เมื่อตะวันยอแสง..เรี่ยวแรงก็เริ่มอ่อนล้า..พักลงตรงนี่ที่เดิมแล้วหลับตา..
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
25 พฤศจิกายน 2550
 
All Blogs
 
"แม่" ผู้สร้างโลก





ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นับเป็นปีมหามงคลสำหรับคนไทยที่ได้เฉลิมฉลองโอกาสพิเศษถึง ๒ วาระ คือ วโรกาสการครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับการฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาลของท่านพุทธทาสภิกขุ ผู้ที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญผู้มีผลงานดีเด่นระดับโลก

ในโอกาสที่น่ายินดียิ่งนี้ ผู้เขียนใคร่เชิญชวนผู้อ่านระลึกถึง "หน้าที่แม่" ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ที่สร้างคุณประโยชน์แก่สังคมและแก่โลกโดยอ้อม โดยพิจารณาจากผลความสำเร็จที่ชัดเจนของสังคมไทย ในด้านอาณาจักรคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และด้านศาสนจักรคือท่านพุทธทาสภิกขุ เพื่อคนไทยเราได้ตระหนักถึงคุณูปการของแม่ต่อสังคม และร่วมกันสนับสนุนบทบาทของแม่ให้เข้มแข็งขึ้นต่อไป



การขัดเกลาทางสังคม : ปฐมบทของชีวิต

ท่านพุทธทาสภิกขุ (พ.ศ. ๒๔๔๙-๒๕๓๖) นามเดิม เงื่อม พานิช (ภายหลังเมื่อบวชในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้ฉายาว่า อินฺทปญฺโญ และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ตั้งปณิธานศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง จึงกำหนดนามใหม่เป็นพุทธทาส) เป็นบุตรนายเซี้ยงและนางเคลื่อน พานิช จากประวัติชีวิตนับแต่เยาว์วัย ด้วยเป็นลูกคนโตแม้จะเป็นชายแต่แม่ก็อบรมให้ท่านทำงานของลูกผู้หญิงช่วยเหลือแม่ อาทิ การหุงหาทำอาหาร การเย็บผ้า ตลอดจนการค้าขายซึ่งเป็นอาชีพของครอบครัว ความใกล้ชิดกับแม่ซึ่งมากยิ่งขึ้นเมื่อบิดาเสียชีวิต (ปี พ.ศ. ๒๔๖๕) ทำให้ท่านได้รับการปลูกฝังถ่ายทอดความรู้ความคิดต่างๆ จากแม่มาก ดังท่านได้เล่าไว้ในการแสดงปาฐกถาธรรมหัวข้อ ปรมัตถวิจารณ์เกี่ยวกับพระคุณของแม่๑ ความบางตอนว่า

"...จะขอยกตัวอย่างที่แม่ได้ทำหน้าที่ของแม่ในการสร้างนิสัยอันละเอียดให้แก่ลูก เช่น...แม่สอนให้ประหยัดเกิดนิสัยประหยัด แม่บังคับให้ใช้น้ำล้างเท้าอย่างประหยัด ใช้น้ำอาบอย่างประหยัด ใช้ฟืนอย่างประหยัด เชือกผูกของ กระดาษห่อของ เศษกระดาษที่พอจะทำเชื้อไฟได้สักนิดหนึ่งก็ยังต้องประหยัด

แม่สร้างนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน แม่สอนว่ายอมแพ้นั้น ไม่ถือว่าเป็นการเสียเกียรติ เพราะให้เรื่องมันระงับไป แต่ก็ไม่ต้องเสียหายอะไรเนื่องจากว่าต้องยอมแพ้ มันเป็นการปลอดภัย และใครๆ ก็รักคนที่ยอมแพ้ไม่ให้เรื่องเกิด

แม่สอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แม่สอนว่าให้ลูกแมวได้กินข้าวก่อน แล้วคนจึงกิน สัตว์เดรัจฉานเป็นเพื่อนของเรา คนขอทานเป็นเพื่อนของเรา คนไร้ญาติขาดมิตรมาตายอยู่ตามท่าน้ำเราก็ต้องเอื้อเฟื้อ ถ้าเรากินเองมันก็ถ่ายออกหมด ถ้าเราให้เพื่อนกินมันอยู่ในหัวใจของเขายาวนานนัก...

แม่อบรมนิสัยกตัญญูรู้คุณ ให้เด็กเล็กๆ ช่วยทำงานให้แม่บ้าง ทำอะไรไม่ได้มากก็เพียงแต่ช่วยตำน้ำพริกแกงให้ก็ยังดี เหยียบขาให้แม่หายเมื่อย เอาใจใส่แม่เมื่อเจ็บไข้ นี้ปฏิบัติกันมาจนเป็นนิสัย เคารพคนแก่คนเฒ่า พระเจ้าพระสงฆ์ประนมมืออยู่ตลอดเวลา...

ทั้งหมดนี้ได้อุปนิสัยมาจากแม่ที่คอยจ้ำจี้จ้ำไชว่ากล่าวอยู่เสมอ นี่ดูเถอะว่าแม่สร้างอุปนิสัย สร้างดวงใจพร้อมๆ กับที่พ่อช่วยสร้างชีวิต..."

สังเกตได้ว่าการเรียนรู้ที่ท่านพุทธทาสหรือเด็กทั่วไป ได้รับการปลูกฝังจากแม่และรวมถึงพ่อเป็นเบื้องต้นนั้น คือการให้หลักปฏิบัติตนและการหล่อหลอมจิตใจอุปนิสัย ซึ่งความรู้เหล่านี้ในทางมานุษยวิทยาเรียกว่าการเรียนรู้วัฒนธรรม หรือการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) อันหมายถึงการเรียนรู้ต่างๆ เกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรมที่คนรุ่นหนึ่งถ่ายทอดให้แก่คนอีกรุ่น เป็นการที่เด็กเรียนรู้เพื่อจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เป็นสมาชิกของสังคมต่อไป๒ การเรียนรู้ในขั้นตอนนี้นับว่ามีความสำคัญมาก และเป็นพื้นฐานที่จำเป็นแก่ชีวิตของทุกคน น่าเสียดายว่าปัจจุบันคนส่วนใหญ่มองข้ามความสำคัญและละเลยในเรื่องนี้ไป เยาวชนในชั้นหลังมักไม่ได้รับการขัดเกลา ขาดความรู้ที่ถูกที่ควรเกี่ยวกับชีวิตไปมาก

ท่านพุทธทาสนับเป็นบุคคลผู้สร้างคุณูปการให้แก่วงการพุทธศาสนาของไทยอย่างมาก คุณสมบัติของผู้ทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมเช่นท่านนี้ มีพื้นฐานจากการเป็นผู้มีนิสัยประหยัด อ่อนน้อมถ่อมตน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักและเมตตาผู้อื่นโดยเฉพาะที่ด้อยกว่าตน และมีความกตัญญูรู้คุณ ซึ่งทั้งหมดแม่เป็นผู้อบรมปลูกฝังให้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๗๐-ปัจจุบัน) พระผู้ทรงสร้างคุณประโยชน์แก่ชาติไทยอย่างอเนกอนันต์ ก็ทรงได้รับการถวายการอบรมเลี้ยงดูจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๕๓๘) อย่างใกล้ชิดเช่นกัน หลักการสำคัญที่ "สมเด็จย่า" ได้ทรงใช้คือการปลูกฝังให้พระราชโอรสและธิดาเป็นผู้มีวินัย โดยทรงอบรมอย่างสม่ำเสมอ (ทรงใช้คำว่า เรื่อยๆ) เน้นให้เป็นคนดี มีความรับผิดชอบ ให้มีปัญญารู้จักคิด มีเมตตา และไม่หลงตน ดังคำประทานเล่าของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในพระนิพนธ์เรื่องแม่เล่าให้ฟัง และคำบรรยายบอกเล่าของนายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สำนักพระราชวัง (เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙) ความบางตอน๓ ดังนี้

"...ท่านดูแลเรื่องอาหาร ความสะอาด สุขภาพ เราต้องทำทุกอย่างเป็นเวลา เช่น การกิน การนอน การไปโรงเรียน การเล่น...เมื่อโตขึ้นแม่จะใช้วิธีอธิบายสิ่งที่ควรไม่ควร สิ่งที่ดีไม่ดี โดยพูดจากันด้วยเหตุด้วยผล ครั้งหนึ่งพระองค์ชาย [รัชกาลที่ ๘] มาถามอะไรแม่ที่น่าจะหาคำตอบได้เอง แม่จึงบอกว่า "ควรใช้สมองคิดเสียบ้าง เดี๋ยวสมองจะเป็นสนิมเสีย"..."

"...ทรงตักเตือนสั่งสอนไปเรื่อยๆ...ของพวกนี้มันซึมๆ เข้าไปเอง ของที่ว่าไม่ควรทำอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ มันซึมเข้า..."

"...สอนให้เด็กพูดความจริงเท่านั้น...ต้องให้เป็นคนดี แม่ไม่ใช้คำมาก คือต้องเป็นคนดี...ถ้าจะให้เป็นคนดีจะมีอะไรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีอย่างละนิดละหน่อยแล้วแต่สังคม...ในครอบครัวเรามีความรับผิดชอบ เป็นของไม่ต้องคิด เป็นธรรมชาติ สิ่งที่สอนอันแรกคือ เราจะทำอะไรให้เมืองไทย ถ้าไม่มีความรับผิดชอบจะไปช่วยเมืองไทยได้อย่างไร..."

สมเด็จย่าเคยรับสั่งว่า "...คนเราต้องรู้จักบังคับตนเอง ถ้าปล่อยตามบุญตามกรรมก็จะไม่เจริญ ดังเช่นการเลี้ยงเด็กต้องกำหนดเวลานอน เวลาเรียน เวลารับประทานอาหาร เวลาพักผ่อน ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเวลา ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะไม่เจริญเติบโต ไม่มีสติปัญญา"

"...การลงพระอาญามีบ้างเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ แต่โดยปกติจะทรงให้พระโอรสธิดาทรง "คิดดู ทำไมทำอย่างนั้นไม่ดี ทำอย่างนี้ไม่ได้" นอกจากนี้ยังทรงระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ที่จะไม่ให้พระโอรสธิดาทรงรังแกผู้อื่น..."

"เรื่องศาสนา สมเด็จย่าไม่ได้สอนเคี่ยวเข็ญ ไม่จ้ำจี้จ้ำไชเป็นพิเศษ ไม่ใช่นั่งสวดมนต์ยาวเหยียด ทรงสอนให้สวดมนต์ไหว้พระ ขอให้พระพุทธเจ้าคุ้มครองให้เป็นเด็กดี"

"สมเด็จย่าทรงรับสั่งอีกว่า "ปัญญา" มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ปัญญาต้องใช้อยู่เสมอ ปัญญาจะได้คล่องขึ้น ต้องใช้ความคิดตรึกตรองในสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ..."

ความคล้ายคลึงกันของการอบรมของ "แม่" ที่สร้างลูกให้เป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่สังคมดังตัวอย่างที่ได้ยกมาคือ การเน้นเรื่องความรู้คิด ใช้สติปัญญา มีเหตุผล มีระเบียบวินัยความรับผิดชอบ และมีหลักศาสนาครองใจ



ผลคือตัวตนและจิตวิญญาณ

การอบรมหรือขัดเกลาทางสังคมของ "แม่" นั้น เป็นสิ่งสำคัญและย่อมคงอยู่เป็นจิตวิญญาณของผู้เป็นลูกตลอดไป ข้อยืนยันในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ ดังที่ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้มีโอกาสถวายงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เล่าในการบรรยายเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจฯ ในโอกาสต่างๆ๔ ดังนี้

"...พระองค์รับสั่งครั้งหนึ่งว่า "ฉันนับถือลัทธิเรื่อยๆ" สองคำเท่านั้นเอง...ทำเรื่อยๆ ใครว่า อย่าไปสนใจ...เพราะเราทำแล้วต้องถูกว่า...ธรรมดาของการทำงาน เพราะฉะนั้นลัทธิเรื่อยๆ ก็คือ ทำไปเรื่อยๆ ถูกว่า ถ้าเห็นว่าผิดก็กลับไปทำใหม่ ย้อนกลับมาที่ตั้งต้นใหม่ ทำใหม่อย่าไปสนใจอะไรทั้งสิ้น เพราะถ้าสนใจอะไรไป แล้วจะไม่มีกำลังใจที่จะทำอะไรเลย..."

"...กองการในพระองค์...บอกว่าปีหนึ่งพระองค์ทรงเบิกดินสอ ๑๒ แท่ง เดือนละแท่งใช้จนกระทั่งกุด ใครอย่าไปทิ้งของท่านนะทรงกริ้วเลย ประหยัดทุกอย่าง เป็นต้นแบบทุกอย่าง ทุกอย่างนี้มีค่าสำหรับพระองค์หมด ทุกบาททุกสตางค์จะใช้อย่างระมัดระวัง..."

"...พระองค์ท่านเวลาทำงานนั้น เรื่องสมาธิเป็นเรื่องหลักทีเดียว ทรงบริหารเรื่องสมาธิอยู่ตลอดเวลา พระองค์ทรงมีวินัยในการทำงานมาก..."

"...เมื่อทรงพระเยาว์มีความสนพระทัยและชอบประดิษฐ์มาก ทรงต่อเรือ ต่ออะไรหลายอย่าง...ทรงต่อเรือรบศรีอยุธยา ย่อมาเหลือสเกลเพียง ๑ : ๕๐ ภูมิพระทัยมาก...วันดีคืนดีสมเด็จพระศรีฯ รับสั่งว่าจะเอาเรือไปแล้ว...พระทัยนี้วูบเลย คล้ายๆ กับว่าของที่เราต่อมา ของเล่น...เมื่อเสร็จแล้วภูมิใจมาก สมเด็จพระศรีฯ รับสั่งว่าต้องไปทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม ขอเรือลำนี้ไปประมูล ประมูลเพื่อเอาเงินทำการกุศล ทรงถูกฝึกมา จึงทรงยอม..."

"ตอนสมัยที่ยังทรงพระเยาว์...ทรงรับพ็อกเก็ตมันนี่อาทิตย์ละครั้ง สมเด็จพระศรีฯ ทรงตั้งกระป๋องไว้กลางที่ประทับ รับสั่งเรียกว่ากระป๋องคนจน ทั้งสามพระองค์ทรงได้รับพ็อกเก็ตมันนี่เท่ากัน เมื่อทำกิจกรรมใดมีกำไรก็จะต้องหยอดไว้ ๑๐% รับสั่งว่าโดนเก็บภาษี...พอสิ้นเดือนได้เท่าไหร่นั้น สมเด็จพระศรีฯ ทรงประชุมทั้งสามพระองค์ว่าจะเอาเงินก้อนนี้ไปทำอะไร โรงเรียนตาบอด เด็กกำพร้า หรือไม่ก็ทำกิจกรรมเพื่อคนยากคนจน..."

"ลัทธิเรื่อยๆ" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น คือร่องรอยจากหลักการอบรมลูกอย่างเรื่อยๆ ของ "สมเด็จย่า" ซึ่งได้พัฒนาเป็นความเพียร วิริยะอุตสาหะในการทรงทำงานเพื่อประเทศ การได้รับการปลูกฝังให้คิดถึงผู้อื่น เสียสละเพื่อผู้อื่นนับแต่วัยเยาว์นั้น ได้กลายเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการทำเพื่อส่วนรวมในเวลาต่อมาของพระองค์

ในส่วนของท่านพุทธทาส ท่านได้ยืนยันด้วยตนเองว่าการอบรมสั่งสอนของแม่นั้น เป็นความรู้และอุปนิสัยที่ติดตัวอยู่ตลอดไป ดังความตอนหนึ่งในการบรรยายธรรมเรื่องพระคุณแม่คือสันติภาพของโลก๕ เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ที่สวนโมกข์ ดังนี้

"...เป็นสิ่งเหลือที่จะกล่าวว่าแม่ถ่ายทอดอะไรให้บ้าง เรื่องการประหยัดเป็นที่หนึ่ง...เป็นนิสัยหลายสิบปีมาแล้วที่แม่ใส่มาให้ แล้วยังอยู่จนเดี๋ยวนี้...อีกไม่กี่ปีก็จะตายเองอยู่แล้ว มันถ่ายทอดมาไกลถึงเพียงนี้ ขอให้คิดดู..."

"สรุปความสั้นๆ ก็ต้องพูดว่า เดี๋ยวนี้อาตมาเป็นเนื้อเป็นตัวอะไรได้อย่างนี้ ขออวดหน่อยว่าเกินกว่าบางคน ก็เพราะแม่ทั้งนั้น เพราะแม่ได้สั่งสอนอบรมมาอย่างนี้ ฉะนั้นใครได้รับประโยชน์อะไรจากอาตมาบ้าง ก็ขอให้ขอบคุณไปถึงแม่ด้วย เพราะแม่ได้สร้างชีวิตนี้มาให้ลักษณะอย่างนี้..."

"อาตมามีความเสียใจอยู่อย่างหนึ่ง เสียใจอยู่อย่างยิ่งว่าสมัยเมื่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ อาตมาก็ไม่มีความรู้อะไร แม้จะบวชแล้วก็มีความรู้ธรรมะโง่ๆ เง่าๆ งูๆ ปลาๆ อย่างนั้นแหละ ถ้ามีความรู้อย่างเดี๋ยวนี้ก็จะช่วยแม่ได้มาก ให้พอใจ รู้ธรรมะอย่างยิ่ง แต่แม่ชิงตายไปเสียก่อน ก่อนที่อาตมาจะมีความรู้พอจะสอนธรรมะลึกๆ ให้ได้ นี้เป็นเรื่องที่นึกแล้วก็ว้าเหว่อยู่ไม่หาย..."

ท่านพุทธทาสยังได้กล่าวถึงพระคุณของแม่ของท่านว่า เป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือให้เกิดสวนโมกขผลารามขึ้น ท่านกล่าวว่า "หากไม่มีแม่ก็ไม่มีสวนโมกข์" ผู้ที่ทราบประวัติของท่านคงรู้ว่า แม่ของท่านได้สละเงิน "เพื่อนผี"๖ ของตนมาใช้ซื้อที่ดินก่อตั้งสวนโมกข์ และทำกิจกรรมของคณะธรรมทาน อาทิ การออกหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา (ราย ๓ เดือน) และกิจกรรมเผยแผ่พุทธศาสนารูปแบบอื่นๆ คุณูปการของแม่ของท่านพุทธทาสนั้น มิได้อยู่ที่เพียงจำนวนเงินที่ท่านสละให้ลูกด้วยความรักความเมตตา และไว้วางใจเชื่อถือในลูกเท่านั้น แต่ความหมายนั้นลึกซึ้งกินความไปถึงว่า ท่านเป็นผู้สร้าง "ลูก" ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติดีงาม ที่สามารถคิดและกระทำการอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม



ไม่มีแม่ ไม่มีโลก

ในฐานะสาวกของพระพุทธองค์ ซึ่งมีหน้าที่แนะนำชักจูงจิตวิญญาณของผู้คนให้เดินไปในทางที่ถูกต้อง ท่านพุทธทาสได้เรียกร้องให้ผู้เป็นแม่ทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง ตระหนักรู้หน้าที่การอบรมขัดเกลาลูก ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องและรับผิดชอบ ซึ่งผลที่ตามมาจะทำให้สังคมและโลกถูกต้องดีงาม ดังในธรรมเทศนาเรื่องแม่ที่ท่านยังไม่รู้จัก๗ ความบางตอนว่า

"...ถ้าว่าไม่มีแม่ที่ถูกต้อง มันจะมีแต่คนที่มิใช่คน จะไม่มีคนที่มีจิตใจอย่างคน ถ้าแม่ไม่ถูกต้อง มันก็จะเป็นลูกที่มีจิตใจอย่างลูกของสัตว์ แล้วจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์ คือคนที่มีความรู้สึกถูกต้องเป็นมนุษย์ก็จะไม่มี ถ้าไม่มีแม่มาอบรมสั่งสอนเรื่องทางจิตใจ ทางวิญญาณ ทางวัฒนธรรม..."

"ถ้าเป็นแม่ที่ถูกต้อง เป็นแม่ที่แท้จริงแล้ว มันเป็นแม่ของโลกนะ...ไม่ใช่แม่ของลูกคนเดียว มันเป็นแม่ของคนทั้งโลก โลกมีมาเพราะแม่ เพราะแม่ช่วยสร้างขึ้นมา โลกอยู่ได้ก็เพราะว่าพวกแม่เขาทำหน้าที่เป็นแม่..."

ถ้าไม่มีแม่เป็นผู้นำวิญญาณของสัตว์ผู้เกิดแล้ว มันไม่มีมนุษย์ มีแต่สัตว์เดรัจฉานหมด...ขอให้เรารู้จักแม่โดยแท้จริง โดยสมบูรณ์...ไม่รู้จักแม่ของโลกแล้ว ก็เรียกว่าไม่รู้จักอะไรอยู่มากทีเดียว มันจะเป็นคนใจแคบ เห็นแก่ตัว ชนิดที่ว่าหาความสุขยาก"

คำเทศนาสั่งสอนที่หนักแน่นข้างต้น แม้จะเป็นเหตุเป็นผลและเน้นย้ำอย่างชัดเจน แต่ในสังคมหรือโลกยุคปัจจุบันที่สิทธิเสรีภาพของชายและหญิงเท่าเทียมกันนั้น ดูจะสวนทางกับคำเรียกร้องของท่านพุทธทาส ปัจจุบันผู้หญิงจำนวนน้อยยินดีและเต็มใจจะทำ "หน้าที่แม่" ผู้หญิงยุคใหม่ต้องการความเท่าเทียมเสมอภาคกับผู้ชาย ประกาศตนว่ามีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนกว่าชาย แนวคิดและการปฏิบัติที่เปลี่ยนไปตามยุคเช่นนี้ ท่านพุทธทาสแสดงความเห็นว่า

"...เดี๋ยวนี้เขาถือกันว่าผู้หญิงคือคู่ต่อสู้ของผู้ชาย ผู้หญิงเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ ให้ได้เหมือนผู้ชาย...ต้องเป็นเสมอกับผู้ชาย อย่างนี้มันไม่ใช่ผู้หญิงแล้ว มันจะเป็นกระเทย หรือเป็นอะไรเสียแล้ว

ถ้าเป็นผู้หญิงมันจะต้องทำหน้าที่ของผู้หญิง...แม่คือผู้ที่แบ่งเบาภาระของพ่อ งานทั้งดุ้นนี่มาแบ่งกันทำคนละครึ่ง แล้วมันก็ง่ายเข้าในการที่จะสร้างฐานะ สร้างเนื้อสร้างตัว สร้างความเจริญ หรือแม้แต่ที่จะปฏิบัติธรรมะก็เถิด

ถ้าแม่ทำครึ่งพ่อทำครึ่ง มันก็ยิ่งง่ายแหละ มันสนับสนุนแก่กันและกัน แม่ไม่ใช่ผู้ที่จะทำงานแข่งกับพ่อ หรือเรียกร้องสิทธิ์เท่าเทียมกับพ่อ...อาตมาไม่เห็นด้วย ผู้หญิงต้องเป็นผู้หญิง ผู้ชายต้องเป็นผู้ชาย ทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง โลกนี้จึงจะมีความสงบสุข

ถ้าผู้หญิงไปทำหน้าที่พ่อเสียแล้ว มันก็เหลือแต่พวกกระเทย โลกนี้ไม่มีความสงบสุข ผู้หญิงจงเป็นผู้หญิงร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้ชายจงเป็นผู้ชายร้อยเปอร์เซ็นต์ แม่จงเป็นแม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ พ่อจงเป็นพ่อร้อยเปอร์เซ็นต์ โลกนี้จะต้องมีสันติภาพ จะต้องมีสันติสุข"๘

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้หญิง จนมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่แม่ และส่งผลต่อสังคมโดยรวมในที่สุดนั้น เป็นเรื่องน่าพิจารณา ในยุคอดีตที่ผู้หญิงมีความสงบเสงี่ยมเจียมตน ต้องพึ่งพาผู้ชายมากในด้านแรงงานและการหาเลี้ยงชีพ ผู้หญิงจึงยอมแลกกับการทำงานที่ละเอียดจุกจิกจิปาถะในครัวเรือน รวมถึงการอบรมเลี้ยงดูลูก ยุคนั้นสังคมมนุษย์ยังมีเครื่องช่วยในการดำรงชีวิตน้อย มนุษย์จึงต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันมาก เพศชายและหญิงซึ่งมีความถนัดสันทัดกันคนละด้าน ยินดีร่วมมือแบ่งงานกันทำ เพื่อให้ต่างสามารถดำรงชีวิตไปได้ด้วยกัน

ปัจจุบันความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้น ทำให้ไม่ว่าชายหรือหญิงมีอิสระมากขึ้น ความจำเป็นในการพึ่งพากันและกันลดน้อยลง ต่างหันไปพึ่งวัตถุเครื่องมือเครื่องใช้ที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผลิตสร้างสรรค์ขึ้น นี้เป็นจุดเริ่มของแนวโน้มที่มนุษย์หันไปให้ความสำคัญต่อวัตถุมากกว่าจิตใจ และคิดหวังใช้วัตถุทำทุกสิ่งแทนการพึ่งพามนุษย์ด้วยกัน ซึ่งต้องใช้จิตใจเป็นสื่อสัมพันธ์ ความรู้ความสามารถในด้านวัตถุของมนุษย์ที่ก้าวหน้าขึ้นในปัจจุบัน จึงเท่ากับเป็นการลดทอนความรู้ความเข้าใจ เรื่องจิตวิญญาณของมนุษย์เองลงทุกที

ในแนวโน้มเช่นว่านี้ สมาชิกของสังคมไม่ว่าชายหรือหญิงควรต้องร่วมกันคิดว่า ลูกหรือพลโลกรุ่นใหม่จะเติบโตขึ้นด้วยวิธีใด "หน้าที่แม่" ควรให้ผู้หญิงรับผิดชอบต่อไป โดยมีวัตถุเครื่องใช้จากเทคโนโลยีช่วยเลี้ยงดู ตามแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของโลก แทนการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างชายหญิงที่เป็นพ่อแม่เคยทำกันดังในอดีตเช่นนั้นหรือ มนุษย์และสังคมในยุคอนาคตจะอยู่ร่วมกันโดยอาศัยวัตถุเป็นหลัก ส่วนจิตวิญญาณไม่ต้องให้ความสำคัญหรือคำนึงถึงเลยได้หรือ หรือนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่อาจหันไปคิดค้นเครื่องบ่มเพาะจิตวิญญาณให้แก่มนุษย์ขึ้นแทน "แม่" หรือศาสนาที่มนุษย์ใช้กันมาช้านาน

ในสังคมไทยปัจจุบันปัญหา "หน้าที่แม่" บกพร่องมีปรากฏให้เห็นทั่วไปจาก "ลูก" ที่ผิดเพี้ยนแบบต่างๆ ซึ่งสังคมควรโทษว่าเป็นความผิดหรือความรับผิดชอบของ "แม่" แต่ฝ่ายเดียวละหรือ ความเฟื่องฟูของยุควัตถุนิยมเวลานี้ ซึ่งใช้เงินเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีพ ทำให้ทุกคนรวมทั้งผู้หญิงที่เป็นแม่ขวนขวายแสวงหาเงิน จนละเลยหน้าที่สำคัญด้านจิตวิญญาณของความเป็นแม่ ที่ต้องสร้างสรรค์มนุษย์ที่สมบูรณ์ให้แก่โลกไป



ทางรอดของโลก

ปณิธานข้อหนึ่งที่ท่านพุทธทาสได้ตั้งไว้ ในการทำงานเผยแผ่พุทธศาสนาของท่านคือ การชักจูงให้ "ทุกคนเปลื้องตนจากอำนาจของวัตถุนิยม" ในการแสดงธรรมต่างวาระและโอกาส ท่านพุทธทาสมักชี้ให้เห็นโทษภัยของการที่มนุษย์ยอมตนตกเป็นทาสของวัตถุ ทำให้ขาดสติปล่อยตนอยู่ในความหลง และมุ่งแต่จะแสวงหาวัตถุมาบำรุงปรนเปรอกิเลสซึ่งไม่มีขอบเขตสิ้นสุด ท่านพร่ำสอนอย่างไม่ท้อถอยว่า วัตถุนั้นไม่อาจให้ความสุขที่แท้จริงแก่มนุษย์ได้ จิตวิญญาณที่ตื่นด้วย "ปัญญา" เท่านั้นจึงจะทำให้เกิดความสุขสงบแก่กายและใจ

การหลงใหลบูชาวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้น ท่านพุทธทาสชี้ว่าศาสตร์ทั้งสองที่มุ่งเน้นไปแต่ทางวัตถุนั้น ไม่ใช่มรรควิถีที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ ศาสนาหรือธรรมะที่ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องจิตวิญญาณต่างหาก ที่อาจนำมนุษย์ไปสู่ความสุขสงบที่แท้จริง และผู้ที่ทำหน้าที่มอบหรือชี้ทางอันสำคัญนี้ให้แก่มนุษย์ทั่วไปเป็นคนแรกคือ "แม่"

ท่านพุทธทาสได้กล่าวยกย่องว่า หน้าที่ของแม่เปรียบได้เสมือนกับหน้าที่ของพระเจ้า ผู้สรรค์สร้างโลกนี้ทีเดียว

"แม่ก็มีหน้าที่สร้างโลกเหมือนกับพระเป็นเจ้า เพราะเกิดมาก็สร้างอุปนิสัยของเด็กทุกคนในโลก จนโตขึ้นมาแล้วก็จะได้เป็นพลโลกที่ดี แม่ก็สร้างโลกนี้เหมือนกับพระเจ้าสร้างโลก และก็โดยกฎของพระเจ้าผู้สร้างโลก คือกฎของอิทัปปัจจยตานั่นเอง..."๙

เมื่อ "หน้าที่แม่" มีความสำคัญถึงเพียงนี้ จึงทุกคนควรให้ความสนใจและร่วมกันสนับสนุน "แม่" ทั้งหลาย ให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างดีที่สุด เพราะในความเป็นจริงนั้นแม่ก็เป็นแต่ผู้หญิงตัวเล็กๆ ทั่วไปที่มีกำลังกายและใจจำกัด หากทุกคนได้ช่วยเหลือส่งเสริม "แม่" ตามส่วนที่ตนจะทำได้แล้ว สังคมคงอาจหวังได้ว่าผู้หญิงทั้งหลาย จะยังมีใจอารีรับทำหน้าที่ "แม่" อันสำคัญนี้ต่อไป



เชิงอรรถ

๑ พุทธทาสภิกขุ, ปัญญานันทภิกขุ และพระดุษฎี เมธังกุโร. แม่..พระในบ้าน. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, ๒๕๔๑, น. ๙๑-๙๓.

๒ Nanda, S. Cultural Anthropology. California : Wadsworth Publishing, 1994, p. 133.

๓ คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. สายธาราแห่งพระมหากรุณาธิคุณ. กรุงเทพฯ : บุญศิริการพิมพ์, ๒๕๔๐, น. ๓๔๒-๓๔๕, ๓๔๗ และ ๓๕๑.

๔ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล. ใต้เบื้องพระยุคลบาท. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๓, น. ๕๐, ๕๒-๕๓ และ ๖๙.

๕ พุทธทาสภิกขุ. พระคุณของแม่คือสันติภาพของโลก. กรุงเทพฯ : อตัมมโย, ๒๕๓๒, น. ๑๕ และ ๑๘-๑๙.

๖ เงินที่ผู้สูงอายุเก็บไว้เพื่อใช้จัดการงานศพของตน และ/หรือ เพื่อการทำบุญสุนทาน

๗ พุทธทาสภิกขุ, ปัญญานันทภิกขุ และพระดุษฎี เมธังกุโร. แม่..พระในบ้าน. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, ๒๕๔๑, น. ๓๐, ๕๒.

๘ เล่มเดิม, น. ๔๗-๔๘.

๙ เล่มเดิม, น. ๙๙.




โดย บทความ

พรวิภา วัฒรัชนากูล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ







Create Date : 25 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 25 เมษายน 2556 0:14:28 น. 2 comments
Counter : 1371 Pageviews.

 

ZWANI.com - The place for myspace comments, glitters, graphics, backgrounds and codes
Myspace Hello Graphics



สวัสดี ครับ น้องพัช ที่แสนดี
ไปลอยกระทงมาจ๊ะ...แต่ไม่หลงทางน๊ะ...อธิฐานให้พัชและครอบครัวมีความสุขมั๊กมากเลย...
....นุ่มนิ่มฝันดีน๊ะ...แล้วอย่าลืมคิดถึงกันนะ
ปล..แผล็บเดียวก๊อจะผ่านไปอีก1ขวบปี..เวลาผ่านไปเหมือนสายน้ำ..ไหลผ่านไปไม่รู้กลับ...ทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนไป... แต่อย่าเปลี่ยนความรู้สีกดีดีที่เคยมีให้กันนะ....หุหุ
. . ขอบคุณสำหรับ มิตรไมตรีที่ดีที่มอบให้กัน....take care.จ๊ะ.


โดย: พี่ป๊อด วันที่: 25 พฤศจิกายน 2550 เวลา:20:44:01 น.  

 
ฟังมาว่า สมเด็จย่า หรือพระราชชนนีนั้น ท่านทรงประหยัดมาก กับพระองค์เองเเละทุกองค์เเละคนรอบๆพระองค์ เเต่ท่านทรงเเจกของเเก่ประชาชนโดยเฉพาะผู้ยากไร้ตามป่าเขา
เเละชายเเดนอย่างเป็นพระกิจวัตรประจำสม่ำเสมอ


โดย: ดุ๊ค IP: 125.24.27.253 วันที่: 26 พฤศจิกายน 2550 เวลา:9:46:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สาว17
Location :
ลูกสาวเมืองสิงห์ Germany

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Color Codes ป้ามด







เพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตครอบครัว
มีบางครั้งที่เราต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ
มีบ้างบางครั้งที่เราต้องเลิกทำในสิ่งที่ชอบ
เพื่อความก้าวหน้าของชีวิตครอบครัว
มีบ่อยครั้งที่เราต้องรู้จักใช้สติ
ต้องรู้จัก อดทน และให้อภัย
ดูอย่างต้นไม้ซิ
มันไม่เคยที่จะผืนลิขิตของฤดูกาล
มันไม่คิดจะขัดธรรมชาติ
เมื่อถึงคราวต้องทิ้งใบก็ยินยอมแต่โดยดี
อดทนและอดทน
เพื่อผลิใบ และดอกผลเมื่อฝนมา
เพราะเมื่อเวลามาถึงทุกสิ่งจะดำเนินไป
ชีวิตที่เรียบง่ายคือชีวิตที่มีสุข








Free Hit Counter ทีเว็บมาสเตอร์ รวมพลคนทำเว็บ
Google
New Comments
Friends' blogs
[Add สาว17's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.