....."ทางที่เราจะใช้ชีวิตได้อย่างดี และงดงามที่สุด...คือใช้ชีวิตทุกวันของเรา...ด้วยความรัก ด้วยหัวใจ" ....

ใครเคยอ่านบทความนี้บ้างมั้ย........เราชอบ



มีนาคาราโอเกะ ฉบับหลงกลดนตรี




[1] Front Seat

บนเตียงกับดนตรี

ในวัยที่กลางคืนคือช่วงเวลาแน่นิ่งจนน่ารำคาญ ผมเคยสงสัยว่าเสียงดนตรีเป็นเพื่อนหรือศัตรู ที่สมองผมไม่ยอมหยุดทำงาน เป็นเพราะมันยังไม่อยากปล่อยมือจากโลกแห่งความจริง และเสียงเพลงจากการหมุนของเทปในเครื่อง “ซาวนด์ – เบ๊าท์” ช่วยคลอบรรเทาความทรมานระหว่างรอคอยการหวนคืนของดวงอาทิตย์ หรือเป็นไปได้ไหมว่า เสียงดนตรีนั่นต่างหาก คือสารเสพติดร้ายกาจ ทำให้ตาผมสว่างท่ามกลางอาณาจักรของดวงจันทร์

ผมนอนฟังเพลงเป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกันทุกคืนอยู่หลายปี บางครั้งฟังจากเทป บางคราวฟังจากรายการวิทยุ ใบหูชาชินกับการโดนประกบทับโดยก้านและตุ่มของหูฟังแข็งๆ ที่ทำให้ผิวช้ำ เป็นรอยแดง แม้วัยปัจจุบันนี้ หูจะชราภาพขึ้นมาก และลังเลจะทนทานต่อการฟังเพลงลักษณะแนบแน่นเช่นนั้นบ่อยๆ แต่บางคืนที่สมองเคว้งคว้างยาวนานผิดปกติ มันยังจำต้องยอมให้ผมใช้งานหนักเหมือนสมัยเป็นวัยรุ่นไม่ผิด ต่างก็ตรงที่เสียงเพลงบนเตียงไม่ค่อยได้บรรเลงจากแถบแม่เหล็กยาวๆ ในตลับเทปอีกแล้ว หากเปล่งออกจากแผ่นสีเงินกลมแบนที่เรียกว่าซีดี ผ่านเครื่อง “ซีดี วอร์คแมน” กระทั่งรูปร่างหน้าตาของหูฟังก็กะทัดรัดไม่กัดผิวเจ็บเท่าเมื่อก่อน

ถ้าจำถูก ล่าสุดที่ผมทรมานหูตัวเองบนเตียงอยู่หลายชั่วโมงติดต่อกันจนถึงเช้า คือคืนของวันหนึ่งเมื่อหลายเดือนก่อน—ผมนอนฟังบทกวีคลอดนตรีของบ๊อบ ดีแลน ซ้ำไปซ้ำมา ตั้งแต่เวลาประมาณเที่ยงคืน ที่เสียงนอกหน้าต่างดูเหมือนจะมีเพียงยุงยักคิ้วกับดวงจันทร์ถอนหายใจ ไปจนถึงเวลามาของเสียงอรุณรุ่ง ที่แดดแรกกู่ย้ำแยงปีกนกจนมันต้องตื่นขึ้นร้องเพลงพร้อมกันทั้งฝูง

ผมฟังเสียงลุงบ๊อบต่อเนื่องกันมาประมาณสามปี ทั้งที่ไม่อาจเรียกการร้องของลุงบ๊อบว่าไพเราะเพราะหู ในหลายจังหวะมันผสานไปด้วยความน่ารำคาญอย่างยิ่งด้วยซ้ำ จนบางคนเคยกล่าวหาว่าคล้ายเสียงเป็ดถูกบีบคอ แต่ในสำเนียงคั้นและเค้นแปลกประหลาด ไม่มีใครเหมือน เช่นเมื่อลุงบ๊อบบรรยายว่า “and I’m just like that bird, oh, singing just for you. I hope that you can hear, hear me singing through these tears,” (จากเพลง “You’re A Big Girl Now”) ผมอาจจะเหมือนแฟนเพลงอีกนับล้านของลุงบ๊อบ ที่เผลอ “ได้ยิน” น้ำตาในการเปล่งคำว่า “น้ำตา” และรู้สึกอัศจรรย์ใจที่ลุงบ๊อบสามารถใช้ก้อนอากาศสื่อความแฉะ ชื้น และช้ำ ของคำว่าน้ำตาได้อย่างสมจริง

นั่นเอง ที่ทำให้ผมติดมนต์เพลงรักแบบลุงบ๊อบอย่างงอมแงม (แม้ใครๆ จะเรียกลุงบ๊อบว่า “นักร้องเพลงประท้วง” แต่เจ้าตัวปฏิเสธนิยามนั้นมาโดยตลอด เมื่อนักสัมภาษณ์ถาม ลุงบ๊อบตอบชัดถ้อยชัดคำว่า “ผมไม่ได้เขียนเพลงประท้วง ผมเขียนเพลงรัก”)

“Blowin’ In The Wind” คือเพลงของลุงบ๊อบที่ผมรู้จักก่อนเพลงอื่นของเขา ทั้งยังเป็นเพลงภาษาอังกฤษเพลงแรกๆ ที่ผมตั้งใจหาเนื้อมาหัดร้องตาม ตอนนั้นน่าจะอายุราวๆ สิบเอ็ดหรือสิบสอง กำลังลองดีกับโลกและประเมินว่าตัวเองเกือบเข้าใจชีวิตถ่องแท้

ก็ทำไมจะไม่เข้าใจ เสียงเพลงที่ผมฟังล้วนพูดถึงสัจธรรมอย่างลึกซึ้ง คาราบาวสอนให้ผมเข้าใจว่า “ปริญญางมงาย มหาลัยงมเงา ” (จากเพลง “มหาลัย” ) และทำให้ผมไม่อยากเรียนต่อ อัสนี – วสันต์สอนว่า “คนดีชอบหอบวาสนา คนบ้านั้นชอบหอบฟาง” (จากเพลง “บ้าหอบฟาง” ) ทำให้ผมริดูแคลนบริโภคนิยมและไม่ค่อยอยากสะสมฟาง เรวัติ พุทธินันท์ สอนว่า “ดอกไม้พลาสติก ถึงสวยก็ทำด้วยพลาสติก...จึงเป็นเพียงสิ่งปลอมปลอม ” (จากเพลง “ดอกไม้พลาสติก” ) ทำให้ผมเชื่อมั่นว่าความเป็นธรรมชาติย่อมมีคุณค่าเหนือการปรุงแต่งของมนุษย์ เฉลียง (ประภาส ชลศรานนท์) สอนว่า “อื่นอื่นอีกมากมาย ที่ไม่รู้...อาจจะจริง เราเห็นอยู่ เผื่อใจไว้ที่ยังไม่เห็น” (จากเพลง “อื่นๆ อีกมากมาย” ) และ “โลกไม่มายา จะบ้าก็ในเมือง เรียกรุ่งเรืองก็คงจะไม่ โลกในความจริง คือสิ่งอยู่ในใจ นั้นแหละไซร้ วัดความรุ่งเรื่อง” (จาก “เที่ยวละไม” ) ทำให้ผมพยายามฝึกเปิดใจกว้าง ไม่มองโลกจากมุมเดียว และเริ่มรู้สึกต่อต้านความวุ่นวายสับสนเสแสร้งของสังคมเมือง ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ บอกว่า “เบื่อคนบ่น คนเบื่อคนบ่น” (จากเพลง “เบื่อคนบ่น” ) ทำให้ผมเบื่อคนบ่นอย่างจริงๆ จังๆ จรัล มโนเพชร เล่าว่า “บนฟ้ามีเมฆลอย บนดอยมีเมฆบัง มีสาวงามชื่อดังอยู่หลังแดนดงป่า” ทำให้ผมยังใฝ่ฝันถึงพื้นที่หลังแดงดงป่านั้น และยังอยากพบปะสนทนากับ “มิดะ” อยู่ถึงทุกวันนี้

ไม่แน่ ผมอาจจะได้บทเรียนจากคืนนอนน้อยและเสียงที่ลอยเข้าหู มากกว่าจากกระดานดำของสถาบันศึกษาทั้งหมดยี่สิบปีของชีวิตรวมกัน

“How many years can a mountain exist before it’s washed to the sea? Yes, and how many years can some people exist before they’re allowed to be free?” ลุงบ๊อบไม่ได้สอน แต่ตั้งคำถามกวนประสาทไม่หยุดยั้ง ขุนเขาจะหยัดยืนอยู่ได้กี่ปี จนกว่ามันจะล่มสลายสู่ท้องทะเล มนุษย์บางชนิดจะสามารถมีตัวตนนานสักเท่าไร กว่าพวกเขาจะได้รับอนุญาตให้เป็นอิสระ—คำตอบน่ะหรือเพื่อนเอ๋ย “is blowing in the wind. The answer is blowing in the wind,” มันพลัดปลิวอยู่ในสายลม

เป็นเสียงเป็ดถูกบีบคอที่เท่มาก แม้ในเนื้อจะไม่ปรากฏคำตอบใดๆ แต่แปลกที่มันล้วนเป็นคำถามที่ส่อความรู้สึกลึกซึ้งมากกว่าคำตอบเสียอีก อาจเหมือนที่ปิกัสโซเคยถากถางเทคโนโลยีไว้ว่า “ คอมพิวเตอร์สามารถให้คำตอบมากมายได้ก็จริง แต่มันไม่สามารถตั้งคำถามได้ ”

เราให้ค่ากับการ “รู้คำตอบที่ถูก” สูงส่งจนไม่น่าเชื่อ ไม่เคยมีรายการเกมโชว์หยิบยื่นเงินล้านให้กับผู้ร่วมแข่งขันที่ “ถามเก่งที่สุด”—เป็นเรื่องตลกพิลึกอีกเรื่องในสังคมมนุษย์ เมื่อคำสรรเสริญเยินยอและความสำคัญทั้งหมดตกอยู่กับด้านที่มีประโยชน์น้อยนิด

ถ้าไม่มีใครถาม แล้วจะตอบอะไร

การตั้งคำถามคือที่มาของคำตอบ ทว่าไม่เคยมีคำตอบใดถูกต้องสมบูรณ์ครบถ้วน ในขณะที่คำถามเป็นอมตะเสมอ เราอาจเกิดมาเพื่อถาม และดำรงอยู่เพื่อค้นหาคำตอบที่เราอาจไม่มีวันเจอ หรือกระทั่งอาจไม่มีคำตอบใดๆ ในห้วงจักรวาลอันไพศาลให้พบเจอเลยด้วยซ้ำ

เป็นความรู้สึกที่ออกแนวหม่นเศร้า เปล่าเปลี่ยว และไร้ความหวัง อย่างนั้นหรือ (ผมเดาเอาเองว่าคุณๆ ผู้อยู่ลัทธิมองโลกในแง่บวกกำลังนึกสมเพชความคิดของผม)

ไม่ต้องห่วง อย่างน้อยบนหนทางที่ไร้คำตอบ ผมมีเพลงไว้ฟังแก้เลี่ยน

ทุกวันนี้ผมยังฟังเพลงบ่อยและพยายามติดตามผลงานใหม่ๆ สม่ำเสมอเหมือนเดิม เพียงแต่ปริมาณความตื่นเต้นลดลงไปบ้าง อีกทั้งยังรู้สึกว่า “ผลงานใหม่ๆ” ที่พยายามติดตาม ก็สร้างความประทับใจเทียบเท่าของเก่าไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่พฤติกรรมฟังเพลงประจำวันของผมจึงไม่อิงกับกระแสหรือการแพร่โปรโมตโดยสื่อเท่าใดนัก เช่นเพลงของลุงบ๊อบ ผมค่อยๆ ไล่ฟังไล่ชอบทีละอัลบั้ม ที่เคยติดใจชุด Highway 61 Revisited เพราะเพลง “Like A Rolling Stone” ตอนเป็นนักศึกษา ปีที่แล้วรื้อไปหลงชุด Blood On The Tracks และ Desire มากกว่า ทว่าผมหวนคืนหา Highway 61 Revisited อีกครั้ง เพราะเพลง “Desolation Row” ที่มีความยาวถึงสิบเอ็ดนาทีกับอีกสิบแปดวินาที กลายเป็น “เพลงโปรด” ไปเสียแล้ว ไม่รู้เมื่อก่อนผมฟังข้ามมันไปได้อย่างไร ตอนนี้ผมกำลังแต่งตั้งให้มันเป็นเพลงที่ดีที่สุดในโลก จนกว่าจะมีเพลงอื่นให้หันไปคลั่งไคล้แทน

ผมเพิ่งตั้งใจและติดใจฟังบทเพลงของเจ้าพ่อเร็กเก้—บ๊อบ มาเลย์อย่างละเอียดขึ้น เดือนที่แล้วเพิ่งหัดปะทะความงดงามในสำเนียงและเสียงดนตรีของโจนี มิทเชล (ชอบเพลง “Both Sides Now” ของเธอมานาน แต่เพลงอื่นต้องใช้เวลาหัดฟังพอสมควร) ของมาร์วิน เกย์ และถึงแม้ผมจะแนบหูฟังเดอะ บีเทิลส์ อย่างเหนียวแน่นมายี่สิบกว่าปี ย่อมต้องมีช่วงของความหน่ายเนือย ห่างเหิน แต่สี่หนุ่มเต่าทองไม่ยอมจากไกลไปไหนนาน ตอนนี้พวกเขากลับมารุกรานสเตอริโอของผมอีกครั้ง คืนวานผมฟังอัลบั้ม All Things Must Pass ผลงานเดี่ยวชิ้นแรกของจอร์จ แฮร์ริสัน หลังการแตกแยกของเดอะ บีเทิลส์ และวันรุ่งขึ้นผมอดไม่ได้ที่จะเล่นแผ่น A Hard Day’s Night ผลจากยุคชื่นมื่นของพวกเขา ความหลงใหลในการเรียบเรียงตัวโน้ตโดยวงร็อคที่ดีที่สุดในโลกก็กลับคืนสู่ร่าง เป็นวัฏจักรที่คาดว่าคงไม่หยุดหมุนจนกว่าจะถึงวันที่ผมต้องเดินทางไปหัดฟังดนตรีในนรก (ไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายว่าตัวเองจะตกนรก แต่คิดว่าดนตรีในนรกคงสร้างสรรค์ และ “ใต้ดิน” กว่าดนตรีบนสวรรค์)

เมื่อสำรวจพฤติกรรมการฟังเพลงของตัวเองในปัจจุบัน รู้สึกว่าผมคงคลายความหลงในภาพลักษณ์ภายนอกของดนตรีลงมาก บางช่วงของบางวัยสมัยก่อน ชื่ออย่างบ๊อบ ดีแลน โจนี มิทเชล หรือมาร์วิน เกย์ คงไม่กล้าหลุดจากปากผมนัก (ยังไม่นับชื่ออย่างแฟร้งก์ ซินาตร้า สตีวี วอนเดอร์ และนักร้องเพลงแจ๊ซสแตนดาร์ดส์อีกนับสิบ ที่ออกจะ “โบราณ” ในสายตาและสายหูวัยรุ่นเอาเหลือเกิน) เพราะความสนใจสิ่งใหม่ๆ แลดูเก๋ไก๋กว่าการรู้จักคนสมัยคุณลุงคุณป้าเป็นไหนๆ โดยเฉพาะถ้าเชี่ยวชาญการฟังงานของกลุ่มคนดนตรีที่ “อินดี้” หลบลี้หนีจากกระแสนิยม แหกคอกไปไกลจนไม่มีใครเคยเห็นหรือได้ยิน ยิ่งวิ่งตามไปเจอะเจอคนจำพวกนั้นได้มากขนาดไหน ยิ่งแสดงถึงความเท่สุดยอดยากเปรียบเทียบของตัวผู้เจอ

เอาเข้าจริง นักแหกคอกไม่ได้มีดีทุกคน และการวิ่งตามไปไขว่คว้า หลายครั้งจะได้มาเพียงแกะธรรมดาที่ดูพิเศษเพียงเพราะขนของมันถูกเคลือบน้ำหมึกจนดำคลับ ไม่ใช่เพราะมันเป็นความแตกต่างที่งดงาม

กว่าผมจะรู้ว่าขนบนแกะหลายตัวไม่ได้ดำจริงตามธรรมชาติ ก็หลงไล่จับอยู่นานพอดู

“Ah, but I was so much older then. I’m younger than that now,” (จากเพลง “My Back Pages” ของลุงบ๊อบ) ตอนนั้นผมแก่กล้าเกินไป ตอนนี้อ่อนวัยลง และเข้าใจอะไรๆ มากขึ้นแล้ว

ถึงอย่างนั้น ความรู้สึกของการเป็น “ผู้ค้นพบ” มีกลิ่นหอมในตัวของมันเอง ทุกวันนี้เมื่อไปเยือนถิ่นอื่นบนโลกที่มีร้านซีดีใหญ่โตโอ่โถง หรือเป็นแหล่งกำเนิดคนหน้าใหม่ชนิดวันต่อวัน (อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น) ผมยังสนุกกับการใช้มือและตา รื้อหาดอกไม้ในพงหญ้า หวังจะสะดุดแตะโดนของมีค่าเข้าบ้าง—สองสามปีที่ผ่านมา พฤติกรรมนี้ทำให้ผมรู้จักโฟล์คร็อคเกอร์หน้าละอ่อนที่มีความสามารถถ่ายทอดบทกวีแบบรุนแรงเร้าอารมณ์อย่าง Bright Eyes ( ของโคนอร์ โอเบิร์สต์) ทำให้ผมได้ฟังอัลบั้ม O ของเดเมียน ไรซ์ นานล่วงหน้าเป็นปี ก่อนที่เขาจะได้รับความสนใจจากกระแสหลัก รวมถึงได้สัมผัสดนตรีจากวัฒนธรรมที่แตกต่างจากความคุ้นเคย เช่นจากแอฟริกา หรือลาตินอเมริกา—อย่างน้อยการค้นพบเหล่านี้ทำให้ดนตรีดูไม่ถูกกลืนกลายเป็นเพียง “ผลิตภัณฑ์” จนเกินไป ในสังคมที่นับวัน ความสำคัญของ “จุดหมายปลายทาง” (ความดัง รายได้ ผลประโยชน์) จะปรากฏภาพชัดเจนกว่า “จุดเริ่มต้น” (แรงบันดาลใจ จินตนาการ ศิลปะ การทดลอง ความรัก) ขึ้นหลายบันไดเสียง

เพลงไทยร่วมสมัยตอนนี้ ดูเหมือนจะมีบทเรียนแฝงอยู่ในคำร้องไม่มาก ที่แน่ๆ คือน้อยกว่าเพลงสมัยผมเป็นวัยรุ่น เนื้อหาของเพลงยอดฮิตติดหูจากวิทยุคลื่นเท่เขาพูดอะไรกันบ้าง : “ฉันรักเธอ เธอรักฉัน เรารักกันมันช่างสุขใจ” “ฉันรักเธอ แต่เธอเป็นแฟนคนอื่น แบบนี้ไม่ค่อยสนุก” “ฉันเหงา ฉันเหงา ฉันเหงา” “ทำไงดี หลงรักเพื่อนสนิทเข้าให้แล้ว” “เธอเป็นโรคจิตหรือเปล่า ที่ชอบหลอกลวงฉันอยู่เรื่อย” “ผู้ชายมันเลว ” “ผู้หญิงก็ร้ายเป็นนะคะ” “ถ้าเธอรักเขา ก็อย่ามาสนใจฉัน ขนาดฉันรักเขา ฉันยังไม่แสดงความสนใจในตัวเธอเลย...เอ๊ะ...งง” “ฉันมันไม่เอาไหน แต่อย่างไรเธอก็ต้องรักฉัน” “ถ้ามึงไม่รักกู โดน!”

ผมไม่ดูแคลนความซ้ำซากจำเจของความรัก เพราะขึ้นชื่อว่ารัก ย่อมต้องน่าเบื่ออย่างงดงามเป็นธรรมดา แต่อดคิดถึงบทเรียนในเพลงเกี่ยวกับความรักที่หลากหลายกว่านี้ไม่ได้ อย่างที่พี่แจ้ – -ดนุพล แก้วกาญจน์ เขียนถึงคนบอบซ้ำจากการรักคนด้วยกัน จนต้องหันไปสนิทสนมกับ “เรือใบ” (“มีแต่เรือใบ ที่ฉันไว้ใจเธอได้อยู่ลำเดียว” ) หรือกระทั่งอย่าง “น้ำตาก็ดีเหมือนกัน ให้มันมาคอยล้างใจ เหนื่อยแค่ทางกายก็ให้เหงื่อมันล้าง” (จากเพลง “ไม่เป็นไรเลย” ) ที่นิติพงษ์ ห่อนาค เขียนให้วงนูโว (ซึ่งถือว่าเป็น “บอยแบนด์” และไม่มีธุระอะไรจะต้องร้องเพลงลึกซึ้งนักหนา) ก็เป็นเพลงรักร้าวๆ ที่มีลูกเล่นทางภาษาและวิธีนำเสนอน่าสนใจ ทำให้น้ำตาฟังคล้ายจะเป็นน้ำยาขจัดคราบไคลที่มีสรรพคุณล้ำเลิศ หรือย่างเพลงของวงตาวันที่ร้องว่า “ดึงเชือกสิ แล้วฉันจะยิ้มให้คุณ ดึงเชือกสิ ฉันจะร้องเพลงให้ฟัง ดึงอีกครั้ง ฉันอาจร้องไห้ แต่ไม่เป็นไร ถ้าถูกใจของคุณ” (เพลง “หุ่นกระบอก” ) ซึ่งพูดถึงความรักล่ามโซ่ในแบบที่แทบไม่ได้ยินจากเพลงป๊อปร่วมสมัยอีกแล้ว

ความเคลื่อนไหวและวิวัฒนาการของเนื้อเพลงยังมีอยู่เสมอ โดยเฉพาะในแวดวงเพลงลูกทุ่ง รวมถึงการเขียนเพลงแร็พ ซึ่งมีลักษณะคล้ายเคียงกับการด้นกลอนสดอย่างน่าทึ่ง แต่หากมองภาพใหญ่รวมๆ แทนที่จะเห็นเส้นกราฟของศิลปะการเขียนคำร้องทแยงขึ้น มันกลับเป็นเส้นดิ่งตกอย่างรวดเร็วน่าใจหาย คนประเทศเราไม่ค่อยสนใจจะรีไซเคิลขวดแก้วหรือภาชนะพลาสติก แต่ถ้าเป็นเรื่องเพลงละก็ไม่ต้องห่วง ตั้งหน้าตั้งตารีกันอย่างขมีขมันเป็นกิจวัตร จนกลายเป็นหน้าที่หลักของอาชีพนี้ไปเรียบร้อย

อัลบั้มเพลงล่าสุดที่ผมตื่นเต้นกับการได้มาครอบครอง คือผลงานใหม่เอี่ยมชื่อ Dear Heather ของเลโอนาร์ด โคเฮน นักร้อง – กวี – นักเขียน – และ (ครั้งหนึ่งเคยเป็น) พระเซน ผู้ขึ้นชื่อว่าเขียนเนื้อเพลงได้ลึกซึ้งอีกคนหนึ่งของโลก มีเพลงอมตะที่คนอื่นนำมาร้องใหม่หลายเพลง ( “Everybody Knows”, “Suzanne”, “Hallelujah”) โคเฮนแต่งเพลงและร้องเพลงมาสามสิบกว่าปี เคยสัมผัสความโด่งดังระดับกระแสมาแล้ว ปัจจุบันจึงไม่รีบเร่งผลิตงานตามคลื่นธุรกิจ นานๆ จะนึกคึกคัก เข็นดนตรีใหม่ๆ ออกมาให้แฟนๆ หายคิดถึง—เพลงของโคเฮนก็เหมือนกับเพลงของเดอะ บีเทิลส์ ของบ๊อบ ดีแลน และเหมือนเพลงแจ๊ซสแตนดาร์ดส์หลายต่อหลายเพลง ที่ชีวิตนี้ผมคงไม่มีวันหย่าร้างจากการฟัง

จำไม่ได้ว่าก่อนหน้า Dear Heather อะไรคืออัลบั้มที่ผมนับวันรออย่างใจจดหูจ่ออย่างนั้น คลับคล้ายคลับคลาแต่ความรู้สึกวัยเด็กที่เฝ้ารออัสนี – วสันต์ชุดใหม่ เฉลียงชุดใหม่ กระทั่งต้องไปรอหน้าแผงเทปเพื่อซื้ออย่างสดๆ ร้อนๆ ในวัยนั้น ดูเหมือนเวลาจะสามารถทำให้เสียงเพลงเน่าบูดได้ หากรอนานเกินไป เทปที่หมายปองอาจขึ้นอืดเสียก่อน

เพิ่งไม่นานที่ผมพบว่า เวลาเคลื่อนไหวในตัวเราเพียงอย่างเดียว สิ่งรอบข้างยังรอให้เราสนใจอยู่เสมอ ไม่เจอวันนี้ พรุ่งนี้ก็เห็น ไม่ฟังพรุ่งนี้ มะรืนนี้ก็ได้ยิน ไม่รู้จักเมื่อวาน อีกสิบปีข้างหน้าก็อาจได้รู้จัก มันคือทฤษฎีที่ถึงแม้จะเป็นจริง โลกมนุษย์ร่วมสมัยที่อาศัยอยู่กับธุรกิจปัจจุบันทันด่วน พึ่งพา “เทรนด์” และแรงโหมกระหน่ำชั่วครั้งชั่วคราว คงไม่สนใจความจริงนี้เท่าใดนัก การค้นพบความงามในบทเพลงที่แต่งเมื่อเกือบสี่สิบปีที่แล้ว ทำให้ผมนึกอยากให้คนอื่นๆ ได้สัมผัสมันด้วยกัน และรู้สึกเสียดายที่โลกจะเกาะอยู่แต่กับ “กระแสใหม่” อะไร “อิน” อะไร “เอ๊าท์” เพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจความจริงที่ว่าของดีมีมาตั้งแต่กำเนิดอารยธรรม และยังคงมีอยู่รอบตัวทั่วไป หากมีคนสนใจจะปัดฝุ่นมันสักนิด น่าเสียดายที่ความลุ่มหลงยึดติดกับความสำเร็จทางธุรกิจ ทำให้ใครต่อใครมุ่งแต่จะกลบทับความจริงเกี่ยวกับเวลาที่ว่ามัน “รอ” เราเสมอ ไม่มีใครแต่งเพลงขายโดยคิดว่า “วันนี้ไม่มีคนฟัง อีกสามสิบปีอาจจะมีก็ได้” ไม่มีค่ายเพลงใหญ่แห่งไหนสนับสนุนคุณค่าทางศิลปะในดนตรีอย่างพิถีพิถันอีกต่อไป เพราะพวกเขารู้แล้วว่าตรงกลางของ “คุณค่า” นั้น ไม่ใช่เงิน หากแต่เป็นแรงบันดาลใจที่ไม่รับประกันว่าจะทำให้พวกเขามีรถหรูๆ ขับ หรือมีบ้านหลังใหญ่ๆ อยู่ ไม่รับประกันกระทั่งว่ามันจะสร้างผลตอบแทนให้พวกเขาในช่วงชีวิตนี้แม้เพียงบาทเดียว

ที่รับประกันได้ อาจมีเพียงแรงสูบฉีดในเส้นเลือดที่เกิดจากคลื่นเสียงกระทบหู ในห้วงสงัดของกลางคืนที่มีเพียงคนกับอากาศนอนเคียงกันบนเตียง

I’d forever talk to you,

But soon my words,

They would turn into a meaningless ring.

For deep in my heart

I know there is no help I can bring.

Everything passes,

Everything changes,

Just do what you think you should do.

And someday maybe,

Who knows, baby,

I’ll come and be cryin’ to you.

(จาก “To Ramona” ของบ๊อบ ดีแลน แต่งเมื่อปี 1964 )

ในวัยนี้ ที่กลางคืนคือช่วงเวลาแน่นิ่งน่ารักน่าหวงแหน

ผมยอมให้เสียงจากวัยยี่สิบสามของชายวัยหกสิบสี่ ร้องเพลงกล่อมให้ฟังแต่โดยดี




ปราบดา หยุ่น

กุมภาพันธ์ 2548


from onopen.com - โอเพ่นออนไลน์: //www.onopen.com

ปล. ขออนุญาตินำมาให้เพื่อนๆอ่านกันนะค่ะ........ขอบคุณค่ะ

........
..............




 

Create Date : 30 ธันวาคม 2550
2 comments
Last Update : 30 ธันวาคม 2550 21:44:38 น.
Counter : 699 Pageviews.

 

ตอนเด็กๆแอบฟังเพลงเวลานอนประจำ

หลับไปพร้อมกับเสียงเพลง

Blowing in the wind นั้น เคยเป็นเพลงโปรดเพลงหนึ่งเลยค่ะ

ZWANI.com - The place for myspace comments, glitters, graphics, backgrounds and codes
Graphics for Happy New Year Comments

 

โดย: Batgirl 2001 30 ธันวาคม 2550 22:24:28 น.  

 

......ค่อยลงเพลงวันหลังน๊า.......

 

โดย: NuHring(ขวัญ) (NuHring ) 31 ธันวาคม 2550 14:56:16 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


NuHring
Location :
สงขลา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




มือ และ ผลไม้

อย่ายื่นมือ เพียงเพื่อจะขอความรัก
ไม่มีชาวสวนคนใด
ยื่นมือขอผลไม้จากต้น
มือเขา กำพร้า พรวนดิน
มือเขา รดรินน้ำชุ่มฉ่ำ

อย่ายื่นมือขอผลไม้จากต้น
อย่ายื่นมือขอความรักจากใคร
เพราะความรักไม่อาจได้มาจากการร้องขอ...

โหลดเพลง นิยาย คลิปวีดีโอ การ์ตูน
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
30 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add NuHring's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.