การลงทุนเน้นคุณค่า โดย ลูกอีสาน แห่ง TVI

สืบเนื่องจากกระทู้นี้ มีเงินน้อย เป็นvi ไม่ได้จริงหรือไม่
โดย คุณลูกอีสาน


แม้ผมจะเห็นด้วยกับหลายๆท่าน ว่าเงินลงทุนมากน้อย
ก็สามารถลงทุนตามแนวทาง vi ได้ แต่อีกด้านนึงผมคิด
ว่าแม้จะลงทุนแบบ vi เหมือนกันแต่ระดับเงินลงทุนก็มีผล
ต่อเทคนิคหรือกลยุทธ์ที่ควรจะใช้

ครั้งหนึ่ง Warren Buffett เคยพูดว่า หากวันนี้มีเงินลงทุนแค่ 1 ล้านเหรียญ
เค้าสามารถทำผลตอบแทนได้มากกว่า 50% ต่อปี ซึ่งผมคิดว่ามีความเป็น
ไปได้สูง เพราะช่วงแรกๆที่วอร์เรนลงทุนผ่านห้างหุ้นส่วน เค้าสามารถทำผล
ตอบแทนได้ประมาณ 30% ต่อปี ในทำนองเดียวกัน หาก ดร.นิเวศน์
มีเงินลงทุนวันนี้แค่ 1 ล้านบาท ผมคิดว่าแนวทางการเลือกหุ้นของท่าน
อาจจะแตกต่างออกไป

เงินลงทุนน้อยๆตามนิยามง่ายๆของผม อาจจะเป็นเงินหมื่น เงินแสน
และไม่เกิน 1 ล้านบาท ลำพังหากลงทุนโดยแนวทางอนุรักษ์นิยม
อาจได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10-15% ต่อปี ซึ่งอาจจะเพียงพอและน่าพอใจ
หากเป็นพอร์ตการลงทุนขนาดกลางหรือใหญ่ แต่ผลตอบแทนระดับนี้
ไม่อาจสร้างความแตกต่างในพอร์ตขนาดเล็ก

ดังนั้นหากเป็นพอร์ตการลงระดับเล็กๆ ผมคิดว่าควรมีกลยุทธ์ที่แตกต่าง
ออกไปเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้สูงขึ้น

เพื่อนๆท่านใดมีเทคนิคหรือกลยุทธ์ที่คิดว่าน่าสนใจอย่างไรจะแนะนำ
สำหรับพอร์ตการลงทุนขนาดเล็ก ก็แสดงความคิดเห็นได้เลยครับ
จะได้เป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนๆจะได้นำไปประยุกต์ใช้


กลยุทธ์การลงทุน กรณีเริ่มต้นเงินทุนน้อยๆ
ผมมองผ่านภาพใหญ่ 2 ประเด็นคือ



1.ควรจะเพิ่มเงินลงทุนให้มากที่สุด
2.ต้องทำให้เงินลงทุนได้ผลตอบแทนมากที่สุด



ประเด็นแรก ควรจะเพิ่มเงินลงทุนให้มากที่สุด สามารถแยกเป็นภาพย่อยๆได้อีกคือ


1.1 ควรเพิ่มรายได้ เพิ่มจำนวนเงินให้มากที่สุด
1.2 ลดรายจ่ายให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มเงินออม ที่จะนำมาลงทุน



1.1 เพิ่มรายได้ ผมมองในแง่คนทั่วไปที่ทำงานกินเงินเดือนไม่สูงมาก การเพิ่มรายได้สามารถทำได้โดยการหารายได้เสริม การย้ายงานใหม่ การเพิ่มความรู้เพื่อเพิ่มค่าจ้าง การแต่งงานที่คู่ชีวิตมีรายได้ด้วย (ถ้าโชคดีได้แฟนรวยจะดีมาก ) การหยิบยืมเงินจากพ่อแม่หรือญาติในระดับที่หากเสียหายก็ไม่ทำให้เดือนร้อนมาก ที่สำคัญไม่ควรกู้เงินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพื่อมาลงทุน เพราะจะมีแรงกดดันจากที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตลอดเวลา

1.2 การลดรายจ่าย รายจ่ายที่หนักที่สุดสำหรับมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่คือการผ่อนรถ-ผ่อนบ้าน คุณสุวภา ผู้เขียนหนังสือ show me the money เคยพูดไว้ว่าตัวอย่างการใช้เงินที่เลวที่สุดของหนุ่มสาวที่กำลังสร้างอนาคตคือการซื้อรถ แต่ประเด็นนี้มีการถกเถียงกันพอสมควร หลายท่านอาจจะบอกว่าทั้งบ้านและรถเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ หรือต้องใช้ประกอบการทำงาน ซึ่งผมก็เห็นด้วยในบางประเด็น แต่ถ้ามองรอบด้าน เราอาจจะพบว่ามีทางเลือกอื่นๆอีก ที่ทำให้สามารถประหยัดรายจ่ายส่วนนี้ได้ เช่น

-แทนที่จะผ่อนบ้าน เราอาจจะอดทนอาศัยอยู่กับพ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อนที่สนิท หรือแม้แต่การเช่าบ้านที่ค่าเช่าไม่สูงมาก เหล่านี้แม้จะไม่สะดวกสบายเท่า แต่สามารถประหยัดทั้งดอกเบี้ยผ่อนและยังสามารถนำเงินต้นไปหาดอกผลจากการลงทุน

-แทนที่จะผ่อนรถ เสียทั้งเงินต้นและดอกและยังมีค่าใช้จ่ายน้ำมัน ทางด่วน ซ่อมแซม ค่าประกัน เหล่านี้เป็นเงินจำนวนมากที่เราคาดไม่ถึง เราอาจจะใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ หรือกระทั่งซื้อรถมือสองที่ราคาถูกกว่ามาก หรือหากยังมีค่าใช้จ่ายสูง ก็อาจจะต้องเปลี่ยนงาน หรือย้ายบ้าน ย้ายที่พักซะเลย ให้ที่ทำงานกับที่พักอยู่ใกล้ๆกันเพื่อประหยัดค่าเดินทาง


รายจ่ายอื่นๆที่พอจะประหยัดได้เช่น ค่าใช้จ่ายโทรศัพท์มือถือ ที่เราต้องจ่ายทุกเดือน ถ้าคิดเป็นรายจ่ายทั้งปีเราอาจจะตกใจ ทางเลือกคือ เราอาจะโทรน้อยลง หรือไม่โทรเลย (ไม่โทรไม่ตายซักหน่อย )เปลี่ยนเครื่องนานๆครั้ง ใช้เครื่องถูกๆ


ข้างต้นที่เขียนมาคงทำได้ไม่ง่ายครับ เพราะรายจ่ายเหล่านี้ คนปกติทั่วไปในสังคมเค้าทำกัน เรียกว่าบินก่อน ผ่อนทีหลัง เอาสบายไว้ก่อน เรื่องอืนค่อยว่ากัน แต่หากเราต้องการที่จะแตกต่างจากคนอืนๆ(อยากรวย :lol: ) เราควรจะทำให้ได้ อาจจะในรูปแบบหรือวิธีที่ต่างกันออกไปตามฐานะ ความจำเป็นของแต่ละคน



ประเด็นแรกการหากเงินมาลงทุนให้มากที่สุด ผมคงไม่เน้นมากครับ แต่จะ
ไปเน้นในประเด็นที่สองคือทำอย่างไรให้เงินลงทุนได้ผลตอบแทนมากที่สุด


ประเด็นที่สอง ทำอย่างไรให้เงินลงทุนได้ผลตอบแทนสูงสุด
ประเด็นนี้เชื่อว่านักลงทุนทุกคนต่างต้องการ และยิ่งหากมีเงินลงทุนไม่มาก การทำผลตอบแทนให้สูงๆยิ่งมีความสำคัญ การมีเงินลงทุนน้อยๆและทำผลตอบแทนในระดับปกติ เช่น 10-15% ต่อปี กว่าที่เงินลงทุนจะเติบโตสมมุติ 1 เท่าตัว อาจใช้เวลา 5-6 ปี ซึ่งอาจจะน่าพอใจหากเปรียบเทียบกับผลตอบแทนกับเงินฝาก แต่อาจจะน้อยไปเมื่อเทียบกับเวลาที่ใช้ในการศึกษาการลงทุน นอกจากนั้นแม้เงินทุนจะเพิ่มขึ้นมาระดับนี้ แต่ด้วยเงินเริ่มต้นที่น้อย กำไรที่ทำได้ก็น้อยไปด้วย และสุดท้ายจะพาลทำให้นักลงทุนหมดกำลังใจ เพราะดูเหมือนการลงทุนอย่างนี้ทำให้รวยช้า อาจหันเหไปเก็งกำไร หรือไปเสี่ยงโชคกับการธุรกิจอื่นๆ ที่เห็นว่าจะทำให้รวยเร็วกว่า


การเพิ่มเทคนิค กลยุทธ์เพียงเล็กๆน้อยๆ สำหรับพอร์ตการลงทุนเล็กๆ อาจจะเพิ่มผลตอบแทนได้อย่างน่าพอใจ ที่จริงกลยุทธิ์เหล่านี้เพื่อนๆหลายท่านก็ทราบกันดีจากที่โพสต์มา แต่หากนำมาเรียบเรียงรวมกันเป็นหมวดหมู่ จะเป็นประโชน์กับเพื่อนๆได้พิจารณาเป็นทางเลือกใหม่ครับ



กลยุทธ์ที่ผมพอจะคิดออก หรือท่านใดจะเสริม มีดังนี้ครับ


1.การทำการบ้าน(หุ้น) ไม่แน่ใจว่าเป็นกลยุทธ์หรือเปล่า แต่ผมเชื่อว่านี่เป็นการแปรเปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นพลัง-เป็นแรงบันดาลใจที่ชัดเจนที่สุด ยิ่งหากเราพอร์ตเล็กเท่าไหร่ เราก็ควรจะทำการบ้าน ศึกษาหาข้อมูลหุ้นให้มากขึ้นเท่านั้น มีเพียงสิ่งนี้สิ่งเดียวที่เราควบคุมได้โดยตรง ทำให้ทุกเวลา ทุกนาที โดยไม่ขึ้นอยู่กับคนอื่น หากเราไม่มีความรู้ที่จะหาหุ้น ไม่มีความรู้ด้านบัญชี ด้านการเงิน วิธีทีดีที่สุด ก็คือต้องไปเรียน หาหนังสือมาอ่าน หากไม่มีเวลา ไม่ค่อยมีเงิน ผมแนะนำให้ลงเรียนที่ม.รามคำแหง บัญชีเบื้องต้น หรือการวิเคราะห์ทางด้านการเงิน ไม่ต้องเสียเวลาไปเรียน ซื้อหนังสือซื้อชีทมาอ่าน ก็เข้าใจได้ครับ


2.ไปหาปลาตรงที่มีปลา เนื่องจากเราตั้งโจทย์ว่าเราต้องการผลตอบแทนสูงๆ ดังนั้นเราก็ต้องหาประเภทของหุ้นที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงๆ เสมือนไปหาปลาตรงที่ๆมีปลา ข้อสังเกตุของผมหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ มักเป็นหุ้นขนาดกลางถึงขนาดเล็ก หุ้นเหล่านี้แม้มีความเสี่ยงทางธุรกิจบ้าง แต่การเพิ่มยอดขายหรือผลกำไรจะทำใด้เร็วกว่าหุ้นมั่นคงขนาดใหญ่มาก ธุรกิจที่มีกำไรเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นก็จะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนั้นหุ้นเหล่านี้ไม่คอ่ยมีนักวิเคราะห์คอยติดตาม ทำให้โอกาสที่จะเจอหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นมีสูง

หลักทรัพย์บางประเภทเช่นวอร์แรนต์ที่นักลงทุนมักหลีกเลี่ยงเพราะมีความเสี่ยงสูง ทั้งที่ในความเป็นจริงวอร์แรนต์เหล่านี้ในอนาคตก็คือหุ้นสามัญนั่นเอง ดังนั้นเราควรใช้บรรทัดฐานในการประเมินมูลค่าวอร์แรนต์ในทำนองเดียวกับที่เราประเมินมูลค่าหุ้น หากมูลค่าวอร์แรนต์ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น ก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะหลีกเลี่ยงการลงทุนในวอร์แรนต์ และที่จริงการลงทุนในวอร์แรนต์โดยปกติจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นสามัญ เพราะคุณสมบัติจากอัตราทวีผลหรือ Gearing นั่นเอง นักลงทุนที่แสวงหากำไรสูงๆ ไม่ควรมองข้ามการลงทุนในวอร์แรนต์ครับ


3. มองหาตัวเร่งเร้า(ที่รุนแรง) หมายถึงมองหาปัจจัยที่จะเร่งให้กำไรของกิจการเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งจะหมายถึงราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นมากด้วย ตัวเร่งในที่นี้อาจจะเป็นอะไรก็ตาม ที่จะทำให้กำไรของกิจการเพิ่มขึ้นทั้งโดยตัวพื้นฐาน เช่น การขยาย ปรับปรุงกำลังการผลิต การขยายตลาด รวมถึงการเจริญเติบโตปกติของกิจการ การกลับตัวของดีมาน-ซัพพลายของอุตสาหกรรม การซื้อกิจการ การเพิ่มปันผล กำไรพิเศษ นอกจากนั้นยังอาจเป็นตัวเร่งทางปัจจัยจิตวิทยา เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น หรือผู้บริหาร การแตกหุ้น การแจกวอร์แรนต์

หากเปรียบเทียบการลงทุนในหุ้น 2 ตัว ที่มีปัจจัยทางด้านอื่นๆเหมือนๆกันหรือคุณภาพพอๆกัน หุ้นตัวที่มีตัวเร่ง มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า



4.เริ่มต้นลงทุนให้เร็วที่สุด เพราะการที่พอร์ตการลงทุนจะโตมากๆ ต้องอาศัยการทบต้นหรือการนำกำไรไปลงทุนต่อ ดังนั้นในปีหลังๆพอร์ตการลงทุนจะเพิ่มขึ้นเร็วมากเพราะเงินต้นมากกว่า แม้จะทำผลตอบแทนได้เท่าเดิม การลงทุนให้เร็วที่สุด จะทำให้เราไปถึงจุดที่เงินลงทุนออกดอกออกผลได้เร็ว นอกจากนั้น การที่เราเริ่มลงทุนเร็ว เท่ากับว่าเราได้เริ่มเรียนรู้เร็วไปด้วย ซึ่งความรู้จะพอกพูนไปตามวันเวลา และประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น

เคยมีผลการวิจัยศึกษา พบว่านักลงทุนที่เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเท่าๆกัน ทำผลตอบแทนได้เท่าๆกัน ต่างกันตรงที่เริ่มลงทุนห่างกันหลายปี เมื่อเวลาผ่านไป ผลตอบแทนของทั้งสองคนจะห่างออกจากกันมากขึ้น เสมือนเส้น 2 เส้นที่ลากออกจากจุดเดียวกัน เส้นทั้ง 2 ทำมุมกันเพียงเล็กน้อย ถ้าลากเส้นยาวขึ้นเรื่อยๆ เส้นทั้งสองจะออกห่างกันมากขึ้นทุกที


5. ผู้บริหารในฝัน เพราะผู้บริหารที่ดีจะทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนมากกว่าปกติ ผู้บริหารที่นักลงทุนควรมองหาคือ มีความรู้ซึ้งในธุรกิจที่ทำ มีความซื่อสัตย์ มีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล มี passtion ในงานที่ทำ มีความกระหายที่จะทำให้บริษัทเติบโตและที่สำคัญต้องมองผลประโยชน์ในมุมมองเดียวกับผู้ถือหุ้นรายย่อย

ถ้าเจอผู้บริหารที่มีคุณสมบัติข้างต้น ช่วยสะกิดบอกผมด้วย เพราะนี่เป็นสัญญานที่ดีที่จะเจอหุ้นดีๆ การศึกษาปัจจัยพื้นฐานด้านอื่นๆประกอบเป็นสิ่งจำเป็นก่อนที่เราจะตัดสินใจลงทุนต่อไป

(เทคนิคไม่ยากที่เราอาจจะพบผู้บริหารอย่างนี้ สังเกตุจากบริษัทที่เข้าร่วมงาน oppurtunity day บ่อยๆ เพราะนั่นแสดงว่าผู้บริหารบริษัทเหล่านี้ กล้าที่จะเปิดเผยต่อนักลงทุนรายย่อย แสดงว่าผู้บริหารอาจจะมั่นใจว่าบริษัทดีจริง)


6. ถือหุ้นน้อยตัว หากเรามีเงินทุนน้อย การกระจายการถือหุ้นหลายๆตัว อาจทำให้เรารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น แต่ผลตอบแทนที่ได้จะหักล้างกันทำให้ผลตอบแทนไม่สูงเท่าที่ควร การเลือกที่จะถือหุ้นน้อยตัวเช่น 2-5 ตัว จะทำให้เรามีความรอบคอบ พิถีพิถันที่จะเลือกถือหุ้นในกลุ่มที่ดีที่สุด ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (ภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้) และหากเราวิเคราะห์ได้ถูกต้อง ผลตอบแทนที่ได้รับจะคุ้มค่า

ตัวเลข 2-5 ตัวอาจจะปรับเปลี่ยนได้ตามระดับความมั่นใจในพื้นฐานของหุ้นที่เราจะลงทุน


7. คาดหวังผลลัพธ์ 100% เลือกลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสได้กำไรสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยง แม้หุ้นเหล่านี้อาจจะมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง แต่เป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่จะศึกษาให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงนี้ แน่นอนว่าในการลงทุนทุกอย่าง เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ หากเราลงทุนในหุ้นที่แพ้ เราจะแพ้ หากเราเลือกลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสทั้งชนะและแพ้ เราจะมีโอกาสทั้งชนะและแพ้ ขึ้นอยู่กับว่าเราศึกษามากน้อยแค่ไหน และบางทีก็เป็น โชคชะตา..


8. Growth always better ถ้าหากหลายท่านจำกันได้ กระทู้ของคุณริวกะเมื่อไม่นานมานี้ TVI Index ที่จริงอาจจะมีเพื่อนๆเอะใจว่า คำตอบการลงทุนที่เราค้นหามานาน อาจจะซ่อนอยู่ในกระทู้ที่ว่านี้ก็ได้ คำตอบที่ผมหมายถึงคือหากเราดูผลตอบแทนย้อนหลังของหุ้นหลายๆตัวที่ทำกำไรสูงๆ ในกระทู้นั้น สิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ทุกบริษัทเป็นหุ้นเติบโตสูงหรือ growth stock ทั้งสิ้น คำอธิบายแบบเรียบง่ายคือราคาหุ้นขึ้นอยู่กับกำไรที่กิจการทำได้ ถ้ากำไรเพิ่ม ราคาหุ้นก็เพิ่ม คนที่ถือไว้ก็ได้กำไร นักลงทุนทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จทั้งในอดีตและปัจจุบัน จะมีหุ้นเติบโตสูงอยู่ในพอร์ตเสมอๆ

...เวลาจะเป็นเพื่อนที่ดีเสมอ หากเราลงทุนในหุ้นโกรท...




กลยุทธ์สำหรับนักลงทุนเบี้ยน้อยหอยน้อย คงมีแค่นี้ครับเท่าที่คิดออก ถ้าเพื่อนๆมีความเห็นอื่นจะเสริมก็จะเป็นประโยชน์ครับ และที่ต้องขอย้ำคือกลยุทธ์ส่วนใหญ่ คงเหมาะสมกับนักลงทุนที่มีความรู้การลงทุนในระดับนึงแล้ว และจะไม่เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ ถ้าถามว่ากลยุทธ์ข้อไหนที่สำคัญและจำเป็นที่สุดคงเป็นข้อแรก ถ้าไม่มีข้อแรก ประเด็นอื่นๆก็จะไม่ตามมา

ผมและเพื่อนท่านอื่นๆอาจจะเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น แต่นักลงทุนต้องเดินทางด้วยตัวเองครับ ระหว่างทางอาจจะมีความยากลำบาก มีอุปสรรค มีเพียงทัศนคติที่ถูกต้อง ความตั้งใจ และกำลังใจ จะทำให้เราไปถึงจุดหมายครับ มีบทกวีบทหนึ่ง นำมาฝากเป็นกำลังใจด้วยครับ


เมื่อเริ่มสู้นั้น มันมืดยิ่งกว่ามืด...
ครั้นยืนหยัดยาวยืด มืดค่อยหาย...
พอมองเห็นลางลาง อยู่ทางปลาย...
ชัยชนะ ขั้นสุดท้าย ไม่เกินรอ.
..



_______________________________________________________

"ลำบากก่อน ผ่อนคลายที่หลัง" หรือ "บินก่อน ผ่อนทีหลัง"
โดยคุณ dome@perth

ประโยคนี้มันสะดุด หัวใจผมมากๆเมื่อ 3 ปีก่อน

ผมก็คนหนึงเหมือนคนทั่วๆไปในสังคม ชอบสบายวันนี้
มีอะไรผ่อนได้ผ่อน ซื้ออะไรได้ซื้อ อะไรจะเกิดทีหลัง เอาไว้ค่อยคิด
มันทำให้ผมวนเวียนอยู่ใน Rat race ตลอดชีวิตที่ผ่านมา

ผมหันมาเอาจริงเอาจัง กับการตั้งใจจะลำบากก่อน
อดทนฝืนนิสัยมักสบายชอบหรูหราของผม
อยากเก็บเงินทุกบาททุกสตางค์ ที่ได้จากการทำงาน
ลดค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่ไม่จำเป็น แล้วก็ท่องอยู่ในใจตลอดว่า

"ซื้อเท่าที่กิน ซื้อเท่าที่จำเป็นต้องใช้ และ ใช้ให้คุ้มค่าที่ซื้อมา"

เท่าที่ผ่านมา นึกย้อนกลับไป มันมากมายหลายสิ่งเหลือเกินที่เรา
"ซื้อมาทิ้ง" และ "ใช้ของที่ซื้อมาไม่คุ้มค่า"

หลังจากได้เข้ามาอ่านบทความของหลายๆท่าน
โดนเฉพาะลูกอิสาน เขียนจากสิ่งที่เห็นและสัมผัสได้จริง
จากชีวิตจริงของเขา ทำให้ผมรู้ตัวเลยว่า

"ผมละเลยในสิ่งที่ผมควรทำเพื่ออนาคตที่สะบายกว่า"

สบายกว่า หรูหรากว่า สิ่งที่ผม "หรอกตัวเอง" มาตลอด


..........................................

ผมอยากเป็นคนหนึง ที่ช่วยให้เพื่อนๆ ที่เคยเป็นอย่างผม
แล้วที่พึงเข้ามาเริ่มต้น"ปลูกเงิน" เพื่อ "ความสบายที่ยั่งยืนในอนาคต"
ไม่ใช่สบายจอมปลอมไปวันๆในตอนนี้



คิดจะเริ่มต้นลงทุน ไม่ว่าจะด้วยเงินมากน้อยเท่าไม่สำคัญ
จะประสบความสำเร็จ ตามเป้าหมายเร็วหรือช้าสำคัญตรงที่

1.เริ่มต้นให้เร็วที่สุด
พรุ่งนี้ ก็สายเกินไป ไม่ได้หมายความว่าเริ่มซื้อหุ้นนะครับ

2.จำนวนเงินที่เติมลงไป
ยิ่งมากยิ่งดี ในตอนแรก พอพอร์ตใหญ่พอ
เงินที่เติมลงไปไม่ค่อยมีผลต่อมูลค่าพอร์ตแล้ว
เมื่อนั้นจะเลิกทำงานหหาเงิน ก็ตัดสินใจง่ายขึ้น

3.อัตราผลตอบ
ไม่ต้องพูดถึงนะครับ ทำได้กันดีอยู่แล้ว

4.มีความสูขกับการลงทุน
ผมว่าสำคัญไม่น้อย

หากเราสามารถ balance การใช้เงิน ใช้เวลาได้เหมาะสม
กับสถานะของตัวเอง ณ ขณะนั้นๆ
มันจะทำให้เรา Balance ความลำบากความสบาย ได้ยั่งยืนครับ


ผมอยากขยายความข้อนี้มากหน่อย
เพราะ เป็นตัวหนึงที่มีผลมากๆสำหรับคนที่ยังมีขนาดพอร์ตเล็กอยู่

ผมคุยกับเพื่อนสนิทคนหนึง ที่เขาลงทุนมาก่อนผมหลายปี
ขอบอกว่าพอร์ตผมโตเร็งไล่พอร์ตเขาจะทันอยู่แล้ว
เราจึงมองว่า ความสำคัญของการ หมั่นเติมเงินลงไปอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อให้พอร์ตมันเติบโต

ผมขอแนะนำให้ balance spending : saving for investing อย่างนี้ครับ

0. 100:0 ผมเริ่มจากศูนย์แล้วกันนะ(ชีวิตจริงผมเริ่มจากติดลบครับ) ขั้นนี้มี 100 ใช้ 100 หามาได้ใช้เดือนชนเดือนคนประเภทนี้ ไม่รู้จักคำว่า"เก็บ" รู้แต่ "เก็บยังไง" มองหาอนาคตทางการเงินไม่เจอ

1. 80:20=ผมเข้าใจว่าทุกคนให้เหตุผลว่า "ยังมีภาระต้องจ่าย" มีความจำเป็นต้องใช้เงิน มีพ่อแม่ต้องเลี้ยงดู

2. 70:30=ขั้นนี้ ภาระน้อยลง ความจำเป็นน้อยตัดออกไปก่อน บุพการียังต้องเลี้ยง

3. 60:40=สะสางภาระออกไป เช่นบัตรเครดิต ค่าผ่อนรถ เหลือไว้เท่าที่จำเป็น เลี้ยงดูพ่อแม่

4. 50:50= ตอนนี้มาครึ่งทางแล้วครับ อดทนหน่อยกับสิ่งที่สะดวกสะบาย ใช้จ่ายกับสิ่งจำเป็นจริงๆ ให้กำลังใจตัวเองเสมอว่า คนอื่นลำบากกว่าเราเยอะแยะ แต่อย่าให้พ่อแม่ลำบากนะครับ

6. 40:60=ตอนนี้ถือว่าเป็นคนเก็บตัวยงแล้ว ถือว่าเอาชนะใจตัวเองได้แล้ว

7. 30:70=ตอนนี้เงินที่เก็บคงจะเป็นกอบเป็นกำ เอาเงินไปปลูกอย่างฉลาด
มีแนวกันไฟกันน้ำท่วมอย่างให้ต้นมันหายอย่างเด็ดขาด

8. 20:80=ทำได้ถึงระดับนี้รวยทุกรายครับ เราจะภูมิใจมาก กับพอร์ตที่มันเติบโต และ เราใช้จ่ายด้วยเงินอย่างมีประสิทธิภาพ

9. 100:0=ทำงานแต่พอใช้ ไม่ต้องลำบากหาเงินเติมอีกต่อไป
เพราะเงินที่เติมลงไปไม่มีผลต่อขนาดพอร์ตแล้ว Financial Freedom อยู่แค่เอื้อม

จะเห็นว่า ข้อ 0 กับข้อ 9 อัตราการ ใช้:เก็บลงทุน เหมือนกัน แต่พูดกันคนละเรื่องครับ

นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะสื่อ ลำบากก่อน ผ่อนคลายทีหลัง

ผมจำ 3 ข้อนี้ มาใช้ตลอดระยะเวลาการลงทุนของผม
ผมเชื่อว่า การรู้มาก ทำให้ผลตอบแทนมาก ไปด้วย

ข้อ 1. ผมตีความหมายเพิ่มเติมว่า [u]เรามาทีหลัง ต้องขยันกว่า[/u] เจ้าพ่อ เจ้าแม่ตลาด ต้องรู้ให้ทัน ว่าเขาพูดเรื่องอะไรกัน อ่านมากๆเข้าไว้ครับครับ อะไรที่ยังไม่รู้ ลงมือศึกษา อย่าปล่อยเลยตามเลย หรือ ผลัดวัน "เอาไว้ก่อน แล้วค่อยดู"

ข้อ 2. ผมตีความหมายน้องโจว่า "ขยันอย่างฉลาด"
อย่ามัวไปงมโข่ง เพื่อหาพลอยขยันให้ถูกจุด มองให้หลายมุม
อย่างไปหลงรัก หรือ เกียจหุ้นรายตัว เกินไป
อย่าปิดหู ปิดตาตัวเอง โดยมี Bias เป็นกรอบความคิด

ข้อ 3. ข้อนี้ผมคิดว่าประสบการณ์ ที่สั่งสมมา และ วิสัยทรรศน์
จะช่วยให้เรามีตาที่แหลมคมมองเห็นได้ไกลและเร็วกว่า
เจอหุ้นที่ดีมีตัวเร่งต่างๆ ดันราคาขึ้นถึงเป้าหมายเร็วกว่า

มันทำให้ประหยัดต้นทุนด้านเวลา
อย่าลืมสุตร เงินสุทธิ = เงินต้น P x (1+อัตราผลตอบแทน x)^n
n = หน่วยของเวลา ปี ครึ่งปี ไตรมาส เดือน สัปดาห์ หรือแม้กระทั่งวัน
ใช้เวลาน้อยกว่า เงินทุนก็หมุนได้หลายรอบขึ้น

ข้อนี้ผมเริ่มให้สำคัญมากขึ้นครับ
หลังจากที่ลงทุนมาระยะหนึงแล้ว
ผมมองย้อนหลังกลับไปว่า
-ผมแบ่งเวลา
-ใส่ใจ
-หรือแม้แต่ใช้เงิน ไปเพื่อความสุข
ชีวิตการทำงานประจำ
และชีวิตประจำวัน กับคนที่เรารัก
รวมทั้ง พ่อแม่ ครอบครัว เพื่อนฝูง มากน้อยเพียงใด

ต้องยอมรับครับ 2 ปีแรกผมมุ่งมั่น
ทุ่มเททั้งเวลา จิตใจ และ เงิน
กับการลงทุนมากเกินไปพอสมควร
เพื่อหวังบรรลุเป้าหมายขนาดของพอร์ต จากการลงทุน
และ เป้าหมายการเกษียรอายุการทำงานประจำ

ผมจึงตั้งกระทู้ขอความรู้ความเห็น
และเพื่อนๆพี่ๆ หลายท่านให้คำแนะนำดีมาก ตามกระทู้

//www.thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=36838&start=30&postdays=0&postorder=asc&highlight=

แม้แต่ท่านอาจารย์ของพวกเราก็ให้คำแนะนำครับ

//www.thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=37021

ขอให้ใช้ชีวิตวันสุดสัปดาห์ อย่างมีความสูขครับ







 

Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2554   
Last Update : 29 กันยายน 2556 8:57:46 น.   
Counter : 1155 Pageviews.  



P_ปรัชญา
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 63 คน [?]




หยิ่ง
กับตัวเองบ้าง
ในบางครั้ง

เบื่อ
ชีวิตความผิดหวัง
ในบางหน

เกลียด
ความไม่จริงใจ
ในบางคน

ยอมทน
คนหยามเหยียดได้
ในบางที


[Add P_ปรัชญา's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com