Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2558
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
13 กุมภาพันธ์ 2558
 
All Blogs
 
:: 1st Wrap-Up :: (# 1 - # 8)


...






# 1

Rushdie, Salman. (1995). The Moor's last sigh.  London: Vintage

นิยายแฟมิลีซาก้าเรื่องนี้เสนอภาพชีวิตของคนอินเดียสองตระกูลที่เป็นสายสาแหรกของชายหนุ่มตัวเอกอย่าง Moor ประกอบไปด้วยฝั่งแม่ผู้ครอบอาณาจักรการค้าเครื่องเทศ โดยอ้างว่าตนเองเป็นลูกหลานของ Da Gama นักท่องเรือชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายเครื่องเทศที่ชายฝั่งอินเดียเมื่อหลายร้อยปีก่อน อีกสายหนึ่งนั้นพ่อของตัวเองเป็นชาวยิวกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ที่ชุมชนใกล้เคียงกันนั้นเอง ครึ่งแรกของเรื่องเกือบทั้งหมด เล่าปัญหาและความเป็นมาของทั้งสองตระกูลนี้ ไม่ว่าจะการชิงดีชิงเด่นกันในหมู่เครือญาติซึ่งคอยช่วงชิงผลประโยชน์ของการค้าเครื่องเทศทางฝั่งแม่ และชีวิตซึ่งยึดโยงอยู่กับความเชื่อที่ว่ากษัตริย์มัวร์องค์สุดท้ายในคาบสมุทรสเปนเป็นต้นตระกูลทางฝั่งพ่อ จนเป็นที่มาของชื่อเล่นตัวเองว่า Moor นอกจากนั้นแม่ของตนเอง Aurora ก็เป็นจิตรกรฝีมือเอก เขียนภาพของลูกในช่วงวัยต่างๆ สะท้อนจิตใจของตัวแม่เอง  ภาพหนึ่งในนั้นคือ The Moor’s last sigh เล่าประวัติของกษัตริย์มัวร์องค์นั้นและเป็นกระจกเงาสะท้อนโชคชะตาของ Moor อีกด้วย

ในครึ่งหลังของหนังสือเล่าชีวิตอันแปลกประหลาดของ Moor เนื่องจากเขาเกิดมาพร้อมชีวิตที่คูณสอง  คือตัวเองจะแก่ไวเป็นสองเท่าของอายุจริง มิหนำซ้ำมือข้างขวาที่กุดด้วน ครั้นเข้าสู่วัยแห่งการแสวงหาความรัก ชีวิตรักก็กลับไม่สมหวัง ถูกกีดกันจากคนในตระกูลและพบเจอแต่หญิงสาวที่ร้ายกาจ ต่อมาไม่นาน Moor ก็ได้ล่วงรู้ไส้พุงของแม่และพ่อของตนเองที่เหมือนเป็นถ้ำมืดดำในสมัยก่อน ทั้งธุรกิจตลาดมืด ของหนีภาษี ของผิดกฎหมาย สารพัดสารเพที่จะสร้างให้ตระกูลร่ำรวยขึ้นมาได้ ผู้เขียนสร้างภาพตระกูลนี้คู่ขนานไปพร้อมกับเหตุการณ์ทางการเมืองของอินเดียในยุค 70-80 จึงมีการอ้างถึงประวัติศาสตร์ที่ตระกูลนี้ไปพ้องพานอยู่หลายตอน ไม่ว่าจะการลอบสังหารนายกฯ การขึ้นมามีอำนาจของกลุ่มคนต่างๆ หรือประเด็นเรื่องศาสนาและเชื้อชาติในอินเดียเอง นอกจากนี้ขึ้นชื่อว่า Rushdie นักเขียนมือทองก็ไม่ทิ้งลายความฉลาดทางตัวอักษร หนังสือเล่มนี้หนีไม่พ้นที่จะมีการเล่นคำเยอะแยะเต็มไปหมด การเล่นคำนี้เองทำให้เกิดเสน่ห์ในนวนิยาย เห็นฝีปากของตัวละครที่พูดคำคำนั้นออกมา หรือเห็นอารมณ์ขันของนักเขียนที่สอดแทรกคำนั้นๆ ลงไป แต่บางครั้งก็ไม่เก็ตกับอารมณ์ขัน จนต้องลองไปเสิร์ชหาความรู้เบื้องหลังพร้อมปริบททางสังคมของคำเหล่านั้น จึงได้พอเข้าใจบ้าง


# 2

Atwood, Margaret. (1996, 1977). Dancing girls. London: Vintage.

เป็นรวมเรื่องสั้นของผู้เขียนคนนี้ที่เพิ่งได้มีโอกาสอ่านเป็นครั้งแรก คอเล็กชันนี้เขียนขึ้นในยุค 70 ทั้งหมด เรื่องราวต่างๆ ไม่ได้บอกสมัยเลย เพราะประเด็นคิดว่าเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ไม่จำกันยุคเวลา จะมีอะไรที่ต่างออกไปก็น่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นฉากหลังของเรื่องซึ่งช่วยในการดำเนินเรื่อง เช่น การเดินทาง เครื่องมือสื่อสาร เป็นต้น สังเกตว่าชื่อเรื่องนี้เหมาะมาก เพราะเรื่องสั้นทั้งหมดจะเล่าผ่านมุมมองหรือเล่าถึงตัวละครที่เป็นผู้หญิงในวัย สภาพ และสถานการณ์ต่างๆ ในเล่มนี้ชอบเรื่อง The Resplendent Quetzal (ชีวิตคู่ที่ไม่ลงรอยกัน โดยใช้สัญลักษณ์เป็นนกป่าในการสื่อความ) A Travel Piece (กลุ่มคนที่เครื่องบินตกกลางทะเล ต้องหาทางเอาชีวิตรอด) Betty (ชีวิตของผู้หญิงธรรมดาๆ เล่าผ่านสายตาเด็กที่มีความคิดเปลี่ยนไปตามช่วงวัย)


# 3

Bradley, Alan. (2009). The sweetness at the bottom of the pie. New York: Bantam Books.

เรื่องนี้เซตในยุค 50 ที่ชนบทอังกฤษ Flavia เด็กหญิงวัย 13 ขวบ อาศัยอยู่กับพ่อและพี่สาวที่ชอบแกล้งเธอเล่นอยู่อีกสองคน ส่วนแม่นั้นจากพวกเธอไปนานแล้ว อยู่มาวันหนึ่งเด็กหญิงก็เข้าไปพัวพันในคดีฆาตกรรมโดยไม่ได้ตั้งใจ เนื่องจากเป็นคนพบศพชายนิรนามมาเสียชีวิตที่สวนหลังบ้าน ก่อนหน้านั้นเธอเห็นชายคนนี้ทุ่มเถียงกับพ่อตนเองในห้องทำงาน เมื่อเรื่องถึงตำรวจ พ่อจึงถูกจับเป็นผู้ต้องหา เธอจึงเริ่มการสืบหาฆาตกรที่แท้จริงด้วยตัวเอง เงื่อนงำสำคัญก็คือก่อนที่จะพบศพชายนิรนามในบริเวณบ้านนั้น มีนก snipe บินมาตายก่อนหน้า เหมือนเป็นการบอกใบ้อะไรสักอย่าง ที่สำคัญที่จะงอยปากมีแสตมป์หายากเสียบคาอยู่ด้วย 

เรื่องนี้เด่นด้วยสีสันของตัวละครโดยแท้ ผู้เขียนสร้าง Flavia เป็นตัวละครแบบเก่งกล้าเกินวัย ความคิดความอ่านละเอียด (อาจมาเกินไปบ้างสำหรับเด็กอายุเท่านี้ แต่ก็ทำให้เรื่องน่าอ่านน่าติดตาม) สิ่งที่เด็กหญิงชอบมากเป็นพิเศษคือ เคมี เธอเป็นนักทดลองที่ชอบทำการทดลองผสมสารต่างๆ เธอจึงใช้ความชำนาญตรงนี้ไปค้นหาจนพบว่า ผู้ตายคือใคร กระทั่งนำเรื่องไปเล่าให้พ่อที่ถูกคุมขังชั่วคราวฟัง จึงได้รู้เรื่องราวในหนหลังเมื่อครั้งที่พ่อยังอยู่โรงเรียนประจำ สนิทกับผู้ตาย และร่วมกันก่อโศกนาฏกรรมเมื่อสมัยเรียนอันเนื่องมาจากสแตมป์ที่นกคาบมาตายนั่นเอง ผลพวงที่ตามมาในตอนนี้ก็คือการแบล็กเมล์และต้องการตามล่าเอาคืน เมื่อได้ฟัง Flavia จึงถีบจักรยานคู่ใจท่องไปทั่งเมืองเพื่อสืบเสาะคดีด้วยตัวเอง จนกระทั่งพบคนร้ายซึ่งไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ในที่สุด

เรื่องนี้เดาตัวละครได้ไม่ยาก มีผู้ต้องสงสัยมาให้เลือกไม่กี่ตัว แต่ก็ไม่ทำให้อ่านสนุกน้อยลง ชอบตรงนิสัยและการกระทำของนักสืบตัวเอก การพูดการจาก็ฉลาด อ่านไปยิ้มไปในบางทีด้วยซ้ำ คิดว่าจะลองตามซีรีส์นี้ดูสักหน่อย เห็นมีหลายเล่มต่อกันอยู่


# 4

Trevor, William. (1976). The children of Dynmouth. New York: Viking Press

เรื่องนี้เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มวัยรุ่นในยุค 70 ที่ต้องการทำตัวโด่ดเด่น เรียกร้องความสนใจแบบแปลกๆ จากชุมชน Timothy อาศัยอยู่ในเมือง Dynmouth ติดชายฝั่งของอังกฤษ เป็นเมืองที่เงียบเหงา ไร้สีสันโดยสิ้นเชิง เด็กหนุ่มจึงคิดอุตริเมื่อนึกถึงงานฉลองประจำเมืองที่จะจัดขึ้นในช่วง Easter โดยคิดจะเข้าชิงชัยในการแสดงความสามารถประจำปี เด็กหนุ่มวางแผนจะแสดงละครประหลาดแต่ขาดอุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆ จึงหาวิธีไปตื๊อขอเอากับคนในเมือง แต่วิธีของเด็กหนุ่มคนนี้คือการเข้าไปยุ่งย่ามในชีวิตส่วนตัวของคนที่ไปขอความช่วยเหลือ โดยใช้ความลับที่ตนเองบังเอิญไปพบเจอเข้า นำไปแบล็กเมล์เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ  
Timothy เข้าไปสร้างความรำคาญและเข้าไปจุ้นจ้านกับชีวิตของคนในชุมชน Dynmouth กันแทบทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบาทหลวงประจำเมือง คู่สมรสชราคู่หนึ่ง คู่เด็กหญิงและชายคู่หนึ่ง จนก่อให้เกิดความแตกร้าวกันระหว่างบุคคลต่างๆ ที่ว่ามาข้างต้น บรรยายกาศของเรื่องที่ผู้เขียนบรรยาย ให้ความรู้สึกราวกับว่าเด็กหนุ่มคนนี้เป็นภัยมืดที่ทำให้ทุกคนต้องระวังตัวแจ มิฉะนั้นอาจต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากับความคิดอุตริแผลงๆ ของเจ้านั่นก็เป็นได้







# 5

McEwan, Ian. (1978). The cement garden. New York: Simon and Schuster

นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดาร์กเอามากๆ เขียนขึ้นในยุค 70 เป็นเรื่องของเด็กสี่คน ไล่เรียงอายุตั้งแต่ 17 ลงไปจนถึง 6 ขวบ เด็กสี่คนนี้ต้องอยู่ตามลำพังในบ้านเมื่อพ่อตายจากไปเมื่อหลายปีก่อน หลังจากนั้นแม่ก็เริ่มป่วยกระเสาะกระแส จนวันหนึ่งก็นอนหลับจากไป เรื่องมาเริ่มดาร์กก็ตรงที่พี่สาวคนโตและน้องชายคนรอง คิดว่าไม่อยากที่จะบอกใครเรื่องแม่ตาย เพราะนั่นจะทำให้พวกเขาต้องเป็นเด็กกำพร้า และถูกนำตัวออกไปจากบ้าน พรากจากกันระหว่างพี่น้อง ดังนั้นเมื่อเหลือบเห็นกองปูนซีเมนต์ที่พ่อเคยซื้อมาทิ้งไว้ที่สวนหลังบ้าน ทั้งคู่จึงคิดที่จะฝังศพแม่ตัวเองไว้ด้วยซีเมนต์นี้เอง ดาร์กเท่านั้นยังไม่พอ คนเขียนสร้างให้พี่น้องสองคนนี้เกิดความพิศวาสระหว่างกันอีกต่างหาก ในหลายๆ ฉากคนเขียนสร้างให้ทั้งคู่ฉงนฉงายกับสิ่งที่ตนเป็น เมื่อถูกเนื้อต้องตัวกัน สงสัยใคร่รู้ในอารมณ์เร้าทางเพศที่เกิดขึ้นระหว่างพี่น้อง 

เมื่อไม่มีผู้ปกครองอยู่กันเองในบ้านหลังนั้น บ้านก็เริ่ม “เน่า” อันว่าเด็กก็ยังคงดูแลรับผิดชอบอะไรไม่ได้ ขยะเริ่มล้นบ้าน ของกินเริ่มขาดแคลน (อันนี้ไม่รู้ดูแลเรื่องเงินทองอย่างไร) ครั้นผ่านไปสักสองสามอาทิตย์ก็เริ่มมีชายแปลกหน้าเข้ามา นัยว่าเป็นคนรักของพี่สาวคนโต นายคนนี้เองที่ได้กลิ่นเหม็นเน่าประหลาดมาจากห้องใต้ดิน จึงพยายามเดินลงไปดู จนความแตกเข้าในวันหนึ่ง

หนังสือที่เล่นกับแง่มุมส่อเสียดศีลธรรมเล่มนี้เขียนออกมาได้ดีมาก แม้ว่าจะดาร์ก แต่กลับชอบในสไตล์การเขียน และถึงเนิบช้ากับไม่ได้บอกความคิดคำนึงของตัวละครมาตรงๆ แต่การบรรยายอากัปกิริยาและสถานการณ์ประกอบก็ทำให้เห็นภาพ พร้อมเข้าใจความเป็นไปภายในจิตใจของตัวละครได้อย่างละเอียด จนบางครั้งรู้สึกสะอิดสะเอียนในความคิดนั้นๆ เลยทีเดียว


# 6

Waugh, Evelyn. (1951, c1948). The loved one. London: Penguin Books

เรื่องนี้เขียนเล่าเสียดสีสังคมอเมริกันที่ฮอลลิวูดในยุค 50 ที่ฉาบฉวยและฟุ้งเฟ้อ คนเขียนเล่าชีวิตของคนอังกฤษที่ไปทำมาหากินที่ฮอลลิวูด แต่ชีวิตก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่ตั้งความหวังไว้ ตัวเอกของเรื่องทำงานในบริษัทจัดงานศพให้กับสัตว์เลี้ยง เมื่อแฟลตเมทฆ่าตัวตาย เขาจึงต้องช่วยจัดการศพให้ จึงเดินทางไปติดต่ออีกบริษัทจัดงานศพให้กับคนอีกแห่งหนึ่ง กระทั่งได้พบกับหญิงสาวแสนสวย ผูกสมัครรักใคร่กัน โดยสร้างภาพว่าตัวเองเป็นนักกลอน แต่เพลงยาวจีบสาว ฝ่ายหญิงนั้นเป็นช่างแต่งหน้าศพ ทำงานได้ดีจนเป็นที่หมายปองของ “คนแต่งศพ” อีกคน จากนั้นก็เป็นเรื่องชิงไหวชิงพริบกันระหว่างสองหนุ่มเพื่อพิชิตหัวใจหญิงสาว แต่เรื่องมาจบแบบโศกนาฏกรรมตรงที่ความมาแตกว่าหนุ่มอังกฤษนั้นโกหกเธอ หญิงสาวเสียใจมากจนไปปรึกษาชายหนุ่มอีกคนที่เกิดผิดใจกันอีก  แรงกดดันทำให้เธอถึงขั้นกินยาฆ่าตัวตาย

เนื้อเรื่องดูเฉยๆ ตัวละครมีพฤติกรรมที่ดูเกินจริง แต่ลองไปอ่านบทวิเคราะห์จากที่อื่นแล้ว พบว่าเป็นการเสียดสีสังคมสมัยก่อน ก็คงเป็นอย่างนั้น แม้ว่าบางทีจะไม่เก็ตกับเหตุผลและที่มาที่ไปของการกระทำต่างๆ ของตัวละครเลยก็ตาม เอาเป็นว่าเกิดไม่ทันยุคนั้น เลยนึกภาพสังคมไม่ออกก็แล้วกัน


# 7

Slater, Lauren. (2001). Lying: a metaphorical memoir. New York: Penguin Books 

งานเขียนแบบเมมมัวร์นี้ไม่ค่อยได้อ่านเท่าไหร่ ก็เลยลองหยิบเล่มนี้มาอ่าน ผู้เขียนเล่าชีวิตตัวเองตั้งแต่สมัยเด็ก สาเหตุที่ทำให้ตัวเองกลายเป็นคนขี้โกหกในตอนวัยรุ่น โดยบอกว่าเริ่มจาการที่ตัวเองเป็นโรคลมชัก มีแม่ที่ชอบคาดหวังให้ลูกเป็นที่หนึ่งตลอด เมื่อลูกสาวเป็นเช่นนี้ก็เลยต้องผิดหวังกับความไม่สมบูรณ์ของลูกสาวเพราะมีโรคเป็นเหมือนรอยด่างในชีวิต อย่างไรก็ดีเด็กหญิงเรียนรู้ว่าเธอสามารถใช้โรคลมชักเรียกร้องความสนใจจากคนอื่นได้ เพราะครั้งเหมือนจะสั่งตัวเองให้ชักได้ทันทีเมื่อเกิดความไม่พอใจ ไม่เท่านั้นเด็กสาวเริ่มขโมยของเล็กๆ น้อยๆ โกหกปกปิดเรื่องราวหรือปั้นน้ำเป็นตัว นัยว่าทำให้รู้สึกตื่นเต้น รุ่นระทึกกับชีวิตดี อย่างไรก็ตาม พอโตขึ้นมาอีกหน่อย ก็ได้รับการรักษาโรคลมชักโดยการผ่าตัดจนหายเป็นปกติ แม้ว่าการโกหกจะยังติดตัวเป็นสันดอนขุดไม่ได้ก็ตาม ในช่วงเดียวกันนี้เอง เธอก็เริ่มสนใจในงานเขียน ส่งงานไปตามที่ต่างๆ และตั้งปณิธานว่าวันหนึ่งข้างหน้าจะเขียนเมมมัวร์เป็นของตัวเอง 

อ่านๆ ไปก็โอเค เรื่อยๆ มาเรียงๆ หนังสือจบเหมือนไม่จบดีเท่าไร ในเรื่องบางจุดก็เหมือนนิยายมากไป (เพราะเขียนในเชิงเล่าเหตุการณ์ต่อเหตุการณ์) ผู้เขียนเองทิ้งไว้ให้คิดเหมือนกันว่า นี่เป็นงานเขียนเชิง metaphor คืออาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง หรืออุปมาว่าเกิดขึ้นกับชีวิตเธอก็ได้ เพราะจิตใต้สำนึกบอกให้เธอคิดและเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้น สรุปตอนท้ายก็เลยงงๆ ว่าจะเชื่อว่ามันเป็นเมมมัวร์ดีไหม หรือจะตีมันว่าเป็นเรื่องแต่งดี


# 8

Pym, Barbara. (1991, c1953). Jane and Prudence. New York: Plime Book

เรื่องผู้หญิงสองคนต่างวัย Jane อดีตอาจารย์ที่ออกมาแต่งงานมีลูก ใช้ชีวิตเงียบๆ ในชนบท และ Prudence อดีตลูกศิษย์ของหญิงคนแรก รายนี้เป็นสาวออฟฟิศอายุ 29 (เรื่องเกิดในยุค 50 ที่อังกฤษ) ที่ต้องการแต่งงานเป็นอันมาก ฝ่ายแรกพยายามหาคู่มาให้ วางแผนมาให้เจอกันที่ชนบทที่ชุมชนที่ตนเองอยู่ Prudence ก็เล่นด้วยเป็นอย่างดี ความรักกับหนุ่มที่อาจารย์ตนเองหามาให้เริ่มสุกงอน แต่สุดท้ายเรื่องกลับตาลปัตร โดนสาวแก่ข้างบ้านหนุ่มคนนั้นคว้าพุงปลาไปกิน เพราะ Prudence อยู่ใกล้ถึงลอนดอน ไม่มีเวลามาติดต่อสานสัมพันธ์ได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เธอกลับพบรักใหม่โดยไม่คาดฝัน เป็นหนุ่มที่ทำงานคนละแผนงในที่ทำงานเดียวกันนั้นเอง 

พล็อตไม่มีอะไรเลย นึกภาพแล้วออกแนวชิกลิตสมัยก่อนได้เหมือนกัน ลองหยิบมาอ่านดูแบบไม่ได้เสิร์ชหาข้อมูลหรือบทวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน เพราะอยากจะลองเสี่ยงมือดู ก็เลยได้ข้อสรุปว่า ไม่น่าเสี่ยงเลยจนนิดเดียว (-_-)’



...






Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2558
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2558 10:04:19 น. 4 comments
Counter : 1313 Pageviews.

 
อ๊า ชุด Flavia อยู่ในคินเดิลเรามาหลายปีแล้วค่ะ ไม่ได้อ่านซะที กลัวติดแล้วยาว ปีนี้ต้องอ่านให้ได้

ฟังเล่าเรื่อง The cement garden แล้วนึกถึง Flowers in the attic งานยุค 70 ทำไมถึงเป็นยังงี้


โดย: Froggie วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา:17:04:02 น.  

 
ผมอ่าน Flavia แล้วติดใจสไตล์การเขียนฮะ ชอบตัวเอกมากๆ คือชอบอ่านเรื่องเด็กฉลาด นึกถึงมาทิลดา ของโรอัล ดาห์ล ขึ้นมาทันที

ส่วน Flower นั้น ไม่เคยได้ยินมาก่อน เดี๋ยวลองไปหาข้อมูลสักหน่อย แต่กลัวไม่ชอบเท่าเล่มนี้ เพราะผมว่า Ian McEwan เขียนออกมาได้ดี ติดที่สไตล์เหมือนกัน


โดย: Boyne Byron วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา:19:47:03 น.  

 
The cement garden น่าสนใจมากๆเลยครับ ไม่รู้จะมีแปลไทยหรือเปล่าเนาะ?? แปะหัวใจให้เลยครับ


คุณได้ทำการแปะ ให้กับคุณ Boyne Byron เรียบร้อยแล้วนะคะ

คุณเหลือ อีก 1 ดวง สำหรับวันนี้ค่ะ


โดย: ปีศาจความฝัน วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา:1:00:49 น.  

 
เล่มนี้คงไม่มีแปลมานะครับไอซ์ คือถ้าแปลมาอาจขายไม่ออก 555
ขอบคุณสำหรับหัวใจนะครับ


โดย: Boyne Byron วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา:21:31:25 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Boyne Byron
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




Friends' blogs
[Add Boyne Byron's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.