The other voices of America

The other voices of America : เสียงอื่นๆจากอเมริกา




     สหรัฐอเมริกา มีอะไรมากกว่าที่เห็นในข่าวทางทีวี บนจอหนัง และจากร้านเฟรนไชส์แดกด่วนที่ทะลักมาผุดขึ้นทุกหัวระแหงในบ้านเรา หากเปรียบข้อมูลที่เราได้จากสถานีวิทยุ ว๊อยซ์ ออฟ อเมริกา (Voice of America) คลื่นวิทยุของรัฐบาลสหรัฐซึ่งส่งกระจายเสียงไปทั่วโลกเป็นเสียงที่ดังสนั่นมาเข้ารูหูให้เราได้รับรู้เรื่องราวของประเทศนี้ได้ง่ายๆ เสียงที่คุณจะได้ยินต่อไปนี้ก็จะเป็นเสียงเล็กๆอื่นๆจากอเมริกาที่กระจายด้วยกำลังส่งต่ำต้องใส่ใจเงี่ยหูฟังดีๆจึงจะได้ยิน

     กระนั้นเสียงเล็กๆเหล่านี้ก็เป็นข้อมูลสะท้อนให้เห็นภาพของอเมริกาที่ต่างออกไปจากที่อยู่ในใจของเราไม่มากก็น้อยและเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

     เสียงแรกส่งมาจากรัฐโคโลราโด เป็นเสียงปรบมือโห่ร้องจากแฟนๆชาวนีโอ-ฮิปปี้ในคอนเสิร์ตของวงดนตรีที่ตั้งขึ้นในโคโลราโดชื่อ สตริง ชีส อินสิเดนท์ (The String Cheese Incident) ซึ่งออกอัลบั้มล่าสุดชื่อ ออน เดอะ โรด (On the road) อันเป็นชื่อหนังสือของ แจ๊ค เครูแอค (Jack Kerouac ค.ศ. 1922-1969) หนึ่งในสมาชิกกลุ่มนักเขียนและกวีขบถกลุ่มเล็กๆในยุค 50 ที่ได้รับขนานนามว่ากลุ่มบีท เจเนเรชั่น (Beat generation) หนังสือเล่มนี้นับเป็นแรงบันดาลใจของพวกฮิปปี้ในยุค 70

     พวกฮิปปี้รุ่นหลังหรือ นีโอ ฮิปปี้ ที่โคโลราโดรวมตัวกันสืบสานความคิดของพวกฮิปปี้ในยุค 70 ชูสโลแกนสันติภาพและความรัก (Peace and love) ต่อต้านการครอบงำทางความคิดและการคุกคามของระบบทุนนิยม แสวงหาโลกในอุดมคติ ต่อต้านสงครามและเน้นการปฏิวัติเพื่อสิ่งที่ดีกว่า แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่มีสันแบบฮิปปี้ มุ่งเน้นการใช้ชีวิตที่แตกต่างและนิยมการเดินทางเพื่อเปิดจิตใจให้กว้างอยู่ในสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับมาจากศาสนาพุทธ

     เสียงที่สองเป็นเสียงปะทะกันของชาวบ้านดั้งเดิมชาวเวอร์มอนต์กับชาวเมืองหัวใหม่ที่ย้ายมาอยู่และกลายเป็นหัวหอกนำแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและการแต่งงานระหว่างรักร่วมเพศเข้ามา ชาวนาท้องถิ่นผู้ขัดเคืองกับสภาพชีวิตที่เปลี่ยนไปติดป้ายเขียนข้อความประท้วงว่า “Take back Vermont” (เอาเวอร์มอนต์กลับคืนมา) ส่วนอีกฝ่ายก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันโต้กลับด้วยข้อความว่า “Take Vermont forward” (นำเวอร์มอนต์ก้าวไปข้างหน้า) และดูเหมือนเวอร์มอนต์จะก้าวล้ำไปกว่ารัฐไหนๆด้วยการจดทะเบียนแต่งงานให้กับคู่แต่งงานเลสเบี้ยนคู่แรกของสหรัฐอเมริกา

     ไม่ว่าจะมีความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มนี้มากแค่ไหน แต่ผลผลิตจากการผสมผสานของคนสองกลุ่มนี้ ก็ทำให้เกิดสิ่งดีๆกับแวร์มอนต์เหมือนกัน ดูได้จากเรื่องราวของ ไอศกรีมยี่ห้อ เบนแอนด์เจอรี่ (Ben & Jerry) ซึ่งก่อตั้งโดยสองสหายชาวนิวยอร์กที่มาตั้งรกรากอยู่ที่นี่และใช้นมจากเวอร์มอนต์ผลิตไอสกรีมจนเลื่องชื่อ เบนแอนด์เจอรี่เป็นบริษัทเล็กๆที่มีจิตสำนึกในสังคม พวกเขาเสนอที่จะแจกไอสกรีมฟรีให้กับผู้ที่เขียนจดหมายไปทำเนียบขาวเพื่อคัดค้านการเพิ่มงบประมาณทางการทหาร ในแต่ละปีจะมีอยู่วันหนึ่งซึ่งพวกเขาจะจัดงานแจกไอสกรีมฟรีตลอดวันและสาขาต่างๆทั่วโลกของเบนแอนด์เจอรี่ก็รับธรรมเนียมนี้ไปปฏิบัติเรื่อยมา นอกจากนั้นยังมีการนำผลกำไรที่ได้มาตั้งองค์กรการกุศลเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางสังคมกลับคืนสู่รัฐ

     เสียงที่สามมาจากเมืองซีแอทเทิล เมืองซึ่งไม่ต้อนรับคนเหยียดสีผิว คนกีดกันเพศ ผู้รังเกียจเกย์-เลสเบี้ยนและพวกงี่เง่า ที่นี่เป็นบ้านเกิดของบริษัทไอทีชั้นนำหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟ เรียลเน็ตเวิร์ก หรือ เอทีแอนด์ที นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่บ้านพักอาศัยกว่า 80% ในเมืองนี้มีอินเตอร์เน็ตกำลังเร็วใช้ ซีแอทเทิลเป็นเมืองใหญ่เมืองแรกของสหรัฐอเมริกาที่เทศบาลเมืองมีเวบไซต์ให้ประชาชนเข้ามาค้นข้อมูลเรื่องการบริหารเมือง ชาวเมืองสามารถตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นกับผู้แทนของตน แจ้งซ่อมแซมสมบัติสาธารณะ จ่ายค่าสาธารณูปโภคและจ่ายภาษีออนไลน์ จากจำนวนคนเข้าไปในเวบไซต์แห่งนี้มากมายถึงหกแสนครั้งต่อเดือน ซีแอทเทิลจึงถือเป็นเมืองที่เป็นผู้นำด้าน “ประชาธิปไตยอิเลคโทรนิคส์” (Electronics Democracy) ของประเทศ

     ชาวซีแอทเทิลชื่นชอบความทันสมัยแต่ก็ไม่ละเลยการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม พวกเขาภูมิใจในความเป็นคน “ที่แตกต่าง” มีศักยภาพและจิตใจเปิดกว้างเป็นตัวของตัวเองของตน ที่นั่นตามหน้าต่างบ้านเรือนร้านค้ามีป้ายที่เขียนว่า “No Iraq war” (ไม่เอาสงครามอิรัก) “Not in our name” (อย่าใช้ชื่อของพวกเรา) ให้เห็นมากกว่าธงชาติสหรัฐ พวกเขาปกป้องร้านค้าท้องถิ่นไม่ยอมให้บริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาตั้งอยู่ในเมืองเกินความจำเป็น

     แทนที่จะนั่งจมจ่อหน้าจอโทรทัศน์อย่างอเมริกันชนทั่วไป คนที่นี่พอใจที่จะดำเนินชีวิตต่างออกไป โรงละครโอเปร่าที่นั่นมีโปรแกรมยาวตลอดปีและคนที่นั่นก็ไปดูละครกันอย่างคึกคัก และที่น่าสนใจมากคือจิตสำนึกเรื่องการศึกษาและการส่งเสริมการอ่านหนังสือ ชาวซีแอทเทิลลงคะแนนเสียงยอมจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปเป็นงบประมาณบำรุงห้องสมุดประชาชนสูงสิบเอ็ดชั้นซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นห้องสมุดที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกา ประชาชนมาใช้บริการยืมหนังสือกันปีละหกล้านเล่ม จึงไม่น่าแปลกใจที่ระดับการศึกษาเฉลี่ยของประชากรที่นี่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ (47% ของประชากรได้รับการศึกษาขั้นสูง ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศคือ 25 %) นอกจากนั้นยังมุ่งเน้นเรื่องการวางผังเมืองและเอาใจใส่ในคุณภาพชีวิตกำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวในเมืองอย่างเคร่งครัด กล่าวกันว่าเป็นเมืองอเมริกันที่รู้จักให้เวลาในการใช้ชีวิต

     อีกเสียงมาจากซานฟรานซิสโก ที่นี่ไม่ปฏิเสธบริษัทใหญ่ๆ แต่เรียกร้องให้บริษัทเหล่านั้นเป็นทุนนิยมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (responsible capitalisme) มุ่งใช้เทคโนโลยีและกลไกของบริษัทในกิจกรรมการกุศล ต่อต้านการกดขี่ใช้แรงงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศยากจน ส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมและนำมาใช้งานใหม่ได้ ที่นี่มีองค์กรอิสระเพื่อสังคมไม่มุ่งเน้นผลกำไรและไม่สังกัดหน่วยงานรัฐบาลหรือ NGO อย่างน้อย 9000 แห่งซึ่งดำเนินการเรียกร้องให้บริษัทต่างๆมีจรรยาบรรณกันอย่างแข็งขัน

     เมืองซานฟรานซิสโกมีเป้าหมายในเรื่องการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์ธรรมชาติเด่นชัด โดยการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับอาคารสาธารณะ เพิ่มการขนส่งที่ไม่เป็นพิษ รีไซเคิลสิ่งของจนกระทั่งไร้ขยะทิ้งสูญเปล่า และใช้พลังน้ำจากแม่น้ำที่ไหลใต้สะพานโกลเด้น เกทมาผลิตไฟฟ้า ในส่วนของบริษัทเอกชนก็เน้นในเรื่องนี้ไม่แพ้กัน บริษัท นิว ลีฟ (New leaf Paper) ซึ่งดำเนินกิจการสิ่งพิมพ์จากกระดาษที่เป็นมิตรกับธรรมชาติชั้นนำของอเมริกานำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำมาช่วยองค์กร NGO ในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ “บริษัทของเรายิ่งโตขึ้นเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรักษาต้นไม้ได้มากขึ้นเท่านั้น” บริษัทนี้เป็นผู้จัดพิมพ์แฮรี่ พอตเตอร์ภาคห้าสำหรับประเทศแคนาดาด้วยกระดาษรีไซเคิลปราศจากขั้นตอนฟอกย้อม เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้กระดาษธรรมดา การพิมพ์ครั้งนี้ทำให้ต้นไม้ 30,000 ต้น รอดพ้นจากการถูกตัด ประหยัดน้ำไปได้ 47 ล้านลิตร และเก็บแก๊สไว้ใช้อย่างอื่นได้หนึ่งล้านสองแสนกิโล

     และที่ซานฟรานซิสโกนี่เองที่นิตยสารมาเธอร์ โจนส์ (Mother Jones) ได้ถือกำเนิดขึ้น เป็นนิตยสารรายปักษ์ที่ไม่มีวัตถุประสงค์เชิงการค้า นำเสนอบทความและข่าวคราวต่อต้านการครอบงำจากรัฐและการเอาเปรียบสังคมบริษัทยักษ์ใหญ่และเปิดรับบทความจากผู้อ่านเพื่อจะได้ข้อมูลที่หลากหลายและกระจายทั่วถึง

     นอกจากนี้อเมริกายังไม่ขาดบุคคลทางเลือกอื่นๆที่อยู่ในวงการเมืองซึ่งน่าจับตามอง เริ่มจาก วิโนนา ลาดุ๊ก (Winona LaDuke) ผู้หญิงอเมริกันอินเดียนผู้ต่อสู้เรียกร้องเพื่อชาวอเมริกันอินเดียนและเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติผู้มีบทบาทระดับชาติ เธอเคยเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 1996 และปี 2000 อีกคนหนึ่งเป็นตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งดังกล่าวด้วยเช่นกัน ผู้นั้นคือ ราล์ฟ เนดเดอร์ (Ralph Nader) เขาเป็นเช เกวาราของผู้บริโภค เป็นดอน กิโอเต้ของการเลือกตั้ง เขางัดข้อต่อสู้กับบริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่ทั้งบริษัทรถยนต์ บริษัทเคมี และบริษัทประกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 จนได้รับฉายาว่า ราษฎรเต็มเวลา (Ful-time citizen) คนสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ เทเรซา ไฮน์ เคอร์รี่ (Teresa Heinz Kerry) ภริยาของ จอห์น เคอร์รี่ (John Kerry) ผู้สมัครรับเลือกตั้งอีกคนหนึ่ง เทเรซาได้รับยกย่องว่าเป็นสตรีผู้มุ่งมั่นส่งเสริมทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมตลอดมาและเป็นความหวังว่าจะเป็นผู้นำเสนอปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมจะเข้าสู่ใจกลางทำเนียบขาวอย่างจริงๆจังๆหากว่าสามีเธอได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

     เสียงเหล่านี้อาจจะเป็นเสียงจากอเมริกาที่ไม่ค่อยแว่วมาให้เราได้ยินบ่อยนัก แต่พอได้ยินแล้วก็ทำให้เราเบาใจขึ้นมาได้นิดนึงว่าอย่างน้อยก็ยังมีเสียงอื่นๆที่เราจะพอหาฟังได้จากประเทศยักษ์ใหญ่เจ้าตำรับลัทธิทุนนิยมแห่งนี้ นอกเหนือไปจากเสียงของชายผู้นั้น ผู้ที่สั่งเสียงดังก้องโลกให้ค้นหาอาวุธทำลายล้างในประเทศอิรักและจนป่านนี้ก็ยังหาไม่เจอกันเสียที


ที่มา : นิตยสาร GEO (France) ฉบับ 304 ประจำเดือนมิถุนายน 2004
ขอขอบคุณ : ศูนย์ข้อมูลและห้องสมุดสมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ ที่ให้ยืมนิตยสาร
ข้อมูลเพิ่มเติม : //www.benjerry.com, //www.mojones.com, //www.freestateproject.org, //www.issues2000.org







Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2550 14:32:44 น. 0 comments
Counter : 1017 Pageviews.

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.