Apple has lost a visionary and creative genius, and the world has lost an amazing human being.

But his spirit will forever be the foundation of Apple. 6 October 2011

<<
ธันวาคม 2567
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
6 ธันวาคม 2567

ปากพลี : นกอ้ายงั่ว



ทุ่งปากพลีนอกจากจะเป็นบ้านของเหยี่ยวอพยพ
มันยังเงียบสงบเพียงพอที่จะเป็นสถานที่ทำรังของนกน้ำหลายชนิด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกหายาก ดังเช่นเรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้
เรื่องของนกที่ครั้งหนึ่งเราเคยคิดว่า ไม่น่าจะพบได้ในประเทศนี้แล้ว
 

นกอ้ายงั่ว (Oriental darter) เป็นนกน้ำตัวใหญ่ มีขนาด 90-95 ซม.
แม้ว่าจะเล็กกว่านกกระสานวล หรือกระสาแดง แต่ว่าบึกบึนกว่า
หากินในแหล่งน้ำ โดยโผล่ขึ้นมาเพียงส่วนลำคอ
จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่านกคองู หรือ snakebird
 
เนื่องจากมีกระดูกสันหลังส่วนคอชิ้นที่ 8 และ 9 รูปร่างเป็นรูปตัว S
จึงสามารถจับปลาได้ด้วยการใช้ปากแทงเหมือนกับการใช้ฉมวกล่า
จึงเป็นที่มาของชื่อในภาษาอังกฤษว่า darter หรือลูกดอกนั่นเอง
 
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า 
Anhinga melanogaster อยู่ในสกุล Anhinga
ซึ่งมีนกอีก 3 ชนิด ได้แก่ American, African, Australian darter
มีถิ่นอาศัยอยู่ในอนุทวีปอินเดีย อินโดไชนา คาบสมุทรมาเลย์
เกาะสุมาตรา ชวา บอร์เนียว ไปจนถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์
   


แต่สถานที่อาศัยสำคัญนั้นอยู่ในอินเดีย หมู่เกาะอันดามันของอินเดีย
และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โตนเลสาป กัมพูชา
การสำรวจรังนกที่ทะเลสาปแห่งนี้ในปี 2000 พบว่ามีจำนวน 214 รัง
และเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นหลายพันรังในปี 2013
สถานะในปัจจุบันของ IUCN คือ
near threatened

พ.ศ. 2491 มีรายงานว่าพบนกอ้ายงั่วทำรังแม้กระทั่งในสวนริมถนนวิทยุ 
พ.ศ. 2517 หนังสือ
Bird Guide of Thailand ของ นพ. บุญส่ง เลขะกุล
ยังคงบรรยายว่า เป็นนกประจำถิ่น ที่พบเห็นได้บ่อยตามแหล่งน้ำทั่วไป

แต่ในสถานการณ์จริงนั้น พ.ศ. 2523 เป็นปีที่มีรายงานการเห็น
นกอ้ายงั่วครั้งสุดท้าย ที่วัดตาลเอน จ. พระนครศรีอยุธยา
ซึ่งเป็นสถานที่ที่ถูกระบุว่า เคยมีการทำรังของนกชนิดนี้
 พ.ศ. 2535 มีนักดูนกพบนกอ้ายงั่วจำนวน 1ตัว 
ที่บ่อบำบัดน้ำเสีย ม. เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน 

หลังจากนั้นก็คือช่วงที่ผมดูนก ซึ่งไม่มีใครเคยเห็นนกอ้ายงั่วอีกเลย
จนกระทั่ง พ.ศ. 2542 มีรายงานการพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว 
พ.ศ. 2543 เริ่มมีนกอ้ายงั่วกลับมาทำรัง บนต้นไม้ในสวนที่ จ. สระแก้ว
ในเวลาต่อมามีการพบเห็นนกฝูงนี้ ที่อ่างเก็บน้ำพระปรงที่อยู่ใกล้เคียง

พ.ศ. 2547 พบรังนกอ้ายงั่วจำนวน 4 รัง ที่บึงบอระเพ็ด จ. นครสวรรค์
และมีการพบแหล่งทำรังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น บ้านวังเป็ด จ.พิษณุโลก
วัดห้วยจันทร์  จ.ลพบุรี และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงละหาน จ. ชัยภูมิ



ปัจจุบันมีรายงานการพบเห็นนกอ้ายงั่วได้เกือบทั่วประเทศ  
แต่แหล่งทำรังของนกชนิดนี้ น่าจะมีอยู่เพียง 4-5 แห่ง ดังที่กล่าวมา
ซึ่งต้องรวมถึงที่ทุ่งปากพลีแห่งนี้ ที่เราจะเห็นลูกนกสีขาว
ยืนอยู่บนรังปะปนกับนกกระสานวลและนกกาน้ำบนต้นไม้ด้วย
 
จาก พ.ศ. 2523 ที่วัดตาลเอน ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งทำรังแห่งสุดท้าย
เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่สถานะนกชนิดนี้ของไทยแขวนอยู่บนเส้นด้าย
จนกระทั่ง พ.ศ. 2543 ที่มีการเติมประชากรนกอ้ายงั่ว
เข้ามาทำรังอีกครั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่บ้านคลองมะละกอ
 
เพราะโลกของนกนั้นไร้พรมแดน นกอ้ายงั่วจากประเทศไทย
ก็อาจจะบินเข้าไปเติมประชากร ให้กับประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน
ในมาเลเซีย มีรายงานการกลับมาทำรังอีกครั้งใน พ.ศ. 2565
ในขณะที่ประเทศลาว ยังไม่พบว่านกชนิดนี้หวนกลับไปทำรังอีกเลย
 
แม้ว่าสภาพธรรมชาติในปัจจุบัน จะไม่ได้ดีไปกว่าในสมัยก่อน
ที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ให้ทำรัง หรือมีแหล่งน้ำที่ไร้การรบกวนเพิ่มขึ้น
แต่สิ่งที่ดีขึ้นคือจิตใจของผู้คน ที่ทำให้การล่านกนั้นลดลงไป
ทำให้นกอ้ายงั่วมีโอกาสที่จะขยายพันธุ์เพื่อการฟื้นฟูจำนวนประชากร



Create Date : 06 ธันวาคม 2567
Last Update : 7 ธันวาคม 2567 13:54:57 น. 4 comments
Counter : 292 Pageviews.  

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณหอมกร, คุณtuk-tuk@korat, คุณnonnoiGiwGiw, คุณกะริโตะคุง, คุณhaiku, คุณSweet_pills, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณปัญญา Dh, คุณ**mp5**, คุณดอยสะเก็ด


 
เคยเจอนกปากห่างที่สวนรถไฟ
ก็ว่าตัวใหญ่แล้วนะนั่นหนะ



โดย: หอมกร วันที่: 6 ธันวาคม 2567 เวลา:10:07:26 น.  

 
ไม่แน่ในนะคะ ว่าใช่หรือเปล่า
แต่ข้างสนามกอล์ฟลานนามีแบบนี้เยอะมาก
แถมส่งเสียงหนวกหูอีกต่างหากค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 6 ธันวาคม 2567 เวลา:10:36:20 น.  

 
สวัสดีครับ
พออ่านว่า..."เพราะโลกของนกนั้นไร้พรมแดน"
รู้สึกเหมือนนกเขาชวา...ประเทศในเอเชียแถวๆบ้านเรา ขึ้นไปบนๆอีกหน่อย ฮ่องกง ไต้หวันก็มี

ไม่รู้ว่านกเขาชวาแถวบ้านผมเคยบินไปทำรังที่ฮ่องกงมาก่อนรึเปล่าเนอะ



โดย: กะริโตะคุง วันที่: 6 ธันวาคม 2567 เวลา:14:24:45 น.  

 
เคยดูนกที่อยู่รวมกลุ่มกันจำนวนมากครั้งหนึ่งค่ะที่สุพรรณบุรี
ไม่แน่ใจว่าเป็นนกชนิดนี้รึเปล่า
ขอบคุณข้อมูลความรู้นะคะ


โดย: Sweet_pills วันที่: 7 ธันวาคม 2567 เวลา:0:13:48 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ผู้ชายในสายลมหนาว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]




New Comments
[Add ผู้ชายในสายลมหนาว's blog to your web]