Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2558
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
8 พฤษภาคม 2558
 
All Blogs
 
:: 3rd Wrap-Up :: (#17 - #24)

...





# 17

Johnson, Adam. (2013). The orphan master’s son. London: Black Swan.

Jun do เกิดในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า แต่เป็นลูกของผู้คุมสถานที่แห่งนั้น  หนังสือเล่าชีวิตของเด็กหนุ่มที่เติบโตในแผ่นดินแห่งเผด็จการ แบ่งออกเป็นสองภาค ภาคแรกเล่าชีวิตเด็กหนุ่มก่อนจะกลายมาเป็นเจ้าหน้าที่ลักพาตัวคนญี่ปุ่น จนเป็นทหารสายลับที่ปฏิบัติการข้ามแดนไปยังเกาหลีใต้ และสายลับที่ล่องเรือไปกับเรือประมงเพื่อหาข่าวทหารเรือสหรัฐในน่านน้ำประเทศใกล้เคียง จนเกิดเหตุเข้าใจผิดและถูกจับขังคุกค่ายทรมาน ภาคสองเป็นชีวิตที่พลิกผันมาเป็นใหญ่เป็นโตโดยสลับตัวกับนายพล Ga ซึ่งเป็นนักเทควันโดชื่อดัง เริ่มมีเรื่องรักเข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อต้องพบเจอกับภรรยาสาวของนายพล Ga 

นิยายวาดภาพเกาหลีเหนือแบบเกิดความจริง (คงตั้งใจล้อ) เป็นจินตนาการแบบสุดโต่งที่เราคิดว่าผู้เขียนจินตนาการขึ้นเอง อาจมีผสมการทำรีเสิร์ชบ้าง เพราะเราในฐานะคนเอเชีย อ่านเรื่องที่ฝรั่งเขียนถึงสถานที่ในเอเชียมันก็เลยรู้สึกไม่ใช่ เหมือนยังเข้าไม่ถึง ความคิดความอ่านตัวละครมันแปลกๆ และเอเลเมนต์ของวัฒนธรรมหายไปเลยจากเรื่องนี้ ทั้งที่ความจริงน่าจะต้องเด่นออกมา เพราะในความคิดเราแล้ว คิดว่าจารีตหรือวิธีชีวิตที่ยึดโยงอยู่กับความเป็นอยู่พื้นถิ่นนั้นๆ นี่แหละเป็นตัวผลักดันตัวละครได้ดีที่สุด หนังสือมีการแตะเรื่องผู้นำ แสดงให้คนอ่านเห็นความไม่เป็นเหตุเป็นผลของผู้นำเผด็จการ เรื่องหนุกตรงที่เป็นเรื่องสายลับ มีเหตุการณ์ผลิกผันไปมาตลอด แต่กลับไม่คิดว่าเรื่องมันไม่ปะติดปะต่อเท่าไหร่ บางอย่างก็เหลือเชื่อ แต่ก็คงเป็นความต้องการของคนเขียนอยู่แล้วที่ต้องการสะท้อนความเป็น hypocrite ของสังคมเกาหลีเหลือในนิยายเล่มนี้ 

...




# 18

Wilson, G. Willow. (2012). Alif the unseen. London: Corvus Books.

Alif ชายหนุ่มนักแฮกเกอร์ในประเทศอาหรับที่ร่ำรวยน้ำมัน ต้องผจญกับเรื่องรักไม่สมหวัง เพราะหญิงคนรักทิ้งไปแต่งงานกับคนอื่นที่พ่อแม่หามาให้ ส่วนตัวเขาก็จับผลัดจับผลูมาได้หนังสือในตำนานที่สร้างสรรค์ขึ้นโดย djinn และตัวประหลาดในตำนานเปอร์เซียทั้งหลาย ทั้งยังต้องหนีตายกับกลุ่มคนที่ตามล่าเพราะต้องการอาศัยหลักปรัญชาในหนังสือเล่มนี้เพื่อสร้างฐานอำนาจให้แก่ตน ดังนั้น Alif จึงหนีเข้าไปในดินแดนระหว่างภพ พบเจอกับบรรดา demon และปีศาจในตำนานมากมาย หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องแนวปัจจุบันกึ่งแฟนตาซี แต่เขย่ารวมกันไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ไม่ได้เห็นอารมณ์และจิตใจตัวละคร แข็งๆ ทื่อๆ ไป แต่ก็อ่านเพลินๆ ดี

...




# 19 

Lahiri, Jhumpa. (2014). The lowland. New York: Vintage.

ชีวิตสองพี่น้อง Subhash และ Udayan ในเมืองกัลกัตตาในยุค 50-60 สมัยที่ลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังกุมหัวใจของคนรุ่นใหม่ หนังสือเล่าความผูกพันของสองพี่น้อง วิธีคิดและวิถีชีวิตที่ต่างกัน คนพี่เติบโตไปตามครรลองที่ควรจะเป็น เรียนจบมหาวิทยาลัย ไปต่อโทและเอกที่อเมริกา ในขณะที่คนเป็นน้องเดินตามความฝันที่อยากปลดแอกอินเดียจากสังคมชนชั้น โดยการเอาปรัญชาคอมมิวนิสต์มาเป็นเครื่องมือมาอ้างเพื่อก่อความรุนแรงในหลายๆ ที่ จนเมื่อมีการกวาดล้างรุนแรง คนเป็นน้องก็ถูกทางการฆ่าทิ้งอย่างทารุณ ทิ้งให้เมียสาวอย่าง Gauri ต้องเป็นหม้าย พี่ชายกลับมางานศพน้อง สงสารหญิงสาวที่ไร้ญาติ ก็เลยยื่อข้อเสนอให้แต่งงาน แล้วไปอยู่ด้วยกันที่อเมริกา

เรื่องไม่ได้ง่ายและจบอย่างสวยงาม ลูกสาวติดท้องของ Gauri เป็นเหมือนใยที่ยึดโยงเธอไว้ไม่ให้หนีอดีตพ้น หนังสือเล่าต่อไปถึงการใช้ชีวิตของ Gauri ที่อเมริกา การปฏิวัติตัวเอง ทิ้งสาหรี่ เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย เรียนปรัญชาตะวันตกอย่างที่ตนเคยเรียนมาก่อนที่อินเดีย จนวันหนึ่งเมื่อ Subhash กับลูกสาวกลับไปงานศพบิดานั่นละ Gauri จึงตัดสินใจตัดใยอดีตที่โยงตนเองไว้เด็ดขาด โดยการหนีออกไปเผชิญโลกคนเดียว หลังจากเรียนจบได้ PhD สาขาปรัชญาอย่างที่ตนต้องการ 
จากนั้นเรื่องก็เล่าถึงชีวิตลูกสาวที่ปราศจากแม่ การสำนึกผิด การโหยหาอดีต และความลับเกี่ยวกับชาติกำเนิดของลูกสาวที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย 

ท่วงทำนองในการเขียนเหมือนเล่าเรื่องชีวิตครอบครัวหนึ่งที่ถูกเหตุการณ์พัดพาไปเหมือนใบไม้แห้งที่ไม่อาจทวนกระแสน้ำแห่งโชคชะตาได้ มีมุมมองตัวละครหลายตัวเล่าสลับกันไปมา ทำให้เห็นจิตใจของตัวละครแต่ละตัวและอินไปกับเนื้อเรื่องได้อย่างดีทีเดียว

...




# 20

McEwan, Ian. (2014). Children act. London: Vintage books.

เรื่องของผู้พิพากษาหญิง Fiona วัยจวนหกสิบกำลังประสบปัญหาชีวิตครอบครัวเพราะสามีขอไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นแบบดื้อๆ และปัญหาในที่ทำงานที่ตนเองต้องตัดสินคดีต่างๆ ซึ่งมีคดีหนึ่งที่เด็กหนุ่มป่วยเป็นมะเร็งจำเป็นต้องถ่ายเลือดเป็นการด่วน แต่ครอบครัวมีความเชื่อทางศาสนาว่าการรับเลือดของคนอื่นเข้าร่างกายเป็นบาป แต่กฎหมายอังกฤษมีอยู่ว่า เยาวชนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป มีสิทธิกำหนดทางเลือกของตนเอง ระหว่างการพิจารณาคดี Fiona จึงไปพูดคุยกับเด็กหนุ่มที่โรงพยาบาลเอง เหมือนไปช่วยให้เด็กคิดได้ว่าควรจะเลือกทางชีวิตที่รออยู่ด้านหน้า รักษาโรคให้หายแล้วใช้ชีวิตต่อไป ไม่ใช่ยึดตามศาสนาที่เหมือนการฆ่าตัวตาย 

ผลการติดสินคือ รพ.สามารถรักษาเด็กหนุ่มได้ แต่เรื่องไม่จบเท่านั้น เด็กหนุ่มเหมือนตามติดชีวิต Fiona ส่งจดหมายมาหลายครั้ง จนกระทั้งครั้งหนึ่งแอบตามเธอไปจนถึงต่างเมือง พอพูดจาแล้วจึงพบว่าเด็กหนุ่มเกิดศรัทธาเธออย่างแรงกล้า อยากไปขออยู่ด้วย หนีจากพ่อแม่ตนเอง เธอปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย เมื่อเรื่องเลยผ่านไป เขาส่งกลอนมาหา เธอก็มองผ่านๆ จนมารับรู้เรื่องราวภายหลังว่า เด็กหนุ่มเข้ารพ.อีกครั้งเพราะอาการกำเริบ แต่ครั้งนี้ไม่ยอมรับการถ่ายเลือดอีก จนเป็นเหตุให้ต้องเสียชีวิต พอรู้ข่าว Fiona ก็เสียใจเป็นอันมาก กลับไปดูกลอนซึ่งเด็กหนุ่มมาให้ก็ยิ่งช้ำใจ เพราะเขาได้บอกใบ้การลาโลกของตัวเองไว้ในกลอนนั้น 

ชอบงานเขียนของลุงเอียนที่เอาประเด็นหนักอึ้งมาเขียนให้เห็นครรลองของโลก เล่มนี้ชอบมาก ยิ่งตอนจบยิ่งชอบ ที่ให้ตัวละครต้องรู้สึกผิดกับสิ่งที่ตนเองพลาดกระทำลงไป

...





# 21

Eugenides, Jeffrey. (2003). Middlesex. New York: Picador.

หนังสือให้ตัวเอก Cal ที่เป็นกะเทยแท้ คือคนสองเพศโดยธรรมชาติ เล่าเรื่องการค้นพบตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงวัยรุ่น นับจากที่ตนถูกวินิจฉัยและเลี้ยงดูมาอย่างผู้หญิง ก่อนจะค้นพบว่าอวัยวะเพศชายได้ขยายตัวขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น จนถึงจุดหักเหของชีวิตที่ต้องเปลี่ยนการใช้ชีวิตแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

หนังสือแบ่งเป็นสองภาค ภาคแรกเล่าถึงปู่ยาตาทวดที่อพยพมาจากกรีซ มาตั้งรกรากที่อเมริกาตั้งแต่ยุค 1920 เล่าถึงพันธุกรรมที่เกิดจากการแต่งงานกันเองระหว่างพี่น้อง ลูกพี่ลูกน้อง เป็นยีนส์ที่ผสมกันจนทำให้ความผิดปกติมาเกิดที่ Cal ในที่สุด นอกจากนั้นยังเล่าถึงชีวิตที่ต้องทนต่อสู้ในโลกเสรีที่ต้องปรับตัวอีกมากของครอบครัวชาวกรีก ผ่านหน้าประวัติศาสตร์ต่างช่วงเวลาของอเมริกา ส่วนภาคสองเป็นเรื่องของ Cal ตั้งแต่เกิดจนโตเป็นวัยรุ่น การต้องรับมือกับสภาพร่างกายที่ไม่เปลี่ยนไปเป็นสาวอย่างเพื่อนในรร.ประจำคนอื่นๆ ความรักที่เกิดขึ้นระหว่างเพื่อนหญิงด้วยกัน จนทำให้รู้พร้อมๆ กับร่างกายที่พัฒนาไปเป็นผู้ชายว่า ตนเองไม่ใช้เด็กหญิงอีกต่อไป

คนเขียนเล่าเรื่องสนุกดี เล่าได้อย่างเห็นภาพในหลายๆ จุด แต่เหมือนเป็นนิยายสองเรื่องในเล่มเดียว เพราะภาคแรกกับภาคสองเหมือนผสมไม่ค่อยเข้ากันเท่าไหร่ แต่ก็ยอมรับว่าเขียนได้ดี เพราะชอบแนว family saga อยู่แล้ว

...




# 22

Bradley, Alan. (2010). The weed that strings the hangman’s bag. New York: Bantam Books.

นักสืบเด็กหญิงกลับมาอีกแล้ว The sweetness at the bottom of the pie คราวนี้ Flavia ต้องเจอกับคณะหุ่นกระบอกที่เดินทางผ่านมายังหมู่บ้านของเธอพอดี แต่เกิดรถเสียกลางทาง บาทหลวงในชุมชนจึงเกิดไอเดียให้จัดการแสดงขึ้นระหว่างช่างซ่อมรถในอาทิตย์นั้น แต่เมื่อการแสดงเกิดขึ้น คนเชิดหุ่นหล่นจากโรงละครลงมาตายเพราะถูกไฟดูด สาเหตุการตายชี้ชัดว่าไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นการจงใจฆ่า จากนั้นก็เป็นการสืบคดีด้วยเชาว์ของเด็กหญิง ไม่ใช่เพื่อช่วยตำรวจอย่างเดียว แต่เพราะความสงสัยของตนเองที่มีมากเกินวัยและฉลาดล้ำอีกด้วย 

ประเด็นจูงใจในการฆาตกรรมในเล่มนี้ซับซ้อนกว่าเรื่องแรกที่อ่านมา มีประเด็นทางศีลธรรม การเล่นชู้ ความรักของแม่เข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวละครที่นำมาเป็นผู้ต้องสงสัยก็สร้างออกมาได้ดี เกลี่ยบทแต่ละตัวได้อย่างเสมอหน้า ตัวละคร Flavia ฉลาดแบบเวอร์เกินวัย (เป็นความตั้งใจของผู้เขียน) อ่านทีไรแล้วทำให้นึกถึง Matilda ไม่ก็ Hermione ทุกที 

...




# 23

Munro, Alice. (1983). The moons of Jupiter. New York: Alfred A.Knopf.

หยิบรวมเรื่องสั้นของคุณยายอลิซมาอ่านอีกเล่ม หลังจากสองเล่มก่อนหน้าที่อ่านแล้วไม่ถึงกับชอบมากมาย เพราะคุณยายเขียนเรื่องสั้นแนวอืดเอื่อย บางเรื่องจบดื้อๆ แต่ก็ไม่รู้ทำไมถึงติดใจอยากอ่านอีก คงเพราะคุณยายเขียนงานได้สวย บรรยายความรู้สึกตัวละครได้ดี อ่านไม่ใช่เอาเรื่องเท่าไหร่แต่เอารสในความคิดความอ่านตัวละคร เนื่องเรื่องส่วนมากในเล่มนี้เกิดขึ้นในยุค 1970 ตอนปลายๆ เริ่ม 1980 ใกล้เคียงกับสองเล่มก่อน เป็นประเด็นชีวิตในครอบครัว การโหยหาวันวาน เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา และผู้สูงวัยกับการใช้ชีวิตในบั้นปลายเป็นส่วนใหญ่ ในเล่มนี้ชอบเรื่อง “Accident” (การเล่นชู้และจุดเปลี่ยนผันของชีวิตจากอุบัติเหตุของลูกชาย) “Chaddeleys and Flemings” ทั้งสองพาร์ต (ชีวิตของครอบครัวสองครอบครัว การปฏิบัติต่อญาติและต่อคู่ชีวิต”

...




# 24

Gordimer, Nadine. (1982). July’s people. Harmondsworth, UK: Penguin Books.

เรื่องของครอบครัวคนผิวขาวที่หนีการจราจลในแอฟริกาใต้ในช่วงที่การต่อต้านสีผิวรุนแรง คู่สามีภรรยาผิวขาวพร้อมด้วยลูกอีกสามคนหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้านของ July คนรับใช้ผิวดำของตนที่หมู่บ้านในชนบทห่างไกล มีการปรับตัวในสภาพที่อยู่อาศัยใหม่ ทั้งเรื่องอาหาร ความเป็นอยู่ในแต่ละวัน ทัศนคติของคนดำในหมู่บ้าน และปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง นิยายนอกจากจะสะท้อนภาพในสังคมแอฟริกาใต้ยุคนั้นแล้ว ยังแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ในระดับตัวละครด้วย คือเมื่อความสัมพันธ์ฉันนายจ้างลูกจ้างค่อยๆ เลือนหายไป เพราะฐานะที่ลดต่ำลง ความอิหลักอิเหลื่อในสนทนา หรือการไหว้วานให้ทำสิ่งต่างๆ จึงเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตอนจบออกจะเข้าใจยากไปหน่อย เหมือนไม่จบดี แต่สรุปรวมก็ถือว่าเป็นนิยายที่ชอบอีกเล่ม



...



Create Date : 08 พฤษภาคม 2558
Last Update : 15 พฤษภาคม 2558 0:52:31 น. 4 comments
Counter : 887 Pageviews.

 
หนัก ๆ ทั้งนั้นเลยนะคะ
Children Acts น่าอ่านจังค่ะ


โดย: Serverlus วันที่: 12 พฤษภาคม 2558 เวลา:20:49:02 น.  

 
The Children Acts น่าสนใจดีครับ ยิ่งบอกว่าดีมากๆแบบนี่ยิ่งอยากอ่าน


โดย: ปีศาจความฝัน วันที่: 13 พฤษภาคม 2558 เวลา:21:48:34 น.  

 
คือจริงๆ พอมาอ่านทวนรีวิวเรื่อง The Children Act ก็เพิ่งเห็นว่าตัวเองได้สปอยล์ไปหมดแล้ว 5555


โดย: Boyne Byron วันที่: 15 พฤษภาคม 2558 เวลา:0:55:47 น.  

 
สนใจ Children Act มากค่ะ เป็นแฟน McEwan อยู่แล้วด้วย เด๋วจะหามาอ่านบ้างคร้า :-)


โดย: petitfour IP: 27.145.83.51 วันที่: 5 มิถุนายน 2558 เวลา:12:34:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Boyne Byron
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




Friends' blogs
[Add Boyne Byron's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.