Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
18 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 
18 พย 52 วัดถ้ำผาบิ้ง

               วันนี้อากาศเย็นลงกว่าเมื่อวาน สมองเริ่มกลับมาทำงานตามปกติ เพราะไปอยู่ที่สำนักไม่ได้ใช้สมองคิดอะไรมาหลายวัน วันนี้ในสมองจึงมีเรื่องมากมายที่อยากจะมาเขียนเล่า แต่ถ้าเขียนทั้งหมดคงต้องเขียนเป็นสิบเรื่อง วันนี้ขอเริ่มเล่าเรื่องไปปฏิบัติธรรมเป็นของฝากให้คนไม่ได้ไปจะได้เห็นภาพนะคะ ขอเล่าตัดตอนตามที่อยากจะเล่าโดยไม่เรียงลำดับเวลาละกันค่ะ




ทุกครั้งที่ไปปฏิบัติธรรมที่สำนักเมื่อมีเวลาว่างมักขออนุญาตออกไปแอบตระเวณเที่ยวแถวอีสานเหนือจนปรุ ไปครั้งนี้จึงตั้งใจว่าจะไม่ออกไปที่ไหนเลยจะเดินยืนนั่งนอนแต่ในสำนักจะดูจิตใจตนเองว่าถ้าอยู่กับที่ไม่ได้ไปไหนสักสองสามวันจะเป็นยังไง ปรากฏว่าที่นั่นอากาศเย็นสบายจึงได้แต่ทำอิริยาบถนอนเสียเป็นส่วนใหญ่ นอนตั้งแต่เช้าจนมึนศีรษะตอนบ่ายมีคนชวนไปทำธุระที่ตลาด อำเภอวังสะพุง  จึงลุกขึ้นบ้างจะได้หายมึน ขอให้เขาแวะผ่านวัดถ้ำผาบิ้งสักเล็กน้อย วัดนี้เราเคยไปมาแล้วหนึ่งครั้งเมื่อหลายปีก่อน เพื่อนใหม่เราที่รู้จักกันที่สำนักเป็นคนพาไป   ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่สอง   วัดถ้ำผาบิ้ง อยู่ อ.วังสะพุง จ. เลย อยู่ไม่ไกลจากสำนักของเรา  ระหว่างทางเห็นทุ่งนาสีทองและชาวนาที่กำลังช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าว แม้ขากลับมืดแล้วถ้างานยังไม่เสร็จ ก็ยังพบว่าเขายังทำงานกันไม่หยุด เราเห็นความเหน็ดเหนื่อยของชาวนาแล้วเราตั้งใจไว้ว่าจะทานข้าวไม่ให้เหลือสักเม็ดเลย





วัดนี้มีส่วนที่สำคัญและน่าสนใจอยู่สองแห่ง คือ เจดีย์อัฏฐบริขารของหลวงปู่ และอีกส่วนหนึ่งคือ ถ้ำผาบิ้ง แต่วันนี้เราจะไปเฉพาะส่วนถ้ำผาบิ้งเท่านั้น ระหว่างทางรถผ่านด้านหน้าทางเข้าส่วนเจดีย์หลวงปู่หลุย มีสถูปภายในมีรูปจำลองหลวงปู่นั่งอยู่ แต่เราไม่ได้เข้าไปชมภายใน เพราะเคยไปมาครั้งหนึ่งแล้ว





บรรยากาศภายในวัด เป็นเหมือนป่าทึบอยู่ท่ามกลางทุ่งนา คงเหมือนวัดป่าหลายๆแห่งที่ว่า ถ้าไม่เพราะมีวัดตั้งอยู่ก็คงไม่มีป่าเหลือให้เห็น ยกตัวอย่างเช่น วัดป่าบ้านตาด วัดถ้ำกลองเพล ซึ่งยังเป็นป่าอย่างสมบูรณ์อยู่ท่ามกลางความเจริญและความเปลี่ยนแปลงเป็นหมู่บ้านและทุ่งนาไปโดยรอบ






               สาเหตุที่เราอยากไปถ้ำผาบิ้งอีกครั้งเพราะวันที่มีงานรวมรุ่น   มีเพื่อนหลายคนที่เคยบวชสมัยเป็นนักศึกษาปิดภาคเรียน  เล่าตรงกันว่าบวชอยู่ที่วัดนี้ และตอนกลางคืนเพื่อนที่เชื่อถือได้หลายคนมองเห็นแสงไฟนีออนเดินหายเข้าไปในถ้ำนี้  ซึ่งชาวบ้านและหลายๆคนก็เห็นกันเป็นประจำ เขาว่ากันว่าเป็นพญานาค และจากประวัติครูบาอาจารย์ที่เคยอ่านพบว่า ถ้ำนี้มีโพรงใหญ่ซึ่งเล่ากันว่าเป็นโพรงพญานาค และทะลุไปถึงแม่น้ำโขง 



               ส่วนความสำคัญที่สุดของวัดนี้ก็คือ  เป็นวัดที่หลวงปู่หลุย จันทสาโร เป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างและท่านอยู่จำพรรษานานที่สุด 2510-2515  ท่านเป็นหนึ่งในพระอรหันต์ของเมืองไทย  เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และเป็นสหธรรมิก (หมายถึงสนิทกัน )ของหลวงปู่ชอบ ฐานสโม รูปทางซ้ายรูปหลวงปู่หลุย ทางขวาคือหลวงปู่ชอบ ซึ่งหลวงปู่ชอบมีประวัติที่โลดโผนน่าสนุกสนานตื่นตาตื่นใจสำหรับเรามากทีเดียว เสียแต่เราไม่เคยกราบองค์จริงของท่านทั้งสองรูป เพราะท่านละสังขารไปแล้ว เหลือแต่อรรถธรรมและปฏิปทาที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลัง






หลวงปู่หลุย นามเดิม นายวอ วรบุตร เป็นหลานปู่เจ้าเมืองแก่นท้าว เดิมนับถือศาสนาคริสต์อยู่ 5 ปี ได้ทำงานกับพี่เขยคลุกคลีกับการจัดอาหาร เห็นการฆ่าไก่บังเกิดความสลดสังเวชจึงออกจากศาสนาคริสต์และลาออกจากงาน และได้อุปสมบท 1 พรรษา ระหว่างเดินทางกลับมาเกณฑ์ทหารได้อธิษฐาน พระธาตุพนมว่าถ้าไม่ถูกเกณฑ์ทหารจะขอบวชตลอดชีวิต ระหว่างการเดินทางนั้นท่านไม่มีอัฎฐบริขารกลดและมุ้ง ได้มีพระธุดงค์กัมมัฎฐานมอบกลดและมุ้งให้ ต่อมาภายหลังเพื่อเป็นการระลึกถึงการได้รับกลด งานอดิเรกของท่านจึงทำกลดอยู่เสมอเพื่อแจกแก่ผู้ปฏิบัติธรรม ลักษณะพิเศษของท่านคือเป็นผู้ชอบจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ท่านจะจดบันทึกอย่างละเอียดไว้ทุกวัน






เมื่อครั้งก่อนที่เราไปเจดีย์เก็บอัฎฐิและบริขารของท่านที่วัดนี้ เราเห็นสมุดบันทึกท่านเขียนไว้มากมาย สายตาเราพยายามสอดส่องว่าท่านเขียนอะไรไว้ แต่อ่านไม่ออกเนื่องจากอยู่ในตู้กระจก ต่อมาเพื่อนคนที่พาเราไป ซึ่งเคยอุปัฏฐากหลวงปู่หลุยระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้นได้นำหนังสือ จันทสาโรวาท มาให้เราหนึ่งเล่มซึ่งภายในมีเรื่องที่ท่านจดบันทึกไว้ทั้งหมด เราจึงได้อ่านบันทึกของท่าน เล่าเรื่องการปฏิบัติ คำสอนของหลวงปู่มั่น และวิธีคิดพิจารณาข้อธรรมของท่านในแต่ละวันและเกิดประโยชน์อย่างมาก ถ้าเรามีเวลาและคนอ่านไม่เบื่อเสียก่อน เราจะลงธรรมโอวาทของหลวงปู่มั่นจากบันทึกของหลวงปู่หลุยไว้ให้ได้อ่านกัน เนื่องจากในสมัยขององค์หลวงปู่มั่นซึ่งนับเป็นอาจารย์ใหญ่สายพระป่านั้น ไม่มีวิทยุเทป หรือ วีดีโอ การถ่ายทอดข้อธรรมส่วนใหญ่อาศัยการเล่าจากลูกศิษย์ทั้งสิ้น จึงนับว่าการบันทึกของหลวงปู่หลุยนั้นมีคุณค่ามาก



บันทึกของเราวันนี้ก็คงเป็นแต่เพียงสิ่งที่ตาสัมผัสได้ ส่วนประโยชน์ข้ออรรถธรรม คงต้องใช้เวลาวันหลัง






บริเวณทางขึ้นสู่ถ้ำผาบิ้ง โดยรอบมีต้นลานเก่าแก่ขนาดใหญ่มากยังคงอยู่หลายต้น( ภาพแรก) และมีต้นไม้ใหญ่หลายต้น เราเดินขึ้นบันได แต่ละขั้นสูงและยาวขึ้นไปสู่บริเวณถ้ำ ( ภาพที่สอง เป็นบันไดทางขึ้นไปยังถ้ำที่ดูคล้ายปากอ้าอยู่ ) เมื่อขึ้นไปถึงบนถ้ำ มองไปมีห้องเล็กๆทางขวามือปิดประตูไว้ ภายในห้องนี้ประดิษฐาน รูปหล่อ หลวงปู่มั่น ทางซ้ายมือเรา และหลวงปู่หลุยทางขวามือ ปกติห้องนี้จะทำไฟฟ้าเปิดปิดอัตโนมัติเมื่อเปิดประตู ครั้งแรกที่เรามา ประหลาดใจมากที่เปิดประตูแล้วไฟติดเอง มองดูถึงเห็นว่ามีปุ่มปิดเปิดอยู่ที่ขอบประตู ดูน่าสนใจดี






ทางขวามือของรูปจำลองหลวงปู่มั่น จะมีโพรงลงไปข้างล่าง ปากโพรงใหญ่มากๆเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1 เมตรเศษเห็นจะได้ เป็นโพรงที่เขาว่ากันว่าเป็นโพรงของพญานาค ไปโผล่ที่แม่น้ำโขง เราไม่กล้าชะโงกไปดูกลัวตกลงไป หรือพญานาคอาจโผล่สวนขึ้นมา และเราสันนิษฐานว่า นี่ก็คงเป็นสาเหตุที่ต้องทำประตูปิดบริเวณนี้ไว้คงเพื่อกันไม่ให้เด็กตกลงไป






แต่ที่ทำความประหลาดใจให้แก่เรามากก็คือ กล้องถ่ายรูปเราก็มาดีๆ มาถึงบริเวณนี้ มันไม่สามารถจะโฟกัสรูปหลวงปู่ หรือโพรงต่างๆได้ ทั้งที่เราดูก็ไม่เห็นมีอะไรผิดปกติ ได้ยินแต่เสียงกล้องวืดวาดเพื่อหาโฟกัสอยู่นานมาก บางรูปถ่ายมาก็มีแต่ขาว บางรูปก็ดำสนิท เราจึงนึกในใจบอกหลวงปู่ว่าเราจะเอาไปเขียนลงบล็อกขอให้ถ่ายติด รออยู่สักครู่กล้องก็โฟกัสได้เองตามปกติ





หลังจากปิดประตูห้องเล็กที่เป็นโพรงพญานาคออกมาตรงกลางของถ้ำซึ่งเราประมาณว่ามีบริเวณสัก 8 X 10 เมตรเห็นจะได้ ก็เป็นลานที่ปูกระเบื้องไว้ เป็นที่ภาวนาของหลวงปู่หลุย ส่วนนี้มีพระพุทธรูปอยู่ส่วนในสุด เพ่งมองไปดีๆจะพบพระพุทธรูปอีกองค์ซ่อนอยู่ด้านหลัง



บริเวณนี้ยิ่งแปลกประหลาดกว่าในห้องเสียอีก เราถ่ายภาพอยู่นานมากกว่าสิบนาที กล้องเราไม่สามารถถ่ายภาพได้ ทั้งที่ไม่มีปัญหาเรื่องแสงและอื่นๆ เราไม่สามารถกดชัตเตอร์ลงได้ กล้องนี้เราใช้มานานหลายปี ชินมือมากหลับตาก็จำได้ว่าปุ่มไหนอยู่ตรงไหน หลังจากถ่ายภาพไม่ได้สักภาพ เราอดคิดไม่ได้ว่าเราคงโดนดีอีกซะแล้ว เราก็พยายามมองดูว่ากล้องเรามีอะไรผิดปกติ เปิดปิดใหม่หลายรอบ ก็ยังไม่พบ เราก็เลยทำเหมือนเดิมคือ นึกขออนุญาตถ่ายภาพว่าเราจะไปเขียนลงบล็อกเรา จึงเหลือบไปเห็นที่หน้าจอขึ้นถ่ายแบบตั้งเวลาทำให้มีการหน่วงเวลาหลังกดชัตเตอร์ ซึ่งเราก็ไม่เคยปรากฏว่าเคยไปโดนปุ่มนี้มาก่อนไม่ว่าเราจะไปถ่ายภาพที่ใด ทำให้เราอดประหลาดใจอีกครั้งไม่ได้



รูปปั้นเสือ ริมทางบันไดขึ้นลง บ้างว่าเสือนี้ดูน่ากลัวเหมือนเสือจริง เราว่าดูน่ารักดีเสืออ้าปากยิ้มกว้างเชียว






ปิดท้ายด้วยภาพ กุฏิที่เรียงรายอยู่โดยรอบบริเวณวัด สำหรับภาวนา พระวัดป่าท่านมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ฉันมื้อเดียวมีที่พักขนาดเล็กพอหลบฝน และตั้งใจปฏิบัติเพื่อความละถอนปล่อยวางดำเนินตามแนวทางครูบาอาจารย์ที่พาเป็นแบบอย่าง น่าอนุโมทนาและเลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่ง




Create Date : 18 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2552 17:20:40 น. 2 comments
Counter : 4642 Pageviews.

 
ขอบคุณมากครับสำหรับบทความและภาพถ่ายเกี่ยวกับวัดถ้ำผาบิ้งที่กรุณานำมาถ่ายทอดให้หายคิดถึง ผมเองก็เป็นศิษย์เก่าที่เคยบวชเรียนสมัยยังเป็นนักศึกษาแล้วมีโอกาสได้มาปฏิบัติธรรมจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้เช่นกัน เคยมีโอกาสได้ไปนั่งสมาธิในถ้ำ จำวัดในกุฏิ(ดังรูป) และสวดมนต์ทำวัตรในศาลาอยู่พักหนึ่ง แม้ว่าจะไม่มีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมเยือนแต่ก็ยังคงระลึกถึงพระอาจารย์และครูบาทุกท่านอยู่เสมอ ตอนนั้นเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนมีพระอาจารย์มนตรี คณโสภโณ ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่หลุยส์เป็นเจ้าอาวาทและเป็นผู้สอนการเจริญสติและวิปัสนากรรมฐานตามแนวทางของพระวัดป่า โดยมีครูบาอีกสองท่านคือครูบาเป้งและครูบาคองที่คอยให้ความช่วยเหลือและดูแลพวกเรา นับว่าเป็นประสบการณ์ในชีวิตที่มีค่าเป็นอย่างยิ่งครับ


โดย: ปิยชาติ สุทธินาค IP: 172.16.2.45, 119.42.102.205 วันที่: 13 เมษายน 2553 เวลา:11:55:51 น.  

 
แวะมาอ่าน และมาเจิม บันทึก เป็นคนแรกบ้างจ่ะ

และแวะไปอ่านเรื่อง ฝากลม อีกหนหนึ่งด้วยค่ะ

คำว่า มิตร มณีเข้าใจว่ามีรากศัพท์เดียวกับคำว่า "เมตตา"

เพราะ อิ พฤต (แผลง) เป็น เอ
และ เอ พฤต เป็น ไอ

เมตร/เมตระ/เมตรา/=เมตตา
มิตร/มิตระ/มิตรา
ไมตระ/ไมตรา/ไมตรี

มิตร-เมตตา-ไมตรี จึงเป็นคำที่มาจากรากเดียวกัน

คือจะเป็นมิตร ได้ก็เพราะ มีความเมตตา และมีไมตรี ต่อกันนะคะ

อ่านบันทึกนี้จบแล้วดีจังเลยค่ะสมกับที่ ปราชญ์อินเดียโบราณ เชื่อว่า การท่องเที่ยวทำให้ คลายทุกข์ ได้ความรู้
กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ นิพนธ์ คติ ของปราชญ์อินเดีย แทรกเอาไว้เป็น มาณวกฉันท์ 8 เอาไว้ในนิทานเวตาลตอนหนึ่ง ความว่า

จง จระ เที่ยว เทียวบทะไป
พงพนะไพร ไศละลำเนา
ดุ่มบทเดิน เพลินจิตะเรา
แบ่งทุกขะเบา เชาวนะ ไว


การท่องเที่ยว ทำให้ได้ อนสุติ

1."เราเห็นความเหน็ดเหนื่อยของชาวนาแล้วเราตั้งใจไว้ว่าจะทานข้าวไม่ให้เหลือสักเม็ดเลย"

2.(หลวงปู่หลุย)"ระหว่างการเดินทางนั้นท่านไม่มีอัฎฐบริขารกลดและมุ้ง ได้มีพระธุดงค์กัมมัฎฐานมอบกลดและมุ้งให้ ต่อมาภายหลังเพื่อเป็นการระลึกถึงการได้รับกลด งานอดิเรกของท่านจึงทำกลดอยู่เสมอเพื่อแจกแก่ผู้ปฏิบัติธรรม"
ผู้ที่เดินทางโดยไม่มี กลด/มุ้ง คงลำบากนะคะ เพราะยุงสมัยก่อนคงชุมมากๆ การละลึกถึงความเมตตา ที่เราเคยได้รับ นั้นก็คง ปิติ มากพออยู่แล้ว และหากเราได้เป็นผู้ให้บ้าง ก็คง ปิติ มากยิ่งๆ ขึ้น (มณี ก็เคย ปิติ เมื่อครั้งเป็นผู้รับ เมื่อมีโอกาส มณี ก็พยามเป็นผู้ให้บ้าง เช่นเจอ ขอทาน มายืนข้างๆ โต๊ะก๊วยเตี๊ยวก็ให้เงินเขาไปซื้อข้าวกินค่ะ)
ภาพที่ถ่ายก็สวย เป็นธรรมชาติดีค่ะ ต้นลาน พระท่านคงปลูกเอาไว้ เพื่อนำไว้จด (คัมภีร์ใบลาน) หรือเปล่าคะ

เคยอ่านเจอว่า พระนิกาย เถรวาท จะจดพระไตรปิฎก ลงใบลาน แต่ นิกาย มหายาน จะบันทึกพระไตรปิฎก ลงบนแผ่นทองคำ จ่ะ


โดย: mcayenne94 วันที่: 12 พฤษภาคม 2554 เวลา:15:38:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

mcayenne94
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 36 คน [?]




Bangkok

Kyoto

Sydney

Mcayenne94's Diary มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกเรื่องราวของเจ้าของบ้านและสิ่งแวดล้อม ไม่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการ จัดจำหน่าย ต้นไม้ดอกไม้ หรือสิ่งใด อนุญาตให้นำภาพถ่าย พร้อมชื่อMcayenneผู้ถ่ายภาพไปใช้ประโยชน์ได้ และสงวนสิทธิ์ไม่อนุญาตให้นำภาพถ่าย Mcayenne ไปใช้ โดยการดัดแปลงตัดต่อหรือลบชื่อภายในภาพ
Friends' blogs
[Add mcayenne94's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.