bloggang.com mainmenu search


อาการปวดบริเวณส้นเท้า หรือฝ่าเท้า หลังจากออกกำลังกาย เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยมากในกลุ่มผู้ที่ออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาประเภทวิ่ง หรือออกกำลังกายผิดท่า ซึ่งหากอาการหนักมากอาจจะแทบลงน้ำหนักลงฝ่าเท้าไม่ได้เลย สร้างความเจ็บปวดและเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างมาก

ภาพจาก repubblica.it

อาการบาดเจ็บที่ฝ่าเท้า ไม่ใช่อาการที่จะหายเจ็บได้อย่างรวดเร็ว เป็นอาการที่ค่อนข้างต้องใช้เวลาในการรักษาและฟื้นตัว เดี๋ยวเป็นๆ หายๆ อาการเหล่านี้เป็นอาการของ โรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ หรือ เรียกอีกอย่างว่าอาการรองช้ำ

โรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ
อาการเจ็บปวดที่เกิดจากการอักเสบของพังผืดบริเวณที่เกาะกับกระดูกส้นเท้า พบในผู้ที่ออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนักกระแทกหนักๆ ที่ส้นเท้าเป็นประจำ พื้นรองเท้าที่รองรับไม่ดีพอ หรือโครงสร้างของเท้าผิดปกติ ก็สามารถพบอาการนี้ได้เช่นกัน

ที่พบบ่อยมากที่สุดก็เป็นผู้ที่ชอบออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาประเภทวิ่ง และมักเป็นผู้ที่วิ่งตามทางปกติมากกว่าผู้ที่วิ่งบนลู่วิ่งออกกำลังกาย

การดูแลรักษา
การรักษาพยาบาล ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดขึ้น รู้สึกปวดปุ๊ป ต้องหยุดการเคลื่อนไหวและใช้งานเท้าบริเวณที่เจ็บให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และประคบด้วยน้ำแข็งในบริเวณที่ปวดประมาณ 20 นาที และอีกวันนึงก็ให้เริ่มประคบร้อน หรือแช่เท้าในน้ำอุ่นก็ได้

อาจจะเสริมด้วยการทานยาต้านอาการอักเสบต่อเนื่องประมาณ 3 สัปดาห์ ในช่วงนี้พยายามให้เท้าที่เจ็บอยู่นิ่งๆ เคลื่อไหวให้น้อยที่สุดได้ยิ่งดี

เพราะอย่างที่บอกเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่าอาการของโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้า ไม่ใช่อาการที่หายได้ง่ายๆ หลังจากผ่านช่วงที่รู้สึกเจ็บปวดมากๆแล้ว ก็ยังต้องพักผ่อนต่อไปอีก 3-4 อาทิตย์เลยทีเดียว แต่คุณก็สามารถหากิจกรรมอื่นๆมาออกกำลังกายแทนการวิ่งได้นะ แต่ควรเป็นการออกกำลังกายที่ไม่มีแรงกระแทก กระทบกระเทือนกับเท้าของเรา

ออกกำลังกายแบบไหนได้บ้าง ?
การออกกำลังกายที่อยากจะแนะนำในช่วงการพักฟื้นคือการเล่นโยคะแบบเบาๆ ประมาณ 15-30 นาที ที่ได้ทั้งเผาผลาญพลังงานส่วนเกินและได้ยืดคลายกล้ามเนื้อ อีกอย่างก็คือ พยายามยืดเอ็นร้อยหวาย โดยท่านั่งเหยียดขาใช้มือ หรือผ้าคล้องที่ปลายเท้าแล้วดึงจนรู้สึกตึงค้างไว้ 10 วินาที ทำวันละ 4-5 ครั้ง

บทสรุป
อาการพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ จะต้องดูแลรักษาอย่างดี หากคุณมีอาการอยู่ ไม่ควรกลับไปวิ่งออกกำลังกาย หรือใช้อุปกรณ์ เครื่องออกกำลังกายใดๆที่มีแรงกระแทก เพราะจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง ควรเลือกใช้เครื่องออกกำลังกายประเภทอื่นไปก่อน ค่อยๆฟื้นฟูร่างกายไปเรื่อยๆจนหายดี แล้วจึงค่อยกลับไปออกกำลังกายดังเดิมค่ะ

Create Date :22 มีนาคม 2561 Last Update :23 มีนาคม 2561 8:46:50 น. Counter : 277 Pageviews. Comments :0