Group Blog
 
All blogs
 
143. วัดไผ่ล้อม จ.นนทบุรี

ตั้งอยู่บนเกาะเกร็ด ด้านทิศเหนือของเกาะเกร็ด ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

เป็นวัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อาจจะเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่งบนเกาะเกร็ด แต่ได้เป็นวัดร้างไปตั้งแต่ พ.ศ. 2308 เพราพม่าเข้าตีและยึดเมืองนนทบุรี จากนั้นเข้าตีกรุงศรีอยุธยาได้เมื่อ พ.ศ. 2310 จึงไม่มีพระสงฆ์และชาวบ้านดูแลวัด พ.ศ. 2317 ได้มีคนมอญมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ วัดไผ่ล้อมถึงมีพระสงฆ์อยู่ประจำวัดสืบมา แต่วัดคงมีสภาพทรุดโทรมมากเพราะมีชาวบ้านไม่มาก ประกอบกับวัดถูกทิ้งร้างมานาน ต่อมาอำแดงแตนได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ อุโบสถ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2446 ที่ตั้งวัดไผ่ล้อมอยู่กลางระหว่าง วัดมอญอีก 2 วัด คือวัดปรมัยยิกาวาสและวัดเสาธงทอง คนมอญจึงเรียกวัดไผ่ล้อมในภาษามอญว่า เภี่ยะโต้ แปลว่าวัดกลาง การตั้งอยู่ระหว่างวัดดังที่กล่าว ประกอบกับมีชุมชนใกล้วัดจนเกือบจะเป็นวัดร้าง พ.ศ. 2527 พระปลัดวันชัย วายาโม ศิษย์พระราชอุดมมงคลหรือหลวงพ่ออุตตมะ วัดวังวิเวการาม อำเภอสังขละ จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ได้ร่วมกับชาวบ้านพัฒนาวัดไผ่ล้อมจนมีสภาพดี ประกอบกับเกาะเกร็ด ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมมอญที่สำคัญ วัดไผ่ล้อมจึงมีนักท่องเที่ยวมาทำบุญที่วัดมาก วัดไผ่ล้อมเดิมเป็นวัดที่สังกัดคณะสงฆ์รามัญนิกาย ปัจจุบันสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

อุโบสถ เป็นอาคารทรงโรง หลังคาลด 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูนขนาด 5 ห้อง กว้าง 7เมตร ยาว 20 เมตร มีลักษณะรูปทรงและสัดส่วนงดงามมาก อุโบสถหันหน้าไปทางทิศเหนือทางแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นคตินิยมในการสร้างพระอุโบสถรุ่นโบราณ ที่ถือแม่น้ำเป็นหลักไม่ได้ถือทิศตะวันออกเป็นหลักเช่นที่ถือปฏิบัติกัน ในสมัยหลัง หน้าบันไม้จำหลักลายดอกพุดตานใบเทศ ปิดทองประดับกระจกคันทวยไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก เป็นคันทวยที่งามอ่อนช้อยมาก ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เป็นไม้ปิดทองประดับกระจกทั้งหมดรวมทั้งหน้าบันปีกนกจำหลักลายใบเทศปิดทองประดับกระจกเช่นกัน ซึ่งเป็นการบูรณะในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 4 ด้านหน้าและด้านหลังมีมุขคลุมชานชาลาทั้งสองด้านเสารับมุขก่ออิฐถือปูน เป็นเสาเหลี่ยมย่อมุม บัวหัวเสา บัวจงกลปูนปั้น รูปทรงงามปิดทอง ประดับ กระจก ประตูด้านหน้าและด้านหลังด้านละสองประตูซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่างเดิมเป็นซุ้มเรือนแก้วปูนปั้นปิดทองประดับกระจก แต่ปัจจุบันเป็นปูนรูปทรงไม่งามเหมือนของเดิมผนังหุ้มกลองด้านหน้าระหว่างประตูทั้งสอง มีมณฑปปูนปั้นประดิษฐานพระพุทธรูป ผนังมณฑปด้านขวาและซ้ายของพระพุทธรูปเขียนภาพพระสาวกยืนพนมมือถวายสักการะด้านละหนึ่งรูปมณฑปนี้ได้ทำใหม่ภาพเขียนดังกล่าวนี้จึงไม่มีให้เห็นในปัจจุบัน เพราผุพังถูกกะเทาะทิ้งและโบกปูนทับใหม่ พระอุโบสถหลังนี้ถึงจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมไปบ้าง แต่ยังคงเห็นความงามของพระอุโบสถหลังนี้ได้และเป็นพระอุโบสถที่มีความงามหลังหนึ่ง เช่นเดียวกับพระอุโบสถวัดฉิมพลีสุทธาวาส

เสมา รอบพระอุโบสถเป็นเสมาขนาดเล็กอยู่ในซุ้มเสมาทั้งหมด

กำแพงแก้ว ของเดิมก่ออิฐถือปูนเป็นกำแพงเตี้ยแบบกำแพงบัวหลังเจียด แต่ชำรุดมาก ได้สร้างกำแพงคอนกรีตขนาดสูง และมีซุ้มประตูกำแพงแก้วทั้งด้านหน้าและด้านหลังอุโบสถ

พระเจดีย์คู่หน้าพระอุโบสถ ด้านหน้าอุโบสถมีเจดีย์แบบมอญ 2 องค์ องค์ระฆังมีรูปทรงกลมคล้ายบาตรคว่ำมีลายปูนปั้นปิดลายใบเทศ ประดับรอบองค์ระฆังอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมมีปลียอดแบบเจดีย์มอญทั่วไปมีการบูรณะสมัยรัชกาลที่ 3

พระธาตุรามัญเจดีย์ ด้านหลังอุโบสถเดิมมีพระธาตุรามัญเจดีย์ขนาดใหญ่แต่ชำรุดปรักหักพัง ทางวัดได้สร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบองค์เจดีย์เดิม เมื่อ พ.ศ.? 2530 เป็นเจดีย์มอญที่มีความงดงาม องค์พระเจดีย์ประดิษฐานอยู่บนฐานใหญ่ รอบฐานในทิศทั้งแปด มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวัดแบบมอญ ทั้ง 8 ทิศ กำแพงแก้วล้อมรอบพระธาตุรามัญเจดีย์ ทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มีซุ้มประตูแบบมอญทั้งสองด้าน

หอระฆัง ตั้งอยู่หลังพระธาตุรามัญเจดีย์อยู่ระหว่างศาลาการเปรียญ และศาลาบำเพ็ญบุญและที่พักสงฆ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบมอญ ทรงจัตุรมุขยอดเป็นแบบยอดเจดีย์มอญ

ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยสองชั้น แต่หน้าบันศาลาการเปรียญปั้นเป็นรูปมนุษย์สีหะ ซึ่งเป็นคติความเชื่อของคนมอญ วัดมอญจะนิยมทำรูปมนุษย์สีหะ มียันต์อักขระมอญ บันไดขึ้นศาลาด้านหน้าทำหลังคาคลุมลดชั้นตลอดตั้งแต่เชิงบันไดขึ้นไปตามแบบวัดมอญ

ศาลาบำเพ็ญบุญและที่พักสงฆ์ เป็นอาคารขนาดเดียวกับศาลาการเปรียญ สร้างในแนวเดียวกัน และมีหน้าบันคล้ายกันกล่าวคือมีรูปมนุษย์สีหะและยันต์อักขระมอญ เป็นอาคารอเนกประสงค์ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และที่พักสงฆ์ ด้านหน้ามีบันไดขึ้นแลหลังคาลดชั้นคลุมบันไดเช่นเดียวกับบันไดขึ้นศาลาการเปรียญ

หอสวดมนต์และหมู่กุฏิของเดิม ด้านทิศตะวันตกของอุโบสถเป็นที่ตั้งหอสวดมนต์และหมู่กุฏิเก่า เป็นอาคารไม้ทั้งหมดมีหอสวดมนต์อยู่ตรงกลาง ทรงศาลาโถง ประดิษฐานพระพุทธรูปและเป็นที่พระสงฆ์มารวมสวดมนต์อยู่ตรงกลาง ทรงศาลาโถง ประดิษฐานพระพุทธรูปและเป็นที่พระสงฆ์มารวมสวดมนต์ทำวัตรเช้า และทำวัตรเย็น ทั้งเป็นสถานที่ฉันภัตตาหารของพระภิกษุสามเณรในวัดด้วย

หอระฆังเก่า เป็นหอระฆังเครื่องไม้ทั้งหมด หลังคาจัตุรมุขหน้าบันจำหลักลายก้านขด และรูปเสมากลางหน้าบันมีความสวยงาม ทั้งหอสวดมนต์ หมู่กุฏิ และหอระฆังอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก แต่ยังเห็นความอลังการของสถาปัตยกรรมโบราณเหล่านี้ได้











Create Date : 28 กันยายน 2556
Last Update : 12 กรกฎาคม 2560 19:28:20 น. 0 comments
Counter : 972 Pageviews.

เหมียวสินธร
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




Friends' blogs
[Add เหมียวสินธร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.