร้างมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คน ไม่ใช่เป็นสินค้าสำหรับขาย หรือเป็นเครื่องมือควบคุมพฤติกรรมของคนอย่างที่พวกบริษัทใหญ่ๆใช้อยู่ทุกวันนี้

     เวบไซต์ imbecile.net โปรเจคล่าสุดของอัลกุเป็นสถานที่รวบรวมโปรแกรมไร้ประโยชน์แต่เปี่ยมอารมณ์ขันต่างๆไว้มากมาย ที่ imbecile.net คุณจะสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยแปลภาษาอังกฤษเป็นรหัสมอร์ส (morse- รหัสโทรเลข ซึ่งคาดว่าทุกวันนี้คงไม่มีใครใช้บริการแล้ว และถ้าเจอใครที่ใช้รหัสนี้อยู่ก็ช่วยแนะนำให้เขาไปดาวน์โหลดโปรแกรมนี้มาใช้ได้เลย) โปรแกรมที่ทำให้พิมพ์ตัว a บนแป้นพิมพ์ไม่ได้ (ทำไมต้องเป็นอักษรตัวนี้ก็ไม่รู้) โปรแกรมช่วยเขียนจดหมายลาตายบนไมโครซอฟท์ เวิร์ด (ขอบคุณมาก แต่ขอเก็บไว้เฉยๆก่อน ตอนนี้ยังไม่อยากใช้) โปรแกรมพิมพ์เอาไว้ส่งแผ่นดินไหวไปตามเมืองต่างๆ (มีแล้วรู้สึกเห่อเหิม เหมือนเป็นพระเจ้า จะสั่นใครก็สั่นได้ กดปุ่มปั้บนึกภาพออกเลยว่าจะวุ่นวายขนาดไหน แต่โปรแกรมนี้ต้องอาศัยจินตนาการไม่น้อยทีเดียว แต่ในรายชื่อเมืองไม่ยักกะมีกรุงเทพฯ บ้านเราแฮะ สงสัยจะรวบรวมคนที่น่าสั่นไว้ไม่พอ) โปรกแกรมวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการเรียงสีเวลาเล่นบิดลูกบากส์รูบิก

     โปรแกรมทั้งหลายที่กล่าวมานี้คือส่วนหนึ่งของโปรแกรมที่มีให้ดาวน์โหลดฟรีๆจากเวบนี้ที่คนที่ใช้โปรแกรมวินโดว์(window)ของไมโครซอพฟ์เป็นโปรแกรมปฏิบัติการบนเครื่องคอมพิวเตอร์สามารถดาวโหลดมาใช้ได้ แต่บนเวบนี้ยังมีโปรแกรมและสิ่งต่างๆมากมายที่ใช้ได้เฉพาะในโปรแกรมแมคและยูนิกซ์เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่านี่แหละคือข้อจำกัดของผู้บริโภคที่ต้องตามข้อจำกัดของโปรแกรมที่บริษัทใหญ่ทำออกมาขายต้อยๆ เหมือนกบอยู่ในกะลาออกไปหาแสงสว่างและความสำราญจากโลกภายนอกระบบไม่ได้

     นอกจากนั้น เวบไซต์นี้ยังเป็นแหล่งราวของบรรดาโปรแกรมไวรัสที่กำลังสูญพันธุ์ (โดนมาแล้ว บอกได้เลยว่าเป็นแหล่งจริงๆ) ถือได้ว่าป็นเวบไซต์แห่งแรกที่เปิดรับเป็นผู้เผยแพร่โปรแกรมปัญญาอ่อนต่างๆ หรือไม่อย่างนั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นเวบไซต์แรกที่แสดงตัวต้านบริษัทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่อย่างเป็นรูปธรรมและเปิดเผยตัว

     คู่หูจอมป่วนเน็ตมองว่า ถึงใครๆจะรู้ว่าฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ แพทช์ สคริปต์ และเครื่องเคราเกี่ยวกับไอทีทั้งหลายทั้งแหล่นั้นไม่ได้นำความสุขมาให้ นอกเหนือจากเพลงฟรีๆไม่กี่เพลงและความสุขทางกามรมณ์คนเดียวชั่วครั้งชั่วคราว แต่ว่านั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกยักษ์ใหญ่วงการโปรแกรมเมอร์ อย่างเช่นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ หยุดทำให้เราเชื่อว่าชีวิตของเราขึ้นอยู่กับผลงานสร้างทางวิศวกรรมของพวกเขา “พวกบริษัทใหญ่ที่ควบคุมเทคโนโลยีที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันไม่แยแสพวกเราหรอก แต่พวกเขาก็ไม่ลืมที่จะจกเงินจากกระเป๋าพวกเราไป ทั้งๆที่โปรแกรมหลักๆใหญ่ๆที่หาซื้อได้ทั่วไปนั้นมีแต่บั๊กและถือตามหลักการตลาดมากกว่าความจำเป็นที่แท้จริงของผู้ใช้”

     วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินงานเวบไซต์นี้คือการแสดงออกถึง “ความลึกซึ้ง” ของวงการไอทีและการเย้ยหยันเทคโนโลยีด้วยวิธีการแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งสำคัญที่อัลกุเน้นมากคืออารมณ์ขันและความคิดสร้างสรรค์ โปรเจคนี้เริ่มด้วยความคิดที่จะทำซีดีรอมเก็บโปรแกรมไร้ประโยชน์ อย่างไรตามนักเคลื่อนไหวทั้งสองไม่มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้อิมเบซิลเป็นวงจรที่ปิดอย่างที่ใครเข้าใจ a+r มองว่า ศิลปะร่วมสมัยโดยเฉพาะดนตรีร่วมสมัยนั้นขาดอารมณ์ขันเสียเป็นส่วนใหญ่ ผู้คนถูกสั่งสอนกล่อมสมองมาตั้งแต่ไหนแต่ไรว่าคำว่า “นามธรรม” หรือ มโนทัศน์ มีความหมายเดียวกับความน่าเบื่อหน่ายและเกี่ยวโยงไปถึงความเหนือกว่าทางปัญญาของคนขาว เพศชายและต้องมีเงินด้วย

     “การทะนงตัวในวงการศิลปะเป็นสิ่งที่เรารำคาญมากที่สุด แม้ว่าธรรมชาติของโครงการอิมเบซิลบีบบังคับกำหนดอยู่แต่ในกลุ่มคนที่เขียนโปรแกรมได้ แต่อิมเบซิลไม่ได้เป็นการแข่งประกวดโปรแกรม สิ่งที่สำคัญคือความคิดและอารมรณ์ขัน เราไม่คาดคิดอะไรไว้ล่วงหน้า วันหนึ่งที่เราเบื่อทำงานนี้แล้ว หรือเรามีเป้าหมายอื่นๆ เราก็จะมองว่าอิมเบซิลนั้นจบสิ้นลงแล้ว”

     กบบ้านเขาเขย่ากะลาไปถึงไหนกันแล้ว กบบ้านเราล่ะ ทำอะไรกันอยู่

ที่มา นิตยสาร Courrier international - n° 708 - 27 mai 2004
ข้อมูลเพิ่มเติม //imbecil.net, //www.brdf.net, //www.discogs.com,
ขอขอบคุณ คุณ max จาก datacenterasia.com สำหรับวิธีการถอดถอนไวรัส nesky ทั้งหมด (ที่เข้ามาตอนที่ทะเล่อทะล่าเข้าไปเปิดแหล่งไวรัส) ออกจากคอมพิวเตอร์ผู้เรียบเรียง (ผู้อ่านที่เผลอเข้าไปดูเวบนี้แล้วเผลอไปดาวน์โหลดไวรัสพวกนี้เข้าเครื่องสามารถดูวิธีกำจัดไวรัสเหล่านี้ได้ใน //us.mcafee.com/virusInfo/default.asp?id=description&virus_k=101119





 

Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2550 21:15:59 น.
Counter : 1119 Pageviews.  

Time for Thai pens

Time for Thai pens : ได้เวลานักเขียนไทย


     Oversee เมื่อฉบับที่แล้ว ได้เล่าเรื่องราวของเหล่านักเขียนชาวจีนที่สร้างงานเขียนโด่งดังในต่างประเทศนอกประเทศบ้านเกิดแถวตะวันตกซีกโลกฝรั่งตาน้ำข้าวทั้งในอเมริกาและในยุโรปให้ทราบโดยทั่วกันไปแล้ว โดยทางยุโรปได้เน้นสถานการณ์ในประเทศฝรั่งเศสเป็นหลัก แต่เรื่องที่อยากเล่าให้ได้รู้กันก็ยังไม่หมดเสียทีเดียว ก็เลยต้องขออนุญาตบ.ก.ของเรากล่าวถึงปรากฏการณ์งานวรรณกรรมต่างชาติในประเทศนี้ต่อในครั้งนี้ เรื่องที่จะพูดถึงต่อนี้เป็นเรื่องซึ่งเกิดขึ้นฝากโพ้นทะเลที่มองข้ามไปอย่างไม่น่าให้อภัยเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานเขียนของคนไทยเราๆนี่เอง

     วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2004 หน้าวรรณกรรมของหนังสือพิมพ์ชั้นนำของประเทศฝรั่งเศสอย่าง ลิเบราซิยง (Libération) ได้ใช้พื้นที่กว่าหน้าครึ่งกล่าวถึงหนังสือซึ่งแปลจากงานเขียนไทยเรื่อง “เจ้าการะเกด” ของเสน่ห์ สังห์สุข (นักเขียนและนักแปล “กากเดนมนุษย์” แห่งกระท่อมผู้ชนะ ตำบลหนองโสน จังหวัดเพชรบุรี เจ้าของนามปากกาหลากหลายทั้ง แดนอรัญ แสงทอง มายา และเชน จรัสเวียง) สรุปใจความได้ว่า ... เป็นหนังสือร้อยแก้วแสนสละสลวย เร้าความสนใจอย่างเหลือเชื่อ ไหลรื่นราวสายน้ำกลางฤดูฝน ร้อยเรียงเรื่องราวตำนานโบราณ ในฉากชนบทบ้านป่า ด้วยถ้อยคำที่นำผู้อ่านลื่นไหลตามไปสู่บทต่อๆไป…หนังสือแปลเล่มนี้วางแผงเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2004 และได้รับการลงคะแนนจากพนักงานเฟอนัค(Fnac) ร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ซึ่งมีสาขามากมายทั่วประเทศฝรั่งเศสให้เป็นหนึ่งในหนังสือในดวงใจผู้ขายหลังจากหนังสือวางแผงได้ไม่นานนัก

     ‘เจ้าการะเกด’ ภาคภาษาฝรั่งเศส หรือ ‘อุน อิสตัวร์ วิเยิย กอมม์ ลา ปลุย’ (Une histoire vieille comme la pluie – เรื่องบุร่ำโบราณดั่งสายฝนก็มิปาน) แปลโดยมาร์แซล บารังส์ (Marcel Barang) นักแปลชาวฝรั่งเศสผู้เปิดโลกวรรณกรรมไทยสู่ผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษมากว่าสิบปี เขาได้กล่าวถึงเสน่ห์ สังห์สุขในบทสัมภาษณ์ซึ่งปรากฏในลิเบ (ชื่อย่อของหนังสือพิมพ์ลิเบราซิยง) ในคอลัมน์ที่ลงพิมพ์ในคราเดียวกับบทความข้างต้นว่า “เสน่ห์ สังห์สุข เป็นหนึ่งในบรรดานักเขียนชั้นนำชาวไทยในปัจจุบัน และยังเป็นคนไทยที่มีความรู้ทางวรรณคดีตะวันตกเป็นอย่างดีคนหนึ่ง”

     นักแปลผู้นี้ได้แปลงานวรรณกรรมไทยให้นักอ่านชาวฝรั่งเศส (รวมถึงนักอ่านในประเทศผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสอื่นๆอย่าง เบลเยี่ยม สวิสเซอร์แลนด์ แคว้นควีเบค ประเทศแคนาดา) ได้มีโอกาสสัมผัสงานเขียนไทยที่เขาเรียกว่า Thai Modern Classics (วรรณกรรมไทยยุคใหม่ชั้นยอด) หลายต่อหลายเรื่อง เรื่องแรกในปี 1992 ได้แก่ ‘อุน อิสตัวร์ ออร์ดิแนร์’ (Une histoire ordinaire) หรือ ‘เรื่องธรรมดา’ นิยายของชาติ กอบจิตติ พร้อมแนบในเล่มด้วย ‘เลอ คูโต’ ( Le couteau –มีด) หรือ’ มีดประจำตัว’ ซึ่งเป็นงานเรื่องสั้นของนักเขียนท่านเดียวกัน ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ขายหมดไปเรียบร้อยแล้ว

     หลังจากนั้น ในปี 1998 ‘ลอมไพเยอร์ เดอ เรฟส์’ (L'empailleur de rêves - ผู้คงฝัน)ซึ่งแปลจากหนังสือเรื่อง ‘ ตลิ่งสูงซุงหนัก’ นิยายชื่อดังของนิคม รายาวา ก็ได้รับการตีพิมพ์ออกวางแผง และถูกกล่าวขวัญว่าเป็นหนังสือที่ส่องลำแสงความเรียบง่าย ความสดใหม่และความเป็นธรรมชาติ ไร้การแต้มแต่งหรือความซับซ้อนซ่อนงำ เป็นเรื่องเล่างามประณีตถึงการดำเนินอยู่และความวิจิตรของชีวิตมนุษย์ ถึงกับมีการนำเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบระดับได้กับนิยายชั้นนำระดับโลกอย่าง ‘เฒ่ากับทะเล’ หรือ ‘The old man and the sea’ ของแฮมมิงเวย์เลยทีเดียว

     นอกจากภาษาฝรั่งเศสแล้ว ตลิ่งสูงซุงหนัก มีภาคภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ในประเทศออสเตรเลีย (แปลโดยนักแปลท่านอื่น) และได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาคภาษาฝรั่งเศสเลย

     ในปีเดียวกันมาร์แซล บารังส์ก็ได้นำเสนอ ‘วีฟว์ เดอบูต์’ (Vivre debout - ยืนหยัดอยู่) รวมเรื่องสั้นอัตชีวประวัติ 19 เรื่อง คัดสรรโดยผู้แปลจากบรรดาเรื่องสั้นในหนังสือสามเล่มของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซี่งกล่าวถึงเรื่องราวเมื่อคราวที่ผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่ในป่าหลังจากเหตุการณ์สิบสี่ตุลา คือหนังสือรวมเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้ คลื่นเสรีภาพ และโลกเปลี่ยนต้องเปลี่ยนโลก วีฟว์ เดอบูต์ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในหนังสือแนะนำประจำฉบับมีนาคม 1999 ของหนังสือพิมพ์รายเดือน เลอ มงด์ ดิโปลมาติก ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์การเมืองทรงอิทธิพลในระดับนานาชาติในเครือหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของประเทศฝรั่งเศสอย่าง เลอ มงด์ (Le Monde) ได้รับการเชื่อถือในระดับโลกและเป็นผู้นำในด้านการต่อต้านจักรวรรดินิยมและโลกาภิวัฒน์ ตีพิมพ์กว่า 19 ภาษาและวางจำหน่ายในกว่า 60 ประเทศ

     อีกสามปีต่อมา ก็ถึงคิวของ ‘โลมบร์ บลองช์’ (L’ombre blanche-เงาสีขาว) จากหนังสืออัตชีวประวัติไร้ย่อหน้าเรื่อง ‘เงาสีขาว (ภาพเหมือนในวัยระห่ำของศิลปิน)’ ของเสน่ห์ สังห์สุข ซึ่งผู้แปลยกย่องว่าเป็นหนังสือยิ่งใหญ่ระดับโลกเล่มหนึ่ง ได้รับการแปลเป็นภาษาสเปนในชื่อ ‘ลา โซมบรา บลังคา’ (La Sombra blanca –เงาสีขาว) หลังจากภาคภาษาฝรั่งเศสออกวางตลาดไม่นานนัก ผู้อ่านชาวฝรั่งเศสยกย่อง ‘เงาสีขาว’ ให้เป็นหนังสือนิยายแหกคอกอันน่าทึ่งสำหรับผู้อ่านคอวรรณกรรมพันธุ์แท้ผู้รู้ว่าวรรณกรรมคือฉันใด

     ก่อนหน้านั้น เรื่องสั้นของเสน่ห์ สังห์สุข เรื่องที่ถูกเพิกเฉยจากบรรณาธิการชาวไทยในช่วงแรกๆคือ ‘อสรพิษ’ หรือ ‘เวอแน็ง’ (Venin - พิษงู) ในชื่อฝรั่งเศส ได้สร้างความฮือฮา ทำยอดขายสูงจนทุกวันนี้ถึงกว่า 40,000 เล่มในฝรั่งเศส มีการขายลิขสิทธิ์แปลไปแล้วสำหรับภาษากรีก คาตาลัน สเปน โปรตุเกส เยอรมัน ภาษาเบรลล์สำหรับคนตาบอด และตีพิมพ์เป็นตอนๆเป็นภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) ก่อนที่สำนักพิมพ์แมวคราวจะจับมารวมเล่มเป็นหนังสือสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) ในปี 2002

     พฤษภาคม 2002 ‘ซอนน์ เลอร์’ (Sonne l'Heure – เวลาลั่น) หรือในชื่อไทยคือ ‘เวลา’ หนังสือรางวัลซีไรต์เล่มที่สองของ ชาติ กอบจิตติ “หนังสือต้องอ่านสำหรับคนอายุสี่สิบขึ้นไป” ตามคำกล่าวของนักแปล ก็ปรากฏสู่สายตาของนักอ่านชาวฝรั่งเศส และตามติดด้วยภาคอังกฤษจากผลงานนักแปลท่านเดียวกัน

     2003 ได้เวลาของ “ไอ้ฟัก”และ “อีสมทรง”ออกมาโลดเล่นสู่สายตานักอ่านชาวฟรองโกโฟน(Francophone – ผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส) ในหนังสือเรื่อง ‘ ลา ชุต เดอ ฟัก’ (La Chute de Fak – การล่มสลายของฟัก) จากหนังสือการันตีคุณภาพรางวัลซีไรต์ ‘คำพิพากษา’ ของ ชาติ กอบจิตติ ที่ถูกสร้างเป็นละครทีวีและภาพยนตร์มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ได้รับการต้อนรับเป็นอันดีจาก เลอ มงด์ ดิโปลมาติก ในฉบับเดือนกันยายน 2003 ว่า เป็นเรื่องเล่าแสดงถึงการท้อถอยของปัจเจกใจกลางสังคมที่ถดถอยจากค่านิยมทางวัตถุที่เพิ่มพูนและปราศจากความปราณี นอกจากนั้นยังมีผู้อ่านชาวสวิสต์ผู้หนึ่งกล่าวถึงหนังสือเรื่องนี้อย่างน่าสะกิดใจชาวไทยว่า เป็นหนังสือที่กล่าวถึงการเผชิญหน้าระหว่างปัจเจกชนกับสังคมพื้นถิ่น ในสยามเมืองยิ้มและมีน้ำใจ หากเป็นเมืองไทยที่แสนโหดร้ายด้วยเช่นกัน...

     นอกจากหนังสือทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว มาร์แซล บารังส์ ยังได้แปลผลงานของวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนประจำ a day ของเรา (ผู้ที่นักแปลเห็นว่าเป็น นักเขียนที่ไม่เหมือนใคร ผู้ใฝ่หาวิธีการเขียนได้น่าสนใจและแตกต่างจากนักขียนไทยและนักเขียนเทศทั้งปวง) เรื่อง ลา ปูเป้ (La poupée – ตุ๊กตา) เรื่องสั้นซึ่งใช้ประโยคคำถามในการเล่าเรื่อง และ อะมองต์ (Amant - ชู้) ซึ่งเป็นเรื่องสั้นเลี่ยงคำกิริยา ดำเนินเรื่องด้วยคำนาม คั่นสลับด้วยคำวิเศษณ์ ลงในนิตยสาร เออโรปา (Europa) นิตยสารหัวก้าวหน้าด้านวรรณกรรมและวัฒนธรรมในภาษาฝรั่งเศสที่จำหน่ายทั่วทวีปยุโรป

     นอกจากนั้นของนอกจากนี้ก็ยังมี ‘ลูกอีสาน’ ของคำพูน บุญทวี ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส (ไม่ปรากฏชื่อผู้แปล) และ ‘หลายชีวิต’ ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ในชื่อ ปลุซซิเยอรฺ วี (Plusieurs vies – หลายชีวิต) โดย วิไลวัลย์และ คริสติยง เปลโลเมล ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายเมื่อมานานมานี้เอง

     เป็นที่น่าสังเกตว่าหนังสือไทยอันเป็นที่รู้จักและยอมรับหรือถูกจริตชาวฝรั่งเศสนั้น ส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมที่ยอดขายในเมืองไทยมิได้พุ่งกระฉูดถึงขนาดติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ จะเป็นที่รู้จัก บ้างชื่นชม บ้างชิงชัง ก็แต่เพียงในหมู่นักอ่านวรรณกรรมกลุ่มเล็กๆเพียงกระหยิบมือในบ้านเรา กระนั้น คงมิอาจสรุปได้ว่ารสนิยมของนักอ่านไทยหรือของนักอ่านเทศสูง-ต่ำกว่ากัน ด้วยความแตกต่างในด้านนี้หาวัดเป็นระดับเทียบเคียงเช่นนั้นได้ไม่ หากที่ทำได้ก็คงขอแรงพิจารณาว่าเพราะเหตุใดหนังสือเหล่านี้จึงได้รับการคัดเลือกแปล นำเสนอ ผ่านการพิจารณาตีพิมพ์จำหน่าย จนเป็นที่เลื่องลือในหมู่นักอ่านชาวฝรั่งเศสผู้เลื่องชื่อทั้งด้านคุณภาพและปริมาณหนอ

ขอขอบคุณ คุณมาร์แซล บารังส์ และนักแปลทุกท่านที่ลงแรงกายแรงใจแปลหนังสือไทยทุกเล่มสู่สายตาชาวเทศ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ Libération ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2004
ข้อมูลเพิ่มเติม //www.thaifiction.com, //www.biblio-idealis.com, //www.monde-diplomatique.fr, //www.amazon.fr





 

Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2550 14:50:54 น.
Counter : 1766 Pageviews.  

Chinese pens out of China

Chinese pens out of China : นักเขียนจีนในต่างแดน


     ช่วงนี้เราได้ยินคนรอบๆข้างและสื่อมวลชนต่างๆพูดถึงประเทศจีนกันหนาหู หนังสือพิมพ์หลายฉบับเพิ่มคอลัมน์ว่าด้วยประเทศนี้โดยเฉพาะ ไหนจะสถาบันสอนภาษาจีนผุดขึ้นมาเพียบแทบจะทุกหัวระแหง ส่วนที่เห็นกันชัดๆคือ สินค้าจากประเทศจีนทะลักเข้ามาจนแทบตั้งตัวไม่ติดทั้งบนห้างและตามแบกะดิน

     ไม่ต้องบอกใครๆก็เดาออกว่าเหตุผลหลักที่ทำให้กระแสน้ำจากเมืองจีนไหลเชี่ยวกรากข้ามเขื่อนใหญ่ที่เคยกักกั้นไว้ในอดีตออกสู่โลกภายนอกกำแพงเมืองจีนก็คือ การเปิดประตูการค้าเข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก (World Trade Organization - WTO) เมื่อปลายปี 2001

     ขณะที่การค้าและอุตสาหกรรมกำลังโตวันคืน หลังจากจีนเข้าสู่ระบบการค้าเสรีติดต่อกับทั่วโลกมากขึ้น วงการหนังสือที่นั่นก็พุ่งกระฉูดไม่แพ้กัน แม้ว่าจะพูดไม่ได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่ามีความ “เสรี” เต็มที่เนื่องจากสำนักพิมพ์ทุกแห่งยังอยู่ภายใต้การควบคุมและดำเนินการจากรัฐบาล แต่ก็ว่ากันว่าร้านหนังสือต่างๆในเมืองจีนจะมีลูกค้าเต็มร้านตลอด

     นอกจากนักเขียนรุ่นใหม่ๆที่เขียนเรื่องราวใหม่ๆและบางครั้งเปิดเผยจนน่าตกใจและเปิดโปงจนถูกแบนไม่ให้พิมพ์ขายอย่างเป็นทางการ (แน่ล่ะ ว่ามีการลักลอบพิมพ์ออกมาเกลื่อนเมือง) เช่น เซี่ยงไฮ้ เบบี้ (Shanghai Baby) ของ เว่ย ฮุ่ย และที่ตามมาติดๆคือ ปักกิ่ง ดอลล์ (Beijing Doll) ของ ชุน ซู่ (Chun Sue) แล้ว ยังมีนักเขียนจีนมากมายออกไปอยู่ต่างประเทศและเขียนงานให้ฝรั่งอ่านชนิดได้ทั้งเงินได้ทั้งกล่อง และก็ไม่พ้นถูกรัฐบาลจีนแบนไม่ให้พิมพ์ขายในประเทศไปหลายเล่มเช่นกัน ผลจากการเล่าเรื่องราวลึกๆอย่างอิสระจนเป็นกระจกส่องที่ใสเกินไป

     หนังสือของนักเขียนจีนในต่างแดนหลายคนนอกจากจะขายดีระดับเบสต์เซลเลอร์ทั้งในยุโรปและที่ฝั่งอเมริกาแล้ว ยังได้รับรางวัลต่างๆทั้งในระดับประเทศและระดับโลก อย่างเช่น รางวัลโนเบลในปี 2000 นักเขียนผู้ได้รับรางวัลสาขาวรรณกรรมคือ นักเขียนจีนผู้ตั้งรกรากในประเทศฝรั่งเศสที่ชื่อ เกาสิงเจี้ยง (Gao Xingjian) จากหนังสือเรื่องมงตาญ เดอ ลาม (Montagne de l’âme หรือในชื่อไทยว่า ขุนเขาแห่งจิตวิญาณ)

     นักเขียนพลัดถิ่นของจีนมีทั้งที่ออกจากประเทศด้วยความสมัครใจและใฝ่ฝันถึงอิสระเสรีภาพแบบตะวันตก ส่วนอีกหลายคนถูกบีบบังคับให้จากบ้านเกิดแบบผู้ลี้ภัยทางการเมืองโดยส่วนใหญ่จะเป็นพวกปัญญาชนชั้นนำผู้มีการศึกษา จึงไม่น่าแปลกใจที่หัวกะทิไกลบ้านเหล่านี้นั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในสถานภาพไหนจะอดจะจับปากกาขึ้นเขียนหนังสือไม่ได้

     ในเรื่องการเลือกใช้ภาษาเขียน นักเขียนแต่ละคนจะมีความถนัดและเลือกใช้ภาษาเล่าเรื่องต่างกันออกไป หลายคนพอใจที่จะเขียนหนังสือโดยใช้ภาษาจีนที่ตนเชี่ยวชาญและเผยแพร่งานของตนผ่านการแปล แต่ก็มีไม่น้อยที่ลงมือเขียนด้วยภาษาที่ใช้ในประเทศที่ตนไปพำนักอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ไปจนถึงภาษาดัชท์ (ภาษาฮอลล์แลนด์)

     ทางฝั่งยุโรป กระแสงานเขียนของนักเขียนจีนที่มาแรงอย่างเห็นได้ชัดอยู่ในประเทศฝรั่งเศส มีนักเขียนจากเมืองจีนหลายคนมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับจากนักอ่านอย่างกว้างขวาง และเป็นที่ต้องการถึงกับมีคดีความขึ้นโรงขึ้นศาลกันระหว่างสำนักพิมพ์สองแห่งเกี่ยวกับลิขสิทธิ์การพิมพ์หนังสือของ ชาน ซา (Shan Sa) นักเขียนหญิงชาวจีนผู้มีผลงานเขียนขายดีอันดับต้นๆผู้เขียนงานเป็นภาษาฝรั่งเศส

     งานเขียนของชาน ซา สามารถข้ามกำแพงความแตกต่างทางวัฒนธรรมสื่อความคิดแบบตะวันออกให้คนตะวันตกซาบซึ้งได้อย่างเรียบง่ายหากลึกซึ้ง จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังสือเรื่องเด่นของเธอเรื่องหนึ่งคือ ลา ฌูเอิส เดอ โก (La joueuse de Go) เจ้าของรางวัลรางวัลกงกูรท์ เดส์ ลีเซียนส์ (Goncourt des Lycéens) ปี 2001 ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กหญิงนักเล่นหมากล้อมชาวจีนกับคู่แข่งเป็นชายหนุ่มลึกลับซึ่งความจริงแล้วเป็นทหารญี่ปุ่นที่มาบุกรุกเมืองจีน ได้รับการแปลออกไปหลายภาษารวมทั้งภาษาจีนและไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทยเราด้วย

     ส่วนผลการตัดสินคดีข้อขัดแย้งที่กล่าวถึงนั้นทำให้สำนักพิมพ์ที่แพ้คดีต้องเก็บหนังสือที่วางแผงไปแล้วกลับสำนักพิมพ์ไป นับเป็นคดีที่สร้างความฮือฮาให้เมืองน้ำหอมไม่น้อยเมื่อปลายปีที่แล้ว

     นักเขียนจีนอีกคนที่ติดอันดับขายดีและเป็นมือรางวัลในฝรั่งเศสเช่นเดียวกันคือได ซีจือ (Dai Sijie) เจ้าของ ผลงานเรื่องบัลซัค เอท์ ลา เปอติต ตัยเยิส ชินวซ (BALZAC ET LA PETITE TAILLEUSE CHINOISE) (2001) เรื่องราวของเยาวชนในช่วงการปฏิบัติวัฒนธรรมและความผูกพันกับหนังสือของบัลซัค นักเขียนใหญ่ในอดีตของฝรั่งเศส ในปี 2003เขาออกหนังสือเรื่อง เลอ คงเปล๊กซ์ เดอ ดิ (LE COMPLEXE DE DI) มาตอกย้ำความสำเร็จ ด้วยหนังสือสองเล่มนี้กวาดรางวัลจากการประกวดหนังสือชั้นนำในฝรั่งเศสไปหลายรางวัลเลยทีเดียว

     นอกจากเรื่องยอดขายจากกระแสความฮิตแล้ว ด้านความลึกซึ้งในเชิงภาษาและวรรณกรรม นักเขียนจีนก็ได้รับการยกย่องไม่ยิ่งหย่อนกว่าใคร ฟรองซัวส์ เช็ง (François Cheng) หรือ เช็ง เบายี (Cheng Baoyi) นักเขียนเชื้อสายจีนที่อาศัยในฝรั่งเศสและได้รับสัญชาติฝรั่งเศสเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมอันทรงเกียรติเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วให้เป็นสมาชิกในอาคาเดมี ฟรองเซส (Académie française) ซึ่งเป็นองค์กรนักเขียนนักปราชญ์อันเก่าแก่และได้รับความเชื่อถือในระดับชาติ


     ข้ามไปฝั่งอเมริกากันบ้าง

     ณ โลกใหม่ดินแดนแห่งเสรีแห่งนี้ยังคงมนต์ขลังไม่เสื่อมคลายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักเขียนจีนที่อพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่นั่นต่างได้เจอประสบการณ์แตกต่างกันออกไป บางคนต้องไปเริ่มต้นชีวิตโดยการส่งของกินตามบ้าน บ้างต้องยังชีพด้วยการรับจ้างเขียนป้ายตัวอักษรจีน หากความฝันแบบอเมริกา (American’s dream) ยังปรากฏให้เห็นเป็นความจริงสำหรับผู้ที่ต่อสู้ชีวิตเสมอ อันฉี-หมิง (Anchee Min) เจ้าของหนังสือกึ่งอัตชีวประวัติซึ่งขายดิบขายดีในปี 1994 เรื่องเรด อเซเลีย (Red Azalea – อะเซเลียสีแดง ) เคยสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนศิลปะแห่งหนึ่งในอเมริกาโดยเพื่อนเธอกรอกใบสมัครให้ว่าภาษาอังกฤษดีเยี่ยม และเมื่อถึงเวลาเข้าสอบสัมภาษณ์ ปรากฏว่าเธอพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ทางโรงเรียนก็เลยบอกให้เธอไปพูดภาษาอังกฤษมาให้ได้ก่อน และอีก 6 เดือนให้หลัง อันฉี-หมิงร่ำเรียนฝึกฝนภาษาอังกฤษจนได้เข้าเรียนในโรงเรียนนั้น และอีกไม่กี่ปีต่อมาเธอเขียนหนังสือเป็นภาษาอังกฤษออกขายและเป็นหนังสือที่ติดอันดับขายดี

     ดูเหมือนเรื่องราวประวัติชีวิตของคนจีนจะเป็นที่สนใจของคนอเมริกันมาก ในปี 1998 จี-ลี เจียง (Ji-li Jiang) เจ้าของหนังสือเรื่อง เรด สคาร์ฟ เกิร์ล (Red Scarf Girl) อัตชีวประวัติเรื่องราวชะตาชีวิตของเด็กหญิงจากครอบครัวปัญญาชนในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ได้รางวัลหนังสือเด็กยอดเยี่ยมและรางวัลจากผู้ปกครองนักเรียนที่อเมริกา

     ส่วนที่โดดเด่นได้รับการยอมรับเชิงวรรณกรรมระดับประเทศ คือ ฮา จิน (Ha Jin ) อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ตัดสินใจตั้งรกรากในอเมริกาหลังจากดูการถ่ายทอดเหตุการณ์ที่จตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ 15 ปีก่อน ในช่วงแรกๆขณะที่รอการจ้างงานในมหาวิทยาลัย เขาต้องดิ้นรนไปเป็นยามเฝ้ากลางคืนและกระเป๋ารถเมล์ ต่อมาจึงเริ่มเขียนหนังสือออกมาเป็นภาษาอังกฤษเรื่อยมาจนได้รับรางวัล เนชันแนล บุคส์ อวอร์ด ในปี 1999 จากหนังสือเรื่องเวททิง (Waiting) ซึ่งเล่าถึงความขัดแย้งในจิตใจของคนจีนในช่วงก้าวจากยุคเก่าเข้าสู่การปฏิวัติวัฒธรรม

     ปรากฏการณ์ที่เรื่องจีนๆ ขายดีในหมู่ฝรั่งนั้น คนไทยหลายคนอาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนัก เพราะเป็นธรรมดาที่คนเราเวลาอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวในดินแดนอื่นๆที่ไม่คุ้นเคย ก็มักจะรู้สึกว่าชีวิตแปลกถิ่นที่อ่านอยู่นั้นน่าสนใจ แต่ก็ไม่ควรลืมว่าชีวิตทุกชีวิตที่เจ้าของอาจมองว่าธรรมดาสามัญนั้นล้วนเป็นเรื่องราว “แปลกถิ่น” ของคนในประเทศอื่นๆเช่นกัน ชีวิตไทยๆเราเองก็มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเฉพาะตัวที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าเรื่องจีนๆของนักเขียนเหล่านี้ แล้วทำไมชีวิตไทยๆของเราถึงถูกเก็บนิ่งเฉยไว้อยู่แต่ในบ้าน ไม่ค่อยมีใครคิดเล่าออกไปให้โลกรู้บ้าง ทั้งๆที่เราก็มีสองมือ สองเท้า หนึ่งสมอง กับหนึ่งชีวิต เหมือนเขาไม่มีผิด


ที่มา Website นิตยสาร Time Asia (www.time.com)
ข้อมูลเพิ่มเติม นิตยสาร LIVRESHEBDO (France), //www.nobel.se, //www.academie-francaise.fr,
//www.peopledaily.com.cn, //www.wto.org, //www.chineseculture.net, //www.powells.com/

ข้อมูลอ้างอิงหนังสือที่ได้รับการจัดแปลและพิมพ์ในภาษาไทยแล้วเท่าที่ผู้เรียบเรียงทราบ

-Shanghai Baby (เซี่ยงไฮ้ เบบี้) เขียนโดย เว่ย ฮุ่ย, แปลโดย คำ ผกา , แพรวสำนักพิมพ์, 2546
-La joueuse de Go (หมากรัก หมากชีวิต) เขียนโดย ชาน ซา, แปลโดย อรจิรา, สยามอินเตอร์บุคส์, 2547
-Montagne de l’âme (ขุนเขาแห่งจิตวิญาณ) เขียนโดย เกา สิงเจี้ยง, แปลโดย รำพรรณ รักศรีอักษร, นานมีบุคส์, 2545
-Red Azalea (อะเซเลียสีแดง) เขียนโดย อันฉี หมิง, แปลโดย นารียา, สำนักพิมพ์มติชน, 2546

หมายเหตุ : ผู้รวบเรียงบทความขออภัยหากเอ่ยชื่อของนักเขียนจีนบางท่านผิดเพี้ยนไป ด้วยมิถนัดในภาษานี้และข้อมูลที่ใช้ประกอบการเขียนก็ล้วนแล้วแต่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ไม่มีตัวอักษรภาษาจีนกำกับให้สามารถสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญได้ ผู้ใดทราบคำอ่านที่จริงแท้ กรุณาแก้ไขผ่าน บ.ก. มาด้วยนะคะ จะได้จดจำไว้เรียกให้ถูกต้องต่อไป ขอบคุณค่ะ






 

Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2550 14:34:05 น.
Counter : 954 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.