เมื่อตะวันยอแสง..เรี่ยวแรงก็เริ่มอ่อนล้า..พักลงตรงนี่ที่เดิมแล้วหลับตา..
Group Blog
 
<<
มกราคม 2559
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
31 มกราคม 2559
 
All Blogs
 

พระบารมีคือพระราชอำนาจที่แท้จริงของพระมหากษัตริย์



922924_829941263794364_4129312169586370897_n

พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่ต้นจนปัจจุบันจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ เริ่มตั้งแต่ในยุคที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเป็นที่ล้นพ้นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนมาถึงยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการปกครองคือในช่วงยี่สิบปีแรกของระบอบประชาธิปไตย

      ในเวลานั้นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จะมีมากหรือน้อยเพียงใด ก็เป็นที่สงสัยโต้เถียงกันอยู่ในระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลผู้ครองอำนาจอยู่ในเวลานั้น พฤติการณ์ดังกล่าวอาจเปรียบได้กับการแกว่งตัวของลูกตุ้มนาฬิกา เดิม “ลูกตุ้ม” คือ พระราชอำนาจนี้ เหวี่ยงไปไกลในข้างที่เป็นพระราชอำนาจเด็ดขาดของสถาบันพระมหากษัตริย์

      ครั้นพอมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้น “ลูกตุ้ม” ก็เหวี่ยงกลับไปในอีกหนทางหนึ่งตรงกันข้าม คือ พยายามลิดรอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้เหลือแต่น้อยเพียงเท่าที่จำเป็นต้องมีตามรูปแบบแห่งพิธีการแต่วันเวลาที่ผ่านไปในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยนับจนถึงปัจจุบันกว่าหกสิบปีแล้ว ได้ทำให้อาการแกว่งผิดปกติของ “ลูกตุ้ม” กลับคืนเข้าสู่ดุลแห่งธรรมชาติ

FB_IMG_1451400535667

ดุลแห่งธรรมชาติในที่นี้ หมายถึง ข้อเท็จจริงที่เป็นสากลว่า ประมุขของรัฐต่างๆ นั้น นอกจากอำนาจที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆ แล้ว ยังมีอำนาจที่เกิดขึ้นโดยจารีตประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติอื่นๆ อีกมาก ที่มิได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ที่ใด การพิจารณาว่า อำนาจของประมุขแห่งรัฐมีอยู่เป็นอย่างไรนั้น จึงต้องพิจารณาทั้งสองส่วนนี้ประกอบกัน จึงจะแลเห็นภาพแห่งความเป็นจริงที่ถูกต้อง

     พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงมีทั้งพระราชอำนาจในส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้ และทั้งส่วนที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

     พระราชอำนาจข้อสำคัญที่สุด ก็คือ “พระราชอำนาจที่จะทรงได้รับคำกราบบังคมทูลและการปรึกษาหารือจากรัฐบาล”

     ด้วยพระราชอำนาจในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กว้างขวาง ครอบคลุมขอบข่ายราชการแผ่นดินทุกอย่าง แต่เราไม่สู้จะได้มองเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนนัก เพราะการใช้พระราชอำนาจอย่างนี้ เป็นการภายในระหว่างพระมหากษัตริย์กับคณะรัฐมนตรีโดยลำพัง

qq15

     การใช้พระราชอำนาจในข้อนี้หรือในเรื่องอื่นก็ตาม จะได้ผลจริงจังมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการคือ

  1. ความจงรักภักดีของราษฎร

ถ้าพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยพระองค์ใด ทรงอยู่ในฐานะซึ่งเป็นที่ภักดีของพสกนิกร การที่จะทรงใช้พระราชอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญย่อมมีผลอยู่มาก ตรงกันข้ามพระมหากษัตริย์พระองค์ใด ไม่เป็นที่เคารพภักดีของราษฎร แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติถวายพระราชอำนาจให้มากเพียงใดก็ตาม ทุกคราวที่จะทรงใช้พระราชอำนาจเหล่านั้น ก็คงจะต้องทรงยั้งคิดเหมือนกันว่า เรื่องนี้ถ้าใช้พระราชอำนาจแล้ว ประชาชนจะมีความเห็นเป็นอย่างไร

  1. พระบารมีของพระมหากษัตริย์

    ปัจจัยสำคัญที่สุดข้อหนึ่ง ที่จะทำให้ขอบเขตการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ กว้างขวางมากหรือน้อยแตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย ก็คือ “พระบารมี” ของพระมหากษัตริย์ แต่ละพระองค์ไป พระบารมีนี้ หมายถึง “อำนาจที่จะคุ้มครองให้ผู้อื่นปลอดภัยได้” อำนาจนี้ย่อมมาจากคุณความดีของพระมหากษัตริย์ ได้แก่ “ทศพิธราชธรรม” นั่นเอง เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงยึดมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม ก็เป็นที่รักใคร่ยกย่องของมหาชนทำให้มีอำนาจเป็นที่เกรงกลัวของคนพาลและเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้

     ปัจจัยที่จะเป็นผลให้พระบารมีเพิ่มพูนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายประการ เช่น ระยะเวลาหรือความยืนยาวแห่งรัชสมัย ยิ่งพระมหากษัตริย์ทรงครองแผ่นดินนานช้าเพียงใด ประสบการณ์ในหน้าที่พระมหากษัตริย์ ก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น

qq16

     อาทิ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงครองราชย์มาตั้งแต่ พ.ศ.2489 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่าหกสิบปี อันเป็นเวลาช้านานนัก จนอาจกล่าวได้ว่านายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือแม้กระทั่งองคมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน ล้วนมีประสบการณ์ในราชการแผ่นดินน้อยกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากกว่ามาก ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลไปกี่ชุด เลือกตั้งไปกี่ครั้ง หรือเปลี่ยนรัฐธรรมนูญไปกี่ฉบับก็ตาม

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ก็ยังคงเป็นพระประมุขของรัฐ คราใดก็ตามที่ทรงใช้พระราชอำนาจพระราชทานคำแนะนำให้แก่รัฐบาล ก็หมายความว่า พระราชกระแสแนะนำนั้น เป็นผลแห่งพระบรมราชวินิจฉัยที่ทรงกลั่นกรองดีแล้ว ที่รัฐบาลพึงรับใส่เกล้าฯ ใคร่ครวญด้วยความรอบคอบ

แต่ที่กล่าวดังนี้ ก็มิได้หมายความว่าระยะเวลาในสิริราชสมบัติจะเป็นปัจจัยอย่างเดียวที่ทำให้พระบารมีของพระมหากษัตริย์มากหรือน้อยนอกจากระยะเวลาสั้นยาวแล้ว

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่จะเพิ่มพูนพระบารมีได้มาก ก็คือ พระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประเทศชาติและประชาชน ถ้าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดทรงอุทิศพระองค์เพื่อความอยู่ดีกินดีของราษฎร ทรงเป็นพระปิยราชของประชาชน

ถ้าไม่ต้องสงสัยว่า “พระบารมี” คือ อำนาจที่เกิดจากความดีของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น จะแผ่ไพศาลและงดงามบริบูรณ์เปี่ยมพระเกียรติยศ ในทางตรงกันข้าม พระมหากษัตริย์ที่ทรงราชย์เป็นเวลายืนนาน แต่มิได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจให้เป็นที่หิตานุหิตประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร์ ที่ไหนเลยพระบารมีและพระราชอำนาจจะเกิดขึ้นได้

    พระราชอำนาจที่เขียนได้เป็นตัวบทกฎหมายในรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับใด ก็ไม่มีฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นผลทางปฏิบัติ เทียบเทียมกับพระราชอำนาจที่เกิดขึ้นจากศรัทธาความรักใคร่ภักดี เชื่อถือในพระบารมีที่เกิดขึ้นในใจของราษฎรทั้งแผ่นดิน

1901695_735106563181274_1325587641_n

  1. ลักษณะของรัฐบาล

    ปัจจัยอีกข้อหนึ่งที่มีผลกระทบถึงขอบเขตการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อย่างยิ่งก็คือลักษณะของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติของตัวนายกรัฐมนตรีมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง เปี่ยมด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ ในขณะเดียวกันพระมหากษัตริย์พระชนมายุน้อย เพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ ยังไม่มีโอกาสได้บำเพ็ญบารมีให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งทั่วไป โอกาสและความศรัทธาที่จะทำให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะพึงจะพระราชทานคำแนะนำอันมีประโยชน์แก่รัฐบาล ก็คงเป็นไปได้ยาก แต่เมื่อใดก็ตามที่พระมหากษัตริย์ทรงถึงพร้อมด้วยพระคุณธรรมและพระคุณวุฒิโดยประการต่าง ๆ ทุกด้าน นายกรัฐมนตรีซึ่งผลัดเวียนกันเข้ามารับตำแหน่งก็คงต้องยอมรับข้อเท็จจริงในความด้อยประสบการณ์ในราชการแผ่นดินของตน และน้อมเกล้าฯ ขอรับพระราชทานคำแนะนำอันมีค่าจากสถาบันพระมหากษัตริย์

ข้อพิจารณา

  1. ดังที่กล่าวมาแล้วว่า พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์นั้น มีทั้งส่วนที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร และในจำนวนพระราชอำนาจทั้งปวง พระราชอำนาจที่จะทรงได้ระบุคำกราบบังคมทูลและการปรึกษาหารือ เป็นพระราชอำนาจข้อสำคัญที่สุดในประเด็นนี้ต้องย้ำความเข้าใจให้กระจ่างชัดว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานกระแสอย่างใดอย่างหนึ่งมาแล้ว รัฐบาลชอบที่จะรับพระราชกระแสนั้นไว้เหนือเกล้าฯ เพื่อพิจารณาตัดสินใจด้วยดุลพินิจของตนอีกครั้งหนึ่ง พระราชกระแสเช่นนั้นมิใช่กระแสพระบรมราชโองการเด็ดขาดอย่างในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งผู้เขียนก็เชื่อมั่นด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหฤทัยเป็นประชาธิปไตยยิ่ง คงจะไม่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้พระราชกระแสเป็นผลบังคับรัฐบาลต้องตัดสินใจปฏิบัติตามทุกกรณี เท่าที่ผ่านมาในอดีต รัฐมนตรีบางท่าน หรือโฆษกรัฐบาลบางยุคบางสมัยเมื่อต้องกล่าวพาดพิงไปถึงประเด็นการตัดสินใจของรัฐบาลที่ล่อแหลมต่อความผิดถูกต้องก็มักกล่าวอ้างถึงพระราชกระแสอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง ใช้ถ้อยคำว่า “รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยพร่ำเพรื่อไม่จำเป็นบ้าง ด้วยหวังพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่ง ตรงกันข้ามกรณีใดที่เป็นสำเร็จ ความภาคภูมิใจในผลงานก็มักแถลงว่าเรื่อง “รัฐบาลภายใต้การนำของ…” ได้ริเริ่มจัดทำขึ้นแล้ว ดูจะเป็นการรับแต่ความชอบไม่ยอมรับความผิดเสียบ้างเลย
  2. ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญบางฉบับ ได้มีสมาชิกรัฐสภาเสนอแนวคิดที่จะถวายพระราชอำนาจในส่วนที่เป็นบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญให้เพิ่มพูน หรือชัดเจนขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งเหตุการณ์ได้ปรากฏเป็นที่แจ้งชัดแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงมีพระราชประสงค์เช่นนั้น ตัวบทรัฐธรรมนูญในส่วนที่ว่าด้วยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เท่าที่มีอยู่ในเวลานี้ ดูจะเป็นการเหมาะสมและพอเพียงแล้ว ไม่ควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมแต่ประการใด พระราชอำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ควรคงไว้ในลักษณะที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรต่อไป ด้วยสามารถอ่อนตัว (flexible) เข้ากับเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผันแปรไปแต่ละยุคสมัยได้ ดังที่ได้สรุปไปแล้วในตอนต้นว่า พระราชอำนาจในส่วนนี้ จะทรงใช้ได้ในขอบเขตเพียงไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ข้อ คือ ความจงรักภักดีของราษฎร พระบารมีของพระมหากษัตริย์ และลักษณะของรัฐบาลประกอบกัน หากนำพระราชอำนาจในส่วนนี้ไปบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรที่แจ้งชัดแล้ว ก็จะมีลักษณะที่กระด้าง (rigid) อาจไม่เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองได้ สมดังกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ที่เคยพระราชทานสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ”

       เหนือกว่าสิ่งอื่นใด ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้พึงสังวรระวังที่จะช่วยกันค้ำชูสถาบันนี้ ให้เป็นศรีสง่าที่ยั่งยืนแก่ประเทศของเราสืบไปในอนาคตเบื้องหน้า อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเฉพาะหน้าอาศัยพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่ง แล้วสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งโดยจงใจหรือไม่เจตนา นักการเมืองที่ดี เอกชนแต่ละคนก็ดี ผ่านเข้ามาในหน้าหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์ชั่วระยะเวลาไม่กี่สิบปีที่ตนมีอายุยืนอยู่แล้วจากไป แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ตราบใดที่ยังมีคนไทย แผ่นดินไทย ตราบนั้นเราก็จำเป็นต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นร่มเกล้าธงชัยของบ้านเมือง เช่นวันนี้เป็นวันนิรันดร์

10881634_693273230789575_2871158950150047828_n

(บทความนี้ตัดทอนบางส่วนมาจาก “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ” ของธงทอง จันทรางศุ)

สำนักข่าวเจ้าพระยา




 

Create Date : 31 มกราคม 2559
0 comments
Last Update : 31 มกราคม 2559 3:05:56 น.
Counter : 2310 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


สาว17
Location :
ลูกสาวเมืองสิงห์ Germany

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Color Codes ป้ามด







เพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตครอบครัว
มีบางครั้งที่เราต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ
มีบ้างบางครั้งที่เราต้องเลิกทำในสิ่งที่ชอบ
เพื่อความก้าวหน้าของชีวิตครอบครัว
มีบ่อยครั้งที่เราต้องรู้จักใช้สติ
ต้องรู้จัก อดทน และให้อภัย
ดูอย่างต้นไม้ซิ
มันไม่เคยที่จะผืนลิขิตของฤดูกาล
มันไม่คิดจะขัดธรรมชาติ
เมื่อถึงคราวต้องทิ้งใบก็ยินยอมแต่โดยดี
อดทนและอดทน
เพื่อผลิใบ และดอกผลเมื่อฝนมา
เพราะเมื่อเวลามาถึงทุกสิ่งจะดำเนินไป
ชีวิตที่เรียบง่ายคือชีวิตที่มีสุข








Free Hit Counter ทีเว็บมาสเตอร์ รวมพลคนทำเว็บ
Google
New Comments
Friends' blogs
[Add สาว17's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.