Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
26 กรกฏาคม 2554
 
All Blogs
 
26 กค 54 "นักปฏิบัติให้ยึดการพิจารณาร่างกายเป็นหลัก"

ย่อความ "เทศน์อบรมพระวันเข้าพรรษา ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อค่ำวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗
"นักปฏิบัติให้ยึดการพิจารณาร่างกายเป็นหลัก"


...."....ในอิริยาบถทั้งสี่ให้เป็นไปด้วยความพากเพียร ความพยายาม ความสำรวมระวังตนอยู่โดยสม่ำเสมอมีสติควบคุมตัวเอง ยืนเดินนั่งนอน ความเคลื่อนไหวไปมาในอาการใดขอให้มีสติติดแนบอยู่กับตนตลอดเวลา สติเป็นพื้นฐานสำคัญมาก จากนั้นก็เกี่ยวกับเรื่องความพากเพียร ท่านผู้พึ่งฝึกหัดใหม่ที่ยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์ ท่านก็สอนให้นำคำบริกรรมเข้ามายึดมาเกาะ ให้ใจได้ยึดได้เกาะกับคำบริกรรมนั้นๆ  เช่น พุทโธบ้าง ธัมโมบ้าง สังโฆบ้าง มรณัสสติบ้าง  ตามแต่จริตนิสัยจะชอบในคำบริกรรมใด ให้นำคำบริกรรมนั้นเข้ามากำกับใจ แล้วตั้งสติติดแนบอยู่กับคำบริกรรม ไม่ให้คิดปรุงไปในสิ่งใด นอกจากปรุงในคำบริกรรมอย่างเดียวเท่านั้น เช่น พุทโธๆ  กับสติให้สืบเนื่องกันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ไม่ว่ายืน ว่าเดิน ว่านั่ง ว่านอน เว้นแต่หลับเท่านั้น ให้มีสติติดแนบอยู่กับใจ


เพราะใจนี้มีภัยรอบด้าน กิเลสนั้นแลตัวสำคัญ ที่ฝังลึกอยู่ภายในจิตใจ ไม่มีสิ่งใดที่จะถอดถอนชะล้างได้นอกจากธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้นธรรมจึงเป็นความจำเป็นอย่างมากทีเดียวสำหรับเราผู้บวชมาแล้วและเป็นนักปฏิบัติ ที่จะกำจัดสิ่งที่เป็นภัย คือกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ออกโดยลำดับลำดา ในเบื้องต้นให้ใช้คำบริกรรมกำกับใจ โดยมีสติกำกับรักษาอย่าให้เผลอ นี้คือผู้ที่มุ่งอรรถมุ่งธรรม มุ่งต่อแดนพ้นทุกข์ให้ก้าวเดินตามนี้จะไม่ผิดหวังตลอดไป


-ในอิริยาบถทั้งสี่ให้เป็นไปด้วยความพากเพียร ความพยายาม ความสำรวมระวังตนอยู่โดยสม่ำเสมอ
-มีสติควบคุมตัวเอง ยืนเดินนั่งนอน ความเคลื่อนไหวไปมาในอาการใดขอให้มีสติติดแนบอยู่กับตนตลอดเวลา สติเป็นพื้นฐานสำคัญมาก จากนั้นก็เกี่ยวกับเรื่องความพากเพียร
     ท่านผู้พึ่งฝึกหัดใหม่ที่ยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์ ...
-ให้นำคำบริกรรมเข้ามายึดมาเกาะ ให้ใจได้ยึดได้เกาะกับคำบริกรรมนั้นๆ  เช่น พุทโธบ้าง ธัมโมบ้าง สังโฆบ้าง มรณัสสติบ้าง  ตามแต่จริตนิสัยจะชอบในคำบริกรรมใด ให้นำคำบริกรรมนั้นเข้ามากำกับใจ
-แล้วตั้งสติติดแนบอยู่กับคำบริกรรม ไม่ให้คิดปรุงไปในสิ่งใด
-นอกจากปรุงในคำบริกรรมอย่างเดียวเท่านั้น เช่น พุทโธๆ  กับสติให้สืบเนื่องกันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ไม่ว่ายืน ว่าเดิน ว่านั่ง ว่านอน เว้นแต่หลับเท่านั้น ให้มีสติติดแนบอยู่กับใจ
     
    สตินั้นให้มีทุกเวลา ดังที่ท่านแสดงไว้แล้วว่า สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา สติจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง ในธรรมทุกขั้น สตินี้ปล่อยไม่ได้เลย ตั้งแต่พื้นๆ ที่เราเริ่มตั้งสติ จนกระทั่งสติสุดท้ายคือ มหาสติมหาปัญญา สตินี้จะติดแนบเข้าไปจนเป็นความละเอียดลออ ถึงขั้นมหาสติมหาปัญญา จากการบำรุงรักษาสืบต่อกันไม่หยุดไม่ถอยนี้แล


-จิตที่มีความสงบไปหลายครั้งหลายหน ก็เป็นการส่งเสริมผลนี้ให้ปรากฏขึ้นเป็นลำดับลำดา จนจิตกลายเป็นสมาธิได้ ที่สงบเบื้องต้น สงบครั้งนั้นครั้งนี้ ท่านเรียกว่า สมถะ คือ ความสงบใจ
-หลายครั้งหลายหนก็ส่งผลเข้าไปถึงความแน่นหนามั่นคง ความสงบมั่นคงเข้าไป จนกลายเป็นสมาธิขึ้นมา นี่ท่านเรียกว่า สมาธิ


-จอกแหนคือกิเลส มันปกคลุมหุ้มห่อจิตใจเอาไว้ แสดงอาการใดออกมา มีแต่อาการของกิเลสที่มีอำนาจเหนือใจ แสดงออกไปเสียทั้งนั้น เพราะฉะนั้นรอบตัวของเรา ความคิดทั้งวันทั้งคืนจึงมีแต่เรื่องกิเลสทำงาน ผลของมันก็ให้เกิดความเดือดร้อนผิดหวังๆ ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นจงทำใจให้มีความสงบเย็น เมื่อใจมีความสงบเย็นแล้ว ความเย็นนี้จะเข้าสู่ความแน่นหนามั่นคง ความสว่างไสวของใจไม่ต้องบอก พอกิเลสจางออกไปมากน้อย ความสว่างของใจจะแสดงออกมา ให้รู้ให้เห็น


-จงพากันชำระตรงนี้ให้ได้ แล้วความสว่างจะเกิดขึ้นที่นี่ ความสว่างทุกแบบทุกฉบับ ไม่ใช่สว่างแบบเดียว มีหลายแบบหลายฉบับ จะกระจ่างขึ้นภายในใจของเราๆ จากนั้นที่ว่ามรรคว่าผล ก็ปรากฏขึ้นมา ดังที่ท่านว่าสำเร็จพระโสดา สำเร็จพระสกิทาคา สำเร็จพระอนาคา สำเร็จพระอรหันต์เหล่านี้ ออกจากการบำเพ็ญใจดวงนี้เอง ชำระจิตใจออกไป เป็นขั้นเป็นภูมิขึ้นไปโดยลำดับ จนกระทั่งชำระกิเลสตัวมืดบอดนี้ให้หมดไปโดยสิ้นเชิง แล้วจิตสว่างจ้าขึ้นมา ท่านว่าบรรลุอรหันต์ นั่น บรรลุที่ใจนะ ไม่บรรลุที่อื่นที่ใด อย่าหมายไปให้เสียเวล่ำเวลา


-เราเป็นนักปฏิบัติ เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้เชื่อที่ข้อปฏิบัติของเรา ท่านสอนอย่างไร ให้ปฏิบัติตามที่ท่านสอนไว้นั้นโดยถูกต้อง เรื่องผลนี้ประกาศท้าทายอยู่แล้วกับการปฏิบัติของเรา ที่ดำเนินมาโดยถูกต้อง ผลจะปรากฏขึ้นเป็นลำดับลำดา อย่าไปหาคาดหาหมาย กาลนั้นสถานที่นี่ เวล่ำเวลา นี้เป็นเรื่องความเหลวไหลของคน ที่ไม่เคยสนใจกับการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญธรรม และการภาวนา มีแต่เอามาพูดโอ้อวดกันด้วยความมืดบอดของตน ซึ่งไม่เคยบำเพ็ญธรรม ไม่เคยสนใจกับธรรมเลย


-ศีลท่านแสดงไว้ในเพศของพระ ที่เป็นสมบัติของพระซึ่งควรจะได้จากการบำเพ็ญของตน คือ ศีลสมบัติ ศีลรักษาให้บริสุทธิ์ อย่าให้ด่างพร้อยขาดทะลุแต่อย่างใด ให้มีสติระมัดระวังรักษา ส่วนความทะลึ่งหรือความดื้อด้านอย่าให้มีในหัวใจของพระเรา
-ให้มีหิริโอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อบาปต่อกรรม กลัวศีลจะด่างพร้อยขาดทะลุไปตลอดเวลา นี่ชื่อว่าเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ เมื่อมีศีลสมบูรณ์แล้วจิตก็ไม่วอกแวกคลอนแคลน ไม่เกิดความเดือดร้อนระแคะระคายว่าศีลไม่บริสุทธิ์ หรือศีลด่างพร้อย อย่างนี้ไม่มี จิตก็ไม่เป็นอารมณ์ เมื่อไม่เป็นอารมณ์ นำเข้ามาสู่การภาวนาจิตก็รวมได้ง่าย เพราะไม่มีอารมณ์มากวนใจ จิตก็รวมลงได้ง่าย รวมลงไปเรื่อยๆ


-ศีลก็กลายเป็นศีลสมบัติตั้งแต่เราเริ่มบวชมา
-จากนั้นก็เป็นสมาธิสมบัติ คือจิตใจมีความสงบเยือกเย็นจนกระทั่งแน่นหนามั่นคง เรียกว่าสมาธิสมบัติ
-จากนั้นก้าวออกทางด้านปัญญา ปัญญานี่พิสดารมาก


      นักบวชทั้งหลายขอให้เร่งในทางพิจารณาร่างกายให้มากนะ
อย่าพิจารณาสิ่งอื่นใด ออกทางด้านปัญญา
-เบื้องต้นพอจิตสงบบ้างแล้วให้ก้าวเดินออกทางด้านปัญญา
-พินิจพิจารณาอาการ ๓๒ ที่มีอยู่ภายในร่างกายของเรานี้ ทุกสัดทุกส่วนแยกแยะออกให้เห็นตามความเป็นจริงของมัน ซึ่งหาความเป็นสาระสวยงามอะไรไม่ได้เลย ทั้งเขาทั้งเรา ทั้งสัตว์ทั้งบุคคล ทั้งหญิงทั้งชาย มีสภาพอย่างเดียวกันหมด


โลกมีแต่ความลุ่มหลง เพราะกิเลสหลอกลวง ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นสาระสวยงาม เป็นแก่นสารไปเสียหมดก็เลยลุ่มหลง ลืมมองดูธรรมชาติความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ เราทั้งหลายได้ฟังมาทุกองค์ ได้ยึดมาเป็นเครื่องมือของตนทุกองค์ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่ท่านเรียกว่ากรรมฐาน ๕ แปลแล้วว่า กรรมฐานมีหนังเป็นที่ห้า ตจปัญจกกรรมฐาน ท่านให้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วแต่ความถนัดของใจที่จะถนัดในอาการใด พิจารณาย้อนหน้าย้อนหลัง หรือจะพิจารณาเน้นหนักในอาการใดก็ตามเข้าไปถึงหนัง


ทำไมท่านสอนเพียงถึงหนังแล้วท่านหยุดเสีย เพราะหนังเป็นสิ่งที่ปิดบังความจอมปลอมทั้งหลายเอาไว้ หลอกออกมาด้วยความสวยความงาม ผิวพรรณวรรณะสดสวยงดงาม เอานั้นมาตกเอานี้มาแต่งให้สวยให้งาม ทั้งๆ ที่มันไม่สวยไม่งาม กิเลสมันชอบอย่างนั้นเพราะมันสกปรก เราต้องหาความสะอาดสะอ้านเข้ามาใส่เพื่อกลบความสกปรกนั้น ให้เห็นแต่ความสวยงาม บุรุษสตรีตาฟางก็วิ่งไปตามผิวหนังที่บางๆ นี่แหละ ผิวใครหนามีไหม ไม่ได้หนาเท่าใบลาน ไม่ได้หนาเท่ากระดาษนะ อันหนังบางๆ นี้แหละหุ้มห่อไว้หมดทั้งตัวคน อันบางๆ นี้แหละแต่มันหนายิ่งกว่าภูเขา ปิดกั้นตันทางนักภาวนาไว้ ไม่ให้ธรรมทั้งหลายเข้าถึง เพราะฉะนั้นท่านจึงให้แยกแยะออกมา


ดูผม ดูขน ดูเล็บ ดูฟัน ดูหนัง พิจารณาหนังเป็นยังไง แล้วพิจารณาเข้าไปข้างในของหนัง หนังเป็นยังไง เยิ้มไปด้วยปุพโพโลหิตน้ำเน่าน้ำหนอง ดูเข้าไปข้างในเท่าไรเป็นป่าช้าผีดิบในตัวเขาตัวเรา นี่คือการพิจารณากรรมฐาน ๕ เป็นศาสตราอาวุธที่สำคัญมาก อย่าปล่อยเรื่องร่างกาย สำหรับสัตว์โลกติดกายกันทั้งนั้น ราคะตัณหาก็มีกายเป็นพื้นฐานสำคัญ จะกำเริบเสิบสานขึ้นก็อาศัยร่างกายนี้เป็นเครื่องมือ เราจึงต้องพิจารณาสิ่งนี้เพื่อตัดทอนกำลังวังชาของกิเลสราคะตัณหานี้ให้น้อยลงๆ พิจารณาเห็นชัดเจนเท่าไรในเรื่องร่างกายทั้งข้างนอกข้างในละเอียดทั่วถึงไปหมดแล้ว หลายครั้งหลายหน ดูจนเข้าใจ


พิจารณากลับไปกลับมาเหมือนเขาคราดนา คราดกลับไปกลับมาจนมูลคราดมูลไถแหลกละเอียด ควรแก่การปักดำแล้วเขาก็ปักดำกัน อันนี้การพิจารณากรรมฐาน ๕ มีหนังเป็นสำคัญ ก็พิจารณาเข้าไปจนกระทั่งภายในลึกซึ้ง พอหนังแล้วเป็นเนื้อ เป็นยังไงสวยงามไหมเนื้อ เอ็น กระดูก ตับไตไส้พุง อาหารใหม่อาหารเก่า หมดทั้งคนนี้เป็นส้วมเป็นถานด้วยกันทั้งนั้นแหละ มีหนังเท่านั้นมาหลอกให้เราหลง หลงเขาหลงเราตลอดเวลา เมื่อเปิดหนังออกแล้วมันจะกระจายไปหมด เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงมอบให้เพียง ตจปัญจกกรรมฐาน คือกรรมฐานมีหนังเป็นที่ห้า แล้วก็หยุด พอเลิกหนังออกแล้วดูได้ยังไง เปิดหนังออกแล้วดูได้เมื่อไร ทั้งคนทั้งสัตว์ทั้งผู้หญิงผู้ชายมันดูไม่ได้ นี่ละท่านจึงสอนไปถึงหนังให้พิจารณา



..ให้พิจารณาย้อนหน้าย้อนหลัง อันนี้ให้เป็นตามจริต เวลาเราพิจารณาไปจิตมันสะดุดตรงไหน ปักแน่นที่ตรงไหน อยากจะพิจารณาซ้ำๆ ซากๆ ก็ให้ยึดเอาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา มันจะกระจายไปหมดทั่วสรรพางค์ร่างกายอันนี้


..ใครพิจารณากายได้มากละเอียดลออเท่าไร ผู้นั้นยิ่งจะมีความสะดวกสบายใจ จิตใจจะถอนออกโดยลำดับลำดา เฉพาะอย่างยิ่งราคะตัณหาเป็นสำคัญมาก โลกนี้ติดกันมากติดราคะตัณหา ไม่ว่าสัตว์ว่าบุคคลหญิงชายติดอันนี้ ก็เพราะอันนี้แหละมันหลอก ผิวหนังบางๆ นี่แหละ ท่านจึงสอนเพียงแค่นี้ ให้ขุดค้นเข้าไปดูหลักความจริงของมัน เมื่อเห็นตามหลักความจริงแล้วจะไปยึดไปถือไปรักไปชอบมันที่ไหน หนังก็สักแต่ว่าหนัง เรียกว่าหนังกำพร้าบางๆ แล้วเข้าไปนั้นเยิ้มด้วยปุพโพโลหิตน้ำเน่าน้ำหนอง เต็มไปทั้งเขาทั้งเรา ต้องชะต้องล้างซักฟอกตลอดเวลา มนุษย์นี้ตัวสกปรก ไปอยู่ที่ไหนต้องได้ชะได้ล้าง ทำความสะอาดเช็ดถูกันตลอดเวลา


แม้ที่สุดเครื่องนุ่งห่มก็เหมือนกัน ต้องซักต้องฟอกต้องชะต้องล้าง เพราะร่างกายเป็นของสกปรก ไม่ใช่เป็นของสะอาด จึงต้องชะต้องล้าง เอาอะไรมาเกี่ยวข้องก็ตามกับร่างกายนี้ จะเป็นของสกปรกไปตามกัน เข้าไปอยู่ในบ้านก็ต้องได้เช็ดได้ถู เป็นเสื่อเป็นหมอน ต้องได้เช็ดได้ถูได้ล้างได้ซักได้ฟอกตลอดเวลา เพราะร่างกายเป็นตัวสกปรก ให้เอาตัวนี้เป็นสำคัญ ขอให้พิจารณาอันนี้ให้มากนักปฏิบัติ ถ้าอยากให้จิตใจเบาหวิวๆ พิจารณาร่างกายนี้สำคัญมากนะ เอาให้แหลกให้เหลว เอาให้ทันกาลทันสมัยให้รวดเร็ว


อสุภะอสุภังนี้เวลาพิจารณาทีแรกก็อืดอาดเนือยนาย พอเห็นผลเข้าไปแล้วทีนี้ก็คล่องตัว พิจารณาอสุภะอสุภังนี้คล่องตัวไปหมด มองไปไหนมีแต่อสุภะอสุภังเต็มเนื้อเต็มตัวทั้งเขาทั้งเรา จะไปกำหนัดยินดีกันที่ไหน นี่ละพิจารณาอย่างนี้กรรมฐาน เราบวชมาเพื่อจะรื้อถอนตนให้พ้นจากทุกข์ ต้องเอาตัวที่เป็นเชื้อแห่งทุกข์ทั้งหลายนี้มาพิจารณาให้ดี ตัวนี้เป็นสาเหตุอันสำคัญมากคือร่างกาย พิจารณาให้หนักแน่นในร่างกายอันนี้ คลี่คลายออก ให้ดู ตั้งขึ้นแล้ว เราสมมุติว่าเอาไฟเผาก็ได้ หรือตายแล้วให้เน่าพองก็ได้ ตามแต่อุบายของผู้พิจารณาจะมีความแยบคายต่อการพิจารณาของตน อันนี้สอนไว้เพียงกลางๆ ให้แยกแยะออกไปพิจารณาเอง


อย่างไรก็ตามให้หนักในอันนี้ให้มากนักปฏิบัติ ถ้าอยากอยู่เย็นเป็นสุขไม่ถูกราคะตัณหากวนใจ ต้องพิจารณาอันนี้ให้มากทีเดียว มากเท่าไรสิ่งหลอกทั้งหลายเหล่านั้นจะจางไปๆ แล้วสุดท้ายอสุภะอสุภังปิดกั้นไว้หมด มองดูรูปใดหญิงใดชายใดก็มีแต่อสุภะอสุภังขวางไว้หมดๆ ก็เห็นแต่อสุภะอสุภัง แล้วจะไปติดอะไร นี่ละการพิจารณาร่างกาย ขอให้ยึดอันนี้เป็นหลักนักปฏิบัติ ปล่อยนี้ไม่ได้ ต้องเอาอันนี้ให้เป็นหลักทีเดียว


ทีแรกทำจิตให้สงบก่อน ดังที่ว่านี้แหละ จะสงบด้วยธรรมบทใดก็ให้ทำ พอสงบลงไปแล้วจิตก็เริ่มอิ่มอารมณ์ ไม่อยากคิดอยากรู้อยากเห็น อยากสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งใด นี่คือความหิวโหยของจิต อยากตลอดเวลา อยากคิดอยากปรุงอยากรู้อยากเห็น อยากทดลองทุกอย่าง นี่คือความอยากออกมาจากจิต ทีนี้จิตเมื่อมีความสงบแล้วก็อิ่มอารมณ์เหล่านี้ พอจิตอิ่มอารมณ์เหล่านี้ให้พาทำงานทางปัญญา แยกแยะดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ปอด พังผืด ไต ใส้ใหญ่ใส้น้อย อาหารเก่าอาหารใหม่ ดูให้ตลอดทั่วถึง นี่เรียกว่าเรียนธรรมชาติภายในตัวเอง เรียนกรรมฐานดังที่อุปัชฌาย์ท่านมอบให้พิจารณา


ใครพิจารณาอสุภะอสุภังร่างกายนี้มีความละเอียดลออเท่าไร ผู้นั้นเป็นผู้ที่จะหวังพ้นทุกข์ได้ ความหวังนี้จะใกล้เข้ามาๆ  พิจารณาอันนี้แหลกละเอียดเข้าไปแล้ว มันหากมี นี่เราพูดตั้งแต่ส่วนกลางๆ เอาไว้ พอเรื่องอสุภะอสุภังละเอียดลออเข้าไปแล้ว มันจะหมุนเข้าไปสู่ที่ใจของเรานั้นแหละ เพราะใจเป็นผู้หลง เมื่อใจพิจารณาอะไรรอบหมดแล้วๆ จะเอาอะไรมาหลง เอาอะไรมายึดสิ่งนี้ มันก็หมุนเข้าไปสู่ใจ ตัวอสุภะอสุภังนี้เลยกลายเข้าไปอยู่ที่ใจแห่งเดียวเลย ใจดวงนี้รู้ตัวเองแล้วก็ปล่อยสิ่งทั้งหลาย ใจดวงเดียวนี้หลงเท่านั้น ปรุงขึ้นว่านั้นสวยนี้งาม ใจเป็นผู้ปรุง พอมารู้ตัวใจซึ่งเป็นมหาโจรนี้แล้วปล่อยข้างนอกออกหมด นี่เป็นขั้นอันหนึ่งแล้ว


พอถึงขั้นนี้ปล่อยอสุภะอสุภัง สลัดออกได้เลยภายนอก เป็นอสุภะอสุภังภายในเข้ามา ปรุงอะไรขึ้นมามันก็เข้าหาใจๆ ใจเป็นอสุภะอสุภัง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่ที่นี่หมด มันก็ปล่อยอสุภะภายนอกเข้ามาเป็นอสุภะภายใน เป็นอสุภะภายใน นี่เป็นขั้นหนึ่งแล้วนะ ขั้นจะตัดสินราคะตัณหา พิจารณาเข้ามา พอถึงนี้แล้วก็ปล่อย แล้วฝึกซ้อมตัวเอง เพราะตามนิสัยของคนเราส่วนมากจะมี ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า เราต้องฝึกซ้อมเราตลอดเวลา เช่นในขั้นนี้มาถึงขั้นที่ปล่อยวางอสุภะอสุภัง ที่ได้ชำนิชำนาญเต็มตัวจนอสุภะอสุภังไหลเข้ามาสู่หัวใจดวงนี้แล้ว ก็ปล่อยอสุภะภายนอก พิจารณาฝึกซ้อมหัวใจภายในที่มันเกิดดับๆ นี้จนละเอียดเข้าไปๆ จิตใจก็ว่างเปล่าไปเลยๆ นี่เรียกว่าฝึกซ้อมของจิตในขั้นราคะตัณหาขาดลงไปในขั้นแรก คือขั้นนี้เอง


พออันนี้ขาดลงไป ส่วนที่เป็นสนิมหรือเป็นอะไรเป็นผิวเป็นผงมันติดอยู่นั้น มันยังไม่ออก ก็ค่อยขัดค่อยฝึกค่อยซ้อมให้ละเอียดลออเข้าไป จิตใจก็ละเอียดเข้าไปๆ เรื่อยเข้าไป จนกระทั่งถึงความพอทุกอย่างแล้วปล่อยหมดโดยสิ้นเชิง นี่สอนให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้นะ วิธีการให้ถือรากฐานสำคัญในกรรมฐาน ๕ นี้เป็นของเล่นเมื่อไร พิจารณาในกรรมฐาน ๕ นี้จบแล้วปล่อยราคะตัณหาได้เลย เพราะราคะตัณหานี้หนักหน่วงมากนะ ไม่มีอะไรที่จะเหนือราคะตัณหานี้ไปได้


โลกธาตุที่ออกฤทธิ์ออกเดชอยู่ทุกวันนี้ ทำสัตว์ให้ล่มให้จมมา แต่ไม่มีความเข็ดความหลาบก็คือราคะตัณหานี้เองจะเป็นตัวไหนไป พอรู้ตัวนี้แล้วมันเปิดโล่งออกไปหมดเลย มันจะไปติดอะไรเพียงเท่านี้ เรื่องที่มันวุ่นวี่วุ่นวายหนักที่สุดหน่วงที่สุด ถ่วงจิตใจที่สุด คือเรื่องกามกิเลสนี้เอง พอตัวนี้ขาดสะบั้นไปจากใจแล้ว โลกนี้เหมือนว่าบ้านร้างนะ บ้านร้างแต่มีคนอยู่ ฟังซิน่ะ บ้านนี้ร้างแต่ทำไมมีคนอยู่ แต่ก่อนมีบ้านมีคนด้วย คนนั้นคือคนอันธพาล อันธพาลคือตัวราคะตัณหานี้มันก่อมันกวนยุ่งเหยิงวุ่นวายตลอดเวลา พออันนี้ขาดสะบั้นลงไปแล้วก็มีแต่ความดิบความดี ธรรมเป็นธรรมอัตโนมัติแล้วที่นี่ พิจารณานี่เรียกว่ามีแต่คนดีอยู่ในบ้านในเรือน ไม่แสดงเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นทำให้บ้านไม่สงบ มีแต่คนมีศีลมีธรรม สวยงาม บ้านก็สงบ


พิจารณาฝึกซ้อมเข้าไปโดยนามธรรมล้วนๆ เข้าไปเลย เรื่องรูปธรรมหมดแล้วตั้งแต่อสุภะขาดสะบั้นลงไปจากใจ เป็นอสุภะภายในก็กลายเป็นนามธรรมไปแล้ว ทีนี้อันนี้ละเอียดเข้าไปเป็นนามธรรมล้วนๆ แล้วมันเกิดขึ้นจากที่ไหนๆ ไล่ไปไล่มา ทบทวนไปมา มันก็วิ่งเข้าไปหาจิตๆ หมุนเข้าหมุนออกอยู่ที่จิต จิตตามเข้าไปๆ ด้วยอัตโนมัตินะ ธรรมขั้นนี้เป็นธรรมขั้นสติปัญญาอัตโนมัติ เราไม่ได้บอกว่าเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ ตั้งแต่ราคะตัณหาอสุภะอสุภังขาดจากใจไปแล้ว สติปัญญาเป็นสติปัญญาอัตโนมัติละที่นี่ ฝึกซ้อมตัวเองคล่องเข้าไปๆ จนกลายเป็นมหาสติมหาปัญญา มหาสติมหาปัญญานี้กำลังจ่อเข้าในพระราชวัง คือ อวิชฺชาปจฺจยา กษัตริย์ใหญ่ มหาสติมหาปัญญาจ่อเข้าไป พิจารณาเข้าไป เดี๋ยวก็ไปโดนเอาตัวนั้นแหละ ขาดสะบั้นลงไปเลยที่นี่


มหาสติมหาปัญญาก็เป็นสติปัญญาอัตโนมัติ ออกไปจากสติปัญญาอัตโนมัติของขั้นอนาคามี ก้าวเข้าไปสู่มหาสติมหาปัญญา เข้าถึงอกนิษฐาแล้วจะก้าวเข้าสู่นิพพาน นิพพานก็มี อวิชฺชาปจฺจยา กีดขวางอยู่ข้างหน้า ฟาดอวิชชาขาดสะบั้นลงไปแล้ว ทีนี้จิตนี้ว่างไปหมดเลย ไม่มีอะไรในโลกนี้ เมื่ออวิชชาตัวกษัตริย์วัฏจักรขาดสะบั้นลงไปแล้ว นั่นละตัวภพตัวชาติ รังแห่งภพแห่งชาติที่แท้จริง ออกมาจากอวิชชา ขาดสะบั้นลงไปแล้วหมดโดยสิ้นเชิง นี่ท่านเรียกว่าบรรลุธรรมรู้ไหม อรหัตธรรมละขั้นนี้แล้ว ขั้นนี้ก็โสดา สกิทา อนาคา ไปโดยลำดับ แล้วก็ถึงขั้นอรหันต์ อรหันต์ก็คือฆ่าอวิชชาขาดสะบั้นลงไปแล้ว นั่นเป็นอรหันต์ขึ้นที่นี่


อรหันต์เกิดที่ไหน พิจารณาซิ ที่พูดนี้พูดเรื่องอะไร มันติดอะไรเวลานี้ จิตใจเรามันติดอะไร ก็ติดดังที่แสดงมาแล้ว แยกออกๆ พิจารณาออก เบิกออก กว้างออกๆ ก้าวเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงอวิชชา ฟาดกษัตริย์วัฏจักรนั้นขาดสะบั้นลงไปจากใจแล้วผางขึ้นมาทันที อันนี้ตามแต่จริตนิสัยนะ ตอนจิตที่จะผ่านพ้นจากวัฏจักรโดยสิ้นเชิงนี้ อาจมีนิสัยต่างกัน นิสัยบางอย่างก็ไปเรียบๆ ขาดไปเลยก็มี นิสัยบางอย่างผาดโผนโจนทะยาน ประหนึ่งว่าฟ้าดินถล่มเลย เป็นต่างกันนะ แต่ก็เป็นเรื่องของกิเลสคืออวิชชาขาดสะบั้นลงไปจากใจนั่นเอง เหมือนกัน เป็นแต่เพียงว่ากิริยานี้ต่างกันตามจริตนิสัย อุปนิสัยของผู้บำเพ็ญ ไม่ใช่เหมือนกัน


จะเหมือนหรือไม่เหมือนก็ตาม พออวิชชาขาดลงไปก็รู้ด้วยกันนั้นแหละ ขาดสะบั้นลงไปแล้ว ทีนี้เป็นยังไงเรื่องความเกิดความตายที่เป็นมาจากไหนถึงไหนๆ มายุติลงที่จุดนี้ อวิชชาขาดแล้วจิตทีนี้เป็นยังไง ดับไหม สูญไหม ตั้งแต่เกิดเป็นเปรตเป็นผี เป็นสัตว์เป็นบุคคล จนกระทั่งลงนรกอเวจี จิตนี้ไม่เคยสูญ ทุกข์ยอมรับว่าทุกข์ จะทุกข์มากทุกข์น้อยยอมรับว่าทุกข์ทั้งนั้น แต่ไม่ฉิบหายๆ เมื่อฟื้นตัวได้แล้วก็พลิกมาทางดีๆ เรื่อยๆ ฟาดจนกระทั่งถึงนิพพานแล้วสูญไหม พออวิชชาขาดสะบั้นไปหมดแล้ว จิตดวงนี้เป็นจิตที่เลิศเลอ ท่านให้ชื่อสามอย่างสี่อย่าง มหาวิมุตติ หรือว่านิพพาน หรือธรรมธาตุ เป็นไวพจน์ของกันและกัน พูดอะไรแล้วเหมือนกัน คือธรรมธาตุ ความหลุดพ้นอันเลิศเลออย่างเดียวกัน


ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ศึกษาเล่าเรียนมาแล้วให้มาปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วผลจะปรากฏขึ้นจนกระทั่งถึงความสิ้นสุดวิมุตติพระนิพพาน นี่เรียกว่าปฏิเวธธรรมโดยสมบูรณ์ ศาสนาสมบูรณ์ในธรรมทั้งสามประเภทนี้กลมกลืนกัน เฉพาะอย่างยิ่งปริยัติกับปฏิบัติต้องเกี่ยวเนื่องกันตลอดเวลา ปฏิเวธจะแสดงผลขึ้นมาโดยลำดับลำดา ...."







Create Date : 26 กรกฎาคม 2554
Last Update : 26 กรกฎาคม 2554 22:01:49 น. 0 comments
Counter : 1275 Pageviews.

mcayenne94
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 36 คน [?]




Bangkok

Kyoto

Sydney

Mcayenne94's Diary มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกเรื่องราวของเจ้าของบ้านและสิ่งแวดล้อม ไม่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการ จัดจำหน่าย ต้นไม้ดอกไม้ หรือสิ่งใด อนุญาตให้นำภาพถ่าย พร้อมชื่อMcayenneผู้ถ่ายภาพไปใช้ประโยชน์ได้ และสงวนสิทธิ์ไม่อนุญาตให้นำภาพถ่าย Mcayenne ไปใช้ โดยการดัดแปลงตัดต่อหรือลบชื่อภายในภาพ
Friends' blogs
[Add mcayenne94's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.