Ieri, oggi, e domani, c'e sempre e solo l'inter

Prebiotics & Probiotics

Prebiotics เป็นชื่อที่เราใช้เรียกสารอาหารหรืออาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ แต่สามารถใช้เป็นอาหารสำหรับจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้เรา

prebiotics สามารถพบได้ในอาหารมากมายหลายชนิด โดยเฉพาะพวกที่มีกากใยสูงๆ เช่น ถั่ว กระเทียม ผักใบเขียว กล้วย เมล็ดธัญญพืช หัวหอม ฯลฯ

ในขณะที่ Probiotics คือกลุ่มของเชื้อจุลินทรีย์ที่เหมือนกับเชื้อที่มีอยู่ในลำไส้ของเรา (ส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรีย) ในคนปกติมีเชื้อเหล่านี้อยู่กว่า 400 ชนิด ซึ่งเชื้อเหล่านี้ ไม่มีโทษแก่ร่างกายเรา แต่กลับมีประโยชน์กับเรา โดยเฉพาะในเรื่องของการช่วยย่อยอาหาร, การขับถ่าย และช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้ออื่นๆ ที่เป็นอันตรายกับร่างกาย

เชื้อกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด และเรารู้จักกันดีคือแบคทีเรียกลุ่ม lactic acid bacteria เช่น ตระกูล Lactobacillus ซึ่งพบได้มากในผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตมากมาย


Lactobacillus acidophilus (สีม่วงๆ)

แบคทีเรียอื่นๆที่เรารู้จักกันอีก เช่น Bifidobacterium bifidum หรือยีสต์ เช่น Saccharomyces boulardii

ประโยชน์ของ probiotics จากอาหารที่เรากินเข้าไป ตามที่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ แล้วพบว่ามีประโยชน์คือ
1. ในกรณีที่เรากินยาฆ่าเชื้อ (antibiotics) ในการรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ
ยาเหล่านี้ นอกจากจะไปฆ่าเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อเราแล้ว ในบางครั้งก็ไปฆ่าเชื้อดีๆในลำไส้เราได้ด้วย การสูญเสียแบคทีเรียดีๆเหล่านี้ ทำให้เรามีโอกาสเกิดท้องเสียได้ง่ายขึ้น

การกิน probiotics เข้าไปเพิ่ม จึงช่วยให้ร่างกายมีแบคทีเรียดีๆมากขึ้นได้

2. ช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อร้ายๆในระบบทางเดินอาหาร
ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย ยีสต์ รา ฯลฯ ที่หากเข้าไปอยู่ในลำไส้เราแล้วจะทำให้เกิดอาการท้องเสียหรือการอักเสบในลำไส้ รวมไปถึงบริเวณอื่นๆ เช่น เชื้อราในช่องคลอด หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

หากมี Probiotics อยู่ เชื้อร้ายเหล่านี้ ก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ (เชื่อว่าเกิดจากการแย่งอาหารกันกับพวก probiotics)

แต่ถึงกระนั้น การศึกษาวิจัยส่วนใหญ่พบว่า ประโยชน์ที่ได้เหล่านี้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น หลายครั้งที่ผลการรักษาที่ดูดี มักจะเกิดจากผล placebo effect มากกว่า
การศึกษาในคนจำนวนมากกว่านี้ จึงจะทำให้เราแน่ใจได้ว่า การกิน probiotics นั้น มีผลช่วยในการรักษาอาการต่างๆได้จริง

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ และกำลังทำการศึกษาอยู่ในปัจจุบันได้แก่เรื่อง
1. ปริมาณในการกิน probiotics เพื่อให้เกิดผลการรักษาจริง
2. probiotics เหล่านี้ เมื่อกินเข้าไปแล้ว จะสามารถออกฤทธิ์ได้จริงหรือไม่ ไม่ใช่ว่าพอกินเข้าไป เชื้อก็ตายหมดแล้ว
3. ผลกระทบกับร่างกาย รวมไปถึงเชื้ออื่นๆที่มีในร่างกาย จะได้รับผลกระทบจากการกิน probiotics หรือไม่

ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องที่กำลังหาคำตอบ และคาดว่าในอนาคตอันใกล้ จะสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้หมด

ความปลอดภัยในการใช้
ถึงการใช้ probiotics มีประวัติมานานมากแล้ว โดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียกับร่างกายเรา แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาแบบจริงจังว่าจะปลอดภัยสำหรับทุกคนจริงหรือเปล่า โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนอื่น (เด็กเล็กๆ, คนแก่, คนที่มีภาวะผิดปกติเรื่องภูมิคุ้มกัน)

สิ่งสำคัญที่ควรรู้อีกอย่างหนึ่งคือ การที่มี probiotics อยู่หลายชนิด ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ในแต่ละสายพันธุ์(strain) ของเชื้อนั้น อาจให้ผลที่แตกต่างกันตามแต่เชื้อนั้นๆได้ ไม่สามารถกล่าวได้เต็มปากว่า probiotics ทุกชนิดจะเหมือนกันหมด

โดยสรุปแล้ว probiotics ก็คือเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ที่พบได้ในร่างกายคนปกติอยู่แล้ว หากไม่เหลือบ่ากว่าแรง จะกินทุกวันก็ได้ เพราะในปัจจุบันสามารถหาได้ง่าย ราคาไม่แพงนัก แต่อย่าคาดหวังกับเรื่องผลการรักษาหรือนำมาใช้แทนยารักษาเพราะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจะมีประโยชน์จริงๆ




 

Create Date : 27 ธันวาคม 2552   
Last Update : 27 ธันวาคม 2552 7:53:46 น.   
Counter : 2527 Pageviews.  

Soy peptide

หลังจากที่ได้เห็นโฆษณาชิ้นหนึ่ง ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมก็รีบเข้าไปหาข้อมูลของเจ้า soy peptide ทันที พอจะสรุปมาเล่าให้ทุกท่านฟังดังนี้

Soy peptide แปลตามตัวว่า peptide ที่ได้มาจากถั่วเหลือง มีจุดเด่นที่ถั่วเหลืองนั้น มี peptide หรือ amino acid ที่จำเป็นต่อคนอยู่หลายชนิด

ตัว peptide ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของโปรทีน มีความสำคัญต่อกระบวนการดำรงชีวิตของมนุษย์ในแง่ต่างๆมากมาย (ลองนึกถึงวิชาสปช.หรือวิทยาศาสตร์สมัยเด็กๆ) ส่วนหนึ่งที่โฆษณาชุดนี้พยายามจะเอามาเน้นประโยชน์คือ ในแง่ของการทำงานของสมอง เพราะสารสื่อในสมองหลายๆตัว ก็เป็นโปรทีน ซึ่งการสร้างสารสื่อที่เป็นโปรทีนนี้ ก็ต้องสร้างจาก peptide นั่นเอง หากสมองใช้สารสื่อเหล่านี้หมดไป ก็จะต้องสร้างใหม่ จาก peptide ในกระแสเลือด

นอกจากนี้ในโฆษณา (รวมทั้งในเวปที่เขาอ้างถึง) ยังบอกอีกว่า soy peptide มีผลต่อการเกิดคลื่นสมองชนิดหนึ่ง ที่ชื่อว่าคลื่น Alpha ช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้นในด้านต่างๆ เช่น การเรียนรู้ ความจำ ลดความเครียด ฯลฯ โดยมีผลการทดลองมาสนับสนุน 2 ชิ้นคือ "A brain science-based study of the effects of soy protein and peptide on human learning, memory and emotion" และ "Effects of soy peptide ingestion on brain waves"

...
...

ฟังดูแล้ว ดูเหมือนว่ามันจะเป็นอาหารวิเศษ ที่ช่วยให้คนเรามีการพัฒนาทางสมองได้ดีขึ้น

แต่ พอลองเข้าไปอ่านในเวปของเขาแล้ว (โชคดีมากที่เขายอมเอาเอกสารทางวิชาการมาอ้างอิงด้วย) เรามาดูกันครับว่ามันน่าเชื่อถือขนาดไหน

1. Soy peptide มี amino acid ที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด

ใช่ครับ ข้อนี้จริง และก็จริงพอๆกับการที่เรากินอาหารตามปกติ ที่มีเนื้อ/โปรทีนเป็นส่วนประกอบ

ดังนั้น คุณไม่จำเป็นต้องไปกิน soy peptide คุณก็สามารถได้รับ amino acid ครบทุกชนิดเหมือนกัน หรือหากจะอยากกินจริงๆ ก็ไปกินพวกน้ำเต้าหู้ หรือนมถั่วเหลือง ก็ไม่มีความแตกต่างจาก soy peptide ที่ว่า

2. Soy peptide ช่วยให้สมองสร้างสารสื่อได้

ข้อนี้ก็จริงอีกเช่นกัน และก็เหมือนกับข้อ 1. อีกเช่นกันคือ คุณสามารถได้รับ peptide จากอาหารอื่นๆอีกมากมาย

นอกจากนี้ ในโฆษณา ยังพยายามจะแฝงความนัยว่า กินแล้วสมองจะสร้างสารสื่อได้มากขึ้น ซึ่งตรงนี้ไม่จริงครับ เพราะการสร้างสารสื่อนั้น ถูกควบคุมโดย DNA ของแต่ละคน ซึ่งการสร้างนี้จะมีขึ้นตามความจำเป็นของร่างกาย ไม่ได้ขึ้นกับว่า มี peptide ในกระแสเลือดมากขึ้น แล้วสมองจะสร้างสารสื่อมากขึ้น

3. Alpha wave ทำให้เรียนรู้ดีขึ้น ความจำดีขึ้น ฯลฯ

จริงครับ ที่เมื่อร่างกายอยู๋ในสภาวะบางอย่าง เช่น ช่วงที่มีสมาธิ หรือพร้อมจะเรียนรู้ สมองจะมีคลื่นนี้มากขึ้น แต่ยังไม่เคยมีการพิสูจน์ได้จริงครับ ว่าเมื่อมีคลื่นนี้มากขึ้นแล้ว จะทำให้เรียนรู้ดีขึ้นหรือความจำดีขึ้นแต่อย่างใด

นอกจากนี้ หากคุณอยากให้มีคลื่นนี้มากขึ้น เพียงแค่นั่งสงบๆ แล้วหลับตา สมองก็จะมีคลื่นนี้มากขึ้นแล้ว

4. งานวิจัยที่เวปนำมากล่าวอ้าง
4.1 A brain science-based study of the effects of soy protein and peptide on human learning, memory and emotion

งานวิจัยนี้ ศึกษาถึงผลของ soy peptide ที่มีต่อการเรียนรู้ และความจำ ในคน โดยเปรียบเทียบระหว่างเครื่องดื่มที่มี soy peptide กับ placebo

ผลออกมาปรากฏว่า กลุ่มที่ได้รับ soy peptide มีแนวโน้มที่จะมีความจำ การเรียนรู้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้กิน

แต่ขอโทษครับ การทดลองนี้ทำในคนเพียง 10 คนเท่านั้น หากแบ่งเป็น 2 กลุ่มตามที่ว่า นั่นคือ มีเพียง 5 คนเท่านั้น ที่มีผลการทดลองแบบนี้

4.2 Effects of soy peptide ingestion on brain waves

การทดลองนี้ ศึกษาถึงผลของ soy peptide ที่มีต่อ Alpha wave ที่อ้างถึง โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับ Soy peptide 8 กรัม, 4 กรัม และกลุ่มที่ได้ placebo

ผลการศึกษาก็ออกมาดี โดยกลุ่มที่ได้รับ Soy peptide สามารถวัดคลื่น alpha ได้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับ placebo

แต่...เช่นเดียวกันกับการทดลองที่แล้วครับ การทดลองนี้ทำในคนแค่ 9 คน หากแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ก็จะได้เพียงกลุ่มละ 3 คนเท่านั้น

...

ทั้ง 2 การทดลองนี้ มีจุดบอดอยู่ตรงที่ว่า จำนวนผู้ทดลองน้อยมากๆ จนแทบจะไม่สามารถแยกความแตกต่างได้จริงว่า ไอ้ผลที่มันเกิดขึ้นนั้น เป็นผลมาจาก soy protein จริงหรือไม่

นอกจากนี้ ผลการทดลองทั้ง 2 นี้ ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ ในวารสารวิทยาศาสตร์ที่ไหนเลย (ใครมันจะบ้าไปลงให้) ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบถึงรายละเอียดต่างๆในการทดลองนี้ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร (ใครที่สามารถหารายงานนี้ได้ช่วยส่งให้ผมด้วย)

สรุปแล้ว soy peptide ก็ไม่ได้มีความวิเศษไปมากกว่าการกินเนื้อ หรืออาหารที่มีโปรทีนอื่นๆ อีกมากมาย ที่มีราคาถูกกว่า และอาจจะอร่อยกว่าที่ขายกันด้วย




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2551   
Last Update : 27 สิงหาคม 2551 6:56:21 น.   
Counter : 16160 Pageviews.  

ข้อควรรู้ก่อนเลือกใช้ยาสมุนไพร

ในปัจจุบัน เรามีข้อกำหนด/กฏหมาย/บทบัญญัติเกี่ยวกับสมุนไพรมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร แต่กระนั้น ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว

ถึงแม้การเลือกใช้สมุนไพร จะฟังดูปลอดภัยเพราะมาจากธรรมชาติ แต่แท้จริงแล้ว สารออกฤทธิ์ที่มีในสมุนไพร ก็ส่งผลกระทบต่อร่างกายเรา ไม่ได้ต่างอะไรไปจากการใช้ยาเลย (ดูรายละเอียดในหัวข้อ ของธรรมชาติให้ผลดีกับสุขภาพมากกว่าของสังเคราะห์หรือไม่) นอกจากนี้แล้วในหลายๆกรณี การเลือกใช้สมุนไพร ยังไม่สามารถพิสูจน์ว่าจะมีประโยชน์ในอาการต่างๆได้จริง

ก่อนที่คุณจะเลือกใช้สมุนไพรหรืออาหารเสริมต่างๆ ควรศึกษาข้อมูลให้ดีเสียก่อนที่จะจ่ายเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ หรือโชคร้ายอาจเอาชีวิตไปทิ้งกับความเชื่อที่ผิดๆอีกด้วย

สิ่งที่คุณจะต้องรู้ก่อนที่จะใช้อาหารเสริมเหล่านี้คือ

1. สมุนไพรหรืออาหารเสริม ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัยเสมอไป (แม้จะมีอย. รองรับก็ตาม)

ตามกฏหมายไทย(และในบางประเทศ) การขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณหรืออาหาร (เช่น สมุนไพรหรืออาหารเสริมบางชนิด) ไม่ได้เข้มข้นเหมือนกับการขึ้นทะเบียนยา ที่จะต้องทำการศึกษาถึงความปลอดภัยในการใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพิษเฉียบพลัน, พิษในระยะยาว, ความปลอดภัยในการใช้ในปริมาณสูง, ปริมาณสูงสุดที่สามารถกินได้ ฯลฯ ทั้งๆที่หลายตัว มีสารออกฤทธิ์ที่ไม่ต่างไปจากการใช้ยาจริงๆด้วยซ้ำไป

ในบ้านเรา อาจจะยอมรับแค่ว่า ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้มาตรฐานตาม GMP, สูตรยา/สมุนไพรที่ใช้ มีปรากฏในตำรายาที่ยอมรับ, เคยได้รับการขึ้นทะเบียนจากประเทศมหาอำนาจบางแห่ง, กินแล้วไม่ตายในทันที เท่านี้ก็พอที่จะขึ้นทะเบียนได้แล้ว

2. เลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากทางอย.แล้วเท่านั้น

ถึงแม้จะไม่ได้ปลอดภัย 100% แต่อย่างน้อยก็วางใจได้ในระดับหนึ่ง โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะต้องมีชนิด + ปริมาณของส่วนผสมที่ใช้อย่างชัดเจน, วิธีรับประทาน + ขนาดที่รับประทานในแต่ละครั้ง, เลขทะเบียนจากอย., ชื่อแหล่งผลิต + วัน/เดือน/ปี ที่ผลิต (ถ้ามีวันหมดอายุด้วยก็จะยิ่งดี) และที่สำคัญจะต้องไม่มีการอวดอ้างสรรพคุณจนเกินจริง

3. ไม่ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบมากเกินไป

ถ้าทำได้ ควรเลือกใช้แบบเดี่ยวๆจะปลอดภัยกว่าการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดที่มีส่วนผสมครอบจักรวาล ซึ่งส่วนใหญ่ ปริมาณสารต่างๆที่ใส่เข้าไปนั้น น้อยนิดจนไม่มีค่า (แต่ก็ขอใส่เพื่อที่จะได้เอาไปคุยได้ว่ามีสารนั้นๆ) นอกจากจะเสียเงินโดยใช่เหตุแล้วยังเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพมากขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ หากเกิดอาการแพ้หรืออาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ จะได้วินิจฉัยได้ถูกว่ามาจากสารตัวไหน

4. ไม่ควรเลือกผลิตภัณฑ์ตามเพื่อนบอก, จากคำโฆษณา, forward mail หรือแหล่งข้อมูลที่ไม่มีการอ้างอิงทางวิชาการ

การเชื่อเรื่องที่คนอื่นเอามาเล่าให้ฟังโดยไม่พิจารณาข้อมูลให่ถี่ถ้วนถูกต้อง ไม่ต่างอะไรกับสิ่งมีชีวิตที่โดนจูงจมูกได้ง่ายๆ

การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ควรปรึกษาจากผู้รู้จริง(ขอย้ำว่าผู้รู้จริง) เท่านั้น พร้อมทั้งลองไปหาข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องประกอบการตัดสินใจ

ในปัจจุบัน มีแหล่งข้อมูลมากมายที่เชื่อถือได้ทางวิชาการ ในการเลือกใช้สมุนไพร/อาหารเสริม ก่อนจะหยิบยาเข้าปาก ก็ควรขยับนิ้วคลิกดูข้อมูลเหล่านั้นเสียก่อน

5. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณมากมายหรือฟังดูโม้เกินจริง

ประเภทที่รักษาได้ทุกโรค, ยาอายุวัฒนะ, กินแล้วหายจากมะเร็ง/เอดส์ ฯลฯ คิดดูง่ายๆว่า ถ้ามันทำได้จริง ป่านนี้เขาใช้กันทั่วโลกไปแล้วครับ, ข่าวเรื่องยาเหล่านี้ ควรจะดังเป็นพลุแตก, คนที่ค้นพบควรได้โนเบลสัก 10 ครั้ง

ดังนั้น หากพบเห็นผลิตภัณฑ์ใด ที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงเหล่านี้ นอกจากจะหลีกเลี่ยงแล้ว คุณยังมีโอกาสได้ทำความดี ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อได้อีก ด้วยการแจ้งข้อมูลไปที่อย.ครับ

6. ผู้ที่ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้

อย่างที่บอกแต่แรกแล้วว่า การศึกษาด้านความปลอดภัยของการใช้นั้น ยังมีน้อย เพื่อเป็นความไม่ประมาท ผู้ที่ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้แก่...

6.1 ผู้ที่กินยาอื่นๆอยู่แล้ว
ยังไม่มีการรับรองความปลอดภัยของการใช้สมุนไพร/อาหารเสริม ในขณะที่ได้รับยาต่างๆด้วย นอกจากนี้ สมุนไพรหรืออาหารเสริม ยังอาจจะไปรบกวนผลการรักษาของยาได้ ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีโรคร้ายแรงมากๆ ไม่ควรเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยง

6.2 อาการเจ็บป่วยนั้นๆ มีวิธีการรักษาด้วยวิธีที่ได้ผลน่าเชื่อถืออยู่แล้ว
สำหรับการแพทย์แผนปัจจุบัน การรักษาหลายๆอย่าง มีการศึกษาถึงผลดี ผลเสีย รวมไปถึงประสิทธิภาพในการรักษามาอย่างดีแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะเอาชีวิตไปเสี่ยงกับการรักษาที่ยังไม่ได้รับการรับรอง หรือไม่ได้รับการพิสูจน์ถึงผลเหล่านี้

6.3 ในสตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
สารเคมีหลายๆตัว ไม่ว่าจะมาจากยา อาหารเสริม หรือสมุนไพร สามารถถ่ายทอดจากมารดาไปสู่บุตรได้โดยตรง และสารหลายๆตัวที่ว่า ก็สามารถทำให้เกิดความพิการหรือเป็นพิษต่อทารกได้

หากยังไม่ได้รับรองความปลอดภัย คงไม่มีใครอยากให้ลูกต้องพิการหรือเสียชีวิตจากการได้รับสารที่ไม่ปลอดภัยเหล่านี้

6.4 ผู้ที่กำลังจะต้องผ่าตัด
สมุนไพรบางชนิด อาจรบกวนในหลายๆขั้นตอนของการผ่าตัดได้ เช่น รบกวนการออกฤทธิ์ของยาสลบ, ทำให้เลือดไหลไม่หยุด, หรือทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากเกิดขณะผ่าตัดอาจทำให้เสียชีวิตได้

ดังนั้น หากรู้ตัวว่าจะต้องผ่าตัด ก็ไม่ควรกินผลิตภัณฑ์เหล่านี้ หรือหากต้องผ่าตัดฉุกเฉิน ก็ควรบอกแพทย์ด้วยว่า คุณกำลังกินยา/สมุนไพร/อาหารเสริมตัวไหนอยู่ เพื่อความปลอดภัยของคุณ




 

Create Date : 17 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 17 กรกฎาคม 2551 5:34:30 น.   
Counter : 816 Pageviews.  

หญ้าปักกิ่ง

วันหนึ่ง ผมไปเยื่อมเพื่อนที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ญาติๆของเขาเสนอให้เขาลองกินหญ้าปักกิ่งดู เพื่อนผมเลยถามผมว่า กินแล้วจะดีมั้ย

ถึงแม้ว่าจะเคยได้ยินเรื่องเล่าหลายต่อหลายอย่างเกี่ยวกับหญ้าปักกิ่งนี้ แต่ผมไม่มีข้อมูลงานวิจัยอยู่ในมือ เลยลองเข้าไปหาข้อมูลทางวิชาการดู

ผลที่ได้น่าตกใจมากครับ ...

มีงานวิจัยเพียงแค่ 4 ชิ้นเท่านั้นที่เกี่ยวกับหญ้าปักกิ่งที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติ(ไม่นับวารสารของไทยที่ถึงแม้จะมีอีกประมาณ 5 ชิ้น แต่ความน่าเชื่อถือยังไม่เท่ากับของระดับนานาชาติ)

นอกจากจำนวนที่น้อยนิดจนผมแปลกใจ ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ ทั้ง 4 ชิ้นนี้

ไม่มีที่มาจากประเทศจีนหรือจากตะวันตกเลย

(2 ใน 4 มาจากไทย อีก 2 อันมาจากญี่ปุ่น)เพราะในปัจจุบันประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆอย่างจีน ไม่น่าจะปล่อยให้สมุนไพรที่เชื่อกันถึงขนาดว่ารักษามะเร็งได้ หลุดลอยไปโดยไม่มีรายงานทางวิชาการเลย

ผมเลยสงสัยว่าเจ้าหญ้าปักกิ่งนี้ มันไม่มีในจีนหรืออย่างไร เขาเลยไม่รู้จักกัน แต่พอไปศึกษาข้อมูลมา ก็พบว่าสมุนไพรนี้ มีถิ่นกำเนิดจากจีน แถมในตำรายาจีนบางเล่มก็มีกล่าวถึงด้วย จึงไม่น่าที่นักวิทยาศาสตร์จีนจะไม่รู้จักมัน

Note

ใครที่รู้ว่าเหตุใดพวกเขาไม่ยอมวิจัยสมุนไพรนี้ ก็ช่วยบอกผมให้หน่อยนะครับ



กลับมาเข้าเรื่องของเราต่อ...
จากงานวิจัยที่มี พบว่าสารสำคัญในสมุนไพรนี้คือ สารกลุ่ม polyphenol, polysaccharide, phytosteryl glucosides, syringic acid,
isovitexin และสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ

glycosphingolipid (G1b)



การทดสอบฤทธิ์ต้านเซลมะเร็งในหลอดทดลอง ให้ผลค่อนข้างดีกับเซลมะเร็งบางชนิด เช่น เซลมะเร็งเต้านมและเซลมะเร็งลำไส้ใหญ่ และไม่ส่งผลกับมะเร็งบางชนิด เช่น เซลมะเร็งเม็ดเลือด

แต่ผลการทดลองที่ได้ ก็ไม่ได้ชี้ว่ามันเป็นสารต้านมะเร็งที่มีฤทธิ์มากนัก ในการวิจัยจัดว่าเป็นสารต้านมะเร็งในระดับกลางเท่านั้น

นอกจากนี้ สารสกัดยังมีผลเพิ่มระดับ CD3,4 ในเม็ดเลือดขาวได้อีกด้วย
ในขณะที่การทดลองในคน ยังไม่เคยมีรายงานที่น่าเชื่อถือว่าจะได้ผลจริง

ถึงแม้มันจะให้ผลดีในหลอดทดลอง ตราบใดที่ยังไม่มีผลการทดลองในคนออกมา

เรายังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่ามันจะใช้ได้ผลจริงในคนที่เป็นมะเร็ง

เพราะถ้าจะแปลตรงๆจากการทดลองนี้ถึงโอกาสที่จะใช้ในคนจริงๆ

คุณต้องเป็นมะเร็งที่มาจากสาเหตุเช่นเดียวกันกับที่ใช้ในการทดลอง สมุนไพรนี้ถึงจะใช้ได้จริง

เช่น เป็นมะเร็งจากการเหนี่ยวนำของสารพิษบางชนิด (และต้องเป็นตัวที่ใช้ในการทดลอง ที่ระดับความเข้มข้นเดียวกัน) รวมทั้งสภาวะแวดล้อมอื่นๆ ต้องเหมือนในการทดลอง แบบนี้จึงจะสรุปได้ว่า มันสามารถใช้ได้ผลในคนเป็นมะเร็ง

ผลข้างเคียง

ยังไม่มีรายงานว่ามีผลข้างเคียงที่อันตรายในการใช้

สรุป

ก็ได้แต่ตั้งความหวังกันว่า ผลการทดลองในคนเป็นมะเร็งจริงๆจะมีขึ้นในเร็ววัน เราจึงจะสามารถพูดได้เ็ต็มปากเต็มคำว่าหญ้าปักกิ่งมีประโยชน์ในคนที่เป็นมะเร็งจริงๆ และจากการที่ผลในหลอดทดลอง ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามันจะมีประสิทธิภาพอะไรมากนัก ถ้ามีเงินเหลือ อยากจะลองกินดูก็กินได้ ไม่พบว่ามันจะมีพิษอะไรครับ




 

Create Date : 09 พฤษภาคม 2551   
Last Update : 9 พฤษภาคม 2551 22:08:42 น.   
Counter : 935 Pageviews.  

Glucosamine & Chondroitin Sulfate

Glucosamine เป็นสารตัวหนึ่ง ที่พบได้ตามกระดูกอ่อนทั่วไป (cartilage) หน้าที่หลักของมันคือเป็นสารตั้งต้นในการสร้างโปรทีน glycosaminoglycans (GAG) ที่ทำหน้าที่สร้างกระดูกอ่อน

ในขณะที่ Glucosamine sulfate (GS) เป็นส่วนประกอบของกระดูกอ่อน และส่วนของน้ำไขข้อ (synovial fluid)
และ Chondroitin ก็คือ glycosaminoglycans ที่อยู่ในรูปของเกลือ sulfate นั่นเอง (นิยมเรียกว่า chondroitin sulfate / CS)

ในรูปแบบของอาหารเสริมที่จำหน่ายกันในท้องตลาด GS จะสกัดมาจากเปลือกของสัตว์ทะเล (เช่น กุ้ง หอย ปู ฯลน) ส่วน chondroitin จะสกัดมาจากกระดูกวัว

จากงานวิจัยบางแห่งเชื่อว่า GS และ CS มีประโยชน์ในการบรรเทาอาการปวดเนื่องจากข้อกระดูกอักเสบ (osteoarthritis / OA) โดยเฉพาะในบริเวณหัวเข่า

โดยมีสมมติฐานกันว่า GS ช่วยให้กระดูกอ่อนแข็งแรงและช่วยเพิ่มการสร้าง GAG ซึ่งเป็นโปรทีนที่ทำหน้าที่สร้างกระดูกอ่อน
ส่วน CS ก็เชื่อว่า ช่วยลดการสร้างเอนไซม์ที่ทำลายกระดูกอ่อน และมีฤทธิช่วยต้านการอักเสบได้ ทำให้ลดการใช้ยาแก้ปวดที่ใช้กันในโรคนี้ลงได้

ฟังดูแล้ว การใช้ GS + CS ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ใช้ในการรักษา OA ได้ แต่ทว่า...

งานวิจัยส่วนใหญ่ที่บอกว่าได้ผลนั้น ทำการวิจัยโดยผู้ผลิตอาหารเสริมนั่นเอง ซึ่งหลายๆอันนั้น ไม่ค่อยมีความน่าเชื่อถือทางวิชาการ โดยเฉพาะในประเด็นของการวินิจฉัยและประมวลผลของอาการปวด, การ double-blind control และการ random ผู้ป่วย

ในขณะที่งานวิจัยที่ทำโดยคนอื่น กลับไม่พบว่าการใช้ GS + CS จะมีประโยชน์แต่อย่างใด

โดยเฉพาะที่ทำโดย NIH ของ USA ในปี 2006 (ซึ่งเป็นอันที่ดีที่สุดในปัจจุบัน) ทดลองในผู้ป่วย 1583 คน ใช้ระยะเวลา 6 เดือน โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 5 กลุ่มคือ
1. ได้รับ glucosamine HCl (เกลืออีกรูปแบบหนึ่งของ glucosamine)
2. ได้รับ CS
3. ได้รับทั้ง glucosamine และ CS
4. ได้รับ celecoxib (ยารักษาอาการ OA ที่ใช้กันทั่วไป)
5. ได้ยาหลอก
ผลการวิจัยพบว่า glucosamine และ CS (ทั้งแบบใช้เดี่ยวๆ และใช่ร่วมกัน) ไม่ได้มีผลลดอาการปวดไปมากกว่าการได้รับยาหลอกเลย
ในขณะที่กลุ่มที่มีผลลดอาการปวดจริงๆ มีเพียงกลุ่มที่ได้รับยา celecoxib เท่านั้น

ปล. มีบางคนแย้งว่า งานวิจัยนี้ไม่ดีเพราะไม่ได้ใช้ glucosamine ในรูปแบบ sulfate

นอกเหนือจากนี้ งานวิจัยเกือบทั้งหมด เป็นการศึกษาในระยะเวลาใช้ยาที่ไม่นาน ส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 ปี ดังนั้น การจะพิสูจน์ว่าทั้ง GS และ CS จะมีประโยชน์จริง คงต้องรอการศึกษากันต่อไป

อีกปัญหาหนึ่งที่พบคือเรื่องของขนาดการใช้ที่แน่นอน เพราะขึ้นกับคนวิจัยเป็นใหญ่ ไม่มีขนาดการใช้ที่เป็นมาตรฐานรับรองว่า กินเท่าไรถึงจะพอ, กินเท่าไรไม่เกิดผล หรือกินเท่าไรแล้วจะมากเกินความจำเป็น

ถึงอย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ทางสมาคม OsteoArthritis Research Society International และทาง European League Against Rheumatism ต่างก็ยอมรับการใช้ทั้ง 2 ตัวในการรักษาอาการ OA แล้ว

ขนาดที่ใช้ในการรักษาโรค(ตามงานวิจัยทั่วไป ไม่ได้เป็นมาตรฐาน)
GS 500 mg วันละ 3 ครั้ง
CS 200-400 mg วันละ 2-3 ครั้ง หรือ 800-1200 mg วันละครั้ง

ความปลอดภัยในการใช้
ปกติแล้วทั้ง 2 ตัว ค่อนข้างปลอดภัยในการใช้ ถึงแม้ว่า GS จะสกัดมาจากสัตว์ทะเล (ซึ่งมีคนบางคนแพ้อาหารพวกนี้) แต่สารที่ทำให้แพ้นั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนเนื้อ ไม่ค่อยพบในส่วนของเปลือกที่นำมาสกัด

นอกจากนี้ยังไม่พบรายงานว่าจะทำให้เกิดการแพ้ หรืออันตรายร้ายแรงอื่นๆ

แต่ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งที่กล่าวว่ามันปลอดภัย เป็นเพียงเพราะว่า มันไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นยา การศึกษาด้านความปลอดภัย จึงเข้มข้นน้อยกว่าเรื่องยา นั่นคือยังไม่มีรายงานยืนยันชัดเจนว่าจะปลอดภัยเมื่อใช้ในขนาดสูงๆ หรือใช้เป็นเวลานานๆ รวมทั้งความปลอดภัยในการใช้ขณะตั้งครรภืหรือให้นมบุตรก็ไม่มีด้วย

Update
เมื่อเดือนก.พ. ปี 2008 มีรายงานว่าผู้ใช้ยา warfarin (ยาต้านการแข็งตัวของเลือด) ร่วมกับ glucosamine อาจทำให้เกิดระดับยาสูงขึ้น จนเกิดเลือดออกในลูกตา, ไอเป็นเลือด หรือมีจุดเลือดออกตามผิวหนังได้

สรุป
การใช้ GS และ CS ยังคงไม่มีงานวิจัยที่มายืนยันผลแบบน่าเชื่อถือ และขนาดการใช้ก็ยังไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน ถ้าไม่มีเงินก็ไม่ต้องไปหามาใช้ก็ได้ ไม่จำเป็น ถ้าคิดว่ามีเงินเหลืออยากใช้ก็ใช้ได้เพราะค่อนข้างปลอดภัย (จนกว่าจะมีรายงานว่าไม่ปลอดภัย)




 

Create Date : 05 มีนาคม 2551   
Last Update : 2 พฤษภาคม 2551 17:01:19 น.   
Counter : 8734 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

Marquez
Location :
Milano Italy

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




A te che sei il mio grande amore Ed il mio amore grande
A te che hai preso la mia vita E ne hai fatto molto di più
A te che hai dato senso al tempo Senza misurarlo
A te che sei il mio amore grande Ed il mio grande amore

[Add Marquez's blog to your web]