เมื่อตะวันยอแสง..เรี่ยวแรงก็เริ่มอ่อนล้า..พักลงตรงนี่ที่เดิมแล้วหลับตา..
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2557
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
20 ธันวาคม 2557
 
All Blogs
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช (ร.๕)

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่๕)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๔ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์แรกในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๓๙๖ มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ โดยมีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกัน ๓ พระองค์ได้แก่

๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑลโสภณภควดี สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคอหิวาตกโรค เมื่อพระชนมายุได้เพียง ๘ พรรษา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเฉลิมพระอัฐิเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์

๒. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล “จักรพันธุ์” ประสูติเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๓๙๙ สิ้นพระชนม์ด้วยโรคอหิวาตกโรค เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๓

๓. สมเด็จเจ้าฟ้าชายภาณุรังสีสว่างวงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล “ภานุพันธ์” ประสูติเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๒ พระยศสูงสุดในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวคือ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช สิ้นพระชนม์ด้วยโรคปัปผาสะอักเสบ เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกจากสำนักพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี พระองค์ทรงศึกษาด้านวิชาการและโบราณราชประเพณีต่างๆ จากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยสมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงจ้างครูสตรีชาวอังกฤษมาสอนภาษาอังกฤษแก่พระองค์ นอกจากนี้สมเด็จพระบรมชนกนาถยังได้สั่งสอนวิชาการด้านต่างๆ ด้วยพระองค์เองด้วย เช่น วิชารัฐศาสตร์ โหราศาสตร์ เป็นต้น

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑ เหล่าพระราชวงศ์เสนาบดีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้ประชุมและตกลงถวายพระราชสมบัติแก่เสด็จขึ้นครองราชย์รัชทายาทของพระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ แต่ในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษาเท่านั้น จึงมีผู้เกรงว่าจะไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศน์วัชรินทร์จึงเสนอว่าขอให้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนไปก่อนเป็นเวลา ๕ ปี

จนกระทั่ง สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงผนวช และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงอัญเชิญพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี นับเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกในราชวงศ์ที่ขึ้นครองราชย์ในขณะที่ยังทรงพระเยาว์เช่นนี้และเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกที่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ๒ ปี พระองค์ก็ได้เสด็จประพาสต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยทรงเลือกไปเยือนประเทศสิงคโปร์และชวา (อินโดนีเซีย) ต่อจากนั้นได้เสด็จเยือนประเทศอินเดียและพม่า พระองค์ได้ทรงพบเห็น และทรงศึกษาแบบแผนการปกครองอย่างตะวันตกและได้ทรงนำข้อดี และข้อเสียมาใช้ในการปรับปรุงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ไทยเสด็จประพาสประเทศเพื่อนบ้านซึ่งพระองค์ก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ประสูติเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๐๖ ในพระบรมมหาราชวัง มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาเปี่ยม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโอรส และพระราชธิดาทั้งสิ้น ๙๗ พระองค์ มี ๙ พระองค์ที่ประสูติในอัครมเหสี ได้แก่

๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย ประไพพรรณพิจิตร นริศรราชกุมารี ประสูติเมื่อวันที่ ๑๙ พรรษา พ.ศ. ๒๔๒๑ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๓๐ รวมพระชนมายุ ๙ พรรษา

๒. สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี ประสูติเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๓ ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

๓. สมเด็จเจ้าฟ้าชายตรีเพชรุตมธำรง ประสูติเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๒๔ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๐ รวมพระชนมายุ ๖ พรรษา

๔. สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ประสูติเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๒๕ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๓

๕. สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ประสูติเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๘ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๐

๖. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง ประสูติเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ สิ้นพระชนม์ในวันที่ประสูติ

๗. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ประสูติเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๒ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๖

๘. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ประสูติเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๖ ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

ร. 5 ขึ้นครองราชย์

พระราชกรณียกิจ

พระราชกรณียกิจด้านการเลิกทาส

พระราชกรณียกิจด้านการเลิกทาส ถือเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญที่สุดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากผู้ที่เป็นทาสได้รับความเป็นอยู่ที่ลำบากยากแค้นและมีจำนวนมากถึง ๑ ใน ๓ ของประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นพระองค์จึงมีพระราชประสงค์ในการเลิกทาสให้สำเร็จจงได้ โดยทรงตราพระราชบัญญัติทาส ร.ศ.๑๒๔ เพื่อปลดปล่อยทาสอย่างมีระเบียบแบบแผน

ตามกฎหมายโบราณ แยกทาสเอาไว้ทั้งหมด ๗ แบบ คือ

๑. ทาสสินไถ่ หมายถึง คนหรือคนที่นำลูกภรรยาของตนมาขายตัวเป็นทาส

๒. ทาสในเรือนเบี้ย หมายถึง ลูกของทาสที่เกิดในเรือนเจ้าเงิน

๓. ทาสได้มาแต่บิดามารดา หมายถึง ทาสที่เป็นมรดกตกทอดมาจากบิดามารดา

๔ ทาสท่านให้ หมายถึง ทาสที่มีคนยกให้

๕. ทาสช่วยมาแต่ทัณฑ์โทษ หมายถึง ทาสที่นายเงินช่วยเหลือมาจากคดีความ

๖. ทาสที่เลี้ยงไว้เมื่อเกิดทุพภิกขภัย หมายถึงทาสที่นำตัวมาขายเพื่อแลกข้าว

๗. ทาสเชลยศึก หมายถึงทาสที่ได้มาจากการชนะสงครามภาพเลิกทาส

เลิกทาส

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าทาสนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถือเป็นประเพณีแล้ว เจ้านายขุนนาง หรือเสนาบดีที่เป็นใหญ่มักมีทาสเป็นข้ารับใช้ที่ไม่อาจสร้างความเป็นไทแก่ตัว พระองค์จึงทรงใช้พระวิริยะอุตสาหะอย่างหนักในการทำให้ทาสหมดไปจากแผ่นดิน โดยมีพระราชดำริกับเสนาบดีและข้าราชบริพารเกี่ยวกับวิธีที่จะปลดปล่อยทาสให้ได้รับความเป็นไท ด้วยวิธีการละมุนละม่อม

โดยขั้นแรกพระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุของลูกทาส กำหนดโทษผู้ซื้อและขายทาส รวมทั้งออกกฎหมายบังคับให้เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่มีทาสอยู่ในครอบครองปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระ ซึ่งทรงใช้เวลานานกว่า ๓๐ ปี ในการที่ไม่ให้มีทาสหลงเหลืออยู่ในอาณาจักรไทย โดยไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อเลย ซึ่งแตกต่างกับอีกหลายๆ ชาติ ที่เมื่อประกาศเลิกทาสก็เกิดการคัดค้าน และต่อต้านจนทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้น

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

พระราชกรณียกิจด้านการไปรษณีย์โทรเลข

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อไปในอนาคตโดยเริ่มจากการโทรเลข ซึ่งพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการก่อสร้างวางสายโทรเลขสำหรับสายโทรเลขสายแรกของประเทศเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.๒๔๑๘ จากกรุงเทพฯ – สมุทรปราการ ระยะทาง ๔๕ กิโลเมตร และได้วางสายใต้น้ำต่อยาวออกไปจนถึงประภาคารที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับบอกข่าวเรือเข้า – ออก ต่อมาได้วางสายโทรเลขขึ้นอีกสายหนึ่งจากกรุงเทพฯ – บางปะอิน และขยายไปทั่วถึงในเวลาต่อมา

สำหรับกิจการไปรษณีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๒๔ มีที่ทำการเรียกว่าไปรษณียาคาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๒๖ มีสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์พระองค์แรก ในโรงไปรษณียโทรเลขระยะแรกมีการรับฝากจดหมายหรือหนังสือเพียงในกรุงเทพฯ และธนบุรีเท่านั้น เมื่อกิจการดำเนินไปได้ ๒ ปี จึงมีการขยายออกไปยังจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดเขื่อนขันธ์ (ปัจจุบันคืออำเภอพระประแดง จ.สมุทรปราการ) และขยายไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา เมื่อกิจการโทรเลข และไปรษณีย์ดำเนินการไปได้ด้วยดี ในปีพ.ศ.๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมโทรเลขรวมเข้ากับกรมไปรษณีย์ชื่อว่า กรมไปรษณีย์โทรเลข

พระราชกรณียกิจด้านการโทรศัพท์

กิจการทั้งหลายอันสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่เริ่มจากสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงกิจการโทรศัพท์ด้วย เนื่องจากมีพระวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล และพระปรีชาสามารถอย่างมากในการพัฒนาประเทศ โดยกระทรวงกลาโหมได้นำโทรศัพท์อันเป็นวิทยาการในการสื่อสารที่ทันสมัยเข้ามาทดลองใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ จากกรุงเทพฯ – สมุทรปราการ เพื่อแจ้งข่าวเรือเข้า – ออกที่ปากน้ำ์ ต่อ มากรมโทรเลขได้มารับช่วงต่อในการวางสายโทรศัพท์ภายในกรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลา ๓ ปีจึงแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการกับประชาชน และพัฒนามาจนกระทั่งทุกวันนี้

พระราชกรณียกิจด้านการปกครอง

เมื่อบ้านเมืองมีความเจริญเก้าวหน้าขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเปลี่ยนแปลงแบบแผนการปกครองจากเดิมที่เป็นการบริหารจากเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วางระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ โดยแยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่างๆ มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะไม่ก้าวก่ายกัน ซึ่งในครั้งแรกนั้นทรงกำหนดกรมขึ้นมาใหม่ 6 กรม ได้แก่

๑. กรมพระคลัง มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการเก็บภาษีรายได้จากประชาชนและนำมาบริหารใช้งานด้านต่าง ๆ

๒. กรมยุติธรรม มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับคดีความที่ต้องตัดสินต่างๆ ทั้งคดีอาญาและคดีเพ่ง รวมถึงควบคุมดูแลศาลอาญา ศาลแพ่ง และศาลอุทธรณ์ทั่วทั้งแผ่นดิน

๓. กรมยุทธนาธิการ มีหน้าที่ตรวจตรารักษาการณ์ในกรมทหารบก ทหารเรือ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทหาร

๔. กรมธรรมการ มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับกิจการของพระสงฆ์ คือ หน้าที่สั่งสอนอบรมพระสงฆ์และสอนหนังสือให้กับประชาชนทั่วไป

๕. กรมโยธาธิการ มีหน้าที่ดูแลตรวจตราการก่อสร้าง การทำถนน ขุดลอกคูคลอง และงานเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง

๖. กรมมุรธาธิการ มีหน้าที่ดูแลรักษาพระราชลัญจกร พระราชกำหนดกฎหมาย และหนังสือที่เกี่ยวกับราชการทั้งหมด

รวมถึงกรมที่ตั้งอยู่ก่อนหน้านั้น 6 กรม รวมเป็น 12 กรม ได้แก่

๗. กรมมหาดไทย* มีหน้าที่ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ และเมืองลาวซึ่งเป็นเมืองประเทศราช

๘. กรมพระกลาโหม* มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันออก ตะวันตก และเมืองมลายู

(* การที่ให้กรมทั้งสองบังคับหัวเมืองคนละด้านนั้น เพื่อเป็นการง่ายต่อการควบคุมดูแลพื้นที่นั้น ๆ ให้ได้ผลเต็มที่)

๙. กรมท่า มีหน้าที่ดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ

๑๐. กรมวัง มีหน้าที่ดูแลรักษาการณ์ต่าง ๆ ในพระบรมมหาราชวัง

๑๑. กรมเมือง มีหน้าที่ดูแลรักษากฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับผู้กระทำผิด กรมนี้มีตำรวจทำหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบ และจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษ

๑๒. กรมนา มีหน้าที่คล้ายคลึงกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบันคือ มีหน้าที่หลักในการดูแลควบคุมการเพาะปลูก ค้าขาย และป่าไม้ เพราะเมืองไทยมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก

เมื่อกิจการกรมต่างๆ มีความเจริญก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจแล้วในปี พ.ศ.๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการประกาศในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๕ ให้ยกฐานะกรมขึ้นเป็นกระทรวง แต่ต่อมาทรงเห็นว่าบางกระทรวงมีหน้าที่ซ้ำซ้อนกันจึงยุบกระทรวงลง ๒ กระทรวง คือ กระทรวงมุรธาธิการยุบรวมกับกระทรวงวัง และกระทรวงยุทธนาธิการรวมกับกระทรวงกลาโหม คงเหลือ ๑๐ กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงวัง, กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ, กระทรวงเกษตราธิการ, กระทรวงนครบาล, กระทรวงธรรมการ, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงโยธาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศ

พระราชกรณียกิจด้านการพยาบาลและสาธารณสุข

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะสร้างโรงพยาบาลเพื่อรักษาประชาชนด้วยวิธีการแพทย์แผนใหม่ เนื่องจากการรักษาแบบเดิมนั้นล้าสมัย ไม่สามารถช่วยคนได้อย่างทันท่วงทีทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมายเมื่อเกิดโรคระบาด พระองค์จึงทรงแต่งตั้งกรรมการขึ้นมา ๙ คนเพื่อดำเนินการจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นบริเวณริมคลองบางกอกน้อย อันเป็นที่ตั้งของพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือวังหลังโดยได้พระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์จำนวน ๑๖,๐๐๐ บาท เป็นทุนเริ่มแรกในการสร้างโรงพยาบาล ให้ใช้ชื่อว่า โรงพยาบาลวังหลัง เปิดทำการรักษาแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๑

ต่อมาพระองค์ได้พระราชทานนามโรงพยาบาลแห่งนี้ใหม่ว่าโรงพยาบาลศิริราช เพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสที่ประสูติในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ที่สิ้นพระชนมายุเพียง ๑ ปี ๗ เดือน ทั้งยังได้พระราชทานพระเมรุ พร้อมกับเครื่องใช้ เช่น เตียง เก้าอี้ ตู้โต๊ะ ฯลฯ ในงานพระศพให้กับโรงพยาบาลเพื่อใช้ประโยชน์ รวมทั้งพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ จำนวน ๕๖,๐๐๐ บาท ให้กับโรงพยาบาลเป็นทุนในการใช้จ่าย

พระราชกรณียกิจด้านการกฎหมาย

กฎหมายในขณะนั้นมีความล้าสมัยอย่างมาก เนื่องจากใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ และยังไม่เคยมีการชำระขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับยุคสมัย ทำให้ต่างชาติใช้เป็นข้ออ้างในการเอาเปรียบไทยเรื่องการทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับการขึ้นศาลตัดสินคดีที่ไม่ให้ชาวต่างชาติขึ้นศาลไทย โดยตั้งศาลกงสุลพิจารณาคดีคนในบังคับต่างชาติเอง แม้ว่าจะมีคดีความกับชาวไทยก็ตาม ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ สร้างประมวลกฎหมายอาญาขึ้นใหม่เพื่อให้ทันสมัยทัดเทียมกับอารยประเทศโดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญกฎหมายจากต่างประเทศมาร่วมงานกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระบิดาแห่งกฎหมายไทย) พระราชโอรส ในฐานะองค์ประธานตรวจพระราชกำหนดพระอัยการทั้งเก่าและใหม่

ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนกฎหมายแห่งแรกของประเทศไทย มีกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงเป็นผู้อำนวยการ และพระอาจารย์สอนกฎหมายแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญที่ผลิตนักกฎหมายที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาประเทศ

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ตรากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ อันเป็นลักษณะกฎหมายอาญาฉบับแรกที่นำขึ้นมาใช้ อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง พิจารณาทำกฎหมายประมวลอาญาแผ่นดินและการพาณิชย์ ประมวลกฎหมายว่าด้วยพิจารณาความแพ่ง และพระธรรมนูญแห่งศาลยุติธรรม แต่ยังไม่ทันสำเร็จดีก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน เมื่อสร้างประมวลกฎหมายขึ้นมาใช้แล้ว บทลงโทษแบบจารีตดั้งเดิมจึงถูกยกเลิกไปโดยสิ้นเชิงในรัชกาลของพระองค์เอง เพราะมีกฎหมายใหม่เป็นบทลงโทษ ที่เป็นหลักการพิจารณาที่ดีและทันสมัยกว่าเดิมด้วย

เสด็จเปิดรถไฟ

พระราชกรณียกิจด้านการขนส่งและสื่อสาร

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้คณะเสนาบดีและกรมโยธาธิการสำรวจเส้นทาง เพื่อวางรากฐานการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ มีการวางแผนให้ทางรถไฟสายนี้ตัดเข้าเมืองใหญ่ๆ ในบริเวณภาคกลางของประเทศแล้วแยกเป็นชุมสายตัดเข้าสู่จังหวัดใหญ่ทางแถบภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นหัวลำโพงเมืองที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้า การสำรวจเส้นทางในการวางเส้นทางรถไฟนี้เสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ และในวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินขุดดินก่อพระฤกษ์ เพื่อสร้างทางรถไฟครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยโปรดเกล้า ฯ ให้ทางรถไฟสายนี้เป็นรถไฟหลวงแห่งแรกของไทย

พระราชกรณียกิจด้านการไฟฟ้า

ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่าไฟฟ้าเป็นพลังงานที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างมาก เมื่อมีโอกาสประพาสต่างประเทศ ได้ทอดพระเนตรกิจการไฟฟ้า และทรงเห็นถึงประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดจากการมีไฟฟ้า พระองค์จึงทรงมอบหมายให้กรมหมื่นไวยวรนารถเป็นผู้ริเริ่มในการจ่ายกระแสไฟฟ้าขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ซึ่งเป็นการเปิดใช้ไฟฟ้าครั้งแรกของไทย

เงินพดด้วง

พระราชกรณียกิจด้านการเปลี่ยนแปลงระบบเงินตรา

ในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำธนบัตรขึ้นเรียกว่า อัฐ เป็นกระดาษมีมูลค่าเท่ากับเหรียญทองแดง ๑ อัฐ แต่ใช้ได้เพียง ๑ ปีก็เลิกไป เพราะประชาชนไม่นิยมใช้ ต่อมาทรงตั้งกรมธนบัตรขึ้นมา เพื่อจัดทำเป็นตั๋วสัญญาขึ้นใช้แทนเงินกรมธนบัตรได้เริ่มใช้ตั๋วสัญญาเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๔๕ เป็นครั้งแรก เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้มีการผลิตธนบัตรรุ่นแรกออกมา ๕ ชนิด คือ ๑,๐๐๐ บาท ๑๐๐ บาท ๒๐ บาท ๑๐ บาท ๕ บาท ภายหลังมีธนบัตรใบละ ๑ บาทออกมาด้วย รวมถึงพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดหน่วยเงินตรา โดยให้หน่วยทศนิยมเรียกว่า สตางค์ กำหนดให้ ๑๐๐ สตางค์ เท่ากับ ๑ บาท พร้อมกับผลิตเหรียญสตางค์ขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรกเรียกว่าเบี้ยสตางค์ มีอยู่ด้วยกัน ๔ ชนิด คือ ราคา ๒๐ สตางค์ ๑๐ สตางค์ ๔ สตางค์ ๒ สตางค์ครึ่ง ใช้ปนกับเหรียญสี้ยว และอัฐ

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกประกาศยกเลิกใช้เงินพดด้วงและทรงออกพระราชบัญญัติมาตราทองคำ ร.ศ.๑๒๗ ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๑ ว่าด้วยเรื่องให้ใช้แร่ทองคำเป็นมาตรฐานเงินตราแทนแร่เงิน เพื่อให้เสถียรภาพเงินตราของไทยสอดคล้องกับหลักสากล และในปีต่อมาทรงออกประกาศเลิกใช้เหรียญเฟื้อง และเบี้ยทองแดง

พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในการศึกษารูปแบบใหม่โดยโปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งโรงเรียนขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาทั่วกัน เพราะการศึกษาสมัยนั้นส่วนใหญ่ยังศึกษาอยู่ในวัด เมื่อมีการสร้างโรงเรียนและการศึกษาเจริญก้าวหน้าขึ้นเท่ากับเป็นการบ่งบอกถึงความเจริญทางด้านวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนหลวงแห่งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ โดยมีหลวงสารประเสริฐเป็นอาจารย์ใหญ่ สอนวิชาให้กับผู้เข้ารับราชการ จะได้มีความรู้ในการทำงาน สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกรู) เป็นผู้เขียนตำราเรียนขึ้นมาเรียกว่า แบบเรียนหลวง ๖ เล่ม คือ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์

ตำราทั้ง ๖ เล่มนี้ พระยาศรีสนุทรโวหารเขียนขึ้นมาใน ปีพ.ศ.๒๔๒๗ และโปรดเกล้าฯ ให้มีการสอบไล่สามัญศึกษาขึ้นอีกด้วย เพื่อเป็นการทดสอบความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา นอกจากนี้พระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างโรงเรียนหลวงขึ้นอีกหลายแห่ง กระจัดกระจายไปตามวัดต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โรงเรียนหลวงแห่งแรกที่สร้างขึ้นในวัด คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม โรงเรียนหลวงที่ตั้งขึ้นมานี้เพื่อให้บุตรหลานของประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้กัน การศึกษาขยายตัวเจริญขึ้นตามลำดับด้วยความสนใจของประชาชนที่ต้องการมีความรู้มากขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนเหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ มีการพิมพ์ตำราพระราชทาน เพื่อเป็นตำราในการเรียนการสอนด้วย

เสด็จประพาสยุโรป

พระราชกรณียกิจด้านการเสด็จประพาส

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชื่นชอบการเสด็จประพาสเป็นยิ่งนัก พระองค์เสด็จประพาสทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ บางครั้งทรงปลอมพระองค์เป็นสามัญชนบ้าง ปลอมเป็นขุนนางบ้าง เพื่อเสด็จพระราชดำเนินดูแลทุกข์สุขของประชาชนในหัวเมืองต่างๆ มากมาย การเสด็จประพาสบ่อยครั้งทำให้ทอดพระเนตรเห็นสิ่งต่างๆ ทั้งที่ดีและเสด็จประพาสหัวเมืองไม่ดี สิ่งเหล่านี้พระองค์ได้นำไปพัฒนาบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้าขึ้น

ในขณะนั้นประเทศแถบอินโดจีนได้ถูกรุกรานจากประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก เนื่องจากประเทศในแถบอินโดจีนเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนา ทำให้ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจได้โดยง่าย รวมถึงประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับสภาวะนี้เช่นกัน ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมแกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จประพาสยุโรป เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจเหล่านั้น อีกทั้งต้องการศึกษาวิทยาการต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงประเทศ และจากการเสด็จประพาสยุโรปของพระองค์ในครั้งนี้ก็ได้นำความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาการมาสู่บ้านเมืองของเราอย่างมากมาย

การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ.๒๔๔๐ ได้ส่งผลดีในการเจริญสัมพันธไมตรีกับมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ แห่งรัสเซีย ซึ่งการเสด็จฯ เยือนรัสเซียครั้งนั้นนับว่าเป็นจุดสำคัญที่สุดของการเสด็จพระพาสยุโรปทั้งหมด พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงต้อนรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ อย่างสนิทสนมและสมพระเกียรติ มีบันทึกไว้ว่า “สมเด็จพระเจ้าเอมเปรอกรุงรัสเซีย ประทับสนทนาปราศรัยด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายสยามและฝ่ายรัสเซีย เป็นอย่างฉันพระญาติพระวงศ์อันเดียวกันอันสนิท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปลื้องเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรม ราชวงศ์ประดับเพชรซึ่งทรงสวมใส่อยู่นั้น ถวายสมเด็จพระเจ้าเอมเปรอกรุงรัสเซีย”

และถึงตอนที่จะเสด็จฯ ออกจากรัสเซียนั้น มีบันทึกไว้ว่า “ต่างพระองค์ทรงพระอาลัยที่จะจากกันไปนั้น และทรงกอดรัดและจุมพิตถวายคำนับแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่รถไฟพระที่นั่ง”

ข่าวการรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่รัสเซียในครั้งนั้นทำให้ราชสำนักต่าง ๆ ในยุโรปตระหนักถึงความสำคัญของประเทศไทย ทำให้เกิดความเกรงใจอยู่ไม่น้อย กล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับมหาอำนาจตะวันตกในสมัยพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สะท้อนให้เห็นนโยบายของไทยที่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามและยอมเสียดินแดนส่วนน้อย เพื่อรักษาดินแดนส่วนใหญ่ไว้ ทั้งนี้เพราะไทยเป็นประเทศเล็กที่มีกำลังน้อย ท่ามกลางประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกยึดครองไปจนหมด ไทยจึงไม่อาจต่อรองด้วยกำลังกับชาติมหาอำนาจ แต่จะต้องพยายามแก้ปัญหาโดยใช้ “กลยุทธ์ทางการทูต” ในการรักษาเอกราชของชาติไว้ เห็นได้ชัดจากความสัมพันธ์ที่เกิดจากมิตรไมตรีขององค์ประมุขของไทยและ รัสเซีย ได้ช่วยให้ไทยสามารถดำเนินนโยบายถ่วงดุลอำนาจกับอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อรักษาอธิปไตยของไทยไว้ตามแนวสันติวิธี

ไกลบ้าน

พระราชกรณียกิจด้านศิลปวัฒนธรรม

ในด้านวรรณกรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกวีเอกที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในแผ่นดินสยาม พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมไว้มากมาย พระราชนิพนธ์ของพระองค์ที่ได้รับความนิยม และใช้เป็นส่วนหนึ่งของแบบเรียน คือ

๑. ลิลิตนิทราชาคริต ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๑ โดยแต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ อาศัยเค้าโครงเรื่องจากนิทานอาหรับโบราณ งานพระราชนิพนธ์ชิ้นนี้ได้พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

๒. พระราชพิธีสิบสองเดือน ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๓๑ ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือวชิรญาณ ใช้สำนวนร้อยแก้ว เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชพิธีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน

๓. บทละครเรื่องเงาะป่า ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ ในขณะที่ทรงพระประชวรพระราชนิพนธ์เรื่องนี้เป็นบทละครซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมาจนทุกวันนี้

๔. ไกลบ้าน ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๙ เป็นพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานพดล เมื่อครั้งที่เสด็จประพาสยุโรปในครั้งที่ ๒ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เป็นร้อยแก้ว โดยเรื่องราวส่วนใหญ่เป็นบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่ได้มีโอกาสทอดพระเนตรในระหว่าง ๙ เดือนที่เสด็จประพาสยุโรป

๕. พระราชวิจารณ์ ทรงพระราชนิพนธ์เป็นร้อยแก้ว ลักษณะคล้ายๆ กับจดหมายเหตุ โดยมีพระราชประสงค์เพื่อพระราชทานเป็นความรู้แก่นักวิชาการที่ต้องการค้นคว้าเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ในเรื่องราวต่างๆ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร เนื่องด้วยทรงพระชราภาพและทรงตรากตรำพระราชภารกิจมากมาย เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 รวมพระชนมายุ 58 พรรษา นับว่าเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ด้วยพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่เพียบพร้อมไปด้วยพระคุณธรรมและพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ มากมาย

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้านั้นเป็นช่วงเวลาที่แนวความคิดทางการเมือง การทหาร และวัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย จะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นสร้างความเจริญให้แก่ประเทศไทยของเราอย่างมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการเลิกทาส การสื่อสาร การปกครอง การสาธารณสุข การขนส่ง การศึกษาฯลฯ

พระองค์ทรงยอมรับความศิวิไลซ์ของประเทศตะวันตกและทรงใช้วิจารณญาณในการประยุกต์ผสมผสานเข้ากับสังคมไทยอย่างลงตัว โดยทรงยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักและด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปวงชนชาวไทยจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาว่า พระปิยะมหาราช อันหมายถึงพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักนั่นเอง

พระนางเรือล่ม

เกร็ดความรู้

พระนางเรือล่ม

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือ พระนางเรือล่ม ทรงเป็นพระมเหสีเทวีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าหัวกับเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ประสูติเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๓ พระอิสริยยศเมื่อแรกประสูตินั้นคือ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เสด็จทิวงคตเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๒๓ เนื่องจากอุบัติเหตุเรือล่ม ที่ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในระหว่างทางเสด็จ

 

//www.chaoprayanews.com/2012/05/24/%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%97%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b9%87%e0%b8%88%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%88%e0%b8%b8%e0%b8%a5%e0%b8%88%e0%b8%ad%e0%b8%a1%e0%b9%80-3/




Create Date : 20 ธันวาคม 2557
Last Update : 20 ธันวาคม 2557 3:53:01 น. 1 comments
Counter : 3313 Pageviews.

 
รวบรวมข้อมูลได้ดีมากๆ ขอบคุณค่ะ


โดย: sawkitty วันที่: 20 ธันวาคม 2557 เวลา:7:20:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สาว17
Location :
ลูกสาวเมืองสิงห์ Germany

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Color Codes ป้ามด







เพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตครอบครัว
มีบางครั้งที่เราต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ
มีบ้างบางครั้งที่เราต้องเลิกทำในสิ่งที่ชอบ
เพื่อความก้าวหน้าของชีวิตครอบครัว
มีบ่อยครั้งที่เราต้องรู้จักใช้สติ
ต้องรู้จัก อดทน และให้อภัย
ดูอย่างต้นไม้ซิ
มันไม่เคยที่จะผืนลิขิตของฤดูกาล
มันไม่คิดจะขัดธรรมชาติ
เมื่อถึงคราวต้องทิ้งใบก็ยินยอมแต่โดยดี
อดทนและอดทน
เพื่อผลิใบ และดอกผลเมื่อฝนมา
เพราะเมื่อเวลามาถึงทุกสิ่งจะดำเนินไป
ชีวิตที่เรียบง่ายคือชีวิตที่มีสุข








Free Hit Counter ทีเว็บมาสเตอร์ รวมพลคนทำเว็บ
Google
New Comments
Friends' blogs
[Add สาว17's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.