On demand book machine – The future of publishing

On demand book machine – The future of publishing

    หลังจากที่ในสมัยหนึ่งมีคนกริ่งเกรงกันนักหนาว่าหนังสือบนอินเตอร์เน็ตหรืออีบุค (E-book) จะเข้ามาแทนที่หนังสือที่พิมพ์ออกมาเป็นเล่ม ทุกวันนี้ สิ่งที่ปรากฏอยู่คงจะทำให้สิ้นข้อสงสัยในเรื่องนี้กันแล้ว เพราะกาลเวลาและพฤติกรรมของคนอ่านทั่วโลกที่ยืนยันว่ายังพิสมัยการสัมผัสกระดาษพร้อมกับสูดกลิ่นหมึกพิมพ์ และปฏิเสธการเพ่งอ่านตัวหนังสือบนหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ได้ “เคาะ” ออกมาแล้วว่า หนังสือยังจะเป็นสิ่งที่เหมาะในการอ่านสำหรับมนุษย์มากกว่าการอ่านผ่านสื่ออื่นๆ

    แต่ในยุคที่นักเขียนส่วนใหญ่หันมาส่งต้นฉบับเป็นไฟล์อิเลคทรอนิคส์ผ่านไปรษณีย์อิเลคทรอนิคส์ บรรณาธิการตรวจแก้และส่งไฟล์อิเลคทรอนิคส์ไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของโรงพิมพ์ที่มีเครื่องรับที่แปลงข้อมูลอิเลคทรอนิคส์ไปยังแท่นพิมพ์ที่รองรับระบบอิเลคทรอนิคส์ ในวงการพิมพ์ที่หันมาใช้อิเลคทรอนิคส์กันในทุกขั้นตอนอย่างนี้ ในยุคที่วงการอื่นๆ เช่น วงการเพลง ที่ปรับตัวจนหาเงินได้เป็นกอบเป็นกำจากไฟล์อิเลคทรอนิคส์ด้วยการขายผลงานให้ดาวน์โหลดง่ายๆ ทางอินเตอร์เน็ตอย่างในสมัยนี้ วงการหนังสือควรจะหยุดนิ่งอยู่กับความพอใจที่ได้เป็นสื่อโบราณแสนรักสุดหวงของนักอ่านในรูปแบบเดิมๆ อีกหรือไม่

    เป็นไปได้หรือไม่ที่หนังสือจะสามารถคงรูปแบบกระดาษเข้าเล่มอันศักดิ์สิทธิ์ ให้จับต้อง ชื่นชมและสะสมจนซีดกรอบได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะเชิดหน้า วางท่าเหนือกว่าหรือตั้งตัวเป็นอริกับเทคโนโลยีส่งถ่ายข้อมูลผ่านเครือข่ายที่นับวันจะส่งได้ใหญ่ขึ้นและเร็วขึ้นโดยสิ้นเชิง ถึงเวลาหรือยังที่หนังสือจะปรับตัวและใช้ประโยชน์จากต้นฉบับที่เป็นไฟล์อิเลคทรอนิคส์อย่างคุ้มค่า หยุดพอใจให้ระบบเครือข่ายอย่างอินเตอร์เน็ตเป็นเพียงสื่อโฆษณาหรือหน้าร้านออนไลน์เท่านั้น

    จากคำถามเหล่านี้ เกิดเป็นแนวความคิดในการสร้างเครื่อง “พิมพ์ตามสั่ง” (print on demand) ออกมาสองยี่ห้อในสหรัฐอเมริกา คือ Instabook (น่าจะมาจากคำว่า Instant –สำเร็จรูป ควบกับ book – หนังสือ) กับ Espresso book machine (Espresso - เหมือนกาแฟเอสเพรสโซ คาดว่าจะให้ความรู้สึกเหมือนรวดเร็วเหมือนกดกาแฟจากตู้ขายกาแฟกระมัง)

Espresso book machine
    ถึงแม้รูปร่างหน้าตาของเครื่องจะแตกต่างกัน แต่เครื่องพิมพ์ตามสั่งของทั้งสองเจ้ามีแนวคิดเหมือนๆ กัน คือ การจัดจำหน่ายหรือให้เช่าอุปกรณ์เครื่องมือที่สามารถพิมพ์เนื้อหาในเล่ม พิมพ์ปก เข้าเล่ม ตัดขอบ ออกเป็นหนังสือที่ลูกค้าต้องการซื้อเสร็จสิ้นสวยงาม มีคุณภาพเทียบเท่ากับผลงานจากโรงพิมพ์ได้ภายในไม่กี่นาที เพื่อใช้ประโยชน์จากไฟล์อิเลคทรอนิคส์ในวงการหนังสืออย่างเต็มที่ เพิ่มโอกาสให้กับผู้อ่านในการครอบครองหนังสือที่ขายหมดสต็อคไปแล้ว ตัดปัญหาและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งราคาแพง

    ปัจจุบัน หนังสือส่วนใหญ่ในแคตาล็อกที่เชื่อมต่อกับศูนย์กลางเครือข่าย ที่เปิดจำหน่ายให้ลูกค้ากดปุ่มพิมพ์เอง เป็นหนังสือเก่า...เอ้ย..คลาสสิค ที่หมดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์แล้ว รายงานจากองค์กรระดับนานาชาติ เช่น ธนาคารโลก ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายปีละเป็นล้านเหรียญสหรัฐในการพิมพ์และแจกจ่ายรายงานที่ไม่ค่อยจะไม่คนสนใจอ่านหรือเมื่อมีคนสนใจจะอ่านแต่ไม่รู้จะไปหาซื้อที่ไหน และหนังสือของนักเขียนใหม่ที่เบื่อจะง้อสำนักพิมพ์ และมีความมั่นใจว่าหนังสือของตนเองดีพอที่จะมีคนซื้อไปอ่าน แต่ไม่อยากลงทุนเปิดสำนักพิมพ์ พิมพ์เอง ขายเอง เผชิญความเสี่ยงที่จะทำตัวไม่ถูกหากหนังสือเกิดขายดิบขายดีจนร่ำรวย

    จุดติดตั้งเครื่อง “ชง” หนังสือสำเร็จรูปที่มีขนาดและรูปร่างหน้าตาไม่ต่างจากเครื่องถ่ายเอกสารขนาดใหญ่สักเท่าไหร่นี้ ได้แก่ ห้องสมุด องค์กรรัฐ ร้านหนังสือท้องถิ่น ซุปเปอร์มาร์เก็ตและแม้แต่ตามร้านถ่ายเอกสาร ทั้งนี้ มีคนฝันไกลจนถึงขนาดว่าจะส่งเครื่องของตนไปเผยแพร่ความรู้ ขายหนังสืออันทรงคุณค่าตามประเทศกำลังพัฒนาในโลกที่สามด้วย

    ประโยชน์ของระบบพิมพ์ตามสั่งแบบนี้ นอกจากจะเปิดให้ขายหนังสือที่ขาดตลาดได้เรื่อยๆ โดยสำนักพิมพ์ไม่ต้องเสี่ยงจัดพิมพ์ออกมาแล้วขายไม่คุ้มทุนแล้ว ยังช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องสต็อคหนังสือ ซึ่งเป็นปัญหาชวนปวดหัวของวงการหนังสือไม่ว่าจะเป็นประเทศโลกที่หนึ่งอย่างสหรัฐอเมริกาหรือโลกที่สามอย่างประเทศไทยออกไปได้เป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะร้านหนังสือในโลกที่เท่าไหร่ต่างมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการที่บีบบังคับจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับหนังสือแนวยอดนิยมกำลังได้รับการกล่าวขวัญถึง เช่น หนังสือหวานแหวว เรื่องรักวัยรุ่นหรือเรื่องแฉคนดัง มากกว่าหนังสือที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่าทางวรรณกรรมแต่ยอดขายไม่วิ่ง

    ทำให้อายุการวางบนชั้นแบบเปิดปกออกสู่คนซื้อหดสั้น จำต้องหันสันปกออกเพื่อประหยัดพื้นที่หลังการวางแผงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หนังสือขายไม่ค่อยออกเพราะคนอยากซื้อหาไม่เจอ และในที่สุดก็หายสาบสูญไปจากร้านอย่างน่าเสียดาย

    ปัญหานี้จะหมดไป เมื่อผู้ซื้อสามารถสั่งพิมพ์หนังสือโดยตรงจากเครื่อง “พิมพ์ตามสั่ง” ที่อยู่จุดจำหน่ายใกล้บ้าน ในฐานข้อมูลไฟล์อิเลคทรอนิคส์มีต้นฉบับสำหรับพิมพ์หนังสือดีๆ หายาก รวมถึงหนังสือจากสำนักพิมพ์ที่เล็งเห็นอนาคตของการพิมพ์แบบใหม่นี้ที่ทยอยเข้าร่วมโครงการมากมายให้เลือกในราคาที่ยุติธรรม เพราะทางสำนักพิมพ์สามารถลดภาระค่าสายส่งที่แบ่งส่วนค่าหนังสือไปไม่น้อย และการคงไฟล์อิเลคทรอนิคส์อยู่ในเครือข่ายของเครื่องพิมพ์ตามสั่งแบบนี้มีแต่จะเปิดโอกาสให้คนอ่านกดซื้อ ไม่ได้ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไปมากกว่าการเก็บไฟล์ไว้เฉยๆ เลย


    แถมยังช่วยประหยัดน้ำมัน ลดค่าขนส่งหนังสือ เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนที่กำลังตื่นตัวกันเหลือเกินในขณะนี้อีกด้วย










Create Date : 22 ตุลาคม 2551
Last Update : 22 ตุลาคม 2551 12:07:53 น. 1 comments
Counter : 1092 Pageviews.

 
โอ้โห เป็นความรู้ใหม่ๆ เลยนะค่ะสำหรับการพิมพ์ตามสั่ง
อย่างนี้ ลด cost ได้หลายอย่างเลย แต่ว่านี่จะเป็นแค่การทดลอง
ทำอยู่หรือเปล่าอ่ะค่ะ หรือว่าเค้าทำมาแล้วจริงๆ เลย
แต่ว่าถ้าทำได้มันก็ดีเหมือนกันเน๊าะ .. อ่านแล้วทึ่งกับความคิด
ก้าวล้ำกับวงการหนังสือจริงๆ ค่ะ


โดย: JewNid วันที่: 22 ตุลาคม 2551 เวลา:13:39:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.