มหากาพย์ ไตรภาค / โดย นาย นริศ จิระวงศ์ประภา (ตอน5)

มหากาพย์ ไตรภาค

โดย นาย นริศ จิระวงศ์ประภา

มหากาพย์ไตรภาค

(ต่อ)

ภาคสุดท้ายนี้ ผมขอกล่าวถึงในอีกด้านหนึ่งซึ่งมีความสําคัญไม่แพ้ในด้านแรก(จริงๆสําคัญมากกว่ามากๆ)คือในด้านธรรม ผมเคยถามพระอาจารย์ของผมเกี่ยวกับการค้าขายและการลงทุนว่าทําอย่างไรให้เป็นทางธรรมได้บ้าง พระอาจารย์ของผมตอบไว้อย่างน่าคิดว่า การค้าขาย การลงทุน ถ้าจะให้ดีก็ต้องเป็นสัมมาอาชีวะ คือเป็นอาชีพที่สุจริต ไม่ไปเบียดเบียนใคร ซึ่งมีอยู่5ข้อคือ
-ไม่ขายอาวุธ ที่มีวัตถุประสงค์ทําลายล้าง
-ไม่ขายมนุษย์ หรือ กดขี่ข่มทารุณเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
-ค้าขายสัตว์เป็น เลี้ยงสัตว์เพื่อฆ่าแรกเงิน
-ค้าขายสิ่งเสพติด หรือสิ่งมอมเมาผู้ใช้ หรือสิ่งที่เป็นพิษภัยแก่ผู้บริโภค
-ค้าขายยาพิษ ที่นําไปใช้ต่อคนและสัตว์

อาชีพทั้งห้าประเภทนั้น อาจารย์ผมแนะนําให้หลีกเลี่ยง ส่วนเรื่องการทําอาชีพเพื่อผลกําไร อาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า อย่างไรมันก็คือทางโลก ไม่ใช่ทางธรรม ทางโลกคือการหาเอาเข้ามาใส่ตัว มีแต่ตัวกิเลสที่เรียกร้อง ส่วนทางธรรมคือการเอาสิ่งต่างๆออกจากตัว เพื่อความหลุดพ้น การทําธุรกิจต้องหวังผลกําไร จึงเป็นทางโลกไม่สามารถเป็นทางธรรมได้ แต่เราสามารถทําทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไปได้ เช่นการช่วยเหลือลูกค้าบางรายเป็นกรณีพิเศษ การอบรมสั่งสอนและช่วยเหลือพนักงาน และที่สําคัญสุดคือ การนําเงินที่ได้จากธุรกิจ ไปแบ่งปันให้แก่ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าเราในด้านต่างๆ

ผมคิดว่าความสุขในทางโลก คือความสุขในความอยากได้สิ่งต่างๆ ซึ่งจะมีความทุกข์ในตอนอยากได้(แต่ยังไม่ได้) แต่พอได้มาแล้ว ก็จะมีความสุขเพียงประเดี๋ยวประด๋าว แล้วความอยากใหม่ก็จะเข้ามาจูงจมูกท่านไปหาความทุกข์อีกครั้งหนึ่ง แต่ความสุขในการให้นั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะการให้นั้น สุขตั้งแต่มีจิตที่คิดจะให้ สุขในขณะที่ได้ทํา และสามารถอิ่มในสุขเมื่อระลึกถึงสิ่งที่ได้ทําไปแล้ว


ในชีวิตที่เราอยู่ในโลก เราก็ต้องมีการวางเป้าหมายในทางโลก เมื่อเราได้ถึงเป้าหมายระดับหนึ่งแล้ว เราควรมีความพอเพียงในสิ่งที่ตนมี เราจะรู้สึกเพียงพอในชีวิตที่เป็นอยู่ ในเมื่อถ้าเราพอแล้ว สิ่งที่เราได้มาก็จะล้นไปหาคนที่ด้อยโอกาสกว่า

ถ้าพูดถึงความฝันหรือเป้าหมายในชีวิต ผมคิดว่าทุกๆคนคงจะมีความฝันและมีเป้าหมายในชีวิตแน่นอน แต่ผมคิดว่าเรื่องที่ทุกคนฝันอาจจะคล้ายกันแต่คงจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว บางคนก็มีเป้าหมายมากมาย บางคนอาจจะมีอยู่ไม่กี่เรื่อง ความฝันของแต่ละคนก็อาจจะมีเรื่องใหญ่บ้างเล็กบ้างคละเคล้ากันไป บางเรื่องก็เหมือนจะไม่เป็นสาระสําคัญ แต่ก็เป็นความใฝ่ฝันให้เหมือนให้ชีวิตนี้มันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่นบางคนอาจจะอยากเที่ยวรอบโลกเป็นต้น

ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ในเมื่อบทความนี้เป็นของผม ผมขอเอาเป้าหมายในการดําเนินชีวิตของผมมาให้ท่านๆได้ดู แต่เอาเฉพาะเรื่องที่เป็นสาระนะครับ ที่ไม่เป็นสาระไม่เอามาให้ดู ฮา. ถ้าเอาเรื่องใหญ่ๆที่มีสาระ นํามาสรุปรวมคงจะได้ห้ากลุ่มดังต่อไปนี้

1.กลุ่มการเงิน กลุ่มนี้เป้าหมายในชีวิตผมคือ ต้องการมีอิสระภาพทางการเงิน เป้าหมายระยะแรกๆนั้น เคยตั้งเป้าไว้เพียง ไม่มีหนี้สิน มีบ้านมีรถ และมีเงินเก็บสุทธิเพียง10ล้านบาท ระยะหลังๆพอถึงเป้าหมายเก่า เป้าหมายใหม่ก็เริ่มถูกกิเลสตั้งขึ้นหลอกล่อมาแทนที่เป้าหมายเดิม จนเป้าหมายสุดท้ายที่ได้ตั้งเป้าไว้นั้นคือที่100ล้านบาท

2.กลุ่มครอบครัว กลุ่มนี้เป้าหมายในชีวิตของผมคือ ต้องทําหน้าที่เป็นลูกที่ดี ช่วยเหลือจุนเจือพี่น้องและคนรอบข้างในยามที่เขาต้องการ , ประคับประคองอบรมสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดี มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม เอาตัวรอดได้ในทางโลกและใฝ่รู้ในทางธรรม

3.กลุ่มกัลยาณมิตร เป้าหมายคือต้องการมีมิตรที่ดี ไม่ต้องการมีศัตรู ช่วยเหลือมิตรเมื่อยามเขาเดือดร้อน ชักจูงเพื่อนๆไปในทางที่ดี (แต่ไปที่ชอบๆ เพื่อนมันบอกว่าไม่ต้องชวน ฮา.)

4.เป้าหมายในการช่วยสังคม ช่วยเหลือทางด้านกําลังทรัพย์ กําลังกาย กําลังสมองให้แก่สังคม เท่าที่จะทําได้ โดยต้องเป็นการกระทําที่ไม่หวังผลตอบแทน

5.กลุ่มทางธรรม มีเป้าหมายในชีวิตว่าต้องการบรรลุธรรมในระดับหนึ่ง ต้องการทําให้ชีวิตตนเองเข้าใจในธรรมชาติของตัวทุกข์ สามารถสงบสุขได้ในยามที่ความทุกข์กําลังกลํ้ากราย

ในปัจจุบัน เป้าหมายที่ผมสามารถพูดได้เต็มปากว่าสําเร็จแล้วคงจะมีข้อแรกเพียงข้อเดียว เพราะผมไม่มีหนี้สิน และทรัพย์สินรวมผมมีมากกว่าเป้าหมายไว้หลายเท่าตัว ที่ผ่านมาในวันหนึ่งๆ ผมน่าจะหมดเวลาไปกับการ หาหุ้น เจาะหุ้น ขุด
หุ้น แกะหุ้น พูดคุยเรื่องหุ้น ไม่ตํ่ากว่าวันละ4-5ชั่วโมง แต่หนทางเป้าหมายในทางธรรมผมยังไม่พัฒนาไปไหนเลย ผมจึงคิดว่าผมคงจะต้องถอยออกมาจากการลงทุนแบบเดิมเสียที อย่าให้ความโลภมาหลอกให้หาเงินเพิ่มอีกเลย เวลาที่เสียไปกับการลงทุนแบบมุ่งเน้น ควรเปลี่ยนไปเป็นการลงทุนกระจายไปในหุ้นพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง ไม่ต้องไปติดตามผลประกอบการ แล้วนําเวลาที่มีไปศึกษาในเรื่อง
ธรรมมะ และ ช่วยเหลือสังคมให้มากขึ้นคงจะดีกว่า

ที่ผ่านมาคนบางกลุ่มอาจจะคิดว่าผมอยากเด่น อยากดัง เพื่อจะได้โปรโมทหุ้น หรือบางคนที่นิสัยไม่ดี เอาความหวังดีของผมไปใช้ในทางที่หาผลประโยชน์เข้าตนเอง ทําให้ผมรู้สึกเบื่อความเป็นตัวตนของนาย naris@thaivi จากนี้ไปนาย naris คงจะหลีกหายไปจากวงการหุ้นและ thaivi(อาจจะเข้ามาบ้างในชื่ออื่นและอ่านเพียงอย่างเดียว) และที่สําคัญ ผมคงมีความสุขมากขึ้น ที่จะใช้เวลาที่เหลือไปใช้ในด้านอื่นๆที่ชอบและอยากทํา

การถ่ายทอดแนวคิดการลงทุนของผมในครั้งนี้ จะเป็นการมอบคืนสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาจากอาจารย์หลายๆท่าน มามอบให้ท่านที่ยังไม่ตกผลึกในเรื่องการลงทุน ยังขาดอิสระภาพทางการเงิน และถ้าสิ่งที่ผมได้ถ่ายทอดความรู้ไปในครั้งนี้มีประโยชน์ ผมขอยกความดีความชอบให้กับบิดามารดา ครูบาอาจารย์ และผู้มีบุญคุณของข้าพเจ้า

สุดท้ายนี้ผมหวังว่าบุญกุศลที่ผมได้สร้างในครั้งนี้ จะทําให้ท่านที่หลงผิดคิดว่าหุ้นคือการพนัน หรือคิดว่าเป็นการแย่งชิงเงินเหมือนเก้าอี้ดนตรี สามารถเปลี่ยนแนวคิดเป็น “การซื้อหุ้นคือการลงทุนในกิจการ” และท้ายที่สุดถ้าท่านมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว ขอรบกวนท่านทั้งหลายโปรดช่วยเผื่อแผ่ปัญญาและทรัพย์สินให้กับผู้ด้อยกว่าในโอกาสที่เหมาะสมด้วยนะครับ

บทความนี้คงจะเป็นบทความสุดท้ายในเวปผมจึงอยากจะกล่าวขอบคุณและขอโทษหลายๆท่านดังต่อไปนี้

ขอบคุณ คุณพ่อ ที่ได้บ่มเพาะความใจสู้และอดทนให้แก่ลูก
ขอบคุณ ท่านแม่ ที่ได้สอนเรื่องการให้และความนอบน้อมให้แก่ลูก
ขอบคุณ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ที่เอื้อเฟื้อเผยแพร่แนวคิดการลงทุนให้แก่ผมขอบคุณ อ.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา ที่ช่วยชี้แนะแนวทางการลงทุนอย่างมีความสุข
ขอบคุณพี่มนตรี นิพิฐวิทยา ที่ช่วยสอนงบการเงินให้แก่ผม
ขอบคุณพี่วิบูลย์ พึงประเสริฐ ที่เปิดหูเปิดตาการลงทุน ในตระแกรงร่อนหุ้น
ขอบคุณพี่ครรชิต ไพศาล ผู้ใหญ่ใจดี ที่ผมต้องหาโอกาสไปกราบถึงสงขลาให้ได้
ขอบคุณพี่พรชัย รัตนนนทชัยสุข ที่แปลหนังสือดีๆ อ่านง่ายๆ ให้ผมได้ศึกษา
ขอบคุณลุงขวด ที่ทําให้ผมมีมุมมองนักลงทุนที่ผมอยากจะเป็น ในยามสูงอายุ
ขอบคุณพี่แพะ สามัญชน ที่คอยให้คําปรึกษาในหลายๆด้าน
ขอบคุณพี่พีระนาท โชควัฒนา ที่เอื้อเฟื้อน้องๆอย่างไม่ปิดบัง
ขอบคุณ คุณIH@กระทิงเขียว กูรูตัวจริงที่เปิดมุมมองการลงทุนให้ผมได้ศึกษา
ขอบคุณตั่วเฮียคลายเครียด ที่สอนให้ผมเห็นอารมณ์ของตนเอง
ขอบคุณพี่ปรัชญา ผู้คอยเป็นคนระวังหลังให้น้องๆเสมอ
ขอบคุณพี่ป้อมporjai ที่มอบความฮาผสมธรรมได้อย่างลงตัว
ขอบคุณ พี่ฉัตรชัย ที่เป็นที่พึ่งของผมในยามที่ต้องการมุมมองที่เป็นกลาง
ขอบคุณหมอนั้ม หมอฟันผู้เอื้อเฟื้อ
ขอบคุณตึก VI.Jr เพื่อนที่ผมสบายใจในการพูดคุย
ขอบคุณโจ ลูกอิสาน ที่คอยตอบคําถามพี่ในช่วงที่ผ่านมา
ขอบคุณyoyo ที่สอนในหลายๆเรื่องให้แก่พี่
ขอบคุณสุมาอี้@thaivi ที่ได้เขียนหนังสือดีๆมาให้อ่าน
ขอบคุณ ณัฐ Alastor คนตรงนิสัยดี

กลุ่มคนดังกล่าวทั้งหมดที่ผมกล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นผู้มีบุญคุณที่ทําให้ผมมีทุกวันนี้ ผมนับถือพวกท่านว่าเป็นครูของผมจริงๆครับ

ขอขอบคุณเพื่อนๆพี่ๆน้องๆในเวป ที่คอยให้ความรู้ ให้กําลังใจกันมาโดยตลอด เพื่อนๆในเวป Thaivi นี้มีคุณภาพจริงๆ ตั้งแต่เพื่อนคนแรกที่ถือหุ้นตัวเดียวกันในปีแรก ไปประชุมผู้ถือหุ้นด้วยกันคือ Alastor หรือจะเป็นเพื่อนกลุ่มสุ่มหัว เพื่อนกลุ่มก๊วนแบต เพื่อนก๊วนหมอๆทั้งหลาย เพื่อนกลุ่มขอนแก่น เพื่อนนักเขียนรุ่นพี่อย่างพี่สถาปนิกต่างดาว จวบจนคนสุดท้ายที่ผมได้รู้จักในปีนี้คือหมอแป๊ะReiter เจ็ดปีที่ผ่านมาเพื่อนๆหลายสิบคนที่ผมได้รู้จักเหล่านี้ ทําให้ผมมีความสุขในการลงทุนมากๆ ขอบคุณครับทุกๆท่าน

ขอบคุณความโลภ ความกลัว ความหลง ในตลาดหลักทรัพย์ ที่สอนให้ผมเห็นกิเลสของตนเองชัดเจนยิ่งขึ้น

ขอโทษเพื่อนๆหลายๆคนที่ผมอาจจะเป็นคนตรงๆ ผมคิดอย่างไรก็ทําอย่างนั้น และคงเป็นเพราะผมประสบความสําเร็จในด้านการลงทุนในแนวทางนี้ จะไปพูดแนวทางที่ตนเองไม่รู้ก็ใช่เรื่อง ทําให้เวลาแสดงความคิดเห็นอาจจะไปขัดแนวคิดการลงทุนของพวกท่านอยู่บ่อยครั้ง ขอให้ท่านอโหสิกรรมให้กับการกระทําของผมด้วย

สุดท้ายที่ท้ายสุดจริงๆ ขอโทษ ลุงๆ ป้าๆ ป๋าๆ พี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ หลายๆท่านที่ผมไม่ได้กล่าวถึง การขาดตกบกพร่องที่ไม่ได้กล่าวถึงท่าน ไม่ใช่ว่าท่านไม่สําคัญ แต่คงเป็นเพราะผมเริ่มจะแก่แล้วนั่นเอง ฮา.

—————–-—————–——

ขออนุญาติน้องนริศ จิระวงศ์ประภา
บันทึกไว้ให้นักลงทุนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้
จากข้อเขียนบทความทรงคุณค่า

ขอแสดงความนับถือ




 

Create Date : 08 กันยายน 2556   
Last Update : 8 กันยายน 2556 21:10:33 น.   
Counter : 1124 Pageviews.  


มหากาพย์ ไตรภาค / โดย นาย นริศ จิระวงศ์ประภา (ตอน4)

มหากาพย์ ไตรภาค

โดย นาย นริศ จิระวงศ์ประภา

มหากาพย์ไตรภาค

(ต่อ)

การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงคุณภาพ

เป็นการวิเคราะห์ตามหลักของการดําเนินธุรกิจ การวิเคราะห์ส่วนมากจะเป็นลักษณะตัวอักษร ไม่มีถูกหรือผิดที่ชัดเจน ไม่มีตัวเลขยุบๆยับๆให้มาคํานวณ เช่นการวิเคราะห์ในเรื่อง…..

-ศิลปะในการบริหารจัดการ

-การวางแผนในเชิงกลยุทธ์และแนวทางปฎิบัติงาน

-การสังเกตดูวัฒนธรรมองค์กร

-การวิเคราะห์ฝีมือCEOและทีมบริหาร

-การศึกษารูปแบบโมเดลธุรกิจ

-พูดถึงการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของธุรกิจ(SWOT)
1.จุดแข็งของธุรกิจเรามีอะไรบ้าง
2.จุดอ่อนของธุรกิจเรามีอะไรบ้าง
3.โอกาสและความพร้อมในโอกาสมีมากน้อยเพียงใด
4.ความเสี่ยงในตัวธุรกิจเราคืออะไร อันตรายแค่ไหน

-วิเคราะห์แวลู่ เชน และ ซัพพลาย เชน(value chain & supply chain)

***การวิเคราะห์ที่ผมกล่าวไปข้างต้นเป็นการวิเคราะห์ภายในขององค์กร การวิเคราะห์เรียนรู้ภายในองค์กร เพื่อที่จะนํามาประมวลผลเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม***

-การวิเคราะห์ภาพรวมของกลุ่มอุตสาหกรรม แยกประเภทธุรกิจ6กลุ่ม ตามหลักของปีเตอร์ ลินซ์
1.หุ้นโตช้า
2.แข็งแกร่ง
3.หุ้นโตเร็ว
4.หุ้นวัฎจักร
5.หุ้นฟื้นตัว
6.หุ้นทรัพย์สินมาก

-การวิเคราะห์พลังทั้งห้าของ porter
1.การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร
2.โอกาสการเข้ามาของรายใหม่ในอุตสาหกรรมนี้ยากง่ายเพียงใด
3.สินค้าทดแทนของบริษัทเรามีไหม/ทดแทนได้มากน้อยเพียงใด
4.อํานาจการต่อรองกับลูกค้าเป็นอย่างไร
5.อํานาจการต่อรองกับผู้ผลิต(ผู้ป้อนวัตถุดิบ)เป็นอย่างไร

***การวิเคราะห์ภาพรวมของอุตสาหกรรม และภาพใหญ่ๆของธรรมชาติของธุรกิจ จะได้เพื่อจะรู้ว่าธรรมชาติของธุรกิจนี้เป็นอย่างไร***

จะเห็นได้ว่าการประเมินกิจการที่ผมกล่าวไปนั้น ไม่มีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้องเลย แต่ทุกๆอย่างที่กล่าวมุ่งไปสู่EPSบรรทัดสุดท้ายเหมือนๆกัน……บริษัทที่ดีนั้น จะมีการวางโมเดลธุรกิจ,รูปแบบกลยุทธ์ในแต่ละข้อให้มีความสัมพันธ์กันเพื่อที่……
-ปิดจุดอ่อนของตนเอง และมีความระมัดระวังในจุดอ่อนนั้นๆ
-สร้างความพร้อมให้กับองค์กรเมื่อโอกาสมาถึง
การเติบโตของรายได้และผลกําไรจึงไม่ใช่เรื่องที่ยากสําหรับบริษัทที่ดี…….

การวิเคราะห์เชิงคุณภาพนี้ ไม่มีวิธีที่ลัดไปกว่า เราต้องหมั่นอ่านหนังสือการบริหารการจัดการทางด้านธุรกิจให้มากๆ หมั่นสังเกตบริษัทต่างๆที่เป็นผู้นําในอุตสาหกรรมว่าเขามีจุดแข็งในด้านใด?…….. ธรรมชาติของธุรกิจเป็นเช่นไร?………
เขาวางจุดยืนในตัวธุรกิจเขาอย่างไร?……….. จึงสามารถขึ้นมาเป็นผู้นําได้ การฝึกวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง และองค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้บ่อยๆครั้ง จะทําให้เราสามารถมองทะลุธุรกิจที่เราจะลงทุนได้ดียิ่งขึ้น

บริษัทที่สุดยอดจะมีการวางแผนกลยุทธ์ไว้หลายชั้น มีรั้วหนาม กําแพง ร่องนํ้า กับดัก ป้องกันไม่ให้ศัตรูเข้าเจาะฐานที่มั่นได้ง่ายๆ โอกาสที่จะรายได้จะหาย กําไรจะถดถอยในกลุ่มบริษัทนี้จึงค่อนข้างจะยาก……การที่จะขึ้นมาเป็นผู้นําได้นั้นยากนัก แต่การที่จะรักษาความเป็นผู้นําได้นั้นยากยิ่งกว่า คํากล่าวนี้คงไม่เกินความเป็นจริงสักเท่าใด เราเป็นนักลงทุน หน้าที่ของเราคือรักษาผลประโยชน์ของเงินเราไม่ให้สูญหาย เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถเลือกลงทุนในกิจการที่มีขอบข่ายคูเมืองที่แข็งแกร่ง หรือธุรกิจที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืน โอกาสที่เงินเราจะทวีคูณในอนาคตก็ไม่ยากจนเกินไป

ความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืน

วอเรนมักจะกล่าวบ่อยๆว่า “ให้เลือกธุรกิจที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืน”……คําๆนี้ถูกตีความไปได้ในหลายๆทาง วันนี้ผมขอตีความ เปรียบเทียบในมุมมองของการทําธุรกิจนะครับ ซึ่งคําๆนี้ ถ้าตีความในมุมมองของคนที่ประกอบธุรกิจ เช่นผม ผมว่ามันคล้ายๆกับกลุ่มคําเหล่านี้รวมๆกันคือ

+ยุทธศาสตร์บริษัท+

+อ านาจการต่อรอง+

+ความจงรักภักดีต่อตราสินค้า+

+ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ+

+วัฒนธรรมองค์กร+

+ข้อได้เปรียบพิเศษ+

ยุทธศาสตร์ของบริษัท

หมายความว่า เมื่อบริษัทได้กําหนดเป้าหมายที่จะไปคว้ามา การวางยุทธศาสตร์คือ การวางแนวทางเพื่อกระทําการสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแนบเนียน ในการที่จะไปนําเป้าหมายนั้นมาให้จงได้ ยุทธศาสตร์ยังมีแบ่งย่อยเป็นหลายกลยุทธ์ตามลักษณะของธุรกิจหรือตามหน่วยงาน แต่ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ทั้งหมดจะต้องวางให้สอดคล้องซึ่งกันและกัน ผมขอยกตัวอย่างบริษัท7ที่เราๆท่านๆเห็นยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ได้ง่ายๆ เพื่อให้เห็นภาพกันอย่างชัดเจน

“ยุทธศาสตร์ที่7ได้วางไว้ในตามส่วนงานต่างๆจะมุ่งเน้นไปยังเป้าหมายคือ7เป็นแหล่งอิ่มสะดวกใกล้บ้าน(สื่อสารภายนอก)และ จะเก็บเกี่ยวกําไรจากการกระจายสินค้าจากผู้ผลิตให้ถึงมือผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด(สื่อสารภายในองค์กร)เพราะฉะนั้น”

-ฝ่ายการตลาดก็ต้องเน้นยํ้าโฆษณาที่อิ่มสะดวกใกล้บ้าน24ชม.(สื่อสารภายนอก)โดยที่7จะของบโฆษณาประชาสัมพันธ์จากผู้ออกโฆษณาร่วม หรือให้บริษัทต่างๆโฆษณา7แฝงจากการบ่งบอกที่จัดจําหน่าย(บริหารต้นทุนโฆษณา)

-ฝ่ายขายก็ต้องเน้นบริการให้รวดเร็ว และวางตําแหน่งสินค้าให้เหมาะสม(เพื่อให้ลูกค้าสะดวกหยิบจับให้ง่ายที่สุด)บริหารยอดขายต่อเนื้อที่ให้ได้สูงสุด และมีการระบุตําแหน่งการดูแลสินค้าให้สูญเสียและสูญหายน้อยที่สุดจากการให้พนักงานในแต่ละคนรับผิดชอบสินค้าในแต่ละช่วง(บริหารต้นทุนความสูญเสียให้น้อยที่สุด)

-ฝ่ายขยายสาขาก็ต้องหาจุดทําเลที่เหมาะสมที่ยึดหัวหาดทําเลที่ดีและตอบสนองความพึงพอใจในการพบเจอ7(ตามสโลแกนที่สื่อให้ผู้บริโภครับรู้)โดยพยายามหาผู้มาลงทุนแทนให้มากที่สุด เพื่อลดเงินลงทุนของบริษัท(ประหยัดการลงทุน)

-ฝ่ายจัดซื้อก็ต้องหาสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ มาจัดจําหน่ายและมีการเปลี่ยนหมุนเวียนสินค้าเมื่อสินค้าเดิมไม่เป็นที่นิยม เพื่อความสดใหม่ของ7และตอบสนองผู้บริโภคให้พึงพอใจ ส่วนหลังบ้านก็ต้องเน้นหาต่อรองค่าการตลาด ค่าหัวชั้น และจัดรายการ กระตุ้นยอดขาย เพื่อผลกําไรสูงสุดของทาง7เองเช่นกัน

-สินค้าเองก็ต้องมีความสอดคล้องตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะสินค้าประเภท first 7 หรือ only 7 ที่จะมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นผู้นําและจุดแข็งของ7

-ฝ่ายบุคคลากรก็ต้องฝึกฝนคนให้ทําตามระบบที่วาง ให้มีวัฒนธรรมที่ดีในงานบริการ ในเรื่องพนักงานที่เป็นคอขวดและปัญหาใหญ่ของธุรกิจบริการ ทาง7เองก็ได้ตั้งสถานศึกษา เพื่ออบรม ฝึกสอน และพัฒนาบุคคลากรของตนเองเพื่อแก้ปัญหานี้
-เรื่องระบบโลจิสติก ในเมื่อ7ได้วางจุดยืนตนเองให้เป็นผู้กระจายสินค้าที่ใกล้บ้านและมีสินค้าที่สดใหม่ ระบบโลจิสติกจึงต้องสอดคล้องกับสต๊อกสินค้าในร้าน ทาง7ก็ได้มีการบริหารจัดการเองในส่วนคงคลังและมีการเอาท์ซอสท์ในส่วนของขนส่งเพื่อความคล่องตัวในการจัดส่งไปให้แต่ละสาขาให้เร็วที่สุด(เพื่อความสดใหม่ของสินค้าและบริหารสินค้าหน้าร้านให้เหมาะสม) และประหยัดที่สุด

จะเห็นได้ว่ากลยุทธ์ในแต่ละข้อที่กล่าวไปแล้วนั้น 7เองได้มีการจัดกระบวนทัพให้มีความสอดคล้องเพื่อไม่เปิดช่องว่างให้คู่แข่งเข้ามาเจาะได้ง่ายๆ ซึ่งถ้าบริษัทไหนมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสม มีกลยุทธ์ที่ดีในแต่ละช่วงเวลา บริษัทนั้นก็จะมีขอบค่ายคูเมืองหลากหลายขั้นตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ครับ

อ านาจการต่อรอง

สิ่งนี้จะไปบ่งถึงธรรมชาติของธุรกิจว่ารูปแบบเป็นอย่างไร โดยถ้าเราเอาบริษัทเป็นจุดศูนย์กลาง ฝั่งซ้ายมือคือแหล่งที่มาของสินค้าหรือวัตถุดิบ เรียกว่า เวนเดอร์ ฝั่งขวาคือแหล่งที่เรากระจายสินค้าไปให้ เรียกว่าลูกค้า บริษัทที่มีอํานาจการต่อรองที่ดีนั้น ฝั่งซ้ายมือก็ต้องเป็นเวนเดอร์รายเล็กๆที่มีผู้ขายหลายราย ส่วนเราเป็น
รายใหญ่สําหรับเขา ที่สามารถกําหนดและต่อรองราคาได้ ส่วนฝั่งลูกค้าก็เช่นกัน การมีลูกค้ากระจายหลากหลายเป็นหนทางที่ดี ยิ่งถ้าเราสามารถกําหนดราคาขายได้ โดยไม่ต้องรอสอบถามผู้ซื้อ ก็ถือว่าสอบผ่าน และเราสามารถวิเคราะห์อํานาจการต่อรองอีกทางคือ วิเคราะห์แบบพลังทั้งห้าของ porter ครับ

-บริษัทที่สามารถครอบครองตลาดได้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนมากจะมีอํานาจการต่อรองค่อนข้างสูง อาจจะด้วยเพราะการประหยัดต่อขนาด(economy of scale) และถ้าบริษัทไหนมีอํานาจการต่อรองสูง ความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืนก็สูงตามครับ เหมือน7นี่คงไม่ต้องบอกว่ามีอํานาจในการต่อรองกับเวนเดอร์และลูกค้าได้มากน้อยเพียงใด

ความจงรักภักดีต่อตราสินค้า

ความจงรักภักดีต่อตราสินค้าคงหนีไม่พ้นคําว่า ความพึงพอใจ ของลูกค้า ถ้าเราสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับผู้จ่ายได้มากเท่าไหร่ value add ก็จะมากขึ้นเท่านั้น หน้าที่ของบริษัทคือ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด ในต้นทุนที่ตํ่าที่สุด

-ถ้าบริษัทยิ่งมีเอกลักษณ์ ลูกค้ามีความพึงพอใจมากเท่าไหร่ ความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืนก็ยิ่งสูงตามครับ การกระจายร้านขายไปใกล้แหล่งชุมชนให้มากที่สุด ก็เป็นการตอบสนองสินค้าให้ตรงความต้องการลูกค้าให้มากที่สุด ทําให้7สามารถซื้อสินค้าได้ในราคาเกือบตํ่าที่สุด แต่สามารถขายสินค้าได้ในราคาเกือบสูงสุด

ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จะทําให้บริษัทเติบใหญ่แต่ไม่อ้วนฉุ ถ้าบริษัทโตอย่างไม่มีคุณภาพ เช่นมียอดขายที่โตขึ้นแต่ควบคุมสิ่งต่างๆได้น้อยลง อนาคตสนิมในองค์กรก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นเปิดช่องว่างให้คู่แข่งเข้ามาเจาะฐานที่มั่นได้ในที่สุด หน้าที่ของนักลงทุนคือติดตามประสิทธิภาพของบริษัทที่เราลงทุนในด้านต่างๆโดยดูจากงบการเงินที่ประกาศทุก3เดือนครับ เช่นถ้าเป็น7 ภาพใหญ่ๆที่ต้องติดตามจะมีเรื่อง ยอดขาย/พื้นที่ , กําไรขั้นต้น/พื้นที่ , ค่าใช้จ่าย/พื้นที่ และการขยายสาขาใหม่เป็นต้น

วัฒนธรรมองค์กร

การทําธุรกิจใดๆก็ตามจะประกอบด้วยสองสิ่งที่พึ่งพิงกันคือ ระบบและทรัพยากรบุคคล องค์กรที่ใหญ่มากขึ้น ระบบจะซับซ้อนมากขึ้น และบุคคลากรจะเพิ่ม
มากขึ้นตามระบบ การบริหารจัดการในเรื่องระบบและทรัพยากรบุคคลก็มีหลากหลายรูปแบบขึ้นกับนโยบายของบริษัทนั้นๆ รูปแบบไหนถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่แรกเริ่ม ถูกก่อร่างสร้างตัวเติบใหญ่ด้วยกันมา รูปแบบนั้นๆจะกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรไปในที่สุด ยิ่งนานวัน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงจะค่อนข้างยุ่งยาก ยุ่งเหยิงและอันตรายพอสมควร(ถ้าไม่สามารถสื่อการเปลี่ยนแปลงให้ทุกระดับได้รับทราบเป้าหมายร่วมกัน)

ความได้เปรียบเชิงแข่งขันที่ได้กล่าวไปในสี่ข้อแรก(ยุทธศาสตร์บริษัท+อํานาจการต่อรอง+ความจงรักภักดีต่อตราสินค้า+ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ)จะแข็งแกร่งเพียงใด ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมขององค์กรนั้นๆว่ามีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดสิ่งที่ดีต่างๆมากน้อยเพียงใด

ข้อได้เปรียบพิเศษ

ในบางธุรกิจการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ค่อนข้างจะยากเพราะด้วยธรรมชาติของอุตสาหกรรมที่ผู้เล่นรายเก่ามีความได้เปรียบในรูปแบบต่างๆเช่น ความได้เปรียบเพราะมีสิทธิบัตร,ใบอนุญาต,สัมปทาน,ความเชี่ยวชาญพิเศษ,ทําเลที่ตั้ง ถ้าบริษัทไหนมีข้อได้เปรียบดังกล่าว การเข้ามาแบ่งแชร์รายได้ของผู้เล่นรายใหม่ก็ยิ่งยากขึ้นครับ

การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงปริมาณ

การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงปริมาณคือเรื่องที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ตัวเลขที่ต้องทําเพื่อให้เกิดสิ่งที่จับต้องได้ โดยผมจะใช้ปัจจัยเชิงปริมาณ(การวิเคราะห์งบการเงิน) เพื่อประโยชน์อยู่สองอย่างคือ

1.ไว้ดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตของบริษัทนี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เช่นรูปแบบของรายได้และกําไรสิบปีที่ผ่านมามีความสมํ่าเสมอหรือไม่ เข้าข่ายหุ้นเติบโต หุ้นพื้นฐาน หรือหุ้นวัฎจักร หรือNPM ROEที่ผ่านมาเป็นอย่างไร สมํ่าเสมอหรือไม่ สิ่งนี้บ่งบอกถึงความแข็งแกร่งของกิจการในระยะยาว

2.ไว้คอยตรวจสอบเช็คผลประกอบการในแต่ละไตรมาสว่าตรงตามที่เราจินตนาการหรือประเมินไว้หรือไม่ มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับตนเองในอดีตและคู่แข่งขันในตลาด หรือมีสัญญาณอะไรบ่งบอกถึงความถดถอยของกิจการหรือเปล่า

การที่เราจะวิเคราะห์ปัจจัยเชิงปริมาณได้ อย่างน้อยเราก็ต้องมีความรอบรู้ถึงภาษาทางทางบัญชีที่เขาเอาไว้สื่อ ในบทนี้ขั้นต้นผมจึงขออธิบายถึงค่าตัวแปรแต่ละตัวที่ผมได้ใช้ประจําในการลงทุน และการแปรความงบการเงินอย่างคร่าวๆนะครับ

PE(PRICE/EARNINGS)

PE หรือ ราคา(ต่อหุ้น)/กําไร(ต่อหุ้น) เช่นราคาหุ้นในตลาดอยู่ที่5บาท กําไร4ไตรมาสย้อนหลัง(EPS)อยู่ที่1.0บาทต่อหุ้นแสดงว่าPEตัวนี้อยู่ที่5/1.0คือ5เท่า และด้วยตามทฤษฎี ถ้าเราถือหุ้นPE=5เท่า หมายความว่าเราจะคืนทุนจากการเป็นเจ้าของกิจการนี้ภาย5ปี หรือจะคิดแปลงเป็นเปอร์เซนต์= 1/5 * 100 = ผลตอบแทนที่20เปอร์เซนต์ต่อปีนั่นเอง ซึ่งดูเป็นอะไรที่ง่ายมาก หน้าที่เราเพียงเลือกลงทุนในกิจการที่PEตํ่าๆ เราก็จะได้ผลตอบแทนที่สูงๆแล้ว…….แต่ช้าก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจอะไรลงไป ขอบอกก่อนว่าEที่แสดงให้เราเห็นในหนังสือพิมพ์และเวปต่างๆนั้น คือผลกําไร4ไตรมาสย้อนหลัง นักลงทุนผู้ชาญฉลาด เขาจะศึกษาประวัติศาสตร์ในอดีตเพื่อเรียนรู้สิ่งที่ผ่านมาของตัวธุรกิจ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาประเมินมูลค่าของกิจการจากผลกําไรในอดีต พวกเขาจะซื้อมูลค่าของกิจการในอนาคตเท่านั้น และอีกข้อที่ควรระวังคือ ผลกําไรในอดีตที่แสดงในงบนั้น ไม่ได้บ่งบอกคุณภาพของกําไรเลย เช่น กําไรนั้นอาจจะเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว(ผลกําไรที่ไม่ดี) หรือเป็นผลกําไรที่ยั่งยืนคนอื่นมาแย่งไปไม่ได้ง่ายๆ(ผลกําไรที่ดี) ผมจึงคิดว่าอย่างน้อยเราต้องทําความเข้าใจกับ “รายได้&กําไร” ให้ถ่องแท้ก่อน จึงจะสามารถประเมินมูลค่าของกิจการได้อย่างถูกต้องครับ

รายได้ & ก าไร (Revernue & Earnings)
บริษัททุกบริษัทมีเป้าหมายในการสร้างความมั่งคั่งหรือสร้างกําไรให้กับธุรกิจ แต่ในความเป็นจริงกําไรในรูปแบบบัญชีที่แสดงให้เราเห็นในงบเพียงไตรมาสหรือปีนั้นไม่ค่อยตรงกับความมั่งคั่งสักเท่าใดนัก เพราะในงบการเงินนั้นเป็นการสะท้อนกําไรให้เห็นตามรูปแบบบัญชีที่มีการกําหนดไว้ให้มีมาตรฐาน เพื่อการเปรียบเทียบที่ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นการที่เราจะนําเอารายได้และกําไรบรรทัดสุดท้ายมายึดเป็นบรรทัดฐานในการซื้อขายหุ้นจึงเป็นเรื่องที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง หน้าที่เราคือต้องปรับแต่งรายการบางรายการเสียก่อน เพื่อให้เป็นกําไรที่แท้จริง และก่อนที่เราจะทําอย่างนั้นได้ เราต้องรู้โครงสร้างของงบการเงินอย่างคร่าวๆกันก่อนนะครับ

ผมชอบหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ร้านไหน?กําไรมากกว่า!” หนังสือเล่มนี้ได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพของโครงสร้างของธุรกิจได้เป็นอย่างดี โดยการยกตัวอย่างเปรียบเทียบธุรกิจให้เห็นเป็นสามส่วนคือ 1.เครื่องผลิตเงิน 2.วัสดุอุปกรณ์ที่จะใส่เข้าไปในเครื่องผลิตนี้ และ3.ผลผลิตจากเครื่องนี้ จะได้ผลผลิตออกมาเป็นอะไรและเท่าไหร่ คล้ายๆกับหลักการ input process output นั่นเอง

1.เครื่องผลิตเงิน ในธุรกิจแต่ละประเภทจะมีต้นทุนของเครื่องผลิตเงินไม่เท่ากัน หรือแม้กระทั่งธุรกิจประเภทเดียวกัน หลายบริษัทก็มีต้นทุนในส่วนนี้ไม่เท่ากัน เราสามารถมองหาเครื่องผลิตเงินนี้ได้จากฝั่งซ้ายของงบดุลในส่วนของทรัพย์สินถาวรประเภทต่างๆ ธุรกิจที่ดีที่สุดในมุมมองของฝ่ายบัญชี คือธุรกิจที่มีต้นทุนเครื่องผลิตเงินที่น้อยที่สุด เพราะในรูปแบบบัญชีจะถือว่าต้นทุนในเรื่องนี้เป็นความเสี่ยงประเภทหนึ่งที่มีเป้าหมายต้องลดลงให้ได้ เพราะเครื่องผลิตเงินเป็นต้นทุนคงที่ไม่สามารถเปลี่ยนไปอยู่รูปอื่นได้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงตลาดอย่างฉับพลัน คนที่มีต้นทุนเครื่องผลิตเงินที่สูงกว่า ก็จะปรับตัวได้ยากกว่านั่นเอง ธุรกิจที่มีเครื่องผลิตเงินนี้สูงมากๆก็เช่น ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจโรงกลั่น และอุตสาหกรรมหนักประเภทต่างๆ และสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนไม่ค่อยชอบคือ ผลพลอยได้ที่ตามมาจากเครื่องผลิตเงินนี้ นั่นคือ “ค่าเสื่อม” ที่จะถูกซอยมาเป็นรายจ่ายในทุกๆไตรมาส เช่นถ้าเราซื้อเครื่องจักรนี้เป็นเงิน100ล้านบาท มีการตัดค่าเสื่อม10ปี จะมีการบันทึกเป็นรายจ่ายปีละ10ล้านบาทเป็นต้น

“ที่ดินเป็นสิ่งเดียวในรายการทรัพย์สินไม่หมุนเวียนที่ไม่มีค่าเสื่อม”

“แต่มุมมองของกลยุทธ์ จะมีทรัพย์สินบางสิ่งที่บริษัทจะต้องถือเป็นเจ้าของ เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน ทําให้ในเชิงกลยุทธ์การมีต้นทุนของเครื่องผลิตเงินในบางเรื่องน่าจะเป็นผลดีกว่าไม่มี”

2.หมายถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปในเครื่องเพื่อให้เกิดผลิตผลที่เราอยากจะได้ ตัวอย่างเช่นธุรกิจร้านอาหาร การตกแต่งร้านอาหารรวมไปถึงวัสดุอุปกรณ์ห้องครัว จะเป็นเครื่องผลิตเงิน ส่วนวัสดุที่เราใส่เข้าไปจะหมายถึง วัตถุดิบในการประกอบอาหารและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ถ้าเราดูที่งบดุล จะเห็นรายการพวกนี้อยู่ในส่วนของทรัพย์สินหมุนเวียนประเภทต่างๆและอีกส่วนจะไปแสดงในงบกําไรขาดทุนในส่วนของค่าใช้จ่ายขายและบริหาร

การวัดประสิทธิภาพของกิจการ ถ้าเป็นกิจการประเภทเดียวกัน เราสามารถเปรียบเทียบประสิทธิภาพ ได้จากการเปรียบเทียบต้นทุนค่าเสื่อมจากเครื่องผลิตเงินกับรายได้แล้ว เรายังสามารถดูได้จากการเปรียบเทียบทรัพย์สินหมุนเวียนกับรายได้ที่เกิดขึ้น โดยดูว่าถ้าบริษัทใช้เงินทุนน้อยกว่าในการสร้างรายได้ที่เท่ากัน ก็บ่งบอกไปถึงต้นทุนที่ตํ่ากว่า เพราะสามารถหมุนรอบทรัพย์สินในส่วนนี้ได้ดีกว่านั่นเองครับ

3.ผลผลิตจากเครื่องผลิตเงิน ผลผลิตที่ดีที่สุดที่เราอยากได้คือเงินสด แต่ในความเป็นจริงของธรรมชาติธุรกิจแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน บริษัทไม่สามารถฝืนธรรมชาติของธุรกิจได้ ผลผลิตที่ได้มาจึงอาจจะอยู่ในรูปของ สินค้าสําเร็จรูป และ ลูกหนี้การค้า แล้วค่อยแปลงไปเป็นเงินสดอีกต่อหนึ่ง ทําให้บางธุรกิจงบการเงินดูมีกําไรดี แต่ท้ายที่สุดกิจการก็ไปไม่รอด เพราะเก็บหนี้ไม่ได้ หน้าที่ของนักลงทุน ไม่ใช่ไปปฎิ
เสธ ธรรมชาติของธุรกิจ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับตัวธุรกิจมากกว่า ถ้าพูดถึงลูกหนี้และสินค้าคงเหลือจะอยู่ในส่วนของทรัพย์สินหมุนเวียนเช่นเดียวกัน และถ้าบริษัทไหนมีสองรายการข้างต้นเป็นสัดส่วนที่สูงในทรัพย์สินรวม หน้าที่เราคือ
-ต้องเข้าไปดูในหมายเหตุงบการเงินที่จะบ่งบอกยอดลูกหนี้ค้างชําระว่าเกินดิวอยู่มากน้อยเพียงใด และมีการตั้งสํารองหนี้สงสัยจะสูญไว้มากพอหรือเปล่า
-ในส่วนของสินค้าสําเร็จรูปก็เช่นเดียวกัน เราสามารถดูประสิทธิภาพของการบริหาร
สต๊อกได้จากการนําไปเปรียบเทียบกับรายได้(เช่นเดียวกันกับวัตถุดิบ) เพราะถ้าบริษัทไหนสามารถหมุนรอบสินค้าที่ผลิตออกมาไปแปลงเป็นเงินได้เร็วกว่า บริษัทนั้นก็จะมีต้นทุนการเงินที่ตํ่ากว่านั่นเอง

จากรูปแบบการหาเงินข้างต้นจะนํามาเขียนในรูปแบบงบการเงินได้ดังนี้

1.งบดุล ทรัพย์สิน=หนี้สิน+ทุน

ทรัพย์สิน คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามี จะประกอบด้วยทรัพย์สินหมุนเวียน คือสิ่งที่ใส่เข้าไปเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมา และทรัพย์สินไม่หมุนเวียน คือเครื่องจักรผลิตเงินที่เป็นต้นทุนไม่สามารถแปลงเป็นรายได้เข้ามาได้
หนี้สิน คือ สิ่งที่เรายืมคนอื่นมาใช้ แล้วจะผ่อนจ่ายให้เขาภายหลัง เช่นเจ้าหนี้การค้าเครื่องผลิตเงิน เจ้าหนี้การค้าวัตถุดิบที่จะใส่เข้าไปในเครื่อง หรือเจ้าหนี้เงินกู้ที่เรากู้มาเพื่อชําระเจ้าหนี้การค้า โดยเอาทรัพย์สินไปคํ้าประกัน
ทุน คือ ทรัพย์สินทั้งหมดของเราที่หักเจ้าหนี้ทั้งหลายออกไปแล้ว

2.งบกําไรขาดทุน รายได้-ค่าใช้จ่าย=กําไร

รายได้ คือ ผลผลิตที่ได้จากเครื่องผลิตเงิน(OUTPUT)
ค่าใช้จ่าย คือ ส่วนที่INPUTเข้าไปในเครื่องผลิตเงินเพื่อจะได้เงินออกมา และ ค่าเสื่อมของเครื่องผลิตเงิน
กําไร คือ ส่วนที่เหลือจาก OUTPUT-INPUT นั่นเอง

3.งบกระแสเงินสด => ในเมื่อกําไรในงบกําไร/ขาดทุน จะเป็นการแสดงตัวเลขทางบัญชี แต่ไม่ใช่เงินสดที่อยู่ในมือ จึงมีการคิดงบกระแสเงินสดขึ้นมาเพื่อกระทบยอดเงินสดจริงๆที่อยู่ในมือเพื่อดูสภาพคล่องของกิจการ เช่นมีการซื้อเครื่องผลิตเงินด้วยเงินสด1ล้านบาท ตัดค่าเสื่อม10ปี ในงบกําไรขาดทุนจะมีการตัดค่าใช้จ่ายปีละ1แสนบาทตั้งแต่ปีแรกจึงถึงปีที่10 แต่งบกระแสเงินสดจะมีการตัดทางบัญชีออกไป1ล้านในปีแรก(แต่ตัดค่าใช้จ่ายในงบกําไร/ขาดทุนแสนเดียว) และทุกๆปีงบกระแสเงินสดจะมีการยกคืนกลับทางบัญชีปีละแสนจากงบกําไรขาดทุนที่ถูกหักเป็นค่าใช้จ่ายไปปีละแสนเป็นต้น และในส่วนของเจ้าหนี้,ลูกหนี้ ที่บันทึกในงบกําไร/ขาดทุนแล้ว แต่
ยังไม่ได้เงินสด ก็ต้องนํามาปรับให้แสดงสถานะเงินสดที่อยู่ในบริษัท เพื่อประโยชน์ในการดูสภาพคล่องของธุรกิจ

ผมคิดว่า ถ้าเรามองเห็นธรรมชาติของธุรกิจแต่ละประเภท เราจะสามารถรู้จุดอ่อนในตัวธุรกิจ ผ่านการดูจากงบการเงินที่แสดงในทุกๆไตรมาส ทําให้เราสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจได้ดียิ่งขึ้นครับ

รายได้และกําไรเราพอรู้คร่าวๆแล้วว่า การเกิดรายได้และกําไรในครั้งเดียวถือว่าเป็นรายได้ที่ไม่ค่อยจะดี รายได้/กําไรที่ดีนั้น จะต้องมาจาก
1.ความสมํ่าเสมอในการใช้บริการ ลูกค้ามีการใช้บริการซํ้าแล้วซํ้าอีก
2.มีการกระจาย ไม่กระจุก ทั้งในฐานของลูกค้าและฐานของรายได้
3.ลูกค้ามีความพึงพอใจในการใช้สินค้า/บริการนั้นๆ

อีกมุมหนึ่ง การที่เราจะหาหุ้นเติบโต เราต้องมองหาธุรกิจที่สามารถเพิ่มรายได้ในอนาคตได้อีกพอสมควร นั่นคือเราต้องมองรายละเอียดสามข้อเพิ่มเติมดังนี้

1.ให้มองส่วนแบ่งการตลาดว่า ธุรกิจเราเมื่อเทียบกับตลาดรวม มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่กี่เปอร์เซนต์ ถ้าเราเจอธุรกิจที่บริษัทยังมีส่วนแบ่งการตลาดที่น้อย ก็ยังบ่งบอกโอกาสที่จะเติบโตโดยการแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากรายอื่นเข้ามา แต่ในทํานองกลับกันถ้าเรามีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงมาก(ส่วนมากจะไม่ใช่หุ้นเติบโต แต่จะเป็นหุ้นพื้นฐานที่แข็งแกร่ง)
2.ให้มองความต้องการของสินค้า/บริการนั้นๆในตลาดรวมว่า มีความต้องการอีกมากเพียงใด ถ้าตลาดยังเปิดกว้างอีกมาก แสดงว่าเราเจออุตสาหกรรมที่เป็นเทรนในอนาคต

3.ความพร้อมของบริษัทว่าสามารถเติบโตได้ในระดับใด ในบางบริษัทไม่มีความเตรียมพร้อม หรือมีข้อจํากัดในบางเรื่องทําให้ไม่สามารถเติบโตก้าวกระโดดไปกับอุตสาหกรรมที่กําลังเติบโตได้ เช่นมีข้อจํากัดในเรื่องของเงินทุน มีข้อจํากัดในเรื่องการบริหารจัดการภายในองค์กรเป็นต้น

ถ้าธุรกิจที่มีองค์ประกอบทั้งสามที่เปิดกว้าง โอกาสในบริษัทนี้ที่จะเติบโตก็ย่อมง่ายกว่าบริษัทที่ทั้งสามส่วนดังกล่าวเริ่มตีบตัน

พูดถึงPEแล้วไม่พูดถึงPEG ก็คงไม่ได้ PEGคือการเอาค่าPEมาตั้งหารด้วยเปอร์เซนต์ของการเติบโตของผลกําไรในอนาคต เช่นหุ้นAตอนนี้เทรดอยู่PEที่15เท่า มีการเติบโตในอีกสามปีข้างหน้าราวๆ30เปอร์เซนต์ต่อปี หุ้นตัวนี้จะมีPEGอยู่ที่15/30=0.5 หุ้นBเทรดอยู่PEที่10เท่า คาดว่าอีก3ปีข้างหน้าจะมีการเติบโตอยู่5
เปอร์เซนต์ต่อปี PEG=10/5=2เท่า ซึ่งจะเห็นว่าPEGยิ่งถูกยิ่งดี การใช้PEGเปรียบเทียบหุ้นแต่ละตัวนี้อย่างน้อยๆ
1.ควรจะเป็นหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่นไม่ควรเอาหุ้นพื้นฐานไปเทียบกับหุ้นฟื้นตัวเป็นต้น
2.ช่วงระยะเวลาในการคํานวณการเติบโตต้องเป็นช่วงเวลาเดียวกัน เช่นไม่ควรจะประเมินการเติบโตตัวหนึ่ง1ปี อีกตัวหนึ่ง5ปี มาเปรียบเทียบกัน
3.ควรจะประเมินในช่วงระยะเวลาที่พอมองออกเท่านั้น ไม่ควรยาวจนเกินไป

P/BV(PRICE/BOOK VALUE)

P/BV คือ ราคา(ต่อหุ้น)/มูลค่าทางบัญชี(ต่อหุ้น) ถ้าเราสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาP/BV=1 หมายความว่าเราสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาเดียวกับมูลค่าทางบัญชีหรือราคาเดียวกับส่วนของเจ้าของ แต่อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้วว่าราคาBVไม่ได้บ่งบอกถึงคุณภาพของผลกําไร และถ้าเราไม่สามารถเทคโอเวอร์กิจการทั้งหมดได้ การถือครองหุ้นในราคาตํ่ากว่าส่วนทุน ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ขาดทุนในการซื้อกิจการนั้นๆ……แต่ถ้าเราใช้P/BV เพื่อที่จะหาหุ้นเทริ์นอะราวด์ หุ้นวัฎจักร หุ้นทรัพย์สินมาก หรือ ดูเพื่อจะเอาP/BVมาเป็นส่วนเผื่อความปลอดภัย(MOS) ก็ไม่ได้ผิดอะไรครับ

BV บุ๊คแวลูหรือส่วนทุนคือค่าๆเดียวกันต่างกันเพียงหน่วยนับ ถ้าเราเอาส่วนทุนมาหารจํานวนหุ้นทั้งหมดก็จะได้ออกมาเป็นBV เพราะฉะนั้นค่าBVเราจึงควรเจาะเข้าไปทําความเข้าใจในรายละเอียดของทรัพย์สินและหนี้สินที่เป็นสัดส่วนใหญ่ๆของกิจการ สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินเช่น
-ที่ดิน จะไม่มีค่าเสื่อม บริษัทส่วนมากจะบันทึกไว้ในราคาทุน ยกเว้นบริษัทที่ต้องการทําการปรับปรุงราคาทรัพย์สินใหม่(จะต้องแจ้งไว้ในหมายเหตุงบการเงิน) เพราะฉะนั้นบริษัทที่มีที่ดินมากๆในราคาที่ซื้อมานานแล้ว จะมีทรัพย์สินแฝงอยู่ในส่วนนี้พอสมควร

-ทรัพย์สินที่ถูกซ่อนไว้…….หลายบริษัทมีทรัพย์สินที่ซ่อนไว้ที่อยู่ในรูปของแบรนด์ ความจงรักภักดีของลูกค้า ซัพพลายเชน ทําเลที่ตั้ง วัฒนธรรมองค์กร ทรัพย์สินเหล่านี้ไม่สามารถจับต้องได้และไม่แสดงอยู่ในงบดุล ซึ่งหลายบริษัททรัพย์สินแฝงนี้มีค่ามากกว่าทรัพย์สินที่จับต้องได้ในงบดุลเสียอีก

-บางกิจการมีลักษณะตัดค่าเสื่อมไปเร็วกว่าการใช้งานจริง เช่นธุรกิจAวางสายเคเบิลใต้ดิน ได้ตัดค่าเสื่อมสายที่6ปี ทั้งๆที่สามารถใช้งานได้ถึง10ปี หรือในทางกลับกันมีบางธุรกิจที่มีการตัดค่าเสื่อมที่ใกล้เคียงความเป็นจริง แต่ต้นทุนในการสร้างใหม่ เฟ้อขึ้นตามค่าครองชีพ ทําให้เงินลงทุนจะเพิ่มขึ้นทุกปี เราสามารถรู้ได้ โดยเข้าไปดูงบกระแสเงินสดในส่วนของค่าเสื่อมเทียบกับในส่วนของกิจการเพื่อการลงทุน
เปรียบเทียบว่าบริษัทจะต้องลงทุนใหม่เพื่อรักษาสภาพของกิจการให้คงอยู่กับค่าเสื่อมว่าใครมีจํานวนมากกว่ากัน ถ้างบลงทุนมีมากกว่าค่าเสื่อมอยู่ต่อเนื่องหลายๆปี ทั้งๆที่รายได้ไม่เพิ่ม ก็เป็นการบ่งบอกว่าเงินลงทุนในปัจจุบันแพงกว่าในอดีต บริษัทประเภทนี้จะรักษากําไรให้เท่าเดิมได้นั้น จะต้องปรับราคาขายสินค้าหรือไปลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นให้ลดลง

-ถ้าสัดส่วนBVไปหนักในส่วนของสินค้าคงคลัง เราควรติดตามไปดูว่ายอดขายต่อสินค้าคงคลังมากเกินความเป็นจริงหรือไม่ เช่นบริษัทAมียอดขายไตรมาสละ200ล้านบาท ในอดีตมีสต๊อกสินค้าผลิตเสร็จรอการจําหน่ายอยู่60ล้านแต่ในไตรมาสนี้มีมากถึง100ล้านบาท สัญญาณดังกล่าวอาจจะบ่งบอกถึงการถดถอยของยอดขายในอนาคต แต่ในไตรมาสนี้บริษัทก็ยังไม่อยากลดกําลังการผลิตเพื่อให้มีต้นทุนต่อหน่วยที่ตํ่าเพื่อที่จะได้ขายสินค้ามีกําไร หรือ อาจจะบ่งบอกได้อีกมุมหนึ่งว่า บริษัทอาจจะมีข้อตกลงจําหน่ายสินค้าล๊อตใหญ่ให้กับลูกค้ารายใดรายหนึ่ง จะเห็นได้ว่าสัญญาณหนึ่งๆอาจจะเป็นทั้งผลบวกและลบในคราวเดียวกัน หน้าที่เราคือจะต้องติดตามหาข้อมูลต่อไป อีกข้อที่ต้องติดตามถ้าสินค้าคงคลังมีสัดส่วนที่สูงผิดปรกติ คือเรื่องสินค้าสามารถหมดอายุหรือล้าสมัยได้หรือเปล่า และทางบริษัทมีการสํารองด้อยค่าทรัพย์สินไว้มากน้อยเพียงใด

-ถ้าสัดส่วนBVไปหนักในส่วนของลูกหนี้การค้า หน้าที่เราก็ต้องไปศึกษาดูยอดหนี้คงค้างว่าอยู่ในเกณฑ์ระดับใด มีการตั้งสํารองเพียงพอหรือไม่

-ถ้าสัดส่วนBVไปหนักอยู่ในเครื่องผลิตเงิน หน้าที่เราต้องเข้าไปเช็คประสิทธิภาพของการดําเนินงาน ว่าบริษัทนั้นอ้วนแต่ตัวหรือเปล่า แต่สุขภาพการเงินไม่แข็งแรง ถ้าเจอบริษัทประเภทนี้ สิ่งที่ต้องตามอย่างใกล้ชิดคือเรื่องสารกระตุ้นของกิจการ ถ้าเราเจอบริษัทลงทุนสูงในเครื่องจักรผลิตเงิน แต่ยังไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดขึ้นมาได้ แถมมีการกู้เงินในสัดส่วนที่สูง สามสัญญาณนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโอกาสที่จะเพิ่มทุนได้ในอนาคตครับ

-ถ้ามองในส่วนของหนี้สิน เราสามารถแยกประเภทหนี้สินได้เป็นสองประเภท คือหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยและหนี้ที่ไม่มีภาระดอกเบี้ย ในรูปแบบของบัญชีนั้นการที่เรามีหนี้ในรูปแบบที่ไม่มีภาระดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับยอดขายแล้วยิ่งสูงยิ่งดี เพราะเสมือนเราเอาเงินของเจ้าหนี้การค้ามาหมุนนั่นเอง(ผมเรียกว่าหนี้ที่ดี)แต่ในทํานองกลับกัน ถ้าบริษัทไหนมีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับยอดขาย ยิ่งสูงยิ่งไม่ดี เพราะทําให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้นนั่นเอง แต่เราไม่ควรกลัวปัจจัยเหล่านี้จนเกินเหตุ จนเป็นสิ่งที่ปิดกั้นภาพใหญ่ๆของธุรกิจนะครับ เพราะหนี้สินเปรียบเสมือนเฟืองเกียร์ที่ช่วยเร่งความเร็วของรถ เกียร์ยิ่งสูงรถเราก็สามารถวิ่งได้เร็วมากขึ้น แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุก่อนถึงเป้าหมายก็มากขึ้นตามเช่นกัน หน้าที่เราคือเฝ้าติดตามปัจจัยความเสี่ยงเหล่านั้น เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ

GPM ,SG&A ,NPM(อัตราก าไรขั้นต้น,ค่าใช้จ่ายและบริหาร,อัตราก าไรสุทธิ)

*อัตรากําไรขั้นต้น=กําไรขั้นต้น/ยอดขายสุทธิ* *กําไรขั้นต้น=รายได้จากการขายสินค้า-ต้นทุนของสินค้า*

*ค่าใช้จ่ายขายและบริหาร หมายถึง ค่าใช้จ่ายทุกๆอย่างที่เกี่ยวข้องกับการขายและรวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับบริหารงานทั้งหมด

*อัตรากําไรสุทธิ=กําไรสุทธิ/ยอดขายสุทธิ*

“ถ้าเราเปรียบเทียบสามค่านี้กับงบการเงินในอดีตที่ผ่านมาและเปรียบเทียบกับธุรกิจประเภทเดียวกัน เราจะสามารถเห็นถึงประสิทธิภาพของการทํากําไรของบริษัทได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียว โดยธรรมชาติของธุรกิจที่ดีคือธุรกิจที่มีค่าทั้งสามสมํ่าเสมอ ไม่เหวี่ยงขึ้นลง เพราะถ้าบริษัทไหนสามารถรักษาระดับค่าทั้งสามได้ หมายความว่าบริษัทนั้นๆมีความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการปรับราคาสินค้าตามราคาวัตถุดิบ และถ้าจะเป็นการดีที่สุดคือ GPM NPM จะค่อยๆปรับตัวขึ้น และSG&Aค่อยๆปรับตัวลดลง เนื่องจากการประหยัดของขนาดกิจการที่ใหญ่ขึ้น”

วอเรนเคยกล่าวไว้ในเรื่องการทํากําไรของบริษัท วอเรนจะขอเลือกธุรกิจอยู่สองประเภทคือ

1.ธุรกิจที่มีNPMสูงๆในระยะยาว ธุรกิจที่มีNPMสูงๆได้ในระยะยาวจะบ่งบอกถึงประสิทธิภาพขอบข่ายคูเมืองที่บริษัทได้สร้างไว้ไม่ให้คู่แข่งเข้ามาแย่งชิงลูกค้าไปได้ง่ายๆ หน้าที่ของเราในข้อนี้คือ มองหาให้เจอว่าขอบข่ายที่ว่านั้นคืออะไร และเฝ้าติดตามตรวจสอบว่าขอบข่ายคูเมืองยังมีสภาพที่ดีในการกันคู่แข่งอยู่หรือเปล่า

2.ธุรกิจที่มีการหมุนรอบเงินทุนหมุนเวียนได้เร็วๆจะทําให้อัตรากําไรขั้นต้นและอัตรากําไรสุทธิ มีตัวคูณที่มากขึ้นตามการหมุนรอบของการขาย ทําให้กําไรสุทธิของบริษัทนั้นๆสูงขึ้นตาม เช่นมีร้านขายของชําสองร้าน

-ร้านAขายกิฟชอป มีอัตรากําไรขั้นต้นที่50เปอร์เซนต์ อัตรากําไรสุทธิที่30เปอร์เซนต์ มีการลงทุนไปกับเครื่องผลิตเงินที่3ล้านและลงทุนไปกับสินค้าอีก2ล้าน ร้านค้านี้มียอดขายต่อปีที่4ล้านบาท(อัตราการหมุนเวียนสินค้าที่2รอบต่อปี หรือประมาณ180วัน) เท่ากับมีกําไรสุทธิ1.2ล้านบาท

-ร้านBขายของใช้ในชีวิตประจําวัน มีอัตรากําไรขั้นต้นที่15เปอร์เซนต์ อัตรากําไรสุทธิที่10เปอร์เซนต์ มีการลงทุนเครื่องผลิตเงินที่3ล้านและลงทุนไปกับสินค้า2ล้านเหมือนร้านกิฟชอป แต่ร้านนี้สามารถสร้างยอดขายได้เดือนละ2ล้าน(อัตราการหมุนเวียนสินค้าที่1เดือนต่อรอบหรือประมาณ30วัน) เท่ากับร้านนี้มีกําไรสุทธิเดือนละ2แสนปีละ2.4ล้านบาท

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้นกําไรสุทธิในร้านBจะน้อยกว่าร้านAถึง3เท่า แต่กําไรสุทธิยังมากกว่า2เท่า เนื่องมาจากการหมุนรอบของเงินทุนที่Bทําได้ดีกว่าAนั่นเอง หน้าที่ของเราในฐานะนักลงทุนคือมองหาธุรกิจที่สามารถหมุนรอบเม็ดเงินได้สูง ROEก็จะสูงตามการหมุนรอบที่มากขึ้น และถ้าบริษัทไหนสามารถหมุนรอบเงินทุนได้สูงกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน ก็จะบ่งบอกไปถึงว่าบริษัทนั้นมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่าคู่แข่ง จนอาจจะเป็นขอบข่ายคูเมืองในเรื่องของต้นทุนที่ถูกกว่า ที่ทําให้คู่แข่งเจาะฐานที่มั่นของบริษัทได้ยากขึ้น

ROE & ROA (ผลตอบแทนต่อส่วนทุน และ ผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน)

ค่าทั้งสองนี้เป็นสิ่งที่ผมสนใจลําดับต้นๆในการเลือกลงทุนกิจการ เพราะภาพในอดีตและปัจจุบันของพี่อาร์ทั้งสองนี้ จะสามารถบ่งบอกถึงขอบข่ายคูเมือง และประสิทธิภาพของการบริหารจัดการได้ระดับหนึ่งทีเดียว

สาเหตุที่ผมกล่าวไว้ว่า พี่อาร์ในอดีตจะสามารถบ่งบอกถึงขอบข่ายคูเมืองและประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ เนื่องมาจากงบการเงินในระยะยาวจะสามารถสะท้อนธรรมชาติของธุรกิจได้เป็นอย่างดี ซึ่งพี่อาร์ทั้งสองคือส่วนหนึ่งของงบการเงินที่ถูกแปลงค่ามาให้ดูง่ายขึ้น เราลองมาดูว่าพี่อาร์บ่งบอกอะไรเราบ้างนะครับ

ROE(return on equity)

ค่านี้หาได้จากการนํากําไรสุทธิตั้งหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น(ส่วนทุน)แล้วแปลงเป็นเปอร์เซนต์ จากสูตรจะเห็นว่าค่านี้บ่งบอกถึงความสามารถของบริษัทว่าบริษัทสามารถผลิตกําไร(output)ให้ผู้ถือหุ้นได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งค่านี้ยิ่งสูงก็ยิ่งดี อย่างเช่นวอเรนจะมองหาธุรกิจที่มีROEที่สมํ่าเสมอในระยะยาวสูงกว่า15เปอร์เซนต์เท่านั้น ค่านี้สามารถบ่งบอกบางอย่างให้เรารู้คร่าวๆเพื่อไปเจาะลึกหาทรัพย์สมบัติกัน เรามาดูรายละเอียดปลีกย่อยของค่านี้กันนะครับ

-ถ้าเราเจอบริษัทที่มีROEสูงสมํ่าเสมอต่อเนื่องเป็นสิบปี สิ่งนี้จะบ่งบอกถึงความสามารถในการป้องกันคู่แข่งขันได้เป็นอย่างดี……….ถ้าเรามองหาหุ้นพื้นฐานหรือหุ้นเติบโต เราต้องมองหาธุรกิจที่มีROEสูงอย่างสมํ่าเสมอและถ้าจะดีที่สุดถ้าค่าROEนั้นมีทิศทางที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

-ถ้าเราเจอบริษัทที่มีROEตํ่าอย่างสมํ่าเสมอต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีแล้ว สิ่งนี้อาจจะบ่งบอกว่าเราเจอบริษัทที่เข้าข่ายธุรกิจตะวันตกดิน……….ถ้าเรามองเห็นธุรกิจประเภทนี้ให้พยายามมองหาธุรกิจที่มีแนวโน้มกลับตัวจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจหรือการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม

-ถ้าเราเจอบริษัทที่มีROEขึ้นและลงเป็นลูกคลื่นเป็นรอบๆนั่นอาจจะบ่งบอกถึงธรรมชาติของธุรกิจที่เป็นโภคภัณฑ์……….จงทําความเข้าใจในธรรมชาติของธุรกิจที่เป็นหุ้นวัฎจักร มองหาจุดที่ROEเริ่มกลับตัวให้เราเห็น บางครั้งภาพใหญ่ๆในอดีตของROEสามารถช่วยเราให้กล้าที่จะลงทุนในช่วงที่ธุรกิจตกตํ่าสุดๆได้เหมือนกัน

-ถ้าเราเจอบริษัทที่มีROEเอาแน่เอานอนไม่ได้ กําไรสลับขาดทุนเหมือนโยนหัวก้อย จะบ่งบอกธรรมชาติของธุรกิจที่ยังหาตําแหน่งที่ดีให้กับตนเองไม่ได้หรืออาจจะไม่มีอํานาจต่อรองในการขึ้นราคาสินค้าแต่ไม่ใช่หุ้นวัฎจักร…….ถ้าเจอธุรกิจประเทศนี้ บอกได้คําเดียวว่าถ้าจะซื้อหุ้นในกลุ่มนี้วัตถุประสงค์คือการซื้อเก็งกําไร จากปัจจัยบางเรื่องที่ทําให้กําไรกระโดดเป็นบางไตรมาสหรือบางปี ต้องไม่ใช่มุมมองการลงทุนในระยะยาวในการจะเป็นเจ้าของกิจการ

“ถ้าบริษัทไหนสามารถรักษาค่าROEที่สูงได้อย่างสมํ่าเสมอ สามารถบอกกลายๆได้ถึงความสามารถในการเติบโตของบริษัทนั้น เพราะว่ากําไรที่ได้เพิ่มขึ้นมาในแต่ละปีจะมาเพิ่มอยู่ในส่วนทุน(E)ทําให้ฐานตัวหารเพิ่มมากขึ้น การที่จะให้มีค่าROEได้เท่าเดิม บริษัทมีอยู่เพียงสองวิธีคือ1.ปันผลทั้งหมดจากกําไรที่ได้มาหรือ 2.มีการเติบโตของรายได้หรือกําไรที่มากขึ้นนั่นเอง”

“ถ้าบริษัทไหนสร้างROEได้สูงในระยะยาว บ่งบอกถึงขอบข่ายคูเมือง เพราะธุรกิจที่จะสร้างROEได้สูงหมายถึงถ้าไม่มีNPMที่สูงก็ต้องมีการหมุนเวียนของเงินทุนที่สูง การมีNPMที่สูงได้ในระยะยาวย่อมเป็นธุรกิจที่หอมหวานอย่างแน่นอน ใครๆก็อยากเข้ามาแชร์นํ้าผึ้งกองนี้ การรักษาNPMที่สูงได้อย่างต่อเนื่องจึงเป็นการบอกได้อย่างกลายๆว่า บริษัทนี้ต้องมีอะไรดีๆในการป้องกันคู่แข่งอย่างแน่นอน หน้าที่ของเราคือค้นหาปัจจัยนั้นๆให้เจอ และติดตามเฝ้าดูความแข็งแกร่งนั้นๆเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ส่วนธุรกิจใดที่สามารถหมุนเวียนเงินทุนได้สูงกว่าคู่แข่ง ก็เป็นการบ่งบอกถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการได้ดีกว่าคู่แข่ง ซึ่งนั่นก็คือความสามารถในการป้องกันคู่แข่งไปในตัวนั่นเอง หน้าที่เราก็ต้องทําหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบค่าสัญญาณต่างๆจากงบการเงินว่าบริษัทยังบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเหนือคู่แข่งหรือไม่

“ค่าROEเป็นค่าที่มีเกียร์เข้ามาเป็นฟันเฟืองตัวช่วย ทําให้สามารถเร่งกําไรได้สูงมากขึ้น เพราะ ทรัพย์สิน=หนี้สิน+ทุน ค่า ROE ก็เป็นการหาทรัพย์สินที่ใช้ทุนเป็นตัวหาร
แต่สามารถมีผู้ช่วยคือส่วนหนี้สินที่เพิ่มเกียร์ให้กับธุรกิจ เช่นบริษัทA B Cมีกําไรที่10บาทเท่ากัน

งบดุลAเป็นดังนี้ 100=20+80 บริษัทนี้มีROE=10/80*100=12.5เปอร์เซนต์
งบดุลBเป็นดังนี้ 100=50+50 บริษัทนี้มีROE=10/50*100=20เปอร์เซนต์
งบดุลCเป็นดังนี้ 100=80+20 บริษัทนี้มีROE=10/20*100=50เปอร์เซนต์

จะเห็นได้ว่ายิ่งใช้เงินทุนตนเองน้อยเท่าไหร่ ผลตอบแทนเรายิ่งมากขึ้นเท่านั้น(เพราะเราใช้เงินคนอื่นมาหากําไรให้เรา)ถ้าตอบตามภาษาROEจะเห็นว่าบริษัทที่น่าลงทุนที่สุดคือบริษัทC แต่ช้าก่อน….หน้าที่ของเราต้องละเอียดมากกว่านั้น เราต้องมองธุรกิจให้ครบทุกด้าน ไม่ใช่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง อย่างน้อยๆเราต้องรู้ว่าหนี้ที่ทําให้ROEสูงนั้นเป็นหนี้ที่ดีหรือหนี้ที่ไม่ดี ถ้าหนี้ที่ดีก็แล้วไป แต่ถ้าเป็นหนี้ที่ไม่ดี(หนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย)เราก็ต้องมองให้ลึกขึ้นว่า หนี้ระดับนี้มีความเสี่ยงต่อธรรมชาติของธุรกิจมากน้อยเพียงใด เพราะบางครั้งการมีหนี้ที่สูงกว่า ก็ไม่ได้บอกว่ามีความเสี่ยงที่สูงกว่า เสมอไป เช่นธุรกิจสาธารณูปโภคที่มีการทําสัญญากับภาครัฐอย่างชัดเจนเช่นโรงไฟฟ้า การกู้ถึง80เปอร์เซนต์อาจจะไม่เสี่ยงเท่ากับการกู้20เปอร์เซนต์เพื่อมาสร้างเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์โดยที่ยังไม่มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน”

ROA(return on asset) ค่านี้หาได้จากการนํากําไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีตั้งหารด้วยทรัพย์สินทั้งหมดแล้วแปลงเป็นเปอร์เซนต์ ค่านี้เป็นค่าที่ผมเอาไว้ดูประสิทธิภาพของการบริหารจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่ในมือของกิจการ และคนสร้างสูตรนี้ขึ้นมาคงมีเหตุผลเดียวกันนี้ สูตรในการคํานวณจึงเอากําไรก่อนเสียดอกเบี้ยและภาษีมาเป็นตัวตั้งในสูตร เพราะดอกเบี้ยในแต่ละช่วงเวลาและในแต่ละบริษัทอาจจะไม่เท่ากัน เรื่องภาษีก็เช่นเดียวกัน ในบางช่วงของธุรกิจนั้น การเสียภาษีมีข้อยกเว้นและข้อจํากัดมากมายที่ทําให้การเสียภาษีไม่ตายตัวมื่อเทียบกับกําไรก่อนภาษี ถ้าเราต้องการดูประสิทธิภาพของการบริหารจัดการจริงๆจึงไม่ควรนําสองค่านี้มาคิดรวมด้วย

“ค่าROEมีจุดอ่อนอยู่ตรงสามารถมีผู้ช่วย(หนี้) จึงต้องเอาค่าROAมาเป็นตัวตรวจสอบอีกทอดหนึ่งว่า ROEที่แสดงอยู่นั้นมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด”

“ค่าROAมีค่าตัวแปรคือ R และ A ผลตอบแทน(R)นี้หน้าที่เราคือต้องเข้าไปดูในส่วนของกําไรที่ได้มานั้นเป็นกําไรที่อยู่ในรูปใด(ลูกหนี้,สินค้า,เงินสด)ถ้าเป็นลูกหนี้ก็ต้องเฝ้าติดตามสัดส่วนหนี้ค้างชําระว่าผิดปรกติหรือไม่ อีกค่าตัวแปรคือทรัพย์สิน(A)เราก็ต้องเข้าไปดูในคุณภาพของทรัพย์สินเพื่อวิเคราะห์เชิงลึกต่อไป(เพราะบางครั้งธุรกิจมีROAที่สูงขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะประสิทธิภาพจะดีขึ้น) เช่นเคยมีบริษัทหนึ่งขายโรงพิมพ์ออกไปและทําการเช่ากลับมาแทน ทรัพย์สินจากเครื่องหายไป ค่าเสื่อมหายไป โดยมีค่าใช้จ่ายมาแทนที่ จะเห็นว่าAลดลง ทําให้ค่าROAสูงขึ้นจากในอดีต แต่สุดท้ายก็ไม่ได้หมายความว่าประสิทธิภาพของบริษัทนี้สูงขึ้นจากในอดีต และอีก
ข้อที่ลืมไม่ได้คือเรื่องทรัพย์สินที่ถูกซ่อนไว้ ที่อยู่ในรูปของทรัพย์สินไม่มีตัวตนที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้นะครับ”

“การเปรียบเทียบROAเพื่อดูประสิทธิภาพในการบริหารจัดการจะเปรียบเทียบได้เฉพาะกับธุรกิจที่เหมือนกันเท่านั้น ไม่สามารถเปรียบเทียบข้ามกลุ่มอุตสาหกรรมได้ เพราะด้วยโครงสร้างทรัพย์สินในแต่ละอุตสาหกรรมไม่เหมือนกัน เช่นธุรกิจบริการรับจัดทําบัญชีย่อมมีค่าROAที่สูงเพราะธรรมชาติของธุรกิจไม่จําเป็นต้องมีทรัพย์สินมากๆเมื่อเทียบกับธุรกิจโรงแรมที่ลงทุนหลักๆไปกับเครื่องผลิตเงินเกือบทั้งหมด”

“อย่างที่เราได้ยินวอเรนกล่าวไว้ว่า เขาชอบธุรกิจสองประเภทคือ ธุรกิจที่มีกําไรสุทธิสูงๆและธุรกิจที่มีการหมุนรอบเงินทุนได้เร็วๆ ถ้าเราตีความหมายของคําพูดนี้อีกมุมหนึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อเราเอากําไรสุทธิคูณกับการหมุนรอบของทรัพย์สิน นั่นก็คือค่าของRนั่นเอง เพียงแต่จะเป็นค่าROAที่เอากําไรสุทธิเป็นตัวตั้งหารด้วยทรัพย์สินทั้งหมด”

“และถ้าเราแยกประเภทของธุรกิจออกตามROA เราจะสามารถแยกธุรกิจออกเป็นสี่กลุ่มดังนี้

1.ธุรกิจที่มีNPMสูง และ การหมุนรอบของทรัพย์สินสูง โมเดลธุรกิจที่เข้าข่ายข้อนี้ จะต้องมีจุดขาย จุดแข็ง ที่แกร่งมากๆคนอื่นลอกเลียนแบบได้ยาก จุดแข็งที่ว่าอาจจะอยู่ที่แบรนด์ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ถ้าเราเจอธุรกิจที่เข้าข่ายในข้อนี้ที่มีโอกาสเติบโตสูง ขอแนะนําว่า เราน่าจะเจอเพชรเม็ดงามในการลงทุนเข้าแล้ว กลยุทธ์ในข้อนี้คือซื้อแล้วถือยาวๆ และถ้าเราจะขายก็ต่อเมื่อมูลค่าของกิจการแพงมากๆๆๆเกินพื้นฐานจริงๆ หรือจนกว่าจุดแข็งของเขาจะถูกคู่แข่งขันเจาะได้เท่านั้น

2.ธุรกิจที่มีNPMสูง แต่ การหมุนรอบของทรัพย์สินที่ตํ่า โมเดลธุรกิจในกลุ่มนี้มีสองประเภท
-ประเภทแรกเป็นธุรกิจงานบริการที่เก็บกินกําไรจากการลงทุนในทรัพย์สินของตนเอง ธุรกิจประเภทนี้มีการลงทุนในครั้งแรกค่อนข้างสูงมาก เช่น ธุรกิจโรงแรม โรงพยาบาล สาธารณูปโภค เป็นต้น ธุรกิจประเภทนี้จะมีจุดอ่อนเรื่องเงินลงทุนที่นําไปลงในเครื่องผลิตเงินที่ค่อนข้างสูง เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นกับฐานของรายได้ที่ลดลง จะมีผลกระทบค่อนข้างมากต่อกําไรสุทธิบรรทัดสุดท้าย แต่ในทํานองกลับกัน ถ้าบริษัทไหนสามารถผลักดันธุรกิจให้มีการใช้งานเกือบเต็มความสามารถในการผลิต/บริการ ค่าROA ROEและบรรทัดสุดท้ายของกําไรจะค่อนข้างสวยมากๆ(ยกเว้นงานสาธารณูปโภคที่มีการประมูลกําหนดราคาต้นทุน ราคาผู้ซื้อ และผลกําไรไว้ล่วงหน้าแล้ว)

-ประเภทที่สองเป็นประเภทรับบริหารจัดการทรัพย์สินของคนอื่น และเก็บเกี่ยวผลกําไรจากการบริการ เช่นธุรกิจประกันภัย ธนาคาร ไฟแนนซ์ โบรกเกอร์ เป็นต้น ธุรกิจประเภทนี้จะสามารถสร้างกําไรได้สูงมากในช่วงบูมๆของธุรกิจทั้งๆที่ROAค่อนข้างจะตํ่า เพราะว่ามีเกียร์เร่งจากเงินของคนอื่นนั่นเอง แต่ในทํานองกลับกัน จุดแข็งที่เป็นตัวเร่งผลกําไรก็เป็นดาบสองคมที่เราต้องเฝ้าระวังเช่นเดียวกัน

3.ธุรกิจที่มีNPMตํ่า แต่มีการหมุนรอบของทรัพย์สินที่สูง โมเดลธุรกิจในกลุ่มนี้ ส่วนมากจะเป็นงานบริการเทรดเดอร์ที่เกี่ยวกับการซื้อมาขายไป หรือเป็นธุรกิจที่รับจ้างผลิต(OEM)บางประเภท ถ้าเราเจอธุรกิจในกลุ่มนี้เราต้องเข้าไปดูอีกสองสิ่งเพิ่มเติมคือ อํานาจการต่อรอง และ ประสิทธิภาพการหมุนรอบของทรัพย์สินเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

สาเหตุที่ต้องพิจารณาในเรื่องอํานาจการต่อรองของซัพพลายเชนทั้งสาย เพราะด้วยธรรมชาติของธุรกิจที่NPMตํ่า การเปลี่ยนแปลงNPMเพียงน้อยนิดอาจมีผลต่อความเป็นความตายของบริษัททีเดียว เช่นธุรกิจซื้อมาขายไปแห่งหนึ่งมีNPMที่2.0เปอร์เซนต์ แต่สามารถหมุนรอบทรัพย์สินได้สูงถึง10รอบต่อปี ทําให้บริษัทนี้มีROAคร่าวๆหลังภาษีสูงถึง20เปอร์เซนต์ จุดที่ควรสนใจเป็นพิเศษของบริษัทนี้อยู่ตรงการเพิ่ม/ลดNPMมากกว่าการหมุนรอบของทรัพย์สิน การเพิ่มกําไรขั้นต้นเพียง1เปอร์เซนต์จะส่งผลให้ทําให้บริษัทนี้มีกําไรก่อนภาษีเพิ่มขึ้นถึง50เปอร์เซนต์ แต่ในทํานองกลับกันถ้าบริษัทมีกําไรขั้นต้นลดลง1เปอร์เซนต์บริษัทก็จะมีกําไรก่อนภาษีที่ลดลงประมาณ50เปอร์เซนต์เช่นเดียวกัน เพราะด้วยฐานกําไรที่บางเฉียบนั้น จึงทําให้เราต้องใส่ใจในเรื่องของอํานาจการต่อรองราคาวัตถุดิบและอํานาจการต่อรองการขึ้นราคาสินค้าของคู่ค้าเป็นพิเศษ เพื่อการคงไว้ซึ่งกําไรบรรทัดสุดท้ายนั่นเอง

ส่วนประสิทธิภาพการหมุนรอบของทรัพย์สินเมื่อเทียบกับคู่แข่งนั้น จะสามารถบอกถึงความแข็งแกร่งของตัวธุรกิจที่จะเป็นขอบข่ายคูเมืองป้องกันคู่แข่งเข้ามานั่นเอง

4.ธุรกิจที่มีNPMที่ตํ่า และ มีการหมุนรอบของทรัพย์สินที่ตํ่า โดยปรกติคุณควรมองผ่านเมื่อเจอธุรกิจประเภทนี้ เพื่อผลตอบแทนของคุณเอง นอกจากว่าคุณจะมีความขยันและมีเวลาเหลือเฟือ ก็ให้ทําความเข้าใจรู้จักทีละบริษัทว่าธุรกิจเขาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะถ้าเจอว่าในอดีตธุรกิจนี้มีสองตํ่าเป็นช่วงๆ ในอดีตธุรกิจนี้มีNPMที่สูงกว่านี้ เราอาจจะเจอธุรกิจที่เข้าข่ายธุรกิจเทริ์นอะราวด์หรือหุ้นกลุ่มวัฎจักรก็เป็นได้

เกาะที่สี่ วิธีการมองและก าหนดจุดซื้อตามผลตอบแทนที่เราต้องการ

การประเมินมูลค่าของกิจการสามารถแยกการประเมินได้เป็นสองแบบคือ
1.การประเมินมูลค่า แบบคร่าวๆ ในรูปแบบต่างๆ ผมจะเรียกการประเมินในรูปแบบนี้ว่า “การประเมินแบบพ่อค้า”แล้วกันนะครับ
2.การประเมินมูลค่าแบบมีตัวเลขที่เฉพาะเจาะจง การประเมินในแบบนี้จะเป็น
“การประเมินแบบไฟแนนเชียล” หรือ การประเมินแบบ DCF นั่นเอง

ที่ผ่านมา ผมได้ใช้การประเมินแบบพ่อค้ามาโดยตลอด ไม่เคยใช้การประเมินแบบDCFเลย คงด้วยเพราะผมเป็นถนัดที่จะเป็นพ่อค้า(ไม่ใช่แม่ค้า) ฮา. สาเหตุจริงๆคือ การประเมินแบบ DCF นั้นจะต้องใช้ข้อมูลที่มากพอและ เหมาะสมที่จะใช้ในกลุ่มธุรกิจที่เรียบง่าย ไม่เหวี่ยงทั้งNPM รายได้ และอัตราการเจริญเติบโต ซึ่งค่อนข้างเป็นข้อจํากัดในการประเมินมูลค่าพอสมควร และที่ผ่านมาผมเคยได้ยินอาจารย์ของผมคือ ดร.นิเวศน์ ที่ได้กล่าวไว้ว่า ท่านก็ไม่ชอบที่จะใช้ และทางอาจารย์ปู่ วอเรน บัฟเฟต์ ก็กล่าวเช่นเดียวกัน ส่วนตัวผม ที่ผ่านมาจึงไม่ได้มุ่งเน้นที่จะศึกษาเจาะลึกในด้านDCF แต่หันมาใช้วิธีแบบพ่อค้าๆ ที่สามารถประเมินมูลค่าของกิจการได้อย่างคร่าวๆคือ

มูลค่าของกิจการแบบพ่อค้า จะประกอบไปด้วยสองส่วนคือ PEของกิจการที่เหมาะสม คูณ กับ กําไรที่เขาจะหาได้ในปีนั้นๆ โดยหุ้น3กลุ่มที่ผมถือว่าเขาเป็นะรรมชาติของธุรกิจคือ หุ้นโตเร็ว หุ้นพื้นฐาน และหุ้นโตช้า หุ้นทั้งสามกลุ่มนี้เราจะต้องประเมินกําไรคร่าวๆของเขาให้ออก ในช่วง1ปี 3ปี หรือ 5ปีข้างหน้า และเราต้องประเมินPEคร่าวๆของหุ้นในตัวนั้นๆออกมาโดยพิจารณาในเรื่องการเติบโตในอนาคตประกอบกับคุณภาพของกิจการ และพอเราได้มูลค่าคร่าวๆใน1ปี 3ปี 5ปี. ในอนาคตจึงคํานวณกลับมาหาผลตอบแทนที่เราจะได้ จากราคาหุ้น ณ ตอนนั้นๆ หรือเราก็คํานวณหาจุดซื้อเพื่อกําหนดผลตอบแทนอย่างคร่าวๆ

แต่ถ้าเราต้องผลตอบแทนที่สูง เราควรเน้นการลงทุนไปที่หุ้นสามกลุ่มดังนี้คือ
-หุ้นกลุ่มโตเร็ว
-หุ้นกลุ่มฟื้นตัว
-หุ้นกลุ่มวัฎจักร

หุ้นทั้งสามกลุ่มนี้ ถ้ามีการลงทุนถูกที่ถูกเวลา เราอาจจะได้ผลตอบแทนมากกว่า1เท่าภายใน1ปี แต่ถ้าราคาขึ้นมารับข่าวแล้ว ความเสี่ยงก็มีสูงมากขึ้นตามราคาหุ้นที่สูงขึ้น(แต่ไม่ได้หมายความว่าราคาหุ้น ณ ตอนนั้นถูกหรือแพง) นักลงทุนที่เข้ามาทีหลัง จงอย่าโลภเกินความรู้ ควรศึกษาธุรกิจอย่างจริงๆจังๆ คํานวณมูลค่าของกิจการให้ออก จึงค่อยตัดสินใจว่าทําการลงทุนในตัวธุรกิจนั้นๆหรือไม่ และที่ราคาเท่าไหร่(คํานวณจากผลตอบแทนที่อยากจะได้) การเข้ามาลงทุนในช่วงที่ตลาดส่วนมากรับรู้ข่าวแล้วจะต้องใจเย็นและระมัดระวังให้มากขึ้นกว่าผู้ค้นพบ เพราะถึงแม้ในระยะ1-2ปีข้างหน้า
เรายังเห็นส่วนต่างราคาที่เหมาะสม มีอีกพอสมควร แต่ไม่ได้หมายความว่าราคาหุ้นในระยะสั้นจะลงไม่ได้ เพราะด้วยที่ราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาอาจจะขึ้นมามากแล้ว การปรับฐานราคาอาจจะเกิดขึ้นได้เป็นระยะตามข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ การลงทุนในหุ้นสามกลุ่มนี้ จึงมักมีทั้งคนได้และเสียในช่วงเวลา1-2ปีของราคาหุ้นที่กําลังปรับตัว โดยเฉพาะหุ้นฟื้นตัวและวัฎจักร แต่ถ้าเป็นหุ้นเติบโตที่มีคุณภาพ ซึ่งมีเวลาเป็นเพื่อน กลยุทธ์การถือครองหุ้นยาวๆไปกับธุรกิจที่เติบโต จะเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่ถูกต้องและปลอดภัยต่อการลงทุนของเรา

-หุ้นพื้นฐาน หุ้นกลุ่มนี้จะสามารถเติบโตไปเรื่อยๆตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ การขยายตัวของธุรกิจสามารถขับเคลื่อนด้วยตัวของมันเอง คนที่ไม่ชอบความเสี่ยงต้องการความมั่นคง ให้ลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ โดยคํานวณผลตอบแทนที่ต้องการเปรียบเทียบกับPEในตลาดและคาดการณ์การเติบโตของเขา ถ้าราคาหุ้นยังแพงก็ให้รอ หาจังหวะซื้อตอนที่ราคาหุ้นถูกเทกระจาดจากนายตลาด ถ้าราคาหุ้นไม่แพงก็ซื้อและถือครอง กําไรที่คาดว่าจะได้ก็มาจากการเติบโตของบริษัทบวกเงินปันผลนั่นเอง

-หุ้นโตช้าและหุ้นทรัพย์สินมาก ผู้ซื้อหุ้นทั้งสองกลุ่มนี้ จะต้องมีความอดทนในผลตอบแทนที่อาจจะแพ้ตลาดอยู่เสมอๆในช่วงตลาดที่เป็นขาขึ้น แต่หุ้นกลุ่มนี้จะมีเงินปันผล และ ราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง เป็นเบาะรองรับเวลาตลาดเป็นหุ้นขาลง ถ้าเรามีความพอเพียงแล้ว จะเกษียณชีวิตด้วยเงินปันผล และจะไม่ได้ติดตามเจาะลึกในผลประกอบการของบริษัท การแบ่งเงินลงทุนมาอยู่ในหุ้นโตช้าที่มีปันผลสูงๆ ก็น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดี ที่ปลอดภัยกว่าเราไปลงทุนในหุ้นที่ดี แต่มีPEสูงๆทั้งพอร์ต

ข้อเสริมควรจํา
***การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงคุณภาพเพื่อที่จะให้เราสามารถแยกเพชรพลอยออกจากกรวด เพื่อที่จะกําหนดค่าPEในอนาคตได้ว่า ธุรกิจนี้ในอนาคต หนึ่งปี สามปี ห้าปีข้างหน้าควรมีPEอยู่ที่เท่าไหร่***

***การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงปริมาณ เพื่อที่จะหาผลกําไรในอนาคตของธุรกิจที่เราศึกษา การมองเห็นธรรมชาติของธุรกิจจากปัจจัยเชิงคุณภาพ บวกกับ การเห็นงบการเงิน(ปัจจัยเชิงปริมาณ)ในอดีต ทําให้เราสามารถคํานวณผลกําไรในอนาคตของธุรกิจนี้ได้อย่างคร่าวๆ***

***การวิเคราะห์มูลค่าของธุรกิจ ถ้าหุ้นตัวนั้นอยู่ในกลุ่ม โตช้า โตเร็ว พื้นฐาน ผมจะใช้วิธีการคํานวณPEล่วงหน้า1-3-5ปีข้างหน้าตัวอย่างเช่น ธุรกิจA ตอนนี้มีราคา15บาท ด้วยการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งในตัวธุรกิจ ธุรกิจประเภทนี้เป็นหุ้นเติบโต น่าจะสามารถเติบโตได้มากกว่า10เปอร์เซนต์ต่อปีได้ต่อเนื่องอีก5ปีในอนาคต จุดอ่อนของบริษัทนี้ที่ควรเฝ้าติดตามมีเรื่องงบการขยายกิจการ และจุดอิ่มตัวในอีก5ปีข้างหน้า วิเคราะห์อํานาจการต่อรองค่อนข้างสูง สามารถปรับราคาได้ตามราคาต้นทุน และ
กระจายฐานลูกค้าค่อนข้างดี มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ประเมินรอบด้านแล้ว PEที่เหมาะสมในปีหน้าควรอยู่ที่12เท่า PEเหมาะสมในอีก5ปีข้างหน้าควรอยู่ที่10เท่า(คิดในเชิงปลอดภัย)หรือ12เท่า(คิดในเชิงรุก) EPSใน4ไตรมาสข้างหน้าคิดว่าได้กําไร2บาทต่อหุ้น ในอีก5ปีข้างหน้าเขาจะมีEPSอยู่ที่3.2บาท(ถ้าโต10เปอร์เซนต์ทบต้นต่อปี) ราคาหุ้นที่เหมาะสมในปีนี้อยู่ที่2คูณ12=24บาทต่อหุ้น และราคาหุ้นอีก5ปีข้างหน้าเหมาะสมอยู่ที่32-38.4บาทต่อหุ้น(ถ้าจะยึดค่าเฉลี่ยอยู่ที่35.2บาทต่อหุ้น) อัพไซด์ของหุ้นตัวนี้อยู่ที่60เปอร์เซนต์ใน1ปีข้างหน้า และเฉลี่ย5ปีประมาณ18.5เปอร์เซ็นต์ทบต้นบวกเงินปันผลที่จะได้ในแต่ละปี

ถ้าผลตอบแทนที่คาดหวังนั้นไม่ได้อย่างที่คิด จะมีสาเหตุมาจาก
1.เราประเมินค่าPEที่สูงหรือตํ่าเกินไป
2.เราประเมินผลกําไรในอนาคตเขาผิด
ซึ่งความผิดทั้งสองแบบนั้น ถ้าเรามีการฝึกที่สมํ่าเสมอ ไม่นานนักเราก็จะสามารถประเมินPEและผลกําไรของธุรกิจได้แม่นยํามากขึ้นตามประสบการณ์ที่สูงขึ้น***

***แต่ถ้าเป็นหุ้นกลุ่มวัฎจักรและหุ้นฟื้นตัว ผมจะใช้วิธีหาจุดกลับตัวจากภาพใหญ่ๆ หรือดูPB/Vเป็นหลักแล้วทําการเจาะวิเคราะห์ปัจจัยเชิงปริมาณประกอบเพื่อเลือกหุ้นที่จะลงทุน จากก่อนหน้านี้ผมได้กล่าวไว้ว่า ถ้าเป็นมือใหม่ควรหลีกห่างจากหุ้นวัฎจักรเพราะการประเมินPEที่ค่อนข้างเหวี่ยง จนมีคํากล่าวที่ว่า ถ้าซื้อหุ้นโภคภัณฑ์ ให้ซื้อตอนPEสูงๆและขายตอนPEตํ่าๆ และข้อที่สองการประเมินกําไรบรรทัดสุดท้ายค่อนข้างจะยาก เพราะNPMของธุรกิจประเภทนี้จะเหวี่ยงสูงมาก การประเมินผลกําไรในธุรกิจกลุ่มนี้ผมคิดว่าให้มองภาพใหญ่ๆและเจาะความต้องการในดีมานต์ซัพพลายให้ออก หาจุดซื้อในตอนอุตสาหกรรมนี้ใกล้ล่มสลายกันเกือบหมด ใช้ปัจจัยเชิงปริมาณค้นหาธุรกิจที่ต้นทุนตํ่าที่สุด และพร้อมในโอกาสการขยายกําลังการผลิตที่จะมาถึง การซื้อหุ้นกลุ่มนี้ควรดูค่าP/BVเป็นหลักมากกว่าค่าPE และควรจะขายเมื่อมีคนทั่วไปรับรู้ข่าวว่ากลุ่มธุรกิจนี้ฟื้นตัว ประกอบกับโบรกเกอร์และนายตลาดที่ประเมินPEให้อย่างสวยหรูโดยคิดว่า กําไรที่ดีในปีนั้นๆของบริษัทจะสามารรักษาให้คงอยู่ในระดับนี้ได้ตลอดไป ส่วนหุ้นฟื้นตัว จุดที่เลือกซื้อเหมือนกับเลือกซื้อหุ้นวัฎจักร เพราะหุ้นวัฎจักรก็หุ้นฟื้นตัวประเภทหนึ่งที่มีเป็นรอบๆตามธรรมชาติของธุรกิจ แต่หุ้นฟื้นตัวนั้นบางธุรกิจอาจจะกลายร่างเป็นหุ้นเติบโตจากการเปลี่ยนโครงสร้างของธุรกิจก็เป็นได้ เราก็ต้องมาประเมินPEของธุรกิจนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่งในมุมมองของการประเมินโดยPEตามวิธีของหุ้นกลุ่มเติบโต***

***หุ้นกลุ่มสุดท้าย คือหุ้นทรัพย์สินมาก หุ้นกลุ่มนี้จะพิเศษอยู่ที่ บริษัทได้อมของดีๆไว้โดยการบันทึกทรัพย์สินไม่ตรงกับปัจจุบัน เพราะฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดของการวิเคราะห์หุ้นกลุ่มนี้คือ
1.ประเมินมูลค่าเหมาะสมของธุรกิจเมื่อผู้บริหารยอมปลดล๊อคทรัพย์สินนั้นออกมาจากงบดุลมาหางบกําไรขาดทุน(ถ้าปลดล๊อคจากงบดุลไปงบดุล เท่าที่เห็นตลาดจะไม่ค่อยตอบสนองรับข่าวสักเท่าไหร่)
2.ค้นหาตัวเร่งที่จะทําให้ผู้บริหารกระทําในข้อที่1.
ถ้าเรายังมองไม่ออกในข้อที่2 ผมคิดว่าการซื้อลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ไม่น่าจะได้ผลตอบแทนในระยะยาวที่ดีนัก เพราะโดยส่วนมากหุ้นประเภทนี้ในเมืองไทย กลุ่มผู้บริหารถือครองหุ้นในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง(เกิน50เปอร์เซ็นต์) การเทคโอเวอร์ทั้งแบบเป็นมิตรและไม่เป็นมิตร จึงกระทําได้ค่อนข้างยาก การปลดล๊อคในทรัพย์สินจึงอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยใน10ปีข้างหน้า ผลตอบแทนของเราที่ไปคาดหวังในส่วนนี้จึงอาจจะได้แค่ผลตอบแทนที่เขาหากําไรได้ในแต่ละปีเท่านั้นเอง***
ภาคสาม ปัจฉิมบท

ถ้าเรายังอยู่ในทางโลก เราไม่อาจปฎิเสธได้ว่า เงินคือปัจจัยสําคัญที่จะทําให้เราสามารถอยู่ได้อย่างสุขสบาย สองภาคแรกเป็นการปูทางให้ท่านหาขุมสมบัติที่ซ่อนอยู่ให้เจอ เพื่อสักวันหนึ่งท่านจะหลุดพ้นจากหนูปั่นจักร เป็นอิสระภาพทางการเงิน




 

Create Date : 08 กันยายน 2556   
Last Update : 8 กันยายน 2556 21:04:58 น.   
Counter : 416 Pageviews.  


มหากาพย์ ไตรภาค / โดย นาย นริศ จิระวงศ์ประภา (ตอน3)

มหากาพย์ ไตรภาค

โดย นาย นริศ จิระวงศ์ประภา

มหากาพย์ไตรภาค

(ต่อ)

ข่าวสารทางบริษัท

ข่าวสารที่ผมคิดว่านักลงทุนจะต้องติดตามคือ
1.รายงาน56-1ของทางบริษัท ซึ่งดูได้จากเวป //www.set.or.th
2.รายงานประจําปีของทางบริษัท ซึ่งส่วนมากจะหาได้จากในเวปไซด์ของทางบริษัท
3.งานopportunity day ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์จัดเป็นประจําทุกไตรมาส

การดูอารมณ์ของนายตลาด

อย่างที่เรารู้ๆกันอยู่ว่า อารมณ์ของนักลงทุนในบางครั้งรุนแรงจนกระทั่งทําให้การซื้อขายไม่มีเหตุผล หน้าที่เราคือมองหาหุ้นที่นักลงทุนเบื่อหน่าย หรือเบือนหน้าหนีเวลามีคนพูดถึง เมื่อหุ้นตัวไหนหรือกิจการบริษัทใดไม่มีคนสนใจ ที่ผ่านมีแต่ข่าวร้ายเราต้องยิ่งสนใจ เราควรสนใจพื้นฐานอีกหนึ่งถึงสองปีข้างหน้า ประเมินมูลค่าของเขาโดยมองข้ามสิ่งที่เลวร้ายในช่วงนี้ ตามติด ดมกลิ่น หาจุดที่เหมาะสมที่จะเข้าไปลงทุน การซื้อลงทุนหุ้นประเภทนี้ส่วนมากความคาดหวังตํ่า ทําให้โอกาสขาดทุนมีค่อนข้างตํ่า จะมีก็แต่ความเสียโอกาสที่จะไปลงทุนในกิจการแห่งอื่นเท่านั้นเอง

ลงตลาดสังเกตการเปลี่ยนแปลง

การหมั่นฝึกมองเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในตลาด และการหมั่นฝึกมองอะไรก็ให้โยงไปที่การลงทุน จะทําให้เราพบการเปลี่ยนแปลงของบริษัทต่างๆจากการสังเกตจากสิ่งรอบตัวได้เร็วกว่าคนที่ไม่เคยฝึกสังเกต และที่สําคัญการเปลี่ยนแปลงนั้นถ้าเกิดที่ปลายทางคือผู้บริโภค นั่นคือ เราสามารถค้นพบการเปลี่ยนแปลงและมีเวลาทําการบ้านในหุ้นตัวนี้ก่อนนักลงทุนท่านอื่นถึง3เดือนก่อนที่งบการเงินจะบ่งบอกในไตรมาสถัดไป

การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่

ถ้าเราพบข่าวการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่มีโอกาสพลิกโฉมหน้าของบริษัทนั้นๆ หน้าที่เราคือต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงนั้นๆว่ามีผลต่อบริษัทอย่างไรบ้าง ข่าวประเภทที่ต้องสนใจเช่น
-การเปลี่ยนแปลงCEO
-การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารยกชุด
-การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่(อันดับต้นๆ)
-การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโมเดลธุรกิจเดิมไปสู่โมเดลใหม่
-การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการซื้อกิจการอื่นเพื่อต่อยอดธุรกิจเดิม
-การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากรูปแบบการบันทึกบัญชีที่เปลี่ยนไป เป็นต้น

ผู้บริหารส่งสัญญาณ

สัญญาณที่ผมค่อนข้างจะสนใจเป็นพิเศษมีอยู่สองเรื่องดังนี้
1.สัญญาณการซื้อขายของผู้บริหารในปริมาณที่มากหรือหลายๆท่านมีการซื้อขายไปในทิศทางเดียวกัน
2.สัญญาณที่ผู้บริหารหลายคนออกมาให้ข่าวกับทางสาธารณะบ่อยครั้งและไปในทิศทางเดียวกัน
เมื่อผมเห็นสัญญาณเหล่านี้ ผมจะนําไปสืบค้นหาเหตุผลที่ผู้บริหารซื้อ/ขายและหาข้อเท็จจริงในข่าวที่ผู้บริหารส่งสัญญาณให้นักลงทุนได้รับรู้

งานวิจัยของโบรกต่างๆ

งานวิจัยและบทความของโบรกต่างๆนั้น บางครั้งเป็นตัวจุดประกายให้เราต้องหันไปมองตัวธุรกิจนั้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง หลายๆบริษัทมีการนัดพบปะกับโบรกเกอร์อย่างสมํ่าเสมอทุกไตรมาสเพื่อบอกการเปลี่ยนแปลงที่กําลังจะเกิดขึ้น ข้อมูลข่าวสารจึงค่อนข้างอัพเดทกว่านักลงทุนบ้านนอกเช่นผม สําหรับผมเมื่อดูงานวิจัยเหล่านี้ ผม
จะเก็บเอาข้อมูลพื้นฐานที่โบรกได้นําเสนอมานั้น มาวิเคราะห์และติดตาม ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เป็นสาระสําคัญหรือไม่ แต่มูลค่าของกิจการนั้น ผมจะคํานวณของผมเองตามข้อมูลที่ได้มา

เครือข่ายกัลยาณมิตร

หุ้น500ตัวเราคงไม่สามารถไปรู้ลึกได้ทุกตัว วิธีหนึ่งที่จะทําให้เราสามารถพบเจอหุ้นได้มากขึ้นและทําความรู้จักหุ้นตัวนั้นได้อย่างรวดเร็วคือ การที่เรามีเพื่อนลงทุนที่ดี(แต่ต้องยํ้าว่าเพื่อนที่ดี) เพื่อนลงทุนจะช่วยกันค้นหาหุ้น ทําให้หูตาเรากว้างขวางมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาผมประสบความสําเร็จในการลงทุนนั้นผมคิดว่าเป็นเพราะ ผมมีเพื่อนและอาจารย์ที่ดีครับ

ศูนย์รวมแหล่งข่าวชั้นยอด

การที่เรามีแหล่งรวมข่าวอยู่ที่เดียวกัน มีข้อมูลย้อนหลังให้เราได้ติดตาม มีนักลงทุนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในบริษัทนั้นๆ และถ้าเราสงสัยในเรื่องใด ถามไปก็มีผู้รู้มาตอบคําถาม ที่กล่าวมานั้นคืออยู่ในเวป //www.thaivi.org ในส่วนร้อยคนร้อยหุ้น หรือ ห้องกระทิงคุณค่าของคุณ IH เป็นต้น ซึ่งผมคิดว่ามันคือทางลัดที่ดีที่ไว้หาข้อมูลหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเลยนะครับ

เกาะที่สองการจ าแนกประเภทของธุรกิจ

พอเราได้หุ้นเป้าหมายที่จะทําการบ้านต่อแล้ว ผมจะมีคําถามสามข้อหลักๆที่จะต้องรู้จากหุ้นตัวหนึ่งๆคือ

1.หุ้นตัวนี้จัดอยู่ในกลุ่มไหนจากการจําแนกประเภทของธุรกิจ(ตามปีเตอร์ ลินซ์)

2.หุ้นตัวนี้มีจุดน่าสนใจอยู่ตรงไหนหรือมีตัวเร่ง(catalyst)อะไรบ้าง จุดน่าสนใจของกลุ่มหุ้นจะสัมพันธ์กับสิ่งที่น่าสนใจในกลุ่มธุรกิจ เช่น ถ้ากลุ่มหุ้นเติบโต catalyst คือเรื่อง อัตราการเติบโตในอนาคต หรือ กลุ่มหุ้นทรัพย์สินมากจุดที่น่าสนใจจะอยู่ที่ บริษัทจะปลดล๊อคทรัพย์สินออกมาหรือเปล่า หรือ กลุ่มหุ้นฟื้นตัว จุดน่าสนใจอยู่ที่การพลิกฟื้นของตัวธุรกิจว่าจะเกิดขึ้นไหม เป็นต้น

3.หุ้นตัวนี้มีจุดตายหรือเปล่า และจุดเสี่ยงมีอะไรบ้าง(Risk) ถ้าเราเจอหุ้นที่catalystชัดเจน ผ่านเกณฑ์ทุกอย่าง แต่บริษัทนี้มีจุดตาย เราต้องเปรียบเทียบความน่าจะเป็นของโอกาสที่จะเกิดเพื่อนําไปหักล้างกับภาพอันสวยหรู ถ้าความน่าจะเป็นไม่สูงมาก
นัก เราก็ควรลงทุน แต่ผมก็จะถือหุ้นตัวนั้นอย่างมากเพียง20-25เปอร์เซนต์ครับ เอาตัวอย่างที่ผมเคยเจอมาก็เช่นKIATครับ จุดตายของบริษัทนี้อยู่ตรงรถแก๊สระเบิดในย่านชุมชน ถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีเพียงน้อยนิด catalystค่อนข้างชัดเจนกับการรับงานที่จะมากขึ้นกับการขยายไปกับการขนแก๊สNGV กับPTTในเขตอิสานตอนบน ถ้าเขาได้งานมีโอกาสโตอีก2เท่าตัว ถึงตอนนั้นราคาหุ้นที่5บาทถือว่าถูกมาก แค่กระนั้นผมยังถือลงทุนในตัวนี้เพียง10-15เปอร์เซนต์ของพอร์ต(ผมอาจจะขี้กลัวเกินไป เพราะผมคิดว่าการรักษาเงินต้นนั้นสําคัญมากกว่าการเติบโตของพอร์ต โดยผมยึดถือคํากล่าวบทหนึ่งไว้เตือนความโลภของตนเองอยู่เสมอ คํากล่าวนี้เป็นของชาลีมังเกอร์ คู่หู ปู่บัฟเฟตต์ ได้กล่าวไว้ว่า “ถ้าเขารู้ว่าเขาจะไปตายที่ไหน เขาคงจะไม่ไปที่นั่น”ซึ่งผมก็ว่าจริงนะครับ

เรื่อง การจ าแนกประเภทกลุ่มธุรกิจ

การจําแนกประเภทของธุรกิจ ในสไตล์ผมๆจะแบ่งออกเป็น2แบบครับ แบบแรก เป็นแบบคลาสสิก มาตรฐานสากล ที่ทั่วโลกยอมรับ คือ การแบ่งแบบ ปีเตอร์ ลินซ์ ท่านแบ่งการลงทุนเป็น6ประเภท ดังนี้
1.หุ้นโตช้า(Slow growers)
2.แข็งแกร่ง(Stalwarts)
3.หุ้นโตเร็ว(Fast growers)
4.หุ้นวัฎจักร(Cyclicals)
5.หุ้นฟื้นตัว(Turnarounds)
6.หุ้นทรัพย์สินมาก(Asset plays)

ประเทศไทย เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร เราจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะที่บ้านเมืองอื่นอาจจะไม่มี ผมจึงขอเพิ่มเติมอีก3ข้อจาก6เป็น 9 แบบไทยๆนะครับ เพื่อเป็นอีกมุมหนึ่งมาประกอบการตัดสินใจดังนี้
7.หุ้นการเมือง(Politic powers)
8.หุ้นปั่นแปะ(Dealer controls)
9.หุ้นกลุ่มพิเศษ(Special groups)

เรามาดูรายละเอียดของแต่ละกลุ่มกันนะครับ

1.กลุ่มโตช้า(Slow growers)

กลุ่มนี้ส่วนมากจะเป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อิ่มตัวแล้ว และในหลายๆบริษัทแย่ยิ่งกว่าคือ อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กําลังเป็นตะวันตกดิน ที่กําลังมีสินค้าใหม่ๆเข้ามาทดแทน กลุ่มนี้สังเกตง่ายๆตรงที่ ภาพรวมอุตสาหกรรมมีการเติบโตน้อยกว่าหรือเท่าๆกับGDPของประเทศมาเป็นระยะเวลาหลายๆปี
สาเหตุหลักที่เราควรจะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้คือ มีเงินปันผลที่จัดเป็นcatalystและสาเหตุเดียวกันที่เราควรจะขายหุ้นกลุ่มนี้คือ เมื่อเขามีแนวโน้มจะจ่ายปันผลลดลง จากสาเหตุรายได้/กําไร เขาเริ่มถดถอย หรือ ถ้าเขาปันผลน้อยลงเพราะบริษัทได้นําเงินปันผลไปลงทุนในรูปแบบธุรกิจอื่น…..เราก็ต้องติดตาม อาจจะดีหรือไม่ดีก็เป็นได้ เพราะผมก็เห็นหลายตัวที่เปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ทําให้เขากลายมาเป็นหุ้นเติบโตอีกครั้งหนึ่ง หมายความว่า เราก็ต้องเปลี่ยนวิเคราะห์หุ้นตัวนี้ในมุมมองหุ้นประเภทอื่นต่อไป

หุ้นกลุ่มนี้มีข้อดีคือ
-หลายๆบริษัทไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปทําอะไร จึงมีการจ่ายปันผลค่อนข้างสูง อาจจะปัน70-100เปอร์เซนต์ของกําไรในแต่ละปี
-หุ้นเทรดกันที่PE PBV ตํ่า เพราะความคาดหวังของนักลงทุนไม่ค่อยมี ทําให้ราคาหุ้นไม่ค่อยเหวี่ยงให้ใจหายใจควํ่า

ส่วนข้อเสียของหุ้นกลุ่มนี้คือ
-ส่วนมากธุรกิจจะไม่ค่อยเติบโต เราจึงควรติดตามผลประกอบการ ถ้าผลประกอบการถดถอย2-3ปีซ้อน เราควรหลีกเลี่ยง เพราะถ้าผลประกอบการตกตํ่าต่อเนื่อง อนาคตเงินปันผลเราก็จะลดลง
-ถ้าใครหวังผลที่จะเกษียณจากผลตอบแทนระยะยาวที่มากกว่า15เปอร์เซ็นต์ทบต้น/ปี หุ้นกลุ่มนี้ดูจะค่อนข้างลางเลือน ผมแนะนําให้ไปถือครองหุ้นกลุ่มอื่นดีกว่าครับ

2.หุ้นแข็งแกร่ง(Stalwarts)

หุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างจะเติบโตในเชิงกําไรประมาณ7-10เปอร์เซนต์ต่อปี ในระยะเวลายาวนานกว่า10ปี มีแบรนด์เนมที่ติดหู ครอบครองตลาดมาอย่างยาวนาน เป็นหุ้นยอดนิยมสําหรับ กองทุน และนักลงทุนโดยทั่วไป ทําให้ PE ที่เทรดเฉลี่ยของหุ้นกลุ่มนี้จะสูงกว่าตลาดอยู่เสมอๆ การซื้อหุ้นกลุ่มนี้คุณไม่ต้องทําอะไรมาก เพียงแต่คอยติดตามบทวิเคราะห์จากโบรกต่างๆ ส่วนมากผลตอบแทนของบริษัทจะไม่ค่อยต่างจากบทวิเคราะห์มากนัก เทคนิคการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ คือ เราต้องมีเป้าหมายในใจว่าเราต้องการผลตอบแทนที่เท่าไหร่ เพื่อคํานวณหาจุดซื้อ และรอจังหวะซื้อในเวลาที่นายตลาดเกิดตกใจ เทขายหุ้นกลุ่มนี้ออกมา เช่นถ้าใครลงทุนซื้อหุ้นพื้นฐานในปีที่เกิดวิกฤต เขาจะได้ผลตอบแทนที่เป็นกอบเป็นกําเสมอๆ ส่วนจุดขายของหุ้นกลุ่มนี้ก็เช่นเดียวกันคือ เมื่อราคาหุ้นวิ่งเกินพื้นฐาน เทรดกันในPEสูงๆเกินค่าเฉลี่ยมากๆ หรือมีเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่เราควรขายหุ้นกลุ่มนี้คือ เมื่อเริ่มเห็นสัญญาณที่บริษัทไม่สามารถเติบโตได้ต่อไป อัตราการเจริญเติบโตของยอดขายของบริษัทเริ่มลดลง ถึงแม้นกําไรจะสามารถทรงตัวได้ก็ตาม เพราะนั่นอาจจะเป็นสัญญาณว่า เขากําลังจะกลายร่างเป็นหุ้นโตช้าในอนาคต และในที่สุดPEที่เคยเทรดกันสูงกว่าตลาด
โดยรวมจะเริ่มลดลงจนตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยของตลาด และนั่นก็อาจจะทําให้เงินคุณหายไปหลายสิบเปอร์เซนต์ทีเดียว

-Catalyst ของหุ้นพื้นฐานคือ ความแข็งแกร่งของตัวธุรกิจ
-Risk ของหุ้นกลุ่มนี้คือเรื่อง บริษัทคู่แข่งเจาะฐานที่มั่นได้ ราคาที่เทรดกันที่PEสูง เพราะความคาดหวังของผู้ซื้อที่สูงกว่าหุ้นโดยทั่วไป

3.หุ้นโตเร็ว(Fast growers)

หุ้นกลุ่มนี้เป็นหุ้นที่ผมชอบมากที่สุดใน6กลุ่ม เพราะผลตอบแทนที่ได้ค่อนข้างสูง และถ้าผมสามารถหาหุ้นประเภทนี้ได้เจอ ผมสามารถไม่ต้องหาหุ้นไปอีกหลายๆปี และจํากัดส่วนขาดทุนของผมให้น้อยลงไปเรื่อยๆตามเวลาที่เดินไปในอนาคต แต่โอกาสที่ผมจะได้กําไร กลับมีไม่จํากัด จากการเติบโตของเขาเอง
เทคนิคการหาหุ้นโตเร็ว ผมมีเทคนิคหาหุ้นกลุ่มนี้อยู่3ข้อคือ
1-จงมองหากลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังมีช่องว่างการตลาดอีกมาก เช่น อาจจะเป็นสินค้าใหม่ทดแทนสินค้าเก่า หรือ มองหาเทรน/เมกะเทรนในอนาคตที่กําลังจะเกิดขึ้น และมองหาอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากเทรนนั้นๆ
2-จงมองหาบริษัทที่เป็นอันดับต้นๆในอุตสาหกรรมนั้น และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในโอกาสที่กําลังจะเกิดขึ้น ว่ามีบริษัทไหนที่เตรียมพร้อมกับโอกาสที่จะเกิดขึ้น และจงลงทุนในบริษัทที่มีความพร้อมในโอกาสนั้นๆ
3-จงมองหาผู้บริหารที่เก่งรอบรู้ในอุตสาหกรรมตนเอง และมีไฟ มีความขยันตื่นตัวในการขยายกิจการ สุดท้ายที่ลืมไม่ได้คือ ผู้บริหารต้องเป็นกัปตันที่ซื่อสัตย์ คอยควบคุมทิศทางให้เรือมุ่งสู่เป้าหมาย มากกว่าจะมาคอยแวะตามเกาะแก่งต่างๆเพื่อที่จะจับปลาให้ตนเองอิ่มท้อง

การซื้อหุ้นในกลุ่มนี้ ถ้าเราต้องการได้ผลตอบแทนที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เราควรพยายามสอดส่องหาหุ้นที่เพิ่งเริ่มจะเติบโต แต่ต้องมีรูปแบบการเติบโตให้เราเห็นบ้างแล้ว ถ้าเราเสี่ยงเข้าไปก่อนที่เขาจะมีรูปแบบที่ชัดเจน อาจจะทําให้ ผลตอบแทนการลงทุนของเราสะดุดไม่ดีเท่าที่ควร เช่น การเข้าไปลงทุนในช่วงแรกๆ เราอาจจะต้องเสี่ยงเรื่องของการเพิ่มทุน หรือ เสี่ยงในเรื่องคุณภาพของการเติบโต เพราะบางครั้งการเติบโตจากภายนอกเร็วกว่าประสิทธิภาพของระบบภายในจะตามทัน อาจทําให้บริษัทโตอย่างอ้วนฉุ ไม่แข็งแรง เป็นผลให้บริษัทเติบโตแบบไม่ยั่งยืนได้

อีกเรื่องที่ควรใส่ใจ คือเรื่องอุตสาหกรรมที่เติบโต เราต้องมองว่าการเติบโตนี้ เป็นการเติบโตแบบยั่งยืนมากน้อยเพียงใด เช่น การเติบโตของกลุ่มบริษัทนี้เป็นการเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หรือ เป็นการเติบโตตามรอบวัฎจักรของสินค้า หรือเป็นการเติบโตตามเทรนของผู้บริโภค เราต้องแยกประเภทอุตสาหกรรมให้ออก ว่าอุตสาหกรรมที่เรากําลังลงทุนนี้ เป็นการเติบโตในแบบใด วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การ
เลือกหุ้นที่เป็นเมกะเทรน ที่เรามองว่าตลาดยังมีช่องว่างอีกมาก หรือถ้าจะหาตัวช่วยก็พอมีจากการมองกระจกมองหลังในอดีตให้ยาวนานที่สุด ดูรายได้/ผลกําไรย้อนหลังว่ามีรูปแบบอย่างไร
ควรระวังในธุรกิจที่มีการเติบโตมาจากกําไรขั้นต้น กําไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น มากกว่าการเติบโตที่มาจากฐานรายได้หรือฐานลูกค้าที่มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่มีกําไรไม่สมํ่าเสมอ นั่นเป็นการบ่งบอกว่า ธุรกิจที่เรากําลังดูอยู่นี้ อาจจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มหุ้นเติบโต แต่อยู่ในกลุ่มหุ้นวัฎจักร

ถ้าเราเจอหุ้นเติบโต อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นได้ไม่นาน มีGPM NPM ที่สูง สิ่งที่เราควรระวังอีกเรื่องคือ มักจะมีคู่แข่งขันหน้าใหม่ เข้ามาร่วมแจมด้วยเสมอๆ เวลาเราเลือกหุ้นในประเภทนี้จึงต้องมองหาผู้นําที่มีมีขอบข่ายคูเมืองที่ชัดเจน มีจุดเด่นในตัวธุรกิจ ไม่เช่นนั้น กําไรบรรทัดสุดท้ายในอนาคตอาจจะไม่สวยหรูอย่างที่เราคาดคิดไว้ก็เป็นได้

การซื้อหุ้นในกลุ่มโตเร็วนี้ การซื้อหุ้นในบางครั้งต้องยอม ทําใจ ซื้อหุ้นในราคาหุ้นที่มีPEสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด เพราะในตัวเขาเองมีcatalystหรือตัวเร่งปฎิกิริยา ของกําไร ที่จะทําให้PEในอนาคตเขาตํ่าลง ผมเองมีวิธีส่วนตัวในการตัดสินใจซื้อคือ มองกําไรล่วงหน้า4ไตรมาส และระบุPEที่กลางๆของหุ้นตัวนั้นเป็นขอบเขตราคาสูงสุดที่ผมจะยอมรับได้ เช่นถ้าผมมองหุ้นตัวหนึ่งมีกําไร4ไตรมาสข้างหน้าคือ0.28บาทต่อหุ้น และPEหุ้นตัวนี้ผมให้ราคากลางๆที่12เท่า หมายความว่าราคา ณ วันนี้ที่คํานวณ ผมจะซื้อราคาหุ้นตัวนี้ไม่เกิน0.28*12=3.36บาท เป็นต้น…..และถ้าผมซื้อหุ้นตัวนี้ได้ในราคาตํ่ากว่า3.36บาทมากเท่าใด หมายถึงผมได้มี MOS มากขึ้นเท่านั้น

กลยุทธ์ขายของหุ้นโตเร็วคือ…จงขาย “เมื่อเขาหยุดโต และกําลังจะกลายร่างเป็นหุ้นพื้นฐาน หรือ หุ้นโตช้า” โดยสังเกตจากยอดขายที่ไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร หรือ การขยายไปธุรกิจต้นนํ้าหรือปลายนํ้า ไม่สวยหรูอย่างที่คิด หรือ ผู้บริหารเริ่มนําเงินไปขยายธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม หรือ ช่องทางของตลาดเริ่มคับแคบลงจนน่าจะขยายตัวได้ยากแล้ว เป็นต้น และอีกกรณีคือ ผมจะขายหุ้นโตเร็วเมื่อ นายตลาดมาให้PEของหุ้นเราสูงมากๆ เช่นผมให้PEล่วงหน้า4ไตรมาสกลางๆที่12เท่า แต่นายตลาดให้ไปถึง25เท่าเป็นต้น

-Catalyst ในหุ้นกลุ่มนี้คือเรื่องการเติบโตของรายได้/กําไร
-Risk ในหุ้นกลุ่มนี้คือเรื่อง การเติบโตไม่เป็นไปตามคาด และราคาหุ้นเทรดกันที่PEสูงตามความคาดหวัง

4.หุ้นวัฎจักร(Cyclicals) หุ้นกลุ่มนี้เป็นหุ้นที่ผมให้ความสําคัญน้อยกว่าหุ้นโตเร็ว ทั้งๆที่ผลตอบแทนที่ได้อาจจะมากกว่าด้วยซํ้า แต่สาเหตุที่ผมให้ความสําคัญน้อย อาจจะเป็นเพราะ ผมยังสามารถหาหุ้นโตเร็วในตลาดได้เป็นระยะ จึงไม่ได้มีปัญหากับ
การดิ้นรนหาหุ้นกลุ่มนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง……จริงๆนั่นคงเป็นข้อแก้ตัวมากกว่า ฮ่าๆๆ สาเหตุจริงๆน่าจะมาจาก ขอบเขตความรอบรู้ในหุ้นกลุ่มนี้ต้องใช้ความสามารถเฉพาะด้านสูงมาก หุ้นกลุ่มนี้ผมขอแนะนําเฉพาะคนที่อยู่วงในของวงการอุตสาหกรรมนั้นๆที่รู้การเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด หรือไม่งั้นมีคุณก็ต้องมี IQ EQ สูงๆที่เกินค่าเฉลี่ยคนทั่วๆไปมาเล่น ต้องขยันและมีเวลาที่จะติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ต้องใช้ความสามารถค่อนข้างสูงทั้งในเรื่องการเก็บข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งในเรื่องการคาดเดาอารมณ์ของนักลงทุนในตลาด

หุ้นกลุ่มวัฎจักร ผมขอแบ่งย่อยเป็นสองประเภทคือ วัฎจักรตามสินค้าโภคภัณฑ์ กับ วัฎจักรตามสภาวะเศรษฐกิจ หรือ เรียก กลุ่มนี้ว่า พวกอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อม

หุ้นกลุ่มแรก พวกสินค้าโภคภัณฑ์ หุ้นกลุ่มนี้จะขายสินค้าหรือบริการที่ไม่มี
value-added กับสินค้า หน้าตาสินค้าเหมือนๆกัน แตกต่างกันไม่มากพอที่จะสร้างความจงรักภักดีต่อสินค้า GPM NPM จะขึ้นกับดีมานต์ ซัพพลาย เป็นหลัก ถ้าไล่เรียงลําดับก็คงจะตั้งแต่ สินค้าธรรมชาติ เช่น เหมืองแร่ โรงกลั่นนํ้ามัน และผู้ค้าสินค้าเกษตร อันดับต่อมาคือ ผลพลอยได้จากสินค้ากลุ่มแรกๆ เช่น นํ้ามันเครื่อง เม็ดพลาสติก ปูนซิเมนต์ และสุดท้ายของกลุ่มนี้ ที่พอมีอํานาจการต่อรองบ้างคือ ชิ้นส่วนรถยนต์ สายการบิน ขนส่งทางเรือ เป็นต้น หุ้นในกลุ่มนี้ ถ้าใครสามารถ “ลดต้นทุนได้ตํ่าที่สุด” และสามารถ “บริหารซัพพลายเชนได้สมดุลดีที่สุด” จะเป็นฝ่ายที่แข็งแกร่งที่สุด

หุ้นกลุ่มนี้จะสามารถแบ่งได้อีกแบบตามรอบระยะเวลาในการเกิดดับของอุตสาหกรรม การแบ่งรอบระยะเวลานี้ จะเกิดจากข้อจํากัดในการสร้างผลิตภัณฑ์นั้นๆ หรือ ข้อจํากัดในการสร้างเครื่องผลิตเงิน นั่นเอง ถ้ามองในมุมมองของระยะเวลาในการเกิดรอบของธุรกิจ สินค้าที่สามารถมีรอบผลิตที่เร็ว ก็จะมีรอบวงจรที่เล็กและสั้นกว่า สินค้าที่สามารถใช้เวลาในการผลิตที่นานกว่า ถ้ายกตัวอย่างให้สุดโต่ง ผมจะขอเปรียบเทียบรอบสินค้าสักห้าชนิดคือ ถั่วงอก ไก่ ข้าวโพด ปาล์มนํ้ามัน โรงกลั่นนํ้ามัน จะเห็นได้ว่าระยะเวลาในการสร้างสินค้าเพิ่มเติมจะใช้เวลาสร้างแตกต่างกัน ทําให้รอบวงจรของสินค้าถั่วงอกขาดคงไม่เกิน7วัน แต่รอบโรงกลั่นนํ้ามันคงจะใช้เวลาอย่างน้อยเท่ากับการสร้างโรงกลั่นนั่นคือรอบของโรงกลั่นอาจจะใช้เวลาถึง10-15ปีในแต่ละรอบ

หุ้นกลุ่มที่สอง พวกอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อม หุ้นกลุ่มนี้จริงๆก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับดีมานต์/ซัพพลาย โดยตรง แต่มีความอ่อนไหวในรายได้และกําไร จากหลากหลายสาเหตุ เช่น อ่อนไหวเพราะต้องมีการใช้เม็ดเงินจํานวนมากในการตัดสินใจซื้อทรัพย์สินชิ้นนั้นๆ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น หุ้นวัฎจักรกลุ่มนี้ เราต้องติดตามความต้องการของตลาด ประกอบกับ ติดตามสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

การแยกหุ้นกลุ่มนี้ออกจากหุ้นกลุ่มเติบโต ง่ายที่สุดคือ ดูในส่วนของรายได้ที่เพิ่มขึ้น หุ้นกลุ่มเติบโต จะมีการเติบโตในส่วนของการกระจายสินค้าที่มากขึ้น จํานวนชิ้นที่ขาย จํานวนงานที่บริการ มีสัดส่วนโดยตรงต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น การขยับของGPM NPM จะค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหุ้นกลุ่มวัฎจักร เราจะเห็นกําไรที่เพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมดมาจาก GPM NPM ที่เปลี่ยนไป สาเหตุหนึ่งที่เราต้องแยกให้ออกว่าเขาคือหุ้นเติบโต หรือ หุ้นวัฎจักร เพราะถ้าเป็นหุ้นเติบโต เวลาที่เดินไป จะสร้างความมั่งคั่งให้กับพอร์ตของเรา หุ้นบางตัวถึงแม้นเราไม่ขาย แต่พอเขาเปลี่ยนจากหุ้นโตเร็วเป็นหุ้นพื้นฐานหรือหุ้นโตช้า เงินปันผลที่ได้ในแต่ละปี อาจจะมากกว่า50เปอร์เซนต์ต่อปี จากเงินลงทุนของเราในครั้งแรก แต่ถ้าเป็นหุ้นวัฎจักร เราซื้อลงทุนมีด้วยสาเหตุเดียวคือ ส่วนต่างของราคาหุ้น หมายความว่าคุณต้องมองให้ออก ต้องซื้อตอนเริ่มขาขึ้น และต้องขายเมื่อนายตลาดกําลังคิดว่ามันกําลังเป็นขาขึ้นเต็มตัว ถ้าคุณเข้าจังหวะถูก คุณอาจจะได้300-500-1000เปอร์เซนต์ ภายใน2-3ปี แต่ถ้าคุณเข้าผิด คุณอาจจะขาดทุน80เปอร์เซนต์ได้ภายใน2-3ปี เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ต้องหาจุดเข้าให้ดีและต้องยอมขายขาดทุนเมื่อคุณคิดผิด ผมเห็นความเข้าใจผิดของคนที่พลาดติดหุ้นในกลุ่มนี้คือ คนกลุ่มนี้เขาคาดว่าจะมีเงินปันผลที่สูงตามผลประกอบการ เขารอรับปันผลแล้วค่อยขายหุ้น แต่เราต้องไม่ลืมว่า เราซื้อหุ้นกลุ่มนี้ไม่ใช่เพราะเงินปันผล แต่เราต้องการส่วนต่างราคาหุ้น

จุดขายของหุ้นกลุ่มนี้ ค่อนข้างบอกยาก สัญญาณที่พอบอกได้ก็มี
-ให้ขายเมื่อเขาเร่งกําลังการผลิตเต็มที่แล้ว
-NPMสูงกว่าความเป็นจริงมากๆ
-ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า ตํ่ากว่าราคาspot
-PBVสูงเกินกว่า3-4เท่า จากในอดีตที่เทรดใกล้เคียง1เท่า
-สเปรดที่เริ่มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
-สินค้าคงคลังที่เริ่มมากขึ้น
“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เท่าที่ผมสังเกตุดู การดูสัญญาณอาจจะไม่ทันการเพราะบางครั้งเราอาจจะเห็นราคาหุ้นลงโดยไม่มีสาเหตุ ก่อนจะมีสัญญาณล่วงหน้าเป็นปีทีเดียว”

-Catalystของหุ้นกลุ่มนี้คือเรื่องNPMที่เพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการที่มีมากขึ้นแต่ผู้ผลิตผลิตสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ
-Riskของหุ้นกลุ่มนี้คือเรื่องการคาดการณ์รอบวัฎจักรของสินค้าและการคาดการณ์อารมณ์ของนักลงทุนในการซื้อ/ขายหุ้น เพราะบางครั้งมีการขายหุ้นจํานวนมากออกมาก่อนวัฎจักรจะกลับตัวเป็นขาลงล่วงหน้าเป็นปีทีเดียว

5.หุ้นฟื้นตัว(Turnarounds) หุ้นกลุ่มนี้เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ผมชอบรองจากหุ้นโตเร็ว เพราะ ถ้าคุณเลือกถูกตัว ผลตอบแทนที่คุณได้รับ ค่อนข้างดีทีเดียว หุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างจะคล้ายๆกับหุ้นวัฎจักร แต่ถ้าจะพูดให้ถูกคือ หุ้นวัฎจักรเป็นส่วนหนึ่งของหุ้นฟื้นตัว แต่ที่แยกออกไปอยู่อีกกลุ่มเป็นเพราะ หุ้นวัฎจักรนั่นเป็นธรรมชาติของธุรกิจที่จะตกตํ่าสลับฟื้นตัวเป็นรอบๆ แต่หุ้นฟื้นตัวนี้ตกตํ่าอาจเป็นเพราะเกี่ยวกับพื้นฐานธุรกิจโดยตรง เช่นธุรกิจอยู่ในกลุ่มตะวันตกดิน หรือ การบริหารจัดการภายในมีรูรั่ว หรือ ความผิดพลาดของนโยบายและวัฒนธรรมองค์กรจึงไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ทําให้การลงทุนในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงเช่นทีเดียว แต่ความเสี่ยงในหุ้นกลุ่มนี้ส่วนมากจะเป็นความเสี่ยงที่ทําให้เงินเราไม่งอกเงยเสียมากกว่า เพราะความคาดหวังในหุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างตํ่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ข้อดีของความเสี่ยงในหุ้นประเภทนี้คือ เราสามารถลดความเสี่ยงได้ โดยการเรียนรู้ศึกษาทําความรู้จักกับบริษัทให้มากที่สุด เพื่อค้นหาธุรกิจที่จะสามารถฟื้นตัวได้ในอนาคต

หุ้นกลุ่มนี้ผมจะแบ่งการฟื้นตัวออกเป็นกลุ่มย่อยๆเพื่อจะได้วิเคราะห์สาเหตุที่ซื้อและขายได้ถูกต้อง

5.1หุ้นฟื้นตัวจากต้นทุนสินค้าที่ลดลง
กลุ่มนี้กําไรของบริษัทจะมากขึ้นจากวัตถุดิบต้นทุนหลักๆลดราคาลงทําให้บริษัทมีกําไรมากขึ้น หุ้นที่ฟื้นตัวด้วยสาเหตุนี้ ไม่ใช่การฟื้นที่ถาวร อาจจะเกิดเพียง1-2ไตรมาส จึงไม่ควรเอากําไรในช่วงพิเศษนี้เป็นบรรทัดฐาน ถ้าจะซื้อหุ้นฟื้นตัวจากสาเหตุนี้ มีเพียงสาเหตุเดียวคือ เพื่อเก็งกําไรรายไตรมาส

5.2หุ้นฟื้นตัวจากการรูปแบบการบันทึกบัญชี
เป็นเพราะมาตรฐานบัญชีในฉบับปัจจุบัน ให้มีการปรับราคาสินค้าคงคลังให้เป็นราคาปัจจุบัน ทําให้ถ้าราคาสินค้าตกตํ่าในปีที่ผ่านมาถูกปรับเป็นสินค้าต้นทุนตํ่าไปแล้ว ปีนี้ราคาสินค้าขยับสูงขึ้น มีการขายสินค้าออกไปได้ในราคาใหม่ กําไรที่บันทึกก็มากกว่าปรกติ ถ้าเราเจอหุ้นประเภทนี้ก็ต้องคํานวณสินค้าคงคลังให้ดีๆด้วยนะครับ อย่าคิดว่านั่นคือกําไร(ขาดทุน)ปรกติ

-รูปแบบบัญชีที่มีการตั้งสํารองไว้มากกว่าปรกติ ในรูปแบบบัญชี บริษัทสามารถตั้งสํารองค่าเผื่อต่างๆและนําไปตัดเป็นค่าใช้จ่ายในไตรมาสนั้นๆได้ ถ้าเราพบเห็นบริษัทที่มีการตั้งสํารองลูกหนี้/สินค้าคงคลังหรือค่าเผื่อด้อยค่าของทรัพย์สินมากผิดปรกติในงบ….ในอนาคตทรัพย์สินที่ตั้งไปนี้มีโอกาสยกคืนกลับมาบัญทึกเป็นกําไรได้ หน้าที่เราคือต้องดูให้ออกว่า กําไรที่โชว์อยู่นั้นมากกว่าหรือน้อยกว่าความเป็นจริง ถ้าบริษัทไหนมีการเก็บซ่อนกําไรไว้มากๆ ทําให้กําไรปัจจุบันดูตํ่าเกินความเป็นจริง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อราคาหุ้นที่ตํ่าเกินความเป็นจริง จุดนั้นเราควรติดตามและหาจังหวะในการซื้อลงทุน เพราะถ้าบริษัทไม่สํารองต่อหรือมีการยกสํารองกลับ ก็ทําให้กําไรกลับคืนสู่สภาวะปรกติ หรือมากกว่าปรกติในช่วงแรกๆ

-รูปแบบมาตรฐานบัญชีใหม่ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆทําให้บางครั้งเกิดการปรับล้างไพ่ในรูปแบบบัญชีทีเดียว เช่นมาตรฐานในเรื่องสินทรัพย์เพื่อเช่าของห้างค้าปลีก ถ้าจะกล่าวในเรื่องนี้ก็จะยาวเกินไปขอแนะนําให้ผู้ที่สนใจเข้าไปอ่านในรายละเอียดในห้องSF CPN ในร้อยคนร้อยหุ้น //www.thaivi.org นะครับ

5.3หุ้นฟื้นตัวจากการบริหารจัดการได้ดีขึ้น บางบริษัทตกตํ่าเพราะการบริหารจัดการภายในองค์กรไม่ดีพอ หรือการสื่อสารกับลูกค้าไม่ตรงตามความต้องการ ทําให้ผลประกอบการในงบการเงินดูไม่ค่อยจะดีสักเท่าไหร่ แต่ถ้าบริษัทเหล่านั้นสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ อุดรูรั่ว บริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น งบการเงินก็จะฟื้นสวยตามลําดับ ถ้าเราเจอบริษัทประเภทนี้ในช่วงฟื้นตัว ผลตอบแทนที่ได้จะมากพอสมควร เนื่องจากความคาดหวังของหุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างตํ่า ราคาจึงมักซื้อขายแบบแบกับดิน แต่พอนายตลาดรับรู้ผลประกอบที่ดีขึ้นตามลําดับ ของแบกับดินอาจจะนํามาขึ้นห้างได้อีกครั้งครับ

5.4หุ้นฟื้นตัวจากอุตสาหกรรม บางครั้งข้อสามกับข้อสี่นี้จะมาพร้อมๆกัน เราต้องแยกให้ออกว่าหุ้นที่ฟื้นจากข้อสี่นี้ ข้อสามเขาได้เปลี่ยนแปลงได้ด้วยหรือเปล่า เพราะไม่อย่างนั้น เวลาขาลงขออุตสาหกรรมอีกรอบ บริษัทอาจจะหันกลับไปตกเหวอีกครั้งก็เป็นได้ การฟื้นตัวในกลุ่มนี้เท่าที่สังเกตเห็น จะมาเป็นรอบๆคล้ายๆหุ้นกลุ่มวัฎจักร แต่ไม่ใช่เพราะสิ่งที่เขาขายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะงานขายจะมีความซับซ้อนในซัพพลายเชนมากกว่า หุ้นกลุ่มนี้อาจจะมีสัดส่วนหนึ่งในสามของตลาดไทย สังเกตง่ายๆเขาจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจรับจ้างผลิตและรับจ้างประกอบ ซึ่งมีอํานาจการต่อรองกับคู่ค้าได้น้อย ทําให้หลายๆครั้งรายได้/กําไร ค่อนข้างเหวี่ยงไปตามทิศทางของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจครับ

ส่วนเทคนิคการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ที่ผมใช้คือ ติดตาม ดมกลิ่น ไปเรื่อยๆ จนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากรายได้/กําไร ของกิจการ ดูความพร้อมในการฟื้นตัวของเขา(โดยเฉพาะเรื่องเงิน) มองหาสาเหตุการฟื้นตัวให้เจอ แล้วทําการวิเคราะห์เหตุนั้นๆว่าจะส่งผลต่อพื้นฐานระยะยาวมากน้อยเพียงใด เพื่อทําการประเมินมูลค่าใหม่อีกครั้ง แต่ถ้ายังไม่เจอจุดกลับตัวของธุรกิจกลุ่มนี้….จงอย่าซื้อ ให้ซื้อเมื่อเจอจุดกลับตัวแล้วเท่านั้น และทะยอยซื้อตามข้อมูลใหม่ที่เราได้รับมา มั่นใจน้อย ความเสี่ยงมาก ก็ซื้อน้อย ถ้า เรามั่นใจมากขึ้น เพราะความเสี่ยงน้อยลง เราก็ซื้อมากขึ้น ส่วนจุดที่ควรขาย คือ เมื่อปัญหาคลี่คลาย รายได้/กําไร ฟื้นตัว จนนายตลาดรับรู้แล้ว…..แต่…..บางครั้ง ถ้าเราโชคดี เจอหุ้นฟื้นตัวที่มีการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ และเขามีความพร้อม สามารถกลับกลายเป็นหุ้นเติบโตในอนาคต……ผมว่าให้เก็บหุ้นใส่เซฟไว้เลยครับ อย่ารีบขายเมื่อตลาดรับรู้เรื่องฟื้นตัว เพราะตลาดอาจจะยังมองไม่เห็นศักยภาพที่แท้จริงของเขา ที่เขาสามารถจะเติบโตในอนาคต

-Catalystในหุ้นกลุ่มนี้คือ การฟื้นตัวของธุรกิจ
-Riskในหุ้นกลุ่มนี้คือ การฟื้นตัวที่ไม่จีรังเป็นการฟื้นตัวชั่วครั้งชั่วคราว

6.กลุ่มทรัพย์สินมาก(Asset plays) กลุ่มนี้ชื่อค่อนข้างชัดเจน และการวิเคราะห์ใช้เพียงปัจจัยเชิงปริมาณ(งบการเงิน)เพียงอย่างเดียว วิธีง่ายๆของหุ้นกลุ่มนี้คือ จงมองหาหุ้นPBVตํ่าๆ และไปขายเมื่อนายตลาดเริ่มมาสนใจมัน หรือที่เจอบ่อยๆในตลาดเราก็เรื่องทรัพย์สินแฝง คือทรัพย์สินแฝงที่อยู่ในรูปที่ดินเปล่า ที่ถูกบันทึกราคาทุนไว้เมื่อยี่สิบ สามสิบปีที่แล้ว ถ้ามีการขายที่ดินนั้นออกไป บางครั้งกําไรจากการขายที่ดิน มีมูลค่ามากกว่ามาร์เก็ตแคปของตลาดเสียอีก ข้อเสียของหุ้นกลุ่มนี้คือ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ทรัพย์สินแฝงนั้นจะถูกปลดล๊อคเมื่อไหร่ 1ปี 3ปี 5ปี หรือ10ปี ซึ่งยิ่งนานวัน ยิ่งทําให้ผลตอบแทนที่เราได้มานั้นลดน้อยลงไป
-Catalystสําหรับหุ้นกลุ่มนี้คือ มีเบาะนิ่มๆไว้รองรับ ไม่ให้หุ้นเราตกจากที่สูง และถ้าเขาปลดล๊อคเมื่อไหร่ เราก็ได้ขึ้นลิฟต์ไปกับเขาด้วย
-Riskในกลุ่มนี้คือ เราไม่สามารถไปทําอะไรกับผู้บริหารได้ ถ้าเขาไม่คายทรัพย์สินนั้นออกมา เราก็จะถูกขังอยู่ในลิฟท์ที่ไม่ลงแต่ไม่ขึ้น

7 ๘ และ เก้า

หุ้นสามกลุ่มพิเศษที่ผมตั้งขึ้นมาประกอบการพิจารณาส่วนตัว ประกอบด้วย
หุ้นการเมือง/หุ้นปั่นแปะ และ หุ้นกลุ่มพิเศษ

เราต้องยอมรับอยู่อย่างว่า วัฒนธรรมที่ไม่ดีอย่างหนึ่งในประเทศเราคือเรื่อง คอรัปชั่น และ การมีสิทธิพิเศษ ของนักการเมือง ทําให้หุ้นบางตัวในตลาดของเรา ที่เป็นหุ้นพื้นฐาน มี ขอบเขตคูเมืองที่ชัดเจน แต่กลับกลายไม่เป็นที่นิยมชมชอบของนักลงทุน เพราะอาจจะเนื่องด้วยโครงสร้างที่ต้องพึ่งพิงสัญญา หรือ สัมปทานจากภาครัฐ ทําให้มักจะมีมือที่มองไม่เห็นส่งบางท่านมาเป็นกรรมการ หรือ มักจะมีใครที่ท่านรู้ๆกันอยู่ แต่ห้ามเอ่ยนาม มาเป็นคนคอยบงการที่สามารถชี้เป็นชี้ตายให้กับสัญญาสัมปทาน หรือ ถ้าพูดถึงบริษัทนี้ เราจะนึกเห็นหน้านักการเมืองคนนั้นๆลอยเด่นเป็นสง่าเหมือนเทพเจ้าคุ้มครองบริษัทนั้นเลยทีเดียว ถ้าบริษัทใดในตลาด มีความสัมพันธ์อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วข้างต้น ผมจะแยกกลุ่มนี้ออกมาเป็นกลุ่มหุ้นการเมือง ที่มีความเสี่ยงที่เราอาจจะมองไม่เห็นในปัจจุบัน….(แต่อนาคตอาจจะสามารถทําให้บ.นี้เจ๊งได้….ฮา.)……..ยังไงถ้าเจอะเจอหุ้นประเภทนี้ ผมว่าคิดเผื่อความเสี่ยงและทางหนีทีไล่ไว้ด้วยก็ดีนะครับ

หุ้นกลุ่มต่อไปที่ผมแนะให้หลีกเลี่ยงคือ หุ้นปั่นแปะ ตลาดบ้านเรามีทั้งขาประจําที่ดูแลราคาหุ้น หรือ การประคองราคาให้อยู่ในกรอปที่ต้องการ หุ้นประเภทนี้ผมถือว่าไม่เข้าข่ายหุ้นปั่น หุ้นที่เข้าข่ายหุ้นปั่นแปะในสายตาผมคือ
-เป็นหุ้นที่มีการขายสตอรี่ พื้นฐานในอนาคต ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี
-เป็นหุ้นที่เจ้ามือ และ เจ้าของกิจการ เป็นคนๆเดียวกัน หรือ ถ้าเป็นคนละคนก็เป็นเพื่อนสนิทประเภทร่วมธุรกิจนอกตลาดประเภทนี้กันมาหลายรอบแล้ว

โอกาสที่นักลงทุนแนวVIจะพลาด ก็อาจจะพลาดตรงเรามองเห็นว่าเขามีโอกาสเป็นหุ้นฟื้นตัว หรือ หุ้นทรัพย์สินมากที่มีโอกาสจะปลดล๊อคทรัพย์สินก้อนนี้ หรือผู้บริหารพยายามขายฝันว่าจะกลายเป็นหุ้นเติบโตที่ดีในอนาคต………..ประเด็นตรงนี้ ผมมองว่า ถ้าเราไม่โลภจนเกินไป มองตามความเป็นจริง รอให้ธุรกิจเขาเคลียร์สักพักหนึ่งก่อนค่อยเข้าไปลงทุนก็ยังไม่สายครับ

หุ้นกลุ่มพิเศษในความหมายผม หมายถึงหุ้นที่มีความอ่อนไหวเฉพาะเรื่องราวในช่วงนั้นๆ หุ้นกลุ่มนี้เอาไว้ติดตามดมกลิ่นทั้งในแง่บวกและลบ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่มีกีฬาสีของนักการเมือง หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม จะเข้าข่ายกลุ่มนี้ และผมจะประเมินPEปรกติที่ตํ่าลง หรือ ช่วงที่มีข่าวเรื่อง3Gมาเป็นระยะๆ ช่วงที่มีการประมูลรถไฟฟ้าสายต่างๆ ช่วงที่จะมีการประมูลโรงไฟฟ้าspp ข่าวประเภทนี้จะมีผลผลักดันราคาหุ้นในบางตัวให้มีราคาสูงขึ้น เป็นต้น หุ้นในกลุ่มนี้ผมจะไว้ในลิสท์เพื่อจะที่บางครั้งอาจจะหาค่าขนมในยามว่าง….เท่านั้นนะครับ แต่อย่าคิดเชียวนะครับว่า….จะเอาหุ้นกลุ่มนี้เป็นอาหารจานหลัก….เพราะท่านอาจจะเหลือเงิน ได้กินแต่ของหวานก็ได้ครับ ฮา.

เกาะที่สาม การประเมินมูลค่าของกิจการ

การประเมินมูลค่าของกิจการนั้น ผมจะใช้อยู่สองแนวทางในการวิเคราะห์ คือการวิเคราะห์ปัจจัยเชิงคุณภาพ และ การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงปริมาณ

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ผมได้นึกไปถึงคําๆหนึ่งที่ไอส์ไตล์เคยได้กล่าวไว้ว่า “จินตนาการสําคัญกว่าความรู้” ผมลองมานึกถึงความเป็นจริงของผมในการเลือกลงทุนก็เช่นเดียวกัน ปัจจัยเชิงคุณภาพเปรียบเสมือนสิ่งที่ต้องจินตนาการภาพในใจของบริษัทที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตัวอย่างกูรูในเรื่องนี้ที่เห็นชัดๆคือ อาจารย์ของผม ท่าน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เมื่อหลายปีก่อน ผมได้ยินท่านพูดว่าท่านไม่ค่อยได้แกะงบการเงินสักเท่าไหร่ มองแต่ภาพใหญ่ๆให้ชัดเจนก็เพียงพอแล้ว

และอีกหลายปีก่อนหน้านี้เช่นเดียวกัน ในช่วงผมเริ่มลงทุนใหม่ๆ ผมอยู่ต่างจังหวัด ผมมองว่าผมเสียเปรียบคนกรุงเทพในด้านข้อมูลข่าวสาร ไม่มีข้อมูล
ภายใน ไม่มีการเยี่ยมชมผู้บริหาร และคิดว่างบการเงินเป็นสิ่งที่ประกาศพร้อมกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ จึงพยายามเรียนรู้ในเรื่องงบการเงินให้มากที่สุด แต่ที่ไหนได้ อาจารย์ฯของผมซึ่งอยู่ใกล้แหล่งข่าว กลับทําตัวออกจากข้อมูลข่าวสารภายใน มองข้ามงบรายไตรมาส และไม่ต้องมานั่งแกะงบให้มากความ ผมได้ยิน ผมก็เป็นงงสิครับ……จึงกลับมาทบทวนความคิดและทําความเข้าใจในสิ่งที่ท่านได้บอกไว้ และสรุปได้ว่าที่ท่านพูดอย่างนั้นเพราะท่านเน้นดูปัจจัยคุณภาพมากกว่าปัจจัยเชิงปริมาณ และที่สําคัญ ท่านจะลงทุนในกิจการที่มีภาพในใจของธุรกิจค่อนข้างชัดเจน ส่วนธุรกิจที่ท่านอ่านไม่ขาด ท่านจะยังไม่ลงทุน

ผมจึงสรุปเป็นแนวทางของตนเองว่า การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงคุณภาพเป็นสิ่งที่จําเป็นสําหรับการลงทุนแนววีไอ เพราะคุณภาพของกิจการจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งและความสามารถในการทํากําไรในอนาคตให้แก่เรา ส่วนปัจจัยเชิงปริมาณ(งบการเงิน)เป็นสิ่งที่ผมไว้ดูสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตว่าบริษัทนี้มีประวัติอย่างไร และไว้คอยตรวจสอบเช็คผลประกอบการในแต่ละไตรมาสว่าตรงอย่างที่เราจินตนาการหรือประเมินไว้หรือไม่ ส่วนท่านใดสามารถวิเคราะห์ปัจจัยเชิงคุณภาพได้เฉียบขาดอย่าง ดร.นิเวศน์แล้ว ท่านก็ไม่จําเป็นจะต้องไปนั่งแกะงบให้เมื่อยก้นว่ามีสัญญาณไม่ดีอะไรเกิดขึ้นกับตัวบริษัทหรือเปล่า ผมจึงสรุปในเรื่องการลงทุนว่า “จินตนาการสําคัญกว่าความรู้” อย่างไอส์ไตล์กล่าวเหมือนกัน แต่ถ้าใครยังจินตนาการไม่ถึง ก็อย่ามักง่ายนะครับ เรามีอาวุธสองอย่างก็ดีกว่าอย่างเดียว ควรใช้อาวุธให้ครบเครื่อง ไม่ควรทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปนะครับ

(มีต่อ)

ผมเคยเขียนบทความเรื่อง “ภาพใหญ่” ให้กับวารสารฉบับหนึ่ง ขอเอามาลงให้ท่านทั้งหลายได้อ่านอีกมุมหนึ่งของความคิดในเรื่องนี้นะครับ

-ทําไมกูรูVI อย่าง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จึงบอกว่าไม่ต้องแกะงบมาก มองภาพใหญ่ๆเป็นพอ? อาจารย์นิเวศน์ ท่านเคยกล่าวไว้ว่า ในการคัดสรรหุ้น นักลงทุนต้องมอง “ภาพใหญ่ ” น่าคิดนะครับ!!!!!!!!! ผมว่าที่ท่านกล่าวคําว่า “ภาพใหญ่” นั้น ไม่น่าจะหมายถึง macro economic หรือ ภาพรวมทางเศรษฐกิจ
แต่น่าจะหมายถึง “ภาพใหญ่” ในส่วนของ micro economics หรือคือ “ภาพใหญ่” โดยรวมของ “หุ้น” มากกว่าครับ ถ้าผมต้องการที่จะเข้าใจ “หุ้น” ตัวใดตัวหนึ่งอย่างถี่ถ้วนแล้ว ผมมักจะมองดูหุ้นตัวนั้นจากมุมต่างๆ กัน พิจารณาดูทั้งด้านบน ด้านล่าง และด้านข้าง พลิกหาจุดกําเนิดของแต่ละส่วนอย่างถี่ถ้วน ……. มุมที่ว่ามีอะไรบ้าง ต้องมองอย่างไร ถึงจะค้นคว้าหา “ภาพใหญ่” ที่ว่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมขออนุญาตมอง “ภาพใหญ่” ออกเป็นทั้งหมด 3 ส่วน เผื่อที่จะมองแง่มุมได้ต่างๆ กัน มีลักษณะดังต่อไปนี้ครับ
มุมที่หนึ่ง ภาพใหญ่ในเรื่องของความต้องการของตนเอง โดยที่ผมจะ “ถาม” ความต้องการของตนเองให้ได้ก่อน…เช่น
หนึ่ง “ผมต้องการผลตอบแทนในการลงทุนเท่าไหร่?” สอง “ในระยะเวลานานเท่าใด? ” สาม “ ยอมขาดทุนจากเงินลงทุนได้มากขนาดไหน? ” การตั้งคําถามเหล่านี้ ก็เพื่อทําให้ผมสามารถกําหนด “ภาพใหญ่” ในเรื่องความต้องการของตนเอง กําหนดชนิดของปลาที่ต้องการ และกําหนดแหล่งที่จะไปตกปลาตัวนั้น เช่น ถ้าผมต้องการผลตอบแทนไม่สูงมาก ขอส่วนต่างราคาหุ้นรวมปันผลซักประมาณ 10% ต่อปี และต้องการถือระยะยาวซัก 20 ปี ช่วงแรกไม่เน้นเงินปันผล แต่เน้นความปลอดภัยมากๆหน่อย ผมก็เลือกหุ้นที่มี brand name แข็งแกร่ง เป็นผู้นําในตลาด มีประวัติที่ผ่านมาดีชัดเจน trend ผู้บริโภคระยะยาวน่าจะโตกว่า GDP เพราะฉะนั้นถ้าตั้งโจทย์ไว้อย่างนี้แล้ว ผมก็จะเลือกได้ง่ายขึ้น ยอมที่จะเลือกหุ้นที่มี margin of safety น้อยหน่อยก็ไม่เป็นไร เพราะต้องการแลกความเสี่ยงกับราคาที่ซื้อแพงขึ้น เปรียบเสมือนเรายอมไปตกปลาในบ่อที่เขาเตรียมปลาไว้ให้แล้ว เพื่อที่ชัวร์ๆว่ายังไงปลาก็กินเบ็ดของเรา (แต่ต้องเสียค่าตกปลาหน่อยบ้าง เพื่อแลกกับความเสี่ยงที่ลดลง) หุ้นประเภทนี้ เช่น TF SCC PB CPALL SAUCE BGH BHเป็นต้น ส่วนใครที่ต้องการได้ผลตอบแทนสูงๆ คงจะไปเสียเงินตกในบ่อไม่ได้ ก็คงต้องไปหาปลาในแหล่งที่คนอื่นยังไม่ไปหา อย่างที่สมาชิกท่านหนึ่งในเว็บ Thaivi.org ที่ใช้ล๊อกอินว่าคุณ “ลูกอีสาน” กล่าวไว้ว่า “ จงไปหาปลาในที่ๆ มันมีปลา” ถ้าเราอยากได้ผลตอบแทนสูงๆสัก 50% ต่อปี เราก็ควรต้องมีความกล้าที่จะไปค้นหาในที่ๆคนอื่นยังไม่ไป และบางครั้งต้องเข้าถํ้าเสือ จึงจะได้ลูกเสือ ก็แน่นอนว่าความเสี่ยงก็ต้องมากกว่าหุ้นพื้นฐานมากอยู่มากโข แต่เราก็สามารถที่จะลดความเสี่ยงให้ตํ่าลงได้โดยการทําความเข้าใจกับหุ้นตัวนั้นให้มากที่สุด ในเมื่อความไม่รู้ในหุ้นตัวนั้นๆ ลดลง ความเสี่ยงก็ลดลงด้วยเช่นกัน ที่สําคัญ
“อย่าหลอกตัวเองว่ารู้” และ “ อย่าโลภเกินความรู้” มุมที่สอง ภาพใหญ่ในเรื่องของตัวหุ้น หลังจากที่ผมได้ทําความรู้จักกับตนเอง และสามารถหาคําตอบทั้ง “สามคําถาม” จากมุมที่หนึ่งได้แล้ว ต่อไป เรื่องที่จะผมจะหาหุ้นในแบบที่ผมต้องการก็จะ
เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเราตั้งเป้าไว้ว่าต้องการผลตอบแทนสัก 50% ต่อปี และโดยสมมุต ส่วนตัวคุณ เป็นคนที่มีความขยันในการหาข้อมูล มีนิสัยที่ติดตามติดข่าวสารตลอด สามารถซื้อและขายหุ้นได้เร็ว(คนที่พอร์ตเล็กสามารถลงทุนในหุ้นตัวเล็กๆได้ง่ายและซื้อขายได้ง่ายกว่าคนพอร์ตใหญ่) และ ไม่มีเหตุจําเป็นที่ต้องถือยาวหลายๆปี อีกทั้งยังสามารถแบกรับความเสี่ยงของเงินลงทุนทั้งหมดที่ลงไป ถ้ามีปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เป็นลักษณะแบบนี้ เขาคนนั้นคงมองไปหาหุ้นที่ร้อนแรงกว่าหุ้นพื้นฐานที่ “โตช้า” ครับ และ “ภาพใหญ่” ที่เราควรจะมองตามมาจากข้อแรก คือ ประเภทหุ้นที่สามารถให้ผลตอบแทนได้มากๆ อย่างหุ้นประเภท supergrowth หุ้น turnaround หุ้นวัฏจักร หรือหุ้น asset play ที่รอการปลดปล่อยและเปลี่ยนแปลงทรัพย์สิน รวมไปถึงวอร์แรนบางตัวที่คิดว่ามี upside มากพอควร หลังจากนั้น เราค่อยมามอง”ภาพใหญ่” หุ้นตัวนั้นๆอีกที ”ภาพใหญ่” ของหุ้นโตเร็ว คืออะไร? คําตอบคือ “การเติบโตของผลกําไร” ครับ ถ้าเป็นหุ้นลักษณะนี้ เราต้องเน้นโฟกัสของเราส่วนมากไปที่ความน่าจะเป็นทั้งแง่บวกและแง่ลบไปที่ “ผลกําไร” ของบริษัทจะหาได้ในอนาคตนั่นเอง และถ้าเป็นหุ้นในกลุ่ม turnaround ละครับ เราต้องโฟกัสไปที่อะไรบ้าง? สิ่งที่ต้องดูในกลุ่มนี้ คือ “จุดกลับตัว” ของธุรกิจครับ เราต้องตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่าในอดีตที่ผ่านมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบริษัทเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวที่ทําให้รายได้และกําไรลดลงในปีที่ผ่านมาหรือไม่ หุ้นลักษณะนี้อาจจะเจอมรสุมบางอย่างในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น อาจจะเป็นเรื่องของราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากและทางบริษัทปรับราคาขายไม่ทัน เป็นต้น แต่ราคาหุ้นได้ปรับตัวลงมารองรับข่าวร้ายไปหมดแล้ว พอธุรกิจฟื้น ผลประกอบการฟื้น ราคาหุ้นก็จะฟื้นเช่นกัน
เมื่อผมได้ภาพใหญ่ชัดเจนแล้ว เราค่อยไปมองภาพย่อยเจาะทําความรู้จักส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นๆ ครับ มุมที่สาม ภาพใหญ่ในจังหวะการลงทุน ได้คําตอบจาก มุมที่ 1 และ มุมที่ 2 แล้วใช่ไหมครับ มีสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมอีกนิดครับ ทั้งสองมุมจะมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกันอยู่หนึ่งอย่าง สิ่งนั้นคือ
“ระยะเวลา” ครับ หมายถึงระยะเวลาในการครอบครองหุ้นและจังหวะในการซื้อ-ขายหุ้น (time & timing) ตัวอย่างเช่น นักลงทุนบางท่านที่มีพอร์ตที่ใหญ่มูลค่าเป็นหลายร้อนล้าน ทําให้ต้องมองหาหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปสูงๆในการลงทุน ท่านเป็นคนไม่ชอบอะไรที่เสี่ยง มีอิสระภาพทางการเงินแล้ว ต้องการผลตอบแทนระดับ 10-15% ต่อปี ก็เพียงพอ และต้องการลงทุนในหุ้นแต่ละตัวในระยะ5ปีขึ้นไป ทําให้ต้องมอง “ภาพใหญ่”เป็นแบบระยะยาวของ trend อุตสาหกรรมนั้นๆ ว่ามี “กําแพง” และ”คูเมือง”ป้องกันคู่แข่งในระยะยาวเกิน 5 ปีหรือเปล่า? (เท่ากับระยะเวลาที่ท่านต้องการลงทุน) โดยมองข้ามปัจจัยที่มีผลกระทบในแง่ลบในระยะสั้นๆ (หรือนั่นคือจังหวะในการซื้อของท่านมากกว่า) ท่านมองข้ามภาพเล็กๆในองค์ประกอบที่ไม่ค่อยมีนัยสําคัญเมื่อเทียบกับทิศทางแนวโน้มของธุรกิจในระยะยาว ส่วนบางคนที่พอร์ตเล็กและอาจมีความต้องการผลกําไรมากกว่านั้น จึงต้องไปมองหาหุ้นขนาดเล็กและขนาดกลางที่สามารถเติบโตได้รวดเร็วในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า ซึ่งก็ต้องมอง “ภาพใหญ่” ของผลกําไรแค่ในระยะกลางๆ 1-3 ปีเท่า ๆ กับระยะเวลาที่เราต้องการลงทุน อีกกรณีหนึ่ง สมมุติว่าถ้าเรารู้ว่าปีหน้ามีบริษัทหนึ่งกําไรของบริษัทจะ turnaround กําไรจะโตกว่า 5 เท่าจากปีที่ผ่านมา pe ปีหน้าอาจเหลือเพียง 2 เท่ากว่าในราคาปัจจุบัน (สมมุติว่าเป็นจุดเริ่มต้นขาขึ้นของหุ้นวัฎจักร) อย่างน้อยๆ เราคงไม่มองไปในอนาคตอีก 5 ปีว่าบริษัทจะเป็นอย่างไร หรือคงไม่ต้องไปหารายละเอียดข้อด้อยปลีกย่อยของหุ้นตัวนั้น เหมือนกับที่ประธานของ Thaivi.org พี่หมอบํารุง “สามัญชน” ท่านเคยปรารถไว้ว่า “ช้างก็บินได้สําหรับขาขึ้นของหุ้นวัฏจักร” ผมคงมองในระยะสั้นๆ ถึงแค่ปีหน้าให้ชัวร์ๆไว้ก่อน เพราะถ้าเป็นจริง ปีหน้านี้เราคงได้กําไรจากส่วนต่างราคาหุ้นตัวนี้เป็นแน่แท้ แล้วค่อยมาหาจุดขายอีกครั้งหนึ่ง แต่ปัญหาที่สําคัญที่สุดอยู่ที่ว่า เรามีความสามารถในการมอง “ภาพใหญ่” ในระยะต่างๆได้ตรงและชัดเจนเพียงใด เพราะถ้ายิ่งสั้น โอกาสกลับตัวยิ่งน้อย โอกาสขาดทุนมีสูงกว่า ส่วนคนที่มอง “ภาพใหญ่” ในระยะยาวอย่างเช่น อาจารย์นิเวศน์ เหมวชิรวรากร โอกาสขาดทุนก็แทบจะเป็นศูนย์ เนื่องจากภาพใหญ่ทั้งสามส่วนของท่านชัดเจนมาก
(ชัดเจนแม้นกระทั่งคนภายนอกยังมองเห็น)
และที่สําคัญที่สุดอาจารย์ฯ สามารถมองหา “ภาพใหญ่” ในระยะยาว ณ ตอนที่ราคาหุ้นยังไม่แพง ต้องถือว่าอาจารย์เสมือนถูกหวยได้เป็นระยะเวลานานเป็น 10 ปี ติดต่อกันทีเดียว โดยไม่ต้องไปเสียเวลาหาหุ้นตัวใหม่อีกเลย




 

Create Date : 08 กันยายน 2556   
Last Update : 8 กันยายน 2556 21:06:18 น.   
Counter : 464 Pageviews.  


มหากาพย์ ไตรภาค / โดย นาย นริศ จิระวงศ์ประภา (ตอน2)

มหากาพย์ ไตรภาค

โดย นาย นริศ จิระวงศ์ประภา

มหากาพย์ไตรภาค

(ต่อ)

อีกเรื่องสําหรับความกลัว ผมเห็นคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีความไว้วางใจในตัวหุ้น 100 เปอร์เซนต์ หรือเขาเป็นคนระแวดระวังโดยนิสัย ชอบกระจายความเสี่ยงในการลงทุน คนกลุ่มนี้ผมแนะนําให้ท่าน ยึดหลักการความสบายใจในการลงทุน ให้จินตนาการ
ก่อนที่จะลงทุนในหุ้นตัวนั้นๆว่า เราถือไม่เกินเท่าไหร่จึงจะไม่เครียด และ ถ้าหุ้นตัวนี้ราคาซื้อขายลดลงไปในระดับครึ่งหนึ่งของที่เราซื้อ เราจะทําอะไรไหม ถ้าคิดว่าทนไม่ได้ ก็จงลดสัดส่วนการลงทุนหุ้นตัวนั้นในสัดส่วนที่ถือแล้วจะสบายใจ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาเป็นแรงบีบเค้น ให้เครียด และกลัว จนกระทั่งต้องจนมุม ขายหุ้นตัวนั้นออกไป ทั้งๆที่ ณ ราคาหุ้นในขณะนั้น ต้องใช้กลยุทธ์ ถือหรือซื้อเพิ่ม เท่านั้น

“ความโลภ”
ผมยึดหลักคําสอนคําหนึ่งของเฮียคลายเครียด ตั้งแต่สมัยเล่นหุ้นใหม่ๆมาถึงปัจจุบันนี้ เฮียท่านสั่งสอนไว้ว่า “อย่าโลภเกินความรู้” เฮียเขาสอนไม่ให้ประมาทในการลงทุน แต่ก็ไม่ได้ปฎิเสทให้เราไม่โลภ เฮียเขาไม่ได้ห้ามให้เราโลภ เพราะใครทําธุรกิจ ก็ต้องหวังผลที่กําไร เป็นเรื่องปรกติ เวลาที่เราลงทุนซื้อหุ้น เราก็หวังผลอยากได้ที่มันกําไรสูงๆ เป็นเรื่องธรรมดา ความโลภคล้ายๆกับคันเร่งรถยนต์ อยากถึงที่หมายเร็วก็เร่งให้เร็วขึ้น แต่โอกาสที่จะไปจูบบั้นท้ายคนอื่น หรือซวยๆหน่อย ขับลงข้างทาง ทําให้ไม่มีโอกาสถึงที่หมายเลยก็มี สิ่งยึดเหนี่ยวที่เป็นเบรกไม่ให้เราขับลงข้างทาง หรือ ถูกความโลภครอบงําจนกลายเป็นความหลง นั่นคือ “ปัญญา”

เราลองนึกถึงกระดานหกที่เด็กๆเล่นกัน ถ้าผมเอาความโลภอยู่ฝั่งหนึ่งของกระดานหก ผมก็จะเอาปัญญาหรือความรอบรู้ในหุ้นตัวนั้นๆมาไว้อีกฝั่งของกระดานให้สมดุลย์กัน ถ้าผมรอบรู้ในตัวนั้นน้อยก็ซื้อน้อยตามความรอบรู้ แต่ถ้าผมรู้มาก น่าจะตีแตกได้ ก็อาจจะทุ่มหมดหน้าตักได้ แต่……เราต้องรอบคอบ กันไม่ให้กิเลสอีกตัวมาตีหัวเราทีหลัง ต้องไม่ลืมหันไปถามพี่ๆทั้งสองก่อนนะครับ ให้ถามพี่ความกลัวว่า ถ้าผมซื้อแล้ว ราคาหุ้นมันลงไปครึ่ง พี่จะบังคับให้ผมขายหรือเปล่า และหันไปถามพี่ความหลงว่า…..ข้อมูลที่เรามี เราคิดไปนั้น เราหลอกตัวเองว่า “รู้” หรือเปล่า ถ้าพี่ๆทั้งสองเคลียร์ก็โอเคครับ…..ลุยโลด

“ความหลง”
ส่วนตัวผมคิดว่า ความหลงนี่เป็นกิเลสที่ร้ายกาจที่สุดในบรรดากิเลสทั้งสาม เพราะคนโดยทั่วไป หลังจากตั้งสติได้แล้ว ก็พอจะมองเห็นความกลัวและความโลภของตนเองในอดีต แต่ความหลงมันซับซ้อนและละเอียดกว่า ถ้าเรายังไม่มีปัญญา โอกาสที่เราจะเห็นก็แทบไม่มี เพราะ… “เราก็คิดของเราเองว่า เราคิดถูก คุณนั่นแหล่ะคิดผิด” ความหลงในการลงทุนผมแบ่งเป็นสองระดับดังนี้

ระดับแรก หลงเพราะไม่รู้จริงๆ มองไม่ออกจริงๆ ไอ้หลงแบบนี้ผมว่าแก้ไม่ยาก วิธีแก้ ก็เริ่มจาก เราต้องมีแผนที่ในใจและเข็มทิศที่ชี้ทางให้ถูกต้องเสียก่อน อย่างที่ผมได้เกริ่นแนวคิดทั้งหลาย ก็เพื่อจะให้เรามีแผนที่และเข็มทิศที่ชี้ทางอย่างถูกต้อง และถ้าเราเดินตามทางของท่านทั้งหลายที่ประสบความสําเร็จ โอกาสที่เราจะหลงก็คงแทบไม่มีทีเดียว

อย่างที่สอง หลงเพราะมีแนวคิดของตนเองอย่างเต็มเหนี่ยว(แต่เป็นแนวคิดที่ผิดทาง….คนที่คิดถูกทางไม่เกี่ยวนะครับ) ไอ้อย่างนี้แก้ยากครับ ต้องให้เขาวางแผนที่ ที่เขาถือไว้ในมือก่อน เขาถึงจะไปหยิบแผนที่ชิ้นใหม่มาได้ คนกลุ่มนี้ที่ผ่านมาเขาอาจจะประสบความสําเร็จ ในชีวิตด้านใดด้านหนึ่งมา ทําให้เขาค่อนข้างมั่นใจในแนวคิดของตนเอง ถ้าใครมีนิสัยเป็นผู้นํา มั่นใจในตนเองสูง ก็แสดงว่าท่านจะเข้าข่าย หลงตัวเองเช่นผม ฮา.

พระอาจารย์ผม มีวิธีแก้ความหลงข้อนี้ให้หายขาดคือ ต้องฆ่าทิฐิในตัวเราเองเสียก่อน โดยการยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นให้มากๆ และแสร้งโง่บ่อยๆ นําสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง นํามาคิดไตร่ตรองจนเกิดปัญญา มันก็จะช่วยลดมิจฉาทิฐิที่เรามีให้น้อยลง ความหลงก็จะหายไปครับ

บทเรียนแนวคิดที่สี่ รู้เรารู้เขา รบร้อยบ่พ่าย

กลยุทธ์ซุนวูในข้อนี้ ทุกๆท่านคงเคยได้ยินผ่านหูมากันมาแล้วทั้งนั้น โดยส่วนตัวผม ผมว่ากลยุทธ์นี้ค่อนข้างจะเรียบง่ายและชัดเจน วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังในมุมมองของการลงทุนนะครับ

กลยุทธ์ในข้อนี้ ได้กล่าวไว้ว่า การรู้เรา และ การรู้เขา องค์ประกอบสองข้อนี้จะทําให้เราสามารถประสบความสําเร็จในสิ่งที่เราต้องการ

การรู้เรา ผมขอแบ่งการรู้เรา ออกเป็นสามประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก รู้ความต้องการของตนเอง

ธรรมชาติที่สร้างเราขึ้นมา มีตาไว้ให้เรามองสิ่งต่างๆรอบตัว ทําให้เรามักจะสังเกตุเห็นสิ่งต่างๆรอบตัวก่อนที่จะเข้ามามองตนเอง มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงสอนให้เรากลับเข้ามามองภายในจิตใจ เพื่อที่จะให้เรารู้ตัวเราเองให้มากที่สุด สิ่งที่ผมอยากจะสื่อคือ อยากให้พวกเราหันกลับมาถามตนเองก่อนการลงทุน เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานและปัจจัยหลายๆอย่างไม่ที่เหมือนกัน ทั้งด้านเวลาที่มีให้กับการลงทุน หรือ อุปนิสัยใจคอว่ามีความกล้าได้กล้าเสียมากน้อยเพียงใด แม้กระทั่ง ปัจจุบันท่านเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงต้องรับผิดชอบอีกกี่ชีวิตในครอบครัว การถามตนเองก่อนที่จะลงทุน ก็เพื่อเราต้องรู้ความต้องการของเรา และเช็คความกลัวภายในจิตใจของเรา ในเวลาเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เพื่อจะเราจะได้ไม่หลงกระทําสิ่งใดสิ่งหนึ่งในเวลาฉุกเฉิน สรุปคือถ้าที่เรามีสิ่งต่างๆในใจที่ชัดเจนแล้วนั้น เราก็จะสามารถเลือกซื้อหุ้น ให้ถูกกับความต้องการและจริตนิสัยของเราครับ

***การที่เรารู้ตัวเราเองว่า….ปัจจุบันเรามีฐานะการเงินระดับไหน มีความต้องการ(เป้าหมาย)เงินอยู่ที่เท่าไหร่ และ มีเวลาให้กับการลงทุนเพื่อไปหาเป้าหมายยาวนานเพียงใด … สามสิ่งนี้ส่งผลถึงความคาดหวังในการลงทุนว่าเราต้องการผลตอบแทนที่เท่าไหร่ต่อปี และ ต้องหาหุ้นประเภทไหน***

***ถ้าเราถามตัวเราเองว่า เรามีความจําเป็นกับเงินทุนก้อนนี้มากน้อยแค่ไหน สามารถเสียได้เท่าไหร่ เพื่อที่เราจะไปบริหารพอร์ตตามความความสบายใจของเรา …จะได้ไม่ตื่นกลัวขายหุ้นเวลาตลาดตกตํ่า***
***และท้ายที่สุด พอเรามีขอบเขต ความรอบรู้ในตัวเราอย่างชัดเจน โอกาสที่เราจะหลงตามกิเลสก็ยากขึ้นครับ***

ประเด็นที่สอง รู้ความสามารถและข้อจ ากัดของตัวเรา

การรอบรู้ของเรานั้น อาจารย์ปู่วอเรนเคยกล่าวไว้ว่า จงลงทุนในบริษัทที่อยู่ใน “ขอบเขตของความรอบรู้ของเรา” หมายความว่า เราควรลงทุนในสิ่งที่เรารู้ ก็จะคล้ายสิ่งที่กล่าวไปในบทที่แล้วว่าจง “อย่าโลภเกินความรู้” ขอบเขตความรอบรู้ของเรานั้น ในช่วงแรกๆของการลงทุน เราควรจะลงทุนในบริษัทที่เราคุ้นเคย เป็นธุรกิจที่ดูง่ายๆ จํากัดขอบเขตการดูที่ไม่ต้องซับซ้อน เช่นอาจจะเริ่มลงทุน จากหุ้นพื้นฐานที่มีแบรนด์เนมที่ชัดเจน และใช้เวลานั้นค่อยๆทําความรู้จักกับพื้นฐานของกิจการและทําความรู้จักกับเพื่อนใหม่ชื่อนายตลาดที่มักจะมีอารมณ์แปรปรวนอยู่เสมอๆ เรายังไม่ควรโดดไปในธุรกิจโภคภัณฑ์หรือธุรกิจที่ซับซ้อนตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะประสบการณ์ทั้งในด้านธุรกิจและด้านการจัดการอารมณ์กับนายตลาดเรายังด้อยนัก การเล่นต่อจิ๊กซอว์โดยการซื้อรุ่นหกพันชิ้นมาต่อตั้งแต่ทีแรก เดี๋ยวจะหมดกําลังใจไปเสียเปล่าๆ แต่ถ้าเราใช้ทางลัดบริหารเวลาอย่างมีคุณค่า และ มีตัวช่วย นานวันเข้า ขอบเขตความรอบรู้ของเราก็จะขยายวงออกไปเรื่อยๆในธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น หรือซับซ้อนมากขึ้น ถึงเวลานั้น เมื่อเราพร้อม ความรอบรู้เรามากพอ เราก็อาจจะซื้อขายกับหุ้นบางกลุ่ม ที่มีหลายคนมองว่าเป็นความเสี่ยง แต่เรามองเห็นเป็นโอกาสที่น่าลงทุน

มีประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะกล่าวถึง คือเรื่องการแยกแยะระหว่างปัจจัยที่เราควบคุมได้ กับ ปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ นักลงทุนบางท่านเข้าใจผิด ใช้เวลาส่วนมากไปมุ่งเน้นหาความจริงในสิ่งที่เกินขอบเขตความสามารถของเรา หรือที่แย่กว่าคือเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะควบคุมมันได้เลย ซึ่งผมคิดว่าเราต้องแยกแยะปัจจัยที่เราควบคุมได้และไม่ได้ออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาอันมีค่าของเรา

ปัจจัยที่เราควบคุมได้ คือสิ่งที่มันเป็นตรรกกะพื้นฐานอย่างชัดเจน เช่น ถ้าเราดู56-1 ศึกษา และ วิเคราะห์บริษัทในมุมต่างๆ สิ่งที่เราได้คือความรอบรู้ของบริษัทนั้นๆ
เช่น รู้ภาพรวมอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร ธรรมชาติของธุรกิจประเภทนี้มีจุดอ่อน/จุดแข็งตรงไหน บริษัทมีรูปแบบและกลยุทธ์ทางธุรกิจเป็นอย่างไร ความเสี่ยงมีอะไรบ้าง CEOและวัฒนธรรมขององค์กรเป็นอย่างไร……..นั่นคือขอบเขตความรอบรู้ของเราที่เราสามารถแลกเวลาที่เสียไปเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนของเรา ถ้าเราเรียนรู้จนกระทั่ง เสมือนหนึ่งเราสามารถมองธุรกิจนั้นๆออกในมุมของเจ้าของกิจการ เราก็น่าจะสามารถประเมินมูลค่าของกิจการออกมาได้เช่นกัน

แล้วสิ่งที่เกินขอบเขตความสามารถของเรา ที่เราไม่ควรไปใส่ใจมีอะไรบ้าง?
ในความคิดของผม ปัจจัยที่เราไม่ควรนํามาคิดมีตั้งแต่
-เรื่องราคาหุ้นระยะสั้นๆที่ทําเราซื้อ/ขาย
-เรื่องอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน เช่น การเกิดสึนามิที่ญี่ปุ่น การจราจลในลิเบีย
-เรื่องการคาดเดาสภาวะของเศรษฐกิจโลกว่าจะไปในทิศทางไหน เช่นปัญหาค่าเงินในยูโร สภาวะเศรษฐกิจของจีน ญี่ปุ่น อมเริกา เป็นต้น

ปัจจัยเหล่านี้ค่อนข้างจะคาดการณ์ได้ยาก และอยู่นอกเหนือการควบคุมของเราทั้งสิ้น การสิ้นเปลืองเวลาไปกับการคิดเรื่องเหล่านี้ เพื่อที่จะเอาคําตอบที่แน่ชัดคงจะไม่ได้ และยากจนเกินไป การมุ่งหาคําตอบเช่นนี้ นานวันไปอาจจะทําให้เราไขว้เขว หมดกําลังใจ และไม่มีประโยชน์ ส่วนในเรื่องที่เป็นเศรษฐกิจระดับมหภาค เราก็ไม่ควรใส่ใจมากจนเกินไป เพราะข้อจํากัดในเรื่องความครบถ้วนของข้อมูลที่เราได้รับ และสติปัญญาของเราน้อยกว่าผู้ที่เขาคอยแก้ปัญหาอยู่อย่างแน่นอน การคิดเอง เออเอง ของเรานั้น คงไม่ต่างกับการเสี่ยงทายโยนเหรียญหัวก้อยสักเท่าไหร่นัก โดยส่วนตัวผมเองจึงพยายามมุ่งเน้นไปยังสิ่งที่ผมควบคุมมันได้ ส่วนสิ่งที่มันยากเกินไป หรือควบคุมไม่ได้ ผมจะรับรู้เพียงคาดการณ์แบบคร่าวๆที่อาจจะมีผลกระทบต่อธุรกิจที่เราถือครอง และนําไปสอบถามผู้บริหารว่ามีวิธีจัดการกับความเสี่ยงนี้อย่างไร

***การไม่ยุ่งกับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ไม่ใช่หมายความว่า เราไม่ต้องสนใจกับปัจจัยเหล่านั้น เพียงแต่การสนใจ เราจะสนใจในมุมที่เราควบคุมได้ คือ การมองในลักษณะจากภายในสู่ภายนอก เช่นปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจของยุโรป เราก็ต้องมองภาพคร่าวๆว่า ถ้าค่าเงินยูโรอ่อนตัวลงไป10เปอร์เซนต์ จะกระทบอะไรกับบริษัทบ้าง บริษัทมีการนําเข้าส่งออกกับทางยุโรปมากน้อยเพียงใด จะมีผลกระทบเกี่ยวกับยอดขายและผลกําไรหรือไม่ บริษัทเตรียมตัวรับมือในเหตุการณ์นั้นอย่างไรบ้าง เป็นต้น***

ประเด็นสุดท้าย การรู้ตัวในทุกๆขณะจะซื้อ/ขาย(การมีสติ)

การมีสติรู้ในขณะที่กําลังปฎิบัติหน้าที่การงาน ประเด็นนี้ผมว่าค่อนข้างสําคัญ เพราะผมเห็นหลายๆคนพลาดง่ายๆในจุดนี้ ทั้งๆที่อุตส่าห์ทําการบ้านมาเป็นแรมเดือน แรมปี ในหุ้นตัวนั้นๆ แต่ครั้นเจอนายตลาดกําลังตื่นกลัว หรือได้ยินข่าวโคมลอย-ข่าว
วงใน ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ตกใจขายหุ้นตัวนั้นๆ โดยไม่ทันได้คิดถึงเป้าหมายอนาคตที่เรามองไว้ หรือ มีรีบซื้อหุ้น ทันทีที่มีข่าวอินไซด์ว่าจะมีการเทคโอเวอร์ หรือ การฟังข้อมูลมาว่ารายใหญ่จะเข้า โดยไม่ตัดสินใจบนเหตุและผลของพื้นฐานกิจการ การกระทําทั้งสองอย่าง เป็นการกระทําที่ขาดสติรู้
วิธีแก้ที่ง่ายที่สุดในเรื่องนี้คือ

1.เราไม่ควรทําการซื้อ/ขายหุ้น จากข่าวทุกข่าวที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานของกิจการ

2.ถ้าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานของกิจการ เราก็ไม่ควรทําการซื้อ/ขายหุ้น โดยที่เรายังไม่สามารถวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของกิจการที่เปลี่ยนแปลงไป เราควรจะทําการซื้อ/ขาย ก็ต่อเมื่อ เราสามารถรู้ถึงผลกระทบที่จะทําให้พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนไปในทิศทางใด และมากน้อยเพียงไร

มาถึงตอนนี้ เราก็รู้ไปครึ่งแล้วนะครับ คราวหน้าเรามาคุยกันในเรื่องที่สําคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องการรู้เขา ในเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องกว้างและลึกกว่าเรื่องแรก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจและการกลยุทธ์ในการลงทุน ผมขอยกเรื่องนี้ไปบทต่อไปที่กําลังจะกล่าวถึงนะครับ
ภาคที่สอง แนวทางการปฎิบัติ ตามล่าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า

บทก่อนหน้านี้ ผมได้กล่าวถึงแผนที่นําทาง พูดถึงแนวคิดที่ผมได้นํามาประยุกต์ใช้ในการลงทุนของผมเอง…..โดยส่วนตัวผมไม่ได้ปฎิเสธวิถีทางการลงทุนในแนวทางอื่นๆนะครับ เพราะทุกๆหนทางย่อมมีจุดสูงสุดในตัวมันเอง แล้วแต่ใครจะเลือกไขว่ขว้าในทางไหน

แต่เหตุผลที่ผมได้เสนอแนวคิดในเส้นทางนี้ คงเป็นเพราะผมไม่อาจจะปฎิเสธ
หนทางเส้นทางนี้ เพราะเส้นทางนี้ได้สร้างความมั่งคั่งให้แก่ตัวผมเอง……7ปีในการลงทุนของผมในตลาดหลักทรัพย์ เป็น7ปีที่ตลาดได้หล่อหลอมแนวทางการลงทุนเน้นคุณค่า…….7ปีที่ผ่านมาในเส้นทางนี้ได้สร้างอิสรภาพทางการเงินให้แก่ผมและครอบครัว…..ผมจึงคิดว่าผมพร้อมแล้วที่จะพาท่านทั้งหลายไปสนุกกับการค้นหาขุมทรัพย์ในหนทางนี้ เฉกเช่นเดียวกับผมครับ

ในบทนี้ผมจะพาท่านมาทําความเข้าใจเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เช่น
-การแยกเพชรออกจากกรวดโดยการแยกประเภทของธุรกิจ
-การดูภาพรวมโอกาสและความเสี่ยงของบริษัทต่างๆ
-การเรียนรู้ธรรมชาติของธุรกิจ ประเภทต่างๆ
-การวิเคราะห์ลักษณะนิสัยของแต่ละบริษัท เพื่อหาโอกาสและความระมัดระวังในการถือครอง
-การวิเคราะห์โมเดลธุรกิจเพื่อหาจุดอ่อนจุดแข็ง
-การวิเคราะห์งบการเงินเพื่อติดตามดมกลิ่นและประเมินกิจการจากงบการเงิน
-ความหมายของความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืน และคุณภาพของรายได้และกําไร
-มุมมองในการค้นหาหุ้นแบบล่างขึ้นบน และบนลงล่าง
-การค้นหาขุมทรัพย์จากแนวทางล่างขึ้นบนในวิธี PE PBV ROE ROA เป็นต้น
-การวิเคราะห์มูลค่าจาก ปัจจัยเชิงปริมาณ และ ปัจจัยเชิงคุณภาพ
-จังหวะเวลาในการซื้อและขายหุ้น ดูจากอะไร
-และอื่นๆอีกมากมาย ตามที่ผมจะนึกออก และนํามาเล่าให้ฟังเป็นหัวข้อๆ……ให้ท่านไปประกอบร่างกันเอง อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วนะครับ……แต่ขอแผ่นเสียงตกร่องอีกครั้งนะครับ ว่าเรื่องที่ผมจะนํามาเล่ามาเขียนในครั้งนี้ ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากอาจารย์หลายๆท่าน ถ้าพอมีความดีบ้าง ก็ขอยกความดีความชอบให้กับผู้ที่ได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผม……แต่ความรู้ที่ให้มา ผมได้นํามาเรียบเรียงตามความเข้าใจของผมเอง เพราะฉะนั้น ถ้าผิดพลาดประการใดขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

องค์ประกอบของการลงทุน
จากที่กล่าวไปเบื้องต้นแล้วว่า การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบด้วยสองส่วนคือ การประเมินมูลค่าของกิจการ และ จังหวะเวลาในการซื้อ/ขาย(ราคา)หุ้น……ปฐมบทเริ่มต้น ผมขอนําเอาคําถามที่ผมมักจะถูกถาม ในเรื่องที่เกี่ยวกับจังหวะการซื้อขาย และการประเมินมูลค่าของกิจการ มาอารัมภบทเป็นนํ้าจิ้มก่อนเข้าเนื้อหาจริงนะครับ

-หุ้นสภาพคล่องต ่า ควรกลัวหรือเปล่า?

หุ้นสภาพคล่องตํ่าผมขอแยกตามความเข้าใจของผมเป็นสองประเด็น

ประเด็นแรก คือ เป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องตํ่าเพราะไม่มีหุ้นซื้อขาย เช่นหุ้น oishi scnyl เป็นต้น หุ้นประเภทนี้จํานวนหุ้นอยู่ในมือของผู้ถือหุ้นรายใหญ่เกือบหมดตลาดแล้ว การซื้อขายในแต่ละวันจึงแทบไม่มีออกมาหมุนเวียน การลงทุนในหุ้นประเภทนี้คงต้องทําใจ เพราะจะหวังให้สภาพคล่องมันมากขึ้น คงจะยาก
*ดูสภาพคล่องของหุ้นได้จาก //www.settrade.com ใส่ชื่อหุ้นในช่องข้อมูลหลักทรัพย์ และกดเข้าไปดูสภาพคล่องของหุ้นได้ในส่วนของผู้ถือหุ้นรายใหญ่(ในส่วนของ free float)

ประเด็นที่สอง เกิดจาก ความต้องการซื้อและความต้องการขายที่คิดไม่ตรงกัน หมายความว่า คนซื้อก็อยากซื้อที่ราคาตํ่ากว่าราคาในตลาด ส่วนคนขายก็อยากขายในราคาที่สูงกว่าในตลาด ราคาเลยไม่จับคู่กัน หรือคนซื้อเป็นกลุ่มที่ชอบเก็บ ต้องการเก็บไว้ให้ลูกๆหลานๆ ไม่ใช่นักเทรดเดอร์ จึงทําให้สภาพหุ้นฟันหลออยู่เสมอๆ…..จนกว่าราคาจะวิ่งไปหาจุดที่คนกลุ่มหนึ่งต้องการซื้อ/ขาย สภาพคล่องจึงจะตามมา

เมื่อวิเคราะห์ดู ผมก็ไม่เห็นส่วนไหนเลยที่ระบุว่าหุ้นสภาพคล่องตํ่า เป็นหุ้นที่ดีหรือไม่ดี…..แล้วท่านที่ถาม กลัวอะไร?……….งั้น ผมถามใหม่ สมมุตินะสมมุติว่า….ผมมีสินทรัพย์สองชิ้นมาขายให้แก่ท่านที่ขี้กลัวเลือกซื้อได้เพียงชิ้นเดียว(ในราคา500บาทเท่ากัน) อย่างแรกคือท่านจะได้เหรียญ600บาทกลับคืนไป(ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงสุด) หรืออย่างที่สอง แลก500บาทกับช้าง1ตัว ที่น่าจะมีมูลค่าน่าจะหลักแสน(แต่สภาพคล่องตํ่ามาก)….ท่านจะเอาสิ่งไหน…….เห็นไหมครับว่า โดยเหตุและผล เราไม่ควรจะกลัวสภาพคล่องของหุ้น แต่เราควรจะกลัวมูลค่าที่แท้จริงกับสิ่งที่เราต้องจ่ายไปเสียมากกว่า ในอดีตแรกเริ่มที่ผมลงทุนด้วยจํานวนเงินที่ไม่สูงนัก ผมมักจะชอบหุ้นสภาพคล่องตํ่าด้วยซํ้าไป เพราะนั่นมักจะบอกถึง ความไม่สมดุลย์ของผู้ซื้อและผู้ขาย(แสดงว่าเรามีโอกาสซื้อหุ้นที่ถูกมากๆ แต่ต้องเลือกให้ถูกตัวนะ)และที่สําคัญคือ..ความคาดหวังในหุ้นสภาพคล่องตํ่าๆนี้มักจะตํ่าตามสภาพคล่องเสียด้วย

ถึงแม้นโอกาสเจอเพชรในกองหินของหุ้นสภาพคล่องตํ่าจะมีสูงกว่าหุ้นที่มีคนติดตามมากๆแล้ว……..ในความเป็นจริง ความเสี่ยงก็มากกว่าเช่นกัน เพราะถ้าเราดันไปเจอช้างที่ตายแล้ว เงิน500บาทอาจจะเสียเปล่าเลยก็ได้……ผมจึงระมัดระวังในเรื่องการถือครองหุ้นสภาพคล่องตํ่ามากกว่าปรกติ โดยคิดอยู่เสมอว่า ถ้าเราถือหุ้นสภาพคล่องตํ่าจะคล้ายๆเรา อม “สเปโต*” อยู่ ถ้าเราคิดถูก เราก็มีโอกาสที่จะได้มากกว่าคนอื่นสองเท่า แต่ถ้าเราคิดผิด โอกาสเสียสองเท่าก็มีเช่นกัน เพราะเราต้องขายในราคาส่วนลดมากขึ้น ผมจึงใช้ความระมัดระวังในการเลือกถือหุ้นสภาพคล่องตํ่า

*สเปโต คือไพ่พิเศษในการเล่นรัมมี่ ไพ่สเปโตจะมีแต้มเหนือกว่าตัวอื่นๆถ้าได้แต้มก็ได้มาก แต่ถ้าเสียแต้มก็เสียมาก

ผมจะมีเกณฑ์พิจารณาซื้อหุ้นกลุ่มนี้อย่างเข้มงวดจาก
1.ผมจะลงทุนเมื่อ เขาเป็นหุ้นเติบโตอย่างชัดเจน บวกกับ
2.หุ้นนั้นมีราคาค่างวดถูกเกินความเป็นจริงอย่างมาก
ถ้าผมเจอหุ้นที่เข้าข่ายสองข้อนี้ ผมคงไม่คิดมาก พร้อมที่จะอมสเปโตครับ………..แต่ผมจะระมัดระวังอย่างมาก และจะหลีกเลี่ยงหุ้นสภาพคล่องตํ่าที่ผมยังไม่รู้จริง หรือ ในอดีตเป็นหุ้นประเภทที่ผลกําไรไม่สมํ่าเสมอ หรือ เป็นหุ้นวัฎจักร เพราะถ้าคุณเข้าหุ้นกลุ่มนี้โดยไม่มีส่วนเผื่อความปลอดภัยที่มากพอ เวลาเกิดอะไรขึ้นกับพื้นฐานของกิจการ คุณก็จะถูกขังคุกอยู่นานสองนานจนอยากเขกหัวตนเองย้อนหลังทีเดียวเชียวครับ

-การซื้อ/ขายหุ้น ควร ซื้อ/ขาย เมื่อถึงราคาในใจ หรือทะยอยซื้อ/ขาย ดี ?

คําถามนี้ เราคงต้องกลับมามองว่า จํานวนที่เราต้องการจะซื้อ/ขาย เมื่อเปรียบเทียบกับโวลุ่มในแต่ละวัน มันประมาณขี้เล็บหรือมันโอเวอร์โหลดมากแค่ไหน เพราะโวลุ่มมันจะส่งผลไปถึงวิธีการที่เราจะซื้อ/ขาย ที่ไม่เหมือนกัน เช่นถ้าเราต้องการซื้อหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงมากๆเช่นบ้านปู สมมุติวันนี้ตลาดเกิดถูกเทกระจาด ถึงแม้นเราจะมีราคาซื้อภายในใจ แต่เราก็ยังไม่ควรเข้าซื้อทันทีเมื่อราคาถูกเทตํ่ากว่าเป้าหมายนั้นๆ เราอาจจะมองหาจังหวะในการเข้าซื้อ จากจุดที่แรงขายเริ่มหมดแล้ว หรือคาดว่าตลาดซึมซับข่าวร้ายไปมากแล้ว แล้วค่อยเคาะขวา เพียงไม้เดียวให้มันเสร็จๆ อย่างที่มีคนกล่าวไว้ว่า เวลามีดตกอย่าเพิ่งเอามือไปรับนั่นเอง….แต่ทํานองกลับกัน ถ้าผมรวยพอ…ต้องการเก็บหุ้นบ้านปู1000ล้านบาท(เวอร์ดีไหมครับ ฮา.) ผมคงจะทะยอยตั้งรับหุ้นเมื่อตํ่ากว่าราคาในใจ อาจจะตั้งซอยสักสิบหรือยี่สิบช่องลงไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้หวังว่าจะได้ราคาที่ตํ่าที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าท่านจะซื้อหุ้นจํานวนมากเมื่อเทียบกับสภาพคล่องในแต่ละวัน จงอย่าหวังว่า จะได้หุ้นในตอนที่คนทั่วไปอยากซื้อเช่นกันกับท่าน หรืออย่าคิดว่าจะรอซื้อเมื่อที่ราคาตํ่าสุด เพราะตอนนั้นแรงขายคงจะเริ่มหมดแล้วเช่นกัน ในทํานองกลับกัน ท่านต้องคิดขายในช่วงที่คนอื่นอยากจะซื้อ และอย่าไปหวังว่าจะขายได้ราคาสูงสุด…….สิ่งที่ผมอยากจะสื่อคือ ถ้าคุณจะซื้อหุ้นจํานวนไม่มาก คุณอาจจะหาจังหวะซื้อ/ขายในจุดๆเดียวได้ แต่ถ้าคุณคิดการใหญ่ หรือ พอร์ตใหญ่ คุณอย่าไปคิดว่าจะซื้อหุ้นได้ที่ราคาตํ่าสุด และขายณ.จุดราคาที่สูงสุดเลยครับ….ผมว่าฝันกลางวันคงจะง่ายกว่า

-แล้วเรื่องของช่วงเวลาในการถือครองหุ้นหล่ะ ควรถือครองยาวนานแค่ไหน? และที่เขาบอกว่าเป็น VI ไม่ควรขายจริงหรือเปล่า?

ส่วนตัวผมคิดว่าVIเองก็มีหลายแขนง หลายอาจารย์ ไม่ได้มีสิ่งใดที่บ่งบอกว่า VIต้องถือยาว มีแต่หลักเกณฑ์สําคัญอยู่ตรงที่ ซื้อตํ่ากว่ามูลค่าที่มันควรจะเป็น แสดงว่า ถ้าราคามันไปถึงเป้าหมายที่ควรจะเป็นแล้ว และเราเห็นตัวอื่นที่คิดว่าให้ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เราก็ขายเปลี่ยนตัวได้ครับ ไม่ผิดกฏอะไร

ส่วนนิสัยส่วนตัวผมนั้น ผมมักจะระบุคําตอบไว้เลยครับ ว่าจะขายเมื่อไหร่ตั้งแต่ที่ซื้อลงทุนเลยครับ แต่คําว่าเมื่อไหร่ ไม่ใช่ระยะเวลาหรือราคาที่ตายตัว แต่จะขายด้วยเหตุการณ์อย่างที่เราคาดไว้ก่อนหน้านี้ ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เราต้องขาย อย่างคําพูดที่ว่า “ถ้าเราซื้อหุ้นตัวนี้เพราะอะไร เราก็ต้องขายเพราะสาเหตุนั้น”

-ท าไมต้องมีการแยกประเภทของกิจการก่อนการประเมินมูลค่าของกิจการ?

การที่เราจะสามารถวิเคราะห์ ทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างละเอียดนั้น ขั้นแรกเราต้องมีการ จัดกลุ่ม จัดเกรด แยกประเภท ให้กับทรัพย์สินชิ้นนั้นก่อน เฉกเช่นถ้าคุณต้องการประเมินอัญมณีก้อนหนึ่งที่ได้อยู่ในมือคุณ ว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ อย่างน้อยๆคุณควรจะรู้ว่า มันคือ หินกรวด หินพลอย หรือ หินเพชร แล้วค่อยนําหินที่ว่าไปวิเคราะห์เพื่อดูขนาด ดูเนื้อ ดูนํ้า ดูตําหนิ ดูการกระจายของแสง และเปรียบเทียบคุณภาพต่างๆในกลุ่มเดียวกัน…..เราคงไม่ตีราคาอัญมณีที่มีตําหนิให้เท่ากับๆกับหินกรวดที่สวยๆใช่ไหมครับ การประเมินมูลค่าของกิจการก็เช่นเดียวกัน อย่างน้อยๆเราควรรู้ภาพใหญ่ของบริษัทที่เราจะทําการวิเคราะห์ก่อนว่า…..เขาจัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทใด และมีรูปแบบธุรกิจเป็นแบบใด เพื่อการประเมินขั้นละเอียดต่อไป

-ท าไมซื้อขายต้องมาจากสาเหตุเดียวกัน ไม่เข้าใจ?

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า เราซื้อเพราะเหตุใด เราก็ต้องขายเพราะสาเหตุนั้น นั่นเป็นคํากล่าวถึงมุมมองภาพใหญ่ๆของธุรกิจที่เราจะเข้าไปลงทุน เช่นเรามองว่าธุรกิจนี้เขาแข็งแกร่ง มีขอบข่ายคูเมืองชัดเจน คู่แข่งเจาะได้ยาก น่าจะเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย หรือธุรกิจนี้มีราคาที่ถูกเกินไป บ.ยังสามารถสร้างผลกําไร แต่ราคาที่ซื้อตอนนี้เท่าๆกับเงินสดของบริษัท ลบหนี้สินทั้งหมด หรือ ตัวธุรกิจของเขาเองน่าจะโตตามอุตสาหกรรมที่ยังมีช่องว่างอีกมาก โอกาสที่จะโตได้มากกว่า30เปอร์เซนต์ต่อปีในช่วงสามถึงสี่ปีนี้ เป็นต้น

สิ่งที่เรากล่าวถึงว่า เราซื้อหุ้นตัวนี้เพราะอะไร เราก็ต้องขายเพราะสาเหตุนั้น หมายความว่า ถ้าเราซื้อเพราะความแข็งแกร่งของธุรกิจเขา แต่ต่อมาเราพบว่า ตลาดเปลี่ยน เราคิดผิด ตอนนี้บริษัทเพรี่ยงพรํ้าให้กับคู่แข่ง เราก็ต้องไม่หลอกตนเอง ควรพิจารณาในสาเหตุที่เราซื้อในตอนนั้น และมีการประเมินมูลค่าเขาใหม่อีกครั้งหนึ่ง

แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้ามีเรื่องที่ร้ายแรงเกิดขึ้นอื่นๆ เกิดขึ้นกับทางบริษัท แล้วเราควรอยู่เฉยๆ เช่น เราเลือกซื้อบริษัทที่แข็งแกร่ง คู่แข่งเจาะยาก แต่มารู้ทีหลังว่าผู้บริหารมีการตกแต่งบัญชี ไซฟอนเงิน เป็นผมๆก็คงจะบ๊ายบาย…ขอไปอยู่เรือลําที่ กัปตันเขาใช้เวลาควบคุมหางเสือและดูทิศทางเรือดีกว่าครับ

ถาม-ตอบ พอหอมปากหอมคอ เรามาเริ่มเข้าเนื้อหาจริงกันดีกว่านะครับ ในภาคที่ผ่านมา ถ้าจะเปรียบก็คงจะเป็นแผนที่ใบใหญ่ ที่มีสัญลักษณ์ทิศทั้งสี่อยู่มุมกระดาษ มีเกาะแก่งต่างๆกระจายอยู่มากมาย มีรอยเส้นประเป็นเส้นนําทางที่เราต้องไป พร้อมกับ มีคําใบ้ในกระดาษเป็นระยะ และที่ขาดไม่ได้คือคําเตือน-อุปสรรคในที่ต่างๆในที่ๆ
เรากําลังจะพบเจอ ในภาคที่สองนี้ผมจะพาท่านไปทัวร์เกาะทั้งสี่ ที่จะมีการบอกใบ้สัญลักษณ์ให้เราไปค้นหาขุมทรัพย์กันดังนี้

เกาะที่หนึ่ง เป็นวิธีการค้นหาหุ้นในแบบต่างๆ
เกาะที่สอง จะบอกถึงการแยกประเภทหุ้นที่เจอ เป้าหมายคือต้องการแยกเพชรออกจากกรวด
เกาะที่สาม จะกล่าวถึงวิธีการวิเคราะห์มูลค่าของกิจการ เพื่อที่ต้องการรู้ว่ามูลค่าเหมาะสมของเพชรเม็ดนี้ควรอยู่ที่เท่าไหร่
เกาะที่สี่ จะกล่าวถึงวิธีการมองและกําหนดจุดซื้อตามผลตอบแทนที่เราต้องการ

แต่ที่จริงแล้ว ผมควรจะต้องเริ่มต้นจาก การสอนให้ท่านดูเข็มทิศให้เป็น แต่ด้วยความรวบรัด และความมือใหม่ของผมในเรื่องงานเขียน ผมอาจจะบอกวิธีการต่างๆในขณะที่กําลังพาพวกท่านไปยังเกาะเป้าหมาย โดยอาจจะพูดถึงรายละเอียดของแต่ละเกาะ หรือ สอนให้ดูเข็มทิศ แล้วกระโดดไปเล่าถึงปลาหมึกยักษ์ที่เราจะต้องเจอ สุดท้ายอาจจะจบด้วยสาวผิวสองสีที่ไปพบเจอมา ยังไงคงต้องขอรบกวนให้ท่านทั้งหลายที่อุตส่าห์หลงอ่านแล้ว ให้มองสิ่งที่ผมกล่าวเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งๆ ให้เอาเรื่องต่างๆที่ได้เล่าให้ฟังในแต่ละเรื่องมาประกอบร่าง สร้างแผนที่ในใจ ในแบบที่พวกท่านอยากให้เป็นแล้วกันนะครับ

เกาะที่หนึ่ง วิธีการค้นหาหุ้นในแบบต่างๆ

วิธีการเลือกหาหุ้นที่จะลงทุน ก็มีอยู่หลายแนวทาง แต่ที่ผมใช้บริการอยู่เป็นประจําจะมีอยู่สองแนวทางคือ
1.การหาหุ้นจากบนลงล่าง
2.การหาหุ้นจากล่างขึ้นบน

1.การหาหุ้นจากบนลงล่าง

เป็นการมองจากภาพใหญ่ๆ แล้ววิเคราะห์ว่าเมื่อมีเหตุนี้เกิดขึ้น จะเกิดผลตามมาอย่างไรบ้าง โดยผมจะมองเป็นสามทิศทางดังนี้

A มองจากสภาพพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไป
สิ่งนี้จะไปส่งผลทําให้เกิดเทรนและเมกะเทรนในอนาคต เช่น ขณะนี้ช่วงประชากรที่ได้เกิดในประเทศไทยส่วนมากกําลังเคลื่อนไปสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งนี้ได้บ่งบอกถึงพฤติกรรมของคนไทยไปอีก10-20ปีข้างหน้าว่า….1.คนกลุ่มนี้จะมีการใช้จ่ายในเรื่องสุขภาพมากกว่าเดิม 2.คนกลุ่มนี้ต้องการหาสิ่งที่ตอบสนองความสุขในวัยเกษียณ เป็นต้น หรือ ในเรื่องการติดต่อสื่อสารในยุคอนาคตที่นิวมีเดียกําลังเป็นที่นิยมมากขึ้น จะไปส่งผลถึง1.ความต้องการในเรื่องฮาร์ดแวร์ที่ตอบสนองความต้องการในเรื่องนี้
(โอกาสของผู้ผลิตและขาย) 2.ส่งผลถึงเรื่องความต้องการความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร(โอกาสของผู้ให้บริการwire&wireless) 3.ส่งผลไปยังแทรฟฟิกทางด้านสายตา(eyeball)มากขึ้น ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสื่อที่ต้องปรับตัว(โอกาสของผู้บริการโฆษณา)เป็นต้น โดยปรกติ การค้นหาหุ้นในเชิงพฤติกรรมของผมนี้ เป้าหมายของผมคือหา หุ้นเติบโต ครับ

“วิธีนี้ต้องอาศัยการฝึกมองภาพใหญ่ๆของเศรษฐกิจว่า ในช่วงอนาคต1ปี 3ปี 5ปี ข้างหน้านี้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างที่จะกลายเป็นเทรน หรือเมกะเทรนในอนาคต เพื่อที่ มองหาอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะเติบโตสูงในอนาคต การฝึกมองบ่อยๆครั้งจะทําให้เราคาดการณ์แนวโน้มพฤติกรรมคนได้ดีขึ้นเรื่อยๆครับ”

B มองจากการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ

ด้วยธรรมชาติของธุรกิจมักจะมีสินค้าทดแทนหมุนเวียนเกิดๆดับๆเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การค้นหามุมมองหุ้นในประเภทนี้ อาจจะหาได้จากหน้าหนังสือพิมพ์ ที่มักจะกล่าวถึง ธุรกิจใดฟุบ ธุรกิจใดฟื้น ในช่วงที่ผ่านมาและที่กําลังจะเกิดขึ้น หรืออาจจะได้เห็นข่าวที่ผู้บริหารได้ให้สัมภาษณ์ว่าแนวโน้มธุรกิจจะเป็นอย่างไร หรืออาจจะรู้จาก opportunity day หรือ 56-1 ก็เป็นได้ ข้อสังเกตในเรื่องการฟื้นของอุตสาหกรรมทั้งกลุ่มคือ ผู้บริหารแต่ละบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันจะพูดไปในทิศทางบวกคล้ายๆกัน เป้าหมายผมที่มองการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมนี้เพื่อค้นหา หุ้นฟื้นตัว และ หุ้นวัฎจักร ครับ

ข้อสังเกตเพิ่มเติม
-เราต้องมองหาอุตสาหกรรมใดที่ตกตํ่ามานานหลายปี เมื่อพูดถึงหุ้นกลุ่มนี้ มักจะมีเสียงบ่น..ตามมา แต่มีสัญญาณที่จะฟื้นตัวจากการถดถอยในช่วงที่ผ่านมา เพื่อที่จะมองหาหุ้นกลุ่มฟื้นตัว
-มองภาพใหญ่ๆ ค้นหาธุรกิจโภคภัณฑ์ในแต่ละประเภท ที่ตกตํ่ามายาวนาน มองหาตัวจุดประกาย หรือ ตัวเร่งปฎิกิริยาที่จะดึงบริษัทกลุ่มนี้ขึ้นมาจากหลุม และจงมองหาหาบริษัทที่เตรียมพร้อมในโอกาสที่จะมาถึง

C มองสภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มไปในทิศทางใด

ผมมองภาพใหญ่ๆนี้ จะเป็นการประเมินภาพเศรษฐกิจอย่างคร่าวๆเพื่อความระแวดระวังในผลประกอบการที่จะเกิดขึ้นในอีก3เดือน6เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะถ้าหุ้นที่เราลงทุนอยู่นั้นค่อนข้างอ่อนไหวกับสภาพเศรษฐกิจ ผลกระทบที่ผมพิจารณาในเรื่องมีสองเรื่องคือ

1.เรื่องผลกระทบต่อ “ต้นทุน” บริษัท ที่เราจะลงทุน จะต้องดูในเรื่องต่างๆดังนี้

-ทิศทางของดอกเบี้ยเงินกู้/เงินฝาก(ดูทิศทางจากดอกเบี้ยอ้างอิง) โดยจะประเมินความเป็นไปได้ว่า โอกาสที่ดอกเบี้ยปีนี้จะขึ้นหรือลงเท่าใด และจะกระทบกับต้นทุนการดําเนินงานของบริษัทที่เราดูอยู่มากน้อยเพียงใด

-สภาวะค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า กําหนดพอคร่าวๆให้เห็นทิศทางของโอกาส/ผลกระทบ และนโยบายของบริษัท

-ต้นทุนของวัตถุดิบและต้นทุนการดําเนินงานว่ามีแนวโน้มจะไปในทิศทางใด มากน้อยเพียงใด โดยดูว่าบริษัทที่เราสนใจมีค่าใช้จ่ายส่วนใดเป็นส่วนใหญ่ และค่าใช้จ่ายส่วนนั้นมีแนวโน้นจะขึ้นหรือลงมากน้อยเพียงใด บริษัทจะมีการปรับตัวอย่างไร และคู่แข่งเป็นเช่นไร

ปัจจัยทั้งสามในเรื่องผลกระทบต่อต้นทุน ผมมักจะมองล่วงหน้าสั้นๆประมาณ1ปี และถ้ามีความกังวลในเรื่องใดเป็นพิเศษ ซึ่งคิดว่าน่าจะมีผลกระทบค่อนข้างมากต่องบการเงิน ผมมักจะนําคําถามนั้นเข้าไปถามผู้บริหารในวันประชุมผู้ถือหุ้น หรือ เมื่อมีโอกาสได้พบเจอครับ

2.เรื่องผลกระทบต่อ “เงินในกระเป๋าของลูกค้า” ถ้าบริษัทที่เราจะลงทุน ค่อนข้างอ่อนไหวกับสภาพเศรษฐกิจหรือดัชดีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศหรือปัจจัยบางเรื่องที่กระทบความรู้สึกลูกค้าโดยตรง หน้าที่เราก็ต้องติดตามทิศทางเศรษฐกิจและผลกระทบที่จะเกิดกับลูกค้าในปีนั้นๆประกอบ เช่นถ้ากลุ่มการท่องเที่ยว เราก็ต้องติดตามแนวโน้มกีฬาสีในประเทศ และสภาพเศรษฐกิจของกลุ่มยุโรปที่เป็นลูกค้าหลัก หรือถ้าเรื่อง บ้านเพื่อที่อยู่อาศัย เราก็ต้องติดตามสภาพเศรษฐกิจของบ้านเราเอง ส่วนถ้าเราลงทุนในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มลูกค้าของบริษัทคือ นักลงทุนต่างชาติที่มาเปิดโรงงานในไทย เราก็ต้องรู้คร่าวๆถึงการขยายตัวของลูกค้าและแนวโน้มการแข่งขันของไทยบนเวทีโลก การมองภาพใหญ่ๆในเรื่องนี้ จะคล้ายๆกับการเดา แต่จะเป็นการคาดเดาด้วยฐานข้อมูลที่มี และผมไม่ได้ต้องการภาพที่คมชัด หรืออะไรที่ต้องชัดเจน ผมเพียงต้องการรู้ตําแหน่งของบริษัทที่เราจะลงทุนอยู่ในตอนนี้ และทิศทางที่เขากําลังจะเป็นในอีก3เดือน 6เดือน หรือ1ปีข้างหน้าอย่างคร่าวๆ……

แต่ในบางกลุ่มธุรกิจที่มีธรรมชาติของเขาเองค่อนข้างแข็งแกร่ง หรือตัวธุรกิจบางแห่งที่มีการกระจายสินค้า/บริการได้อย่างเหมาะสมแล้ว ผลกระทบเรื่องดังกล่าวต่อตัวุรกิจ อาจจะไม่มีนัยยะสําคัญสักเท่าไหร่

พอเราได้กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เราคิดว่าใช่แล้ว เราจึงมาค้นหาบริษัทที่จะได้ประโยชน์เต็มๆ จากอุตสาหกรรมที่เราคัดเลือกมา โดยถามคําถามห้าข้อดังต่อไปนี้

1.ดูว่าเขาเป็นผู้นําในอุตสาหกรรมนั้นๆหรือไม่
2.ดูข้อจํากัดของเขาว่าเขาพร้อมที่จะเติบโตไปกับกลุ่มอุตสาหกรรมมากน้อยเพียงใด
3.พิจารณาว่า ผู้บริหารมีความขยัน(มีไฟ)พร้อมที่จะเหนื่อยหรือไม่
4.พิจารณาว่า ผู้บริหารมีความรอบรู้ เตรียมพร้อมที่จะพาองค์กรบินขึ้นฟ้าในครั้งนี้หรือไม่
5.พิจารณาว่า ผู้บริหารมีความซื่อสัตย์ หรือ ต้องการสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง ผ่านทางมูลค่าหุ้นในตลาดหรือเปล่า

2.การหาหุ้นจากล่างขึ้นบน

เป็นการมองจากภาพหรือจิ๊กซอว์เล็กๆที่เราพบเจอว่าน่าสนใจ ให้ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทําการศึกษาต่อในภาพรวมว่าหุ้นตัวนี้น่าสนใจเพียงใด โดยจิ๊กซอว์ที่ผมใช้จะเป็นจิ๊กซอว์ง่ายๆที่มีคนสรุปมาให้เราดูอยู่แล้วเช่น
-PE
-PBV
-ROE
-YIELD
-รูปแบบหรือความเฉพาะเจาะจงของธุรกิจ
-การเปรียบเทียบราคาหุ้นที่แพ้ตลาดในช่วง3เดือน 6เดือน 1ปี
-การหาข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์
-ข่าวสารทางบริษัท
-การดูอารมณ์ของนายตลาด
-ลงตลาดสังเกตการเปลี่ยนแปลง
-การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่
-ผู้บริหารส่งสัญญาณ
-งานวิจัยของโบรกต่างๆ
-เครือข่ายกัลยาณมิตร
-ศูนย์รวมแหล่งข่าวชั้นยอด

“P/E” (Price/Earnings)

ผมมีความลังเลอยู่พอสมควรว่าในบทนี้จะกล่าวถึงแค่เรื่องการมองหาหุ้นในมุมมองPE หรือควรมาทําความเข้าใจอย่างละเอียดในคําว่าPEควบคู่ไปด้วยเลย สุดท้ายก็ได้บทสรุปว่า พี่พีนี้ช่างมีขอบข่ายที่กว้างใหญ่นัก การที่จะนํามากล่าวในบท
นี้นั้น อาจจะทําให้พี่พีน้อยใจก็เป็นได้ บทนี้จึงขอเกริ่นคร่าวๆว่าพี่เขาคืออะไร ทําไมจึงนํามาหาหุ้นได้พอสังเขป ส่วนรายละเอียดในเรื่องต่างๆที่เหลือเช่น
-หุ้นแต่ละตัวทําไมจึงประเมินPEไม่เท่ากัน
-PEเหมาะสมในแต่ละตัวดูจากอะไร
-หุ้นกลุ่มไหนPEเป็นพิษ
-PEที่ดี และPEไม่ดี เป็นอย่างไร
จะนําไปกล่าวในบทพี่พี(PE)กันอีกครั้งหนึ่ง

การหาหุ้นในวิธีนี้ ช่างจะง่ายดายแบบกําปั้นทุบดิน เพราะด้วยเหตุผลที่เรารู้ๆอยู่แล้วว่าคําว่า PE เป็นตัวย่อที่แปลว่า ราคาหุ้นต่อกําไร(ของบริษัท) เช่นราคาหุ้นA=2บาทต่อหุ้น บริษัทมีกําไรต่อหุ้น(EPS)0.4บาท หมายความว่าหุ้นAมีPE 2/0.4คือ 5เท่า ส่วนบางคนก็อาจจะเอาค่ามาร์เก็ตแคป(เป็นค่าที่มาจากเอาราคาหุ้นคูณจํานวนหุ้นทั้งหมดจึงมีความหมายเดียวกันว่าเราสามารถซื้อทั้งบริษัทได้ในราคานั้น)มาคํานวณเลยก็ได้ ค่านี้จะมีแสดงใน //www.settrade.com โดยเอามาร์เก็ตแคปตั้งหารด้วยกําไรสุทธิของบริษัท เช่นบริษัทAมีมาร์เก็ตแคป 5000ล้าน มีกําไรสุทธิ1000ล้าน เท่ากับ5000/1000=5เท่า

ความง่ายของกําปั้นทุบดินคือมันง่ายจริงๆ เพียงแต่ท่านซื้อหนังสือพิมพ์หุ้นมาสักฉบับ ดูPEที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ คัดเลือกหุ้นที่มีPEตํ่าสุดมาสัก30อันดับ แล้วนํามาคัดกรองหาเพชรในก้อนกรวดต่อไป จุดแข็งในเรื่องง่ายๆนี้ก็คือ หุ้นที่เราเจอมีฐานPEที่ตํ่าอยู่แล้ว ถ้าในอนาคตกําไรเขาสามารถโตได้ต่อเนื่องและนายตลาดประเมินPEที่เหมาะสมเขาสูงขึ้น ราคาหุ้นก็เพิ่มเป็นสองต่อจากกําไรที่เพิ่มขึ้นและPEนายตลาดประเมินให้สูงขึ้น อย่าไปคิดว่าวีธีนี้ง่ายเกินไป เล่นหุ้นหมูขนาดนี้ ก็รวยกันไปหมดแล้ว……ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทําไมวิธีการง่ายๆเช่นนี้ จึงยังมีหลงเหลือให้เห็นอยู่เสมอๆ ผมรู้แต่เพียงว่าถ้าผมเริ่มตื้อในการค้นหาหุ้นเมื่อไหร่ผมจะลองหันมาใช้วิธีนี้ และมักจะเจออะไรๆที่เซอร์ไพร์สเสมอๆครับ

“P/BV”(Price/Book value)

P/BV หรือ ราคาหุ้นต่อมูลค่าหุ้นตามบัญชี BVคือส่วนของผู้ถือหุ้นหรือคือมูลค่าหุ้นตามการบัญทึกบัญชี แต่ในบทนี้เรายังจะไม่พูดถึงรายละเอียดของBVจนเกินไปเช่นเดียวกับPEนะครับ เราค่อยไปพูดคุยทําความรู้จักBVกันอีกครั้งหนึ่ง

การคัดเลือกหุ้นแบบsimple simple โดยP/BV ถ้าเราแปลตามตัวอักษร จะเห็นว่าถ้าเรายิ่งสามารถซื้อหุ้นในราคาP/BVที่ตํ่าเท่าไหร่ ก็ยิ่งปลอดภัยเท่านั้น วิธีการคัดหุ้นวิธีนี้ก็เพียงง่ายๆเหมือนเดิมเพียงแต่ท่านไปซื้อหนังสือพิมพ์หุ้น ทําการไล่เรียงและคัดเลือกหุ้นที่มีP/BVตํ่าสุด(บางตัวท่านอาจจะเห็นเพียง0.2 ซึ่งหมายความว่าท่านซื้อของ1บาทในราคายี่สิบสตางค์)แล้วนํามาคัดกรองหาหุ้นที่มีโอกาสดีๆใน
อนาคตต่อไป หุ้นดีที่ผมมักจะเจอในการคัดเลือกวิธีนี้คือ หุ้นกลุ่มเทริ์นอะราวด์,หุ้นกลุ่มทรัพย์สินมากและหุ้นกลุ่มวัฎจักรครับ

แต่ช้าก่อนหุ้นที่P/BVตํ่าๆถึงแม้จะเป็นจุดแข็ง แต่ในจุดแข็งก็มีจุดอ่อนที่แฝงอยู่เช่นกัน ผมขอฝากแนวคิดสองเรื่องที่เกี่ยวกับP/BVในโลกของตลาดทุนไว้ประกอบการพิจารณาไว้ดังนี้
-นายตลาดจะมองกําไรมากกว่าราคาบุ๊คแวลู หมายความง่ายๆคือมองEมากกว่าBV ถ้าหุ้นที่เราเจอกําไรไม่กระเตื้อง กําไรสลับขาดทุน นายตลาดให้P/BVที่ถูก ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับความถูกของธุรกิจประเภทนี้
-P/BVที่บ่งบอกว่าหุ้นมีความถูกแพงตามบัญชีเมื่อเทียบกับราคาที่จ่ายไป แต่นั่นไม่ได้บ่งบอกว่าบริษัทนั้นๆประกอบกิจการมีกําไรหรือขาดทุน เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าท่านไปเจอหุ้นที่มีP/BV=0.01แล้วจะไม่มีโอกาสขาดทุนนะครับ

“ROE”(Return On Equity)

ROE คือ ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น หรือแปลแบบบ้านๆ ค่านี้คือค่าที่บอกผลตอบแทนของเงินลงทุนของเรานั่นเอง ค่านี้หาได้จากการเอากําไรสุทธิตั้งหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น เช่นบริษัทAมีกําไร200ล้าน มีส่วนทุนต้นปีอยู่ที่900ล้าน มีส่วนทุนปลายปีอยู่ที่1100ล้าน(เฉลี่ยส่วนทุนเท่ากับ1000ล้าน)=200/1000คิดเป็นเปอร์เซนต์=20เปอร์เซนต์ เป็นต้น และถ้าเรามีทางให้เลือกเช่น ถ้าบริษัทAมีROEอยู่ที่20เปอร์เซนต์ บริษัทBมีROEอยู่10เปอร์เซนต์ สมมุติว่าปัจจัยอื่นๆเหมือนกันทุกอย่าง เราต้องเลือกบริษัทAเข้าพอร์ต เพราะมีค่าROEที่สูงกว่านั่นเอง

วิธีที่สามในการหาหุ้นเพื่อไปคัดกรองต่อคือการเลือกบริษัทที่มีROEสูงที่สุดในตลาด โดยดูค่าROEได้จากไฟล์พี่ครรชิต ไพศาล ใน //www.thaivi.org มาเรียงลําดับแล้วเลือกนํามาวิเคราะห์กิจการในด้านอื่นต่อไป

ข้อควรระวังในการกรองหุ้นที่มีROEสูงมีดังต่อไปนี้
1.ผลตอบแทนที่บ่งบอกของบริษัท ไม่ได้บ่งบอกถึงที่มาของกําไร เราควรปรับกําไรที่ไม่ปรกติ(คือกําไร/ขาดทุน พิเศษที่จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว)ออกจากงบการเงินเสียก่อน
2.ไม่ควรใช้ค่าROEในกลุ่มธุรกิจที่รายได้/กําไร ไม่สมํ่าเสมอ และรวมไปถึงหุ้นในกลุ่มวัฎจักร หรือถ้าอยากจะใช้จริงๆ ก็ควรเป็นค่าเฉลี่ยในระยะยาว ตั้งแต่ช่วงที่ตกตํ่าจนถึงช่วงที่บูมสุดๆ
3.ค่าROEบ่งบอกถึงผลตอบแทนที่เราได้ แต่ไม่ได้บ่งบอกถึงประสิทธิภาพและคุณภาพของการทํากําไรของบริษัท บริษัทสามารถเพิ่มROEได้จากการกู้เงินมาลงทุนในสัดส่วนที่สูง(เพราะใช้เงินลงทุนมาจากการกู้) บริษัทที่มีการกู้มาลงทุนจึงมีความ
เสี่ยงสูงกว่าบริษัทที่ไม่ได้กู้มาลงทุน เราในฐานะนักลงทุนจึงควรมองค่าROA(Return On Asset)ประกอบด้วยอีกทางหนึ่ง
4.เมื่อได้ค่าROEในปีนั้นๆแล้วไม่ควรจะปักใจเชื่อ เราควรดูค่าROEย้อนหลังหลายๆปี ถ้าเราเจอธุรกิจที่มีROEทรงตัวในระดับสูงๆ(เกิน20เปอร์เซนต์)อย่างต่อเนื่องบ่งบอกถึงความสามารถในการทํากําไรที่มีขอบข่ายคูเมืองระดับหนึ่งทีเดียว

“YIELD”(เงินปันผล)

วิธีนี้เป็นวิธีง่ายๆอีกวิธีที่ดูได้ทางหนังสือพิมพ์ ในช่องของเงินปันผลที่โชว์เป็นเปอร์เซนต์ ให้ทําการคัดเลือกบริษัทที่จ่ายปันผลเกิน10เปอร์เซนต์ในปีที่ผ่านมา และทําการศึกษาว่าในอดีตบริษัทนี้มีการปันผลเฉลี่ยให้ผู้ถือหุ้นกี่เปอร์เซนต์ของกําไรสุทธิ แล้วนําหุ้นที่ได้มาประเมินกําไรในปีปัจจุบันว่าเขาน่าจะมีกําไรที่เท่าไหร่ และจะปันผลที่เท่าไหร่
ประสบการณ์ที่ผมเจอแทบทุกปีคือ ยังมีหุ้นที่ตัวเล็กๆ กําไรสมํ่าเสมอ ปันผลเกือบๆ10เปอร์เซนต์ให้เห็นอยู่ เพียงแต่หุ้นประเภทนี้ส่วนมากจะเป็นหุ้นโตช้า จึงไม่ค่อยเหมาะสมสําหรับคนที่หวังผลตอบแทนที่สูงเกิน15เปอร์เซนต์ครับ

“รูปแบบหรือความเฉพาะเจาะจงของธุรกิจ”

การมองในส่วนนี้จะเป็นการมองรูปแบบของธุรกิจว่าเขามีลักษณะพิเศษที่จะมีขอบข่ายคูเมืองป้องกันคู่แข่งไม่ให้เข้ามาในธุรกิจได้อย่างไร ตัวอย่างธุรกิจประเภทนี้เช่น
-การปรับปรุงระบบการบดของโรงปูนและเหมือง=LVT
-ธุรกิจรับซื้อเช็คในเครือเดียวกันเอง=DM
-ธุรกิจผลิตหัวสว่านปลายเพชร=HTECH
-ธุรกิจทําสื่อช่องทีวีดาวเทียม=NBC
-ธุรกิจปิดป้องความเสี่ยงโดยการทําข้อตกลงร่วมพลังงานทดแทน=UAC
-ธุรกิจผลิตเลนซ์สายตา=TOG เป็นต้น

การหาหุ้นในช่องทางนี้ ต้องทําการศึกษาอ่าน56-1 ใน //www.set.or.th
ส่วนมากธุรกิจกลุ่มนี้จะเป็น niche market หรือกลุ่มลูกค้าเฉพาะทาง ไม่ใช่ผลิตเพื่อตอบสนองคนหมู่มาก จึงมักจะเจอหุ้นประเภทนี้ส่วนมากในตลาดmai การยกตัวอย่างหุ้นดังกล่าวของผม ไม่ได้ต้องการสื่อว่าบริษัทดังกล่าวดีหรือไม่ดี แต่ต้องการสื่อว่า เราควรหมั่นสังเกตดูรูปแบบของธุรกิจประเภทต่างๆ เพื่อศึกษารูปแบบธุรกิจที่มีขอบข่ายคูเมืองในประเภทต่างๆครับ

การเปรียบเทียบราคาหุ้นที่แพ้ตลาดในช่วง3เดือน 6เดือน 1ปี

วิธีนี้ง่ายๆเพียงเปิดหน้าหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจวันจันทร์ ทําการคัดลอกรายชื่อหุ้นที่ราคาหุ้นขึ้นน้อยกว่าตลาดในช่วงระยะเวลา3เดือน 6เดือน 1ปี ที่มากที่สุด20-30อันดับออกมา เพื่อทําการพิจารณาพื้นฐานในวิธีอื่นต่อไป การหาหุ้นในแนวทางนี้ เราอาจจะเจอหุ้นที่ถูกตอบสนองภาพที่เลวร้ายเกินเหตุด้วยอารมณ์นักลงทุนระยะสั้น หน้าที่เราคือให้มองข้ามผ่านสิ่งที่เลวร้ายชั่วคราวนี้ไป และประเมินมูลค่าของกิจการในระยะยาวออกมาเพื่อทําการเปรียบเทียบกับราคาในตลาด ถ้าจะกล่าวถึงวิธีนี้น่าจะไปใกล้เคียงกับคําหนึ่งที่วอเรนมักจะกล่าวอยู่เสมอคือ “จงลงทุนสวนกระแสอย่างคัดสรร”นั่นเอง

การข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์

สื่อที่เราอ่านผ่านในแต่ละวัน จะมีทั้ง ข่าวดี ข่าวไม่ดี ข้อคิดเห็น คําเตือน ของผู้บริหารในบริษัทต่างๆ หน้าที่เราคือ จับประเด็นที่ผู้บริหารให้ข่าวมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ด้วยเหตุและผล มีหุ้นหลายๆตัวผมได้จุดประกายจากข่าวประเภทนี้ในหนังสือพิมพ์ธุรกิจ แต่ก็มีอีกหลายตัวที่ผมเห็นผู้บริหารทําไม่ได้อย่างที่ตนเองเคยกล่าวไว้ หน้าที่เราคือเมื่อฟังแล้วต้องนํามาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ และ ค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และถ้าสงสัยในรายละเอียดของข่าวว่าผู้บริหารให้ข่าวนั้นจริงหรือเปล่า ก็ให้โทรไปสอบถามIRของบริษัทนั้นๆอีกครั้งหนึ่งครับ




 

Create Date : 08 กันยายน 2556   
Last Update : 8 กันยายน 2556 21:03:45 น.   
Counter : 488 Pageviews.  


มหากาพย์ ไตรภาค / โดย นาย นริศ จิระวงศ์ประภา

มหากาพย์ ไตรภาค

โดย นาย นริศ จิระวงศ์ประภา

มหากาพย์ไตรภาค

ในโอกาสที่ผมได้รับการชักชวนจากทีมงาน THAIVI.ORG ให้เขียนอะไรก็ได้ที่อยากจะเขียน เล่าอะไรก็ได้ที่อยากจะเล่า โดยทางเวปจะนําไปลงใน thaivi weekly โดยสลับสับเปลี่ยนงานเขียนจากนักลงทุนหลาย ๆ ท่าน มาลงอาทิตย์ละ 1 ตอน สั้น ๆ เน้นว่าสั้น ๆ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเรื่องเขียนหนังสือ อาศัยว่าเคยตอบกระทู้ก็พอรู้เรื่อง แต่จะให้เขียนเป็นเรื่องแล้วต้องเขียนสั้น ๆ ก็เห็นว่าคงจะยาก จึงทําให้ผมเกิดไอเดียในการถ่ายทอดความรู้ แนวคิด หลักการลงทุน ที่ผมมีอยู่ โดยการร่ายยาวเป็นซีรีส์ซะเลย (เห็นกําลังนิยมกันอยู่) และด้วยความยาว จึงขอแบ่งเป็น 3 ภาค โดยภาคที่หนึ่ง ผมอยากจะสื่อเรื่อง จุดเริ่มต้นของความสําเร็จ โดยเสนอแนวความคิดและการตัดสินใจที่ผมใช้ในการลงทุน ภาคที่สองคือแนวทางการปฎิบัติตามล่าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า เป็นการชี้ช่องทางและวิธีการที่ผมมักจะใช้เพื่อประมวลผลตัดสินใจลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง และภาคสุดท้ายที่อยากจะเล่าคือปัจฉิมบท เป็นบทสรุปการดําเนินชีวิตที่สมดุลย์หลังมีอิสระภาพทางการเงิน

โดยวัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ เขียนมาเพื่อนักลงทุนมือใหม่ที่ยังค้นหาหนทางในการลงทุน เนื้อเรื่องในเล่มนี้ จะเน้นเรื่องชี้ช่องทางในการคิดและแนวทางปฎิบัติ เน้นการตอกเสาเข็ม วางรากฐานและเตรียมโครงสร้างไว้ ส่วนรายละเอียดความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่นักลงทุนควรจะต้องมี ได้มีผู้เขียนที่ดีๆมากมายหลายเล่มได้เขียนไว้แล้ว ขอให้ผู้อ่านได้สนใจที่จะอ่าน และนําไปแต่งเติมบ้านในแบบที่ตนเองชอบนะครับ

และขอออกตัวก่อนว่า เนื้อเรื่องที่ผมนํามาเขียนนั้นหลายเรื่องก็อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่อง “ครูพัก ลักจํา” เอาของเขามายํามาโซ้ย ถ้ามีผิดพลาดตกหล่นประการใด หรือไม่เห็นด้วยเรื่องไหน ผมขอรับผิดแต่เพียงผู้เดียวคร้าบ.
ภาคที่1 กระบวนการแนวความคิด&การตัดสินใจ

ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คน คงเคยสงสัยในเรื่องเดียวกันกับผม ที่ว่า ในบรรดาผู้คนที่เรารู้จัก ทําไมหลาย ๆ คนถึงได้ดูราวกับว่าเขาเหล่านั้นประสบความสําเร็จในชีวิตอย่างง่ายดาย ทําอะไรก็ดูจะถูกที่ ถูกเวลาไปเสียหมด เข้าทํานอง “คิดอะไรก็ใช่ ทํายังไงก็ถูก” แถมยังถูกซํ้าแล้วซํ้าอีก จนบางคนสามารถประสบความสําเร็จในทางหน้าที่การงาน หรือบางคนก็สร้างเนื้อสร้างตัวได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นเศรษฐี หรือมหาเศรษฐีในเวลาไม่นานนัก แตกต่างกับบางคนที่มักจะผิดพลาดอยู่เสมอ ผิดที่ ผิด
เวลา ชีวิตที่ผ่านมาเจอแต่ปัญหาอุปสรรคให้เสียจังหวะอยู่รํ่าไป เข้าทํานองตรงข้ามกันคือ “ทําอะไรก็ผิด คิดอะไรก็พลาด” อยู่ตลอด

แล้วอะไรเป็นสิ่งกําหนดชะตาชีวิต ที่ทําให้คนที่ประสบความสําเร็จ แตกต่างกับคนโดยทั่วไป ?

>>>บางคนอาจจะคิดถึงการศึกษาที่แตกต่างกัน…
… แล้วมันจะจริงหรือเปล่า…?
เพราะอย่างที่เราเห็น ๆ กันอยู่ เศรษฐีในประเทศหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าสัวเจริญ แห่งอาณาจักรไทยเบฟ เจ้าสัวเฉลียว แห่งค่ายกระทิงแดงที่รู้จักกันดี หรือแม้แต่เศรษฐีต่างประเทศอย่างบิล เกทส์ แห่งไมโครซอฟท์ หรือ สตีฟ จ๊อป แห่งแอปเปิ้ลแหว่ง ต่างก็เรียนไม่จบเหมือนกัน

>>>บางคนอาจจะคิดถึงพื้นฐานบุญเก่าที่สร้างสมมาดี ทําให้ได้อยู่ในที่โอกาสเหมาะสม เรียกว่าถูกที่ ถูกเวลาทุกทีไป
… จริงหรือ…?
เพราะเท่าที่ผมได้อ่านประวัติของหลาย ๆ ท่านที่ประสบความสําเร็จในชีวิต ชีวิตของบางท่านอาจถือได้ว่าเริ่มต้นจากศูนย์ หรือบางท่านต้องพบกับความยากลําบากในจุดเริ่มต้นของชีวิตที่อาจจะถือว่าติดลบด้วยซํ้า
ถึงตรงนี้ หลายคน ก็คงคิดหาสาเหตุไปร้อยแปด

>>>พระเจ้าดลบันดาล…?
>>>กรรมเก่ามาเอาคืน…?
>>>หรือบางคนอาจจะคิดถึงทฤษฎีต่างประเทศที่ว่า Random Four – Random Five หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ฟลุก” อธิบายเป็นภาษาชาวบ้านได้ว่าเกิดจากการสุ่มของธรรมชาติที่ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวนั่นเอง

“โดยส่วนตัวผมเอง ไม่คิดว่าเป็นไปตามหลักสุ่มสี่สุ่มห้า หรือฟลุกหรอกครับ”

ผมคิดถึงสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้กว่าสองพันปีมาแล้วว่าทุก ๆ อย่างของผล ล้วนเกิดโดยมีเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ทุกสิ่งที่เกิด ล้วนมีเหตุอันเป็นที่มาของสิ่งนั้น หรือคุยกันง่าย ๆ ให้เห็นภาพว่าถ้าเราอยากได้ผลอะไร ก็ไปหาเอาได้ที่ต้นนั้นๆ เช่น ถ้าเราอยากกินมะม่วง ก็ควรไปหาที่ต้นของมะม่วง ไม่ใช่ไปที่ต้นของมะพร้าว ใช่ไหมครับ ในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราอยากรู้ผลในเรื่องอะไร เราก็ไปหาที่ต้นเหตุของเรื่องนั้นให้เจอ…..

… แล้วต้นเหตุหล่ะมันหาอย่างไร มันอยู่ตรงไหน…?

พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสไว้อีกนั่นแหละว่า… “ทุกๆอย่างเริ่มจากจิต” หรือถ้าเป็นภาษาทางโลกอย่างที่ผมเข้าใจ คือ “ทุกๆอย่างเริ่มต้นจากความคิด” ผมจึงมองเห็นว่า คนกลุ่มนี้มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันค่อนข้างชัดเจน คือเรื่อง แนวความคิดและการตัดสินใจ

คนกลุ่มที่ประสบความสําเร็จในชีวิตนั้น จะผ่านการตกผลึกทางความคิด มีความสามารถในการคิดและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านมาในชีวิตได้ “ถูกมากกว่าผิด” (โดยเฉพาะเรื่องสําคัญ ๆ) คนกลุ่มนี้ผมเชื่อว่า ขั้นตอนในการคิดของพวกเขาค่อนข้างเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการเรียงลําดับความคิดอย่างเป็นระบบ และ มีที่มาที่ไปของความคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งต่างกับคนอีกกลุ่มที่ไม่ค่อยประสบความสําเร็จในชีวิต ที่ตัดสินใจด้วยความคลุมเครือ ใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อได้ตัดสินใจไปแล้ว ก็มักจะไม่มั่นใจในการตัดสินใจของตนเอง ประกอบกับการตัดสินใจโดยสัญชาตญาณนั้น เมื่อคิดถูกในเรื่องใด ก็จะไม่รู้ว่าตนเองคิดถูกในเรื่องนั้นเพราะอะไร หรือถ้าตัดสินใจผิด ก็ไม่รู้ว่าต้นเหตุที่ตนผิดอยู่ตรงไหน(เห็นแต่อาการของความผิด) จึงไม่สามารถนํามาเป็นบทเรียนในการคิดหรือในการตัดสินใจในเหตุการณ์ทํานองเดียวกันได้อีกในครั้งต่อไป นั่นคือความแตกต่างระหว่างคนสองกลุ่มนี้

ผมจึงอยากจะแยกแยะให้ทุกท่านได้เห็นกระบวนการคิดของคนเรา ซึ่งหลายท่านอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องพื้น ๆ ไม่เห็นมีอะไรแปลกใหม่เลย มีแต่เรื่องที่รู้ ๆ กันอยู่ หรือรู้มาตั้งนานแล้ว ก็ต้องขออภัยที่ผมเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน ซึ่งผมคิดว่าจริง ๆ แล้ว สําหรับท่านที่รู้ ก็คงเป็นเพราะท่านเองก็เป็นคนหนึ่งที่ประสบความสําเร็จในชีวิตนั่นเองครับ

ผมขอแยกแยะกระบวนการ หรือองค์ประกอบต่าง ๆ ของการคิดออกมา โดยขอเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์ให้เข้าใจง่ายขึ้นในการทําความรู้จักกระบวนการคิดของพวกเรานะครับ

ผมคิดว่ากระบวนการคิดและตัดสินใจของคนเรา มีองค์ประกอบอยู่ 4 ส่วน

1. ฮาร์ดแวร์ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จับต้องได้ ถ้าจะเทียบกับคนเราก็คงเป็นองค์ประกอบต่าง ๆ ของร่างกายจําพวกหู ตา จมูก ปาก เหมือนซีดีรอม คีย์บอร์ด จอภาพ ที่เอาไว้รับรู้ ตอบสนองและแสดงผล สมอง เหมือนซีพียู และฮาร์ดดิสก์ไว้เก็บข้อมูล &ประมวลผล โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าโดยปกติเราใช้ฮาร์ดแวร์ในร่างกายกันไม่เต็มที่ โดยเฉพาะในเหตุการณ์ปกติ เคยเห็นว่ามีคนวิเคราะห์วิจัยพบว่ามีการใช้งานของสมองเพียง 5 เปอร์เซนต์เท่านั้นเอง และเท่าที่สังเกตุคนที่ประสบความสําเร็จในชีวิตส่วนมากก็ไม่ได้มี IQ หรือมีสมองที่เหนือกว่าคนอื่นอย่างชัดเจน ดังนั้นโดยส่วนตัวผมจึงคิดว่า ฮาร์ดแวร์ เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง ที่มีความจําเป็นที่
ขาดไม่ได้เท่านั้นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าว่าความสําเร็จของคนขึ้นกับใครมีฮาร์ดแวร์ที่ดีกว่ากัน คนที่มีฮาร์ดแวร์พอใช้ได้ ผมคิดว่าก็สามารถจะไต่เต้าไปถึงจุดสูงสุดได้เช่นกันครับ

2. ซอฟต์แวร์ คือโปรแกรมที่สั่งให้ฮาร์ดแวร์ทํางาน หรือชุดคําสั่งที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อกําหนดให้ฮาร์ดแวร์มีการทํางานตามลําดับขั้นตอน ถ้าจะเทียบกับคนเรา อาจเป็นเรื่องของ แนวคิด กระบวนการคิด การตัดสินใจ ให้ทําอะไร เมื่อไร ที่ไหน หรืออาจเปรียบเสมือนแผนที่และเข็มทิศนําทาง ที่คอยบอกว่าจุดหมายที่ต้องการนั้นต้องไปทางไหน โดยส่วนตัวผมมองว่าจุดนี้เป็นจุดที่สําคัญมากๆจุดหนึ่ง ซึ่งหลาย ๆ คน ก็มักจะพลาดในจุดนี้
ชีวิตพวกเรามองจุดหมายที่คล้ายๆกัน เช่น ต้องการประสบความสําเร็จในการเลือกหุ้น ทุกๆคนคิดที่จะรวยจากหุ้นเหมือนๆกัน แต่ทําไมแต่ละคนได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ส่วนหนึ่งเกิดจาก พวกเรามองแต่จุดหมายที่กําลังจะไป แต่กลับไม่ได้มาทบทวนตนเองว่า “แผนที่นําทางของเรานั้นถูกหรือผิด” ภาษาทางโลกกับทางธรรมใช้คําๆเดียวกันในเรื่องนี้คือคําว่า “หลง”
แล้วสิ่งที่จะทําให้เรามองสิ่งต่างๆได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ไม่หลงทางนั้นผมคิดว่า เราต้องมีแผนที่หรือแนวคิดที่ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งผมขอยกเรื่องแนวคิดซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ไว้คุยกันคราวหน้านะครับ

3. ดาต้าเบส หรือ ฐานข้อมูล ในอดีตต้องยอมรับว่า คนที่กุมข้อมูลข่าวสารนั้นได้เปรียบมาก ๆ ในตลาดหุ้น แต่ในปัจจุบันช่องว่างนั้นได้แคบลงไปมากแล้ว และกลับกลายเป็นยุคที่ข่าวสารข้อมูลท่วมท้นเสียมากกว่า คนที่จะประสบความสําเร็จในชีวิตได้ในยุคนี้ ไม่เหมือนเช่นในอดีตที่ใครมีข้อมูลมากกว่าคือผู้ชนะ แต่ในยุคปัจจุบันนี้ ผู้ชนะ คือผู้ที่สามารถคัดกรองข้อมูลได้ถูกต้องมากกว่า เพราะข่าวสารปัจจุบัน มีทั้งที่เป็นความเห็นและความจริง ผสมปนเปเป็นแกงโฮ๊ะให้เราต้องแยกกันเอาเอง ทั้งจากกูรูที่รู้จริงและกูไม่รูที่ไม่รู้จริง แถมยังมีกูรูที่มีผลประโยชน์แอบแฝงมาเบี่ยงเบนประเด็นไปเสียอีก

ในเรื่องนี้ ผมคิดว่าคนที่ประสบความสําเร็จ จะมีความโดดเด่นจากคนที่ไม่ประสบความสําเร็จ ด้วยเหตุผลในสองด้านคือ

-พวกเขาสามารถแยกแยะข้อมูลได้อย่างถูกต้องระหว่าง ความเห็นกับความจริง ของเหตุการณ์ที่กําลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

-พวกเขามองข่าวสารอย่างเป็นกลาง มองอย่างที่มันกําลังจะเกิดขึ้น ต่างกับคนที่พลาด ที่มองข่าวสาร ในมุมอย่างที่เขาคิดไว้ก่อน และเห็นมันในทางที่พวกเขาอยากจะเห็น ไม่ใช่มองเห็นอย่างที่ความจริงกําลังจะเป็น

4. Bug & Virus ถ้าแปลกันจริง ๆ ผมคิดว่าจะยิ่งงง ขอทับศัพท์เลยนะครับ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ขัดขวางการทํางานของฮาร์ดแวร์ และ ซอฟต์แวร์ ทําให้แต่ละส่วนทํางานไม่ประสานกัน หรือ ทําให้เราคํานวณผิดพลาดจากความเป็นจริง ถ้าเปรียบเทียบเป็นตัวเรากับการลงทุน Bug และ Virus คงเปรียบได้กับกิเลส 3 ตัว คือ

“ความกลัว ความโลภ และ ความหลง”

กิเลสทั้งสามนี้จะทําให้ การคิด การอ่าน การประเมินผล ของเรานั้นไม่ตั้งอยู่บนหลักของเหตุและผล ซึ่งในการลงทุน ถ้าเราต้องการตัดสินใจให้ถูกต้องด้วยเหตุที่เราคิด ใตร่ตรองอย่างรอบคอบไว้แล้วว่าผลที่จะเกิดตามมานั้น เป็นผลดีอย่างแน่นอน(แผนที่ถูกต้อง) เราก็ควรจะมองกิเลสทั้งสามให้ออก คนที่ประสบความสําเร็จในด้านการลงทุน เขาเหล่านั้นมองเห็นกิเลสที่กําลังก่อขึ้นในใจตนเอง เขาเลือกที่จะมองและพิจารณาไปที่กิเลสทั้งสามเสมือนว่านั่งดูหนัง และเข้าใจว่าสิ่งที่เห็นนั่นคือบทบาท หรือเหตุการณ์ที่ดําเนินไปในเรื่อง เขาสามารถรู้และเข้าใจถึงอารมณ์ตนเอง ว่าเกิดขึ้นจากอะไร และไม่ปล่อยให้การกระทําของตนเองคล้อยไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามเหตุการณ์ในขณะนั้น และตัดสินใจทําสิ่งต่าง ๆ ด้วยเหตุผล ที่ถูกต้อง ในเวลาที่เหตุการณ์หรือนายตลาดดูเหมือนจะไม่มีสติครับ นักลงทุนมือหนึ่งของโลก อย่างเช่น วอเรน บัฟเฟตต์ จึง กล่าวไว้ว่า ถ้าเราอยากประสบความสําเร็จในชีวิตการลงทุน “จงลงทุนแบบสวนกระแส อย่างคัดสรร”

เราย้อนกลับมาที่หลายๆท่านอาจจะยังสงสัยเรื่องที่ผมได้เกริ่นก่อนหน้านี้ไว้ว่า
“ทุกๆอย่างเริ่มต้นจากความคิด”

หลาย ๆ ท่านยังอาจจะแย้งอยู่ในใจ……………..?
อะไรจะขนาดนั้น……… ?
แค่ความคิด จะมีผลขนาดนั้นได้อย่างไร………..?

ผมขอให้ท่านลองเปรียบชีวิตของเราเหมือนกับเราอยู่ใจกลางป่าใหญ่ เราต้องการที่จะกลับบ้าน มีทางเลือกให้เราเลือกไปอยู่หลายทาง ด้านหนึ่งเป็นเหวลึก ด้านหนึ่งเป็นหน้าผาสูงชัน อีกด้านหนึ่งเป็นป่ารก การจะเดินทางต่อไป บางคนก็เลือกที่จะปีนลงเหว เพื่อจะเดินลงไปหาแม่นํ้า บางคนก็เลือกเดินฝ่าเข้าไปในป่า เพื่อไม่ให้เสียเวลา บางคนก็เลือกที่จะปีนป่ายหน้าผาขึ้นไปยอดเขา เพื่อต้องการมองให้เห็นทิศทางที่จะต้องไปก่อน หรือบางคนก็ไม่กล้าตัดสินใจ ปล่อยเวลาไปกับการเที่ยวเล่น เตร็ดเตร่ ย้อนไปย้อนมา ไม่เลือกทางไหนสักทาง ซึ่งแต่ละด้านที่แตกต่างไปก็เปรียบเสมือนเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกัน……..ท่านเพียงแค่คิดว่าจะเลือกเดินทางใดทางหนึ่ง ความคิดนั้นก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางชีวิตต่อไปในอนาคตของท่านเลย จริงไหมครับ……

เพราะเวลาเป็นสิ่งที่ย้อนกลับมาไม่ได้อีก การเลือกเดินในเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งจึงเป็นเรื่องสําคัญ เพราะอย่างที่บอกว่านั่นเท่ากับเป็นการกําหนดจุดเริ่มต้นของเส้นทางชีวิต ซึ่งก็อาจหมายถึงจุดหมายปลายทางที่แตกต่างกันด้วยเช่นกันครับ

ประเด็นที่อยากให้ท่านสนใจนั้นอยู่ที่ท่านมีแผนที่ ที่สามารถทําให้ท่านเลือกทางเดินได้ถูกต้องแล้วหรือยัง ความคิดในการเลือกเส้นทางการลงทุน เปรียบเสมือนแผนที่นําทางการลงทุนให้ท่าน บางคนกว่าจะรู้สึกได้ว่าตัวเองเดินทางมาผิดทาง ก็ไกลโข เสียเวลาไปมากมาย หรือบางคนกว่าจะรู้ ก็อาจจะเสียเวลาไปเกือบทั้งชีวิตก็มี

ซึ่งมันเหนื่อยขึ้นอีกหลายเท่าเลยนะครับ เมื่อรู้ว่าที่เราเพียรทํามาทั้งชีวิต… มันผิดทาง

หลังจากที่เรารู้แล้วว่า แนวคิดสําคัญมากขนาดไหน ผมขอเสนอแนวคิดที่ผมได้ใช้เป็นแผนที่นําทางในการลงทุน สักสี่เรื่องพอหอมปากหอมคอ ดังต่อไปนี้นะครับ

แนวคิด การเล่นหุ้นคือการประกอบกิจการ

ก่อนอื่นต้องขอโทษคนส่วนมากที่เข้าใจแนวคิดในเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว ครั้นผมจะกล่าวถึงเรื่องอื่น โดยไม่กล่าวถึงเรื่องที่เป็นหัวใจสําคัญที่สุดของการเป็นนักลงทุน
ก็กระไรอยู่ ท่านที่รู้อยู่แล้วก็ผ่านบทนี้ไปได้เลยครับ ไม่น่าจะเป็นไร แต่ท่านไหนที่ยังไม่เคลียร์ ขอให้ท่านทําความเข้าใจในเรื่องนี้ให้อย่างถ่องแท้นะครับ เพราะอย่างที่ผมได้กล่าวไปเบื้องต้นว่า ถ้าท่านคิดจะเป็นนักลงทุนแนวVI(Value Investor) เรื่องนี้ถือว่าเป็นแกนหลักยึดเหนี่ยวการลงทุนทีเดียวครับ

ก่อนอื่นเรามาทําความเข้าใจในวิธีหาเงินกันก่อนนะครับว่ามีกี่รูปแบบและอะไรบ้าง ในเรื่องวิธีการหาเงินนี้ผมได้แนวคิดมาจากพ่อรวยเรื่องเงินสี่ด้าน ถ้าใครอยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมก็ซื้อมาอ่านดูนะครับ การแยกประเภทการหาเงินของเขามีอยู่สี่รูปแบบคือ

1.ลูกจ้าง=การหาเงินโดยใช้แรงกายเข้าแรก1ต่อ1 โดยไม่มีตัวช่วย อาชีพในกลุ่มนี้นับตั้งแต่คนขายแรงงานหาเช้ากินคํ่า ไปถึงดารานักฟุตบอลที่มีค่าตัวเดือนละหลายล้านบาท การหาเงินในกลุ่มนี้จะใช้เวลาของตนเองเข้าไปแลกกับเงินโดยตรง มีเงินเดือนที่ตายตัว ถ้าหยุดการทํางาน ก็ไม่ได้เงิน

2.เจ้าของกิจการ=การหาเงินโดยใช้แรงกายเข้าไปแลก แต่แตกต่างจากกลุ่มแรกคือ คนกลุ่มนี้เป็นเจ้านายของตนเอง ทํามากได้มาก ทําน้อยได้น้อย แต่ยังเหมือนกันอยู่อย่างคือ ยังต้องเป็นหนูปั่นจักร ถ้าไม่ทําก็ไม่ได้เงิน สังเกตกันดีๆจะเห็น
ว่า คนที่เล่นหุ้นประเภทต้องเฝ้าหน้าจออยู่ตลอดเวลา เข้าข่ายคนกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าคนเล่นหุ้นจะมีตัวช่วยพิเศษในเรื่องของเงินเข้ามาช่วยเพิ่มความเร่งให้กับจักรอีกแรงหนึ่ง แต่ถ้าเขาหยุดเทรดเขาก็ไม่ได้เงิน

3.การหาเงินโดยใช้แรงกาย+แรงสมองเข้าแรก=กลุ่มนี้จะพิเศษกว่าคือจะมีส่วนของระบบและคนมาช่วยแบ่งเบาภาระในบางส่วน ทําให้เขาสามารถหยุดการทํางานเป็นช่วงๆได้โดยเนื้องานไม่สะดุด หมายความว่าถึงแม้นคนกลุ่มนี้จะไม่ทํางาน แต่ยังสามารถมีรายได้และกําไรตราบเท่าที่ระบบและคนที่วางไว้ทํางานแทนให้ คนกลุ่มนี้มีส่วนน้อยนักที่สามารถพัฒนาองค์กรจนกระทั่งเหวี่ยงงูให้พ้นคอ ลอยตัวจากปัญหาของธุรกิจของตนเองได้ ส่วนมากถ้าองค์กรไม่ใหญ่พอ คนกลุ่มนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองที่ยังต้องขับเคลื่อนไปกับองค์กร ไม่สามารถหยุดงานได้เบ็ดเสร็จจริงๆ

4.การหาเงินโดยใช้แรงสมองเข้าแรกเพียงอย่างเดียว=คนกลุ่มนี้สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ไม่ต้องเอาแรงกายไปแรกเงินมา กลุ่มนี้เรียกตนเองว่า “นักลงทุน”คนกลุ่มนี้จะลงทุนในทรัพย์สินประเภทต่างๆ รวมไปถึง “คนเล่นหุ้น” อย่างเราๆท่านๆด้วย คนกลุ่มนี้จะใช้เงินให้ไปทําหน้าที่หาเงินแทนเรา ถ้าจะพูดในมุมมองของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หน้าที่นักลงทุนคือเลือกซื้อกิจการที่เราต้องการเป็นเจ้าของและคอยติดตามดูผลการดําเนินงานของกิจการเป็นระยะๆ

จะเห็นได้ว่า การลงทุน คือการให้เงินทําหน้าที่หาเงินแทนเรา ผมว่าทุกๆคนเข้าใจในเรื่องนี้ แต่ยังเข้าใจในวิธีการ เอาเงินไปต่อเงินที่ไม่เหมือนกัน คนกลุ่มหนึ่งมองราคาหุ้นเป็นหลัก มองผลก าไรอยู่ที่ส่วนต่างของราคาหุ้น มองว่าท าอย่างไรจะขายให้แพงกว่าที่ซื้อมา โดยไม่มองว่าทรัพย์สินชิ้นนั้นมีราคาเท่าไหร่ ถ้ามองในมุมนี้จะคล้ายๆการเล่นแชร์ลูกโซ่ ใครเป็นไม้แรกก็รวยไป ใครจะมารับเป็นไม้สุดท้ายก็กินแกลบ แต่ยังมีคนอีกกลุ่มมองว่า การลงทุนคือการเลือกซื้อกิจการในมูลค่าที่เหมาะสม และให้กิจการนั้นหาเงินให้แก่เรา คนกลุ่มนี้จะประเมินมูลค่าของกิจการให้ออกว่ามีมูลค่าเหมาะสมทั้งกิจการอยู่ที่เท่าไหร่ และทําการเปรียบเทียบกับราคาในตลาด ส่วนต่างของสองราคานี้จะเรียก Upside หรือ MOS(magin of safety)ก็ได้ครับ

ประเด็นสําคัญมันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่เราต้องใช้มันสมองเข้าแรกผลตอบแทนที่เราอยากจะได้ โดยการศึกษาธุรกิจที่เราจะไปลงทุนว่ามูลค่าที่เหมาะสมอยู่ที่เท่าไหร่ และซื้อในราคาที่ถูกกว่ามูลค่าที่มันควรจะอยู่ให้มากที่สุด เมื่อเลือกได้แล้วก็เพียงแต่ซื้อแล้วถือเพื่อให้กิจการทํางานแทนเราจนกว่าธุรกิจเขาเปลี่ยนแปลงไปหรือเราเจอบริษัทที่ถูกและดีกว่าจึงทําการขายธุรกิจเดิมเพื่อไปซื้อธุรกิจใหม่ ถ้าท่านบอกว่ารู้…แต่ว่าไม่รู้วิธีการประเมินมูลค่าของกิจการ หรือ รู้….แต่เคยประเมินแล้วมันผิดพลาด หรือ รู้….แต่มันยากและนานเกินไปในการศึกษา

จริงอยู่ว่ามันยาก และใช้เวลา เพราะผมเคยใช้เวลาถึงสองสามปีในการมองเห็นแนวทางการประเมินมูลค่าของกิจการอย่างชัดเจนและมั่นใจในแนวทางของตนเอง แต่ผมคิดว่าประสบการณ์ของผมที่นํามาเขียนหนังสือเล่มนี้ บางทีท่านอาจจะใช้เวลาเพียงสองสามวันในการอ่านและทําความเข้าใจ และนําไปฝึกฝนเพียงสองสามเดือนก็สามารถประเมินมูลค่าของกิจการที่ตนเองลงทุนได้อย่างคร่าวๆ
เพียงแต่ท่านต้องยอมหงายแก้ว รองรับน ้าที่ผมจะรินใส่ในแก้วของพวกท่านนะครับ แล้วท่านจะรู้ว่า “การเล้นหุ้น คือ การประกอบกิจการ” จริงๆ

แนวคิดที่สอง “เวลา”

เกี่ยวกับเรื่องของเวลา ผมมีแนวความคิดอยู่หลายแนวทางครับก็ต้องขออนุญาต เล่าสู่กันฟังไปเรื่อย ๆ นะครับ อาจจะมีเนื้อนิด นํ้าหน่อย ผสมปนเป ก็ถือว่าอ่านนิยายแล้วกันนะครับ

“เวลา” ในความคิดผม สิ่งนี้เป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดในการบริหารจัดการ หลายท่านที่มีความรู้มากกว่าผมอาจจะงง เพราะตําราเล่มไหน ๆ ก็กล่าวถึงเพียงแค่ 4M (Man, Money, Material and Management) เท่านั้นเอง แต่ผมอยากจะขอแถม Time หรือเวลาเข้าไปอีกอย่างครับ บางท่านอาจจะบอกว่าอยู่ใน Time Management ไงล่ะ ผมคิดว่าก็อาจจะเป็นอย่างนั้นในตําราบางเล่ม เพียงแต่ต้องขอยกออกมาให้ชัดเจน เพื่อให้ท่านได้เห็นความสําคัญของมันในเรื่องที่เราคุยกันอยู่ครับ เพราะการจัดการจะมีประสิทธิภาพที่สุด ก็ต่อเมื่อได้เนื้องานที่ต้องการ ในเวลาที่กําหนดเท่านั้น เช่นมีร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ทําอาหารได้อร่อยมากๆ แต่ทําอาหารออกมาจานละชั่วโมงก็คงไม่ไหว ไช่ไหมครับ

เคยมีคนกล่าวถึงเรื่องเวลาในมุมมองของธุรกิจไว้ว่า เวลาเป็นสิ่งเดียวที่เงินซื้อไม่ได้ เราได้เวลามาคนละเท่า ๆ กัน และที่สําคัญ เราได้มันมาอย่างจํากัดเสียด้วย เราจึงควรรบริหารจัดการมันให้ดีที่สุดในแต่ละวัน พูดง่าย ๆ ก็ใช้มันให้คุ้มค่านั่นแหล่ะครับ การใช้เวลาให้คุ้มค่าในความคิดของผม ไม่ได้หมายความว่าท่านต้องใช้เวลาทั้งหมดไปทุ่มเทให้กับงาน งาน งาน และงาน หรือต้องทําเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเป็นพิเศษเพื่อชดเชยเวลาอันจํากัด แต่การใช้เวลาให้คุ้มค่าในความคิดของผม จะหมายถึงให้ท่านพิจารณาถึง ผลที่ได้มาเมื่อเทียบกับเวลาที่ท่านกําลังเสียไปกับเรื่องนั้น ๆ มากกว่า

อย่างที่ได้คุยกันไปแล้วข้างต้น ถ้าท่านเลือกทางเดินผิดทาง ก็เท่ากับว่าสิ่งที่เพียรพยายามมาตลอดกลับพาตัวท่านไปยังจุดหมายที่ไม่ต้องการ ท่านก็จะเสียเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ นอกจากนั้นประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างทางยังอาจจะทําให้ได้ความเชี่ยวชาญที่ผิด ๆ มาเป็นของแถมอีกด้วย

ผมขอยกตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมขึ้นมาอีกนิด เพื่อให้เห็นภาพ ไหน ๆ ตอนแรกก็เปรียบกับคอมพิวเตอร์แล้ว เพื่อให้ต่อเนื่องก็ขอยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวนะครับ

ผมมีเพื่อนสองคนที่หลงในเทคโนโลยี ไอทีคอมพิวเตอร์ด้วยกันทั้งคู่ คนแรกตัดสินใจเลือกที่จะใช้เวลาไปกับการศึกษา เรียนรู้ถึงกระบวนการต่าง ๆ ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ คนที่สองเลือกเอาความลุ่มหลงและตอบสนองความต้องการด้วยการสรรหามาลอง ตอบสนองความสนุกในการใช้ เรียกว่ารุ่นไหนออกใหม่ ต้องมีหมด ทั้งไอแพด ไอโฟน ไปจนไอติม (ถ้ามันจะมี) จนเมื่อวันเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง ๆ ท่านทั้งหลายก็คงเดาออก ทั้งสองคนมีความสุขกับเส้นทางที่ตนเองเลือกโดยที่คนแรกกลายเป็นโปรแกรมเมอร์ที่มีทักษะ มีความเข้าใจระบบการทํางานของเครื่องไม้เครื่องมือทั้งหลายอย่างทะลุปรุโปร่ง ยิ่งไปกว่านั้น อนาคตเขาอาจจะเป็นคนที่คิดชุดคําสั่งหรือระบบอะไรสักอย่างให้กับเครื่องมือพวกนั้นด้วยซํ้าไป ในขณะที่คนที่สอง ก็จะมีอุปกรณ์จําพวกนี้แทบทุกรุ่น เก็บเป็นซากบ้าง เสียบ้าง มีความรู้ในการใช้อุปกรณ์แทบทุกชนิด แต่ไม่มีทักษะในการมองระบบทั้งระบบ และสุดท้าย เขาก็ยังต้องคาดเดา รอคอยว่าอะไรจะออกมาใหม่ และวิ่งไล่ตามให้ทันกับอุปกรณ์พวกนั้นอยู่ดี

สิ่งที่ผมอยากจะบอกในเรื่องนี้ก็คือ ท่านมีความสุขความพอใจกับเป้าหมายแบบไหน และท่านได้อะไรจากการเดินทางในเส้นทางสายนั้น คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปแค่ไหน เวลาที่เราเสียไปอยู่ทุก ๆ วันนี้ มันเพิ่มทักษะอะไรให้กับเราบ้าง และที่สําคัญทักษะนั้นสามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ต่อยอดแนวความคิดของเราได้หรือไม่

เรื่องของการลงทุนก็เช่นเดียวกัน การนั่งเฝ้าหน้าจอดูตัวเลข , ดูกราฟที่เปลี่ยนแปลง เวลาที่ท่านเสียไป 1 วัน 1 เดือน 1 ปี หรือ 10 ปี… ท่านได้พัฒนาอะไรไปบ้าง เมื่อเทียบกับการใช้เวลาเท่า ๆ กัน ในการอ่านหนังสือกูรูหุ้น อ่าน 56-1 อ่านรายงานการประชุม ดูงบการเงิน วิเคราะห์รูปแบบธุรกิจ ในหุ้นแต่ละตัว แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม……..ผมไม่บอก ท่านก็คงรู้ว่า บรรทัดสุดท้ายของชีวิตสองคนนี้ ว่าใครจะมีงบการเงินที่สวยกว่ากัน

แนวคิดที่ผมคิดว่าน่าสนใจอีกแนวหนึ่ง สําหรับเรื่องเวลา คงเป็นเรื่อง “การบริหารจัดการเวลาอย่างเข้มข้นและมีตัวช่วย” ครับ เพราะในขณะเราต้องการที่จะประสบความสําเร็จทางด้านการเงิน การลงทุน แต่ปัจจัยบางอย่างใน 4M ของเราอาจ
มีไม่เท่ากับคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ นั่นแปลว่าเราต้องให้ความสําคัญกับการบริหารจัดการเรื่องเวลาให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด หรือประสบความสําเร็จนั่นเองครับ เพราะอย่างที่ผมเคยเกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ว่า แม้ว่าเวลาจะเป็นสิ่งเดียวที่หาซื้อไม่ได้ แต่เราทุกคนมีเวลาคนละเท่า ๆ กัน ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันในเรื่องของของปัจจัยข้อนี้ครับ

ก่อนที่ผมจะนําเข้าเรื่อง “เวลา” อีกครั้ง ผมขอพาท่านทั้งหลายรําลึกความหลัง เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ในเรื่อง “เวลา” ในเรื่องเก่าแก่นี้ บางท่านอาจจะนึกได้ไม่ยาก เพราะพึ่งจะได้ติวให้ลูกไปไม่นาน หรือบางท่านก็อาจจะนานนนนนนมาก เพราะลูกๆเรียนจบหมดแล้ว ฮา. แต่ผมคิดว่าคงพอนึกออกได้ไม่ยากหรอกครับ เพราะชื่อย่อหุ้นเกือบ500ตัวยังจําได้เกือบหมดเลยครับ ฮา.

เรื่องแรก น่าจะเป็นความรู้วิชาวิทยาศาสตร์ ม.ต้น ในบทแรงและการเคลื่อนที่ ที่กล่าวไว้ว่า แรงกิริยาเท่ากับแรงปฎิกิริยา แปลง่าย ๆ ก็ Action = Reaction นั่นล่ะครับความหมายของมันก็ไม่ซับซ้อน คือถ้าลงแรงกระทําเท่าไร ก็จะได้ผลลัพธ์ของแรงนั้นกลับมาเท่ากัน อ่านถึงตรงนี้อาจจะงง ตกลงว่าเกี่ยวกันตรงไหน เกี่ยวกันตรงที่ว่า ถ้าท่านทุ่มเทสนใจในการศึกษาพื้นฐานของกิจการมากเท่าไหร่ ท่านก็จะได้ความรู้ความเข้าใจในกิจการนั้นตอบสนองกลับคืนมามากเท่านั้นเช่นกันครับ ท่านอาจจะคิดว่ากฎข้อนี้ก็พื้น ๆ ไม่มีอะไรเด็ดๆเลย เอามาพูดทําไม…ผมว่าเราไปดูข้อถัดไปเพื่อหาตัวช่วยดีกว่า

เรื่องที่สอง คานและโมเมนต์ ที่พูดถึงการออกแรงที่น้อยแต่ได้งานที่มากกว่า……กฎข้อนี้ได้สอนเราในเรื่อง เราต้องหาจุดหมุน หาเครื่องทุ่นแรง ที่ทําให้เราออกแรงน้อยที่สุด แต่ได้งานมากที่สุด……..แล้วมันหมายความว่าไงล่ะ… เกี่ยวกันตรงไหน ยังไม่เห็นเข้าใจ

งั้นเราก็ไปดูกฎข้อสุดท้ายเลยแล้วกัน จะได้เข้าใจกันเสียที…… เดี๋ยวท่านทั้งหลายจะว่าผมอ่านแต่ฟิสิกส์ เพราะฉนั้นเรื่องสุดท้ายอยู่ในวิชาชีววิทยาครับ เรื่องพันธุศาสตร์กับวิวัฒนาการ

เรื่องที่สาม การอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต โดยอาศัยการสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ของธรรมชาติมีอยู่ 3 ประเภท

1.การขยายพันธุ์แบบการแบ่งตัว ก็ค่อย ๆ งอกจากตัวเดิมออกมาเป็นติ่ง ใหญ่ขึ้น ๆ แล้วก็หลุดออกมาดื้อ ๆ นี่แหละครับ จากหนึ่งเป็นสอง สองเป็นสี่ ทวีคูณไปเรื่อย ๆ มีพวกเชื้อรา แบคทีเรียเป็นตัวอย่างครับ

2.การขยายพันธุ์แบบการผสมพันธุ์ การขยายพันธุ์แบบนี้จะมีการถ่ายทอดพันธุกรรมจากเพศผู้กับเพศเมียไปหารุ่นถัดไปอย่างละครึ่งๆ คงไม่ต้องยกตัวอย่างใช่ไหมครับ ว่าเช่นอะไร

3.การขยายพันธุ์แบบผิดธรรมชาติ หรือการกลายพันธุ์ เป็นความผิดปกติของการขยายพันธุ์จากแบบที่1หรือ2 เกิดการนอกลู่นอกทางไม่อยู่กับร่องกับรอยเดิม นาน ๆ จะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง และมีโอกาสน้อยมากที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ เช่น หวัด2009 คนมีเขี้ยวลากดิน หรือม้ามีปีก ใครนึกภาพไม่ออกลองหาภาพยนตร์เรื่อง X-MEN หรือ งานประชุมรัฐสภามาเปิดดูกันครับ ฮา.

แล้วไวรัส หรือ X-MEN มาเกี่ยวกับเรื่องของเวลาได้ยังไง…เริ่มโมโหแล้วนะเฟ้ย

บอกแล้วไงว่า จะมีทั้งเนื้อและนํ้าผสมปนเป ฮา. หลอกให้อ่านตั้งนาน อย่าเพิ่งโกรธกัน ผมจะเข้าเรื่องแล้วครับ ผมคิดว่าถ้าเราต้องการใช้เวลาให้มีค่าที่สุดในการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง จากความรู้พื้นฐานมัธยมที่หลอกให้อ่านมาข้างต้น ผมดึงมาใช้ได้แบบนี้ครับ

1. Action = Reaction
ผลลัพธ์ เท่ากับแรงกระทํา เห็นด้วยไหมครับ เราจึงควรใช้เวลาในเรื่องนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หมายความว่า ถ้าพูดถึงเรื่องการลงทุนแนวVI เราต้องฝึกมองทุกๆอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเป็นการลงทุนแนวนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของใช้ตามตลาดสดจนกระทั่งซื้อบ้าน ให้รู้จักเปรียบเทียบสินค้าแต่ละชนิดให้เห็นถึงความถูกความแพง………หรือ การใช้ของใช้ต่างๆก็ต้องรู้จักคิดในแนวVIคือใช้ให้คุ้มค่า ไม่ใช่ฟุ่มเฟือย………หรือถ้าเราเจอข่าวอะไรก็ตามที่ผ่านมาในแต่ละวัน ให้เรานึกถึงผลกระทบที่มันจะเกิดขึ้นในอนาคต แรกๆก็จะไม่คล่องหรอกครับ สมองก็จะเป็นบื้อๆหน่อย เหมือนจีบสาวครั้งแรกนั่นแหล่ะครับ ถ้าคนแรกบื้อๆแล้วแห้วนะครับ คนที่สองสามสี่เดี๋ยวก็คล่องเองแหล่ะครับ ไม่เชื่อก็ถามพี่ porjai@thaivi ดูสิ
ถ้าเราฝึกบ่อยๆ หัดมองในมุมของธุรกิจ และ มองทุกๆอย่างในแนวของ Value หรือมองคุณค่าในสิ่งของ สักวันหนึ่ง คําว่า VI มันจะอยู่ในสายเลือด และเมื่อถึงเวลานั้นคุณจะทําอะไร จิตใต้สํานึกมันจะสั่งการแบบแวลู ให้โดยอัตโนมัติครับ

2.คาน และโมเมนต์
แม้ว่าธรรมชาติได้ลงโทษผมให้เกิดมาไม่ค่อยฉลาดนัก แต่เพื่อความสมดุลย์ ธรรมชาติจึงให้ผมเกิดมาท่ามกลางคนที่ฉลาดลํ้าลึกมากมายหลายคน แถมยังโชคดีได้เกิดมาในยุคที่การติดต่อสื่อสารสุดแสนทันสมัย ยุคที่สามารถรู้จักเพื่อนที่อยู่คนละทวีป(แต่กับคนข้างบ้านเราอาจจะไม่รู้จักกัน)..ฮา. ยังเถลไถลใส่นํ้าได้อีก…

ข้อนี้ถือเป็นข้อได้เปรียบที่ผมเรียกว่าตัวช่วย ในแง่ที่ว่าถ้าผมต้องการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้ถ่องแท้ด้วยตัวผมเอง ผมอาจจะต้องใช้เวลาเป็นปีในเรื่องนั้นๆ แต่โชคดีที่ผมได้กูรูผู้รู้จริงแนะนํา จึงอาจเป็นการเบิกฟ้าเห็นตะวัน(บ้าหนังจีน) ให้กับผมได้ภายใน 15 นาที

ดังนั้นผมจึงอยากแนะนําให้ท่าน เรียนรู้จากคนหลายๆคน เปิดสมองเปิดใจให้กว้างเปรียบเสมือนเป็นแก้วที่ใส่นํ้าแข็ง พร้อมที่จะเทชาเย็น นํ้าเขียว นํ้าหวานใส่ได้เสมอ อยากได้นํ้าอะไร ก็ไปหาตู้กดนํ้าชนิดนั้น เช่นเดียวกัน ถ้าท่านอยากรู้เรื่องไหน ให้ไปหากูรูเรื่องนั้น ๆ ประสบการณ์ของคนหลาย ๆ คน ที่ลองผิดลองถูกมาทั้งชีวิต น่าจะเป็นตัวช่วยทางลัดที่จะทําให้เราใช้เวลาในการเรียนรู้สั้นลงไปเยอะเลยนะครับ แต่ทั้งนี้ก็ต้องหาให้ถูกคนนะ ถ้าผิดคนก็นรกเลยล่ะ เพราะดันไปปีนหน้าผาหรือกระโดดลงเหวที่ผิดด้านครับ

ถึงตรงนี้ หลายท่านคงจะถามผมว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าไปหาถูกคนหรือเปล่า…ผมคิดว่าเราไปดูข้อที่สามกันดีกว่า หลายท่านน่าจะเห็นคําตอบครับ

3.การอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต (หรือการอยู่รอดของนักลงทุน) มีอยู่สามทาง

ทางแรก การขยายพันธุ์ด้วยการแบ่งตัว คือพวก copy paste แบ่งเซล…เอาไปซะทุกอย่าง ผิด ๆ ถูก ๆ เขาให้มา ก็เอาไปหมด คิดเองก็ไม่เป็น โอกาสของคนกลุ่มนี้ในตลาดหุ้น ก็ทําได้แค่เพียงเท่าๆกับดัชนี บางคนก็เถียงว่า ขอเป็นเหาฉลามที่ถูกตัว เกาะไปเรื่อยๆ ก็รวยได้…..ผมก็ขอให้บุญเก่าที่ท่านได้สะสมมาในอดีตชาติ เป็นแรงผลักดันทําให้ท่านได้เกาะฉลามให้ถูกตัวถูกที่ถูกเวลาแล้วกันนะครับ…..แต่ถึงแม้นบุญเก่าทั้งจะมากโข ผมก็ยังไม่แนะนํา เพราะท่านต้องพึ่งเขาอยู่ตลอดเวลา….เชื่อใจเขาได้แค่ไหนกัน….ท่านเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อเขาจนสามารถทําให้เขากลัวตัวสั่น จนเวลาเขาจะซื้อหรือจะขายต้องแจ้งให้ท่านทราบก่อนทุกครั้งหรือเปล่า….จะใช่หรือไม่ใช่ ผมก็คิดว่าอย่าเสี่ยงดีกว่านะครับ

ทางที่สอง กลุ่มนี้จะไม่เอามาทั้งหมดเหมือนกลุ่มแรก แต่จะมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม จากพ่อ และ แม่ อย่างละครึ่ง โดยธรรมชาติจะเป็นตัวคัดเลือกให้ผู้ที่เข้มแข็ง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ ให้คงอยู่ต่อไป ส่วนสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอจะล้มหายตายจาก และสูญพันธุ์ไปในที่สุด ถ้าเปรียบการลงทุน เราต้องมองหารูปแบบพันธุกรรม หรือ นักลงทุนต้นแบบ ที่เขาสามารถอยู่รอดในตลาดมาอย่างยาวนาน แล้วทําการ copy , adjust and paste เป็นเทคนิคคล้าย ๆ R&D (Research and Develop) แต่เราไม่ต้องเสียเงินเสียเวลาทําวิจัยหรือทดลองเอง แต่ใช้วิธีที่เรียกว่า C&D (Copy and Develop) อย่าคิดว่าผมเขียนให้อ่านสนุก ๆ ไปนะครับ เทคนิคนี้ สมัยนี้ใช้กันตั้งแต่นักเรียนทํารายงาน นักศึกษาทําวิทยานิพนธ์ ไปจนบริษัทข้ามชาติเชียวนะครับ

วิธีนี้ต่างกับวิธีแรกตรงที่ เราต้องคัดเลือกผู้ที่มีพันธุกรรมที่ดี ชนะในตลาดมาอย่างยาวนาน มาเป็นต้นแบบ พยายามมองทะลุไปหาพันธุกรรมที่ทําให้เขาสามารถขึ้นมาเป็นผู้นํา(มองหาเหตุว่าเขาคิดอย่างไร ปฎิบัติอย่างไร กับการลงทุน) เรียนรู้และสอบถามจากกูรูทั้งหลายเหล่านั้น นําความคิดเหล่านั้นมาตกผลึกให้เป็นแนวความคิดของเราเองให้ได้ แล้วจึงนําไปต่อยอด ทดลองปฎิบัติในตลาดสไตล์การลงทุนของเรา

สาเหตุที่เราต้องทําอย่างนี้เพราะ พวกเขาเหล่านั้นได้พิสูจน์ให้เราได้เห็นแล้วว่า พวกเขามีแนวทางที่ถูกต้อง ที่เขาสามารถทนต่อสภาวะแวดล้อมในอดีตมาอย่างยาวนานได้อย่างดีเยี่ยม

แล้วกลุ่มคนเหล่านั้นคือใครครับ……หาได้ที่ไหนช่วยบอกที……..ผมแนะนําให้ไปหาที่นี่เลยนะครับ //www.thaivi.org กลุ่มคนเหล่านี้ เรียกตนเองว่า เป็นนักลงทุนเน้นหุ้นคุณค่า(Value Investor) ที่เราๆท่านๆได้รู้จักชื่อเสียงเรียงนาม ไม่ว่าจะเป็นต้นตําหรับ บิดาของชาววีไอคือ ปู่ทวดเบนจามิน เกรแฮม, ปีเตอร์ ลินซ์, วอเรน บัฟเฟตต์, ฟิลลิป ฟิชเชอร์, อาจารย์นิเวศน์ เหมวชิรวรากร , อาจารย์ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา, พี่หมอบํารุง ศรีงาน , พี่chatchai@thaivi , พี่พรชัย รัตนนนทชัยสุข, พี่มนตรี@thaivi , พี่วิบูลย์@thaivi , คุณลูกอิสาน@thaivi , คุณIH , คุณyoyo ,คุณblueblood ,คุณpicatos และอีกเยอะแยะมากมายที่ถ้าให้ผมเขียน คงจะเขียนได้อีก1หน้ากระดาษ คนกลุ่มนี้ประสบความสําเร็จในตลาดหุ้น ในแนวทางนี้ คนกลุ่มนี้เสกเงินหมื่นเป็นร้อยล้านบาทได้ถ้ามีเวลามากพอ แล้วท่านคิดว่าท่านจะเลือกใครไปเป็นต้นแบบดีครับ…ส่วนผมนั้นมีต้นแบบในใจแล้วครับ

อย่างที่สาม พวกกลายพันธุ์ หลายท่านที่ได้ดู x-men คงจะชอบ ถ้าเราสามารถกลายร่างเป็นมนุษย์แปลกๆ เช่น หายตัวได้ หรือ มีพลังจิตอ่านใจคนเป็นต้น แต่ในความเป็นจริงของสิ่งมีชีวิต ความน่าจะเป็นของสิ่งมีชีวิตที่กลายพันธุ์แล้วสามารถมีชีวิตอยู่รอดโดยปกติ น่าจะเป็นสักหนึ่งในล้าน และยิ่งถ้าสามารถกลายพันธุ์แล้วประสบความสําเร็จเป็นสิ่งมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้ ความน่าจะเป็นยิ่งจะน้อยกว่ามากๆๆ

ผมจึงคิดว่า ถ้าท่านไม่ได้มีไอคิวที่เป็นเลิศ หรือคิดว่าตนมีสิ่งพิเศษที่เหนือกว่าคนทั่วไปแล้ว ผมคิดว่า เราไม่ควรแสวงหาหนทางการลงทุนที่แปลกๆ ที่คนส่วนน้อยที่มีความสามารถพิเศษเท่านั้นจึงจะประสบความสําเร็จ

ผมจึงคิดว่าถ้าท่านไม่อยากเสี่ยงกับเงินของท่านเพื่อแลกกับคําว่า “ผู้ค้นพบหนทางใหม่” เช่นโคลัมบัส ท่านก็ไม่ต้องไปค้นหาหนทางเดินใหม่ที่ยังไม่มีใครพิสูจน์ว่านั่นคือหนทางที่ถูกต้องในระยะยาวดีกว่าครับ………….เชื่อ ผม เต๊อะ

บทเรียนแนวคิดเรื่องที่สาม….เรื่องธรรมะกับการลงทุน

ผมยอมรับโดยดุษฎีว่า ทุกๆวันนี้ที่ผมเอาตัวรอดในตลาดหุ้นได้อย่างภาคภูมิใจนั้น แนวคิดส่วนมากของผมนั้น เอามาจากหลักคําสั่งสอนของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็น การพิจารณาทุกๆอย่างเป็นเหตุและผล(อิทัปปัจจยตา) เรื่องจะเราทําสิ่งต่างๆให้ประสบความสําเร็จควรทําอย่างไร (อิทธิบาท4 และ พละ5) หรือแม้กระทั่งเรื่อง จิตวิทยาการลงทุน ผมก็นําคําสั่งสอนทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้เช่นเดียวกัน

เรื่องธรรมะนั้นไม่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ จึงค่อนข้างจะเข้าใจได้ยาก
แต่ส่วนตัวผมคิดว่าในบทนี้ค่อนข้างเป็นหัวใจสําคัญในการเปลี่ยนแนวความคิดสําหรับการลงทุนแนวเน้นคุณค่าของผมเอง จึงอยากให้ทุกๆท่านที่อ่าน ค่อยๆอ่านอย่างช้าๆ และนํามาพิจารณากับความเป็นจริงที่เกิดกับประสบการณ์ของท่านเอง เพื่อความ “เข้าใจ” ในหลักการ คําสั่งสอนของพระพุทธเจ้าครับ

อิทัปปัจจยตา คําๆนี้เป็นแก่นหลักคําสอนของพุทธศาสนา ซึ่งผมนํามาเป็นแกนกลางโครงสร้างการลงทุนของผมเช่นเดียวกันครับ คําๆนี้แปลได้ว่า

“เมื่อมีเหตุ ย่อมมีผล เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อดับเหตุ ผลก็ย่อมดับตาม”

คนที่ประสบความสําเร็จในชีวิตทุกคน ล้วนมีเป้าหมาย(ผล) ในชีวิตทั้งสิ้น
และที่สําคัญคนเหล่านี้พอเห็นเป้าหมาย(ผล) ที่จะไปคว้ามา เขาจะค้นหาเส้นทางที่เขาจะต้องเดิน(มองหาเหตุที่ทําให้เกิดผล) และเดินตามทาง(สร้างเหตุให้เกิด)
นั้นๆ โดยไม่ลดละความพยายาม เพื่อให้ได้ผลตามที่เขาต้องการ

ในเรื่องนี้ คุณหมอทั้งหลายค่อนข้างจะได้เปรียบวิชาชีพอื่นๆ ที่เขาจะเข้าใจกฎในข้อนี้อย่างชัดเจน เพราะทุกๆครั้งที่เขาได้วินิจฉัยโรค เขาได้มองข้ามผล
(อาการของโรค) มองทะลุไปหาเหตุ(วินิจฉัยหาโรคที่กําลังเป็นอยู่) และคุณหมอที่เก่งๆ เขายังสอบถามพฤติกรรมต่างๆ เพื่อหาต้นเหตุจริงๆที่ทําให้เกิดโรคนั้นๆ จะเห็นว่า “โรค”คราวนี้กลายเป็นผลที่เกิดขึ้น ส่วนต้นเหตุจริงๆ กลายเป็นที่มาของการเกิดโรค….ซึ่งถ้าคุณหมอรู้ถึงต้นเหตุที่สร้างโรค เขาอาจจะแนะนําวิธีป้องกันโรคไม่ให้โรคนั้นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

ในเรื่องการลงทุน คงจะปฎิเสธไม่ได้ว่าเราต้องการผลคือการได้กําไรจากการลงทุน….หรือพูดง่ายๆชาวบ้านๆคือ ถ้าเราซื้อหุ้น1บาท เราก็อยากให้มันขึ้นไป2บาท5บาท10บาทใช่ไหมครับ….ตอนนี้เรารู้แล้วว่าราคาหุ้นคือผล เราก็ต้องมองย้อนไปหาเหตุกันดีกว่า เพื่อที่จะได้เดินตามเหตุนั้นๆ…..

เท่าที่ผมสังเกตุ แนวทางการลงทุนใหญ่ๆในตลาดบ้านเรานั้น มีสามแนวทาง ให้นักลงทุนเลือกหยิบจับมาใช้ และมักจะถกกันว่าแนวทางแบบใดเหมาะสมกับตลาดบ้านเราที่สุด วันนี้ในเมื่อผมเป็นวีไอ ผมจึงขอมองสไตล์ของผมที่ใช้หลักเหตุและผลมาอธิบาย เพื่อหาต้นเหตุแห่งความรวย ถ้าจะไปขัดใจนักลงทุนกลุ่มอื่น ก็ขออภัยด้วยนะครับ

1 แนวทางทางเทคนิค(ว่าด้วยเรื่องการอ่านกราฟ)

แนวทางนี้จะสอนหลักการ เรื่องความเป็นไปได้ของราคาหุ้นในอนาคต จากค่าสัญญาณต่างๆที่ผ่านมาแล้วในอดีต ซึ่งคนส่วนมากในตลาด ได้นิยมชมชอบในแนวทางนี้ จึงทําให้หุ้นหลายๆตัว ที่คนกลุ่มนี้กระทําการซื้อขาย มีแนวรับ แนวต้าน เป็นไปอย่างที่พวกเขาคิด(ในระยะสั้น)

หัวใจบทสรุปบรรทัดสุดท้าย ของคนกลุ่มนี้คือ “สัญญาณซื้อ และ สัญญาณขาย” หลายๆครั้งที่ผมได้ฟังแนวทางนี้ตามสื่อต่างๆดูเหมือนจะทําได้ง่ายและดูดี (โดยเฉพาะเวลาที่นํามาสอน หรืออบรมวิธีดูกราฟ เขามักจะเลือกเอากราฟตรงที่มันใช่ มาให้ดู) แต่เวลาที่ผมจะนําไปปฎิบัติจริงกลับเจอจุดอ่อนตรงที่ค่าต่างๆในอดีต(ที่โชว์ให้เห็นเป็นกราฟและสัญญาณต่างๆ)มันเพียงเป็นแค่ “ผล” ของสิ่งที่มันได้ผ่านมาแล้ว เราไม่สามารถเชื่อมั่นต่อผลนั้นได้ในระยะยาว เพราะ “ผล” ของกราฟ จะแปรเปลี่ยนได้ค่อนข้างเร็ว เช่น มีการสอนไว้ว่า ถ้าชนแนวต้าน ไม่สามารถทะลุได้ เราควรจะขายหุ้น เพื่อกลับมารับหุ้นใหม่ตรงแนวรับ แต่ถ้ามันทะลุแนวต้าน(ตรงที่เราเพิ่งจะขายนั่นแหล่ะ) ให้ซื้อตาม เพราะแนวต้านจะกลับไปเป็นแนวรับ โดยปริยาย แต่ปัญหาที่ผมได้เจอ คือมันมักจะวกกลับ สลับขาหลอกเราให้ซื้อๆขายๆอยู่เสมอๆ

ทําให้คนบางคน ศึกษาเรื่องกราฟแล้ว ก็ยังคลางแคลงใจในเรื่องนี้อยู่ เพราะเขาคิดว่ากราฟสามารถจัดแต่งได้ จากคนบางกลุ่มที่มีกําลังเงินมากพอ บางคนจึงเริ่มมองหา ต้นเหตุ ต้นตอของกราฟ นั่นก็คือ แหล่งที่มาของเงินที่จะไหลเข้ามากระทําต่อรูปของกราฟให้เป็นไปอย่างที่ “เจ้ามือ” ต้องการให้เป็น เรามาดูกันต่อครับว่า “เหตุ” ของกราฟคือ “เจ้ามือ” นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร

2แนวทางทางฟันโฟลว์(ว่าด้วยเรื่องการไหลของเงิน)

แนวทางการไหลของเงินนี้ ค่อนข้างเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนพอสมควร มีหลักการและทฤษฎีค่อนข้างจับต้องได้ ได้มากกว่าการอ่านกราฟ หัวใจของคนกลุ่มนี้คือ “การไหลของเงินที่จะไหลจากทรัพย์สินที่ผลตอบแทนตํ่าไปหาทรัพย์สินที่มี
ผลตอบแทนสูง” แนวทางนี้มีกูรูระดับโลกเช่น จอร์จ โซรอส ผมไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ แต่ผมก็มีมุมมองในแบบฉบับไทยๆ ขอแบ่งหุ้นออกมาเป็น3กลุ่ม
ตามประเภทของ “เจ้ามือ” (ฟันโฟลว์) นะครับ

2.1 หัวหน้าใหญ่ของตลาดบ้านเราคงจะหนีไม่พ้น กองทุน และ ต่างชาติ เจ้ามือสองกลุ่มนี้ค่อนข้างมีหน้าตักที่ใหญ่ จึงเลือกที่จะเล่นหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง และ ตัวใหญ่ๆในตลาด มีหลายๆท่านที่ชอบคาดเดาการซื้อขายหุ้นของเจ้ามือกลุ่มนี้ โดยดูจาก

-การซื้อขายของnvdr
-ดูสรุปการซื้อขายรายวันของกลุ่มต่างๆ
-ดูอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของแหล่งต่างๆ
-ดูจากสัญญาณของค่าเงิน
-ดูช่วงจังหวะของพันธบัตรต่างๆที่จะหมดอายุ
-ดูราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักๆในตลาด

โดยคนกลุ่มนี้มีหลักการว่า กระแสเงินจะต้องไหลไปหาทรัพย์สินที่พวกเขาคิดว่าความเสี่ยงตํ่าที่สุด และได้ผลตอบแทนสูงสุด ในช่วงเวลานั้นๆ

ตลาดหุ้นในเมืองไทยก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะมีเงินกระจายเข้ามาเป็นรอบๆ จากการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินของชาวต่างชาติ ถ้าใครบางคนพอจะมองทิศทางของเงินที่จะไหลเข้าจากต่างชาติได้……โดยซื้อดัก ในหุ้นตัวใหญ่ๆ สภาพคล่องสูงๆที่กลุ่มนี้นิยมชมชอบ และ ขายตามนํ้า ถ้ามีสัญญาณว่าต่างชาติจะออกของ……นักลงทุนกลุ่มนี้ก็มีโอกาสที่จะทํากําไรได้เช่นเดียวกัน

แต่ผมว่าการพึ่งจมูกคนอื่นหายใจนี่มันคงทรมานน่าดู แถมเดี๋ยวนี้ธุรกรรมยิ่งซับซ้อนมีทั้งช๊อตเซลรายตัว รายกลุ่ม มีทั้งฟิวเจอร์ มีทั้งอนุพันธ์ทวีคูณความโลภ เอากันให้นัวเนีย ยิ่งดูยิ่งปวดหัว ยิ่งดูยิ่งอ่านไม่ขาด แต่พอหวยออกที ก็รู้งี๊….ยั๊วเยี๊ยะ เต็มตลาด คนที่มีความสามารถรอบรู้และมีข้อมูลที่ครบครันในเรื่องนี้ผมว่าน้อยเต็มที ความรอบรู้และไอคิวแบบผมคงจะไม่สามารถในเรื่องนี้ ผมจึงคิดว่า เราควรทําในสิ่งที่ง่ายกว่าคือ ไปหาต้นเหตุของราคาหุ้นจริงๆจะดีกว่ามาเสียเวลาเดาผลที่จะเกิดขึ้นจากเจ้ามือกลุ่มนี้ครับ

2.2 เจ้ามือของสายนี้ค่อนข้างโหด แนวคิดของคนกลุ่มนี้ คิดว่าตลาดคือ………….
“zero sum game” หมายความว่าการที่เขาจะทํากําไรจากตลาดหุ้นได้ เขาต้องล้วงเงินนั้นมาจากกระเป๋าของคนอื่นเท่านั้น หมายความว่าเขาต้องเป็นคุมเกมในหุ้นตัวนั้นๆ เป็นเจ้ามือทุบ/ปั่นหุ้น โดยการทุ่มเงินเข้ามาพร้อมกับปล่อยข่าวเพื่อที่จะให้เกิดแรงโมเมนตั้มตามมาภายหลัง…………สายนี้ถ้าใครรู้ข่าวต้นตอก่อน ก็รวยไป ใครเข้ามาทีหลังก็ได้เที่ยวยอดดอย หรือ ขายก้นเหวเป็นประจํา แต่การควบคุมเกมของคน
กลุ่มนี้ ผมคิดว่า ถ้าเจ้ามือไม่ใช่คนที่สามารถควบคุมตกแต่งบัญชีงบการเงินได้ เขาก็จะสามารถควบคุมราคาหุ้นได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะในที่สุด ผลประกอบการในระยะยาวก็จะเป็นตัวชี้วัดว่ามูลค่าของกิจการว่า ควรอยู่ที่เท่าไหร่ ทําให้เจ้ามือก็ไม่กล้าฝืนกระแสของมวลชนเช่นกัน…

2.3 หุ้นส่วนมากในตลาดจะเข้าข่ายในข้อนี้ คือมี “นายตลาด” เป็นเจ้ามือ ราคาหุ้นที่ขยับขึ้น/ลง เกิดจากนายตลาดในขณะนั้น กําหนด ดีมานต์/ซัพพลาย ขึ้นมา มีบ่อยครั้งที่ราคาหุ้นขยับขึ้น/ลงอย่างรวดเร็ว ก็เกิดมาจากคนกลุ่มนี้มีการซื้อ/ขายพร้อมกัน จากข่าวสารที่ได้รับ เสมือนหนูเรมมิ่งที่ไปไหนไปด้วยกัน……….บางครั้งก็ทําให้หลายๆท่านไปยืนหนาวเหน็บอยู่บนยอดดอยได้ แต่บางครั้งเมื่อเวลาผ่านไป…..ยอดดอยบางแห่งก็กลับกลายไปเป็นหุบเขาก็มี หรือ หุบเขาที่ถูกนายตลาดเทกระหนํ่าซัมเมอร์เซล ชนิด เสมือนบริษัทใกล้จะเจ๊ง ก็กลับดีดตัวขึ้นไปอยู่ปลายฟ้าก็เจอมาแล้ว…..ทั้งหมดที่ควบคุมราคาหุ้นให้อยู่ในจุดที่เหมาะสมในระยะยาว ก็ไปอยู่กับคําตอบต้นเหตุเหมือนเดิมคือ มูลค่าของกิจการที่มันควรจะอยู่นั่นเอง

3แนวทางการเลือกหุ้นเน้นคุณค่า(ว่าด้วยหลักการเปรียบเทียบมูลค่าของกิจการกับจํานวนเงินที่จ่ายออกไป)
“เหตุ” ที่อยู่เหนือการควบคุมของเจ้ามือทั้งสาม คือ “มูลค่าของกิจการ” เราในฐานะเป็นนักลงทุน จะต้องพิจารณาปัจจัยทั้งสองด้านประกอบการซื้อขายหุ้นคือ

1.มูลค่าของกิจการที่ควรเป็นอยู่
2.ราคาซื้อขายของนายตลาดขณะนั้น

ในเรื่องแนวทางการคัดเลือกกิจการ และการประเมินมูลค่าของกิจการ ถือว่าเป็นหัวใจสําคัญ และเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ผมขอยกยอดไปคุยกันในภาคที่สองนะครับ ในบทนี้อยากจะสื่อถึงแนวคิดในเรื่องอะไรคือเหตุ อะไรคือผล ของราคาหุ้น ซึ่งก็คงจะสรุปได้ว่า คุณค่าของกิจการทั้งหมด เป็นต้นเหตุ…ส่งผลให้บ.มีกําไรมากหรือน้อย…ระยะยาวจะส่งผลให้การไหลของเงินเข้าหรือออกในกิจการนั้นๆ…และสุดท้ายก็ส่งผลเป็นกราฟให้พวกเราเห็นอดีตที่ผ่านมาครับ

ถ้าเราต้องการหาเหตุในเรื่องนี้(เพื่อจะรวย)ก็เพียงศึกษากิจการที่เราลงทุนให้มากที่สุด ประเมินมูลค่าของกิจการออกมา เอาไปเปรียบเทียบกับราคาที่นายตลาดเสนอให้ เพื่อคํานวณผลตอบแทนที่เราจะได้รับ…..จริงอยู่ว่าการประเมินมูลค่าของกิจการไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันก็เป็นหนทางเดียวที่เราจะรู้ว่าราคาหุ้นที่เหมาะสมในตอนนี้ มันควรอยู่ที่เท่าไหร่

จุดอ่อนเดียวที่ผมเห็นในการสร้างกรรมรวยทางนี้คือ “เราคิดผิด ประเมินมูลค่าของกิจการไม่ถูกต้อง” ซึ่งหมายความว่า ทุกๆอย่างที่เราตัดสินใจไปนั้น มีเหตุมาจากตัวเราทั้งสิ้น และถ้าเรารู้ว่าเราคิดถูกหรือคิดผิดตรงไหน เราก็สามารถพัฒนาความคิดของเรา ให้ “หาปลาเป็นเอง” และ “จับปลาเก่งขึ้น” ในอนาคตครับ และในบทต่อๆไปผมจะเล่าให้ฟังถึงวิธีลัดในการจับปลาให้ฟังครับ

สตีฟ จ๊อบ เคยกล่าวในงานปัจฉิมนิเทศน์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งว่า “ขอให้ท่าน เลือกงานที่ตนเองรัก แล้วท่านจะประสบความสําเร็จในชีวิต” คํากล่าวนี้มีคนวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย ว่านําไปปฎิบัติจริงกับวิถีชีวิตอย่างเช่นปัจจุบันได้ยาก แต่ผมกลับเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ผมคิดว่าที่สตีฟ จ๊อบ กล่าวนั้นคล้ายๆกับสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กล่าวไว้เมื่อสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว ซึ่งสรุปได้เป็นสามประเด็นดังนี้คือ

1.การที่เราจะทําสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ได้ดี เราต้องเริ่มจากความชอบในสิ่งที่เรากําลังจะทําอยู่ก่อน เช่น คนที่จะมาเล่นหุ้น เขาก็ต้องคิดเป็นบวกในการลงทุนในหุ้น โดยอาจจะคิดว่าหุ้นทําให้เขารวยหรือเป็นอิสระภาพทางการเงินได้ เขาจึงเล่น(ลงทุน)หุ้น แต่สําหรับคนที่เขาไม่ชอบเรื่องหุ้น หรือคิดว่ามันคงจะทําให้เขาขาดทุน เขาก็คงจะเอาเงินไปลงทุนทางอื่นที่เขาเชื่อว่ามันใช่ หรือถ้าพูดถึงแนวทางการลงทุน เราก็ต้องเปิดใจ เชื่อในหลักเหตุและผล เชื่อในหลักการการลงทุนเน้นหุ้นคุณค่า
2.ถ้าเราได้ชอบในแนวทางใดๆแล้ว ความพยายามจะตามมาส่วนหนึ่งโดยอัตโนมัติ หน้าที่ของเราคือ เราต้องขับดันความพยายามที่จะศึกษาและค้นคว้าหาแนวคิดของนักลงทุนที่ประสบความสําเร็จให้มีอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้ตกผลึกเป็นแนวความคิดของเราเอง สําหรับประมวลผลในขั้นต่อไป
3.เมื่อเราได้ข้อมูล แนวคิด แนวทางต่างๆเข้ามาเป็นดาต้าเบส เราต้องฝึก ประมวลผล ดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ลองคาดเดาหาคําตอบที่น่าจะเป็น และติดตามเฝ้าดูผลที่เกิดขึ้น ว่าตรงหรือไม่ตรงกับที่เราคาดคิดไว้หรือไม่ การกระทําบ่อยๆ ซํ้าแล้ว ซํ้าอีก เราจะเกิดทักษะ เกิดความรอบรู้(ปัญญา)ในเรื่องนั้นๆขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เช่น ถ้าเราติดตามการเคลื่อนไหวของหุ้น10-20ตัวโดยกระจายทั้งหุ้นโตเร็ว หุ้นพื้นฐาน หุ้นวัฎจักร หุ้นฟื้นตัว หรือ หุ้นปั่น ติดตามพื้นฐานของกิจการเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทั้งระยะสั้น-ระยะกลาง-ระยะยาว……การคิดและประมวลผลระยะแรกอาจใช้เวลามากพอควร แต่ถ้าเราหมั่นฝึกฝนลับสมองเราอยู่บ่อยๆก็การคิดรวบยอดของเราก็จะเร็วขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น เมื่อเราขับรถยนต์(รุ่นโบราณ ที่ใช้ครัช)ใหม่ๆ สมองเราต้องสั่งการ ก่อนสตาร์ท เขย่ากระปุกเกียร์ให้อยู่ตรงเกียร์ว่าง ให้เท้าซ้ายเหยียบครัช เท้าขวาเหยียบเบรก ต้องค่อยๆปล่อยครัชพร้อมกับเร่งคันเร่ง กว่าจะขับเป็น คนฝึกสอนเหงื่อตกไปหลายลิตรทีเดียว แต่ถ้าเราฝึกฝนจนชํานาญแล้ว หนังก็เป็นคนละม้วน สมองเราจะสั่งการโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่รู้ตัว
หรือบางท่านอาจบอกว่ามันคือsix senseอธิบายไม่ได้ แต่ผมว่ามันคือ จิตใต้สํานึก ที่เกิดจากการฝึกฝน ประมวลผล และสั่งการอยู่ในรูปของ “ปัญญา” มากกว่าครับ

สิ่งที่ผมพูดไปทั้งหมดนี้คือหลัก “อิทธิบาท4”…..อิทธิแปลว่าความสําเร็จ บาท แปลว่า ทาง อิทธิบาท4จึงแปลว่า ทางแห่งความสําเร็จ4ประการ คือ ฉันทะ(ความรักในสิ่งนั้นๆ) วิริยะ(ความเพียรพยายาม) จิตตะ(ความเอาใจใส่) และวิมังสา(ความไตร่ตรองจนเกิดปัญญา)

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากจะได้บอกถึงหนทางเดินแห่งความสําเร็จไว้แล้ว ท่านยังได้กล่าวถึง “พละ5” แปลเป็นภาษาบ้านๆง่ายๆอย่างที่ผมเข้าใจ คือ การทําให้จิตมีพลัง5ประการ อย่างที่เราทราบๆกันอยู่ว่า วิชาพละศึกษา เป็นวิชาที่สอนและแนะนําให้เราออกกําลัง “กาย” ให้แข็งแรง ส่วนพละ5ที่พระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงนั้น ท่านก็ทรงชี้แนะการออกกําลังของจิตใจ ท่านทรงแนะว่าทําอย่างไรจิตจึงจะมีพลัง เช่นถ้ามีคนสองคน คนหนึ่งเขามองอะไรได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ครบทุกแง่ทุกมุม กับอีกคนหนึ่ง มองอะไรก็เป็นลางๆ ไม่รู้ว่าตนเองคิดถูกคิดผิด ท่านคิดว่าสองคนนี้ ใครจะประสบความสําเร็จในชีวิตการลงทุนครับ….เรามาดู วิธีการฝึกจิตให้แข็งแรงตามแนวทางพระพุทธศาสนากันนะครับ

พละ5 มีองค์ประกอบ5อย่างดังนี้
1.ศรัทธา เราจะทําอะไรให้สําเร็จ เราต้องเริ่มต้นด้วยความศรัทธา เราต้องเชื่อมั่นในสิ่งนั้นๆ เพื่อให้มีกําลังใจในการกระทําสิ่งต่างๆ เช่นถ้าเราจะลงทุนในแนวทางของดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร หรือ วอเรน บัฟเฟตต์ เราก็ต้องเริ่มจากความศรัทธาในตัวของท่าน เชื่อแนวทางคําสอนของท่านว่าทําให้เราเป็นอิสระภาพทางการเงินได้ เราจึงจะพยายามศึกษาแนวทางของท่านทั้งหลายเหล่านั้น
2.ปัญญา เราต้องมีการคิด-ไตร่ตรอง ค้นหาความเป็นจริงในสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามา และพยายามทําความเข้าใจในสิ่งที่เรากําลังศึกษาอยู่ให้ถ่องแท้ ในแนวทางที่เราศรัทธา เช่นถ้าเราลงทุนในบริษัทหนึ่ง เราก็ควรจะศึกษาบริษัทนั้นๆในทุกแง่ทุกมุม ไตร่ตรองให้ครบทุกด้าน หาเหตุ หาผล เพื่อให้เห็นความเป็นจริงตามเหตุตามผล
3.วิริยะ เราต้องมีความเพียรพยายาม มุ่งมั่นที่จะค้นหาข้อมูลและสิ่งที่ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกิจการที่เรากําลังศึกษาอย่างมุมานะ ไม่ย่อท้อ หรือ ศึกษาแนวทางการประเมินกิจการในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้มีความรอบรู้ในเรื่องการประเมินมูลค่าของกิจการนั้นๆ
4.สมาธิ ความนิ่ง การจดจ่อ แน่วแน่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างมุ่งมั่นนั้น จะทําให้เกิดพลังในความคิด และ ข้อดีของความนิ่ง มีสมาธิอีกอย่างคือ ทําให้เราไม่ตัดสินใจอะไรบุ่มบ่ามจนเกินไป
5.สติ คือความระลึกได้ รู้ว่าตนเองกําลังทําอะไรอยู่ ไม่เผลอจิตไปจากสิ่งที่กําลังปฎิบัติ
เราจะสังเกตุเห็นว่า ศรัทธา กับ ปัญญา ทั้งสองสิ่งนี้มีความตรงกันข้ามกัน
ถ้าใครมีศรัทธาสูงแต่ปัญญาตํ่า เราก็จะอยู่ในขอบเขตของความงมงาย
ถ้าใครมีศรัทธาตํ่า ปัญญาสูง ก็เป็นพวกเชื่อมั่นในตนเองสูง ไม่ค่อยรับฟังใคร ส่วนอีกคู่ วิริยะ กับ สมาธิ ก็จะค่อนข้างตรงกันข้ามกันอย่างชัดเจนเช่นกัน
ถ้าใครมีวิริยะสูง แต่ สมาธิตํ่า ก็จะกลายเป็นพวกไฮเปอร์แอกทีฟ
ถ้าใครมีวิริยะตํ่า สมาธิสูง ก็จะเข้าข่ายเป็นคนเฉื่อยชา

การที่เราจะทําให้4ข้อนี้สมดุลย์และสมบูรณ์นั้น เราต้องมีสติเป็นตัวควบคุมครับ ผมขอสรุปคําสั้นๆไว้ให้เป็นแนวคิดในเรื่องนี้ว่า
-อย่างมงาย ให้คิดทุกอย่างให้เป็นเหตุเป็นผล อย่างเป็นกลาง ไม่เอนเอียง -อย่าเชื่อมั่นในตนเองสูงเกินไป ควรฟังแนวคิดของคนอื่นมาพิจารณาอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะคนที่เคยประสบความสําเร็จมาแล้วยิ่งต้องระวังให้มากในความคิดของตนเอง -อย่าคิดเร็วทําเร็ว ไม่ควรตื่นตูมในข่าว ควรไตร่ตรองในแต่ละเรื่องด้วยเหตุและผลอย่างมีสติ -อย่าตัดสินใจช้า อย่าหลอกตนเอง และไม่ควรเฉยชาจากความจริงที่เกิดขึ้น ถ้าปัจจัยพื้นฐานของเหตุและผลเปลี่ยนแปลงไปจริงๆ

ในเรื่อง “ธรรมะกับการลงทุน” ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมใช้เป็นหลักยึดเหนี่ยว แต่กลัวท่านจะเบื่อไปเสียก่อน ผมจึงขอพูดถึงเรื่อง “จิตวิทยาการลงทุน” เป็นเรื่องสุดท้ายนะครับ เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นนามธรรม จึงไม่สามารถอธิบายรายละเอียดให้เห็นตัวตนอย่างชัดเจนได้ แต่ถ้าใครหมั่นดูจิต ดูความคิด ดูอารมณ์ ของเราเองบ่อยๆ ผมว่ามันก็ไม่ยากเกินไปที่จะเห็นอารมณ์ของเราและของนายตลาดครับ

มีบางคนกล่าวไว้ว่า การควบคุมอารมณ์ในการลงทุน มีความสําคัญมากกว่า การประเมินมูลค่าของกิจการ เพราะการวิเคราะห์มูลค่าของกิจการนั่นสามารถเรียนรู้และถ่ายทอดให้แก่กันได้ง่ายกว่าการพัฒนาทางด้านอารมณ์ ความเห็นผมก็คิดว่าน่าจะจริง เพราะผมเห็นนักทุนบางท่านที่เก่งมากๆ แต่ก็ยังไม่ประสบความสําเร็จเท่าที่ควร อาจจะเป็นเพราะจิตใจเขาไม่นิ่งพอ หรือ เขาอาจจะมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจอยู่เสมอๆ ในบทนี้ผมจึงขอกล่าวถึงประเด็นของ กิเลส และ อารมณ์ที่แฝงมาในรูปแบบต่างๆ เพื่อที่จะได้รู้จักตัวตนของมัน เผื่อเวลาที่มันโผล่ออกมาให้เราเห็น เราจะได้ “ไม่หลง” และถูกมันจูงจมูกอยู่เรื่อยๆ กิเลสที่ผมจะกล่าวถึงที่เกี่ยวกับการลงทุนในวันนี้จะมีอยู่สามตัวครับ คือ…….

“ความกลัว” “ความโลภ” “ความหลง”

“ความกลัว”
มนุษย์เดินดิน ย่อมมีความกลัวอยู่ในจิตใจเหมือนๆกัน แต่ความกลัวของแต่ละคนนั้นย่อมไม่เหมือนและไม่เท่ากัน ความกลัวของเรานั้นเกิดจากประสบการณ์ในอดีตทั้งที่จําได้และจําไม่ได้มาปรุงแต่งเป็นแรงผลักดันให้เรารู้สึกกลัว แสดงว่า เวลาที่เราทําอะไรแล้วเจ็บหรือพลาดในเรื่องนั้นๆ จิตใจเราอาจจะไปจดจํา และอาจจะรู้สึกกลัวเรื่องนั้นโดยอัตโนมัติ เช่นถ้าเรามักจะขาดทุนจากข่าวลือ ข่าวอินไซด์ ซื้อเมื่อไหร่ ก็ยอดดอยทุกที เราก็คงจะเบื่อจากข่าวประเภทนี้ พอเราไม่มีความชอบในเรื่องนี้ เราก็จะเริ่มสังเกตุและใส่ใจพิจารณาในเรื่องนี้อย่างเป็นกลาง สักวันหนึ่งเราก็จะเกิดปัญญา เลิกแสวงหาและฟังข่าวประเภทนี้ แต่ถ้าใครแสวงหาเพื่อที่จะอยู่วงใน เผอิญเจอสายข่าวดี เจอข้อมูลที่ถูกมากกว่าผิด ในระยะยาวผมคิดว่าน่าเป็นห่วง เพราะเขาจะไม่กลัวข้อมูลในประเภทนี้(ไม่มี snake bite effect ในเรื่องนี้) ทําให้เขาจะแสวงหาหลักการอินไซด์ มากกว่าหาหลักการที่แท้จริงคือมูลค่าของกิจการ วันนี้เขาอาจจะได้แต่ไม่มีหลักประกันในวันหน้าเลย และยิ่งนานวันไป เขาก็ยิ่งจะเขวจากหลักการที่มี เพราะมัวแต่คอยจ้องมองหาข่าวภายใน เมื่อถึงเวลานั้น กิเลสอีกตัวคือ “ความหลง”จะเข้ามาครอบงําเขาคนนั้นครับ

ความกลัวที่ผมเห็นอยู่บ่อยๆอีกเรื่องคือ ความกลัวที่ราคาหุ้นมันลดลง ความกลัวในเรื่องนี้ ผมคิดว่าคงจะเกิดจากความไม่รู้ว่ามูลค่าของกิจการควรอยู่ที่เท่าไหร่ วิธีแก้ในเรื่องนี้ต้องอาศัยระยะเวลาในการเรียนรู้ คือ เราต้องหมั่นศึกษาเรียนรู้ และติดตามกิจการที่เราลงทุน ต้องลองประเมินมูลค่าของกิจการในรูปแบบต่างๆ ว่ามูลค่ามันควรอยู่ที่เท่าไหร่ ช่วงแรกๆอาจจะประเมินคร่าวๆจากภาพใหญ่ๆที่เรามองเห็น พอประสบการณ์เรามากขึ้น เรียนรู้ธุรกิจนั้นๆได้รอบรู้มากขึ้น ขอบเขตมูลค่าของกิจการก็จะชัดเจนมากขึ้นตามลําดับ…….การประเมินมูลค่าของกิจการนั้นไม่ได้หมายความว่า ให้เอาราคาหุ้นในตลาดมาเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าเราคิดผิดหรือถูก แต่เราควรเอาผลวิเคราะห์ในเรื่องธุรกิจของเขาที่เราประเมินไว้ คอยเปรียบเทียบกับผลการดําเนินงานจริงของเขาว่าใกล้เคียงกันไหม มีอะไรแตกต่างจากที่เราคิดไว้บ้าง ถ้าเราสามารถวิเคราะห์กิจการได้ค่อนข้างใกล้เคียงในระยะยาว อ่านทิศทางที่บริษัทกําลังจะก้าวไปได้ถูกต้อง แสดงว่าท่านได้เข้าใจรูปแบบธุรกิจของเขาแล้ว และเราก็น่าจะประเมินจุดซื้อหรือขายหุ้นของเราได้อย่างสบายใจ และคงไม่ต้องไปกังวลใจในเวลาราคาหุ้นที่ในตลาดมีราคาลดตํ่าลงจากความเป็นจริง




 

Create Date : 08 กันยายน 2556   
Last Update : 8 กันยายน 2556 20:47:14 น.   
Counter : 2002 Pageviews.  



P_ปรัชญา
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 63 คน [?]




หยิ่ง
กับตัวเองบ้าง
ในบางครั้ง

เบื่อ
ชีวิตความผิดหวัง
ในบางหน

เกลียด
ความไม่จริงใจ
ในบางคน

ยอมทน
คนหยามเหยียดได้
ในบางที


[Add P_ปรัชญา's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com