กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
เทศาภิบาล ตอนที่ ๒ ราชการมหาดไทย


พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระปิยมหาราช



เทศาภิบาล ตอนที่ ๒ ราชการมหาดไทย

กระทรวงมหาดไทยเป็นอย่างไรในเวลาเมื่อข้าพเจ้าไปเป็นเสนาบดี ก็น่าเล่าเข้าในเรื่องโบราณคดี จะเล่าเรื่องศาลาลูกขุนอันเป็นสำนักงานของกระทรวงมหาดไทยก่อน แล้วจะเล่าถึงพนักงานประจำการในศาลาลูกขุน และกระบวนที่ทำการงานในกระทรวงมหาดไทยตามแบบเก่าต่อไปโดยลำดับ

สถานที่เรียกว่า “ศาลาลูกขุน”นั้น แต่เดิมมี ๓ หลัง ตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา หลังหนึ่งอยู่นอกพระราชวัง (ว่าอยู่ใกล้ๆ กับหลักเมือง) เป็นสถานที่สำหรับประชุมข้าราชการฝ่ายตุลาการชั้นสูง ซึ่งเรียกรวมกันว่า “ลูกขุน ณ ศาลหลวง” นั่งพิพากษาคดีเป็นทำนองอย่างศาลสถิตยุติธรรม ศาลาลูกขุนอีก ๒ หลังอยู่ในพระราชวัง จึงเป็นเหตุให้เรียกต่างกันว่า “ศาลาลูกขุนนอก” และ “ศาลาลูกขุนใน” ศาลาลูกขุนในเป็นสถานที่สำหรับประชุมข้าราชการชั้นสูงฝ่ายธุรการ ซึ่งเรียกรวมกันว่า “ลูกขุน ณ ศาลา”

หลังหนึ่งซึ่งอยู่ข้างซ้ายสำหรับประชุมข้าราชการพลเรือน ซึ่งอยู่ในปกครองของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ด้วยเป็นสมุหนายกหัวหน้าข้าราชการพลเรือน อีกหลังหนึ่งอยู่ข้างขวา สำหรับประชุมข้าราชการทหาร ก็อยู่ในปกครองของเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ด้วยเป็นหัวหน้าข้าราชการทหาร เช่นเดียวกัน

ตัวศาลาลูกขุนเป็นศาลาใหญ่ชั้นเดียว ได้ยินว่าเมื่อแรกสร้างในรัชกาลที่ ๑ เป็นเครื่องไม้ มาเปลี่ยนเป็นก่ออิฐถือปูนในรัชกาลที่ ๓ ทั้ง ๒ หลัง ในศาลาลูกขุนตอนข้างหน้าทางฝ่ายเหนือเปิดโถงเป็นที่ประชุมข้าราชการ และใช้เป็นที่แขกเมืองประเทศราชหรือแขกเมืองต่างประเทศพักเมื่อก่อนเข้า เฝ้า และเลี้ยงแขกเมืองที่นั้นด้วย แต่มีฝาไม้ประจันห้องกั้นสกัดกลางเอาตอนข้าง หลังศาลาทางฝ่ายใต้เป็นห้องสำนักงานกระทรวงมหาดไทยหลัง ๑ กระทรวงกลาโหมหลัง ๑ อย่างเดียวกัน แต่ไม่ได้เป็นสำนักงานทุกอย่างของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม เพราะหน้าที่สองกระทรวงนั้นมี ๓ แผนก

แผนกที่ ๑ คือหน้าที่อัครมหาเสนาบดี ที่ต้องสั่งการงานต่างๆ แก่กรมอื่นให้ทันราชการ อันนี้เป็นมูลที่ต้องมีสำนักงานและมีพนักงานประจำอยู่ในพระราชวังเสมอ ทั้งกลางวันกลางคืน

แผนกที่ ๒ การบังคับบัญชาหัวเมือง ที่จริงโดยลำพังงานไม่จำเป็นต้องทำที่ศาลาลูกขุน แต่หากการบังคับบัญชาหัวเมืองต้องใช้ผู้ชำนาญหนังสือ สำหรับพิจารณาใบบอกและเขียนท้องตราสั่งราชการหัวเมืองกระทรวงมหาดไทยและ กระทรวงกลาโหม มีหัวพันนายเวรและเสมียนซึ่งชำนาญหนังสือสำหรับเขียนบัตรหมายประจำอยู่ที่ ศาลาลูกขุน จึงให้พวกที่ชำนาญหนังสือนั้นทำการงานในแผนกบังคับบัญชาการหัวเมืองด้วย

แผนกที่ ๓ เป็นฝ่ายตุลาการ ด้วยกระทรวงมหาดไทยและกลาโหมเป็นศาลอุทธรณ์ความหัวเมืองซึ่งอยู่ในบังคับ บัญชา มีขุนศาลตุลาการตลอดจนเรือนจำสำหรับการแผนกนั้นต่างหาก จึงต้องตั้งศาลที่บ้านเสนาบดี และหาที่ตั้งเรือนจำแห่งใดแห่งหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เรือนจำของกระทรวงนั้นตั้งอยู่ริมกำแพงหน้าพระราชวัง ตรงหลังหอรัษฎากรพิพัฒน์ออกไป แต่จะตั้งที่ตรงนั้นมาแต่เมื่อใดหาทราบไม่

ถึงกระทรวงอื่นๆ แต่ก่อนก็มีหน้าที่ทางตุลาการต้องชำระคดีอันเนื่องต่อกระทรวงนั้นๆ แต่ตั้งทั้งศาลและสำนักงานกระทรวงที่บ้านเสนาบดีด้วยกัน เพราะฉะนั้นแต่ก่อนมา เสนาบดีจึงบัญชาการกระทรวงที่บ้าน แม้มีสำนักงานอยู่ที่อื่น เช่นกระทรวงมหาดไทยและกลาโหม ก็ไม่ไปนั่งบัญชาการที่สำนักงาน เจ้าหน้าที่ในกระทรวงต้องไปเสนอราชการและรับคำสั่งเสนาบดีที่บ้านเป็นนิจ

แต่ตามประเพณีเดิม ข้าราชการกระทรวงต่างๆ ตั้งแต่เสนาบดีลงมา ได้รับเบี้ยหวัดประจำปีกับค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการที่ทำ เป็นผลประโยชน์ในตำแหน่ง หาได้รับเงินเดือนไม่

อนึ่ง แต่ก่อนมาการพระคลังกับการที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ (อันเรียกว่ากรมท่า) รวมอยู่ในกระทรวงเดียวกัน เจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีจตุสดมภ์เป็นหัวหน้า

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ โปรดฯ ให้แยกการพระคลังจากกรมท่า มาจัดเหมือนเป็นกระทรวงหนึ่งต่างหาก ตั้งสำนักงาน ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ จัดระเบียบในสำนักงานตามแบบออฟฟิศอย่างฝรั่งขึ้นเป็นกระทรวงแรก คือให้บรรดาผู้มีตำแหน่งในหอรัษฎากรพิพัฒน์รับเงินเดือนแทนค่าธรรมเนียม อย่างแต่ก่อน และต้องมาทำงาน ณ สำนักงานตามเวลาเสมอทุกวันทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย

ยกเว้นแต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ เวลายังดำรงพระยศเป็นกรมพระ ซึ่งเป็นอธิบดีพระองค์เดียว เห็นจะเป็นเพราะทรงพระราชดำริว่าท่านทรงบัญชาการอยู่ทั้งกระทรวงวังและ กระทรวงพระคลัง โปรดฯ อนุญาตให้ทรงบัญชาการที่วังอย่างแต่ก่อน เพราะฉะนั้นระเบียบสำนักงานที่ใช้ในหอรัษฎาฯ จึงยังเป็นอย่างเก่าเจืออยู่บ้าง


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์


จนถึง พ.ศ. ๒๔๒๘ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สมเด็จฯ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น เป็นเสนาบดีกรมท่า ท่านหกราบทูลขอให้มีสำนักงานกระทรวง อย่าให้ต้องว่าราชการที่วัง จึงขอพระราชทานวังสราญรมย์ให้เป็นสำนักงานกระทรวง ให้เรียกว่า กระทรวงว่าการต่างประเทศ แต่นั้นมา สมเด็จฯ กรมพระยาเทววงศ์ฯ เป็นเสนาบดีแรกที่ได้รับแต่เงินเดือนเหมือนกับคนอื่นอันมีหน้าที่ในสำนักงานกระทรวง


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ
เสนาบดี กระทรวงว่าการต่างประเทศ


ต่อนั้นมาอีกสักกี่ปีข้าพเจ้าจำไม่ได้และไม่มีอะไรจะสอบเมื่อเขียนนิทานนี้ พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้จัดกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเป็น แบบใหม่ เหมือนเช่นได้จัดกระทรวงพระคลังกับกระทรวงต่างประเทศมาแล้ว จึงโปรดฯ ให้รื้อศาลาลูกขุนในทั้ง ๒ หลังลงสร้างใหม่ ทำเป็นตึก ๒ ชั้น ๓ หลังเรียงกัน มีมุขกระสันทั้งข้างหน้าข้างหลังเชื่อมตึก ๓ หลังนั้นให้เป็นหมู่เดียวกันดังปรากฏอยู่บัดนี้ ตึกหลังข้างซ้ายที่ริมประตูสุวรรณบริบาล สร้างตรงศาลาลูกขุนเดิมของกระทรวงมหาดไทย ตึกหลังข้างขวาก็สร้างตรงศาลาลูกขุนเดิมของกระทรวงกระกลาโหม มีประตูเข้าทางด้านหน้าร่วมกันตรงตึกหลังกลางซึ่งสร้างขึ้นใหม่สำหรับเป็น ที่ประชุม และมีประตูเข้าแยกกันทางด้านหลังอีกทางหนึ่ง

เมื่อสร้างตึกสำเร็จแล้วกระทรวงมหาดไทยก็ขึ้นอยู่ติดมุขกระสันทางฝ่ายซ้าย เป็นสำนักงาน กระทรวงกลาโหมก็ขึ้นอยู่ทางฝ่ายขวาเป็นสำนักงานเช่นเดียวกัน แต่ขันอยู่ที่ตึกหลังกลางซึ่งเกิดขึ้นใหม่นั้น มหาดไทยกับกลาโหมมิรู้ที่จะแบ่งกันอย่างไร กระทรวงวังเลยขอเอาเป็นคลังกรมราชอาสน์ที่เก็บโต๊ะเก้าอี้สำหรับใช้ราชการ ลั่นกุญแจเสียทั้ง ๒ ชั้น

เมื่อกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหม ขึ้นอยู่ศาลาลูกขุนใหม่แล้ว ข้าราชการที่มีตำแหน่งประจำทำงานในศาลลูกขุนทั้ง ๒ กระทรวง ได้รับเงินเดือนเหมือนอย่างกระทรวงพระคลังและกระทรวงต่างประเทศ ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยและกลาโหมจึงได้ผลประโยชน์ต่างกันเป็น ๒ พวก พวกที่ประจำทำงานอยู่ในศาลาลูกขุนได้เงินเดือน แต่พวกที่ทำงานอยู่ที่อื่น เช่น ขุนศาล ตุลาการศาลอุทธรณ์ความหัวเมือง ซึ่งตั้งศาลอยู่ที่บ้านเสนาบดี คงได้ค่าธรรมเนียมเป็นผลประโยชน์อยู่อย่างเดิม แม้ตัวเสนาบดีทั้ง ๒ กระทรวงก็คงได้ค่าธรรมเนียมเป็นผลประโยชน์อยู่อย่างเดิม เพราะไม่ได้เข้ามานั่งประจำทำงานในศาลาลูกขุน

ตัวข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรกที่ได้รับแต่เงินเดือน ไม่ได้ค่าธรรมเนียมเหมือนท่านแต่ก่อน แต่เมื่อกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหมขึ้นทำงานบนศาลาลูกขุนใหม่แล้ว ไม่มีใครในกระทรวงทั้ง ๒ นั้น คิดหรือสามารถจะแก้ไขระเบียบให้เจริญทันสมัยได้ ก็คงทำการงานอยู่ตามแบบเดิม เหมือนเช่นเคยทำที่ศาลาลูกขุนเก่าสืบมา จนข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ข้าพเจ้าจึงได้เห็นแบบเก่าว่าทำกันมาอย่างไร


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เสนาบดี กระทรวงมหาดไทย


ข้าราชการที่เป็นพนักงานประจำทำการในศาลาลูกขุนนั้น ปลัดทูลฉลองหรือข้าราชการผู้ใหญ่ที่ได้ทำการในหน้าที่ปลัดทูลฉลองเป็นตัว หัวหน้า รองลงมามีข้าราชการชั้นสัญญาบัตรเป็นพระเป็นหลวงเป็นผู้ช่วยสักสามสี่คน ต่อนั้นลงมาถึงชั้นเสมียนพนักงาน

ในชั้นเสมียนพนักงานมีนายเวร ๔ คน รับประทวนเสนาบดีตั้งเป็นที่ “นายแกว่นคชสาร” คน ๑ “นายชำนาญกระบวน” คน ๑ “นายควรรู้อัศว” คน ๑ “นายรัดตรวจพล” คนหนึ่ง ได้ว่ากล่าวเสมียนทั้งปวง นายเวร ๔ คนนั้นกลางวันมาทำงานในศาลาลูกขุนด้วยกันทั้งหมด เวลากลางคืนต้องผลัดเปลี่ยนกันนอนค้างอยู่ที่ศาลลูกขุน สำหรับทำราชการที่จะมีมาในเวลาค่ำคราวละ ๑๕ วันเวียนกันไป เรียกว่า อยู่เวร ตำแหน่งหัวหน้าจึงได้ชื่อว่า นายเวร

แต่หน้าที่นายเวรไม่แต่สำหรับทำราชการที่มีมาในเวลาค่ำเท่านั้น บรรดาราชการที่มีมาถึงกระทรวงมหาดไทย จะมีมาในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม ถ้ามาถึงกระทรวงในเวร ๑๕ วันของใคร นายเวรนั้นก็ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ทำการเรื่องนั้นตั้งแต่ต้นไปจนสำเร็จ ดังจะพรรณนาให้เห็นเมื่อกล่าวถึงกระบวนทำงานต่อไปข้างหน้า

ยังมีพนักงานอีกกรมหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ในศาลาลูกขุนเรียกว่า กรมเงินส่วย (หรืออะไรข้าพเจ้าจำไม่ได้แน่) แต่เป็นกรมตั้งขึ้นใหม่เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีไม่นานนัก เดิมในกระทรวงมหาดไทยและกลาโหมมีตำแหน่งหัวพัน กระทรวงละ ๔ คน หัวพันมหาดไทยเป็น “พันพุฒอนุราช” คน ๑ “พันจันทนุมาศ” คน ๑ พันภานุราช” คน ๑ “พันเภาอัศวราช” คน ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ในการกะเกณฑ์คนเมื่อราชการเกิดขึ้น และเป็นผู้ตรวจการที่มหาดไทยสั่งให้กรมอื่นๆ ทำตามหมายกระทรวงวังดังกล่าวมาแล้ว

พันพุฒอนุราชเป็นเจ้าหน้าที่เกณฑ์คน หรือเรียกเงินข้าราชการมาจ้างคนไปทำการ ทางกระทรวงกลาโหมก็มี พันเทพราช เป็นเจ้าหน้าที่อย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้นเงินจึงผ่านมือพันพุฒฯ และพันเทพราชมาก เมื่อกรมพระนราธิปพันธ์พงศ์ แต่ยังไม่ได้รับกรม เป็นรองอธิบดีกระทรวงพระคลัง ทูลขอให้ตั้งกรมเงินส่วยขึ้นทั้งในกระทรวงมหาดไทยและกลาโหม พันพุฒอนุราชได้เลื่อนขึ้นเป็นพระวรพุฒิโภคัย ตำแหน่งเจ้ากรมในกระทรวงมหาดไทย พันเทพราชได้เลื่อนขึ้นพระอุทัยเทพธน ตำแหน่งเจ้ากรมในกระทรวงกลาโหม สำหรับเร่งเงินค่าส่วยตามหัวเมืองส่งพระคลัง ได้รับเงินเดือนทั้ง ๒ กรม

บรรดาข้าราชการที่มีหน้าที่ทำงานในศาลาลูกขุน ล้วนอยู่ในบุคคล ๒ จำพวก จำพวกหนึ่งเกิดในตระกูลของข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ได้เฝ้าแหนในท้องพระโรงจนรู้ราชการงานเมืองบ้างแล้ว ได้รับสัญญาบัตรเป็นขุนนางอยู่กรมอื่น ก่อนบ้าง ตรงมาเป็นขุนนางในกระทรวงมหาดไทยบ้าง ต่อไปได้เป็นเจ้าบ้านพานเมืองก็มี รับราชการอยู่ในกระทรวงมหาดไทยจนแก่เฒ่าก็มี

อีกจำพวกหนึ่งเป็นแต่ลูกคฤหบดีซึ่งสมัครเข้าฝึกหัดรับราชการในกระทรวง มหาดไทย ตั้งแต่ยังเป็นเด็กหนุ่ม ฝากตัวเป็นศิษย์ให้นายเวรใช้สอยและฝึกหัดเป็นเสมียนมาแต่ก่อน จนมีความรู้ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นโดยลำดับด้วยความสามารถ จนได้เป็นรองนายเวรและนายเวร นายเวรล้วนขึ้นจากคนจำพวกเสมียนทั้งนั้น จึงชำนิชำนาญกระบวนการในกระทรวงยิ่งกว่าพวกผู้ดีที่ได้เป็นขุนนางโดยสกุล แต่จำพวกนี้น้อยตัวที่จะได้สัญญาบัตรเป็นขุนนาง ถึงกระนั้นนายเวรบางคนได้เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยถึงชั้น พระยาพานทองก็มี จะยกตัวอย่างที่ฉันรู้จักตัว เช่นพระยาจ่าแสนยบดี (ขลิบ) และพระยาราชวรานุกูล (อ่วม) เป็นต้น พระยาจ่าแสนยบดี (ไทย) ก็ขึ้นจากจำพวกเสมียน เคยเป็นนายเวรมาก่อนเหมือนกัน


พระยาจ่าแสนยบดี (ไทย)


พิเคราะห์ดูเห็นจะเป็นวิธีมีมาแต่โบราณ ที่กระทรวงต่างๆ ต้องหัดใช้คนในกระทรวงเอง แม้กระทรวงอื่นก็คงเป็นเช่นเดียวกัน การที่รับคนแปลกหน้าเรียนมาจากที่อื่นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมีกระทรวงเสนาบดี เป็น ๑๒ กระทรวงแล้ว ดังพรรณนามาในนิทานที่ ๑๔ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง(๑)

กระบวนทำงานในกระทรวงมหาดไทยตามแบบเก่านั้น ถ้าหนังสือราชการจะเป็นจดหมายในกรุงฯ ก็ดี หรือใบบอกหัวเมืองก็ดี มาถึงศาลาลูกขุนในเวลาเวรของใคร เปรียบว่าเป็นเวลาเวรนายแกว่นฯ นายแกว่นฯ ก็เป็นผู้รับหนังสือนั้น แม้เป็นหนังสือของตัวบุคคลเช่นสลักหลังซองถึงปลัดทูลฉลองเป็นต้น ก็ส่งไปให้ผู้นั้นทั้งผนึก ถ้าเป็นใบบอกถึงกระทรวง อันเรียกว่า “วางเวร กระทรวงมหาดไทย” นายแกว่นฯ ก็เปิดผนึกออกอ่าน แล้วนำขึ้นเสนอต่อปลัดทูลฉลองให้พิจารณาก่อน ถึงวันต่อมาเวลาเช้าปลัดทูลฉลองกับนายแกว่นฯ เอาใบบอกนั้น กับทั้งหนังสือซึ่งปลัดทูลฉลองเห็นว่าเสนาบดีจะต้องสอบประกอบกัน ไปยังบ้านเสนาบดี

เมื่อนายแกว่นคชสารอ่านใบบอกเสนอแล้ว เสนาบดีก็มีบัญชาสั่งให้ทำอย่างไรๆ ถ้าเป็นเรื่องเพียงจะต้องมีท้องตราตอบหรือสั่งราชการอันอยู่ในนาจเสนาบดี ก็ให้ปลัดทูลฉลองรับบัญชามาให้ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร ซึ่งเป็นพนักงานร่างหนังสือร่างตรานั้น แล้วให้นายแกว่นฯ เอาไปเสนอเสนาบดีให้ตรวจแก้ไขก่อน ถ้าเป็นแต่ท้องตราสามัญมีแบบแผนอยู่แล้ว ก็ให้นายแกว่นฯ ร่างให้เสร็จไป ไม่ต้องเอาร่างไปอ่านเสนอ แล้วให้เสมียนเวรนายแกว่นฯ เขียนลงกระดาษ มอบให้เสมียนตราเอาไปประทับตราที่บ้านเสนาบดีและส่งไป

ต้นหนังสือทั้งปวงในเรื่องนั้น นายแกว่นฯ อันเป็นนายเวรที่ทำการเป็นพนักงาน รักษาไว้ในกระทรวงต่อไป มักเก็บไว้บนเพดานศาลาลูกขุนเป็นมัดๆ ไม่ได้เรียบเรียงเรื่องเป็นลำดับ ถึงกระนั้นเมื่อข้าพเจ้าเป็นเสนาบดี ตรวจพบใบบอกเก่าแต่ในรัชกาลที่ ๔ ยังอยู่เป็นอันมาก(๒)

ถ้าใบบอกฉบับใดที่จะต้องกราบบังคมทูล เสนาบดีก็สั่งให้ปลัดทูลฉลองคัดความขึ้นกราบบังคมทูล ลักษณะคัดความอย่างนั้นเรียกว่า “คัดทูลฉลอง” คือเก็บแต่เนื้อความใบบอก แต่ต้องระวังมิให้ผิดเพี้ยนบกพร่องขึ้นกราบบังคมทูล

วิธีกราบบังคมทูลนั้น ตามประเพณีโบราณซึ่งยังงใช้มาจนในรัชกาลที่ ๓ อันพึงเห็นได้ในหนังสือ “จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ” ซึ่งหอพระสมุดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยปกติเจ้าแผ่นดินเสด็จออกขุนนางในท้องพระโรงวันละ ๒ ครั้งเป็นนิจ เสด็จออกเวลาเช้าทรงว่าราชการฝ่ายตุลาการ คือพิพากษาฎีกาของราษฎรเป็นต้น เสด็จออกเวลาค่ำทรงว่าราชการบ้านเมือง เสนาบดีต้องไปเฝ้าพร้อมกันหมด

มีใบบอกราชการอย่างไรมาแต่หัวเมือง เมื่อเสนาบดีเจ้ากระทรวงทูลเบิกแล้ว ปลัดทูลฉลแงอ่านใบบอกที่คัดนั้นถวายทรงฟัง เมื่อทรงฟังตลอดแล้วตรัสปรึกษาหารือกับเสนาบดีเป็นยุติแล้วตรัสสั่งให้ทำ อย่างไร ปลัดทูลฉลองก็เป็นผู้จดจำกระแสรับสั่งมาจัดการ ถ้าเป็นราชการสำคัญโปรดให้นำร่างตราขึ้นถวายทรงตรวจแก้ก่อน ก็เป็นหน้าที่ปลัดทูลฉลองที่จะนำร่างตราเข้าไปอ่านถวาย และแก้ไขตามรับสั่งในเวลาเสด็จออกขุนนางเหมือนเมื่ออ่านใบบอก

ราชการแผ่นดินทำเป็นการเปิดเผยดังพรรณนามา จึงถือกันว่าท้องพระโรง เป็นที่ศึกษาราชการของข้าราชการทั้งปวงอันมีตำแหน่งเฝ้าในท้องพระโรง



ประชุมเทศาภิบาล กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๓๙
จากซ้ายไปขวา
แถวนั่ง
๑. พระยาสุรินทร์ฦๅไชย (เทศ บุนนาค) ต่อมาเป็นเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์
๒. พระยาพงษาณุรักษ์ (แฉ่ บุนนาค) ต่อมาเป็นพระยาไกรเพชรสงคราม)
๓. กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์
๔. กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
๕. กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย
๖. พระยาจ่าแสนยบดี (ไทย)
๗. หม่อมเจ้าอลังการ มาลากุล
แถวยืน
๑. พระยาสฤษดิ์พจนกร (เสง วิริยศิริ) ต่อมาเป็นพระยามหาอำมาตย์
๒. พระยาประสิทธิศัลยการ (สอาด สิงหเสนี)
๓. พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (เชย กัลยาณมิตร) ต่อมาเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์
๔. พระยาทิพยโกษา (โต โชติกเสถียร)



.............................................................................................................................................................

เชิงอรรถ

(๑) ดูในนิทานโบราณคดี ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
คัดไว้แล้ว แผ่นดินทอง – โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

(๒) ดูในนิทานโบราณคดี เรื่องหนังสือหอหลวง ของกรมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
คัดไว้แล้ว แผ่นดินทอง – หนังสือหอหลวง



Create Date : 14 เมษายน 2553
Last Update : 14 เมษายน 2553 12:20:08 น. 4 comments
Counter : 4541 Pageviews.  
 
 
 
 
มาเยือนเว็บจาก tttp://www.thai-school.net/wanarat
 
 

โดย: พริกดิบ (พริกดิบ ) วันที่: 14 เมษายน 2553 เวลา:13:44:52 น.  

 
 
 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...
 
 

โดย: TREE AND LOVE วันที่: 14 เมษายน 2553 เวลา:14:19:42 น.  

 
 
 
ขอบคุณสำหรับสิ่งดีๆ

ขอให้มีความสุขมากๆนะครับ
 
 

โดย: CVTบ้านโป่ง วันที่: 14 เมษายน 2553 เวลา:15:41:45 น.  

 
 
 
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him
 
 

โดย: da IP: 124.122.247.144 วันที่: 18 เมษายน 2553 เวลา:17:51:36 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com