Group Blog
 
<<
มกราคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
26 มกราคม 2553
 
All Blogs
 
26 มค 53 ลิลิตตะเลงพ่าย

เรื่องลิลิตตะเลงพ่าย
พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส



-แต่งด้วยลิลิตสุภาพ ซึ่งประกอบด้วยร่ายสุภาพ โคลงสองสุภาพ โคลงสามสุภาพ และโคลงสี่สุภาพ แต่งสลับกันไป จำนวน ๔๓๙ บท








-โดยได้แบบอย่างการแต่งมาจากลิลิตยวนพ่าย ที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น
-ลิลิตเปรียบได้กับงานเขียนมหากาฬ จัดเป็นวรรณคดีประเภทเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์

ลิลิต คือ คำประพันธ์ชั้นสูง ที่ต้องใช้ถ้อยคำ สำนวนโวหารทั้งของไทย และที่ได้จากต่างประเทศ การแต่งลิลิตจะประกอบด้วยร่าย และโคลง มี ๒ ประเภท

๑.ลิลิตสุภาพ แต่งด้วยร่ายสุภาพ และโคลงสุภาพ
๒.ลิลิตโบราณ แต่งด้วยร่ายดั้น และโครงดั้น


จุดมุ่งหมายในการนิพนธ์
๑.เพื่องานพระราชพิธีฉลองตึกวัดพระเชตุพนฯ ในรัชกาลที่3
๒.เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
๓.เพื่อผู้นิพนธ์จะได้อานิสงค์บรรลุนิพพาน

ตะเลง แปลว่า มอญ  พ่าย แปลว่า แพ้ รวมความหมายว่า มอญแพ้  แต่ในที่นี้ หมายถึง รวมพม่าด้วย เพราะเมื่อพม่าได้ครอบครองดินแดนและยึดเมืองหลวงของมอญ คือ กรุงหงสาวดี เป็นเมืองหลวงของตน พระเจ้าแผ่นดินจึงเป็นพระเจ้าแผ่นดินมอญด้วย และทหารที่เกณฑ์มารบก็มีทหารมอญปะปนมาด้วยมากมาย เราจึงเรียกพม่าและมอญรวมๆไปว่า " ตะเลง "



เนื้อหา
ตอนที่ ๑ อาเศียรวาท
ตอนที่ ๒ เหตุการณ์ทางเมืองมอญ
ตอนที่ ๓ พระมหาอุปราชายกทัพเข้าเมืองกาญจนบุรี
ตอนที่ ๔ สมเด็จพระนเรศวรทรงปรารภเรื่องตีเมืองเขมร
ตอนที่ ๕ สมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมการสู้ศึกมอญ
ตอนที่ ๖ พระนเรศวรทรงตรวจเตรียมทัพ
ตอนที่ ๗ พระมหาอุปราชทรงปรึกษาการศึกแล้วยกทัพเข้าปะทะทัพหน้าของไทย
ตอนที่ ๘ พระนเรศวรทรงปรึกษายุทธวิธีเอาชนะศึก
ตอนที่ ๙ ทัพหลวงเคลื่อนพล ช้างทรงพระนเรศวรและพระเอกาทศรถฝ่าเข้าไปในกองทัพข้าศึก
ตอนที่ ๑๐ ยุทธหัตถี และชัยชนะของไทย
ตอนที่ ๑๑ พระนเรศวรทรงสร้างสถูปและปูนบำเหน็จทหาร
ตอนที่ ๑๒ สมเด็จพระวันรัตขอพระราชทานอภัยโทษ




ตอนที่ ๑๐ ยุทธหัตถี และชัยชนะของไทย

๑๒๙/๓๐๑ โคลง๔
นฤบาลบพิตรเผ้า ภูวนา ยกแฮ
ผายสิหนาทกถา ท่านพร้อง
ไพเราะราชสุภา- ษิตสื่อ สารนา
เสนอบ่มีข้อข้อง ขุ่นแค้นคำไข

๑๓๐/๓๐๒
อ้าไทภูธเรศหล้า แหล่งตะเลง โลกฤๅ
เผยพระยศยินเยง ย่านแกล้ว
สิบทิศทั่วลือละเวง หวั่นเดช ท่านนา
ไป่เริ่มรอฤทธิ์แผ้ว เผือดกล้าแกลนหนี

๑๓๑/๓๐๓
พระพี่พระผู้ผ่าน ภพอุต- ดมเอย
ไป่ชอบเชษฐ์ยืนหยุด ร่มไม้
เชิญราชร่วมคชยุทธิ์ เผยยอเกียรติ ไว้แฮ
สืบกว่าสองเราไสร้ สุดสิ้นฤๅมี

๑๓๒/๓๐๔
หัสดีรณเรศอ้าง อวสาน นี้นา
นับอนาคตกาล ห่อนพ้อง
ขัตติยายุทธ์บรรหาร คชคู่ กันแฮ
คงแต่เผือพี่น้อง ตราบฟ้าดินกษัย

๑๓๓/๓๐๕
ไว้เป็นมหรสพซ้อง สุขศานติ์
สำหรับราชสำราญ เริ่มรั้ง
บำเทิงหฤทัยบาน ประดิยุทธ์ นั้นนา
เสนอเนตรมนุษย์ตั้ง แต่หล้าเลอสรวง

๑๓๔/๓๐๖
ป่วงไท้เทเวศทั้ง พรหมมาน
เชิญประชุมในสถาน ที่นี้
ชมชื่นคชบำราญ ตูต่อ กันแฮ
ใครเชี่ยวใครชาญชี้ ชเยศอ้างอวยเฉลิม

๑๓๕/๓๐๗
หวันเริ่มคุณเกียรติก้อง กลางรงค์
ยืนพระยศอยู่คง คู่หล้า
สงครามกษัตริย์ทรง ภพแผ่น สองฤๅ
สองราชรอนฤทธิ์ร้า เรื่องรู้สรรเสริญ

๑๓๖/๓๐๘
ดำเนินพจน์พากย์พร้อง พรรณนา
องค์อัครอุปราชา ท่านแจ้ง
กอบเกิดขัตติยมา- นะนึก หาญเฮย
ขับคชเข้ายุทธ์แย้ง ด่วนด้วยโดยถวิล

๑๓๗/๓๐๙
หัสดินปิ่นธเรศไท้ โททรง
คือสมิทธิมาตงค์ หนึ่งอ้าง
หนึ่งคือศิริเมขล์มง คลอาสน์ มารเอย
เศียรส่ายหงายงาคว้าง ไขว่แคว้งแทงโถม

๑๓๘/๓๑๐
สองโจมสองจู่จ้วง บำรู
สองขัตติยสองขอชู เชิดด้ำ
กระลึงกระลอกดู ไวว่อง นักนา
ควาญขับคชแข่งค้ำ เข่นเขี้ยวในสนาม

๑๓๙/๓๑๑
งามสองสุริยราชล้ำ เลอพิศ นาพ่อ
พ่างพัชรินทรไพจิตร ศึกสร้าง
ฤๅรามเริ่มรณฤทธิ์ รบราพณ์ แลฤๅ
ทุกเทศทุกทิศอ้าง อื่นไท้ไป่เทียม

๑๔๐/๓๑๒
ขุนเสียมสามรรถต้าน ขุนตะเลง
ขุนต่อขุนไป่เยง หย่อนห้าว
ยอหัตถ์เทิดลบองเลบง อังกุศ ไกวแฮ
งามเร่งงามโทท้าว ท่านสู้ศึกสาร

๑๔๑/๓๑๓
คชยานขัตติเยศเบื้อง ออกถวัลย์
โถมปะทะไป่ทัน เหยียบยั้ง
สารทรงราชรามัญ ลงล่าง แลนา
เสยส่ายท้ายทันต์ทั้ง คู้ค้ำคางเขิน

๑๔๒/๓๑๔
ดำเนินหนุนถนัดได้ เชิงชิด
หน่อนเรนทรทิศ ตกด้าว
เสด็จวราฤทธิ์ รำร่อน ขอแฮ
ฟอนฟาดแสงของ้าว อยู่เพี้ยงจักรผัน

๑๔๓/๓๑๕
เบื้องนั้นนฤนาถผู้ สยามมินทร์
เบี่ยงพระมาลาผิน ห่อนพ้อง
ศัสตราวุธอรินทร์ ฤๅถูก องค์เอย
เพราะพระหัตถ์หากป้อง ปัดด้วยขอทรง

๑๔๔/๓๑๖
บัดมงคลพ่าห์ไท้ ทวารัติ
แว้งเหวี่ยงเบี่ยงเศียรสะบัด ตกใต้
อุกคลุกพลุกเงยงัด คอคช เศิกแฮ
เบนบ่ายหงายแหงนให้ ท่วงท้อทีถอย

๑๔๕/๓๑๗
พลอยพล้ำเพลียกถ้าท่าน ในรณ
บัดราชฟาดแสงพล- พ่ายฟ้อน
พระเดชพระแสดงดล เผด็จคู่ เข็ญแฮ
ถนัดพระอังสางข้อน ขาดด้าวโดยขวา

๑๔๖/๓๑๘
อุรารานร้าวแยก ยลสยบ
เยนพระองค์ลงทบ ท่าวดิ้น
เหนือคอคชซอนซบ สังเวช
วายชิวาตม์สุดสิ้น สู่ฟ้าเสวยสวรรค์

๑๔๗/๓๑๙
บั้นท้ายคชาเรศท้าว ไทยไผท
ถึงพิราลัยลาญ ชีพมล้าง
เพราะเพื่อพิพิธไพ- รีราช แลนา
โซรมสาดตราดปืนขว้าง ตอกต้องตนสลาย

๑๔๘/๓๒๐
ฝ่ายองค์อิศวรนาถน้อง นฤบาล
แสดงยศคชยุทธยาน ยาตรเต้า
มางจาชโรราญ ฤทธิ์ราช แลฤๅ
เร็วเร่งคเชนทรเข้า เข่นค้ำบำรู

๑๔๙/๓๒๑
บัดภูธเรศพ่าห์ได้ เชิงชน
ลงล่างง้างโททนต์ เทิดใต้
พัชเนียงเบี่ยงเบนตน เซซวน ไปแฮ
หัวปั่นหันข้างให้ เพลี่ยงพลั้งเสียที

๑๕๐/๓๒๒
ภูมีมือง่าง้าว ของอน
ฟันฟาดขาดคอบร บั่นเกล้า
อินทรีย์ซบกุญชร เมือชีพ แลเฮย
เผลพระเกียรติผ่านเผ้า พี่น้องสองไท
๑๕๑/๓๒๓

ทันใดกลางคชเจ้า จุลจักร
มลายชิพิตลาญทัก ท่าวซ้ำ
เหลือหลามเหล่าปรปักษ์ ปืนป่าย เอาเฮย
ตรึงอกพกตกขว้ำ อยู่เบื้องบนสาร

๑๕๒/๓๒๔
พระราญอริราชด้วย เดโช
สี่ทาสสนองบาทโท ท่านท้าว
พระยศยิ่งภิยโย ผ่านแผ่ ภพนา
สองรอดโดยเสด็จด้าว ศึกสู้เสียสอง

ร่าย ๑๕๓/๓๒๕ จึ่งกองพยุหทวยทัพ สรรพหลังหน้าขวาซ้าย ผ้ายทันธิบดินทร์ ขณะอรินทรพินาศ ขาดคอคชสองเสร็จ ต่างรีบระเห็จเข้าโรม โหมหักหาญราญรุก บุกบั่นฟันแทงฆ่า พม่ามอญไทยใหญ่ ไล่ล้างลาวดาษดวน ไล่มล้างยวนดาษดื่น ตื่นกันแตกกันตายหลายเหลือนับเนืองนอง กองก่ายกายรายหัว ตัวขาแขนเด็ดดาษ กลาดกลางท่งกลางเถื่อน เกลื่อนกลางดงกลางดอน แล่นซอกซอนซนซุก บุกทุกภายพ่ายแพ้ เพราะพระเดชท่านแท้ หากให้ขาดเข็ญ แลนา

๑๕๔/๓๒๖ โคลง๒
เห็นประภาพเจ้าช้าง เชี่ยวกว่าเชี่ยวเหลืออ้าง เอิกอื้ออัศจรรย์ ยิ่งนา

๑๕๕/๓๒๗
ขวัญหนีดีฝ่อพ้น พวกอเรนทร์ด่วนด้น ดัดดั้นทางทวน ไปนา ฯลฯ




สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
พระประวัติ
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรกที่ทรงได้รับสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ทรงสถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงสมณศักดิ์เมื่อปี พ.ศ. 2394 ถึงปี พ.ศ. 2396
วันประสูติ
๐ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๓๓ วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๕ ค่ำ ปีจอ จ.ศ. ๑๑๕๒ พ.ศ. ๒๓๓๓
วันสถาปนา ๐ วันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ ในรัชกาลที่ ๔
วันสิ้นพระชนม์ ๐ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ วันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๙ ค่ำ ปีฉลู ในรัชกาลที่ ๔
พระชนมายุ ๐ ๖๓ พรรษากับ ๔ วัน
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ๑ ปี ๔ เดือน
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจุ้ย (ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นท้าวทรงกันดาล) เมื่อปี พ.ศ. 2333 มีพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวาสุกรี ทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุได้ 12 พรรษา เมื่อปี พ.ศ. 2345 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ แล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงศึกษาหนังสือไทยและภาษาบาลีตลอดทั้งวิชาอื่น ๆ จากสมเด็จพระพนรัตน์ จนทรงมีพระปรีชาสามารถ ทั้งทางคดีโลก และคดีธรรม มีผลงานอันเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงให้รวมวัดในแขวงกรุงเทพมหานคร ขึ้นเป็นคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกลาง แล้วได้สถาปนากรมหมื่นนุชิตชิโนรสให้ดำรงสมณศักดิ์เสมอเจ้าคณะรอง และทรงตั้งเป็นเจ้าคณะกลาง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงสมณศักดิ์เป็นพระมหาสังฆปริณายก ทั่วพระราชอาณาเขต ให้จัดตั้ง พระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามมีทั้งพิธีสงฆ์ และพิธีพราหมณ์ คล้ายกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของคณะสงฆ์ไทย

เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็ว่างตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจจะเนื่องจากไม่มีพระเถระรูปใดมีคุณสมบัติอยู่ในฐานะที่จะทรงสถาปนาตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ ตามพระราชประเพณีนิยมที่มีมาแต่โบราณ พระเถระที่จะทรงตั้งเป็น สมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระราชาคณะ นั้น ก็เฉพาะผู้ทรงคุณสมบัติพิเศษ คือเป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นอาจารย์เป็นที่ทรงนับถือเหมือนอย่างพระอุปัชฌาย์ หรือพระอาจารย์ หรือเป็นผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า มีอายุแก่กว่าพระชนมพรรษา

แม้ว่าจะว่างสมเด็จพระสังฆราช แต่การปกครองคณะสงฆ์ก็สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี เนื่องจากแต่โบราณมา พระมหากษัตริย์ทรงถือเป็นพระราชภาระในการปกครองดูแลคณะสงฆ์ โดยมีเจ้านาย หรือขุนนางผู้ใหญ่ในตำแหน่ง เจ้ากรมสังฆการี เป็นผู้กำกับดูแลแทนพระองค์ สมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยตรง ทรงดำรงฐานะปูชนียบุคคล การปกครองในลักษณะนี้ ได้มาเปลี่ยนแปลงไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า การเรียกพระนามพระบรมราชวงศ์ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลแต่เดิมนั้นเรียกตามพระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์ ไม่ได้เรียกตามสมณศักดิ์ของพระประมุขแห่งสังฆมณฑล คือ "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ" หรือที่เรียกอย่างย่อว่า "สมเด็จพระสังฆราช" พระองค์จึงเปลี่ยนคำนำพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลว่า "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า" เพื่อให้ปรากฏพระนามในส่วนสมณศักดิ์ด้วย ดังนั้น จึงเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส"

พระอัจฉริยภาพ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงมีพระอัจฉริยภาพหลายด้าน ในทางอักษรศาสตร์ ก็ได้นิพนธ์เรื่องฉันท์มาตราพฤติ และวรรณพฤติ ตำราโคลงกลบท คำกฤษฎี เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้นิพนธ์บทกวีอีกเป็นจำนวนมาก ที่ล้วนมีคุณค่าเป็นเพชรน้ำเอกทางวรรณกรรมของไทยตลอดมา

สำหรับวรรณกรรมศาสนา ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องพระปฐมสมโพธิกถา ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก หรือร่ายยาวมหาชาติ ซึ่งนับเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกทางพระพุทธศาสนาในสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้มากเช่น ลิลิตตะเลงพ่าย พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เทศนาพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ลิลิตกระบวนพยุหยาตราพระกฐินสถลมารค และชลมารค เป็นต้น

ในทางพระพุทธศิลป์ ได้ทรงคิดแบบพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงเลือกพระอิริยาบทต่าง ๆ จากพุทธประวัติเป็นจำนวน 37 ปาง เริ่มตั้งแต่ปางบำเพ็ญทุกขกิริยา จนถึงปางห้ามมาร พระพุทธรูปปางต่าง ๆ เหล่านี้

ในปี พ.ศ. 2533 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปี พ.ศ. 2533 นับเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ได้รับการถวายเกียรตินี้

พระนิพนธ์
สรรพสิทธิคำฉันท์
สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์
ฉันท์ดุษฏีสังเวยกล่อมช้างพัง
กาพย์ขับไม้กล่อมช้างพัง
ฉันท์มาตราพฤติ
ฉันท์วรรณพฤติ
ลิลิตตะเลงพ่าย
ลิลิตกระบวนพยุหยาตราพระกฐินสถลมารคและชลมารค
โคลงยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปฏิสังขรวัดพระเชตุพน
ร่ายทำขวัญนาค
เทศน์มหาชาติ ๑๑ กันฑ์
ตำราพระพุทธรูปต่างๆ
ปฐมสมโพธิกถา
พระธรรมเทศนาพงศาวดากรุงศรีอยุธยา
ลิลิตจักรทีปนี (เป็นตำราโหราศาสตร์)
กลอนเพลงยาวเจ้าพระ
คำฤษฏี (หนังสือรวบรวมศัพท์)
โคลงเบ็ดเตล็ดต่างๆ เช่น โคลงฤษีดัดตน โคลงภาพต่างภาษา
ฉันท์สังเวยกลองวินิจฉัยเภรี
กุรุธรรมชาฏก
ฯลฯ
//th.wikipedia.org/



Create Date : 26 มกราคม 2553
Last Update : 27 มกราคม 2553 7:08:39 น. 3 comments
Counter : 13130 Pageviews.

 
ปางอุภัยภูเบศเบื้อง บูรพ์ถวัลย ราชย์แฮ
เรียบพิริยพลพรรค์ พรั่งพร้อม
เจียนจวบรวิวรรณ ร่างเรื่อ แลฤๅ
ทวยทิชากรน้อม นอบนิ้วเสนอทูล


โดย: ghhk IP: 117.47.17.235 วันที่: 26 มิถุนายน 2553 เวลา:18:26:22 น.  

 

ขอบคุณ ความเห็น คุณ ghhh ค่ะ
ตอนที่ ๘ พระนเรศวรทรงปรึกษายุทธวิธีเอาชนะศึก


โดย: mcayenne94 วันที่: 26 มิถุนายน 2553 เวลา:20:01:24 น.  

 
ตัวละครเด่นๆที่บางคนอาจจะอ่านย่อเเล้วยังอึนๆนะ
ฝ่ายไทย
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ
ฝ่ายพม่า
พระเจ้าหงสาวดี พระมหาอุปราชา


โดย: misterkang IP: 110.77.166.34 วันที่: 29 สิงหาคม 2555 เวลา:21:26:45 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

mcayenne94
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 36 คน [?]




Bangkok

Kyoto

Sydney

Mcayenne94's Diary มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกเรื่องราวของเจ้าของบ้านและสิ่งแวดล้อม ไม่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการ จัดจำหน่าย ต้นไม้ดอกไม้ หรือสิ่งใด อนุญาตให้นำภาพถ่าย พร้อมชื่อMcayenneผู้ถ่ายภาพไปใช้ประโยชน์ได้ และสงวนสิทธิ์ไม่อนุญาตให้นำภาพถ่าย Mcayenne ไปใช้ โดยการดัดแปลงตัดต่อหรือลบชื่อภายในภาพ
Friends' blogs
[Add mcayenne94's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.