Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2556
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
28 พฤษภาคม 2556
 
All Blogs
 

MSCI คืออะไร

มารู้จักกันครับว่า MSCI คืออะไรแล้วทำไมเมื่อเข้า MSCI หุ้นถึงปรับตัวขึ้น






ดัชนี MSCI หรือ MSCI Index เป็นดัชนีอ้างอิง (benchmark) ที่ถูกจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันที่ลงทุนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ได้นำมาใช้เป็นมาตรฐานในการวัดผลตอบแทนในการลงทุนของตนเองว่าเป็นอย่างไร ได้ผลตอบแทนดีหรือไม่ เมื่อเทียบกับดัชนี MSCI

MSCI ย่อมาจาก Morgan Stanley Capital International อันเป็นชื่อเต็มของบริษัทที่จัดสร้างดัชนีนี้ขึ้นมา

ซึ่งต่อมา บริษัท MSCI Barraได้มาซื้อกิจการต่อ แต่ยังคงชื่อ MSCI Index ไว้ เนื่องจากเป็นดัชนีที่ได้เกิดขึ้นมากว่า 35 ปีแล้ว เป็นที่นิยมแพร่หลาย และมักจะเป็นที่เรียกกันติดปากของผู้ลงทุนสถาบันเวลาที่ต้องการเปรียบเทียบการลงทุนของตนเองกับดัชนีมาตรฐานอื่น

ดัชนี MSCI นั้นนอกจากมีการสร้างขึ้นมาเพื่อใช้กับหุ้นแล้ว ยังมีดัชนี MSCI สำหรับสินค้าประเภทอื่น ๆ เช่น ตราสารหนี้ เฮดจ์ฟันด์ หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust-REIT) อีกด้วย

แต่ในที่นี้จะพูดถึงดัชนีที่เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นเท่านั้น เนื่องจากเป็นดัชนีที่พวกเราคุ้นเคยและมักได้ยินข่าวคราวในตลาดทุนบ่อยครั้ง ซึ่งดัชนี MSCI ที่เกี่ยวกับหุ้นก็ไม่ได้มีเพียงดัชนีเดียว แต่มีให้เลือกใช้หลายชุดหลายแบบด้วยกันเพื่อให้เหมาะสมกับกลยุทธ์การลงทุนที่มีอยู่หลากหลาย โดยเริ่มตั้งแต่ดัชนีในระดับประเทศ (country index) รวมทั้งสิ้นถึง 68 ประเทศด้วยกัน

(ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย คือ ดัชนี MSCI Thailand) นอกจากดัชนีในระดับประเทศแล้ว ยังมีดัชนี MSCI ที่นำเอาดัชนีระดับประเทศมาจัดชุดรวมกันเป็นดัชนีต่าง ๆ หลากหลายประเภท เช่น ดัชนีที่แบ่งตามภูมิภาค ตัวอย่างเช่น ภูมิภาคยุโรป ภูมิภาคแปซิฟิก เป็นต้น

ดัชนีที่แบ่งตามลักษณะของตลาด ได้แก่ ตลาดของประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed markets) ตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) เช่น ประเทศบราซิล เม็กซิโก ตุรกี จีน ไทย เป็นต้น และตลาด Frontier markets ซึ่งเป็นประเทศที่เพิ่งมีตลาดทุนเกิดขึ้นภายหลังจากตลาดเกิดใหม่อีก เช่น ประเทศแถบยุโรปตะวันออก หรือประเทศแถบตะวันออกกลาง เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีดัชนีที่แบ่งตามประเภทของหุ้นอีกด้วย เช่น หุ้นขนาดใหญ่ (large cap) หุ้นขนาดเล็ก (small cap) หรือหุ้นที่มีการเติบโตสูง เป็นต้น

สำหรับการจัดทำดัชนีของแต่ละประเทศ เช่น MSCI Thailand บริษัท MSCI Barra ไม่ได้นำหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทุกตัวเข้ามารวมไว้ในดัชนีแต่อย่างใด แต่จะคัดเลือกเฉพาะหุ้นที่ผ่านตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งก็จะมีเกณฑ์ในการพิจารณาหลายอย่าง เช่น

- หุ้นนั้นต้องมีสภาพคล่องในการซื้อขายสูง ซึ่งสภาพคล่องจะพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายหุ้นในรอบปีโดยเฉลี่ยเทียบกับมูลค่าตลาดของหุ้นนั้น

- ต้องมีฟรีโฟลตขั้นต่ำ 15%

- มีมูลค่าตลาด (จำนวนหุ้นคูณด้วยราคาตลาดของหุ้นนั้น) เมื่อคูณด้วยค่าฟรีโฟลตเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด (กำหนดไม่เท่ากันแล้วแต่ประเทศ ซึ่งในส่วนของประเทศไทย หุ้นของบริษัทที่จะเข้าเกณฑ์ต้องมีมูลค่าตลาดขั้นต่ำ 250 ล้านเหรียญสหรัฐ) เป็นต้น

สำหรับฟรีโฟลตในกรณีของ MSCI ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้จะถูกเรียกว่า ค่า FIF (Foreign Inclusion Factor) ซึ่งเท่ากับจำนวนหุ้นของแต่ละบริษัทที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งผู้ลงทุนต่างประเทศสามารถซื้อขายได้ และไม่นับรวมหุ้นซึ่งถือโดยผู้ถือหุ้นเพื่อการลงทุนระยะยาว (ทั้งผู้ถือหุ้นในประเทศและต่างประเทศ) เช่น หุ้น A มีมูลค่าตลาด 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีส่วนที่ผู้ลงทุนต่างชาติสามารถซื้อได้เพียง 30% (FIF เป็น 0.30) ดังนั้น มูลค่าตลาดของหุ้น A ซึ่งนำมาคำนวณมูลค่าตลาดรวมของประเทศจะเท่ากับ 300 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น (1,000 ล้าน x 0.30)

หลังจากที่ได้คัดเลือกหุ้นแล้ว จะนำหุ้นเหล่านั้นมาจัดลำดับตามขนาดและสภาพคล่องในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม และคัดหุ้นที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูงจนกระทั่งมีมูลค่าประมาณ85% ของมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดในประเทศ ออกมาเป็นองค์ประกอบของดัชนีประเทศ ดังนั้น หุ้นที่ MSCI คัดเลือกมาจึงถือเป็นหุ้นที่เป็นตัวแทนหุ้นทั้งหมดในตลาดที่ผ่านการคัดเลือกจากบริษัท MSCI ซึ่งเมื่อได้ดัชนี MSCI ของแต่ละประเทศแล้ว บริษัท MSCI จะนำดัชนีประเทศเหล่านั้นมารวมจัดชุดดัชนีต่าง ๆ แต่ละประเภทตามที่กล่าวข้างต้น

สำหรับนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกมักนิยมใช้ดัชนี MSCI ระดับภูมิภาค เช่น ดัชนี MSCI EAFE (Europe, Australasia, Far East) ดัชนี MSCI AC Asia Pacific ex Japan ดัชนี MSCI AC World เป็นต้น เป็นมาตรฐานในการวัดผลตอบแทนการดำเนินงาน (benchmark) ของตนเอง

สำหรับดัชนี MSCI ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนของไทยซึ่งท่านผู้อ่านมักได้ยินชื่อบ่อยครั้งก็คือ ดัชนี MSCI Far East ex Japan ซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกล ยกเว้นญี่ปุ่น รวมทั้งสิ้น 9 ประเทศ คือ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และประเทศไทย

ในการคำนวณน้ำหนักการลงทุนของแต่ละประเทศในดัชนี MSCI ซึ่งในที่นี้ขอยกตัวอย่างดัชนี MSCI Far East ex Japan นั้น จะคิดจากสัดส่วนของมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดที่เป็นองค์ประกอบในดัชนีประเทศนั้น ๆ เทียบกับมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดทุกประเทศในดัชนี MSCI Far East ex Japan (มูลค่าตลาดรวมของหุ้นทั้งหมดคำนวณเฉพาะส่วนที่ผู้ลงทุนต่างประเทศสามารถเข้ามาทำการซื้อขายได้ หรือส่วนที่ไม่มีข้อจำกัดการถือครองของผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งได้อธิบายเมื่อตอนที่แล้ว)

สมมติว่ามูลค่าตลาดของหุ้นที่อยู่ในดัชนี MSCI Thailand รวมทั้งสิ้นคิดเป็น 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดรวมทั้ง 9 ประเทศที่อยู่ในดัชนี MSCI Far East ex Japan อยู่ที่ 1,700,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น น้ำหนักการลงทุนของประเทศไทยจึงเป็น 2.4% (40,000 ล้าน/1,700,000 ล้าน) นั่นหมายความว่า หากมูลค่าตลาดของหุ้นทั้ง 9 ประเทศโดยรวมทั้งหมดอยู่ที่100 ส่วน มีส่วนของหุ้นไทยอยู่ในนั้น 2.4 ส่วนนั่นเอง

จากตัวอย่างนี้ ลองนึกภาพดูว่า หากผู้จัดการกองทุนต่างประเทศมีเงินทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้ และนำดัชนี MSCI Far East ex Japan มาเป็น benchmark ของตน ซึ่งหากจะลงทุนโดยมุ่งหวังให้ผลตอบแทนของกองทุนใกล้เคียงกับตัว benchmark เขาก็จะนำเงินมาลงทุนในตลาดทุนไทยเพียงประมาณ 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่หากต้องการบริหารกองทุนให้ชนะตัว benchmark นี้ เขาก็อาจพิจารณาลงทุนในประเทศไทยในจำนวนเงินที่มากหรือน้อยกว่าสัดส่วนนี้ก็ได้

ดังนั้น การที่ประเทศใดมีน้ำหนักการลงทุนในดัชนี MSCI ในระดับภูมิภาคน้อย จึงมีแนวโน้มว่าผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลกอาจเจียดเงินไปลงทุนในประเทศนั้นน้อยด้วย ที่ผ่านมา ทางการไทยจึงได้พยายามผลักดันให้น้ำหนักการลงทุนในดัชนี MSCI เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเปน็ การให้บริษัทMSCI Barra นำใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (NVDR) เข้ามานับรวมในการคำนวณดัชนีประเทศไทย การส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเพิ่มฟรีโฟลตของหุ้นให้มากขึ้น เป็นต้น

โดยปกติแล้ว บริษัท MSCI Barra จะมีการปรับปรุงองค์ประกอบของหลักทรัพย์ที่อยู่ในดัชนีทุกไตรมาส คือ กุมภาพันธ์ พฤษภาคม สิงหาคม และพฤศจิกายน เพื่อให้ข้อมูลให้มีความทันสมัย โดยอาจเพิ่มหุ้นเข้าไป หรือปรับหุ้นใดออกจากดัชนีของประเทศไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าหุ้นนั้น ๆ เข้าเงื่อนไขหรือไม่ รวมถึงมีการปรับเพิ่มหรือลดค่า FIF ของหุ้นใดหรือไม่ด้วย ซึ่งในการปรับปรุงดัชนีแต่ละครั้ง แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อน้ำหนักการลงทุนในแต่ละประเทศให้เปลี่ยนแปลงเพิ่มหรือลดไปบ้างไม่มากก็น้อย

โดยหากประเทศอื่นมีหุ้นที่เข้าเกณฑ์มาเป็นองค์ประกอบมากขึ้นก็อาจเบียดน้ำหนักการลงทุนของไทยให้ลดลง นอกจากนั้น หากหุ้นของประเทศใดมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าประเทศอื่น ก็จะทำให้น้ำหนักการลงทุนของประเทศนั้นเพิ่มขึ้นได้ หรือประเทศใดมีค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศอื่น มูลค่าตลาดรวมของดัชนีประเทศนั้นก็จะเพิ่มขึ้นและอาจส่งผลให้ประเทศนั้นมีน้ำหนักการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ดังนั้น หากทราบพื้นฐานสักเล็กน้อย ย่อมทำให้ท่านผู้อ่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับดัชนี MSCI มากขึ้น และไม่ตื่นตระหนกเกินไปเวลาพบเจอข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยในดัชนี MSCI ตามหน้าหนังสือพิมพ์



Credit :
http//www.sec.or.th (Original เป็นบทความบทเว็บ กลต.)





 

Create Date : 28 พฤษภาคม 2556
0 comments
Last Update : 6 มิถุนายน 2556 11:09:18 น.
Counter : 2438 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.