ลูก นกกาเหว่า

5/5/55
สายๆไปถึงบ้านสวนตาล


ดอกจิกน้ำล่วงเต็มพื้นดินบริเวณโคนต้นไม้
เหมือนพรมสีแดง


ต้นจิก ยืนเข้าแถวเรียงรายอยู่หน้าสวนริมคลองน้ำชลประทาน


กลิ่มหอมอ่อนๆ ฟุ้งกระจายทั่วอาณาบริเวณ

ช่วงบ่าย2โมง
ฝนเริ่มตกหนักขึ้นเรื่อยๆ ลมกรรโชกแรงเป็นระยะๆ
ฝนตกถึงบ่าย4โมงเศษ ถึงหยุดตก

กำลังเดินจะมาขึ้นรถกลับบ้าน
พอดีได้ยินเสียงนกร้องอยู่หลายตัว
เลยเดินไปดูใต้ต้นจิก เดินไปเรื่อยๆถึงต้นที่14 ก็เห็นลูกนก
เปียกฝนกองอยู่กับพื้น3ตัว

มองหารังนกที่บนต้นจิก ก็มองไม่เห็น สงสัยโดนลมฝนหอบไปแล้ว
เพราะลมแรงมาก ทำไงดีล่ะเนี่ยะ

เลยนำเอาผ้ามาปู เก็บลูกนกตัวเปียกๆ ขนยังไม่ค่อยเต็มตัว
ดูท่าทางจะหนาวเห็นขาสั่นๆ อ้าปากร้องกันลั่นเชียว
เอาผ้ามาเช็ดขนให้แห้ง ใช้ไดเป่าผม เป่าให้มันหายหนาวและให้ขนแห้ง

นำมาใส่เข่งพลาสติก เอาไว้ เดี๋ยวหาอะไรปิดกันโดนแมวมาเขมือบ


เอาฟางข้าว ที่ใช้คลุมโคนต้นไม้นำมารองก้นเข่ง
แล้ววางลูกนกไว้ ยังร้องกันไม่หยุด ทำไงดี


หันไปเห็นกระสอบอาหารสุนัข
เอาน่า ลองเอาอาหารสุนัข แช่น้ำสักหน่อย
พอเม็ดอาหารนิ่มค่อยป้อนให้ลูกนกกินแล้วกัน(ตามมีตามเกิด)


โซ้ย เข้าไปเม็ดนึง ท่าจะอร่อย
ร้องใหญ่เลยสงสัยจะหิว หรือมันกำลังบอกเราว่า เอาอีกๆๆๆ


3 วันผ่านไปที่เลี้ยงมากับมือ


อาหารสุนัขแช่น้ำเรียบร้อย


ลูกตะขบป่า ที่ปลูกไว้ริมบ่อปลา สีแดงน่าอร่อย
ทุกวันจะมีนกเอี้ยง นกต่างๆ มาแวะประจำ


ลูกมะเดื่อป่า ที่ขึ้นอยู่ริมรั้ว
นกกระปูด4ตัวมาเฝ้าประจำ ลองเอามาป้อนลูกนกดู


ลูกตำลึงสุก ลูกนกชอบ


หลังจากป้อนอาหาร
พอสรุปได้ว่า ลูกตะขบมาบีบแบ่งป้อนนกชอบ
ลูกตำลึงสีแดงๆนิ่มๆแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆป้อนนกก็ท่าจะชอบ
ลูกมะเดื่อป่าสุก นกไม่ค่อยชอบ ที่น่าอร่อยคืออาหารสุนัขแช่น้ำ


เวลาป้อนอาหาร ก็ให้นกเกาะบนมือซ้าย
มือขวาหยิบอาหารป้อน พอกินอิ่มก็เลิกร้องมองคนป้อน











กล้วยสุก นกชอบ


ป้อนอาหารกันมาหลายวัน เจอหน้ากันพอยกแขน ก็รีบบินมาเกาะเลย


น่าจะร้องบอกว่า...หิวแล้ว หิวแล้ว


......







วันนี้หยิบสวิงไปหาช้อนกุ้งฝอย ริมคลองชลประทาน
ตั้งใจว่า จะเพิ่มแคลเซี่ยมให้ลูกนก เร่งอัตราการเติบโตสักหน่อยนึง


สวิงตาใหญ่ไปนิด เพราะกุ้งมีแต่ตัวเล็กๆ
(โทษสวิงตาใหญ่ หรือจะโทษกุ้งมันตัวเล็ก เริ่ม...งง55)


พอวางชามใส่ลูกกุ้ง เจ้ากาเหว่าก็โผถลามาแต่ไกล เกาะริมชาม


มองแล้วก็อ้าปากร้องทักทาย เอียงคอไปข้างซ้ายแล้วเอียงคอไปข้างขวา
มองคนยกชามมา และมองลูกกุ้งฝอยในชาม


พอป้อนแล้วติดใจสงสัยจะอร่อย โซ้ย!!! กุ้งฝอย ไปหลายตัว


__________________________________________________

นกกาเหว่า / Asian Koel / Eudynamys scolopacea



ชื่อเรียกอื่น นกดุเหว่า , Koel . Common Koel , Koel Cuckoo , Indian Koel

นกกาเหว่า อยู่ใน สกุลนกกาเหว่า Genus Eudynamys ชื่อสกุลมาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ eu แปลว่า ดี สนธิกับคำว่า dyname ซึ่งแปลว่า นกกาเหว่า นอกจากนี้ ในเทพนิยาย Dunamene ยังแปลว่า ผู้มีกำลังมาก ชื่อสกุลนี้ น่าจะมีความหมายว่า " นกที่มีอำนาจ หรือ กำลังมาก " ลักษณะของสกุล คือ หัว ไม่มีหงอนขน ปากอ้วน สันขากรรไกรบน มน และ โค้ง ค่อนข้างมาก , ขนหางกว้าง , แข้ง อ้วน แข้งด้านหน้าเป็นเกล็ดแบบเกล็ดซ้อน แข้งตอนบนมีขนปกคลุม ตัวผู้ และ ตัวเมีย มีสีแตกต่างกัน ประเทศไทยพบนกในสกุลนี้ 1 ชนิด คือนกกาเหว่า

นกกาเหว่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eudynamys scolopacea ชื่อชนิด มาจากชื่อสกุลของนกปากซ่อมดง scolopax และ aceus เป็นรากศัพท์ภาษาละติน แปลว่า คล้าย ความหมายคือ " ลักษณะคล้ายนกปากซ่อมดง " ทั่วโลกมี 18 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อย คือ E . s . malayana และ E . s. chinensis




รูปร่างลักษณะ คนไทยโดยทั่วไป มักเข้าใจว่า นกกาเหว่ามีอยู่ 2 ชนิด คือ นกกาเหว่าดำ และ นกกาเหว่าลาย ทั้งนี้เพรา นกตัวผู้ มีสีดำ และ นกตัวเมียมีสีน้ำตาลลายๆ ทั้งตัว และ ยังมีเสียงร้องแตกต่างกันด้วย จึงเข้าใจว่าเป็น นกคนละ ชนิด กัน แต่สำหรับนักดูนก ขอให้รู้ว่า คือนกชนิดเดียวกัน แต่เป็นตัวผู้ และ ตัวเมีย นกกาเหว่า เป็นนกขนาดเล็ก - กลาง ความยาวจากปลายปากจดหาง 43 ซม. ลำตัวค่อนข้างยาว ในเวลาเกาะกิ่งไม้ ลำตัวจะอยู่ในแนวนอน เมื่อเปรียบเทียบ กับ นกคัคคูแซงแซว นกกาเหว่าจะมีขนาดใหญ่กว่า และ แตกต่างจาก อีกา ตรงที่ ปากสีเขียวอ่อน ตา สีแดง ขา และ นิ้วเท้าสีเทา ส่วนอีกามีปาก ตา ขา และ นิ้ว สีดำ นกกาเหว่ามีหางยาว ปลายหางค่อนข้างมน ซึ่งมันมักจะแผ่ขนหางออก ทำให้ หาง ของมันดูค่อนข้าง กว้างใหญ่ กว่าปกติ ปีกสั้น ปลายปีกมน

นกตัวผู้ อาจเข้าใจผิดว่า เป็นนกอีกา เพราะมีสีดำเหลือบเขียวทั่วทั้งตัว หัวและลำตัว ทั้งหมดสีดำเป็นมัน เหลือบน้ำเงินเขียว แต่ตัวเล็กกว่าอีกา และ หางยาวกว่าอีกา ขา และ นิ้วเท้าสีเทาอมฟ้า ขา ค่อนข้างสั้น นิ้วเท้ายื่นไปข้างหน้า 2 นิ้ว และ ยื่นไปข้างหลัง 2 นิ้ว เช่นเดียวกับนกแก้ว และ นกหัวขวาน เรียกนิ้วเท้าแบบนี้ว่า Zygodacttl foot ใช้ในการเกาะ และ ไต่กิ่งไม้ได้ดี เล็บโค้ง แหลมคม

นกตัวเมีย สีน้ำตาลเข้ม มีลายจุด และ ลายขีดสีขาว และ สีเนื้อทั่วตัว ส่วนบนของลำตัว ตั้งแต่หน้าผาก หัว ท้ายทอย หลังคอ หลัง รวมทั้งปีก ตะโพก จนถึงหาง เป็นสีน้ำตาลเข้ม บนหัวมีสีน้ำตาลเหลือบเขียวน้ำเงินจางๆ และ มักจะมีสีเนื้อ หรือ น้ำตาลอ่อนปะปนอยู่บ้าง ซึ่งจุดสีขาว หรือ สีเนื้อ นี้จะแทรกกระจัดกระจายอยู่ทั่วตัว จนพราวไปหมด ขนปลายปีก และ ขนหาง เป็นลายบั้ง สีน้ำตาลอ่อน , ส่วนล่างของลำตัว ตั้งแต่ คาง ใต้คอ อก จนถึงขนคลุมใต้โคนหาง เป็นสีน้ำตาลอ่อน แต่มีจุดสีน้ำตาลเข้มทั่วคาง และ ใต้คอ , มีลายบั้งสีดำ และ น้ำตาลอ่อน ที่หน้าอก และ ท้อง จนถึงใต้หาง ซึ่งลายเหล่านี้ช่วยพรางตาในที่รก มีแสงส่องรำไรลอดช่องว่างของต้นไม้ใบหญ้า ลงมาเป็นดอกดวงบนพื้นดิน กลมกลืนกับสีของลำตัวได้ดี แบบเดียวกับสีบนลำตัว ของไก่ฟ้าตัวเมีย , นกปากซ่อม , นกคุ่ม และ นกกระทา

นกที่ยังไม่เต็มวัย มีสีสันคล้ายนกตัวผู้ที่เต็มวัยแล้ว แต่ มีสีดำด้านๆ ทั่วทั้งตัว มีลายบั้งสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไป พออายุมากขึ้น ถ้าเป็นนกตัวผู้ ลายสีน้ำตาลก็จะ ค่อยๆ หมดไป แต่ ถ้าเป็นนกตัวเมีย ลายสีน้ำตาลจะมีมากขึ้น และ สีดำจะค่อยๆ หมดไป



นิสัยประจำพันธุ์ มักพบอยู่โดดเดี่ยว แต่ในฤดูผสมพันธุ์พบเป็นคู่ มักเกาะตามพุ่มไม้ หรือ กิ่งไม้ที่มีใบแน่นทึบ ทำให้สังเกตได้ยาก นอกจากจะได้ยินเสียงร้อง หรือ เมื่อมันบินออกมา จาก พุ่มไม้ นกกาเหว่าบินได้ดี เร็ว และ ตรง ลักษณะการกระพืดปีกคล้ายเหยี่ยว ในฤดูผสมพันธุ์จะได้ยินเสียงมันร้องเป็นประจำ ส่วนใหญ่เป็นช่วง เช้าตรู่และ เย็นค่ำ แต่บางครั้งมันก็ร้อง เกือบตลอด ทั้งวัน นกกาเหว่าเป็นนกชนิดแรกที่เริ่มร้องในช่วงเช้าของแต่ละวัน ตัวผู้ร้องเป็น 2 พยางค์ " โก - เอว " หรือ " กา - เว้า " ดังกังวานได้ยินไปไกลมาก เมื่อนกตัวใดตัวหนึ่งร้อง ตัวอื่นจะร้องตอบ เป็นการร้องเพื่อประกาศอาณาเขต ที่ครอบครอง และเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม ส่วนตัวเมียจะร้อง " กิก - กิก - กิก " รัว และ เร็ว มันมักร้องใน ขณะ ที่ กระโดดไปตาม กิ่งไม้ เป็นการร้องตอบการเกี้ยวพาราสีของตัวผู้ หรือ ร้องเพื่อหนีความก้าวร้าวของตัวผู้




เรามักเห็น เมื่อมันบินจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังต้นไม้อีกต้นหนึ่ง โดยบินไม่สูงนัก พอๆกับยอดไม้ หรือ เหนือกว่ายอดไม้เล็กน้อย พอมันบินไปถึงต้นไม้อีกต้นหนึ่ง มันจะบินหายเข้าไป ภายในพุ่มใบหนาทึบทันที ในขณะบิน นี้มันจะ ส่งเสียงร้องไปด้วย ทำให้เราสังเกตได้ ตามปกติเรามักเห็น นกตัวผู้มากกว่านกตัวเมีย เพราะนกตัวเมีย ไม่ค่อยชอบบินไปไหน มาไหน บ่อยนัก ชอบหลบซ่อนตัวอยู่ในเรือนยอด ของต้นไม้สูงมากว่า ถ้าหากมันอยู่กันเป็นคู่ เรามักเห็นมันบินตามกันไปเสมอ โดยตัวหนึ่งซึ่งมักเป็นตัวเมีย บินจากต้นไม้ต้นหนึ่ง ไปยังต้นไม้ อีกต้นหนึ่งก่อน พอตัวเมียหายเข้าไปในเรือนยอดหนาทึบแล้ว นกตัวผู้ จึงบินตามไป แล้วก็หายเข้าไปในเรือนยอด ของต้นไม้นั้นเช่นกัน




แหล่งอาศัยหากิน มักพบในพื้นที่หลายแบบ โดยพบทั้งในป่าโปร่ง สวนผลไม้ บนที่ราบต่ำ แต่ ในต่างประเทศ พบขึ้นไปหากินถึงระดับสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล นอกจากจะพบในป่าโปร่ง และ สวนผลไม้แล้ว นกกาเหว่า ยังอาจพบได้ ในป่าละเมาะ ป่าชายเลน ไร่ สวนสาธารณะ หรือตามสุมทุมพุ่มไม้ รอบๆหมู่บ้าน และ ภายในตัวเมือง ที่มีต้นไม้สูงๆ ขึ้นกระจัดกระจายทั่วไป บางครั้ง ก็พบบนต้นไม้สูงที่ขึ้นเดี่ยวๆ กลางทุ่งโล่ง จัดเป็นนกในเมืองด้วย เพราะอาจพบ เกาะตาม ต้นไม้สูงๆ ในสวนสาธารณะ ใจกลางตัวเมือง หรือตาม สถานที่ราชการ เอกชน ที่พอมีไม้ใหญ่ปลูกไว้ รวมทั้งบริเวณวัดต่างๆ ที่มักมีต้นไม้สูงๆขึ้นอยู่ แต่เรามักได้ยินเสียง มากกว่า จะมองเห็นตัว เนื่องจากมันชอบหลบซ่อนตัว อยู่ภายใน ร่มใบ หนาทึบ ของ ต้นไม้สูงๆ จนแลเห็นตัวได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นกตัวเมีย ซึ่งมีลายสีน้ำตาล เข้ากับสภาพแวดล้อม แต่ สีดำของ นกตัวผู้ จะกลมกลืนไปกับร่มเงาของต้นไม้ ได้ดีกว่า

นกกาเหว่า กินผลไม้ต่างๆ ซึ่งต่างจากนกในวงศ์คัคคู ด้วยกัน ซึ่งมักกินหนอน และ แมลง เป็นอาหารหลัก แต่นกกาเหว่า กลับชอบกินลูกไทร ไกร กร่าง หว้า มะเดื่อ ตะขบ และ ผลไม้สุกอื่นๆ ที่พบในธรรมชาติ แต่มันมักไม่ออกมากิน ในกิ่งที่โล่ง นอกพุ่มใบ แต่จะกระโดด และ ไต่หากิน ไปตามกิ่ง ภายในพุ่มใบหนาทึบ นอกจากผลไม้ มันยังชอบกิน หนอน แมลง และ หอยทาก อีกด้วย นกกาเหว่า เป็นนกที่ชอบอยู่แต่บนต้นไม้สูง ในระดับกลาง และ เรือนยอด จะไม่ลงมา ที่กิ่งต่ำๆ หรือ ลงหากินบนพื้นดินเลย นกกาเหว่า ที่อยู่ในเมือง จะค่อนข้าง คุ้นกับคน จึงอาจมองหาตัวได้ง่ายกว่า นกในป่า หรือ ตามชนบท



ฤดูผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งมักจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือน มีนาคม จนถึง เดือนสิงหาคม นกกาเหว่าตัวผู้ จะส่งเสียงร้องดัง " กาเว๊า... กาเว๊า " อยู่ทั่วไป ซึ่งมักได้ยิน ตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสาง จนกระทั่งถึงเวลาเย็น และ ยามค่ำคืน แล้วในเวลาต่อมา นกตัวผู้จะบินไปหานกตัวเมีย เพื่อไปเกี้ยวพาราสี บางครั้งเราอาจเห็นนกตัวผู้ 2 หรือ 3 ตัว กำลังเกี้ยวพาราสี นกตัวเมียตัวเดียว นกตัวเมียจะเกาะหลบซ่อนอยู่ตามกิ่งไม้ ที่มีพุ่มใบหนาทึบ ไม่ค่อยบินไปไหน นกตัวผู้และนกตัวเมีย ที่จับคู่กันแล้ว จะบินไล่กันด้วย โดยนกตัวผู้จะบินไล่ตัวเมีย จากต้นไม้หนึ่งไปยังต้นไม้ต้นอื่นๆ ในขณะบินไป นกตัวเมียจะส่งเสียงร้องดัง " กิ๊ก กิ๊ก กิ๊ก " ไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะเห็นบินหายลับตาเข้าไปในพุ่มไม้

ภายหลังจากผสมพันธุ์กันแล้ว นกตัวเมียจะเริ่มวางไข่ แต่เนื่องจากนกกาเหว่า มีวิวัฒนาการ ในทางลดโอกาสแพร่พันธุ์ของนกชนิดอื่น และ กำจัดคู่แข่งในการแก่งแย่งอาหาร ไปในตัว โดยการไม่สร้างรัง และ ฟักไข่เอง แต่ให้นกอื่น กกไข่ และ ฟักไข่ให้ จึงต้องแอบเข้าไปวางไข่ในรังของ อีกา ซึ่งทำรังวางไข่ในช่วงนี้เหมือนกัน เมื่อนกตัวเมียจะเข้าไปวางไข่ ในรังของอีกา นกตัวผู้จะต้องเข้าไป ทำท่าทีคุกคาม พ่อ หรือ แม่นกอีกา ที่กำลังฟักไข่อยู่ สัญชาติญาณของการ ป้องกัน รังและไข่ไม่ให้เป็นอันตราย ทำให้นกเจ้าของรัง หลงกล อุบาย ละทิ้งรังไปชั่วคราว และบินออกไปขับไล่นก ที่มีท่าทีคุกคาม เปิดโอกาสให้ นกกาเหว่าตัวเมีย ลอบเข้าไปวางไข่ ซึ่งมันจะใช้เวลาในการวางไข่ เพียง 2 - 3 วินาที ก็วางไข่เสร็จเรียบร้อย แล้ว ก่อนที่อีกาจะกลับมาเสียอีก เนื่องจากนกกาเหว่า ตัวเมียวางไข่เร็วมาก บางครั้ง เพียงแค่อีกาบินออกไปห่างรังชั่วขณะ นกกาเหว่าตัวเมีย ก็เข้าไปวางไข่เรียบร้อยแล้ว

ไข่ ของนกกาเหว่า มีสีสันคล้ายคลึงกับไข่ของ นกอีกา มาก เพราะมีสีฟ้าจางๆ เจือด้วยสีเหลือง และ สีเขียวอ่อน และ มีจุดสีน้ำตาลแกมแดง เล็กใหญ่ปะปนกัน ทั่วทั้งฟอง โดยเลียนแบบเหมือนไข่ของ นกอีกา แต่ มีขนาดเล็กกว่า เล็กน้อย ปกติ นกกาเหว่าจะวางไข่เพียงครั้งละ 1 ฟองต่อรังเท่านั้น แต่ยังไม่มีการศึกษาว่า ในฤดูหนึ่ง นกกาเหว่าตัวเมีย จะวางไข่จำนวนเท่าใด จึงยังไม่ทราบว่า จะต้องมีนกที่ตกเป็นเหยี่อรับเคราะห์ เป็นพ่อแม่บุญธรรม จากนกที่ไม่ได้ รับเชิญ ชนิดนี้เป็นจำนวนกี่ครอบครัว ต่อหนึ่งฤดูวางไข่

ไข่ของ นกกาเหว่า จะฟักเป็นตัว เร็วกว่า นกอีกา ด้วยเหตุนี้ เมื่อลูกนกกาเหว่า ฟักออกจากไข่ไม่นานนัก แม้ว่าจะมีหนังเปลือยเปล่า และ ตายังปิดอยู่ โดยสัญชาติญาณ ( เลว ) ที่ติดตัวมาจากสายเลือดดึกดำบรรพ์ ลูกนกกาเหว่า จะใช้ทุกส่วนของร่างกาย ดัน เบียด ผลัก จนไข่ของนกเจ้าของรัง ตกจากรังหมด ฉะนั้น เราจึงเห็นนกอีกา เลี้ยงลูกของนกกาเหว่า เพียงตัวเดียวแต่ลำพัง ในบางครั้ง นกกาเหว่า หารังนกอีกาพบช้าเกินไป โดยที่นกอีกาฟักไข่ไปก่อนหน้าแล้ว ไข่ของ นกอีกาจึงฟักเป็นตัวก่อน เราจึงอาจพบ นกอีกา เลี้ยงลูกของมันเอง และ ลูกนกกาเหว่าอยู่ในรังเดียวกันได้ ลูกนกกาเหว่า ที่มีขนขึ้นเต็มตัว ก็มีสีดำคล้ายลูกนกอีกา พ่อแม่บุญธรรมจึงแยกไม่ออก จึงเลี้ยงรวมๆกันไป อย่างไรก็ดี ลูกนกกาเหว่า มักแข็งแรง กว่า จึงแย่งอาหารจากพ่อแม่อีกาได้มากกว่า ลูกนกอีกาจึงมักอดอาหารตาย หรือ อ่อนแอ จนถูกลูกนกกาเหว่าจิกตาย เหลือแต่ลูกนกกาเหว่า ซึ่งเมื่อโตขึ้นมากแล้ว และ เริ่มมีเสียงร้อง ผิดแปลก ไปจากอีกา พ่อแม่นก จึงเริ่มรู้ว่าไม่ใช่ลูกของตัว และ ขับไล่ให้ไปหากินเอง ดังนั้น นกกาเหว่า ซึ่งถูกขับไล่ให้ออกมาหากินเอง ขณะที่ยังโตไม่เต็มที่ จึงมักถูกนกอื่นที่โตกว่า รังแก และ ขับไล่อยู่เสมอ นกกาเหว่า จึงมีสัญชาติญาณ ของการชอบหลบซ่อน ตัว ในขณะหาอาหาร ในเวลากลางวัน และต้องแก่งแย่งกับลูกนกชนิดอื่น ที่มีพ่อแม่นกคอยดูแล การที่ต้อง แก่งแย่งกับนกที่มีขนาดโตกว่า ตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้นกกาเหว่า โดยเฉพาะนกตัวผู้ มีลักษณะที่เป็นนกค่อนข้าง ก้าวร้าว ต่อ นกที่มีขนาดเล็กกว่า และ ชอบหลบซ่อนตัว จาก นกที่มีขนาด ใหญ่กว่า ในขณะเดียวกัน

ปัจจุบัน นกอีกามีจำนวนลดน้อยลง รังของนกอีกา จึงเริ่มหายากขึ้น เราจึงอาจเห็นนกกาเหว่า เข้าไปไข่ไว้ในรังของ นกเอี้ยงสาลิกา หรือ นกกิ้งโครงคอดำ แทน ซึ่งการที่ นกกาเหว่า จะเลือกวางไข่ในรังของนกชนิดใด มิใช่ว่าจะเป็น นกชนิดใดก็ได้ แต่ โดยธรรมชาติ นกกาเหว่าจะเลือก เข้าไป วางไข่ในรังของนกที่ ไข่ของนกชนิดนั้น มีขนาดและลวดลาย ของ เปลือกไข่ ใกล้เคียงกัน โดยนกกาเหว่าตัวเมีย จะมีความสามารถ สร้าง ลวดลาย ของเปลือกไข่ ให้คล้ายนก ที่ตกเป็น เป้าหมาย ได้พอสมควร แต่ไม่ใช่เลียนแบบได้ทุกชนิด และ นกชนิดนั้น ต้องมีความสามารถพอ ที่จะเลี้ยงลูกของมัน ซึ่งมีขนาดใหญ่พอสมควร ให้รอดได้

แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ ยังสงสัย คือ นกที่แม่นกกาเหว่า ไปไข่ไว้ให้ฟัก ล้วนเป็นนกที่กินแมลง เป็นอาหารกลัก ดังนั้น ลูกนกกาเหว่าขณะยังเล็ก จึงถูกป้อนด้วยอาหารโปรตีน เพียงประเภทเดียว แต่เหตุใด เมื่อมันออกหากินเอง จึงกลายเป็นนกที่กินผลไม้ เป็นอาหารหลักไปได้


การแพร่กระจายพันธุ์ เป็นนกประจำถิ่น ของ หมู่เกาะซุนดาใหญ่ , ภาคตะวันตกของหมู่เกาะซุนดาน้อย , หมู่เกาะฟิลิปปินส์ , สุลาเวสี , หมู่เกาะโมลุคกะ , นิวกีนี , ภาคเหนือ ของ Melanesia , แหล่งทำรังวางไข่ อยู่ในอนุทวีปอินเดีย , ภาคกลาง และ ภาคใต้ของจีน , ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตหนาว ทางตอนเหนือ ในฤดูหนาวจะอพยพลงใต้มาอยู่ที่ หมู่เกาะซุนดาใหญ่ . สำหรับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นนกประจำถิ่น ที่พบได้บ่อยมาก ของทุกประเทศ มีประชากรบางส่วน อพยพย้ายถิ่นตามแหล่งหากินภายในประเทศ ( ยกเว้นไม่พบทางภาคตะวันตก และ ภาคตะวันออกของตังเกี๋ย ) , เป็นนกอพยพผ่าน ทางภาคใต้ ของไทย , คาบสมทุรมาลายู , สิงคโปร์ , เป็นนกอพยพผ่านที่พบบ่อยมาก ทาง ภาคตะวันออกของตัวเกี๋ย เป็น brood - parasitic ของ Large - billed Crow และ House Crow




สำหรับประเทศไทย นกกาเหว่า ที่พบในประเทศไทย มี 2 ชนิดย่อย คือ

ชนิดย่อย E . s . malayana พบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และ ภาคใต้ ลงไปตลอดคาบสมุทรมาลายู นอกจากนี้ยังเป็นนกประจำถิ่น ของ เมียนม่าห์ ( แต่ไม่พบทางภาคเหนือ และ ภาคตะวันออก ของ เมียนม่าห์ ) , ชนิดย่อยนี้ นกตัวผู้ บางส่วนของลำตัว จะมีแถบสีส้มอมแดง หรือ สีเนื้อ นกตัวเมีย ขีด และ จุด ตามลำตัวเป็นสีเนื้อ หรือ ขาวอมเหลือง

ชนิดย่อย E . s . chinensis พบในภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในฤดูหนาว จะบินอพยพย้ายถิ่นลงไปหากินใน ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และ ภาคใต้ด้วย แต่ จะพบหากินลงไปแค่จังหวัดตรัง ไม่ลงไปถึงคาบสมุทรมาลายู พอถึงฤดูร้อน จึงจะอพยพกลับขึ้นไปผสมพันธุ์วางไข่ในถิ่นเดิม

ชนิดย่อยนี้ นกตัวผู้ ลำตัวมีสีเหลือบดำอมฟ้า ปาก หนาสั้น สีเขียว , ตา สีแดง นกตัวเมีย มีสีผันแปรได้หลายแบบ แต่ ส่วนใหญ่ ลำตัวสีดำ หรือดำอมน้ำตาล มีขีด หรือ จุด สีขาว กระจายทั่วตัว

แหล่งข้อมูล : " นกในเมืองไทย " โดย รศ. โอภาส ขอบเขตต์

" นกกาเหว่า " โดย สุธี ศุภรัฐวิกร

" A field guide to the bids of Thailand and South - east Asia " by Craig Robson

ภาพโดย Photographer : ประสิทธิ์ จันเสรีกร ( Prasit Chansarekorn ) , ศุภลักขณ์ กลับดี ( Suppalak Klabdee )

น.สพ ไชยยันต์ เกษรดอกบัว ( Chaiyan Kasorndorkbua )

Dr. Chan Kai Soon . Sumit K. Sen ( Malaysia )


Resource:
นกกาเหว่า / Asian Koel / Eudynamys scolopacea

_________________________________________________

//www.birdsofthailand.net/product/91/%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2

นิทานอีสป กรรมเก่าของกา

นิทานเรื่อง กรรมเก่าของกา

----------------------------------------------------------------
กรรมเก่าของกา เป็นนิทานประเภทอธิบายสิสัยของกา
กาเหว่าและนกฮูก ว่าทำไมกา จึงต้องฟักไข่และเลี้ยงลูก
ให้นกกาเหว่า ทำไมกาเหว่าไข่แล้วจึงต้องให้กาฟักไข่
และเลี้ยงลูกให้ และทำไมนกฮูกจึงต้องออกหากินเวลา
กลางคืน

โดยเล่าเป็นนิทานว่า

นานมาแล้ว นกฮูกท้องผูกถ่ายไม่ออก จึงไปหากาให้ช่วย
กาจึงนำไปหานกกาเหว่าให้ช่วยรักษา โดยตกลงกันว่า
เมื่อรักษาหายแล้วนกฮูกจะต้องจ่ายค่ารักษาให้นกกาเหว่า
หลังจากตกลงกันแล้ว

นกกาเหว่าก็ลงมือรักษาให้นกฮูก โดยให้นั่งเอาก้นแช่น้ำ
ในลำธาร เพื่อให้น้ำละลายอุจจาระที่ถ่ายออกมาติดค้างอยู่ที่
ปากทวาร หลังจากนกฮูกถ่ายเป็นปกติแล้วก็ไม่ยอมจ่ายค่ารักษา

โดยให้เหตุผลว่า นกกาเหว่าไม่ได้ทำการรักษาแต่อย่างใด
เหตุครั้งนี้ทำให้นกต่าง ๆ รังเกียจและขับไล่นกฮูกออกจาก...
สมาคมนกต้องหลบซ่อนในเวลากลางวัน และออกหากิน
ในเวลากลางคืน

ฝ่ายนกกาเหว่าเมื่อไม่ได้ค่ารักษาจากนกฮูก
จึงเรียกร้องเอาจากกา

กาไม่สามารถจ่ายค่ารักษาแทนนกฮูกได้ จึงต้องรับฟักไข่
และเลี้ยงลูกให้นกกาเหว่าเป็นการตอบแทน

ที่มา : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 1,5 ธันวาคม 2542

___________________________________________________

จากหนังสือเรียน
ป. 5

เรื่องนกกาเหว่า

"เด็กๆรู้ไหม ใยนกกาเหว่า
จึงไม่คอยเฝ้า เลี้ยงดูลูกตน

ไข่ใสรังกา ไม่มาเวียนวน
ลูกเติบโตจน บินหนีกาไป

เรื่องเก่าเล่ามา รุ้ง,กา,กาเหว่า
มาพบกันเข้า ถูกอกถูกใจ
เลยเป็นเพื่อนกัน ต่างสัญญาไว้
ใครมีเภทภัย ต้องช่วยทันที

วันหนึ่งนกรุ้ง บินมุ่งหมู่บ้าน
โผผินบินผ่าน มาถึงถิ่นที่
เห็นฝูงลูกไก่ แลไปมากมี
สุดแสนยินดี โฉบเฉียวอาหาร

เจ้าของไก่เล็ง ตรงเผงจอมขโมย
นกรุ้งโอดโอย กระสุนถูกทวาร
เจ็บแทบอาสัญ เหหันซมซาน
ฝืนบินกลับบ้าน เกือบสิ้นชีวา

ลูกกระสุนคาก้น ขัดสนสิ้นคิด
มันแข็งแน่นติด ไม่หลุดออกมา
มองหาใครช่วย แทบม้วยมรณา
พอดีนกกาบิน ผ่านมาเยือน

พอการู้เหตุ สังเวชเต็มทน
เร่งคิดแยบยล เพื่อช่วยเหลือเพื่อน
เห็นแสงแดดจ้า ไม่ช้ารีบเตือน
เจ้าอย่าแชเชือน ชูบั้นท้ายพลัน

ให้แดดแผดเผา ส่องเข้าลูกกระสุน
จะแตกเป็นจุล หลุดออกจากกัน
นกรุ้งรู้ความ ทำตามทันควัน
ชูอยู่ทั้งวัน ก็ไม่เป็นผล

นกรุ้งเจ็บปวด ร้าวรวดร้องคราง
นกกาหมดทาง ช่วยเหลือเพื่อนตน
กาเหว่าคงรู้ ลองดูอีกหน
รีบบินดั้นด้น ตามกาเหว่ามา

กาเหว่ามาถึง รู้ซึ้งสันดาน
สัญชาติรุ้งพาล จึงต้องสัญญา
ถ้าข้าช่วยได้ เอ็งให้อะไรหวา
หากแม้นสบอุรา ข้าจักช่วยไว้

นกรุ้งรีบตอบ ข้ามอบชีวี
จงรักภักดี เป็นทาสตลอดไป
กาเหว่าไม่เชื่อ กาเบื่อเหลือใจ
จึงเกล่าขานไข รับเป็นนายประกัน

กาเหว่าบอกรุ้ง ให้มุ่งสู่ธาร
รีบชุ่มแช่ทวาร ลงในน้ำนั้น
กระสุนเป็นดิน เปื่อยสิ้นเร้วพลัน
นกรุ้งรีบผัน ทำตามทันใด

หย่อนก้นลงธาร มินานดินหลุด
ยินดีที่สุด บินหนีเร็วไว
ไม่คืนกลับมา เห็นหน้าใครใคร
ชั่วช้าจัญไร ทอดทิ้งสัญญา

กาจึงรับกำ ชอกช้ำเป็นทาส
กาเหว่าประกาศ ว่าแต่นี้หนา
เจ้าต้องฟักไข่ เลี้ยงให้ลูกข้า
เติบโตขึ้นมา ชั่วกัปชั่วกัลป์

เป็นอุทาหรณ์ เพื่อสอนใจเรา
ว่าอย่าโง่เขลา จำไว้ให้มั่น
เลือกคบเพื่อนดี เป็นที่ผูกพัน
จงอย่าคิดประกัน ให้คนพาลเอย "

___________________________________________________










___________________________________________________




 

Create Date : 06 พฤษภาคม 2555   
Last Update : 16 เมษายน 2558 11:37:28 น.   
Counter : 48007 Pageviews.  



P_ปรัชญา
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 63 คน [?]




หยิ่ง
กับตัวเองบ้าง
ในบางครั้ง

เบื่อ
ชีวิตความผิดหวัง
ในบางหน

เกลียด
ความไม่จริงใจ
ในบางคน

ยอมทน
คนหยามเหยียดได้
ในบางที


[Add P_ปรัชญา's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com