"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2558
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
21 ธันวาคม 2558
 
All Blogs
 
มองย้อนความสนิทสนมราชวงศ์ญี่ปุ่น-ไทย

 

มองย้อนความสนิทสนมราชวงศ์ญี่ปุ่น-ไทย
พระบรมฉายาลักษณ์หมู่ ทรงฉาย ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในการถวายพระกระยาหารค่ำ แด่สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 26-30 กันยายน 2534
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
       Tokyo University of Foreign Studies



เพิ่งทราบจากพระโอษฐ์ว่าทรงสนิทกัน

       ญี่ปุ่นกับไทยมีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกัน หนึ่งในนั้นที่ผมตระหนักเป็นครั้งแรกเมื่อได้มาใช้ชีวิตในญี่ปุ่นคือ ทั้งกษัตริย์ไทยและจักรพรรดิญี่ปุ่นองค์ปัจจุบันต่างก็เสด็จพระราชสมภพในเดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายของปี

จึงมีวันแห่งการเฉลิมฉลองที่สำคัญของชาวไทยคือวันที่ 5 ธันวาคม และในทำนองเดียวกัน วันสำคัญสำหรับคนญี่ปุ่นคือวันที่ 23 ธันวาคม

แม้ว่าการฉลองของญี่ปุ่นไม่ใหญ่โตเหมือนของไทย แต่การได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระจักรพรรดิ ก็เป็นประเพณีที่มีมานานและสร้างความปีติแก่ประชาชนญี่ปุ่นจำนวนมาก

ในโอกาสที่วันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระจักรพรรดิ กำลังจะเวียนมาถึง ซึ่งพระองค์จะมีพระชนมายุครบ 82 พรรษา ผมจึงขอมองย้อนเรื่องราวความสัมพันธ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่นกับไทยในบางแง่มุมไว้ในพื้นที่นี้ด้วย

       จักรพรรดิวงศ์ของญี่ปุ่นในขณะนี้ สนิทชิดเชื้อกับราชวงศ์ของไทยในรัชกาลปัจจุบันมาหลายสิบปี ผมควรเล่าย้อนกลับไปหน่อยว่า อันที่จริงผมไม่เคยทราบมาก่อนว่าสองราชวงศ์ญี่ปุ่น-ไทยใกล้ชิดกัน

จนกระทั่งได้มาญี่ปุ่นถึงได้ตระหนักในความจริงข้อนี้ และได้ทราบว่าไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบเป็นทางการเท่านั้น แต่เป็นความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ในระดับที่เรียกได้ว่า เป็นสหายที่รู้จักกันดีมาเนิ่นนานเลยทีเดียว

       ตอนที่ได้ทราบคือเมื่อปี พ.ศ.2544 (ค.ศ. 2001) ผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะในฐานะนักศึกษาวิจัย กำลังเตรียมตัวสอบเข้าเรียนต่อปริญญาโท วันหนึ่งในเดือนกันยายน เพื่อนผู้หญิงชาวญี่ปุ่นชวนไปเที่ยว “มหาวิทยาลัยกะกุชูอิง” 

ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ เชื้อพระวงศ์ของญี่ปุ่นเข้าเรียนกันทุกพระองค์ แต่ถ้าเหตุผลมีแค่นั้น ผมก็ยังรู้สึกว่าไม่มีแรงดึงดูดเพียงพอให้ตัดสินใจไปด้วย และใจจริงคิดว่า “ไม่อยากไป” ด้วยซ้ำ 

มองย้อนความสนิทสนมราชวงศ์ญี่ปุ่น-ไทย
มหาวิทยาลัยกะกุชูอิง


มองย้อนความสนิทสนมราชวงศ์ญี่ปุ่น-ไทย
มหาวิทยาลัยกะกุชูอิง


มองย้อนความสนิทสนมราชวงศ์ญี่ปุ่น-ไทย
มหาวิทยาลัยกะกุชูอิง

“ไปเถอะ ๆ ไม่ไกลจากวาเซด้าหรอก” เธอคะยั้นคะยอ เพื่อนคนนี้เคยเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดภาษาไทยได้ แม้บางคำอาจจะพูดไม่เหมือนคนไทย แต่ส่วนใหญ่ก็คล่อง และคนไทยฟังเข้าใจได้หมด

       ก็จริงอย่างที่เธอว่า มหาวิทยาลัยกะกุชูอิงไม่ไกลจากวาเซดะ นั่งรถไฟไปแค่สถานีเดียวก็ถึง แต่ผมไม่อยากไปเพราะกังวลเรื่องการสอบ การเรียน และอะไรต่ออะไรอีกมากมายในชีวิต เนื่องจากมาถึงญี่ปุ่นได้เพียงครึ่งปี เธอคงจับสังเกตอะไรบางอย่างได้ จึงรีบอธิบายว่า

       “ไปรับเสด็จพะเตปนะ ไปเถอะ ๆ”

       อ้อ...เธอหมายความว่าไปรับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผมจึงไปด้วยความรู้สึกที่มากกว่ายินดี เพราะรู้ว่านี่อาจจะเป็นโอกาสเดียวในชีวิตที่ได้เข้าเฝ้าฯ ในต่างแดน

       วันที่ 19 กันยายน 2544 มหาวิทยาลัยกะกุชูอิงทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารแด่พระองค์ ผมนั่งอยู่ในหอประชุมร่วมกับนักศึกษาชาวญี่ปุ่นคนอื่น ๆ ที่มาร่วมพิธีกันเนืองแน่น

 สมเด็จพระเทพฯ ประทับบนเวที มีล่ามผู้ชายใส่สูทนั่งเยื้องไปทางด้านหลังของพระองค์อยู่ไม่ห่างนัก ขณะที่ตัวแทนมหาวิทยาลัยกล่าวรายงาน ล่ามก็ทำหน้าที่ไป ผมนั่งอยู่ข้างล่าง ฟังภาษาญี่ปุ่นออกบ้างไม่ออกบ้าง

ตอนนั้นวาดฝันอยู่ในใจว่า ต่อไปเราจะต้องเก่งภาษาญี่ปุ่นและเป็นล่ามให้ได้อย่างเขา เอาแค่แปลรู้เรื่องก็พอ ไม่ต้องถึงขนาดแปลถวายเชื้อพระวงศ์หรอก

       นั่งนึกอะไรเพลินๆ ได้ไม่เท่าไรพิธีก็จบ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ออกจากหอประชุมไปแล้ว ทางมหาวิทยาลัยเปิดพื้นที่ให้สมเด็จพระเทพฯ ได้มีพระราชปฏิสันถารกับชาวไทย

ผมคือหนึ่งในคนไทยกลุ่มนั้น ซึ่งคงมีไม่ต่ำกว่า 30-40 คน ตอนนั้นไม่ได้นึกว่าสักวันจะได้มาเขียนเล่าความหลัง จึงไม่ได้บันทึกอะไรเป็นตัวอักษร สิ่งที่เล่าอยู่ตอนนี้ล้วนมาจากความทรงจำ

       สมเด็จพระเทพฯ ไม่ทรงถือพระองค์เลย พระราชทานพระราชวโรกาสให้คนไทยทั้งกลุ่มขยับเข้าไปติดหน้าเวที ใกล้ชิดมาก พระองค์มีพระราชดำรัสอย่างเป็นกันเองในหลายๆ เรื่อง

หนึ่งในนั้นที่ผมจำได้แม่นมีใจความว่า “มาญี่ปุ่นหลายทีแล้ว แต่ก็ไม่มีเวลาเรียนภาษาญี่ปุ่นสักที...ส่วนทางญี่ปุ่น [ผมฟังไม่ถนัด แต่คาดว่าทรงหมายถึงเชื้อพระวงศ์ทางฝ่ายญี่ปุ่น โดยเฉพาะเจ้าชายฟุมิฮิโตะ เจ้าอะกิชิโนะ ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 แห่งสมเด็จพระจักรพรรดิ และเป็นพระสหายของสมเด็จพระเทพฯ] ท่านเสด็จไทยบ่อย มาทีไรก็มักจะมีของเล่นน่ารักๆ มาฝากเป็นประจำ”

       คำอื่นผมอาจจะจำคลาดเคลื่อนได้ แต่จำคำว่า “ของเล่น” ได้แม่นยำ และด้วยคำนี้ จึงอนุมานได้ทันทีว่าราชวงศ์ของไทยกับญี่ปุ่นสนิทกันเป็นการส่วนตัวในระดับที่ไม่ธรรมดา

คนวัยยี่สิบต้นๆ อย่างผมในตอนนั้น จึงเริ่มย้อนกลับไปสืบค้นเรื่องความสัมพันธ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่นกับไทย และได้รู้เป็นครั้งแรกอีกเหมือนกันว่า ปลานิลที่ตัวเองชอบกินแบบทอดจิ้มน้ำปลานั้น จริงๆ แล้วก็เป็นของนำเข้าจากญี่ปุ่น

จักรพรรดิญี่ปุ่นกับปลานิล

       ในโลกนี้ ประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์มีน้อยลง และในบรรดาประเทศเหล่านั้น ปัจจุบัน ญี่ปุ่นคือประเทศเดียวในโลกที่มี “จักรพรรดิ”, หรือ emperor ในภาษาอังกฤษ, หรือ “เท็นโน” (天皇;tennō) ในภาษาญี่ปุ่น

คำถามที่หลายคนคงรู้สึกค้างคาใจคือ คำว่า “กษัตริย์” (ซึ่งภาษาไทยใช้เป็นคำแปลของ monarch และ king [ราชา]) กับ “จักรพรรดิ” (emperor) ต่างกันอย่างไร

คำอธิบายง่ายที่สุดตามรูปศัพท์ภาษาอังกฤษ คือ กษัตริย์ปกครองประเทศ ส่วนจักรพรรดิปกครองจักรวรรดิหรือสหภาพของรัฐต่างๆ ที่รวมกันเป็นอาณาจักรใหญ่ และในจักรวรรดิอาจจะมีประเทศโน้นประเทศนี้ ซึ่งแต่ละประเทศอาจมีกษัตริย์ปกครองอยู่ด้วย

       ตามนัยนี้ “จักรพรรดิ” จึงส่อนัยว่า ‘ใหญ่’ กว่ากษัตริย์ แต่ในความเป็นจริง อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เช่น อังกฤษก็เคยครองสถานะ “จักรวรรดิอังกฤษ” แต่ก็ใช้คำว่า King (หรือ Queen) เรื่อยมา

ส่วนญี่ปุ่น ตามประวัติศาสตร์อาจเคยเป็นจักรวรรดิในบางช่วง และไม่ใช่ในบางช่วง แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังคงใช้คำว่า “จักรพรรดิ” มาตลอด

ดังนั้น ทุกวันนี้ คำว่า “จักรพรรดิ” ของญี่ปุ่น ก็ไม่ได้ ‘ใหญ่’ หรือ ‘เล็ก’ กว่ากษัตริย์ของที่ไหน เป็นแค่การ ‘แล้วแต่จะเลือกใช้คำ’ และเป็นวาทกรรมที่ตกทอดมาจากประวัติศาสตร์ โดยสื่อถึงสถาบันกษัตริย์ทั่ว ๆ ไปเช่นเดียวกับประเทศอื่นในโลก 


มองย้อนความสนิทสนมราชวงศ์ญี่ปุ่น-ไทย
สมเด็จพระจักรพรรดิในวันเฉลิมพระชนมพรรษา


มองย้อนความสนิทสนมราชวงศ์ญี่ปุ่น-ไทย
ประชาชนญี่ปุ่นเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระจักรพรรดิในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ในกรณีจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น ตามขนบญี่ปุ่น การกล่าวถึงพระองค์จะไม่เอ่ยพระนาม และจะไม่เอ่ยถึงพระองค์ด้วยชื่อยุคสมัย แต่จะเอ่ยอย่างเป็นทางการว่า “จักรพรรดิรัชกาลปัจจุบัน” ซึ่งภาษาญี่ปุ่นพูดว่า “คินโจเท็นโน” (今上天皇; kinjō tennō)

หรือคำที่พูดในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลายกว่าคือ “สมเด็จพระจักรพรรดิ” ซึ่งภาษาญี่ปุ่นพูดว่า “เท็นโนเฮกะ” (天皇陛下; tennō hēka) ด้วยขนบดังกล่าว สำหรับพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน

สื่อมวลชนหรือประชาชนของญี่ปุ่นไม่เอ่ยพระนามเลย แต่สื่อภาษาอังกฤษและสื่อไทยมักจะเขียนว่า Emperor Akihito หรือ สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ นอกจากนี้ ในรัชกาลปัจจุบันซึ่งเรียกว่าสมัยเฮเซ (平成;Hēsē; ปีปัจจุบันคือเฮเซที่ 27) จะไม่เรียกว่าจักรพรรดิเฮเซ

การเอ่ยถึงจักรพรรดิโดยใช้ชื่อสมัย จะกระทำเมื่อสิ้นสุดรัชกาลของพระองค์ไปแล้ว เช่น “จักรพรรดิ (แห่งยุค) เมจิ” เรียกว่า “เมจิเท็นโน” (明治天皇;Mēji Tennō), “จักรพรรดิ (แห่งยุค) โชวะ” เรียกว่า “โชวะเท็นโน” (昭和天皇;Shōwa Tennō)

       “คินโจเท็นโน” ของญี่ปุ่นเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ 2476 (ค.ศ. 1933) ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 125 แห่งญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2532 (ค.ศ. 1989) ต่อจากจักรพรรดิโชวะพระราชบิดา

ขณะนั้นมีพระชนมายุ 55 พรรษา มากเป็นอันดับ 2 รองจากจักรพรรดิโคนิงซึ่งขึ้นครองราชย์ (ค.ศ. 770-781) ขณะที่มีพระชนมายุ 62 พรรษา

คินโจเท็นโนเป็นนักวิจัยด้านมีนวิทยา (ศาสตร์ที่เกี่ยวกับปลา) พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับราชวงศ์ของไทยมาช้านาน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดปรากฏอยู่ในหนังสือ “รอยยิ้มเชื่อมใจ 120 ไทย-ญี่ปุ่น”

ซึ่งออกโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียวเนื่องในโอกาสสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นครบ 120 ปี ข้อความส่วนหนึ่งในหน้า 61 คือ

       “เจ้าฟ้าชายมกุฎราชกุมารอากิฮิโต (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ผู้ทรงเชี่ยวชาญเรื่องปลา ได้ทรงเลือกสรรลูกพันธุ์ปลาแท้จำนวน 50 ตัว ส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508

เนื่องจากทรงทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงกำลังหาพันธุ์ปลาที่เลี้ยงง่ายขยายพันธุ์เร็ว และสามารถอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติของไทยได้ทุกภาค เพื่อแก้ปัญหาประชาชนไทยขาดโปรตีนเนื้อสัตว์ราคาย่อมเยา” 


มองย้อนความสนิทสนมราชวงศ์ญี่ปุ่น-ไทย

สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น

ต้นกำเนิดของเรื่องนี้คือ มกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ (明仁;Akihito) เคยเสด็จฯ เยือนไทยเมื่อปี พ.ศ.2507 และทรงทราบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ชาวเขาเผ่าม้งขาดแหล่งโปรตีน

พระองค์จึงทูลเกล้าฯ ถวายพันธุ์ปลา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองเลี้ยงปลาชนิดนั้นในวังสวนจิตรลดา เพื่อศึกษาจนได้ผลดี และได้พระราชทานให้กรมประมงนำไปเลี้ยง ก่อนจะเผยแพร่สู่ประชาชนต่อไป

ปลาชนิดนั้นได้ชื่อดังที่หนังสือเล่มเดียวกันอธิบายว่า “...พร้อมกับพระราชทานชื่อปลาว่า ‘ปลานิล’ ซึ่งเป็นภาษาบาลีสันสกฤตแปลว่า ‘ดำ’ อันมาจากลักษณะเฉพาะของปลาที่มีบั้งพาดขวางลำตัวสีดำ มีครีบสีน้ำเงินประจุดขาว”

       สำหรับชื่อปลานิล บางครั้งอาจจะพบข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจากหลายแหล่ง (เข้าใจว่าอ้างต่อๆ กันมา) ระบุว่าปลานิลได้ชื่อเช่นนั้นเพราะแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ที่แม่น้ำ Nile (ไนล์)

ในประเด็นนี้ ผมคงทำได้แต่เพียงนำเสนอข้อมูล เท่าที่มีอยู่ในมือเท่านั้นและโดยส่วนตัวเชื่อข้อความจากสถานทูตมากกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องชื่อปลานิลนี้ ยังกลายเป็นเรื่องเล่าทางฝั่งญี่ปุ่นอีกว่า

ประชาชนเชื้อสายจีนในไทย ซาบซึ้งในพระกรุณาของมกุฎราชกุมาร จึงเขียนชื่อปลาด้วยตัวอักษรจีนหรืออักษรคันจิของญี่ปุ่นว่า仁魚โดยใช้อักษรตามพระนามของพระองค์ การเขียนว่า 仁魚 นั้น เขียนตัวอักษรได้ แต่ยังไม่มีการกำหนดคำอ่านเป็นภาษาญี่ปุ่นที่แน่ชัด

จึงเป็นการอ่านทับศัพท์ภาษาไทยด้วยสำเนียงญี่ปุ่นว่า “ปุรานิง” (หมายถึง ปลานิล) เมื่อพิจารณาที่มาก็จะพบว่า พระนามอะกิฮิโตะเขียนด้วยตัวอักษร 明 (อะกิ) กับ 仁 (ฮิโตะ) อักษรตัวหลังนี้อ่านได้อีกเสียงหนึ่งว่า “นิง” (nin)

จะเห็นได้ว่าใกล้เคียงกับเสียง “นิล” จึงนำไปประกอบกับ “ซะกะนะ” (魚; sakana) ที่แปลว่า ปลา และได้คำว่า仁魚 หมายถึง ปลานิง หรือ ปลานิน หรือ ปลานิล นั่นเอง และถือว่าเป็นการรำลึกถึง ‘เจ้าฟ้าชาย’ ผู้พระราชทาน 

มองย้อนความสนิทสนมราชวงศ์ญี่ปุ่น-ไทย
หนังสือ “รอยยิ้มเชื่อมใจ 120 ไทย-ญี่ปุ่น”

ทุกวันนี้ เด็กรุ่นหลัง ๆ (รวมทั้งผมด้วย) จำนวนมากคิดว่า (หรือเคยคิดว่า) ปลานิลคือปลาไทย แต่ดูเหมือนคนรุ่นก่อน ๆ จะรู้ดีกว่าว่าไม่ใช่ นิตยสาร “โซะโกะกุ โตะ เซเน็ง” (祖国と青年; Sokoku to sēnen) ของญี่ปุ่นฉบับเดือนมกราคม 2535 ลงว่า

“ว่ากันว่าเมื่อไปถามประชาชนในตลาดถึงที่มาของปลา [นิล] ดูเหมือนผู้คนก็รู้ที่มาเป็นอย่างดี ดังนี้ ‘ปลานี้มาจากไหนล่ะเนี่ย รู้รึเปล่า’ ‘รู้สิ เจ้าฟ้าชายของญี่ปุ่น (มกุฎราชกุมาร) เอามาให้น่ะซี’ ” ผมทราบเรื่องนี้เมื่อมาอยู่ญี่ปุ่นแล้ว ทำให้รู้สึกขอบคุณประเทศนี้มากขึ้นกว่าเดิม ที่ให้ทั้งการศึกษาและให้ปลาด้วย

       นอกจากการเสด็จฯ เยือนไทยในฐานะมกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะแล้ว หลังจากขึ้นครองราชย์ในปี 2532 ก็ทรงเริ่มเสด็จฯ เยือนประเทศต่าง ๆ ในฐานะจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น โดยที่ทรงเลือกเยือนไทยเป็นประเทศแรก

ในปี 2534 พระองค์เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระจักรพรรดินีเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 ประเทศตามลำดับคือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน ถึง 3 ตุลาคม หมายกำหนดการคร่าว ๆ ของพระองค์เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนไทยมีดังนี้

       26 กันยายน เสด็จฯ ถึงกรุงเทพฯ
       28 กันยายน สุโขทัย
       29 กันยายน เชียงใหม่
       30 กันยายน เสด็จฯ มาเลเซีย

       ทางฝั่งไทยรับเสด็จฯ สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีในฐานะพระราชอาคันตุกะโด ยจัดพิธีอย่างสมพระเกียรติในระดับสูงสุด วันที่ 26 กันยายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ยังท่าอากาศยานดอนเมืองด้วยพระองค์เอง

ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติราชวงศ์ไทย และมีการยิงสลุตหลวง 21 นัด นอกจากการเสด็จฯ เยือนที่ต่าง ๆ แล้ว วันที่ 29 กันยายนช่วงบ่าย สมเด็จพระจักรพรรดิเสด็จฯ ทอดพระเนตรการเพาะเลี้ยงปลานิลในโครงการพระราชดำริด้วย

หลังจากครั้งนั้นแล้ว การเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการของสองพระองค์คือในปี 2549 เมื่อครั้งที่ทรงเข้าร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

       นี่คือแง่มุมหนึ่งของสองราชวงศ์ที่สนิทกันมานาน และเชื้อพระวงศ์ยังคงไปมาหาสู่กันเป็นการส่วนพระองค์อยู่บ่อย ๆ ทั้งในแบบที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว คงเพราะความคล้ายคลึงกันหลาย ๆ ด้านโดยเฉพาะนิสัยประจำชาติ ญี่ปุ่นกับไทยถึงได้เข้ากันง่าย ไม่ว่าในระดับประชาชน หรือคนในราชวงศ์ก็ตาม 


มองย้อนความสนิทสนมราชวงศ์ญี่ปุ่น-ไทย

สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นทรงเข้าร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

ขอบคุณ MGR Online  

 ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

จันทรวารสิริสวัสดิ์ค่ะ    




Create Date : 21 ธันวาคม 2558
Last Update : 21 ธันวาคม 2558 9:47:37 น. 0 comments
Counter : 1344 Pageviews.

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.