Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2558
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
10 สิงหาคม 2558
 
All Blogs
 
:: 6th Wrap-Up :: (#41 - #48)


...





#41

Llewellyn, R. (c1939, 2001). How green was my valley. London: Penguin Books.

Hew Morgan เกิดและเติบโตในเหมืองถ่านหินในแคว้นเวลส์ในยุคที่การทำเหมืองยังแพร่หลายช่วงปลายยุค 1900 เรื่องเล่าชีวิตเด็กชายตั้งแต่เล็กจนโต ซึ่งเกิดมาในครอบครัวลูกคนงานเหมือง มีพี่น้องชายหญิงหลายคน ล้วนแต่ใช้ชีวิตเป็นลูกจ้างทั้งนั้น ภาพชีวิตที่ต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำและสภาพอากาศที่เหมือนการลงโทษจากฟ้า อย่างไรก็ดี Hew ได้เรียนหนังสือ เติบโตเป็นคนรู้การรู้งานด้วยหนังสือเป็นเครื่องนำทางชีวิต แต่ก็เกะมะเหรกเกเรตามลักษณะของเด็กผู้ชาย เมื่อลูกแต่ละคนโตขึ้น ก็แยกจากอกพ่อแม่ไปที่ละคนสองคน พี่ชายแต่ละคนของ Hew แยกย้ายถิ่นพำนักไปอเมริกาบ้าง แอฟริกาใต้บ้าง (สมัยก่อนเรียก cape town) ไปนิวซีแลนด์และเยอรมนีบ้าง เหลือแต่ Hew ที่ดูแลพ่อแม่และพี่สะใภ้ที่พี่ชายของตนเสียไป จนเมื่อเรื่องแรงงานเหมือนรุนแรงขึ้น เกิดการประท้วงหนักข้อ Hew เองก็ได้พิสูจน์การทำหน้าที่การเป็นลูกที่ดีคอยช่วยเหลือพ่อให้รอดพ้นภาพการเมืองในเหมืองจนนาทีสุดท้าย แม้ว่าจะไม่สามารถช่วยชีวิตพ่อไว้ได้ก็ตาม

...





# 42

Lahiri, J. (2009). Unaccustomed earth. New York: Vintage Books.

ได้อ่านรวมเรื่องสั้นของนักเขียนที่ชอบก็มักจะรู้สึกอิ่มเต็ม อิ่มทั้งความคิดและอิ่มทั้งเรื่องราวต่างๆ ของตัวละคร ในเล่มนี้ Jhumpa เหมือนกำหนดธีมไว้ล่วงหน้า (ซึ่งก็คือธีมเดิมๆ ในเรื่องอื่นของเธอ) คือชีวิตชาวอินเดีย (เบงกาลี) ในสหรัฐฯ ที่อพยพเข้ามาหางานทำในอเมริกา ส่วนมากงานเขียนจะมุ่งเน้นไปที่ชนชั้นปัญญาชน ตัวละครมักเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย หรือไม่ก็มีอาชีพที่ต้องท่องไปทั่วโลก 

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชอบงานเขียนของ Jhumpa คือเธอเขียนงานได้เข้าถึงจิตใจตัวละครอย่างยิ่ง ละเลียดเล่าความคำนึงของตัวละครผสานเข้ากับเหตุการณ์ที่พลิกและผ่านไปของแต่ละชีวิตได้อย่างไม่สะดุด แม้ประเด็นในเรื่องอาจไม่มีอะไรหวือหวามาก แต่ก็ทำให้คนอ่านอยากรู้และอดเอาใจช่วยตัวละครไม่ได้ พร้อมทั้งเห็นใจตัวละครจากการบรรยายของผู้เขียนที่ถือว่าทำออกมาได้ดี 
ในเล่มนี้ชอบแทบทุกเรื่อง เรื่องที่ชอบที่สุดน่าจะเป็น “Unaccustomed earth” (เล่าความสัมพันธ์ของพ่อกับลูกสาวชาวอินเดียในดินแดนออเมริกา ค่านิยมแบบอเมริกันและแบบเอเชียที่ต่างกัน) กับเรื่อง “Going ashore” (ความผูกพันในวัยเด็กที่กลับมาทำให้คนสองคนรักกันอีกครั้ง ก่อนโศกนาฏกรรมจะทำให้พวกเขาแยกจากกัน)

...





# 43

Gaiman, N. (2009). The graveyard book. London: Bloomsbury.

ชีวิตของ Nobody หรือ Bod เด็กชายที่เติบโตขึ้นในสุสานร้าง เพราะพ่อแม่ถูกฆ่าทิ้ง เด็กทารกหนีรอดจากการฆาตกรรมมาได้อย่างหวุดหวิด เขาคลานเข้าไปในสุสานแล้วบรรดา “ประชากร” ในสุสานก็รู้สึกเอ็นดู และรับเลี้ยงไว้ เรื่องเล่าวีรกรรมต่างๆ ของเด็กชายในแต่ละช่วงวัยว่าได้พบได้เจออะไรแปลกประหลาดในสุสานขนาดใหญ่นั่นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นขุมสมบัติที่มี indigo man เฝ้าอยู่ เจอแม่มดที่ถูกพันธนาการไว้ใต้ต้นไม้ยักษ์ ที่สำคัญคือมีผู้ปกครองที่คอยดูแลเขาจนเติบใหญ่

แต่เมื่อล่วงเข้าวัยรุ่น เขาก็ต้องวกกลับมาพบกับกลุ่มคนที่ฆ่าพ่อแม่ตนเอง ต้องเอาตัวรอดหนีหลบพวกนั้นที่ตามฆ่าในสุสาน จนสุดท้ายพวกคนร้ายก็แพ้ภัยตนเองแตกพ่ายสลายไปในที่สุด อย่างไรก็ดี เมื่อโตขึ้นจนเริ่มเรียนรู้โลกภายนอกแล้ว Bod ก็ต้องจากสุสานไปใช้ชีวิตเยี่ยงคนธรรมดา บอกลาเพื่อนๆ พ่อแม่บุญธรรมและผู้ปกครองเขาไปในที่สุด เล่มนี้ฟังจาก audio book ก็ได้ความบันเทิงไปอีกแบบ

...





# 44

Geary, J. (2012). I is an other. New York: Harper Perennial.

ชีวิตคนเราว่ากันว่าแยกไม่ออกจาก metaphor เลยจนนิดเดียว เราคิด เราพูด เรากระทำสิ่งใดไปก็ล้วนเป็นผลมาจากการเปรียบเทียบ ทำให้เรามองเห็นโลกและเข้าใจโลกได้ตรงกัน เราพยายามทำให้สิ่งที่จับต้องไม่ได้ให้เข้าใจได้ เราทำให้สิ่งที่มองไม่เห็นให้มีตัวตนขึ้นมาได้ก็ด้วยการเปรียบเทียบ หนังสือเล่มนี้พยายามอธิบายวิถีการใช้ชีวิตของคนเราที่หนีไม่พ้น metaphor โดยแบ่งเป็นบทๆ ที่เป็นแง่มุมต่างๆ ของชีวิตมนุษย์เรา

หากจะยกตัวอย่างง่ายๆ  I see what you mean. ตัว ‘I’ นั้นไม่ได้ ‘see’ จริงๆ แต่เป็นการเปรียบโดยไม่รู้ตัว คือเราเปรียบ ‘what you mean’ เป็น ‘สิ่ง’ ที่สามารถมองเห็นได้ คือเมื่อเรารับรู้สิ่งนั้นผ่านสัมผัสทั้ง 5 มนุษย์จึงจะเข้าใจสิ่งนั้นๆ ฉะนั้นจึงเกิดการเปรียบเทียบให้คำพูดในประโยคข้างต้นเป็น “สิ่ง” ที่สามารถ ‘มองเห็นได้’ เสีย เพื่อจะได้เข้าใจให้ตรงกันทั้งคนพูดและคนฟังนั่นเอง ความเปรียบประเภทนี้เรียกว่าเป็น fossil ไปแล้ว คือคนเราใช้กันจนไม่คิดว่ามันเป็น metaphor แต่อย่างใด

ภาษาไทยคิดว่าเป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดี เพราะเรามักใช้คำที่เปรียบเทียบจนกลายเป็น fossil เสียมาก ถ้าสังเกตให้ดี เช่น ขาโต๊ะ ตีนเขา ร้อนใจ กินใจ เป็นต้น พวกนี้ล้วนเป็นการเปรียบเทียบทั้งสิ้น สองคำแรกน่าจะเป็นการเปรียบเพื่อสร้างคำใหม่โดยใช้ลักษณะที่คล้ายกับ “ขาคน” และ “ตีนคน” มาประกอบคำหลังเพื่อให้เกิดภาพขึ้นในใจ ส่วนสองคำหลังเป็นการทำให้สิ่งที่จับต้องไม่ได้เกิด “ภาพ” ขึ้นในใจคนพูดและคนฟัง

หนังสือเล่มนี้อ่านเพลิน เป็นการรวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับ metaphor ที่ทำในศาสตร์ต่างๆ มาจัดเรียงและอธิบายให้เข้าใจง่าย ไม่ว่าจะเรื่องการเงินการธนาคาร เรื่องหุ้น (‘หุ้นดิ่งตัวลดลงอย่างรุนแรง’ ‘ราคายังมีโอกาสแกว่งตัวทดสอบแนวต้านได้’ ฯลฯ) ด้านจิตวิทยา ด้านวิทยาศาสตร์ และอื่นๆ เป็นต้น

...





# 45

Atwood, M. (c1985, 2005). The handmaid's tale. London: Vintage. 

เมื่อสังคมอเมริกันพังทลายลงด้วยสงครามกลางเมือง กลุ่มนิยมศาสนาหัวรุนแรงก็ขึ้นครองอำนาจ จัดระเบียบสังคมใหม่ แบ่งชนชั้น กำหนดบทบาทสังคมชัดเจน ที่สำคัญคือในสังคมนี้ผู้ชายจะเป็นใหญ่ ตามท้องเรื่องตัวเอกคือ Offred ซึ่งถูกจัดพวกอยู่ในผู้หญิงที่มีหน้าที่พิเศษคือการเป็น “อู่” ให้กำหนดบุตรที่จะเกิดมาในสังคม เธอส่งเข้าไปในสถาบันแห่งหนึ่งเพื่อฝึกการเป็นผู้หญิงที่ทำหน้าที่ผลิตทารก หลังจากสำเร็จจากหลักสูตรนั้นแล้วก็ถูกส่งไปยังบ้านของชนชั้นนำต่างๆ ที่เป็นบรรดาหัวหอกของสังคม เธอต้องเข้าพิธีผลิตบุตร (เป็นฉากที่อ่านแล้วต้องอึ้ง) แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีผลิตผลออกมาได้สักที สังคมนี้บีบคั้นจิตใจ Offred เป็นอย่างมาก เธอคิดถึงลูกและสามีก่อนที่สังคมในอดีตจะล่มสลาย แต่ก็ไม่สามารถออกไปตามหาพวกเขาได้ ไม่รู้ว่าถูกจับไปอยู่ ณ ที่ใด วันเวลาผ่านไปอย่างไร้ค่า 
อย่างไรก็ดีเมื่อเธอกับเจ้าของบ้านเริ่มสนิทกันมากขึ้น (ทั้งๆ ที่กฎระเบียบขีดเส้นไม่ให้ใกล้ชิดกัน นอกจากสัมพันธ์ทางกายเท่านั้น) เขาก็พาเธอไปที่ใหม่ๆ อย่างผับบาร์ ทำให้เธอเหมือนเป็นของเล่นของเขาที่นำไปโชว์ตามสถานที่นั้น ทำให้เธอรู้ว่าในสังคมที่พยายามกำจัดสิ่งที่เรียกว่าอบายมุขให้หมดไปเพื่อให้เกิดสังคมที่สมบูรณ์กลับมีของเลวทรามปะปนอยู่ ในตอนท้ายเรื่องกลับกลายเป็นว่าเธอพยายามที่จะปลดแอกตัวเอง มีข้อเสนอจากตัวภรรยาของเจ้าของบ้านให้ไปมีอะไรกับคนขับรถเพื่อจะได้มีลูกออกมาโดยไว แต่ก็มีการดัดหลังกันเกิดขึ้นและสร้างแผนซ้อนกลกันอีกหลายต่อ

เสียดายความสั้นของหนังสือ คิดว่าน่าจะเขียนให้ได้เยอะกว่านี้ สังคมที่สร้างมาน่าสะอิดสะเอียนใช้ได้ ตอนจบนั้นชอบที่สุด เพราะเหมือนคนเขียนเอา genre อื่นมาประสมกับนิยาย เป็นบทถอดเทปงานสัมมนาในอนาคตอีกสองร้อยกว่าปี พูดถึงสังคมที่ Offred อยู่แต่ล่มสลายไปแล้ว ถึงจะจบแบบงงๆ แต่ก็ชอบเอามากๆ

...





# 46

William, N. (c1997, 2015). Four letters of love. London: Picador Classic.

เป็นเรื่องของ Nicholas เด็กหนุ่มชาวไอริชที่เติบโตมากับพ่อศิลปินนักวาดภาพหลังจากแม่จากไปด้วยการฆ่าตัวตาย เมื่ออายุเข้าสู่วัยรุ่นพ่อก็ต้องมาตายจากไปอีก ชีวิตผกผันเมื่อเขาคิดจะตามหาภาพเขียนของพ่อที่เหลืออยู่เพียงภาพเดียวซึ่งตกไปอยู่ในมือของครอบครัวหนึ่ง เมื่อเดินทางไปขอภาพคืนก็ตกหลุมรักลูกสาวของครอบครัวนั้นทันที ทั้งที่หญิงสาวนั้นกลับมีสามีอยู่แล้ว ฝ่ายหญิงสาว Isabel ก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทนกับสามีที่ตนหลงรักและคิดว่าเป็นความรักที่ยั่งยืน แต่เมื่อได้ร่วมหอลงโรงกลับกลายเป็นตรงกันข้าม สามีไม่เอาถ่านแถมยังทำร้ายร่างกายและหึงหวง ชะตากรรมนำทั้ง Nicholas และ Isabel มาพบกัน ทั้งคู่ต้องเลือกระหว่างความถูกต้องกับหัวใจที่ร้อนรุ่มด้วยไฟรัก

พล็อตเรื่องไม่มีอะไรมาก แต่คนเขียนใช้ภาษาเปรียบเทียบเปรียบเปรยได้สวยงาม ทำให้อ่านได้รื่นไหล แต่บรรยากาศในเรื่องนี้หม่นๆ มัวๆ ไปหน่อย จะคิดว่าออกแนวโรแมนติกก็ได้ จะว่าหดหูก็ได้เช่นกัน อีกประเด็นที่ทำให้รู้สึกเข้าไม่ค่อยถึงเรื่องนี้ก็คือประเด็นเกี่ยวกับศาสนา เพราะผู้เขียนโยงความรักหนุ่มสาวเข้ากับศาสนาไปเสียแทบทุกตอน 

...





#47

Coetzee, J.M. (2000). Disgrace. New York: Penguin Books.

Lurie โปรเฟสเซอร์ผิวขาววัยกลางคนในแอฟริกาใต้ที่สอนวรรณคดี มีเหตุให้ต้องเสียชื่อเสียงเมื่อแอบไปมีเพศสัมพันธ์กันนักศึกษาที่ตนสอนอยู่และถูกจับได้ ทำให้ต้องเดินทางออกไปนอกเมืองหลังจากถูกให้ออกจากงาน เขาไปอาศัยอยู่กับลูกสาวจากเมียคนแรก แต่เลือกใช้ชีวิตเป็นชาวไร่ พ่อลูกเหมือนได้กลับมาใกล้ชิดกันอีกครั้ง แลกเปลี่ยนทัศนคติที่ไม่เคยได้มีโอกาสมองเห็นแง่มุมต่างๆ ของกันและกันมาก่อน 

อย่างไรก็ดี ชุมชนที่ลูกสาวอาศัยอยู่เป็นชุมชนที่ไม่ปลอดภัย ไม่นานนักบ้านก็ถูกพวกคนดำปล้น ตัวโปรเฟสเซอร์ถูกทำร้ายไฟลวก ลูกสาวก็ถูกกระทำชำเรา หลังเหตุการณ์เกิดเป็นชนวนให้พ่อลูกต้องผิดพ้องหมองใจกันอีก เพราะตัวพ่ออยากให้ลูกขายที่ย้ายออกไป แต่ลูกยืนกรานที่จะอยู่ ไม่ต้องการให้พ่อมาควบคุมชีวิต โปรเฟสเซอร์ทำอะไรไม่ได้ก็ต้องอดกลั้นอดใจอาศัยอยู่เป็นเพื่อนลูก คอยปกป้องคุ้มภัยแม้จะไม่รู้ว่าทำได้แค่ไหนก็ตาม เขามีโอกาสได้ช่วยคลินิกรักษาสัตว์ เป็นผู้คอยยุติชีวิตบรรดาสุนัขที่ไม่อาจเยียวยาได้ด้วยการฉีดยาฆ่าให้ตาย แล้วนำไปเผาในเตาเผาในเมือง 

ผู้เขียนเหมือนสะท้อนภาพของสุนัขและการที่โปรเฟสเซอร์ต้องจนตรอก รับชะตากรรมที่ผิดพลาดครั้งเดียวจนทำให้ชีวิตผกผันแปรเปลี่ยนมาถึงขนาดนี้ได้ดี เรื่องนี้เล่าภาพของสังคมแอฟริกาใต้หลังเหตุการณ์แบ่งแยกผิวยุติลงได้อย่างเข้าถึงความเป็นจริง การต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่ยังไม่ประสานเข้าเป็นเนื้อเดียวกันดีนั้นแสดงออกมาเด่นชัดในงานชิ้นนี้

...





# 48 

Bradley, A. (2011). A red herring without mustard. New York: Bantam Books.

Flavia กลับมาอีกครั้งกับวีรกรรมนักสืบวัยกระเตาะ คราวนี้มาสืบคดีที่เกิดการทำร้ายยิปซีจนเกือบเสียชีวิตในพื้นที่คฤหาสน์ที่เด็กหญิงอาศัยอยู่ คดียุ่งเหยิงมากยิ่งขึ้นเมื่อมีคนตายที่พ้องกันคดีก่อนหน้าภายในสวนหลังบ้าน Flavia ใช้ความฉลาดเกินวัยสืบเสาะไปจนพบว่าคดีทั้งสองเกี่ยวพันกันนิกายความเชื่อเรื่องศีลจุ่มให้แก่เด็กแรกเกิดโดยการจับเด็กกดน้ำไปทั้งตัว ซึ่งเคยทำให้เด็กของครอบครัวหนึ่งข้างๆ คฤหาสน์ต้องเสียชีวิตไป แต่ยิปซีผู้ถูกทำร้ายนั้นกลับโดนป้ายสีว่าเป็นผู้ขโมยเด็ก หลักฐานต่างๆ ที่ฆาตกรใช้ลงมือค่อยๆ ปรากฏจนนำ Flavia ไปถึงตัวคนร้ายได้สำเร็จ แต่ก็เกือบต้องแลกมาด้วยชีวิตหลังจากไปติดอยู่ในห้องลับใต้คฤหาสน์ของตนเองที่ไม่เคยล่วงรู้มาก่อนว่ามีอยู่จริง 

ซีรี่ส์ชุดนี้ยังคนสนุก อ่านเพลินกับความคิดเฉลียวฉลาดเกินวัยของเด็กหญิงได้เป็นอย่างดี คิดว่าอย่างหนึ่งที่ทำให้อ่านติดและชอบใจคือการสร้างตัวละครพิเศษของผู้เขียน คำพูดคำจาและความกล้าหาญของตัวเอกที่เป็นเด็กทำให้อดเอาใจช่วยตามไปด้วยไม่ได้

...






Create Date : 10 สิงหาคม 2558
Last Update : 10 สิงหาคม 2558 16:39:35 น. 0 comments
Counter : 733 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Boyne Byron
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




Friends' blogs
[Add Boyne Byron's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.