*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ก.ตร. กำลังกระทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ...

สืบเนื่องจาก ก.ตร. มีมติ ในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๕๓ เมื่อ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๓ ให้นับระยะเวลาการปฏิบัติราชการเป็นทวีคูณเพื่อประโยชน์ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น โดยมีการประกาศหลักเกณฑ์การนับระยะเวลาการปฏิบัติงานเป็นทวีคูณของข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้บังคับให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นต้นมา ภายหลังจากมี ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.๒๕๕๐ มาบังคับใช้ได้

ผมขอเรียนว่า การดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ก.ตร. ถือว่าขัดแย้งและผิดต่อ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ อย่างชัดแจ้ง เนื่องจากปัจจุบัน ก.ตร. ได้ตราอนุบัญญัติ หรือ กฎกระทรวง ได้แก่ กฎ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสารวัตรถึงจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙ มาบังคับใช้อย่างชัดแจ้งแล้ว การมีมติ ก.ตร. ไปเปลี่ยนแปลงกฎกระทรวง หรือ ยกเว้นกฎกระทรวงที่ประกาศบังคับใช้ โดย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๓๑ ประกอบ มาตรา ๓๒ ที่กำหนดให้หลักเกณฑ์การแต่งตั้งต้องทำเป็นกฎกระทรวง หรือ กฎ ก.ตร. เท่านั้น และจะต้องประกาศในราชกิจจาล่วงหน้าอย่างน้อย ๑๘๐ วัน ก่อนบังคับใช้ จึงถือว่า ก.ตร. และ ตำรวจแห่งชาติ ทำผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่เสียหายจากการถูกแซงหน้า การจัดอาวุโส จึงมีอำนาจฟ้องร้องได้ทั้งหมด


ผมขอเล่ารายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

๑. ข้อเท็จจริง
ครม. ได้มีมติ เมื่อวันที่ ๕ ต.ค.๒๕๔๗ อนุมัติให้นับระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนในระดับสูงขึ้นโดยให้นับระยะเวลาเป็นทวีคูณได้ แต่หน่วยงานต่าง ๆ ยังไม่ได้นำไปปฏิบัติเพราะจะมีปัญหาและผลกระทบต่อระบบการบริหารราชการงานบุคคลโดยรวมของทุกองค์กร ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีการประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.๒๕๕๐ ขึ้น ซึ่งในส่วนของสิทธิประโยชน์ที่จะให้ได้รับการนับระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่เป็นทวีคูณเพื่อแต่งตั้งดำรงตำแหน่งสูงขึ้นนั้น ก็ไม่มีหน่วยงานใดนำไปปฏิบัติเช่นเดิมไม่ว่าจะเป็นข้าราชการอัยการ ศาลยุติธรรม หรือแม้กระทั่งทหาร ซึ่งมีลักษณะปฏิบัติงานเช่นเดียวกับตำรวจ แต่ทุกองค์กร กำหนดเพียงให้สิทธิประโยชน์อย่างชัดแจ้งในการที่จะให้โยกย้ายเมื่อได้ปฏิบัติหน้าที่ครบ ๑ หรือ ๒ ปีแล้วเท่านั้น

แต่ในส่วนของ ตร. ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาอย่างรีบเร่งภายหลังจากมีการเสียชีวิตของ พลตำรวจเอกสมเพียร เอกสมยา เสียชีวิตลง เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๒ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และขอย้ายออกจากพื้นที่แต่ไม่มีหน่วยงานใดตอบรับ จึงไม่ได้โยกย้าย และเสียชีวิตในเวลาต่อมา จากแรงกดดันจากสื่อสารมวลชนและทางการเมือง จึงทำให้ ก.ตร. ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๕๓ เมื่อ ๑๔ มิ.ย.๕๓ เห็นชอบให้นำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีข้างต้นตามอ้างถึง ๓ มาบังคับใช้ โดยกำหนดให้ข้าราชการตำรวจที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะต้องปฏิบัติหน้าที่ประจำในตำแหน่งระดับนั้น ๆ ภายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือหลายหน่วยงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และระยะเวลาจะต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ได้ แต่รวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า ๑ ปี ทั้งนี้ ตั้งแต่ ๓๐ ส.ค.๒๕๕๐ เป็นต้นไป

สำนักงาน ก.ตร. ในปี พ.ศ.๒๕๕๓ จึงได้ประกาศหลักเกณฑ์ ตามมติ ก.ตร. โดยไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรับรองให้กระทำการใด และไม่มีการอ้างถึงแหล่งที่มาแห่งอำนาจในการประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าว และไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ แต่ประการใด อีกทั้งยังขัดต่อ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โดยพิจารณาจากความในข้อ ๒๐ และข้อ ๒๑ ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดให้ หน่วยงานของรัฐจะต้องสร้างมาตรการจูงใจให้เจ้าหน้าที่เติบโตในสามจังหวัดภาคใต้ และไม่ย้ายออกนอกพื้นที ไม่ใช่เพื่อแต่งตั้งสูงขึ้นในเขตพื้นที่อื่น ๆ

เมื่อมีการประกาศใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ก็ได้มีการแต่งตั้งข้าราชการจากส่วนกลางในระดับสูงไปปฏิบัติหน้าที่และดำรงสูงขึ้น โดยข้าราชการตำรวจในพื้นที่ซึ่งตรากตรำเสี่ยงภัยมาเป็นระยะเวลายาวนานไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ ตามเจตนารมณ์ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ประการใด ในทางข้อเท็จจริง ปรากฏในทางตรงกันข้าม และยังสร้างความเสียหายต่อขวัญกำลังในของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องเสี่ยงภัยในลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งปรากฏการเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่ได้รับการนับระยะเวลาทวีคูณ ซึ่งนำไปสู่การเสียขวัญกำลังใจและกระทบต่อการบริหารงานบุคคลในระยะยาวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้

๒. ข้อกฎหมายและข้อพิจาณา

สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมายของมติ ก.ตร. และ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้พิจารณาประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ข้างต้นนั้น พิจารณามีรายละเอียด ดังนี้

๒.๑ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตามอ้างถึง ๓ มีสาระสำคัญ ได้แก่
“ข้อ ๕ ในระเบียบนี้
“เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน” หมายถึง ข้าราชการ ..., ซึ่งได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ปฏิบัติงานในหน้าที่ประจำในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ข้อ ๒๐ ให้หน่วยงานของรัฐนับระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ประจำในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นทวีคูณ สำหรับใช้ในการคำนวณระยะเวลาการดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในสายงานที่จะแต่งตั้ง เพื่อประโยชน์ในการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลแต่ละประเภทกำหนด
ข้อ ๒๑ ให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่ง เพื่อจูงใจมิให้ขอย้ายออกนอกพื้นที่”

๒.๒ กฎ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสารวัตรถึงจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙
กฎ ก.ตร. ดังกล่าว ได้ตราขึ้น โดยบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๓๑ (๒) ซึ่งให้อำนาจแก่ ก.ตร. ในการตรา ก.ตร. ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ หรือมีมติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎ ก.ตร. จึงมีสถานะเป็นอนุบัญญัติ หรือ กฎกระทรวง ซึ่งมีบทบังคับสำคัญตามมาตรา ๓๑ วรรคท้าย และ มาตรา ๓๒ ให้ ก.ตร. ออก กฎ ก.ตร. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งฯ ให้ชัดเจนแน่นอน และให้ กฎ ก.ตร. ดังกล่าวมีบทบังคับใช้เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับใช้ เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สำหรับ กฎ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งฯ ดังกล่าว ได้กำหนดไว้ในข้อ ๑ ให้ กฎ ก.ตร. นี้ มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และ ในส่วนของการนับระยะเวลาการเพื่อการแต่งตั้งนั้นได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนใน ข้อ ๕ กล่าวคือ


ข้อ ๕ การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ให้นับดังนี้
(๑) ข้าราชการตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งในวาระประจำปี ให้นับวาระการแต่งตั้งในปีถัดไปเป็นหนึ่งปี ...,
(๒) ข้าราชการตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งนอกวาระประจำปี ให้นับแบบวันชนวัน
...,
นอกจากนี้ ยังกำหนดว่า การคัดเลือกหรือแต่งตั้งที่มิได้เป็นไปตามกฎ ก.ตร. นี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย ตามข้อ ๘ หากมีระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ แนวทางปฏิบัติ หรือการดำเนินการใดที่ขัดหรือแย้งกับกฎนี้ ให้ถือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์

๒.๓ สถานะทางกฎหมายของมติ ก.ตร. และหลักเกณฑ์ ตามอ้างถึง ๑ และ ๒
ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมติขององค์กรกลุ่ม เช่น มติคณะรัฐมนตรี ฯลฯ อันรวมถึง มติ ก.ตร. นั้น ไม่มีผลเป็นกฎหมายแต่ประการใด ดังจะเห็นได้จากคำวินิจฉัยของศาลและกฤษฎีกาที่ได้วางแนวทางไว้เนิ่นนาน รวมถึงคำบรรยายของคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายได้อรรถาธิบายไว้ ซึ่งศาลจะไม่รับฟ้องกรณีมติขององค์กรกลุ่ม เช่น มติคณะรัฐมนตรี ที่ห้ามมิให้ทำนากุ้งในเขตพื้นที่ปลูกข้าว ผู้ได้รับผลกระทบในเขตพื้นที่ดังกล่าวจะไม่มิสิทธิฟ้องคดีใด ๆ จนกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ จะนำมติดังกล่าวไปปฏิบัติ ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากมติดังกล่าวไม่มีผลทางกฎหมายนั่นเอง

มติ ก.ตร. ในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๕๓ เมื่อ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๒๓ ตามอ้างถึง ๑ จึงไม่มีผลเป็นกฎหมายใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบริหารงานบุคคล พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ ได้ไว้วางใจ ก.ตร. ในการกำหนดนโยบายบริหารงานบุคคล ซึ่งในกรณีนี้ ก.ตร. ได้วางนโยบายในการบริหารงานบุคคลในสำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว โดยตัดสินใจที่จะกำหนดนโยบายต่อเนื่องโดยการตรากฎเกณฑ์ที่แน่นอน เป็นอนุบัญญัติ หรือ กฎกระทรวง ที่เรียกว่า กฎ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจฯ พ.ศ.๒๕๔๙ ตามอ้างถึง ๔ ซึ่งเมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง ได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับระยะเวลาในการแต่งตั้ง ตามข้อ ๕ (๑) และ (๒) และ ห้ามมิให้กระทำการแต่งตั้งที่แตกต่างจาก กฎ ก.ตร. นี้ เว้นแต่ขออนุญาตต่อ ก.ตร. ยกเว้นเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย ซึ่งจะกระทำได้เมื่อมีเหตุผลอันสมควรที่จะต้องสำคัญถึงขนาดไม่แต่งตั้งโยกย้ายที่แตกต่างจากที่กำหนดไว้ใน กฎ ก.ตร. จะทำให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างร้ายแรง

ดังนั้น มติ ก.ตร. จึงไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลง กฎ ก.ตร. โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การนับระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่เป็นทวีคูณนั้น ยิ่งไม่อาจจะบังคับใช้ได้เป็นกฎหมาย เนื่องจาก ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ ไม่ได้ให้อำนาจแก่ ผู้บัญชาการสำนักงาน ก.ตร. ในการตราระเบียบข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์ใด ๆ โดย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ ได้ไว้วางในที่จะตรากฎระเบียบ ข้อบังคับ เกี่ยวกับการบริหารบุคคล ตาม มาตรา ๓๑ ไว้แต่ ก.ตร. เท่านั้น ซึ่ง ก.ตร. หากเห็นสมควร ก็จะต้องดำเนินการแต่งตั้ง อนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานตามที่ ก.ตร. มอบหมาย ทั้งนี้ ตาม มาตรา ๓๑(๙) เท่านั้น จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนไม่ได้ กรณีนี้ ผบช.สง.ก.ตร. จึงไม่อาจจะกำหนดหลักเกณฑ์การนับระยะเวลาการปฏิบัติงานเป็นทวีคูณ ตามอ้างถึง ๒ ได้ แม้จะมีมติ ก.ตร. ให้ดำเนินการเช่นนั้น หรือ แม้แต่ถ้อยคำหรือมติ ก.ตร. จะเหมือนกับหลักเกณฑ์ที่ สง.ประกาศใช้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้สิ่งที่ขัดกฎหมาย กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมาได้ เนื่องจาก มติ ก.ตร. ไม่มีผลเป็นการแก้ไข อนุบัญญัติ หรือ กฎ ก.ตร. และ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ ไม่ได้ให้อำนาจแก่ ก.ตร. จะมอบอำนาจให้ ผบช.สง.ก.ตร. ในการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ การดำเนินการใด จึงผิดกฎหมายอย่าง ชัดแจ้ง

๒.๔ ข้อพิจารณาเกี่ยวกับความผิดของการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่ขัดต่อ กฎ ก.ตร.

เมื่อได้พิจารณาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐนับระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ประจำในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นทวีคูณ สำหรับใช้ในการคำนวณระยะเวลาการดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในสายงานที่จะแต่งตั้ง เพื่อประโยชน์ในการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลแต่ละประเภทกำหนด และ ข้อ ๒๑ ที่กำหนดว่า ให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่ง เพื่อจูงใจมิให้ขอย้ายออกนอกพื้นที่ จึงแสดงให้เห็นว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์การนับระยะเวลาเป็นทวีคูณเพื่อดำรงตำแหน่งสูงขึ้นดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้เมื่อ มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การแต่งตั้งฯ ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลซึ่งในกรณีของข้าราชการตำรวจ ก็ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งได้มอบความไว้วางใจให้แก่ ก.ตร. ให้กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง ซึ่งตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๓๒ ได้กำหนดว่า ก.ตร. จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งให้ชัดเจนแน่นอน โดยปัจจุบัน ก.ตร. ได้ตราอนุบัญญัติ หรือ กฎกระทรวงในการแต่งตั้งไว้ตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสารวัตรถึงจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาการแต่งตั้งแบบวาระการแต่งตั้งประจำปี และนอกวาระการแต่งตั้งประจำปี ตามข้อ ๕ ของกฎ ก.ตร. ดังกล่าว ดังนั้น แม้ว่าจะมีมติ ก.ตร. หรือ ความเห็นของ อ.ก.ตร.กฎหมาย เกี่ยวกับการนับระยะเวลาปฏิบัติงานเป็นทวีคูณตามรายละเอียดข้างต้นก็ตาม แต่ยังไม่มีการแก้ไข กฎ ก.ตร. ดังกล่าว ดังนั้น จึงยังไม่อาจจะนับระยะเวลาในการแต่งตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งสูงขึ้นได้ การอ้างมติ ก.ตร. โดยตรง เพื่อแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ โดยถือว่าเป็นการแก้ไข กฎ ก.ตร. จึงเป็นสิ่งที่ขัดกฎหมาย และผิดพลาดมาโดยตลอด
นอกจากนี้ แม้ว่าจะตีความขยายเพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาเป็นทวีคูณตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ข้อ ๓ ก็ไม่อาจจะบังคับใช้เช่นกัน โดยข้อ ๓ ได้กำหนดไว้ว่า “บรรดาบำเหน็จความชอบฯ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบนี้ แต่ในกรณีที่ระเบียบนี้ไม่ได้กำหนดไว้หรือในกรณีที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีอื่นใดกำหนดไว้เป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมากกว่าที่กำหนดในระเบียบนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการนั้น”

ทั้งนี้ เนื่องจาก ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ข้อ ๓ จะบังคับใช้เมื่อมี กฎหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับใช้ที่ให้สิทธิประโยชน์มากกว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเท่านั้น ตัวอย่างเช่น หาก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ ได้บัญญัติให้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ให้ใช้บังคับตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่า มีมติ ครม. ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๗ แล้วจะถือเอามติ ครม. มาบังคับใช้เสมือนแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมาย คือ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ และ กฎ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง

๓. บทสรุป

ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กระทำที่ผิดกฎหมาย สืบเนื่องจากมาจาก กรณี ก.ตร. ได้มีมติ และมีการออกหลักเกณฑ์การนับระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่เป็นทวีคูณ โดยไม่มีฐานอำนาจในการออกข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์ใด ๆ ตามกฎหมาย ทำให้มีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจใน ศชต. จำนวนมาก ที่ขัดต่อหลักเกณฑ์ตาม กฎ ก.ตร. อันได้สร้างผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องเสี่ยงภัยในการปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกัน และมีการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกันในภูมิภาคอื่น
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงขอได้โปรดยกเลิกมติ ก.ตร. ทั้งนี้ ขอได้ยับยั้งการใช้ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์การนับระยะเวลาทวีคุณในปัจจุบัน และใช้บังคับ กฎ ก.ตร. โดยเคร่งครัดไปก่อน หาก ก.ตร. ยังเห็นว่าควรมีการนำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ มาบังคับใช้ จะต้องพิจารณาว่าควรจะมีการขอบเขตเพียงใด เช่น ระเบียบสำนักนายกฯ ข้อ ๒๐ และ ๒๑ ซึ่งมีวัตถุประสงค์อย่างชัดแจ้งให้นำระเบียบดังกล่าวมาใช้เพื่อจูงใจให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในท้องที่ ศชต.ต่อไป ดังนั้น หากจะมีการตรา กฎ ก.ตร. ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้ง ก็ควรจะต้องมีการกำหนดขอบเขตให้ใช้เฉพาะเขตพื้นที ศชต. เท่านั้น ห้ามมิให้นำมาใช้ในพื้นที่อื่น ๆ





ผมไม่สงวนลิขสิทธิ์ฯ หากใครได้รับความเดือดร้อนจากกฎระเบียบ ที่ออกโดย สง.ก.ตร. และ ก.ตร. ก็อาจจะนำไปใช้ในการเป็นฐานในการฟ้องร้อง ร้องเรียนฯลฯ อะไรได้ ....


Create Date : 21 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2554 14:56:37 น. 2 comments
Counter : 2561 Pageviews.

 
Blog นี้ มีประโยชน์มากสำหรับตำรวจทุกท่านเลยค่ะ
ได้ความรู้เกี่ยวกับกฏกระเบียบ และ ก.ตร. มาก (ที่ไม่เคยรู้มาก่อน)

หวังว่าท่านผู้เขียน จะได้กลับมาทำความเจริญให้วงการจำรวจอีกมากมาย


โดย: ธารน้อย วันที่: 21 พฤศจิกายน 2554 เวลา:23:59:51 น.  

 
ขอบคุณครับ ก็พยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดครับ และอยากให้ตำรวจต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง ถ้ามีการต่อสู้มาก ๆ ทุกอย่างจะดีขึ้นเองตามลำดับครับ


โดย: POL_US วันที่: 22 ธันวาคม 2554 เวลา:8:35:32 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.