ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 

คำสั่งให้คู่สมรสแยกกันอยู่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1462 บัญญัติว่า “ในกรณีที่สามีภริยาไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้ หรือ ถ้าการอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือทำลายความผาสุกอย่างมาก สามีหรือภริยาฝ่ายที่ไม่สามารถจะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้หรือฝ่ายที่จะต้องรับอันตรายหรือถูกทำลายความผาสุก อาจร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้ตนอยู่ต่างหากในระหว่างที่เหตุนั้นๆยังมีอยู่ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ศาลจะกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ฝ่ายหนึ่งจ่ายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามควรแก่พฤติการณ์ก็ได้”

คำอธิบาย
การแยกกันอันเป็นเหตุฟ้องหย่าในภายหลังได้มี 2 แบบ คือ โดยสมัครใจของทั้งสองฝ่าย หรือ โดยคำสั่งศาล คำสั่งศาลเรื่องการแยกกันอยู่ของคู่สมรสเพื่อช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมีเวลาทบทวนแก้ไขชีวิตคู่ก่อนไปสู่ขั้นหย่าขาดหรือกลับมาคืนดีกันใหม่ก็ได้ เหตุอ้างต่อศาล คือ ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุขด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งอันเป็นปัญหาส่วนตัว เช่น เป็นเกย์หรือเลสเบี้ยน มีภรรยานอกสมรสหรือชายชู้ เป็นคดีความอนาจารเด็กเล็กสร้างความอับอาย หรือ หากต้องอยู่ร่วมกันอาจเป็นอันตรายต่อกายหรือจิตใจหรือครอบครัวไม่มีความสุขอย่างมาก ตัวอย่างเช่น คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชอบทำร้ายร่างกายหรือข่มขืนคู่สมรส ชอบเล่นการพนัน ทำร้ายด้วยวาจาเป็นปกติ ทำร้ายลูกหรือมีพฤติการณ์เป็นอันตรายต่อลูก เช่น ท่าทีอาจข่มขืนหรือทำอนาจารบุตรหรือธิดา เป็นต้น คู่สมรสทำมาหากินที่เป็นอันตรายต่อสมาชิกครอบครัวได้ มีอาการทางจิตรุนแรง เมื่อศาลพิจารณาสาเหตุที่กล่าวอ้างแล้วเห็นว่ามิอาจให้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก จึงมีคำสั่งให้แยกกันอยู่ได้ โดยอาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่ผู้ร้องขอก็ได้ หมายความว่า มิใช่ทุกกรณีที่ศาลต้องกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างแยกกันอยู่ ผู้ที่มีสิทธิ์ยื่นคำขอแยกกันอยู่ คือ คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เชื่อว่าอยู่ร่วมกันไม่ได้และมิใช่เป็นต้นเหตุของปัญหาหรือผู้ที่ต้องรับอันตรายหรือถูกทำลายความผาสุกนั้น ข้อเตือนใจอีกอย่างหนึ่งคือ การแยกกันอยู่ สามีหรือภริยายังคงเป็นคู่สมรสตามกฎหมายที่มีสิทธิ์หรือหน้าที่ต่อทรัพย์สินร่วมกันเช่นเดิม

*********************************




 

Create Date : 08 สิงหาคม 2554    
Last Update : 8 สิงหาคม 2554 23:47:47 น.
Counter : 1833 Pageviews.  

เหตุหย่าข้อ 3 ทำร้ายหรือหมิ่นประมาท

เหตุหย่าของมาตรา 1516 (ต่อไป) คือ
3. สามีหรือภริยาทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจหรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้



หมายเหตุ


การทำร้ายร่างกายหรือพูดเหยียดแคลน ดูหมิ่น คู่สมรสหรือบิดามารดา ปู่ย่าตายายของคู่สมรส ต้องมีความร้ายแรงต่อความรู้สึกมาตรฐานของคนทั่วไปด้วย จึงใช้เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ ตัวอย่างเช่น การตบตีกัน ยังไม่ถือเป็นเหตุหย่า แต่ทำร้ายสม่ำเสมอ มีสถิติการเข้าโรงพยาบาลบ่อยมาก ถือเป็นการร้ายแรงได้ เป็นต้น พึงจำไว้ว่า การทำร้ายร่างกายกันไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ แม้เป็นสามีภริยา ก็เป็นคดีอาญาที่เอาผิดลงโทษกันได้ รวมถึงการพูดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น คู่สมรสหรือบุพการีของฝ่ายใด ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน สามีภริยาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน


*************************************




 

Create Date : 29 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 29 พฤษภาคม 2550 14:46:44 น.
Counter : 869 Pageviews.  

เหตุฟ้องหย่าข้อ 1และ2

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวดครอบครัว มาตรา 1516 บัญญัติว่า เหตุหย่ามีดังต่อไปนี้
1. สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือภริยามีชู้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
2. สามีหรือภริยาประพฤติชั่วไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
ก. ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
ข. ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
ค. ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(ยังมีต่ออีก)

หมายเหตุ

การหย่าโดยคำพิพากษาของศาลนั้นฝ่ายที่จะฟ้องได้ต้องมิใช่ผู้ประพฤติตนเข้าเหตุหย่า ต้องมีพฤติกรรมเข้าเหตุหย่าข้อใดข้อหนึ่ง และเป็นดุลพินิจของศาล เหตุหย่าตามกฎหมายนั้นมีทั้งหมด 10 ข้อ บางข้อยังมีการแยกย่อยอีกซึ่งจะนำมาบอกกล่าวต่อไปจนครบทุกข้อ เหตุข้อ 1และ2 ใช้ฟ้องหย่าในศาลกันบ่อย การพิสูจน์ข้อเท็จจริงเป็นหน้าที่ของผู้ฟ้อง ข้อสังเกตและเป็นที่ถกเถียงกันมาก คือ หญิงมีชู้นั้น แค่พิสูจน์ว่ามีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น ก็เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ ส่วนชายนอนกับหญิงอื่น ยังไม่ถือเป็นเหตุหย่าแต่ต้องพิสูจน์ต่อไปว่าชายมีการเลี้ยงดูหญิงชู้ต่อเนื่องหรือไม่ ดังนั้น ชายซื้อบริการจากโสเภณีจึงไม่อาจเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ซึ่งเป็นความเสียเปรียบของภริยาที่ซื้อบริการจากชายโสเภณีแค่ครั้งเดียวก็ถูกฟ้องหย่าได้ ส่วนความประพฤติชั่วใดจะฟ้องหย่าได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงนั้นๆและมันต้องสร้างความอับอายและเกลียดชังถึงระดับที่กฎหมายกำหนดด้วย จึงถือเป็นเหตุหย่าได้ เช่น ชอบขโมยของในห้างฯเป็นประจำ เป็นโรคจิตเภทและตำรวจจับขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง โกงเงินชาวบ้านเป็นที่โจษขานลือชื่อ เล่นพนันหนักมือแล้วขายเมียกับลูกแลกเงิน และอื่นๆ
*************************************




 

Create Date : 27 เมษายน 2550    
Last Update : 27 เมษายน 2550 16:16:19 น.
Counter : 791 Pageviews.  

วิธีหย่าตามกฎหมาย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวดครอบครัว มาตรา 1514 บัญญัติว่า การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หรือโดยคำพิพากษาของศาล
การหย่าโดยความยินยอม ต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน

มาตรา 1515 บัญญัติว่า เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว


หมายเหตุ

เมื่อกฎหมายกำหนดรูปแบบการสมรสไว้ ย่อมมีวิธีการหย่าให้แก่คู่สมรสด้วยหากความรักจืดจางและไม่อยากอยู่ร่วมครอบครัวกันแล้ว ถ้าไม่ทำตามขั้นตอนของกฎหมาย การสมรสนั้นยังคงอยู่ต่อไปและได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเช่นเดิม ดังนั้น ถ้าพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าไม่อาจอยู่ร่วมกันต่อไป จึงต้องเลือกวิธีหย่าตามกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ จดทะเบียนหย่าด้วยความยินยอมของคู่สมรส หรือ ให้ศาลพิพากษาหย่าซึ่งต้องมีเงื่อนไขว่าเข้าเหตุหย่าตามกฎหมายหรือไม่ มันจะซับซ้อนและยุ่งยากมากกว่าการตกลงยินยอมกันเอง การสมรสหรือการหย่าจะให้ง่ายหรือยุ่งยากขึ้นอยู่กับความตกลงหรือทิฐิของทั้งสองฝ่ายที่จะเลือกใช้วิธีใด


*************************************




 

Create Date : 28 มีนาคม 2550    
Last Update : 28 มีนาคม 2550 16:11:23 น.
Counter : 762 Pageviews.  

การจัดการสินสมรส

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวดทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา มาตรา 1476 บัญญัติว่า “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
1.ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
2.ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภารจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์
3.ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
4.ให้กู้ยืมเงิน
5.ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
6.ประนีประนอมยอมความ
7.มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
8.นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรส นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

หมายเหตุ

การกระทำทั้งแปดข้อเบื้องต้นเป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเสมอเพื่อรับรู้ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสินสมรส หากฝ่ายใดไม่ได้รับคำยินยอมแล้วฝืนกระทำไป ความผูกพันนั้นจะไม่สมบูรณ์ คู่สมรสอีกฝ่ายมีสิทธิเพิกถอนเมื่อใดก็ได้ ถ้าต้องการยกเว้นความยินยอมในการกระทำข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งหมดย่อมทำได้โดยต้องทำเป็นสัญญาก่อนสมรสเท่านั้น ส่วนคู่สมรสกระทำนอกแปดข้อดังกล่าวโดยไม่ต้องได้รับคำยินยอมจากอีกฝ่ายได้ เช่น การค้ำประกัน การเช่าซื้อ การเช่าทรัพย์ การกู้ยืมเงิน เป็นต้น แล้วมีผลผูกพันต่อสินสมรสด้วย ถ้าก่อความเสียหายแก่สินสมรสมากเกินควร อีกฝ่ายก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ การนำสินสมรสไปประกันตัวต่อเจ้าพนักงานหรือศาลและการให้โดยเสน่หาไม่ว่าจะมากน้อยเท่าใด เป็นเงินสดหรืออสังหาริมทรัพย์หรือของมีค่า ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายก่อนเสมอ ถ้าเป็นการนำสินส่วนตัวไปกระทำการดังกล่าวไม่จำต้องได้รับความยินยอมก่อน ส่วนการให้เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม เพื่อตามหน้าที่ธรรมจรรยาซึ่งไม่ต้องได้รับคำยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายนั้น ต้องกระทำพอสมควรแก่ฐานะของตนเท่านั้น ดังนั้น การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินต้องมีขอบเขตอันควร แม้จะมีวัตถุประสงค์ตามกฎหมายก็ตาม การจัดการสินสมรสด้วยการบริจาคอย่างไม่เหมาะสมอาจสร้างความเสียหายแก่สินสมรสที่ทั้งคู่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันได้ กฎหมายจึงกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายด้วย

*****************************




 

Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2550 15:16:58 น.
Counter : 3543 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.