ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 
ลืมอดีต

เขียนโดย แก้วมณี

ผู้ที่ไม่มีอดีต คือ คนตาย ดังนั้นมนุษย์จึงต้องมีอดีตทั้งด้านดีและด้านร้าย หลายคนที่อ่านข่าวเศรษฐกิจของไทยซึ่งระยะหลังนี้ต้องรู้จักกลั่นกรองให้มากเพราะแต่ละข่าวจะมีการกลบเกลื่อน ปิดบัง และความนัยแฝงอยู่ หากคิดไม่ลึกซึ้งคงคาดไม่ได้ว่า คนไทยกำลังพบวิกฤตในชีวิตมิช้านี้แล้วทั้งที่รัฐบาลแถลงทุกอาทิตย์ว่า เศรษฐกิจของไทยดีวันดีคืนด้วยการบริหารประเทศของคณะบริหารที่คัดสรรมาอย่างดีว่ารู้จักแนวคิดพอเพียงที่ลึกซึ้งมากที่สุดในประเทศไทยอันยิ่งใหญ่นี้ ผู้บริหารบางคนเคยให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณชนว่า เขาคือผู้มาแก้ไขปัญหาหมักหมมทางเศรษฐกิจของชาติ ทั้งที่ในอดีตเขาคือหนึ่งในผู้บริหารทางการเงินของรัฐบาลเดิม แต่กลับพูดประณามนโยบายการเงินในอดีตซึ่งเขามีส่วนในเรื่องดังกล่าวด้วย
คนไทยที่มีหัวใจเป็นธรรมและมีชีวิตในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำของปีพ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2544 ประเทศอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหนี้อย่างกองทุนไอ เอ็ม เอฟ และรัฐบาลชวนต้องทำตามคำสั่งของเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัด การจ้างที่ปรึกษาต่างชาติประจำธนาคารชาติก็เกิดขึ้นในยุคนั้น มันเป็นภาพน่าอดสูใจของคนไทยมานาน รัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีทางแก้ไขและสร้างปัญหาทับถมขึ้นจากคำสั่งของเจ้าหนี้ พันธนาการแห่งหนี้จึงทำลายความมั่นคงของชาติลงตามลำดับ เมื่อรัฐบาลใหม่ในเวลานั้นนำเสนอวิธีปลดหนี้โดยเร็วเพื่อขับไล่เจ้าหนี้ไปจากประเทศด้วยการเร่งหมุนเวียนเศรษฐกิจ แทนที่จะหยุดเคลื่อนไหวทางการเงินด้วยนโยบายประหยัดในขณะที่ชาวบ้านไม่มีเงินในมือ ทีมเศรษฐกิจเลือกใช้วิธีกระตุ้นการหมุนเวียนเงินโดยเร่งส่งสินค้าไทยออกสู่ตลาดโลกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้กงล้อการเงินทำงาน เงินจากการขายสินค้าจะไหลส่งทอดสู่หลายระดับและไปถึงมือของชาวบ้านเพื่อจับจ่ายใช้สอยสบายตัวขึ้น วัฏจักรการเงินเริ่มหมุนอีกครั้ง มันเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์อย่างหนึ่งซึ่งนำไปใช้ตามสถานการณ์เวลานั้น รัฐบาลเร่งเปิดตลาดการค้าต่อเนื่องเพื่อส่งสินค้าที่ชาวบ้านผลิตออกไปแล้วนำเงินกลับเข้าประเทศให้ชาวบ้านใช้สอยและปลดหนี้สินของชาติได้ตามเป้าหมาย มันเป็นภาพที่คนไทยเห็นเมื่อหลายปีที่ผ่านมาและถือเป็นการแก้ไขปัญหาด้านการเงินของไทยอย่างเหมาะสมในเวลานั้นเพราะการปลดหนี้ต้องหาเงินไปจ่ายคืนเจ้าหนี้เท่านั้น จะนั่งขอร้องอ้อนวอนให้เจ้าหนี้ปรานีนั้น เป็นเรื่องเหลวไหล แต่ควรใช้ศักยภาพของประเทศและคนไทยอย่างเต็มที่เพื่อหารายได้เข้าประเทศและปลดภาระหนี้สินโดยเร็ว ภาพคนตกงานและต้องกินข้าวตามโรงทานของมูลนิธิต่างๆลดลงอย่างมาก การใช้สอยเพื่อดำรงชีพดีขึ้น การขยายงานและการผลิตสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้นจากวัฏจักรการเงินซึ่งหมุนเป็นปกติแล้ว
ประเทศญี่ปุ่นเคยพบเศรษฐกิจฝืด คนเก็บออมเงินเป็นหลัก จนกระทั่งวัฏจักรการเงินหยุดเคลื่อนไหวซึ่งส่งผลทำลายระบบเศรษฐกิจของตนและของโลกที่ต้องมีการหมุนเวียนซื้อขายสินค้าซึ่งกันและกัน แต่คนญี่ปุ่นไม่ยอมซื้อสินค้าทั้งของตนและของต่างชาติเพราะกลัวเกรงขาดเงิน จึงเน้นเก็บออมเป็นหลัก รัฐบาลในสมัยนั้นต้องออกมาตรการแจกเงินให้คนด้อยโอกาสไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อต้องการหมุนเวียนเงินตรากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและผลักดันออกจากภาวะเศรษฐกิจฝืด ในที่สุดแนวคิดนี้ประสบความสำเร็จเมื่อวัฏจักรการเงินเริ่มหมุนปกติ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตอย่างมีระบบถูกต้องอีกครั้งและผ่านพ้นความฝืดเคืองได้ มันบ่งบอกว่าการเก็บออมเป็นเรื่องดี แต่ต้องทำอย่างเหมาะสมจึงส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม หากทำไม่เหมาะกาลเวลาย่อมสร้างความเสียหายต่อชาติได้ เราต้องไม่ลืมว่าญี่ปุ่นเป็นชาติที่คนรู้จักเก็บออมมากที่สุดของโลกและชาตินิยมอย่างมาก รัฐบาลยังต้องส่งเสริมให้คนของเขาพิจารณาซื้อสินค้าของต่างชาติบ้างเพื่อสร้างความเสมอภาคในตลาดการค้าขึ้นเพราะญี่ปุ่นต้องอยู่ร่วมกับประชากรโลก จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนสินค้ากัน
การกำหนดนโยบายการเงินการคลังเป็นหน้าที่หลักของธนาคารชาติและกระทรวงการคลัง โดยต้องหาแนวทางให้เหมาะสมกับสถานการณ์และเวลานั้นๆเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อเนื่องคือการส่งเสริมให้ประชาชนเก็บออมอย่างเหมาะสมและใช้จ่ายอย่างพอดี จึงไม่สร้างความเสียหายแก่ประเทศ เป็นหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานอันเป็นที่รู้กันดีในนักวิชาการและประชาชน หากนำไปใช้ถูกกาลเวลา จะช่วยเหลือเศรษฐกิจของชาติได้ จึงต้องหาสมดุลของการใช้จ่ายและเก็บออม นโยบายการเงินการคลังในอดีตที่พาประเทศชาติผ่านพ้นวิกฤตด้านหนี้สินไปได้ก็มาจากทีมเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังและธนาคารชาติร่วมมือกันทำงาน ต่อมาวันหนึ่งบุคคลซึ่งเคยเป็นใหญ่สูงสุดในธนาคารชาติแล้วเปลี่ยนสถานะเป็นผู้นำกระทรวงการคลังภายใต้อำนาจของคณะปฏิวัติกลับตำหนิประณามวิธีบริหารการเงินการคลังของรัฐบาลเดิมซึ่งตนเคยมีส่วนในนโยบายดังกล่าวว่าทำลายชาติ สร้างปัญหาการเงินให้ชาติ มันจึงเกิดภาพหนึ่งขึ้นในใจของประชาชนซึ่งเคยใช้ชีวิตในยุคนั้นว่า เขาลืมอดีตในธนาคารชาติแล้วจดจำแต่เพียงสถานะปัจจุบันเท่านั้น แล้วยังขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนในอดีตด้วย
เมื่อนโยบายการเงินในอดีตของธนาคารชาติซึ่งตนเคยบัญชางานอยู่ทำลายเศรษฐกิจของชาติตามที่กล่าวหา เขาควรรับผิดชอบในความเสียหายนั้นด้วยการชดใช้เงินที่สูญเสียไปและวางมือจากการบริหารการเงินที่อ้างว่าผิดพลาด เนื่องเพราะนโยบายดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากเขาตามอำนาจหน้าที่ จึงนำไปใช้กับทุกส่วนราชการได้ หากเกิดผลร้ายต่อบ้านเมืองผู้นำองค์กรต้องรับผิดชอบเป็นคนแรก แต่เขากลับเปลี่ยนไปรับตำแหน่งผู้นำกระทรวงการคลังที่ดูแลธนาคารชาติ แล้วยังมีส่วนเห็นชอบนโยบายการเงินในอดีตที่อ้างว่าทำลายความเข้มแข็งทางการเงินของไทย ค่าเงินบาทที่บอกว่าลดลงน่าพอใจ ตอนนี้ก็แข็งมากขึ้นกว่าเดิมอีก ความเสียหายนับหมื่นล้านบาทยังไม่มีใครเข้ามารับผิดชอบสักคน แม้แต่ผู้นำธนาคารชาติหรือกระทรวงการคลังซึ่งเป็นเจ้าของนโยบายดังกล่าว เมื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเดิมรับผิดชอบกับนโยบายที่เลวทรามซึ่งตนมีส่วนในการร่างและบังคับใช้จนกระทั่งเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเกินคาดหมายกัน ประชาชนมีเงินทองใช้สอยไม่ขาดมือ ชีวิตมีความหวังมากขึ้น หากเป็นความเสียหายเขาซึ่งเคยเป็นผู้นำธนาคารชาติและตอนนี้อยู่กระทรวงการคลังต้องรับผิดชอบเป็นคนแรกร่วมกับรัฐบาลเดิม
หนี้สินของประชาชนเกิดจากจิตสำนึกส่วนตนและต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของธนาคารชาติในการกำหนดนโยบายและกฎระเบียบในการก่อหนี้ ดังนั้น ตัวเลขหนี้สินที่สูงในภาคประชาชนนั้นส่วนหนึ่งมาจากแนวคิดของธนาคารชาติและกระทรวงการคลังที่ต้องการให้เกิดการใช้สอยเงินรายได้เพื่อสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างทั่วทุกธุรกิจ การเติบโตด้านการคลังของรัฐจึงเกิดขึ้นได้ การค้าขายระหว่างประเทศจะไม่พัฒนา ถ้ากำลังซื้อของคนไทยต่ำ ดังนั้น รัฐบาลที่มีความสามารถจึงต้องมองที่การสร้างงานให้ประชาชน การส่งออกผลผลิตของชาติไปสู่ตลาดโลกมากน้อยแค่ไหน ประชาชนอยู่ดีมีสุขตามมาตรฐานสากลหรือไม่ การหยุดวัฏจักรเศรษฐกิจด้วยการไม่ขยายพัฒนาธุรกิจเท่ากับสร้างตัวเลขว่างงานขึ้น ตลาดการค้าขายระหว่างชาติลดลง การลงทุนในประเทศจากเงินของต่างชาติมีน้อยลง ตัวเลขหนี้สินไม่ลดลงเพราะคนขาดเงิน จักก่อผลเสียต่อประเทศชาติยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนจะเลือกเก็บออมเงินเป็นหลักเพื่อเอาตัวรอดจากสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลจงใจสร้างขึ้นเพื่อเข้ากับนโยบายพอเพียง เมื่อเกิดภาวะไม่หมุนเวียนทางการเงินภายในและการลงทุนจากนอกประเทศลดลงเสริมอีก จักเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจฝืด คนมีเงินก็ไม่กล้าใช้ คนไม่มีเงินก็ตกงานและหนี้สินพอกพูนจนมีคนล้มละลาย ไร้เครดิตในชาติเพิ่มอย่างน่าอันตราย
ความสมดุลทางการเงินและการคลังจากแนวคิดของธนาคารชาติและกระทรวงการคลังเป็นเรื่องสำคัญต่อความอยู่รอดของประเทศหลังการปฏิวัติล้มล้างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลมาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิวัติซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ ทำให้ประเทศนี้ต้องเผชิญกับการหยุดชะงักด้านการเจรจาการค้า เปิดตลาดการค้ายาก นโยบายการทูตต้องหยุดนิ่ง การตอบโต้ทางการค้ามีเพิ่มขึ้นโดยอาศัยช่วงที่รัฐบาลไม่เป็นที่ยอมรับ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเพราะขาดลูกค้า ผู้บริหารประเทศหลายคนขาดประสิทธิภาพการทำงานและติดกับบทบาทเจ้าขุนมูลนาย การตัดสินใจด้านเศรษฐกิจหรือการเงินผิดพลาดและด้อยมาตรฐานความรู้ที่เรียนมาจากต่างชาติทั้งที่หลายคนเป็นนักเรียนทุน การปรับตัวเพื่อรับสถานการณ์ลำบากของรัฐบาลภายใต้กฎอัยการศึกจึงต้องค้นหาบทบาทหน้าที่ให้เหมาะสมเพื่อเรียกคืนความสุขสบายของประชาชนที่ถูกลิดรอนไปโดยมองดูวิถีการทำงานของประเทศไต้หวันซึ่งถูกบีบคั้นจากประเทศจีนมิให้มีบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศโดยหลายประเทศไม่รับรองความมีอยู่ของเขา แต่การค้าของไต้หวันซึ่งส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่สุขสบายแก่ประชากรกลับรุ่งเรืองและอยู่ในอันดับต้นของโลกมาช้านาน แม้แต่ไทยในยุคประชาธิปไตยก็ยังเป็นรองหลายระดับเมื่อเทียบกับไต้หวัน ดังนั้น แม้ที่มาของรัฐบาลนี้จะไม่สวยงามและน่านับถือตามแบบสากลนัก ถ้าทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเต็มความสามารถยังพอเป็นความหวังของคนไทยที่จะไม่ต้องอดอยาก ลำบากมากเกินเหตุเพราะการบริหารที่ผิดพลาดบ่อยครั้ง ถ้าคนลำบากมาก ทั้งที่พอเพียงแล้ว คนไทยย่อมไม่โง่ที่จะมองเห็นสาเหตุหลักที่ต้องตกต่ำในวันนี้ว่าควรแก้ไขที่ต้นเหตุใดเพื่อหลุดพ้นจากความลำบาก ส่วนนโยบายของอดีตผู้นำธนาคารชาติซึ่งกล่าวอ้างว่าเป็นเรื่องเลวทรามและส่งผลร้ายต่อชาติ ก็ควรรับผิดชอบเยี่ยงลูกผู้ชายกับแนวทางของตนในอดีต มิใช่กล่าวประณามและโยนให้รัฐบาลเดิมอย่างเดียว เมื่อมีโอกาสบริหารการคลังด้วยฝีมือของตนแล้ว แต่กลับสร้างความเสียหายนับหมื่นล้านบาทซึ่งพิสูจน์ความสามารถต่อสาธารณชนแล้ว มันแสดงเป็นนัยว่า วิสัยทัศน์ของผู้นำกระทรวงการคลังในอดีตอย่างท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับ เขาในปัจจุบัน ผู้ใดมีฝีมือบริหารหรือประสิทธิภาพมากกว่ากัน คนหนึ่งปลดหนี้สินของชาติได้ ส่วนอีกคนสร้างตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจการลงทุนนับหมื่นล้านในวันเดียว อีกตัวอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ซึ่งใช้นโยบายเศรษฐกิจนำพาประเทศชาติผ่านจุดวิกฤตไปได้ด้วยความรู้และฝีมือยอดเยี่ยมจนเป็นที่นับถือ คือ ท่านสมหมาย ฮุนตระกูล สถิติความน่าลงทุนในไทยจากมุมมองของนักลงทุนญี่ปุ่นลดต่ำที่สุดและไทยเป็นคู่แข่งของลาวกับเขมรเท่านั้น คนไทยซึ่งเคยผ่านช่วงเวลาปีพ.ศ. 2540 และพ.ศ. 2544 ทั้งที่ตกงานและกิจการปิดตัว น่าจะมองเห็นฝีมือบริหารการเงินและการคลังของผู้นำทางเศรษฐกิจในรัฐบาลแต่ละชุดถนัดตากันแล้ว จึงหวังว่าประเทศไทยจะรอดปลอดภัยจากเจ้าหนี้และไม่ตกหลุมพรางกับดักเป็นหนี้ท่วมหัวอีกครั้งจากความด้อยประสิทธิภาพและการกอบโกยของผู้ลงทุนปฏิวัติทั้งหลาย ขอให้คนไทยตั้งอยู่ในความไม่ประมาทด้วยการรักษาตำแหน่งหน้าที่การงาน อย่าตกงาน เก็บออมเงินให้มากที่สุด รัฐบาลไม่ช่วยจ่ายคืนหนี้สินแทนท่าน คนที่รับผิดชอบคือตัวท่าน งดเว้นการก่อหนี้เพิ่มเด็ดขาด บัตรเครดิตมีไว้เพื่อความสะดวกในการจ่ายเงิน ห้ามเป็นหนี้บัตรฯแล้วจะมีความสุขตามอัตภาพ ชีวิตจึงผ่านช่วงลำบากนี้ได้ เชื่อว่าคนที่เคยลำบากในสองปีดังกล่าวคงตระหนักใจดีว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้และอยากให้บอกเตือนเพื่อนๆระวังการใช้ชีวิตหลังการปฏิวัติครั้งนี้เพราะประวัติศาสตร์เกิดซ้ำซากเสมอโดยเฉพาะความลำบากยากแค้นของประชาชนอันสืบเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว มันได้รับการพิสูจน์จากกาลเวลามาแล้วจนกลายเป็นสัจธรรม ดังคำที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน อย่าหวังพึ่งรัฐบาล

********************************


Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2550 14:31:02 น. 0 comments
Counter : 462 Pageviews.

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.