*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
การระงับข้อพิพาททางเลือกในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

การระงับข้อพิพาททางเลือกในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา : Alternative Dispute Resolutions - ADR คือ รูปแบบการระงับข้อพิพาทและกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ซึ่งไม่ใช่วิธีการฟ้องร้องคดีต่อศาลตามระบบการดำเนินคดีอาญาอย่างเป็นทางการโดยทั่วไป แต่อาจจะให้ผู้เสียหาย ผู้กระทำผิด และชุมชนได้เข้ามาส่วนร่วมกำหนดโทษ หรือ หามาตรการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น หากเป็นความผิดเล็กน้อย ๆ

บางประเทศอาจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจว่ากล่าวตักเตือน และหรือ ทำทัณฑ์บนอย่างเป็นทางการได้ หากเป็นคดีอาญาร้ายแรง ซึ่งทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำผิดสมัครใจเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยวิธีนี้ อาจจะต้องมีการนำคดีเข้าสู่องค์กรเพื่อพิจารณาระงับข้อพิพาททางอาญา เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อศาลเพื่อกำหนดโทษต่อไป

วิธีการระงับข้อพิพาท

ก่อนอื่น จึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการระงับข้อพิพาทเสียก่อนว่า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทในทางอาญาหรือทางแพ่งนั้น โดยทั่วไปจะมีด้วยกันหลายวิธี ตั้งแต่วิธีที่มีข้อกฎหมายมาเกี่ยวพันน้อยที่สุด ตั้งแต่การใช้วิธีการแก้แค้ ตาต่อตาฟันต่อฟัน การใช้วิธีการให้ชุมชนเข้าจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยใช้ประเพณีท้องถิ่นตั้งแต่ในยุคดึกดำบรรพ์ หรือในยุคที่ยังไม่มีรัฐ (Stateless) จนถึงวิธีการทางการฟ้องร้องทางศาลอย่างเป็นทางการที่มีข้อผูกพันตามกฎหมาย ในยุคของรัฐสมัยใหม่ (Modern state) ซึ่งอาจกล่าวสรุปถึงวิธีการระงับข้อพิพาท ได้ดังต่อไปนี้

๑. วิธีการ G0-Between ซึ่งเน้นการเจรจาระหว่างสองฝ่ายผ่านสื่อกลางเพื่อมิให้ปัญหาความขัดแย้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายไม่ต้องเจอกันเลย

๒. วิธีการ Mediation ซึ่งการไกล่เกลี่ย โดยมีสื่อกลาง และให้ผู้ที่ทำหน้าที่ประนีประนอมมีอำนาจในการตัดสินข้อพิพาทในระดับหนึ่ง โดยทั้งสองฝ่ายต้องสมัครใจเข้าร่วมกระบวนการและยอมรับการตัดสินโดยผู้เจรจาไกล่เกลี่ย (Mediator or facilitator) หากคู่กรณีไม่มีความสมัครใจที่เข้าร่วมกระบวนการระงับข้อพิพาทแล้ว กระบวนการระงับข้อพิพาทย่อมไม่อาจประสบผลสำเร็จได้

๓. วิธีการ Arbitration ซึ่งใช้อนุญาโตตุลาการในการตัดสินคดี โดยแต่ละฝ่ายจะเลือกผู้แทนของตนมาทำหน้าที่ตัดสินความขัดแย้ง ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องยอมรับตัวผู้ตัดสินคดีและผลการตัดสินข้อพิพาทนั้น โดยทั่วไปแล้ว คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการนั้นถือว่าเกือบจะเป็นที่สุดในทางกฎหมาย และศาลมักจะบังคับให้เสมอ เว้นแต่ กระบวนการวินิจฉัยข้อพิพาทนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือมีข้อบกพร่องบางประการเกี่ยวกับผู้วินิจฉัยข้อพิพาทนั้น

๔. วิธีการฟ้องร้อง (Litigation) อย่างเป็นทางการต่อศาล ซึ่งจะเป็นวิธีการที่เป็นการบังคับและมีผลผูกพันที่สุด โดยหลักการคำพิพากษาของศาลย่อมผูกพันคู่กรณีเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ตามวิธีการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการฟ้องร้องคดีต่อศาลอย่างเป็นทางการนี้ นักปราชญ์ ท่านว่าไม่ได้เน้นการประนีประนอม และไม่อาจที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางจิตใจของคู่พิพาทลงไปได้

วิธีการที่รัฐจะใช้วิธีการระงับข้อพิพาทนั้น รัฐอาจจะกระทำได้หลายวิธีการตามที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยในแต่ละประเทศหรือแต่ละรัฐก็ใช้วิธีการระงับข้อพิพาทที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากองค์ประกอบหรือปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นมูลเหตุทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือ กระบวนการรับเอากฎหมายต่างประเทศมาใช้ในสมัยอาณานิคม เราจึงพบว่า ในบางประเทศจะเน้นวิธีการทางกฎหมายซึ่งดำเนินการผ่านโดยองค์กรของรัฐเป็นสำคัญ ในขณะที่บางประเทศจะเน้นให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดวิธีการจัดการแก้ไขปัญหาของชุมชนนั้น ๆ เอง

ตัวอย่าง เช่น สังคมของประเทศญี่ปุ่น ด้วยมูลเหตุทางประวัติศาสตร์ ประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนในการแก้ไขป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในชุมชนของตนเอง สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคม Homogeneous ซึ่งยึดถือพวกพ้องหรือชาตินิยม และมีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่ไม่เป็นทางการอย่างมากมายและหลากหลาย เช่น การใช้วิธีการตำรวจชุมชน (Community Policing) และเพื่อนบ้านสัมพันธ์ (Neighborhood Association) โดยพื้นฐานทางประวัติศาสต์แล้ว ประเทศญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากประเทศจีน โดยเฉพาะรากฐานทางวัฒนธรรมและแนวคิดของลัทธิขงจื๊อและพุทธศาสนา (Confucianism and Buddhism)

ลัทธิขงจื๊อนี้เอง ที่สร้างสังคมญี่ปุ่นให้เคารพในหน้าที่ เนื่องจากหลักคำสอนนี้ จะเน้นให้แต่ละคนตระหนักถึงหน้าที่ที่ตนต้องพึงกระทำต่อสังคมและบุคคลอื่นอย่างเคร่งครัด โดยสังคมญี่ปุ่นมีหลายชนชั้นหลายแตกต่างกันไปตั้งแต่ซามูไร จนถึงพ่อค้า ซึ่งแนวคิดนี้ก็ยังฝังรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ประชาชนญี่ปุ่นจึงไม่มีแนวคิดในเรื่องการเคารพและเรียกร้องสิทธิของตนเองตามกฎหมายเป็นใหญ่ แต่จะเน้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อกัน ทำให้สังคมญี่ปุ่นจึงเน้นการประนีประนอม และไม่ต้องการที่ฟ้องร้องคดีต่อกัน เมื่อมีข้อขัดแย้งหรือกรณีพิพาทก็จะใช้วิธีการระงับข้อพิพาทแบบที่ไม่ใช้วิธีการอย่างเป็นทางการหรือทางศาล (Alternative Dispute Resolution: ADR) โดยเฉพาะข้อพิพาทในทางแพ่ง

เมื่อพิจารณาถึงกระบวนการยุติธรรมในทางอาญาของประเทศญี่ปุ่นแล้ว การนำวิธีการทางอื่น(ADR) มาใช้นอกจากการจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีและฟ้องร้องต่อศาลตามกฎหมายอย่างเป็นทางการแล้ว พนักงานอัยการญี่ปุ่นได้นำวิธีการชะลอการฟ้อง (Suspend Prosecuition) และการสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการมาใช้อย่างกว้างขวางโดยถือเป็นดุลพินิจที่ค่อนข้างเบ็ดเสร็จ นับเป็นระยะเวลานับร้อยปี ตั้งแต่ ปี ค.ศ.๑๘๘๐ เป็นต้นมา

ทั้งนี้ เนื่องจากพนักงานอัยการญี่ปุ่นถือว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางกฎหมายมาช้านาน อำนาจบารมีของพนักงานอัยการญี่ปุ่นดูจะสูงกว่าเด่นกว่าศาลเสียด้วยซ้ำ ในปัจจุบันนั้น พนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงร่วมกันสอบสวนคดีอาญา แต่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก คือ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศญี่ปุ่นแล้ว ปรากฎว่าสิทธิของผู้ต้องหาในประเทศญี่ปุ่นนั้น ยังไม่ได้รับความคุ้มครองเท่าที่ควร โดยทั้งตำรวจและพนักงานอัยการสามารถควบคุมตัวผู้กระทำผิดและใช้วิธีการทุกทางเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ

ในประเทศญี่ปุ่นนั้น ผู้ต้องหาจะมีสิทธิมีทนายก็แต่ด้วยความเมตตาปราณีของเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการเท่านั้น ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ก็เห็นว่า เรื่องสิทธิการมีทนายแบบสหรัฐฯ เป็นสิ่งไม่จำเป็นในญี่ปุ่น

คำรับสารภาพในญี่ปุ่น เป็นสิ่งสำคัญมาก หากผู้กระทำผิดสำนึกผิด และครอบครัวพร้อมที่จะรับสมาชิกกลับไปดูแลแล้ว โทษที่ผู้กระทำผิดจะได้รับก็จะเบาลง หากไม่มียอมรับผิด โทษที่จะได้รับก็จะหนักมากเช่นเดียวกัน

แนวคิดและตัวอย่างในการนำกระบวนการยุติธรรมทางเลือกมาใช้ในทางอาญา

การดำเนินคดีโดยการฟ้องร้องคดีตามวิธีการของรัฐสมัยกำหนดนั้น ไม่ได้มีส่วนช่วยให้เกิดการสมานฉันท์ และความเข้าใจอันดีระหว่างตัวผู้กระทำผิดและเหยื่ออาชญากรรม นอกจากนี้ รัฐยังต้องระดมทรัพยากรมาใช้ในการจัดการกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรที่มีจำกัดนั้นเป็นอย่างมาก หลายประเทศจึงได้มองหาวิธีการจัดการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมในรูปใหม่ โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทางทางเลือกนั้นด้วย ทั้งนี้ การนำระบบกระบวนการยุติธรรมทางเลือกมาใช้นั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ เช่น การลดปริมาณคดีที่เป็นข้อพิพาทเล็กน้อยขึ้นสู่ศาล ประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยให้การระงับข้อพิพาทในทางอาญารวดเร็วยิ่งขึ้น หรือ อย่างน้อยก็สามารถทำให้การพิจารณาคดีอาญาในศาลรวดเร็วยิ่งขึ้นได้

การนำรูปแบบการจัดการกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในทางอาญามาใช้ในปัจจุบัน ยังถูกโต้แย้งความชอบธรรมในทางกฎหมาย หากจะไม่ให้นำคดีอาญาที่เกิดขึ้นเข้าสู่กระบวนการทางศาล ซึ่งถือว่าเป็นกลาง และปราศจากอคติ(ในอุดมคติ) เสียเลย ทั้ง ๆ ที่ในทางข้อเท็จจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้วิธีการในการจัดการและระงับข้อพิพาทในทางข้อเท็จจริงมาเป็นระยะเวลายาวนาน แม้จะไม่ได้เรียกชื่อว่าเป็นการระงับข้อพิพาทแบบกระบวนการยุติธรรมทางเลือก และยังเข้าสู่กระบวนการทางศาลตามปกติ ตัวอย่างเช่น กระบวนการเจราจาต่อรองตัวประกัน (hostage negotiation) การดำเนินการเกี่ยวกับความผิดที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว(domestic violence) ซึ่งโดยปกติตำรวจก็จะดำเนินการในฐานะที่เป็นคนกลาง (facilitator or mediator) ในการเจราจาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว หรือตัวอย่างอื่น ก็คือ การดำเนินการเกี่ยวกับการต่อรองคำสารภาพ (plea bargaining)ในประเทศสหรัฐ ซึ่งจัดเป็นกระบวนการในการระงับข้อพิพาทและนำไปสู่ข้อยุติทางกฎหมายอีกประการหนึ่ง รวมไปถึงวิธีการที่เกี่ยวกับการกำหนดโทษภายหลังจากกระบวนการกำหนดค่าทดแทนโดยชุมชน (restitution and community sentencing) เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดโทษผู้กระทำและสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมในที่สุด

ไม่ว่าจะนำวิธีการใดมาใช้ในการระงับข้อพิพาทก็ตาม การระงับข้อพิพาทในทางอาญาจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการลงโทษผู้กระทำผิด เพราะผู้กระทำผิดละเมิดต่อบรรทัดฐานของสังคม (Social norms) โดยจะต้องมีการลงโทษผู้กระทำโดยวิธีการใดวิธีทางหนึ่งให้เหมาะสมกับความร้ายแรงการกระทำผิด หรือเพื่อฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับเข้าสู่สังคมได้

ตัวอย่างการใช้วิธีกระบวนการยุติธรรมทางเลือก

๑. กระบวนการ Restorative Justice
ในหลายประเทศจะให้ความสำคัญกับขั้นตอนการฟื้นฟูความยุติธรรม (restorative justice) มากกว่ากระบวนการยุติธรรทางเลือกที่จะไม่ให้นำคดีขึ้นสู่ศาลเสียเลย กระบวนการฟื้นฟูความยุติธรรมนี้ จะมีหลายฝ่ายเข้าเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องให้ผู้เสียหาย ผู้กระทำผิด สมัครใจและเต็มใจที่เข้ากระบวนการนี้ โดยมีชุมชนของผู้เสียหายและผู้ต้องหาเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดโทษผู้กระทำผิดในขั้นตอนหลังจากมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดจริง ทั้งนี้ ผู้กระทำผิดได้เข้าใจและรู้สึกสำนึกผิด ทั้งยังพร้อมที่จะกระทำการใด ๆ เพื่อชดเชยให้กับผู้เสียหายด้วย ตัวอย่างวิธีการนี้ เรียกว่า A Healing Circle in the Community ซึ่งดำเนินการอยู่ในชุมชน Innu ของประเทศแคนนาดา และวิธีการที่คล้ายคลึงกันก็ได้มีการนำมาปฏิบัติในประเทศสหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลียด้วย สำหรับในประเทศสหรัฐ หลายมลรัฐก็ได้พัฒนารูปแบบการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดแผนงานเกี่ยวกับการกำหนดโทษผู้กระทำผิดร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดที่เกิดขึ้นทุกฝ่าย โดยมีการดำเนินการตามโครงการนำร่องที่มลรัฐ Minnesota และขยายไปหลายมลรัฐตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๙๖ เป็นต้นมา

ข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้น และได้ดำเนินการแก้ไขข้อพิพาท โดยวิธีการ A Healing Circle in the Innu Community เป็นคดีที่เกิดขึ้นใน ปี ค.ศ.๑๙๙๔ เมื่อนาย Gavin Sellon ซึ่งอยู่ระหว่างการบำบัดอาการติดสุราและสารเสพติด ได้เปิดเผยกับผู้ทำการบำบัดว่า เขาได้กระทำผิดเกี่ยวกับคดีทางเพศ (Sexual assault) เมื่อปีก่อนหน้านี้ เขาได้รับสารภาพความผิดต่อหน่วยงานตำรวจแคนนา (Royal Canadian Mounted Police) ว่าได้มีล่วงละเมิดทางเพศต่อนางสาว L. โดยปราศจากความยินยอม ตำรวจจึงได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน

ผู้ต้องหาได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีแบบคดีทั่วไป ซึ่งผู้ต้องหาได้ยอมรับสารภาพผิด และได้ร้องขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูความยุติธรรม หน่วยงานที่เรียกว่า Native law Centre of Canada ได้พิจารณาถึงหลายปัจจัย เช่น บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดบ้าง ซึ่งเขาเหล่านั้นจะต้องมาพบปะและเข้าร่วมในการไกล่เกลี่ยและพิจารณาโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิด รูปแบบกระบวนการในการประชุมปรึกษาหารือ โดยมีวัตถุประสงค์ในการประชุมปรึกษาหารือ อันประกอบด้วย
(๑) ให้โอกาสแก่ผู้ต้องหาในการยอมรับความผิดที่เขาได้กระทำลงไปแล้ว และ
(๒) ให้โอกาสแก่เหยื่ออาชญากรรมในการแสดงออกถึงสิ่งที่ต้องการ ความรู้สึกซึ่งเหยื่อต้องตกอยู่ในสภาพที่ถูกกระทำโดยผู้กระทำผิด
สิ่งสำคัญที่สุด คือ ทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำผิด จะต้องมีความเต็มใจและสมัครที่จะเข้าร่วมกระบวนการฟื้นฟูความยุติธรรมนี้ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในการจัดการแก้ไขข้อพิพาท ซึ่งทำหน้าที่เป็น Facilitator จะต้องมีความเข้าใจและดำเนินการตามแผนงานที่ได้วางรูปแบบไว้เพื่อแสวงหาความร่วมมือและความเต็มใจในการเข้าสู่กระบวนการนี้

ในคดีนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้ดื่มกาแฟและน้ำชาร่วมกันก่อนที่การประชุมโต๊ะกลมจะเริ่มขึ้น รวมถึงมีกิจกรรมที่ขึ้นอยู่กับประเพณีท้องถิ่นนิยมปฏิบัติก่อนพิธีการจะเริ่มต้นขึ้น การพูดจะเป็นไปโดยสมัครใจ ซึ่งโดยปกติจะมีสี่รอบด้วยกัน รอบแรก จะเป็นการบอกถึงวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมหารือ รอบที่สอง จะบอกถึง การให้โอกาสที่เข้าร่วมประชุมได้พูดโดยตรงต่อเหยื่ออาชญากรรมถึงความเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการแสดงความห่วงใย รวมถึงการให้กำลังใจ รอบที่สามจะเป็นการที่ให้โอกาสผู้เข้าร่วมพิจารณาพูดโดยตรงต่อผู้กระทำผิด เพื่อแบ่งปันความรู้สึกต่าง ๆ กับเขา รอบสุดท้าย จะเป็นการให้โอกาสแก่ทุกฝ่ายในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการตัดสินคดีว่าสิ่งใดที่ควรจะต้องดำเนินการเพื่อเป็นการนำมาซึ่งข้อยุติในเกี่ยวกับกรณีพิพาท โดยผู้เสียหายจะต้องยอมรับข้อสรุปนั้นด้วย และท้ายสุดก่อนจะยุติการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนก็จะสวดมนต์ หรือทำกิจกรรมตามประเพณีนิยมของท้องถิ่นร่วมกัน โดยคณะผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ย จะต้องเสนอข้อแนะนำนั้นไปยังศาลที่มีหน้าที่กำหนดโทษต่อไปว่าจะเห็นชอบหรือไม่อย่างไร ซึ่งท้ายที่สุดผู้พิพากษาในคดีก็ยอมรับข้อแนะนำและลงโทษโดยไม่มีการควบคุมตัวจำเลยแต่ประการใด แต่ให้อยู่ในการกระบวนการคุมประพฤติและส่งเสริมการกลับสู่สังคม

๒. การชะลอการฟ้องโดยคณะกรรมการอิสระในการระงับข้อพิพาท

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ กระบวนการที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.๑๙๗๐ เป็นต้นมา ต่อมาในปี ค.ศ.๑๙๘๑ มลรัฐนิวยอร์ค ได้ออกกฎหมาย NYS Community Dispute Resolution Centers Program ขึ้นมา โดยกำหนดให้คดีอาญาที่ไม่ร้าย (Misdemeanor offenses) เข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทในทางอาญาได้ และในปี ค.ศ.๑๙๘๖ ได้มีการออกกฎหมายเพิ่มเติมให้คดีอาญาร้ายแรง (felonies) บางประเภทเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคดีอาญาร้ายแรงตามความหมายทั่วไปนั้น หมายถึง คดีที่มีโทษจำคุกเกิน ๑ ปี ขึ้นไป

ความผิดที่ถือว่าไม่ร้ายแรง ได้แก่ การทำร้ายร่างกายที่มีเหตุเพิ่มโทษ (aggravated assault) การติดตามรังควานที่มีเหตุเพิ่มโทษ (aggravated harassment) การทำให้เกิดภยันตรายต่อสาธารณะ (Criminal mischief) การปลอมแปลงเงินตรา (forgery) การฉ้อโกงโดยการใช้เช็ค (fraud-bad check case) การกระทำรบกวนรำคาญ (harassment) การข่มขู่ (menacing) การลักทรัพย์ที่มีมูลค่าเล็กน้อย (petit larceny) การไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ (theft of service) พฤติกรรมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยในที่สาธารณะ (disorderly conduct) และการบุกรุกและเตร็ดเตร่ (criminal trespass and vandalism) แต่สำหรับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งจัดเป็นประเภทร้ายแรงที่สุด (Class A felony) หรือ ความผิดในฐานที่เป็นผู้ผลิตหรือมีการกระทำผิดซ้ำหลายครั้ง เหล่านี้ จะต้องห้ามมิให้เข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการนี้ และในกรณีที่ถือเป็นความผิดร้ายแรงแล้ว ศาลมีอำนาจที่จะไม่รับข้อเสนอของคณะกรรมการประนีประนอมข้อพิพาทหรือสั่งให้พิจารณาใหม่ได้

วิธีการนำคดีเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาท
คดีที่คู่กรณีตกลงให้นำคดีเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทนี้ จะเกิดขึ้นก่อนมีกระบวนการพิจารณาของศาล โดยผู้เสียหายจะต้องมีส่วนร่วมในการเข้ารับฟังและปรึกษาหารือ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อตกลง และภายในกำหนด ๔๕ วัน หน่วยงานระงับข้อพิพาท (the dispute resolution center) จะต้องส่งผลการปรึกษาหารือไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณา หากผู้กระทำผิดไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงที่ได้จัดทำขึ้นแล้ว พนักงานอัยการจะต้องดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อศาลต่อไปภายในกำหนด ๑ ปี แต่ถ้าผู้กระทำผิดได้ปฎิบัติตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง คดีทั้งหลายทั้งปวงถือเป็นที่ยุติไป

๓. ตัวอย่างการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการคำตักเตือนและทำทัณฑ์บนแก่ผู้กระทำผิด

ตัวอย่างเกี่ยวกับการให้อำนาจตำรวจในการระงับข้อพิพาท มีอยู่ทั่วไป เช่น ในประเทศไทยที่ให้อำนาจตำรวจในการเปรียบเทียบปรับคดีลหุโทษ และคดีที่มีอัตราโทษปรับสถานเดียวและเจ้าพนักงานตามกฎหมายได้ให้อำนาจพนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบปรับได้ แม้คดีนั้นจะมีอัตราโทษเกินกว่าลหุโทษก็ตาม แต่สำหรับคดีอันยอมความได้อื่น ๆ และคดีอาญาแผ่นดินไม่ร้ายแรงและไม่มีบทกฎหมายบังคับให้ต้องนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเท่านั้นแล้ว พนักงานสอบสวนก็อาจจะจัดทำสำนวนการสอบสวนและเสนอความเห็นเบื้องต้นเห็นควรไม่ฟ้องไปยังพนักงานอัยการเพื่อสั่งไม่ฟ้องต่อไป หากคู่กรณีสามารถทำการเจรจาและตกลงกันได้

ประเทศนิวซีแลนด์ เลือกที่จะให้อำนาจตำรวจในการดำเนินการตักเตือนและทำทัณฑ์บนผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ได้อย่างเป็นการทั่วไป ซึ่งประเทศนิวซีแลนด์ มีโครงการที่จะดำเนินการอย่างจริงจังมาตั้งแต่ ค.ศ.๒๐๐๓ เป็นต้นมา โดยมีการทดลองใช้วิธีการนี้ เป็นระยะเวลา ๒ ปี และจะนำมาใช้อย่างจริงจังในปี ค.ศ.๒๐๐๕ นี้ การดำเนินการของประเทศนิวซีแลนด์ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกฎหมาย ของกระทรวงยุติธรรม ได้ให้ข้อเสนอแนะบางประการ ดังนี้

๑. การพิจารณากำหนดกรอบของกฎหมายที่กี่ยวกับการกระทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ชัดเจน
๒. การกำหนดกรอบการกระทำผิด เพื่อใช้ในการกระบวนยุติธรรมทางเลือก

อย่างไรก็ตามนิวซีแลนด์ ยังจะไม่นำวิธีการผันคดีโดยกระบวนการเตือนหรือทัณฑ์บนโดยตำรวจมาใช้กับการกระทำผิดของผู้ใหญ่ในทันที ทั้งนี้ เนื่องจากจะต้องมีการทบทวนมาตรการที่จะนำมาใช้ให้เหมาะสม ก่อนการดำเนินการเกี่ยวกับการผันคดีไม่ให้ขึ้นสู่ศาลนี้ รัฐบาลจะต้องมีการเตรียมการในการพัฒนาวางระบบในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า จะเกิดผลดี และการดำเนินการของตำรวจนั้นเป็นไปในลักษณะที่มั่นคงเหมือนกัน ในกรอบของระดับชาติ โดยจะต้องมีการกำหนดกรอบการดำเนินการให้เสร็จภายในปลายปี ๒๐๐๓ โดยนำเอาวิธีการปฏิบัติของทั้งประเทศและของสากลมาสร้างกรอบการดำเนินการให้ดีที่สุด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติทั่วประเทศต่อไป โดยกำหนดให้มีการทดรองหรือโครงการนำร่องในปี ๒๐๐๔- ๒๐๐๕ ก่อนที่จะนำไปปฏิบัติเป็นการทั่วไปทั้งประเทศ ซึ่งตำรวจจะต้องนำผลการปฏิบัติมาพิจารณาความเพิ่มเติมถึงความสัมฤทธิผลนั้น

ปัจจัยที่ส่งให้การใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือก
ประสบความสำเร็จ การระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการประนีประนอมยอมความ ตามแนวคิดกระบวนยุติธรรมทางเลือกนั้น จะต้องมีมาตรการที่สำคัญหลายประการ เช่น ความยินยอมพร้อมใจของคู่กรณีที่เกี่ยวข้อง และ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความจริงใจที่ดำเนินการในทางแนวทางนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นความพยายามของฝ่ายนิติบัญญัติ (Legislative efforts) การจัดการบริหารงานตำรวจ (policing) องค์กรชุมชนและองค์กรอื่น ๆ ในกระบวนการยุติธรรม (community mediation and restorative justice) ในการสร้างความสมานฉันท์ขึ้นมาภายหลังจากที่มีการกระทำผิดขึ้นแล้ว

โดยทั่วไป องค์ประกอบที่สำคัญในการส่งเสริมให้การเจรจาสัมฤทธิผลสูงสุด ได้แก่

๑. ความเชื่อมั่น ศรัทธา และความเต็มใจของประชาชนในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกนี้ ทั้งนี้ เนื่องจาก กระบวนการระงับข้อพิพาทนี้ ยืนหยัดอยู่บนพื้นฐานของความจริงใจในการเข้ามามีส่วนร่วมในการระงับข้อพิพาท ดังจะเห็นได้จากความพยายามของประเทศนิวซีแลนด์นั้น ทางรัฐบาลจะต้องทุ่มเททรัพยากรลงไปเพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่ตำรวจและจัดตั้งองค์กรเพื่อส่งเสริมการระงับข้อพิพาทนั้นอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจกระบวนการยุติธรรมทางเลือกและใช้บริการเพื่อระงับข้อพิพาทนี้อย่างต่อเนื่อง

๒. องค์กรที่จะเข้ามาดำเนินการต้องเป็นที่ศรัทธาของคู่กรณี และคู่กรณีต้องมีความเชื่อมั่นในตัวผู้ตัดสินคดีว่าจะได้รับความยุติธรรมและสามารถสร้างความสมานฉันท์ได้ กรณีนี้ มีหลายตัวอย่างที่กล่าวไปแล้ว ในบางประเทศใช้รูปแบบคณะกรรมการอิสระเข้ามาดำเนินการ โดยมีเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วยแต่ไม่ได้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยโดยตรง แต่บางประเทศอาจกำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินการ ร่วมกับคณะกรรมการประนอมข้อพิพาท หรือ บางประเทศอาจจะกำหนดให้ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ยในเบื้องต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับรากฐานทางวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ และปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ

๓. กระบวนการทางกฎหมายที่รองรับ กรณีการเจรจาต่อรองไม่ประสบผลสำเร็จ
รัฐบาลและประชาชนทั่วไปจะต้องยอมรับว่า กระบวนการประนีประนอมยอมความนี้ อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จในทุกกรณีไป เพราะองค์ประกอบที่สำคัญในการดำเนินการตัดสินคดี ได้แก่ กฎเกณฑ์ และกติกาในการใช้ในการตัดสินคดีด้วย ฉะนั้น นอกจากจะต้องมีกฎหมายออกมาเพื่อใช้เป็นกฎเกณฑ์ในการตัดสินคดีอย่างเป็นธรรมและสร้างความสมานฉันท์ได้แล้ว ก็ยังจึงต้องมีกระบวนการทางกฎหมายรองรับหากการประชุมปรึกษาหารือ หรือ การประนีประนอมยอมความประสบความล้มเหลว จากการศึกษาพบว่า องค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้ประชาชนที่เป็นคู่กรณีพิพาทเต็มใจที่เข้าร่วมกระบวนการระงับข้อพิพาทนี้ ได้แก่ ความเชื่อมั่นในกระบวนการว่า ถ้อยคำที่ได้ให้มีการเจรจาต่อรองกันนั้น จะต้องเป็นความลับและผู้เข้าร่วมกระบวนการเจรจาต่อรองโดยเฉพาะผู้กระทำผิดนั้น จะต้องมีเอกสิทธิ์ในถ้อยคำหรือข้อความนั้น หมายถึง ข้อความที่คู่กรณีใช้เจรจาต่อรองกันนั้น จะต้องไม่ถูกนำไปใช้ในการเป็นพยานหลักฐานในศาล หากจะต้องมีการฟ้องร้องคดีต่อศาลอย่างเป็นทางการภายหลังการเจราจาไม่ประสบผลสำเร็จ แนวทางที่ใช้ มีหลายกรณี เช่น การรักษาความลับในการประชุมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในกรณีบาดเจ็บ หรือปรึกษาหารือกันในที่ประชุม และหากว่าภายหลังการปรึกษาหารือแล้วไม่อาจตกลงกันได้ ถ้อยคำที่ผู้กระทำผิดได้เสนอไป ไม่ว่าเป็นจะเป็นข้อเสนอในการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้บาดเจ็บ ฯลฯ ก็จะต้องไม่อาจใช้เป็นหลักฐานเพื่อยันเขาในการพิจารณาคดีในส่วนเกี่ยวกับการประมาทในคดีอาญาและคดีแพ่ง หรือ กรณีการต่อรองคำรับสารภาพ ถ้าหากจะนำมาใช้ในประเทศไทย ก็จะต้องถือเป็นเอกสิทธิ์ของผู้กระทำผิดที่จะถอนคำรับสารภาพนั้น และไม่อาจใช้คำรับสารภาพนั้น เป็นหลักฐานในการที่จะพิจารณาว่าเขาเป็นผู้กระทำผิดในการพิจารณาคดีในชั้นศาลได้ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมปรึกษาหารือมีความมั่นใจว่า ถ้อยคำใด ๆ ที่เขาพูดไปในที่ประชุมนั้น จะกลับมาทำร้ายตัวเองในภายหลัง และพร้อมที่จะเข้าร่วมกระบวนการปรึกษาหารือเพื่อระงับข้อพิพาทอย่างจริงจัง นอกจากนี้ รัฐจะต้องกำหนดกระบวนการในการดำเนินคดีอย่างเป็นทางการภายหลังการประนีประนอมยอมความล้มเหลวที่ชัดเจนด้วย เป็นต้น

สรุป: ข้อเสนอสำหรับประเทศไทย
ในประเทศไทย มักจะมีข้อเรียกร้องให้ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนใช้ดุลพินิจในการดำเนินการเกี่ยวกับผู้กระทำผิดเสมอ ทั้ง ๆ ที่กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้เปิดโอกาสให้พนักงานสอบสวนใช้ดุลพินิจอย่างที่ประชาชนทั่วไปต้องการ โดยเฉพาะกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นเด็ก เพราะขัดต่อความรู้สึกของประชาชนทั่วไป ที่ประสงค์ให้มีเด็กปรับปรุงตัวให้กลับเข้าสู่สังคมได้ ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งกันเองของแนวคิดและเหตุผลในการลงโทษผู้กระทำผิด กับแนวคิดในการเยียวยารักษาผู้กระทำผิด

สังคมอาจจะต้องกลับมาทบทวนว่า ต้องการอะไร และจะต้องหาทางออกให้ได้ว่ากระบวนการยุติธรรมของเราควรจะดำเนินการไปในรูปแบบใด ซึ่งถ้าหากจะนำเอากระบวนการยุติธรรมทางเลือก (ADR) มาใช้กับประเทศไทยแล้ว จะดำเนินการรูปแบบใด และจะให้องค์กรใด เป็นผู้ดำเนินการ มีบทบัญญัติกฎหมายอะไรรองรับ และมีกระบวนการที่สอดคล้องกับความต้องการและความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ คงจะต้องเป็นหน้าที่ของหลายฝ่ายรวมถึงนักวิชาการทั้งทางอาชญาวิทยาและสหวิทยาการ รวมถึงนักกฎหมายเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดค้นกันต่อไป



Create Date : 14 พฤษภาคม 2548
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 7:41:51 น. 8 comments
Counter : 4662 Pageviews.

 
It 's so interesting. I got the scholarship to study about ADR and I ever took ADR class already. Anyway, you should show the references or bibliography that you brought the matters. If no references or bibliography, I think the matters might be less confident. Last but not least, thanks for your presentation.


โดย: rungsuwun@yahoo.com IP: 24.26.179.70 วันที่: 26 มิถุนายน 2548 เวลา:21:57:07 น.  

 
Thank you very much for your suggestion; I wrote this article for a while and posted it in Pol.Lt.Gen.Wanchai. In the original article, there are some references as your suggestion. Again, thank you for valuable comment krab!


โดย: POL_US IP: 130.126.85.0 วันที่: 7 กันยายน 2548 เวลา:12:32:03 น.  

 
เป็นบล็อคที่มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ

ตอนนี้เรียนโทอยู่ที่จุฬาฯ บทความด้านบนนี้มีประโยชน์มากทีเดียวค่ะ ขอบคุณจริงๆ

อยากบอกว่า ถ้าจะกรุณา คือต้องการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับ plea bargaining น่ะค่ะ ไม่ทราบว่าเคยเขียนไว้รึป่าวคะ ถ้าไม่มี รบกวนขอความเห็นด้วยค่ะว่าจะหาได้จากที่ไหน เพราะว่าต้องใช้สอบวันพุธหน้านี้ค่ะ

ขอบพระคุณล่วงหน้านะคะ....


โดย: น้ำ IP: 61.91.219.73 วันที่: 21 กันยายน 2548 เวลา:15:09:19 น.  

 
โทษที่ครับ น้องน้ำฯ กระผมไม่ได้เช็คข้อความเสียนาน.... มาเห็น ก็คงจะสายไปมากแล้ว แต่เพื่อเป็นความรู้ จะนำเรื่องนี้มาลงในภายหลังนะครับ .... ขอโทษอีกครั้ง .... ไม่น่าเชื่อ จะมีผู้สนใจเรื่องน่าเบื่อพวกนี้เหมือนกันแฮะ


โดย: POL_US วันที่: 2 ตุลาคม 2548 เวลา:13:21:51 น.  

 
อยากทราบเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดแก่ผู้เสียหาย และสังคม จากการกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายค่ะ


โดย: แอนนิโน่ IP: 203.107.176.131 วันที่: 31 สิงหาคม 2550 เวลา:13:38:09 น.  

 
อยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ของญี่ปุ่นอ่ะคะ ไม่ทราบว่าจะหาข้อมูลได้จากไหนคะ ถ้ามีช่วยชี้แนะด้วยค่ะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ


โดย: sine IP: 58.8.171.217 วันที่: 13 สิงหาคม 2551 เวลา:23:17:02 น.  

 
ผมนักศึกษา ป.โท รามฯ รุ่น 1 สาขาทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้ของท่านอาจารย์ นะ ครับ


โดย: นาจ IP: 124.121.58.231 วันที่: 3 สิงหาคม 2552 เวลา:23:40:57 น.  

 
ขอบคุณสำหรับความรู้ดี ๆ คะ และจะติดตามต่อไปคะ


โดย: nita IP: 124.122.49.130 วันที่: 12 สิงหาคม 2552 เวลา:12:57:54 น.  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.