"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
18 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 

Astigmatic ความพร่ามัวที่แจ่มจรัสของเพชรน้ำเอกแห่งโพลิชแจ๊ส



เอื้อมมือไปกดรีโมตปิดโทรทัศน์ที่ตอนนี้นำเสนอแต่ข่าวทับไม่ร้อง ท้องไม่รับไปทั่วทุกหย่อมหญ้า จนเอือมระอาแทบไม่อยากจะเปิดหูเปิดตารับข่าวสารอะไรใดๆ อีกระยะหนึ่ง ช่างเป็นความพร่ามัวของพายุข่าวสารอันไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อใครหน้าไหนทั้งสิ้น หลังจากเสร็จจากต้นฉบับเกี่ยวกับโพลิชแจ๊สแล้ว จึงหยิบเอาผลงานเพลงของนักดนตรีชาวโพลิชไม่กี่ชุดที่มีอยู่ขึ้นมาเชยชม ในเมื่อได้เล่าเรื่องราวของโพลิชแจ๊สไปแล้ว ทำไมจึงไม่เขียนแนะนำดนตรีโพลิชแจ๊สของเขาสักชุดหนึ่งล่ะ?

ด้วยเหตุนี้ ผลงานที่จะนำมาบอกต่อในฉบับนี้จึงเป็นคราวของคริสทอฟ โคเมดะ ซึ่งเป็นศิลปินคนสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์โพลิชแจ๊ส อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในบิดาแห่งดนตรียูโรเปียนแจ๊สอีกด้วย ครั้งแรกที่รู้จักกับคริสทอฟ โคเมดะเห็นจะเป็นเวลาร่วมทศวรรษได้ โดยมิตรสหายคอแจ๊สผู้มีน้ำใจได้หยิบยื่นแผ่นซีดีแผ่นนี้มาให้ฟังโดยมิได้ตั้งใจ เพื่อนรุ่นพี่ผู้นี้บอกว่า “ลองเอาไปฟังดู ฝรั่งเขาชอบอกชอบใจกันเหลือเกิน” นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ติดใจ เมื่อเวลาผันผ่าน ประกอบกับดนตรีแจ๊สก็ช่างมีมากมายจนฟังไม่หวาดไม่ไหวในแต่ละวันของชีวิต จนกระทั่งวันว่างจากข่าวสารอสาระจึงได้เอามาฟังกันอีกครั้ง…ด้วยความรื่นรมย์

โคเมดะเป็นอัจริยะทางดนตรีคนหนึ่งของโปแลนด์ ที่เป็นต้นแบบให้กับนักดนตรีแจ๊สรุ่นหลัง ในฐานะที่โคเมดะเป็นนักดนตรีที่รอบรู้และฉลาดสร้างแนวทางต้นแบบของตัวเอง ซึ่งชาวโพลิชแจ๊สเรียกกันเล่นๆ ว่า เขานั้นเป็นโรงเรียนสอนแจ๊สเลยทีเดียว ซึ่งนับว่าเป็นโรงเรียนที่ส่งอิทธิพลให้กับแวดวงแจ๊สหลังม่านเหล็กไม่น้อยเลยทีเดียว โคเมดะเดิมชื่อคริสทอฟ ทราซินสกี เกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 1931 ณ เมืองพอซนาน เริ่มเล่นเปียโนตั้งแต่อายุได้เจ็ดขวบ เขาเติบโตและร่ำเรียนในโรงเรียนที่เชชโตโฮวา เมืองออสโตรว์ วีลโคโพลสกี เข้าร่วมชมรมดนตรีและกวี จากนั้นก็เข้าไปศึกษาต่อทางด้านแพทยศาสตร์ในเมืองพอซนาน โคเมดะเรียนทฤษฎีดนตรีมาตั้งแต่ยังวัยเยาว์ เขายังฝันว่าจะเป็นเซียนเปียโนเมื่อเติบใหญ่ และได้มาเรียนโรงเรียนดนตรีพอซนานตอนอายุแปดขวบ แต่แผนทั้งหมดพังลงเมื่อเกิดสงครามโลกขึ้น โคเมดะจึงเลือกเรียนต่อแพทย์ ในสาขาโสต ศอ นาสิก

หากแต่แทนที่จะเลือกเป็นนายแพทย์หนุ่มตามที่ได้ร่ำเรียนมา โคเมดะไม่สามารถจะละทิ้งความปรารถนาที่เขามีต่อดนตรีได้ จากตอนแรกที่สนใจดนตรีป็อปและดนตรีเต้นรำ และก็ได้แสดงดนตรีเหล่านั้นในสถานที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง เขาเริ่มใช้ชื่อ “โคเมดะ” ตั้งแต่ตอนนั้น ในยุค 50 ที่เผด็จการครองเมือง และด้วยอาชีพนายแพทย์ทำให้เขาไม่สามารถเล่น “ดนตรีที่เสื่อมทรามของพวกตะวันตก” ได้ ไม่นานนักเขาก็ได้รู้จักกับวิทโทลด์ คูยาว์สกี เพื่อนร่วมโรงเรียนจากออสโตรว์ฯ ตอนนั้นคูยาว์สกีเป็นมือเบสสวิงที่เป็นที่รู้จักดีแล้ว คูยาว์สกีเป็นคนแนะนำให้โคเมดะเข้าสู่โลกของแจ๊ส และพาเขาไปคราคุฟ ซึ่งเป็นช่วง “แจ๊สใต้ดิน” ในยุค 50 พอดี ทางผู้ปกครองประเทศทั้งสั่งห้ามกิจกรรมทุกอย่างกี่ยวกับแจ๊ส ผู้ใดฝ่าฝืนก็จะต้องโทษทุกคนไป การร่วมแจมครั้งแรกที่เกิดขึ้นนั้นมีศิลปินดังๆ มาร่วมสังฆกรรมหลายคน อาทิ มาทุชคีวิช, โบโรวิทช์, วาลาเซ็ค และคูยาว์สกี ในอพาร์ตเมนต์ในตำนานของคูยาว์สกีในคราคุฟนั่นเอง

โคเมดะเข้าร่วมกับวงเมโลมานี ผู้บุกเบิกโพลิชแจ๊สในช่วงต้นยุค 50 สมาชิกหลักๆ ของวงมีสามคนคือ มาทุชคีวิทช์, ทราโควสกี และคูยาว์สกี ภายหลังจากนั้นเขาก็ร่วมเล่นกับวงป็อปหลายต่อหลายวงจากพอซนาน หนึ่งในนั้นก็คือวงของเจอร์ซี เกรวินสกี ซึ่งได้ผันตัวมาเล่นดิกซีแลนด์แจ๊ส เขาเปิดตัวกับวงของเกรวินสกีตอนออกแสดงงานเทศกาลแจ๊สครั้งแรกในโซพอตช่วงสิงหาคม 1956 หากแต่ดูเหมือนว่าเขาจะไปได้สวยกว่ากับวงเซ็กส์เต็ต (หกชิ้น) ของตัวเอง โดยมีแกนหลักอีกสองคนคือ ญาน พาสซิน วโรบลิวสกี (แซ็กโซโฟน) และเจอร์ซี มิลเลียน (ไวบราโฟน) เพราะอะไรน่ะหรือ? เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ดิกซีแลนด์แจ๊สมันดูจะอ่อนด้อยเกินไปหากจะเทียบกับองค์ความรู้และความสามารถของโคเมดะ ซึ่ง ณ ตอนนั้นเขาเริ่มเบนความสนใจเข้าหาโมเดิร์น แจ๊สเป็นที่เรียบร้อย โคเมดะ เซ็กส์เต็ตเป็นวงแรกที่เล่นแจ๊สสมัยใหม่ การแสดงเปิดตัวของทางวงที่งานโซพอต แจ๊สก็เป็นการกรุยทางใหม่ๆ ให้กับแวดวงโพลิชแจ๊สอีกด้วย โคเมดะ เซ็กส์เต็ตเล่นดนตรีหลากหลายแนวที่คาบเกี่ยวกับขนบดั้งเดิมของดนตรีคลาสสิกในยุโรป ปะติดปะต่อเข้ากับวงอเมริกันแจ๊สชื่อดังอย่างโมเดิร์น แจ๊ส ควอร์เต็ต และเจอรี มัลลิแกน ควอร์เต็ต ช่วงเวลาสิบสามปีนับจากการเปิดตัวของวงหกชิ้นวงนี้จวบจนกระทั่งถึงวันที่โคเมดะสิ้นลมหายใจ บุคลิกในความเป็นศิลปินของเขาได้เติบโตสุกงอม ผ่านการเจียระไนให้คมใส และมีความเป็นกวีอย่างเต็มที่ โคเมดะมักค้นหาความหมายในกวีอยู่เสมอ และเขาสามารถมองหาช่องทางในการแสดงออกถึงแจ๊สในตัวเอง ด้วยภาษาสลาวิกและดนตรีแบบโพลิช นักเปียโนหนุ่มคนนี้ยังช่ำชองในการสร้างบรรยากาศสุนทรีย์ และก็รู้ดีว่าจะสามารถเข้าถึงมวลชนในวงกว้างได้อย่างไร ทำให้ดนตรีของเขามีเอกลักษณ์อันยากจะเลียนแบบ



ช่วงปี 1956-1962 โคเมดะและวงของเขาไปร่วมงานคอนเสิร์ตหลายๆ แห่งในประเทศ รวมไปถึงงานนอกประเทศอย่างที่มอสโคว์, เกรโนเบิล และปารีส เขาได้ทำผลงานขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า “แจ๊สและบทกวี” โชว์ในเทศกาลแจ๊ส แจมโบรี ’60 และวอร์ซอว์ ฟิลฮาร์โมนิก โคเมดะเริ่มต้นเข้าสู่วงการภาพยนตร์-โทรทัศน์ในช่วงเวลานั้นเอง เขาทำงานให้กับผู้กำกับฯ ชื่อดังอย่าง โรมัน โปลันสกีในผลงาน Knife in the Water (1962), อันเดรจ เวย์ดาในเรื่องInnocent Sorcerers (1960), และญานุช มอร์เกอร์สเติร์นในเรื่อง Good Bye, Till Tomorrow (1960) ซึ่งเป็นช่วงที่เรียกได้ว่ายุคทองของโคเมดะเลย เขายังมี Ballet Etudes ออกมาเล่นที่แจ๊ส แจมโบรีเมื่อปี 1962 อีกด้วย ถึงแม้ว่าจะมีกระแสวิจารณ์ว่าเป็นผลงานที่ค่อนข้างไร้ความรู้สึกก็ตาม หากแต่มันก็เป็นผลงานที่เปิดประตูสู่ภาคพื้นยุโรปให้กับโคเมดะได้เป็นอย่างดี

โคเมดะเริ่มเยือนสแกนดิเนเวียเป็นครั้งแรกในปี 1960 และยังคงไปเยือนอย่างต่อเนื่องทุกปีหลังจากนั้น การแสดงทุกครั้งของเขาที่โกลเดน เซอร์เคิล กรุงสต็อกโฮล์มประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม ทางสังกัดสวีดิชอย่างเมโทรนอมจึงได้ตกลงออกอัลบัมกับเขา โดยผู้เล่นคละสัญชาติ อัลลัน บ็อตชินสกี (ทรัมเป็ต), ญาน พาสซิน วโรบลิวสกี (เทเนอร์แซ็กโซโฟน), คริสทอฟ โคเมดะ (เปียโน), โรมัน กูโช ไดแล็ก (เบส) และรูเน คาร์ลสัน (กลอง) อีกทั้งยังมีเฮ็นนิก คาร์ลเสน ผู้กำกับฯ สวีดิชขอซื้อลิขสิทธิ์ผลงานเพลง Havd Med Os, Kattorna และ Sult ไปประกอบภาพยนตร์ของตัวเอง โคเมดะได้ลิ้มรสหอมหวานแห่งความสำเร็จในสแกนดิเนเวีย ตามด้วยงานออกทัวร์อีกมากมายที่กกรุงปราก, เบลน, โคนิกสแบร์ก แถมด้วยทัวร์ในฮังการีและเยอรมันทั้งสองฟากกำแพง

ในปี 1965 โคเมดะ ควินเต็ต (ประกอบด้วยโคเมดะ, โทมัส สแตนโก (ทรัมเป็ต), กุนเทอร์ เลนช์ (เบส), รูเน คาร์สสัน (กลอง) และซบิกนิว นามีสโลว์สกี (อัลโตแซ็ก) ได้บันทึกเสียงอัลบัมประวัติศาสตร์ Astigmatic ซึ่งนักวิจารณ์อย่างอดัม สตาวินสกีได้เขียนเอาไว้ในไลเนอร์โน้ตว่า “โคเมดะได้พิสูจน์ให้เห็นว่า โลกแห่งอารมณ์ความรู้สึกยังคงเวียนวนอยู่ในขอบข่ายของดนตรีซิมโฟนีที่สามารถบ่งบอกตัวตนในโลกแห่งแจ๊สได้เหมือนกัน เขาบอกเล่าให้เราได้รู้ด้วยการทำดนตรีออกมาด้วยบทเพลงที่เร้าอารมณ์ ซึ่งเป็นความเข้มข้นที่เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคโรแมนติก ในแนวทางโหมดแบบเอ็กซ์เพรสชันที่คล้ายของคีตกวีอย่างสเครียบิน สุนทรีย์ยุคใหม่แห่งแจ๊สได้ปรับเข้าสู่รูปแบบใหม่ โคเมดะได้วางกรอบรูปแบบที่เร้าอารมณ์ด้วยการให้ตัวบทเพลงมีพัฒนาการจากเริ่มต้นไปสู่จุดสุดยอดของมัน แทนที่จะเล่นในแบบแผนเก่าที่เล่นเอาแต่ความหลากหลายในตัวบทเพลง โดยปราศจากทิศทางหลัก แม้แต่คัมภีร์แนะนำแผนซีดีเพลงแจ๊สของสำนักพิมพ์เพ็นกวิน ยังบอกไว้สั้นๆ ว่าอัลบัมชุดนี้ “ต้องมี” สจวร์ต นิโคลสัน นักวิจารณ์ชาวอังกฤษน่าจะเป็นคนที่สรุปใจความสำคัญของ Astigmatic อย่างได้ใจความ “Astigmatic คือหัวหอกสำหรับดนตรียูโรเปียนแจ๊ส ซึ่งสื่อได้ชี้ให้เห็นว่าอัลบัมนี้ได้เจาะจงให้เห็นถึงการยกระดับดนตรีแจ๊สยุโรปออกจากอเมริกันแจ๊สด้วยสำเนียงอันเป็นเอกลักษณ์อย่างไร ในแง่ของโครงสร้าง (โดยเฉพาะเรื่องฟอร์มของเพลงซึ่งการได้เขียนสกอร์ประกอบภาพยนตร์ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อการเขียนเพลงของโคเมดะ) การอิมโพรไวส์และจังหวะที่เป็นตัวแทนของวิธีการใหม่ๆ และแตกต่างในการเล่นและฟังเพลงแจ๊ส”

โคเมดะ ควินเต็ตได้ออกผลงานอีกชุดหนึ่ง Lirik und Jazz – Maine Susse Europaische Haimat บันทึกเสียงในปี 1967 ให้กับอิเล็กโทรลา สังกัดเชื้อสายเยอรมันตะวันตก อัลบัมนี้ได้แรงบันดาลใจต่อเนื่องมาจากโปรเจ็กต์แจ๊สและบทกวีที่โคเมดะทำไว้ก่อนหน้านั้น เป็นการผนวกรวมเอาดนตรีแจ๊สและผลงานบทกวีโพลิชสำคัญๆ ในศตวรรษที่ 20 เข้าไว้ด้วยกัน ในปี 1968 โคเมดะย้ายถิ่นฐานมาที่ลอส แองเจลิส ซึ่งเขาได้งานเขียนสกอร์เพลงภาพยนตร์ Rosemary’s Baby ของโรมัน โปลันสกี และ The Riot ของบัส คูลิก ตอนที่ทำงานโรสแมรีส์ เบบีนั้น เขาประสบอุบัติเหตุอันนำมาซึ่งความตายจากสมองส่วนในที่เสียหาย มีหลายข่าวลือที่ระบุสาเหตุการตายที่ไม่ตรงกัน อาทิ อุบัตเหตุรถยนต์ในปี 1968, ถูกมาเร็ก ฮลาสโก นักเขียนผลักตกลงมาจากตึกระหว่างร่วมงานปาร์ตี, ตกจากเขาและสมองกระทบกระเทือน หลังจากที่โคเมดะถูกส่งกลับไปโปแลนด์ เขาก็เสียชีวิตลงในวันที่ 23 เมษายน 1969 ในกรุงวอร์ซอว์โดยที่ไม่เคยได้ฟื้นคืนสติเลย

ด้วยความที่เป็นศิลปินอายุสั้น ผลงานของโคเมดะจึงกลายเป็นผลงานอมตะที่ไม่ต้องมีอะไรมาเปรียบเทียบเยี่ยงศิลปินคนอื่นๆ บางคนก็มีมาตรฐานการทำงานตกลงเรื่อยๆ ราวกับเดินลงจากลานผา แต่ในขณะเดียวกันน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่อัจฉริยภาพของโคเมดะต้องหยุดลง ทั้งๆ ที่เขายังมีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานอีกมากหากยังคงมีชีวิตอยู่ อัลบัม Astigmatic เป็นเพียงบทเริ่มต้นของนักเปียโนหนุ่มคนนี้เท่านั้นเอง บทเริ่มต้นที่เราเปิดแผ่นออกมาฟังก็คงจะออกอาการมึนหัวเล็กน้อย เนื่องจากว่า Astigmatic ซึ่งเป็นเพลงเอกของอัลบัมนั้นมีความยาวร่วมยี่สิบสามนาทีเลยทีเดียว ถือว่าเป็นงานศิลปะขนาดยาวที่ไม่ได้หวังผลในเชิงพาณิชย์เลย ส่วนอีกสองเพลงในอัลบัมก็ไม่ได้น้อยหน้าแก่กันเลย

โคเมดะเปิดบทเพลง Astigmatic ด้วยจังหวะช้า ให้เสียงทรัมเป็ตของโทมัส สแตนโกนำเข้าเพลง ก่อนที่จะใช้เปียโนร้อยเรียงต่อเข้ามา โทนของเพลงดูหม่นๆ และมืดมนอยู่ในที เหมือนกับเพลงประกอบภาพยนตร์สยองขวัญเล็กน้อย กลอง (รูเน) และเบส (กุนเทอร์) แทรกตัวเข้ามาบรรเลงคลอร่วมไปกับบีตเปียโนที่กระชั้นมากขึ้นทุกขณะจิต เสียงทรัมเป็ตที่บีบคั้นและเร่งเร้าของโทมัสถูกเปลี่ยนจากคีย์เดิมไปอีกหนึ่งขั้น ส่งผลให้เกิดเสียงปรี๊ดที่สร้างความกดดันที่เกินขีด จนกระทั่งหายไปและส่งต่อมายังเปียโนของโคเมดะที่เล่นอิมโพรไวส์และคุมจังหวะ ในขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสให้กับกุนเทอร์และรูเน ได้วาดลวดลายลูกเล่นอันแพรวพราวอยู่เป็นฉากหลัง โดยที่ไม่รู้สึกว่าขัดแข้งขัดขากันเอง จังหวะถูกลากให้เอื่อยลงราวกับจะให้คนฟังได้หยุดพักหายใจสักเล็กน้อยด้วยท่อนช้าๆ จากทรัมเป็ตของโทมัส แต่ไม่นานนักโคเมดะก็กระชากจังหวะดึงให้อารมณ์ของเราเตลิดขึ้นมาอีกครั้งด้วยการกระแทกลิ่มเปียโนหนักๆ พร้อมไปกับจังหวะดุดันของกลอง แล้วดึงขึ้นสู่ห้วงอากาศบริสุทธิ์ด้วยไลน์ยั่วล้อและปะทะดวลกันระหว่างทรัมเป็ตและเบสอย่างมีชั้นเชิง แล้วจึงกลับเข้าสู่การบรรเลงเต็มวงอีกครั้งที่โคเมดะปล่อยให้โทมัสวาดลวดลายกับเบสและกลอง ก่อนที่จะส่งต่อให้กับอัลโตแซ็กโซโฟนของซบิกนิว นามีสโลว์สกีได้โชว์อย่างจุใจสมกับที่ไม่มีบทบาทในเพลงเป็นเวลาหลายนาทีตั้งแต่เริ่มต้น โคเมดะปล่อยให้ซบิกนิวอิมโพรไวส์ฉายเดี่ยวคนเดียวนานพอสมควร เป็นท่อนที่น่าประทับในฝีมือของผู้เล่นอย่างไม่ต้องสงสัยในความลื่นไหลของการอิมโพรไวส์อันทรงพลังและสอดคล้องกับบรรยากาศของ Astigmatic ได้เป็นอย่างดี เบสรับช่วงต่อในการฉายเดี่ยวหลังจากที่ซบิกนิวจบไลน์การด้นสดแล้ว ปล่อยให้กุนเทอร์ได้แสดงฝีมือในการเดินสายเบสอย่างกระแทกกระทั้น มันในอารมณ์ ก่อนที่จะทอดโอกาสผ่านไปให้รูเน มือกลอง ซึ่งโชว์ลูกเล่นแพรวพราวไว้ตั้งแต่เพลงเปิดมา หากแต่ลีลาการอิมโพรไวส์ของรูเนถูกฝีมือของเพื่อนร่วมวงสามคนก่อนหน้านี้ดึงความสนใจไปเกือบสิ้น เข้าสู่ช่วงท้ายเพลงหลังจากที่รูเนหวดกลองส่งจังหวะให้กลับเข้าสู่วง เป็นช่วงสุดท้ายที่สุดแสนจะเร้าใจ ด้วยความกระชั้นถี่ของการบรรเลงทรัมเป็ต, การหวดกลองดุเดือด และการระรัวสายเบสอย่างไม่คิดชีวิต ไม่น่าเชื่อว่าธีมหลักๆ ของเพลงนี้จะเป็นเพียงแค่การกระแทกลิ่มเปียโนด้วยตัวโน้ตซ้ำๆ เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นเอง



Kattorna เป็นเพลงที่มีความยาวเจ็ดนาทีครึ่ง เทียบกันไม่ได้เลยกับ Astigmatic โคเมดะวางอารมณ์ของเพลงไว้ในธีมแบบเร้าใจ ด้วยภาคริธึมที่ทำหน้าที่ได้ดีทั้งเบสและกลอง ซึ่งเบสคอยเดินย้ำธีมหลักปล่อยให้ทรัมเป็ตและแซ็กโซโฟนรับหน้าที่อิมโพรไวส์เป็นพระเอกของเพลง
ดนตรีของโคเมดาไม่ค่อยจะมีกฎเกณฑ์และคำจำกัดความใดเท่าไรนัก อาจจะเป็นเพราะว่าเขาเองก็ไม่ได้ร่ำเรียนเกี่ยวกับฮาร์โมนี, การประพันธ์, อะเรนจ์เมนต์ รวมไปถึงการออร์เคสเตรชัน ทำให้ซาวด์และเพลงที่ออกมามีความแตกต่างกับดนตรีแจ๊สมาตรฐานทั่วไป กระเดียดไปทางเนื้อหาแบบสลาวิก ถึงแม้เวลาจะผ่านมาและผ่านไปนานสักแค่ไหน ก็ไม่อาจทำให้บทเพลงของคริสทอฟ โคเมดะเลือนหายไปจากบันทึกแห่งกาลเวลาได้ เพราะว่าAstigmatic ได้ผ่านการทดสอบแล้วว่า เป็นผลงานที่ทรงคุณค่า มีความร่วมสมัยถึงแม้ว่าจะล่วงเข้าปีที่ 44 นับจากที่อัลบัมนี้ได้ออกมาสู่สายตาแฟนเพลง อีกทั้งยังเป็นบันไดชั้นดีพาดผ่านให้กับลูกวงอย่าง โทมัส สแตนโกได้ก้าวไปสู่วงการในระดับสากล ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นจุดเด่นอีกประการของโคเมดะในการเป็นผู้ดูแลองค์รวมของอะเรนจ์เมนต์ ไม่ใช่เป็นเพียงโซโล อาร์ทิสต์ที่ตะบี้ตะบันเด่นอยู่คนเดียว

Astigmatic เป็นผลงานมีเรื่องราวและมีความเร้าอารมณ์ค่อนข้างสูง เป็นเวลายี่สิบสามนาที (เฉพาะเพลง Astigmatic ส่วนอีกสองเพลงที่เหลือนับเวลารวมกันได้ยี่สิบสามนาทีเช่นเดียวกัน) ที่เรานั่งตั้งใจฟังอย่างต่อเนื่อง โดยรู้สึกถึงแต่อารมณ์เพลงที่ต่อเนื่อง คนฟังจะถูกกระตุ้นอารมณ์อย่างติดต่อกันตั้งแต่วินาทีแรกของเพลงก็ว่าได้ ความรู้สึกนอกเหนือจากนี้ก็คือ ความรู้สึกประหนึ่งนั่งอยู่ในโรงหนังฟังดนตรีแบบฟิล์มนัวร์อยู่ตลอด มันเจือไปด้วยความหม่นมัว ซึ่งธีมเพลง Astigmatic ก็สื่อถึงบรรยากาศแบบนั้น แต่ถ้าเป็นความพร่ามัวในแบบของคริสทอฟ โคเมดะแล้ว ดูเหมือนมันจะเป็นภาวะของการพร่ามัวจากการถูกประกายจากเพชรน้ำเอกหลังม่านเหล็กสะท้อนเข้าตาเสียมากกว่า



Krzysztof Komeda – Astigmatic (Muza)
ดูแลการผลิต คริสทอฟ โคเมดะ

นักดนตรี
โทมัส สแตนโก ทรัมเป็ต
ซบิกนิว นามีสโลว์สกี อัลโตแซ็กโซโฟน
คริสทอฟ โคเมดะ เปียโน
กุนเทอร์ เลนช์ เบส
รูเน คาร์ลสัน กลอง

Tracklisting
1. Astigmatic 22:50
2. Kattorna 07:20
3. Svantetic 15:50








 

Create Date : 18 มีนาคม 2554
0 comments
Last Update : 27 มีนาคม 2554 15:16:23 น.
Counter : 1436 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.