ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 
บุญเก่า หมดบุญ

เขียนโดย ลูกแก้ว

ญี่ปุ่นเพิ่งประกาศอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติเอเชียและความน่าลงทุนในสายตาของเขาอย่างเป็นทางการสำหรับเดือนธันวาคม 2549 กับ มกราคม 2550 ว่า ประเทศในย่านเดียวกับไทย นอกเหนือจากจีนแล้ว เวียดนามกับมาเลเซียมีความน่าลงทุนมากที่สุด ส่วนประเทศไทยนั้นมีเปอร์เซนต์ติดลบด้วยตัวเลขที่สูงและไม่น่าลงทุนมากที่สุดโดยมีลาวและเขมรเป็นคู่แข่งกัน มันบ่งบอกภาวะการลงทุนในประเทศไทยจากสายตานักลงทุนหรือรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งถือว่ามีการลงทุนในต่างประเทศสูงมากประเทศหนึ่งในโลก หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในอันดับใกล้เคียงกับจีนมาตลอดและเวียดนามอยู่ต่ำกว่าไทย แต่ปัจจัยในประเทศหลายอย่างที่เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2549 แค่ปีเดียวสามารถลดระดับความน่าลงทุนในไทยลงได้อย่างน่าสยองใจ โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงผลติดตามมาภายหลังประกาศดังกล่าวเปิดเผยไปทั่วโลกซึ่งมักนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเมื่อต้องมองหาสถานที่ลงทุนใหม่หรือการพิจารณาเพิ่มการลงทุนในชาติเอเชีย
ประเทศไทยมิได้อยู่โดดเดี่ยวในโลกใบนี้ การติดต่อค้าขายหรือแลกเปลี่ยนผลผลิตทางเกษตรหรืออุตสาหกรรมถือเป็นเรื่องปกติที่กระทำต่อกันได้ รวมทั้งการลงทุนในประเทศด้วยเงินของต่างชาติที่มองเห็นศักยภาพของคนไทยและโครงสร้างพื้นฐานของไทยที่จะสร้างกำไรในการผลิตสินค้าของเขา มันเป็นเรื่องสำคัญต่อการเจริญเติบโตหรือใช้พัฒนาองค์ความรู้ในประเทศได้เช่นกัน ดังนั้น รัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างชาติอย่างต่อเนื่องเพราะจักส่งผลต่อรายได้ประชากรและถ่ายทอดความรู้ ความชำนาญให้คนไทยได้ หลายชาติในเอเชียต่างเห็นประโยชน์เหล่านี้ เช่น จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม เป็นต้น ชาติล่าสุดที่ประกาศต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติอย่างเต็มที่ คือ เวียดนาม เพื่อนบ้านของไทยซึ่งการเมืองมีความเข้มแข็งสูง หลังจากสหรัฐประกาศติดต่อทางการทูตและการค้าระดับปกติแล้ว การลงทุนเริ่มหลั่งไหลเข้าสู่เวียดนาม ขณะที่ไทยกำลังถดถอยลงตามลำดับหลังจากเกิดความเปลี่ยนแปลงการปกครองตอนปลายปี พ.ศ. 2549 คนไทยเริ่มพบกับผลลัพธ์จากการปฏิวัติครั้งนี้อย่างช้าๆเพราะหลายประเทศในโลกไม่รับรองรัฐบาลจากคณะปฏิวัติที่พยายามเปลี่ยนชื่อใหม่แล้ว การวางเฉยทางการทูต การเจรจาการค้าถูกลดระดับความสำคัญลงหรือไม่ยอมเจรจาด้วย การตอบโต้ทางการค้ามีมากขึ้นอย่างไม่เกรงใจ ด้านเอกชนของต่างชาติเลี่ยงทำการค้าที่เสี่ยงตามคำเตือนจากประเทศตน นโยบายเศรษฐกิจใหม่ของไทยแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อนักลงทุนต่างชาติ
โดยทั่วไปแล้วการสั่งซื้อสินค้าระหว่างประเทศนั้นจะมีใบสั่งเป็นรายปี รายหกเดือน โดยอาศัยความเชื่อใจกันของคนซื้อและคนขาย หากสังเกตให้ดีว่าหลังการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลเดิมหรือประชาธิปไตยของคนไทยแล้ว คณะบริหารใหม่ยืนยันว่าการค้าขายยังดีอยู่ ไม่มีการลดระดับลง เศรษฐกิจของไทยยังดีมากโดยมีการแสดงสถิติแต่ละเดือนเป็นตัวเลขที่น่ามองทั้งสิ้น ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าภาพนั้นเป็นความจริง คนไทยจะไม่ลำบากแน่นอน เงินทองหยิบใช้เต็มมือเหมือนหลายปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่พวกเขามิได้บอกให้ครบถ้วนคือ สถิติการส่งสินค้าออกเหล่านั้นล้วนสืบเนื่องจากใบสั่งซื้อเมื่อต้นปีซึ่งยังบริหารเศรษฐกิจด้วยรัฐบาลเดิมที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและทั่วโลกยอมรับและเชื่อถือในการทำงาน โดยเฉพาะมีการปิดบังข่าวสารด้านเศรษฐกิจของไทยในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ต่างชาติที่ปลายปีจะมีการบอกเตือนให้ระมัดระวังความตกต่ำด้านต่างๆเพื่อให้คนไทยเตรียมรับมือไว้ ตัวเลขที่นำเสนอทุกเดือนจึงดูงดงามเพราะเป็นผลมาจากใบสั่งเก่า แต่ไม่มีการเอ่ยถึงสถิติการสั่งซื้อสินค้ารอบใหม่ซึ่งจะมีผลในปีถัดไปเลย จึงไม่แปลกที่ต้นปีพ.ศ. 2550 ผลการจัดอันดับประเทศน่าลงทุนของญี่ปุ่นจึงแตกต่างจากภาพที่รัฐบาลสร้างขึ้นและบอกกล่อมคนไทยมาหลายเดือนว่าเศรษฐกิจของไทยดีมากและจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ภาพสวนทางที่เกิดขึ้นคือ การออกมาตรการทำลายการลงทุนหลายอย่างโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของชาติและทำลายนักลงทุนต่างชาติที่ดีด้วยความโง่เขลาและขาดความรอบคอบอย่างมากเมื่อคิดเทียบกับนักวิชาการประเภทเดียวกันในต่างประเทศซึ่งแสดงฝีมือบริหารการเงินให้ชาติรุ่งเรือง ประชากรไม่อดอยาก ทั้งที่นักการเงินของไทยหลายคนก็เรียนรู้มาจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเหล่านั้น แต่แสดงฝีมือได้ต่ำกว่ามาตรฐานมาก ผลการบริหารเศรษฐกิจของคณะบริหารประเทศในเวลาไม่กี่เดือนนี้ เอกชนไทยจำต้องยอมรับสภาพความลำบากยากแค้นในการทำธุรกิจของปีพ.ศ. 2550 และส่งสัญญาณเตือนให้คนไทยรับทราบไว้ในงานสัมมนาต่างๆแล้ว หากติดตามข่าวสารและกลั่นกรองให้ดีจักทราบสภาวะการครองชีพของคนไทยที่ต้องพบความลำบากซึ่งอาจไม่แตกต่างจากปีพ.ศ.2540 หรือ พ.ศ. 2544 มากนัก ข้อมูลบางส่วนแจ้งแล้วว่าคนไทยหลายกลุ่มลดการใช้จ่ายเงินหาความสุขลงทันทีหลังการปฏิวัติ โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยประสบภัยในปีแห่งความทุกข์ยากของคนไทยมาแล้ว การหมุนเวียนเงินในประเทศที่ลดต่ำลงมากและต่อเนื่องจะส่งผลต่อการบริหารเงินของรัฐบาลอย่างมากเยี่ยงเดียวกับที่ญี่ปุ่นเคยประสบมาแล้วกับภาวะเงินฝืดแบบคนมีเงิน แต่ไม่ยอมใช้จ่ายเพราะขาดความมั่นใจในอนาคตของตนและครอบครัว รัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นให้คนจ่ายเงินเพื่อสร้างระบบหมุนเวียนเงินขึ้นอย่างเร็วอันเป็นการรักษาระบบเศรษฐกิจไว้
ความน่าเชื่อถือในการค้าและการลงทุนมิได้สร้างในวันเดียว แต่การทำลายสามารถทำง่ายได้ในพริบตาเดียว ผลสถิติที่ญี่ปุ่นประกาศไปทั่วโลกใช้ข้อมูลหลากหลายและเป็นจริงมากกว่าที่คนไทยรับรู้กันในประเทศ จึงต้องคิดทบทวนประกอบกัน คนไทยน่าจะมองเห็นความล้มเหลวอันสืบเนื่องจากการปฏิวัติเมื่อปลายปี พ.ศ. 2549 เป็นสาเหตุหลักใหญ่ที่ตัวเลขติดลบของไทยสูงมากจนกระทั่งต้องไปแข่งกับลาวและเขมร ทั้งที่ศักยภาพแท้จริงของไทยพิสูจน์ต่อสายตาชาวโลกเมื่อหลายปีที่ผ่านมาว่า เราเป็นประเทศน่าลงทุนในอันดับต้นต่อเนื่องมาภายใต้การบริหารของรัฐบาลจากระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อเปลี่ยนการบริหารไปอยู่กับรัฐบาลแต่งตั้งจากคณะปฏิวัติ อันดับความน่าลงทุนตกต่ำอย่างน่าใจหายด้วยเวลาเพียงสามเดือนเท่านั้น มาตรการทางการเงินของนักบริหารการเงินของไทยสร้างความเสียหายแก่ชาติอย่างสูงมากชนิดที่นักการเงินต่างชาติส่ายหน้าระอาใจกับแนวคิดดังกล่าว มาตรการบังคับนักลงทุนต่างชาติที่ไม่เหมาะสมแก่กาลเวลานำออกใช้อย่างต่อเนื่อง ทุกมาตรการล้วนออกมาท่ามกลางความไม่ไว้วางใจของนักลงทุนต่างชาติต่อที่มาของรัฐบาลและการไม่รับรองความมีอยู่ของรัฐบาลจากหลายประเทศทั่วโลก ยิ่งลดความน่าเชื่อถือต่อรัฐบาลและเห็นประสิทธิภาพของคณะบริหารประเทศชัดขึ้นจึงขาดความยำเกรงหนักขึ้น ความด้อยประสบการณ์ในสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศ ส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์กับชาติต่างๆ การค้าขายหลายอย่างหยุดชะงัก ผู้ซื้อไม่เสี่ยงสั่งสินค้าจากไทย แล้วหันไปยังเพื่อนบ้านที่มีความมั่นคงทางการเมืองและผลิตสินค้าเดียวกันในราคาที่ต่ำกว่า ทั้งที่เมื่อก่อนไทยได้รับความไว้วางใจสูงและเป็นมิตรกับหลายชาติ ทำให้ลูกค้ายังเลือกใช้บริการจากไทยมากที่สุด
หากคิดพิจารณาให้ลึกซึ้งและเปรียบเทียบกับหลายรัฐบาลที่ผ่านมาจักเห็นว่า ปัญหาทางการเงินหรือการแสดงทางการทูตในนามประเทศไทย ล้วนสืบเนื่องจากความไม่รอบรู้และไม่ฉลาดเฉลียวเท่าทันเพียงพอกับโลกยุคใหม่ของผู้นำประเทศซึ่งต้องเป็นผู้รับผิดชอบตามหน้าที่ แต่ปล่อยละเลยในการรับรู้ปัญหาและเลือกวิธีแก้ไขด้วยตัวเองตามความรู้และประสบการณ์ส่วนตนซึ่งมีอาวุโสสูงและมีความยับยั้งชั่งใจมองรอบด้านมากกว่าลูกน้องซึ่งเก่งและมองเห็นแค่ด้านเดียวโดยมอบการตัดสินใจทั้งหมดให้ลูกน้องเป็นหลัก เมื่อเกิดความผิดพลาดผู้นำทำนิ่งเฉยและปกป้องลูกน้องมิให้ต้องรับผิดชอบโดยไม่ยอมทำตามขั้นตอนเรียกร้องความเสียหายที่เคยเกิดขึ้นจากการบริหารการเงินที่ผิดพลาดในอดีตทั้งที่เรียกร้องความมีคุณธรรม จริยธรรม จากรัฐบาลชุดเดิมตามสื่อมวลชนทุกวัน ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับหนี้สินของประเทศในปีพ.ศ. 2540 กับ การครอบงำของเจ้าหนี้ ถือเป็นปัญหาหนักใจมากที่สุดที่คนไทยต้องทนทุกข์มาถึง 4 ปี แต่รัฐบาลในยุคปี พ.ศ. 2544 สามารถพาเรือไทยฝ่ามรสุมอันหนักหน่วงไปสู่ฝั่งแห่งอิสรภาพจากหนี้สินและเจ้าหนี้ทั้งหลายได้ ต้องยอมรับกันว่ามันเกิดจากฝีมือการบริหารเศรษฐกิจทั้งมหภาคและจุลภาคของรัฐบาลในยุคนั้น จากนั้นคนไทยสัมผัสกับความเจริญรุ่งเรือง พ้นความยากแค้น เรียกคืนศักดิ์ศรีที่ตกต่ำในฐานะลูกหนี้ใกล้ล้มละลายที่เจ้าหนี้ไม่อยากพบพูดคุยด้วยเพราะกลัวขอเงินหรือความช่วยเหลือใดๆ การตกงานลดน้อยลงตามลำดับ การลงทุนของต่างชาติมีเพิ่มขึ้น ภาพอดีตเหล่านี้บ่งบอกได้ว่า รัฐบาลที่เก่งต้องเลือกนักบริหารเศรษฐกิจที่ดีและมีความสามารถเพื่อดูแลการลงทุน การทำงาน ความอยู่ดีกินดีของคนไทยไปพร้อมกัน มิใช่เน้นที่จุดเดียวเท่านั้น ถ้าเศรษฐกิจของชาติตกต่ำ ย่อมส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทย การเลือกทีมงานจึงบ่งบอกความฉลาดของผู้นำได้อย่างดี
รัฐบาลและคนไทยต้องยอมรับความจริงก่อนว่าเงินรายได้จากการค้าขายกับต่างชาติหรือเงินลงทุนจากทุกชาติล้วนส่งผลต่อความเป็นอยู่ของคนไทย ณ เวลานี้เงินเป็นสิ่งสำคัญในการบริหารประเทศชาติ รัฐเร่งรีดภาษีจากคนไทยเพราะต้องการเงินไปใช้บริหารบ้านเมืองอย่างไม่พอเพียง แต่ต้องการมากที่สุด ขณะที่รัฐเร่งเปลี่ยนแนวคิดให้ประชาชนทำงานพอเพียง เก็บเงินพอเพียง ใช้จ่ายพอเพียง มันจึงสวนทางกันอย่างมาก หลายคนให้ความหมายว่าพอเพียงคือการทำงานตามใจชอบ เบื่อก็หยุดทำ มันเป็นสไตล์ของคนไทยยุคหลังปฏิวัติไปแล้ว อันส่งผลต่อการพัฒนาบ้านเมืองอย่างมากเมื่อคนไม่ขยันทำงานเพื่อหาเงินเก็บออมใช้ในบั้นปลายชีวิต ย่อมกลายเป็นภาระของรัฐบาลตั้งแต่ยังไม่ชรา โดยสังเกตการทำงานอย่างพอเพียงจากสถิติการขอรับเงินอุดหนุนการตกงานของประกันสังคมซึ่งสนับสนุนแนวคิดของรัฐบาลอย่างมากด้วยการทำงานสักระยะหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด แล้วลาออกจากงานเพื่อขอรับเงินจากรัฐ พอสิ้นสุดเวลาแล้วก็หางานทำใหม่อีกครั้ง มันเป็นไปตามหลักความพอเพียงในการทำงานซึ่งกำลังแพร่กระจายในกลุ่มคนทำงานอย่างมาก แม้แต่ต่างชาติยังเข้าใจนโยบายพอเพียงของรัฐบาลว่า ต่อไปนี้ไทยจะไม่ค้าขายกับชาติอื่นๆแล้ว และใช้ชีวิตโดยไม่คิดถึงอนาคตอีก เพราะพอเพียงในวันนี้ เหตุใดต้องคิดถึงอนาคตเพราะมันจะเป็นความโลภซึ่งผิดจากนโยบายของรัฐบาล นอกจากนั้นจะส่งผลให้คนยากจนไม่อยากทำงานเพราะพอเพียงต่อความเป็นอยู่ยากแค้น จึงไม่กระตือรือร้นในการศึกษา การทำงาน เพื่อหวังจะมีฐานะการเงินที่ดีขึ้น หลักความเป็นจริงของโลกหลายศตวรรษมาแล้วแรงผลักดันในการเปลี่ยนฐานะการเงินของมนุษย์ส่งผลต่อการคิดประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์งานหลากชนิดอันเกิดผลดีต่อการพัฒนาชาติบ้านเมือง ถ้าไม่รู้จักแยกแยะใช้ความพอเพียงให้ถูกกาลเทศะและสถานการณ์แล้ว ประเทศชาติต้องหยุดการเติบโตและประชากรเกียจคร้านมากขึ้น ความยากจนทวีตัวไปสู่ทุกกลุ่ม บ้านเมืองจะไม่มีวันสงบสุขได้
ตัวอย่างประเทศที่เริ่มกระตุ้นให้ประชากรมีความหวังต่ออนาคตจากความขยันหมั่นเพียรและอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อส่งผลต่อการพัฒนาบ้านเมืองซึ่งคนไทยเห็นชัดคือ จีนและเวียดนาม เมื่อก่อนคงเคยได้ยินว่าคนในสองประเทศนี้จะมีเวลาทำงานน้อยมากต่อวันเมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลก แม้แต่ประเทศไทยก็ตาม โดยให้นอนพักได้หลายชั่วโมง หลายกะ ต่อวัน เมื่อผู้นำประเทศต้องการให้ชาติพัฒนาก็รณรงค์ให้ประชาชนทำงานเพิ่มเวลามากขึ้นพร้อมกับเพิ่มเงินเดือน เมื่อรายได้สูง ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มสูง การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นด้วยเวลาไม่นานนัก มันส่งผลต่อรายได้จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เงินภาษีที่ใช้บริหารประเทศมีมากขึ้น ความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตของประชาชนมีหลากหลาย โดยเฉพาะคนเหล่านั้นสามารถเดินทางไปเที่ยวหรือลงทุนนอกประเทศได้ คนจนลดลง บ้านเมืองโดยรวมเจริญอย่างต่อเนื่องจากความขยันของประชาชน ผลผลิตมีเพิ่ม การส่งออกก็สูง รายได้ของประเทศมีมาก ความสุขสบายทั้งมวลจะย้อนกลับไปที่ประชาชนของประเทศนั้นๆ ต้นแบบแห่งความหวังต่ออนาคตที่ผลักดันให้ประเทศก้าวสู่จุดสูงสุดของอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกา แม้แต่จีนกับเวียดนามยังต้องนำไปใช้เป็นแบบอย่างในการกระตุ้นให้คนมีความหวังจะสร้างอนาคตที่ดีขึ้นได้ด้วยความขยันคิด เพียรทำงาน หากใช้ความพอเพียงกับอนาคตที่อยากเปลี่ยนแปลง ชาติต้องหยุดเติบโต แต่ใช้ความพอเพียงคู่กับการควบคุมตนเองในการใช้จ่ายเงินหรือการก่อหนี้ไม่เกินตน ย่อมสร้างประโยชน์ต่อตนเองและประเทศชาติได้ ดังนั้น ความพอเพียงเป็นหลักคิดที่ดีเยี่ยม แต่ต้องนำไปใช้อย่างถูกเวลาและสภาพการณ์ด้วย จึงไม่เป็นโทษต่อประเทศหรือสังคมที่ต้องเป็นไปตามวัฏจักรของโลกเมื่อคนไทยไม่อาจหยุดเวลาได้ ก็ต้องหมุนตามไปอย่างระมัดระวังเท่านั้น

*************************************


Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2550 14:35:26 น. 0 comments
Counter : 511 Pageviews.

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.