|
นาฏยศิลป์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์
ในรัชกาลนี้มีการฝึกหัดโขนละครเพื่อประดับเกียรติของเจ้าหรือมูลนาย ดังความที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ว่า
มีความนิยมเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า การฝึกหัดโขนทำให้ชายหนุ่มที่ได้ฝึกหัดโขนนั้น คล่องแคล่วว่องไวในกระบวนรบพุ่งเป็นประโยชน์ไปจนถึงการต่อสู้ข้าศึก จึงพระราชทานอนุญาตให้เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ตลอดจนผู้ว่าราชการเมืองหัดโขนได้ไม่ห้ามปราม
เมื่อพิจารณาจากความข้างต้น วิเคราะห์ได้ว่าในตอนต้นรัชกาลคงมีโขนเฉพาะวังหลวง และวังหน้า เพราะเห็นว่าโขนเป็นเครื่องแสดงบารมี มีก็มีถือว่ามีกำลังผู้คนที่พร้อมรบด้วย การหัดโขนคือการหัดอาวุธและการเล่นต้องใช้คนมาก ใช้ทรัพย์มาก ใครทำอาจถือว่าคิดว่าทำเทียบหรือคิดมิชอบ โขนจึงอยู่ในวงจำกัด เมื่อมีพระราชานุญาตดังกล่าวโขนก็ขยายตัวอย่างกว้างขวาง ไปสู่วังเจ้านายและบ้านขุนนาง และแม้แต่ตามหัวเมือง นับว่าพระราโชบายนี้มีความสำคัญ ๒ ประการ คือ เป็นสิ่งแสดงว่าบ้านเมืองคงจะเรียบร้อย มีความสามัคคีที่ต้องการรวมพลังเพื่อราชการสงครามประหนึ่งและส่งผลให้โขนขยายวงออกไปอย่างกว้างขวางอีกประการหนึ่ง และหากจะพิจารณาต่อไปก็คงจะคาดคะเนได้ว่าเมื่อมีโขนหลายคณะก็ย่อมเกิดการประชันขันแข่งกันอยู่ในที ทำให้ศิลปะการแสดงโขน ครูโขน ตัวโขน บทโขนและเครื่องแต่งกายโขนพัฒนาไปด้วย อนึ่ง ผู้วิจัยเห็นว่าโขนและละครมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก การที่เจ้านายและขุนนางมีโอกาสหัดโขน ก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะมีผลต่อการขยายตัวของละครผู้ชายในเวลาต่อมา แม้ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ปรากฏว่ามีชนชั้นทางสังคมแตกต่างกันก็ตาม สังคมไทยได้ให้ความสำคัญแก่สถานภาพของสตรีมาก จึงปรากฏว่ามีการส่งสตรีเข้าไปในพระราชสำนัก วังเจ้านายหรือตามบ้านขุนนางเพื่อฝึกหัดใช้สอยทำราชการและมีโอกาสรับความดีความชอบต่อสกุลวงศ์อีกต่อหนึ่ง สตรีบางคนมีโอกาสเล่าเรียนวิชาการต่างๆ ทั้งงานช่าง งานดนตรี และนาฏยศิลป์ พวกที่มีอุปนิสัยทางนาฏยศิลป์ก็ได้รับการฝึกหัดไปตามอุปนิสัย งานสถาปัตยศิลป์ และงานวิจิตรศิลป์ เช่น งานจิตรกรรมฝาผนัง เป็นอาทิ เป็นเครื่องยืนยันว่าช่างกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งใจสืบทอดสกุลศิลปะมาจากกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ดังนั้นจึงพออนุมานได้ว่า เครื่องแต่งกายโขนละคร ก็คงพยายามให้วิจิตรงดงามและรักษารูปแบบเดิมเอาไว้ อย่างไรก็ตามเมื่อทรงมีพระราชานุญาตให้หัดโขนกันได้อย่างแพร่หลาย และผู้วิจัยคาดคะเนว่าคงมีการประชันขันแข่งกันดังกล่าวแล้วนั้น ปรากฏว่าการแข่งขันด้านการแต่งกายคงจะงดงามและวิจิตรถึงขึ้นเลียนแบบเครื่องต้นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ ทำให้ต้องทรงมีพระบรมราชโองการในเครื่องแต่งกายโขนละครไว้ดังนี้
ด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว อยู่ทรงทศพิธราชธรรม อันมหาประเสริฐเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน มีพระราชโองการ มานพระบันทูลสุรสีหนาทตำหรัดเหนือเกล้าฯ สั่งว่า เจ้าต่างกรมและข้าทูลละอองฯ ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการ ช่างโขนละครทุกวันนี้ แต่งยืนเครื่อง แต่งนางย่อมทำมงกุฎฉะฎา กรระเจียก ดอกไม้ทัด แลชายไหว ชายแครงนุ่งจีบโจงไว้หางหงษเหมือนหย่างเครื่องต้นเป็นอันขาดทีเดียว แลกำหนดให้แต่งตัวยืนเครื่อง นุ่งห่มผ้าตีปีก ผ้าจีบโจงหย่างโขนก็ตาม แต่งตัวนางรัดเกล้าอย่าให้มีกรรเจียกจอร ดอกไม้ทัด ถ้าผู้ใดมิฟังยังทำมงกุฎ ฉะฎา ชายไหว ชายแครง กรรเจียกจอร ดอกไม้ทัด นุ่งจีบโจงไว้หางหงษ ต้องหย่าง ให้โขนให้ละคอรไปเล่นผิด้วยกฎรับสั่ง ห้าม จับได้เอาตัวเป็นโทษจงหนัก ให้ไว้ ณ วันปรหัษ เดือนสิบ ขึ้นสิบค่ำ จุลศักราชพันห้าร้อยหกสิบ ปีขาล ฉ้อศก
อนึ่ง มีข้อสงสัยกันอยู่ว่า ศีรศะมนุษย์และเทวดานั้น ปัจจุบันไม่ใช้แล้วจะยกเลิกไปเมื่อใดก็พบว่าในรัชกาลที่ ๑ นี้ ยังคงใช้อยู่ดังที่รัชกาลที่ ๔ ทรงเล่าว่า เพ็งซึ่งเล่นพระราม ในรัชกาลที่ ๑ นั้น ดีแต่บทบาท แต่รูปพรรณหน้าตานั้นก็ไม่สู้งาม ถึงเมื่อออกโรงก็เป็นแต่สวมหน้าโขน พิเคราะห์ดูจากพระราชดำรัสอาจเข้าใจได้เป็นสองนัยคือ ผู้แสดงอาจเปิดหน้าหรือสวมศีรษะโขนก็ได้ ซึ่งหากเป็นจริงดังที่ผู้วิจัยเข้าใจ ก็อาจเป็นได้ที่ละครในนั้น ตัวพระอาจไม่สวมศีรษะโขน และเลยเป็นตัวอย่างให้โขนในชั้นหลังเลิกสวมศีรษะโขนตัวพระในเวลาต่อมา สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นระยะต่อเนื่องจากกรุงธนบุรีบ้านเมืองอยู่ในระยะฟื้นฟู ซึ่งนอกจากจะทรงเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่แล้ว พระองค์ยังทรงเป็นเสมือนสถาปนิกในการที่จะสร้างชาติบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นรวมทั้งการพื้นพูวัฒนธรรมของบ้านเมือง ให้เจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การปกครอง การศาสนา งานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม ตลอดจนด้านนาฏกรรมด้วย สำหรับงานด้านนาฏยศิลป์ พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่อย่างใกล้ชิด ทำให้งานด้านนาฏยศิลป์ในรัชกาลนี้เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว ทั้งยังได้พัฒนารูปแบบให้เป็นมาตรฐานอันอาจถือได้ว่าเป็นต้นแบบของนาฏยศิลป์ในรัชกาลต่อมา โปรดให้มีการหัดโขนละครของหลวง ขึ้นทั้งฝ่ายวังหลวงและวังหน้า โดยมีครูละครตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีมาเป็นผู้ฝึกหัด ทรงมีพระราชานุญาตให้เจ้านายและขุนนางหัดโขนได้ทำให้โขนแพร่หลายรวมทั้งพระราชนิพนธ์บทละครในเรื่องรามเกียรติ์ อุณรุท ดาหลัง และอิเหนา และโปรดให้จัดแสดงมหรสพสมโภชต่างๆ เช่น ในการพระเมรุ ในการฉลองพระนคร และฉลองวัดใหญ่น้อยที่โปรดให้สร้างขึ้น นอกจากนี้ยังปรากฏว่าโปรดให้มีการละเล่นของหลวงแสดงงานต่างๆ ตามแต่โอกาสดังความปรากฏในพระราชพงศาวดาร บันทึกความทรงจำฯ ฯลฯ ที่จะยกมากล่าวต่อไปนี้
การสมโภชพระนคร เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ นอกจากทรงโปรดมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ยังโปรดให้จัดการสมโภชพระนครต่อเนื่องกันไป ในการนี้โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ทุกอารามทั้งในและนอกกรุงขึ้นสวดพระพุทธมนต์บนเชิงเทิน ทุกๆ ใบเสมา เสมาละรูปรอบพระนคร ทรงพระราชทานเงินและขอแรงให้ข้าราชการทำกับข้าวเลี้ยงพระสงฆ์ โปรดให้ตั้งโรงทานรอบพระนคร พระราชทานเลี้ยง ยาจกวณิพก พร้อมให้มีละครผู้หญิงโรงใหญ่ เงินโรงวันละ ๑๐ ชั่ง เป็นเวลา ๓ วันด้วย
การสงคราม ในรัชกาลนี้ ศึกสงครามต่างๆ ยังมีปรากฏอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำศึกกับญวน พม่าหรือหัวเมืองทางใต้ คือ เมืองตานี หรือเมืองปัตตานี ดังความปรากฏในพงศาวดารว่า สำหรับศึกที่เมืองตานีครั้งนั้น สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ ทรงเป็นแม่ทับ และได้รับชัยชนะ จึงได้กวาดต้อนเชลยศึกทั้งที่เป็นชาวพม่า และแขกพร้อมศาสตราวุธขึ้นมายังกรุงเทพฯ ในเดือน ๑๑ ปีมะเมีย อัฐศกจุลศักราช ๑๑๔๘ ได้ถวายปืนใหญ่ชื่อพระยาตานี แด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ซึ่งเป็นพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดฯ ให้หล่อปืนใหญ่อีกเลาหนึ่งเพื่อคู่กับ พระยาตานี โดยให้ตั้งโรงหล่อและรับทองที่โรงละครใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ริมถนนประตูวิเศษไชยศรี ในการนี้ โปรดให้จัดพวกโขนข้าหลวงเดิม และละครให้เล่นโขน ละครกลางแปลง ตั้งแต่บ่ายจนค่ำ และประทับทอดพระเนตรจนละครเลิก เมื่อรุ่งเช้าจึงได้หล่อปืนใหญ่ทรงพระราชทานชื่อว่า นารายณ์สังหาร อนึ่ง ในรัชกาลนี้ยังมีเจ้าญวนและชาวญวนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร อย่างองเชียงสือ ซึ่งเป็นเจ้าญวนเมื่อเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารก็ได้ช่วยราชการงานทัพ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวประทับในพระนครก็เฝ้าแหนรับราชการ องเชียงสือได้ฝึกญวนหก ญวนรำกระถาง สิงโตล่อแก้ว ซึ่งแสดงได้ในเวลากลางวันและสิงโตคาบแก้วซึ่งใช้สำหรับเล่นในเวลากลางคืน ทั้งหมดนี้เป็นการเล่นถวายตัวของญวน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้เล่นหน้าพลับพลาเวลามีการมหรสพและได้ถือเป็นแบบแผนมาจนทุกวันนี้
พระราชพิธีอื่นๆ ของหลวง งานนาฏยศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีต่างๆ ของหลวงมีปรากฏในส่วนต่างๆ ดังความที่จะกล่าวต่อไปนี้
๑. การสังคายนาพระไตรปิฎก พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งใหญ่ประกายหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีต่อการศาสนาก็คือ การสังคายนาพระไตรปิฎกอันเปรียบเสมือนเป็นงานวรรณกรรมเอกเรื่องหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ ในครั้งนั้นพระองค์โปรดให้ชำระพระไตรปิฎกทุกฉบับที่มีในพระนครไว้เป็นหมวดหมู่ และเป็นภาษาเดียวกัน คือฉบับใดที่เคยจารึกเป็นภาษาลาว อักษรรามัญก็ให้ชำระเป็นอักษรขอม แล้วจารึกลงลานเป็นฉบับทองเก็บไว้ในตู้ ณ หอมณเฑียรธรรม กลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดารามและสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ทุกๆ พระอารามหลวงได้เล่าเรียน เมื่อสร้างพระไตรปิฎกเสร็จแล้วก็โปรดให้มีมหรสพสมโภชครั้งนั้นมีละครผู้หญิงด้วย
๒. การพระเมรุ ปีจุลศักราช ๑๑๕๗ (พ.ศ.๒๓๓๘) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเห็นว่าบ้านเมืองว่างจากการศึกสงคราม เห็นสมควรให้มีการถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิพระชนกาธิบดี จึงโปรดให้สร้างพระเมรุขนาดใหญ่ และเครื่องมหรสพสมโภช เหมือนอย่างการพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า ถึงปี พ.ศ.๒๓๓๙ พระเมรุแล้วเสร็จ จึงโปรดให้แห่พระบรมสารีริกธาตุออกสู่พระเมรุ มีมหรสพสมโภช ๓ วัน ๓ คืน จากนั้นจึงแห่พระบรมอัฐิและถวายพระเพลิง มีมหรสพสมโภชดังความในพงศวาดรกล่าวว่า
อนึ่งในการมหรสพสมโภชพระบรมอัฐิครั้งนั้น มีโขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งโขนวังหลวงและวังหน้า แล้วประสมโรงเล่นกลางแปลง เล่นเมื่อศึกทศกรรฐ์ ยกทัพกับสิบขุนสิบรถ โขนวังหลวงเป็นทัพพระราม ยกไปแต่ทางพระบรมมหาราชวัง โขนวังหน้าเป็นทัพทศกรรฐ์ ยกออกจากพระราชวังบวรฯ มาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา ถึงมีปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนลากออกมายิงกันดังสนั่นไป
นอกจากงานพระเมรุของสมเด็จพระชนกาธิบดีแล้ว ยังมีการพระเมรุของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งโปรดให้มีมหรสพสมโภช ๗ วัน ๗ คืน และสมโภชพระอัฐิ รวม ๘ วัน การสมโภชพระบรมอัฐิ และพระอัฐิซึ่งปรากฏในรัชกาลที่ ๑ ได้ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในรัชกาลต่อๆ มา ๓. การฉลองพระอารามหลวง รัชกาลที่ ๑ โปรดให้สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ให้เป็นเช่นครั้งกรุงเก่าซึ่งเตยเจริญรุ่งเรือง เมื่อสร้างเสร็จก็โปรดให้มีมหรสพสมโภช งานด้านนาฏยศิลป์จึงเกี่ยวข้องกับการพิธีนี้ทุกครั้งไป ดังความที่จะกล่าวตอนนี้
วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระแก้วมรกต เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ โปรดให้มีการเฉลิมฉลองพระนครไปด้วยในครั้งนั้นซึ่งตรงกับเดือน ๘ ปีมะเส็ง รับสั่งให้มีละครผู้หญิงเพื่อสมโภชพระแก้วมรกต ทรงพระราชทานเงินโรง วันละ ๑๐ ชั่ง เป็นเวลา ๓ วัน ต่อมาปี พ.ศ.๒๓๓๑ โปรดให้มีการฉลองสมโภชพระมณฑปในวัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งปลูกแทนหอมณเฑียรธรรมที่ไฟไหม้ไป ปี พ.ศ.๒๓๕๑ โปรดให้บูรณะและปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อแล้วเสร็จโปรดให้ฉลอง มีพระราชโองการรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอหลานเธอ ข้างหน้าข้างในข้าราชการเจ้าพระยาและพระยาผู้ใหญ่ผู้น้อย รับเงินทำสำรับวันละบาท เลี้ยงพระ ๕๐๐ รูป มีละครผู้หญิง ๓ วัน และการมหรสพสมโภชอื่นๆ พ.ศ.๒๓๕๒ ซึ่งเป็นปีที่ ๒๕ ในรัชกาลที่ ๑ โปรดให้มีการมหรสพสมโภชพระแก้วอีกครั้งหนึ่ง ตอนเย็นมีหนัง และดอกไม้ไฟสมโภช ๗ วัน ส่วนกลางวันมีละครผู้หญิงข้างใน แสดงที่โรงละครใหญ่ มีการละเล่นต่างๆ สมโภช
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ปี พ.ศ.๒๓๓๒ รัชกาลที่ ๑ โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดโพธารามทางทิศใต้ของพระบรมมหาราชวังซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๓๔๔ แล้วโปรดให้มีการฉลองพร้อมพระราชทานชื่อว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในครั้งนั้นโปรดให้ตั้งโรงฉ้อทานเลี้ยงสมณะชี พราหมณ์ และอาณาประชาราษฎร์ ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทาน ในการนี้โปรดให้เครื่องโขน โรงโขน เครื่องเล่น ในการมหรสพสมโภชด้วย มหรสพสมโภชวัดพระเชตุพนนับว่าเป็นงานใหญ่มาก ด้วยว่ามีเครื่องเฉลิมฉลองสมโภชหลายอย่างคือ โขนอุโมงค์โรงใหญ่ หุ่น ละคร มอญรำ ระบำ โมงครุ่ม คุลีตีไม้ ปรบไก่ งิ้วจีน ญวนหกคะเมน ต่ายลวด ลอดห่วง รำแพน นอนหอกนอนดาบ สิงโตล่อแก้ว และมวย เวลากลางคืนประดับประทีปแก้ว ระย้าแก้ว แล้วให้มีหนังคืนละ ๙ โรง ดอกไม้เพลิงคืนละ ๒๐๐ พุ่ม ระทาใหญ่ ๘ ระทา ประทัด พะเนียง ดอกไม้ม้า ดอกไม้กระถาง ดอกไม้กล มังกรล่อแก้ว ณวนรำโคม
วัดสระเกศ วัดสระเกศ หรือชื่อเดิมว่า วัดสะแก เป็นวัดหลวงที่เก่าแก่อีกวัดหนึ่งมาแต่แรกสร้างกรุงดังความที่ปรากฏในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ว่าเมื่อแรกสร้างพระนครนั้น รัชกาลที่ ๑ โปรดให้ขุดคูคลองเหนือวัดเพื่อว่าจะได้เป็นประโยชน์ในแง่ยุทธศาสตร์รวมทั้งราษฎรจะได้ใช้เป็นที่เล่นเพลงพื้นบ้านเช่นเมื่อครั้งกรุงเก่า ต่อมาคงมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้น เมื่อแล้วเสร็จ เข้าใจว่าประมาณ พ.ศ.๒๓๔๓ จึงโปรดให้มีการเฉลิมฉลองดังความที่กล่าวว่า
ณ เดือน ๑๒ ฉลองวัดสระเกศ มีพระโองการรับสั่งให้ข้างหน้าข้างในตั้งเลี้ยง พระให้สิ้นทั้งวัด ประทานเงินหลวงกัลปพฤกษ์พระราชทาน การมหรสพสมโภชเสร็จ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอหลานเธอแต่งเรือประพาสคูเคียง ประสานเสียง ร้องดอกสร้อยสักรวา ดุริยางค์จำเรียงถวายลำร้องรับกับเสียงดอกไม้น้ำสทา โป้งปีป ไฟพะเนียงพุ่มพลุกกรวด เสียงสนั่นครื้น
๔. การโสกันต์และการผนวช พระราชพิธีซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณคือ การโสกันต์และการผนวชของพระเจ้าลูกเธอ ในการนี้มีมหรสพสมโภชดังความที่จะกล่าวต่อไปนี้
ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีพระชนม์ได้ ๑๑ พรรษา ทรงพระราชดำริว่า ตั้งแต่ต้นแผ่นดินยังไม่เคยทำพระพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าให้เต็มตำรา จึงโปรดให้จัดพระราชพิธีเหมือนครั้งกรุงเก่า ตามที่เจ้าฟ้าพินทวดี พระราชธิดาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงสอนไว้เป็นแบบอย่างเมื่อครั้งโสกันต์พระองค์เจ้าในพระราชวังบวรฯ ในการนี้โปรดให้ตั้งเขาไกรลาส ณ ชาลาในพระราชวังตั้งการพระราชพิธีที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ แต่งพระองค์ฉลองพระองค์ครุยทรงชฎาเดินหนสมมติเป็นพระอิศวรมีการตั้งกระบวนแห่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีมาตามถนนริมกำแพงพระราชวังเข้ามาทางประตูพิมานไชยศรี เพื่อเสด็จมายังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการเล่นต่างๆ สองข้างทางเดกิน มีการสมโภชต่ออีก ๒ วัน
ส่วนการผนวชในรัชกาลนี้ ปรากฏความการผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์และได้มีการแห่ที่สนุกสนานและใหญ่โตมาก ด้วยรัชกาลที่ ๑ โปรดให้เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ทรงเครื่องต้นฉลองพระองค์ทรงพระพาสพระกรน้อย มีฉลองพระศอและเครื่องประดับ ทรงพระมหามงกุฎ ทรงพระยานมาศ นักพระองค์เอง เจ้าเขมร สวมพระชฎามหากฐิน พระพงษ์นรินทร สวมชฎาเบี่ยง ทัดกรรเจียก ขึ้นยานมาศตามเสด็จเป็นหางนาคมีการมหรสพสมโภช โขน หุ่น ละคร งิ้ว มอญรำ กระบวนแห่แต่งเครื่องละครเรื่องรามเกียรติ์ อุณรุท อิเหนา ให้ตัวโขน ละครขึ้นบนล้อเลื่อนลากไปในกระบวนร้องรำไป
๕. สมโภชช้างเผือก ในปี พ.ศ.๒๓๔๔ มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีอีกเชือกหนึ่ง ซึ่งเจ้าเมืองนครราชสีมา ได้ทูนเกล้าฯ ถวาย จึงโปรดให้มีการสมโภชถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกมีขึ้นที่บ้านช้างเริงราง ท่าเจ้าสนุก สระบุรี เมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จไปรับ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลและพระยานครศรีธรรมราช พร้อมด้วยข้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ทำพระราชพิธีถวาย ในงานสมโภชมีละครโรงหนึ่ง มวยสิบ ๑๕ คู่ ปรบไก้วงหนึ่ง หนังโรงหนึ่ง แล้วพระราชทานเงิน ๕ ชั่ง จากนั้นได้ล่องแพมายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปรับด้วยพระองค์เอง โปรดให้ตั้งกระบวนแห่ ประกอบด้วยหมู่กลองชนะ แตรสังข์ ฯลฯ และตั้งโรงสมโภชอันมี ละครโรงใหญ่โรงหนึ่ง ละครชาตรีโรงหนึ่ง กลางคืนมีหนัง ๒ โรง มีขับไม้บัณเฑาะว์ และพระราชทานชื่อว่า พระเทพกุญชรบวรศรีเศวต อมเรศนฤมิตร เผือกผ่องพิศโสภณ มิ่งมงคลเฉลิมขวัญ ชาติฉัททันต์สูงศักดิ์ วิลัยลักษณเลิศฟ้า
๖. พระราชพิธีแห่สระสนานใหญ่และแห่พระกฐิน พระราชพิธีสำคัญอีกพระราชพิธีหนึ่งซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณ คือ พระราชพิธีแห่สระสนานใหญ่ และแห่กฐิน ซึ่งเป็นพิธีเกี่ยวเนื่องกับพุทธ ในงานนี้มีการมหรสพสมโภชเช่นเดียวกันดังความที่ว่า
กระบวนแห่งพยุหเรือ...เกณฑ์พระราชวงศานุวงศ์และขุนนาง ข้าราชการ ทำเรือแห่ต่างๆ ตามแต่ปัญญา ทำเป็นจระเข้บ้าง เป็นหอยบ้าง เป็นปลาบ้าง เป็นสัตว์น้ำต่างๆ และมีเครื่องเล่นไปในเรือนั้นด้วย
แม้ว่าความในพงศาวดารข้างต้นไม่ได้กล่าวอ้างว่า มีการแสดงนาฏยศิลป์ประเภทใดปรากฏอยู่ แต่มีคำว่า เครื่องเล่น ทำให้พออนุมานได้ว่าคงมีการแสดงที่เกี่ยวข้องกับนาฏยศิลป์ชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดในครั้งนั้นด้วย
Create Date : 22 เมษายน 2550 |
Last Update : 22 เมษายน 2550 23:30:27 น. |
|
0 comments
|
Counter : 5957 Pageviews. |
 |
|
|
| |
|
|