Slow fish

Slow fish : another view of fish


     ในโลกปัจจุบันที่นอกจากปลาใหญ่จะกินปลาเล็กแล้ว ปลาทุกขนาดยังต้องเคลื่อนไหวรวดเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงปรากฏการณ์ ‘ปลาเร็วกินปลาช้า’ อย่างที่คุณคาร์ล ออนอเร สะกิดให้เห็นภาพในหนังสือเรื่อง In praise of slowness หรือในภาคภาษาไทยชื่อ “เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น” (แปลโดยคุณกรรณิการ์ พรมเสาร์ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)

     ไม่ต้องยกตัวอย่างธุรกิจพันล้านอื่นใดไกลตัว แค่งานเขียนคอลัมน์เล็กๆ อย่างโอเวอร์ซี ช่วงหลังนี่ ยังมีการ “ปาด” กันฉึบฉับ เริ่มจากการเขียนถึงหัวข้อเดียวกันของสองนักเขียนร่วมคอลัมน์ ซึ่งพอจะให้อภัย เป็นที่เข้าใจได้ว่าสลับเขียนกันมานานแล้ว จะเลี้ยวเข้าซอยเดียวกันก็คงไม่แปลก (ที่น่าแปลกคือทำไมเพิ่งมาชนกันเอาป่านนี้) ประกอบกับข่าวดีๆ ที่พอเข้าเค้าในโลกนี้มีจำกัด จึงต้องแบ่งปันเอื้อเฟื้อกัน

     ครั้นเข้าซอยใหม่ ว่าจะเขียนเรื่อง สโลวฟู๊ด ใจก็ดันไปตรงกับคุณบ.ก. แถมท่านรวดเร็วกว่า ตัดหน้าเขียนลงฉบับปกคุณเรย์ไปเรียบร้อยแล้ว

     หันรีหันขวาง หาหนทางหลบหลีกการแข่งขันประชันความเร็วกับคนหนุ่มสาว ฉันตัดสินใจหักพวงมาลัยเข้าข้างทาง ลงเรือประมงมุ่งหน้าสู่ทะเลกว้าง

     สโลวฟู๊ด ไม่ทัน ถ้างั้น... ขอเขียนถึง สโลว ฟิช

     สโลวฟิช เป็นหนึ่งในโครงการของสโลวฟู๊ด สโลวฟู๊ด (Slow food) คือ องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นในอิตาลี เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรและปศุสัตว์แบบดั้งเดิม ปลอดสารเคมีและการเร่งรีบ เน้นอนุรักษ์วัฒนธรรมการกินอาหารแบบละเลียดละเมียดถึงรสชาติแท้ๆ อย่างในอดีต สโลวฟู๊ดสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย พยายามเปิดตลาดและโอกาสให้ผู้ผลิตพบผู้บริโภค ตัดตอนพ่อค้าคนกลาง ต่อต้านอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารฟาสต์ฟู๊ดที่กำลังครองโลก

     ปัจจุบัน ลัทธิ...เอ้ย แนวความคิดของสโลวฟู๊ด ได้กระจายไปแทบจะทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่ได้ชื่อว่าพัฒนาแล้วซึ่งมีการแข่งขันทางธุรกิจเข้มข้น จนชีวิตของคนเหลือเพียงฟันเฟืองของเครื่องจักรผลิตเงิน


     แต่ก็อย่างที่สัจธรรมว่าไว้ เงินทองอาจจะซื้อข้าวของและบริการเพื่อตอบสนองความพอใจได้ แต่ซื้อความสุขไม่ได้ พอได้เห็นแนวความคิดเรื่องการอภิเชษฐ์การกินแบบช้าๆ เน้นคุณภาพของสโลวฟู๊ด ชาวเมืองใหญ่มากมายปลีกตัวจากความเร่งด่วนและการรีบกินเร็วจนลืมความสุขง่ายๆ หันมาให้สนใจในเรื่องคุณภาพชีวิตผ่านการกินอาหารดีๆ ตามหลักสโลวฟู๊ด ซึ่งสอดคล้องกับขบวนการเนิบช้าที่กำลังฮิตขึ้นทุกขณะ

     ส่วนขบวนการเนิบช้าคืออะไร ของดเว้นไม่กล่าวถึงในที่นี้ (ใครอยากรู้จริงๆ ไปหาหนังสือที่กล่าวถึงในย่อหน้าแรกมาอ่านนะคะ) เพราะว่าการค่อยๆ เล่า ค่อยๆ อธิบายช้าๆ นั้นดีแน่ แต่ถ้าโอ้เอ้พล่ามมากไป มันจะไม่ถึงเรื่องสโลวฟิชเสียที

     สโลวฟิช (Slow fish) เป็นงานออกร้านครั้งใหญ่ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 4-7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างองค์กรสโลวฟู๊ด แคว้นลิกูเรียของประเทศอิตาลี และบริษัทห้างร้านผู้สนับสนุนโครงการมากมาย มีกำหนดจัดปีเว้นปี ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่สามที่เมืองเจโนอา

     จุดประสงค์ของงานนี้คือการกระตุ้นให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจปัญหาเรื่องการประมง ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ โดยเน้นคุณภาพดีๆ เป็นหลัก ส่วนปริมาณไม่ต้องเยอะก็ได้ ชุมชนคนทำประมงและผู้ที่เกี่ยวข้องกับปลาจากหลากหลายประเทศทั่วโลกมาร่วมงานกันอย่างคึกคัก เพื่อช่วยกันแสดงพลังและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้ผู้เข้าชมได้รับรู้

     จากรายงานขององค์การอาหารโลก ปลาทะเลจำนวนครึ่งหนึ่งของโลกถูกจับจนสูญพันธุ์ไปแล้ว และมีแนวโน้มว่าการจับปลาเกินโควตากับการรุกรานทำประมงในพื้นที่เขตสงวนจะเพิ่มมากขึ้น

     ปลาในทะเลเหนือที่เคยอุดมสมบูรณ์ขณะนี้ได้ร่อยหรอลงแทบไม่มีเหลือ ปลาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกำลังถูกรุกรานจากปลาต่างถิ่นที่ข้ามเข้ามาเนื่องจากสภาพอากาศปั่นป่วนจนกระแสน้ำอุ่น-น้ำเย็นไหลปะปนกันมั่ว อุตสาหกรรมการประมงขนาดใหญ่กำลังใช้ตาข่ายขนาดยักษ์กวาดปลาในมหาสมุทร ทะเลแทบทุกแห่งทั่วโลกกำลังเริ่มเน่าเสีย หลังจากรับหน้าที่เป็นถังขยะให้มนุษยชาติตลอดหลายสิบปีหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และปลาที่จับได้ก็ถูกนำไปใช้ประโยชน์พร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็น


     ด้วยแนวคิดที่ว่า การตระหนักในปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเอกสิทธิ์สำหรับบรรดาหัวกระทินักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม แต่เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคโดยทั่วไปที่จะต้องตัดสินใจร่วมมือกันสงวนรักษาธรรมชาติและแหล่งอาหารของตน สโลวฟิชจึงไม่ได้เป็นงานโปรโมทผลิตภัณฑ์ประจำท้องถิ่นแบบผิวเผิน แต่มุ่งเน้นเรื่องการสะกิดให้ผู้คนหันมาดูแลระบบนิเวศวิทยาทางทะเลที่กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ

     ในงาน นอกจากการประชุมสัมมนา สัมมนาเชิงปฏิบัติ (ที่เขาเรียกกันว่าเวิร์กชอฟ) แล้ว ก็มีนิทรรศการภาพถ่าย และภาพยนตร์วิดีโอ เกี่ยวกับปลาและกิจกรรมการหาปลาแบบพื้นบ้านซึ่งเป็นมิตรกับพันธุ์ปลา อย่างเช่นโครงการ ผู้หญิงในกิจกรรมสโลวฟิช ( women in slowfish)

     ข้อจำกัดทางกายภาพที่ทำให้ออกทะเลลึกๆ ไม่ได้ของผู้หญิงกลายเป็นสิ่งดีสำหรับสุขภาพทางทะเล ผู้หญิงมีบทบาทในการทำประมงน้ำตื้นทั่วโลก อันเป็นการประมงเล็กๆ ที่ค่อยๆ ทำไปไม่โลภมูมมาม สอดคล้องกับหลักการของสโลวฟิช เช่น กลุ่มหญิงเก็บสาหร่ายในชิลี กลุ่มหญิงเก็บหอยแมลงภู่ในมอร็อกโก รวมถึงกลุ่มผลิตน้ำพริกปลาแห้งและกุ้งแห้งของกลุ่มแม่บ้านทางภาคใต้ของประเทศไทยเราด้วย

      สำหรับเด็กๆ ที่ติดตามผู้ปกครองไปงานสโลวฟิช จะได้เข้าร่วมฟังนิทานปลา (Fish tale) วัยรุ่นระดับมัธยมจะได้ร่วมกิจกรรมเสริมความรู้เรื่องปลาต่างๆ (Which fish?) เป็นการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งงการระแวดระวังรักษ์ธรรมชาติตั้งแต่เยาว์วัย

     ส่วนกิจกรรมที่เรียกผู้ชมได้คึกคักที่สุดเห็นจะเป็น ตลาดปลา ที่ชาวประมงนำปลามาเปิดประมูลขายกันสดๆ และมีเชฟจากร้านดังระดับโลกหลายร้าน มาเปิดครัวทำอาหารจากปลาให้กินกันถึงที่

      งานสโลวฟิช ที่มีองค์กรสโลวฟู๊ดเป็นแม่งานจัดในครั้งนี้ จึงเป็นการรณรงค์เพื่อเรียกร้องความใส่ใจในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีจิตสำนึก พร้อมๆ กับการพัฒนาความรู้และความเพลิดเพลินในการการกินอาหารตามหลักการที่สรุปสั้นๆ สำหรับงานนี้ได้ว่า


     กินปลาช้าๆ กันเถิดนะ แล้วจะได้กินปลากันไปนานๆ





ที่มา : //www.slowfish.it







Create Date : 08 กันยายน 2550
Last Update : 8 กันยายน 2550 12:13:18 น. 0 comments
Counter : 1233 Pageviews.

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.