<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
29 กรกฏาคม 2551
 

สิทธิคุ้มครองตนในกฎหมายใหม่ว่าด้วยความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย

เตือนใจ เจริญพงษ์

ท่านทราบหรือไม่ว่า.....ขณะนี้มีกฎหมายเรื่องความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552
..............................................................................................
พ.ร.บ.ความรับผิดต่อผู้เสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551นี้
..................................................................................................
มีความน่าสนใจที่ประชาชนควรรู้และทำความเข้าใจอย่างยิ่งเพราะเป็นการนำเอาหลักความรับผิดโดยเคร่งครัดมาใช้กับผู้ประกอบการ เพื่อลดภาระในการพิสูจน์ให้แก่ผู้เสียหายและให้ผู้เสียหายได้เยียวยาโดยให้ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นธรรม อีกทั้งยังมีผลทำให้ผู้ผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ตระหนักในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานยิ่งขึ้น
............................................................................................

บ่อยครั้งที่ผู้บริโภคมักตกเป็นเหยื่อของผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตที่หวังผลกำไรโดยผลิตสินค้าที่อันตรายนานาปการมาให้เราบริโภคและใช้กัน ก็มีทั้งผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยและสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ผลพวงที่เกิดคือประชาชนชาวไทยเป็นหนูตะเภามาช้านาน ครั้นจะเอาผิดกฎหมายก็ไปไม่ถึง มาวันนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายดีๆมาให้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมาใช้
................................................................................................

เดิมทีการฟ้องร้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายกับคดีประเภทผู้ผลิตสินค้า หรือผู้ประกอบการนั้นมีความยุ่งยากมากเนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนดตัวผู้ต้องรับชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยไว้โดยตรง ทำให้ผู้บริโภคต้องเสียเงินเสียทองเสียเวลาและต้องระทำทุกข์ต่อพิษภัยจากอันตรายทั้งสินค้าและค่ายยักษ์ใหญ่ของผู้ประกอบการ
...............................................................................................

กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค่ที่ไม่ปลอดภัย เพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นผู้ขายสินค้า ผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิตหรือผู้นำเข้าสินค้า ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคใช้สินค้าที่ไม่ปลอดภัย
รายละเอียดของกฎหมายนี้พูดถึงการยกระดับการบังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
...............................................................................................

ความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
ผู้ประกอบการทุกคนต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหายในความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการ

เว้นเสียแต่ว่าสินค้านั้นไม่ได้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือผู้เสียหายรู้อยู่ก่อนแล้วว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือความเสียหายเกิดจากการใช้หรือการเก็บรักษาสินค้าไม่ถูกต้องตามวิธีซึ่งผู้ประกอบการได้ให้รายละเอียดและข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าไว้อย่างถูกต้องชัดเจนแล้ว ผู้ประกอบการจึงไม่ต้องรับผิด
...................................................................................................
ผู้ผลิตตามคำสั่งผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดหากพิสูจน์ได้ว่าความไม่ปลอดภัยของสินค้าเกิดจากการออกแบบหรือการทำตามคำสั่งของผู้ว่าจ้างให้ผลิต ซึ่งผู้ผลิตไม่ได้คาดเห็นและไม่ควรจะได้คาดเห็นของความไม่ปลอดภัย
................................................................................................

ผู้ผลิตส่วนประกอบของสินค้าไม่ต้องรับผิดหากพิสูจน์ได้ว่าความไม่ปลอดภัยของสินค้าเกิดจากการออกแบบหรือการกำหนดวิธีใช้ วิธีเก็บรักษา คำเตือนหรือการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของผู้ผลิตด้วยเช่นกัน
.................................................................................................

อนึ่ง ข้อตกลงระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการหรือประกาศของผู้ประกอบการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อยกเว้นความรับผิดหรือจำกัดความรับผิดนั้นไม่สามารถนำมากล่าวอ้างเพื่อปฎิเสธความรับผิดชอบได้

ผู้เสียหายและผู้มีสิทธิฟ้องคดีแทนผู้เสียหาย

ผู้เสียหาย คือ ผู้ได้รับอันตรายจากการใช้สินค้าที่ไม่ปลอดภัยและมีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น การฟ้องร้องดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวผู้เสียหายเพียงคนเดียวเท่านั้น
.............................................................................................

เพราะพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้สิทธิในการฟ้องคดีแทนผู้เสียหายแก่ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคม และมูลนิธิซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้การรับรองตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ในการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายแทนผู้เสียหายได้ พร้อมทั้งได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียม
ในการเรียกร้องค่าเสียหาย ผู้เสียหายเพียงพิสูจน์ว่าตนได้รับความเสียหายจากการใช้หรือการเก็บรักษาสินค้าตามปกติธรรมดา ไม่ต้องพิสูจน์ถึงขั้นว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากผู้ประกอบการผู้ใด ซึ่งเป็นการลดภาระการพิสูจน์และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค
................................................................................................

ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องค่าเสียหายใดได้บ้าง
ความเสียหายอันเกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยนี้นอกจากจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังกำหนดให้เรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษได้อีกได้แก่

ค่าเสียหายแก่จิตใจ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเสียหายต่อร่างกาย สุขภาพหรืออนามัย และหากความเสียหายรุนแรงถึงขนาดทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย สามี ภริยา บิดามารดาหรือผู้สืบสันดานของบุคคลนั้นมีสิทธิได้รับค่าเสียหายทางด้านจิตใจเพื่อชดเชยความสูญเสียดังกล่าวด้วยเช่นกัน
..............................................................................................

ค่าเสียหายในเชิงลงโทษ (Punitive Damages) ในกรณีที่ผู้ประกอบการได้ผลิต นำเข้า หรือขายสินค้า ทั้งที่รู้ว่าสินค้านั้นไม่ปลอดภัย หรือไม่รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเมื่อรู้ว่าสินค้าไม่ปลอดภัยแล้วนิ่งเฉยไม่ดำเนินการใดๆตามสมควรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย
ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นตามที่ศาลเห็นสมควร แต่ต้องไม่เกินสองเท่าของค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริง โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างๆ เช่น ความร้ายแรงของความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ การที่ผู้ประกอบการรู้ถึงความไม่ปลอดภัย
ของสินค้า ระยะเวลาที่ผู้ประกอบการปกปิดความไม่ปลอดภัยของสินค้า การดำเนินการของผู้ประกอบการเมื่อทราบว่าสินค่านั้นเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบการ การที่ผู้ประกอบการได้บรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการที่ผู้เสียหายมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย
..............................................................................................

อายุความ
การฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ผู้เสียหายต้องฟ้องภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้ประกอบการที่ต้องรับผิด หรือภายในสิบปีนับแต่วันที่มีการขายสินค้านั้น
..............................................................................................

หากเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย เนื่องจากการสะสมสารพิษในร่างกายหรือเป็นกรณีที่ต้องใช้ระยะเวลาในการแสดงอาการ ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในสามปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้ประกอบการที่จะต้องรับผิดแต่ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย
..................................................................................................
นอกจากนี้ หากมีการเจรจาเกี่ยวกับค่าเสียหายเกิดขึ้น กฎหมายกำหนดให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ไม่นับในระหว่างที่มีการเจรจาจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกการเจรจา







 

Create Date : 29 กรกฎาคม 2551
0 comments
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2551 14:51:43 น.
Counter : 805 Pageviews.

 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com