คิดสิ่งดีๆ ในวันปีใหม่
ปีกระต่ายทองกำลังจะผ่านไป ความจริงแล้วควรจะเรียกว่าปีกระต่ายดุเสียมากกว่าเพราะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากมายทั่วโลกหรือแม้แต่ประเทศไทยของเราก็เกิดมหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมาก แต่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงน้ำใจของคนไทยที่ไม่เคยเหือดหายไปจากประวัติศาสตร์เช่นกัน นอกจากนี้เรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในปีกระต่ายทองที่สำคัญที่สุดและทำให้คนไทยทั้งประเทศมีความสุขท่วมท้น ก็คือเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นที่รักยิ่งของพวกเราทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษาจิตใจที่เบิกบานและเสียงถวายพระพร “ทรงพระเจริญ” ดังสนั่นกึกก้องไปทั่วทั้งประเทศพระบารมีของพระองค์แผ่ไพศาลเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วโลก ขอพระองค์ทรงเป็นดวงประทีปให้พวกเรายึดเป็นหลักชัยตลอดไป

สำหรับปีมะโรงหรือปีมังกรที่จะมาถึงนี้ จะเป็นมังกรดุหรือไม่นั้นคงไม่มีใครทราบได้ หลายท่านคงเคยถามตัวเองหรือคนรอบข้างว่าปีใหม่นี้อยากได้อะไร? เชื่อว่าคำตอบยอดฮิตคือ ขอให้รวย ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง หรือขอคนรักสักคน การคิดเช่นนี้สะท้อนถึงความตั้งใจของเราว่าต้องการอะไร ซึ่งนับว่าเป็นก้าวแรกของการวางแผนชีวิตที่ดีมีเป้าหมายชีวิตชัดเจนขึ้น ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้นแต่หลังจากรู้ว่าตนเองต้องการอะไรแล้ว จะมีเพียงไม่กี่คนที่เพียรพยายามทำสิ่งที่ตั้งใจให้สำเร็จได้จริง มีหลายคนที่ไม่คิดวางแผนอนาคต โดยบอกตัวเองว่าทำอย่างเดิมนี่แหละดีแล้ว เพราะชีวิตขณะนี้ก็ดีอยู่แล้ว หลายคนมีทัศนคติว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ถ้ามองเพียงผิวเผินเหมือนเป็นการรู้จักปล่อยวางหรือปลงกับชีวิตได้แต่ถ้าลองพิจารณาอีกสักหน่อย เป็นไปได้ว่าคนกลุ่มเหล่านี้ส่วนหนึ่งน่าจะวางแผนชีวิตที่ดีมาก่อนทำให้ชีวิตปัจจุบันดีมาตลอด ไม่น่าจะใช่การปล่อยวางหรือปลงไปตามบุญตามกรรม ส่วนคนที่ปล่อยชีวิตให้ล่องลอยไร้จุดหมายก็คงมีอยู่บ้างแต่โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็คงไม่มากนัก
ประสบการณ์ในแต่ละปีที่สะสมมา ย่อมเป็นครูสอนให้เราคิดได้ว่าควรทำอย่างไร
ในปีต่อไป สูตรสำเร็จที่ทำให้คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จได้นั้นมีมากมายให้เลือกใช้ตามแต่สะดวก แต่ถ้าไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ลองนึกถึงสุภาษิตหรือคำพังเพยซึ่งนับว่ามีความร่วมสมัยและสามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในสังคมปัจจุบัน เช่น “อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา” เป็นหัวใจของความขยัน อุตสาหะ นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต หรือ “อันความรู้ รู้กระจ่างแต่อย่างเดียวแต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” ถือว่าเป็นหลักสำคัญในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้เราสามารถนำหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้ เช่น “อิทธิบาท 4” ซึ่งประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา นับว่าเป็นหลักปฏิบัติตนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน การเริ่มต้นคิดว่าเราจะทำดีนั้นคงยังไม่พอถ้าไม่ลงมือปฏิบัติอย่างที่คิดไว้ ส่วนขั้นตอนว่าจะปฏิบัติอย่างไรนั้นคงเป็นรายละเอียดของแต่ละเรื่องที่จะต้องวางแผนกันต่อไป

ก่อนที่เราจะคิดดีทำดีได้นั้น ต้องมีพื้นฐานทางจิตใจและพื้นอารมณ์ที่ดีมาก่อน การควบคุมอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญที่เรียนรู้และฝึกฝนให้ดีขึ้นได้ คนที่มีไหวพริบเป็นคนฉลาดอาจทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ได้ก็เพราะขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์หรือที่เรียกว่า "อีคิว" นั่นเอง ดังนั้นความคิดที่จะปรับปรุงตนเองเป็นสิ่งที่กล้าหาญและน่ายกย่องมาก เพราะพื้นฐานความคิดของคนส่วนใหญ่เชื่อว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกต้องส่วนอีกฝ่ายเป็นคนผิดเสมอ ความพยายามที่จะหาข้อดีข้อเสียของตนเองและของผู้อื่นจะทำให้เรา “ทำงานเป็น” และมีมนุษยสัมพันธ์ดีขึ้นด้วย ความคิดที่เปิดกว้างรวมถึงการยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่นจะเป็นเสมือนกระจกสะท้อนความเป็นตัวตนของเราจากผู้คนที่อยู่รอบข้าง และนำมาปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นต่อไป คนที่คิดอย่างมีระเบียบแบบแผนจะทำให้ชีวิตไม่ต้องเร่งรีบมาก ไม่ทุกข์มากเพราะวางแผนไว้แล้วว่าชีวิตแต่ละวันจะทำอะไร และถ้าสิ่งที่ทำประสบความสำเร็จจะเกิดความภาคภูมิใจและยิ่งทำให้รู้สึกเหนื่อยน้อยลง คนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นคนที่มีใช้ชีวิตอย่างมีความสุขทุกวัน แต่ถ้าไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ขอให้มีสติตรึกตรองหาทางที่เหมาะสมต่อไป คนเราจะมีความสุขนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ขึ้นกับวิธีคิดเชิงบวกและการมองโลกในแง่ดีของเรา พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง ”เศรษฐกิจพอเพียง” ยังคงใช้ได้เสมอสำหรับทุกเรื่องแม้กระทั่งเรื่องของความสุข ถ้าเราตั้งความพอดีของการมีความสุขที่ไม่สูงนัก ก็จะพบความสุขที่แท้จริงได้ง่ายและยั่งยืนตลอดไป ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ขอขอบคุณ ผู้เรียบเรียงบทความ : นายแพทย์สุทธิ ศฤงคไพบูลย์ จิตแพทย์
Disclaimerrr
รายงานการวิจัยฉบับนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆ ที่น่าเชื่อถือในเชิงวิเคราะห์เพื่อต้องการเผยแพร่เพื่อประโยชน์ด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประโยชน์แก่ส่วนรวม ไม่ได้เจตนาแนะนำข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรค ตลอดจนไม่ใช่เพื่อการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือมีเจตนาเอื้อผลประโยชน์ทางธุรกิจใดๆ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ จึงไม่ขอรับรองความถูกต้องครบถ้วน สมบูรณ์ และเป็นปัจจุบันของข้อมูลเกี่ยวกับยา โรค สาเหตุ อาการ วิธีการดูแลรักษา นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ บางส่วนยังไม่มีการรับรองผลของการใช้งาน รวมทั้งไม่มีหลักฐานรับรองที่สมบูรณ์ ครบถ้วน ดังนั้น ผู้ใช้ข้อมูลควรใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลหรือปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเพิ่มเติม หากมีการนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ทางศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้ หรือการอ้างอิงรายงานการวิจัยฉบับนี้ และศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพขอสงวนสิทธิ์ในการแก้ไข ดัดแปลงรายงานการวิจัยฉบับนี้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
การสงวนสิทธิ์
รายงานการวิจัยฉบับนี้ ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย ห้ามบุคคลใดลอกเลียน ทำซ้ำ ดัดแปลงเผยแพร่ต่อสาธารณชน จำหน่าย มีไว้ให้เช่าหรือกระทำการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการแสวงหาประโยชน์ในทางการค้า หรือประโยชน์อันมิชอบ ไม่ว่าเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด มิเช่นนั้นจะมีการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ละเมิดทันที
|
Create Date : 30 ธันวาคม 2554 |
|
0 comments |
Last Update : 30 ธันวาคม 2554 14:58:11 น. |
Counter : 5427 Pageviews. |
|
 |
|